บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


20 กรกฎาคม 2552

<<< ข้อเท็จจริงที่ควรรู้ เรื่อง ดาวเทียมไทยคม กับ BOI, FTA, Exim Bank >>>

สาระสนเท่ห์
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ทักษิณ ชินวัตร และ ชินคอร์ป
6. กรณีไทยคมกับ BOI, FTA, Exim Bank | 10.03.06

BOI

  1. ตามที่กล่าวหา BOI ว่าช่วยเหลือพิเศษต่อชินแซท ข้อเท็จจริงมีดังนี้

  2. ปกติ BOI ส่งเสริมให้บริษัทไทยและต่างประเทศลงทุนในประเทศในโครงการต่างๆจำนวนมากโดยเหตุผลหลายประการ รวมถึง เพื่อให้แข่งขันต่างประเทศได้ดีขึ้น เพื่อการส่งออก การสร้างรายได้จากต่างประเทศ (เป็นรายได้ที่ไม่ได้มาจากในประเทศอยู่แล้ว) ด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือภาษีอื่นๆ และสิทธิพิเศษอื่นๆ

  3. ปกติบริษัทโทรคมนาคมไทย ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้จาก BOI เพราะไม่ได้สร้างรายได้จากต่างประเทศ

  4. กรณี BOI ให้การส่งเสริม ดาวเทียมไทยคมของบริษัทชินแซท

    • ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของรายได้จากต่างประเทศของ ไทยคม 3 และ ไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) เป็นเวลา 8 ปี (แต่ไม่ยกเว้นภาษีกรณีรายได้จากในประเทศ) เนื่องจากไทยคมมีรายได้ปนกันทั้งจากไทยและต่างประเทศ เป็นการส่งเสริมการลงทุน การส่งออก การแข่งขันบริการดาวเทียมกับต่างประเทศ
    • รายได้ของไทยคมยังเสียค่าสัมปทานทั้งหมด (ปัจจุบัน 15% ของรายได้ อนาคตเป็น 20-25%)
    • ไทยคม-3 ได้ BOI ปี 40, ไอพีสตาร์ได้ BOI ตามเหตุผลเดียวกัน ตั้งแต่ปี 46 (จะมีผลในปี 49 เมื่อมีรายได้จากต่างประเทศ ไทยคม1-2 ไม่ได้ BOI เพราะรายได้ต่างประเทศไม่มากพอ (ไม่ใช่ได้ BOI ทุกดวง)
    • ในสามสี่ปีแรกหลังยิงดาวเทียม จะได้ประโยชน์จากการยกเว้นภาษีน้อย โดยเฉพาะกรณี ไอพีสตาร์ เพราะต้นทุนและค่าเสื่อมสูงมาก ทำให้ยังไม่กำไร ไม่มีภาษีเงินได้อยู่แล้ว และรายได้ส่วนใหญ่มาจากในประเทศ จะได้ประโยชน์เพียงปีหลังๆ
  5. กรณีตัวอย่าง ดาวเทียมเอเชียแซทของฮ่องกง คู่แข่งรายสำคัญของไทยคมในภูมิภาค

    • ไม่เสียภาษีจากรายได้นอกประเทศฮ่องกงอยู่แล้ว เป็นมาตรฐาน ไม่ต้องขอยกเว้นหรือส่งเสริมใดๆ
    • รายได้ในประเทศฮ่องกง เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตรา 17.5% (ของไทยเสีย 30% และต้องเสียทั้งรายได้จากไทยและจากนอกไทย หากไม่ได้ BOI)
    • ไม่มีค่าสัมปทาน (ไทยคมเสีย 15-25% ของรายได้ ขณะที่หากต่างชาติมาขายในตลาดไทยไม่ต้องเสียค่าสัมปทาน เป็นการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมอยู่ในขณะนี้ และไม่เห็นเป็นการส่งเสริมสมบัติของชาติเลย)
    • ไม่ต้องยกทรัพย์สินและดาวเทียมให้รัฐ ทำให้ทำธุรกิจง่าย ต้นทุนต่ำกว่า (ไทยคมต้องยกให้รัฐ ดูข้างล่าง)
    • ฮ่องกงเป็นประเทศปลอดภาษีนำเข้าอุปกรณ์ทุกอย่าง ต้นทุนถูกกว่ามาก (ของไทยเสีย 5%-25%)
  6. ไทยคมยังต้องยกทรัพย์สินและดาวเทียมให้รัฐ ทำให้ทำธุรกิจยาก ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น เช่น ทรัพย์สินค้ำเงินกู้ผู้เอาประโยชน์การประกันภัย กลายเป็นรัฐ จะขายทรัพย์สินดาวเทียมทำได้ยาก เพราะยกให้รัฐแล้ว ฯลฯ

    • ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ต้องยกทรัพย์สินให้รัฐ (Build -Transfer – Operate: BTO) เป็นทางออกให้เอกชนลงทุนโทรคมนาคม ภายใต้กฎหมายเก่า พ.ร.บ. องค์การโทรศัพท์2497 และ พ.ร.บ. การสื่อสาร2519
  7. ไทยคมเจอต้นทุนแฝงพวกนี้สูงกว่าดาวเทียมต่างชาติมาก การยกเว้นภาษี 8 ปีแค่ช่วยปรับชดเชยต้นทุนแฝงให้ใกล้กันกับคู่แข่งต่างชาติได้บ้าง แต่ยังไม่ดีกว่า (คล้ายกับว่า เสียเปรียบอยู่ 100% เหลือ 50%) ช่วยการแข่งขันได้บ้าง อย่าลืมว่า ดาวเทียมเป็นธุรกิจนานาชาติไร้พรมแดนมาก ยิ่งวันยิ่งเปิดเสรียิ่งขึ้นเรื่อยๆ

  8. ประเทศไทยมีผู้ส่งออกสินค้าเทคโนโลยีของตนเองน้อยรายมาก ไอพีสตาร์เป็นการฉีกแนวจากที่เคยมีแต่การส่งออกอยู่แต่แถวๆ ข้าวและมันสำปะหลัง ไก่ต้มสุก กุ้งแกะเปลือก หรือแค่ค่าแรงโรงงานรับประกอบวงจรให้ต่างชาติ คำถามคือ ประเทศไทยจะส่งเสริมการพัฒนาและส่งออกสินค้าไฮเทคไหม?

  9. มาเลเซียมี Multimedia Super Corridor (MSC) ที่ให้ผลประโยชน์ด้านภาษี ที่ดิน ทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) การส่งเสริมการตลาด แรงงาน มีเขตพิเศษ Cyberjaya มีเครือข่ายไอทีและโทรคมพิเศษให้ มีบริษัทชื่อดังของโลกเช่น Microsystems, Microsoft, Shell, NTT & DHL ไปลงทุน ทำวิจัย พัฒนา ผลิต สอน ฯลฯ

    • ของไทยก็มีการส่งเสริมที่ดี แต่ปัญหาคือการเมืองบ้านเราบ่อนทำลายกันเองมาก โดยปรักปรำไม่เป็นความจริง คนอื่นมุ่งค้าขาย เรามัวแต่ทะเลาะกัน

ตอบ สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิช แห่ง TDRI เรื่อง BOI

คำเบิกความ นักวิจัย TDRI คดี “ชิน vs สุภิญญา” ชี้ปมผลประโยชน์ทับซ้อน

มติชน 31 สิงหาคม 2548 หน้า 2

เป็นการเบิกความของนายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิช นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศ [sic] (ทีดีอาร์ไอ) ต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ในคดีที่กลุ่มบริษัทในเครือชินคอร์ป เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ เป็นจำเลย ฐานหมิ่นประมาท

กรณีการส่งเสริมการลงทุนดาวเทียมไอพีสตาร์

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2546 ซึ่งเป็นปีที่สามของรัฐบาลทักษิณ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน)บีโอไอ( ได้มีมติส่งเสริมการลงทุนโครงการดาวเทียม “ไอพีสตาร์ “ของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ ซึ่งให้บริการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยให้การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เฉพาะรายได้ที่ได้รับจากต่างประเทศ เป็นระยะเวลาถึง 8 ปี หรือเทียบเท่ากับสิทธิประโยชน์สูงสุดที่บีโอไอให้กับนักลงทุนที่ลงทุนในเขต 3 ซึ่งเป็นเขตท้องที่ห่างไกล มูลค่าเม็ดเงินที่บริษัทชินแซทเทลไลท์ได้รับการยกเว้นภาษีนี้สูงถึง 16,459 ล้านบาท

ตอบ:

  • มาตรา 31 ของ BOI กำหนดว่า การยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุดไม่เกินวงเงินที่ลงทุน คือ 16,549 ล้านบาท ใน 8 ปี เป็นแค่ขอบเขตสูงสุด ไม่ใช่การได้ประโยชน์เม็ดเงินลดภาษีตามจำนวนนั้น ยังไม่รู้อนาคต
  • ลองคำนวณว่า สมมติอัตรากำไรก่อนภาษี = 20% อัตราภาษี = 30% ของกำไร เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการยกเว้นภาษี 16,459 ล้านบาท แสดงว่าไอพีสตาร์ต้องมียอดขายรวมในช่วง 8 ปี = 2.75 แสนล้านบาท เฉลี่ย 6.9 หมื่นล้านบาท/ปี หากปีที่มีกำไร = 4 ปี
  • วันนี้ ชินแซทมีรายได้จากดาวเทียมไทยคมทั้งหมดราว 4 พันล้านบาท/ปี นั่นคือรายได้นี้ต้องโตอีก 20 เท่าในไม่กี่ปีข้างหน้า เป็นสถานการณ์สุดขั้ว มีโอกาสเกิดแต่ยากมาก ผู้พูดไม่รู้เรื่องอย่างยิ่งหรือปรักปรำมั่วให้ดูรุนแรง ขอเชิญให้ลองมาทำมาหากิน ค้าขายดูด้วยตัวเอง
วิเคราะห์ผลประโยชน์จากการยกเว้นภาษาที่ได้ส่งเสริมโดย BOI

ล้านบาท
หากให้ได้เม็ดเงินยกเว้นภาษี16,549
ที่อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 30% จะต้องได้กำไรสุทธิ55,163
หากกำไรสุทธิคิดเป็นประมาณ 20% ของยอดขาย จะต้องได้ยอดขาย275,817
จำนวนปีที่มีกำไร 4 ปีเฉลี่ยจะต้องได้ยอดขายต่อปี68,954

การส่งเสริมการลงทุนนี้ทำให้ผู้ถือหุ้นของชินแซทเทลไลท์ ได้ประโยชน์อย่างมาก อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมหลายประการกล่าวคือ

หนึ่ง การส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอไม่มีผลโน้มน้าวให้เกิดการลงทุนใดๆ เพิ่มขึ้น เพราะบริษัทได้ตัดสินใจลงทุนไปแล้ว

ตอบ:

  • พูดไม่รู้หลักการอย่างยิ่ง เพราะ BOI เป็นเรื่องนโยบายและกฎหมายของประเทศ หากประเทศไทยมีนโยบายดี ก็โน้มน้าวดึงดูดการลงทุนเข้ามามาก จากทั้งไทยและเทศ การให้สิทธิ BOI มี กฎหมาย ระเบียบการ คุณสมบัติ ต่างๆเป็นมาตรฐาน เหมือนการเข้าจดทะเบียนขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ทุกคนมีสิทธิ์ไปขอ หากใครมีคุณสมบัติถูกต้องก็จะได้รับอนุมัติ ไม่ใช่ BOI หรือตลาดหลักทรัพย์เลือกอนุมัติเป็นกรณีตามอำเภอใจ
  • ลงทุนไปแล้วไปทำให้เข้าคุณสมบัติ ค่อยไปขอ BOI อนุมัติหรือเข้าตลาดก็ได้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าต้องได้ BOI อนุมัติหรือ เข้าตลาดก่อนค่อยตัดสินใจลงทุน คนละคอนเซ็ปเลย

สอง ดาวเทียมไอพีสตาร์ มีประสิทธิภาพดีกว่าดาวเทียมแบบเดิมถึง 30 เท่า ซึ่งหมายความว่า ไอพีสตาร์สามารถแข่งขันกับคู่แข่งจากประเทศอื่นๆ ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่ามากอยู่แล้ว การได้รับการส่งเสริมการลงทุนจึงไม่มีความจำเป็นเลย

ตอบ:

  • แปลว่าหากของมันดีไม่ต้องส่งเสริม เพราะขายได้อยู่แล้ว? แสดงว่าปรัชญาคือให้ส่งเสริมของไม่ดี ที่แข่งขันสู้ใครไม่ได้? (เหมือนกับว่า อย่าไปส่งเสริมคนเก่ง ต้องสร้างภาระ แต่ไปอุ้มสนับสนุนคนไม่เก่ง? ควรจะเป็นว่ายิ่งเก่งต้องยิ่งเสริมไหม)
  • การส่งเสริมที่ได้ เพียงเพื่อทำให้ชดเชยต้นทุนแฝง เมื่อเทียบกับต่างชาติ ไม่เกี่ยวกับว่าถูกกว่าอยู่แล้ว ขายได้อยู่แล้ว
  • ดาวเทียมไอพีสตาร์มีปริมาณช่องสัญญาณมากขึ้น 20 เท่าของดาวเทียมปัจจุบัน แต่เงินลงทุนก็ใช้มากขึ้นมาก (1.6 หมื่นล้านเป็นเพียงเงินลงทุนขั้นต้น) ผลคือ ทำให้ต้นทุนดิบต่ำกว่าของเดิมราว 5-10 เท่าแล้วแต่การใช้งาน ไม่ใช่ 30 เท่า
  • การที่มีปริมาณช่องสัญญาณมาก (1) ก็ต้องใช้เวลาขายนานกว่าจะใช้งานเต็ม ก็ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยจริงสูงขึ้น เพราะมีส่วนที่ยังขายไม่ได้ ไม่ก่อรายได้อีกพักใหญ่ บางพื้นที่อาจขายไม่ได้ (2) เพื่อขายให้ได้มากๆเร็วๆ ก็ต้องขายถูกลง (หลักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป ราคาลด คนซื้อเพิ่ม) ส่วนต่างกำไรลด
  • ดาวเทียมไอพีสตาร์ให้บริการบอร์ดแบนด์ (1) ต้องไปแข่งกับสายภาคพื้นดินเช่น เอดีเอสแอล (ADSL) ซึ่งมีราคาถูก ราว 500-1000 บาทต่อเดือน ราคาจึงต้องต่ำมากใกล้กับ ADSL ไม่ ใช่แข่งแค่ดาวเทียมกันเอง (2) ไม่ใช่แค่ให้เช่าช่องสัญญาณ แต่ต้องลงทุนอุปกรณ์ลูกข่ายด้วย ซึ่งต้องลงอีกหลายหมื่นล้านบาท กว่าจะได้มาซึ่งรายได้ อาจต้องใช้พันธมิตรในแต่ละประเทศช่วยลงทุน (จะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ลูกข่ายราว 1 ล้านชุด ชุดละราว 3-4 หมื่นบาท)

สาม ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุนคือผู้ใช้ต่างชาติ และผู้ถือหุ้นเท่านั้น โดยประชาชนไทยไม่ได้ประโยชน์แต่อย่างใด

ตอบ:

  • การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดาวเทียม เป็นลักษณะ “การประหยัดจากขนาด” (Economies of Scale) ซึ่งยิ่งมีขนาดใหญ่ ต้นทุนต่อหน่วยยิ่งต่ำลง เป็นหลักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปในการพัฒนาสินค้า แข่งขันและให้ประโยชน์ต่อผู้บริโภค การที่ไอพีสตาร์มีขนาดใหญ่ การที่ต่างชาติใช้มาก ก็จะทำให้ส่วนที่คนไทยใช้ถูกลงไปด้วย เพราะต้นทุนจะไปถัวเฉลี่ยกันทั้งหมดในปริมาณที่ใหญ่กว่ามาก (ไทย ~ 10% ต่างชาติ 90% เป็นกรณี ต่างชาติอุ้มไทย ไม่ใช่ไทยอุ้มต่างชาติ)
  • BOI ยกเว้นภาษีเงินได้ไปหลายแสนล้านบาท ตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา ให้กับบริษัทไทยและเทศเป็นพันๆบริษัท เป็นผลให้เกิดการลงทุน จ้างงานคนและบริษัทท้องถิ่น สร้างรายได้ภาษีต่างๆมากมาย เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจหลายล้านๆบาท ผู้พูดจบวิชาอะไรมา เศรษฐศาสตร์หรือไม่ ถึงพูดได้ผิดประเด็นเช่นนี้
สรุป

นายสมเกียรติ หากไม่รู้เรื่องโดยสุจริตใจ ก็บิดเบือนปรักปรำอย่างยิ่ง ไม่ควรเป็นนักวิชาการนักโจมตีทางการเมืองเช่นนี้ และนี่คือตัวอย่างของการโจมตีแบบบิดเบือนปรักปรำสุดโต่งอีกจำนวนมากในสังคม ของเราตอนนี้ ที่อาศัยกระแส อ้างสิทธิสื่อและเสรีภาพในการพูด โดยไม่รับผิดชอบต่อความถูกต้องของเนื้อหา และการหมิ่นประมาทละเมิดสิทธิผู้อื่น และฉวยโอกาสความซับซ้อนของเนื้อหาที่เข้าใจยากสำหรับประชาชน กลายเป็นเข้าใจผิดว่าโกงไปกันใหญ่ นำประเทศสู่วิกฤตทางการเมืองอย่างตอนนี้

