Fri, 2009-04-10 06:19
ย้อนรอยหลังพันธมิตรฯ ปฏิบัติการ "ไทยคู่ฟ้า" ยึดเอ็นบีที ยึดทำเนียบรัฐบาล หยุดเดินรถไฟ ปิดถนน 4 ภาค ปิดสนามบิน 3 แห่ง เมื่อ 26 ส.ค. 51 จากนั้นมีการประชุมร่วมสองสภาเพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อหาทางออกในวันที่ 31 ส.ค. 51 ในวันนั้นอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านเสนอให้ "สมัคร สุนทรเวช" ยุบสภาเพื่อหาทางออกให้บ้านเมือง
ทีมข่าวการเมือง
เมื่อ 8 เมษายน 2552 ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระดมผู้ชุมนุมจำนวนมหึมา ชุมนุมยาวจากทำเนียบรัฐบาล ไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า จนถึงหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ที่พักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
และในวันที่ 9 เมษายน 2552 ก่อน ดาวกระจายไปยังที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ กระทรวงการต่างประเทศ กองบัญชาการกองทัพบก ศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนเคลื่อนไปปิดถนนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และไปสมทบกับคนขับรถแท็กซี่ที่ออกมาปิดถนนรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในช่วง เย็น เพื่อกดดันให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสามองคมนตรี เปรม-สุรยุทธ์-ชาญชัย ลาออก
และเมื่อเวลา 21.15 น. นายอภิสิทธิ์ได้แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ยืนยันว่าจะไม่ยุบสภา และจะไม่ลาออก โดยเปิดเผยว่าการตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของชาติ ข้อเสนอยุบสภาในขณะนี้ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะมีการข่มขู่คุกคามพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับตัวเอง นำไปสู่ความวุ่นวาย หากเกิดความรุนแรงช่วงเลือกตั้ง จะเป็นการซ้ำเติมภาพลักษณ์ของประเทศอย่างรุนแรง ในแง่การพัฒนาประชาธิปไตย การยุบสภายังไม่เหมาะสมในช่วงเวลานี้ การยุบสภาอาจทำให้การประชุมอาเซียนหยุดชะงักไป ข้อเรียกร้องให้ลาออก ถ้าสภาเลือกให้ผมกลับมาอีก เพราะพรรคการเมืองร่วมมือกัน ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ผู้ชุมนุมประมาณ ร้อยละ 70 เดินทางกลับไปแล้ว ที่เหลือร้อยละ 30 ได้เปลี่ยนแนวทางไปอย่างชัดเจน ข้อเรียกร้องเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ชักชวนประชาชนให้เข้าไปร่วมกระบวนการละเมิดกฎหมาย ประเทศไม่มีรัฐบาล มาเรียกร้องตรงนี้ให้เกิดความวุ่นวาย
การปิดถนนสำคัญๆ ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ไม่มีนักประชาธิปไตยคนไหนสนับสนุนได้ เป็นการกระทำของคนที่ไม่เชื่อระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลขออภัยที่เกิดความไม่สะดวก เข้าใจในความรู้สึกของประชาชนที่อึดอัด หงุดหงิด เรารู้ถึงจุดมุ่งหมายของผู้ชุมนุมที่ต้องการให้เกิดการเผชิญหน้าและรุนแรง ให้เป็นเหตุการณ์ไม่ปกติ อภิสิทธิ์กล่าว
การที่นายกรัฐมนตรียืนยันที่จะไม่ลาออก ยุบสภา และการมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อผู้ชุมนุม เห็นผู้ชุมนุมที่ปิดถนนเป็นผู้ละเมิดกฎหมาย การเห็นผู้ชุมนุมเป็นผู้ต้องการให้เกิดความรุนแรง การมองว่าผู้ชุมนุมไม่เชื่อในระบอบประชาธิปไตย อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้สำหรับผู้นำประเทศที่ต้องรักษาอำนาจของรัฐบาลเอา ไว้
แต่เชื่อหรือไม่ ว่า ก่อนหน้านี้ ย้อนกลับไปไม่กี่เดือนในยุคที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้นำฝ่ายค้าน และทั้งๆ ที่ในขณะนั้นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งกำลังชุมนุมขับไล่รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช ได้ยกระดับการชุมนุมด้วยการยึดทำเนียบรัฐบาล ศูนย์กลางบริการราชการแผ่นดิน ยึดสนามบิน 3 แห่ง หยุดการเดินรถไฟ ปิดถนนเข้ากรุงเทพหลายภาค แต่ในวันนั้นนายอภิสิทธิ์ ไม่ได้มีท่าทีแข็งกร้าวกับผู้ชุมนุม เขากลับแสดงความเข้าใจ เห็นว่าการชุมนุม จะถูกหรือผิดกฎหมาย ต้องมีคนเดือดร้อน เขาไม่เห็นว่าผู้ชุมนุมเป็นกบฏ หรือเป็นเครื่องมือของพรรคการเมืองใด ในขณะนั้นนายอภิสิทธิ์ ยังเดินทางไปเยี่ยมผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ซึ่งบาดเจ็บจากการเข้าบังคับคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเขาเองก็แสดงความไม่เห็นด้วยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม
ในวันนี้ที่อภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี เขาอาจเห็นว่าข้อเสนอ ยุบสภาเป็นเรื่องไม่เหมาะสม แต่ในวันนั้น เขาเสนอให้รัฐบาลใช้วิธียุบสภาโดยเขาเชื่อว่าเป็นการหาทางออกให้บ้านเมือง
เราจะย้อนกลับไป พิจารณาช่วงเวลานั้น กลับไปอ่านท่าทีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งเขาเป็นผู้นำฝ่ายค้าน และมีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอยู่ในทำเนียบรัฐบาล
000
1. ไทยคู่ฟ้า ยึดทำเนียบ และอารยะขัดขืนอื่นๆ
"...พวกเราจะพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเราโคตรจะรักชาติแค่ไหน..."
สิ้นเสียงของสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ระหว่างการปราศรัยในคืนวันที่ 25 สิงหาคม 2551 ต่อมารุ่งเช้าของ วันที่ 26 สิงหาคม 2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ปฏิบัติการ "ไทยคู่ฟ้า" ประกาศ "อารยะขัดขืนขั้นสูงสุด" โดยส่งนักรบศรีวิชัยชุดดำเข้ายึดเอ็นบีทีและกรมประชาสัมพันธ์ ปิดล้อมกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม ก่อนถอนกำลังมารวมกันเพื่อบุกยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นที่ชุมนุม
นอกจากนี้มวลชน พันธมิตรฯ ในต่างจังหวัดได้ปิดถนนเพชรเกษมช่วง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร มีการปิดถนนมิตรภาพช่วง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา และปิดถนนสายเอเชียที่แยกปลวงสูง อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร ทั้งหมดเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ลาออก
นับเป็นการ "อารยะขัด ขืนขั้นสูงสุด" ที่พันธมิตรฯ สุดจะภูมิใจ
เหตุการณ์หลังจาก นั้น วันที่ 27 สิงหาคม 2551 ช่วงบ่าย ศาลอาญามีคำสั่งออกหมายจับ 9 แกนนำพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตยข้อหากบฏ และในเวลา 22.00 น. ศาลแพ่งมีคำสั่งให้แกนนำพันธมิตรฯ พาผู้ชุมนุมออกจากทำเนียบรัฐบาล ให้รื้อถอนเวทีปราศรัย และให้ขนย้ายสิ่งกีดขวางที่อยู่ในทำเนียบ ออกจากพื้นที่ รวมทั้งให้เปิดพื้นที่ถนนพิษณุโลก และถนนราชดำเนิน โดยคำสั่งดังกล่าว ให้มีผลทันที
2. ปฏิบัติการโต้หมายจับ-โต้บังคับคดี
ปฏิกิริยาที่ตาม มาหลังจากนั้น วันที่ 28 สิงหาคม 2551 มีการหยุดเดินรถหลายขบวนทั่ว ประเทศ โดยพนักงานรถไฟพร้อมใจยื่นหนังสือลาป่วย โดยการหยุดเดินรถไฟเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนพันธมิตรฯ และคัดค้านหมายจับแกนนำพันธมิตรฯ
ที่สภา นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตำหนิที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ไม่ยอมมาตอบกระทู้เรื่อง "รายการสนทนาประสาสมัคร" เป็นครั้งที่ 2 โดยนายเทพไทกล่าวว่า นายสมัครทำตัวเหมือนเป็นนายกฯ พเนจร ร่อนเร่ เจ้าไม่มีศาล ถ้าอยากหนีสภาก็ขอให้ลาออกไป ทำให้เกิดการโต้เถียงขึ้น โดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน ขอให้นายเทพไทถอนคำพูด ส่วนนายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี พรรคพลังประชาชน เรียกร้องให้นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ลาออกบ้างเพราะถูกออกหมายจับ
ขณะเดียวกัน นายสมเกียรติได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย ก็มีความคิดจะลาออกเหมือนกัน เพราะถูกตั้งข้อหาที่ใหญ่มาก แต่ภูมิใจที่เป็นกบฏต่อรัฐบาลที่ไม่พึงปรารถนาและภูมิใจที่ได้ล้มบางระบอบ ได้
จากนั้นจึงเกิด การโต้เถียงระหว่าง ส.ส. สองพรรคยกใหญ่ ทำให้นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรขอร้องว่า "ถ้ายังไม่หยุดเถียงกัน จะให้ไปกราบเท้าก็ยอม" ทำให้การประชุมดำเนินต่อไป
