บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


05 มิถุนายน 2552

<<< ข้อเท็จจริงที่ควรรู้ เรื่อง การแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช >>>

เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ที่กล่าวหากันแบบเดียวกับเรื่องวัดพระแก้ว
ทั้งที่จริงๆ แล้ว ถ้าอ่านเรื่อง
"ข้อปฏิบัติต่อสมเด็จพระสังฆราช
- กรณีแขกที่มาเข้าเฝ้าและการลงพระนามในหนังสือต่าง ๆ"
จนครบทั้ง 3 ข้อ
ก็น่าจะเข้าใจแล้วว่า
ทำไมต้องมีเจ้าหน้าที่อยู่เป็นพยานมากมาย
ในการที่ใครจะเข้าเฝ้าเพื่อให้สมเด็จพระสังฆราช
ลงพระนามในหนังสือต่างๆ
เพราะเคยมีคนปลอมพระลิขิต (ลายเซ็นต์) ของท่าน
ไปหลอกลวงผู้อื่นโดยฝีมือคนใกล้ชิด
ทำให้ต้องมีการแต่งตั้ง
ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเพิ่มขึ้นมา
ซึ่งเรื่องทั้งหมดส่วนใหญ่ก็ได้รับความเห็นชอบ
จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ถ้าสังเกตุหน่วยงานที่ออกคำสั่งเรื่องพวกนี้
แต่คนที่เป็นแพะรับบาปเรื่องนี้
ก็คือทักษิณ โดนโจมตีอยู่เป็นปี
เดี๋ยวนี้ซาๆ ไปแล้วสำหรับเรื่องนี้
ที่ซาไม่ใช่เพราะว่าเขารู้ความจริงกันหมดแล้ว
แต่ซาเพราะทักษิณไม่อยู่ให้ไล่แล้ว
เลยไม่มีใครงัดเรื่องนี้มาเล่นอีก
ดังนั้นจึงต้องบันทึกเรื่องนี้ไว้ให้ดู
เผื่อถึงรุ่นลูกหลานจะได้เข้าใจในกรณีนี้มากขึ้น

โดย มาหาอะไร

-----------------------------------------------

ข้อปฏิบัติต่อสมเด็จพระสังฆราช - กรณีแขกที่มาเข้าเฝ้าและการลงพระนามในหนังสือต่าง ๆ

ให้ เจ้าหน้าที่เวรประจำพระองค์ ได้ ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด มีรวม 3 ประการ ดังจะแยกให้เห็นเป็นย่อหน้า ๆ ข้างล่างต่อไปนี้

1 - ให้มีการเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชได้โดยต้อง คำนึงถึงพระสุขภาพ โดยต้องแจ้ง วัตถุประสงค์ในการเข้าเฝ้า (หากมาเข้าเฝ้านอกเหนือจาก การถวายสักการะ) และต้องมี พระภิกษุ, แพทย์ หรือ พยาบาล, เจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวัง และ ลูกศิษย์ อยู่ช่วยถวายงานด้วยทุกครั้ง

2 - ในกรณีผู้เข้าเฝ้าเป็น บุคคลสำคัญ จะต้องมี หนังสือ หรือ โทรศัพท์ ติดต่อประสานงานกับ สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช พร้อมแจ้ง วัตถุประสงค์ และ จำนวนรายนามผู้ขอเข้าเฝ้า ซึ่ง ฝ่ายเลขานุการ และ เจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวัง จะพิจารณากำหนดเวลาเข้าเฝ้าโดย ตัดสินใจร่วมกัน และการเข้าเฝ้าจะต้องมี พระภิกษุ, แพทย์ หรือ พยาบาล, เจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวัง และ ลูกศิษย์ อยู่ช่วยถวายงานด้วยทุกครั้ง

3 - ในกรณี เสนองานให้ลงพระนามในหนังสือต่าง ๆ ต้อง ถวายการอ่านเนื้อความโดยละเอียด - เพื่อให้สมเด็จพระสังฆราชทรงพิจารณา ใน การลงพระนาม จะต้องมี แพทย์, เจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวัง, ฝ่ายเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เป็น พยาน และเมื่อลงพระนามแล้วจะต้อง จดบันทึกเรื่อง, วัน, เวลา ไว้ในสมุดบันทึก

วันที่ 20 กรกฎาคม 2547
โดย สมวงศ์ ณ ระนอง - ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าฝ่ายตำรวจวัง สำนักพระราชวัง

อ้าง คำสั่ง ของ
จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา - รองเลขาธิการพระราชวัง,
วัชรกิตติ วัชรโรทัย - ผู้ช่วยเลขาธิการพระราชวังฝ่ายที่ประทับ
ศุภชัย พันธุกานนท์ - ผู้อำนวยการกองวัง สำนักพระราชวัง

----------------------------------------------------

สยามจดหมายเหตุ

18 มกราคม 2547
การแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก องค์ปัจจุบัน จะไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกในคณะสงฆ์ เนื่องจากมีการแต่งตั้งเป็นคณะทำงานที่คานอำนาจกัน โดยมีฝ่ายธรรมยุติและมหานิกายฝ่ายละ 3 รูป รวม 6 รูป
สำหรับพระราชาคณะชั้นสมเด็จที่ได้รับการแต่งตั้งในครั้งนี้ประกอบด้วย สมเด็จพระพุฒาจารย์ แห่งวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดชนะสงครามราชวรวิหาร สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสวัดมกุฎกษัตริยาราม สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ และพระพรหมมุนี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร
(รายละเอียดเพิ่มเติม)

19 มกราคม 2547
กรณีการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มชาวพุทธผู้รักความเป็นธรรมออกมาคัดค้านการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และจะชุมนุมเรียกร้องให้ถอนคำสั่งดังกล่าว ว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายได้พยายามชี้แจงให้กลุ่มที่เคลื่อนไหวและพุทธศาสนิกชนเข้าใจว่าการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชนั้นเป็นไปตามที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มาตรา 10 ระบุ ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่เพียง 2 ส่วน คือ รายงานปัญหาที่เกิดขึ้นให้คณะกรรมการมหาเถรสมาคมทราบ และรับเรื่องดังกล่าวมาประกาศในราชกิจจานุเบกษาไม่มีหน้าที่จัดหาบุคคลมาทำหน้าที่แทน แต่หากไม่ตรงกับความเห็นของกลุ่มใด และจะชุมนุมเรียกร้องก็เป็นสิทธิที่จะทำได้ ซึ่งรัฐบาลคงไม่โต้ตอบ

20 มกราคม 2547
กรณีการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็พระสังฆราช
พระเทพสารเวที เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช และประธานคณะกรรมการวัดบวรนิเวศวิหาร ได้ออกแถลงการณ์เรื่องการแต่งตั้ง คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีเนื้อหาสรุปได้ว่า เนื่องด้วยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ได้ประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และทรงรับการรักษาพระอาการประชวรตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2544 เป็นต้นมา ซึ่งคณะกรรมการวัดได้ดำเนินการบริหารวัดแทนมาโดยลำดับเพื่อให้ทรงมีเวลาพักผ่อนและให้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาตามระบบวิธีการรักษาพยาบาลที่ถูกต้อง เพราะได้ทรงปฏิบัติพระศาสนกิจอย่างหนักมาเป็นเวลานาน พร้อมทั้งมีพระชนม์พ้น 90 พรรษาแล้ว คณะกรรมการวัด คณะแพทย์ รัฐบาล และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ประชุมและเห็นพ้องกันว่าสมควรให้มีผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ในช่วงที่ยังประชวร
(รายละเอียดเพิ่มเติม)

22 มกราคม 2547
การแอบอ้างพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช
พลตำรวจโท บุญฤทธิ รัตนะพร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวนเพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริง กรณีที่มีกลุ่มบุคคลใกล้ชิดสมเด็จพระสังฆราชแอบอ้างพระลิขิตเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในช่วงที่ สมเด็จพระสังฆราชทรงประชวร โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ
ได้รับคำร้องทุกข์ไว้แล้วรวม 2 คดี คือ
(1) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนของส่วนปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ว่ามี กลุ่มบุคคลแอบอ้างพระลิขิตเพื่อยักยอกเงินอุดหนุนการปฏิบัติศาสนกิจที่รัฐบาลถวายให้สมเด็จพระสังฆราชรวม 23 ล้านบาทซึ่งพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติชี้มูลต่อไป
และ (2) คดีที่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์มีหนังสือร้องขอให้ กองบังคับการกองปราบปรามสืบสวนทางลับกรณีมีผู้แอบอ้างพระลิขิตในคำสั่งต่าง ๆ อันก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งได้มอบหมายให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลดำเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริง

