บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


22 กันยายน 2554

<<< กระบวนการตรากฎหมาย >>>

กระบวนการตรากฎหมาย
ผู้เรียบเรียง นางสาวตวงรัตน์ เลาหัตถพงษ์ภูริ
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง

เนื้อหา

[ซ่อน]

ความหมาย

กฎหมายโดย ทั่วไป หมายถึง หลักเกณฑ์หรือสิ่งใดก็ตามที่ออกมาเพื่อกำหนดหรือบังคับให้คนทั้งหลายต้องยึด ถือและต้องปฎิบัติตาม ไม่ว่าจะออกมาโดยผู้มีอำนาจในชั้นใด หลักเกณฑ์หรือสิ่งเหล่านั้น คือกฎหมายที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม [1]
กฎหมายตามความหมายของรัฐธรรมนูญ หมายถึง เฉพาะรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎมณเฑียรบาล พระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และพระราชกำหนด[2]

กระบวนการตรากฎหมาย

ในที่นี้หมายถึงกระบวนการหรือวิธีการในการออกกฎหมายซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ และพระราชกำหนด[3]

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับกฎเกณฑ์การปกครองประเทศที่แยกมาบัญญัติรายละเอียดต่างหากออกไปจากรัฐธรรมนูญเพื่อ ขยายบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น มีกระบวนการตราและพิจารณาเหมือนกับการตราพระราชบัญญัติ แต่มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากพระราชบัญญัติคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น รัฐสภาจะตราขึ้นได้เฉพาะในกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ตราขึ้นและกำหนด เนื้อหาสาระสำคัญไว้ อันเป็นการผูกพันให้รัฐสภาจะต้องตรากฎหมายให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับหลักการ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้น[4] รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้ตราในรูปแบบของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีอยู่ 9 ฉบับด้วยกัน ได้แก่
(1) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
(2) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(3) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
(4) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
(5) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
(6) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(7) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน
(8) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(9) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
ผู้มีอำนาจเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจะเสนอได้ก็แต่โดย
(1) คณะรัฐมนตรี
(2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือ
(3) ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา หรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งประธานศาลและประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น
กระบวนการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีกระบวนการตราและพิจารณาเหมือนกับการตราพระราชบัญญัติทั่วไป คือ ต้องเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรก่อน เมื่อสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้วต้องส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป ซึ่งการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา กำหนดเป็นสามวาระ ดังนี้
วาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการ สภาจะพิจารณาและลงมติว่าจะรับหลักการไว้พิจารณาต่อไปหรือไม่ การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่นั้นให้ถือเสียงข้างมากของแต่ละสภา
วาระที่สอง เป็นการพิจารณาเรียงตามลำดับมาตรา การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองให้ถือเสียงข้างมากของแต่ละสภา
วาระที่สาม ขั้นลงมติเห็นขอบหรือไม่เห็นชอบ ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา
ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้ดำเนินกระบวนการพิจารณาเช่นเดียวกับการพิจารณาร่างพระราช บัญญัติ

การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
การตรวจสอบว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นขัดหรือแย้งกับรัฐ ธรรมนูญหรือไม่ สามารถดำเนินการได้ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแล้ว ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อนซึ่งต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐ ธรรมนูญใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้น เป็นอันตกไป และให้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นกลับคืนสภาผุ้แทนราษฎรและ วุฒิสภาเพื่อพิจารณาตามลำดับให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาพิจารณาแก้ไขเพิ่ม เติมเพื่อมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญโดยมติในการแก้ไขเพิ่มเติมให้ใช้ คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา
ในกรณีที่วินิจฉัยว่าข้อความดังกล่าวในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นสาระสำคัญ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญ ให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป

พระราชบัญญัติ

เป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ตรา ขึ้นโดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ในการตราพระราชบัญญัตินั้น โดยทั่วไปสามารถกำหนดเรื่องต่าง ๆ ตามหลักการที่ประสงค์จะให้มีผลบังคับในสังคมได้ทุกเรื่อง มีข้อจำกัดเพียงแต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือหลักกฎหมายอื่น
ร่างพระราชบัญญัติ มี 2 ประเภท คือ ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินและร่างพระราชบัญญัติทั่วไปที่ไม่เกี่ยวด้วยการเงิน
ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน หมายความถึงร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเรื่องใด เรื่องหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) การตั้งขึ้น ยกเลิก ลด เปลี่ยนแปลง แก้ไข ผ่อนหรือวางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับภาษีหรืออากร
(2) การจัดสรร รับ รักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการโอนงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน
(3) การกู้เงิน การค้ำประกัน การใช้เงินกู้ หรือการดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินของรัฐ
(4) เงินตรา
ในกรณีที่เป็นที่สงสัยว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินที่จะต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ให้เป็นอำนาจของที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะเป็นผู้วินิจฉัย
ผู้มีอำนาจเสนอร่างพระราชบัญญัติ
การเสนอร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้แต่โดย
(2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคน
(3) ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดองค์กรและกฎหมายที่ประธานศาลและประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการ หรือ
(4) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา โดยกฎหมายที่จะเสนอให้รัฐสภาพิจารณานั้นต้องจัดทำในรูปแบบร่างพระราชบัญญัติ ซึ่งต้องมีหลักการเกี่ยวกับเรื่องที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย หรือหมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเท่านั้น
ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต้องมีบันทึก วิเคราะห์ สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติเสนอมาพร้อมกับร่างพระราชบัญญัติด้วย นอกจากนี้ต้องเปิดเผยร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อรัฐสภาให้ประชาชนทราบและ สามารถเข้าถึงข้อมูลรายละเอียดได้โดยสะดวก
กระบวนการตราพระราชบัญญัติ
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจะต้องเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อน โดยมีกระบวนการตราพระราชบัญญัติในรัฐสภาต่อไปนี้
1. การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร การพิจารณาได้กำหนดเป็นสามวาระดังนี้
วาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการ
ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่หนึ่ง สภาจะพิจารณาและลงมติว่าจะรับหลักการไว้พิจารณาต่อไปหรือไม่ โดยผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนั้นจะชี้แจงหลักการและเหตุผลประกอบการเสนอ ของร่างพระราชบัญญัติ เมื่อผู้เสนอชี้แจงแล้วก็ให้สมาชิกอภิปรายได้ไม่ว่าจะอภิปรายค้านหรือสนับ สนุน หรือการถามข้อสงสัย หรือการตั้งข้อสังเกต ประธานสภาจะเปิดโอกาสให้ผู้เสนอร่างตอบชี้แจงตามที่มีผู้ตั้งคำถามหรือให้ ข้อสังเกต เมื่อจบการอภิปรายแล้ว ผู้เสนอประธานสภาจะขอมติจากที่ประชุมว่าจะรับหลักการแห่งพระราชบัญญัติฉบับ นี้หรือไม่ แต่ในบางกรณีที่ประชุมจะลงมติให้ส่งคณะกรรมาธิการพิจารณาหลักการแห่งร่างพระ ราชบัญญัตินั้นก่อนก็ได้เพื่อประโยชน์ในการพิจารณา เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วก็จะทำรายงานเสนอต่อสภาเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภา ต่อไป
ถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัติที่สมาชิกเป็นผู้เสนอ คณะรัฐมนตรีอาจขอรับร่างไปพิจารณาก่อนรับหลักการก็ได้ ซึ่งเป็นเอกสิทธิของคณะรัฐมนตรี เมื่อครบกำหนดเวลาการรอการพิจารณาแล้ว ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็จะสั่งบรรจุเข้าระเบียบวาระเพื่อพิจารณาต่อไป
เมื่อขอมติจากที่ประชุมสภาว่าจะรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้นหรือไม่ ถ้าที่ประชุมมีมติไม่รับหลักการ ร่างพระราชบัญญัตินั้นก็ตกไป ถ้าที่ประชุมมีมติรับหลักการก็จะเข้าสู่การพิจารณาในลำดับต่อไป เป็นวาระที่สอง
วาระที่สอง
การพิจารณาในวาระที่สองเป็นการพิจารณาในรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติ มีสองลักษณะ คือ สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ดำเนินการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยคณะกรรมาธิการ เต็มสภา หรือมีมติแต่งตั้งและมอบหมายให้คณะกรรมาธิการคณะใดคณะหนึ่งเป็นผู้พิจารณา ดังนี้
- การพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการเต็มสภา ถือว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราช บัญญัตินั้น ซึ่งจะใช้สำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่มีความจำเป็นรีบด่วนที่จะ ต้องออกใช้บังคับหรือเป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่มีรายละเอียดไม่มาก หรือไม่ยาวนักและไม่ยากในการพิจารณา โดยเป็นการพิจารณาครั้งเดียวสามวาระ ไม่มีขั้นตอนการยื่นคำขอแปรญัตติ มีผลเป็นทั้งการพิจารณาเป็นรายมาตราในชั้นกรรมาธิการและเป็นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่สองคราวเดียวกัน
- การพิจารณาโดยกรรมาธิการที่สภาแต่งตั้ง อาจเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ หรือคณะกรรมาธิการวิสามัญก็ได้
หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมาธิการในคณะ กรรมาธิการชุดนั้นเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติก็ให้เสนอคำขอ “แปรญัตติ” ต่อประธานคณะกรรมาธิการที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นภายใน 7 วัน เมื่อคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว จะทำรายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการเสนอต่อสภา โดยแสดงร่างเดิมและการแก้ไขเพิ่มเติม คำแปรญัตติ การสงวนคำแปรญัตติ หรือมีการสงวนความเห็นของกรรมาธิการ ถ้ามีข้อสังเกตที่ควรเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีก็ให้บันทึกไว้ในรายงานของคณะกรรมาธิการเพื่อให้สภาพิจารณา ประธานสภาจะจัดเข้าระเบียบวาระเป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วให้สภาพิจารณาเริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ แล้วพิจารณาเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง โดยให้สมาชิกอภิปรายได้เฉพาะแต่ถ้อยคำหรือข้อความที่มีการแก้ไข หรือที่ผู้แปรญัตติได้สงวนคำแปรญัตติไว้ หรือที่กรรมาธิการสงวนความเห็นไว้เท่านั้น เว้นแต่ที่ประชุมจะได้มีมติเป็นอย่างอื่น
วาระที่สาม ขั้นลงมติเห็นชอบให้ส่งต่อไปยังวุฒิสภา
การพิจารณาในวาระที่สามไม่มีการอภิปรายใด ๆ ทั้งสิ้น และจะแก้ไขข้อความอย่างใดมิได้ด้วย ถ้ามีมติเห็นชอบประธานสภาผู้แทนราษฎรก็จะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป แต่ถ้าไม่เห็นชอบร่างนั้นก็เป็นอันตกไป
