บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


30 พฤษภาคม 2552

<<< ข้อเท็จจริงที่ควรรู้ เรื่อง ม็อบตากใบ >>>

เรื่องการสลายม็อบตากใบและมีคนตายจำนวนมากนี้
เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งในสมัยรัฐบาลทักษิณ
และ ส.ส. ปชป. ได้นำ CD การสลายม็อบตากใบ
ไปแจกปลุกระดมคนแถว 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วย
ผลก็คือทำให้ ทรท. ต้องสูญพันธุ์ในภาคใต้ในเวลาต่อมา
ซึ่งปัญหาใหญ่อยู่ที่การตายในระหว่างขนย้ายไปค่ายทหาร
ซึ่งมีจำนวนสูงมาก และศาลได้ตัดสินคดีนี้ว่า
เกิดจากการขาดอากาศหายใจ
ก็คงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมขาดอากาศหายใจกันเยอะ
จากข้อมูลผลสอบ สลายม็อบ "ตากใบ" ดังนี้

"ท่าทางของผู้ถูกควบคุมบนรถบรรทุกเมื่อมาถึงค่าย(นั่ง นอนคว่ำ นอนหงาย หรือยืน) คณะอนุกรรมการได้สอบถามผู้ถูกควบคุม 92 ราย เกือบทุกรายต่างชี้แจงว่า เมื่อขึ้นรถบรรทุกที่ สภ.อ.ตากใบ เจ้าหน้าที่ได้สั่งให้นอนคว่ำหน้าและนอนซ้อนกัน และเมื่อถึงค่ายอิงคยุทธบริหารก็ยังอยู่ในท่าเดิม แต่มีรายหนึ่งได้นั่งไป

พ.ท.วัชระ สุขวงศ์ ซึ่งอยู่ในบริเวณลำเลียงผู้ถูกควบคุมลงพบว่า ในรถมีผู้เสียชีวิตประมาณ 20 คน บรรทุกคนมาประมาณ 70 คน นอนคว่ำเอามือไพล่หลัง พ.อ.นพนันท์ ชี้นประดับ พบว่าในรถคันแรกของขบวนแรก ผู้ถูกควบคุมนอนคว่ำมาแต่ไม่มีการนอนทับซ้อน ในรถคันนี้มีผู้เสียชีวต 1 คนแต่จากการถูกตีด้วยของแข็ง"

สำหรับเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่
ที่ต้องระมัดระวังให้มากที่สุดถึงเรื่องมนุษยธรรม
และความปลอดภัยของผู้ชุมนุม
ไม่ควรกระทำการแบบประมาทเลินเล่อกับชีวิตมนุษย์เด็ดขาด
ขนาดเป็นช่วงสงคราม
เขายังมีวิธีปฏิบัติแก่เชลยสงคราม
ไม่ให้ไปทารุณหลังเขาตกเป็นเชลยแล้ว
และต้องปฏิบัติโดยคำนึงถึงมนุษยธรรมให้มากที่สุดด้วย
กรณีนี้ไม่ใช่เชลยสงคราม
เป็นผู้ชุมนุมอาจมีบางส่วนที่เตรียมการณ์มาป่วน
แต่ส่วนใหญ่อาจมาด้วยใจบริสุทธิ์
ควรแยกแยะอย่าเหมารวม
เพราะถ้าไม่โดนกับตัวเองก็จะไม่รู้สึกหรอก

โดย มาหาอะไร

----------------------------------------

ตะลึง!สลาย"ม็อบตากใบ"ยอดตายสูงถึง 84 ศพ


ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์
ภาพประกอบ : ผู้จัดการออนไลน์

ตะลึง!สลาย "ม็อบตากใบ"ตายเพิ่มอีก 78 ศพ- "พรทิพย์"ระบุ สาเหตุการตายเพราะขาดอากาศหายใจและอิดโรยเพราะช่วงถือศีลอด ซึ่งหากรวมผู้เสียชีวิตก่อนหน้านี้ 6 ศพจะมีผู้เสียชีวิตมากถึง 84 ศพ ด้าน "ทักษิณ"ระบุคนตายเพราะอิดโรยขาดอาหารไม่เกี่ยวกับจนท.ขณะที่ "ชัยสิทธิ์-ประวิตร"ยืนยันทหารทำดีที่สุดแล้ว
วันนี้ (26 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และ พล.ต.สินชัย นุตสถิตย์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ร่วมกันแถลงข่าว หลังจากมีการชันสูตรพลิกศพกลุ่มวัยรุ่นที่ทำการประท้วงบริเวณหน้าสถานีตำรวจ ภูธร อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ว่า หลังจากที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าเคลียร์พื้นที่และสลายฝูงชน ซึ่งทำการจับกุมตัวผู้ก่อความไม่สงบจำนวน 1,300 คน มาทำการสอบสวนที่กองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้า โดยได้ให้ทั้งหมดเดินขึ้นรถสิบล้อของทหาร โดยในขณะที่ทำการลำเลียงนั้น ได้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมอีกถึง 78 คน ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตเพราะร่างกายอิดโรย และขาดอากาศหายใจ

สำหรับ สาเหตุที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากนั้น เนื่องจากรถแต่ละคันได้นำตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมขึ้นรถเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการแออัด จนทำให้ผู้ที่อยู่หน้าสุดของรถหายใจไม่ออกและเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งหากรวมผู้เสียชีวิตก่อนหน้านี้อีก 6 ราย กับผู้เสียชีวิตล่าสุด ทำให้ล่าสุดมียอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปะทะกันที่โรงพัก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส มีถึง 84 ศพ แล้ว

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าในขณะที่มีการลำเลียงกลุ่มชุมนุมนั้นได้ให้กลุ่มผู้ชุมนุมขึ้นรถ อย่างเป็นระเบียบ และไม่ได้มีการจับโยนขึ้นรถแต่อย่างใด แต่การเสียชีวิตของผู้ประท้วงเกิดจากความอิดโรย เพราะในขณะประท้วงต้องตากแดด ประกอบกับไม่ได้รับประทานอาหาร เนื่องจากเป็นช่วงถือศีลอดของชาวมุสลิม และมีการเสียเหงื่อมาก จึงทำให้ร่างกายของผู้เสียชีวิตอาจจะเกิดอาการช็อกจนทำให้เสียชีวิตในที่สุด

นายกฯยืนยันจนท.ทำตามขั้นตอน
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ เกี่ยวเหตุการณ์การชุมนุมที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ว่า ช่วงแรกมีการรายงานการจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 500 คน แต่ขณะนี้รวมแล้วมีประมาณ 300 คน โดยคนที่มาชุมนุมแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เคยทำความผิดมาก่อน และเป็นแกนนำในการก่อกวน กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่แห่ไปร่วม และทำในสิ่งที่ไม่ดี สร้างความวุ่นวาย ทำร้ายคนอื่น และกลุ่มสุดท้าย เป็นพวกไทยมุง ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังแยกกลุ่มอยู่ และมีการเก็บหลักฐานในพื้นที่หลาย ๆ แห่ง

“บุคคลใน กลุ่มแรก ส่วนใหญ่เป็นคนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน ขณะที่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เข้าไปตรวจสอบดีเอ็นเอของผู้เสียชีวิต เหตุการณ์เมื่อวานนี้ ผมติดตามดูเอง และรู้ทุกระยะ ทุกขั้นตอน มีการขอนโยบายจากผมตั้งแต่เวลา 11.00 น.ผมกำหนดนโยบายชัดเจนว่า ไม่ยอมให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาเด็ดขาด และให้ใช้วิธีการคุมฝูงชนตามทฤษฎีอย่างถูกต้อง ไม่ให้ใช้อาวุธ ยกเว้นใช้ปืนยิงขึ้นฟ้าเท่านั้นซึ่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามทุกอย่าง และทำได้ดีมาก ต้องขอชมเชยเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่มีผลกระทบกับภายนอก เป็นเรื่องภายในของประเทศ เพียงแต่ขอร้องสื่อขอให้เสนอข่าวเป็นข่าว อย่าแต่งนิยาย ใครแต่งนิยายผมจะแช่ง”

ระบุคนตายไม่ได้เกิดจากจนท.
นายกรัฐมนตรี รับรองว่ากรณีที่มีคนตาย ไม่มีการตายจากทางราชการแม้แต่คนเดียว แต่เกิดจากการชุลมุนของม็อบ และจากการอดอาหาร ร่างกายจึงอ่อนเพลีย ประกอบกับมีการชุมนุมหนาแน่น เป็นเรื่องของร่างกายล้มเหลวธรรมดา ไม่ใช่เรื่องเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปทำอะไร ส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ถูกยิงอย่างละ 1 คน และได้รับบาดเจ็บทั่วไปอีก 7 คน สามารถตรวจค้นพบปืนเอ็ม 16 พร้อมซอง และกระสุนปืน จำนวน 4 กระบอก ปืนอาก้า พร้อมซอง และกระสุน 5 กระบอก ปืนพก 20 กระบอก ลูกระเบิดเอ็ม 26 1 ลูก และระเบิดอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง และว่าเวลานี้การตรวจค้นยังไม่เรียบร้อย เจ้าหน้าที่จะต้องค้นหาต่อ

“ต่อไปนี้ ผมขอบอกทุกคนให้ทราบว่า รัฐจะสถาปนาความเป็นระเบียบเรียบร้อย การใช้กฎหมายบ้านเมืองให้ถูกต้องในพื้นที่ภาคใต้ให้ได้ และผมจะดูด้วยตัวเอง” นายกรัฐมนตรี กล่าว

สำนักข่าวต่างประเทศประโคมข่าว
ด้าน สำนักข่าวต่างประเทศ เช่น รอยเตอร์ และบีบีซี รายงานข่าวโดยอ้างนายมานิตย์ สุธาพร รองปลัดกระทรวงยุติธรรม แถลงที่จังหวัดปัตตานีกี่ยวกับกรณีการสลายม็อบที่หน้าอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาสเมื่อวานนี้ว่า มีผู้เสียชีวิตกว่า 80 คน

"มี 78 คน ที่เสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ โดยที่เราไม่พบบาดแผลตามร่างกายแต่อย่างใด"

"ชัยสิทธิ์" ชี้สลายม็อบทำถูกหวั่นบานปลาย
ขณะ ที่ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวถึงสถานการณ์ที่ปะทะกันที่ สภ.อ.ตากใบ ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่าไปคิดเอง ควรไปถามผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะรู้ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเพราะเป็นการปฏิบัติงานตามหน้าที่ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ถ้าปล่อยให้ยืดเยื้อจะทำให้มีปัญหาตามมา

เมื่อ ถามว่าจะมีการแยกผู้ชุมนุมกับผู้ก่อการอย่างไร พล.อ.ชัยสิทธิ์ กล่าวว่าเ จ้าหน้าที่กำลังพยายามเท่าที่ดูเจ้าหน้าที่ทำงานอย่างรอบคอบ ตัดสินใจเด็ดขาด หากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเอาไม่อยู่ก็จะไม่ได้อะไรเลย ก็รู้อยู่แล้วว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ปกติ ดังนั้น ใครจะทำอะไรต้องระวังดี ที่เจ้าหน้าที่ไม่เอาข้อหากบฏเข้าไปด้วยขอให้เห็นใจเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการทบทวนการให้ปืนกับชาว บ้านหรือไม่ พล.อ.ชัยสิทธิ์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่รู้ดีอยู่แล้วว่าควรจะทำอย่างไร เพราะปืนที่ให้อยู่กับชาวบ้านก็ต้องเป็นปืนที่ราชการมอบให้ และชาวบ้านก็ควรจะปกปักรักษาไว้ให้ได้ต้องมีการฝึกซ้อมเชื่อว่าขณะนี้กำลัง ทำอยู่

ผบ.ทบ.ยืนยันจนท.ทำดีที่สุดแล้ว
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการทหารบกกล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า เบื้องต้นได้รับรายงานจาก พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่ได้ทำตามขั้นตอนทุกอย่างแล้ว จนในที่สุดเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องสลายฝูงชน คิดว่าเราจะต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจซึ่งได้มอบหมายให้ พล.ท.จงศักดิ์ พานิชกุล ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายกิจการพลเรือนไปประสานกับทางกองทัพภาคที่ 4 แต่การดำเนินการในพื้นที่ขึ้นอยู่กับกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัด ชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.)

ส่วนกองทัพภาคที่ 4 มีหน้าที่ทำตามนโยบายของ กอ.สสส.จชต. ขณะที่กองทัพบกพร้อมสนับสนุนทั้งด้านกำลังพล การข่าว และยุทธการ หากมีข้อมูลเพิ่มเติมก็จะส่งให้กองทัพภาคที่ 4 ดำเนินการ

พล. อ.ประวิตร กล่าวอีกว่ายังไม่ทราบรายละเอียดของแต่ละคนว่าเสียชีวิตจากเหตุใดเพราะต้อง ใช้เวลาตรวจสอบ ทั้งนี้ ผู้ที่เจ้าหน้าที่จับกุมไว้ได้หากตรวจสอบพบว่า มีหมายจับอยู่แล้วก็จะดำเนินการตามกฏหมายเพื่อขยายผลต่อไป แต่เบื้องต้นไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าใดเพราะฝูงชนมีจำนวนมาก ทั้งนี้ยังไม่ได้มีการวิเคราะห์จุดประสงค์ของผู้ก่อเหตุแต่ก็คงทราบกันดี อยู่แล้วว่าเขามีจุดประสงค์ใดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแนวร่วมมีการติดต่อประสาน งานกันอย่างเข้มแข็งดี แต่เจ้าหน้าที่ก็รับทราบมาก่อนว่าจะมีการดำเนินการ

อย่าง ไรก็ตาม ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจของประชาชนว่าเจ้าหน้าที่พยายามดูแลรักษา ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างดีเรื่องนี้ถ้าประชาชนเข้าใจ คิดว่าทุกอย่างจะดีขึ้นทันที ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ปรับปรุงด้านมวลชนสัมพันธ์อยู่ตลอดเวลา แต่ฝ่ายตรงข้ามก็มีการปรับปรุงเช่นกัน

ผู้สื่อข่าว รายงานว่า บรรยากาศที่หน้าค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีตั้งแต่ตอนเช้าจนถึงค่ำ มีผู้ปกครองและญาติ ๆ ของกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาจากพื้นที่ต่าง ๆ ในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาสจำนวนกว่า 300 คน เพื่อมาติดตามและสอบถามข่าวคราวถึงผู้ชุมนุม หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้สลายผู้ชุมนุมและจับกุมตัว จำนวน 1,300 คน ไว้ที่ค่ายอิงคยุทธบริหารตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เข้าไปเยี่ยม รวมทั้งห้ามบุคคลภายนอกและสื่อมวลชนเข้าไปเด็ดขาด ทำให้ผู้ปกครองต้องผิดหวังแต่ยังคงยืนรอที่บริเวณประตูทางเข้าและนั่งรวม กลุ่มตามฟุตบาทริมถนน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงให้ผู้ที่มาเยี่ยมได้ลงทะเบียนแสดงความจำนง ไว้พร้อมกับเขียนชื่อที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์แล้วให้กลับบ้านได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับไป แต่ชาวบ้านยังไม่ยอมกลับจนกว่าจะได้ทราบว่าถูกจับอยู่ที่นี่หรือไม่ และยังมีชีวิตอยู่รึเปล่า

นางมูยี เจะอารง อายุ 40 ปี บ้านลูโบ๊ะบาตู ตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี กล่าวว่า วันเกิดเหตุลูกชายและเพื่อนบ้าน จำนวน 17 คน เดินทางออกจากบ้านเมื่อเวลา 10.00 น. เพื่อไปงานแต่งงานที่อำเภอตากใบ เมื่อถึงจุดสกัดใกล้ที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้ห้ามไม่ให้รถผ่าน และควบคุมตัวไว้

----------------------------------------------------

แม่ทัพ4ขอย้าย ช็อกยอดคนตายเพิ่ม โจรใต้ตัดหัวผช.ผญบ.
คมชัดลึก
http://www.komchadluek.com/news/2004/11-03/p1--6543.html

แม่ ทัพภาค 4 แถลงน้ำตาคลอเบ้า ขอย้ายตัวเองช่วยราชการกองทัพบก เปิดทางกรรมการอิสระเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ ยอมรับ รู้สึกช็อก เมื่อยอดคนตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้านนายกฯ เซ็นตั้ง 10 คกก.แล้วสั่งรายงานผล 30 วัน ขณะที่ใต้ยังโหดร้ายวัน ผช.ผญบ.เมืองนราฯ ถูกฆ่าตัดหัว ยัดถุงปุ๋ยทิ้งข้างทาง พร้อมเขียนบนตัวอ้างล้างแค้นให้ผู้บริสุทธิ์ตากใบ

สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะเหตุเกิดที่ สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 85 ราย กระทั่งหลายฝ่ายเรียกร้องให้รัฐบาลออกมารับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ล่าสุด พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ขอย้ายตัวเองเข้ามาช่วยราชการที่กองทัพบกแล้ว

แม่ทัพภาค 4 แถลงย้ายตัวเอง

เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 2 พ.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พร้อมด้วย พล.ท.พิศาล วัฒวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 แถลงข่าวว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระเพื่อสอบสวนกรณี เหตุการณ์ที่ สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ได้ตระหนักตลอดเวลาว่า หากมีคณะกรรมการไต่สวนลงไป และตนยังอยู่ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 จะทำให้คณะกรรมการไต่สวนไม่สามารถดำเนินการได้อย่างอิสระ หลังจากที่ไต่ตรองอย่างดีแล้วจึงเดินทางมาขอพบเพื่อหารือกับ ผบ.ทบ.ว่า เป็นการสมควรที่จะขออนุญาตมาช่วยราชการในระหว่างที่คณะกรรมการไต่สวนทำการ ไต่สวนอยู่และได้ขออนุมัติ ผบ.ทบ.แต่งตั้ง พล.ต.ขวัญชาติ กล้าหาญ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ทำการแทนในตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4

