20 กันยายน 2554

<<< พรบ.จดหมายเหตุฯ ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์หลงกลผ่านความเห็นชอบคือ กฏหมายปิดหูปิดตาฝ่ายประชาธิปไตยอย่างถาวรในอนาคต >>>

ร่างพระราชบัญญัติจดหมายเหตุแห่งชาติพ.ศ. ....

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 มาตรา 31 มาตรา 34 มาตรา 35 มาตรา 37 มาตรา 39 มาตรา 48 มาตรา 50 และมาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

------------------------------------------------

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจดหมายเหตุแห่งชาติ พ.ศ. ....”

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้

“จดหมายเหตุแห่งชาติ” หมายความว่า เอกสารต้นฉบับหรือคู่ฉบับซึ่งได้รับการประเมินจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชาติ ควรรักษาไว้เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินและต้องจัดเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติเพื่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และเผยแพร่

“จดหมายเหตุ” หมายความว่า เอกสารต้นฉบับหรือคู่ฉบับไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ซึ่งได้รับการประเมินจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สมควรจัดเก็บไว้ใน หอจดหมายเหตุเพื่อการศึกษา ค้นคว้า และวิจัย

“เอกสาร” หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ภาพ แสง เสียง ผังหรือแผนแบบอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นโดยวิธีเขียน วาด พิมพ์ ถ่ายภาพ บันทึก วิธีทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีอื่นใดอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น “เอกสารราชการ” หมายความว่า เอกสารซึ่งอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และให้หมายความรวมถึงสำเนาเอกสารนั้นๆ ที่เจ้าพนักงานรับรองในหน้าที่และข้อมูลข่าวสารของราชการตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ

“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการ ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ส่วนราชการสังกัดรัฐสภา ศาลเฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดี องค์กรควบคุมการประกอบวิชาชีพ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

“นักจดหมายเหตุ” หมายความว่า บุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานตาม หลักวิชาการจดหมายเหตุ

“หอจดหมายเหตุแห่งชาติ” หมายความว่า หอจดหมายเหตุในสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมซึ่งเป็นสถานที่เก็บรักษาจดหมายเหตุแห่งชาติ

“หอจดหมายเหตุ” หมายความว่า หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นใดที่มีระบบการดำเนินงานตามหลักวิชาการจดหมายเหตุของหน่วยงานนั้นในลักษณะงานจดหมายเหตุเช่นเดียวกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และหอจดหมายเหตุที่คณะกรรมการจดหมายเหตุแห่งชาติรับรองตามมาตรฐานที่กำหนด

“ทำซ้ำ” หมายความว่า ทำสำเนา ทำแม่พิมพ์ บันทึกภาพ บันทึกเสียง หรือบันทึกทั้งภาพและเสียง จากต้นฉบับหรือสำเนาไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และให้หมายรวมถึงคัดลอก เลียนแบบ ไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการจดหมายเหตุแห่งชาติ

“กองทุน” หมายความว่า กองทุนจดหมายเหตุแห่งชาติ

“คณะกรรมการกองทุน” หมายความว่า คณะกรรมการกองทุนจดหมายเหตุแห่งชาติ

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าราชการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตาม พระราชบัญญัตินี้

“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือ ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมศิลปากร

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตาม พระราชบัญญัตินี้

หมวด 1 การบริหารจัดการเอกสารราชการ

มาตรา 5 ให้หน่วยงานของรัฐจัดเก็บเอกสารราชการที่อยู่ในระหว่างการใช้งาน หรือจำเป็นต้องเก็บรักษาให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์สามารถตรวจสอบอ้างอิงได้ และจัดทำตารางกำหนดอายุและการทำลายเอกสารราชการตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด

หน่วยงานของรัฐอาจจัดให้มีนายทะเบียนจดหมายเหตุเพื่อทำหน้าที่เสมือนนักจดหมายเหตุประจำหน่วยงานนั้น

มาตรา 6 ให้หน่วยงานของรัฐสำรวจเอกสารอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง หากพบว่าเอกสารราชการใดครบอายุการเก็บรักษาตามตารางกำหนดอายุเอกสารและได้ผ่านการประเมินคุณค่าเอกสารแล้วว่าเป็นจดหมายเหตุแห่งชาติหรือจดหมายเหตุแล้วแต่กรณีต้องส่งมอบเอกสารดังกล่าวซึ่งเป็นจดหมายเหตุแห่งชาติหรือจดหมายเหตุแล้วแต่กรณี ให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือหอจดหมายเหตุของหน่วยงานนั้น เว้นแต่หน่วยงานของรัฐนั้นจะได้ทำความตกลงกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการส่งมอบตามความในวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 7 หน่วยงานของรัฐจะทำลายเอกสารราชการที่อยู่ในความครอบครองไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการ

ในกรณีที่ผู้อำนวยการไม่อนุญาตให้ทำลายเอกสารราชการตามวรรคหนึ่ง หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้ครอบครองเอกสารดังกล่าว ต้องส่งมอบเอกสารให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติเพื่อประโยชน์ในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และดำเนินการตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

หมวด 2 การบริหารเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของบุคคล

มาตรา 8 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการสำรวจจดหมายเหตุแห่งชาติที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าอาจอยู่ในความครอบครองของบุคคล

หลักเกณฑ์ และวิธีการสำรวจให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 9 เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามมาตรา 8 แล้วและหอจดหมายเหตุแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเอกสารราชการที่เป็นจดหมายเหตุแห่งชาติซึ่งอยู่ในความครอบครองของบุคคลให้ส่งเก็บในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

มาตรา 10 ในกรณีที่จดหมายเหตุแห่งชาติใดอยู่ในความครอบครองของบุคคลหรือ นิติบุคคลใด ไม่ว่าจะอยู่ภายในประเทศหรือต่างประเทศ หากคณะกรรมการเห็นสมควรสงวนหรือ เก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ ให้กรมศิลปากรมีอำนาจจัดซื้อ

หมวด 3 การคุ้มครองจดหมายเหตุแห่งชาติและจดหมายเหตุ

มาตรา 11 เอกสารที่ได้รับการประเมินตามหลักวิชาการจดหมายเหตุจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ให้ถือว่าเป็นเอกสารที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 12 หน่วยงานของรัฐ สถานศึกษา องค์กร รัฐวิสาหกิจ บุคคลและนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองจดหมายเหตุต้องส่งบัญชีรายการเอกสารที่มีลักษณะเป็นจดหมายเหตุให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา ค้นคว้า และวิจัย

มาตรา 13 ห้ามมิให้ผู้ใดทำสำเนาด้วยวิธีการใดๆ ซึ่งจดหมายเหตุแห่งชาติที่เก็บรักษาในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการหรือผู้ที่ผู้อำนวยการมอบหมาย

การอนุญาตตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 14 ห้ามมิให้ผู้ใดส่งหรือนำจดหมายเหตุแห่งชาติออกจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการ

มาตรา 15 ห้ามผู้ใดเอาไป ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งจดหมายเหตุแห่งชาติ

มาตรา 16 ห้ามมิให้ผู้ใดส่งหรือนำจดหมายเหตุแห่งชาติออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี

มาตรา 17 ห้ามมิให้ผู้ใดซื้อ ขาย จำหน่าย หรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งจดหมายเหตุแห่งชาติและครอบครองไว้เป็นของตนเอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร

หมวด 4 จดหมายเหตุแห่งชาติและจดหมายเหตุที่เป็นข้อมูลข่าวสารลับ

มาตรา 18 การดำเนินการเกี่ยวกับจดหมายเหตุแห่งชาติและจดหมายเหตุที่เป็นข้อมูลข่าวสารลับให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ

หน่วยงานของรัฐจะต้องจัดทำตารางกำหนดอายุจดหมายเหตุแห่งชาติและจดหมายเหตุที่เป็นข้อมูลข่าวสารลับ เพื่อประโยชน์ในการเก็บรักษาไว้ในการใช้สอย การขอขยายเวลาในการเปิดเผย การส่งมอบให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือการทำลาย

มาตรา 19 จดหมายเหตุที่เป็นข้อมูลข่าวสารลับที่หน่วยงานของรัฐประสงค์จะทำลาย จะต้องส่งบัญชีให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติพิจารณาคุณค่าทางจดหมายเหตุ การศึกษา ค้นคว้า วิจัย

หากหอจดหมายเหตุแห่งชาติพิจารณาเห็นว่าเป็นจดหมายเหตุแห่งชาติ ให้หน่วยงานของรัฐส่งมอบจดหมายเหตุแห่งชาติที่เป็นข้อมูลข่าวสารลับนั้นให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

หมวด 5 การบริการจดหมายเหตุแห่งชาติ

มาตรา 20 ผู้ที่ประสงค์จะขอใช้บริการจดหมายเหตุแห่งชาติ เพื่อศึกษา ค้นคว้า วิจัย หรือเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจให้ยื่นคำขอต่อผู้อำนวยการ

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาตให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 21 การทำสำเนาจดหมายเหตุแห่งชาติที่ขอใช้บริการตามมาตรา 20 หรือเพื่อการอื่นใด ต้องได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการ

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาตให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 22 การให้บริการจดหมายเหตุตามมาตรา 20 และมาตรา 21 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 23 ผู้ขอใช้บริการต้องเสียค่าทำสำเนารวมทั้งค่าบริการตามที่คณะกรรมการกำหนด

หมวด 6 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

มาตรา 24 หอจดหมายเหตุแห่งชาติจะจัดตั้งขึ้น ณ ที่ใดหรือจะให้สถานที่ใดเป็นหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รวมทั้งการยุบเลิกหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 25 ให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) ติดตาม รวบรวม รับมอบจดหมายเหตุแห่งชาติจากหน่วยงานของรัฐ องค์กร รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา บุคคลและนิติบุคคล

(2) ประเมินคุณค่าเอกสาร

(3) จัดหมวดหมู่และจัดทำเครื่องมือช่วยค้นคว้า

(4) อนุรักษ์จดหมายเหตุ

(5) ให้บริการประชาชนเพื่อการศึกษา ค้นคว้า และวิจัย

(6) เผยแพร่ประชาสัมพันธ์

(7) บันทึกเหตุการณ์สำคัญของประเทศ

(8) ให้คำปรึกษา แนะนำ วิชาการบริหารเอกสารและจดหมายเหตุแห่งชาติ

(9) กำกับ ดูแล ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินการจัดตั้งหอจดหมายเหตุ

การบริหารจัดการเอกสารและจดหมายเหตุ

(10) เป็นศูนย์ข้อมูลและศูนย์ประสานงานจดหมายเหตุแห่งชาติและจดหมายเหตุทั้งในประเทศและต่างประเทศ

(11) ฝึกอบรมวิชาการจดหมายเหตุแก่บุคลากรของหน่วยงานของรัฐ องค์กร รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา บุคคลและนิติบุคคล

(12) ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

หมวด 7 หอจดหมายเหตุ

มาตรา 26 หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถาบันการศึกษาประสงค์ที่จะจัดตั้งหอจดหมายเหตุให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ มาตรฐาน วิธีการ เงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 27 หอจดหมายเหตุที่จัดตั้งขึ้นโดยหน่วยงานของเอกชนให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ มาตรฐาน วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา 28 ให้หอจดหมายเหตุที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 26 และมาตรา 27 เป็นเครือข่ายและศูนย์ประสานงานจดหมายเหตุกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

หมวด 8 คณะกรรมการจดหมายเหตุแห่งชาติ

มาตรา 29 ให้มีคณะกรรมการจดหมายเหตุแห่งชาติ ประกอบด้วย

(1) นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้กำกับดูแลงานของกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานกรรมการ

(2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นรองประธานกรรมการ

(3) ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการพระราชวัง อัยการสูงสุด เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ และอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นกรรมการ

(4) ผู้แทนหอจดหมายเหตุจากหน่วยงานของรัฐ สถานศึกษา องค์กรและรัฐวิสาหกิจ บุคคลและนิติบุคคล และผู้แทนสมาคมจดหมายเหตุ จำนวนไม่เกินห้าคน เป็นกรรมการ

(5) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินแปดคน เป็นกรรมการ

ให้อธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมเป็นกรรมการและเลขานุการ รองอธิบดีกรมศิลปากร เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

มาตรา 30 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 29(5)ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

(1) มีสัญชาติไทย

(2) อายุไม่เกินเจ็ดสิบห้าปีบริบูรณ์

(3) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(4) เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญด้านวิชาการบริหารเอกสาร และจดหมายเหตุ ด้านภาษาและหนังสือและด้านอนุรักษ์จากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในความสามารถแล้ว

(5) เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีคุณธรรม จริยธรรม และสถานภาพเป็นที่ยอมรับนับถือในสังคม

(6) เป็นผู้มีความสนใจและเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ ปกป้อง คุ้มครอง สืบทอด และสืบสาน จดหมายเหตุแห่งชาติและจดหมายเหตุ

(7) สามารถอุทิศเวลาให้แก่งานของกรมศิลปากรได้อย่างเต็มที่

(8) ไม่เป็นผู้ต้องตำแหน่งทางการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมือง

(9) ไม่เป็นผู้ประกอบการค้าหรือมีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการค้าหนังสือเก่า เอกสารโบราณ
มาตรา 31 คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบ เงือนไข หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการประเมินคุณค่าจดหมายเหตุ และเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

(2) ให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานของรัฐ องค์กร รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา บุคคลและนิติบุคคล เกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ และการดำเนินการทางวิชาการจดหมายเหตุตามที่ได้รับคำขอ