2. การพิจารณาในวุฒิสภา
การพิจารณาให้กระทำเป็นสามวาระเช่นเดียวกับการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแต่ จะต้องพิจารณาตามกำหนดเวลา กล่าวคือถ้าเป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั่วไปต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายในหกสิบวัน แต่ถ้าเป็นร่างเกี่ยวด้วยการเงินต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน เว้นแต่วุฒิสภาจะได้ลงมติขยายเวลาออกไปเป็นกรณีพิเศษไม่เกินสามสิบวัน ซึ่งหากวุฒิสภาพิจารณาไม่เสร็จทันตามกำหนดเวลาถือว่าวุฒิสภาได้ให้ความเห็น ชอบ
การพิจารณาของวุฒิสภาจะเป็นการลงมติว่าเห็นด้วยกับสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ โดยอาจลงมติได้สามกรณี คือ
1. เห็นชอบด้วย ให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
2. ไม่เห็นชอบด้วย เป็นการที่วุฒิสภายับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อนและส่งกลับคือไปยังสภาผู้แทนราษฎร
3. แก้ไขเพิ่มเติม แล้วดำเนินการแจ้งให้สภาผู้แทนราษฎรทราบเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้น
ในกรณีที่วุฒิสภาลงมติไม่เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎรจะส่งร่างพระราช บัญญัติคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรอาจยกร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นพิจารณาใหม่ได้เมื่อเวลา หนึ่งร้อยแปดสิบวัน ได้ล่วงพ้นไปแล้ว และถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างเดิมด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของ จำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว แต่สำหรับกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภายับยั้งไว้นั้นเป็นร่างพระราช บัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน สภาผู้แทนราษฎรอาจยกร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันทีหลังจาก ที่วุฒิสภามีมติไม่เห็นชอบด้วย ซึ่งหากสภาผู้แทนราษฎรยังคงยืนยันด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน สมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรแล้วก็ให้ถือว่าร่างพระราช บัญญัตินั้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว
ถ้าวุฒิสภามีมติแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่วม กันพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้น โดยกรรมาธิการของแต่ละสภาจะมีจำนวนเท่ากันตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนดและมี อำนาจที่จะเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติตามมติของวุฒิสภาหรือร่างพระราช บัญญัติตามมติของสภาผู้แทนราษฎร หรืออาจจะมีความเห็นเป็นอย่างอื่นก็ได้ เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วก็จะรายงานและเสนอร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการ ได้พิจารณาร่วมกันเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ถ้าสภาทั้งสองเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกัน พิจารณาแล้วให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาให้ นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ต่อไป แต่ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อน เมื่อพ้นกำหนดเวลา 180 วัน นับแต่วันที่สภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วยแล้ว สภาผู้แทนราษฎรก็อาจยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ และถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างเดิม หรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของ จำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาแล้ว ก็ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้วให้ส่งร่าง พระราชบัญญัติไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป
การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชบัญญัติ
1. การตรวจสอบก่อนที่พระราชบัญญัติจะใช้บังคับ [5]
ร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย หรือร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาลงมติยืนยันและก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้งหนึ่งนั้น ถ้า
(1) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสอง สภาเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือกระบวนการตรากฎหมายไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยและแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า
(2) นายกรัฐมนตรีเห็น ว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้หรือ กระบวนการตรากฎหมายไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้ส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาทราบโดยไม่ชักช้า
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญนี้หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญ ให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไปทั้งฉบับ
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญนี้แต่ไม่เป็นสาระสำคัญ ให้เฉพาะข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นเป็นอันตกไป ร่างพระราชบัญญัติฉบับนั้นยังสามารถประกาศใช้บังคับได้
2. การตรวจสอบภายหลังที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ[6]
กรณีที่พระราชบัญญัติได้ประกาศใช้บังคับแล้ว หากต่อมาปรากฎว่าบทบัญญัติของกฎหมายนั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ 4 กรณี คือ
1. การตรวจสอบว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องเป็นกรณีที่มีคดีเกิดขึ้นในศาลก่อน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลทหาร หรือศาลอื่น และไม่ว่าคดีจะอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลใดก็ตาม หากศาลเห็นเองหรือคู่ความในคดีนั้นโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะ ใช้บังคับแก่คดีนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาล รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติ แห่งกฎหมายนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
2. การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้เสนอ เป็นกรณีที่มีผู้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินก่อน เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีผลกระทบ ต่อความเสียหายของประชาชนส่วนรวม หรือเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจพิจารณาและเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้โดยไม่จำเป็น ต้องมีการร้องเรียน
3. การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้เสนอ ในกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นตามที่มีผู้ร้องเรียนว่าบท บัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐ ธรรมนูญ ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอเรื่องพร้อมด้วย ความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
4. การตรวจสอบคำร้องของบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีที่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว

พระราชกำหนด

เป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรง ตราขึ้นโดยมีฝ่ายบริหารเป็นผู้ออก มีศักดิ์เทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ แต่จะมีผลใช้บังคับได้ไปพลางก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะเสนอให้รัฐสภา พิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่ ถ้ารัฐสภาอนุมัติจะมีผลเป็นกฎหมายถาวรในระดับพระราชบัญญัติ แต่ถ้ารัฐสภาไม่อนุมัติก็จะตกไป การออกพระราชกำหนดนั้นจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ มี 2 กรณี คือ
กรณีแรก เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะ หลีกเลี่ยงได้ เพื่อที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ซึ่งในกรณีนี้จะต้องนำพระราชกำหนดเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้า หากอยู่นอกสมัยประชุมคณะรัฐมนตรีก็จะต้องดำเนินการให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาพระราชกำหนดนั้นโดยเร็ว
กรณีที่สอง เมื่อมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตราในระหว่างสมัยประชุม ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน ซึ่งในกรณีนี้จะต้องนำพระราชกำหนดเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายในสามวัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
กระบวนการตราพระราชกำหนด
โดยเหตุที่พระราชกำหนดนั้นมีฐานะเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติจึงต้อง ผ่านกระบวนการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐสภาเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากพระราชกำหนดนั้นเป็นกฎหมายพิเศษที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจฝ่าย บริหารตราขึ้นใช้บังคับโดยยังไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณากฎหมายตามขั้นตอน ปกติ เพียงแต่ว่าเมื่อมีการตราพระราชกำหนดขึ้นแล้ว รัฐบาลมีหน้าที่ต้องนำพระราชกำหนดนั้นเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาทันทีในโอกาสแรกที่มีการประชุมสภา เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาให้ความเห็นชอบเพื่อให้มีผลบังคับเป็นการ ถาวร ซึ่งในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภานั้นจะไม่มีการพิจารณาแก้ไข ถ้อยคำในรายละเอียดดังเช่นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ แต่จะอภิปรายเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แล้วจะลงมติว่าเห็นชอบให้ใช้เป็นกฎหมายต่อไปหรือไม่เท่านั้น[7]
การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกำหนด ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาจะได้อนุมัติพระราชกำหนด หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของ จำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภาเห็นว่าพระราชกำหนดนั้นไม่ได้ ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ก็สามารถใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกให้ ส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดนั้นไม่ได้ตราขึ้นเพื่อ ประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ให้พระราชกำหนดนั้นไม่มีผลใช้บังคับมาแต่ต้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด
การอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด ให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในกรณีไม่อนุมัติให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
กฎหมายที่ออกมาใช้บังคับกับประชาชนได้นั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา คือทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต้องให้ความเห็นชอบก่อนจึงจะนำมาใช้บังคับ กับประชาชนได้ รัฐธรรมนูญจึงได้ให้รัฐสภาซึ่งมาจากตัวแทนของประชาชน ดำเนินกระบวนการตรากฎหมายตั้งแต่การเสนอ การพิจารณาจนกระทั่งประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ได้กฎหมายที่ก่อประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

