บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


05 มกราคม 2558

<<< ร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับมาหาอะไร) >>>


ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

หมวด ๑
บททั่วไป
มาตรา ๑ ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ (ห้ามแก้ไข)
มาตรา ๒ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ห้ามแก้ไข)
มาตรา ๓ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ (ห้ามแก้ไข)
มาตรา ๔ ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นโดยรัฐสภา หากไม่สามารถวินิจฉัยโดยรัฐสภาให้ทำประชามติ
มาตรา ๕ รัฐไทยต้องยึดถือและปฏิบัติตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

หมวด ๒
พระมหากษัตริย์
มาตรา ๖ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ เป็นสัญลักษณ์แห่งรัฐและความสามัคคีของชนในรัฐ
มาตรา ๗ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย
มาตรา ๘ การสืบราชบัลลังก์นั้นให้เป็นไปตามลำดับราชวงศ์และตามกฎมนเทียรบาล
มาตรา ๙
(๑) พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง นายกรัฐมนตรี ตามที่รัฐสภาเลือก
(๒) พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง คณะบริหารตุลาการ ตามที่ประชาชนเลือก
(๓) พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง คณะบริหารทหาร รวมถึงการให้พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
(๔) พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ข้าราชการในพระองค์และสมุหราชองครักษ์ รวมถึงการให้พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
(๕) พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงคราม
(๖) พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ
(๗) พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
มาตรา ๑๐ พระราชกิจทั้งปวง พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติตามคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรีซึ่งต้องเป็นผู้รับผิดชอบในพระราชกิจเหล่านี้
(๑) พระราชกิจดังกล่าว พระมหากษัตริย์จะทรงปฏิบัติได้ก็แต่ที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐและตามที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้เท่านั้น
(๒) พระราชกิจดังกล่าวอันเกี่ยวเนื่องกับรัฐ พระมหากษัตริย์จะทรงมอบหมายให้ผู้แทนพระองค์ปฏิบัติแทนก็ได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๑๑ ในกรณีที่มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามกฎมนเทียรบาล ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีหน้าที่ปฏิบัติการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐในพระนามาภิไธยพระมหากษัตริย์ ในกรณีนี้ให้นำมาตรา ๑๐(๑) มาใช้บังคับ
มาตรา ๑๒ กิจการอันเกี่ยวเนื่องกับรัฐดังต่อไปนี้ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงปฏิบัติ โดยคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี
(๑) การประกาศใช้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตลอดจนกฎหมาย คำสั่งคณะรัฐมนตรี และสนธิสัญญา
(๒) การเรียกประชุมรัฐสภา
(๓) การยุบสภาผู้แทนราษฎร
(๔) การประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเป็นการทั่วไป
(๕) การรับรองการแต่งตั้งและการถอดถอนรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อื่นตามที่กฎหมาย บัญญัติ กับทั้งหนังสือมอบอำนาจและพระราชสาสน์ตราตั้งเอกอัครราชทูตและรัฐมนตรี
(๖) การรับรองการอภัยโทษในกรณีทั่วไปและกรณีพิเศษ การเปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา การชะลอการลงโทษ และการคืนสิทธิ
(๗) การรับรองตราสารให้สัตยาบันและเอกสารอื่นทางการทูตตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๘) การรับรองเอกอัครราชทูตและรัฐมนตรีต่างด้าว
(๙) การปฏิบัติหน้าที่ในทางพิธี
มาตรา ๑๓ บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้ บทกฎหมายที่ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วหรือถือเสมือนหนึ่งว่าได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยพลัน

หมวด ๓
รัฐสภา
มาตรา ๑๔ รัฐสภาประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ สมาชิกวุฒิสภา โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และรัฐสภาจะประชุมร่วมกันหรือแยกกัน ย่อมเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของรัฐสภา
มาตรา ๑๕ หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
มาตรา ๑๖ ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใด ๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ครบตามกำหนดแต่ไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ครบจำนวนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ภายในสามสิบวันและให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่
มาตรา ๑๗ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอำนาจตราข้อบังคับการประชุมเกี่ยวกับการเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภา รองประธานสภา เรื่องหรือกิจการอันเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการสามัญแต่ละชุด การปฏิบัติหน้าที่และองค์ประชุมของคณะกรรมาธิการ วิธีการประชุมการเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติ การเสนอญัตติการปรึกษา การอภิปราย การลงมติ การบันทึกการลงมติ การเปิดเผยการลงมติ การตั้งกระทู้ถามการเปิดอภิปรายทั่วไป การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย และการอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีอำนาจตราข้อบังคับเกี่ยวกับประมวลจริยธรรมของสมาชิกและกรรมาธิการ และกิจการอื่นเพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๑๘ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา ในกรณีที่ไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาได้ ให้ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานรัฐสภาแทนประธานรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และดำเนินกิจการของรัฐสภา ในกรณีประชุมร่วมกันให้เป็นไปตามข้อบังคับ ประธานรัฐสภาและผู้ทำหน้าที่แทนประธานรัฐสภาต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ รองประธานรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และตามที่ประธานรัฐสภามอบหมาย
มาตรา ๑๙ ผู้ใดจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในขณะเดียวกันมิได้
มาตรา ๒๐ ผู้ใดจะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สมาชิกวุฒิสภารวมเกินสามสิบปีมิได้
มาตรา ๒๑ คำพูด การอภิปราย หรือการออกเสียงลงคะแนนในสภา ย่อมไม่ถูกใช้เป็นข้อกล่าวหาให้สมาชิกของสภาทั้งสองต้องรับผิดภายนอกสภา
มาตรา ๒๒
(๑) ให้แต่ละสภาเลือกสรรประธานสภาและเจ้าหน้าที่อื่นๆ ของตน
(๒) ให้แต่ละสภามีอำนาจวางระเบียบของตนเกี่ยวกับการประชุม การดำเนินการประชุม และวินัยภายใน กับทั้งอาจลงโทษสมาชิกของตนในความผิดฐานมีพฤติกรรมขัดต่อความสงบเรียบร้อย
มาตรา ๒๓ ประชาชนมีเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง โดยประชาชนร่วมกันลงชื่อไม่น้อยกว่าหนึ่งพันคนสามารถยื่นขอจัดตั้งพรรคการเมืองได้ และต้องหาสมาชิกพรรคให้ได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน ถึงจะมีสิทธิ์ต่างๆ ตามที่รัฐธรรมมูญ และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญกำหนด
มาตรา ๒๔ ห้ามยุบพรรคการเมืองเว้นแต่กรรมการบริหารพรรคประชุมร่วมกับหัวหน้าพรรคลงมติยุบพรรค
มาตรา ๒๕ จะมีการควบรวมพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมิได้
มาตรา ๒๖ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งตามกฏหมายกำหนดซึ่งมีทั้งแบบแบ่งเขต และแบบปาร์ตี้ลิสต์ แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบปาร์ตี้ลิสต์รวมทั้งหมดต้องไม่เกินจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต
มาตรา ๒๗ ภายในสิบวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญทั่วไป และสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ วันประชุมครั้งแรกตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญทั่วไป ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนด ในกรณีที่การเริ่มประชุมครั้งแรกตามวรรคหนึ่งมีเวลาจนถึงสิ้นปีปฏิทินไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบวัน จะไม่มีการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติสำหรับปีนั้นก็ได้ สมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสมัยหนึ่งๆ ให้มีกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน หรือจะขยายเวลาออกไปก็ได้ การปิดสมัยประชุมสมัยสามัญก่อนครบกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน จะกระทำได้แต่โดยความเห็นชอบของรัฐสภา
มาตรา ๒๘ คณะรัฐมนตรีอาจพิจารณาให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญได้ และในกรณีที่ได้รับการร้องขอจากสมาชิกสภาใด ๆ ก็ดีเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภานั้น ๆ ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ก็ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา
มาตรา ๒๙
(๑) ในสภาทั้งสอง ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดมาประชุมจึงจะเป็นองค์ประชุมมีอำนาจดำเนินกิจการต่าง ๆ ได้
(๒) มติของที่ประชุมแต่ละสภาต้องกระทำโดยเสียงข้างมากของสมาชิกที่มาประชุมเว้นแต่ในกรณีที่รัฐธรรมนูญนี้บัญญัติไว้เป็นอื่น และในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๓๐
(๑) การอภิปรายในแต่ละสภาต้องเผยแพร่ต่อสาธารณชน ทั้งนี้การประชุมลับอาจกระทำได้โดยมติของสภานั้นๆ ซึ่งได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวสมาชิกทั้งหมด
(๒) บันทึกการประชุมของแต่ละสภา ให้สภานั้น ๆ มีหน้าที่เก็บรักษาไว้และเผยแพร่ต่อสาธารณชน เว้นแต่ในส่วนของบันทึกที่เกี่ยวกับการประชุมลับจะไม่เผยแพร่ก็ได้
(๓) การลงคะแนนเสียงของสมาชิกในกรณีใด ๆ ให้มีการจดไว้ในบันทึกการประชุม ก็ต่อเมื่อสมาชิกไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดร้องขอ
มาตรา ๓๑ หลักเกณฑ์และวิธีการอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีทั้งหมดหรือเฉพาะบุคคลในคณะรัฐมนตรีให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
มาตรา ๓๒ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง
มาตรา ๓๓ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ
(๑) ถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎร หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) ลาออกจากพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก หรือพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น ให้พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ลาออกหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีมติ
(๕) ขาดประชุมเกินจำนวนหนึ่งในสี่ของจำนวนวันประชุม
(๖) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรา ๓๔ การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยนายกประกาศต่อสาธารณชน และต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรต่อสาธารณชน และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร และให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาภายในสิบวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
มาตรา ๓๕ ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังมิได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่
มาตรา ๓๖ บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
(๑) มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ในวันที่ ๑ มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง และ
(๓) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งอยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาน้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง หรือมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักรย่อมมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
มาตรา ๓๗ บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์
(๓) ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย
(ก) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
(ข) เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง
มาตรา ๓๘ เมื่อตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงเพราะเหตุอื่นใดนอกจากถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎรหรือเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่เป็นตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่าง เว้นแต่อายุของสภาผู้แทนราษฎรจะเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
(๒) ในกรณีที่เป็นตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบปาร์ตี้ลิสต์ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรประกาศให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นในเขตเลือกตั้งนั้น เลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง โดยต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง เว้นแต่ไม่มีรายชื่อเหลืออยู่ในบัญชีที่จะเลื่อนขึ้นมาแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบปาร์ตี้ลิสต์ประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่
สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เข้ามาแทนตาม (๑) ให้เริ่มนับแต่วันเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ส่วนสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เข้ามาแทนตาม (๒) ให้เริ่มนับแต่วันถัดจากวันประกาศชื่อในราชกิจจานุเบกษา และให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เข้ามาแทนตำแหน่งที่ว่างนั้น อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่
มาตรา ๓๙ หัวหน้าพรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดมากที่สุดและพรรคไม่ได้ร่วมเป็นรัฐบาล ให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
มาตรา ๔๐ สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งตามกฏหมายกำหนดจังหวัดละหนึ่งคน และมาจากการสรรหาผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ด้านละหนึ่งคน รวมไม่เกินสิบห้าคน และจากตัวแทนสมาคมอาชีพต่างๆ สมาคมละหนึ่งคน รวมจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาทั้งหมดต้องไม่เกินจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้ามีสมาคมอาชีพเกินจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ให้ตัดสมาคมอาชีพที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจหรือสังคมน้อยทิ้งจนเหลือไม่เกินสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง
มาตรา ๔๑ สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาทั้งแบบเลือกตั้งและสรรหาให้เริ่มตั้งแต่วันที่มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา
มาตรา ๔๒ สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาให้สรรหาให้แล้วเสร็จก่อนวันที่มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา
มาตรา ๔๓ เมื่อวาระของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งสิ้นสุดลง ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่ทั้งแบบเลือกตั้งและแบบสรรหา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่วาระของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งสิ้นสุดลง และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
มาตรา ๔๔ สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลง เมื่อ
(๑) ถึงคราวออกตามวาระ
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) ขาดประชุมเกินจำนวนหนึ่งในสี่ของจำนวนวันประชุม
(๕) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรา ๔๕ เมื่อตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาว่างลง
(๑) ในกรณีที่เป็นตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่าง เว้นแต่อายุของวุฒิสภาจะเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
(๒) ในกรณีที่เป็นตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา ให้สมาคมอาชีพที่สมาชิกวุฒิสภาคนนั้นเป็นตัวแทนทำการสรรหาเสนอผู้มาดำรงตำแหน่งแทนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่าง เว้นแต่อายุของวุฒิสภาจะเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาผู้เข้ามาแทนตาม (๑) ให้เริ่มนับแต่วันเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ส่วนสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาผู้เข้ามาแทนตาม (๒) ให้เริ่มนับแต่วันถัดจากวันประกาศชื่อในราชกิจจานุเบกษา และให้สมาชิกวุฒิสภาผู้เข้ามาแทนตำแหน่งที่ว่างนั้น อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของวุฒิสภาที่เหลืออยู่
มาตรา ๔๖ สมาชิกวุฒิสภาจะดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี คณะบริหารตุลาการ คณะบริหารทหาร ไม่ได้
มาตรา ๔๗ ในระหว่างที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ จะมีการประชุมวุฒิสภามิได้
มาตรา ๔๘ หลักเกณฑ์และวิธีการตราพระราชบัญญัติและพระราชกำหนดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการร่างพระราชบัญญัติและพระราชกำหนด
มาตรา ๔๙
(๑) ร่างพระราชบัญญัติจะมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากสภาทั้งสอง เว้นแต่ในกรณีที่รัฐธรรมนูญนี้บัญญัติไว้เป็นอื่น
(๒) ร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้วแต่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ จะมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบเป็นครั้งที่สอง โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มาประชุม
(๓) หากวุฒิสภาไม่ดำเนินการใดๆ ภายในหกสิบวันหลังจากได้รับร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้ว สภาผู้แทนราษฎรอาจถือว่าวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งนี้เว้นแต่อยู่ในช่วงพักการประชุมวุฒิสภา
มาตรา ๕๐
(๑) ให้ส่งร่างงบประมาณแผ่นดินต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน
(๒) ในการพิจารณาร่างงบประมาณแผ่นดิน หากวุฒิสภามีความเห็นเป็นอื่นไปจากสภาผู้แทนราษฎร แม้จะได้มีคณะกรรมาธิการร่วมของสภาทั้งสองตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อการนั้นแล้วก็ดี หรือหากวุฒิสภามิได้ดำเนินการใดๆ ภายในสามสิบวันหลังจากได้รับร่างงบประมาณแผ่นดินที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ถือว่ามติของสภาผู้แทนราษฎรเป็นมติของรัฐสภา ทั้งนี้ เว้นแต่อยู่ในช่วงพักการประชุมวุฒิสภา
มาตรา ๕๑ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกรัฐสภาหรือไม่ เมื่อใดที่มีความมุ่งประสงค์จะแถลงเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ เมื่อนั้นจะเข้าร่วมการประชุมของแต่ละสภาก็ได้ กับทั้งมีหน้าที่เข้าร่วมประชุมสภาเมื่อมีการร้องขอให้ตอบกระทู้ถามหรือให้คำอธิบาย
มาตรา ๕๒ ให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้
(๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
(๒) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(๓) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
(๔) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
(๕) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๖) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
(๗) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการร่างพระราชบัญญัติและพระราชกำหนด
(๘) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
(๙) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องการเงินการคลังและงบประมาณ
มาตรา ๕๓ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจะเสนอได้ก็แต่โดย
(๑) คณะรัฐมนตรี
(๒) คณะบริหารตุลาการ
(๓) คณะบริหารทหาร
(๔) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร
(๕) สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของวุฒิสภา
(๖) ประชาชนเข้าชื่อไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนคน
มาตรา ๕๔ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาให้กระทำเป็นสามวาระ ดังต่อไปนี้
(๑) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ และในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเสียงข้างมากของแต่ละสภา
(๒) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สาม ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของแต่ละสภา
มาตรา ๕๕ ร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดย
(๑) คณะรัฐมนตรี
(๒) คณะบริหารตุลาการ
(๓) คณะบริหารทหาร
(๔) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคน
(๕) สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคน
(๖) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน
มาตรา ๕๖ ในระหว่างสมัยประชุม ถ้ามีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากร หรือเงินตราซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน รัฐบาลจะตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้ พระราชกำหนดที่ได้ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง จะต้องนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายในสามวัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หมวด ๔
รัฐบาล
มาตรา ๕๗ นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง
มาตรา ๕๘ ผู้ใดจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมเกินสิบปีมิได้
มาตรา ๕๙ ผู้ใดจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีช่วยรวมเกินยี่สิบปีมิได้
มาตรา ๖๐ ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในสิบวันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก
มาตรา ๖๑ ในกรณีที่พ้นกำหนดสิบวันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มาประชุมเป็นครั้งแรกแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียง
เห็นชอบให้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำความขึ้นกราบบังคมทูลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งหัวหน้าพรรคที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดอยู่มากเป็นอันดับหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี
มาตรา ๖๒ การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรรับรอง มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร การลงมติในกรณีเช่นว่านี้ให้กระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย
มาตรา ๖๓ ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร
มาตรา ๖๔ ให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล และ รัฐมนตรี อาจมีรัฐมนตรีช่วยก็ได้ แต่รวมทั้งหมดไม่เกินห้าสิบคน
มาตรา ๖๕ ตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วย ไม่ให้มีการควบตำแหน่ง
มาตรา ๖๖ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วย รวมถึงการให้พ้นจากตำแหน่งเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะกระทำได้ตามที่เห็นควร
มาตรา ๖๗ หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ หรือไม่มีมติไว้วางใจ นายกรัฐมนตรี ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เว้นแต่จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรภายในสิบวัน
มาตรา ๖๘ บรรดากฎหมายและคำสั่งคณะรัฐมนตรีต้องมีรัฐมนตรีผู้รักษาการลงนามและนายกรัฐมนตรีลงนามกำกับ
มาตรา ๖๙ นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี และ รัฐมนตรีช่วย ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(๒) ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีก่อนได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
มาตรา ๗๐ คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่ ก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีที่เข้ารับหน้าที่จะดำเนินการไปพลางก่อนเพียงเท่าที่จำเป็นก็ได้
มาตรา ๗๑ รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิเข้าประชุมและแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมสภา และในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภามีมติให้เข้าประชุมในเรื่องใด รัฐมนตรีต้องเข้าร่วมประชุม
มาตรา ๗๒ ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภา และต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๗๓ รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
(๒) อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
(๓) คณะรัฐมนตรีลาออก
มาตรา ๗๔ คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่ในกรณีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๗๓(๒)
คณะรัฐมนตรี, นายรัฐมนตรี และรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ดังต่อไปนี้
(๑) ไม่กระทำการอันเป็นการใช้อำนาจแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
(๒) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
(๓) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป
(๔) ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งและไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
มาตรา ๗๕ ความเป็นนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีช่วย สิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นกรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
(๔) สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ
(๕) ถูกลงประชามติขับไล่
มาตรา ๗๖ ข้าราชการและพนักงานของรัฐซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง จะเป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นมิได้