23 มกราคม 2547
กรณีการแอบอ้างพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช
พลตำรวจตรี พีรพันธุ์ เปรมภูติ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและ ปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เปิดเผยถึงคดีการปลอมแปลงพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชว่า ป.ป.ง.ได้ตรวจสอบพบเมื่อปี 2546 ว่ามีบุคคล 3 กลุ่มที่ใกล้ชิดสมเด็จพระสังฆราชซึ่งมีทั้งฆราวาส ข้าราชการ และพระภิกษุ ถือโอกาสขณะทรงประชวร ทุจริตเงิน
ที่รัฐบาลถวาย 23 ล้านบาทไปจำหน่ายจ่ายโอนให้บุคคลภายนอก โดย ป.ป.ง.ได้ตรวจสอบทรัพย์สินบุคคลที่เกี่ยวข้องและยึดเงินคืนมาได้ 2.8 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 20 ล้านบาทกำลังติดตามตรวจสอบอยู่ ซึ่งการกระทำผิดของบุคคลดังกล่าวนอกจากจะมีความผิดฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่แล้วยังมีความผิดในข้อหาฟอกเงินด้วย

24 มกราคม 2547
กรณีการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
นายทองก้อน วงศ์สมุทร แกนนำกลุ่มประชาชนชาวพุทธผู้หวังดีต่อพระพุทธศาสนา และกลุ่มศิษย์พระธรรมวิสุทธิมงคล (พระมหาบัว ญาณสัมปันโน) เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ประมาณ 500 คน ได้ชุมนุมต่อต้านคำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ โดยนายทองก้อนและคณะได้ใช้เข็มฉีดยาเจาะเลือดแล้วนำมาเขียนจดหมายถึงนายวิษณุ ุเพื่อแสดงความเห็นคัดค้านและขอให้นายวิษณุประกาศยกเลิกคำสั่งดังกล่าว มิฉะนั้น จะดำเนินการรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นถอดถอน นายวิษณุออกจากตำแหน่ง ต่อมาผู้ชุมนุมได้เดินทางไปยังวัดบวรนิเวศวิหารเพื่อร่วมกันสวดมนต์ถวายพระพรสมเด็จพระสังฆราช จากนั้นจึงเดินทางกลับ

27 มกราคม 2547
พระอาการประชวรของสมเด็จพระสังฆราช
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แถลงสรุปรายงานพระอาการประชวรของสมเด็จพระสังฆราชว่า สมเด็จพระสังฆราชเสด็จเข้ารับการรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2544 ระหว่างประทับรับการถวายการรักษาในโรงพยาบาลฯ ทรงมีพระอาการประชวรหลายโรค ประกอบด้วย
โรคทางเดินหายพระทัยอุดกั้น โรคหืด โรคความดันพระโลหิตสูง โรคพระหทัยเต้นผิดจังหวะเป็นครั้งคราว โรคหลอดพระโลหิตสมองตีบ โรคเบาหวาน โรคพระโลหิตจาง โรคต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ โรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และโรคต้อกระจก ซึ่งได้รับการผ่าตัดแก้ไขแล้ว คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้ถวายการรักษาอย่างเต็มความสามารถและต่อเนื่องมาโดยตลอดด้วยการควบคุมพระกระยาหาร ถวายพระโอสถ การใช้เครื่องช่วยหายพระทัย ผ่านทางหน้ากากตลอดเวลาบรรทมในตอนกลางคืนเพื่อแก้ไขการอุดกั้นของทางเดินหายใจ และการทำกายภาพบำบัด พระอาการที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ ๆ คือ ทรุดลงเป็นครั้งคราวและดีขึ้น คณะแพทย์มีความเห็นว่าเนื่องจากสมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระชนมายุถึง 90 พรรษา ประกอบกับมีพระอาการประชวรหลายโรค การที่ได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่
และไม่สมควรจะทรงงานหนัก ร่วมกับการได้รับการถวายการรักษาจากคณะแพทย์ในโรงพยาบาลฯ น่าจะส่งผลดีต่อพระอาการประชวร

28 มกราคม 2547
กรณีการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
คณะสงฆ์สายปริยัติและปฏิบัติทั้งฝ่ายมหานิกายและธรรมยุต จำนวน 596 รูป ได้ประชุมร่วมกันที่วัดป่ากกสะทอน อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี และมีมติให้ออกแถลงการณ์คัดค้านประกาศแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2547 พร้อมลงชื่อแนบท้ายบัญชีด้วย และมอบหมายให้นายทองก้อน วงศ์สมุทร นำมติที่ประชุมไปแจ้งให้พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องและพุทธบริษัท 4 ได้รับทราบโดยทั่วกัน นอกจากนี้จะดำเนินการรวบรวมรายชื่อให้ประชาชนร่วมลงนาม 100,000 คน เพื่อยื่นถอดถอนนายวิษณุออกจากตำแหน่งด้วย โดยให้นายทองก้อน เป็นผู้แทนฝ่ายฆราวาสในการดำเนินการ
(รายละเอียดเพิ่มเติม)

30 มกราคม 2547
กรณีการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
พระเทพโสภณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พร้อมด้วยนายประภาศน์ อวยชัย นายกพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์เข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นหนังสือสนับสนุนการแต่งตั้งผู้รักษาการแทนสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งนายวิษณุกล่าวว่าผู้ที่คัดค้านการแต่งตั้งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
(1) เป็นกลุ่มที่ไม่เชื่อว่าสมเด็จพระสังฆราชทรงประชวร ซึ่งมีน้อยลงหลังจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ออกแถลงการณ์ พระอาการประชวรของสมเด็จพระสังฆราช
(2) กลุ่มที่รู้ว่าทรงประชวรแต่ได้ประโยชน์จากการประชวรและกลัวเสียประโยชน์ จึงไม่ต้องการให้มีการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน และ
(3) กลุ่มที่รู้ว่าทรงประชวร แต่ไม่พอใจการตั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน
อนึ่ง มีข่าวว่าพระเครื่องชุดเบญจภาคีและประคดของสมเด็จพระสังฆราชหายไป ซึ่งมีผู้แจ้งความไว้แล้ว คาดว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้ใกล้ชิดสมเด็จพระสังฆราช

-------------------------------------------------------

'รพ.จุฬา ฯ'แถลงพระอาการ'สังฆราช'
28 มกราคม 2547 กองบรรณาธิการ

จุฬาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีแถลงการณ์เมื่อวันที่ 27 มกราคม สรุปรายงานพระอาการประชวร สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเข้ารับการรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2544
ระหว่างที่ประทับรับการถวายการรักษาในโรงพยาบาล ทรงมีพระอาการประชวรหลายโรค ประกอบด้วย โรคทางเดินหายพระทัยอุดตัน โรคหืด โรคความดันพระโลหิตสูง โรคพระหทัยเต้นผิดจังหวะเป็นครั้งคราว โรคหลอดพระโลหิตสมองตีบ โรคเบาหวาน โรคพระโลหิตจาง โรคต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ โรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเกิดเป็นครั้งคราว และโรคต้อกระจกซึ่งได้รับการผ่าตัดแก้ไขแล้ว

คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ถวายการรักษาอย่างเต็มความสามารถและต่อเนื่องมาโดยตลอด ด้วยการควบคุมพระกระยาหาร ถวายพระโอสถ การใช้เครื่องช่วยหายพระทัยผ่านทางหน้ากากตลอดเวลาบรรทมในตอนกลางคืน เพื่อแก้ไขการอุดกั้นของทางเดินหายใจ และการทำกายภาพบำบัดพระอาการของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงของพระอาการเป็นระยะๆ คือ มีพระอาการทรุดลงเป็นครั้งคราว และดีขึ้น คณะแพทย์มีความเห็นว่า เนื่องจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระชนมายุถึง 90 พรรษา ประกอบกับมีพระอาการประชวรหลายโรค

