วงจรหนึ่งในทางเศรษฐศาสตร์
ตามแนวตำรานิยม ก็คือ
การทำให้คนมีรายได้เพิ่ม ก็จะทำให้การบริโภคเพิ่ม
และจะทำให้มีการผลิตเพิ่ม ซึ่งจะทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น
คนมีรายได้ก็เพิ่มขึ้นเป็นวงจรลักษณะนี้คือ
รายได้เพิ่ม บริโภคเพิ่ม ผลิตเพิ่ม
วงจรนี้จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อ
เพิ่มรายได้ถูกที่ ไม่ทำให้มีเงินเฟ้อมาก
และเข้าถึงตลาดล่างด้วย
ซึ่งผมก็เห็นด้วย กับกรณีทำให้คนมีรายได้เพิ่ม
แต่ปัญหาที่ผ่านมารัฐบาลมักหลับหูหลับตาเพิ่มแต่รายได้
โดยการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยไม่มีมาตรการรองรับ
สินค้าก็เลยราคาแพงขึ้น เกิดเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งการไปขึ้นค่าแรงยิ่งมากเท่าไหร่
ก็จะยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ทำให้ผู้ประกอบการโยนภาระมาให้ผู้บริโภค
ด้วยการขึ้นราคาสินค้าแบบอัตโนมัติทันที
รวมไปถึงพวกขึ้นแบบไม่มีเหตุผลรองรับ
ประเภทแอบขึ้นตามน้ำด้วย
ทำให้การขึ้นค่าแรง ก็เหมือนไม่ได้ขึ้น
แถมยังทำให้คนว่างงานหรือไม่ได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น
จะต้องมาเดือดร้อนจากภาวะของแพงตามไปด้วย
ซึ่งวิธีเดิมๆ ที่ทำกันมาแบบที่ยกตัวอย่างด้านบน
ไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจในภาพรวมเลย
นอกจากช่วยทำให้เกิดเงินเฟ้อมากขึ้น
และอาจได้คะแนนเสียง
จากกลุ่มคนที่ได้ค่าแรงเพิ่มไปวันๆ
แต่ถ้าลองเปลี่ยนแนวคิดใหม่
เพิ่มค่าแรงมาถูกทางแล้ว
แต่ทำยังไงไม่ให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น
เพื่อไม่ให้นำไปอ้างขึ้นราคาสินค้าด้วย
อันนี้ถือว่าเป็นงานท้าทาย
และช่วยเพิ่มรายได้อย่างแท้จริง
จากแนวคิดที่ได้ยินมาเรื่องการชดเชย
ด้วยการลดภาษีนิติบุคคล
จาก 30% เหลือ 20กว่า%
วิธีนี้อาจช่วยแก้ปัญหาได้แต่อาจหละหลวม
อาจจะทำให้เกิดการซิกแซก
เช่น ถ้าบริษัทไหนเห็นว่าดีได้ลดภาษีเพิ่ม
บริษัทที่ไม่มีแรงงานรายวันที่ต้องจ่ายค่าแรง
ก็อาจแกล้งจ้างเพิ่มคนสองคน
เพื่อขอชดเชยภาษีได้
แบบนี้จะหละหลวมมากถ้าไม่มีเงื่อนไขที่ดี
แถมนโยบายหาเสียงจำนวนมากต้องใช้เงินเยอะ
การเหมาลดหมดเลยอาจทำให้ต้องไปกู้มาใช้เพิ่มอีก
แถมการลดราคาน้ำมันและแก้ปัญหาสินค้าราคาแพงได้
ก็จะลดภาษี VAT ที่จะเก็บได้อีกด้วย
