บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


21 พฤษภาคม 2552

<<< ข้อเท็จจริงที่ควรรู้ เรื่อง ปฏิญญาฟินแลนด์ >>>

เป็นอีกข้อกล่าวหาหนึ่ง
ที่ใช้กลยุทธหลังพิงกำแพงวัง
โจมตีฝ่ายทักษิณ
แล้วก็จบลงด้วยคำพิพากษา

ผู้กล่าวหา
บางคนได้รับการยกฟ้อง
บางคนได้รอลงอาญา

ส่วนผู้ถูกกล่าวหา
ไม่มีได้มีแต่เสีย
ทั้งเสียเงิน เสียเวลา เสียชื่อเสียง ฟรี
แถมอาจเสียความรู้สึก

โดย มาหาอะไร

--------------------------------------------------

คดีปฏิญญาฟินแลนด์ ศาลยกฟ้อง ‘สนธิ’ ส่วน ‘ปราโมทย์-ขุนทอง’ รอลงอาญา

ศาลพิพากษา ‘สนธิ-เจิมศักดิ์-ชัยอนันต์-ปราโมทย์’ เสวนาปฏิญญาฟินแลนด์ แม้ใช้ถ้อยคำเกินเลยไปบ้าง แต่ถือว่าโจทก์เป็นบุคคลสาธารณะ ประชาชนจะแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตในการบริหารราชการแผ่นดินที่จะมีผลกระทบ ต่อประชาชนและประเทศได้ จึงยกฟ้อง อีกคดีตัดสิน ‘ปราโมทย์-บก.ผู้จัดการ’ คุก 1 ปีปรับ 1 แสน หลังแพร่บทความปฏิญญาฟินแลนด์ แต่จำเลยสร้างคุณงามความดีมาก่อน-กระทำผิดเพราะต้องการปกป้องสถาบันที่เคารพ ให้รอลงอาญา 2 ปี

ศาลพิพากษาคดีปฏิญญาฟินแลนด์รวด 2 คดี

วานนี้ (25 มี.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 09.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.1747 / 2549 ที่พรรคไทยรักไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรค และอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ที่ 1-2 ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.กทม., นายชัยอนันต์ สมุทรวณิช, นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระ และคอลัมนิสต์ , บริษัทไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด ผู้ให้บริการโทรทัศน์ระบบดาวเทียม ASTV , นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล, นายพชร สมุทวณิช, นายขุนทอง ลอเสรีวานิช กรรมการ บ.ไทยเดย์ฯ , บริษัท แมเนจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด มหาชน), น. ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรงค์ ผู้บริหารแผนฟื้นฟู บมจ.แมเนเจอร์ (ศาลยกฟ้องในชั้นไต่สวน) และนายปัญจภัทร อังคสุวรรณ ผู้ดูแลเว็บไซด์ แมเนเจอร์ เป็นจำเลยที่ 1-11 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นด้วยการโฆษณา

สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 24 - 25 พ.ค.49 พวกจำเลยจัดเสวนาเรื่องปฎิญญาฟินแลนด์ยุทธศาสตร์ครองเมืองของไทยรักไทย ซึ่งถ่ายทอดสดออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ASTV และ เว็บไซด์ผู้จัดการ หมิ่นประมาทโจทก์ว่าต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระ มหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไปสู่การปกครองในระบอบทักษิณโดยมุ่งหมายเข้าบริหารประเทศตามข้อตกลงปฏิญญา ฟินแลนด์

ยกฟ้องกรณี ‘สนธิ-เจิม-ชัยอนันต์-ปราโมทย์’ เสวนา

โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว โจทก์ทั้งสองนำสืบว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค.49 พวกจำเลยจัดเสวนาวิชาการ ณ หอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์ เรื่อง “ปฏิญญาฟินแลนด์ยุทธศาสตร์การเมืองไทยรักไทย” โดยนายเจิมศักดิ์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินรายการ ส่วนนายสนธิ, นายชัยอนันต์ และ นายปราโมทย์ จำเลยที่ 1 , 3 และ 4 เป็นผู้ร่วมเสวนา ซึ่งกล่าวว่าโจทก์ทั้งสอง วางแผนยุทธศาสตร์ 5 ขั้นตอนในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ การเป็นพรรคการเมืองใหญ่พรรคเดียวจัดตั้งรัฐบาลและมีผู้นำคนเดียว , การเปลี่ยนแปลงระบบราชการเป็นแบบซีอีโอ, การแทรกแซงการโยกย้ายข้าราชการ, การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การแปลงทุนให้เป็นสินทรัพย์ และ การทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์