การที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่และไม่สมควรจะทรงงานหนักร่วมกับการได้รับการถวายการรักษาจากคณะแพทย์ในโรงพยาบาลฯ น่าจะส่งผลดีต่อพระอาการประชวรของพระองค์ จึงแถลงมาให้ทราบโดยทั่วกัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ทั้งนี้ มหาเถรสมาคม (มส.) มีมติให้ดำเนินการตามที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 121 ตอนพิเศษ 3 ง. เมื่อวันที่ 15 ม.ค.โดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุม ซึ่งเป็นคำสั่งแต่งตั้ง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก นอกจากนี้ ที่ประชุม มส.ยังมีมติแต่งตั้งสมเด็จพระราชาคณะ จำนวน 5 องค์ เป็นผู้ช่วยสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ ในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งประกอบด้วยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม สมเด็จพระมหา รัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดมกุฏกษัตริยาราม สมเด็จญาณวโรดม วัดเทพศิรินทราวาส และพระพรหมมุนี วัดบวรนิเวศ อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวได้รับการคัดค้านอย่างหนักจากนายทองก้อน วงศ์สมุทร ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้แจกแจงว่าคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวไม่ขัด พ.ร.บ.สงฆ์ ก่อนตัดสินใจได้ปรึกษาคณะแพทย์แล้ว ชี้เหตุแพทย์ไม่กล้าเปิดเผยเพราะหวั่นกระเทือนพระเกียรติยศ พร้อมประกาศยินดีชี้แจงทุกเรื่อง และ กมธ.ศาสนาจะนัดถกเรื่องนี้ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์
อย่างไรก็ตาม กลุ่มนายทองก้อนชุมนุมประท้วงเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เขียนจดหมายจากเลือดแสดงความไม่เห็นด้วย และจะเข้าชื่อถอดถอนนายวิษณุ ออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี.

------------------------------------------------------

แฉมารสอดไส้ลิขิต 'สังฆราช'

หลังจากนายทองก้อน วงศ์สมุทร นำกลุ่มศิษย์หลวงตามหาบัวออกมา คัดค้านประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามในฐานะปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าในเรื่องนี้เมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์สนับสนุนประกาศของรัฐบาลดังกล่าว

โดยพระราชกวี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส ในฐานะเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวสนับสนุนแถลงการณ์ดังกล่าวว่า ศูนย์พิทักษ์ฯ พร้อมจะชนกับคณะศิษย์หลวงตามหาบัว โดยเฉพาะนายทองก้อน วงศ์สมุทร แกนนำของกลุ่มที่ชอบแส่ไปทุกเรื่องศูนย์ฯสนับสนุนรัฐบาลให้เข้ามาแก้ปัญหาในคณะสงฆ์ ที่ผ่านมา สมเด็จพระสังฆราชถูกคนใกล้ชิดครอบงำ มีพวกแอบสั่งราชการลับคอยแสวงหาผลประโยชน์ คนพวกนี้พยายามจะหาศาสนกิจให้สมเด็จพระสังฆราช ต้องเดินทางไปที่ต่างๆ เสมือนพระองค์ยังคงมีพระชนม์เพียง 60 พรรษาเท่านั้น แต่ที่น่ากลัวคือ พวกที่ชอบแอบอ้างพระนามไปสั่งราชการลับ โดยการอ้างคำสั่งต่างๆ เพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง และยัดไส้ให้ทรงลงพระนาม แล้วนำไปอ้างกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งด้วยความเกรงพระทัยและพระบารมี ก็ดำเนินการทุกอย่างให้ เนื่องจากไม่ทราบความจริง ทำให้ กลุ่มคนใกล้ชิดสมเด็จพระสังฆราชได้ประโยชน์อยู่ตลอดเวลา การที่ศูนย์พิทักษ์ฯออกมาสนับสนุนรัฐบาล เพราะต้องการปกป้องสมเด็จพระสังฆราช ถ้ารัฐบาลไม่เข้ามาแก้ไขก็คงจะทำอะไรไม่ได้ไปเรื่อยๆ
เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ กล่าวอีกว่า นับตั้งแต่บัดนี้ถือว่าใครจะมาสร้างสถานการณ์ให้กับสมเด็จพระสังฆราช ถ้ามีพระลิขิตหรือพระนามออกมา ต้องถือว่า เป็นของปลอมทั้งหมด เพราะขณะนี้มีกรรมการคอยกลั่นกรองอยู่แล้วถึง 6 รูป รวมทั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช คือสมเด็จพระพุฒาจารย์ด้วย ที่พูดทั้งหมดนี้ ไม่ได้มีเจตนาลบหลู่สมเด็จพระสังฆราช และไม่ใช่เรื่องของศักดิ์ศรี แต่เป็นเรื่องการบริหารของคณะสงฆ์ให้ก้าวหน้าต่อไป ไม่ให้พวกมารคอยหากินวนเวียนอยู่กับผลประโยชน์รอบพระองค์ ส่วนการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกมาระบุถึงสาเหตุที่ต้องมีการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เนื่องจากมีปัญหาเรื่องของพระลิขิตปลอมออกมาบ่อยครั้งนั้น นายกรัฐมนตรีอาจจะเข้าใจผิด พระลิขิตที่ออกมาทุกฉบับไม่ใช่ของปลอม แต่มีคนนำไปให้พระองค์ลงพระนาม แล้วเอาไปแสวงหาผลประโยชน์ เช่น พระบางรูปอยากเป็นเจ้าคุณ อยากเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ก็สอดไส้เข้าไปให้ลงพระนามแต่งตั้งตัวเอง เพราะที่ผ่านมาไม่มีการกลั่นกรอง สร้างความเสื่อมเสียให้กับสมเด็จพระสังฆราชอยู่ตลอดเวลา จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีคิดก่อนที่จะพูดในเรื่องที่เกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราชและคณะสงฆ์

ด้านนายทองก้อน วงศ์สมุทร กล่าวว่า ได้รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อหลวงตามหาบัวแล้ว หลวงตาอนุญาตให้ดำเนินการให้เต็มที่ ให้คำนึงถึงเรื่องของความเป็นธรรม หลวงตามหาบัว เศร้าสลดใจมากที่รัฐบาลทำกับสมเด็จพระสังฆราชด้วยการออกคำสั่งปลดกลางอากาศเช่นนี้ ทำเสมือนกับไม่มีพระองค์ท่านอยู่ หาเรื่องไปใส่ ความพระองค์ว่า ประชวร ไม่สามารถจะเสด็จประกอบศาสนกิจต่างๆได้ ยืนยันว่าในอีก 7 วัน หากรัฐบาลไม่ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช วันที่ 23 ม.ค. นี้ บรรดาสานุศิษย์ของหลวงตามหาบัวจะเคลื่อนทัพเข้าสู่เมืองหลวง เพื่อปกป้องพระเกียรติของสมเด็จพระสังฆราช

ในวันเดียวกัน พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีปัญหาการแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชว่า ไม่มีอะไร เป็นเรื่องที่อธิบายได้เพราะมีความจำเป็น ไม่ใช่การตั้งสมเด็จพระสังฆราช แต่เป็นการตั้งคณะทำงานเพื่อทำงานแทนสมเด็จพระสังฆราชที่ประชวรอยู่ และบางคนไปแอบอ้าง หรือให้ท่านทรงลงพระนามทั้งที่ยังไม่ค่อยรู้ตัว ซึ่งเมื่อมีการลงพระนามจะไม่ปฏิบัติตามไม่ได้ หรือปฏิบัติก็เป็นสิ่งไม่เหมาะสม ทำให้ท่านเสียหาย จึงต้องให้คณะทำงานชุดนี้ปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ท่านจนกว่าหายประชวร เพราะมิเช่นนั้นจะมีการแอบอ้างอยู่เป็นประจำ

พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า การแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชต้องยึดหลักบริหารเป็นหลัก เพราะศาสนาต้องได้รับการดูแล ซึ่งถือว่าช้าไปด้วยซ้ำความจริงควรหาวิธีแก้ไขนานแล้ว ส่วนที่นายทองก้อนเตรียมระดมพระสงฆ์มาประท้วงเรื่องนี้ เชื่อว่าพระคงเข้าใจ พระคงไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะพระพุทธเจ้าสอนไว้เช่นนั้น แต่เรื่องการบริหารต้องทำให้ถูกต้องเพื่อรักษาศาสนาไว้ไม่ให้ใครมาทำให้เกิดความเสียหาย ไม่ ใช่ว่าจะต้องยึดติดอะไร แต่ต้องช่วยกันพัฒนาศาสนาในทางที่ถูกต้อง ถ้าอาการประชวรของสมเด็จพระสังฆราชเป็นปกติ คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนก็หมดหน้าที่ เหมือนกรณีอธิบดีป่วยเข้าโรงพยาบาล ต้องมีรองอธิบดีมารักษาการแต่กรณีนี้เป็นการใช้ระบบของคณะกรรมการมาช่วยกัน โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นประธานคณะ ไม่ใช่การตั้งสมเด็จพระสังฆราช 2 พระองค์ เป็นการไปเข้าใจจนผิดเพี้ยน

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ สัมภาษณ์เรื่องการคัดค้านว่า เป็นสิทธิของผู้คัดค้าน แต่ รัฐบาลได้ทำด้วยความรอบคอบชัดเจน ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม พร้อมกันนี้ยกข้อกฎหมายมาตรา 10 ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่แก้ไขเมื่อปี 2535 ว่า ถ้าหากสมเด็จพระสังฆราชไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ อาจจะทรงแต่งตั้งสมเด็จพระราชาคณะองค์ใดองค์หนึ่งขึ้นทำหน้าที่ หากไม่ได้ทรงแต่งตั้งไว้ ให้สมเด็จพระราชาคณะที่อาวุโสสูงสุดขึ้นมาทำหน้าที่ หากพระราชาคณะอาวุโสสูงสุดไม่สามารถเป็นได้ให้มหาเถรสมาคมเลือกอาวุโสอันดับถัดมา นายวิษณุอธิบายการตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชนั้น เป็นเพราะสมเด็จพระสังฆราชประชวรมาเป็นเวลากว่า 2 ปี ทรงมีพระชนมายุ 90 พรรษา และงานของสมเด็จพระสังฆราชดำรงตำแหน่งหลายสถานะทั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ ประธานคณะธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดญาณสังวราราม ที่ จ.ชลบุรี และประธานมูลนิธิมหามกุฏฯทำให้เจ้าหน้าที่ถวายงานเซ็น บางครั้งหากเห็นเป็นภาระก็ไม่นำถวาย บางเรื่องเมื่อลงพระนามลงมา ก็เกิดปัญหาคนสงสัยว่าพระนามจริงหรือไม่ รัฐบาลเองยังได้รับพระ บัญชามาหลายเรื่อง บางเรื่องมีคนค้านว่าพระบัญชาไม่จริง หรือพระบัญชาจริง แต่ไม่เข้าพระทัยในข้อความถวาย "อันที่จริงท่านไม่ได้ประชวร 24 ชั่วโมง แต่เราต้องการตัดปัญหาเพื่อรักษาพระเกียรติยศ รัฐบาลคิดมาเป็นปีในการจะเข้าไปจัดระบบเรื่องนี้

การตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่ แทนสมเด็จพระสังฆราช ไม่ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกองค์หนึ่ง และตั้งเป็นคณะ 6 รูป ใช้อำนาจร่วมกัน และกำหนดเวลา 6 เดือน ถ้าใช้ได้ก็ต่อ ถ้าใช้ไม่ได้ก็เลิก ถึงแม้ยังไม่ถึง 6 เดือน หากสมเด็จพระสังฆราชทรงหายเป็นปกติ กลับวัดได้ก็เลิกอัตโนมัติ อันเป็นกระบวนการธรรมดา" นายวิษณุกล่าว

----------------------------------------------------

ไทยโพสต์

'วิษณุ'ยันไม่ทวน ตั้งรษก.สังฆราช รุมจวก'ทองก้อน'
20 มกราคม 2547 กองบรรณาธิการ

"วิษณุ" ร่ายกฎหมายแจงตั้งผู้รักษาการพระสังฆราชฯ ไม่ขัด พ.ร.บ.สงฆ์ เผยเหตุที่แพทย์ไม่กล้าออกแถลงการณ์อาการประชวร หวั่นกระเทือนพระเกียรติยศ ศูนย์พิทักษ์ฯ-กมธ.ศาสนาหนุนรัฐบาลทำถูกต้อง จวก "ทองก้อน" ไม่รู้แล้วมั่ว ทำบ้านเมืองวุ่นวาย เตรียมนำเข้าที่ประชุม กมธ. 3 ก.พ.นี้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 19 มกราคม ถึงกรณีนายทองก้อน วงศ์สมุทร แกนนำคณะศิษยานุศิษย์หลวงตามหาบัว วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ระบุว่าการแต่งตั้งบุคคลมาปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขัดต่อ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 10 ฉบับ 2 พ.ศ. 2505 พร้อมกับขู่จะเคลื่อนไหวหากไม่มีการแก้ไขภายใน 7 วัน ว่าการที่จะแต่งตั้งใครขึ้นมารักษาการนั้น รัฐบาลทำตามกฎหมายที่ระบุว่าต้องเรียงลำดับชั้น จะข้ามไม่ได้ "มีคนเสนอมาถึงผมด้วยว่า ถ้าหากสมเด็จพระสังฆราชฯ ประชวรก็ควรจะให้ทางฝ่ายคณะธรรมยุตขึ้นรักษาการ ซึ่งทำอย่างนั้นไม่ได้ มันต้องไล่ไปตามลำดับอาวุโส กฎหมายบอกด้วยว่าอาวุโสโดยสมณศักดิ์ แต่การที่ใครเป็นสมเด็จก่อนหลัง ไม่ใช่อาวุโสโดยพรรษา หากอาวุโสโดยพรรษาอาจจะเจอสมเด็จวัดสุวรรณาราม ซึ่งบังเอิญโดยสมณศักดิ์หลัง มันเป็นไปตามลำดับ" นายวิษณุกล่าว

ส่วนกรณีที่กลุ่มของนายทองก้อนอ้างว่าการแต่งตั้งบุคคลขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เป็นการขัดต่อเนื้อหา พ.ร.บ.สงฆ์ มาตรา 10 นายวิษณุยืนยันว่าไม่เป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งประเด็นนี้เข้าใจว่านายทองก้อนติดใจตรงที่ระบุว่า "ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช" ควรจะเป็น "ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน" ซึ่งก็ได้ แต่ที่ตนจงใจใช้คำว่า "ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช" เพราะกฎหมายระบุไว้ในมาตรา 10 มี 5 วรรค วรรคแรกๆ บอกว่า ถ้าไม่มีสมเด็จพระสังฆราช เช่น สิ้นพระชนม์ลงก็ให้ตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ไม่มีคำว่า "แทน" ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลทำลงไปก็ถือว่าถูกต้อง เพราะปรึกษาหารือกับทุกฝ่ายโดยละเอียดรอบคอบแล้ว
นายวิษณุระบุว่า ผู้ที่มีปฏิกิริยาในเรื่องการแต่งตั้งผู้รักษาการนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท คือ ประเภทแรกเชื่อด้วยความสุจริตว่าสมเด็จพระสังฆราชฯ ยังคงมีพระสุขภาพดี ไม่จำเป็นต้องตั้งคนขึ้นมาทำหน้าที่แทน ประเภทที่สอง คือ พวกที่ไม่ต้องการให้ตั้งรักษาการ เพราะกลัวเสียผลประโยชน์จากการที่พระสังฆราชฯ ทรงพระประชวร พวกนี้จะไม่พอใจถือเป็นเรื่องธรรมดา และประเภทสุดท้ายคือ ทราบว่าสมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงประชวร และรู้ว่าควรจะต้องตั้งผู้รักษาการ แต่ไม่พอใจผู้รักษาการ

