บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


01 พฤษภาคม 2552

<<< วันคิดถึงกรรมของประชากร >>>

วันนี้เป็นวันแรงงานแห่งชาติ
ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่าวันกรรมกร
ปีนี้น่าจะเป็นอีกปี
หลังจากที่เคยประสบในวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งปี 40-41
ที่มีข่าวเกี่ยวกับคนตกงานมากมาย
ทั้งจำนวนคนตกงานนับล้านคน
ธุรกิจปิดกิจการเป็นว่าเล่น
มีบางคนประกาศขายบ้าน
ขอแค่ล้างหนี้ที่ยังผ่อนไม่หมด
เพื่อไม่ให้เสียเครดิตกับสถาบันการเงิน
ยอมขาดทุนที่ผ่อนไปแล้วหลายปีก็มี
แม่บ้านบางคนก็มาขายตัวก็มี
หลายคนต้องทิ้งเมืองกรุง
หอบลูกหลานกลับต่างจังหวัด
ปีนี้ก็เริ่มมีข่าวคนจะตกงานนับล้าน
และเผลอๆ อาจหลายล้าน
ตามมาด้วยข่าวการส่งออกไม่ดี
มีข่าวปิดกิจการเยอะแยะมากขึ้น
ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่า
ปีนี้เผาจริงหรือเผาหลอก
ถ้าปีนี้แค่เผาหลอก
ปีหน้าสงสัยจะสาหัสกว่านี้

สำหรับคนที่ตกงานอยู่ตอนนี้
มีอะไรก็ทำไปก่อน
อย่าเกี่ยงงานหรือเกี่ยงเงินเดือน
มันเป็นประสบการณ์ชีวิตทั้งนั้น
การได้ทำงานที่ไม่ตรงสาขา
บางทีคุณอาจจะชอบก็ได้
หรือได้ประสบการณ์ไปใช้ในอนาคตก็ได้
อาจผลิตผลงานหรืองานฝีมือมาขาย
หรือไปร่วมเปิดท้ายขายของที่ไม่ใช้
ไม่แน่ถ้าลองสำรวจข้าวของในบ้านที่ไม่ค่อยได้ใช้
เอาไปขายอาจได้ทุนไปประกอบกิจการเล็กๆ ก็ได้
การค้าขายก็เป็นการฝึกให้รู้จักกล้า
และไม่รู้สึกอายที่จะมาค้าขาย
บางคนเขาขายตัวขายเสียงน่าอายกว่าเยอะ
ถ้าขายของได้เดี๋ยวได้อะไรมาเพียบ
เช่นความกล้าพูด กล้าแสดงออก
และเทคนิคทางการค้า
เริ่มจากจุดเล็กๆ ร้านเล็กๆ
เวลาเจ๊งจะได้มีทุนเหลือทำต่อไป
ประสบการณ์ทั้งนั้น
อย่าอยู่เฉยๆ นั่งรองาน
บางคนอาจไปเรียนเพิ่มเติมถ้ามีทุน
เรียนภาษาก็น่า เรียน ป.โท ป.เอก
เรียนได้ทั้งนั้นถ้ามีปัญญาเรียนกัน
ถ้าไม่ทำอะไรจะเครียด
และอาจรู้สึกตัวเองไม่มีค่าอะไร
เมื่อตกงานไปนานๆ
ที่จริงบางคนเขาไม่ได้เรียนจบปริญญาอะไร
เขายังดิ้นรนส่งลูกเรียนจนจบปริญญาได้หลายคน
ขอแค่อย่าท้อแท้ และไม่กลัวความล้มเหลว
รวมทั้งสนุกกับการได้มีประสบการณ์แปลกใหม่
วันหนึ่งอาจเป็นวันของคุณหรือใคร
ที่กำลังหางานทำอยู่ในขณะนี้

"การดิ้นรน คือการใช้ชีวิตความเป็นคนที่คุ้มค่า"
"ความสำเร็จในชีวิต เริ่มจากคิดลงมือทำ"