วันที่ 29 สิงหาคม 2551 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มนำหมายบังคับคดีให้พันธมิตรออกจากทำเนียบรัฐบาล นำไปติดที่ทำเนียบรัฐบาล สะพานชมัยมรุเชษฐ์ สะพานมัฆวานรังสรรค์ แยกมิสกวัน ลานพระบรมรูปทรงม้า และสะพานอรทัย โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสนับสนุนในแต่ละจุดรวมกว่าพันคน และมีการกระทบกระทั่งกับผู้ชุมนุม ระหว่างการรื้อถอนเต็นท์และอุปกรณ์ต่างๆ ของผู้ชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์
โดยเจ้าหน้าที่ ตำรวจยึดของกลางที่ได้จากรื้อถอนเวทีและเต็นท์พันธมิตรฯ บริเวณสะพานมัฆวานฯ ทั้งหมด 18 รายการ ประกอบด้วยลูกกระสุนปืน .38 จำนวน 117 นัด ลูกกระสุน 9 ม.ม. ปืนอัดลม 1 กระบอก ใบกระท่อม 2.2 กิโลกรัม ของเหลวสีน้ำตาลบรรจุขวด ขนาด 100 ซีซี 9 ขวด น้ำมันเบนซินบรรจุในขวดเครื่องดื่มชูกำลัง 60 ขวด ไม้กอล์ฟ 1,558 อัน ท่อนเหล็ก 248 ท่อน ไม้ท่อนกลม 185 อัน ไม้ท่อนเหลี่ยม 50 อัน เสาธงไม้ 48 อัน ดาบและเหล็กปลายแหลม 20 อัน สนับแขนทำด้วยท่อ โล่ทำด้วยไม้ 56 อัน หนังสติ๊กไม้ 55 อัน ลูกแก้วและลูกดินปั้น 155 ลูก ถังดับเพลิง 3 ถัง และโทรโข่ง 2 อัน
ในช่วงเที่ยง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตอบโต้ด้วยการนำผู้ชุมนุมไปสนามบินนานาชาติภูเก็ต สนามบินนานาชาติหาดใหญ่ และสนามบินนานาชาติกระบี่
ในวันนี้ นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กว่า 1,000 คน นำกำลังเข้ายึดสถานีวิทยุกระจายเสียง FM 88 MHz ที่ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัย และทำการเชื่อมต่อสัญญาณจากสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี เพื่อถ่ายทอดเสียงการปราศรัยจากเวทีพันธมิตรฯ ที่ทำเนียบรัฐบาลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับฟังสถานการณ์การชุมนุมของ พันธมิตรฯ
ในวันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงเช้า จากนั้นเวลาประมาณ 10.30 น. ผู้นำฝ่ายค้านพร้อมคณะ ได้เดินทางเข้าพบ นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ขอให้เปิดประชุมร่วม 2 สภา ในวันจันทร์ที่ 1 ก.ย. เพื่อทางออกเกี่ยวกับสถานการณ์ของบ้านเมืองในขณะนี้
และในเวลา 14.20 น. ของวันที่ 29 สิงหาคม 2551 นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยแกนนำพรรค อาทิ นายกรณ์ จาติกวณิช คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ส.ส.กทม. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.กทม. นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา นายสุทธิ ปัญญาสกุลวงศ์ ส.ส.กทม. มาเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมที่เชิง สะพานมัฆวานรังสรรค์
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ได้ทราบข่าวเหตุตำรวจเข้าเคลียร์พื้นที่ และได้เห็นภาพว่า ในทำเนียบรัฐบาลมีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจริง จึงเดินทางมาพบในเรื่องดังกล่าว เพื่อขอความชัดเจนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลเรื่องนี้ ซึ่งได้รับคำตอบกลับมาว่า ตำรวจได้ทำตามคำสั่งของศาล ทำไปตามหน้าที่เป็นไปตามกฎหมาย
หัวหน้าพรรคประชา ธิปัตย์ ได้กล่าววิงวอนไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะจะทำให้เกิดเหตุบานปลาย และจะทำให้สังคมไม่สงบมากขึ้น ซึ่งในฐานะ สส. ไม่อยากเห็นเหตุการณ์ ลุกลามเหมือนพฤษภาทมิฬ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการเมือง แม้ว่าตำรวจจะทำตามกฎหมายก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหากับผู้ชุมนุมได้ ควรให้การเมืองดูแล
ในวันนี้ ส.ว.ราว 20 คน นำโดย นางรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. และ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้เดินทางไปร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจกับกลุ่มพันธมิตรฯ ที่บริเวณทำเนียบรัฐบาลด้วย
และเวลา 14.45 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พล.อ.ปฐมพงศ์ เกษรศุกร์ ประธานที่ปรึกษากองบัญชาการกองทัพไทย น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว. กทม. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กทม. ได้เดินทางไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อขอเข้าพบ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รมว.มหาดไทย และรองนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ที่อยู่ใน บช.น. ซึ่ง พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้การต้อนรับ
เวลา 16.15 น. พันธมิตรฯ นับพันคนนำโดย นายศิริชัย ไม้งาม ได้ทยอยเดินทางออกจากทำเนียบฯ ไปที่สนามม้านางเลิ้ง และเข้าปิดล้อมด้านหน้าสนามม้านางเลิ้ง ตรงประตูใหญ่สี่แยกนางเลิ้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังอยู่ด้านใน เพื่อกดดันให้ตำรวจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับตำรวจที่กระทำเกินกว่าเหตุ กรณีเหตุปะทะกันที่สะพานมัฆวานฯ ภายในเวลา 19.00 น. วันที่ 29 สิงหาคม ทั้งนี้ แกนนำพันธมิตรฯ ระบุหากตำรวจไม่มีการจัดการใดๆ จะนำผู้ชุมนุม 1 แสนคน ไปกองบัญชาการตำรวจนครบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เวลา 18.00 น. ศาลแพ่งมีคำสั่งงดการบังคับคดีที่ให้พันธมิตรฯ ออกจากทำเนียบ จนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งหรือคำพิพากษา อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และคำขอทุเลาการบังคับคดีตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ที่ นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยื่นต่อศาลแพ่ง
เวลา 19.00 น. นายวัชระ เพชรทอง และนายวสันต์ สิทธิเขต ได้นำผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ กว่าพันคนเดินทางจากทำเนียบรัฐบาล ไปปิดล้อมหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เพื่อกดดันให้ตำรวจส่งตัว พล.ต.ต.สุชาติ เหมือนแก้ว รอง ผบช.น. ว่าที่ ผบช.น. ลงมาเจรจา ว่าเป็นผู้สั่งการให้ตำรวจใช้กำลังกับประชาชนหรือไม่ พร้อมทั้งเรียกร้องให้นำเงินบริจาคนับแสน และโทรศัพท์มือถือที่หายไปมาคืน แต่ปรากฏว่า ตำรวจไม่ยอมลงมาเจรจา
จากนั้นได้ส่งให้ผู้ชายที่เป็นการ์ดตั้งแถวตอนและนับถอยหลังพร้อมๆ กันโดยเริ่มจาก 5-4-3-2-1 พร้อมกลุ่มผู้ชุมนุมได้ลุกขึ้นเฮพร้อมเขย่าประตูเพื่อพังประตูเข้าไปหลังจาก นั้นประมาณ 10-15 นาที ขณะที่ผู้ชุมนุมกำลังเขย่ารั้ว บช.น.อยู่นั้น ปรากฏว่ามีผู้ยิงแก๊สน้ำตา เข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม 10 กว่านัด ทำให้ผู้ชุมนุมตื่นตระหนกวิ่งหลบกันอลหม่าน บางคนล้มฟุบต้องหามไปโรงพยาบาลนับสิบราย
ทั้งนี้ช่วงที่ชุลมุนวุ่นวายก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนร้องโวยวายการกระทำของเจ้า หน้าที่ตำรวจ และใช้ไม้ขนาดใหญ่ทุบตีรถยนต์ตำรวจ และรถผู้สื่อข่าวช่อง 3 รถผู้สื่อข่าวช่อง 7 ที่จอดอยู่บริเวณรอบนอกของ บช.น.
3. ประชุมร่วม 2 สภา หวังหาทางออก
วันที่ 30 สิงหาคม 2551 นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่านายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ทำถึงนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปร่วมกันของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179 โดยให้เหตุผลว่าขณะนี้มีกลุ่มบุคคลรวมตัวเข้ายึดสถานที่และหน่วยงานรัฐหลาย แห่ง ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง สถานการณ์มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้นรัฐสภาควรประชุมกันเพื่อแสวงหาแนวทางหรือหนทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดย สันติวิธีตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย จึงสมควรให้มีการรับฟังความคิดเห็นของ ส.ส. และ ส.ว. โดยขอเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมของรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติ ทั้งนี้ นายชัยได้ประสานมาที่นายพิทูร เพื่อให้เปิดประชุมในวันที่ 31 สิงหาคม 2551 เวลา 13.00 น.