หมวด ๕
ศาล
มาตรา ๗๗ ให้มีคณะบริหารตุลาการ ปกครองศาล ประกอบด้วยอดีตผู้พิพากษาที่เกษียณอายุตามปกติที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนจำนวนห้าคน
มาตรา ๗๘ ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งตามกฏหมายเลือกผู้จะมาดำรงตำแหน่งในคณะบริหารตุลาการได้คนละหนึ่งคน แล้วเรียงลำดับผู้ได้คะแนนจากมากไปหาน้อยห้าคนแรกเป็นคณะบริหารตุลาการ
มาตรา ๗๙ คณะบริหารตุลาการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และผู้ใดจะดำรงตำแหน่งในคณะบริหารตุลาการรวมเกินสิบปีมิได้
มาตรา ๘๐ ผู้ลงสมัครเป็นคณะบริหารตุลาการจะต้องได้สิทธิ์หาเสียงผ่านทีวีโดยเท่าเทียมกัน
มาตรา ๘๑ คณะบริหารตุลาการมีสิทธิ์แต่งตั้งโยกย้ายให้ออกต่อเจ้าหน้าที่ศาล มีอำนาจตราระเบียบเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความและการปฏิบัติ หน้าที่ของตน ตลอดจนเกี่ยวกับพนักงานอัยการ วินัยภายในของศาล และการบริหารงานตุลาการ
มาตรา ๘๒ กรณีเหลือคณะบริหารตุลาการทำหน้าที่ได้น้อยกว่าห้าคนให้มีการเลือกตั้งคณะบริหารตุลาการใหม่ทั้งหมด
มาตรา ๘๓ บรรดาตุลาการย่อมมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของตน โดยถูกต้อง รวดเร็วและเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
มาตรา ๘๔ การพิจารณาและการพิพากษาอรรถคดี จะต้องกระทำโดยเปิดเผย หากศาลเห็นว่าการเปิดเผยต่อสาธารณะจะเป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน การพิจารณาคดีนั้นอาจกระทำโดยไม่เปิดเผยก็ได้ แต่การพิจารณาคดีเกี่ยวกับความผิดทางการเมือง ความผิดเกี่ยวกับโรงพิมพ์ หรือปัญหาเกี่ยวกับสิทธิของประชาชนที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ ต้องกระทำโดยเปิดเผยในทุกกรณี
มาตรา ๘๕ การโยกย้ายผู้พิพากษาและตุลาการโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิพากษาและตุลาการนั้นจะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นการโยกย้ายตามวาระตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็นการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นเป็นกรณีที่อยู่ในระหว่างถูกดำเนินการทางวินัย หรือตกเป็นจำเลยในคดีอาญา เป็นกรณีที่กระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดี หรือมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๘๖ ผู้พิพากษาและตุลาการจะเป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิได้
มาตรา ๘๗ เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้พิพากษาและตุลาการ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ จะนำระบบบัญชีเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับมิได้ ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๘๘ ศาลยุติธรรมมีสามชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้หรือตามกฎหมายอื่น ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้เสนอต่อศาลฎีกาได้โดยตรง และคดีที่อุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ตามที่กฎหมายบัญญัติ ให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ทั้งนี้ วิธีพิจารณาและวินิจฉัยคดีให้เป็นไปตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนด โดยต้องใช้ระบบไต่สวนและเป็นไปโดยรวดเร็ว
มาตรา ๘๙ หากศาลยังไม่ตัดสินจนถึงที่สุดว่าบุคคลใดกระทำความผิดให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ จะขังคุกบุคคลนั้นมิได้ กรณีมีความจำเป็นต้องกักขังเพราะเป็นคดีร้ายแรงเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนีให้กระทำได้เพียงกักบริเวณและปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนยังเป็นผู้บริสุทธิ์ กรณีต้องกักบริเวณผู้ใดต้องดำเนินคดีให้สิ้นสุดภายในสามเดือนหากไม่สามารถดำเนินคดีถึงที่สุดทันสามเดือนนับตั้งแต่กักบริเวณให้ปล่อยผู้นั้นเป็นอิสระ

หมวด ๖
ทหาร
มาตรา ๙๐ ในการแต่งตั้งคณะบริหารทหาร พระมหากษัตริย์อาจมอบหมายให้รัฐบาลสรรหาคณะบริหารทหารแทนก็ได้
มาตรา ๙๑ ให้มีคณะบริหารทหาร ปกครองทหาร ประกอบด้วยอดีตนายพลทหาร จำนวนห้าคน
มาตรา ๙๒ คณะบริหารทหารมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และผู้ใดจะดำรงตำแหน่งในคณะบริหารทหารรวมเกินสิบปีมิได้
มาตรา ๙๓ คณะบริหารทหารมีสิทธิ์แต่งตั้งโยกย้ายให้ออกต่อเจ้าหน้าที่ทหาร รวมถึงการบริหารจัดการทั้งการเงิน สถานที่และอื่นๆ เกี่ยวกับทหาร

หมวด ๗
การเงิน การคลัง และงบประมาณ
มาตรา ๙๔ ไม่ให้ทำงบประมาณผูกพันเกินห้าปี
มาตรา ๙๕ ไม่ให้ก่อหนี้สาธารณะรวมเกินร้อยละเจ็ดสิบของจีดีพี
มาตรา ๙๖ ไม่ให้ทำงบประมาณขาดดุลเกินร้อยละยี่สิบในแต่ละปีงบประมาณ
มาตรา ๙๗ งบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อน
มาตรา ๙๘ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องการเงินการคลังและงบประมาณ