เรื่องนี้พี่น้องในพื้นที่ไม่ต้องห่วง เพราะ พล.ต.ขวัญชาติ เป็นคนมีความสามารถ เป็นคนดี ขอให้ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วงว่าการทำงานต่างๆ ในอนาคตต่อไปจะมีความท้อถอยต่างๆ อย่างไรหรือไม่ ขอเรียนว่าพร้อมที่จะเดินทางไปข้างหน้าทุกอย่างให้ดีที่สุด และพร้อมที่จะไม่ทำให้พี่น้องเสียกำลังใจ จากกำลังใจที่มีให้มาอย่างล้นหลามจากทั่วประเทศ จากวันนี้เป็นต้นไปคณะกรรมการจะดำเนินการได้อย่างอิสระ พล.ท.พิศาล กล่าวพร้อมกับยืนยันว่า ได้รับความกรุณาจากผู้บังคับบัญชาทุกฝ่ายทุกส่วนอย่างดีที่สุดมาโดยตลอด และขอยืนยันว่าการทำงานทุกอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกเรื่อง

ผู้สื่อข่าวถามว่าหนักใจหรือไม่ที่คณะกรรมการฯ จะเรียกตัวไปสอบ พล.ท.พิศาล กล่าวว่า พร้อมตลอดเวลา ยืนยันว่า ตลอดระยะเวลา 7 เดือนเศษที่ลงไปทำงาน ได้ทำทุกอย่างด้วยความรอบคอบ ทำทุกอย่างด้วยความรักพี่น้องประชาชน เหตุที่เกิดมีเหตุบังเอิญนั้น ไม่มีใครไม่เสียใจ และตนเป็นคนที่เสียใจมากที่สุด ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์ ทุกฝ่ายพยายามทำดีที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้นขอให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ดีกว่า

พล.ท.พิศาล กล่าวด้วยว่า การตัดสินใจครั้งนี้ไม่มีใครบีบตนได้ ทุกคนที่รู้จักตนมานานจะทราบดี เป็นความตั้งใจมานานพอสมควร ระบบทหารของเรารู้ดี ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน และการตั้งคณะกรรมการฯ ก็เป็นหน้าที่ของเราอยู่แล้วที่ต้องพ้นมาจากพื้นที่ตรงนั้น ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาบีบ

เมื่อถามว่าขณะนี้ยังดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 อยู่ แต่หลังจากคณะกรรมการฯ สอบสวนเสร็จ คิดว่าจะดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ต่อไปหรือไม่ พล.ท.พิศาล กล่าวว่า การมาช่วยราชการตำแหน่งยังอยู่ แต่หากผลการสอบสวนออกมาอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาจะเป็นคนตัดสินใจ ไม่ได้อยู่ที่ตน

ผมขอแก้ข่าวลือที่ว่าผมจะลาออก ผมทำงานให้กับบ้านเมือง จะออกหรือไม่ออก ไม่ได้อยู่ที่ตัวผม ผมจะออกหรือไม่ออกอยู่ที่พี่น้องประชาชน ถ้าพี่น้องประชาชนต้องการให้ทำงานต่อ ผมก็จะทำ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว

เผยรู้สึกช็อกหลังพบยอดคนตายเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากผลสรุปของคณะกรรมการฯ ระบุออกมาว่าบกพร่อง ผิดพลาด และต้องรับผิดชอบ จะยอมรับได้หรือไม่ พล.ท.พิศาล กล่าวว่า พร้อมทุกอย่าง บอกตั้งแต่แรกแล้วว่า 1.ไม่ต้องไปหาตัวผู้รับผิดชอบ เพราะผู้ที่สั่งการคือผม ไม่ใช่คนอื่น เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปหาว่าใครเป็นผู้สั่ง 2.การรับผิดชอบต่อพี่น้องประชาชนที่เรานำตัวไปแล้ว ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการขั้นตอน ดูแลอย่างดีที่สุด 3.ความรับผิดชอบต่อผลของคณะกรรมการฯ

เมื่อถามว่าเคยมีประสบการณ์ในการสลายม็อบและขนส่งกลุ่มผู้ชุมนุม อย่างเหตุการณ์เกิดขึ้นในวันนั้นหรือไม่ พล.ท.พิศาล กล่าวว่า ในระดับขนาดตนก็เคยผ่านการฝึกมาทั้งนั้น ก็ต้องดูในส่วนอื่นๆ ว่ามีใครบกพร่องหรือไม่ เมื่อถามว่ายอมรับว่าขาดประสบการณ์การเคลื่อนย้ายกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมาก ขนาดนี้หรือไม่ พล.ท.พิศาล ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม เพียงกล่าวว่า อันนี้สื่อมวลชนถามเองตอบเอง ตนไม่สามารถตอบได้ เรื่องประสบการณ์ เรื่องชุลมุนเป็นคนละประเด็นกัน ต่อให้ฝึกมาอย่างไร ถ้าเจอสถานการณ์ขนาดนั้นก็คงไม่ไหว เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไร หลังทราบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเสียชีวิตเพิ่มขึ้น พล.ท.พิศาล กล่าวว่า เบื้องต้นรู้สึกช็อก เมื่อทราบว่ามียอดผู้ชุมนุมเสียชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถือว่าได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังแถลงข่าวเสร็จสิ้น พล.ท.พิศาล พยายามเก็บความรู้สึก แต่ก็มีน้ำตาคลอเบ้าและมีเหงื่อออกบริเวณใบหน้าตลอดเวลาที่มีการแถลงข่าว

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงการตัดสินของ พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 มาช่วยราชการที่กองทัพบกว่า ได้รับฟังเหตุผลจากแม่ทัพภาคที่ 4 ว่า เพื่อให้ความโปร่งใสจึงขอออกจากพื้นที่ในระหว่างที่คณะกรรมการไต่สวนอิสระทำ หน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งตนก็เห็นด้วย และได้ลงนามไปแล้วว่าให้มาช่วยราชการที่กองทัพบก และให้ พล.ต.ขวัญชาติ กล้าหาญ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ทำการแทน ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่ได้รับคำสั่งจากใคร เป็นเรื่องภายในของกองทัพบก ระหว่างตนกับแม่ทัพภาคที่ 4 ถือว่าเป็นการแสดงสปิริตของแม่ทัพภาคที่ 4 ให้เห็นชัดเจนว่ามีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ส่วนผลการสอบสวนของคณะกรรมการไต่สวนอิสระจะออกมาอย่างไร ก็ต้องรอฟังผลว่าเป็นอย่างไร เพราะเจตนาของกองทัพก็ตั้งใจจะทำให้ดีที่สุด

ด้าน พล.อ.สัมพันธ์ บุญญานันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า สำหรับการย้ายอย่างเป็นทางการนั้น ตนจะเป็นผู้ลงนามเท่านั้น ทั้งนี้ต้องรอผลการสอบสวนของคณะกรรมการเสียก่อน

นายนิมุ มะกาเจ รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา กล่าวว่า การเปลี่ยนตำแหน่งในครั้งนี้ถือว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบของ พล.ท.พิศาล ทางหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคืออยากให้รัฐบาลดำเนินการสอบสวนเพื่อหาตัวเจ้าหน้าที่ผู้กระทำ ผิดในเหตุการณ์ความรุนแรงที่หน้า สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ต่อไป

อยากให้ท่านแม่ทัพที่มารับตำแหน่งคนใหม่มีอุปนิสัยเหมือนกับ พล.ท.พิศาล เพราะท่านแม่ทัพคนนี้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนและเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ได้ดี และคาดว่าหากแม่ทัพคนใหม่มีอุปนิสัยในลักษณะนี้ คงเป็นการง่ายที่จะได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่ นายนิมุ กล่าว

ด้านนายสมพงษ์ ปานเกล้า ที่ปรึกษาสมาพันธ์ครูภาคใต้ กล่าวว่า พล.ท.พิศาล ถือว่ามีบุคลิกนุ่มนวล เป็นผู้ที่เหมาะสมกับการทำงานในพื้นที่ดีมาก เชื่อว่าการปรับเปลี่ยนแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ คงไม่สามารถลดความรุนแรงในพื้นที่ได้ การย้ายแม่ทัพภาค 4 เป็นเพียงกลไกของรัฐบาลที่ต้องการลดกระแสความรุนแรงในพื้นที่ลงเท่านั้น

ฆ่าโหดตัดคอ ผช.ผญบ.

ขณะเดียวกันยังเกิดเหตุรุนแรงในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ถูกคนร้ายฆ่าตัดคออย่างโหดเหี้ยม โดยเมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 2 พ.ย. ร.ต.ต.อิษฏ์ บุญฤทธิ์ ร้อยเวร สภ.อ.สุคิริน จ.นราธิวาส รับแจ้งจากชาวบ้านว่า พบศีรษะมนุษย์บรรจุอยู่ในถุงปุ๋ยห่อด้วยพลาสติก นำมาวางไว้ริมถนนสายสุคิริน-กะลุบี เส้นทางระหว่าง ต.มาโมง-ต.ภูเขาทอง บ้านไอยาลี หมู่ 7 ต.มาโมง อ.สุคิริน จึงรุดไปตรวจสอบ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ไพศาล ไชยบุตร ผกก.สภ.อ.สุคิริน

ที่เกิดเหตุพบถุงปุ๋ยวางอยู่ เมื่อเจ้าหน้าที่เปิดดูถึงกับผงะ เพราะเป็นศีรษะมนุษย์ จากการสืบสวนทราบว่าเป็นศีรษะของนายจรัล ตูแหละ อายุ 58 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านไอตีมง หมู่ 4 ต.มาโมง เสียชีวิตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6-8 ชั่วโมง

ต่อมา พ.ต.อ.ไพศาล และนายวีระนันท์ เพ็งจันทร์ นายอำเภอสุคิริน พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อาสาสมัคร ออกระดมค้นหาร่างของนายจรัล บริเวณสวนยางพาราใกล้จุดที่พบศีรษะ ในที่สุดก็พบร่างของนายจรัลถูกทิ้งอยู่ที่ขนำร้าง ห่างจากจุดเกิดเหตุเดิมประมาณ 2 กิโลเมตร สภาพศพสวมกางเกงสีกากี เสื้อเชิ้ตแขนยาว ผูกปลัดขิกไว้ที่เอว

นอกจากนี้ ตามร่างกายตั้งแต่หน้าอกไล่ลงมาจนถึงสะดือ พบข้อความภาษาไทยที่เขียนด้วยปากกาเมจิกสีดำว่า นี่คือการแก้แค้นให้กับผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตที่ อ.ตากใบ ซึ่งข้อความดังกล่าวยังได้เขียนลงในกระดาษเอ 4 ด้วยปากกาสีน้ำเงินอยู่ในถุงที่ใส่ศีรษะของผู้ตายด้วย

พ.ต.อ.ไพศาล กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถือว่าคนร้ายก่อเหตุอุกฉกรรจ์อย่างมาก เนื่องจากกระทำการอย่างโหดเหี้ยม ด้วยการฆ่าตัดศีรษะแล้วนำใส่ถุงปุ๋ยที่บรรจุน้ำหนักได้ประมาณ 50 กิโลกรัม มาทิ้งไว้ริมถนน เพื่อเจตนาให้มีคนมาพบ แล้วแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ยังพบว่าคนร้ายได้ทิ้งใบปลิวระบุข้อความด้วยลายมือว่าจะล้างแค้น ให้กับผู้บริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ สภ.อ.ตากใบ

ยังไม่กล้าระบุชัดว่าสร้างสถานการณ์ในพื้นที่หรือเรื่องส่วนตัว แต่กระดาษใบปลิวที่พบมีข้อความระบุเกี่ยวกับการล้างแค้น จึงเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อว่าจะเกี่ยวโยงกับเรื่องสถานการณ์ พ.ต.อ.ไพศาล กล่าวและว่า ได้เชิญตัวบุตรชายของผู้ตายมาสอบสวน แต่ไม่ได้รายละเอียดอะไรมากนัก

พ.ต.อ.ไพศาล กล่าวอีกว่า จากการสอบถามชาวบ้าน รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ทราบว่า นายจรัลนับถือศาสนาพุทธ เป็นบุคคลที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดี เข้ากันได้กับชาวบ้านทุกคนทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิม เป็นคนขยันขันแข็ง ก่อนเกิดเหตุเข้าใจว่าผู้ตายออกไปพบปะพูดคุยกับเพื่อนบ้านตั้งแต่เย็นวันที่ 1 พ.ย. และหายไป จนกระทั่งมาพบว่าเสียชีวิตดังกล่าว

มีรายงานข่าวว่า นายจรัลเป็นคนที่ให้ความร่วมมือกับทางราชการเป็นอย่างดี ดังนั้นเจ้าหน้าที่มั่นใจว่าคนร้ายน่าจะจงใจสร้างสถานการณ์ความไม่สงบใน พื้นที่ สำหรับการฆ่าตัดศีรษะครั้งนี้ ถือเป็นเหยื่อรายที่ 2 นับแต่เกิดเหตุความไม่สงบที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้เสียชีวิตเป็นชาวสวนยางใน จ.นราธิวาส

วันเดียวกัน นายวิทยา จันทรคง อายุ 37 ปี อยู่บ้านเลขที่ 58/5 หมู่ 4 ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ บริเวณหน้า อบต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ ระหว่างขี่รถจักรยานยนต์พาภรรยาคือ นางรัตนาภรณ์ จันทรคง อายุ 30 ปี และ ด.ช.ณัฐวุฒิ จันทรคง อายุ 3 ขวบ บุตรชาย กลับมาจากตลาดต้นไทร เพื่อจะกลับบ้าน ซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 2 กิโลเมตร ระหว่างนั้น คนร้าย 2 คนขี่รถจักรยานยนต์ประกบ แล้วชักปืนยิงนายวิทยา กระสุนถูกชายโครงด้านซ้ายทะลุขวา ส่วนนางรัตนาภรณ์กระสุนเข้าที่แขนขวา ขณะที่ ด.ช.ณัฐวุฒิไม่ได้รับบาดเจ็บ หลังเกิดเหตุพลเมืองดีช่วยกันนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลนราธิวาสราชครินทร์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 30 กิโลเมตร

ตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระแล้ว

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 335/2547 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยคณะกรรมการ ประกอบด้วย 1.นายพิเชต สุนทรพิพิธ อดีตอธิบดีกรมวิเทศสหการ อดีตผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เป็นประธานกรรมการ ส่วนกรรมการประกอบด้วย 2.นายเรวัติ ฉ่ำเฉลิม อดีตอัยการสูงสุด 3.นายภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ 4.น.พ.วิทุร แสงสิงแก้ว อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข 5.นายขวัญชัย วศวงศ์ อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ 6.พล.ต.อ.ดรุณ โสตถิพันธุ์ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 7.นายอิสมาแอ อาลี ผอ.วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 8.นายจรัญ มะลูลีม นักวิชาการอิสลาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 9.นายอาศิส พิทักษ์คุมพล ประธานกรรมการอิสลามจังหวัดสงขลา โดยมีนายวีระยุค พันธุเพชร ข้าราชการระดับ 10 สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเลขานุการ และนายนิพนธ์ ฮะกีมี ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นผู้ช่วยเลขานุการ โดยให้รายงานเสนอต่อนายกรัฐมนตรีภายใน 30 วัน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะกรรมการสามารถยืดหยุ่นขยายเวลาได้ เพราะทำงานเสร็จแล้วต้องเขียนรายงาน ทั้งนี้ การตรวจสอบได้เน้นเรื่องการหาผู้รับผิดชอบตั้งแต่เริ่มต้น คือ การเข้าควบคุมสถานการณ์ สลายการชุมนุม การควบคุมตัว การเคลื่อนย้าย และเกิดเหตุขึ้นมาตรงไหน เหตุเหล่านั้นเป็นไปตามหลักกฎหมาย หลักวิชา หรือมาตรฐานในการควบคุมตัวหรือไม่ ถ้าไม่มี ผู้ใดต้องรับผิดชอบหรือไม่ และถ้ามีผู้นั้นคือใคร อย่างไรก็ให้รายงานมา

ถ้าจบเรื่องนี้ก็ต้องดูมาตรการป้องกัน คงจะต้องสร้างสรรค์ว่าต่อไปถ้าเกิดเหตุ กรรมการจะเป็นคนบอกได้มากที่สุดว่าใครผิด บกพร่องตรงจุดไหนและจะแก้อย่างไร เรื่องการให้ความช่วยเหลือ เราไม่ได้หวังว่าตัวเงินจะแก้ปัญหา แต่สุดท้ายก็ต้องพูดเรื่องนี้เพราะว่าคนที่อยู่ข้างหลังยังเดือดร้อนอยู่ รองนายกฯ กล่าว

เน้นตรวจสอบการควบคุมตัว

ต่อข้อถามว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมีอำนาจเรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบสวนได้ทั้งหมดหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มีหมด เป็นกรรมการอิสระจะเรียกบุคคลที่เป็นข้าราชการหรือไม่ใช่ข้าราชการมาก็ได้ แต่ถ้าไม่ใช่ข้าราชการ เป็นประชาชนก็ต้องใช้วิธีขอความร่วมมือ เชิญตัวมา ระบุให้ชัดเจนซึ่งอาจจะให้ค่าใช้จ่ายได้ด้วย รวมทั้งขอเอกสารต่างๆ เทปโทรทัศน์ วิดีโอ หนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่ลงในระหว่างเกิดเหตุมาสอบด้วย

