16 กันยายน 2554

<<< วิกิลีกส์: ไมโครซอฟท์สนับสนุนเผด็จการตูนิเซีย เซ็นเซอร์-ดักฟังเน็ต >>>

วิกิลีกส์: ไมโครซอฟท์สนับสนุนเผด็จการตูนิเซีย เซ็นเซอร์-ดักฟังเน็ต ?
วิกิลีกส์เผย ไมโครซอฟท์จัดอบรมไอทีให้กับอดีตรัฐบาลเผด็จการตูนิเซีย ซึ่งความรู้จากการอบรมอาจถูกนำไปใช้ติดตามและจับกุมนักกิจกรรมออนไลน์ที่ ต่อต้านรัฐบาล ทั้งนี้หลังการตกลงดังกล่าวรัฐบาลตูนิเซียได้ซื้อซอฟต์แวร์จากไมโครซอฟท์ 12,000 ชุด องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเรียกร้องให้มีมาตรการจัดการกับธุรกิจที่ สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เอกสารที่อ้างว่าเป็นโทรเลขสถานทูตสหรัฐ
ระบุว่า ไมโครซอฟท์ บริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ได้จัดโครงการฝึกอบรมไอทีให้กับของอดีตรัฐบาลเผด็จการตูนิเซีย (ซึ่งเพิ่งถูกโค่นล้มไป) เพื่อแลกกับการที่รัฐบาลตูนิเซียจะยกเลิกนโยบายการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส

โดยต่อมารัฐบาลตูนิเซียได้สร้างเว็บไซต์ปลอม (phishing) เพื่อหลอกเอารหัสผ่านจากนักข่าว บล็อกเกอร์ และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลใช้ความรู้จากการอบรมดังกล่าว

ข้อตกลงระหว่างไมโครซอฟท์และรัฐบาลตูนิเซีย ซึ่งลงนามในปี พ.ศ. 2549 ระบุถึงความร่วมมือในเรื่อง รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ความมั่นคงไซเบอร์ สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และการพัฒนาความสามารถสำหรับโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ของตูนิเซีย ไมโครซอฟท์จะตั้งศูนย์นวัตกรรมไมโครซอฟท์ในตูนิเซีย เพื่อพัฒนาการผลิตซอฟต์แวร์ในท้องถิ่น :

“โดยผ่านโครงการอาชญากรรมไซเบอร์ ไมโครซอฟท์จะอบรมเจ้าหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงมหาดไทย ถึงการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อต่อสู้กับอาชญากรรม ในส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ไมโครซอฟท์จะเปิดเผยซอร์สโค้ดต้นฉบับของซอฟต์แวร์ของตนให้กับรัฐบาล ตูนิเซีย”

ผู้เขียนโทรเลขดังกล่าว ยังให้ความเห็นต่อไปว่า “ในทางทฤษฎีแล้ว การเพิ่มความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลตูนิเซียนั้นเป็นเรื่องดี แต่เมื่อพิจารณาการที่รัฐบาลตูนิเซียแทรกแซงอินเทอร์เน็ตอย่างหนัก ทำให้มีคำถามว่าโครงการนี้จะเพิ่มความสามารถของรัฐบาลตูนิเซียในการจับตาดู พลเมืองของตัวเองหรือไม่” และปิดท้ายด้วยความเห็นที่ว่า “ในตอนสุดท้ายแล้ว ผลประโยชน์ที่ไมโครซอฟท์จะได้รับ จะมีมากกว่าราคาที่จ่ายไปมาก”

ไมโครซอฟท์ชี้แจงกับสำนักข่าวแซดดีเน็ตยูเค (ZDNet UK) ว่าการอบรมดังกล่าวเป็นการอบรมมาตรฐานที่หลักสูตรเหมือนกันทั่วโลก และไมโครซอฟท์ทำงานร่วมกับรัฐบาลหลายประเทศในการพัฒนานวัตกรรมไอทีและสร้าง งานในท้องถิ่น