หมวด ๘
การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
มาตรา ๙๙ ผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ คือ ผู้ที่จะต้องถูกตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน รวมถึงการใช้อำนาจรัฐ
(๑) นายกรัฐมนตรี
(๒) รัฐมนตรี
(๓) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(๔) สมาชิกวุฒิสภา
(๕) ข้าราชการการเมืองอื่น
(๖) ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๗) คณะบริหารตุลาการ
(๘) คณะบริหารทหาร
(๙) คณะกรรมการ กกต., ปปช., สตง. และ คตง.
(๑๐) ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่ซีสิบหรือระดับสิบขึ้นไปหรือเทียบเท่า

ส่วนที่ ๑
การตรวจสอบทรัพย์สิน
มาตรา ๑๐๐ ผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๙๙ มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตร รวมถึงทรัพย์สินที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทุกครั้งที่เข้ารับตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่ง และให้ยื่นพร้อมเอกสารประกอบซึ่งเป็นสำเนาหลักฐานที่พิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าว รวมทั้งสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา
มาตรา ๑๐๑ บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา ๑๐๐ ให้แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่จริงในวันที่เข้ารับตำแหน่งหรือวันที่พ้นจากตำแหน่ง แล้วแต่กรณี และต้องยื่นภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่เป็นการเข้ารับตำแหน่ง ให้ยื่นภายในสามสิบวันนับแต่วันเข้ารับตำแหน่ง
(๒) ในกรณีที่เป็นการพ้นจากตำแหน่ง ให้ยื่นภายในสามสิบวันนับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง
(๓) ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๙๙ ได้ยื่นบัญชีไว้แล้ว ตายในระหว่างดำรงตำแหน่งหรือก่อนยื่นบัญชีหลังจากพ้นจากตำแหน่ง ให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดก ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่ในวันที่ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นตาย ภายในเก้าสิบวัน นอกจากต้องยื่นบัญชีตาม (๒) แล้ว ให้มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่จริงในวันครบหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งโดยให้ยื่นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีด้วย
มาตรา ๑๐๒ บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ให้เปิดเผยให้สาธารณชนทราบ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดต้องยื่นบัญชีดังกล่าว
มาตรา ๑๐๓ ในกรณีที่มีการยื่นบัญชีเพราะเหตุพ้นจากตำแหน่งหรือตาย ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทำการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งนั้น แล้วจัดทำรายงานผลการตรวจสอบรายงานดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่งผู้ใดมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติส่งเอกสารทั้งหมดที่มีอยู่พร้อมทั้งรายงานผลการตรวจสอบไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีต่อศาลฎีกา ให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกตินั้นตกเป็นของแผ่นดินต่อไป
มาตรา ๑๐๔ บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าผู้ใดจงใจไม่ยื่น หรือจงใจยื่นด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไป
ถ้าศาลฎีกาวินิจฉัยว่าผู้ใดกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งในวันที่ศาลฎีกาวินิจฉัย ผู้นั้นต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง ถ้าเป็นข้าราชการห้ามดำรงตำแหน่งทางการบริหาร เป็นเวลาห้าปี นับแต่วันที่ศาลฎีกาวินิจฉัย

ส่วนที่ ๒
การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์
มาตรา ๑๐๕ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้อง
(๑) ไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือข้าราชการส่วนท้องถิ่น
(๒) ไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
(๓) ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษนอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจการงานตามปกติ
บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา รับเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน และมิให้ใช้บังคับในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภารับหรือดำรงตำแหน่งกรรมาธิการของรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา หรือกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งในการบริหารราชการแผ่นดินให้นำความใน (๒) และ (๓) มาใช้บังคับกับคู่สมรสและบุตรของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา และบุคคลอื่นซึ่งมิใช่คู่สมรสและบุตรของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภานั้น ที่ดำเนินการในลักษณะผู้ถูกใช้ ผู้ร่วมดำเนินการ หรือผู้ได้รับมอบหมายจาก
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาให้กระทำการตามมาตรานี้ด้วย
มาตรา ๑๐๖ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
(๒) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือ
(๓) การให้ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น พ้นจากตำแหน่ง
มาตรา ๑๐๗ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๐๕ มาใช้บังคับกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้วย เว้นแต่เป็นการดำรงตำแหน่งหรือดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และจะดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใดก็มิได้ด้วย
มาตรา ๑๐๘ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะกระทำการใดที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๖ มิได้ เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา หรือตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๑๐๙ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไป ทั้งนี้ตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้ใดประสงค์จะได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าวต่อไป ให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้นั้นแจ้งให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้นั้นโอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าวให้นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหารหรือจัดการใดๆ เกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตามวรรคหนึ่ง มิได้
บทบัญญัติมาตรานี้ให้นำมาใช้บังคับกับคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้วย

ส่วนที่ ๓
การถอดถอนจากตำแหน่งและการดำเนินคดีอาญา
มาตรา ๑๑๐ ผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๙๙ ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ศาลฎีกามีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้
มาตรา ๑๑๑ ผู้มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๙๙ ที่กระทำความผิดตามมาตรา ๑๑๐
(๑) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
(๒) ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนมีสิทธิ
มาตรา ๑๑๒ เมื่อได้รับคำร้องขอตามมาตรา ๑๑๑ แล้ว ให้ประธานสภาส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการไต่สวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
มาตรา ๑๑๓ ถ้าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ว่าข้อกล่าวหาใดมีมูล นับแต่วันดังกล่าวผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่าคดีจะสิ้นสุด และให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาตามกระบวนการยุติธรรมปกติต่อไป
มาตรา ๑๑๔ ผู้ใดถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งหรือให้ออกจากราชการนับแต่วันที่ศาลฎีกาตัดสิน และให้ตัดสิทธิผู้นั้นในการดำรงตำแหน่งใดในทางการเมืองหรือในการรับราชการเป็นเวลาห้าปี
มาตรา ๑๑๕ ถ้าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เห็นว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาข้อนั้นเป็นอันตกไป จะร้องขอให้ถอดถอนบุคคลดังกล่าว โดยอาศัยเหตุเดียวกันอีกมิได้
มาตรา ๑๑๖ ถ้ามีกรณีประชาชนมากกว่าหนึ่งแสนคน ออกมาชุมนุมขับไล่ ผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๙๙ ให้มีการทำประชามติภายในสามสิบวัน โดยให้เลือกว่า "ให้ดำรงตำแหน่งต่อไป" หรือ "ให้พ้นจากตำแหน่ง"
(๑) ถ้าผลการลงประชามติเสียงส่วนใหญ่เลือก "ให้ดำรงตำแหน่งต่อไป" ก็ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปตามวาระแต่ละตำแหน่ง
(๒) ถ้าผลการลงประชามติเสียงส่วนใหญ่เลือก "ให้พ้นจากตำแหน่ง" ก็ให้พ้นตำแหน่งในทันที 
มาตรา ๑๑๗ การลงประชามติขับไล่ผู้ใดพ้นจากตำแหน่ง จะกระทำได้ต่อเมื่อผู้นั้นทำงานครบหนึ่งปีนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ถ้าผู้ใดเคยถูกลงประชามติขับไล่จะลงประชามติขับไล่อีกครั้งได้หลังจากครบหนึ่งปี นับถัดจากวันลงประชามติครั้งก่อน

หมวด ๙
การทำประชามติ
มาตรา ๑๑๘ ผู้มีอายุตั้งแต่สิบหกปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีสิทธิ์ลงประชามติ
มาตรา ๑๑๙ ให้มีการอภิปรายโต้วาทีระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายสนับสนุน ให้เวลาเท่าเทียมกัน ในประเด็นหรือญัตติที่จะลงประชามติสามครั้ง ก่อนวันลงประชามติ พร้อมถ่ายทอดผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์
มาตรา ๑๒๐ ผลการลงประชามติถือเป็นที่สิ้นสุด

