บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


06 มิถุนายน 2552

<<< การเมืองใหม่ >>>

ไปเห็นข้อเสนอเรื่องการเมืองใหม่ของพันธมิตร
และของ สนนท. สภาพแรงงานและกลุ่มประกายไฟ
ข้อเสนอของฝ่ายหลัง
รู้สึกเป็นเรื่องเป็นราวมีเนื้อหา
ดีกว่าที่ฝ่ายพันธมิตรเสนอมา

ที่เปลี่ยนไม่ซ้ำกันแต่ละวัน
เช่นเดี๋ยวให้เลือกตั้ง 30% แต่งตั้ง 70%
พอกระแสสังคมไม่เห็นด้วยเริ่มคัดค้าน
เพราะไม่รู้จะเลือกไปทำไมให้เสียเวลาแค่ 30%
สู้แต่งตั้ง 100% ให้รู้แล้วรู้รอด ไปเลยดีกว่า
ก็เลยต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ หาหลักการอะไรไม่ได้เลย
เสร็จแล้วพอพรรคพวกที่หนุนได้เป็นรัฐบาล
ก็เลิกเรียกร้องการเมืองใหม่
ทั้งๆ ที่ตอนยึดทำเนียบเพื่อขับไล่รัฐบาลก่อนๆ
ดูจริงจัง ขึงขังอยากจะได้กันน่าดู
พอขัดผลประโยชน์กัน
ก็เลยมาตั้งพรรคใหม่เสียเลย
ผมอยากลองเสนอการเมืองใหม่ของผมบ้าง ดังนี้

1.เลือกผู้บริหารประเทศโดยตรง
ถ้าเสียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ
ให้เลือกใหม่แข่งระหว่างที่ 1 กับ ที่ 2

2.ใครได้รับเงินเดือนเงินตอบแทนใดๆ
ที่เป็นเงินภาษีของประชาชน
หรือจากเงินงบประมาณต่างๆ
ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะทุกคน
โดยลงเผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ตด้วย

3.ให้ถือเสียงข้างมากของประชาชนเป็นเด็ดขาด
ไม่ว่าจะตัดสินเรื่องอะไรแล้วตกลงกันไม่ได้
เช่น ศาลสูงสุดตัดสินคดีใดคดีหนึ่ง
แล้วถ้าเห็นว่าไม่เป็นธรรม
ตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่อีกครั้ง
ถ้ามีคนพร้อมหนุนให้มีการลงประชามติ 50,000 รายชื่อ
หรือรัฐออกนโยบายอะไรแล้วคนคัดค้าน 50,000 รายชื่อ
ก็ทำประชามติทำตามเสียงส่วนใหญ่
ก่อนลงประชามติทุกครั้ง
ต้องมีการดีเบตทั้งผู้สนับสนุนผู้คัดค้านผ่านสื่อต่างๆ
อย่างเท่าเทียมกันเพื่อให้ชี้แจงโน้มน้าวกันเต็มที่
แล้วรอประชาชนตัดสิน

4.กฏหมายใดๆ
ถ้าไม่สามารถบังคับใช้โดยเท่าเทียมกันแล้ว
ต้องยกเลิกเสีย ไม่ต้องมี
หรือถ้าเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ
ลงประชามติกฏหมายบางข้อที่เป็นประเด็นถกเถียงกัน
ให้กฏหมายที่ชนะการลงประชามติเป็นกฏหมายใหม่แทนทันที
เมื่อยกเลิกแล้วคนที่ยังติดคุกด้วยคดีเดียวกันก็ต้องพ้นผิดทันที
ซึ่งเราเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากการยกเลิกกฏหมายใดๆ
เช่น โหวตให้การขับรถฝ่าไฟแดงไม่มีความผิด
เพื่อช่วยดาราคนโปรดที่กำลังโดนคดีขับรถผ่าไฟแดง
ซึ่งต่อไปคนทั้งสังคมก็ไปหลบรถกันเอาเอง
ซึ่งถ้ามีเหตุผลอธิบายก่อนโหวต
คงไม่มีเหตุการณ์แบบนี้
เช่นเดียวกัน ถ้าเขาจะโหวตให้คนฆ่ากันไม่มีความผิด
ซึ่งก็จะมีการฆ่ากันตายสนุกสนาน
ดังนั้นเราเชื่อว่า
คนทุกคนก็ย่อมรักสิทธิเสรีภาพและชีวิตตัวเองด้วย
การตัดสินใจอะไรจะแค่เอามันเอาพวกพ้อง
แล้วตัวเองก็ต้องมารับกรรมด้วย
คงมีสติที่จะไม่โหวตให้ผ่าน
เพราะถ้าผ่าน เขาก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย

5.ประชาชน 50,000 รายชื่อสามารถขอยื่นถอดถอน
ผู้ได้รับเงินเดือนจากเงินต่างๆ จากภาษีประชาชน หรืองบประมาณต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นคณะผู้บริหารประเทศ หรือคณะตุลาการ หรือข้าราชการ
โดยให้ผลการลงประชามติของคนส่วนใหญ่เป็นเด็ดขาด
ให้ออกก็ให้ออกไม่ให้ออกก็อยู่ต่อ

6.กฏหมายที่ออกโดยคนที่ประชาชนไม่ได้เลือก
ไม่ถือว่าเป็นกฏหมาย
และทหารหรือประชาชนที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร
มีโทษเท่ากับพวกทำรัฐประหาร
ไม่ว่าทหารยศแค่ไหน
อ้างว่าทำตามคำสั่งก็โดนโทษเท่ากัน
เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างทำตามคำสั่งที่ผิดกฏหมาย
โทษพวกที่ทำรัฐประหาร ติดคุกสถานเดียว
รธน.กฏหมายอะไรของคณะรัฐประหารถือเป็นโมฆะหมด
รับรองได้ไม่มีใครกล้าทำรัฐประหารในอนาคตแน่ๆ
ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ยึดถือกันตามนี้

