ซึ่งงบทางทหารได้พุ่งกระฉูดขึ้นไป
ตั้งแต่หลังทำรัฐประหาร
ก็ยังไม่ได้ลดลงมาเลย
แม้ยามเศรษฐกิจไม่ดี
รัฐไม่มีเงิน
มีข่าวไปกู้เงินไม่เว้นแต่ละวัน
ถ้าตัดงบประมาณทหารที่ไปซื้ออาวุธ
ที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนลงดีๆ
เผลอๆ จะไม่ต้องไปกู้เพิ่มอีกหลายหมื่นล้าน
เพราะการกู้เงินเพิ่ม
ก็คือการรีดภาษีประชาชนไปใช้หนี้ในอนาคตดีๆ นี่เอง
ดังนั้นถ้ายังไม่มีเงิน
ก็ไม่ควรมากู้เพื่อให้มีหนี้เพิ่ม
เพื่อไปประเคนพวกให้ท้าย
หนุนให้มาเป็นรัฐบาล
ลองติดตามต่อไปว่า
รัฐบาลนี้สุดท้ายแล้วจะกล้าลดงบประมาณทหารลงหรือเปล่า
โดย มาหาอะไร
------------------------------------------------------------
คมชัดลึก : กองทัพเจอหั่นงบ 2 หมื่น ล. หลังรัฐบาลปรับลดงบรวมปี 53 ถึง 2 แสน ล. ทบ. เจอเต็มๆ 1 หมื่น ล. ส่อแห้ว รถเกราะยูเครน-ฮ.เอ็มไอ 17-ปลย. ทร.ชะลอ "เรือฟริเกต" ทอ. กระทบสถานีเรดาร์-บินกริพเพนลอต 2
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลจากการปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 เหลือเพียง 1.7 ล้านล้านบาท จากเดิม 1.9 ล้านล้านบาท ทำให้แต่ละกระทรวงได้รับงบประมาณลดลงเฉลี่ย 7-10 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 20,000-50,000 ล้านบาท โดยในส่วนของกระทรวงกลาโหม ก็ถูกปรับลดไปเกือบ 20,000 ล้านบาท หรือประมาณ 11 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่เคยได้รับประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ก็ถูกปรับเหลือเพียง 1.51 แสนล้านบาท ซึ่งกระทบต่อแผนการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของแต่ละเหล่าทัพ ซึ่งผู้บัญชาการเหล่าทัพได้แจ้งให้หน่วยขึ้นตรงแต่ละเหล่าทัพทราบ และให้แต่ละหน่วยไปศึกษาในรายละเอียด โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาและเรื่องสวัสดิการของแต่ละเหล่าทัพที่จะต้องถูกตัด ลดเป็นอันดับแรก โดยก่อนหน้านี้งบการศึกษาดูงานในต่างประเทศก็ถูกตัดแล้ว โดยเปลี่ยนให้มาศึกษาดูงานภายในประเทศแทน
แหล่งข่าวกระทรวงกลาโหม เปิดเผยอีกว่า สำหรับโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของแต่ละเหล่าทัพก็จะต้องมาสำรวจถึง ความเหมาะสมว่าเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ โดยหลายโครงการอาจจะต้องชะลอไปก่อน ซึ่งแต่ละเหล่าทัพจะต้องไปสำรวจในรายละเอียดเพื่อนำเสนอให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ จากงบประมาณ 100 เปอร์เซ็นต์ กองทัพบกจะถูกตัดลดงบประมาณมากที่สุดราว 50 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 10,000 ล้านบาท ส่วนอีก 50 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณที่ถูกตัดไปเกลี่ยกับกระทรวงกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการทัพไทย กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ
ส่วนโครงการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ที่กองทัพบกอาจจะมีปัญหามากที่สุด คือ โครงการจัดซื้อรถยานเกราะล้อยาง จากประเทศยูเครน วงเงินงบประมาณเกือบ 5,000 ล้านบาท และโครงการการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ เอ็มไอ 17 จากประเทศรัสเซีย จำนวน 4 ลำ รวมถึงโครงการจัดซื้ออาวุธปืนขนาดเล็ก ทั้งนี้ โครงการการจัดซื้อรถยานเกราะล้อยางจากประเทศยูเครน แม้ในสมัยรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช จะลงนามอนุมัติให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จัดซื้อไปก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่สามารถซื้อได้ เนื่องจากติดปัญหาเกี่ยวกับมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน อีกทั้งประเทศยูเครนก็เกิดปัญหาในเรื่องการจัดซื้อเทคโนโลยีเพื่อมาประกอบ กับรถยูเครนที่กองทัพบกไทยจัดซื้อได้ เพราะเกิดปัญหากับประเทศเยอรมนีเรื่องการซื้อท่อก๊าซ ทำให้ประเทศเยอรมนีไม่ยอมขายอุปกรณ์เกี่ยวกับชิ้นส่วนอะไหล่ของรถยานเกราะ ล้อยางให้ จึงทำให้โครงการดังกล่าวชะงักไป