(3) เสนอแนะ ให้ความเห็น หรือคำแนะนำแก่รัฐมนตรี ในการออกกฎกระทรวงหรือระเบียบ กำหนดนโยบายเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยจดหมายเหตุแห่งชาติ

(4) กำหนดระเบียบการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน การจัดหาผลประโยชน์และการบริหารกองทุน

(5) ดำเนินการในเรื่องอื่นใดตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

(6) ให้คำแนะนำ ดูแล และติดตามผลการดำเนินงานด้านจดหมายเหตุรวมทั้ง ให้การรับรองฐานะหอจดหมายเหตุ

(7) พิจารณาและเสนอนโยบายและแผนการบริหารงานจดหมายเหตุแห่งชาติ

(8) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 32 ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 29 (5) มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี

ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตำแหน่งว่าง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี

กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง อาจได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้

มาตรา 33 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(1) ตาย

(2) ลาออก

(3) คณะรัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่หรือหย่อนความสามารถหรือมีความประพฤติเสื่อมเสีย

(4) เป็นบุคคลล้มละลาย

(5) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(6) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

มาตรา 34 การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
ของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธาน ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ถ้ารองประธานไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

กรรมการผู้ใดมีส่วนได้ส่วนเสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องใด ห้ามมิให้เข้าร่วมพิจารณา และออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น

มาตรา 35 ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษา
ค้นคว้า วิจัย หรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย และให้นำมาตรา 33 มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

มาตรา 36 ให้คณะกรรมการมีอำนาจเรียกให้บุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสาร และหลักฐาน หรือวัตถุอื่นใดมาประกอบการพิจารณาได้

หน่วยงานของรัฐ สถานศึกษา องค์กร รัฐวิสาหกิจ บุคคลและนิติบุคคล ต้องยินยอมให้คณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายเข้าตรวจสอบจดหมายเหตุแห่งชาติที่อาจอยู่ในความครอบครองได้ไม่ว่าจะเป็นเอกสารลับหรือไม่ก็ตาม

หมวด 9 กองทุนจดหมายเหตุแห่งชาติ

มาตรา 37 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่า “กองทุนจดหมายเหตุแห่งชาติ” ในกรมศิลปากร มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินกิจการจดหมายเหตุ

มาตรา 38 กองทุนจดหมายเหตุแห่งชาติ ประกอบด้วย

(1) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล

(2) เงินค่าบริการ เงินค่าใช้จ่ายหรือเงินที่ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้

(3) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้

(4) เงิน ดอกเบี้ย หรือ ผลประโยชน์อื่นใดที่เกิดจากกองทุน

(5) เงินและทรัพย์สินอื่นที่ตกเป็นของกองทุน

(6) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากภาคเอกชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์กรต่างประเทศ

เงินหรือทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งให้ส่งเข้ากองทุนโดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

มาตรา 39 ผู้บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กองทุนมีสิทธินำไปลดหย่อนในการ
คำนวณภาษีเงินได้ หรือได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในประมวลรัษฎากร

มาตรา 40 การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน การจัดหาผลประโยชน์และ การบริหารกองทุนให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกองทุนกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

หมวด 10 พนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา 41 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ดังต่อไปนี้

(1) เข้าไปในหอจดหมายเหตุเพื่อตรวจดูว่ามีจดหมายเหตุแห่งชาติอยู่ในความครอบครองหรือไม่

(2) เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่เพื่อตรวจค้นเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการซุกซ่อนหรือเก็บรักษาจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือโดยการกระทำผิด ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นหาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีหรือจดหมายเหตุแห่งชาติจะถูกซุกซ่อน ทำลาย เคลื่อนย้าย หรือ ทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม

(3) ตรวจค้นบุคคลหรือยานพาหนะใด ๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีจดหมายเหตุแห่งชาติซุกซ่อนอยู่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(4) เข้าไปยึดหรืออายัดจดหมายเหตุแห่งชาติที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือมีเหตุอันควร เชื่อว่าเป็นจดหมายเหตุแห่งชาติที่ได้มาจากกรณีดังกล่าวใน(1) (2) และ(3) เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ จดหมายเหตุแห่งชาติดังกล่าวจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือ ทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม

การตรวจ ยึด หรือ อายัดตามความใน(4) ของวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้ระหว่าง พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือระหว่างเวลาทำการ และเมื่อดำเนินการไม่เสร็จจะกระทำต่อไปในเวลากลางคืนหรือนอกเวลาทำการของสถานที่นั้นต่อไปก็ได้ และเมื่อดำเนินการตรวจยึดหรืออายัดแล้ว ในเขตกรุงเทพมหานครให้รายงานต่ออธิบดี เขตจังหวัดอื่นให้รายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัด

การตรวจยึดหรืออายัดตามความในวรรคสองในกรณีจำเป็นหรือเร่งด่วน หรือ ฉุกเฉินให้กระทำได้แม้ในเวลากลางคืน โดยให้นำความในวรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

การใช้อำนาจตาม (2) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดและแสดงความบริสุทธิ์ก่อนการเข้าค้น และรายงานเหตุผลของการตรวจค้นเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป และบันทึกเหตุอันควรสงสัยตามสมควร และเหตุอันควรเชื่อที่ทำให้สามารถเข้าค้นได้เป็นหนังสือให้ไว้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองเคหสถาน หรือสถานที่ค้น หากไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองอยู่ ณ ที่นั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ค้นส่งมอบสำเนาหนังสือนั้นให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองดังกล่าวในทันทีที่กระทำได้ หากเป็นการเข้าค้นในเวลากลางคืนภายหลังพระอาทิตย์ตก พนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้เป็นหัวหน้าในการเข้าค้นต้องเป็นข้าราชการตำแหน่งตั้งแต่ระดับ 7 ขึ้นไป

มาตรา 42 ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้เกี่ยวข้องในหอจดหมายเหตุ เคหสถาน สถานที่ บุคคล และให้เจ้าของหรือ ผู้ครอบครอง หรือผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวอำนวยความสะดวกตามสมควร

บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 43 ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 44 เจ้าของหรือผู้ครอบครองเอกสารที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติจำเป็นต้องใช้เพื่อการบันทึกเหตุการณ์สำคัญของชาติ เมื่อได้รับการร้องขอเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการต้องอำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการใช้เอกสารดังกล่าว

หมวด 11 บทกำหนดโทษ

มาตรา 45 ผู้ใดทำเอกสารปลอมจดหมายเหตุแห่งชาติหรือจดหมายเหตุขึ้นทั้งฉบับ หรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติม หรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดในจดหมายเหตุแห่งชาติหรือจดหมายเหตุ หรือประทับตราปลอมด้วยวิธีการใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 46 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 13 วรรคหนึ่ง หรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขที่ออกตามมาตรา 13 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 47 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 14 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 48 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 15 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 49 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 50 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 17 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทเฉพาะกาล

มาตรา 51 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังไม่ได้จัดทำตารางกำหนดอายุเอกสารตามมาตรา 5 ให้หน่วยงานของรัฐสำรวจเอกสารที่มีอายุเกินยี่สิบปีและจัดทำบัญชีพร้อมส่งมอบเอกสารให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติไว้ก่อน จนกว่าคณะกรรมการจะได้จัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเก็บรักษา และการจัดทำตารางกำหนดอายุเอกสาร


http://www.lawamendment.go.th/OW.asp?id=7699

-------------------------------------------------

ครม.ผ่านพรบ.จดหมายเหตุฯ กันเอกสารชาติสูญหาย

รมว.วัฒนธรรมเผย ที่ประชุม ครม. ผ่าน พ.ร.บ. จดหมายเหตุแห่งชาติ ชงสภาดันกฎหมายป้องกันเอกสารชาติ...

เมื่อวันที่ 20 ก .ย. นางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม (วธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.จดหมายเหตุแห่งชาติ พ.ศ.... ตามที่กรมศิลปากรนำเสนอ โดยขั้นตอนหลังจากนี้ วธ. จะส่งร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ผลักดันออกเป็นกฎหมายต่อไป เหตุผลที่ต้องมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จำเป็นต้องมีอำนาจควบคุมให้หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนเอกสารที่อยู่ในครอบครอง และจัดส่งเอกสารที่ได้รับการประเมิน คุณค่า และเห็นว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ควรแก่เก็บเป็นจดหมายเหตุมาให้กรมศิลปากรเก็บรักษาไว้ รวมทั้งคุ้มครองป้องกันเอกสารสำคัญไม่ให้ถูกนำออกนอกราชอาณาจักร และมีการซื้อขาย