อ้างอิง

  1. สถาบันพระปกเกล้า, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย กระบวนการตรากฎหมาย. (กรุงเทพมหานคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2544), หน้า 2.
  2. สถาบันพระปกเกล้า, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย กระบวนการตรากฎหมาย. (กรุงเทพมหานคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2544), หน้า 2.
  3. สถาบันพระปกเกล้า, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย กระบวนการตรากฎหมาย. (กรุงเทพมหานคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2544), หน้า 3.
  4. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กองยกร่างกฎหมาย “กระบวนการนิติบัญญัติ.” วารสารกฎหมายปกครอง 20, 1 (2544) : หน้า 3.
  5. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, 10 ปีศาลรัฐธรรมนูญไทย : สู่ทศวรรษใหม่ของนิติรัฐไทย. (กรุงเทพมหานคร : พีเพรส, 2551), หน้า 49-50.
  6. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, 10 ปีศาลรัฐธรรมนูญไทย : สู่ทศวรรษใหม่ของนิติรัฐไทย. (กรุงเทพมหานคร : พีเพรส, 2551), หน้า 51-54.
  7. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กองยกร่างกฎหมาย “กระบวนการนิติบัญญัติ.” วารสารกฎหมายปกครอง 20, 1 (2544) : หน้า 12.

บรรณานุกรม

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กองยกร่างกฎหมาย. “กระบวนการนิติบัญญัติ.” วารสารกฎหมายปกครอง, 20, 1 (2544) หน้า 3-12.
มานิตย์ จุมปา. ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540. กรุงเทพมหานคร : พี.เจ.เพลท โปรเซสเซอร์, 2541.
สถาบันพระปกเกล้า. สารานุกรมรัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย กระบวนการตรากฎหมาย. กรุงเทพมหานคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2544.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักประชาสัมพันธ์. ข้อบังคับการประชุม. กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2551.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักประชาสัมพันธ์. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย. กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550.
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. ความรู้เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพมหานคร : พีเพรส, 2550.
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. 10 ปีศาลรัฐธรรมนูญไทย : สู่ทศวรรษใหม่ของนิติรัฐไทย. กรุงเทพมหานคร : พี เพรส, 2551.