โดย มาหาอะไร

----------------------------------------------------------------

สศช.ชี้ว่างงานครึ่งปีแรกน่าห่วงคาดยอดปี 52 พุ่ง 1.3 ล้าน-ห่วงคนเครียด-ปัญหาสังคม

คม ชัดลึก : สศช.เผยปี 51 คนว่างงาน 5.1 แสนคน มองปีนี้แนวโน้มรุนแรงขึ้นยอดสูง 1.3 ล้านคน ชี้เลิกจ้าง 40% ไม่ได้รับเงินชดเชย รับครึ่งปีแรกสถานการณ์น่าเป็นห่วง หวังครึ่งหลังดีขึ้น กังวลคนเครียด-ปัญหาสังคม

นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงสถานการณ์ภาวะสังคมปี 2551 ว่า สิ้นไตรมาส 4 ปี 2551 มีผู้ว่างงาน 5.1 แสนคน เพิ่มขึ้น 9 หมื่นคนจากปี 2550 และจากรายงานการเลิกจ้างของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีคนงานถูกเลิก จ้างเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีเพียง 29,915 คน เป็น 55,549 คนในปี 2551 ขณะที่ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2552 มีผู้ถูกเลิกจ้างแล้ว 17,474 คน หรือ 31.5% ของผู้ถูกเลิกจ้างในปี 2551
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่ราว 40% ยังไม่ได้รับค่าชดเชยการเลิกจ้างอย่างทั่วถึง เพราะเป็นลูกจ้างชั่วคราว หรือถูกบีบให้ออก และ 30% ไม่ได้รับเงินชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด มีเพียง 10% ที่ได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานและ 11% ไม่ได้รับสิทธิ เนื่องจากไม่ตรงตามเงื่อนไขของสำนักงานประกันสังคม
“สถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังทรุดตัวส่งผลให้ปัญหาการว่างงานใน ปี 2552 มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีแผนปรับลดกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับภาวะตลาดทั้งใน และนอกประเทศ กระทบต่อการจ้างงาน เช่น กิจการรถยนต์ กำลังดำเนินการลดพนักงาน ซึ่งหากคิดตามสมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลบ 1% ถึง 0 คาดว่าจะมีคนตกงานเพิ่มขึ้นจากปี 2551 อีกจำนวน 5 แสนคน นอกจากนี้ ยังมีนักศึกษาจบใหม่ที่ว่างงานอีก 2-3 แสนคน ดังนั้น ในปี 2552 จะมีผู้ว่างงานทั้งสิ้นประมาณ 9 แสน-1.3 ล้านคน หรือ 2.5-3.5% ของกำลังแรงงาน” นางสุวรรณี กล่าว
สำหรับ มาตรการที่รัฐบาลออกมา เช่น การเพิ่มกำลังซื้อและลดค่าครองชีพ เพิ่มศักยภาพการจ้างงาน สินเชื่อเพื่อชะลอการเลิกจ้าง กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน จ้างบัณฑิตจบใหม่ สวัสดิการสังคมต่างๆ คาดว่าจะสามารถบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้ระดับหนึ่ง ซึ่งภาวะว่างงานในปี 2552 จะน่าเป็นห่วงเพียงครึ่งปีแรกเท่านั้น ส่วนในไตรมาสที่ 3-4 จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
นางสุวรรณีกล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจและการว่างงานที่ มีแนวโน้มรุนแรง ได้ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตด้วย โดยในปี 2551 มีผู้ป่วยสุขภาพจิต 1.4 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีเพียง 70,988 ราย พบว่ามีอาการวิตกกังวล เครียด ใกล้เคียงกัน 3.9 แสนราย รองลงมาซึมเศร้า พยายามฆ่าตัวตาย 48.1% เนื่องจากปัญหาการงานและปัญหาการเงิน และพบว่าพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคนเปลี่ยนไป เป็นผลมาจากความไม่มั่นคงต่อสถานการณ์ของรายได้ ในขณะเดียวพบว่าคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์และคดียาเสพติดเพิ่มขึ้น