หมวด ๑๐
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
มาตรา ๑๒๑ แก้ไขได้ทุกมาตรายกเว้น มาตราที่ ๑, ๒ และ ๓
มาตรา ๑๒๒ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
(๑) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้กระทำได้โดยการเสนอญัตติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งได้รับเสียงเห็นชอบร่วมกันไม่น้อยสองในสามของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมดของสภาทั้งสอง
(๒) ทำการลงประชามติ ภายในหนึ่งเดือน โดยให้เลือกว่า "เห็นชอบรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม" หรือ "ไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม"
(๓) ถ้าผลการลงประชามติเสียงส่วนใหญ่เลือก "เห็นชอบรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม" ให้พระมหากษัตริย์ประกาศในนามของประชาชนให้การแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมีผลใช้บังคับโดยไม่ชักช้า และให้นับเข้าเป็นส่วนหนึ่งแห่งรัฐธรรมนูญนี้
(๔) ถ้าผลการลงประชามติเสียงส่วนใหญ่เลือก "ไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม" ให้ญัตตินั้นตกไป

 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ


------------------------------------------------

22 ข้อเด่น ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับมาหาอะไร

1. ระบุชัดเจนห้ามแก้ไข มาตรา 1-3 ซึ่งเป็นเสมือนมาตราหลักการสำคัญสูงสุดในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษตริย์เป็นพระประมุข

มาตรา ๑ ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ (ห้ามแก้ไข)
- ป้องกันการลงประชามติแบ่งแยกดินแดนหรือฟ้องนานาชาติเพื่อหวังแบ่งแยกดินแดน ในอนาคต
มาตรา ๒ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ห้ามแก้ไข)
- ป้องกันการลงประชามติยกเลิกระบอบกษัตริย์ ซึ่งปกติก็ไม่สามารถทำได้โดยไม่เกิดการปฏิวัติจนเกิดสงครามกลางเมืองอยู่แล้วแม้ไม่เขียนไว้ แต่เพื่อความชัดเจนและความสบายใจทุกฝ่าย
มาตรา ๓ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ (ห้ามแก้ไข)
- ระบุย้ำว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุด ปกติก็เป็นเช่นว่าอยู่แล้วแต่เพื่อความชัดเจนไร้ข้อโต้แย้งในอนาคต
มาตรา ๑๒๑ แก้ไขได้ทุกมาตรายกเว้น มาตราที่ ๑, ๒ และ ๓

++++++++++

2. ให้รัฐสภาซึ่งเป็นสถาบันนิติบัญญัติออกกฏหมายต่างๆ ตีความกฏหมายรวมทั้งแก้ไขเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต แทนให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะหลายกรณีในอดีตมีการตีความออกนอกกรอบเจตนารมย์รัฐสภาที่เคยบันทึกเจตนารมย์ไว้ก็มี และถ้าฝ่ายค้านยังไม่ยอมรับผล ให้มีการลงประชามติทั้งประเทศให้ประชาชนตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดขั้นสุดท้าย รวมถึงหลายๆ เหตุขัดแย้งที่ไม่มีทางออกและป้องกันการซิกแซกกรณีเห็นช่องโหว่รัฐธรรมนูญนี้ สามารถใช้มาตรานี้จัดการพวกอาศัยช่องโหว่ได้ด้วย

มาตรา ๔ ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นโดยรัฐสภา หากไม่สามารถวินิจฉัยโดยรัฐสภาให้ทำประชามติ

++++++++++

3. ระบุชัดเจนให้รัฐไทยยึดหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้กำหนดหลักการขั้นพื้นฐานไว้ครอบคลุมพอสมควรเพื่อเป็นหลักประกันว่ากฏหมายใดๆ รวมถึงวิธีปฏิบัติใดๆ ของเจ้าหน้าที่จะต้องไม่ละเมิดหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ไทยได้ลงนามรับรองแล้ว รายละเอียด 30 ข้อตาม link ด้านล่างนี้ ที่ไม่ได้ห้ามแก้ไขมาตรานี้ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเผื่ออนาคตมีการแก้ไขหลักการสิทธิมนุษยชนสากลแล้วปฏิบัติไม่ได้จริงหรือไม่ดีคาดว่าไม่น่ามีแต่เปิดช่องไว้เพื่อไม่ต้องมาฉีกรัฐธรรมนูญก็แก้ไขได้
http://maha-arai.blogspot.com/2014/07/blog-post_2.html

มาตรา ๕ รัฐไทยต้องยึดถือและปฏิบัติตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

++++++++++

4. ในการสืบราชบัลลังก์ได้ระบุชัดเจนให้เป็นไปตามลำดับราชวงศ์และตามกฎมนเทียรบาล โดยฝ่ายการเมืองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องรวมถึงไม่มีองคมนตรีเป็นคนเลือกหรือเป็นผู้สำเร็จราชการแต่อย่างใด จะเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีบารมีทางการเมืองหรือเข้ามายึดอำนาจทางการเมืองก็สามารถสืบราชบัลลังก์ได้ตามกฏมนเทียรบาล

มาตรา ๘ การสืบราชบัลลังก์นั้นให้เป็นไปตามลำดับราชวงศ์และตามกฎมนเทียรบาล

++++++++++

5. มีการเพิ่มอำนาจพระมหากษัตริย์ให้ควบคุมกองทัพเบ็ดเสร็จเพื่อป้องกันการทำรัฐประหารในอนาคต หมายความว่าถ้าในอนาคตใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วมีการทำรัฐประหาร คนทั้งประเทศและทั่วโลกก็จะรู้กันในทันทีว่าพระมหากษัตริย์เป็นคนสั่งให้ทำเพราะพระองค์ควบคุมกองทัพเบ็ดเสร็จ ผ่านการแต่งตั้งคณะบริหารทหารแบบเบ็ดเสร็จเพื่อควบคุมกองทัพ ตามหลายมาตราดังต่อไปนี้

มาตรา ๗ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย
มาตรา ๙
(๓) พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง คณะบริหารทหาร รวมถึงการให้พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
มาตรา ๙๐ ในการแต่งตั้งคณะบริหารทหาร พระมหากษัตริย์อาจมอบหมายให้รัฐบาลสรรหาคณะบริหารทหารแทนก็ได้
มาตรา ๙๑ ให้มีคณะบริหารทหาร ปกครองทหาร ประกอบด้วยอดีตนายพลทหาร จำนวนห้าคน
มาตรา ๙๒ คณะบริหารทหารมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และผู้ใดจะดำรงตำแหน่งในคณะบริหารทหารรวมเกินสิบปีมิได้
มาตรา ๙๓ คณะบริหารทหารมีสิทธิ์แต่งตั้งโยกย้ายให้ออกต่อเจ้าหน้าที่ทหาร รวมถึงการบริหารจัดการทั้งการเงิน สถานที่และอื่นๆ เกี่ยวกับทหาร

* การเพิ่มอำนาจพระมหากษัตริย์เพื่อป้องกันการทำรัฐประหารในอนาคตเพราะความไม่ไว้ใจกลัวนักการเมืองหรือนายกที่เก่งๆ ในอนาคต เช่น สมมุติในอนาคตมีนายกที่มีฝีมือบริหารประเทศมากๆ คนรักและศรัทธามาก อาจสร้างความหวั่นใหวให้คนใกล้ชิดสถาบันประกอบกับนายกยังสามารถควบคุมกองทัพย่อมมีผลอย่างมากในการเป่าหูกษัตริย์ในอนาคตเพื่อให้ระแวงนายกคนดังกล่าว จะได้หาวิธีกำจัด เช่น ผ่านการทำรัฐประหารได้ การเพิ่มอำนาจให้พระมหากษัตริย์คุมกองทัพแบบเบ็ดเสร็จแบบเปิดเผยดีกว่าคุมแบบไม่เปิดเผย ส่วนที่เขียนเปิดช่องให้สามารถมอบหมายให้รัฐบาลเป็นคนแต่งตั้งแทนเผื่อกรณีกษัตริย์ในอนาคตทรงพระเยาว์มากหรือไม่ทรงกังวลเรื่องดังกล่าวและไม่ชำนาญเรื่องกองทัพและไม่อยากยุ่งอะไรก็ให้รัฐบาลทำแทนได้แค่เปิดช่องเผื่อกรณีดังกล่าว

++++++++++

6. มีการกำหนดสิ่งที่พระมหากษัตริย์ทำได้ เพื่อความชัดเจนไม่ต้องตีความกันแต่ตัดสิ่งที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนส่วนตัว เช่น ต้องทรงนับถือศาสนาพุทธนั่นนี่ถือเป็นการบังคับ และในทางปฏิบัติราชพิธีแทบทั้งหมดเป็นของศาสนาพราหมณ์ และ ยุคสมัยใหม่พระมหากษัตริย์จะทรงนับถือศาสนาไหนก็ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงศาสนาของประชาชนเพราะบังคับให้เปลี่ยนแบบสมัยโบราณไม่ได้ ถ้าสมัยโบราณเมืองไหนเจ้าเมืองนับถือศาสนาใดประชาชนต้องนับถือตามไม่งั้นอยู่ยากแต่ปัจจุบันทำไม่ได้บังคับก็จะเกิดการต่อต้านดังนั้นเป็นเรื่องส่วนพระองค์เลยไม่กำหนด