ดูเพิ่มเติม

มนตรี รูปสุวรรณ. บทวิเคราะห์ทางวิชาการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เล่ม 2. สนับสนุนโดยมูลนิธิคอนราดอาเดนาวร์. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์เดือนตุลา, 2551.
วิษณุ เครืองาม. กฎหมายรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์แสวงสุทธิการพิมพ์, 2530.
http://thaipoliticsgovernment.org/wiki/กระบวนการตรากฎหมาย
------------------------------------------------
กระบวนการนิติบัญญัติไทย
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 เป็นระบอบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้น รัฐสภาได้กลายเป็นสถาบันที่รวบรวมเอาเจตจำนงสูงสุดของประชาชนและเป็นผู้ใช้ อำนาจนิติบัญญัติ (legislature) ทำหน้าที่บัญญัติกฎหมายและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล องค์กรนิติบัญญัติอาจมีได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบสภาเดียว (unicameral system) และแบบสองสภา (bicameral system) ระบบของไทยในปัจจุบันตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 (ฉบับแก้ไข) มีสองสภา คือสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งจำนวน 500 คน และวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งและจากการสรรหา รวม 150 คน โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา
พระราชบัญญัติเป็นกฎหมายซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้น โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ผู้มีอำนาจในการเสนอร่างพระราชบัญญัติมีด้วยกันทั้งสิ้น 4 ฝ่าย ได้แก่
  • คณะรัฐมนตรี
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน
  • ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
  • ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อกัน เพื่อเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพและแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
การเสนอร่างพระราชบัญญัติของคณะรัฐมนตรี เริ่มตั้งแต่กระบวนจัดทำร่างพระราชบัญญัติจากส่วนราชการ กระทรวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนั้นๆ เป็นผู้จัดทำ โดยหน่วยราชการอาจใช้ข้าราชการหรือนิติกรภายในหน่วยงานเป็นผู้ร่าง หรืออาจว่าจ้างนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญให้จัดทำโครงการศึกษาวิจัยและมอบ หมายให้ผู้วิจัยทำหน้าที่ยกร่างกฎหมายขึ้นด้วยก็ได้
หรือในบางกรณีฝ่ายการเมืองอาจเป็นผู้ริเริ่มให้มีร่างพระราชบัญญัติใหม่ หรือร่างพระราชบัญญัติที่แก้ไขกฎหมายเดิม เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ร่างกฎหมายเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องในทางนโยบายการบริหารประเทศ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการของร่างพระราชบัญญัติแล้ว ก็จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางด้านการร่างกฎหมายของรัฐบาลเป็นผู้ตรวจพิจารณา คณะกรรมการกฤษฎีกาแบ่งแยกออกเป็นกรรมการร่างกฎหมายต่างๆ จำนวน 12 คณะ แต่ละคณะประกอบด้วยกรรมการร่างกฎหมายจำนวนประมาณ 9 คน การประชุมแบ่งออกเป็น 3 วาระ ได้แก่
  • วาระที่ 1 การพิจารณาหลักการทั่วไปและสาระสำคัญของกฎหมาย
  • วาระที่ 2 เป็นการตรวจพิจารณารายมาตรา โดยจะเป็นการตรวจพิจารณาทั้งในแง่เนื้อหากฎหมาย (content) แบบของกฎหมาย (format) รวมถึงถ้อยคำที่ใช้
  • วาระที่ 3 เป็นการตรวจพิจารณาความสมบูรณ์ของร่างพระราชบัญญัติทั้งฉบับ
เมื่อพิจารณาเสร็จแล้ว สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะส่งร่างกฎหมายกลับไปที่สำนักเลขาธิการคณะ รัฐมนตรีเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอีก ครั้งหนึ่ง ถ้าร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการตรวจพิจารณานั้นมีการแก้ไขเล็กน้อยหรือเป็น การแก้ไขตามแบบการร่างกฎหมายสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะเสนอร่างพระราช บัญญัตินั้นต่อคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) และสภาผู้แทนราษฎรต่อไปตามลำดับในระเบียบวาระ ยกเว้นในกรณีที่คณะรัฐมนตรีร้องขอไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ สภาพิจารณาร่างกฎหมายนั้นเป็นเรื่องด่วนซึ่งจะได้รับการพิจารณาก่อน การพิจารณาจะแบ่งเป็น 3 วาระตามลำดับ ได้แก่

วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ

ในวาระที่ 1 จะเป็นการพิจารณาว่าจะรับหลักการแห่งร่างกฎหมายนั้นหรือไม่ โดยให้ผู้เสนอร่างกฎหมายอภิปรายชี้แจงหลักการและเหตุผลต่อสภาผู้แทนราษฎร กรณีเป็นร่างพระราชบัญญัติของคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงซึ่งรับผิดชอบร่างพระราชบัญญัติจะเป็นผู้เสนอร่างพระ ราชบัญญัติในนามคณะรัฐมนตรี จากนั้นจึงเปิดให้มีการอภิปรายคัดค้านหรือสนับสนุนโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อการอภิปรายสิ้นลงสุดแล้วที่ประชุมจะลงมติว่าจะรับหลักการแห่งร่าง กฎหมายฉบับนั้นหรือไม่ ถ้าที่ประชุมมติรับหลักการก็จะเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 แต่ถ้าไม่รับหลักการ ร่างกฎหมายนั้นก็เป็นอันตกไป

วาระที่ 2 ขั้นการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการและการพิจารณารายมาตรา

การพิจารณาในวาระที่ 2 สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ขั้นตอน คือ การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ และการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว
ในขั้นตอนแรก คือการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการ โดยมากจะเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและ บุคคลภายนอกก็ได้ กรรมาธิการแต่ละคนอาจเพิ่มมาตราขึ้นใหมหรือตัดทอนหรือแกไขมาตราเดิมได แตตองไมขัดกับหลักการแห่งรางพระราชบัญญัตินั้น หากที่ประชุมคณะกรรมาธิการนั้นเห็นด้วยก็จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมไป ตามนั้น แต่ถ้าคณะกรรมาธิการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และกรรมาธิการผู้นั้นยืนยันที่จะขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติม กรรมาธิการผู้นั้นก็มีสิทธิ “ขอสงวนความเห็น” ของตนไว้เพื่ออภิปรายในที่ประชุมสภาให้ที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด เมื่อคณะกรรมาธิการได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นโดยแสดงร่างเดิมและร่างที่แก้ไขเพิ่มเติม พร้อมทั้งรายงานต่อประธานสภา
ขั้นตอนที่สอง คือการพิจารณารายมาตราในที่ประชุมใหญ่ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นอีกครั้ง ในการพิจารณานี้จะเป็นการพิจารณารายมาตราไปจนจบ ถ้ามีมาตราใดแก้ไขเพิ่มเติม หรือมีผู้สงวนคำแปรญัตติ หรือกรรมาธิการสงวนความเห็นไว้ ก็จะหยุดการพิจารณาไว้ก่อน และเปิดโอกาสให้สมาชิกได้อภิปรายเฉพาะในมาตรานั้นๆเท่านั้น หลังจากนั้นสภาจะพิจารณาทั้งร่างเป็นการสรุปอีกครั้งหนึ่ง