วันที่ 31 สิงหาคม 2551 พันธมิตรฯ มีการยกเลิกการปิดสนามบินนานาชาติภูเก็ต สนามบินนานาชาติหาดใหญ่ และสนามบินนานาชาติกระบี่ โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลได้เปิดประชุมสภาทั้ง 2 สภาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาแล้ว
เวลา 13.30 น. รัฐสภาได้เปิดการประชุมร่วมของรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ตามที่นายสมัครยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป มีนายชัย ในฐานะประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธาน ประธานได้แจ้งว่าการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายครั้งนี้เนื่องจากเป็นสมัย นิติบัญญัติ ไม่สามารถปฏิบัติได้ จึงขอมติทั้งสองสภาเพื่อให้สามารถดำเนินการประชุมต่อไปได้ ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการประชุมตามมาตรา 179 ในการพิจารณาญัตติดังกล่าวได้ด้วยเสียง 445 เสียง ไม่เห็นด้วย 8 เสียง งดออกเสียง 4 เสียงและไม่ลงคะแนน 3 เสียง ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบให้เปิดอภิปรายทั่วไป
และต่อไปนี้คือ การอภิปรายส่วนหนึ่งในการประชุมร่วมของรัฐสภาในวันนั้น โดยข้อเสนอจากฝ่ายค้านและ ส.ว.สายพันธมิตรฯ ส่วนใหญ่ เสนอให้นายกรัฐมนตรียุบสภา หรือลาออก
บอกสมัครหากอยู่แล้วบ้านเมืองเสียหายสมควรพิจารณาตัวเอง
โดย นายจุริ นทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.สัดส่วน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การประชุมวันนี้จะเป็นการหาทางแก้ไขโดยสันติวิธี หากรัฐบาลทบทวนพฤติกรรมที่ผ่านมาจะรู้ว่าสาเหตุไม่ได้เกิดขึ้นโดยลอยๆ สาเหตุสำคัญคือรัฐบาลเป็นผู้จุดชนวนวิกฤตและการชุมนุม เพราะ 7 เดือนที่ผ่านมานายกฯทำอยู่สองเรื่อง 1.แก้ปัญหาให้ตัวเอง 2.แก้ปัญหาให้อดีตนายกฯ รัฐบาลประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 237 มาตรา 309 นอกจากนี้ยังให้มีรายการ "ความจริงวันนี้" หรือความจริงข้างเดียว โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้เสียหายได้ชี้แจง เกิดการยั่วยุสร้างความแตกแยกอย่างรุนแรง รวมทั้งรัฐบาลยังมีพฤติกรรมมุ่งล้างแค้นองค์กรอิสระ ทั้ง กกต. ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ และการเอาคนของตัวเองเข้าอยู่ในบอร์ดของ ก.ล.ต. การตั้งข้อหาแกนนำพันธมิตรฯ เป็นกบฏแผ่นดินรุนแรงเกินเหตุ ทำให้ผู้ชุมนุมมากขึ้น เพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรมและไม่ชอบธรรมต่อกฎหมาย นายกฯยังมีพฤติกรรมบังคับให้เลือกข้าง ทำให้คนแตกแยกเป็นสองซีก สะท้อนการไร้ภาวะผู้นำของนายกฯ แทนที่จะสร้างความสมานฉันท์ รวมทั้งการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม ยิ่งทำให้สถานการณ์ยากที่จะสงบ นายกฯคือสาเหตุของความสับสนวุ่นวายและวิกฤตที่เกิดขึ้น
นายจุรินทร์กล่าว ต่อว่า อยากเสนอ 1.รัฐบาลจะต้องไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ยับยั้งสถานการณ์ไม่ให้บานปลาย 2.ถึงเวลาที่นายกฯต้องทบทวนพฤติกรรมของตัวเองว่ายังสมควรเป็นนายกฯต่อไปอีก หรือไม่ แม้นายกฯจะอยู่ได้แต่จะบริหารราชการแผ่นดินได้ยาก จึงเห็นสมควรให้นายกฯพิจารณาตัวเองว่า หากยังอยู่บ้านเมืองจะสุ่มเสี่ยงต่อความเสียหาย และสุ่มเสี่ยงต่อการเสียเลือดเนื้อหรือไม่
จตุพรกังขาข้อเรียกร้องพันธมิตรฯ
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน ลุกขึ้นอภิปรายว่า ดูข้อเรียกร้องที่ยกขึ้นมาอ้าง 3 ข้อของพันธมิตร คือ1.รัฐบาลลาออก 2.ห้ามแก้รัฐธรรมนูญ และ 3.ให้มีการเมืองใหม่ สัดส่วนแต่งตั้ง 70 และเลือกตั้ง 30 เป็นข้อเรียกร้องที่เลยเถิดและขัดแย้งกันเอง หากให้มีการเมืองใหม่แต่ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญก็ทำไม่ได้ จึงไม่แน่ใจว่าพันธมิตรฯ คิดอะไรอยู่ ในอดีตมีกรณีมาตรา 7 คือการตั้งนายกฯพระราชทาน และวันนี้นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตร ก็ออกมาประกาศจะหนุนพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นรัฐบาลก็ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐบาลต้องเป็นเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ผ่านมาพอเกิดเรื่องกับฝ่ายตรงข้าม กลุ่มพันธมิตรฯก็สนับสนุนให้มีกระบวนการทางกฎหมาย คือต้องมีตุลาการภิวัตน์และพอพันธมิตรโดนบ้าง ก็อ้างว่าเป็นการเคลื่อนไหวของประชาภิวัตน์
รสนาบอก ให้รัฐบาลแสดงสปิริตลาออก หรือปรับ ครม.
จากนั้น น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. อภิปรายชี้แจงเหตุผลที่ 30 ส.ว.เดินทางไปทำเนียบเพื่อพบกับกลุ่มพันธมิตร ว่า ส.ว.ลงไปเยี่ยมเยียนประชาชน เพราะเป็นตัวแทนของประชาชน ไม่อยากเห็นหัวหน้ารัฐบาลแบ่งแยกประชาชน เมื่อมีข่าวปิดหมายจับแกนนำพันธมิตร ต่อมามีการสลายการชุมนุม มีประชาชนได้รับบาดเจ็บ มีการใช้แก๊สน้ำตา จึงเดินทางไปกองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง อยากให้รัฐบาลเข้ามาตรวจสอบ เพราะการเข้าไปในพื้นที่ทำให้กลุ่มส.ว.พบความจริงที่ไม่ตรงกับรัฐบาลอ้าง เมื่อมีการออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหามีเวลาปฏิบัติตามภายใน 15 วัน แต่ตำรวจทำเกินกว่าเหตุเกินกว่าหน้าที่ รัฐบาลใช้หมายศาลเพื่อเข้าไปใช้ความรุนแรงเป็นการใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ที่สุดศาลกรุณาให้เลื่อนการบังคับคดีออกไป
"การอ้างว่า รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง มีความชอบธรรมในการอยู่ต่อ แต่การบริหารต้องมีธรรมาภิบาลด้วย เมื่อใดขาดธรรมาภิบาลประชาชนจะมาชุมนุมคัดค้าน ยิ่งกล่าวหาว่าเป็นกบฏ กบฏจะยิ่งมีมากขึ้น รัฐบาลต้องตอบให้ได้ว่าการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นการเพิ่มกบฏให้มากขึ้นหรือ ไม่ รัฐบาลต้องไม่แยกพวก แยกข้าง หรือมีหลายมาตรฐาน" ส.ว.กทม.กล่าว
น.ส.รสนากล่าวว่า รัฐบาลต้องมีสปิริตเหมือนรัฐบาลในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรณีประธานาธิบดีนิกสัน ที่ถูกกล่าวหาในคดีวอเตอร์เกต เพียงแค่คดีดักฟังข้อมูลก็ลาออก หรือรัฐบาลเกาหลีและญี่ปุ่น เมื่อรัฐบาลถูกกล่าวหาเรื่องอะไรและมีประชาชนออกมาต่อต้าน นายกฯหรือรัฐมนตรีก็จะแสดงสปิริตลาออก ถ้าไม่มีสปิริตทางการเมืองคงต้องพิจารณา การปรับเปลี่ยนหรือการปรับ ครม.เป็นเรื่องธรรมดาในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องเสียหน้าแต่อย่างใด แต่การกระทำที่รุนแรงกลับเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา นอกจากมีศีลแล้วรัฐบาลต้องมีตบะ ไม่มีความโกรธ ไม่เคืองแค้น ต้องมีความอ่อนโยน ถ้านายกฯ ขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศก็ไม่ใช่รัฐบาลของคนทั้งประเทศ แต่กลายเป็นหัวหน้าของพรรคการเมืองบางพรรคเท่านั้น
"วันนี้ประชาชน ไม่พอใจการเมืองแบบเดิม การปรับครม.สามารถทำได้ เมื่อมีวิกฤตรุนแรงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เหมือนเปลี่ยนหมอรักษาโรคที่สามารถเปลี่ยนได้ อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยน ครม.อาจแก้ปัญหาไม่ได้ ถ้ารัฐบาลไม่เปลี่ยนพฤติการณ์แบ่งแยกประชาชนเป็นสองฝ่าย รัฐบาลต้องจริงใจ ไม่ใช้เทคนิคทางการเมือง ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ" น.ส.รสนากล่าว
นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า อยากให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ไปพันธมิตรฯ บ่อยๆ อย่างนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กทม. และคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ส.ส.กทม. ช่วยพูดหน่อยว่าพันธมิตรฯ จะเอาอย่างไร วันนี้ได้รับไปรษณียบัตรระบุว่า ในการชุมนุม มีเงิน 250 ล้านบาท มาจากบริษัทการค้าใหญ่แห่งหนึ่ง น่าจะส่งผ่านกระบวนการประท้วงโดยผ่านพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งกำลังตรวจสอบอยู่ ถ้าหลักฐานมีมูล จะให้นายกฯ และรมว.คลังไปตรวจสอบ เชื่อว่าเรื่องนี้จบแน่นอน
ชวน ยันผู้ชุมนุมมากันเอง ไม่มีใครให้เงิน
เวลา 19.30 น. นาย ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับนายกฯ ที่ว่าขณะนี้ศาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ศาลทำหน้าที่สมบูรณ์ที่สุดแล้ว วินิจฉัยอย่างตรงไปตรงมา ศาลไม่ได้มีหน้าที่สลายการชุมนุมแต่ฝ่ายบริหารต้องไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับ คำวินิจฉัย จึงยังไม่เห็นว่าศาลล้มเหลวหรือแก้ปัญหาไม่ได้ และถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดของฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้มีหน้าที่แก้ปัญหา
นายชวน กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลตั้งคนของตนเองเข้าไปในองค์กรต่างๆ ซึ่งไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เช่น การตั้งกรรมการเข้าไปในบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งบุคคลนี้เคยอยู่ในบริษัทที่เคยให้โฆษณาทางรายการทีวีที่นายกฯ จัด หรือการตั้งคนที่ถูกคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ลงมติให้ออกเข้ามาเป็นกรรมการในธนาคารแห่งประเทศไทย สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเงื่อนไขใหม่ที่ทำให้เกิดความไม่พอใจมากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลต้องไม่โกหกไม่บิดเบือนความจริง เพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบแก่ตัวเองและจะต้องให้ความจริงอย่าเลือก ปฏิบัติ การบอกว่าคนชุมนุมมีเพียงหยิบมือเดียวและมีลักษณะเป็นหุ่น ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะพวกนี้มากันเองไม่มีใครให้เงินและถ้ารัฐบาลเห็นว่าคนไม่พอใจอะไรก็ต้อง รีบออกมาชี้แจง
สม เกียรติยันรัฐบาลไม่แสดงความรับผิดชอบ ไม่สลายชุมนุม
เวลา 20.00 น. นาย สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ อภิปรายว่า วันที่ 8 ก.ค. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 1 ว่าการลงนามแถลงการณ์ร่วมของคณะรัฐมนตรี กรณีปราสาทพระวิหารนั้นถือเป็นสนธิสัญญา ต้องนำเข้าหารือต่อที่ประชุมรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสอง ซึ่งวันนั้นพันธมิตรฯ ประชุมและมีมติว่าจะสลายการชุมนุม เนื่องจากเข้าใจว่าครม.ทั้ง 35 คนต้องแสดงความรับผิดชอบ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นเด็ดขาด และมีผลผูกพันองค์กรอื่นของรัฐ แต่ปรากฏว่ารัฐบาลไม่ได้แสดงความรับผิดชอบใดๆ พันธมิตรฯ จึงป่วยการที่จะสลายการชุมนุม
คำนูณ เสนอลาออกเพื่อให้เกิดการเมืองใหม่
เวลา 20.30 น. นาย คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า เชื่อว่านายกฯ ไม่ลาออก ไม่ยุบสภา จะทนอยู่ต่อไปเรื่อยๆ โดยยึดข้อบังคับกฎหมายอย่างเคร่งครัด อยากให้นายกฯ ลาออก หรือยุบสภา เพื่อให้เกิดการเมืองใหม่และตรงนี้ไม่ได้เกิดความเสียหายต่อระบบ ถ้ารัฐบาลยังไม่ตัดสินใจเชื่อว่าการชุมนุมจะขยายวงใหญ่ขึ้นกว่านี้ หากยังดื้อต่อไปการอภิปรายก็ไม่มี ประโยชน์เพราะพรรคร่วมมีมติหนุนนายกฯ ดังนั้นการเปิดอภิปรายฯ จึงเป็นเพียงแค่พิธีกรรมและยุทธวิธีของรัฐบาลเท่านั้น
จากนั้นใน เวลา 21.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นอภิปราย โดยมีข้อเสนอให้ยุบสภา เพื่อหาทางออกให้บ้านเมือง
โดยการอภิปรายของ อภิสิทธิ์ในวันนั้นมีดังต่อไปนี้
000
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้าน
อภิปรายในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ), 31 สิงหาคม 2551
1.
"ในทุกประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เสียงข้างมากไม่ได้หมายความว่า ท่านทำได้ทุกสิ่ง และการที่จะมีประชาชนจะ 1 คน หรือจะ แสนคน ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบ ทบทวนตัวเอง พิจารณาตัวเอง ไม่ได้ขัดกับหลักประชาธิปไตยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีข้อสงสัยว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนั้น อาจจะแค่บกพร่อง ผิดพลาด ถ้าร้ายแรงกว่านั้นก็คือละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิของประชาชน หรือเลวร้ายอีกเรื่องหนึ่งก็คือการทุจริต คอร์รัปชั่น"
2.
"มีเพื่อนสมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่ง ท่านยกตัวอย่างกรณีของเกาหลี นั่นแค่คิดนโยบายนะครับ ว่าจะต้องเปิดการค้าเสรี เอาเนื้อวัวจากอีกประทะนงเข้ามานะครับ คนลุกฮือขึ้นมาเป็นแสน เขาลาออกทั้งคณะ ผมว่าอายุรัฐบาลเขาสั้นกว่ารัฐบาลนี้นะครับ ตอนที่เขาตัดสินใจอย่างนั้น ใครเคยอยู่ในประเทศประชาธิปไตยในยุโรป ในสหรัฐฯ จะทราบอย่าว่าแต่รัฐมนตรีเลยครับ ส.ส. ส.ว. บางทีมีเรื่องอื้อฉาวส่วนตัว ลาออกครับ"
3.
"เวลามีการชุมนุมทางการเมือง จะถูกหรือผิดกฎหมายนั้น มันต้องมีคนเดือดร้อนครับ แต่ผมถามว่า คนที่เขาตากแดด ตากฝน กลางถนน 3 เดือน ชนะเขาก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้นนะครับ ส่วนตัว หลายคนละทิ้งธุรกิจ การงาน ทะเลาะกับครอบครัวมาอยู่ตรงนั้น เรามองเขาเป็นกบฏเหรอครับ เรามองเขาว่าเป็นเครื่องมือของพรรคการเมืองเหรอครับ ไม่ใช่หรอกครับ ผมบอกเลยครับว่า เคลื่อนไหวกันมาแบบที่เห็นกันอยู่หลายเดือนนั้น ผมไม่กล้าบังอาจไปพูดถึงพรรคอื่นนะครับ ผมบอกว่าถ้าเป็นพรรคประชาธิปัตย์เราจัดไม่ได้หรอกครับ เป็นไปไม่ได้ครับ แต่นี่คนมากันจำนวนมากนั้นเราต้องคิดครับ รัฐบาลต้องคิด ท่านนายกฯ ต้องคิดครับ"
4.
"ผมบอกว่า วันนี้ต้องยอมเจ็บ ถ้าท่านนายกฯ กลัวว่า การลาออกจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่ดี เพราะมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ท่านเรียกหยิบมือเดียว ท่านไปดูเถอะครับ ประวัติศาสตร์การนองเลือด ถ้าคิดอย่างนั้นก็หยิบมือเดียวทั้งนั้นแหละครับ ถ้าท่านกลัวจะเสียวัฒนธรรม เสียประเพณี ซึ่งผมบอกว่าจริง ๆ หลายประเทศเขาทำกันแล้วผมไม่เห็นมันเสีย ก็ไม่เป็นไรครับ ผมบอกเลยว่าวันนี้ผมต้องพูดขัดใจลูกพรรคผม และขัดใจเพื่อนสมาชิกอีกหลายคนซึ่งเพิ่งพูดด้วย ส.ส. มักจะไม่เสนอให้ท่านยุบสภาหรอกครับ ผมเองแค่นึกถึงว่าเหนื่อยยากแค่ไหนเวลาหาเสียง ผมก็ไม่อยากกลับไปเลือกตั้งหรอกครับ แต่ว่าการยุบสภาจะเป็นการแสดงความรับผิดชอบอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าท่านนายกฯ บอกไม่อยากให้ท่านต้องรับเคราะห์คนเดียวแล้ว พวกผมบอกว่าทั้งสภาเราเจ็บด้วยกัน เรายุบสภาครั้งนี้ ท่านนายกฯ ครับ พวกผมมีแต่เสียเปรียบ เสียเปรียบทุกเรื่อง แต่ผมบอกว่าวันนี้ผมยอมครับ"
5.
"ไม่มีใครสนุกหรอกครับ 480 คนนี้ แต่วันนี้เราเสียสละตัวเองก่อนได้ไหมครับ พันธมิตร ฯ อาจจะไม่เห็นด้วย แต่ผมเชื่อว่าอย่างน้อยถ้าเราเสียสละเป็น เราได้ใจคนจำนวนไม่น้อยกลับคืนมากับระบบรัฐสภาของเรา วันนี้เราถูกปรามาสครับว่ากระบวนการนี้จะเป็นเพียงแค่พิธีกรรม ท่านนายกฯ กลับไปตรองเถอะครับ สิ่งที่กระผมพูดท่านเสียสละ ผมเสียสละ ผมเชื่อว่าผมอาจจะเจ็บกว่าท่าน โอกาสท่านกลับมามีมากกว่าผมนะครับ ทำเถอะครับ เพื่อบ้านเมืองสงบ สร้างบรรทัดฐานที่ดีครับ แล้วรัฐบาลที่กลับมานั้น ไม่มีคนกลุ่มใดมาตั้งเงื่อนไขได้ว่าต้องเป็นคนนั้นหรือไม่เป็นคนนี้ แต่รัฐบาลที่กลับมาต้องเก็บเกี่ยวบทเรียน 7 เดือนที่ผ่านมานี้ว่า ไม่ว่าจะมีเสียงข้างมากอย่างไร ต้องยึดหลักธรรมาภิบาล ต้องสร้างมาตรฐานให้สูงเข้าไว้ ประชาธิปไตยจะเดินไปข้างหน้า"
6
"กระผมกราบเรียนท่านประธานด้วยความเคารพและนำข้อเสนอนี้ไปถึงท่าน นายกฯ ท่านนายกฯ อาจจะลุกขึ้นตอบผมปฏิเสธทันที ท่านก็ทำได้ครับ เป็นสิทธิ์ของท่าน พวกกระผมได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว แล้วบอกว่าพร้อมที่จะเสียสละตำแหน่งนี้เพื่อมีโอกาสในการหาทางออกสำหรับบ้านเมืองครับ กราบขอบพระคุณครับ"
000
ท่านประธานที่เคารพ กระผม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะสมาชิกรัฐสภา เมื่อประมาณ 7 - 8 ชั่วโมงที่แล้ว กระผมได้ลุกขึ้นกราบเรียนท่านประธานว่า ผมเป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนให้เรามีการประชุมรัฐสภาเพื่อให้ได้มีการอภิปราย ทั่วไปเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองในวันนี้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ได้กราบเรียนท่านประธานฯ เอาไว้ว่า ถ้าเราคิดว่า กระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติตรงนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้นั้น กระผมก็ได้กราบเรียนแล้วว่าคงจะไม่ใช่ และเสียงสะท้อนจากสื่อสารมวลชนที่รายงานการประชุมของพวกเราออกไป ท่านประธานครับ ท่านก็คงได้รับทราบเหมือนกับที่ผมทราบ ว่าก็ไม่สู้จะดีนักหรอกครับ มีความรู้สึกว่าเราได้ใช้เวลากันนั้นแม้การอภิปรายของเพื่อนสมาชิกหลายท่าน ให้ข้อเท็จจริง มีประโยชน์ แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะลบความรู้สึกของผู้คนทั่วไปได้หรอกครับว่า เราเองแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่ได้มีความพยายามอย่างมากที่สุดที่จะหาจุดที่จะเป็นที่ยอมรับ ที่จะเป็นทางออกที่ชัดเจน และก็ต้องกราบเรียนว่า ท่านนายกฯ เองที่ได้ใช้สิทธิ์ในการตอบโต้หลายครั้ง ผมเข้าใจ ในฐานะที่เป็นส.ส. เวลาถูกพาดพิงก็อยากที่จะใช้สิทธิ์เพื่อจะชี้แจง แต่ว่าวันนี้มันก็เลยทำให้มีเพื่อนสมาชิกวิจารณ์ได้ว่า ท่านตั้งใจรับฟังมากน้อยแค่ไหน
กระผมกราบเรียน ท่านประธานครับว่า ผมว่าพวกเราทุกคนก็ล้วนแล้วแต่เป็นตัวละครในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมครั้งนี้ และผมก็คิดว่า พวกเราเกือบทุกคนก็เป็นเหยื่อของความขัดแย้งเช่นเดียวกัน และผมมั่นใจว่าถ้าความขัดแย้งนี้ลุกลามต่อไปแล้ว ประชาชนคนไทยทั้งประเทศก็เป็นเหยื่อ ดังนั้นสิ่งที่เรามาพูดกันในวันนี้ กระผมเองผมก็มีหลายเรื่องที่ถูกพาดพิง จะขอใช้เวลาสั้น ๆ แต่จะพยายามไม่ให้ใครเสียหายนะครับ เพื่อที่จะให้ท่านประธานแล้วก็ท่านนายกฯ ได้สบายใจก่อนว่า สิ่งที่ผมพูดในวันนี้ สิ่งที่กระผมได้ทำตลอดมานั้นมันไม่ใช่อย่างที่บางฝ่ายพยายามที่จะยัดเยียด หรือป้ายสี กระบวนการของสื่อฝ่ายเดียวที่ท่านประธานที่ปรึกษาได้กรุณากราบเรียนท่าน ประธานดำรงมายาวนาน แล้วก็มีเครือข่ายอยู่พอสมควร พยายามทำให้เกิดความเข้าใจมาโดยตลอดว่า ผม พรรคประชาธิปัตย์ กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น เป็นเสมือนกลุ่มเดียวกัน หรือมีผลประโยชน์ร่วมกัน