นายวิษณุระบุว่า ไม่ทราบว่าผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวจัดเป็นบุคคลที่อยู่ในกลุ่มใด อาจจะเป็นกลุ่มแรกก็ได้ คือหวังดีจริงๆ เพราะเห็นสมเด็จพระสังฆราชฯ ยังปกติดี ขอรับรองว่า เรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการนี้ อย่างไรก็ตาม ตนรู้สึกพิศวงเมื่อมีบางคนที่ออกมาต่อต้าน ต้องการให้นำสมเด็จพระสังฆราชฯ มาตรวจพิสูจน์ให้ได้ว่าสมองเสื่อม ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จริงๆ คล้ายกับต้องการจะท้าว่าสมเด็จพระสังฆราชฯ ทำงานได้ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลและคณะแพทย์กลัวที่สุด และไม่พยายามที่จะนำเอาสมเด็จพระสังฆราชฯ มาเป็นเหยื่อของการลองวิชาใดๆ "ไม่รู้ว่าเขามีอะไรในใจ ซึ่งผมก็รู้จักกันดีเพราะเคยมาติดต่ออะไร และวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรกัน ผมพยายามบอกว่าสมเด็จพระสังฆราชฯ ด้วยพระโรคหลายระบบ และผมก็รู้หมดว่าระบบอะไร แต่เราจะลุกขึ้นประจานสมเด็จพระสังฆราชฯ ทำไม แต่ผมรับรองว่าเมื่อตั้งผู้รักษาการไปซักระยะ คณะแพทย์ก็จะกล้าแถลง" นายวิษณุกล่าวตอบข้อซักถามที่ตั้งข้อสังเกตถึงการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มนายทองก้อน และว่าเรื่องนี้ได้คุยกับทางคณะแพทย์แล้วกรณีของสมเด็จพระสังฆราชฯ หากจะแถลงอะไรมากไป
ก็จะกระทบกระเทือนพระเกียรติยศ "สมมติว่าหากท่านนายกฯ แน่นิ่งอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเดือนๆ เหมือนสมัยจอมพลสฤษดิ์ป่วย มันก็ต้องรักษาการ หรือท่านสามวันดีสี่วันไข้ ท่านอยู่โรงพยาบาลรักษาหู หากถามว่าพูดกับท่านได้ยินไหม เซ็นหนังสือได้ไหม ซึ่งท่านก็ทำได้ แต่หมอไม่อยากให้ท่านทำงาน และระหว่างที่หมอไม่อยากให้ทำงานแล้วใครจะทำงาน ก็ต้องมีผู้รักษาการ การจะไปจับนายกฯ มาตรวจสมองพิสูจน์ว่าท่านทำไม่ได้จริงๆ หรือไม่ มันคงไม่ต้องไปไกลขนาดนั้น" นายวิษณุกล่าว

พระราชกวี เลขาธิการคณะกรรมการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ทางศูนย์พิทักษ์ฯ ออกแถลงการณ์เห็นชอบกับรัฐบาลแล้วว่าเป็นการพิทักษ์และปกป้องสมเด็จพระสังฆราชฯ เป็นอย่างดี และทำให้สงฆ์เป็นเอกภาพด้วย ขอยืนยันว่าไม่ใช่ตั้งขึ้นมาเพื่อแย่งตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราชฯ ยังอยู่ ไม่ได้ตั้งผู้สำเร็จราชการอะไรเพียงแต่ตั้งมาเพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองงานเท่านั้น ทั้งนี้ วงการสงฆ์รับรู้รับทราบ พระสงฆ์ทั้งปวงก็ยอมรับกันว่าควรจะแก้ไขปัญหานี้นานแล้ว แต่ไม่ได้แก้ รัฐบาลเข้ามาดูแลก็เพื่อถวายพระเกียรติสมเด็จพระสังฆราชฯ ไม่ให้ใครเอาไปลบหลู่กันง่ายๆ ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้แล้วว่ารัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา อะไรที่ทำท่าจะเสียหายก็เข้ามาคุ้มครองก็ถูกแล้ว
"อยากถามว่าเรื่องนี้เป็นภาระของคุณทองก้อนหรือ คุณทองก้อนชักจะมั่ว จะแส่ไปทุกเรื่อง ทำไมไม่ทำหน้าที่ของตนล่ะ จะทอดผ้าป่าก็ทอดไปซิ สมเด็จพระสังฆราชฯ ไม่อยู่ในวิสัยที่จะมาสั่งการอะไรได้ในตอนนี้ และตั้งนานมาแล้ว แต่ไม่มีใครจัดการ คุณทองก้อนคิดว่าคนอื่นเขาไม่รักศาสนา มีคุณทองก้อนรักคนเดียวเท่านั้นหรือ ทำไมไม่บวชเข้ามา รักแล้วทำไมเที่ยวไปแอบแฝงตรงโน้นตรงนี้อยู่ ออกมาบวชสิถ้าแน่จริงรักจริง คนรักศาสนาจริงไม่ใช่สร้างความวุ่นวายอยู่อย่างนี้ แล้วก็เที่ยวด่าพระอยู่ นี่หรือคนรักศาสนา" พระราชกวีกล่าว

ด้าน น.พ.วิชัย ชัยจิตวณิชกุล ประธานคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวสนับสนุนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่าทำถูกต้องแล้ว ที่แต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชฯ เพราะกำลังทรงประชวร ที่ผ่านมาเราก็ทราบดีถึงข่าวอื้อฉาว ไม่ว่าจะเป็นพระลิขิตปลอม หรือเหตุการณ์ไม่ดีไม่งามต่างๆ ที่มีบุคคลแอบแสวงหาผลประโยชน์ในช่วงพระองค์กำลังประชวร เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องเร่งแก้ไข และนายวิษณุก็ทำตาม พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. 2505 ซึ่งไม่เป็นการลบหลู่สมเด็จพระสังฆราชฯ
แต่อย่างใด น.พ.วิชัยกล่าวว่า การที่นายทองก้อนออกมาคัดค้านนั้น ถือว่าเป็นการกระทำของผู้ไม่รู้ ซึ่งเขาไม่เห็นด้วยเพราะทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย การที่แต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน ก็เพียงชั่วคราว เมื่อสมเด็จพระสังฆราชฯ หายประชวร ก็ยกเลิกผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนได้ ขอให้นายทองก้อนอย่าทำให้ประชาชนไขว้เขว "ถ้านายทองก้อนไม่เข้าใจอะไร ถ้าไปถามนายวิษณุก็เชื่อว่าท่านก็คงยินดีตอบ หรือจะให้คณะกรรมาธิการฯ เป็นสื่อกลางให้ก็ได้" น.พ.วิชัยกล่าว และว่า ทางคณะกรรมาธิการฯ จะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ในวันที่ 3 ก.พ.นี้

วันเดียวกัน พระมหาไพฑูรย์ ปัณตะนันโท ประธานสภานิสิตมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ออกแถลงการณ์ในนามสภานิสิตฯ เรื่องการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติราชการแทนสมเด็จพระสังฆราชฯ มีใจความว่า สภานิสิตฯ ขออนุโมทนา และสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลในการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชฯ เนื่องจากสมเด็จพระสังฆราชฯ มีพระอาการประชวรหลายระบบ แต่พระราชกิจที่คณะสงฆ์และรัฐบาลถวายเพื่อทรงลงพระบัญชา ทรงวินิจฉัยสั่งการ และทรงลงพระนาม มีจำนวนมาก รวมทั้งการที่ต้องปฏิบัติศาสนกิจในรัชพิธีและพิธีการต่างๆ ประกอบกับทรงมีพระชนมายุ 90 พรรษา สมควรที่จะได้ทรงพักผ่อนและถวายการดูแลโดยคณะแพทย์อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง ไม่มีภาระใดมารบกวนอันจะก่อให้เกิดความตรากตรำ หรือกังวลพระทัย เพื่อจะได้ทรงอยู่เป็นมิ่งขวัญของพุทธศาสนิกชนสืบไป พระมหาไพฑูรย์กล่าวเพิ่มเติมว่า นิสิตมหาจุฬาฯ และนิสิตมหามกุฏราชวิทยาลัย เห็นพ้องต้องกันในการสนับสนุนรัฐบาล ส่วนกรณีที่นายทองก้อน วงศ์สมุทร จะนำคณะลูกศิษย์หลวงตามหาบัวออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล นิสิตของทั้งสองมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็พร้อมที่จะเผชิญหน้า เพราะต้องการให้เอาเรื่องหลักการมาเป็นเหตุผลมากกว่าใช้อารมณ์ตัดสิน ซึ่งนิสิตของทั้งสองมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็อยากจะรู้ว่าใครจะเทิดพระเกียรติสมเด็จพระสังฆราชฯ มากกว่ากัน