มาตรา ๙
(๑) พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง นายกรัฐมนตรี ตามที่รัฐสภาเลือก
(๒) พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง คณะบริหารตุลาการ ตามที่ประชาชนเลือก
(๓) พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง คณะบริหารทหาร รวมถึงการให้พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
(๔) พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ข้าราชการในพระองค์และสมุหราชองครักษ์ รวมถึงการให้พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
(๕) พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงคราม
(๖) พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ
(๗) พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์

* บางกรณีไม่ได้เป็นการแทรกแซงการเมืองแค่งานราชพิธีหรือพิธีทางการ ก็ระบุไว้ว่าต้องทำตามคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี

มาตรา ๑๐ พระราชกิจทั้งปวง พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติตามคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรีซึ่งต้องเป็นผู้รับผิดชอบในพระราชกิจเหล่านี้
(๑) พระราชกิจดังกล่าว พระมหากษัตริย์จะทรงปฏิบัติได้ก็แต่ที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐและตามที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้เท่านั้น
(๒) พระราชกิจดังกล่าวอันเกี่ยวเนื่องกับรัฐ พระมหากษัตริย์จะทรงมอบหมายให้ผู้แทนพระองค์ปฏิบัติแทนก็ได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๑๑ ในกรณีที่มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามกฎมนเทียรบาล ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีหน้าที่ปฏิบัติการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐในพระนามาภิไธยพระมหากษัตริย์ ในกรณีนี้ให้นำมาตรา ๑๐(๑) มาใช้บังคับ
มาตรา ๑๒ กิจการอันเกี่ยวเนื่องกับรัฐดังต่อไปนี้ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงปฏิบัติ โดยคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี
(๑) การประกาศใช้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตลอดจนกฎหมาย คำสั่งคณะรัฐมนตรี และสนธิสัญญา
(๒) การเรียกประชุมรัฐสภา
(๓) การยุบสภาผู้แทนราษฎร
(๔) การประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเป็นการทั่วไป
(๕) การรับรองการแต่งตั้งและการถอดถอนรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อื่นตามที่กฎหมาย บัญญัติ กับทั้งหนังสือมอบอำนาจและพระราชสาสน์ตราตั้งเอกอัครราชทูตและรัฐมนตรี
(๖) การรับรองการอภัยโทษในกรณีทั่วไปและกรณีพิเศษ การเปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา การชะลอการลงโทษ และการคืนสิทธิ
(๗) การรับรองตราสารให้สัตยาบันและเอกสารอื่นทางการทูตตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๘) การรับรองเอกอัครราชทูตและรัฐมนตรีต่างด้าว
(๙) การปฏิบัติหน้าที่ในทางพิธี
มาตรา ๑๓ บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้ บทกฎหมายที่ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วหรือถือเสมือนหนึ่งว่าได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยพลัน

++++++++++

7. ระบุชัด ว่าพระมหากษตริย์จะทรงดำรงอยู่ในฐานะความสามัคคีของชนในรัฐ หมายความว่าใครพรรคใดพวกไหนจะดึงพระมหากษตริย์ให้มายุ่งการเมืองไม่ได้ เช่นการกล่าวพวกอื่นไม่เป็นพวกจงรักภักดี เป็นการนำพระมหากษัตริย์มาอ้างเพื่อทำลายความสามัคคีในรัฐ และจะเกิดผลเสียกับสถาบันในอนาคต เช่นสมมุติในอนาคตมีคนรักสถาบัน 100% แต่มีพรรคพวกหนึ่งมีคนเชียร์ 50% ไปกล่าวหาอีกพรรคพวกหนึ่งที่มีคนเชียร์ 50% ว่าล้มเจ้าไม่จงรักภักดีต่อสถาบันเท่ากับผลักคนรักสถาบัน 50% ไปเป็นศัตรูหรือเกลียดสถาบันในที่สุดดีๆนี่เองถ้าปล่อยให้ทำบ่อยก็ไม่ต่างอะไรกับแตงโมที่ถูกแบ่งไปเรื่อยๆ คนจะรักสถาบันน้อยเรื่อยๆ ซึ่งการเมืองเข้าไปที่ไหนจะเละทุกที่เพราะคนเชียร์การเมืองบางครั้งไม่ได้สนใจถูกผิดชอบชั่วดีแค่พวกใครพวกมันจึงเขียนกันไว้ และที่ตัดคำว่าใครจะละเมิดไม่ได้ไม่ใช่มีเจตนาให้ใครละเมิดได้แต่ใครละเมิดสามารถดำเนินคดีตามกฏหมายซึ่งกฏหมายปกติก็เพียงพอแล้วเพราะการลงโทษให้คนกลัวไม่ได้ทำให้คนมีความจงรักภักดีเพิ่มขึ้นแต่อย่างใดมีแต่ผลักพรรคพวกที่ต้องคดีให้ห่างสถาบันออกไปมากขึ้นเท่านั้นเอง

มาตรา ๖ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ เป็นสัญลักษณ์แห่งรัฐและความสามัคคีของชนในรัฐ

++++++++++

8. ยกเลิกองคมนตรี เพราะประเทศอังกฤษและญี่ปุ่น ไม่มีองคมนตรี ไม่มีปัญหาขัดแย้งปีนเกลียวระหว่างองคมนตรีกับรัฐบาล และขจัดกรณีที่อาจเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นองคมนตรีไปเป็นที่ปรึกษาหรือรับเงินจากบริษัทห้างร้านเอกชน แถมไม่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินเช่นนักการเมืองแต่มีอำนาจในการยับยั้งชะลอกฏหมายรวมทั้งให้คำปรึกษาที่เป็นคุณแก่ผู้ให้ผลประโยชน์แก่ตนเองได้

++++++++++

9. มีการกำหนดจำนวนปีที่ห้ามดำรงแหน่งเกินเผื่อบางคนเล่นกันจนตายเลย ซึ่งอยากให้มีเด็กรุ่นใหม่ๆ เข้าวงการเมืองมากขึ้นแต่ก็กำหนดแบบเผื่อให้เยอะมากเช่นดำรงตำแหน่ง สส. สว. รวมไม่เกิน 30ปี รัฐมนตรี รวมไม่เกิน 20 ปี นายกรัฐมนตรี รวมไม่เกิน 10 ปี คณะบริหารตุลาการ รวมไม่เกิน 10 ปี คณะบริหารทหาร รวมไม่เกิน 10 ปี

มาตรา ๒๐ ผู้ใดจะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สมาชิกวุฒิสภารวมเกินสามสิบปีมิได้
มาตรา ๕๘ ผู้ใดจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมเกินสิบปีมิได้
มาตรา ๕๙ ผู้ใดจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีช่วยรวมเกินยี่สิบปีมิได้
มาตรา ๗๙ คณะบริหารตุลาการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และผู้ใดจะดำรงตำแหน่งในคณะบริหารตุลาการรวมเกินสิบปีมิได้
มาตรา ๙๒ คณะบริหารทหารมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และผู้ใดจะดำรงตำแหน่งในคณะบริหารทหารรวมเกินสิบปีมิได้

++++++++++

10. ระบุชัดเจน นายกต้องมาจากการเลือกตั้งเพื่อกันพวกใช้อำนาจปืนอำนาจเงินอำนาจมืดบีบให้ สส. ยอมจำนนยกมือหนุนคนของผู้มีอำนาจสั่งมาแต่ประชาชนไม่ได้เลือก