----------------------------------------------------------------

ก.แรงงานเผยจ.สมุทรปราการถูกเลิกจ้างมากสุด อิเลคทรอนิคส์อันดับ 1

กรม สวัสดิการฯ เผย ผลการเฝ้าระวังสถานการณ์การเลิกจ้าง ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2551-24 เมษายน 2552 พบว่า จ.สมุทรปราการ เป็นพื้นที่มีการเลิกจ้างมากที่สุด 1.4 หมื่นคน โดยกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ เลิกจ้าง 109 แห่ง ถูกเลิกจ้าง 20,522 คน ทั้งนี้ จ.ชลบุรี มีแนวโน้มลูกจ้างได้รับผลกระทบกว่า 5 หมื่นคน ข้อบ่งชี้มีการหยุดกิจการชั่วคราวและจ่ายค่าจ้างบางส่วน 448 แห่ง ลูกจ้างที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง 81,870 คน และลูกจ้างที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในอนาคต 163,055 คน

ผล การรวบรวมข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์การเลิกจ้าง ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2551 - 24 เมษายน 2552 ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เผยข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์การเลิกจ้าง จากการรายงานข้อมูลของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด และกลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ปรากฏดังนี้
1. ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2551 - 24 เมษายน 2552 มีสถานประกอบกิจการที่มีการเลิกจ้างลูกจ้าง 994 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 83,401 คน
สถานประกอบกิจการที่มีแนวโน้มการเลิกจ้าง 737 แห่ง ลูกจ้างทั้งหมด 378,432 คน มีแนวโน้มจะถูกเลิกจ้าง 103,827 คน ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ 274,605 คน จำแนกเป็น
2. สถานการณ์การเลิกจ้างในปี 2551 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2551 สถานประกอบกิจการที่มีการเลิกจ้างลูกจ้าง 698 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 55,549 คน สถานประกอบกิจการที่มีแนวโน้มการเลิกจ้าง 327 แห่ง ลูกจ้างทั้งหมด 201,241 คน มีแนวโน้มจะถูกเลิกจ้าง 42,938 คน ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 158,303 คน
3. สถานการณ์การเลิกจ้าง ในช่วงระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2551 มีสถานประกอบกิจการที่มีการเลิกจ้างลูกจ้าง 590 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 41,410 คน สถานประกอบกิจการที่มีแนวโน้มการเลิกจ้าง 315 แห่ง ลูกจ้างทั้งหมด 199,616 คน มีแนวโน้มจะถูกเลิกจ้าง 42,905 คน ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ 157,711 คน
4. สถานการณ์การเลิกจ้าง ในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 24 เมษายน 2552 มีสถานประกอบกิจการที่มีการเลิกจ้างลูกจ้าง 296 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 27,852 คน สถานประกอบกิจการที่มีแนวโน้มการเลิกจ้าง 410 แห่ง ลูกจ้างทั้งหมด 177,191 คน มีแนวโน้มจะถูกเลิกจ้าง 60,889 คน ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ 116,302 คน

ข้อมูลสถานการณ์การเลิกจ้างที่สำคัญ สรุปดังนี้
1.การเลิกจ้าง
พิจารณาจำแนกตามลักษณะต่าง ๆ ได้ดังนี้
1.1 พื้นที่การเลิกจ้าง
- พื้นที่ที่มีการเลิกจ้างมากที่สุด 5 จังหวัดแรก
1. จังหวัดสมุทรปราการ ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 14,123 คน (สปก.ที่เลิกจ้าง 106 แห่ง)
2. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 12,051 คน (สปก.ที่เลิกจ้าง 70 แห่ง)
3. จังหวัดปทุมธานี ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 10,829 คน (สปก.ที่เลิกจ้าง 47 แห่ง)
4. กรุงเทพฯ ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 8,983 คน (สปก.ที่เลิกจ้าง 143 แห่ง)
5. จังหวัดฉะเชิงเทรา ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 4,669 คน (สปก.ที่เลิกจ้าง 26 แห่ง)