FTA

  1. ตามที่กล่าวหาว่า รัฐบาลไทยเจรจา FTA เพื่อช่วยชินแซท ข้อเท็จจริงคือ

  2. จนบัดนี้ ชินแซทยังไม่เคยได้รับผลประโยชน์ใดๆเป็นกรณีพิเศษจาก FTA ของรัฐบาลไทย

    • เช่น ในปี 2548 ยอดขายของชินแซทในออสเตรเลียมีน้อยกว่า 1 ล้านเหรียญ (40 ล้านบาท) จากยอดรวมกว่า 4,000 ล้านบาท (~1%) น้อยมาก ทั้งที่มี FTA ตั้งแต่ 46 เพราะไม่มีสิทธิพิเศษต่อชินแซทดังที่กล่าวหา
  3. รายละเอียด FTA ไทย-ออสเตรเลีย ตุลาคม 2546 ส่วนโทรคมนาคม:

    Communications services: Australia will not impose quotas on the number of satellite and mobile phone services and will permit unlimited Thai interest in Optus and Vodafone, but no commitment has been made on ownership by Thai nationals of Telstra.

    ออสเตรเลียจะไม่จำกัดโควตาของปริมาณบริการดาวเทียมและมือถือ และจะไม่จำกัดการถือหุ้นของไทยในบริษัท Optus และ Vodafone แต่จะไม่ผูกมัดในการให้ถือหุ้นโดยคนไทยในบริษัท Telstra

    อ่านเผินๆดูเหมือนช่วยอะไรพิเศษ ข้อเท็จจริงคือ ออสเตรเลียไม่เคยจำกัดโควตาบริการดาวเทียมและมือถือกับประเทศใดอยู่แล้ว และไม่ได้พูดเจาะจงว่าการไม่จำกัดโควตานี้ทำให้ไทย

    • บริษัท Optus และ Vodafone มีต่างชาติถือหุ้น100% การบอกไม่จำกัดโควตาให้ไทยไม่มีประโยชน์อันใด เพราะให้ต่างชาติถือหุ้นได้เต็มที่ตามสะดวกอยู่แล้วและต้องไปเจรจาเอาเอง
    • รัฐบาลออสเตรเลียเป็นเจ้าของ Telstra การกล่าวถึงนี้ ออสเตรเลียไม่ได้เสนออะไรพิเศษแก่ไทยเลย
    • บริษัททั้งสามมีมูลค่ามหาศาล เช่น Telstra มีมูลค่าในตลาดราว 2.8 ล้านล้านบาท ใหญ่เกินกว่าที่บริษัทไทยจะไปซื้อหรือลงทุนใน Telstra (เอไอเอสของไทยใหญ่สุดแล้ว ราวสามแสนล้านบาท เล็กกว่ามาก)
    • ที่มีรายการนี้ปรากฏใน FTA ทั้งที่ไม่เป็น ประโยชน์ต่อฝ่ายไทย เพราะปกติฝ่ายประเทศคู่เจรจาจะขึ้นรายการที่เขาเปิดเสรีอยู่แล้วมาเป็น รายการแรกๆ (ให้กับทุกประเทศที่เจรจาด้วย) เพื่อให้ดูเหมือนยอมให้เรามาก เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปิดรับการค้าและลงทุนโทรคมนาคมจากต่างชาติ 100% อยู่แล้ว

EXIM Bank

  1. ตามที่กล่าวหาว่า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของไทย (Exim Bank) ช่วยเหลือชินแซทโดยให้เงินพม่าเพื่อซื้อของจากชินแซท ข้อเท็จจริงคือ:

    • พม่าซื้อบริการดาวเทียมไทยคมและอุปกรณ์ตั้งแต่ปี 2541 (ตั้งแต่ก่อนรัฐบาลนี้) ทั้งโทรคมนาคมและโทรทัศน์ เกือบทั้งหมดและใช้เทคโนโลยีไอพีสตาร์รุ่นแรกตั้งแต่ปี 2546 โดยไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทย
    • ปี 2546 รัฐบาล กัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนามลงนามร่วมมือกันเรียกว่า “ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แม่น้ำอิรวดี - เจ้าพระยา – แม่โขง” หรือ ACMECS (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy) ของกระทรวงต่างประเทศไทย โดยไทยมีการให้ความช่วยเหลือเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 3% แบบรัฐต่อรัฐ (G2G Soft Loan) แก่ประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศละราว 100 ล้านเหรียญ ในการซื้อสินค้าจากไทย
    • บริษัทโทรคมนาคมของรัฐบาลพม่าได้เปิดประมูลจัดซื้อระบบไฟเบอร์ราว 6 ล้านเหรียญ และอุปกรณ์ดาวเทียมราว 9.5 ล้านเหรียญ (ในที่สุดเลือกไอพีสตาร์) โดยเลือกที่จะใช้เงินกู้นี้เพื่อชำระ (พม่าเป็นผู้ซื้อเป็นผู้เลือกวิธีจ่าย ในอดีตที่ใช้ไทยคมจ่ายจากงบประมาณของรัฐบาลเอง)
    • ลาว เขมร ซื้อไทยคมและไอพีสตาร์ ตั้งแต่ปี 2537-2538 ถึงบัดนี้ โดยไม่เคยใช้เงินกู้ของไทยเพื่อชำระ
  2. ปกติ EXIM Bank มีภารกิจหลักในการสนับสนุนผู้ขายส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ด้วยการให้เงินกู้แก่ผู้ซื้อที่มีเครดิต ถึงแม้จะเป็นเอกชน (ไม่ใช่ภารกิจเอื้อแต่ชินแซท และยิ่งต้องสนับสนุนผู้ซื้อที่เป็นรัฐ)

    • เช่นกรณีชินแซทซื้อดาวเทียมและบริการยิง ไทยคม 1, 2, 3, 4, 5 ก็มี EXIM Bank ของสหรัฐและฝรั่งเศส ให้เงินกู้รวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท
    • กรณีพม่า ในปี 2538 รัฐบาลไทยสมัยนายกบรรหาร เคยให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 120 ล้านเหรียญสหรัฐ (3,000 ล้านบาท ค่าเงินสมัยนั้น เท่ากับ 4,000 ล้านบาท ในปัจจุบัน) เพื่อช่วยรัฐบาลพม่าในการจ่ายเงินค่าก่อสร้างสนามบินมันดะเลให้บริษัทอิตัล ไทย เป็นเรื่องปกติของการช่วยเหลือการเงินแบบรัฐต่อรัฐ (G2G) และส่งเสริมผู้ขายหรือบริษัทในประเทศในการค้าขายต่างประเทศ
    • ปกติ พม่า ลาว เขมร ซื้อสินค้าจากต่างประเทศ โดยรัฐบาลประเทศผู้ขายให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเป็นจำนวนมาก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ของไทยยังน้อย ด้อยในแง่การแข่งขัน (ของไทยคมเพิ่งเคยได้ที่พม่า)
    • กรณีเงินกู้ 3 ประเทศ 12,000 ล้านบาทในครั้งนี้ มีส่วนที่พม่าใช้ซื้อไอพีสตาร์ 380 ล้านบาท หรือเพียง 3%
  3. ปกติเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ควรช่วยบริษัทไทย ที่ผ่านมาตั้งป้อมกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นประเด็นการเมืองแต่ต้น ช่วยน้อยมาก แต่ตอนนี้กลับมาอ้างสมบัติของชาติอีก

    ตัวอย่างโครงการให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ รัฐบาลต่อรัฐบาล G2G ในประเทศเพื่อนบ้าน
    ประเทศผู้ซื้อประเทศผู้ขายประเภทมูลค่า (ล้านบาท)หมายเหตุ
    พม่าจีนโทรคม12,000ไฟเบอร์ มือถือ (Alcatel, Shanghai Bell, ZTE)
    ไทยสนามบิน4,800สมัยนายกบรรหาร มูลค่าสมัยนั้น 3,000 ล้านบาท (อิตัลไทย)
    ไทยACMECS4,000หลายโครงการ (ไอพีสตาร์เพียง 380 ล้านบาท)
    อินเดียโทรคม1,200โทรศัพท์ ระบบ DECT
    เกาหลีโทรคม800
    กัมพูชาไทยACMECS4,000หลายโครงการ (ไม่มีไทยคมหรือไอพีสตาร์)
    จีนโทรคม2,000CDMA ให้บริษัท AZ เอกชนเขมร (หัวเหว่ย)
    ญี่ปุ่นโทรคม1,200ไฟเบอร์
    เกาหลีสารสนเทศ800
    ลาวไทยACMECS4,000หลายโครงการ (ไม่มีไทยคมหรือไอพีสตาร์)
    จีนโทรคม2,000ไฟเบอร์ (Alcatel, Shanghai Bell)
    จีนโทรทัศน์2,000CCTV (ให้แพร่ภาพ CCTV ในลาวด้วย)
    ญี่ปุ่นหลายอย่าง800
    อินเดียโทรคม400
    รวม 3 ประเทศไทยหลายอย่าง12,000หลายโครงการ (ไอพีสตาร์ 380 ล้านบาท คิดเป็น 3%)

