บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


13 กรกฎาคม 2552

<<< ถามว่า ทำไมพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งจึงฟีเวอร์ >>>

พันธบัตรฟีเวอร์ เอาใจคนแก่ เพิ่มวงเงิน3หมื่นล.
* โดย ไทยรัฐออนไลน์
* 13 กรกฎาคม 2552, 09:00 น.

" กรณ์ จาติกวณิช" สุดปลื้มผู้สูงอายุแห่เข้าคิวจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งแน่นทั้ง 7 แบงก์ สั่งตัดวงเงินรอบสุดท้าย เพิ่มวงเงินเอาใจคนแก่ 15,000 ล้าน เหลือให้ซื้อลอตสุดท้ายเพียง 5,000 ล้าน

วันนี้ (13 ก.ค.) นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเล็งเห็นถึงความสนใจการจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง ของผู้สูงอายุ ที่มีค่อนข้างสูง จึงเพิ่มสัดส่วนให้ผู้สูงอายุอีก 15,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาท โดยเป็นยอดที่ตัดมาจากวงเงินจำหน่ายในรอบสุดท้าย ที่จะเหลือให้จองซื้อเพียง 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ธนาคารทั้ง 7 แห่งรับทราบและรับไปดำเนินการ คาดว่า ผู้สูงอายุจะมีโอกาสในการจองซื้อมากขึ้น หลังจากต้องมายืนรอเข้าคิวกันตั้งแต่เช้ามืด อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังไม่มีนโยบายเพิ่มวงเงิน ยังคงที่ 50,000 ล้านเช่นเดิม ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตุธนาคารกักตุนไว้สำหรับลูกค้านั้น ยังไม่ได้รับรายงาน แต่หากมีการกักตุนจริง เชื่อว่า คงมีการจำหน่ายหมดไปตั้งแต่ก่อนเปิดให้จองซื้อ

นอกจากนี้ รมว.คลัง ยังกล่าวถึงเงิน 50,000 ล้านจากขายพันธบัตร โดยระบุจะนำเงินส่วนไปใช้หนี้เงินคงคลัง และสำรองเผื่อไว้สำหรับการลงทุนในโครงการต่างๆ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังเปิดจำหน่ายหรือเปิดให้จองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ ไทยเข้มแข็งของกระทรวงการ คลัง วงเงิน 50,000 ล้านบาท อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4% ต่อปี โดยจะเปิดจำหน่ายทั้งหมด 3 รอบ รอบแรกจำหน่ายวันที่ 13-14 ก.ค. วงเงิน 15,000 ล้านบาท เปิดให้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจองซื้อได้ตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 1 ล้านบาท รอบที่ 2 เปิดขายวันที่ 15-16 ก.ค. วงเงิน 15,000 ล้านบาท ไม่จำกัดอายุผู้จองซื้อ โดยซื้อได้ตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 1 ล้านบาท รอบสุดท้ายระหว่างวันที่ 17, 21-22 ก.ค. วงเงิน 20,000 ล้านบาท เปิดกว้างให้แก่ประชาชนทั่วไปและไม่จำกัดวงเงินการซื้อ โดยประชาชนสามารถไปจองซื้อพันธบัตรได้ทุกสาขาของธนาคารที่เป็นผู้แทนจำหน่าย 7 แห่ง คือธนาคารกรุงเทพ ได้รับวงเงินจำหน่ายพันธบัตร 11,800 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทย 10,100 ล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ 8,700 ล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย 7,800 ล้านบาท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 4,500 ล้านบาท ธนาคารทหารไทย 3,800 ล้านบาทและธนาคารนครหลวงไทย 3,200 ล้านบาท

---------------------------------------------------

ถามว่า ทำไมพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งจึงฟีเวอร์
ก็คงตอบว่าเป็นเพราะให้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4% ต่อปี
ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
ณ วันจันทร์ที่ 13 กรกฏาคม พ.ศ. 2552
เป็นแบบนี้

เงินฝาก อัตราดอกเบี้ย (%)
สะสมทรัพย์ 0.50
กระแสรายวัน 0.00
ประจำ 3 เดือน 0.75
ประจำ 6 เดือน * 1.00
ประจำ 12 เดือน * 1.00
ประจำ 24 เดือน 1.25
ที่มา : http://www.bangkokbank.com/Bangkok+Bank+Thai/main.htm