จากการประเมินสถานการณ์เสรีภาพทั่วโลก “Freedom in the World” โดยองค์กรฟรีดอมเฮาส์ในปี 2554 ตูนิเซียถูกจัดเป็นประเทศที่ ‘ไม่เสรี’ รายงานระบุว่ารัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีไซเน่ เอล-อะบีดีน เบน อาลี ควบคุมการเลือกตั้งอย่างหนัก และคุกคามจับกุมบล็อกเกอร์ นักข่าว และฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ต่อมาเมื่อต้นปี 2554 ระบอบของ เบน อาลี ถูกโค่นล้ม และกลายเป็นจุดกำเนิดของการปฏิวัติต่อเนื่องในหลายประเทศตะวันออกกลาง ที่เรียกว่า “Arab Spring” หรือ “ฤดูใบไม้ผลิอาหรับ”

เมื่อต้นเดือนกันยายนนี้ องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) ได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกดำเนินมาตรการแทรงแซงทางการเงินกับองค์กรธุรกิจ ที่สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการในการปราบปรามประชาชนของตัวเอง ในแถลงการณ์ดังกล่าวระบุชื่อบริษัทต่างๆ ในประเทศตะวันตก (สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ฟินแลนด์, และฝรั่งเศส) ซึ่งรวมถึงบริษัทเทคโนโลยีและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในประเทศลิเบีย, บาห์เรน, ซีเรีย, จีน และไทย ในการดักฟังและติดตามจับกุมฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

(กรณีที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยนั้น เป็นการที่บริษัทเน็ตเฟิร์ม บริษัทสัญชาติแคนาดาซึ่งให้บริการให้เช่าพื้นที่เว็บอยู่ในแคลิฟอร์เนีย ได้ให้ข้อมูลหมายเลขไอพีและที่อยู่อีเมลของชาวไทยสัญชาติอเมริการายหนึ่งแก่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ของไทย ซึ่งนำไปสู่การจับกุมและคุมขัง การให้ข้อมูลส่วนตัวนี้ผิดกฎหมายของทั้งสหรัฐอเมริกาและแคนาดา)

ในแถลงการณ์ดังกล่าว ยังได้ระบุถึงคำพูดของประธานบริษัทไมโครซอฟท์สาขารัสเซีย ที่กล่าวว่าไมโครซอฟท์รัสเซียนั้นพร้อมที่จะมอบซอร์สโค้ดรหัสโปรแกรมของ สไกป์ (Skype) ให้กับหน่วยงานความมั่นคงของรัสเซีย ไมโครซอฟท์เข้าซื้อกิจการสไกป์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยซอฟต์แวร์ดังกล่าวเป็นเครื่องมือสื่อสารที่เป็นที่นิยมของผู้ใช้ อินเทอร์เน็ตทั่วไป รวมถึงนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

ไมโครซอฟท์เป็นสมาชิกของพันธมิตร โกลบอลเน็ตเวิร์กอินิชิเอทีฟ (Global Network Initiative) หรือ GNI ซึ่งเป็นการรวมตัวของบริษัทเอกชน กองทุนการเงิน และองค์กรปกป้องสิทธิเสรีภาพ เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพอินเทอร์เน็ต

ปัจจุบัน GNI มีสมาชิกจากทั่วโลก 30 ราย สมาชิกอื่นๆ ได้แก่ กูเกิล, ยาฮู!, อิเล็กทรอนิกส์ฟรอนเทียร์ฟาวเดชั่น (EFF), ฮิวแมนไรท์วอช, และคณะกรรมการคุ้มครองสื่อ (Committee to Protect Journalists) เป็นต้น การที่ไมโครซอฟท์เป็นสมาชิก GNI นี้ ทำให้องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนคาดหวังให้ไมโครซอฟท์แสดงบทบาทผู้นำในการ คุ้มครองสิทธิมนุษยชน