1.2 ขนาดสถานประกอบกิจการที่เลิกจ้าง และลักษณะการเลิกจ้าง
ขนาดสถานประกอบกิจการที่มีการเลิกจ้างเรียงตามลำดับ
1. สถานประกอบกิจการขนาด 50 - 299 คน จำนวน 323 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 20,349 คน
2. สถานประกอบกิจการขนาด 10 - 49 คน จำนวน 243 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 4,058 คน
3. สถานประกอบกิจการขนาด 1 - 9 คน จำนวน 195 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 574 คน
4. สถานประกอบกิจการขนาด 300 - 999 คน จำนวน 153 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 24,687 คน
5. สถานประกอบกิจการขนาด 1,000 คนขึ้นไป จำนวน 80 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 33,733 คน

การเลิกจ้างลูกจ้างตามลักษณะการเลิกจ้าง
- ปิดกิจการจำนวน 415 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 27,464 คน
-เลิก จ้างลูกจ้างเพียงบางส่วนและยังคงดำเนินกิจการ 579 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 55,937 คน (คิดเป็นร้อยละ 16.67 ของลูกจ้างทั้งหมด)

1.3 ประเภทกิจการที่เลิกจ้าง
ประเภทกิจการที่มีการเลิกจ้างลูกจ้าง 5 อันดับแรก
- การผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ มีการเลิกจ้าง 109 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 20,522 คน
- ผลิตสิ่งทอสิ่งถัก เครื่องแต่งกาย ฟอกหนังสัตว์ และรองเท้า มีการเลิกจ้าง 112 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 15,392 คน
- การผลิตยานยนต์ และอุปกรณ์ขนส่ง มีการเลิกจ้าง 80 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 12,784 คน
- การผลิตเครื่องจักร มีการเลิกจ้าง 48 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 9,007 คน
- การผลิตเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ มีการเลิกจ้าง 78 แห่ง ลูกจ้าง ถูกเลิกจ้าง 7,111 คน

1.4 สาเหตุของการเลิกจ้าง
เมื่อพิจารณาจากสาเหตุของการเลิกจ้าง 5 อันดับแรก
- ประสบภาวะขาดทุน ขาดสภาพคล่องทางการเงิน จำนวน 612 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 41,225 คน
- การสั่งซื้อลดลง จำนวน 206 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 31,541 คน
- หมดสัญญา, ยกเลิกสัมปทาน จำนวน 28 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 3,182 คน
- ลดขนาดองค์กร/ลดวันทำงานจำนวน 39 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 2,741 คน
- ย้ายฐานการผลิต ย้ายสถานประกอบกิจการ โอนลูกจ้างไปบริษัทในเครือจำนวน 26 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 2,071 คน

2. สถานประกอบกิจการที่มีแนวโน้มการเลิกจ้าง
จากการเฝ้าระวังสถานประกอบกิจการที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้างลูกจ้าง โดยพิจารณาจากสถานการณ์บ่งชี้ซึ่งทำให้คาดหมายได้ว่าอาจจะมีการเลิกจ้างถ้า ปัญหาดังกล่าวยังคงดำรงอยู่และนายจ้าง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ พบว่าสถานประกอบกิจการที่มีแนวโน้มการเลิกจ้างสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551-24 เมษายน 2552 จำนวน 737 แห่ง ลูกจ้างทั้งหมด 378,432 คน มีแนวโน้มจะถูกเลิกจ้าง 103,827 คน ได้รับผลกระทบ 274,605 คน เป็นแนวโน้มการเลิกจ้าง ปี พ.ศ. 2551 จำนวน 327 แห่ง ลูกจ้างทั้งหมด201,241 คน มีแนวโน้มจะถูกเลิกจ้าง 42,938 คน ได้รับผลกระทบ 158,303 คน
แนวโน้มการเลิกจ้างระหว่างวันที่ 1 มกราคม-24 เมษายน 2552 จำนวน 410 แห่ง ลูกจ้างทั้งหมด 177,191 คน มีแนวโน้มจะถูกเลิกจ้าง 60,889 คน ได้รับผลกระทบ 116,302 คน