-----------------------------------------------------

คำถามที่1
ได้ยินมาว่า คุณมีชัยและคุณวิษณุ เครืองาม ได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคมให้เป็นผู้ร่าง พ.ร.บ. สงฆ์ฉบับใหม่ และได้ร่าง พ.ร.บ.สงฆ์ใหม่ขึ้นมาซึ่งกำลังมีปัญหากันอยู่ในขณะนี้ว่าควรจะรีบเอาเข้าสภาหรือไม่ ไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรคะ
วนาลี

คำตอบ1
เรียน คุณวนาลี
เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งเมื่อสักสองปีมาแล้วเห็นจะได้ ผมกับ ดร.วิษณุถูกเชิญให้ไปพบพระเถระผู้ใหญ่พร้อมด้วยอธิบดีกรมการศาสนา ซึ่งเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคม พระเถระผู้ใหญ่ท่านแจ้งว่า มหาเถรสมาคมมีมติให้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายคณะสงฆ์เสียใหม่ โดยประสงค์จะแยกหน่วยงานที่ดูแลพุทธศาสนาออกมาจากกระทรวงศึกษาธิการเพราะามหาเถรสมาคมไม่แน่ใจว่า เมื่อมีการปฏิรรูปการศึกษาแล้วจะมีผลกระทบต่อพระพุทธศาสนาหรือไม่ เพราะเมื่อ มีการเปลี่ยนโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการจากแยกเป็นกรม ๆ มาเป็นคณะกรรมการใหญ่ ๓-๔ คณะ ซึ่งหนึ่งในคณะนั้นจะดูแลเรื่องการศาสนา คณะกรรมการที่ดูแลการศาสนาจะประกอบไปด้วยผู้แทนของศาสนาทุกศาสนา โดยมีผู้แทนของศาสนาพุทธรวมอยู่ด้วย คณะกรรมการดังกล่าวจะดูแล ส่งเสริม สนับสนุนศาสนาทุกศาสนามหาเถรสมาคมจึงป็นห่วงว่า ในปัจจุบันกรมการศาสนาเป็นผู้ดูแลและอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาโดยไม่ต้องไปขออนุมัติหรือขอความเห็นชองคณะกรรมการใด โดยเฉพาะคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบที่ประกอบด้วยผู้แทนศาสนาอื่น ๆ ด้วย สิ่งที่มหาเถรสมาคมประสงค์จะให้ดำเนินการก็คือ ขอให้แยกออกมาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ทำนองเป็นหน่วยงานอิสระ ที่อยู่ในความควบคุมดูแล ของมหาเถรสมาคมมหาเถรสมาคมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วยพระเถรานุเถระ เพื่อยกร่างกฎหมายใหม่ โดยจะมีการปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์เสียใหม่ให้เป็นไปตามที่คณะสงฆ์ต้องการด้วย และขอให้ผมกับ ดร.วิษณุ ช่วยตรวจดูร่างกฎหมายให้เข้ารูปเข้ารอย หากมีอะไรที่จะแนะนำก็ขอให้แนะนำด้วย

ผมกับ ดร.วิษณุ เป็นชาวพุทธ เมื่อพระเถระผู้ใหญ่ท่านใช้สรอย ก็รับด้วยความยินดี แต่ก็ได้กราบเรียนท่านว่า เราสองคนพอมีความรู้ทางกฎหมายอยู่บ้างก็จริง แต่เรื่องทางศาสนา โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์นั้นไม่ค่อยประสานัก ถ้าคณะทำงานประสงค์จะประปรุงอย่างไร ก็ขอให้ตกลงกันและนำหลักการมาบอกเป็นเรื่อง ๆ ไป ดูเหมือนได้แนะนำไปด้วยว่า ถ้าจะแยกออกมาจากกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ก็น่าจะมาตั้งเป็นองค์การอิสระ ไม่ต้องอยู่ในระบบราชการ การดำเนินการต่าง ๆ ก็จะได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่ท่านก็มีเหตุผลของท่านว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาสำคัญของประเทศ จึงควรยึดโยงอยู่กับราชการไว้ มิฉะนั้นศาสนจักรและอาณาจักรจะขาดความสัมพันธ์จนไกลเกินไป ซึ่งเราก็รับฟังด้วยความเคารพในเหตุผลของท่าน ต่อมาเมื่อได้รับหลักการในทุกเรื่องแล้ว (ตอนนี้ผมจำไม่ได้แล้วว่าท่านส่งหลักการมาให้ในรูปของตัวร่างพระราชบัญญัติ หรือให้หลักการมาเป็นข้อ ๆ ) ผมได้มอบให้ ดร.วิษณุ ไปตรวจดูเป็นเบื้องต้น ซึ่ง ดร.วิษณุก็ได้จัดรูปแบบ และถ้อยคำให้เป็นรูปของร่างพระราชบัญญัติ อะไรที่สงสัยก็นำกลับไปถามคณะทำงาน ซึ่งในแต่ละเรื่องท่านก็ไปประชุมกันแล้วกลับมาบอกเมื่อร่างเสร็จแล้ว จึงได้ส่งให้พระเถระผู้ใหญ่เพื่อส่งต่อให้คณะทำงาน ซึ่งคณะทำงานได้นำกลับไปพิจารณาอีกพักหนึ่ง ก็ส่งร่างกลับคืนมาให้ดู ซึ่งปรากฏว่าได้มีการแก้ไขในหลักการต่าง ๆ จนเป็นรูปร่างอย่างที่เห็น ๆ กันอยู่ แล้วจึงส่งไปยังคณะรัฐมนตรี เรื่องก็หายไปพักใหญ่ คณะรัฐมนตรีจึงส่งมาให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วก็เจ้ากรรม ที่สำนักงานฯ เขาก็ส่งเรื่องเข้ากองที่ ๑ ซึ่งมีผมเป็นประธาน (โดยมีกรรมการอื่นอีก ๘ ท่าน รวมทั้ง ดร.วิษณุ และ ดร.บวรศักดิ์ รวมอยู่ด้วย)
โดยปกติในการพิจารณาของกรรมการนั้น จะต้องเชิญผู้แทนจากหน่วยราชการมาคอยชี้แจง และอะไรที่คณะกรรมการเห็นว่าไม่ดี ไม่เหมาะ ไม่ควร หรือน่าจะเป็นปัญหาก็จะดำเนินการแก้ไขไปตามที่เห็นสมควร บางทีก็ขัดกับความต้องการของหน่วยราชการที่เป็นเจ้าของเรื่อง ทั้งนี้โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและประชาชนเป็นสำคัญ แต่ในเรื่องนี้ ผมรู้อยู่แล้วว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แม้แต่ถ้อยคำบางคำก็ไม่อาจแก้ไขได้ เพราะเป็นเรื่องที่คณะสงฆ์ท่านได้ดูและตกลงกันมาก่อนแล้ว (จำได้ว่า ดร.วิษณุ เคยท้วงว่าเหตุใด องค์กรปกครองสงฆ์ที่ตั้งขึ้นใหม่ จึงใช้ชื่อว่า "มหาคณิตศ"ร" ในเมื่อคำนี้เป็นคำที่ใช้อยู่ในมหานิกาย ผู้คนอาจจะเกิดวิจิกิจฉาเอาได้ แต่พระเถระผู้ใหญ่ท่านก็บอกว่า คณะสงฆ์จากวัดบวรฯ ซึ่งเป็นวัดธรรมยุติ เป็นผู้คิดคำนี้ แล้วไม่ยอมให้เปลี่ยนแปลง เราก็ได้แต่รับทราบ) เพื่อให้เกิดความรอบคอบคณะกรรมการจึงขอให้มหาเถรสมาคมส่งผู้แทนที่เป็นสงฆ์มาร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง ซึ่งทางมหาเถรสมาคมได้มอบหมายให้ท่านเจ้าคุณอธิการบดีมหาจุฬาฯ กับพระสงฆ์อีกรูปหนึ่ง มาร่วมประชุมและคอยชี้แจง ในการพิจารณาของคณะกรรมการนั้น เมื่อจะแก้ไข ตัด หรือเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องถ้อยคำ หรือหลักการ จะต้องนมัสการถามท่านอธิการบดีก่อนทุกครั้งว่าจะดีหรือไม่ จะแก้ไขได้หรือไม่เมื่อท่านเห็นดีเห็นงามด้วยจึงจะแก้ไขให้บัดนี้ คณะกรรมการ ได้พิจารณาเรื่องนี้เสร็จไปหลายเดือนแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งออกไปจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อยู่ต่อมาก็ได้รับหนังสือจากคณะศิษย์ของหลวงตามหาบัว แจ้งว่าอยากจะมาชี้แจง โดยบอกมาด้วยว่าในร่างดังกล่าวมีหลักการหลายประการที่ไม่เห็นด้วย แต่คณะกรรมการเห็นว่าคณะกรรมการไม่อยู่ในฐานะที่จะทำอะไรได้ เพราะเสร็จไปจากคณะกรรมการแล้ว จึงได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปเชิญคณะศิษย์ดังกล่าวมาพบกับเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา พร้อมทั้งให้กราบเรียนมหาเถรสมาคมด้วยเผื่อพระต่อพระท่านจะชี้แจงหรือตกลงกันได้ดีกว่า เมื่อตกลงกันได้อย่างไรคณะกรรมการฯก็พร้อมที่จะดำเนินการให้ตามความประสงค์เรื่องทั้งหมดก็มีอยู่อย่างที่เล่าให้ฟังข้างต้น ที่เล่าให้ฟังอย่างละเอียด ก็เพราะจะได้บอกกันต่อ ๆ ไป เพราะมีคนจ้องจะให้ร้ายกันอยู่ และมักจะชอบบิดเบือนกันอย่างไม่ละอายแก่ใจ
มีชัย ฤชุพันธุ์
3 มี.ค. 2545