เพราะรัฐบาลที่แล้วปล่อยให้สินค้าราคาแพงแทบทุกอย่าง
อาจหวังผลเก็บภาษี VAT เพิ่ม โดยไม่ต้องประกาศเพิ่มภาษี
เป็นการหาเงินแบบผลักภาระให้ประชาชนแบบไร้ความรับผิดชอบ
กับอีกแบบที่ผมเคยเสนอไว้คือ
ให้คิดจากจำนวนแรงงาน
โดยนำค่าแรง 300 บาท
มาลบจากค่าแรงอัตราปกติปัจจุบัน
เหลือเท่าไหร่ก็คือสิ่งที่รัฐช่วยชดเชย
และอาจแบ่งแต่ละจังหวัดเป็น 3 ระดับ
ได้ค่าแรง 200 , 250 และ 300 บาท
ตามอัตราที่ได้รับในปัจจุบัน
ซึ่งมีตั้งแต่ระดับ 100 กว่าบาท
ไปจนถึงประมาณ 220 บาทต่อวัน
และอาจชดเชยภาษีให้นิดหน่อยเพื่อจูงใจ
มันคล้ายกับการแจกเงินเช็คช่วยชาติ 2,000
ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เพียงแต่เป้าหมายคนรับต่างกัน
อันนี้จะลงถึงแรงงานรายวัน
ซึ่งมักจะใช้จ่ายหมดแทบไม่มีเหลือเก็บ
กับเช็ค 2,000 บาทที่แจก
บางคนอาจเก็บเพราะมีเงินเดือนประจำ
อาจยังไม่จำเป็นต้องใช้
คือพอมีรายได้เหลือนิดหน่อยพอเก็บออมได้
แต่การเพิ่มรายได้ให้แรงงงานรายวัน
เป็นการเพิ่มรายได้ที่ถูกที่มากกว่า
เพิ่มให้คนที่มีเงินเดือนมากๆ
เพราะเขาจะนำมาใช้จ่ายอยู่แล้ว
ไม่พอเก็บออม จะทำให้เงินหมุนได้หลายๆ รอบ
ถ้าเก็บออม อาจหมุนได้
จากการที่ธนาคารปล่อยกู้
แต่ช้าและไม่ปล่อยกู้หมดด้วย
ส่วนประเด็นการเข้าถึงตลาดล่าง
ในที่นี้ผมหมายถึงตลาดนัด ตลาดสดทั่วไป
ไม่ใช่ตลาดบนที่เป็นห้างสรรพสินค้าโดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนม
สินค้าวัสดุต่างๆ ราคาแพง อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์
และสินค้านำเข้ารวมทั้งตลาดหุ้นตลาดเงินอะไรพวกนี้
เนื่องจากว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจ
ไม่สามารถเก็บตัวเลขสินค้าในตลาดล่างได้หมด
ว่ามียอดขายทั้งประเทศเท่าไหร่
เช่นยอดขายคะน้า ผักชี ต้นหอม ผักบุ้ง
ทั้งประเทศมีเท่าไหร่ในแต่ละปี
ซึ่งหาข้อมูลได้ยากมากๆ
เขาก็เลยไปเก็บข้อมูลสินค้าตลาดบนแทน
เช่น ยอดขายรถ ขายบ้าน สินค้าราคาแพง
สินค้าอุตสาหกรรมอะไร
มาเป็นตัวเลขการบริโภคของเอกชน ไปรวมใน GDP แทน
ดังนั้นผลสะท้อนของตัวเลขทางเศรษฐกิจ
จึงไม่สามารถสะท้อนถึงความเป็นจริงของรากหญ้า
ที่เขาไม่บริโภคด้วยการซื้อบ้านซื้อรถอะไรบ่อยๆ ได้
นอกจากบริโภคตามตลาดสดตลาดนัดมากกว่า
และแต่ละปี ตัวเลขทั้งของรัฐบาลและสภาพัฒน์
หรือหน่วยงานต่างประเทศที่เกี่ยวกับ GDP ของไทย
