พระราชบัญญัติล้มละลาย
พุทธศักราช 2483
–––––––––––
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2480)
อาทิตย์ทิพอาภา
พล.อ. พิชเยนทรโยธิน
ตราไว้ ณ วันที่ 30 ธันวาคม พุทธศักราช 2483
เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลปัจจุบัน
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยลักษณะล้มละลายเสียใหม่เพื่อให้เหมาะสมแก่กาลสมัยยิ่งขึ้น
จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า `พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483
มาตรา 2 ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2484 เป็นต้นไป
ให้ใช้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้บังคับ แก่คดีล้มละลายทั้งปวงที่ได้ยื่นต่อศาลตั้งแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่ามูลคดีได้เกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้นั้น และแก่คดีล้มละลายทั้งปวงที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลหรือที่เจ้าพนักงานรักษาทรัพย์
มาตรา 3 ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ในเขตจังหวัดพระนคร จังหวัดธนบุรี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดนนทบุรีและเมื่อเห็นสมควรจะให้ใช้ในเขตจังหวัดอื่นใดเมื่อใด จะได้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา
มาตรา 4 ตั้งแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติล้มละลายรัตนโกสินทรศก 130 พระราชบัญญัติลักษณะล้มละลายแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2470 พระราชบัญญัติลักษณะล้มละลายแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2474 และบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าพนักงาน ออกกฎกระทรวง และจัดวางระเบียบข้อบังคับทางธุรการ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา 6 ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
“เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์” หมายความตลอดถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ปฏิบัติการแทน
“เจ้าพนักงานบังคับคดี” หมายความถึงเจ้าพนักงาน บังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
“เจ้าหนี้มีประกัน” หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วงหรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ
“กระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย” หมายความว่า กระบวนพิจารณาซึ่งบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะกระทำต่อศาลหรือต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตั้งแต่เริ่มคดีจนถึงคดีสิ้นสุด
“พิพากษา” หมายความตลอดถึงการที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีโดยทำเป็นคำสั่ง
“พิทักษ์ทรัพย์” หมายความว่า พิทักษ์ทรัพย์สินไม่ว่าเด็ดขาดหรือชั่วคราว
“มติ” หมายความว่า มติของเจ้าหนี้ฝ่ายที่มีจำนวนหนี้ข้างมาก ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น
“มติพิเศษ” หมายความว่า มติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมากและมีจำนวนหนี้เท่ากับสามในสี่แห่งจำนวนหนี้หมดของเจ้าหนี้ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเอง หรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้ และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น
“บุคคลภายในของลูกหนี้” หมายความว่า
(1) กรรมการ ผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินกิจการ หรือผู้สอบบัญชีของลูกหนี้
(2) ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นเกินจำนวนร้อยละห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการของลูกหนี้
(3) คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของลูกหนี้หรือของบุคคลตาม (1) หรือ (2)
(4) ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ลูกหนี้หรือบุคคลตาม (1) หรือ (2) หรือ (3) เป็นหุ้นส่วน
(5) ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ลูกหนี้หรือบุคคลตาม (1) หรือ (2) หรือ (3) เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด หรือเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดที่มีหุ้นรวมกันเกินร้อยละสามสิบของหุ้นทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนจำกัด
(6) บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ลูกหนี้หรือบุคคลตาม (1) หรือ (2) หรือ (3) หรือห้างหุ้นส่วนตาม (4) หรือ (5) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละสามสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น
(7) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ลูกหนี้หรือบุคคลตาม (1) ถึง (6) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละสามสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น
(8) กรรมการ ผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินกิจการ หรือผู้สอบบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ตาม (4) หรือ (5) หรือ (6) หรือ (7) แล้วแต่กรณี หรือคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าว"
“บุคคลล้มละลายทุจริต” หมายความว่า บุคคลล้มละลายที่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา 163 ถึงมาตรา 170 แห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือเป็นบุคคลล้มละลายอันเนื่องมาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดฐานยักยอกหรือฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
หมวด 1
กระบวนพิจารณาตั้งแต่ขอให้ล้มละลายจนถึงปลดจากล้มละลาย
ส่วนที่ 1
การขอให้ล้มละลายและการสั่งพิทักษ์ทรัพย์
–––––––––––
