19 กันยายน 2554

<<< คณะนิติราษฎร์ออกแถลงการณ์ 4 ประเด็น เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑ ปีนิติราษฎร์ >>>

แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์
เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑ ปีนิติราษฎร์


ประเด็นที่ ๑

การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และยังเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้มีการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ดังต่อไปนี้

๑. ประกาศให้รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และการกระทำใดๆที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

๒. ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

๓. ประกาศให้คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่เกิดจากการเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

๔. ประกาศให้เรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นเจ้าหน้าที่ และเรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นศาล ที่เกิดจากการเริ่มเรื่องโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นอันยุติลง

๕. การประกาศความเสียเปล่าของบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาตามข้อ ๓ และการยุติลงของกระบวนการตามข้อ ๔ ไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรมหรือการอภัยโทษหรือการล้างมลทินแก่บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และไม่ใช่เป็นการลบล้างการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ดังนั้น หากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ก็สามารถกระทำไปตามกระบวนการทางกฎหมายปกติได้

๖. เพื่อความชอบธรรมทางประชาธิปไตย คณะนิติราษฎร์เสนอให้นำข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นไปจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ

ประเด็นที่ ๒

การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒

ตามที่คณะนิติราษฎร์ได้จัดทำข้อเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ และนำเสนอสู่สาธารณะตั้งแต่วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๔ แล้วนั้น

๑. คณะนิติราษฎร์ยังยืนยันว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ มีปัญหาทั้งในแง่ตัวบทกฎหมาย การบังคับใช้ และอุดมการณ์ และจำเป็นต้องแก้ไข บุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ควรปฏิเสธว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ไม่มีปัญหาและไม่จำเป็นต้องแก้ไข ทั้งที่ยังไม่มีการศึกษาและอภิปรายในวงกว้างอย่างจริงจัง

๒. คณะนิติราษฎร์เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเรื่องความสมดุลระหว่างความร้ายแรงของการกระทำอันเป็นความผิดกับโทษที่ผู้กระทำความผิดนั้นควรได้รับ จึงไม่เป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๙

๓. คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในประเด็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ เพื่อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีต่อไปตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๑๙ (๓)

ประเด็นที่ ๓

กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลย

และการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

สืบเนื่องจากการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ประเทศไทยต้องตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเรื่อยมา มีการชุมนุมของฝ่ายต่างๆ มีการใช้ความรุนแรง มีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และมีผู้ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ดังนั้น เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย และเพื่อบรรเทาความเสียหายของประชาชน คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้ดำเนินการดังต่อไปนี้โดยเร่งด่วน และเป็นรูปธรรม

๑. คณะนิติราษฎร์ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่มีเป้าหมายแอบแฝงเพื่อยุติกระบวนการพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง หรือมีประเด็นทางการเมืองเป็นองค์ประกอบอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับการประกันตามกระบวนการที่ถูกต้องและเป็นธรรม (Due Process) ในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในกรณีทั่วไป สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวต้องถูกพิจารณาโดยเคร่งครัดและอย่างเป็นภาวะวิสัย ในขณะที่การเรียกประกันหรือหลักประกันก็ต้องไม่เกินความจำเป็นแก่กรณี ตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๐ วรรคท้าย แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งสอดคล้องกับหลักให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) และก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๙

๒. โดยอาศัยหลักความรับผิดของรัฐ คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาออกมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความช่วยเหลือหรือจ่ายค่าทดแทนแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ อย่างไม่เลือกปฏิบัติ โดยอาจแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบโดยเฉพาะ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราค่าทดแทน สามารถอาศัยแนวทางตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๔ หรือพระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ.๒๕๔๓ เป็นต้น และการได้รับค่าทดแทนดังกล่าวไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้เสียหายพึงได้ตามกฎหมายอื่น

๓. คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติติดตามตรวจสอบการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยองค์กรต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๘

ประเด็นที่ ๔

การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐

และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นผลพวงต่อเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จึงมีปัญหาความชอบธรรมทางประชาธิปไตย แม้ว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวผ่านการออกเสียงประชามติก็ตาม แต่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการจัดให้มีการออกเสียงประชามติไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย

๑. คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม “หมวด ๑๖ การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่”