ถ้าผมมีโอกาสพบกรรมการ จะบอกว่าเน้นสอบพวกที่ไม่ใช่ข้าราชการให้มากๆ หน่อย เตรียมล่ามให้มากๆ ถ้าทำได้กรรมการ 9 คนไม่ต้องไปนั่งสอบ เพราะว่าเห็นมาแล้วจากคราวกรือเซะ พอลงไปพร้อมกันหมด ไปกันไม่ค่อยได้ หมายถึงว่าบางคนไม่ได้ ถ้าต้องแยกกันไป สมมติว่าเชิญมาสอบประมาณ 100 คน ถ้ากรรมการต้องลงไปนั่งฟังทั้ง 9-10 คน ปีหนึ่งก็ไม่เสร็จ แต่ถ้าแยกกันไปสอบแล้วเอามาต่อเนื่องกันจะดูดี ถ้าทำได้เวลาสอบถ่ายวิดีโอไว้ให้หมด นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ครั้งนี้ได้ระบุไว้ชัดว่าให้ตรวจสอบการควบคุมตัว ย้ำในเรื่องเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย การที่เข้าสลายการชุมนุม การที่เข้าไปควบคุมตัวฝูงชน และการเคลื่อนย้ายบุคคลขึ้นรถไปค่ายอิงคยุทธบริหาร

ทั้ง 4 อย่างนี้ ได้กระทำไปโดยถูกต้องตามหลักกฎหมายหลักวิชา ระเบียบ หรือแม้แต่มาตรฐานในการควบคุมตัว หรือเคลื่อนย้ายบุคคลหรือไม่ คำนี้มันเป็นคำพิเศษที่มีอยู่ในสากลว่า แปลว่าอะไร เราจึงขอให้อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์มาช่วยเป็นกรรมการ นายวิษณุ กล่าว

นายพิเชต สุนทรพิพิธ ประธานคณะกรรมการอิสระฯ กล่าวว่า รายชื่อคณะกรรมการที่ ครม.แต่งตั้ง ฟังดูแล้วดี สังคมยอมรับ แต่จะขอดูประวัติการทำงานให้ครอบคลุมไว้ก่อน อย่างไรก็ตามคงจะไม่ตั้งกรรมการหรืออนุกรรมการอีกเพราะจะทำให้การทำงานล่า ช้า

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่าขอเรียกร้องให้กรรมการชุดนี้ให้ความสำคัญช่วงการขนย้ายผู้ชุมนุม และเหตุของการเสียชีวิตมาจากอะไรกันแน่ ต้องจำแนกออกมาให้ชัด อย่างไรก็ตาม วันที่ 3 พ.ย.นี้ ภาคประชาชนจะเปิดตัวคณะกรรมการภาคประชาชน ที่มี ศ.อมรา พงศาพิชญ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อติดตามตรวจสอบและเสนอแนวทางแก้ปัญหาภาคใต้ทั้งระบบ

สรุปยอดผู้ต้องหา 58 ราย

กองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้า ค่ายอิงคยุทธบริหารจังหวัดปัตตานี ได้ออกบัญชีรายชื่อที่เป็นผู้ต้องหาทั้งหมดจำนวน 58 คน จาก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ขณะนี้ถูกควบคุมตัว ที่เรือนจำจังหวัดทหารบกปัตตานี นอกจากนี้ยังมีผู้ชุมนุมที่ยังป่วยอีก 24 คน โดยแยกเป็นผู้ป่วยรักษาตัวที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา จำนวน 3 คน โรงพยาบาล มอ. หาดใหญ่ จำนวน 4 คน (อาการสาหัส) โรงพยาบาลปัตตานี จำนวน 17 คน

ต่อมา นายจำรัส เพชรสุวรรณ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จ.ปัตตานี พร้อมด้วย พ.ต.อ.สมจิต นาสมยนต์ ผกก.สภ.อ.เมืองปัตตานี เดินทางมาที่ศาลจังหวัดทหารบกปัตตานี ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อพิจารณาคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา 58 คน ในเหตุการณ์ชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ ซึ่งคดีนี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ผู้พิพากษาเดินทางออกนอกสถานที่เพื่อ พิจารณาคำร้องขอฝากขังตัวผู้ต้องหา แต่เดิมพนักงานสอบสวนจะต้องนำตัวไปที่ศาล แต่เนื่องจากผู้ต้องหามีจำนวนมาก ไม่สะดวกที่จะนำตัวไป จึงร้องขอให้มาพิจารณาคำร้องที่ศาลจังหวัดทหารบกปัตตานีแทน

โดยศาลได้อนุมัติขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 58 คนที่เรือนจำจังหวัดทหารบกปัตตานี เป็นเวลา 12 วัน ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาคือ 1.ร่วมกันชุมนุมก่อความไม่สงบเรียบร้อย 2.มีอาวุธในครอบครอง 3.ทำลายทรัพย์สินทางราชการ และ 4.ทำร้ายเจ้าหน้าที่

รายงานข่าวแจ้งว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง พนักงานสอบสวนเกรงว่าหากฝากขังที่เรือนจำ จะมีปัญหาความปลอดภัย จึงยื่นคำร้องต่อศาลให้พิจารณาฝากขังที่เรือนจำทหาร

วันเดียวกัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำโดยนายวินิจ ล้ำเหลือ คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ความช่วยเหลือแก่ญาติผู้เสียชีวิตและผู้ถูก จับกุม เนื่องจากการสลายการชุมนุมที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส พร้อมด้วยคณะทำงานและทนายความจังหวัดปัตตานี เดินทางเข้าพบตัวแทนกองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้าค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อขออนุญาตเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาจำนวน 58 คน ที่เรือนจำจังหวัดทหารบกปัตตานี

องคมนตรี ห่วงปัญหาภาคใต้

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 2 พ.ย. พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ได้เข้าร่วมประชุมองคมนตรีครั้งแรก หลังจากลาสิกขา โดยการประชุมมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธาน ซึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุมถึงกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดง ความห่วงใยต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนกังวลใจและห่วงใย ไม่อยากให้เกิดสถานการณ์ที่เป็นเรื่องบาดหมางหรือความรุนแรงเกิดขึ้นในชาติ ของเราเอง

ผมไม่สามารถพูดอะไรได้มาก เพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องระมัดระวังและดูแลกัน ในฐานะที่เป็นองคมนตรีก็ต้องทำหน้าที่ด้านองคมนตรี ไม่สามารถจะบอกแนวทางแก้ไขปัญหาได้ ทั้งนี้ผมได้พบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา ตอนที่ไปรับเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีโอกาสได้พูดคุยกัน โดยคุยกันถึงเรื่องความผิดพลาด ความบกพร่องในการเคลื่อนย้ายผู้ที่ถูกจับกุมที่ สภ.อ.ตากใบ ซึ่งเป็นเรื่องปัจจุบันที่ถือว่าเป็นจุดบกพร่องในการทำงาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็เห็นด้วยว่าเท่าที่ดูทั้งหมดความผิดพลาดน่าจะเกิดจากการ เคลื่อนย้ายกลุ่มผู้ชุมนุม พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าว

พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวต่อว่า จากที่ติดตามสถานการณ์ข่าวทางหนังสือพิมพ์ในช่วง 3 เดือนนี้ มีความห่วงใย โดยเฉพาะปัญหาเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงที่ สภ.อ.ตากใบ มีผู้เสียชีวิตมาก เป็นเรื่องที่น่าสลดใจ และน่าจะหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้เรียบร้อยมากกว่านี้ คงจะยากที่จะบอกว่าอะไรเป็นสาเหตุสำคัญหลักที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย เพราะมีหลายสาเหตุที่จะต้องพิจารณากัน และยากที่จะบอกว่าใครถูกใครผิด

ต่อข้อถามว่า มีปัจจัยภายนอกประเทศเชื่อมโยงหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า แต่เดิมมีอยู่แล้ว แต่ขณะนี้ไม่ทราบว่าเข้ามาหรือไม่ แต่จากการติดตามสื่อมวลชนจะเห็นว่า กลุ่มก่อความไม่สงบภายนอกเริ่มสนใจมากขึ้น

พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สถานการณ์ความมั่นคงที่เป็นห่วงคือ เรื่องยาเสพติด การก่อการร้าย และเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหาจะต้องขึ้นอยู่กับผู้ที่รับผิดชอบในการปฏิบัติเป็น พิจารณา น่าจะปรับความเข้าใจกันถือเป็นเรื่องสำคัญ

เผยครูถูกขู่จับตัวเรียกค่าไถ่

ส่วนกรณีคนร้ายลอบยิงนายกู้ อิศรางกูร ครูโรงเรียนบ้านบูเก๊ะบือแน อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ในวันแรกของการเปิดเทอม ทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาพิจารณาประกาศเลื่อนเปิดเรียนออกไปอีก นายสงวน อินทรักษ์ เลขาธิการสมาพันธ์ครู จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า หลังจากมติในที่ประชุมแกนนำองค์กรครู และผู้บริหารศึกษาในจังหวัดนราธิวาส ได้ประกาศเปิดเรียนตามปกติ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้โรงเรียนในพื้นที่เขตการศึกษา 2 จังหวัดนราธิวาส ประกาศปิดเรียนหลายแห่ง โดยเฉพาะที่ อ.ระแงะ หยุดเรียนแล้วทั้งอำเภอ เพื่อรอประเมินสถานการณ์ความไม่สงบอีกครั้ง

นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวหลังเกิดเหตุยิงครูบาดเจ็บในวันเปิดเทอมว่า ได้พูดคุยกับกระทรวงมหาดไทยแล้วว่าจะเข้าไปดูแลความปลอดภัยของครูเต็มที่ อย่างไรก็ตามที่ผู้ก่อความไม่สงบเบนเป้าหมายมาที่ครูนั้น ทราบว่ามีการข่มขู่จับตัวเรียกค่าไถ่ด้วย ดังนั้น จึงขอให้ครูระวังตัวเป็นพิเศษ และหากเกิดเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากล ผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถตัดสินใจสั่งปิดโรงเรียนได้เต็มที่

ปชป.เตือนรัฐน้อมรับพระราชดำรัส

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์ภาคใต้ว่า คณะผู้บริหารได้มีการวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้มีความเห็น 2 เรื่องคือ ขอให้รัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาทั้งระดับนโยบายและระดับ ปฏิบัติ พร้อมรับแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงรับสั่งให้รัฐบาลทำงาน ด้วยความนุ่มนวลและให้คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน

นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์มีความวิตกถึงความพยายามที่ให้มวลชนออกมาชุมนุมตามจังหวัด ต่างๆ เพื่อสนับสนุนนายกฯ และมีการปลุกระดมประชาชนให้เข้าใจผิดในหลายๆ เรื่องและมีการนำข้อเท็จจริงที่ไม่ครบไปสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจผิดเพียงแค่ ต้องการให้ประชาชนออกมาสนับสนุนนายกฯ จึงเรียกร้องให้นายกฯ กำชับคนของท่านว่าอย่าไปให้ข้อมูลที่ไม่ตรงความจริงและควรยุติการชุมนุมใดๆ เพราะอาจก่อให้เกิดผลกระทบกับประชนในระยะยาว

เสนอให้พลเรือนเป็นผู้นำแก้ใต้

นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำในขณะนี้คือ ให้ฝ่ายพลเรือนเป็นผู้นำและเป็นผู้ไปเชิญผู้นำในท้องถิ่น และจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะผู้นำทางศาสนามาเป็นคณะที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิด และเป็นผู้ดำเนินการเพื่อเข้าถึงประชาชน ให้เกิดการประสานงานกับองค์กรในท้องถิ่นเพื่อเรียกความเชื่อมั่นและขวัญ กำลังใจให้กลับมาโดยด่วนเพราะยิ่งทิ้งระยะเวลานานเท่าใด ก็ยิ่งเพิ่มความแตกร้าวและลึกล้ำยากแก่การเยียวยาในอนาคต

ผมคิดว่า นายบัญญัติ จันทน์เสนะ อธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และอดีตผู้ว่าฯ ยะลา และนายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้ว่าฯ นนทบุรี (น้องชายนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี) จะสามารถช่วยกอบกู้สถานการณ์ ในฐานะที่เป็นผู้นำองค์กรในภาคพลเรือนได้ นายสุรินทร์ กล่าวและว่า หากมีการปรับแนวทางการทำงานเช่นนี้ จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นแน่นอน

----------------------------------------------------------------

เปิดผลสอบ สลายม็อบ"ตากใบ"ฉบับเต็ม (1)

รายงาน มติชนรายวัน วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9907

*หมายเหตุ* : ทั้งหมดเป็นสาระสำคัญที่ "มติชน" คัดมาจากรายงานของคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง กรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ฉบับเต็มความยาว 58 หน้า โดยคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงฯ ซึ่งมีนายพิเชต สุนทรพิพิธ เป็นประธาน และต่อมาเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2548 คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) โดยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ได้มีมติให้เปิดเผยผลสอบทั้งหมด

การดำเนินงานของคณะกรรมการอิสระและคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ได้รวบรวมข้อเท็จจริงซึ่งแยกพิจารณาได้ ประกอบด้วย 4 ภาค ได้แก่

1.บทนำ 2.ข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ไม่สงบที่ อ.ตากใบ 3.ข้อพิจารณาของคณะกรรมการอิสระฯ 4.ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระฯ

ในภาคข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ไม่สงบ ประกอบด้วยรายละเอียด 10 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1.การชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

ส่วนที่ 2.จัดการข่าว การเตรียมการ และการเจรจากับผู้ชุมนุมก่อนการสลายการชุมนุม

ส่วนที่ 3.การสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ

ส่วนที่ 4.การลำเลียงผู้ถูกควบคุมขึ้นรถบรรทุก ณ สภ.อ.ตากใบ

ส่วนที่ 5.การเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมจาก สภ.อ.ตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

ส่วนที่ 6.การลำเลียงผู้ถูกควบคุมลงจากรถบรรทุก ณ ค่ายอิงคยุทธบริหาร

ส่วนที่ 7.การพบผู้ถูกควบคุมเสียชีวิตในรถบรรทุก การรายงานการเสียชีวิต และการดูแลผู้ถูกควบคุม

ส่วนที่ 8.ผลการชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต (7 ศพ เนื่องจากการสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ และ 78 ศพที่พบที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร) และการตรวจสารเสพติดผู้ถูกควบคุม

ส่วนที่ 9.การดำเนินการกับผู้ถูกควบคุม

ส่วนที่ 10.การเยียวยา : การดำเนินการกับผู้บาดเจ็บ ผู้ตาย และทรัพย์สินของผู้ถูกควบคุม

ส่วนที่ 1

เหตุของการมาชุมนุมของประชาชนที่หน้า สภ.อ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขัง 6 คน ซึ่งเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน(ชรบ.)ที่ต้องคดีนำปืนราชการไปมอบให้กลุ่มคนร้าย แต่ความพยายามของเจ้าหน้าที่ในการขอให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกลับไป ไม่ประสบความสำเร็จ

จากคำชี้แจงของผู้ถูกควบคุมในภายหลัง ปรากฏว่า บางส่วนของผู้ชุมนุมไม่สามารถจะเดินทางออกจากที่ชุมนุมได้ เนื่องจากถูกกีดขวางไม่ให้ออกโดยแกนนำผู้ชุมนุม และการปิดล้อมของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ผู้ถูกควบคุมหลายคนไม่ได้ยินการชี้แจงของเจ้าหน้าที่ ผู้นำทางศาสนาและญาติของ ชรบ.ที่ร้องขอให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกันกลับไปซึ่งพูดผ่านเครื่องขยายเสียง เนื่องจากเมื่อบุคคลดังกล่าวขึ้นพูด จะมีแกนนำการชุมนุมเป็นผู้นำโห่ฮาเพื่อกลบเสียงเครื่องขยายเสียง

ส่วนที่ 3

เวลา 15.10 น. มีผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามทำลายรั้วกีดขวางเพื่อเข้ามาใน สภ.อ.ตากใบ แม่ทัพภาคที่ 4 จึงได้มีคำสั่งให้สลายการชุมนุม ระหว่างนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นมาจากทางด้านผู้ชุมนุม ทำให้ตำรวจบาดเจ็บสาหัส 1 นาย ปรากฏจากแถบบันทึกภาพวิดีโอของผู้สื่อข่าว อ.ส.ม.ท. ว่ามีทหารคนหนึ่งมิได้ยิงปืนขึ้นฟ้า แต่เป็นการยิงในแนวระนาบ ซึ่งนายทหารหลายนายได้ชี้แจงว่า การยิงปืนในแนวระนาบเป็นวิธีการทางทหารที่จะไม่ให้ผู้ชุมนุมซึ่งหมอบลงแล้วลุกขึ้นมาอีก

ส่วนที่ 5

จากคำชี้แจงของ กอ.สสส.จชต.มีรถบรรทุกผู้ถูกควบคุม 2 ขบวน ขบวนแรกเริ่มออกเดินทางจาก สภ.อ.ตากใบ เวลา 16.15 น. และถึงค่ายอิงคยุทธบริหารเวลา 19.30 น. ขบวนที่สอง เริ่มออกเดินทางเวลา 19.00 น. ถึงค่ายอิงคยุทธบริหารประมาณ 22.00 น. แต่จากคำชี้แจงของพลขับ............ซึ่งในรถพบผู้เสียชีวิต 23 คน ว่า รถบรรทุกของตนออกจาก สภ.อ.ตากใบประมาณ 17.00 น. ถึงค่ายอิงคยุทธบริหารประมาณ 22.00 น. และจากคำชี้แจงของพลขับรถบรรทุกทหาร...............ซึ่งขับรถบรรทุกที่พบผู้เสียชีวิต 21 คน ชี้แจงว่า ได้ออกเดินทางและมาถึงค่ายเวลาเดียวกัน

คณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในพื้นที่ได้สอบถามผู้ถูกควบคุมในภายหลังซึ่งชี้แจงว่า รถบรรทุกคันแรกออกจาก สภ.อ.ตากใบเวลา 15.40 น. ถึงค่ายอิงคยุทธบริหารประมาณ 17.40 น. รถบรรทุกบางคันออกเวลาประมาณ 18.00 น. ถึงค่ายอิงคยุทธบริหารประมาณ 21.00 น. บางคันออกเวลา 21.00 น. ถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร 02.00 น. ผู้ถูกควบคุมตัวยังให้ข้อมูลอีกว่า ในระหว่างการเดินทาง เมื่อผู้ถูกควบคุมส่งเสียงหรือร้องขอความช่วยเหลือก็จะถูกทำร้ายร่างกายด้วยการตีด้วยพานท้ายปืนหรือไม้กระบอง หรือถูกเตะหรือถูกเหยียบ แต่มีรถบรรทุกคันหนึ่ง ผู้ถูกควบคุมได้รับการดูแลอย่างดีจากทหารที่ควบคุม

ส่วนที่ 6

ท่าทางของผู้ถูกควบคุมบนรถบรรทุกเมื่อมาถึงค่าย(นั่ง นอนคว่ำ นอนหงาย หรือยืน) คณะอนุกรรมการได้สอบถามผู้ถูกควบคุม 92 ราย เกือบทุกรายต่างชี้แจงว่า เมื่อขึ้นรถบรรทุกที่ สภ.อ.ตากใบ เจ้าหน้าที่ได้สั่งให้นอนคว่ำหน้าและนอนซ้อนกัน และเมื่อถึงค่ายอิงคยุทธบริหารก็ยังอยู่ในท่าเดิม แต่มีรายหนึ่งได้นั่งไป

พ.ท.วัชระ สุขวงศ์ ซึ่งอยู่ในบริเวณลำเลียงผู้ถูกควบคุมลงพบว่า ในรถมีผู้เสียชีวิตประมาณ 20 คน บรรทุกคนมาประมาณ 70 คน นอนคว่ำเอามือไพล่หลัง พ.อ.นพนันท์ ชี้นประดับ พบว่าในรถคันแรกของขบวนแรก ผู้ถูกควบคุมนอนคว่ำมาแต่ไม่มีการนอนทับซ้อน ในรถคันนี้มีผู้เสียชีวต 1 คนแต่จากการถูกตีด้วยของแข็ง

ส่วนที่ 7

การพบผู้ถูกควบคุมเสียชีวิตในรถบรรทุก การรายงานการเสียชีวิต และการดูแลผู้ถูกควบคุม

1.การพบการเสียชีวิต

1.1 ยอดรวมผู้เสียชีวิต

ยอดรวมผู้เสียชีวิต ซึ่งพบบนรถบรรทุกเมื่อมาถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร คือ 78 คน รายงานของ กอ.สสส.จชต.กราบเรียนนายกรัฐมนตรีและคำชี้แจงของ มทภ.4

จากรายงานของเจ้าหน้าที่ทหารปรากฏว่าในรถบรรทุกแต่ละคันมีจำนวนผู้เสียชีวิต ดังนี้

รถทะเบียนกงจักร 19338 เสียชีวิต 21 คน

รถทะเบียนกงจักร 19232 เสียชีวิต 5 คน

รถทะเบียนกงจักร 19263 เสียชีวิต 6 คน

รถทะเบียนกงจักร 13164 เสียชีวิต 23 คน

รถทะเบียน สมอ 44268 (นย.531) เสียชีวิต 5 คน

รถทะเบียน สมอ 46087 (นย.5256) เสียชีวิต 1 คน

รถทะเบียน สมอ 44267 (นย.530) เสียชีวิต 6 คน

(นอกจากนี้มีผู้เสียชีวิตบนรถคันอื่นที่ยังไม่สามารถระบุทะเบียนรถได้อีก 11 ราย)

คณะกรรมการอิสระพยายามแสวงหาว่ารถบรรทุกแต่ละคัน ที่พบผู้เสียชีวิตเป็นรถบรรทุกคันที่เท่าไหร เพื่อจะได้ทราบถึงระยะเวลา ที่ใช้ในการเดินทาง แต่ก็ไม่ได้ข้อเท็จจริงนี้

1.2 จำนวนผู้ถูกควบคุมในรถบรรทุกแต่ละคัน

คณะกรรมการอิสระไม่ได้ข้อมูลจำนวนผู้ถูกควบคุมในรถบรรทุกแต่ละคัน แต่จากคำชี้แจงของ

-พ.อ.นพนันท์ ชั้นประดับ ซึ่งอยู่ในบริเวณการลำเลียงคนลงจนถึงเวลาประมาณ 21.30 น. พบว่ารถบรรทุกขบวนแรกบรรทุกคนมาไม่แออัด มีคนตาย 1 คน ลักษณะของบาดแผลถูกตีโดยของแข็ง

-พ.ท.วัชระ สุขสมวงศ์ ชี้แจงว่า รถบรรทุกคันหนึ่งบรรทุกคนมาประมาณ 70 คน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 20 คน

-รายงานของ กอ.สสส.จชต.กราบเรียนนายกรัฐมนตรีว่า รถบรรทุกบรรทุกคนคันละ 50 คนบ้าง 70 คนบ้าง หรือ 90 คนบ้าง(รถลำดับที่ 21 บรรทุก 90 คน มีผู้เสียชีวิต 23 คน)

-รายงานของคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในพื้นที่รายงานว่า รถบรรทุกบรรทุกคนคันละ 60 คนบ้าง หรือ 70 ถึง 80 คนบ้าง

1.3 บุคคลซึ่งพบผู้เสียชีวิต

เมื่อทหารซึ่งเป็นผู้ลำเลียงผู้ถูกควบคุมลงจากรถบรรทุกพบว่า มีผู้ถูกควบคุมนอนคว่ำหน้าอยู่กับพื้นกระบะก็ได้เข้าไปเขย่าตัว แต่ผู้ถูกควบคุมไม่เคลื่อนไหวส่วนใดๆ ของร่างกายจึงขอให้ ร.ท.นพ.จิรศักดิ์ ซึ่งในขณะนั้นกำลังรักษาผู้ป่วยขึ้นไปดู และได้ตรวจชีพจรและม่านตาก็พบว่าผู้ถูกควบคุมนั้นได้เสียชีวิตแล้ว

1.4 เวลาของการเสียชีวิต

ไม่ปรากฏเวลาที่ชัดเจนของการเสียชีวิต แต่ปรากฏจากคำชี้แจงว่า เป็นการเสียชีวิตในช่วงเวลาของการเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุม จาก สภ.อ.ตากใบ มายังเรือนจำจังหวัดทหารบกปัตตานีค่ายอิงคยุทธบริหาร

1.5 เวลาที่พบผู้เสียชีวิต

พ.อ.นพนันท์ ชั้นประดับ ชี้แจงว่า พบผู้เสียชีวิตรายแรกในคันแรกของรถบรรทุกขบวนแรก ต่อมาเวลาประมาณ 23.00 น. ก็มีการพูดกันว่ามีคนตายเพิ่มอีก 20 คน และเมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. ถึง 02.00 น. ก็มีการพูดกันว่ามีคนตายประมาณ 70 คน

1.6 การดำเนินการกับรถบรรทุกผู้ถูกควบคุมคันอื่นๆ เมื่อคันหน้าเริ่มพบว่ามีการเสียชีวิต

คณะกรรมการอิสระได้สอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่า เมื่อรถบรรทุกคันหน้าพบการเสียชีวิตแล้ว ทำไมจึงไม่รีบให้ผู้ถูกควบคุมในรถบรรทุกคันถัดมาลงมาที่พื้นซึ่งอยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหารเช่นกัน ก็ได้รับคำชี้แจงว่า แม้จะอยู่ในค่ายทหารการให้ผู้ถูกควบคุมลงมาจำนวนมากนั้นจะไม่ปลอดภัย ดังนั้น รถบรรทุกคันอื่นๆ จึงต้องทยอยเข้าไปลำเลียงผู้ถูกควบคุมลงในเรือนจำเช่นกัน

1.7 การดำเนินการกับศพผู้เสียชีวิต

เมื่อได้ลำเลียงผู้ถูกควบคุมลงจากรถบรรทุกหมดแล้ว หากรถบรรทุกคันใดพบผู้เสียชีวิต รถบรรทุกคันนั้นก็จะนำศพไปไว้ในอาคารตรวจและเก็บศพซึ่งอยู่ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร

2.การรายงานเมื่อพบการเสียชีวิต

2.1 การรายงานภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร

ภายในค่ายอิงคยุทธบริหารมีการรายงานด้วยวาจาเป็นระยะว่ามีการเสียชีวิต ซึ่ง พ.อ.นพนันท์ ชั้นประดับ ซึ่งได้ออกจากบริเวณเรือนจำทหาร

เมื่อเวลา 21.30 น. เพื่อกลับไปที่พักซึ่งอยู่ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร ได้ยินการพูดคุยเมื่อเวลา 21.00 น. ว่ามีคนตายเพิ่มอีก(เพิ่มจากหนึ่งศพแรก) 20 คน และประมาณเวลา 01.00 น. ถึง 02.00 น. ของวันที่ 26 ตุลาคม 2547 ก็มีการพูดกันว่ามีคนตายประมาณ 70 คน

2.2 การรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาระดับสูง

ผู้บังคับบัญชาระดับสูงได้รับรายงานการเสียชีวิต ดังนี้

-รอง ผอ.สสส.จชต.(นายศิวะ แสงมณี) ได้รับรายงานประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 26 ตุลาคม 2547 ว่ามีผู้เสียชีวิต 78 คน

-มทภ.4 ชี้แจงว่า ตนได้รับรายงานเมื่อเวลา 07.45 น. ของวันที่ 26 ตุลาคม 2547 ว่ามีผู้เสียชีวิต 78 คน โดยที่ตนได้ออกจาก สภ.อ.ตากใบ เวลา 19.00 น. เพื่อไปพบนายกรัฐมนตรีที่โรงแรมรอยัลปริ๊นซ์เซส จังหวัดนราธิวาส และเมื่อส่งนายกรัฐมนตรีกลับแล้ว ตนได้ทราบว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีรับสั่งให้ตนเข้าเฝ้า ตนจึงไปเข้าเฝ้า และได้กลับออกมาจากพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เวลาประมาณ 04.00 น. ของวันที่ 26 ตุลาคม 2547 ในช่วงเวลาดังกล่าวตนไม่ได้รับรายงานใดๆ เนื่องจากไม่มีใครสามารถติดต่อตนได้

ในวันที่ 26 ตุลาคม 2547 หลังจากที่ตนได้รับรายงานการเสียชีวิตแล้ว ตนต้องไปกับองคมนตรี(นายพลากร สุวรรณรัฐ) ซึ่งเดินทางไปแจกอินทผาลัมแทนสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเดิมมีรับสั่งจะเสด็จฯด้วยพระองค์เอง และจากนั้นต้องไปเตรียมดูแลเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จไปทอดพระเนตรการฝึกยิงปืนในวันที่ 27 ตุลาคม 2547 ตนได้ไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหารเพื่อชี้แจงรายงานต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา ซึ่งลงมาตรวจหาข้อเท็จจริงในพื้นที่

2.3 คำชี้แจงของรองสมุหราชองครักษ์ (พล.อ.วิเศษ คงอุทัยกุล)

คณะกรรมการอิสระได้รับการชี้แจงจากรองสมุหราชองครักษ์ว่า มทภ.4 ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตอนเวลาประมาณ 00.30 น. และในการเข้าเฝ้าครั้งนี้ มีบุคคลเข้าเฝ้าดังนี้ พล.อ.วิเศษ คงอุทัยกุล พล.ท.ธนศักดิ์ ปฏิมาปกรณ์ นายพลากร สุวรรณรัฐ ม.ล.อนุพร เกษมสันต์ และ พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี และคณะผู้เข้าเฝ้าฯได้ทูลลากลับออกมาเวลาประมาณ 01.30 น. ซึ่งมีการพูดกันแล้วว่ามีคนตายประมาณ 70 คน ในระหว่างเข้าเฝ้าฯนั้น รองราชสมุหองครักษ์ยืนยันว่าหากมีเรื่องด่วนสามารถใช้โทรศัพท์ติดต่อกันได้

3.การดูแลและการทำประวัติผู้ถูกควบคุม

3.1 การให้อาหารและน้ำ

ผู้ถูกควบคุมซึ่งลงจากรถบรรทุกทั้งสองขบวนต่างได้รับอาหาร (ฮาลาล) และน้ำซึ่งค่ายอิงคยุทธบริหารได้จัดเตรียมไว้ โดยผู้ถูกควบคุมซึ่งลงจากรถขบวนแรกได้รับอาหารและน้ำ เวลาประมาณ 20.30 น. ผู้ถูกควบคุมในรถขบวนที่สองได้รับอาหารและน้ำทยอยกันเป็นชุดๆ และแล้วเสร็จเวลาประมาณ 03.30 น. ของวันที่ 26 ตุลาคม 2547

3.2 การรักษาพยาบาล

ในกรณีที่ผู้ถูกควบคุมบาดเจ็บเล็กน้อยก็ได้รับการรักษาพยาบาล ณ เรือนจำจังหวัดทหารปัตตานี หากมีอาการป่วยหนักก็จะถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งอยู่ในบริเวณค่ายอิงคยุทธบริหาร ในกรณีที่เห็นว่าอาการป่วยรุนแรงซึ่งโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหารไม่สามารถดูแลรักษาได้ โรงพยาบาลอิงคยุทธบริหารก็จัดส่งต่อไปยังโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ โรงพยาบาลตากใบ จังหวัดนราธิวาส โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

3.3 ทรัพย์สินของผู้ถูกควบคุม

คณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในพื้นที่ได้สอบถามผู้ถูกควบคุมในภายหลัง ซึ่งได้ชี้แจงว่าที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เจ้าหน้าที่ได้ยึดบัตรประจำตัวประชาชน และทรัพย์สินอื่น อาทิ กระเป๋าสตางค์ นาฬิกา และโทรศัพท์มือถือไว้

3.4 การทำประวัติและการลำเลียงผู้ถูกควบคุมไปยังสถานที่อื่น

ผู้ถูกควบคุมได้ถูกสอบถามและทำประวัติทุกคน ในคืนของวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ไม่มีการลำเลียงผู้ถูกควบคุมไปยังสถานที่อื่น เว้นแต่กรณีเป็นผู้บาดเจ็บที่จะต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น

ส่วนที่ 8

ผลการชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต (7 ศพ เนื่องจากการสลายการชุมนุม ณ สถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ และ 78 ศพ ที่พบที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร) และการตรวจสารเสพติดผู้ถูกควบคุม

1.การชันสูตรพลิกศพ

การชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ความไม่สงบที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 85 คน คณะกรรมการอิสระได้ใช้ข้อมูลดังต่อไปนี้ประกอบการพิจารณา

-ผลการชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตของพนักงานสอบสวน สภ.อ.ตากใบและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม

-รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานด้านการแพทย์และพยาบาล

-รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง

รวมทั้งได้รับฟังคำชี้แจงของแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ในฐานะแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ และคำชี้แจงของ ร.ท.นพ.จิรศักดิ์ อินทสอน รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร ในฐานะแพทย์ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุที่พบผู้ถูกควบคุมเสียชีวิต ที่บริเวณหน้าเรือนจำทหาร ค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยมีเหตุผลของการชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต ดังนี้

1.1 ผลการชันสูตรพลิกศพ 85 ศพ ของพนักงานสอบสวน สภ.อ.ตากใบ ของพนักงานสอบสวน สภ.อ.หนองจิก และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม

1.1.1 ผลการชันสูตรพลิกศพผู้ชุมนุมที่เสียชีวิต จำนวน 7 คน ที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ของพนักงานสอบสวน สภ.อ.ตากใบ ในการชันสูตรพลิกศพผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 7 คน โดยการเสียชีวิตที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 6 คน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ 1 คน โดยแพทย์และเจ้าพนักงาน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง(ปลัดอำเภอตากใบและปลัดอำเภอเมืองนราธิวาส) และพนักงานอัยการ ได้ร่วมกันชันสูตรพลิกศพหลังการพบว่ามีผู้ชุมนุมเสียชีวิต หลังจากการสลายการชุมนุมเวลาประมาณ 16.00 น. ถึง 17.00 น. ของวันที่ 25 ตุลาคม 2547 และได้รายงานถึงสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมทั้ง 7 คน ว่าเสียชีวิตด้วยบาดแผลถูกกระสุนปืน

1.1.2 ผลการชันสูตรพลิกศพผู้ถูกควบคุมที่เสียชีวิต จำนวน 78 คน ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ของพนักงานสอบสวนของ สภ.อ. หนองจิกและของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม

ก.การชันสูตรพลิกศพผู้ถูกควบคุมที่เสียชีวิตระหว่างการเคลื่อนย้ายจาก สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส มายังเรือนจำจังหวัดทหารบกปัตตานี ค่ายอิงคยุทธบริหาร จำนวน 78 คน ทำโดยคณะแพทย์จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม แพทย์จากโรงพยาบาลปัตตานี และเจ้าพนักงานประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และพนักงานอัยการ บริเวณหน้าห้องเก็บศพของโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร เวลาประมาณ 09.00 น. ถึง 17.00 น. ของวันที่ 26 ตุลาคม 2547 และได้รายงานผลการชันสูตรศพ โดยไม่ได้ทำการผ่าศพพิสูจน์) จำแนกตามสาเหตุการเสียชีวิต ดังนี้

(1) สาเหตุการเสียชีวิต เกิดจากการขาดอากาศหายใจ และการถูกกดทับบริเวณหน้าอก 33 คน

(2) สาเหตุการเสียชีวิต จากการขาดอากาศหายใจ จากการกดทับที่บริเวณหน้าอก และบาดแผลมีรอยกระแทกด้วยของแข็งไม่มีคมที่ส่วนอื่นของร่างกายด้วยแต่ไม่รุนแรง 4 คน

(3) สาเหตุการเสียชีวิต จากการขาดอากาศหายใจจากการกดทับที่บริเวณหน้าอก และมีภาวะชักจากการเสียสมดุลของสารในเลือด บางรายมีบาดแผลรอยกระแทกด้วยของแข็งไม่มีคมที่ส่วนอื่นของร่างกายด้วย 10 คน