ยกตัวอย่างสักเรื่องก็ได้ครับ เช่น ไปอ้างอิงถึงการเสนอขอให้มีการใช้มาตรา 7 ซึ่งความจริงข้อเสนอของกระผมกับของพันธมิตร ฯ ก็ไม่ได้เหมือนกัน ที่จริงที่กระผมเสนอในวันนั้น เพราะผมเห็นว่าการจะไปใช้มาตรา 7 โดยไม่มีเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญนั้น ไม่พึงกระทำ กระผมถึงได้ไปเสนอว่า ถ้าจะใช้มาตรา 7 เป็นทางออกในวันนั้น คนที่จะต้องไปดำเนินการให้เป็นไปได้ก็คือท่านอดีตนายกฯ กับคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมาภายหลังนักกฎหมายของรัฐบาลเองในขณะนั้นก็ยอมรับว่า เป็นความจริง แต่ก็มีความพยายามที่ทำให้เกิดความเข้าใจว่าเป็นกระบวนการที่มุ่งหมายไปสู่ เรื่องนั้น เรื่องนี้ และผมกราบเรียนนะครับว่า ผมมั่นใจว่าหลายครั้งที่กระผมเคยเสนอในอดีตนั้น หากมีการดำเนินการตามแล้ว เราอาจจะไม่มี คมช. ไม่มีการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยา ไม่สูญเสียรัฐธรรมนูญปี 2540 แล้วก็ไม่ทำให้วิกฤติมันตกค้างลุกลามมาถึงทุกวันนี้
ผมฟังเมื่อเช้า ท่านนายกฯ พูดถึงผมในรายการเหมือนกันครับ ท่านก็บอกว่า ชมเชยกันอยู่ดี ๆ ก็ดีแตก ที่จริงพูดมาแล้วครั้งหนึ่ง เวลาท่านชมผม ผมก็ขอขอบคุณในไมตรีของท่าน ผมไม่ได้มีเป้าหมายเป็นคนดีของท่าน ผมต้องการเป็นคนดีของสังคม คนดีของประเทศ และที่ผมจะต้องกราบเรียนก็คือว่า ที่ขอใช้สิทธิ์พาดพิงเรื่องเดียววันนี้นั้น ก็คือที่ท่านนายกฯ ก็ดี และสมาชิกบางท่าน กล่าวว่า เหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่กระผมได้ไปเยี่ยมพื้นที่นั้น เป็นการถือหางผู้กระทำความผิดกฎหมายบ้าง เป็นการไปวนเวียน ป้วนเปี้ยน เพื่อจะอยู่กับฝ่ายที่จะชนะบ้าง ไม่เป็นความจริงครับ เมื่อวันศุกร์ กระผมอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ ติดตามเหตุการณ์การชุมนุมอยู่ตามปกติ แล้วก็ทราบว่ามีเหตุการณ์ปะทะกันขึ้นที่บริเวณสะพานมัฆวาน ไม่ใช่ข้างในทำเนียบรัฐบาลนะครับ ต่อมาก็ได้ดูภาพเหตุการณ์จากสถานีโทรทัศน์หลาย ๆ ช่องประกอบกันครับ เห็นภาพประชาชนถูกตีจริง ๆ ครับ ปฏิเสธไม่ได้หรอก กระผมก็ยังติดตามสถานการณ์อยู่อย่างนั้นจนกระทั่งมันมีการประสานงานมาว่า บุคลากรทางด้านการแพทย์จะเป็นแพทย์ บุรุษพยาบาล พยาบาลที่ได้เข้าไปอยู่บริเวณรอบ ๆ ทำเนียบรัฐบาล ร้องมาว่ารถพยาบาลไม่สามารถเข้าไปถึงจุดที่มีผู้บาดเจ็บอยู่ครับ ผมจึงต้องตัดสินใจวันนั้นว่าจะทำอย่างไร ผมทราบครับว่าผมไปนั้น ต้องมีคนไปพูด ไปพยายามขยายความว่า นี่ไง ที่บอกว่าพันธมิตร ประชาธิปัตย์ พวกเดียวกัน เป็นอย่างนั้น ผมทราบครับ ว่าจะต้องเกิด แต่ผมตัดสินใจบนพื้นฐานในเรื่องของมนุษยธรรมครับ ผมยอมรับไม่ได้ที่เราละเมิดกระทั่งหลักสากลครับ แม้ในสถานะสงครามเรื่องของบริการทางการแพทย์ ต้องสามารถเข้าถึงผู้ได้รับบาดเจ็บได้ ผมจึงตัดสินใจไป แล้วเหตุการณ์หลังจากที่ผมไปตรวจเยี่ยมพื้นที่เป็นไปตามที่เพื่อนสมาชิก ขอประทานโทษเอ่ยนาม คือท่าน ส.ส. พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้อธิบายโดยละเอียดครับ เท่านั้นเองครับ
จากนั้นผมจึงไป ที่ บชน. เพื่อพูดคุยกับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เพื่อขอความมั่นใจเรื่องจะไม่มีการใช้ ความรุนแรง มีข้อเสนอว่า เอ๊ะ จะไปทำเนียบรัฐบาลมั้ย ไปอะไรมั้ย ผมบอกว่า ผมไม่ครับ ผมไปทำหน้าที่ของผมในฐานะ ผู้แทนปวงชนชาวไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เห็นพี่น้องประชาชนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเกิดขึ้นจากการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผมเข้าไปผมไม่พูดผิดถูก ผมขอความร่วมมือการอำนวยความสะดวกในเรื่องนี้เท่านั้นครับ ผมขอชี้แจงท่านนายกฯ และขอชี้แจงเพื่อนสมาชิกที่พาดพิงทั้งในสภาฯ และนอกสภาฯ ก่อนหน้านี้ครับ ถ้าแม้นว่าท่าน หรือคนสนับสนุนท่าน ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผมไม่จิดใจต่ำเพียงพอหรอกครับ ที่จะบอกว่า ไม่ให้บริการการแพทย์เข้าไปและใครเข้าไปตรงนั้นแปลว่าไปถือหาง ไปเข้าข้าง ไปแสวงประโยชน์ทางการเมือง ผมไม่ทำหรอกครับ
ผมกราบเรียนว่า จุดยืนของกระผมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองภาคประชาชนนั้น ผมพูดมานานแล้ว และได้เตือนท่านนายกฯ ในวันที่ท่านมาแถลงนโยบายนะครับ ถ้าท่านนายกฯ จะกรุณาย้อนกลับไปจำคำอภิปรายของผมในวันนั้นว่า งานของรัฐบาลจะสำเร็จลุล่วงไปได้ ซึ่งเป็นความคาดหวังของพี่น้องประชาชนที่เลือกพวกเราเข้ามา ท่วงทำนองในการบริหารราชการแผ่นดินสำคัญมาก และผมได้แสดงความห่วงใยตั้งแต่วันแรก ว่าท่าทีของท่านนายกฯ ต่อการเมืองภาคประชาชน ผมไม่ได้พูดกลุ่มใด กลุ่มหนึ่งต่อการเมืองภาคประชาชน ผมบอกว่าน่าเป็นห่วง เพราะในอดีตที่ผ่านมานั้น ท่านมักจะมีกระทบกระทั่งกับกลุ่มต่าง ๆ วันนั้นท่านก็ไม่พอใจผมครับ ท่านก็บอกว่า ผมอายุน้อยกว่าท่านเกือบ 30 ปี ไปอบรมท่านผมไม่ได้อบรม ผมทำหน้าที่ของผมเสนอแนะ เตือนเอาไว้ เพราะผมเกรงปัญหาจะเกิดขึ้น ผมกราบเรียนว่า ผมพูดมาตลอดว่า วันนี้การเมืองภาคตัวแทนต้องเดินไปกับการเมืองภาคประชาชน คู่ขนานกันไป และหลีกเลี่ยงอย่าให้ปะทะกัน เราต้องเคารพการเมืองภาคประชาชน และผมก็เน้นว่าภาคประชาชนต้องเคารพการเมืองระบบตัวแทนด้วย