หมายเหตุ
จะเห็นว่าทุกปัญหา
จะกลับไปถามประชาชนโดยการลงประชามติ
แม้จะเสียเงินมากหน่อยแต่แก้ปัญหาได้ดีกว่าตีกันไม่เลิก
เสียเงินมากกว่าอีกและอนาคตอาจโหวตลงประชามติ
ผ่านมือถือโทรศัพท์บ้านได้
ถ้าการลงประชามติครั้งนั้น
ทั้งฝ่ายเสนอและคัดค้านเรื่องอะไรเห็นชอบด้วย
เพราะเป็นเรื่องไม่หนักหนาอะไร
เพื่อประหยัดเงินการทำประชามติ
มีคณะกรรมการตรวจโปรแกรมและเปิดเผยข้อมูล
เพื่อความโปร่งใส

ถ้าทำได้จะหมดปัญหาไปเยอะ
แต่ก็มีขวากหนามเยอะคงทำไม่ได้ง่ายๆ
เมื่อมันเป็นประเทศใหม่ในฝัน
สิ่งที่เสนอก็คงเป็นเพียงความฝัน
แต่มันมีทางออกทุกปัญหา
ให้กลับไปถามประชาชน
ทุกเรื่องที่ถกเถียงขัดแย้งกันไม่สิ้นสุด
หรือต่างคนต่างถือว่าเสียงส่วนใหญ่หนุนตนเอง
ก็ไปลงประชามติเรื่องนั้นๆ
ก็จะทราบผลว่าคนส่วนใหญ่จริงๆ
ว่าเรื่องนั้นๆ คิดยังไง
ที่ให้ 50,000 รายชื่อยื่น
ก็เพื่อไม่ให้ตีรวนแกล้งกันง่ายๆ
ถ้าคน 50,000 รายชื่อ
หรือมายืนกันค่อนหรือเต็มสนามหลวง
ก็ควรรีบหาทางทำประชามติในเรื่องนั้น
เช่น สมมุติตอนนี้เขาไม่เห็นด้วย
ที่ตั้งนายกษิตเป็น รมต.ต่างประเทศ
ก็ทำประชามติ
ถ้ารัฐบาลยังดึงดันว่าจะหนุนนายกษิตเป็นต่อ
ผลออกมายังไงก็ให้เป็นไปตามนั้น
หรือกรณีการกู้เงินจำนวนมากๆ
ซึ่งมีผลผูกพันธ์ ถึงอนาคตของประชาชนทั้งประเทศ
ที่จะต้องมารับกรรม
กับการโดนรีดภาษีเพิ่มทั้งทางตรงและทางอ้อม
เพื่อไปใช้หนี้ในอนาคต
รวมไปถึงนโยบายพรรคการเมืองขัดแย้งกันในเรื่องนี้
เพราะบางพรรคอาจไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้
เพราะจะสร้างหนี้แล้วอนาคตเขาอาจมาเป็นรัฐบาล
แล้วเขาทำงานไม่ได้ต้องมาตามใช้หนี้
ก็ให้มีการทำประชามติ
โดยมีการดีเบตกันผ่านสื่อต่างๆ
ทั้งฝ่ายเห็นด้วยไม่เห็นด้วย อย่างเท่าเทียมกัน
ผลออกมาเป็นยังไง
ให้ถือปฏิบัติตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน
เป็นต้น
จะได้ไม่ต้องมาเถียงกันไปเถียงกันมาไม่สิ้นสุด
และทำอะไรไม่เห็นหัวประชาชน
หรือนานๆ ไปแล้ว
อาจทำอะไรนึกว่าเสียงส่วนใหญ่ยังหนุนอยู่
การทำประชามติในเรื่องที่ขัดแย้งกัน
จะเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
ทั้งปัจจุบันและอนาคตอย่างสันติวิธี

โดย มาหาอะไร

------------------------------------------------

นักศึกษา-แรงงาน เสนอการเมืองใหม่ที่เป็นอิสระจาก "พันธมิตร" ปฏิรูปเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ
Mon, 2008-09-29 04:18

วันที่ 28ก.ย.51 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ร่วมกับสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล และกลุ่มประกายไฟ ออกแถลงการณ์ว่าด้วยการเมืองใหม่ต้องเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง ระบบลูกขุน ลดงบประมาณทหาร และสร้างรัฐสวัสดิการ โดยกำหนดจะมีการรณรงค์แจกใบปลิวและสร้างเวทีพูดคุยกับประชาชนทั่วไปเกี่ยว กับการเมืองใหม่ของภาคประชาชนครั้งแรกที่สวนจตุจักร วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม 2551 เวลา 11.00 น.

0000

แถลงการณ์
"การเมืองใหม่ต้องเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง ระบบลูกขุน
ลดงบประมาณทหาร และสร้างรัฐสวัสดิการ"
ณ อนุสรณ์สถาน ญาติวีรชน 14 ตุลา
วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน 2551

ด้วย สถานการณ์ทางการเมืองโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เสนอ "การเมืองใหม่" โดยอ้างว่าเป็นผู้จุดประกายการปฏิรูปการเมืองผ่าทางตัน "การเมืองแบบเก่า" ที่เต็มไปด้วยนักการเมืองซื้อเสียง การคอร์รัปชั่น