แม้อินเทอร์เน็ตจะเป็นสื่อที่ไร้พรมแดน แต่ในปัจจุบัน การติดตามจับกุมผู้ก่อ “อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์” (ซึ่งรวมไปถึงการเผยแพร่ข้อมูลที่ขัดแย้งกับรัฐบาล) สามารถทำได้ผ่านกลไกและมาตรการระดับนานาชาติหลายส่วน ทั้งข้อตกลงการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ความร่วมมือระดับนานาชาติในเรื่องของความมั่นคงทางไซเบอร์ (เช่น ความร่วมมือแบบพหุภาคี IMPACT) กลไกตำรวจสากล (อินเทอร์โพล) และกฎหมายอินเทอร์เน็ตในหลายประเทศที่ระบุว่า ไม่ว่าการกระทำบนอินเทอร์เน็ตนั้นจะเกิดขึ้นในทางกายภาพที่ใดในโลก ก็จะมีความผิดตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ อยู่ดี เช่น มาตรา 17 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ของประเทศไทยที่ระบุว่า :

ผูใดกระทําความผิดตามพระราชบัญญัตินี้นอกราชอาณาจักรและ
(1) ผูกระทําความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแหงประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้นหรือผูเสียหายไดรองขอใหลงโทษ หรือ
(2) ผูกระทําความผิดนั้นเปนคนตางดาว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเปนผูเสียหายและผูเสียหายไดรองขอใหลงโทษ
จะตองรับโทษภายในราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีกลไกและมาตรการระดับนานาชาติใดๆ ที่ชัดเจน ที่จะบังคับเอาผิดกับบริษัทเอกชนที่สนับสนุนรัฐบาลในอีกประเทศในการก่อ อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุนี้องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจึงเรียกร้องว่ารัฐบาลทั้งหลายจำเป็น ต้องมีมาตรการร่วมกัน ในการหยุดยั้งอาชญากรรมที่สนับสนุนโดยบริษัทเอกชน เพื่อปกป้องอินเทอร์เน็ตและผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

ในปี 2554 ประเทศไทยถูกฟรีดอมเฮาส์จัดเป็นประเทศ ‘กึ่งเสรี’ โดยมีแนวโน้มที่แย่ลง (Freedom in the World 2011) และมีสถานการณ์สื่อมวลชนอยู่ในระดับ ‘ไม่เสรี’ (Freedom of the Press 2011) เช่นเดียวกับสถานการณ์อินเทอร์เน็ตที่ ‘ไม่เสรี’ เช่นกัน (Freedom on the Net 2011) ซึ่งประเด็นหลักอันหนึ่งที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มไม่เสรีในการจัดอันดับต่างๆ หลายสำนัก ก็คือการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และกฎหมายอื่นๆ ในการจับกุมผู้ใช้เน็ตที่คิดเห็นต่างจากรัฐ

ก่อนหน้านี้ วิกิลีกส์ก็ได้เปิดเผยรายงานของกงสุลสหรัฐประจำเชียงใหม่ ที่พูดคุยกับกลุ่มธุรกิจของสหรัฐฯ ในเชียงใหม่เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 โดยระบุว่าผู้บริหารของไมโครซอฟท์ไทยกังวลต่อแนวทางการสนับสนุนซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สของรัฐบาลไทย.



-----------------------------------

“My Computer Law” เป็นโครงการเพื่อการเสนอร่างกฎหมายคอมพิวเตอร์จากภาคประชาชน โดยประกอบไปด้วยกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตและกฎหมาย คอมพิวเตอร์, การรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหมู่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, การร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับประชาชน, การเสนอกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภา, และการผลักดันร่างดังกล่าวในสภา

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://mycomputerlaw.in.th/2011/09/wikileaks-microsoft-helps-tunisia-censorship/

http://www.prachatai3.info/journal/2011/09/36878

--------------------------------------------------

FfF