(4) สาเหตุการเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ 31 คน

ข.นอกจากนี้ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ ได้ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการอิสระว่า

-สภาพศพไม่มีสิ่งใดบ่งบอกว่าการขาดอากาศหายใจเกิดจากการรัดคอหรือสวมถุงพลาสติค เพราะสภาพศพส่วนใหญ่มีเลือดออกใต้ตาขาวและใบหน้าเข้ม

-การถือศีลอดก็ไม่ใช่สาเหตุของการเสียชีวิต แต่เป็นเรื่องความสมบูรณ์ของผู้ถูกควบคุม

-แรงกดในแนวขนานกับพื้นดินไม่เพียงพอ ที่จะทำให้เกิดการตายของผู้ถูกควบคุมซึ่งตายจากการถูกกดทับ

1.2 สรุปความเห็นเกี่ยวกับสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม 85 คน ของคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานด้านการแพทย์และพยาบาล

1.2.1 กรณีผู้มาชุมนุมซึ่งเสียชีวิต จำนวน 7 คน ที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส

คณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานด้านการแพทย์และพยาบาล มีความเห็นว่า กลุ่มผู้มาชุมนุมที่เสียชีวิตในที่เกิดเหตุที่ สภ.อ.ตากใบ จำนวน 7 คน โดยมีหนึ่งรายได้รับบาดเจ็บสาหัสและไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์นั้น เห็นได้ชัดเจนว่า เสียชีวิตเพราะถูกกระสุนปืนซึ่งยิงมาจากระยะไกล

1.2.2 กรณีผู้ถูกควบคุมซึ่งเสียชีวิต จำนวน 78 คน ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี

ในการพิจารณาสาเหตุการเสียชีวิตในกรณีผู้ถูกควบคุมที่เสียชีวิต จำนวน 78 คน ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานด้านการแพทย์และพยาบาล ได้พิจารณาจากหลักฐานการตรวจรักษาผู้บาดเจ็บและผู้เจ็บป่วย โดยพบว่า แทบทุกรายแพทย์วินิจฉัยว่า เป็นบาดแผลเกิดจากการถูกกระทบ (Crush Injurles) มีอาการหนักที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดด่วน 4 คน เพราะมีอาการกล้ามเนื้อ และอวัยวะอักเสบจากการขาดเลือด (Compartment Syndrome) สรุปความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ว่า สาเหตุเริ่มต้นจาก การที่ชาวไทยมุสลิมซึ่งกำลังถือศีลอดได้อดอาหาร และน้ำเกินกว่า 12 ชั่วโมง ในขณะที่อากาศร้อน และมีกิจกรรมรุนแรงของการชุมนุม การสลายการชุมนุม ตลอดจนขบวนการขนย้ายผู้ถูกควบคุมไปโดยรถยนต์ ซึ่งบางคันแออัดยัดเยียด อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาเกิน 3 ชั่วโมง ทำให้เกิดภาวะของ Rhabdomyolysis คือกล้ามเนื้อถูกทำลาย มีการเคลื่อนย้าย และเสียสมดุลของสารในเลือด และในเซลล์ของเมล็ดเลือดกับเซลล์ของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ทำให้กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่หายใจหมดกำลังที่จะทำหน้าที่ จึงขาดอากาศหายใจ และเมื่อรุนแรงมากๆ ก็ถึงตายได้

ดังนั้น จึงสันนิษฐานได้ว่าการเสียชีวิตของผู้ถูกควบคุมส่วนใหญ่ เกิดจากสาเหตุนี้ (โดยสันนิษฐานจากผู้บาดเจ็บ)

นอกจากนี้ จากหลักฐานการชันสูตรพลิกศพของผู้ถูกควบคุมที่เสียชีวิตในรถยนต์ ขณะทำการเคลื่อนย้ายจากที่เกิดเหตุ ณ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ปรากฏว่าสาเหตุการตายส่วนใหญ่ เป็นเรื่องการขาดอากาศหายใจ การถูกกดทับหน้าอกและกล้ามเนื้อการหายใจ มีหลักฐานของอาการชัก การเสียสมดุลของสารในเลือด ซึ่งเป็นอาการของโรคอย่างรุนแรงจนถึงแก่ความตาย จำนวน 78 คน คณะอนุกรรมการจึงสรุปมติและสันนิษฐานว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 78 คน เสียชีวิตด้วยสาเหตุกลุ่มเดียวกันคือ อาจจากการเกิดภาวะ Rhabdomyolysis (กล้ามเนื้อถูกทำลาย) ไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ ในขณะที่อยู่ในสภาพขาดอาหาร ขาดน้ำ และอากาศที่ร้อนอบอ้าวเป็นเวลานาน ทำให้มีอาการหนักมากจนถึงเสียชีวิตในที่สุด

2.ผลการตรวจสารเสพติด

จากรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานด้านแพทย์และพยาบาล ได้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับผลการตรวจวิเคราะห์สารเสพติดในปัสสาวะของกลุ่มผู้ถูกควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร กลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้ป่วยจากเหตุการณ์ที่ สภ.อ.ตากใบ และกลุ่มผู้ถูกควบคุมที่เสียชีวิตที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ดังนี้

2.1 กลุ่มผู้ถูกควบคุมที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ได้ตรวจวิเคราะห์หาสารเสพติดในปัสสาวะของผู้ถูกควบคุม จำนวน 1,093 ตัวอย่าง โดยพบสารเสพติด จำนวน 13 ตัวอย่าง แยกเป็นสารเสพติดประเภทต่างๆ ดังนี้

2.1.1 สาร Methamphetamine จำนวน 8 ตัวอย่าง

2.1.2 สาร Ephedrine(วัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2) จำนวน 1 ตัวอย่าง

2.1.3 สาร Benzo(วัตถุออกฤทธิ์ประเภท 4) จำนวน 1 ตัวอย่าง

2.1.4 สาร THC (กัญชา) จำนวน 2 ตัวอย่าง

2.2 กลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้ป่วยจากเหตุการณ์ที่ สภ.อ.ตากใบ ได้ตรวจวิเคราะห์หาสารเสพติดในปัสสาวะของผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้ป่วยซึ่งพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี จำนวน 13 ตัวอย่าง โดยพบสารเสพติดประเภท Morphine จำนวน 1 ตัวอย่าง

2.3 กลุ่มผู้ถูกควบคุมที่เสียชีวิตที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ได้ตรวจวิเคราะห์หาสารเสพติด โดยเก็บตัวอย่างจากผู้เสียชีวิต จำนวน 40 ตัวอย่าง จากผู้เสียชีวิต 78 คน แต่มีข้อจำกัด คือเก็บตัวอย่างได้ในปริมาณน้อย โดยพบสารเสพติด จำนวน 2 ตัวอย่าง แยกเป็นสารเสพติดประเภท Ephedrine (วัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2) ในปัสสาวะจำนวน 1 ตัวอย่าง และสารเสพติดประเภท Morphine ในปัสสาวะ จำนวน 1 ตัวอย่าง

(อ่านต่อ)

หน้า 2

------------------------------------------------------

เปิดผลสอบ สลายม็อบ"ตากใบ"ฉบับเต็ม (2)

มติชนรายวัน วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9907รายงาน

ภาคที่สาม

ข้อพิจารณาของคณะกรรมการอิสระ

โดยที่คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 335/2547 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547 แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาสได้กำหนดให้คณะกรรมการอิสระมีอำนาจและหน้าที่ในการสอบข้อเท็จจริงถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้ความว่า การใช้อำนาจรัฐเข้าควบคุมสถานการณ์และความสงบเรียบร้อย การสลายการชุมนุม การต่อต้านขัดขืนการใช้อำนาจรัฐ การควบคุมตัวผู้ชุมนุมและการเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุม ตลอดจนเหตุแห่งการบาดเจ็บและเสียชีวิตมีสาเหตุเกิดขึ้นได้อย่างไร มีพฤติการณ์ประการใด กระทำไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ หลักวิชาหรือมาตรฐานในการควบคุมหรือเคลื่อนย้ายบุคคลในสถานการณ์เช่นนั้นหรือไม่ ประการใด หากไม่เป็นไปตามนั้น มีผู้สมควรต้องรับผิดชอบประการใดหรือไม่ และมีมาตรการป้องกันตลอดจนช่วยเหลือหรือแก้ไขเยียวยาเพื่อบรรเทาความเสียหายแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างไร

ในการดำเนินการตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว คณะกรรมการอิสระฯจึงมีมติกำหนดประเด็นเพื่อพิจารณาดังนี้ คือ

1.การชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 มีการจัดตั้งหรือไม่

2.ผู้ชุมนุมพกพาอาวุธมาด้วยหรือไม่

3.มาตรการที่เจ้าหน้าที่ใช้ก่อนการสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาสเป็นไปตามมาตรฐานและเหมาะสมหรือไม่

4.เหตุผลในการสลายและวิธีการสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาสเหมาะสมหรือไม่

5.การควบคุมตัวผู้ชุมนุมทั้งหมดเหมาะสมและกระทำได้ตามกฎหมายหรือไม่

6.การเลือกใช้ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เพื่อควบคุมตัวผู้ถูกควบคุมเหมาะสมหรือไม่

7.การเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมจาก สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี มีมาตรฐานหรือไม่

8.การใช้เวลาในการเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมจาก สภ.อ.ตากใบ จนกระทั่งนำผู้ถูกควบคุมลงจากรถบรรทุก ณ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เหมาะสมหรือไม่

9.การดูแลผู้ถูกควบคุม ณ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เป็นไปอย่างเหมาะสมหรือไม่

10. มีผู้สูญหายจากเหตุการณ์ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 หรือไม่

11.ผู้รับผิดชอบการสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส การขนย้ายผู้ถูกควบคุมตัวจาก สภ.อ.ตากใบไปที่อิงคยุทธบริหาร และ

การดำเนินการที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี

ประเด็นที่ 1 การชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 มีการจัดตั้งหรือไม่

ปรากฏข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า การมาชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 25 ตลุาคม 2547 มีด้วยกันหลายสาเหตุ แต่มีอยู่ 2 สาเหตุ

ที่มีการแจ้งหรือนัดหมายกันล่วงหน้า คือ การชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชรบ. ทั้ง 6 คน และการมาละหมาดฮายัด(การขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้า) ให้แก่ ชรบ. ทั้ง 6 คน ประกอบกับก่อนวันที่ 25 ตุลาคม 2547 มีเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงเจ้าหน้าที่สองครั้ง ครั้งที่หนึ่งที่อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ครั้งที่สอง ชาวบ้านอำเภอสุไหงปาดี ไม่พอใจทหาร โดยกล่าวหาว่าทหารยิงปืนถูกขาหญิงไทยมุสลิมคนหนึ่ง แต่เมื่อแพทย์ตรวจแล้วพบว่ามีรอยถลอกเล็กน้อยและไม่ใช่เกิดจากรอยกระสุนปืน แต่การชุมนุมประท้วงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้มีการถอนทหารออกจากฐานปฏิบัติการดังกล่าว

คณะกรรมการอิสระได้พิจารณาข้อเท็จจริงข้างต้นแล้วเห็นว่า การชุมนุมประท้วงที่หน้า สภ.อ.ตากใบ ไม่ว่าจะเป็นพิจารณาข้อมูลเชิงพฤติกรรมของผู้ชุมนุมบางส่วนในขณะเกิดเหตุ หรือหลังเกิดเหตุ เป็นการกระทำที่มีการวางแผนมาก่อนโดยคนกลุ่มหนึ่ง มีการจัดตั้งคล้ายกับการชุมนุมคัดค้านเจ้าหน้าที่ก่อนหน้านั้นสองครั้ง ที่อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี และที่อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส โดยเคลื่อนไหวตามสถานการณ์ มีความมุ่งหมายที่กำหนดไว้แน่นนอน การเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชรบ. 6 คนเป็นเพียงข้อกล่าวอ้างเท่านั้น

แกนนำผู้ชุมชนดูเสมือนจงใจให้การชุมนุมเกิดขึ้นช่วงเดือนถือศีลอดของชาวไทยมุสลิม จงใจให้เกิดการยืดเยื้อ น่าจะมีเบื้องหลังมากกว่าการชุมนุมเรียกร้องตามปกติ มีการวางแผนยั่วยุเจ้าหน้าที่

ในขณะที่กลุ่มคนมาชุมนุมประท้วง เจ้าหน้าที่ระบุได้เฉพาะแกนนำกลุ่มหนึ่งประมาณ 30 คนที่อยู่ด้านหน้าเท่านั้น ผู้ชุมนุมที่เหลือไม่สามารถแยกแยะได้ว่าผู้ใดบ้างที่มาร่วมชุมนุมเพราะคำชักชวนหรือได้รับแจ้งให้มาละหมาดฮายัดให้ ชรบ.หรือมาให้กำลังใจ ชรบ.หรือเป็นประเภทที่มาดูด้วยความอยากรู้อยากเห็น มาทราบชัดเจนเมื่อมีการควบคุมตัวและมีการซักถามในภายหลัง ซึ่งส่วนใหญ่มาเพราะอยากรู้อยากเห็นหรือถูกชักชวนให้มาร่วมละหมาดฮายัด หรือมาให้กำลังใจ ชรบ.ทั้ง 6 คน

ประเด็นที่ 2 ผู้ชุมนุมพกพาอาวุธมาด้วยหรือไม่

ปรากฏข้อเท็จจริงจากภาครัฐและกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งได้สอบถามในภายหลังสรุปได้ดังนี้

ภาครัฐ ทั้งรายงานของ กอ.สสส.จชต. ที่กราบเรียนนายกรัฐมนตรีและคำชี้แจงของ มทภ.4 (พล.ท.พิศาล วัฒนวงศ์คีรี) สรุปได้ว่าในกลุ่มชุมนุมมีการพกพาอาวุธมาด้วย

ภาคประชาชน สำหรับกรณีที่ทางการได้ตรวจพบอาวุธสงคราม ระเบิด มีดดาบในแม่น้ำหลังสลายการชุมนุมในวันรุ่งขึ้น (วันที่ 26 ตุลาคม 2547) นั้น ผู้ถูกควบคุมซึ่งให้ข้อมูลในภายหลังทุกคนยืนยันว่า ในที่ชุมนุมไม่ได้พบเห็นว่า มีผู้ใดพกพาอาวุธเข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุ และในการเดินผ่านด่านหรือจุดสกัดต่างๆ จะถูกตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารอย่างละเอียด ผู้ให้ข้อมูลบางคนให้ปากคำว่าระหว่างสลายการชุมนุม ถ้ามีอาวุธคงมีการใช้อาวุธตอบโต้เจ้าหน้าที่อย่างแน่นอนและการสูญเสียของฝ่ายเจ้าหน้าที่คงมีมากกว่านี้

คณะกรรมการอิสระได้พิจารณาข้อเท็จจริงข้างต้นแล้ว เห็นว่าการที่ภาครัฐรายงานว่าผู้เข้าชุมนุมบางส่วนซุกซ่อนอาวุธมาด้วยนั้น โดยเฉพาะอาวุธสงครามและกระสุนจำนวนมากที่เจ้าหน้าที่ยึดได้หลังจากสลายการชุมนุมในวันนั้น และจากการที่งมอาวุธได้จากแม่น้ำต้องมีหลักฐานมาอ้างมากกว่านี้จึงจะทำให้เชื่อได้ อย่างไรก็ดี รอยกระสุนปืนที่โรงพัก ต้นไม้หรือที่พักในสวนสาธารณะมีทิศทางมาจากกลุ่มผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ตำรวจรายหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากกระสุนที่มีทิศทางมาจากกลุ่มผู้ชุมนุม ก็แสดงว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธ ซึ่งคงมีจำนวนไม่มากและไม่กี่คนเท่านั้น เพราะถ้าแกนนำผู้ชุมนุมมีอาวุธมากจริงและใช้อาวุธยิงเจ้าหน้าที่แบบต่อสู้กัน เจ้าหน้าที่คงตายและบาดเจ็บอีกหลายคน

ประเด็นที่ 3 มาตรการที่เจ้าหน้าที่ใช้ก่อนการสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส เหมาะสมหรือไม่

ปรากฏข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เจ้าหน้าที่ได้ตั้งด่านสกัดผู้เดินทางไม่ให้ไปยัง สภ.อ.ตากใบ แต่ไม่สามารถสกัดกั้นได้

ข้อเท็จจริงปรากฏต่อไปด้วยว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงคือ รอง ผอ.สสส.จชต. (นายศิวะ แสงมณี) มทภ.4 ปลัดจังหวัดนราธิวาส และผู้นำศาสนาอิสลาม และบิดาของ ชรบ.ซึ่งต้องคดีคนหนึ่งและมารดาของ ชรบ.ซึ่งต้องคดีอีกคนหนึ่ง ได้พยายามเจรจาด้วยภาษาไทยและภาษามลายูท้องถิ่นหลายครั้งเพื่อขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมแยกย้ายกลับไป รวมทั้งได้พูดผ่านเครื่องขยายเสียงว่าให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกลับไป มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่จำต้องสลายการชุมนุม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

คณะกรรมการอิสระได้พิจารณาข้อเท็จจริงข้างต้นแล้วเห็นว่า มาตรการที่เจ้าหน้าที่ใช้ไม่ว่าจะเป็นการสกัดกั้นผู้เดินทางไม่ให้เข้าไปยัง สภ.อ.ตากใบ หรือการเจรจา 5 ถึง 6 ครั้ง ซึ่งดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ ผู้นำทางศาสนา และบิดามารดาของ ชรบ. 6 คน ที่ถูกจับกุมนั้น เป็นไปอย่างเหมาะสมแล้ว อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการอิสระมีข้อสังเกตว่า หากการสกัดกั้นมิให้ผู้เดินทางเข้าไปยัง สภ.อ.ตากใบประสบความสำเร็จ ผู้ชุมนุมอาจจะมีจำนวนน้อยกว่านี้

นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงจากการสอบถามผู้ชุมนุมในภายหลัง ปรากฏว่า การพูดผ่านเครื่องขยายเสียง เพื่อให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกันกลับไปนั้น ผู้ชุมนุมบางส่วนไม่ได้ยิน เพราะมีแกนนำในการชุมนุมพยายามโห่ร้องส่งเสียงดังอยู่เสมอ คณะกรรมการอิสระจึงมีข้อสังเกตว่า ในการใช้เครื่องขยายเสียงเพื่อเจรจากับผู้ชุมนุมนั้น ควรคำนึงถึงกำลังของเครื่องขยายเสียงกับการโห่ร้องส่งเสียงดังของแกนนำในการชุมนุม เพื่อกลับเสียงจากเครื่องขยายเสียงและทิศทางที่ลมพัดพาด้วย

ประเด็นที่ 4 เหตุผลในการสลายและวิธีการสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส เหมาะสมหรือไม่

ปรากฏข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า ในการวางแผนสลายการชุมนุม ที่ประชุมของผู้บริหารระดับสุงในพื้นที่ได้ข้อสรุปว่า จะเจรจาขอร้องให้กลุ่มผู้ชุมนุมแยกย้ายกันกลับไปและหากเวลา 17.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่แยกย้ายกันกลับไป และเกิดเหตุจลาจลขึ้น มทภ.4 ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตามประกาศกฎอัยการศึก จะเป็นผู้ใช้อำนาจสั่งสลายการชุมนุม โดยให้ ผบ.พล.ร.5 (พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร) เป็นผู้ควบคุมตามหลักสากลในการใช้กำลัง ซึ่งถือว่ากองพลทหารราบ เป็นหน่วยทางยุทธวิธีสูงสุด และเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. การเจรจาเพื่อขอให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกันกลับไป ยังไม่ประสบความสำเร็จ สถานการณ์เริ่มตึงเครียด กลุ่มผู้ชุมนุมใช้สิ่งของต่างๆ ก้อนอิฐ เศษไม้ ขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่และพยายามใช้กำภลังเข้ามาภายใน สภ.อ.ตากใบ ชุดปราบจลาจลจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส เข้าผลักดันฝูงชน แต่สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น ฝูงชนใช้กำลังโถมเข้าหาเจ้าหน้าที่ มทภ.4 จึงมีคำสั่งให้สลายการชุมนุม โดยการใช้น้ำจากรถดับเพลิงของเทศบาลตำบลตากใบฉีดน้ำเข้าใส่ฝูงชน ใช้แก๊สน้ำตา และขณะเดียวกันมีเสียงปืนดังขึ้นมาจากทางด้านผู้ชุมนุม ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บสาหัสหนึ่งนาย เจ้าหน้าที่จึงยิงปืนขึ้นฟ้าหลายชุด และใช้เวลาในการสลายการชุมนุมประมาณ 30 นาที จึงสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้

การสลายการชุมนุมทำให้ฝ่ายผู้ชุมนุมเสียชีวิต 7 ศพ (5 ศพถูกกระสุนปืนที่บริเวณศีรษะ) เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 14 นาย (1 นายถูกกระสุนปืน) ผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัว 1,370 คน

คณะกรรมการอิสระได้พิจารณาข้อเท็จจริงข้างต้นแล้วเห็นว่า เจ้าหน้าที่มีเหตุอันสมควรที่เชื่อได้ว่า หากปล่อยให้เหตุการณ์ยืดเยื้อออกไป ก็จะทำให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย จนมิอาจควบคุมได้ และอาจเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ต่อสถานที่ราชการ และเจ้าหน้าที่ เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก และบางส่วนก็มีการวางแผนล่วงหน้า พร้อมทั้งมีไม้ ก้อนหินและอาจมีอาวุธอื่นๆ ซุกซ่อนอยู่ ประกอบกับภาวะความกดดันอย่างรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่ ที่ต่อเนื่องมายาวนาน การตัดสินใจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม จึงถือได้ว่า เป็นไปตามเหตุผลและความจำเป็นของสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงวิธีการสลายการชุมนุมที่ใช้กำลังติดอาวุธใช้กระสุนจริง โดยเฉพาะใช้กำลังทหารเกณฑ์และทหารพรานซึ่งมีวุฒิภาวะไม่สูงพอเข้าร่วมในการเข้าสลายการชุมนุมนั้นคณะกรรมการอิสระเห็นว่า เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามแบบแผนและวิธีปฏิบัติที่ใช้กันตามหลักสากล อย่างไรก็ตาม การใช้กำลังทหารเข้าปฏิบัติการสลายการชุมนุมตลอดจนใช้อาวุธและกระสุนจริงเป็นความจำเป็นตามสถานการณ์ ดังนั้น เมื่อมีการเสียชีวิตและการบาดเจ็บเกิดขึ้นทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและฝ่ายเจ้าหน้าที่ จึงควรเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรในกระบวนการยุติธรรม ที่จะต้องดำเนินการพิสูจน์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายต่อไป

สำหรับกรณีที่มีข่าวว่า มีการจ่อยิงศีรษะผู้เข้าร่วมชุมนุมนั้น ผลจากการชันสูตรพลิกศพไม่ปรากฏว่ามีการใช้อาวุธปืนจ่อยิงผู้ร่วมชุมนุมแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 5 การควบคุมตัวผู้ชุมนุมทั้งหมดเหมาะสมและกระทำได้ตามกฎหมายหรือไม่

ปรากฏข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า ก่อนการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ประสงค์จะควบคุมตัว เฉพาะบุคคลที่เป็นแกนนำ ในการชุมนุมเท่านั้น แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป จึงตัดสินใจควบคุมตัวผู้ชุมนุมทั้งหมด และเมื่อมีคำสั่งให้ผู้ถูกควบคุมทั้งหมดถอดเสื้อออก จึงทำให้เจ้าหน้าที่ไม่

อาจทราบได้ว่า ผู้ถูกควบคุมคนใดเป็นแกนนำในการชุมนุมคณะกรรมการอิสระได้พิจารณาข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ต้องการควบคุมเฉพาะกลุ่มแกนนำประมาณ 30 ถึง 40 คน เท่านั้น

จึงเตรียมใช้รถบรรทุกที่ขนส่งทหารพราน จำนวน 4 คัน เพื่อขนส่งผู้ถูกควบคุมตัว แต่เมื่อมีการควบคุมตัวผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมากขึ้น เพราะไม่สามารถจำแนกแกนนำจากผู้ร่วมชุมนุมได้ จำเป็นต้องปรับแผนเอาตัวผู้ชุมนุมทั้งหมดไว้ก่อน แล้วค่อยคัดออกในภายหลัง เป็นเหตุให้เกิดความบกพร่อง ในการเตรียมการและการปฏิบัติหลายประการ

สำหรับการกักตัวผู้ชุมนุมนั้น มทภ.4 มีอำนาจกักตัวผู้ชุมนุมไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน ตามมาตร 15 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457

ประเด็นที่ 6 การเลือกใช้ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เพื่อควบคุมตัวผู้ถูกควบคุมเหมาะสมหรือไม่

คณะกรรมการอิสระพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า การเลือกใช้ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เพื่อควบคุมตัวผู้ถูกควบคุมเป็นการเลือกที่เหมาะสมแล้ว เพราะมีผู้ถูกควบคุมจำนวนมาก สถานที่ที่จะใช้ควบคุมตัวในจังหวัดนราธิวาส มีไม่เพียงพอ และไม่เหมาะสม จึงตัดสินใจใช้ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เนื่องจากมีเรือนจำทหารที่จะใช้ควบคุมตัวผู้ชุมนุมได้ และมีโรงพยาบาลทหาร ที่จะรักษาพยาบาลผู้ถูกควบคุมตัวที่ป่วยและบาดเจ็บได้

ประเด็นที่ 7 การเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมจาก สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารจังหวัดปัตตานี มีมาตรฐานหรือไม่

ปรากฏข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า จำนวนรถบรรทุกที่ใช้ขนส่งเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมจำนวน 1,370 คน มีไม่เพียงพอ จึงได้สั่งให้นำรถบรรทุกทั้งของทหารและตำรวจมาเพิ่ม

คณะกรรมการอิสระพิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วเห็นว่า การเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมจากตากใบไปค่ายอิงคยุทธบริหาร ค่อนข้างจะเป็นไปด้วยความสับสนและฉุกละหุกภายใต้สถานการณ์ขณะนั้น เมื่อความเสียหายอย่างร้ายแรงเกิดขึ้นเพราะมีคนตายมาก จึงต้องทบทวนหาข้อบกพร่องในทุกขั้นตอน

การเตรียมรถในช่วงเวลาฉุกละหุก แม้จำนวนรถจะแตกต่างกันไปบ้าง แต่ถ้าเชื่อตามเอกสารที่ทหารจัดส่งมาให้ คือมีรถของตำรวจ ทหาร และนาวิกโยธิน รวม 28 คัน และจำนวนผู้ถูกควบคุมซึ่งขณะนั้นยังไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน เพิ่งมาทราบทีหลังว่ากว่า 1,300 คน คิดเฉลี่ยคันละกว่า 50 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่บรรทุกได้ แต่เมื่อรถคันแรกๆ บรรทุกไม่ถึง 50 คน คันหลังต้องบรรทุกมากกว่า 50 คน โดยแน่แท้ เพราะเจ้าหน้าที่ต้องพยายามบรรทุกให้หมด อีกทั้งต้องมารับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกสกัดและควบคุมตัวไว้ที่สามแยกตากใบก็ต้องพยายามบรรทุกคนขึ้นไปให้หมด ผลจึงปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนมากอยู่ในรถบรรทุกคันหลังๆ

ท่าของผู้ถูกควบคุมบนรถบรรทุก

สำหรับวิธีการเคลื่อนย้ายนั้น ผู้ถูกควบคุมส่วนใหญ่อ้างว่าถูกบังคับให้นอนคว่ำหน้าทับซ้อนกันหลายชั้น บางคนพูดถึง 3-4 ชั้น ในขณะที่ทางเจ้าหน้าที่อ้างว่าให้นั่งไปและยืนไป มีรถคันหนึ่งในสี่คันแรกที่มีการนอนทับซ้อนกัน และต้องมาขนลงหลังจากที่ ผบช.ภ.9 และ มทภ.4 มาพบและสั่งให้เอาลง ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชนซึ่งถ่ายภาพรถบรรทุกผู้ควบคุมคันหนึ่ง ซึ่งนอนทับซ้อนกันหลายชั้นได้ชี้แจงว่าได้ยิน ผบช.ภ.9 และ มทภ.4 สั่งให้เจ้าหน้าที่เอาคนลงมา แต่ไม่ได้อยู่ดูว่ามีการปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่

คณะกรรมการอิสระจึงเห็นว่า น่าจะฟังได้ว่ามีการเอาผู้ชุมนุมนอนทับซ้อนกันจริงในรถบรรทุกคันแรกของขบวนแรกจนผู้บังคับบัญชามาเห็น จึงสั่งให้เอาคนลงมาและจัดขึ้นไปใหม่ ซึ่งต่อมาไม่น่าจะมีการสั่งให้เอาคนนอนทับซ้อนกันหลายชั้นเช่นนั้นอีก อย่างไรก็ดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีการทับซ้อนในรถคันหลังๆ เพราะจากรายงานของคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานด้านการแพทย์และพยาบาล ซึ่งพิจารณาผลชันสูตรพลิกศพ และจากการสอบถามแพทย์ผู้รักษาผู้บาดเจ็บ และการเยี่ยมผู้บาดเจ็บล้วนสรุปได้ว่า

การเสียชีวิตส่วนใหญ่ของผู้ถูกควบคุมอยู่ในสถาวะอ่อนแอ ช่วยตัวเองไม่ได้เต็มที ขาดอาหารและน้ำประกอบกับได้รับอากาศหายใจน้อย เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจอ่อนแรงลงและจากการกดทับ ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้ง "แนวนอน แนวดิ่ง และแนวเฉียง" เพราะการบรรทุกที่แน่นเกินไป หลายรายตายจากสาเหตุจากการถูกกดทับ ที่หน้าอก หลายรายมีภาวะเสียสมดุลของสารในเลือด มีภาวะการทำลายกล้ามเนื้อเกิดขึ้น(Rhabdomyolysis) และอาจมีอาการไตวายชนิดเฉียบพลัน (Acute renal fallure) ซึ่งเป็นสาเหตุของการตายทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น การทับกันคงมีจริง แต่ทับแบบไหน แนวนอน แนวดิ่ง หรือแนวเฉียง ซึ่งทุกแนวทำให้เกิด Compression Syndrome ทำให้กล้ามเนื้อขาดเลือดไปเลี้ยงได้ทั้งนั้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ถึงแก่ความตายได้หากเกิดขึ้นเป็นเวลานาน

เหตุผลอีกประการหนึ่งคือรถบรรทุกคันหลังเสียเวลาการลำเลียงคนลงนานกว่าคันแรกๆ ประกอบกับการอัดทับ และความอ่อนเพลียจากการอดอาหารและน้ำ เสียแรงตลอดทั้งวัน ความต้านทานของร่างกายจึงน้อยลง

นอกจากนี้ ผลการชันสูตรพลิกศพยืนยันว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 78 คน ไม่มีผู้ใดเสียชีวิตมาจากสาเหตุคอหัก และไม่มีร่องรอยของการรัดคอหรือการครอบถุงพลาสติค

คณะกรรมการเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นต้องถือว่าผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องขาดการใช้วิจารณญาณเป็นอย่างมาก ละเลยไม่ดูแลการลำเลียงและเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมให้แล้วเสร็จ แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารระดับชั้นผู้น้อย ที่มีข้อจำกัดด้านประสบการณ์ และมุ่งแต่เพียงปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงไปเท่านั้นโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่นประกอบ เนื่องจากเจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนจึงไม่อาจคาดได้ว่าจะเกิดการตายเช่นนี้

ประเด็นที่ 8 การใช้เวลาในการเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมจาก สภ.อ.ตากใบ จนกระทั่งนำผู้ถูกควบคุมลงจากรถบรรทุก ณ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เหมาะสมหรือไม่

ปรากฏข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า รถบรรทุกผู้ถูกควบคุมขบวนที่สอง(จำนวน 22 คัน หรือ 24 คัน) ซึ่งพบผู้เสียชีวิต 77 รายใช้เวลาเดินทางจาก สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ประมาณ 5 ชั่วโมง โดยมีการหยุดระหว่างทางเนื่องจากมีการวางเรือใบหรือการเปลี่ยนเวรหรือรับผู้ถูกควบคุมเพิ่มขึ้น และใช้เวลาลำเลียงผู้ถูกควบคุมลงจากรถบรรทุกอีกนานจนแล้วเสร็จคันสุดท้ายเมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. ของวันที่ 26 ตุลาคม 2547 เนื่องจากสภาพถนนหน้าเรือนจำทหารบกในค่ายอิงคยุทธบริหารมีขนาดเล็ก รถบรรทุกไม่สามารถเข้าไปพร้อมๆ กันได้หลายคัน

คณะกรรมการอิสระได้พิจารณาข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า เนื่องจากระยะเวลาการเดินทางจาก สภ.อ.ตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารซึ่งห่างประมาณ 150 กิโลเมตร มีการหยุดระหว่างทางและขบวนรถเป็นขบวนที่ยาว 22 คัน หรือ 24 คัน การเดินทางเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะเป็นเวลากลางคืนมีฝนตกหนัก มีการวางสิ่งกีดขวาง ประกอบกับมีข่าวว่าจะมีการชิงตัวผู้ถูกควบคุมตัว ทำให้การเดินทางไม่สามารถเคลื่อนที่ได้เร็วเท่าที่ควร ระยะเวลาที่ใช้มายังค่ายอิงคยุทธบริหาร 5 ชั่วโมง จึงเป็นระยะเวลาเหมาะสมภายใต้วิสัย และพฤติการณ์ในสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว

สำหรับระยะเวลาที่ใช้ในการลำเลียงผู้ถูกควบคุมลงจากรถบรรทุก ณ เรือนจำทหารบกในค่ายอิงคยุทธบริหารนั้น คณะกรรมการอิสระเห็นว่า ด้วยสภาพถนนหน้าเรือนจำทหารบกแคบรถบรรทุกไม่สามารถเข้าไปพร้อมๆ กัน หรือสวนกันได้ทำให้การลำเลียงคนลงเป็นไปอย่างล่าช้าระยะเวลาที่ใช้ในการลำเลียงคนลงจากรถบรรทุก จึงเหมาะสมตามเหตุการณ์และสภาพของสถานที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้การใช้เวลาในการลำเลียงผู้ถูกควบคุมลงจากรถบรรทุก ณ เรือนจำทหารบก จะเป็นไปอย่างเหมาะสม ตามสถานการณ์ก็ตาม คณะกรรมการอิสระเห็นว่า เมื่อมีการพบผู้เสียชีวิตในรถบรรทุกแล้ว เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมดูแลการลำเลียง มิได้สั่งให้ดำเนินการใดกับรถบรรทุกที่จอดรออยู่หรือแจ้งให้ผู้ควบคุมรถของรถบรรทุกคันอื่นๆ ทราบ เพื่อดำเนินการใดๆ เช่น รีบนำผู้ถูกควบคุมลงพื้นด่วนเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น การละเลยไม่คำนึงถึงการบรรเทาความเสียหายดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น และเป็นการกระทำที่ไม่รับผิดชอบ

ประเด็นที่ 9 การดูแลผู้ถูกควบคุม ณ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เป็นไปอย่างเหมาะสมหรือไม่