มาตรา 7 ลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวอาจถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายได้ถ้าลูกหนี้นั้นมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร หรือประกอบธุระกิจในราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยตัวแทนในขณะที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น
มาตรา 8 ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
(1) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินหรือสิทธิจัดการทรัพย์สินของตนให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้ทั้งหลายของตน ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
(2) ถ้าลูกหนี้โอนหรือส่งมอบทรัพย์สินของตนไปโดยการแสดงเจตนาลวงหรือโดยการฉ้อฉล ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
(3) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินของตนหรือก่อให้เกิดทรัพย์สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นเหนือทรัพย์สินนั้น ซึ่งถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะต้องถือว่าเป็นการให้เปรียบ ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
(4) ถ้าลูกหนี้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ เพื่อประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้
ก. ออกไปเสียนอกราชอาณาจักร หรือได้ออกไปก่อนแล้วและคงอยู่นอกราชอาณาจักร
ข. ไปเสียจากเคหะสถานที่เคยอยู่ หรือซ่อนตัวอยู่ในเคหะสถานหรือหลบไป หรือวิธีอื่น หรือปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ
ค. ยักย้ายทรัพย์ไปให้พ้นอำนาจศาล
ง. ยอมตนให้ต้องคำพิพากษาซึ่งบังคับให้ชำระเงินซึ่งตนไม่ควรต้องชำระ
(5) ถ้าลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี หรือไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้
(6) ถ้าลูกหนี้แถลงต่อศาลในคดีใด ๆ ว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
(7) ถ้าลูกหนี้แจ้งให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดของตนทราบว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
(8) ถ้าลูกหนี้เสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป
(9)ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และลูกหนี้ไม่ชำระหนี้
มาตรา 9 เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ
(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคน เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท และ
(3) หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม
มาตรา 10 ภายใต้บังคับมาตรา 9 เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ
(1) มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน และ
(2) กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท
มาตรา 11 เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายไว้ต่อศาลเป็นจำนวนห้าพันบาทในขณะยื่นคำฟ้องคดีล้มละลาย และจะถอนคำฟ้องนั้นไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
มาตรา 12 ถ้ามีคำฟ้องหลายรายให้ลูกหนี้คนเดียวกันล้มละลายก็ดี หรือให้ลูกหนี้ร่วมกันแต่ละคนล้มละลายก็ดีศาลมีอำนาจสั่งให้รวมการพิจารณาได้
มาตรา 13 เมื่อศาลสั่งรับฟ้องคดีล้มละลายไว้แล้ว ให้กำหนดวันนั่งพิจารณาเป็นการด่วน และให้ออกหมายเรียกและส่งสำเนาคำฟ้องไปยังลูกหนี้ให้ทราบก่อนวันนั่งพิจารณาไม่น้อยกว่า 7 วัน
มาตรา 14 ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริง หรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง
มาตรา 15 ตราบใดที่ลูกหนี้ยังมิได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดจะฟ้องลูกหนี้นั้นเป็นคดีล้มละลายอีกก็ได้ แต่เมื่อศาลได้สั่งในคดีหนึ่งคดีใดให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้จำหน่ายคดีล้มละลายซึ่งเจ้าหนี้อื่นฟ้องลูกหนี้คนเดียวกันนั้น
มาตรา 16 เมื่อศาลได้รับฟ้องคดีล้มละลายแล้ว ถ้าเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์มีคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้อง และโจทก์นำสืบได้ว่าลูกหนี้ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
ก. ออกไปหรือกำลังจะออกไปนอกเขตอำนาจศาลหรือได้ออกไปก่อนแล้วและคงอยู่นอกเขตอำนาจศาลโดยเจตนาที่จะป้องกันหรือประวิงมิให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้
ข. ปกปิด ซุกซ่อน โอน ขาย จำหน่าย หรือยักย้ายทรัพย์สิน ดวงตราสมุดบัญชี หรือเอกสาร ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในการดำเนินคดีล้มละลายให้พ้นอำนาจศาล หรือกำลังจะกระทำการดังกล่าวนั้น
ค. กระทำหรือกำลังจะกระทำการฉ้อโกงเจ้าหนี้ หรือกระทำหรือกำลังจะกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งมีโทษตามพระราชบัญญัตินี้
ศาลมีอำนาจสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(1)ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าไปในเคหะสถานหรือที่ทำการของลูกหนี้ระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกเพื่อตรวจสอบทรัพย์สินดวงตรา สมุดบัญชีหรือเอกสารของลูกหนี้ และให้มีอำนาจสอบสวนลูกหนี้หรือออกหมายเรียกลูกหนี้มาสอบสวนได้
(2)ให้ลูกหนี้ให้ประกันจนพอใจศาลว่า ลูกหนี้จะไม่หลบหนีไปนอกอำนาจศาล และจะมาศาลทุกคราวที่ศาลสั่ง ถ้าลูกหนี้ไม่สามารถให้ประกัน ศาลมีอำนาจสั่งขังลูกหนี้ได้มีกำหนดไม่เกินครั้งละหนึ่งเดือน แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินหกเดือน
(3) ออกหมายจับลูกหนี้มาขังไว้จนกว่าศาลจะพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือจนกว่าศาลจะยกฟ้องหรือจนกว่าลูกหนี้จะให้ประกันจนพอใจศาล
มาตรา 17 ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวก็ได้ เมื่อศาลได้รับคำร้องนี้แล้วให้ดำเนินการไต่สวนต่อไปโดยทันทีถ้าศาลเห็นว่าคดีมีมูล ก็ให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราว แต่ก่อนจะสั่งดังว่านี้ จะให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ให้ประกันค่าเสียหายของลูกหนี้ตามจำนวนที่เห็นสมควรก็ได้