    หมายเหตุ: ญี่ปุ่น เกาหลี จีน จะให้ดอกเบี้ยถูกกว่ามากขนาด 0.5% เพื่อผลักดันสินค้าจากประเทศตน

ตอบ สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิช แห่ง TDRI เรื่อง EXIM Bank

จาก มติชน 31 สิงหาคม 2548 หน้า 2:

เมื่อปี 2547 ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า(EXIM Bank) ของประเทศไทย ได้ปล่อยเงินกู้ประมาณ 4,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 12 ปี ในอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษร้อยละ 3 ต่อปี แก่รัฐบาลพม่า ตาม “โครงการเงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรและพัฒนาประเทศพม่า” ตามมติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลทักษิณ จนถึงปลายเดือนสิงหาคม 2547 EXIM Bank ได้อนุมัติโครงการและสัญญาว่าจ้างไปแล้วประมาณ 2,377 ล้านบาท ในจำนวนนี้ ประมาณ 600 ล้านบาท เป็นการปล่อยกู้เพื่อให้กระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคมของพม่า จัดซื้อจัดจ้างระบบอุปกรณ์ดาวเทียมความเร็วสูง เพื่อใช้กับบริการไอพีสตาร์ของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ ในบริการโทรศัพท์ และบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ตามกฎหมายการลงทุนของพม่า ชาวต่างชาติไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดิน ตลอดจนโครงข่ายโทรคมนาคมในพม่าได้ ข้อกำหนดดังกล่าวทำให้การระดมทุนด้านโทรคมนาคมพื้นฐานในพม่าเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากรัฐบาลพม่าไม่สามารถกู้เงินจากต่างประเทศได้ เพราะหากพม่าไม่ชำระหนี้ จะทำให้ผู้ให้กู้จากต่างประเทศต้องยึดโครงข่ายโทรคมนาคมหรือที่ดิน ซึ่งใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นของตนซึ่งเป็นการขัดกับกฎหมาย

ตอบ: พม่าก็เหมือนไทย บริษัทเอกชน พม่าหรือร่วมทุนต่างชาติ สามารถมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโทรคมนาคม (Bagan Cybertech เป็นเอกชนให้บริการ โทรศัพท์ บอร์ดแบนด์ บริการดาวเทียมไอพีสตาร์ Skylink เป็นเอกชนให้บริการ มือถือ) ธนาคาร โรงแรม โรงงาน มีบริษัทไทยไปร่วมทุนหรือลงทุน 100% ในพม่ามากมาย

ประเทศพม่ามีกฎหมายที่ต้อนรับการลงทุนต่างชาติ บางครั้งมากกว่าไทยด้วยซ้ำ ต่างชาติเข้าถือหุ้นหรือธนาคารต่างชาติให้กู้ได้ ถึงแม้ไม่มีประชาธิปไตยหรือการเลือกตั้ง ประเทศพม่ามีระบบเศรษฐกิจ ถึงแม้ไม่ใหญ่เท่าเรา รัฐบาลก็พอมีเงิน ถึงแม้ไม่มากเท่าเรา (ก็เหมือนกับตอนที่บ้านเราถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการทหาร เราก็เคยเป็น ก็มีกฎหมาย มีเศรษฐกิจ)

ทางเดียวที่พม่าจะสามารถลงทุนในการวางโครงสร้างพื้นฐานได้ จึงต้องมาจากการขอสินเชื่อจากซัพพลายเออร์ (supplier credit) ซึ่งรวมถึงชินแซทเทลไลท์ที่ขายอุปกรณ์หรือโครงข่ายการสื่อสารต่างๆ ในพม่าอยู่ก่อนแล้ว ในกรณีที่ไม่มีสินเชื่อจาก EXIM Bank ซัพพลายเออร์เหล่านี้ต้องแบกความเสี่ยงจากการที่จะไม่ได้รับชำระหนี้จากรัฐบาลพม่าที่มีฐานะทางการเงินอ่อนแอด้วยตนเอง