ผู้ถูกควบคุมตัวและเจ้าหน้าที่ต่างให้ถ้อยคำสอดคล้องกันว่าการดูแลผู้ถูกควบคุมที่บริเวณเรือนจำจังหวัดทหารบก ที่โรงพยาบาล ณ ค่ายอิงคยุทธบริหาร เป็นไปอย่างดี ซึ่งยังรวมไปถึงการช่วยเหลือของแพทย์และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลแห่งอื่นๆ ทั้งของจังหวัดปัตตานี และจังหวัดข้างเคียง ซึ่งได้รับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหารไปรักษาพยาบาลต่อ คณะกรรมการอิสระจึงเห็นว่าผู้ถูกควบคุมและผู้เจ็บป่วยได้รับการดูแลอย่างดีมีประสิทธิภาพและเหมาะสมแล้ว

ประเด็นที่ 10 มีผู้สูญหายจากเหตุการณ์ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 หรือไม่

ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ณ ขณะนี้มีบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ได้หายไปจำนวน 7 คน โดยมีการแจ้งเรื่องราวไว้ต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสแล้ว

คณะกรรมการอิสระเห็นว่าหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานพื้นที่ ต้องเร่งสืบหาข้อเท็จจริงเป็นการด่วน และประสานไปยังทายาทของผู้สูญหาย พร้อมทั้งจัดการเยียวยา บำรุงขวัญในเบื้องต้น เพื่อให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่มิได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเจ้าหน้าที่มีความห่วงใยในความเป็นอยู่ และทุกข์สุขของประชาชนโดยทั่วถึงเป็นอย่างดียิ่งตลอดมา

ประเด็นที่ 11 ผู้รับผิดชอบในการสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส การขนย้ายผู้ถูกควบคุมตัวจาก สภ.อ.ตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร และการดำเนินการที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี

ในการพิจารณาว่าผู้ใดควรรับผิดชอบในเหตุการณ์นี้ คณะกรรมการอิสระ เห็นว่าเมื่อ มทภ.4 ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2547

เรื่อง การใช้กฎอัยการศึกในเขตอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส มทภ.4 จึงมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ในสถานที่เกี่ยวกับยุทธ์ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ต้องปฏิบัติตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร (มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457) ข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่าในการวางแผนการสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ มทภ.4

ได้สั่งให้ ผบ.พล.ร.5 (พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร) เป็นผู้ควบคุมกำลังและเป็นหน่วยภาคยุทธวิธีในการดำเนินการสำหรับ 11.1 ผู้รับผิดชอบในการสลายการชุมนุมใน สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส และการเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี

คณะกรรมการอิสระจึงเห็นว่า พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผบ.พล.ร.5 เป็นผู้รับผิดชอบในการสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งรับผิดชอบในการควบคุมตัวผู้ชุมนุม การลำเลียงผู้ชุมนุมขึ้นรถบรรทุก และการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมซึ่งถูกควบคุมตัวบนรถบรรทุกไปยังเรือนจำจังหวัดทหารบก ค่ายอิงยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี และปรากฏข้อเท็จจริงว่า พล.ต.เฉลิมชัย วุรุฬห์เพชร ไม่ได้อยู่ควบคุมดูแลภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ลุล่วง แต่ได้ออกจากพื้นที่ไปพบนายกรัฐมนตรีที่อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เมื่อเวลาประมาณ 19.30 น. โดยไม่มีเหตุผลและความจำเป็น คณะกรรมการอิสระจึงเห็นว่า พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไม่ครบถ้วนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา

11.2 ผู้รับผิดชอบที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี

ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พล.ต.สินชัย นุตสถิตย์ รอง มทภ.4 ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานการข่าวและสายงานยุทธการได้รับคำสั่งจาก มทภ.4 ให้จัดเตรียมทั้งน้ำ อาหาร และพื้นที่ เพื่อรองรับผู้ถูกควบคุมที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ดังนั้น เมื่อการลำเลียงผู้ถูกควบคุมลงจากรถบรรทุกที่เรือนจำจังหวัดทหารบกปัตตานี ณ ค่ายอิงคยุทธบริหาร และพบว่าในรถบรรทุกมีคนตาย แต่กลับมิได้มีคำสั่งหรือดำเนินการใดๆ กับผู้ควบคุมรถบรรทุกหรือผู้ถูกควบคุมที่จอดรออยู่ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เห็นว่าน่าจะเกิดขึ้น จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไม่ครบถ้วนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา

11.3 ผู้รับผิดชอบในสถานการณ์โดยรวม

โดยที่ พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี มทภ.4 เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดเมื่อประกาศกฎอัยการศึก แม้จะได้มอบหมายให้ พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผบ.พล.ร.5 และ พล.ต.สินชัย นุตสถิตย์ รอง มทภ.4 เป็นผู้รับผิดชอบตามที่กล่าว ใน 11.1 และ 11.2 แล้วก็ตาม มทภ.4 ก็ยังคงต้องรับผิดชอบในการติดตาม ควบคุม และสอดส่องดูแลว่าภารกิจที่ได้มอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชา ปฏิบัติประสบความสำเร็จ หรือมีปัญหาความยุ่งยากประการใด แม้จะมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อเวลาประมาณ 01.30 น. ของวันที่ 26 ตุลาคม 2547 มทภ.4 ก็ได้ทราบข่าวว่ามีคนตายที่ค่ายอิงคยุทธบริหารประมาณ 70 คน แล้ว แต่ก็มิได้ดำเนินการอะไร จนถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2547 มทภ.4 จึงเข้ามาที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เพื่อมาตอบข้อสอบถามของคณะกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภา ซึ่งเดินทางมายังค่ายอิงคยุทธบริหาร เพื่อหาข้อมูลการตายของผู้ชุมนุม 78 คน คณะกรรมการอิสระจึงเห็นว่า พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี มทภ.4 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ขาดความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีหน้าที่ติดตามดูแลภารกิจที่ได้มอบหมาย ให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติอย่างใกล้ชิด

11.4 บทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้เริ่มก่อเหตุการณ์คือกลุ่มแกนนำบางคนที่ต้องการให้สถานการณ์ยืดเยื้อ เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นฝ่ายเข้าไปดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ละคนได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนภายใต้ข้อจำกัดหลายประการ ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อบกพร่องไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ไม่มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดการเสียชีวิต บาดเจ็บ อนึ่ง ในเหตุการณ์นี้มีข้อสังเกตว่าข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่หลายท่านได้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเสียสละ กล้าหาญ จึงต้องนำเหตุการณ์นี้มาศึกษาเสนอแนะเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายเช่นนี้ขึ้นอีก และการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมจำนวนมากระหว่างการเคลื่อนย้ายจาก สภ.อ.ตากใบมายังค่ายอิงคยุทธบริหารนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดถึงและไม่มีเจตนาที่จะให้เกิดเหตุการณ์ที่เศร้าสลดเช่นนี้

ภาคที่ 4

ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระฯ

1.ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการสลายการชุมนุม

เพื่อป้องกันมิให้เกิดการเสียชีวิตในกรณีมีการชุมนุมประท้วงเช่นนี้อีก ให้ชุดปราบจลาจลของตำรวจที่ได้รับการฝึกอบรม และมีความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์การปฏิบัติงานในพื้นที่เป็นหลัก สำหรับชุดปราบปรามจลาจลของฝ่ายทหาร จะใช้เป็นกองหนุนในกรณีที่กำลังตำรวจมีไม่พอเท่านั้น และห้ามติดอาวุธ

2.ข้อเสนอแนะในการควบคุมตัวและการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม

2.1 ในการควบคุมตัวผู้ชุมนุม ควรควบคุมเฉพาะแกนนำในการชุมนุม หรือผู้ต้องสงสัยเท่านั้น และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องควบคุมตัวผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก ควรจัดให้มีการสอบสวนเบื้องต้น เพื่อแยกประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องออกโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ควรต้องมีมาตรการเพื่อเปิดทางให้ประชาชนผู้มาร่วมชุมนุมถอนตัวออกจากที่ชุมนุมได้

2.2 ยานพาหนะที่ใช้ต้องจัดให้มีจำนวนมากเพียงพอ และต้องมีเจ้าหน้าที่ชั้นสัญญาบัตรควบคุมขบวน

2.3 หากระยะทางที่ไกล ควรจัดให้ผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนได้นั่งไป

3.ข้อเสนอแนะแนวทางการบริหารงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

3.1 การจัดตั้งองค์กรบริหารราชการ ควรจัดตั้งให้มีลักษณะพลเรือนมากขึ้น โดยให้องค์กรประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น

3.2 ควรใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร และน้อมนำแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า "เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา"

3.3 ควรนำองค์กรเครือข่ายอาสาสมัครภาคประชาชนในระดับตำบล และหมู่บ้านทุกองค์กรมาสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

หน้า 2

---------------------------------------------------------

ประชาไท-24 ธ.ค.47
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์

ภายหลังรับฟังสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการอิสระ

สอบข้อ เท็จจริงการเสียชีวิตกรณีตากใบ ซึ่งมีนายพิเชต สุนทรพิพิธ เป็นประธาน ว่า ในรายงานมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่บกพร่อง และต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัย 3 คน ประกอบด้วย แม่ทัพภาคที่ 4 รองแม่ทัพภาคที่ 4 และผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 5

โดยจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยเพิ่มเติม เนื่องจากไม่อยู่ดูการลำเลียงขนย้ายผู้ชุมนุมจนเสร็จสิ้น ซึ่งเป็นเรื่องต้องสอบสวนว่าไม่อยู่เพราะอะไร ส่วนไหนเกี่ยวกับคดีอาญา ก็ต้องสอบสวนต่อไป หากผลการพิสูจน์เป็นการตายที่มีผู้ทำให้ตายโดยเจตนาก็จะถูกดำเนินคดี แต่หากเป็นอุบัติเหตุก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“จะมีการซักซ้อมคำพูดที่ออกมาในบทสรุปของเนื้อหา เพื่อให้เข้าใจตรงกันถึงสิ่งที่คณะกรรมการอิสระฯได้สืบข้อเท็จจริงมา โดยอาจจะมีการปรับถ้อยคำเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจตามที่คณะกรรมการฯ ต้องการจะพูด ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น”พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวนอกจากนี้นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า จะนำรายงานผลสรุปเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 28 ธ.ค.นี้ เพื่อให้ครม.พิจารณาเห็นชอบ จากนั้นจะมีการทำเอกสารเผยแพร่ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และครม.จะมีมติสั่งการโดยดำเนินงานสามขั้นตอน คือ การสอบสวนผู้ถูกพาดพิงว่าอาจจะบกพร่อง การดำเนินการในส่วนที่เป็นคดีอาญาจากที่มีผู้เสียชีวิตกรณีตากใบ ซึ่งต้องมีการสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย และสุดท้ายคือ เรื่องการเยียวยาที่เหมาะสมถูกต้อง

พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาการเยียวยาเป็นการเยียวยาเบื้องต้น ซึ่งจะต้องมีการเยียวยาครั้งสุดท้าย เช่น คนมาร่วมชุมนุม อาจจะเรียกร้องว่าของหาย หรือบางคนได้รับบาดเจ็บ จะมีคณะกรรมการชุดใหม่ที่เรียกว่าคณะกรรมการเยียวยาซึ่งรับเรื่องร้องเรียน และพิจารณาเป็นรายไป

แทนที่ประชาชนต้องนำเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาของศาล เว้นแต่ผู้ได้รับการเยียวยายังไม่พอใจ ก็สามารถฟ้องศาลได้นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องรับผิด ชอบกับเหตุการณ์ด้วยนั้นเป็นการคิดเอาเอง คณะกรรมการฯ ไม่เคยพูดว่าตำรวจจะต้องรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการสรุปและเขียนเอง ส่วนสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมนั้น นายแพทย์วิฑูรย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะอนุกรรมการทางการแพทย์ ได้สรุปการเสียชีวิตไว้หลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการขาดอากาศหายใจ

ส่วนข้อเสนอแนะในการแก้ไขการดำเนินงานครั้งต่อไปนั้น พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า จะต้องดูว่าจุดบกพร่องการสลายการชุมนุมมีอะไร และควรแก้ไขอย่างไร ซึ่งในรายงานมีเรื่องดี คือมีแพทย์ ทหารดูแลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ทุ่มเทช่วยเหลือคนไข้เป็นอย่างดี และทุกคนที่ได้รับการรักษาไม่มีใครเสียชีวิต บางกรณีมีผู้มารักษาเรื่องไต ก็ฟอกไตให้ทันที ทำให้เห็นมุมเอื้ออาทรของสังคมไทย

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวต่อว่า คิดว่านานาประเทศสามารถรับข้อสรุปนี้ได้ เพราะมีการสรุป 11 ประเด็น เช่น การชุมนุมมีการจัดตั้ง ไม่ใช่เป็นการชุมนุมตามธรรมชาติ โดยมีเหตุผลที่ละเอียดดีมาก เพราะการสอบสวนของคณะกรรมการฯ จะมีคณะอนุกรรมการฯ แต่ละชุดไปสอบ เช่น คณะอนุกรรมการฯ ที่สอบชาวบ้าน คือชุดของนายอิสมาแอ อาลี ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยวิทยาเขตปัตตานี เป็นต้น

ทั้งนี้ ในการประชุมสรุปผลการสอบครั้งนี้ มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.สัมพันธ์ บุญญานันท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เข้าร่วมหารือด้วย โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์
ประชาไทรายงาน


--------------------------------------------------

จดหมายเปิดผนึกถึงกระทรวงยุติธรรม ประเทศไทย โดยกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย

5 มีนาคม 2550
AHRC-OL-008-2007

จดหมายเปิดผนึกถึงกระทรวงยุติธรรม ประเทศไทย โดยกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย

ชาญชัย ลิขิตจิตตะ
รัฐมนตรีชั่วคราวกระทรวงยุติธรรม

สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม
อาคารกระทรวงยุติธรรม
ชั้น 22 อาคารซอฟ์ทแวร์ปาร์ค
ถ.แจ้งวัฒนะ
ปากเกร็ด นนทบุรี
กรุงเทพฯ 11120

โทร: 02 502 6776/ 8223
โทรสาร: 02 502 6699/ 6734 / 6884
อีเมล์: ommoj@moj.go.th

เรียน คุณชาญชัย
ประเทศไทย : คณะกรรมการพิเศษสามารถเริ่มดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหาร 6 นาย

กรรมาธิการ สิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียยินดีที่ได้รับทราบว่า พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีชั่วคราวของประเทศไทย ได้ออกคำสั่งให้ตั้ง “คณะกรรมการพิเศษเพื่อดำเนินคดีกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและวิสามัญฆาตกรรม” ในช่วงปี 2544 ถึง 2549 ภายใต้กระทรวงยุติธรรม

เราคาดหวังว่าคณะกรรมการพิเศษจะเริ่มงานกับคดีที่คณะกรรมการฯ อยู่ในสถานะที่จะดำเนินคดีได้อย่างชัดเจนที่สุด เราจึงเสนอว่ากระทรวงของท่านจะเริ่มการดำเนินงานโดยการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของกองทัพไทย 6 นาย ดังต่อไปนี้

ก. เจ้าหน้าที่สามนายที่ถูกระบุว่าเป็นผู้รับผิดชอบในการออกคำสั่งฆ่าคน 28 คน

1. พล.อ. พัลลภ ปิ่นมณี
2. พ.อ. มนัส คงแป้น
3. พ.ท. ธนภัทร นาคชัยยะ

ในการสืบสวนคำร้องโดยอัยการภายใต้มาตรา 150 (5) ของประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย ศาลจังหวัดปัตตานีพบว่าเจ้าหน้าที่ทั้งสามนายนี้ได้ออกคำสั่งฆ่าชาย 28 คน เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 (นายสการียา ยูโซ๊ะ และคนอื่นอีก 31 คน คดีแดง ช. 4/2547 28 พฤศจิกายน 2549) ศาลได้สั่งให้มีการสืบสวนต่อไปภายใต้มาตรา 150 (11) ซึ่งอัยการสูงสุดสามารถยื่นคำฟ้องเจ้าหน้าที่ทั้งสามตามมาตรา 143 ได้ เพียง แค่อัยการและตำรวจทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ก็ไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการ พิเศษหรือการจัดการอื่นใดในการทำให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทั้งสามนายนี้ ดำเนินไปโดยไม่ชักช้า ทว่า เป็นเวลาสามเดือนมาแล้วหลังจากที่ศาลได้มีคำตัดสิน และยังไม่ปรากฏว่ามีความก้าวหน้าในการสืบสวนเพิ่มเติมเลย ดังนั้น คดีนี้จึงควรจะได้รับความสำคัญสูงสุด

ข. เจ้าหน้าที่สามนายที่ถูกระบุว่าเป็นผู้รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของคน 78 คน

1. พล.ท. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี
2. พล.ต. สินชัย นุตสถิตย์
3. พล.ต. เฉลิมชัย วิรุณห์เพช