มาตรา 18 ถ้าคำสั่งตามมาตรา 16 หรือมาตรา 17 นั้น มีเหตุอันสมควรจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข โดยศาลเห็นเองก็ดีหรือลูกหนี้ได้มีคำขอขึ้นมาก็ดีศาลมีอำนาจถอนคำสั่งนั้นหรือมีคำสั่งอย่างอื่นตามที่เห็นสมควรได้
มาตรา 19 คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ให้ถือเสมือนว่า เป็นหมายของศาลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ายึดดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารของลูกหนี้ และบรรดาทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครองของลูกหนี้ หรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย
ในการยึดทรัพย์นั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ใด ๆ อันเป็นของลูกหนี้ หรือที่ลูกหนี้ได้ครอบครองอยู่ และมีอำนาจหักพังเพื่อเข้าไปในสถานที่นั้น ๆ รวมทั้งเปิดตู้นิรภัย ตู้หรือที่เก็บของอื่น ๆ ตามที่จำเป็น
ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ยึดไว้ตามมาตรานี้ ห้ามมิให้ขายจนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เว้นแต่เป็นของเสียง่าย หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนแห่งค่าของทรัพย์สินนั้น
มาตรา 20 เมื่อศาลเห็นเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีทรัพย์สินของลูกหนี้ซุกซ่อนอยู่ในเรือนโรง เคหะสถาน หรือสถานที่อื่นอันมิใช่เป็นของลูกหนี้ศาลมีอำนาจออกหมายค้นให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือเจ้าพนักงานอื่นของศาล ให้มีอำนาจดำเนินการตามข้อความในหมายนั้น
มาตรา 21 ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ศาลมีอำนาจสั่งให้หน่วยงานหรือผู้ประกอบการเกี่ยวกับไปรษณีย์โทรเลขหรือการสื่อสารอื่นใด ส่งโทรเลข ไปรษณีย์ภัณฑ์ จดหมาย หนังสือ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือข้อมูลทางการสื่อสารอื่นใด ที่มีถึงลูกหนี้ภายในกำหนดเวลาไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ลูกหนี้ถูกสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
มาตรา 22 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ของลูกหนี้แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป
(2) เก็บรวบรวมและรับเงิน หรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้ หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น
(3) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้
มาตรา 23 เมื่อลูกหนี้ได้รับทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วลูกหนี้ต้องส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารอันเกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของตนซึ่งอยู่ในความครอบครองให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทั้งสิ้น
มาตรา 24 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ของลูกหนี้แล้วห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 25 ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้องศาลมีอำนาจงดการพิจารณาคดีแพ่งนั้นไว้ หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้
มาตรา 26 ตราบใดที่ศาลยังมิได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเจ้าหนี้จะฟ้องคดีแพ่งอันเกี่ยวกับหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้นำบทบัญญัติในมาตราก่อนมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 27 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้ว แต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม
มาตรา 28 เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โฆษณาคำสั่งนั้นในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ในคำโฆษณานั้นให้แสดงการขอให้ล้มละลาย วันที่ศาลมีคำสั่งชื่อ ตำบลที่อยู่ และอาชีพของลูกหนี้
ในคำโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น ให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย
มาตรา 29 ถ้าปรากฏภายหลังว่า เจ้าหนี้แกล้งให้ศาลใช้อำนาจดังกล่าวไว้ในมาตรา 16 หรือมาตรา 17 เมื่อลูกหนี้มีคำขอโดยทำเป็นคำร้องศาลมีอำนาจสั่งให้เจ้าหนี้ชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่เห็นสมควรให้ลูกหนี้ในกรณีเช่นนี้หากเจ้าหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ศาลมีอำนาจบังคับเจ้าหนี้นั้นเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
ส่วนที่ 2
คำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้
–––––––––––
มาตรา 30 เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วลูกหนี้ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ลูกหนี้ได้ทราบคำสั่งนั้น ลูกหนี้ต้องไปสาบานตัวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และยื่นคำชี้แจงตามแบบพิมพ์ว่าได้มีหุ้นส่วนกับผู้ใดหรือไม่ ถ้ามีให้ระบุชื่อและตำบลที่อยู่ของห้างหุ้นส่วนและผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด
(2) ภายในเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้ทราบคำสั่งนั้น ลูกหนี้ต้องไปสาบานตัวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแบบพิมพ์ แสดงเหตุผลที่ทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัวสินทรัพย์และหนี้สิน ชื่อ ตำบลที่อยู่ และอาชีพของเจ้าหนี้ ทรัพย์สินที่ได้ให้เป็นประกันแก่เจ้าหนี้และวันที่ได้ให้ทรัพย์สินนั้น ๆ เป็นประกันรายละเอียดแห่งทรัพย์สินอันจะตกได้แก่ตนในภายหน้า ทรัพย์สินของคู่สมรส ตลอดจนทรัพย์สินของบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในความยึดถือของตน
ระยะเวลาตามมาตรานี้ เมื่อมีเหตุผลพิเศษ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจขยายให้ได้ตามสมควร