ข้อเสนอที่ผมจะ ได้กราบเรียนท่านนายกฯ ต่อจากนี้ไป จากการวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ กระผมบอกว่า อยากจะให้ท่านนายกฯ นั้น อย่าเพิ่งรีบลุกขึ้นมาตอบครับ ไปไตร่ตรองดูว่าวันนี้บ้านเมืองจะเดินไปอย่างไร เพราะวันนี้เราหยิบเพียงแง่มุมใด แง่มุมหนึ่ง มันไม่ได้ครับ บังคับใช้กฎหมายแง่มุมเดียวก็ไม่ได้ ทำให้ถูกใจคนก็ไม่ได้ แต่มันอยู่ที่ว่าเป้าหมายของเราคืออะไร ผมอยากจะเริ่มจากจุดร่วมนะครับ ผมหวังว่าเพื่อนสมาชิกที่แม้จะนั่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับกระผมนั้น จะหาจุดร่วมที่พวกเราจะเริ่มต้นได้ ประการแรก ผมเชื่อครับว่า ไม่มีใครประสงค์จะเห็นความรุนแรง อันนี้พูดกันทุกฝ่าย และผมกราบเรียนว่า ที่ผ่านมาไม่ว่าฝ่ายใดใช้ความรุนแรงกระผมไม่สนับสนุนทั้งสิ้น ผมพูดไปหลายครั้ง ไม่ได้ถูกใจกลุ่มพันธมิตรหรอกครับ ก่อนเกิดเหตุวันอังคาร สัมภาษณ์ผมวันจันทร์ นักข่าวมาถามผมบอกว่า มีข่าวว่าจะมีการไปบุกรุกสถานที่ราชการ กระผมก็ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า ผมไม่เห็นด้วย จริง ๆ วันนี้ผมไม่จำเป็นต้องมาพูดย้ำหรอกครับ ถ้าผมคิดแต่ว่า ผมไม่อยากไปพูดขัดใจใคร แต่ผมอยากจะบอกว่า วันนี้บางทีมันไม่มีคำตอบที่ถูกใจทุกคนอยู่แล้ว เราต้องยอมพูดขัดใจคน และเราทุกฝ่ายต้องยอมเจ็บบ้างเพื่อรักษาส่วนรวมอันนี้สำคัญที่สุด ประเด็นก็คือว่านอกจากไม่ต้องการความรุนแรงแล้ว เราต้องการอะไร ผมเชื่อมั่นว่า พวกเราที่ยืนอยู่ในรัฐสภาแห่งนี้บอกว่าเราต้องรักษาประชาธิปไตย
ฉะนั้นขอพูดให้ชัดนะครับ ไม่ว่าใครหรือฝ่ายใดก็ตามที่จะทำให้เหตุการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น แล้วอาจจะนำไปสู่การรัฐประหาร หรือการเปลี่ยนแปลงนอกรัฐธรรมนูญ กระผมไม่เห็นด้วย และถ้าเกิดขึ้นก็จะยืนคัดค้านครับ อาจจะไม่ได้ไปร่วมเวทีกับเพื่อนสมาชิกฝ่ายรัฐบาลหรอกครับ แต่ก็จะยืนคัดค้าน ผมว่าเราต้องชัดเจนตรงนี้ แต่เราต้องเข้าใจเช่นเดียวกันครับว่า จะไม่ให้เกิดความรุนแรงได้ จะไม่ให้เกิดการปฏิวัติ รัฐประหารได้ ทุกฝ่ายมีหน้าที่ต้องช่วย ที่สำคัญทุกฝ่ายมีหน้าที่ต้องยอมเสียสละ ประเด็นถัดมาก็คือว่า ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนในที่นี้ก็จะยืนยันเช่นเดียวกันว่า ทางออกนอกจากจะต้องไม่รุนแรง ไม่ใช้รัฐประหารแล้ว ต้องไม่ออกนอกกรอบของรัฐธรรมนูญ ยืนพูดขัดใจพันธมิตรก็ได้ครับ 70 - 30 ทำไม่ได้ ถ้าจะทำต้องมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันนี้อำนาจการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ยังอยู่ที่รัฐสภา ถ้าจะไปสู่ 70 - 30 ต้องมาตรงนี้ ต้องมาถกกัน วันนี้ใครจะมาเสนอว่า ยกเว้นรัฐธรรมนูญสัก 1 มาตรา สัก 1 วรรค ก็ไม่ได้ครับ จะทำก็ต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้วเราอยากจะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว เสียหลักระยะยาวหรือไม่ เช่นมีข้อเสนอเรื่องนายกฯ คนกลาง ยกเว้นรัฐธรรมนูญเสียเถิด ผมบอกไม่ได้ แก้ไขได้ ไหม ก็ถ้าสภาฯ เห็นชอบก็แก้ได้ แต่ถามว่า แล้วต่อสู้กันมาช้านาน เพื่อให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งนั้น เราจะมาคิดลบออกกันง่าย ๆ อย่างนั้นเหรอครับ
จุดยืนผมมีชัดในเรื่องเหล่านี้ และผมอยากจะให้ทางเพื่อนสมาชิก ทางรัฐบาล และท่านนายกฯ ได้เห็นว่า เรามีจุดร่วมกันเยอะนะครับ เราไม่จำเป็นจะต้องมาฟาดฟันกันจนกระทั่งในที่สุดแล้วส่วนรวมเสียหาย แล้วผมยังจะพูดมากไปกว่านั้นอีกครับว่า วันนี้สิ่งที่เราจะทำก็คือว่า เข้าใจว่าความขัดแย้งนั้นมันลุกลามไปจนถึงระดับประชาชนจริง ๆ มันคงไม่ใช่เรื่องของความเสียหายที่จะบอกว่า วันนี้นั้นมันคงไม่ได้อยู่ที่ตัวท่านนายกฯ อยู่ที่แกนนำพันธมิตรฯ อยู่ที่ผู้นำฝ่ายค้าน อยู่ที่ ส.ส. ส.ว. อย่างเดียวครับ วันนี้มันลึกลงไปถึงระดับประชาชน และประชาชนที่ผมพูดถึงต้องหมายถึงประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล สนับสนุนฝ่ายค้าน ไม่สนับสนุนทั้ง 2 ฝ่าย เราต้องเคารพ ผมเคยถูกพันธมิตรฯ ตำหนิครับ เมื่อเขาเรียกร้องให้ท่านนายกฯ ลาออกในช่วงแรก ผมให้สัมภาษณ์ว่า ผมคิดว่าเป็นเรื่องยากที่ท่านนายกฯ จะยอมตามข้อเรียกร้องนี้ เพราะผมบอกว่าท่านมาจากการเลือกตั้ง แต่ผมพูดด้วยความจริงใจครับ ผมอยากจะบอกว่า ผลการเลือกตั้งจะถูกใจใครหรือไม่ก็ตาม แต่เป็นการตัดสินใจของประชาชน พรรคท่านได้มากกว่าผมประมาณ แสนคะแนน ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่โดยระบบของเราการกระจุกกระจายของคะแนน ทำให้ท่านได้ผู้แทนฯ มากกว่าผมถึง 70 ท่าน ผมก็ยอมรับ บังเอิญไม่ถึงครึ่งก็ต้องดูว่าใครรวบรวมเสียงข้างมากได้ ท่านรวบรวมได้ท่านก็เป็นรัฐบาล ถามว่ามีการซื้อเสียง มีการทุจริตการเลือกตั้งไหม ผมก็ยืนยันว่ามีครับ แต่ถามผมว่า ถ้าสมมติไม่มีการทุจริต ไม่มีการซื้อเสียงแล้ว ท่านชนะผมมั้ย วันนี้ผมยืนบอกครับว่า ผมคิดว่าท่านก็ชนะ เพราะประชาชนจำนวนหนึ่งเขานิยมชมชอบท่านอดีตนายกฯ เราต้องพูดความจริงกันครับ ส่วนที่เขานิยมชมชอบอดีตนายกฯ คนจะเห็นด้วย เห็นดี หรือว่าเห็นว่า ถูกต้อง ไม่ถูกต้อง ความเห็นก็หลากหลายไป แต่ผมยอมรับ ฉะนั้นที่ท่านได้ยืนหลักของท่านมาว่า ท่านมาจากการเลือกตั้ง อยู่ดี ๆ ถ้าใครมาเรียกร้องว่า ต้องลาออก เพราะไม่ถูกใจ ผมว่าท่านก็ยืนยันได้ และผมไม่เคยสนับสนุนหรอกครับว่า ถ้าใครมาเรียกร้อง จะเป็นคนจำนวนเท่าไหร่ก็แล้วแต่ แปลว่า จะต้องจำนนเช่นนั้น
ท่านประธานครับ นั่นคือครึ่งเดียวของเรื่องราวทั้งหมด ที่พูดทั้งหมดนั้นเป็นเพียงเรื่องของความชอบธรรม ในการจัดตั้งและในการเริ่มต้นในการบริหารราชการแผ่นดิน สิ่งที่กระผมจะกราบเรียนต่อไป คราวนี้ก็คงขัดใจเพื่อนสมาชิกฝ่ายรัฐบาลครับ ก็คือว่า ในทุกประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เสียงข้างมากไม่ได้หมายความว่า ท่านทำได้ทุกสิ่ง และการที่จะมีประชาชนจะ 1 คน หรือจะ แสนคน ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบ ทบทวนตัวเอง พิจารณาตัวเอง ไม่ได้ขัดกับหลักประชาธิปไตยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีข้อสงสัยว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนั้น อาจจะแค่บกพร่อง ผิดพลาด ถ้าร้ายแรงกว่านั้นก็คือละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิของประชาชน หรือเลวร้ายอีกเรื่องหนึ่งก็คือการทุจริต คอร์รัปชั่น จริงครับ ปัญหาเหล่านี้มีกระบวนการทางกฎหมาย แต่ท่านดูเถิดครับ ทุกประเทศที่เป็นประชาธิปไตยส่วนใหญ่เขาไม่รอให้กฎหมายจัดการครับ มันจะมีสิ่งที่เรียกว่า สำนึกหรือความรับผิดชอบของนักการเมือง ที่เขาบอกว่ามันต้องสูงกว่าคนธรรมดา