ตอบ: การช่วยเหลือทางการเงินระหว่างรัฐต่อรัฐเป็นเรื่องที่มีกันมากมายทั่วโลก ประเทศผู้ให้กู้มีข้อพิจารณาต่อของรัฐบาลของประเทศผู้รับเงินกู้มากกว่าแค่ เครดิตทางการเงิน เพราะไม่ใช่เป็นธนาคารที่ดูแต่เชิงค้าขายอย่างเดียว แต่ดูปัจจัยการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งการให้ความช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแบบรัฐต่อรัฐ (G2G Soft Loan) ดีทั้งการเมืองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการส่งเสริมการส่งออก ได้สองต่อ เพราะมีรายได้เข้า ประเทศ ด้วย

ส่วนรัฐบาลพม่าไม่ได้มีปัญหาเครดิตทางการเงิน ที่ผ่านมาจ่ายครบถ้วนตลอด ไม่ว่ารัฐหรือเอกชนคู่ค้า เพียงแต่มีเงินน้อยก็ใช้เงินน้อย ไม่ควรไปตีความปรักปรำลอยๆต่อรัฐบาลประเทศอื่นว่าอ่อนแอ เครดิตไม่ดี โจมตีกันเองแบบบิดเบือนปรักปรำก็น่าเกลียดพอแล้ว ไม่ควรส่งออกพฤติกรรมนี้ไปประเทสอื่น

การที่ EXIM Bank ได้ให้สินเชื่อแก่รัฐบาลพม่าในการจัดหาระบบอุปกรณ์ดาวเทียมความเร็วสูง จึงเป็นการโอนถ่ายความเสี่ยงจากชินแซทเทลไลท์มายังกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันความเสี่ยงของ EXIM Bank ตามกฎหมาย (ในกรณีที่ความสูญเสียเกิดจาก EXIM Bank ให้สินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาล) มติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนี้จึงทำให้บริษัทชินแซทเทลไลท์ได้ประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่ปรากฏว่า รัฐบาลไทยได้กำหนดให้รัฐบาลพม่าต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างบริการโทรศัพท์ และบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โดยให้ผู้ประกอบการไทยทุกรายสามารถเข้าแข่งขันอย่างเป็นธรรม ทั้งที่สามารถทำได้ในฐานะเจ้าของเงิน แต่กลับปล่อยให้รัฐบาลพม่ากำหนดว่าต้องเป็นเทคโนโลยีดาวเทียมความเร็วสูง อย่างเดียว

ตอบ: รัฐบาลพม่าเป็นผู้ซื้อของ แล้วเลือกใช้เงินกู้ที่รัฐบาลไทยเสนอให้เป็นวิธีชำระ ไม่ใช่ฝั่งไทยจะไปเปิดประมูลจัดซื้อแทนรัฐบาลพม่า (ยกเว้นไปยกให้ฟรีแบบแกรนท์ (GRANT) ถึงทำเช่นนั้นได้)

สรุป

  1. แต่ละหน่วยงานมีภารกิจ ต้องทำตามภารกิจ สังคมต้องเข้าใจในภารกิจเหล่านี้

    • BOI ใช้มาตรการจูงใจด้านภาษีให้บริษัทไทยเทศ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในไทย
    • Exim Bank ใช้มาตรการด้านเงินกู้ให้บริษัทไทยผู้ส่งออก เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้า
    • SME Bank ใช้มาตรการด้านเงินกู้ให้ผู้ประกอบการรายย่อยไทย เพื่อส่งเสริมให้สร้างงาน จ้างแรงงาน
    • G2G Soft Loan ใช้มาตรการด้านเงินกู้ให้รัฐบาลต่างชาติซื้อสินค้าจากผู้ขายไทย เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้า และการเมือง
  2. นโยบายส่งเสริมของรัฐจะไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ต้องขอก่อนค่อยทำ ทำก่อนค่อยขอก็ได้

    • SET: หากคุณสมบัติบริษัทเข้าข่ายและเหมาะสม เมื่อไปขอเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็จะได้รับอนุมัติ
    • BOI: หากคุณสมบัติบริษัทเข้าข่ายและเหมาะสม เมื่อไปขอส่งเสริม ก็จะได้รับอนุมัติ
    • G2G Soft Loan: หากคุณสมบัติรายการซื้อสินค้าเข้าข่ายและเหมาะสม เมื่อรัฐบาลต่างชาติที่ไทยมีข้อตกลงเงินกู้ ยื่นรายการซื้อสินค้าเพื่อใช้วงเงินกู้ ก็จะได้รับอนุมัติ

http://sanpaworn.vissaventure.com/shin-corp-deal/282/boi-fta-exim-bank

----------------------------------------------------

อ่านรายละเอียดเรื่องอื่นๆ ได้เพิ่มเติมที่นี่
http://shincase.googlepages.com