ถ้าลูกหนี้ไม่อยู่หรือไม่สามารถทำคำชี้แจงตามมาตรานี้ได้ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ทำแทน หรือช่วยลูกหนี้ในการทำคำชี้แจง แล้วแต่กรณี และเพื่อการนี้ให้มีอำนาจจ้างบุคคลอื่นเข้าช่วยตามที่เห็นจำเป็น โดยคิดหักค่าใช้จ่ายจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
ส่วนที่ 3
การประชุมเจ้าหนี้
–––––––––
มาตรา 31 เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อปรึกษาว่าจะควรยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ หรือควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายและปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป การประชุมนี้ให้เรียกว่าประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณากำหนดวันเวลา และสถานที่ที่จะประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และต้องแจ้งไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายเท่าที่ทราบด้วย
มาตรา 32 การประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่นนั้น ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกตามเวลาที่เห็นสมควร หรือตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือตามที่ศาลสั่ง หรือเมื่อเจ้าหนี้ซึ่งมีจำนวนหนี้รวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนหนี้ที่ได้มีการยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ได้ทำหนังสือขอให้เรียกประชุม
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องแจ้งกำหนดวันเวลา และสถานที่กับหัวข้อประชุมไปยังเจ้าหนี้ที่ได้ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวันและในกรณีที่ยังไม่พ้นกำหนดเวลาที่เจ้าหนี้จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้นั้น ให้แจ้งไปยังเจ้าหนี้ที่ยังไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ แต่มีชื่อในบัญชีซึ่งลูกหนี้ได้ทำยื่นไว้ หรือปรากฏตามหลักฐานอื่นด้วย
มาตรา 33 ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุมเจ้าหนี้ทุกคราว และให้มีรายงานการประชุม ลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เก็บไว้เป็นหลักฐาน
มาตรา 34 เจ้าหนี้ที่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้ต้องเป็นเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ และได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้วก่อนวันประชุมนั้น
เจ้าหนี้จะออกเสียงด้วยตนเอง หรือมอบฉันทะเป็นหนังสือให้ผู้อื่นออกเสียงแทนก็ได้
ข้อปรึกษาใดที่ทำให้เจ้าหนี้หรือผู้แทนหรือผู้มีหุ้นส่วนกับเจ้าหนี้หรือผู้แทนได้รับผลประโยชน์จากทรัพย์สินของลูกหนี้โดยตรงหรือโดยอ้อม นอกจากที่ควรได้รับตามส่วนในฐานะเป็นเจ้าหนี้เช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่นนั้นเจ้าหนี้หรือผู้แทนจะออกเสียงลงคะแนนไม่ได้
มาตรา 35 ในการนับคะแนนเสียงในการประชุมเจ้าหนี้คราวหนึ่ง ๆ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถามเจ้าหนี้ที่มาประชุมนั้นว่า ผู้ใดจะคัดค้านการออกเสียงของเจ้าหนี้ที่ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งรับคำขอรับชำระหนี้รายใดบ้างหรือไม่ ถ้าไม่มีผู้ใดคัดค้านก็ให้นับคะแนนเสียงสำหรับเจ้าหนี้รายนั้น
ถ้ามีผู้คัดค้านคำขอรับชำระหนี้รายใด ก็ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งให้ออกเสียงในจำนวนหนี้ได้ เท่าใดหรือไม่ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่ายังสั่งในขณะนั้นไม่ได้ ก็ให้หมายเหตุการขัดข้องไว้ แล้วให้เจ้าหนี้ออกเสียงไปพลางก่อน โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าต่อไปเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งไม่ให้ออกเสียงเพียงใด การออกเสียงของเจ้าหนี้นั้น ให้ถือว่าเป็นอันใช้ไม่ได้เพียงนั้น
คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น อาจอุทธรณ์ไปยังศาลได้
มาตรา 36 เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่ามติของที่ประชุมเจ้าหนี้ขัดต่อกฎหมาย หรือประโยชน์อันร่วมกันของเจ้าหนี้ทั้งหลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล และศาลอาจมีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมตินั้นได้ แต่ต้องยื่นต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติ
ส่วนที่ 4
กรรมการเจ้าหนี้
–––––––
มาตรา 37 ที่ประชุมเจ้าหนี้อาจลงมติตั้งกรรมการเจ้าหนี้ไว้เพื่อแทนเจ้าหนี้ทั้งหลาย ในกิจการเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
กรรมการเจ้าหนี้ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าสามคน และไม่เกินกว่าเจ็ดคนโดยเลือกจากเจ้าหนี้หรือผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ แต่เจ้าหนี้หรือผู้รับมอบอำนาจนั้นจะกระทำการเป็นกรรมการเจ้าหนี้ได้ ต่อเมื่อศาลได้สั่งรับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้นั้นแล้ว
มาตรา 38 มติของกรรมการเจ้าหนี้นั้น ให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาประชุม และกรรมการเจ้าหนี้ต้องมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนจึงเป็นองค์ประชุม
มาตรา 39 กรรมการเจ้าหนี้ขาดจากตำแหน่งด้วยเหตุดังต่อไปนี้
(1) ลาออกโดยมีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
(2) ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย หรือถูกศาลสั่งให้เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
(3) ที่ประชุมเจ้าหนี้ให้ออกจากตำแหน่ง โดยได้แจ้งการที่จะประชุมให้ออกนี้ให้เจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
เมื่อตำแหน่งกรรมการเจ้าหนี้ว่างลง ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดดังกล่าวแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้โดยไม่ชักช้า เพื่อเลือกตั้งผู้อื่นขึ้นแทน