นางสุกุมล กล่าวต่อ ว่าที่ผ่านมาอุปสรรคการดำเนินงานด้านจดหมายเหตุ หน่วยงานราชการและผู้ถือครองเอกสารจดหมายเหตุ ไม่ยอมส่งเอกสารจดหมายเหตุมาให้สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติเก็บรักษา ดังนั้นในร่าง พ.ร.บ.นี้ จึงกำหนดอำนาจหน้าที่ บทลงโทษเรื่องจัดเก็บเอกสารสำคัญของชาติไว้ชัดเจน เพราะเอกสารสำคัญต่างๆ ถือเป็นสมบัติของประชาชนในชาติ ที่จะได้ศึกษาเรียนรู้ โดยเฉพาะคนรุ่นหลัง เช่น มีอำนาจติดตาม และให้หน่วยงานรัฐจัดทำทะเบียนเอกสาร และประเมินคุณค่าตามหลักเกณฑ์ที่จะประกาศ หลังจาก พ.ร.บ.ประกาศใช้ และหน่วยงานราชการต้องส่งมอบเอกสาร เมื่อครบกำหนดระยะเวลา ได้แก่ ระยะเวลา 10 ปี สำหรับเอกสารธรรมดา ระยะเวลา 20 ปี เอกสารที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. 2540 และระยะเวลา 75 ปี เอกสารตามมาตรา 14 พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น

รมว.วัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ในพ.ร.บ.ยังกำหนดเรื่องการดูแลเก็บรักษาจดหมายไว้ชัดเจน อาทิ หากบุคคลใดส่งมอบเอกสารจดหมายเหตุให้กับรัฐ จะได้รับค่าตอบแทนในราคาที่เหมาะสม รวมทั้งได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้ส่งมอบ หากไม่ส่งมอบ ก็ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดการเก็บรักษาเอกสารตามมาตรฐานหอจดหมายเหตุแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม การผลักดัน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจากการศึกษาหลายๆ ประเทศพบว่า แต่ละประเทศได้มี พ.ร.บ.จดหมายเหตุแห่งชาติ เพื่อคุ้มครองเอกสารของชาติทั้งนั้น ดังนั้นไทยควรมีกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน

ไทยรัฐออนไลน์
โดย ทีมข่าวการศึกษา
20 กันยายน 2554, 14:43 น.

http://www.thairath.co.th/content/edu/203157

-------------------------------------------------

นี่คือตัวอย่างของการออกกฏหมายแบบไม่รอบคอบ
กระทรวงไหนเสนออะไรมา พูดจาดูดี
หรือเขียนรายงานเฉพาะประโยชน์ให้สวยหรูหน่อย
ก็รีบอนุมัติทำตามโดยไม่ได้ดูสาระและอนาคต
ว่าจะได้รับผลกระทบยังไงบ้างเลย
เดี๋ยวจะอธิบายว่ามันจะกระทบยังไงในอนาคต

พรบ. ตัวนี้แท้ที่จริงก็คือ พรบ. ปิดหูปิดตาประชาชน
ผมยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ เช่น หนังสือต้องหาทั้งหลาย
จะกลายเป็นจดหมายเหตุ บันทึกในเว็บไซด์
หรืออะไรที่เขาไม่ต้องการให้เผยแพร่กระจายออกไป
มันจะกลายเป็นจดหมายเหตุ
ซึ่งจดหมายเหตุบ้าบออะไร
ถึงกับต้องให้อำนาจเจ้าหน้าที่กระทำการ
เหมือนหนังสือต้องห้ามเลย
ออกอาการเหมือนกระเหี้ยนกระหือรือ
อยากจะยึดเอกสารหลักฐานและข้อมูลจากคนอื่นเช่นนี้
ซึ่งคนอื่นที่ว่านี้คือทุกๆ คน ทุกๆ องค์กร
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราชการ เอกชนหรือบุคคลทั่วไป
แถมยังให้อำนาจ ตรวจค้นมากมาย
ราวกับเป็นเอกสารต้องห้ามมากกว่า จดหมายเหตุที่เป็นข่าวสารทั่วไป
ที่แพร่หลายเหมือนจดหมายเหตุทั่วๆ ไปอย่างที่เข้าใจกัน

วันหนึ่ง รมต. ในครม. นี้ อาจโดนใช้บริการ
ไปตรวจค้นบ้านหาจดหมายเหตุกันทุกวันได้เหมือนกัน

"2) เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่เพื่อตรวจค้นเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการซุกซ่อนหรือเก็บรักษาจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือโดยการกระทำผิด ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นหาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีหรือจดหมายเหตุแห่งชาติจะถูกซุกซ่อน ทำลาย เคลื่อนย้าย หรือ ทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม

(3) ตรวจค้นบุคคลหรือยานพาหนะใด ๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีจดหมายเหตุแห่งชาติซุกซ่อนอยู่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(4) เข้าไปยึดหรืออายัดจดหมายเหตุแห่งชาติที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือมีเหตุอันควร เชื่อว่าเป็นจดหมายเหตุแห่งชาติที่ได้มาจากกรณีดังกล่าวใน(1) (2) และ(3) เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ จดหมายเหตุแห่งชาติดังกล่าวจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือ ทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม

การตรวจ ยึด หรือ อายัดตามความใน(4) ของวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้ระหว่าง พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือระหว่างเวลาทำการ และเมื่อดำเนินการไม่เสร็จจะกระทำต่อไปในเวลากลางคืนหรือนอกเวลาทำการของสถานที่นั้นต่อไปก็ได้ และเมื่อดำเนินการตรวจยึดหรืออายัดแล้ว ในเขตกรุงเทพมหานครให้รายงานต่ออธิบดี เขตจังหวัดอื่นให้รายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
การตรวจยึดหรืออายัดตามความในวรรคสองในกรณีจำเป็นหรือเร่งด่วน หรือ ฉุกเฉินให้กระทำได้แม้ในเวลากลางคืน โดยให้นำความในวรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม"

ลองอ่านมาตราเหล่านี้อีกครั้ง
ถ้ายังไม่เข้าใจว่ามันจริงอย่างที่ว่าหรือไม่

"มาตรา 11 เอกสารที่ได้รับการประเมินตามหลักวิชาการจดหมายเหตุจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ให้ถือว่าเป็นเอกสารที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 12 หน่วยงานของรัฐ สถานศึกษา องค์กร รัฐวิสาหกิจ บุคคลและนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองจดหมายเหตุต้องส่งบัญชีรายการเอกสารที่มีลักษณะเป็นจดหมายเหตุให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา ค้นคว้า และวิจัย

มาตรา 13 ห้ามมิให้ผู้ใดทำสำเนาด้วยวิธีการใดๆ ซึ่งจดหมายเหตุแห่งชาติที่เก็บรักษาในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการหรือผู้ที่ผู้อำนวยการมอบหมาย

การอนุญาตตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 14 ห้ามมิให้ผู้ใดส่งหรือนำจดหมายเหตุแห่งชาติออกจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการ

มาตรา 15 ห้ามผู้ใดเอาไป ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งจดหมายเหตุแห่งชาติ

มาตรา 16 ห้ามมิให้ผู้ใดส่งหรือนำจดหมายเหตุแห่งชาติออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี

มาตรา 17 ห้ามมิให้ผู้ใดซื้อ ขาย จำหน่าย หรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งจดหมายเหตุแห่งชาติและครอบครองไว้เป็นของตนเอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร"

เอกสาร บันทึกใดๆ ที่ต้องการปิดปาก
ก็ประกาศให้เป็นจดหมายเหตุ
แล้วเจ้าหน้าที่คนของผู้มีอำนาจ
ก็ไม่ปล่อยให้หลุดออกมาอีกเลย
แม้คุณจะเป็นเจ้าของผลงานนั้นๆ ก็ตาม
เช่นถ้าเขาประกาศให้ข้อมูลทั้งเว็บมาหาอะไร
ที่ผมเก็บไว้ เป็นจดหมายเหตุตาม พรบ. นี้
ผมจะไม่สามารถนำมันไปทำอะไรได้เลยนอกจากปิดเว็บ
ไม่งั้นมีความผิดทั้งๆ ที่เป็นผลงานของผม
หรือผลงานของคนอื่นแต่ผมรวบรวม
เพื่อให้ลูกหลานได้อ่านในภายหลัง
จะถูกกำจัดหมดจะไม่สามารถแจกให้ใครได้เลย
เพราะจะมีความผิดพรบ.นี้

พูดมาถึงตรงนี้ไม่ทราบว่าทั้ง ครม.
ที่ผ่าน พรบ. ออกมาแบบชุยๆ แบบนี้
จะพอเข้าใจยังว่าเวลาโดนวางยานี่
บางทีก็ไม่รู้ตัว ว่ามันเป็นยังไง
เคยเตือนแล้วว่าการผ่านกฏหมายในแต่ละฉบับ
ให้นึกถึงอนาคตที่พวกคุณไม่มีโอกาสได้เป็นผู้มีอำนาจ
เอาไว้ให้มากๆ ที่สุด รวมไปถึงกำลังโดนรังแก
จากผู้มีอำนาจฝ่ายตรงข้ามให้มากที่สุด
ไม่ใช่เฉพาะคุณแต่เป็นลูกหลานคุณ
เพื่อนร่วมอุดมการณ์หรือประชาชนคนทั่วไป
จะโดนเล่นงานง่ายๆ จากการผ่านมติครม. แบบมักง่ายเช่นนี้

ก่อนจะออก พรบ. หรือกฏหมายอะไร
สมควรอย่างยิ่งที่จะประกาศให้ประชาชนทราบล่วงหน้าก่อน
เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ได้วิพากวิจารณ์ในวงกว้างๆ ก่อน
ยิ่งมีการวิจารณ์ถึงข้อดีข้อเสียกันมากๆ เท่าไหร่
ความรอบคอบก็จะเกิดขึ้นตามมามากเท่านั้น

