เมื่อข้อมูลมีจำนวนมาก การรับรู้ก็ย่อมเกิดความสับสน ยิ่งในสถานการณ์น้ำท่วม ก็มักจะเกิดความตื่นตระหนก
ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก็คือ การที่มีข้อมูลจำนวนมากแต่จับต้นชนปลายไม่ถูก และไม่แน่ใจว่าข้อมูลไหนจะนำมาใช้ได้จริง
ในทั้งๆ ที่แต่สื่อพยายามนำเสนอเพื่อเป็นประโยชน์ แต่ก็พบปัญหาในความน่าเชื่อถือ
มากกว่านั้น เมื่อเราเจอปัญหาน้ำท่วม เราจะสามารถเอาตัวรอดได้อย่างไร
ฉะนั้นการเตรียมตัวจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ก่อนหน้านี้ หลายคนคงจะคุ้นกับคลิปวีดีโอ "รู้สู้ flood" ที่ถูกเผยแพร่ทางสังคมออนไลน์ ตั้งแต่ตอนแรก จนถึงขณะนี้ ตอนที่สี่ใกล้จะออกมาแล้ว
แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า "รู้สู้ flood" มาจากใคร ใครเป็นคนทำ และมีวัตถุประสงค์เพื่อสิ่งใด
ซึ่งจะต้องไม่ลืมว่า งานทุกอย่างย่อมมีที่มาที่ไปเสมอ
ในการนี้ "สุขพัฒน์ โล่ห์วัชรินทร์" หนึ่งในทีม "รู้สู้ flood" ให้สัมภาษณ์กับ "มติชนออนไลน์" ถึงเบื้องหลังในการทำผลงานชิ้นนี้ว่า มาจากการที่กลุ่มเพื่อนรู้สึกว่า ข้อมูลที่ได้รับมีจำนวนมาก มีหลายสื่อ หลายช่องทาง แทนที่ข้อมูลนั้นจะเป็นประโยชน์ แต่กลายเป็นโทษ เนื่องจากข้อมูลมีจำนวนมาก กระแสต่างๆ ทำให้ตื่นตระหนก หรือบิดเบือนข้อเท็จจริงบ้าง
จากการที่เรียนทางด้านนิเทศศาสตร์ สาขาการผลิตภาพยนตร์ น่าจะใช้ความรู้ตรงนี้ มาใช้กับการนำเสนอข้อมูลให้เป็นที่เข้าใจ หรือนำข้อมูลที่มีอยู่มาจัดหมวดหมู่ เพื่อให้คนดูเข้าใจกับเรื่องราวต่างๆ จากสถานการณ์น้ำท่วมเข้าใจมากขึ้น
พร้อมๆ กับ การที่สมาชิกกลุ่ม รู้จักกับทีมผลิตรายการโทรทัศน์ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ทีวีไทย) เข้ามาช่วยในการกลั่นกรองข้อมูล และเข้ามาช่วยในเรื่องของกระบวนการจัดการข้อมูลที่มีอยู่ พร้อมกับให้คำแนะนำในการผลิตชิ้นงาน
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่มาของการผลิตชิ้นงาน ของเหล่าทีมนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีที่มาจากหลายๆ ส่วนประกอบกัน
ส่วนความตั้งใจนั้น "สุขพัฒน์" บอกว่า มาจากตัวเราเองที่อยากรู้ว่า เมื่อน้ำท่วมเราควรจะทำอย่างไร หรือต้องเตรียมตัวอย่างไร หรือมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดน้ำท่วมบ้าน จากความอยากรู้ตรงนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราอยากผลิตชิ้นงานขึ้นมา อย่างน้อยก็น่าจะเป็นประโยชน์กับตัวเราและคนอื่นๆ ที่ไม่เข้าใจ หรือกำลังตื่นตระหนกกับสถานการณ์น้ำท่วม
ปัญหาก็คือว่า การที่มีข้อมูลจำนวนมาก เราจะจัดการอย่างไร โดยเฉพาะการนำเสนอนั้น เราจะนำเสนออย่างไรให้เป็นที่เข้าใจ ให้คนทั่วๆ ไปได้รู้แบบยากเกินไป เดิมทีคิดว่าจะทำเป็นหนังสั้น แต่เอาไปเอามาแล้วก็เป็นการยาก เพราะจะไม่ทันสถานการณ์ และคิดว่าชิ้นงานแต่ละชิ้นน่าจะออกมาได้ทันท่วงที หรือแม้กระทั่งความยาวของเรื่องที่นำเสนอ ต้องมานั่งถกเถียงกันว่าจะใช้ความยาวเท่าไหร่ เมื่อดูแล้วถึงจะเข้าใจได้
ต่อมาก็คือความน่าเชื่อถือ เพราะการผลิตชิ้นงานออกมานั้น แน่นอนว่า ในสถานการณ์นี้ ความน่าเชื่อถือต้องเป็นสิ่งแรกในการรับข้อมูล หากชิ้นงานของเราไม่น่าเชื่อถือ ความตั้งใจก็จะหมดไป
มากกว่านั้น เมื่อเราตกลงกันว่า จะนำเสนอในรูปแบบแอนนิเมชั่น กำลังคนในการผลิตจึงเป็นความยากลำดับต่อมา ก่อนที่จะมีการรับสมัครอาสาสมัครที่มีความสามารถในเรื่องของ อินโฟกราฟิกส์ (infographics) เข้ามาช่วยงานอีกครั้งหนึ่ง