ไม่ค่อยจะตรงกันจึงไม่ต้องแปลกใจ
มันส่อให้เห็นถึงวิธีการเก็บข้อมูลที่แตกต่างกัน
บางอย่างใช้วิธีสำรวจซึ่งก็เหมือนทำโพลล์นั่นแหล่ะ
มีโอกาสคลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้องครอบคลุม
แถมเป็นตัวเลขเฉลี่ยกว้างๆ
ซึ่งอาจไม่สะท้อนถึงความเป็นจริงได้
เช่น สมมุติมีรายงานว่า ดัชนีหลักทรัพย์ SET ขึ้น
จะตีความว่าหลักทรัพย์บวกทั้งตลาดไม่ได้
เพราะอาจบวกแค่ตัวใหญ่ไม่กี่ตัว
แล้วฉุดให้ดัชนีมันขึ้นในขณะที่ร้อยกว่าตัวตกหมด
ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
ดังนั้นการนำตัวเลขทางเศรษฐกิจ
ที่มักจะเก็บได้จากตลาดบนมากกว่าตลาดล่าง
มาประเมิน มาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม
ที่ผ่านจึงพบว่าบางทีอาจแก้ไขได้เฉพาะตลาดบน
หรือกลุ่มอุตสากรรม แบงค์ ห้างพาณิชย์ขนาดใหญ่
เพราะสามารถเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ
เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วนำไปคำนวน
หรือส่งเสริมช่วยเหลือรายอุตสาหกรรมได้ง่าย
เช่นทำโครงการเม็กกะโปรเจ็ก
คนที่ได้รับผลส่วนใหญ่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่
หรือกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ส่วนแรงงานระดับกรรมกร
จะได้แค่ช่วงมีงานทำและได้น้อยมากต่อคน
ส่วนใหญ่จะตามค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐประกาศ
และส่วนใหญ่ไม่ใช่เป็นการจ้างประจำ
ในโรงงานอุตสาหกรรมก็เหมือนกัน
ส่วนใหญ่จ้างเป็นายวัน รายเดือนหรือรายปี
ไม่ได้จ้างระยะยาว ทำให้ค่าแรงได้รับพอๆ กับที่รัฐกำหนด
ไม่รวมถึงการนำไปซื้ออาวุธ
ซึ่งแทบเงินที่นำไปซื้อแทบไม่ได้หมุนเวียนในประเทศเลย
ยกเว้นรายได้จากค่านายหน้าและค่าดำเนินการนิดหน่อย
เงินไม่ได้หมุนในประเทศเท่าไหร่
โยนเงินเข้าระบบเป็นล้านล้านบาท
แต่เอาไปซื้ออาวุธ ไปทำโครงการขนาดใหญ่
กับใช้เงินระดับแสนล้านถ้ากระจายลงถึงระดับรากหญ้าได้
ผลลัพธ์ที่ได้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะต่างกันมาก
อย่างหลังสามารถช่วยตลาดล่างได้ด้วย
ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมนักวิชาการ
กูรูทางเศรษฐกิจแนวตำรานิยม
จะออกมาบอกว่าตอนนี้เกิดภาวะเงินเฟ้อแล้ว
การที่รัฐมีนโยบายใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจอีก
จะทำให้เงินเฟ้อหนัก ทั้งๆ ที่ตลาดล่างยังค้าขายไม่ค่อยได้
รวมไปถึงปัญหาการตกงานยังมีอยู่สูง
ถ้ารัฐตั้งโจทย์ว่าตอนนี้เกิดเงินเฟ้อแล้ว
ก็จะออกนโยบายมาทำให้มันฝืดขึ้น
ก็เท่ากับทำให้พวกที่อยู่ในสภาวะเงินฝืดอยู่แล้ว
กระอักหนักกว่าเดิม
เพราะนโยบายแก้ปัญหาเงินเฟ้อ
กับเงินฝืดมันตรงกันข้ามกัน
ถ้าเฟ้อก็แก้ให้มันฝืดขึ้น
ถ้าฝืดก็ทำให้เฟ้อขึ้น
เพื่อให้มันเข้าสู่สมดุลโดยออกเฟ้อหน่อยๆ
ดังนั้นถ้าเริ่มตั้งโจทย์ผิด
ก็สามารถเดาได้เลยล่วงหน้าว่า
การแก้ปัญหาย่อมไม่ถูกต้องแน่นอน
เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในเวลาน
ี้ผมมองว่าเป็นเงินเฟ้อเทียม ไม่ใช่เงินเฟ้อที่แท้จริง
ในตำราอาจไม่มีการแยก
เงินเฟ้อแท้และเงินเฟ้อเทียม
ดังนั้นผมขอแยกให้เอง
เพราะวิธีการแก้ปัญหามันต่างกัน
จึงจำเป็นต้องแยกให้ชัด
ไม่ใช่ใช้วิธีเดียวกัน
แก้ปัญหาทั้งแบบเฟ้อแท้และเฟ้อเทียม
ผลมันก็จะออกมามั่วกันใหญ่
เงินเฟ้อแท้ที่ถูกต้องก็คือ
การที่ความต้องการซื้อมีสูง
ในขณะที่สินค้ามีน้อย
ก็เลยมีการแข่งขันกันแย่งซื้อโดยให้ราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ
คล้ายๆ การประมูลสินค้า
แบบนี้เรียกว่าเงินเฟ้อแท้
แต่จะนับเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต้องใช้
หรือมีผลต่อการดำรงชีวิตอย่างสูง
หรือมีผลกระทบทางด้านความมั่นคงทางการเมือง
เช่นข้าว น้ำมัน น้ำมันพืช นม อาหารสัตว์ สบู่ ยาสีฟัน อะไรพวกนี้
แต่ถ้าเป็นทุเรียนหมอนทองก้านยาวลูกละเกือบหมื่น
ผมพึ่งได้ยินจากคนสวนเจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งแถวนนทบุรีว่า
และหากินไม่ได้เพราะโดนกว้านซื้อไปหมดแล้วปีนี้
ต้องจองกันเดี๋ยวนี้เพื่อรอกินในปีหน้าแบบนี้ก็ถือว่าเป็นเงินเฟ้อแท้
แต่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นในชีวิต
และยังมีทุเรียนแบบอื่นราคาถูกให้กินทดแทนกันได้
อีกอย่างกรณีนี้ไม่ต้องไปสนใจแก้ปัญหา
ถือเป็นสีสันชีวิตของเศรษฐีอยากใช้เงิน
รวมไปถึงพระเครื่ององค์เป็นล้านนั่น
ก็ใช่แต่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นขาดได้ไม่ทำให้ชีวิตทุกข์ยากลำเข็ญ
ก็ไม่ต้องไปสนใจแก้ไขอะไร
หรือภาพวาดราคาหลายร้อยล้านอะไรพวกนี้
ไม่ต้องไปยุ่งเน้นเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต้องกินต้องใช้จริงๆ
ซึ่งรวมถึงสินค้าที่มีผลกระทบต่อสินค้าจำเป็น
ทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วย
กรณีเงินเฟ้อแท้แต่เป็นสินค้าจำพวกผัก
ก็เฟ้อเฉพาะบางฤดูกาลและเทศกาลกินเจ
หน้าฝนก็จะราคาแพงเพราะผักโดนน้ำฝนจะเน่า
เก็บไว้ไม่ได้นานอากาศอบอ้าวก็เน่าระหว่างขนส่ง
ส่วนหน้าหนาวราคาจะถูกมากแถมงาม
แต่ไม่ค่อยมีคนอยากกิน
อันนี้พูดในฐานะอดีตพ่อค้าขายผัก
ที่ช่วยพ่อแม่ขายผักในตลาดมาตั้งแต่เด็ก
เรื่องผักนี่ผมว่าผมเข้าใจธรรมชาติมันดีทีเดียว
ไม่ต้องไปยุ่ง ไม่ต้องนำมาคิดให้ปวดหัว
เพราะมันเป็นไปตามกลไกตลาดอย่างแท้จริง
มันไม่สามารถเก็บไว้ต่อรองได้นานนัก
ไม่จำเป็นต้องแก้ไข หมดฤดูกาลหมดเทศกาล
เดี๋ยวราคาก็ตกเองโดยธรรมชาติ
และเขาจะได้กำไรชดเชยช่วงราคาตกด้วย
เป็นเรื่องปกติ การดิ้นรนไปแก้ไขเป็นเรื่องไม่ปกติมากกว่า
และจะทำให้คนปลูกไม่มีโอกาสได้กำไร
มีแต่ขาดทุนมากกับขาดทุนน้อยหรือกำไรนิดหน่อย
รวมทั้งปีผมว่าเขาเลิกปลูกดีกว่าแบบนั้น
ราคาผักในตลาดบางช่วงมันสูงก็จริง
แต่สามารถหาผักชนิดอื่นที่ราคาถูกใช้ทดแทนกันได้
หรือทั้งปีเดี๋ยวแพงเดี๋ยวถูกอย่างคะน้า
พ่อค้าที่ซื้อไปทำราดหน้าหรือไปผัดขาย
ก็มักจะถั่วเฉลี่ยราคาขายไว้เรียบร้อยแล้ว
เพราะเขาไม่สามารถขายราคาขึ้นลงได้บ่อยๆ ทั้งปี
อีกอย่างในความเห็นผม
ผมว่าคนไทยมีนิสัยแปลกอยู่อย่างหนึ่งคือ
ชอบกินของขาดตลาด
จากประสบการณ์ที่เคยเป็นพ่อค้าตัวน้อย
พบว่าหน้าที่ผักเน่าเสียง่ายอย่างหน้าฝน
หรือช่วงที่ไม่มีผลผลิตมะนาว
กับพบว่าคนไทยส่วนหนึ่งอยากกิน
ผักชีโลละร้อยกว่าก็จะขอซื้อขีดหนึ่งได้ไม่กี่ต้นน้อยๆ
ซึ่งก็ขายยากและจำเป็นต้องเก็บให้ขาประจำด้วย
แต่ช่วงหน้าหนาวผักชีราคาถูกมากๆ
ราคาขายส่งโลละไม่ถึงสิบบาท
ต้นอวบๆ เก็บไว้ได้นานไม่ค่อยเน่า
เพราะเหมือนอยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา
กลับไม่ค่อยมีคนอยากกิน
นี่ก็เป็นเรื่องความอยากแบบไม่ปกติของคนไทยบางคน
แล้วชอบบ่นว่าผักแพง ทีช่วงถูกๆ ก็ไม่กินกัน
ทีแพงๆ ชอบมาแย่งกันซื้อ เห็นแล้วก็งงดีเหมือนกัน
และผักแบบอื่นที่กินได้ราคาถูกๆ
ก็ไม่คิดอยากจะกินเป็นซะแบบนี้
ดังนั้นเรื่องราคาผักนี่แทบไม่ต้องเอามาคิดคำนวนเงินเฟ้อเลย
เพราะมันจะทำให้เกิดอาการตัวเลขเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา
อย่างที่บอกกรณีผักชี เดี๋ยวโลละร้อยกว่า
แถมหามาขายไม่ค่อยได้ และต้นยังแคะแกรนเน่าๆ