กลุ่ม พันธมิตรฯ ไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็น "เจ้าภาพ" เพื่อการสร้างประชาธิปไตย เพราะการเคลื่อนไหวและเป้าหมายของกลุ่มพันธมิตรฯที่ผ่านมาล้วนลดบทบาทและไม่ เชื่อมั่นในอำนาจและความคิดของประชาชนคนธรรมดา ไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอ นายกฯพระราชทาน , การเลือกตั้งผสมการสรรหา (เมื่อสังคมไม่ตอบรับก็เปลี่ยนมาเป็นเลือกตั้งทั้งหมดแต่มาจากสาขาอาชีพ ครึ่งหนึ่ง) ดังนั้น "การเมืองใหม่" ของกลุ่มพันธมิตรจึงเป็นแค่เพียงการเมืองใหม่ (สูตรโบราณ) เท่านั้น

ความ พยายามเสนอโครงการทางการเมืองออกมาอย่างเป็นรูปธรรมของกลุ่มพันธมิตรฯ เฉพาะหน้าเป็นไปเพื่อเป้าหมายทำลายศัตรูทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้มีข้อเสนอเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมอย่างแท้จริง ไม่มีอุดมการณ์ที่จะสร้างการเมืองใหม่ที่แท้จริงแต่อย่างใด

กลุ่ม พันธมิตรฯ ไม่ได้เป็นคนกลุ่มแรกที่พยายามเสนอการเมืองใหม่ เพราะการปฏิรูปสังคม-การเมือง เป็นสิ่งที่ภาคประชาชนพยายามเสนอและผลักดันให้เป็นจริงตลอดมา ที่ชัดเจนที่สุดคือข้อเสนอจากเวทีสมัชชาสังคมไทยเดือนตุลาคม พ.ศ. 2549 ที่ พูดถึงการสร้างความเข้มแข็งให้ขบวนการภาคประชาชน เพิ่มอำนาจประชาชนคนธรรมดา ลดอำนาจรัฐ ตัวอย่างข้อเสนอที่ก้าวหน้าได้แก่ การลดงบประมาณกองทัพ การเสนอให้มีการเลือกตั้งได้จากสถานที่ทำงาน การเสนอระบบลูกขุนและการสร้างรัฐสวัสดิการ เป็นต้น

สหภาพ แรงงาน นักศึกษา ประชาชนและองค์กรแนวร่วมในฐานะที่เป็นองค์กรภาคประชาชนเล็งเห็นว่าเราต้อง ปฏิรูปสังคมที่เป็นอิสระจากพันธมิตรฯ จึงควรมี ข้อเสนอโครงการทางการเมืองของเราเอง จากการประชุมปรึกษาหารือกัน เพื่อนำเสนอต่อสังคมและจัดกิจกรรมรณรงค์ที่เป็นอิสระจากทั้งฝ่ายพันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและฝ่ายรัฐบาล เพื่อให้เกิดการปฏิรูปสังคมการเมืองที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนคน ธรรมดาจริงๆ ดังต่อไปนี้

1. การปฏิรูประบบการเมือง

1.1 สนับสนุนให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงจากประชาชน ต้องยกเลิกสมาชิกวุฒิสภา อันเนื่องมาจากมีความซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น โดยสมาชิกสภาต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทั้งหมด

1.2 ต้องลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคของการรวมตัวตั้งพรรคการเมืองของประชาชน เช่น ไม่จำเป็นต้องมีการจดทะเบียน มีสาขาพรรค และจำนวนสมาชิกตามที่กำหนด

1.3 เน้นการเลือกตั้งเขตเดียวเบอร์เดียว จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแปรตามจำนวนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งตามสถานที่ทำงาน เพื่อให้แรงงานสามารถมีผู้แทนของตนเองในพื้นที่ที่ทำงานได้

2. การกระจายอำนาจ

ยก เลิกการปกครองส่วนภูมิภาคที่เน้นการรวมศูนย์จากส่วนกลาง แต่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนปกครองตนเองผ่านการปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างสมบูรณ์

3. ปฏิรูประบบศาล

3.1 ต้อง ลดอำนาจของศาลที่มีอยู่เดิม อันเนื่องมาจากผู้พิพากษาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เราเสนอให้ใช้ระบบลูกขุนที่มาจากการประชาชนธรรมดามาแทนผู้พิพากษาในระบบ ราชการแบบเดิม

3.2 ยกเลิกโทษประหารชีวิต ซึ่งเป็นรูปแบบของการลงโทษที่ป่าเถื่อนและไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาจริง

3.3 ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งเป็นกฎหมายที่ล้าหลังและคลั่งชาติ


4. ปฏิรูปกองทัพ

4.1 ต้องลดงบประมาณของกองทัพ เพราะประเทศไทยไม่ได้อยู่ในสภาวะสงคราม ดังนั้นไม่จำเป็นต้องนำงบประมาณจำนวนมากไปใช้สำหรับการส่งเสริมแสนยานุภาพ ของกองทัพ

4.2 เสนอให้ย้ายค่ายทหารออกจากเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อใช้พื้นที่ดังกล่าวสำหรับสร้างสวนสาธารณะ และศูนย์ฝึกอาชีพให้แก่คนจน


5. ปฏิรูประบบโครงสร้างภาษี

ต้อง ยกเลิกภาษีทางอ้อม (VAT) ที่เก็บจากประชาชนธรรมดา และต้องเก็บภาษีทางตรง ภาษีที่ดิน ภาษีมรดกในอัตราก้าวหน้าจากคนรวยและอภิสิทธิ์ชนซึ่งมีจำนวนมากในประเทศไทย มาใช้เพื่อสร้างสวัสดิการให้แก่คนจน


6. รัฐสวัสดิการ

6.1 ต้อง มีการปฏิรูปที่ดินที่รวมศูนย์อยู่กับนายทุนไม่กี่คนให้แก่ คนจน และเกษตรกร ที่ปราศจากที่ดินหรือมีที่ดินทำกินไม่เพียงพอซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

6.2 ต้องสร้างรัฐสวัสดิการ ซึ่งหมายความถึง ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการการรักษาพยาบาล การศึกษา และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพในราคาถูกหรือฟรี

6.3 ต้องยกเลิกกฎหมายห้ามทำแท้งเสรี โดยรัฐจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งสามารถทำได้ อย่างถูกกฎหมายและมีมาตรฐานทางการแพทย์เพื่อความปลอดภัย
6.4 ต้องมีการขยายมาตรการ 6 เดือนของรัฐบาล เช่น รถเมล์ ค่าน้ำ ค่าไฟฟรี ให้มากกว่าเป็นแค่มาตรการเฉพาะหน้า โดยต้องยกระดับการให้บริการการขนส่งมวลชน การไฟฟ้า ประปา และอื่นๆ ให้มีคุณภาพและมีราคาถูกที่สุด

6.5 ยกเลิกแรงงานนอกระบบ และการเอาเปรียบแบ่งแยกแรงงานข้ามชาติ โดยผู้ใช้แรงงานทุกคนต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานเหมือนกันทั่ว ประเทศ

กิจกรรม

1. จะมีการรณรงค์แจกใบปลิวและสร้างเวทีพูดคุยกับประชาชนทั่วไป และขบวนการภาคประชาชนอื่นๆเกี่ยวกับการเมืองใหม่ของภาคประชาชน โดยกิจกรรมแรกของพวกเรา คือ แจกใบปลิวและให้ข้อมูลประชาชนที่สวนจตุจักร วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม 2551 เวลา 11.00 น.


ลงชื่อ

1. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)
2. สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล
3. กลุ่มประกายไฟ

http://www.prachatai.com/journal/2008/09/18350

-----------------------------------------------------

หัวข้อ: ไขปริศนา...เกมรบ.-พันธมิตร "รัฐซ้อนรัฐ"กับดักประชาธิปไตย
เริ่มหัวข้อโดย: แก่น ที่ สิงหาคม 31, 2008, 05:11:17 PM

ไขปริศนา...เกมรบ.-พันธมิตร "รัฐซ้อนรัฐ"กับดักประชาธิปไตย

สัมภาษณ์ โดย อริน เจียจันทร์พงษ์, หทัยรัตน์ พหลทัพ
ที่มา - รศ.ดร.ประทุมพร วัชรเสถียร อาจารย์พิเศษประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ "มติชน" ถึงการสร้างการเมืองใหม่และแนวทางการรุกรบของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ภายหลังการปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล

- การเมืองไทยในรอบ 76 ปีที่มีประชาธิปไตยถือว่ามีปัญหาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะช่วงนี้ เราควรปรับหรือตกแต่งให้หน้าตาประชาธิปไตยไทยให้ดีกว่านี้หรือไม่ หรือมีโมเดลใหม่ที่น่าสนใจเพื่อพัฒนาการเมืองไทยได้หรือไม่

เวลาจะพูดโมเดล ส่วนตัวจะไม่ตะกละตะกลามหรือไม่มองโลกในแง่ดี เพราะปัจจุบันดิฉันยอมถือโมเดลที่เป็นเบสิคประชาธิปไตย นั่นคือ ประชาชนต้องมีความรู้ดีมาก เพราะประชาธิปไตย รากของมันมาจากรากหญ้า ปัจจัยที่สองจะต้องมีการเลือกตั้ง การแต่งตั้งอาจจะมีได้ แต่ขอให้น้อยที่สุด เพราะการเลือกตั้งอย่างน้อยที่สุดมันได้อารมณ์ของการตัดสินใจ ตรงกันข้ามกับการแต่งตั้งที่มาจากข้อสรุปของคนเพียงกลุ่มเดียวหรือคนกลุ่มเล็ก ที่แม้จะมีเจตนาดีที่ต้องการเลือกคนมาเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ แต่ตอนนี้บ้านเรามีปัญหาเรื่องภาวะการตัดสินใจของคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง (Voters) ที่ถือว่าตกอยู่ใต้อิทธิพลของผู้ปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ดิฉันจึงอยากให้ปลุกปล้ำเพื่อหาโหวตเตอร์ชนิดใหม่ เราจำเป็นต้องอัดฉีดให้เขามีการศึกษา เพราะประชาธิปไตยบ้านเราอยู่ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสำคัญที่สุด

- โมเดลการเมืองใหม่ของพันธมิตรที่ต้องการให้ ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง 30 และแต่งตั้งอีก 70 จะถือเป็นโมเดลใหม่ที่สร้างความหวังใหม่ได้หรือไม่

ถ้ามองด้านเดียวอาจจะใช่ อย่างที่พันธมิตรบอก เพราะการเลือกตั้งสมัยนี้คนดีๆ ก็ไม่สามารถมาเล่นการเมืองแบบนี้ได้ หรือบางทีอาจจะมีเงินไม่พอให้กับการซื้อเสียง แต่ดิฉันไม่เชื่อว่าแนวทางแบบนี้จะเป็นทางเลือกที่ดี เพราะหากพิจารณาในส่วน 30 ดิฉันไม่ติดใจ จะติดใจก็เฉพาะส่วน 70 ที่มาจากการแต่งตั้ง ตรงนี้ขอบอกเลยว่าไม่มีทางที่จะทำให้เราเชื่อใจได้ว่าคนที่เข้ามาจะได้รับการเลือกสรรมาเป็นอย่างดี ทั้งจากคนเลือกและคนถูกเลือก พันธมิตรต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่คนในประเทศเข้าใจว่าพันธมิตรทุกคนหรือคิดว่าพันธมิตรทำอะไรไม่มีความผิด และไม่ใช่ทุกคนที่จะบอกว่าสิ่งนี้มันถูกต้องหรือมันเป็นประชาธิปไตยที่ดีแล้ว เพราะการขึ้นเวทีหรือวิธีการของพันธมิตรที่จะสร้างทางเลือกการปกครองขึ้นมามันมีเป็นจุดโหว่หลายจุดที่สร้างความไม่แน่ใจ