"สิ่งที่คิดมาโดยตลอดว่า การผลิตชิ้นงานออกมาแล้ว คนดูจะต้องไม่ตื่นตระหนก มีความเป็นธรรมชาติ เน้นเข้าใจเป็นหลัก เพราะที่ผ่านมา คนที่เสพข้มูล ต่างเสพแต่เนื้อหาที่ดราม่า ดูแล้วเครียด ทั้งนี้ ต้องสามารถตอบสนองความกระหายในเรื่องของความชัดเจนให้ได้" สุขพัฒน์ กล่าว
ส่วนขั้นตอนของการทำงานจะประกอบไปด้วย การรวบรวมข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ แล้วนำมาพูดคุยกันถึงเนื้อหาที่จะนำเสนอ โดยคิดว่าเราอยากรู้อะไร และใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ใครก็ดูได้ ก่อนจะมาตกลงกันว่าจะนำเสนอในรูปแบบของแอนนิเมชั่น แบ่งเป็นกี่ตอน แต่ละตอนจะเสนออะไร แล้วลงมือผลิต และหาทีมงานที่เข้ามาช่วยกันทำงาน โดยมีทีมงานอยุประมาณ 40-50 คน สลับกันเข้ามา รวมถึงอาสาสมัครด้วย และมีตนและเพื่อนๆ อีกประมาณ 20 คน เป็นแกนหลักในการบริหารงาน
จากนั้นก็เข้าสู่การเผยแพร่ผลงานผ่านสังคมออนไลน์ (Social Media) ซึ่งการตอบรับนั้น ต้องบอกว่าเกินจากที่ตั้งเป้าหมายไว้ ทำให้มีกำลังใจในการทำงานต่อไป และอีกไม่นานจากนี้ไป ก็จะมีการเผยแพร่งานชิ้นที่ 4 เตรียมใจสู้ พร้อมอยุ่กับน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ว่า เราจะสามารถอยู่กับสถานการณ์น้ำท่วมได้อย่างไร และหลังจากนั้น ประมาณอาทิตย์หน้า ก็จะมีการเผยแพร่ชิ้นที่ 5 โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการอพยพ หรือตอบโจทย์คนที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ว่าควรจะทำอย่างไรเมื่อน้ำทะลักเข้ามาแล้ว
การที่ใช้ปลาโลมานั้น ก็ต้องการสื่อว่า น้ำปริมาณมาก ขณะเดียวกัน ปลาโลมาแม้จะเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่ทำร้ายใคร เป็นสัตว์ที่น่ารัก และเป็นมิตรกับคนดูด้วย
เช่นเดียวกับคำว่า "รู้สู้ flood" ก็น่าจะเป็นชื่อที่คิดว่าสื่อความเข้าใจได้ดี คำไม่รุนแรง สามารถรับรู้ได้ง่าย เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการคิดชื่ออื่นเหมือนกัน ก่อนจะมาลงตัวในชื่อดังกล่าว
เมื่อถามว่าจะมีการผลิตชิ้นที่ 6 อีกหรือไม่นั้น "สุขพัฒน์" บอกว่า ยังไม่แน่ ต้องขอดูสถานการณ์ก่อน แต่มีแนวโน้มว่าจะมี ส่วนจะเป็นเรื่องอะไรนั้น ต้องขอดูอีกทีก่อน แต่ความเป็นไปได้ก็คือ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการฟื้นฟูหรือการปฏิบัติหลังน้ำลด
อย่างไรก็ตาม สุขพัฒน์ อยากฝากไปถึงคนที่รับข้อมูลข่าวสารว่า "เนื่องจากมีข้อมูลจำนวนเยอะมาก ฉะนั้น ในการเชื่อข้อมูลก็ขอให้มีการพิจารณาก่อน ทั้งนี้ การที่เรามีสติก็จะผ่านไปได้ แม้กระทั่งการเตรียมตัว การเรียนรู้ในการใช้ชีวิต การปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ก็จะเป็นสิ่งที่ดี มากกว่านั้น หากใครมีแรง มีเวลาในการช่วยเหลือ ก็ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องไปตักทรายใส่กระสอบอย่างเดียว แต่เราสามารถเอาความรู้ ความถนัดที่เรามีอยู่มาช่วยเหลืออย่างอื่นได้"
โปรดติดตาม คลิปที่ 5 ในตอนต่อไปครับ ...
http://news.voicetv.co.th/thailand/22027.html
คลิปชิ้นที่ 4
คลิปชิ้นที่ 3
คลิปชิ้นที่ 2
คลิปชิ้นที่ 1
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1319963055&grpid=&catid=08&subcatid=0804
--------------------------------------------