ไม่ใช่ให้ รมต. กระทรวงไหนก็ได้ยัดเรื่องมา
แล้วผ่านมาแบบมุบมิบแบบที่ทำกันอยู่
อย่างน้อยควรมีคณะกรรมการกลั่นกรองทุกเรื่อง
ก่อนเข้า ครม. ซึ่งก็เห็นมี
แต่ทำไมยังปล่อยให้เรื่องพวกนี้หลุดมาได้
พิจารณากันแบบซื่อๆ เดี๋ยวก็โดนการเมืองเล่นจนได้
ควรคิดข้อเสียจับผิดให้เยอะๆ ข้อดีไม่ต้องไปคิดมาก
เพราะจะโดนวางยาเลื่อยขาเก้าอี้
หรือเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายตรงข้าม
มาเล่นงานพวกตนโดยไม่รู้ตัวแบบกรณีนี้
กรณีความไม่รอบคอบในการออกกฏหมาย
ผมเคยวิจารณ์เรื่อง พรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน
ที่ออกสมัยทักษิณนั่นแหล่ะ
ไปเชื่อว่าให้อำนาจทหารมากๆ แล้วจะดี
สุดท้ายพวกที่ถูกกระทำด้วย พรก. นี้มากที่สุด
ก็คือพรรคพวกคุณ พรรคพวกอื่นเขาแกล้งไม่ทำตาม
เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ก็เห็นๆ อยู่
นี่ไม่รู้ว่ามี พรบ. อะไรอีกที่ออกกันมาลักษณะนี้
ที่จะทำให้เป็นตราบาปของคนออกในอนาคตได้
ไม่ใช่ออกกันง่ายๆ สนุกๆ ไปวันๆ
เพราะเวลามันไปส่งผลอะไรที่เลวในอนาคตแล้ว
คนออกจะหนีความรับผิดชอบไม่ได้เลย
โดยเฉพาะคนลงนามรับผิดชอบรวมทั้งครม. ชุดนั้นด้วย

นี่แค่หนังตัวอย่าง เดี๋ยวจะโดนเขายัดไส้เข้ามาอีกเพียบ
นี่เป็นการยืมมือพวกเดียวกันเชือดพวกเดียวกัน
ในขณะที่คนพวกเดียวกันดีใจนึกว่าชนะ
มีอำนาจฝ่ายตรงข้ามจะมาล้มไม่ได้ง่ายๆ
เขาไม่ต้องล้มแล้ว เขาหาเรื่องเพิ่มอำนาจ
หรือทำให้พวกเขาได้ประโยชน์ผ่านมติ ครม.
ง่ายๆ แบบนี้ไม่ดีกว่าหรือ เนียนด้วย
คนที่ถูกด่าก็พวกเดียวกันอีกด้วย
ไม่ต้องออกแรงอะไรมากแค่ใช้ความชำนาญทางกฏหมาย
เขียนซุกซ่อนวกวนแล้วใช้เล่ห์กลเป่าหูให้หลงรับรองตาม
แล้วคิดหรือว่า ไปสั่งการข้าราชการได้ทุกคน
ทุกวันนี้จะตั้ง ผบ.ตร. ยังไม่ได้ง่ายๆ เลย
ไม่ต้องพูดถึงอนาคตที่หมดอำนาจ
กว่าจะรู้สึกตัวก็อาจจะสายไปเสียแล้ว

สุดท้ายนี้ถ้าอนาคตจะมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์
ของการต่อ
สู้ทั้งหมดของคนเสื้อแดง
ร่วมไปถึงขบวนการต่อสู้เพื่
อประชาธิปไตยในอนาคต
ผมยกให้เป็นความดีความชอบผล
งานชิ้นโบแดง
ของ พรบ.จดหมายเหตุฯ ฉบับนี้

<<< เอกสารหลักฐานการต่อสู้ของเสื้อแดงมีโอกาสถูกทำลาย โดยการประกาศให้เป็นจดหมายเหตุ แล้วห้ามเผยแพร่ครอบครอง และถูกทำลายให้หายสาบสูญในที่สุด >>>
http://maha-arai.blogspot.com/2011/09/blog-post_21.html

<<< ประเทศอื่นก็มีกฏหมายแบบนี้ แล้วประเทศอื่นมีมือที่มองไม่เห็น กับยุติธรรมตามสั่งหรือเปล่า >>>
http://maha-arai.blogspot.com/2011/09/blog-post_7059.html

โดย มาหาอะไร
FfF