มาตรา 40 ในระหว่างที่ยังไม่ได้เลือกตั้งกรรมการเจ้าหนี้ขึ้นแทนตามความในมาตราก่อน ถ้ากรรมการเจ้าหนี้มีจำนวนเหลืออยู่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งแล้ว ให้กรรมการเจ้าหนี้นั้นกระทำการต่อไปได้
มาตรา 41 ถ้าไม่ได้ตั้งกรรมการเจ้าหนี้ไว้ การกระทำใด ๆ ที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้ว่า ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรรมการเจ้าหนี้ก่อนนั้น ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้
ส่วนที่ 5
การไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย
–––––––
มาตรา 42 เมื่อได้มีการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเสร็จแล้ว ให้ศาลไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยเป็นการด่วน เพื่อทราบกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้เหตุผลที่ทำให้มีหนี้สินพ้นตัว ตลอดจนความประพฤติของลูกหนี้ ว่าได้กระทำหรือละเว้นกระทำการใด ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่นเกี่ยวกับการล้มละลาย หรือเป็นข้อบกพร่องอันจะเป็นเหตุให้ศาลไม่ยอมปลดจากล้มละลายโดยไม่มีเงื่อนไข
ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งประกาศแจ้งความกำหนดวันเวลาที่ศาลนัดไต่สวนโดยเปิดเผยให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันและให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ
มาตรา 43 ในการไต่สวนโดยเปิดเผย ลูกหนี้ต้องสาบานตัวและตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่ได้กล่าวไว้ในมาตรา 42 วรรคแรก ซึ่งศาลได้อนุญาตให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ซึ่งได้ขอรับชำระหนี้แล้ว หรือผู้ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้นั้นถาม หรือศาลจะถามเองตามที่เห็นสมควร และให้ศาลจดถ้อยคำของลูกหนี้อ่านให้ลูกหนี้ฟังแล้วให้ลูกหนี้ลงลายมือชื่อไว้ และให้ใช้เป็นพยานหลักฐานยันแก่ลูกหนี้ได้ ในการนี้ลูกหนี้จะให้ทนายความเข้าทำการแทนไม่ได้
เมื่อศาลได้ไต่สวนลูกหนี้ได้ความเพียงพอแล้ว ให้ศาลมีคำสั่งปิดการไต่สวนและส่งสำเนาการไต่สวนให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หนึ่งฉบับ คำสั่งนี้ไม่ตัดอำนาจศาลที่จะสั่งให้ไต่สวนลูกหนี้เพิ่มเติมอีกเมื่อมีเหตุอันสมควร
มาตรา 44 เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือกายพิการ ซึ่งศาลเห็นว่าไม่สามารถจะให้ศาลไต่สวนโดยเปิดเผยได้ ศาลมีอำนาจสั่งงดการไต่สวนโดยเปิดเผย หรือจะสั่งให้มีการไต่สวนโดยวิธีอื่นใด ณ ที่ใดตามที่เห็นสมควรก็ได้
ส่วนที่ 6
การประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย
–––––––––
มาตรา 45 เมื่อลูกหนี้ประสงค์จะทำความตกลงในเรื่องหนี้สินโดยวิธีขอชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนหรือโดยวิธีอื่น ให้ทำคำขอประนอมหนี้เป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเจ็ดวัน นับแต่วันยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินตามมาตรา 30 หรือภายในเวลาตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดให้
คำขอประนอมหนี้ต้องแสดงข้อความแห่งการประนอมหนี้ หรือวิธีจัดกิจการหรือทรัพย์สินและรายละเอียดแห่งหลักประกัน หรือผู้ค้ำประกัน ถ้ามี
ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อปรึกษาลงมติพิเศษว่าจะยอมรับคำขอนั้นหรือไม่
มาตรา 46 การยอมรับคำขอประนอมหนี้โดยมติพิเศษของที่ประชุมเจ้าหนี้ยังไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหลาย จนกว่าศาลจะได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแล้ว
มาตรา 47 ลูกหนี้อาจขอแก้ไขคำขอประนอมหนี้ในเวลาประชุมเจ้าหนี้หรือในเวลาที่ศาลพิจารณาได้ ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลเห็นว่าการแก้ไขนั้นจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้โดยทั่วไป
มาตรา 48 ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาคำขอประนอมหนี้นั้น
เจ้าหนี้ที่ไม่มาประชุมจะออกเสียงโดยทำเป็นหนังสือก็ได้ แต่ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับหนังสือนั้นก่อนวันประชุม ในกรณีเช่นนี้ให้ถือเสมือนหนึ่งว่าเจ้าหนี้นั้นได้มาประชุมและออกเสียงด้วยตนเอง
มาตรา 49 เมื่อเจ้าหนี้ได้ลงมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขอต่อศาลให้สั่งว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่
การกำหนดวันนั่งพิจารณาคำขอนี้ ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีเวลาส่งแจ้งความให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
มาตรา 50 ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นรายงานเกี่ยวกับการประนอมหนี้ กิจการทรัพย์สินและความประพฤติของลูกหนี้ต่อศาล ไม่น้อยกว่าสามวันก่อนวันที่ศาลนั่งพิจารณา
มาตรา 51 ห้ามมิให้ศาลพิจารณาคำขอประนอมหนี้จนกว่าจะได้ไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยแล้ว เว้นแต่กรณีที่ลูกหนี้ร่วมขอประนอมหนี้นั้น แม้ศาลจะยังมิได้ไต่สวนลูกหนี้ทั้งหมดโดยเปิดเผย เพราะเหตุว่าลูกหนี้บางคนไม่สามารถจะมาศาลโดยเจ็บป่วยหรืออยู่นอกราชอาณาจักรก็ตาม ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่าไม่จำเป็นจะต้องไต่สวนลูกหนี้นั้น ๆ ศาลมีอำนาจพิจารณาคำขอประนอมหนี้ได้ แต่ต้องได้มีการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยแล้วอย่างน้อยคนหนึ่ง
มาตรา 52 ในการที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้หรือไม่นั้น ให้ศาลพิจารณารายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ถ้ามี
เจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้วมีอำนาจคัดค้านต่อศาลได้ ถึงแม้จะได้เคยออกเสียงลงมติยอมรับไว้ในที่ประชุมเจ้าหนี้ก็ตาม
มาตรา 53 ห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) การประนอมหนี้ไม่มีข้อความให้ใช้หนี้ก่อนและหลังตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินของบุคคลล้มละลาย