จะเห็นได้ว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากตอนนี้ต่ำมาก
คนที่เกษียณอายุและอาศัยดอกเบี้ยเงินฝาก
มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันคงไม่พอแน่ๆ
ถ้าไม่มีรายได้ทางอื่นอีก
ก็คงต้องถอนเงินต้นออกมาใช้เรื่อยๆ จนหมด
จึงไม่ต้องแปลกใจ
ถ้าคนพอมีเงินฝากจะแห่กันไปซื้อ
ถ้าเป็นผู้สูงอายุที่อาศัยดอกเบี้ยเพื่อยังชีพ
ก็น่าจะชอบใจ และก็น่าส่งเสริม
แต่ดูๆ แล้วอาจโดนคนมีเงิน
มาแย่งซื้อไปหมดก่อนก็ได้
เพราะให้ธนาคารเป็นคนจำหน่าย
เขาก็ต้องกันให้ลูกค้าชั้นดีของเขาบ้างไม่มากก็น้อย
ยิ่งใช้การกระจายโดยแบ่งเค้กให้แต่ละธนาคารไม่เท่ากัน
มันก็บ่งบอกอยู่แล้วว่า
จะต้องมีการนำไปให้ลูกค้าชั้นดีของแต่ละธนาคาร
เพราะไม่เช่นนั้นทำไมต้องแบ่งไม่เท่ากัน
ในเมื่อจุดประสงค์ต้องการขายพันธบัตรให้หมด
โดยให้ผู้สูงอายุทั่วไปมีสิทธิซื้อ
ไม่ใช่เฉพาะผู้สูงอายุลูกค้าแต่ละธนาคาร
เป็นคนซื้อเท่านั้น
และทำไมกระทรวงการคลังไม่ทำเอง
จะได้ไม่ต้องแบ่งเค้กให้แต่ละธนาคาร
ถ้าบอกว่ากลัวขายไม่หมด
ก็แสดงว่าไม่เข้าใจจริงๆ ว่า
คนมีเงินเขาต้องโยกเงิน
ไปยังจุดที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากัน

ระหว่าง 4% กับ 0.5-1.25%
น่าจะโยกเงินไปที่ไหนมากกว่ากัน
จึงไม่จำเป็นต้องปลื้มอกปลื้มใจอะไรกันหนักหนา

ส่วนกรณีที่คนทั่วไปหวังว่า
พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง
จะทำให้ไทยเข้มแข็งตามชื่อ
หรือทำให้เกิดการสร้างงานกระจายรายได้อะไรเพิ่มขึ้น
คงเข้าใจผิด ถ้าเห็นคำอธิบายของ รมว.คลัง ดังนี้

"นอกจากนี้ รมว.คลัง
ยังกล่าวถึงเงิน 50,000 ล้านจากขายพันธบัตร
โดยระบุจะนำเงินส่วนไปใช้หนี้เงินคงคลัง
และสำรองเผื่อไว้สำหรับการลงทุนในโครงการต่างๆ
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ"

แปลไทยเป็นไทยก็คงแปลได้ว่า
ตอนนี้ฐานะการคลังของประเทศไทย
ออกอาการขาดสภาพคล่องอย่างหนัก
มีหนี้ไม่กี่หมื่นล้านบาท
ถึงขนาดต้องรีบออกพันธบัตร
เพื่อนำไปใช้หนี้
ซึ่งก็คงมีบางงวดถึงกำหนดในช่วงนี้
แต่ไม่มีเงินจะไปจ่ายว่ากันยังงั้น
เพราะวงเงินไม่กี่หมื่นล้าน
คงไม่ได้เอาไปชำระหนี้ทั้งหมดแน่ๆ
ส่วนที่พูดว่าที่เหลือสำรองไว้
สำหรับอะไรที่สรรหาคำพูดอันสวยหรูมาพูดให้ฟัง
แต่จริงๆ แล้วเงินที่เหลือจากเอาไปชำระหนี้
จะเหลือกี่หมื่นล้านบาทจากห้าหมื่นล้านบาท
ที่ออกพันธบัตรมาขายในงวดนี้
แล้วมันจะพอไปลงทุนโครงการอะไรเพิ่ม
พอจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจอะไร
แถมงบลงทุนมันต้องมีแผนงาน
ผ่านการกลั่นกรองวุ่นวาย
ผมว่าที่จริงคงอยากจะพูดว่า
เก็บสำรองไว้เผื่องบลงทุน
โครงการที่สภาอนุมัติงบประมาณไปแล้วงวดก่อน
ถ้าไม่มีเงินพอทำก็เอาเงินที่สำรองไว้
ไปโปะเพิ่มอะไรประมาณนั้น

สรุปก็คือเป็นการแก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ
สำหรับช่วงที่ฐานะการคลังไม่เข้มแข็ง
และถ้าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นในปลายปีนี้
เดี๋ยวก็มีกลืนคำที่ว่า

"อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังไม่มีนโยบายเพิ่มวงเงิน
ยังคงที่ 50,000 ล้านเช่นเดิม "


คำกล่าวข้างบน
คงหมายถึงเฉพาะงวดนี้เวลานี้เท่านั้น
ผ่านไปอีกไม่กี่เดือน เกิดขาดสภาพคล่องอีก
ก็คงมาออกพันธบัตร
ดูดสภาพคล่องออกจากระบบอีกตามเคย

โดย มาหาอะไร