คำถาม2
เรียน อ.มีชัย ที่เคารพ เมื่อวันอาทิตย์ได้ฟังพระสงฆ์ 2 รูปออกทีวีสนทนากันเกี่ยวกับ พรบ.คณะสงฆ์ ฟังอยู่พักใหญ่เพื่ออยากจะรู้ประเด็นข้อดี-ข้อบกพร่องของร่างกฎหมายฉบับนี้แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ข้อมูล ประกอบกับทราบข้อมูลว่าอาจารย์เองมีส่วนเกี่ยวข้องจึงใคร่ขอทราบประเด็นสำคัญๆ ดังนี้ (ในฐานะชาวพุทธที่รักพุทธศานาคนหนึ่งครับ)
1. ประเด็นที่ลูกศิษย์หลวงตามหาบัว (อ้างตามสื่อ) ไม่เห็นด้วย ในความเห็นของอาจารย์ว่าอย่างไร
2. ประเด็นที่อาจารย์และคณะไม่เห็นด้วย กับร่าง พรบ.ฉบับนี้มีส่วนใดบ้าง ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ
กฤษ

คำตอบ2
เรียน คุณกฤษ
๑. ข้อไม่เห็นด้วยของคณะบุคคลดังกล่าว ดูจะลอย ๆ โดยใช้คำรุนแรงมาก เช่นหาว่าเป็นการลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่อาจเข้าใจได้ว่าหมายความว่าอย่างไร เพราะในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชนั้น ในร่างกฎหมายใหม่ ก็ลอกมาจากกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ส่วนที่บอกว่าผิดจารีตประเพณีหรือพระธรรมวินัยนั้น ผมไม่อาจวิจารณ์ได้ เพราะต้องเชื่อว่าพระคุณเจ้าในระดับสูงทั้งสองนิกาย ท่านเป็นผู้กำหนดขึ้น จึงไม่น่าเชื่อว่าท่านจะไม่รู้เรื่องจารีตประเพณีหรือพระธรรมวินัย
๒. ผมไม่อยู่ในฐานะที่จะไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายคณะสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ เพราะเมื่อเป็นเรื่องการปกครองภายในของคณะสงฆ์ก็ต้องถือหลักความประสงค์และความต้องการของคณะสงฆ์โดยเฉพาะมหาเถรสมาคมเป็นเกณฑ์ เว้นแต่ความประสงค์หรือความต้องการที่ขาดเหตุขาดผล แต่ก็ยังมองไม่เห็นว่ามีเรื่องใดที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล ชาวพุทธที่แท้จริงต้องรู้จักฟังเหตุฟังผล มีสติกำกับใจ ยิ่งคนที่เป็นศิษย์ของหลวงตามหาบัว ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่เชี่ยวชาญทางด้านวิปัสนาธุระ ยิ่งต้องเรียนรู้หรือศึกษาธรรมจากท่านให้มากไว้ ไม่ใช้อารมณ์ หรือมีอคติจนเกินไป ต้องไม่มีอกุศลจิต และไม่สร้างอกุศลกรรม ให้เป็นที่ระคายเคืองในพระพุทธศาสนา ผมเห็นมีคนทำใบปลิวแจกตามสี่แยกโจมตีพระเถระผู้ใหญ่อย่างสาดเสียเทเสีย จนไม่อยากเชื่อว่าเป็นการกระทำของชาวพุทธ วิธีเช่นนั้นไม่ใช่วิธีการที่ดีที่จะส่งเสริมหรือรักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา
มีชัย ฤชุพันธุ์ 5 มี.ค. 2545



คำถาม3
1.ในฐานะที่อาจารย์มีส่วนเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.สงฆ์ฉบับนี้ ในฐานะผู้ยกร่าง อยากให้อาจารย์ช่วยแจกแจงข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นอย่างนั้นหรือไม่ อย่างไร
พีรยุ ดีประเสริฐ

คำตอบ3
เรียน คุณพีรยุ ผมไม่ได้ยกร่างหรอกครับ แต่มีส่วนช่วยในการดูแลในแง่ของกฎหมาย อย่างที่บอกไปเมื่อวันก่อนว่า หลักการต่าง ๆ เป้นเรื่องของมหาเถรสมาคม และคณะทำงานที่มหาเถรสมาคมแต่งตั้งให้มาทำ แต่พอบอกได้ว่าข้อกล่าวหาเหล่านั้น น่าจะเกิดจากความเข้าใจผิด หรือในบางเรื่องก็เป็นความต้องการของบุคคลอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ตรงกับมหาเถรสมาคมซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องไปถกเถียงกันในหมู่พระสงฆ์ด้วยกัน แต่น่าจะจำกันได้ว่าเมื่อไม่นานมานี้มีกรณีที่อุบาสกอุบาสิกาและยุวสงฆ์ ได้ประท้วงและตำหนิติเตียนมหาเถรสมาคม (ม.ส.) ว่าชราภาพมากแล้ว ไม่ควรรวบอำนาจไว้ที่เดียว ควรกระจายอำนาจออกไป แล้วกีเร่งรัดกันอยู่มาก มส.ท่านก็ประชุมกัน ด้วยอุเบกขาและเมตตาธรรม ท่านก็ยอม กระจายอำนาจออกไป มส.คงทำหน้าที่แต่เพียงกำกับดูแล เพื่อเปิดโอกาสให้คณะสงฆ์รุ่นเยาว์ลงมาทำหน้าที่ปกครองบ้าง ร่างกฎหมายที่กำลังถกเถียงกันอยู่นั้น ก็มีที่มาจากความคิดที่จะปล่อยวางอำนาจดังกล่าว ในกฎหมายนี้จึงแบ่งแยกอำนาจออกเป็น ๒ ส่วน ๆ หนึ่งที่เป็นเรื่องการออกกฎเกณฑ์ การกำกับ และการดูแล ยังอยู่ที่ มส. ส่วนการปกครอง การลงโทษ กระจายให้เป็นของมหาคณิสสร ส่วนอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชนั้น ก็มิได้มีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงไปจากกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เรียกว่าลอกมาทั้งดุ้น ในขณะนี้ก็กำลังรอคำชี้แจงของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่าในเรื่องใดบ้าง และมีเหตุผลอย่างไร จะได้เข้าใจความต้องการให้ตลอด
มีชัย ฤชุพันธุ์
7 มี.ค. 2545