(2) การประนอมหนี้นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั่วไป หรือทำให้เจ้าหนี้ได้เปรียบเสียเปรียบแก่กัน หรือปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งถ้าหากว่าลูกหนี้ต้องล้มละลายแล้ว ไม่มีเหตุที่จะปลดลูกหนี้จากล้มละลายได้เลย
มาตรา 54 ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งถ้าหากว่าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะปลดลูกหนี้จากล้มละลายได้ก็แต่โดยมีเงื่อนไข ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก็ได้ เมื่อลูกหนี้ให้ประกันสำหรับชำระหนี้ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนหนี้ที่ไม่มีประกันซึ่งเจ้าหนี้อาจขอรับชำระได้
ในกรณีอื่น ศาลอาจมีคำสั่งเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก็ได้ ตามแต่จะเห็นสมควร
มาตรา 55 เมื่อศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้แล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบ
มาตรา 56 การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้
มาตรา 57 เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ มีอำนาจขอต่อศาลให้บังคับลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันให้ปฏิบัติตามข้อความที่ประนอมหนี้ได้
มาตรา 58 ในการประนอมหนี้ ถ้าได้ตั้งผู้จัดการทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้เพื่อจัดการชำระหนี้ ให้นำบทบัญญัติในหมวด 4 ว่าด้วยวิธีจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ และหมวด 5 ว่าด้วยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 59 การประนอมหนี้ไม่ทำให้บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้หรือรับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือค้ำประกันหรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย
มาตรา 60 ถ้าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ก็ดี หรือปรากฏแก่ศาลโดยมีพยานหลักฐานว่า การประนอมหนี้นั้นไม่อาจดำเนินไปได้โดยปราศจากอยุติธรรมหรือจะเป็นการเนิ่นช้าเกินสมควรก็ดีหรือการที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยนั้นเป็นเพราะถูกหลอกลวงทุจริตก็ดีเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือเจ้าหนี้คนใดมีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำไปแล้วตามข้อประนอมหนี้นั้น
เมื่อศาลได้พิพากษาดังกล่าวในวรรคก่อนแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำพิพากษาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ในคำโฆษณาให้ระบุชื่อ ตำบลที่อยู่ อาชีพของลูกหนี้และวันที่ศาลได้มีคำพิพากษา ทั้งให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ที่ลูกหนี้ได้กระทำขึ้นในระหว่างวันที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ถึงวันที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย
ส่วนที่ 7
คำพิพากษาให้ล้มละลาย
–––––––
มาตรา 61 เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า เจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกหรือในคราวที่ได้เลื่อนไป ขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ดีหรือไม่ลงมติประการใดก็ดี หรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดี หรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบก็ดี ให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายเพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย
ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำพิพากษาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ในคำโฆษณาให้ระบุชื่อ ตำบลที่อยู่ อาชีพของลูกหนี้และวันที่ศาลได้มีคำพิพากษา
มาตรา 62 การล้มละลายของลูกหนี้เริ่มต้นมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
ส่วนที่ 8
การประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย
–––––––––
มาตรา 63 เมื่อศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้วลูกหนี้จะเสนอคำขอประนอมหนี้ก็ได้ ในกรณีนี้ให้นำบทบัญญัติในส่วนที่ 6 ว่าด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าลูกหนี้ได้เคยขอประนอมหนี้ไม่เป็นผลมาแล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่การขอประนอมหนี้ครั้งสุดท้ายไม่เป็นผล
ถ้าศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ ศาลมีอำนาจสั่งให้ยกเลิกการล้มละลาย และจะสั่งให้ลูกหนี้กลับมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนหรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้
ส่วนที่ 9
การควบคุมตัวและทรัพย์สินของลูกหนี้และการจำกัดสิทธิ
––––––––––
มาตรา 64 ลูกหนี้ซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ต้องไปในการประชุมเจ้าหนี้ทุกครั้ง และตอบคำถามของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรรมการเจ้าหนี้ หรือเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการทรัพย์สินหรือหุ้นส่วนของตน และต้องกระทำการอันเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน หรือการที่จะแบ่งทรัพย์สินในระหว่างเจ้าหนี้ทั้งหลาย ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือผู้จัดการทรัพย์จะสั่งโดยมีเหตุอันสมควร หรือตามที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่ศาลจะได้มีคำสั่งให้กระทำ แล้วแต่กรณี
มาตรา 65 เมื่อศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว ลูกหนี้ต้องเป็นธุระช่วยโดยเต็มความสามารถในการจำหน่ายทรัพย์สินและในการแบ่งทรัพย์สินในระหว่างเจ้าหนี้ทั้งหลาย และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องการให้ทำสัญญาประกันชีวิตลูกหนี้ต้องให้แพทย์ตรวจ และต้องตอบข้อซักถาม และกระทำการต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อการนั้น