บางช่วงต้นอวบรากใหญ่สวยงาม ราคาส่งไม่ถึงสิบบาท
แบบนี้ขืนเอามาวัดตัวเลขเงินเฟ้อ ก็เหวี่ยงขึ้นลงมาก
พอเอาไปถัวเฉลี่ยกับราคาสินค้าอื่นก็จะได้ผลมั่วเพิ่มมากขึ้นได้
ที่สำคัญผ่านไปสิบปี ไม่ว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะสูงรวมกันไปเท่าไหร่
ราคาผักก็ยังขึ้นลงในระดับปกติตามฤดูกาล
ไม่ค่อยเปลี่ยนไปตามตัวเลขเงินเฟ้อที่ขึ้นแทบทุกปีเลย
ที่สำคัญน่าจะจัดเทศกาลกินผักคล้ายๆ เทศกาลกินเจ
ช่วงเดือนที่ผักราคาถูกทั้งเดือน เช่นน่าจะเดือนพฤศจิกายน
ส่วนกินเจ 9 วัน ช่วงเดือนตุลาคม
ซึ่งก็ยังถือว่าอยู่ในช่วงหน้าฝนผักก็ยังแพง
แล้วมาแข่งกันกินช่วงของแพงให้มันแพงเข้าไปอีก
คือเป็นประเพณีของจีนที่ฤดูกาลไม่เหมาะสม
กับสภาพภูมิอากาศในไทย
อันที่จริงถ้าขยับไปอีกเดือนผักก็จะถูก
และคุณภาพดีมากช่วยเกษตรกรพยุงราคาได้ดีกว่า
ช่วงที่ผักแพงแต่เกษตรกรไม่มีของจะขาย
เพราะมันเน่าซะเยอะ อะไรแบบนี้
ถ้าเปลี่ยนเทศกาลกินเจไม่ได้กระทบความเชื่อ
รัฐอาจกำหนดเทศกาลกินผัก
แบบไม่เคร่งทั้งเดือนขึ้นมาแทนก็ได้
เลือกเดือนที่ราคาผักถูกก็น่าจะดีเหมือนกัน
หรือช่วงเดือนที่หมูแพง
ก็รณรงค์กินผักแทนซึ่งรัฐสามารถกำหนดส่งเสริมหรือกระตุ้นได้ไม่ยาก
และการรณรงค์ให้กินผักยังเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลกด้วย
เพราะการทำฟาร์มสัตว์เช่นหมู
จะทำให้เกิดปัญหาน้ำเสีย ก๊าซ CO2 เพิ่ม
รวมไปถึงปัญหาด้านสุขภาพ
เช่นโรคเกี่ยวกับไขมัน
ที่ต้องเสียเงินรักษาเพิ่มอีกด้วย
เงินเฟ้อเทียมก็คือ
เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากการกักตุน
หรือการฮั้วกันของผู้ค้ารายใหญ่
หรือนโยบายรัฐทำให้สินค้าราคาสูงขึ้น
เช่นการเก็บภาษีต่างๆ
อย่างกรณีที่เกิดปัญหาเงินเฟ้อเทียมในตอนนี้
เกิดจากราคาน้ำมัน น้ำมันพืช เนื้อหมู ...
พวกนี้มีสาเหตุทำให้ราคาสูงขึ้นแบบผิดปกติ
ไม่ใช่การเฟ้อแท้แบบปกติ
ที่คนแห่มาแย่งกันซื้อเพราะต้องการใช้มาก
ราคาเลยแพงขึ้น แต่ที่เห็นเช่นน้ำมันปาล์ม
คนแห่เข้าคิวขอปันส่วนใช้สิทธิซื้อคนละขวดสองขวด
แบบนี้เป็นลักษณะการทำให้เกิดการขาดตลาด
เพื่อหวังผลผลักดันราคาขึ้นแบบชอบธรรมหรือฮั้วกันนั่นเอง
ก็ไล่แก้แต่ละตัวเช่นน้ำมันแพงเพราะเก็บภาษีมาก
แถมยังใช้วิธีปล้นผู้ใช้น้ำมันเบนซินมาโป๊ะชดเชย
ช่วยพวกมีเงินซื้อรถใช้น้ำมัน E85 อะไรพวกนี้