คำถาม 4
สวัสดีค่ะ อาจารย์มีชัยที่เคารพ ขอทราบความเห็นของอาจารย์ เหตุเนื่องมาจากที่คุณทองก้อน วงศ์สมุทรได้แสดงประเด็นให้พุทธศาสนิกชนทราบว่าร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่เป็นอันตรายต่อพระพุทธศาสนา ดังนี้
1.ส่งเสริมสนับสนุนการลิดรอนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
2.ยึดอำนาจทั้งมวลของสมเด็จพระสังฆราชไปเป็นของมหาคณิสสรจนหมดสิ้น
3.ขัดพระธรรมวินัย
4.ขัดพระพุทธเจตนารมณ์
5.ขาดความชอบธรรม ในฐานะของชาวพุทธผู้มีความห่วงใยในพระพุทธศาสนา จึงสับสนอย่างมากเพราะหลวงตามหาบัวเป็นพระอาจารย์ที่ดิฉันเคารพศรัทธามาก
แต่ขณะที่ในอดีตดิฉันเคยไปร่วมชุมนุมเพื่อให้มีพรบ.นี้ขึ้น จึงขอทราบความคิดเห็นจากอาจารย์มีชัย และขอให้อาจารย์ช่วยชี้แจงความกระจ่างให้ดิฉันและชาวพุทธซึ่งไม่สันทัดในการตีความทางกฏหมาย ซึ่งในแต่ละข้อที่คุณทองก้อนได้ทำเอกสารแจกคณะศิษย์และได้ลงตามหนังสือพิมพ์ ตามประเด็นทั้ง 5 ข้อข้างต้น ทั้งนี้อ.มีชัยในฐานะผู้เป็นที่ปรึกษาในการร่างพรบ.มีข้อคิดเห็นอย่างไร พอจะอธิบายให้ชาวพุทธเข้าใจได้อย่างไร ทั้งนี้ดิฉันเคยได้อ่านคำตอบของคุณมีชัยที่ตอบคำถามคุณวนาลี ในถาม-ตอบในเวบไซด์ของพระอาจารย์
หลวงตามหาบัวมาก่อน
ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ
จิตรพร

คำตอบ 4
เรียน คุณจิตรพร นับว่าคุณเป็นชาวพุทธที่ดี ที่ใช้หลักกาลามสูตรก่อนการตัดสินใจเรื่องใด ๆ แต่ผมไม่ค่อยแน่ใจนักว่าจะตอบได้ละเอียดเท่าที่คุณอยากรู้ แต่จะลองพยายามดู อนึ่งผมไม่แน่ใจว่าคุณทองก้อนมีร่างกฎหมายที่ได้มีการตรวจพิจารณาโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วหรือไม่ ร่างที่ผมจะอ้างถึง หมายถึงร่างที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว ถ้าสนใจใคร่ดูก็อาจขอจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ เขาไม่หวงห้าม

๑. ที่คุณทองก้อนกล่าวหาว่า "ส่งเสริมสนับสนุนการลิดรอนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์" นั้น ผมเข้าใจว่าคงหมายถึงบทบัญญัติที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งน่าจะเป็นความเข้าใจผิดอย่างมากของคุณทองก้อน เพราะในเรื่องนี้ร่างกฎหมายใหม่มิได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คงลอกมาทุกถ้อยกระทงความ แม้แต่วรรคตอน เพื่อความกระจ่างจึงขอลอกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พรบ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ (เมื่อสิบปีที่แล้ว - แก้ไขเมื่อ ๔ มีนาคม ๒๕๓๕) โดยบัญญัติไว้ในมาตรา ๗ ดังนี้ "มาตรา ๗ พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช" ขอยืนยันว่าในร่างใหม่ก็มีข้อความอย่างเดียวกันนี้ทุกประการ จึงไม่เข้าใจว่าคุณทองก้อนไปเอาอะไรมาบอกว่ามีการส่งเสริมให้ลิดรอนพระราชอำนาจที่ตรงไหน

๒. ที่กล่าวหาว่า "ยึดอำนาจทั้งมวลของสมเด็จพระสังฆราชไปเป็นของมหาคณิสสรจนหมดสิ้น" นั้น ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่า ตรงไหนที่ทำให้คุณทองก้อนเข้าใจอย่างนั้น ตามกฎหมายปัจจุบันบัญญัติเรื่องอำนาจของสมเด็จพระสังฆราชเป็นหลักไว้ในมาตรา ๘ ว่า " สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม" ตามร่างกฎหมายใหม่ ก็บัญญัติข้อความอย่างเดียวกันทุกกระเบียดนิ้วไว้ในมาตรา ๙ สำหรับมหาคณิสสรซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่นั้น ก็ได้รับคำชี้แจงจากคณะทำงานซึ่งมหาเถรสมาคมแต่งตั้งขึ้นให้ดูแลเรื่องนี้ว่า มีเสียงบ่นจากอุบาสกอุบาสิกาและคณะสงฆ์รุ่นใหม่บ่นว่า อำนาจทั้งปวงตามกฎหมายปัจจุบันไปกองสุมอยู่ที่มหาเถรสมาคม และกรรมการ มส.ก็ล้วนชราภาพ ทำให้ทำงานไม่ทันใจ ควรจะมีการมอบหมายให้พระรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมบ้าง นอกจากนั้น การที่สมเด็จพระสังฆราชต้องมาเป็นประธาน มส. ทำให้ในเวลาที่ มส.จะพิจารณาอุทธรณ์หรือลงโทษพระสงฆ์ และสมเด็จพระสังฆราชจะต้องทรงลงพระนามในการลงโทษนั้น (แม้บางครั้งท่านจะไม่เห็นด้วย แต่ก็ต้องทำตามมติ มส.) ทำให้สมเด็จพระสังฆราชตกอยู่ภายใต้ความชอบไม่ชอบ หรือถูกวิจารณ์ได้ จึงควรให้ท่านใช้พระราชอำนาจทางด้านพระคุณ ทำนองเดียวกับประมุขทางอาณาจักร โดยไม่กระทบถึงอำนาจที่ทรงมีอยู่เดิมในฐานะที่ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาปรินายกตามที่กล่าวข้างต้น ม.ส. ท่านได้ยินคำวิจารณ์เช่นนั้น ท่านก็ยอมแบ่งอำนาจของท่านให้มหาคณิสสร อนึ่ง มีข้อกล่าวหาทั่ว ๆ ไปอยู่ว่า มส.ไม่รู้เรื่องร่างกฎหมายนี้ ก็ขอเรียนว่า ทุกอย่างเป็นมติของ มส.มาโดยตลอดการตั้งคณะทำงาน มส.ก็เป็นผู้ตั้ง โดยตั้งจากฝ่ายธรรมยุติ ๒ องค์ และฝ่ายมหานิกาย ๒ องค์ และดูเหมือนเมื่อคณะทำงานคิดหลักการอะไรได้ก็นำไปเสนอ มส.ให้อนุมัติก่อนเสมอ แม้เมื่อร่างเสร็จแล้วก็ดี เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วก็ดี ก็มีการนำกลับไปให้ มส.พิจารณาอีก ในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น ก็อย่างที่ได้เคยตอบคุณวนาลีไปแล้วว่า จะแก้ไขหรือตัดทอนอะไรก็ต้องคอยถามพระท่านเสียก่อนเสมอ ท่านก็นำกลับไปหารือกันในคณะทำงานทุกครั้ง บางเรื่องท่านเห็นดีด้วยกับคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่เมื่อกลับไปหารือกับคณะทำงานแล้ว กลับมาบอกว่าคณะทำงานไม่เห็นด้วย คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ไม่ขัดใจ

๓. สำหรับข้อกล่าวหาในข้อ ๓ , ๔ และ ๕ นั้น ไม่ทราบว่าคุณทองก้อนหมายถึงเรื่องอะไรเลยไม่รู้จะเล่าให้ฟังได้อย่างไร ผมเห็นว่าทางออกที่ดีที่สุดของเรื่องนี้ก็คือทุกฝ่ายต้องลองศึกษาร่างกฎหมายดูให้ละเอียด และถ้าไม่เห็นชอบด้วย ไม่ว่าในเรื่องใดก็ตาม ก็ต้องลองคุยเพื่อรับฟังเหตุผลของกันและกัน ชาวพุทธที่แท้จริงไม่ควรใช้วิธีการด่าว่าและให้ร้ายกันโดยไม่มีเหตุผล เมื่อจะกล่าวหาอะไรว่าไม่ชอบธรรม การประพฤติปฏิบัติก็ต้องทำในทางที่ชอบธรรม ตามหลักศาสนาด้วย อย่างที่คุณถามมานี้ก็นับว่าเป็นวิธีที่น่าสรรเสริญ
มีชัย ฤชุพันธุ์ 7 มี.ค. 2545

-------------------------------------------------------