- แต่การเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลด้วยการล้อมทำเนียบ เพื่อให้รัฐบาลลาออกและสร้างการเมืองใหม่ถือเป็นทางตันทางการเมือง จะมีทางออกอย่างไร

เราเข้าใจจุดประสงค์และประโยชน์ของการที่มีพันธมิตร แต่การเป่านกหวีดแล้วไปยึดทำเนียบ มันขัดกับความเชื่อของพันธมิตรหรืออย่างน้อยที่สุด ก็ขัดกับสิ่งที่พันธมิตรได้เทศนาออกมา มันผิดทั้งรัฐธรรมนูญและผิดกับระบอบประชาธิปไตย นอกจากนั้น ยังทำให้คนจำนวนหนึ่งที่พอจะรู้เรื่องการเมืองอยู่บ้าง รู้สึกตะขิดตะขวงใจว่าการเปลี่ยนแปลงของพันธมิตร มันไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงอยากจะเสนอว่าถ้าเหตุการณ์บานปลายไปถึงขั้นเผชิญหน้า รัฐบาลอาจจะจัดลงประชามติเป็นการด่วนเลยว่าประชาชนทั้งประเทศจะเอาพันธมิตรหรือไม่

พันธมิตรต้องเข้าใจว่าประชาธิปไตยไม่ใช่การตามใจตัวเอง ประชาธิปไตยมันเป็นของที่ต้องใช้เวลา ไม่เช่นนั้นก็ต้องมีการเลือกตั้งทุกวัน หากคุณไม่พอใจ แม้ตอนนี้รัฐบาลจะทำงานไม่ดี หากพันธมิตรเห็นจุดนั้นก็ต้องสะท้อนออกมา ไม่ใช่ไปจาบจ้วงดึงอำนาจแล้วบอกให้ออกไป เพราะวิธีที่จะต้องจัดการกับฝ่ายรัฐบาลต้องเป็นไปตามกลไก การพยายามสร้างความรุนแรงชวนให้คิดว่าพันธมิตรกำลังจะใช้เครื่องมือแบบนี้เพื่อแก้ไขปัญหาตามความคิดของแกนนำพันธมิตรบางคน ซึ่งมันชวนให้สงสัยเช่นนั้น

- การเผชิญหน้าและการวัดกำลังกันของคนสองฝ่ายในสถานการณ์ขณะนี้ จะสามารถก้าวพ้นไปได้อย่างไร

ถือเป็นเรื่องแปลก เพราะประเทศระดับเดียวกับเรา มีประเทศเดียวที่กำลังมีปัญหา แม้ประเทศอื่นจะไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม แต่ปัญหาเขาเป็นคนละรูปแบบกับเรา เพราะตอนนี้บ้านเราตกอยู่ในรูปแบบรัฐซ้อนรัฐ ซ้ำยังไม่เห็นชายฝั่งว่าจะออกในรูปไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่พันธมิตรบอกว่าหากเอารัฐบาลสมัครออกไม่ได้จะไม่ยอมยุติการชุมนุม อันนี้ทำให้มองได้ว่าเป็นความต้องการขั้นเด็ดขาด

ความจริงพันธมิตรน่าจะเล่นบทการเมืองซ้อนการเมือง แต่เวลานี้กลับพาสถานการณ์ให้อยู่ในรูปแบบรัฐบาลซ้อนรัฐบาล แม้ว่าจะเห็นด้วยกับเหตุผลที่มีพันธมิตรและแนวทางการต่อสู้ของพันธมิตร แต่ด้วยวิธีการแล้วเราจะให้อำนาจพันธมิตรขู่รุกราน หรือว่าไปล้อมทำเนียบจนกระทั่งคุณสมัครต้องลาออก ตรงนี้จะเป็นการฆ่าตัวตายทางด้านประชาธิปไตย ทั้งที่ความจริงพันธมิตรต้องการประชาธิปไตย อันนี้ไม่ได้ (เสียงสูง)

- บรรดาประเทศที่อยู่ในช่วงพัฒนาประชาธิปไตยและมีปัญหาเกี่ยวกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เขาก้าวพ้นปัญหานั้นได้อย่างไร

เราอาจจะมองอินเดีย ส่วนตัวคิดว่าเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะประเทศเขาก็จน มีประชากรมาก มีสภาพร้ายกว่าเรา แต่เมื่อมองการศึกษาของอินเดีย เนื้อหาอาจจะดีกว่า เพราะเป็นระบบของอังกฤษ คนยากคนจนก็พูดภาษาอังกฤษจึงสามารถทำงานติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศได้ อย่างไรก็ตาม อินเดียก็มีคนจนประมาณ 1 กว่าล้านคน ฉะนั้น ประเด็นนี้จึงไม่น่าจะไม่เอื้อกับประชาธิปไตย แต่อินเดียกับเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก และไม่มีการปฏิวัติโดยทหาร อันนี้แปลกมาก จริงอยู่มีการปฏิวัติในสภา หรือมีนักการเมืองคอร์รัปชั่นหรืออะไรก็ตาม แต่ก็ไม่มีการปฏิวัติโดยทหาร ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะทหารของเขาเป็นระบบอังกฤษจึงรู้บทบาท ถือเป็นระบบที่ดีมาจากอังกฤษ ส่วนตัวก็ไม่รู้ว่าอังกฤษวางอย่างไร