๒. คณะนิติราษฎร์เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้เป็นต้นแบบในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ สมควรเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับพัฒนาการในยุคร่วมสมัยมาเป็นแนวทางในการยกร่าง

๔. เพื่อมิให้การรัฐประหารทำลายหลักการอันเป็นรากฐานของนิติรัฐ-ประชาธิปไตยจนหมดสิ้น คณะนิติราษฎร์เสนอให้มีการจัดทำ “คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย” แม้คำประกาศดังกล่าวจะไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย แต่คำประกาศดังกล่าวเป็นวิญญาณของระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ไม่มีบุคคลใดหรือไม่มีวิธีใดทำลายหรือทำให้สูญสิ้นไปได้

๕. คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย ยืนยันว่ามนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย ไม่มีผู้ใดและไม่มีวิธีใดที่จะพรากไปจากราษฎรได้ การปกครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรมเป็นคุณค่าพื้นฐานของรัฐ และการแบ่งแยกอำนาจเป็นอุดมการณ์ในการจัดรูปการปกครองที่ต้องธำรงไว้ให้มั่นคงตลอดกาล

๖. หลังจากสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบ

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

จันทจิรา เอี่ยมมยุรา

ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล

ธีระ สุธีวรางกูร

สาวตรี สุขศรี

ปิยบุตร แสงกนกกุล

ปูนเทพ ศิรินุพงศ์

คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร

ท่าพระจันทร์, ๑๘ กันยายน ๒๕๕๔

http://www.enlightened-jurists.com/download/56

---------------------------------------------------

นิติราษฎร์ ออกแถลงการณ์"ความผิดพลาดคลาดเคลื่อน 7 ประการ"ยืนยันไม่ได้"ล้างผิด"ให้ใคร

วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 13:42:25 น.







การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙


ตามที่คณะนิติราษฎร์ได้จัดทำแถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑ ปีนิติราษฎร์ และเผยแพร่สู่สาธารณชน
เมื่อ วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๔ ไปแล้วนั้น ปรากฏว่าได้มีการนำเสนอข่าวสารโดยสื่อมวลชนจำนวนมากในลักษณะที่ผิดพลาดคลาด เคลื่อนไปจากข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ จนสร้างความเข้าใจผิดแก่สาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอให้ “ลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙” ประกอบกับมีผู้ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่ได้ศึกษารายละเอียดของข้อเสนอดังกล่าวให้เข้าใจ อย่างเพียงพอ คณะนิติราษฎร์จึงเห็นสมควรชี้แจงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้

๑.ในแถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบ รอบ ๑ ปีนิติราษฎร์ ๕ ปีรัฐประหาร คณะนิติราษฎร์มีข้อเสนอรวม ๔ ประเด็น ได้แก่ การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙, การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๑๒, กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลยและการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร
๑๙ กันยายน ๒๕๔๙, การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ปรากฏว่าสื่อมวลชน นักการเมือง และบุคคลทั่วไปกลับมุ่งความสนใจไปในประเด็นแรกเรื่องการลบล้างผลพวงของรัฐ ประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นพิเศษ ซึ่งคณะนิติราษฎร์เห็นว่าสื่อมวลชนบางสำนัก และนักการเมืองจำนวนหนึ่งเข้าใจข้อเสนอของเราคลาดเคลื่อน ทั้งโดยเจตนา และไม่เจตนา

๒. คณะนิติราษฎร์ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าข้อเสนอเรื่องการลบล้างผลพวงของรัฐ ประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรม หรือการอภัยโทษ หรือการล้างมลทินแก่บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดและไม่ใช่เป็นการลบ ล้างการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดดังนั้น หากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ก็สามารถกระทำไปตามกระบวนการทาง กฎหมายปกติได้ จึงไม่ควรมีบุคคลใดไปกล่าวอ้างอีกต่อไปว่าคณะนิติราษฎร์เสนอให้ “ล้างผิด” ให้แก่นักการเมืองที่ถูกกล่าวหาและถูกพิพากษาจากกระบวนการที่ริเริ่มและ สัมพันธ์กับรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

๓. เหตุที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้ประกาศลบล้างคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำาวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมืองก็เนื่องจากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นำเอาประกาศ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) มาใช้บังคับแก่คดี จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำาวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมืองเป็นผลจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