ส่วนโครงการของกองทัพเรือ ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก มีเพียงโครงการจัดซื้อเรือฟริเกต ที่คงต้องชะลอไปก่อน ขณะที่กองทัพอากาศอาจจะส่งผลกระทบกับการก่อสร้างและปรับปรุงสถานีเรดาร์ มูลค่า 4,000 ล้านบาท เพื่อรองรับระบบการปฏิบัติการของเครื่องกริพเพน ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่ที่จะมาประจำการในปี 2554 จำนวน 6 ลำ และอาจจะมีผลกระทบกับการจัดซื้อเครื่องบินกริพเพนลอตที่ 2 ด้วยโดยวาระการพิจารณาการปรับลดงบประมาณประจำปี 2553 จะมีขึ้นระหว่างการประชุม ครม.ในวันที่ 6 พฤษภาคม
http://www.komchadluek.net/detail/20090505/11781/กองทัพถูกหั่นงบปี53มากถึง2หมื่นล้าน.html
--------------------------------------------------------------------
"เทพเทือก"แจงยังไม่ได้ข้อสรุปหั่นงบฯซื้ออาวุธ2หมื่นล. เชื่อกองทัพยินดีถ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
" สุเทพ" เผยยังไม่ได้ข้อยุติในการปรับลดงบฯปี 53 กระทรวงกลาโหมเกือบ 2 หมื่นล้าน ที่จะกระทบต่อการซื้ออาวุธของกองทัพ ทั้งรถหุ้มเกราะ-เฮลิคอปเตอร์ เอ็มไอ 17 มั่นใจกองทัพยินดีปฏิบัติตามถ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
สุเทพแจงหั่นงบกองทัพยังไม่ได้ข้อสรุป-เชื่อคงเข้าใจถ้าโดนจริง
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าววันที่ 6 พฤษภาคมถึงกระแสข่าวคณะรัฐมนตรี (ครม.) เตรียมตัดงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกระทรวงกลาโหม 2 หมื่นล้านบาท หลังรัฐบาลปรับลดกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ลงเหลือ 1.9 ล้านล้านบาท ว่า ยังเป็นเรื่องที่คิดกันอยู่ ยังไม่ได้ข้อยุติ ความเป็นจริงคือรัฐบาลมีรายได้น้อยลง 2 แสนล้านบาท ต้องกระทบกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ และการดำเนินโครงการต่างๆ แน่นอน อันนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราจะหาทางแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรเพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้ ทุกกลไกของรัฐบาลสามารถเดินหน้าได้ ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของทีมเศรษฐกิจ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในสถานการณ์นี้ทุกหน่วยงานควรรัดเข็มขัดใช่หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ก็มีความคิดแตกต่างกัน บางคนคิดว่ารัฐบาลควรใช้จ่ายให้มากเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การใช้เงินต้องเกิดประโยชน์ ส่วนเรื่องการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ หากมีความจำเป็นต้องทำ
เมื่อถามว่า รัฐบาลสามารถพิจารณาเรื่องความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องคำนึงถึงจุดเกรงใจที่มีต่อกองทัพใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า “ถามอย่างนี้อาจทำให้เกิดปัญหาได้ ผมเรียนว่าต้องเอาประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก คิดอย่างนี้ไม่ได้ กองทัพก็มีหัวจิตหัวใจ อย่าทำให้มีความรู้สึกแตกแยก”
เมื่อถามย้ำ ว่า ที่ผ่านมากองทัพถูกมองเป็นแบ็คอัพ (ฝ่ายสนับสนุน) ของรัฐบาล หากมีการตัดงบของกองทัพ จะส่งผลอย่างไรต่อความสัมพันธ์ของ 2 ฝ่าย นายสุเทพกล่าวว่า ข้อสงสัยอย่างนี้เป็นประเด็นที่ต้องระมัดระวัง เพราะกองทัพประกาศจุดยืนชัดเจนว่าเป็นกองทัพของประชาชน เป็นกองทัพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้นไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ถ้าสั่งการในเรื่องที่ถูกต้อง เขาก็ยินดีปฏิบัติ ไม่ใช่มาแบ็คอัพรัฐบาล เขาไม่มาเล่นการเมืองด้วย การเมืองเป็นเรื่องของพรรคการเมืองและนักการเมือง แต่เมื่อพรรคการเมืองมาเป็นรัฐบาลก็เป็นผู้บังคับบัญชาของกองทัพ ทำงานร่วมกับกองทัพได้
http://matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1241530158&grpid=00&catid=01
------------------------------------------------------------------------
ภาพข้อมูลงบประมาณประกอบจาก คุณ mcu51
บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.