สิ่งที่สามารถก้าวข้ามได้ อย่างหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาหาผู้สมัครมาลงการเลือกตั้งดี ไม่ว่าผู้มีสิทธิจะเป็นอย่างไร แต่เลือกไปแล้วมักได้คนดี ส่วนของเราคนดีเขาไม่กล้าลง เพราะกลัวเจ็บ ประกอบกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ ที่สำคัญคนลงสมัครกับพรรคการเมืองในประเทศไทยก็ไม่มีคุณภาพเท่าอินเดีย ทั้งที่อินเดียมีประชาธิปไตยมาได้แค่ 61 ปี เท่ากับการประกาศเอกราชจากประเทศอังกฤษเท่านั้น
ที่มา มติชนรายวัน

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pol01300851&sectionid=0133&day=2008-08-30

-------------------------------------------------------------

กรุงเทพธุรกิจ
มองมุมใหม่ : ประชาธิปไตยกับอภิชนาธิปไตย

ในความเชื่อของพวก อภิชนาธิปไตย (aristocracy) นั้น เชื่อว่าระบอบการปกครองที่ดีนั้น จะต้องมาจากคนที่มีความสามารถ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่สมควรมีสิทธิในการปกครองเท่านั้น โดยเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ไม่สามารถหาคนที่มีความรู้ความสามารถมาปกครองประเทศได้อย่างแท้จริง ดังนั้น ในความคิดของพวกอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้ จึงต้องการให้คนกลุ่มน้อยที่มีความสามารถเข้ามาปกครองประเทศ บางคนเลยเถิดไปถึงกับเสนอให้มีระบบ "การเมืองใหม่" ที่เสนอสูตรผสมของผู้เข้าสู่อำนาจในสัดส่วน 70:30 กล่าวคือ เพิ่มกระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นร้อยละ 70 และลดที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งโดยวิธีการเลือกตั้งลงเหลือร้อยละ 30 ซึ่งจะเห็นได้ว่าข้อเรียกร้องของบุคคลที่อ้างว่า ทำเพื่อ "ประชาธิปไตย" แต่กลับมีข้อเรียกร้องในเชิง "อภิชนาธิปไตย" เช่นนี้

คำว่าประชาธิปไตย มาจากคำว่า democracy ซึ่ง demos มาจากคำว่า people หรือประชาชน และคำว่า kratein มาจากคำว่า to rule หรือปกครอง กล่าวโดยสรุป คือ democracy หรือประชาธิปไตย แปลว่า การปกครองโดยประชาชน (rule by people) หรืออาจกล่าวได้ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (popular sovereignty) นั่นเอง

ความหมายของประชาธิปไตยนั้น นอกเหนือจากนิยามที่ทราบโดยทั่วไป ว่า "เป็นรูปแบบการปกครองแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และมีสิทธิ อำนาจ และโอกาสในการเข้าควบคุมกิจการทางการเมืองของชาติ" แล้ว ยังหมายความรวมถึงปรัชญาของสังคมมนุษย์ หรือวิถีชีวิตที่ยึดถืออุดมคติ หรือหลักการที่กำหนดพฤติกรรมระหว่างมนุษย์ในสังคม ในกิจการทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม คือ

1) การเมือง ประชาชนแต่ละคนมีส่วนในการกำหนดนโยบายในการปกครองประเทศ ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

2) เศรษฐกิจ ประชาชนมีเสรีภาพในการประกอบการทางเศรษฐกิจ หรือให้บุคคลได้รับหลักประกันในการดำเนินการทางเศรษฐกิจ หรือทางเศรษฐกิจที่ตนเองได้ลงแรงไป

3) สังคม ประชาชนได้รับความยุติธรรมในสังคม ไม่มีการกีดกันระหว่างชนชั้น กลุ่มชน หรือความแตกต่างใดๆ หรือเกิดระบบอภิสิทธิ์ชนหรือระบบอุปถัมภ์

4) วัฒนธรรม ส่งเสริมค่านิยม แบบแผน หรือประเพณีที่ยึดมั่นในหลักการประนีประนอม การใช้เหตุผล การยอมรับนับถือคุณค่าและศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ มีความเข้าใจและเห็นประโยชน์ในการร่วมมือกันเพื่อส่วนรวม โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนเพียงฝ่ายเดียว รวมทั้งการยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่ชอบธรรมและเหมาะสมกับกาลสมัย ตลอดจนให้ความสำคัญกับสมาชิกที่อยู่ในสังคมเดียวกัน

ประชาธิปไตยจึงมีความหมายทั้งในรูปแบบการปกครอง และปรัชญาในการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนรวม รัฐบาลที่เกิดขึ้นจึงเป็นเสมือนเครื่องมือในการช่วยให้ประชาชนได้บรรลุจุดหมายปลายทา
งของสังคม นั่นคือ ความผาสุกของประชาชนทั้งปวง ซึ่งหมายถึง

1) เสรีภาพ ที่บุคคลมีและใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสอดคล้องกับหลักการเรื่องความมั่นคง ความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และสวัสดิการของส่วนรวม

2) โอกาส ที่บุคคลจะสามารถดำเนินกิจการต่างๆ ตามความต้องการ ทุกคนจะได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ในการที่จะพัฒนาศักยภาพต่างๆ ตามความสามารถของตนเอง

3) ความเจริญ ที่บุคคลมีโอกาสพัฒนาตัวเอง มีความเจริญก้าวหน้าทั้งในด้านสติปัญญา ความสามารถและบุคลิกภาพของแต่ละคน ศักดิ์และสิทธิในการปกครองประเทศ หรือการมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจปกครองตนเอง

จากหลักการเบื้องต้นของประชาธิปไตยที่ผมกล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นหลักการสากลไม่ว่าจะอยู่ที่ใดของโลก ไม่จำเพาะว่าจะต้องเป็นประชาธิปไตยแบบฝรั่งหรือประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ผู้คนชอบอ้างเข้าข้างตนเอง เมื่อต้องการออกนอกลู่นอกทางของหลักการประชาธิปไตย