ก็แค่ลดหย่อนการเก็บภาษีบางชนิด
หรือลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน
ก็จะทำให้ราคาลดลงรวมทั้งเลิกการบิดเบือนราคา
ยกเลิกการอุดหนุนน้ำมันที่ผสมเอทานอล
เพราะอีก 5 ปี โลกก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไปใช้น้ำเป็นเชื้อเพลิง
แทนน้ำมันสำหรับรถรุ่นใหม่ๆ แล้ว
เป็นการเตือนคนในวงการเอทานอลให้เตรียมตัวปรับตัว
เตือนธนาคารอย่าปล่อยกู้ให้ผลิตเอทานอลเพิ่ม
เตือนเกษตรกรที่ผลิตพืชที่นำไปแปรรูปเป็นเอทานอล
ว่าอย่าแห่มาปลูกพืชพวกนี้กันมาก
ไม่เช่นนั้นอีก 5 ปี เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ฟองสบู่เอทานอล
ปัญหาจะลุกลามใหญ่โตกว่าที่คาดไว้
อาจลามมาถึงระบบธนาคารได้ถ้าปล่อยกู้ไปมา
หรือเกษตรกรหลายแสนคนที่หลวมตัวไปลงทุนเพิ่ม
ดังนั้นการทำให้รู้ตัวตั้งล่วงหน้าหลายปี
เพื่อปรับตัวเป็นอะไรที่ดีสำหรับพวกเขา
แม้บางคนอาจจะไม่เข้าใจในวันนี้ก็ตาม
กรณีน้ำมันปาล์มราคาแพง
ก็มีผลมาจากการส่งเสริมเรื่องเอทานอล
ถ้างดการส่งเสริมเดี๋ยวก็ลดลงมาเอง
ส่วนหมูถ้าแพงจากราคาอาหารสัตว์
ก็ต้องเข้าไปควบคุมหรือนำเข้าเพิ่ม
ไม่ใช่ลูบหน้าปะจมูกเพราะเป็นนายทุนพรรคร่วมรัฐบาล
เพราะการช่วยซื้อสินค้าไทย
ต้องหมายถึงว่าผู้ผลิตสินค้าไทยไม่หน้าเลือดเห็นแก้ได้
มองผู้บริโภคไม่ใช่คนไทยด้วย
ก็ไล่แก้เป็นรายตัว เพราะมันเป็นเงินเฟ้อเทียม
ไม่ใช่เห็นมันเฟ้อไม่รู้เฟ้อแท้เฟ้อเทียม
ก็ไปออกนโยบายด้านการคลังบ้าง
หรือด้านการเงินบ้าง มั่วไปหมด
แก้ยังไงก็ไม่ถูกจุด ยิ่งแก้ยิ่งเฟ้อ
เพราะไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุที่แท้จริง
และที่สำคัญประเทศเกษตรกรรมแบบไทย
ต่อให้มีรายได้ส่วนใหญ่ปัจจุบัน ซึ่งมีลักษณะรับจ้าง
ใช้ชื่อประเทศไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ตาม
แต่ก็ยังถือว่าไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม
เพราะผลิตสินค้าเกษตรหลักใช้บริโภคในประเทศได้เอง
แถมยังเหลือมากพอส่งออกทำเงินได้ปีละหลายแสนล้านบาทอีกด้วย
ลักษณะแบบนี้ต่อให้เฟ้อเป็น 10กว่า % ก็อยู่ได้
เพราะควบคุมราคาข้าวได้เพราะปลูกได้เองในประเทศ
แค่มีข้าวกินราคาพอหาซื้อได้ ส่วนกับไปจับกบจับเขียดกินก็ยังได้
ถ้าพูดถึงสุดๆ และสินค้าประเภทผักราคาถูกๆ ยังมีอีกเพียบ
ต่อให้สินค้าประเภทเนื้อก็ยังควบคุมให้พอซื้อหากันได้อีก