มีเพื่อนสมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่ง ท่านยกตัวอย่างกรณีของเกาหลี นั่นแค่คิดนโยบายนะครับ ว่าจะต้องเปิดการค้าเสรี เอาเนื้อวัวจากอีกประเทศนึงเข้ามานะครับ คนลุกฮือขึ้นมาเป็นแสน เขาลาออกทั้งคณะ ผมว่าอายุรัฐบาลเขาสั้นกว่ารัฐบาลนี้นะครับ ตอนที่เขาตัดสินใจอย่างนั้น ใครเคยอยู่ในประเทศประชาธิปไตยในยุโรป ในสหรัฐฯ จะทราบอย่าว่าแต่รัฐมนตรีเลยครับ ส.ส. ส.ว. บางทีมีเรื่องอื้อฉาวส่วนตัว ลาออกครับ ท่านประธานฯ จะยอมรับมั้ยล่ะครับว่า 6 - 7 เดือนที่ผ่านมานั้น มีทั้งเรื่องการกระทำผิดกฎหมาย ศาลวินิจฉัยแล้ว มีทั้งเรื่องความผิดพลาด มีทั้งเรื่องความบกพร่อง ผมไม่ว่าอะไรหรอกครับ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะผิดพลาด บกพร่องได้ แต่ท่วงทำนองท่าทีต่าง ๆ ไม่มีลักษณะของการบอกว่า เราจะรับผิดชอบเพื่อให้ระบบนั้นรักษาความศรัทธาได้ เราคิดถึงแต่สิทธิ์ของตัวเราเอง ยังไม่ถึงที่สุด กฎหมายไม่ได้ห้าม ทำก่อน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่มันสะสมมาในระบบการเมืองไทยครับ แล้วมันก็เริ่มกัดกร่อนจนกระทำให้พี่น้องประชาชนจำนวนมาก จึงเริ่มปฏิเสธ ปฏิเสธรัฐบาล ลุกลามมาถึงปฏิเสธการเมืองโดยรวม เรายอมรับความจริงเถอะครับว่านี่คือสถานการณ์
กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ASTV หรือกลุ่มการเมืองอีกหลายกลุ่ม นะครับ ที่มาเคลื่อนไหวรวมตัวกันนั้น มันคือการสะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจต่อความไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรมเหล่านี้ แล้วใครที่เคยเรียนรัฐศาสตร์ หรือติดตามการเมืองของทั่วโลกแล้ว มันก็สะสมครับ แล้วการเคลื่อนไหวมันก็จะมีมาตรการที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ผมนั้นไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ผมไม่ใช่มีประวัติในเรื่องของการเป็นนักเคลื่อนไหวมวลชน แต่ผมก็บอกได้ว่าทั้งในส่วนรัฐบาล ทั้งในส่วนพันธมิตรฯ มีผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จำนวนมากแล้ว จากประวัติศาสตร์การเมืองไทย รู้เท่ากันนะครับ เรื่องการยกระดับการชุมนุมมันจะต้องเป็นอย่างไร แล้วก็รู้เหมือนกันว่าสังคมไทยเป็นอย่างไร ฝ่ายใดดูจะใช้ความรุนแรงก่อนก็จะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ เพียงแต่เวลาการเคลื่อนไหวมันลุกลามบานปลาย แล้วการชุมนุมมันประกอบไปด้วยคนหมู่มาก ถามว่าใครจะให้หลักประกันล่ะครับว่า เราควบคุมสถานการณ์ได้ กระผมได้กราบเรียนไปแล้วว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะโดยฝ่ายใด แล้วก็ยืนยันนะครับ ไม่ว่าจะเป็นคำตอบใดสำหรับประเทศ ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย แต่ขณะเดียวกันวันนี้ มันต้องไม่ใช่นึกถึงแต่ตัวผู้นำแกนนำครับ เข้าใจหัวอกของประชาชนทุกฝ่าย เหมือนเมื่อสักครู่ผมแสดงความเข้าใจประชาชนที่ได้เลือกรัฐบาลท่านมาครับ สิทธิของเขาเราต้องเคารพ
แต่ผมถามว่า วันนี้เราพูดง่ายครับ เห็นเป็นรูปธรรมครับว่า เวลามีการชุมนุมทางการเมือง จะถูกหรือผิดกฎหมายนั้น มันต้องมีคนเดือดร้อนครับ แต่ผมถามว่า คนที่เขาตากแดด ตากฝน กลางถนน 3 เดือน ชนะเขาก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้นนะครับ ส่วนตัว หลายคนละทิ้งธุรกิจ การงาน ทะเลาะกับครอบครัวมาอยู่ตรงนั้น เรามองเขาเป็นกบฏเหรอครับ เรามองเขาว่าเป็นเครื่องมือของพรรคการเมืองเหรอครับ ไม่ใช่หรอกครับ ผมบอกเลยครับว่า เคลื่อนไหวกันมาแบบที่เห็นกันอยู่หลายเดือนนั้น ผมไม่กล้าบังอาจไปพูดถึงพรรคอื่นนะครับ ผมบอกว่าถ้าเป็นพรรคประชาธิปัตย์เราจัดไม่ได้หรอกครับ เป็นไปไม่ได้ครับ แต่นี่คนมากันจำนวนมากนั้นเราต้องคิดครับ รัฐบาลต้องคิด ท่านนายกฯ ต้องคิดครับ ท่านจะเห็นด้วยกับเขา ไม่เห็นด้วยกับเขานั้น แต่ถ้าท่านเป็นเหมือนผม คือเห็นคนเจ็บแล้วไปเยี่ยม เวลาผมไปเยี่ยมเขาแล้วก็คุณป้า คุณยายที่ร้องไห้นั้น เขาไม่ได้เห็นหน้าผมแล้วก็นึกถึงว่าจะด่ารัฐบาล จะเชียร์ผม แต่ร้องไห้อย่างที่คุณพีระพันธุ์เล่าครับ เจ็บใจว่า มาด้วยความรักบ้านเมือง รักในหลวง แต่ถูกปฏิบัติเช่นนี้ ผมจึงกราบเรียนท่านประธานว่า เราอย่าคิดง่ายนะครับ เหมือนที่ฝ่ายรัฐบาลเคยบอกว่า คมช.คิดว่าปฏิวัติแล้วจะสามารถทำให้ผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทยหายไปได้ เป็นไปไม่ได้ครับ วันนี้ท่านนายกฯ จะใช้วิธีจับกุมแกนนำ 6 คน สลายการชุมนุมรุนแรง หรือไม่รุนแรง ล้อมทำเนียบเพื่อที่จะให้เขาอด ไม่สามารถที่จะประทังชีวิตอยู่ได้ ให้คนออกไม่ให้คนเข้า สมมติว่าทำสำเร็จ ท่านคิดเหรอครับว่า แนวคิดที่ต่อต้านสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นความไม่ถูกต้องมันจบลง มันไม่จบหรอกครับ ถ้าเราพยายามที่จะเข้าใจหัวอกของประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายตรงนี้ครับ มันเป็นวิธีเดียวที่เราจะหาทางออกได้
ผมเองระมัดระวัง มาตลอดครับ ผมเห็นว่าท่านนายกฯ ไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไปนับตั้งแต่วันที่ผมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผมก็ได้อภิปราย สภาฯ ลงมติเป็นเสียงข้างมากไว้วางใจท่าน ผมก็ต้องยอมรับ แต่อีกหลายเรื่องที่ตามมานั้น ซึ่งผมยืนยันได้เลยว่า ในอารยประเทศผู้บริหารประเทศเขาแสดงความรับผิดชอบไปแล้ว ผมก็ไม่กล้าเรียกร้องหรอกครับ เพราะผมจะได้ยินจากท่านนายกฯ เสมอว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตราไหนบอกมาตราไหนบังคับ ถ้ายังมีท่าทีเช่นนี้ต่อไป เราหาทางออกไม่ได้ ท่านประธานฯ ที่เคารพครับ และวันนี้มันก็เกินเลยจุดนั้นไปแล้ว เพราะวันนี้สิ่งที่ท่านมองว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายหรือบางคนเรียกว่า กบฏ ในขณะที่อีกฝ่ายเรียก อารยขัดขืนนั้น มันเป็นสิ่งที่มีสาเหตุจากเงื่อนไขเพิ่มเติมมาแม้กระทั่งในช่วงวัน สองวัน ที่ผ่านมา ถ้าสังคมโดยรวมคิดว่า ท่านนายกฯ จะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ ผมก็บอกว่าสังคมมีสิทธิ์จะคิด ถ้าสังคมบอกว่านายกฯ ต้องลาออกอย่างเดียว ผมก็บอกว่าไม่ใช่ แต่ว่าอย่างน้อยที่สุดครับ ท่านต้องพยายามวางตัวเป็นกลางให้มากที่สุด แล้วแสดงท่าทีในการรับฟังความเจ็บปวดของคนทุกฝ่าย ทำไมล่ะครับ ท่านจะต้องมาบอกว่า นี่ดีกว่าที่ปฏิบัติกับก็อตอาร์มี่ นั่นกองกำลังต่างชาติลุกลามเข้ามาในเขตแดนไทย เอาหมอ เอาคนไข้เป็นตัวประกันนะครับ นี่คนไทยด้วยกันครับ ใส่เสื้อเรารักในหลวงมานั่งชุมนุมอยู่นะครับ ท่านไปเปรียบเทียบได้อย่างไร