ซึ่งขณะที่มีการเสวนาจำเลยที่ 1 ก็เป็นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เคลื่อนไหวการขับไล่ทางการเมือง โดยการเสวนาของพวกจำเลยมีวัตถุประสงค์ต้องการให้เกิดการแบ่งฝ่ายในสังคม ที่กล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสอง คือกลุ่มที่คัดค้านการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข ทั้งที่จริงแล้วในการประชุมพรรคของโจทก์ทั้งสอง ไม่มีการกล่าวถึงข้อตกลงปฏิญญาฟินแลนด์ และไม่เคยมีนโยบายตามข้อตกลงดังกล่าว แต่การที่เป็นพรรคการเมืองเดียวจัดตั้งรัฐบาล ก็เป็นตามรัฐธรรมนูญ ฯ พ.ศ.2540 ที่ต้องการให้ฝ่ายบริหารมีความเข้มแข้งในการบริหาราชการแผ่นดิน เนื่องจากที่ผ่านมามีการยุบสภาบ่อยครั้ง ส่วนเปลี่ยนแปลงระบบราชการก็เพื่อทำให้ระบบราชการที่เคยมีขนาดใหญ่ มีขนาดเล็กลงเพื่อให้ความสะดวกรวดเร็วการบริการประชาชน และการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของประชาชน รวมทั้งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในต่างประเทศก็ได้ปฏิบัติมาแล้วเพื่อให้เกิดการ แข่งขันเสรีโดยโจทก์ทั้งสองไม่เคยมีเจตนาในการคัดค้านสถาบันกษัตริย์

ศาล เห็นว่าการจัดเสวนาของจำเลยแม้จะมีการกล่าวถึงปฏิญญาฟินแลนด์แต่ไม่มีการยืน ยันว่าข้อตกลงดังกล่าวจะมีจริงหรือไม่และโจทก์ทั้งสองเคยทำข้อตกลงดังกล่าว กับบุคคลใดโดยจำเลยเพียงแต่กล่าวถึงการบริหารราชการแผ่นดินของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการบริหารในขณะนั้นเนื่องจากพวกจำเลยซึ่งเป็นนักคิด นักวิชาการ และสื่อมวลชน ไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายดังกล่าวและเห็นว่าการบริหารราชการแผ่นดินของโจทก์ ทั้งสองมีแนวโน้มที่จะทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย ซึ่งโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้มีอำนาจในการปกครองประเทศถือเป็นบุคคลสาธารณะที่ ประชาชนจะแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตในการบริหารราชการแผ่นดินที่จะมีผลกระทบ ต่อประชาชนและประเทศได้ โดยไม่ว่าโจทก์ทั้งสองหรือบุคคลใดจะมาเป็นรัฐบาลก็ย่อมที่จะถูกประชาชนแสดง ความคิดเห็นต่อนโยบายได้ซึ่งแม้การกล่าวเสวนาของจำเลยจะใช้ถ้อยคำที่เกินเลย ไปบ้างแต่ก็เป็นไปในลักษณะของการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต การกระทำของ จำเลยที่ 1 – 4 จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 – 4 ไม่มีความผิด การกระทำของจำเลยที่ 5-9 และ 11 ก็ไม่เป็นความผิดไปด้วย พิพากษายกฟ้อง

ศาลตัดสินต่อคดี ‘ปราโมทย์-ขุนทอง’ กรณีแพร่บทความยุทธศาสตร์ฟินแลนด์

ต่อมาศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.1747/2549 ที่พรรคไทยรักไทย และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โจทก์ร่วม ยื่นฟ้อง นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระ, บริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ ผู้บริหารแผน, นายขุนทอง ลอเสรีวานิช และนายปัญจภัทร อังคสุวรรณ ที่ 5 เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา, ดูหมิ่นด้วยการโฆษณา

ตามฟ้องโจทก์ระบุผิดจำเลยว่า เมื่อระหว่างวันที่ 17-25 พ.ค.49 จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างวาระ โดยได้ร่วมกันตีพิมพ์และเผยแพร่โฆษณาบทความ “ยุทธศาสตร์ฟินแลนด์: แผนการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย?” ของจำเลยที่ 1 ลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน และเว็บไซด์ www.manager.co.th โดยใส่ร้ายโจทก์ที่ 1 และ 2 ให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง

ไม่ได้แสดงความเห็นสุจริตตามหลักวิชาการ ทำให้โจทก์เสียชื่อถูกดูหมิ่นเกลียดชัง

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความที่จำเลยที่ 1 เขียนบทความเรื่องปฎิญญาฟินแลนด์รวม 5 ตอน ลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและเผยแพร่ในเว็บไซด์ ซึ่งบุคคลและประชาชนทั่วไปสามารถหาอ่านได้อย่างทั่วถึง โดยจำเลยที่ 1 เขียนบทความทำนองว่าโจทก์มีนโยบายที่ต้องการทำลายระบบราชการไทย การสร้างระบบการเมืองพรรคเดียว และล้มล้างสถาบันเบื้องสูง และเบิกความยืนยันว่า แผนปฎิญญาฟินแลนด์มีอยู่จริง หากปล่อยให้โจทก์ทั้งสองดำเนินการจนครบขั้นตอนอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ทางการปกครอง ซึ่งข้อมูลที่นำมาเขียนนั้นรับทราบมาจากนักวิชาการหลายคน แต่จำเลยที่ 1 กลับไม่นำบุคคลเหล่านั้นมาเป็นพยานเบิกความ และไม่นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสองได้กระทำการล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด นอกจากนี้ท้ายบทความยังได้เรียกให้ประชาชนต่อต้านโจทก์ทั้งสองที่กำลังลง สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 2 เม.ย. 2549 นั้นไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ตามหลักวิชาการ ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง

ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา มีหน้าที่กลั่นกรองเนื้อหาก่อนตีพิมพ์ ขณะเกิดเหตุมีความขัดแย้งทางการเมืองเป็นสองฝ่ายระหว่างผู้สนับสนุนรัฐบาล และผู้คัดค้านนำโดยแกนนำพันธมิตรประชาธิปไตย ซึ่งมี นายสนธิ เป็น 1 ใน 5 แกนนำ และจำเลยที่ 4 เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา เมื่อพิจารณาดูเนื้อหาการเสนอข่าวของจำเลยที่ 4 แล้วส่วนมากมีเนื้อหาโจมตีรัฐบาล เชื่อว่าจำเลยที่ 4 มีส่วนรู้เห็นและทราบว่าบทความดังกล่าวมีเนื้อหาดูหมิ่นโจทก์ทั้งสอง

ตัดสินว่าผิด จำคุก 1 ปี ปรับ 1 แสน แต่ทำผิดเพราะต้องการปกป้องสถาบัน ให้รอลงอาญา

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 4 กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา ม.329, 393 ประกอบ ม.83 เป็นความผิดกรรมเดียว ให้ลงโทษความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาอันเป็นหนักสุด ตาม ป.อาญา ม.90 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และ 4 เป็นเวลา 1 ปี ปรับ 100,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 เป็นนักวิชาการ และจำเลยที่ 4 เป็นนักหนังสือพิมพ์ เคยสร้างคุณงามความดีมาก่อน ที่กระทำผิดเพราะต้องการปกป้องสถาบันที่เคารพ ประกอบกับ จำเลยที่ 1 และ 4 ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้เป็นเวลา 2 ปี และให้จำเลยที่ 1 และ 4 ร่วมกันลงโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อพอได้ใจความลงในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน บ้านเมือง และผู้จัดการเป็นเวลา 7 วัน

ส่วนจำเลยที่ 2 และ 5 เป็นเพียงเจ้าของเว็บไซต์และผู้ดูแล ไม่มีส่วนกับการคัดเลือกบทความ พิพากษายกฟ้อง

ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาแล้วทนายนายปราโมทย์ และนายขุนทอง จำเลยที่ 1 และ 4 ได้นำเงินสดจำนวนคนละ 100,000 บาท ชำระค่าปรับตามคำพิพากษา

ด้านนายปราโมทย์ นาครทรรพ กล่าวว่า ได้ปรึกษานายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความเพื่อเตรียมยื่นอุทธรณ์สู้คดีภายใน 30 วัน เนื่องจากคดีที่ถูก พ.ต.ท.ทักษิณ ก่อนหน้านี้และเป็นคดีที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน ศาลได้พิพากษายกฟ้อง โดยศาลมีดุลพินิจว่าตนแสดงความคิดเห็นโดยบริสุทธิ์ใจ ในฐานะนักวิชาการ อย่างไรก็ตามแม้ศาลจะให้รอลงอาญา 2 ปี ส่วนตัวไม่ได้รู้สึกอะไร เนื่องจากตนเป็นนักวิชาการมา 50 ปี เขียนบทความมาแล้วไม่ต่ำกว่า 50-60 บทความ หลังจากนี้ก็จะยังคงทำหน้าที่นักวิชาการต่อไป

โดย : ประชาไท วันที่ : 26/3/2552
http://www.prachatai.com/05web/th/home/16050

---------------------------------------------