มาตรา ๕๗ นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง

++++++++++

11. ระบุชัดเจนห้ามยุบพรรคการเมืองเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งแบบในอดีต ใครทำผิดก็ลงโทษ พรรคมีแต่ประชาชนไม่ชื่นชอบเพราะทำตัวไม่ดีชาวบ้านก็ไม่เลือก แต่ถ้าแกล้งยุบพรรคแต่ถ้าประชาชนชอบก็เลือกอยู่ดีแค่เปลี่ยนชื่อพรรค มีไว้แกล้งกันมากกว่าไม่มีประโยชน์ใดๆ การห้ามยุบก็เพื่อให้พรรคการเมืองมีอุดมการณ์ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองไปตามแนวเรื่อยๆ และห้ามการยุบรวมพรรคขณะมี สส. อยู่คือพวกมากว้านซื้อตัวกันหลังเลือกตั้งเพราะขัดเจนตนารมย์ประชาชนที่เลือกพรรคนั้นคนนั้นเพราะมีนโยบายหรือสังกัดพรรค ณ ตอนนั้นแล้วพอเลือกให้เป็นไปยุบรวมกับพรรคอื่นที่เขาอาจไม่ชอบก็ได้จึงเขียนกันห้ามยุบรวมขณะมีสส.แต่ถ้าไม่มีหรือก่อนเลือกตั้งทำได้

มาตรา ๒๔ ห้ามยุบพรรคการเมืองเว้นแต่กรรมการบริหารพรรคประชุมร่วมกับหัวหน้าพรรคลงมติยุบพรรค
มาตรา ๒๕ จะมีการควบรวมพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมิได้

++++++++++

12. ระบุให้มีสส.ปาร์ตี้ลิสต์แต่ไม่ให้เกินสส.มาจากการเลือกตั้ง เพราะคนมีความรู้อาจหาเสียงไม่เก่งจะได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในสภาและให้มีจำนวนเท่ากับสส.เลือกตั้งได้เพราะส่วนตัวมีแนวคิดผลักคนมีความรู้ความสามารถเข้าไปเล่นการเมืองให้มากที่สุด

มาตรา ๒๖ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งตามกฏหมายกำหนดซึ่งมีทั้งแบบแบ่งเขต และแบบปาร์ตี้ลิสต์ แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบปาร์ตี้ลิสต์รวมทั้งหมดต้องไม่เกินจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต

++++++++++

13. คืนสิทธิมนุษยชนให้แก่พระ นักบวชที่ถูกห้ามเลือกตั้งมานาน รวมถึงนักโทษจึงกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งเอาไว้น้อยมาก แม้แต่ผู้วิกลจริตก็ไม่ได้ห้ามเพราะเชื่อว่าไม่มีคนเป็นเยอะขนาดมีผลต่อการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งคือไม่เยอะจนสงผลต่อผลการเลือกตั้งไม่รู้จะเขียนกีดกันให้ดูละเมิดสิทธิเขาไปทำไม

มาตรา ๓๖ บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
(๑) มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ในวันที่ ๑ มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง และ
(๓) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งอยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาน้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง หรือมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักรย่อมมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

++++++++++

14. แม้แต่ผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ลดคุณสมบัติกีดกันทิ้งเปิดให้เสรีขึ้นเพราะเชื่อในวิจารณญาณประชาชน เช่นอาจเคยติดคุก เคยค้ายาถ้าชาวบ้านเลือกก็จะได้รู้ว่าคนแถวนั้นชอบแนวนั้นอะไรแต่คิดว่าไม่น่ามี ซึ่งคู่แข่งสามารถนำประวัติที่ไม่ดีมาแฉได้ถือเป็นข้อมูลหนึ่งให้ประชาชนตัดสินใจ และได้ยกเลิกสิทธิการคุ้มครองสส. ไว้ ดังนั้นคิดจะมาหลบการจับกุมไม่ได้แม้เป็นสส. ก็โดนคดีได้ถ้าคดีถึงที่สิ้นสุดแต่ถ้าคดีไม่สิ้นสุด ไม่ให้จับกันการกลั่นแกล้งจากผู้มีอำนาจ แต่ที่ยกเลิกการคุมครองเอกสิทธิ์สส. เพราะคิดว่ายุคนี้ถ้ารัฐบาลกลั่นแกล้งจับกุมสส.ฝ่ายตรงข้ามขณะอภิปรายไม่ไว้วางใจ สส.ฝ่ายค้านหรือชาวบ้านชุมนุมขับไล่ใช้สิทธิ์ลงประชามติได้ทุกเมื่อซึ่งจะเป็นผลเสียต่อคนกลั่นแกล้งเองเลยไม่จำเป็นต้องให้เอกสิทธิ์คุ้มครองคนทำผิดมีหลักฐานจริงๆ

มาตรา ๓๓ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ
(๖) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรา ๓๗ บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์
(๓) ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย
(ก) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
(ข) เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง

++++++++++

15. ประชาชนรวมกลุ่มระดับพันคนก็สามารถตั้งพรรคการเมืองได้ แต่ถ้าภายใน 1 ปีหาสมาชิกพรรคได้น้อยกว่า 10,000 คน ก็ยังไม่ถือเป็นพรรคการเมืองที่มีสิทธิ์ต่างๆ ตามที่รัฐธรรมมูญ และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญกำหนด แต่ยังคงสภาพพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมการเมืองต่อได้ตามปกติจนกว่ามีสมาชิกพรรคตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไปถึงมีสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญและ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญกำหนด เช่น สมมุติมีการกำหนดให้เงินอุดหนุนพรรคการเมือง หรือสิทธิ์ส่งผู้สมัคร เป็นต้น

มาตรา ๒๓ ประชาชนมีเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง โดยประชาชนร่วมกันลงชื่อไม่น้อยกว่าหนึ่งพันคนสามารถยื่นขอจัดตั้งพรรคการเมืองได้ และต้องหาสมาชิกพรรคให้ได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน ถึงจะมีสิทธิ์ต่างๆ ตามที่รัฐธรรมมูญ และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญกำหนด

++++++++++

16. มีเจตนารมย์ชัดเจนที่จะให้วุฒิสภาเป็นที่กลั่นกรองกฏหมายแต่ไม่มีสิทธิ์พิพากษานั่นนี่ จึงกำหนดให้สว.มีทั้งจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน เพื่อเป็นปากเป็นเสียงตัวแทนคนจังหวัดนั้นๆ เผื่อกรณีมีผลกระทบจากกฏหมายที่ผ่านการโหวตสามวาระจากสส. โดยยังกำหนดให้มี สว.จากการสรรหาผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ด้านละ 1 คน รวมไม่เกิน 15 คน เพื่อจะได้มีคนมีความรุ้ความสามารถหลากหลายสาขาหลักๆ เช่นด้านการเมือง การปกครอง กฏหมายเศรษฐศาสตร์ บัญชี ศาสนาต่างๆ องค์กรสิทธิมนุษยชน เอ็นจีโอ และจากตัวแทนสมาคมอาชีพต่างๆ สมาคมละ 1 คน เช่นสมาคมชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ยางพารา ประมงน้ำเค็ม ประมงน้ำจืด กรรมกร ลูกจ้างในโรงงาน พ่อค้าแม่ค้า ผู้ส่งออกอุตสาหกรรมต่างๆ ครู ทหาร ตำรวจ เภสัชกร พยาบาล หมอ วินมอเตอร์ไซด์ ผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล แบงค์ ไฟแนนท์ ผู้ค้าน้ำมัน ผู้ค้าทองคำ... เผื่อกรณีกฏหมายนั้นๆ ไปกระทบหรือจะทำให้เกิดผลกระทบใดๆ จะได้ชี้แจงเป็นปากเป็นเสียงให้พรรคพวกเพื่อความรอบคอบของกฏหมายที่จะผ่านสภา และสว.สรรหาไม่ใช่ตั้งคณะกรรมการสรรหาแต่ให้แต่ละสมาคมรวมถึงผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ส่งตัวแทนเข้ามาเองเพื่อป้องกันการฮั้วกันภายหลัง

มาตรา ๔๐ สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งตามกฏหมายกำหนดจังหวัดละหนึ่งคน และมาจากการสรรหาผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ด้านละหนึ่งคน รวมไม่เกินสิบห้าคน และจากตัวแทนสมาคมอาชีพต่างๆ สมาคมละหนึ่งคน รวมจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาทั้งหมดต้องไม่เกินจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้ามีสมาคมอาชีพเกินจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ให้ตัดสมาคมอาชีพที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจหรือสังคมน้อยทิ้งจนเหลือไม่เกินสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง
มาตรา ๔๙
(๑) ร่างพระราชบัญญัติจะมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากสภาทั้งสอง เว้นแต่ในกรณีที่รัฐธรรมนูญนี้บัญญัติไว้เป็นอื่น
(๒) ร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้วแต่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ จะมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบเป็นครั้งที่สอง โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มาประชุม
(๓) หากวุฒิสภาไม่ดำเนินการใดๆ ภายในหกสิบวันหลังจากได้รับร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้ว สภาผู้แทนราษฎรอาจถือว่าวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งนี้เว้นแต่อยู่ในช่วงพักการประชุมวุฒิสภา