๔. คณะนิติราษฎร์ยืนยันว่าผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ต้องถูกลบล้าง แต่เนื่องจากการกระทำที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ มีหลายรูปแบบ ก่อตั้งสิทธิและหน้าที่และส่งผลกระทบต่อบุคคลจำนวนมาก เพื่อรักษาความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะและคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจ การลบล้างผลพวงของรัฐประหารดังกล่าว จึงต้องกระทำโดยคำนึงถึงบุคคลผู้สุจริตด้วย ด้วยเหตุนี้ ในหลักการ คณะนิติราษฎร์จึงไม่ได้เสนอให้ลบล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นการทั่วไป

ส่วนที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้ลบล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ เฉพาะมาตรา ๓๖ และมาตรา๓๗ ก็เนื่องจากบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวเป็นการนิรโทษกรรมการรัฐประหารและ รับรองการกระทำใดๆของคณะรัฐประหารให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

๕. การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ตามข้อเสนอของเรานั้นสามารถทำได้ในทางกฎหมาย ดังตัวอย่างที่ปรากฏให้เห็นในนานาอารยประเทศ ได้แก่ การประกาศความเสียเปล่าของคำพิพากษาสมัยนาซีในเยอรมนี, การประกาศความเสียเปล่าของการกระทำใดๆสมัยระบอบวิชี่ในฝรั่งเศส, การประกาศความเสียเปล่าของคำพิพากษาที่ลงโทษบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือผู้หลบ หนีลี้ภัยจากนาซีในสวิตเซอร์แลนด์, การประกาศความเสียเปล่าของการกระทำใดๆของรัฐบาลเผด็จการทหารตั้งแต่รัฐ ประหาร ๒๑ เมษายน ๑๙๖๗ ถึง ๒๕ พฤศจิกายน ๑๙๗๓ ในกรีซ, การยกเลิกเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของคณะรัฐประหาร ๑๒กันยายน ๑๙๘๐ ในการไม่ถูกดำเนินคดีในตุรกี และความพยายามผลักดันให้ตรากฎหมายประกาศความเสียเปล่าของคำพิพากษาในสมัยระ บอบฟรังโก้ในสเปนเป็นต้น

๖. ต่อข้อสงสัยที่ว่าเหตุใดคณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร เฉพาะรัฐประหาร๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เท่านั้น เหตุใดจึงไม่เสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหารในครั้งอื่นๆด้วย คณะนิติราษฎร์มีจุดยืนปฏิเสธรัฐประหารทุกครั้งที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญ และทำลายนิติรัฐ-ประชาธิปไตย แต่เหตุที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ในเบื้องต้นก่อนนั้น ก็เพราะว่าผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ยังคงดำรงอยู่ และเป็นต้นตอของความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยในขณะนี้

๗. ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์นี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่ยอมรับรัฐประหาร เมื่อระบบกฎหมาย-การเมืองเข้าสู่ปกติ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (Pouvoir constituant) เป็นของประชาชน ประชาชนในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ในระบอบประชาธิปไตย ย่อมมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการลบล้างผลพวงของรัฐประหารคณะนิติราษฎร์ขอ ยืนยันว่า แถลงการณ์ของเราเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปฏิเสธรัฐประหารอย่างถึงที่สุด

ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ยึดมั่นหลักการ เคารพกระบวนการทางกฎหมายที่ถูกต้องและเป็นธรรม หลักความมั่นคงแห่งนิติฐานะและการคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจต่อการดำรง อยู่ของกฎหมาย หลักการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค ซึ่งหลักการทั้งหลายเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งในนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และคณะนิติราษฎร์ยืนยันที่จะปกป้องหลักการทั้งหลายเหล่านี้อย่างสุดกำลัง ด้วยความบริสุทธิ์ใจ

วรเจตน์ ภาคีรัตน์
จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
ธีระ สุธีวรางกูร
สาวตรี สุขศรี
ปิยบุตร แสงกนกกุล
ปูนเทพ ศิรินุพงศ์
คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
ท่าพระจันทร์, ๒๕ กันยายน ๒๕๕๔

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1316932942&grpid=00&catid=&subcatid=

---------------------------------------------------

FfF