ท่านจะต้องแสดงท่าทีว่าเกิดการปะทะกัน สอบหน่อยสิครับ มีการกระทำผิดกฎหมายโดยทางเจ้าหน้าที่หรือเปล่า ผมเข้าไปในพื้นที่พยายามสอบถามตำรวจ เห็นได้ชัดครับ อ้างคำสั่งศาล มันไม่ใช่อย่างที่พูดหรอกครับ ศาลไม่ได้สั่งให้ไปรื้อถอน โดยการจะต้องเข้าปะทะ โดยการที่จะต้องใช้อาวุธใด ๆ ทั้งสิ้นเลยครับ ไม่ใช่ ทำไมท่านนายกฯ จะยอมยืนอยู่เหนือความขัดแย้งสักนิดแล้วบอกว่า เรื่องนี้จะต้องสอบ ใครสั่งไม่เป็นไปตามที่ท่านนายกฯ บอกว่าจะไม่มีการใช้ความรุนแรงละมุนละม่อม ท่านจะเอาตัวมาลงโทษ ไม่มีครับ ผมก็ยืนยันนะครับ วันนั้นสอบถามตำรวจเขาก็บอกว่าที่สั่งให้ปฏิบัติการนั้น ฝ่ายการเมืองครับ ผมไม่ได้คาดหวังเท่าไหร่หรอกครับ เพราะผมก็เคยเจอมาแล้วที่เชียงใหม่ โทรทัศน์จับได้หมดครับ ใครพยายามเข้ามาพัง ทำลาย ทุบตี เวทีของพรรคประชาธิปัตย์ โยนสิ่งของใส่ผม ท่านประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ท่านรองนายกฯ เป็นท่านผบ.ตร.อยู่ ไม่มีการดำเนินคดีเลยครับ นอกจากคุณอลงกรณ์ พลบุตร โดนข้อหาหมิ่นประมาทบนเวที แล้วท่านจะให้คนครึ่งประเทศ หรือเกือบครึ่งประเทศเขารู้สึกว่ามันมีความเป็นธรรมได้อย่างไร เหตุการณ์เกิดขึ้นที่อุดรธานี บังเอิญคนถูกทำร้ายอยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับท่านครับ ท่านนายกฯ เลยไม่มีความจำเป็นในฐานะผู้นำรัฐบาล ที่จะต้องแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เลยเหรอครับ
ชอบตอบคำถามใน สภาฯ แต่กระทู้เรื่องนี้ไม่มาตอบครับ แล้วจะให้คนที่เขายังมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในแผ่นดินนี้เขา เชื่อมั่นได้อย่างไร กระผมไม่ได้กล่าวหาว่าท่าน เลวทราม ต่ำช้า อะไรครับเวลาท่านพูดโทรทัศน์ฝ่ายเดียวนั้น ผมไม่มีโอกาสได้พูดนะครับ แต่เวลาท่านบอกว่าต้องมีรายการตอบโต้แล้ว รายการนั้นก็ด่าผมด้วย ผมไม่เคยกล่าวหาท่าน เลวทราม ต่ำช้า อะไรแต่หลายเรื่องนั้นมันต้องพูดกัน เช่น ผมไม่เคยกล่าวว่า ท่านไม่จงรักภักดี แต่ผมก็ข้องใจและผมคิดว่าสังคมก็ข้องใจว่า ทำไมเวลามันเกิดกรณีการล่วงละเมิดต่อสถาบันแล้ว มันจัดการช้า มันจัดการยาก คดีคุณจักรภพ เวปไซต์ต่าง ๆ ที่ยังมีปัญหาอยู่ อันนี้แหละครับ ถึงเป็นประเด็นที่ผมกราบเรียนว่า วันนี้เพื่อนสมาชิกของผมนั้น ถึงบอกว่า ท่านต้องพิจารณาตัวเอง บังเอิญท่านก็ลุกขึ้นเร็วครับ ตอบเร็วว่าพิจารณาแล้ว ใช่เหรอครับ แต่ผมรู้ ผมรู้ว่าแม้สิ่งที่เพื่อนสมาชิกของผมได้เสนอ เสนอด้วยความบริสุทธิ์ใจนั้น ผมเชื่อรัฐบาลหวาดระแวงครับ ว่าถ้าท่านนายกฯ เกิดลาออกจริง ๆ พวกกระผมอยากช่วงชิงไปเป็นรัฐบาล ไปยึดกุมอำนาจรัฐหรือ
ท่านประธานครับ อย่าระแวงผมเลยครับ ผมไม่ทำครับ ผมไม่ทำ ผมยืนยันว่า บ้านเมืองนี้ต้องหาทางออกตามรัฐธรรมนูญด้วยความสงบปราศจากความรุนแรงและ เคารพสิทธิ์ของทุกคน และใครทำผิดกฎหมาย ยังต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย ผมไม่เชื่อว่าถ้าท่านนายกฯ อยู่ในตำแหน่งต่อ ท่านจะประกาศภาวะฉุกเฉินหรือไม่ ใช้ทหาร หรือใช้ตำรวจ จะไปจัดการกับกลุ่มที่อยู่ในทำเนียบขณะนี้อย่างไรก็ตาม ผมไม่เชื่อว่าปัญหามันแก้ได้ แก้ได้หมด ผมก็คิดหนักครับ ผมพูดนี่ผมรู้ว่า เดี๋ยวขัดใจคนทั้งสภาฯ ผมบอกว่า วันนี้ต้องยอมเจ็บ ถ้าท่านนายกฯ กลัวว่า การลาออกจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่ดี เพราะมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ท่านเรียกหยิบมือเดียว ท่านไปดูเถอะครับ ประวัติศาสตร์การนองเลือด ถ้าคิดอย่างนั้นก็หยิบมือเดียวทั้งนั้นแหละครับ ถ้าท่านกลัวจะเสียวัฒนธรรม เสียประเพณี ซึ่งผมบอกว่าจริง ๆ หลายประเทศเขาทำกันแล้วผมไม่เห็นมันเสีย ก็ไม่เป็นไรครับ ผมบอกเลยว่าวันนี้ผมต้องพูดขัดใจลูกพรรคผม และขัดใจเพื่อนสมาชิกอีกหลายคนซึ่งเพิ่งพูดด้วย ส.ส. มักจะไม่เสนอให้ท่านยุบสภาหรอกครับ ผมเองแค่นึกถึงว่าเหนื่อยยากแค่ไหนเวลาหาเสียง ผมก็ไม่อยากกลับไปเลือกตั้งหรอกครับ แต่ว่าการยุบสภาจะเป็นการแสดงความรับผิดชอบอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าท่านนายกฯ บอกไม่อยากให้ท่านต้องรับเคราะห์คนเดียวแล้ว พวกผมบอกว่าทั้งสภาเราเจ็บด้วยกัน เรายุบสภาครั้งนี้ ท่านนายกฯ ครับ พวกผมมีแต่เสียเปรียบ เสียเปรียบทุกเรื่อง แต่ผมบอกว่าวันนี้ผมยอมครับ แล้วผมบอกว่ายุบสภาไปแล้ว เดี๋ยวท่านก็บอกว่าแล้วรู้ได้อย่างไร พันธมิตรฯ จะเลิก ผมก็บอกว่า ผมก็ไม่มีหลักประกันหรอกครับว่าพันธมิตรฯ จะเลิก แต่ผมย้ำว่า พันธมิตรฯ ที่มาชุมนุมกันได้นั้น อย่าไปคิดเลยครับว่า คน 5 -6 คน 7 คน 8 คน 9 คน นั้นสั่งได้ ไม่ใช่หรอกครับ เหมือนกับที่ท่านบอกว่า ผมสั่งอาจารย์สมเกียรติได้ ไหม ถึงผมสั่งอาจารย์สมเกียรติได้ อาจารย์สมเกียรติออกมาก็ไม่ได้มีผลอะไรหรอกครับต่อทิศทางการเคลื่อนไหวที่ ผ่านมาจนถึงวันนี้
ไม่มีหลักประกัน ครับ แต่ผมเชื่อนะครับ ผมจะเรียกร้องว่า พันธมิตรฯ ก็ต้องเคารพกระบวนการของประชาธิปไตย ที่กลับไปให้ประชาชนตัดสิน พันธมิตรฯ จะไปตั้งพรรคการเมืองก็ได้ พันธมิตรฯ จะคอยติดตามสอดส่องดูแล ให้การเลือกตั้งสุจริต เที่ยงธรรม ที่สุดก็ได้ เพราะ กกต. ชุดนี้ แม้ไม่ได้สมบูรณ์หรอกครับ แต่ผมยังเชื่อใจ สำคัญก็คือรัฐบาลรักษาการณ์ทำตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดเท่านั้นนะครับ อย่าไปใช้อำนาจรักษาการณ์เกินเลยกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่มีใครสนุกหรอกครับ 480 คนนี้ แต่วันนี้เราเสียสละตัวเองก่อนได้ ไหมครับ พันธมิตร ฯ อาจจะไม่เห็นด้วย แต่ผมเชื่อว่าอย่างน้อยถ้าเราเสียสละเป็น เราได้ใจคนจำนวนไม่น้อยกลับคืนมากับระบบรัฐสภาของเรา วันนี้เราถูกปรามาสครับว่ากระบวนการนี้จะเป็นเพียงแค่พิธีกรรม ท่านนายกฯ กลับไปตรองเถอะครับ สิ่งที่กระผมพูดท่านเสียสละ ผมเสียสละ ผมเชื่อว่าผมอาจจะเจ็บกว่าท่าน โอกาสท่านกลับมามีมากกว่าผมนะครับ ทำเถอะครับ เพื่อบ้านเมืองสงบ สร้างบรรทัดฐานที่ดีครับ แล้วรัฐบาลที่กลับมานั้น ไม่มีคนกลุ่มใดมาตั้งเงื่อนไขได้ว่าต้องเป็นคนนั้นหรือไม่เป็นคนนี้ แต่รัฐบาลที่กลับมาต้องเก็บเกี่ยวบทเรียน 7 เดือนที่ผ่านมานี้ว่า ไม่ว่าจะมีเสียงข้างมากอย่างไร ต้องยึดหลักธรรมาภิบาล ต้องสร้างมาตรฐานให้สูงเข้าไว้ ประชาธิปไตยจะเดินไปข้างหน้า
กระผมกราบเรียน ท่านประธานด้วยความเคารพและนำข้อเสนอนี้ไปถึงท่านนายกฯ ท่านนายกฯ อาจจะลุกขึ้นตอบผมปฏิเสธทันที ท่านก็ทำได้ครับ เป็นสิทธิ์ของท่าน พวกกระผมได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว แล้วบอกว่าพร้อมที่จะเสียสละตำแหน่งนี้เพื่อมีโอกาสในการหาทางออกสำหรับบ้าน เมืองครับ
กราบขอบพระคุณ ครับ
http://www.prachatai.com/journal/2009/04/20728
--------------------------------------------------------------
FfF