2.1 ข้อบ่งชี้ว่าอาจมีการเลิกจ้าง 5 อันดับแรก
1. มีการหยุดกิจการชั่วคราวและจ่ายค่าจ้างบางส่วน 448 แห่ง ลูกจ้างที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง 81,870 คน และลูกจ้างที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในอนาคต 163,055 คน
2. ลดการผลิต ลดวันทำงาน 215 แห่ง ลูกจ้างที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง 19,638 คน และลูกจ้างที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในอนาคต 97,899 คน
3. อื่น ๆ (แจ้งการปิดกิจการ หมดสัญญาเช่าที่ดินฯ) 37 แห่ง ลูกจ้างที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง 1,142 คน และลูกจ้างที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในอนาคต 8,763 คน
4. ขาดทุน 10 แห่ง ลูกจ้างที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง 818 คน และลูกจ้างที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในอนาคต 874 คน
5. ขาดแคลนวัตถุดิบ 5 แห่ง ลูกจ้างที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง 141 คน และลูกจ้างที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในอนาคต 892 คน

2.2 พื้นที่ที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง 5 จังหวัดแรก
1. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลูกจ้างที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง 32,772 คน (สปก.ที่มีแนวโน้ม 118 แห่ง) และลูกจ้างที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในอนาคต 24,648 คน
2. จังหวัดสมุทรปราการ ลูกจ้างที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง 13,776 คน (สปก.ที่มีแนวโน้ม 51 แห่ง) และลูกจ้างที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในอนาคต 21,876 คน
3. จังหวัดชลบุรี ลูกจ้างที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง 11,484 คน (สปก.ที่มีแนวโน้ม 171 แห่ง) และลูกจ้างที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในอนาคต 50,078 คน
4. จังหวัดนครราชสีมา ลูกจ้างที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง 11,341 คน (สปก.ที่มีแนวโน้ม 18 แห่ง) และลูกจ้างที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในอนาคต 15,232 คน
5. จังหวัดปราจีนบุรี ลูกจ้างที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง 10,516 คน (สปก.ที่มีแนวโน้ม 28 แห่ง) และลูกจ้างที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในอนาคต 6,607 คน

2.3 ประเภทกิจการที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง 5 อันดับแรก
1. ผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ 193 แห่ง ลูกจ้างที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง 63,520 คน และลูกจ้างที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในอนาคต 106,696 คน
2. ผลิตยานยนต์ และอุปกรณ์ขนส่ง 140 แห่ง ลูกจ้างที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง 18,222 คน และลูกจ้างที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในอนาคต 69,900 คน
3. ผลิตเครื่องจักร 50 แห่ง ลูกจ้างที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง 5,767 คน และลูกจ้างที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในอนาคต 19,473 คน
4. การผลิตเครื่องเรือน เครื่องประดับ และเฟอร์นิเจอร์ 58 แห่ง ลูกจ้างที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง 4,087 คน และลูกจ้างที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในอนาคต 9,518 คน
5. การผลิตผลิตภัณฑ์จากแร่อโลหะ โลหะ 64 แห่ง ลูกจ้างที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง 3,551 คน และลูกจ้างที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในอนาคต 9,834 คน

3. ความต้องการแรงงานเพิ่ม
สถาน ประกอบกิจการที่แจ้งความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น จำนวน 9 แห่ง จำนวนลูกจ้างที่ต้องการเพิ่มขึ้นประมาณ 5,459 คน เป็นกิจการประเภทผลิตใบยาสูบ ผลิตแหอวน
ตัด เย็บเสื้อผ้าและรองเท้า ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตเสื้อผ้าส่งออก ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดขอนแก่น ราชบุรี สมุทรปราการ และแพร่

ข้อมูลจาก
คณะทำงานติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์การเลิกจ้าง
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
ข้อมูล ณ วันที่ 24 เมษายน 2552

----------------------------------------------------------------