มาตรา 66 เมื่อศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้วถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือเจ้าหนี้คนใดมีคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้อง และศาลพอใจจากรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือพยานที่เจ้าหนี้นำมาสืบว่าลูกหนี้ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(1) ออกไปหรือกำลังจะออกไปนอกเขตอำนาจศาลหรือได้ออกไปก่อนแล้วและคงอยู่นอกเขตอำนาจศาลโดยเจตนาที่จะหลีกเลี่ยง ประวิงหรือกระทำให้ขัดข้องแก่กระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย
(2) กระทำหรือกำลังจะกระทำการฉ้อโกงเจ้าหนี้ หรือกระทำหรือกำลังจะกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีโทษตามพระราชบัญญัตินี้
ศาลมีอำนาจออกหมายจับลูกหนี้มาขังไว้จนกว่าลูกหนี้จะได้ให้ประกันจนพอใจ แต่ไม่ให้เกินกว่าหกเดือน
มาตรา 67 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้หรือพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว และยังไม่ได้สั่งปลดจากล้มละลาย
(1) ลูกหนี้จะต้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดจำนวนเงินเพื่อใช้จ่ายเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูป โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้อนุญาตให้ลูกหนี้จ่ายจากเงินที่ลูกหนี้ได้มาในระหว่างล้มละลายและลูกหนี้จะต้องส่งเงินหรือทรัพย์สินที่เหลือนั้นแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในเวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดพร้อมด้วยบัญชีรับจ่าย
(2) ทุกครั้งที่ลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับทรัพย์สินอย่างใดลูกหนี้จะต้องรายงานเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ โดยแสดงรายละเอียดเท่าที่สามารถจะทำได้ภายในเวลาอันสมควร และไม่ว่าในกรณีใด ลูกหนี้จะต้องแสดงบัญชีรับจ่ายเสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทุกระยะหกเดือน
(3) ลูกหนี้จะออกไปนอกราชอาณาจักรไม่ได้ เว้นแต่ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะอนุญาตเป็นหนังสือและถ้าจะย้ายที่อยู่ ต้องแจ้งตำบลที่อยู่ใหม่เป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบภายในเวลาอันสมควร
ส่วนที่ 10
การปลดจากล้มละลาย
–––––––––––
มาตรา 67/1 เมื่อศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายแล้ว บุคคลล้มละลายอาจได้รับการปลดจากล้มละลายเมื่อศาลได้มีคำสั่งปลดจากล้มละลายตามมาตรา 71 หรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 81/1
มาตรา 68 เมื่อศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายแล้ว บุคคลล้มละลายอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้มีคำสั่งปลดจากล้มละลายได้แต่ต้องนำเงินมาวางไว้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเห็นสมควรไม่เกินห้าพันบาท เพื่อเป็นประกันค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย
การกำหนดวันนั่งพิจารณาคำขอนี้ ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีเวลาส่งแจ้งความให้บุคคลล้มละลาย และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน และโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ
มาตรา 69 ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นรายงานเกี่ยวกับกิจการทรัพย์สินและความประพฤติของบุคคลล้มละลายในเวลาก่อนหรือระหว่างที่ล้มละลายต่อศาล และส่งสำเนารายงานนั้นให้บุคคลล้มละลายทราบไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันนั่งพิจารณาคำขอปลดจากล้มละลาย
มาตรา 70 ในการพิจารณาคำขอปลดจากล้มละลายนั้นศาลอาจฟังคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้หรือผู้แทนเจ้าหนี้ รายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ได้ยื่นตามมาตรา 69 และรายงานการไต่สวนโดยเปิดเผยของศาลนั้นเอง และศาลอาจให้บุคคลล้มละลายสาบานตัวให้การหรือพิจารณาพยานหลักฐานตามที่เห็นสมควรก็ได้
มาตรา 71 ให้ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลาย เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า
(1) ได้แบ่งทรัพย์สินชำระให้แก่เจ้าหนี้ที่ได้ขอรับชำระหนี้ไว้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบ และ
(2) ไม่เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
คำสั่งปลดจากล้มละลายตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะพึงได้มาในเวลาต่อไปก็ได้ แต่ต้องไม่เกินระยะเวลาที่บุคคลนั้นได้รับการปลดจากล้มละลายตามมาตรา 81/1
มาตรา 72
มาตรา 73
มาตรา 74
มาตรา 75
มาตรา 76 เมื่อศาลได้มีคำสั่งปลดจากล้มละลายแล้วให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ
มาตรา 77 คำสั่งปลดจากล้มละลายทำให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้ เว้นแต่
(1) หนี้เกี่ยวกับภาษีอากร หรือจังกอบของรัฐบาลหรือเทศบาล
(2) หนี้ซึ่งได้เกิดขึ้นโดยความทุจริตฉ้อโกงของบุคคลล้มละลาย หรือหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้องเนื่องจากความทุจริตฉ้อโกงซึ่งบุคคลล้มละลายมีส่วนเกี่ยวข้องสมรู้
มาตรา 78 การที่ศาลได้มีคำสั่งปลดจากล้มละลายนั้นไม่ทำให้บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับบุคคลล้มละลาย หรือรับผิดร่วมกับบุคคลล้มละลาย หรือค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของบุคคลผู้ล้มละลายหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย
มาตรา 79 บุคคลล้มละลายซึ่งได้ถูกปลดจากล้มละลายนั้น ยังมีหน้าที่ช่วยในการจำหน่ายและแบ่งทรัพย์สินของตนซึ่งตกอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องการ