เจ้าหน้าที่ทั้งสามนายนี้ถูกคณะกรรมการสอบสวนอิสระที่ตั้งโดยอดีตนายกรัฐมนตรีระบุว่าเป็นผู้รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของคน 78 คน จากการเสียชีวิตทั้งหมด 85 รายหลังจากการประท้วงหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 นอกจากนี้ ยังมีคนอีกหลายร้อยที่ต้องประสบกับการบาดเจ็บทางกายและทางใจ คณะ กรรมการพบว่าเจ้าหน้าที่ทั้งสามละเลยการปฏิบัติหน้าที่ และไม่มีมาตรการใด ๆ กับผู้ใต้บังคับบัญชาเมื่อตนได้รับแจ้งว่าบุคคลภายใต้การดูแลของตนได้เสีย ชีวิตลง และไม่ได้หาวิธีการป้องกันการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น แม้คณะกรรมการจะสรุปว่าพวกเขาไม่ได้ตั้งใจทำให้เกิดการเสียชีวิต แต่กรณีเช่นนี้เป็นหน้าที่ที่ศาลจะเป็นผู้ตัดสิน และ ไม่ว่าจะเป็นในสถานการณ์ใด ตามกฎหมายทั้งกฎหมายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศแล้วเจ้าหน้าที่เหล่านี้ ได้ละเมิดหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง มาตรา 157, 289(5), 290, 291, 294, 295, 296, 297, 298 และ 299 ของ กฎหมายแพ่งของประเทศไทยได้กำหนดโทษของเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจโดยมิชอบและการ ที่การกระทำโดยมิชอบนั้นทำให้เกิดการเสียชีวิตหรือการบาดเจ็บ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียยังขอชี้ด้วยว่า ตามมาตรา 59 ของกฎหมายแพ่งนั้น การกระทำใด ๆ จะถูกถือว่าเป็นการกระทำที่ตั้งใจหากผู้กระทำผิด “สามารถคาดการณ์ผลของการกระทำเช่นนั้นได้” ไม่ว่าจะมีความตั้งใจที่ปรากฏชัดว่าเพื่อผลเฉพาะใดหรือไม่ ในกรณีนี้ เป็นการยากที่จะจินตนาการว่าเจ้าหน้าที่กองทัพที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะไม่อาจ “คาดการณ์ถึงผล” ของการให้คนนับร้อย ๆ คนนอนทับกันในรถบรรทุกทหาร และขับรถนั้นไปเป็นชั่วโมง ๆ จนทำให้คน 78 คนขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิตลง หรือตามที่ผู้รอดชีวิตบางคนได้กล่าวหาว่าบางคนเสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่เกิดจากการถูกจับยัดใส่รถ มี หลักฐานมากมายที่จะตัดสินโทษเจ้าหน้าที่ทั้งสามได้ และคาดว่าผู้ทำการสืบสวนที่มุ่งมั่นและมีความเป็นมืออาชีพจะสามารถหาหลักฐาน เพิ่มเติมได้อีกมาก ดังนั้น คดีนี้ควรจะเป็นคดีที่ได้รับความสำคัญเป็นลำดับที่สอง

มาตรา 2, 6, 7 และ 10 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยนั้น ได้กำหนดพันธกรณีให้ประเทศไทยดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทั้งหก และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่ต้องรับผิดกับการเสียชีวิตในสองกรณีนี้ พันธกรณีนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้กล่าวถึงไว้ในการพิจารณาการปฏิบัติตามกติกาฯ ของประเทศไทย เมื่อปี 2548 ด้วย (CCPR/CO/84/THA)

เราจึงคาดหวังว่าจะมีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทั้งหกโดยทันใด แม้ว่าจะเป็นการล่าช้าไปแล้วก็ตาม

เรา ยังขอชี้ในโอกาสนี้ด้วยว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยยังคงเป็นที่กังวลอย่างยิ่งในนานาชาติ เนื่องจากยังคงมีการใช้พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ใน จังหวัดภาคใต้ของประเทศ และใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของจังหวัดที่เหลือ และยังคงมีการใช้อำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และมีการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันเพื่อรองรับผลประโยชน์ระยะยาวของกองทัพ เรา เชื่อว่าท่านจะเข้าใจว่าสภาพต่าง ๆ ของประเทศไทยจะไม่สามารถพัฒนาได้เลยจนกว่ากฎหมายเหล่านี้และคมช. จะสิ้นสุดลง และรัฐบาลพลเรือนที่เหมาะสมได้กลับคืนสู่อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่แท้จริง


ด้วยความเคารพ


บาซิล เฟอร์นันโด

ผู้อำนวยการบริหาร
กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ฮ่องกง

http://thailand.ahrchk.net/mainfile.php/2007st/145/?print=yes

-------------------------------------------------------------

บทสรุปความพ่ายแพ้ "กลุ่มวาดะห์"

โดย อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ มติชนรายวัน วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9837

ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยมีชัยชนะในการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ได้เสียงข้างมากทั้งในแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อรวมกันไม่น้อยกว่า 350 เสียง คาดว่าจะตั้งรัฐบาลเพียงพรรคเดียวอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในระบบรัฐสภา

อย่างไรก็ตามในทางกลับกันสนามเลือกตั้งใน 54 เขต 14 จังหวัดภาคใต้ ผลคะแนนแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคประชาธิปัตย์ มีชัยชนะแบบถล่มทลายไม่แพ้กัน พรรคไทยรักไทยได้รับเลือกตั้งเพียงเขตเดียวคือ เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดพังงา อย่างเหนือความคาดหมาย

ความพ่ายแพ้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมแล้ว 11 เขต คนทั่วไปไม่พูดว่าพรรคไทยรักไทย แพ้ต่อพรรคประชาธิปัตย์อย่างยับเยิน กลับพูดว่า "กลุ่มวาดะห์" สูญพันธุ์ไปแล้ว จากเดิมที่เคยครองสนามการเลือกตั้งพื้นที่นี้มา ไม่น้อยกว่า 20 ปี

เมื่อดูจำนวน ส.ส.จาก 11 เสียงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว แทบไม่มีค่าอะไรเลยสำหรับความศรัทธาของคนไทยทั้งประเทศ ที่มอบความไว้วางใจให้กับพรรคไทยรักไทย การเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะมันเป็นเพียงตัวเลขทางคณิตศาสตร์เท่านั้น

แต่ถ้ามองในแง่ความมั่นคงของชาติ และบูรณภาพแห่งดินแดนแล้ว 3 จังหวัดชายแดนมีค่ายิ่งสำหรับการเมืองไทยในอนาคต เพราะภูมิภาคแถบนี้จะมีผลกระทบต่อภาพรวมภายในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ผู้เขียนในฐานะเป็นตัวแทนคนหนึ่งของ "กลุ่มวาดะห์" ความหมายภาษาไทยคือ "กลุ่มเอกภาพ" ที่ได้ก่อกำเนิดมาตั้งแต่ พ.ศ.2528 นับเป็นเวลานานถึง 20 ปีและเคยสังกัดพรรคการเมืองต่างๆ มาแล้วหลายพรรค นับตั้งแต่พรรคประชาธิปัตย์, พรรคประชาชน, พรรคเอกภาพ, พรรคความหวังใหม่ และสุดท้ายพรรคไทยรักไทย

เคยต่อสู้ขับเคี่ยวบนเวทีเลือกตั้งกับพรรคประชาธิปัตย์ตลอดมา แม้ในสถานการณ์ที่พรรคประชาธิปัตย์เนื้อหอมสุดสุด "กลุ่มวาดะห์" ยังสามารถเล็ดลอดเข้าสู่สภาได้ทุกสมัย

ในการต่อสู้สนามเลือกตั้งครั้งนี้ สถานภาพของพรรคประชาธิปัตย์สาละวันเตี้ยลงๆ ทุกวัน แต่ผลปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์กำชัยชนะเกือบทุกเขตเลือกตั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

จึงเกิดคำถามตามมาว่าประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รักและศรัทธาต่อผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ มากกว่าผู้สมัครในพรรคไทยรักไทย หรือประชาชนชอบ และเลื่อมใสในนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ มากกว่าพรรคไทยรักไทยใช่หรือไม่

ผู้เขียนขอฟันธงว่าไม่ใช่อย่างแน่นอน การพ่ายแพ้แบบยกทีมครั้งนี้เกิดจากสาเหตุอะไร ผู้เขียนและคณะได้สรุปอย่างรวดเร็วแบบไม่มีข้อกังขาใดๆ ดังนี้

1.สถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้พรรคไทยรักไทยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตกเป็นรอง และเสียเปรียบพรรคคู่แข่งตลอด ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยในกลุ่มวาดะห์ จึงเป็นฝ่ายตั้งรับมากกว่าเป็นฝ่ายรุก เพราะตกเป็นจำเลยสังคมในภาพของผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทย

การชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาก็ทำได้ไม่เต็มที่ ทุกครั้งที่ ส.ส.พรรคไทยรักไทย เยี่ยมเยียนประชาชนในหมู่บ้าน และในมัสยิดเพื่อชี้แจง และทำความเข้าใจกับประชาชนในปัญหาต่างๆ แต่พอคล้อยหลังทุกครั้ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจ และทหารได้ตามไปสอบถามว่า ส.ส.มาพูดเรื่องอะไร พร้อมจดบันทึกข้อความลงในสมุดบันทึก ให้ชาวบ้านได้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แล้วอย่างนี้ประชาชนจะมั่นใจในพรรคไทยรักไทยได้อย่างไร ขนาดคนของตนเองยังถูกติดตามประกบอยู่ตลอดเวลา

ช่วงการหาเสียงในเวลาอันสั้นนั้น กลยุทธ์ที่ "กลุ่มวาดะห์" เคยใช้มาตลอดก็คือ การปราศรัยหาเสียงต่อหน้ามวลชนนับพันนับหมื่น ปราศรัยตั้งแต่เวลา 20.00 น.จนถึงดึกดื่น แต่ในครั้งนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะข้อจำกัดของสถานการณ์ ประชาชนไม่กล้าออกนอกหมู่บ้านในยามวิกาล จึงเป็นข้อได้เปรียบของคู่แข่งที่อาศัยสถานการณ์ดังกล่าวเอื้ออำนวย อีกทั้งได้แจกแผ่นซีดีเหตุการณ์ตากใบในทุกหมู่บ้านได้เปิดดูกันซึ่งทำให้เกิดความสะพรึงกลัว และเคียดแค้นตามมาจนแพร่เป็นข่าวซุบซิบในหมู่บ้านแบบเงียบๆ เหมือนคลื่นใต้น้ำ "สึนามิ" ว่าอย่าเลือกเบอร์ 9 เพราะเบอร์นี้ฆ่าประชาชนมุสลิม

2.คู่แข่งได้นำเสนอนโยบายที่ไม่ได้ประกาศในพรรคแต่นำนโยบายที่ถูกใจประชาชนแต่ไม่สามารถปฏิบัติได้ หรือที่เรียกว่าทำให้ประชาชนถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง เช่น ประกาศว่าหากได้เป็นผู้แทนฯ และเป็นรัฐบาลแล้ว จะยกเลิกกฎอัยการศึก และถอนทหารกลับไปทั้งหมด และบางครั้งได้พูดอย่างติดตลกว่า เหตุการณ์จะสงบและความสันติสุขจะเกิดขึ้นหาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

3.ก่อนการเลือกตั้ง 3 วันได้มีการสร้างกระแสในหมู่ประชาชนว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่มัสยิดกรือเซะ ก็ดี เหตุการณ์ตากใบก็ดี การประชุมองค์กรมุสลิมโลกรับรู้หมดแล้ว เพียงแต่ว่าจะเชียร์ใครดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ว่ารัฐบาลปฏิบัติต่อมุสลิมถูกต้อง หรือดี ไม่ดีอย่างไร เพื่อเป็นการยืนยันเป็นมติมหาชนว่า ประชาชนพอใจหรือไม่พอใจแนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาล ก็โดยการลงมติไม่เลือกพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้

สรุป เหตุการณ์ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ทั้ง 3 ประการดังกล่าวข้างต้นเป็นสาเหตุหลัก ส่วนเหตุผลอื่นๆ อีกหลายประเด็นเป็นเหตุผลรองเท่านั้น

สิ่งที่รัฐบาลทุ่มเทการพัฒนา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมโหฬารนั้น ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนเชียวหรือ

ผู้เขียนได้ยินชาวบ้านพูดว่า ความกลัว ความตาย ไม่สามารถหาสิ่งอื่นมาชดเชยได้

ในอดีตเมื่อครั้งที่อาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ ไปเยือนประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้พูดคุยกับท่านประธานเหมา เจ๋อ ตุง ผู้นำจีนในขณะนั้น เรื่องพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งท่านประธานเหมา เจ๋อ ตุง ได้กล่าวว่า

"คอมมิวนิสต์อย่าไปฆ่ามัน ถ้าฆ่ามันแล้วเราจะแพ้"

หน้า 6

http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2005q1/article2005february14p1.htm

----------------------------------------------------

วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 เวลา 08:40:56 น. มติชนออนไลน์
ศาลสงขลาชี้"คดีตากใบ"78ศพขาดอากาศตาย-ไม่ใช่ขนย้าย
"อังคณา"เล็งฟ้องแพ่ง"ทบ.-กห.-มท.-ตร."

ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่ง "คดีตากใบ" 78 ศพตายจากขาดอากาศหายใจ ไม่ใช่มาจากการขนย้าย "อังคณา นีละไพจิตร"เล็งประสานสภาทนายความ ฟ้องแพ่ง"ทบ.-กห.-มท.-ตร."เรียกค่าเสียหาย "สุเทพ"เผยเทงบฯ 6.3 หมื่นล.พัฒนาใต้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในคดีสลายการชุมนุมบริเวณหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 78 ศพ ว่าผู้ตายเสียชีวิตที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยสาเหตุมาจากการขาดอากาศหายใจในระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ โดยคดีนี้ พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี กับนางสีตีรอกายะ สาแล๊ะ และพวกรวม 78 คน เป็นโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดปัตตานี ให้ไต่สวนคดีสลายการชุมนุมบริเวณหน้า สภ.ตากใบ และทำให้มาหามะ เล๊าะกาบอ กับพวก 78 คน เสียชีวิต เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ว่าผู้ตายทั้งหมดเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และพฤติการณ์ที่ตาย จากนั้นผู้ร้องได้ยื่นคำร้องให้ประธานศาลฎีกา โอนคดีไปยังศาลอาญา หรือศาลภายในเขตกรุงเทพมหานคร ประธานศาลฎีกามีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลจังหวัดสงขลา

ศาลพิเคราะห์ว่า ในวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสลายการชุมนุมและควบคุมผู้ร่วมชุมนุมขึ้นรถไป ยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ตามความจำเป็นแห่งสภาพการณ์เท่าที่เอื้ออำนวยได้ขณะนั้น อันเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ แม้ปรากฏภาพเหตุการณ์จากวีซีดีว่า บุคคลที่แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าสลายการชุมนุม บางคนทำร้ายผู้ชุมนุมก็ตาม เชื่อว่าเป็นการกระทำของบุคคลดังกล่าวโดยพลการ

เมื่อไม่ปรากฏว่า หลังจากผู้ตายทั้ง 78 และผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวขึ้นรถยนต์บรรทุกนำส่งค่ายอิงคยุทธบริหารจน แล้วเสร็จ มีการกระทำต่อผู้ตายทั้ง 78 หรือผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวหรือเกิดเหตุร้ายอย่างอื่นกับผู้ตายทั้ง หมด จึงสรุปได้ว่า ผู้ตายทั้ง 78 ตายที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย คือ ขาดอากาศหายใจระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตาม หน้าที่

ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่ศาลชี้ว่า ขาดอากาศหายใจ แต่ไม่ใช่เรื่องการขนย้าย อย่างไรก็ตาม จะหารือกับสภาทนายความเรื่องการยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับกองทัพบก กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)ต่อไป

วันเดียวกัน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมประชุมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงเพื่อพัฒนา และแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ห้องประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน. ภาค 4) ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ว่า ได้พูดคุยและซักซ้อมการทำงาน เพื่อวางแผนการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำหนดแผนจัดงบประมาณไว้ให้กว่า 63,000 ล้านบาท มีตารางเวลาที่ต้องทำงานให้สำเร็จชัดเจน คือเริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2552 เสร็จสิ้นปี 2555 มีแผนงานสำคัญคือยกระดับรายได้ของประชาชน และตั้งเป้าหมายว่าประชาชนต้องมีรายได้มากกว่าปีละ 60,000 บาท เป็นปีละ 120,000 บาท และเร่งเข้าไปส่งเสริมอาชีพให้คนในพื้นที่ จะขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มอีกประมาณ 200,000 ไร่ ในลักษณะครบวงจร หลังจากนี้กระทรวงพลังงานจะลงมาช่วยสร้างโรงงานเพิ่มเติม และทำโรงงานไบโอดีเซล ให้ ปตท.เป็นผู้รับซื้อผลผลิตทั้งหมด

ขณะที่เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเวลา 13.20 น. ขณะที่นายแวดอเลาะ หะยีซอเฮาะ อายุ 44 ปี รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ตันหยงลูโละ อ.เมืองปัตตานี กำลังเดินกลับบ้านพักเลขที่ 36 หมู่ที่ 3 ต.ตันหยงลูโละ หลังเสร็จจากการทำละหมาดที่มัสยิดใกล้บ้าน ปรากฎว่ คนร้าย 4 คน ใช้รถจักรยานยนต์ 2 คันเป็นพาหนะ ใช้ปืนขนาด 9 มม.และ 11 มม. ยิงนายแวดอเลาะ จนล้มคว่ำ และยิงซ้ำจนแน่ใจว่าเสียชีวิตแล้ว กลุ่มคนร้ายจึงหลบหนีไป เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สันนิษฐานมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งการเมืองท้องถิ่นหรือสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่

ส่วนความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม 2 คนร้ายกลุ่มอาร์เคเค ขณะเข้าตรวจค้นบ้าน50/3 หมู่ 4 ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา พร้อมยึดอาวุธปืนเอชเค 1 กระบอก และอาวุธปืนเอ็ม 16 เอ 2 จำนวน 1 กระบอก และกระสุนปืนจำนวนหนึ่งนั้น จากการตรวจสอบพบว่า อาวุธปืนเอชเคที่ยึดได้เป็นอาวุธปืนที่คนร้ายปล้นไปจากอุทยานแห่งชาติบางลาง อ.ธารโต จ.ยะลา เมื่อปี 2545 ส่วนอาวุธปืนเอ็ม 16 เป็นอาวุธปืนที่คนร้ายปล้นไปจากเจ้าหน้าที่ตำรวจบ้านรานอ ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ในปี 2546 ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 4 นาย


----------------------------------------------------