ดังนั้น การที่พวกอภิสิทธิ์ชนที่ต้องการให้คนกลุ่มน้อยที่เชื่อว่ามีความสามารถเหนือประชาชนธรรมดาสามัญเข้ามาปกครองประเทศ จึงขัดต่อหลักความเสมอภาค เพราะเท่ากับการไม่ยอมรับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดต่อสภาพอันแท้จริงของมนุษย์

ในบางครั้งการปกครองแบบประชาธิปไตย อาจไม่สามารถคัดเลือกคนที่มีความสามารถเข้ามาปกครองประเทศได้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่การที่ให้บุคคลซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน นำความต้องการของประชาชนมาใช้ได้ ย่อมดีกว่าการที่ได้คนดีมีความสามารถแต่ใช้ความสามารถนั้นหาประโยชน์เข้าสู่ตัวเอง โดยไม่ฟังเสียงของประชาชน

พวกอภิชนาธิปไตยมักชอบอ้างว่า มนุษย์โดยทั่วไปนั้นไม่มีความรู้ความสามารถ ไม่มีความเข้าใจและไม่ทราบความต้องการของตัวเอง ฉะนั้นประชาธิปไตยหรือการปกครองโดยประชาชนจึงเป็นการปกครองที่ไม่มีประโยชน์ เพราะประชาชนเป็นกลุ่มคนที่ไร้คุณภาพ ไม่สมควรที่จะมาปกครองประเทศ คนที่ดีที่เหมาะสมที่จะมาปกครองประเทศก็คือชนชั้นนำ

ซึ่งแนวความคิดของพวกอภิชนาธิปไตยนี้กล่าวได้ว่าไม่ตรงกับความจริงสักเท่าใด เพราะในแต่ละประเทศก็มีคนที่มีความรู้ความสามารถอยู่ทั่วไป และคนต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นบุคคลธรรมดาที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน และทำให้ประชาธิปไตยสามารถดำเนินไปด้วยดี ในทางปฏิบัติระบอบอภิชนาธิปไตยกลับสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศมาหลายประเทศ อาทิเช่น ญี่ปุ่น หรือเยอรมนี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้น

ในหลายครั้งเราอาจได้ยินข้อกล่าวหาที่ว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ไม่มีประสิทธิภาพ ล่าช้า ไม่รวดเร็ว ซึ่งก็อาจจะเป็นความจริงอยู่บ้าง เพราะกระบวนการของประชาธิปไตยต้องอาศัยความเห็นชอบ ต้องศึกษาความต้องการและรับฟังเสียงต่างๆ จากประชาชน แต่ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่มีความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ ตรงข้ามกับระบอบอภิชนาธิปไตยหรือเผด็จการ ซึ่งอาจจะสัมฤทธิผลต่างๆ ในเวลาอันสั้น แต่ความก้าวหน้าต่างๆ นั้นไม่ยั่งยืน อาทิเช่น อาณาจักรไรซ์ของเยอรมนี สามารถคงอยู่ได้เพียง 6-7 ปี ส่วนประเทศอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกาที่ยึดถือประชาธิปไตยเป็นหลักยังคงมีความก้าวหน้าอ
ยู่อย่างสม่ำเสมอ แม้แต่เยอรมนีหรือญี่ปุ่นที่เปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีความเจริญก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัด

ประวัติศาสตร์สอนเรามาโดยตลอด แต่หลายคนไม่รู้จักเข็ดหลาบ กลับพยายามหมุนเข็มนาฬิกากลับไปอยู่ยุคดึกดำบรรพ์ที่มีอภิสิทธิ์ชนไม่กี่กลุ่มนำพาประเทศไปพบจุดจบอันน่าอเนจอนาถ

กรุงโรมไม่สามารถสร้างเสร็จได้ภายในวันเดียว ฉันใด ระบอบการเมืองไทย ก็ย่อมไม่อาจแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่มักง่ายด้วยการให้คนเพียงไม่กี่กลุ่มปกครองประเทศ โดยไม่ฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ก็ฉันนั้น

ชำนาญ จันทร์เรือง
วันพุธที่ 02 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

-------------------------------------------------

แถลงการณ์ ฉบับที่ 20/2551
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
เรื่อง
“การเมืองใหม่”

ตาม ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เคลื่อนไหวชุมนุมอย่างต่อเนื่องเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญมิให้นำมาแก้ไข เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกความผิดของตัวเองและพวกพ้อง โค่นล้มระบอบทักษิณ ขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิด ตลอดจนสร้างการเมืองใหม่ให้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทยนั้น

เพื่อความเป็นเอกภาพและความชัดเจนในการเคลื่อนไหวของการชุมนุม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงขอประกาศให้ทราบถึงทิศทางการเมืองใหม่ในราชอาณาจักรไทยดังนี้

1.การเมืองในปัจจุบันเป็นระบบการเมืองอุบาทว์ ถูกผูกขาดโดยนักเลือกตั้งในพื้นที่เขตเลือกตั้งและนายทุน ที่ยังคงเต็มไปด้วยปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ทุจริตการเลือกตั้ง ใช้อิทธิพลและระบบอุปถัมภ์ในท้องถิ่นเพื่อข่มขู่ประชาชน อีกทั้งยังใช้อำนาจรัฐและอำนาจเงิน เพื่อให้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งทุกวิถีทาง บนความอ่อนแอและฉ้อฉลของคณะกรรมการการเลือกตั้งบางคนที่ไม่สามารถทำให้การ เลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริตเที่ยงธรรม และไม่สามารถยับยั้งนักการเมืองเข้าสู่อำนาจในการปกครองบ้านเมืองได้ทันท่วง ที