วาระที่ 3 ขั้นลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมาย

ในขั้นตอนนี้ที่ประชุมสภาจะลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมาย โดยจะไม่มีการอภิปรายใดๆ อีก หากลงมติเห็นชอบก็จะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป แต่ถ้าผลการลงมติไม่เห็นชอบร่างกฎหมายก็จะตกไป
ในลำดับถัดมา สภาผู้แทนราษฎรจะเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อวุฒิสภา วุฒิสภาจะมีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองร่างกฎหมายอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง หนึ่ง เมื่อวุฒิสภาได้รับร่างนั้นแล้ว ก็จะดำเนินการโดยการแบ่งเป็น 3 วาระเช่นเดียวกับการพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ วาระที่ 1 ขั้นพิจารณารับหลักการ วาระที่ 2 ขั้นการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการที่วุฒิสภาตั้งหรือคณะกรรมาธิการเต็มสภา (พิจารณารายมาตรา) วาระที่ 3 ขั้นลงมติ โดยที่วุฒิสภาต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอมาให้เสร็จภายใน 60 วัน แต่ถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวด้วยการเงินต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน เว้นแต่วุฒิสภาได้ลงมติขยายเวลาออกไปเป็นกรณีพิเศษซึ่งต้องไม่เกิน 30 วัน ถ้าวุฒิสภาพิจารณาไม่เสร็จภายในกำหนดเวลา ให้ถือร่างพระราชบัญญัตินั้นผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา
ผลการลงมติในวาระที่ 3 ของวุฒิสภามี 3 กรณีดังนี้
  1. ในกรณีที่เห็นชอบโดยไม่มีการแก้ไข ให้ถือได้ว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
  2. ในกรณีที่ไม่เห็นชอบ ต้องยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อน แล้วส่งร่างคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎร จนกระทั่งครบ 180 วัน สภาผู้แทนราษฎรจึงจะสามารถนำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง
  3. ในกรณีที่วุฒิสภาให้มีการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ วุฒิสภาต้องส่งร่างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร เมื่อสภาผู้แทนราษฎรรับทราบและเห็นชอบด้วยก็ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ทันที แต่ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบ ให้ทั้งสองสภาตั้งบุคคลที่มีจำนวนเท่ากันขึ้นเป็น “คณะกรรมาธิการร่วมกัน” เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นอีกครั้ง โดยต้องรายงานและเสนอร่างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วต่อทั้งสองสภา ถ้าสภาทั้งสองเห็นด้วยกับเห็นชอบด้วย นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯได้ทันที แต่ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วย ให้ยับยั้งร่างนั้นไว้ก่อน
ขั้นตอนสุดท้ายคือกระบวนการลงพระปรมาภิไธยโดยพระมหากษัตริย์ นายกรัฐมนตรีจะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน หลังจากที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภา หากพระมหากษัตริย์ทรงเห็นชอบและทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ หากพระมหากษัตริย์ทรงไม่เห็นชอบและทรงใช้อำนาจยับยั้ง (veto) ร่างพระราชบัญญัตินั้นจะถูกส่งคืนมายังรัฐสภาโดยไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย หรืออาจทรงเก็บร่างนั้นไว้โดยไม่พระราชทานคืนมายังรัฐสภาจนล่วงพ้นเวลา 90 วัน ในกรณีนี้รัฐสภาจะต้องประชุมร่วมกันเพื่อปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ อีกครั้งหนึ่ง หากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยและทรงพระราชทานคืนมาภายใน 30 วันให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ใช้ บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
การเสนอร่างกฎหมายโดยประชาชน
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 163 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2542 เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น โดยกำหนดให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนสามารถเข้าชื่อกันเพื่อเสนอ ร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการเกี่ยวข้องกับเรื่องที่บัญญัติในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยร่างพระราชบัญญัติที่เสนอจะต้องจัดทำมีรายละเอียดที่จำเป็น ได้แก่
  1. บันทึกหลักการและเหตุผล และบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญ
  2. มีบทบัญญัติที่แบ่งเป็นมาตราชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจความประสงค์ของการเสนอร่างกฎหมาย
  3. มีหลักเกณฑ์หรือวิธีการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย (enforcing instrument)
วิธีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายอาจกระทำได้ 2 วิธีคือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมายกันเอง หรืออาจร้องขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายก็ได้ ในกรณีที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายกันเอง ให้ยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาโดยต้องมีเอกสารดังต่อไปนี้
  1. ร่างพระราชบัญญัติที่จะนำเสนอต่อสภา
  2. แบบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ ที่อยู่ ลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายและผู้แทนการเสนอกฎหมาย พร้อมทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน
จากนั้นประธานรัฐสภาจะตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและประกาศรายชื่อผู้ เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ในขั้นตอนนี้ผู้ใดที่มีรายชื่ออยู่ในประกาศแต่มิได้ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ด้วย สามารถยื่นคำร้องต่อประธานรัฐสภาหรือบุคคลที่รัฐสภาแต่งตั้งเพื่อให้ลบชื่อ ตนเองออกได้ภายในยี่สิบวันหลังจากวันปิดประกาศ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วให้ถือว่ารายชื่อนั้นถูกต้อง และจะถอนการเข้าชื่อในภายหลังอีกมิได้ ภายหลังการตรวจสอบความถูกต้องถ้ารายชื่อยังคงเกินกว่าหนึ่งหมื่นชื่อให้ ประธานรัฐสภาดำเนินการให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อไป แต่ถ้ารายชื่อเหลือไม่ครบหนึ่งหมื่นชื่อให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้ผู้แทนการ เสนอกฎหมายทราบ เพื่อดำเนินการจัดให้มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเพิ่มเติมภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วรายชื่อยังไม่ครบหนึ่งหมื่นชื่อให้ประธาน รัฐสภาสั่งจำหน่ายเรื่อง
ในกรณีที่เป็นการเข้าชื่อโดยการจัดการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนหนึ่งร้อยคนขึ้นไปยื่นคำขอต่อประธานกรรมการการ เลือกตั้งพร้อมทั้งร่างพระราชบัญญัติที่จะเสนอให้สภาพิจารณา เพื่อขอให้ดำเนินการจัดให้มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จากนั้นประธานกรรมการการเลือกตั้งจะจัดส่งร่างพระราชบัญญัติและเอกสารที่ เกี่ยวข้องไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เพื่อดำเนินการให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดทราบว่ามีการเสนอกฎหมาย ในเรื่องใด และให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงชื่อในแบบพิมพ์การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ตามระยะเวลาและสถานที่ที่กำหนดไว้ในจังหวัดที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งที่กำหนด โดยที่กำหนดเวลาจะต้องไม่น้อยกว่า 90 วัน นับแต่วันประกาศ เมื่อครบกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดรวบรวมแบบพิมพ์การเข้า ชื่อเสนอกฎหมายส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อตรวจสอบความถูกต้องและจัด ทำบัญชีรายชื่อผู้ที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายทั้งหมด จากนั้นจึงนำส่งร่างพระราชบัญญัติและบัญชีรายชื่อต่อประธานรัฐสภา
เมื่อร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กำหนดให้มีผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราช บัญญัตินั้นเป็นผู้เสนอและชี้แจงหลักการของร่างพระราชบัญญัติต่อที่ประชุม สภาผู้แทนราษฎร และที่ประชุมวุฒิสภา และจะต้องมีผู้แทนของประชาชนฯ ที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นเข้าเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติด้วยจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด เพื่อให้ผู้เสนอร่างกฎหมายได้มีโอกาสให้ชี้แจงและแสดงเหตุผลเพื่อปกป้อง เจตนารมณ์ของร่างกฎหมาย หลังจากนั้นสภาก็จะพิจารณาร่างกฎหมายตามขั้นตอนปกติ
ช่องทางการติดตามร่างกฎหมาย
ประชาชนสามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวของร่างกฎหมายต่างๆ ได้จากหน่วยงานต่อไปนี้
นอกจากนี้ยังมีองค์กรสนับสนุนอื่นๆ อีกได้แก่

http://thailawwatch.org/legislation-in-thailand/

------------------------------------------------
FfF