จะกลัวอะไรกับตัวเลขเงินเฟ้อ
ที่รวมสินค้าที่ไม่จำเป็นต้องกินต้องใช้เอาไว้อยู่ด้วย
เช่นราคาบ้านสูงขึ้นราคารถสูงขึ้นก็สูงไปซิ
ก็อยู่บ้านเดิมรถคันเดิมหรือโหนรถเมล์ใช้รถไฟฟ้าไปก่อนก็ได้
ไม่เหมือนประเทศอุตสาหกรรมที่ต้องนำเข้าสินค้าเกษตรหลักแทบทั้งหมด
แบบนั้นสิถึงน่ากลัวถ้าราคาสินค้าเกษตรพวกนั้นราคาแพง
เพราะหมายถึงหายนะกำลังมาเยือน
อาจมีการแย่งกันกักตุนสินค้าหรืออาจอดตายกันได้
การกลัวเงินเฟ้อของประเทศอุตสหกรรม
กับเกษตรกรรมย่อมต้องแตกต่างกัน ไม่ใช่ไปกลัวเท่ากัน
ยึดตามตำราหรืออ้างอิงระดับโลก
เหมือนกันระดับเดียวกันไปหมด
แถมอีกนิด ในกรณีที่รัฐต้องการใช้เงิน
ก็ควรออกพันธบัตรระยะยาวๆ
ให้ดอกเบี้ยมากกว่าปัจจุบันเพื่อจูงใจ
ควรส่งเสริมให้คนเกษียณอายุได้ซื้อเป็นอันดับแรกๆ
และกระจายให้คนละไม่เกิน 2-3 ล้านบาท
เน้นปริมาณจำนวนคนเยอะๆ
ไม่หมดถึงให้คนทั่วไป
เป็นการเพิ่มกำลังซื้อให้คนเกษียณอายุ
และคนมีเงินทั่วไปแบบจำนวนมาก
ดอกเบี้ยร้อยละ 5 ร้อยละ 7 ไม่เกิน 10 ต่อปี
ปีๆ หนึ่งคนพวกนี้จะมีรายได้เพิ่ม
พอจับจ่ายใช้สอยได้โดยเฉพาะคนที่เกษียณอายุแล้ว
ถ้าเกิดเงินเฟ้อเงินหลังจากเขาเกษียณไปแล้วสิบกว่าปี
เงินที่ได้ตอนนั้นอาจไม่พอใช้ในชีวิตปัจจุบัน
เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีกว่ากู้เงินนอก
เพราะโอกาสที่ค่าเงินจะผกผันมีสูง
แถมกู้มากๆ ก็ไม่ค่อยดี แต่กู้เป็นพันธบัตร
ยังไงรัฐบาลสามารถพิมพ์แบงค์ใช้หนี้ได้อยู่แล้ว
ไม่ต้องกลัวไม่มีเงินจ่าย
แต่ไม่จำเป็นก็ทยอยจ่ายไม่พิมพ์แบงค์เพิ่ม
เพราะอาจเกิดปัญหาเงินเฟ้อและเสถียรภาพค่าเงินตามมาได้
แทนที่จะปล่อยให้คนมีเงินเก็บออมด้วยการไปซื้อทองคำ
ซึ่งไม่มีประโยชน์ใดๆ กับเศรษฐกิจ
เงินไปจมไม่เกิดการหมุนเวียน
เหมือนกับไปฝากแบงค์ หรือซื้อพันธบัตรรัฐบาล
และต้องเสียเงินไปนำเข้าทองคำอีก
มีแต่เสียไม่มีประโยชน์ ไม่สมควรสนับสนุน
ให้คนไปเก็งกำไรทองคำ หรือซื้อทองคำมาเก็บออมไว้
การปล่อยให้เงินฝืดเกิดขึ้น
แม้จะรับรู้หรือไม่หรือตัวเลขทางเศรษฐกิจจะแสดงหรือไม่
แต่ถ้าชีวิตจริงชาวบ้านสัมผัสได้ถึงเงินฝืด
จะทำให้เกิดปัญหาเสถียรภาพความมั่นคง
ของรัฐบาลตามมาแน่นอน
ทำให้ส่งผลกระทบต่อคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วย
ดังนั้นจะว่าไปแล้วเงินฝืดน่ากลัวกว่าเงินเฟ้อ
สำหรับทุกรัฐบาลในโลกนี้
โดย มาหาอะไร
FfF