++++++++++

17. ส่งเสริมให้มีบุคลากรดำรงตำแหน่งทางการเมืองมากขึ้นโดยห้ามมีการควบตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วย และให้มีจำนวนคนในครม.ได้มากถึง 50 คน

มาตรา ๖๔ ให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล และ รัฐมนตรี อาจมีรัฐมนตรีช่วยก็ได้ แต่รวมทั้งหมดไม่เกินห้าสิบคน
มาตรา ๖๕ ตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วย ไม่ให้มีการควบตำแหน่ง

++++++++++

18. แยกอำนาจศาลให้เป็นอิสระ โดยให้มีการเลือกคณะบริหารตุลาการ เพื่อจะได้ทำงานโดยเที่ยงธรรมไม่ต้องทำตามธงผู้มีอำนาจที่ไหน

มาตรา ๗๗ ให้มีคณะบริหารตุลาการ ปกครองศาล ประกอบด้วยอดีตผู้พิพากษาที่เกษียณอายุตามปกติที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนจำนวนห้าคน
มาตรา ๗๘ ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งตามกฏหมายเลือกผู้จะมาดำรงตำแหน่งในคณะบริหารตุลาการได้คนละหนึ่งคน แล้วเรียงลำดับผู้ได้คะแนนจากมากไปหาน้อยห้าคนแรกเป็นคณะบริหารตุลาการ
มาตรา ๗๙ คณะบริหารตุลาการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และผู้ใดจะดำรงตำแหน่งในคณะบริหารตุลาการรวมเกินสิบปีมิได้
มาตรา ๘๐ ผู้ลงสมัครเป็นคณะบริหารตุลาการจะต้องได้สิทธิ์หาเสียงผ่านทีวีโดยเท่าเทียมกัน
มาตรา ๘๑ คณะบริหารตุลาการมีสิทธิ์แต่งตั้งโยกย้ายให้ออกต่อเจ้าหน้าที่ศาล มีอำนาจตราระเบียบเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความและการปฏิบัติ หน้าที่ของตน ตลอดจนเกี่ยวกับพนักงานอัยการ วินัยภายในของศาล และการบริหารงานตุลาการ
มาตรา ๘๒ กรณีเหลือคณะบริหารตุลาการทำหน้าที่ได้น้อยกว่าห้าคนให้มีการเลือกตั้งคณะบริหารตุลาการใหม่ทั้งหมด
มาตรา ๘๓ บรรดาตุลาการย่อมมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของตน โดยถูกต้อง รวดเร็วและเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

++++++++++

19. กำหนดวิธีปฏิบัติต่อผู้ต้องหาชัดเจนเพื่อไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน หากคดีไม่สิ้นสุดจะจับขังคุกแบบติดคุกจริงไม่ได้ทำได้แค่กักบริเวณแบบมีกำหนด เน้นจับกุมหลังศาลตัดสิน มากกว่าแกล้งจับคนมาขังคุกรอการพิพากษาไปเรื่อยๆ เพราะถ้าทำเช่นนั้นก็เหมือนเป็นการพิพากษาให้ติดคุกโดยไม่มีคำพิพากษาดีๆ นี่เอง

มาตรา ๘๙ หากศาลยังไม่ตัดสินจนถึงที่สุดว่าบุคคลใดกระทำความผิดให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ จะขังคุกบุคคลนั้นมิได้ กรณีมีความจำเป็นต้องกักขังเพราะเป็นคดีร้ายแรงเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนีให้กระทำได้เพียงกักบริเวณและปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนยังเป็นผู้บริสุทธิ์ กรณีต้องกักบริเวณผู้ใดต้องดำเนินคดีให้สิ้นสุดภายในสามเดือนหากไม่สามารถดำเนินคดีถึงที่สุดทันสามเดือนนับตั้งแต่กักบริเวณให้ปล่อยผู้นั้นเป็นอิสระ

++++++++++

20. เพื่อไม่ให้ประเทศล้มละลายในรัฐธรรมนูญนี้ได้ระบุชัดเจนถึงข้อห้ามสามประการเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจไม่ให้นักการเมืองบริหารจนประเทศล้มละลาย

มาตรา ๙๔ ไม่ให้ทำงบประมาณผูกพันเกินห้าปี
มาตรา ๙๕ ไม่ให้ก่อหนี้สาธารณะรวมเกินร้อยละเจ็ดสิบของจีดีพี
มาตรา ๙๖ ไม่ให้ทำงบประมาณขาดดุลเกินร้อยละยี่สิบในแต่ละปีงบประมาณ

++++++++++

21. เพิ่มผู้ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินไม่เฉพาะนักการเมือง ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่ซีสิบหรือระดับสิบขึ้นไปหรือเทียบเท่า ก็ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินด้วย รวมถึงผู้จะมาดำรงตำแหน่งคณะบริหารทหาร และคณะบริหารตุลาการด้วย และยังให้เปิดเผยต่อสาธารณะหมดเช่นเดียวกับนักการเมือง

มาตรา ๙๙ ผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ คือ ผู้ที่จะต้องถูกตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน รวมถึงการใช้อำนาจรัฐ
(๑) นายกรัฐมนตรี
(๒) รัฐมนตรี
(๓) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(๔) สมาชิกวุฒิสภา
(๕) ข้าราชการการเมืองอื่น
(๖) ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๗) คณะบริหารตุลาการ
(๘) คณะบริหารทหาร
(๙) คณะกรรมการ กกต., ปปช., สตง. และ คตง.
(๑๐) ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่ซีสิบหรือระดับสิบขึ้นไปหรือเทียบเท่า
มาตรา ๑๐๒ บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ให้เปิดเผยให้สาธารณชนทราบ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดต้องยื่นบัญชีดังกล่าว

++++++++++

22. แก้ปัญหาทางการเมืองต่างๆ ที่หาข้อยุติไม่ได้ เช่น ม็อบขับไล่รัฐบาล สนับสนุนให้มีการลงประชามติ ซึ่งสามารถยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๙๙ ได้หมดไม่เฉพาะนักการเมือง จะเห็นว่าการลงประชามติคือการพิพากษาครั้งสุดท้าย ดังนั้นผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวถ้าทำงานไม่ดีมีการลุแก่อำนาจนั่นนี่ สุดท้ายจะเจอการลงประชามติขับไล่ได้ ซึ่งก็เท่ากับเป็นการขู่เตือนใจเสมอให้ทำอะไรอยู่ในร่องในรอย

มาตรา ๑๑๖ ถ้ามีกรณีประชาชนมากกว่าหนึ่งแสนคน ออกมาชุมนุมขับไล่ ผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๙๙ ให้มีการทำประชามติภายในสามสิบวัน โดยให้เลือกว่า "ให้ดำรงตำแหน่งต่อไป" หรือ "ให้พ้นจากตำแหน่ง"
(๑) ถ้าผลการลงประชามติเสียงส่วนใหญ่เลือก "ให้ดำรงตำแหน่งต่อไป" ก็ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปตามวาระแต่ละตำแหน่ง
(๒) ถ้าผลการลงประชามติเสียงส่วนใหญ่เลือก "ให้พ้นจากตำแหน่ง" ก็ให้พ้นตำแหน่งในทันที 
มาตรา ๑๑๗ การลงประชามติขับไล่ผู้ใดพ้นจากตำแหน่ง จะกระทำได้ต่อเมื่อผู้นั้นทำงานครบหนึ่งปีนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ถ้าผู้ใดเคยถูกลงประชามติขับไล่จะลงประชามติขับไล่อีกครั้งได้หลังจากครบหนึ่งปี นับถัดจากวันลงประชามติครั้งก่อน
มาตรา ๑๑๘ ผู้มีอายุตั้งแต่สิบหกปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีสิทธิ์ลงประชามติ
มาตรา ๑๑๙ ให้มีการอภิปรายโต้วาทีระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายสนับสนุน ให้เวลาเท่าเทียมกัน ในประเด็นหรือญัตติที่จะลงประชามติสามครั้ง ก่อนวันลงประชามติ พร้อมถ่ายทอดผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์
มาตรา ๑๒๐ ผลการลงประชามติถือเป็นที่สิ้นสุด

++++++++++
FfF