เมื่อการเลือกตั้งเต็มไปด้วยการทุจริตฉ้อฉลและใช้เงินเป็นตัวตั้ง ทำให้การเมืองไทยกลายเป็น “ธนาธิปไตย” เกิดการตอบแทนบุญคุณต่อนายทุนของพรรคการเมือง รัฐบาลซึ่งประกอบไปด้วยพรรคการเมืองที่ฉ้อฉล จึงมุ่งแต่จะทุจริตคอร์รัปชั่น กระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง ทรยศต่อคำถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำได้แม้กระทั่งขายชาติขายแผ่นดิน ดังตัวอย่างที่รัฐบาลชุดนี้ได้กระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญตามคำวินิจฉัยของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการลงนามร่วมเพื่อยกปราสาทพระวิหารให้ประเทศกัมพูชา นำไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง อีกทั้งยังอาศัยกลไกทางรัฐสภาในการยกมือสนับสนุนนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่ เป็นพวกพ้องที่ทุจริตอย่างไร้จริยธรรม และกลายเป็นระบอบเผด็จการรัฐสภาแห่งทุนนิยมสามานย์ในที่สุด

เมื่อนักการเมืองส่วนใหญ่ในระบบปัจจุบันมุ่งแต่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและ พวกพ้อง จึงทำให้กลไกการตรวจสอบทั้งจากกระบวนการยุติธรรม สื่อสารมวลชน และประชาชน ต้องถูกทำร้าย ทำลาย และคุกคามทุกรูปแบบจากระบบการเมืองอุบาทว์ในปัจจุบัน

กระบวนการยุติธรรมถูกทำร้ายและทำลายด้วยการโยกย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้อง กับกระบวนการยุติธรรมให้เป็นคนของตัวเองและพวกพ้อง ฝ่ายบริหารสมคบกับฝ่ายนิติบัญญัติร่วมมือกันแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจ ฝ่ายตรวจสอบและฝ่ายตุลาการ ในขณะที่นักการเมืองที่ฉ้อฉลเข้าทำการเสนออามิสสินจ้างให้กับศาลสถิต ยุติธรรม สื่อสารมวลชนถูกแทรกแซง และปิดกั้น ประชาชนที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาลกลับถูกทำ ร้ายร่างกายและถูกทำลายทรัพย์สินโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและอันธพาลของรัฐบาล ทั้งหมดนี้คือการทำลายกระบวนการตรวจสอบในประเทศชาติเพื่อกลบเกลื่อนความชั่ว ร้ายของนักการเมือง และถึงขั้นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เพื่อ รวบอำนาจให้กับการเมืองอุบาทว์อย่างเบ็ดเสร็จ

แม้จะมีการลาออกของนักการเมืองหรือการยุบสภา หากไม่ได้มีการปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง การเมืองไทยก็จะวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์เช่นนี้ไม่รู้จบสิ้น

เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงเห็นว่าเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเมืองใหม่ในราชอาณาจักรไทย

2.การเมืองใหม่ในราชอาณาจักรไทย คือ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายดังนี้

2.1 สนับสนุนให้คนดีมาปกครองบ้านเมือง ป้องกันไม่ให้คนไม่ดีมีอำนาจ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมทุกภาคส่วน ทั้งในด้าน เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

2.2 ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมือง การเมืองใหม่จะไม่จำกัดอยู่เพียงนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งในพื้นที่ เท่านั้น แต่จะยังเปิดกว้างให้ภาคประชาชนที่หลากหลาย ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองทุกระดับ เช่น ผู้แทนจากกลุ่มวิชาชีพต่างๆ ผู้แทนจากภาคประชาชนที่หลากหลาย ผู้แทนจากภาคสังคมที่แตกต่าง ฯลฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับการออกแบบรัฐธรรมนูญร่วมกันของประชาชนทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อให้เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง

3.เพื่อบรรลุเป้าหมายในการทำให้เกิดการเมืองใหม่ในราชอาณาจักรไทย พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงขอประกาศจุดยืนดังต่อไปนี้

3.1 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เห็นว่าต้องขับไล่รัฐบาลอันธพาลหุ่นเชิดขายชาติชุดนี้ให้พ้นจากตำแหน่งโดย เร็วที่สุด และไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะเจรจากับกลุ่มใดก็ตามที่ไม่ยืนอยู่บนหลักการดังกล่าว

3.2 เราพร้อมสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองในปัจจุบัน บนเงื่อนไขที่จะต้องปฏิรูปการเมืองโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และพร้อมที่จะสะสางปัญหาความเลวร้ายของระบอบทักษิณด้วยกระบวนการยุติธรรมและ ความจริงใจ

อนึ่ง การนำเสนอบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ผ่านมา เช่น เรื่องจำนวน ผู้แทนประชาชนต่อผู้แทนตามพื้นที่ในสัดส่วน 70 : 30 นั้น ขอทำความเข้าใจอีกครั้งหนึ่งว่า เป็นเพียงการยกตัวอย่างรูปแบบการลดสัดส่วนการเมืองเก่าที่อุบาทว์และล้มเหลว เพื่อจุดประกายสำหรับระดมความคิดเห็นในสังคม ไม่ได้เป็นสูตรตายตัวแต่ประการใด เราพร้อมรับการแสดงความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันออกแบบการเมืองใหม่ และยึดถือเสียงส่วนใหญ่ในสังคมมาเป็นแนวทางในการออกแบบการเมืองใหม่ให้มี ศีลธรรม จริยธรรม และมีสัดส่วนที่หลากหลายกว่าในปัจจุบัน เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต จารีตประเพณี วัฒนธรรมของสังคมไทย โดยยังคงความเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสืบไป

ด้วยจิตคารวะ

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ.2551
ณ ทำเนียบรัฐบาล

-----------------------------------------------------------