ถ้าบุคคลล้มละลายละเลยไม่ช่วย ศาลมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งปลดจากล้มละลายนั้นได้ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำไปภายหลังการปลดจากล้มละลายก่อนที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนนั้น
มาตรา 80 ในคำสั่งปลดจากล้มละลายโดยให้บุคคลล้มละลายใช้เงินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น ศาลมีอำนาจกำหนดจำนวนเงินสำหรับเลี้ยงชีพบุคคลล้มละลายและครอบครัวในปีหนึ่ง ๆ ที่ให้หักเอาจากทรัพย์สินซึ่งได้มาภายหลังมีคำสั่งนั้น และกำหนดให้ส่งเงินหรือทรัพย์สินที่เหลือแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย และกำหนดวันให้ยื่นบัญชีแสดงการรับทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างทุก ๆ ปีต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
บุคคลล้มละลายซึ่งถูกปลดจากล้มละลายโดยให้ใช้เงินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น มีหน้าที่ไปให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลสอบสวนหรือไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้มา ตามแต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลต้องการ
ถ้าบุคคลล้มละลายนั้นไม่ปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในสองวรรคแรก เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ศาลจะเพิกถอนคำสั่งปลดจากล้มละลายก็ได้แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำไปภายหลังการปลดจากล้มละลายก่อนที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนนั้น
มาตรา 81 เมื่อศาลได้เพิกถอนคำสั่งปลดจากล้มละลายแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ทั้งให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ที่ลูกหนี้ได้กระทำขึ้นภายหลังที่ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลาย ก่อนที่ศาลได้มีคำสั่งเพิกถอนนั้นด้วย
มาตรา 81/1 ภายใต้บังคับมาตรา 81/2 บุคคลธรรมดาซึ่งศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้วให้ปลดบุคคลนั้นจากล้มละลายทันทีที่พ้นกำหนดระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย เว้นแต่
(1) บุคคลนั้นได้เคยถูกพิพากษาให้ล้มละลายมาก่อนแล้ว และยังไม่พ้นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายครั้งก่อนจนถึงวันที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ครั้งหลัง ให้ขยายระยะเวลาเป็นห้าปี
(2) บุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายทุจริตที่ไม่มีลักษณะตาม (3) ให้ขยายระยะเวลาเป็นสิบปี เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลพิเศษและบุคคลนั้นถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี ศาลจะสั่งปลดจากล้มละลายก่อนครบกำหนดสิบปีตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือของบุคคลล้มละลายนั้นก็ได้
(3) บุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายอันเนื่องมาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ให้ขยายระยะเวลาเป็นสิบปี
ในกรณีที่มีเหตุตาม (1) (2) หรือ (3) มากกว่าหนึ่งเหตุ ให้ขยายระยะเวลาโดยอาศัยเหตุใดเหตุหนึ่งที่มีระยะเวลาสูงสุดเพียงเหตุเดียว
ให้นำบทบัญญัติมาตรา 76 มาตรา 77 และมาตรา 78 มาใช้บังคับกับการปลดจากล้มละลาย ตามมาตรานี้โดยอนุโลม
มาตรา 81/2 ก่อนระยะเวลาสามปีตามมาตรา 81/1 วรรคหนึ่ง จะสิ้นสุดลง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคำขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้หยุดนับระยะเวลาดังกล่าวไว้ก่อนก็ได้
เมื่อศาลได้รับคำขอเช่นว่านี้แล้ว ให้ศาลกำหนดนัดไต่สวนเป็นการด่วน และส่งสำเนาคำขอให้แก่บุคคลล้มละลายทราบก่อนวันนัดไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
มาตรา 81/3 เมื่อศาลไต่สวนคำขอตามมาตรา 81/2 แล้ว ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลล้มละลายมิได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการรวบรวมทรัพย์สินโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ศาลมีคำสั่งหยุดนับระยะเวลาตามมาตรา 81/1 ตั้งแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำขอหรือวันที่ศาลมีคำสั่งจนถึงวันที่ศาลกำหนด โดยจะกำหนดเงื่อนไขหรือไม่ก็ได้
การหยุดนับระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าศาลจะได้มีคำสั่งให้หยุดนับระยะเวลาตามคำขอกี่ครั้งก็ตาม เมื่อรวมระยะเวลาทั้งหมดแล้วจะต้องไม่เกินสองปี และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ศาลจะมีคำสั่งให้หยุดนับระยะเวลาตามมาตรา 81/1 (1) (2) หรือ (3) หรือมีคำสั่งเมื่อพ้นระยะเวลาสามปี ตามมาตรา 81/1 วรรคหนึ่งแล้วไม่ได้
คำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด
มาตรา 81/4 เมื่อศาลมีคำสั่งตามมาตรา 81/3 แล้ว หากพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป บุคคลล้มละลายอาจยื่นคำขอต่อศาลเพื่อขอให้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งดังกล่าวได้
เมื่อได้รับคำขอดังกล่าว ให้ศาลกำหนดวันนัดไต่สวน และส่งสำเนาคำขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อแจ้งให้เจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
ศาลอาจมีคำสั่งยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งตามมาตรา 81/3 ก็ได้
คำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด
หมวด 2
กระบวนพิจารณาในกรณีที่ลูกหนี้ตาย
––––––––––––
มาตรา 82 ในกรณีที่ลูกหนี้ตาย หากปรากฏว่าถ้าลูกหนี้ยังคงมีชีวิตอยู่เจ้าหนี้อาจฟ้องให้ล้มละลายได้แล้ว เจ้าหนี้อาจฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัตินี้ได้ แต่ต้องยื่นคำฟ้องต่อศาลภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกหนี้ตาย
มาตรา 83 ในการฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ตามความในมาตราก่อน เจ้าหนี้จะต้องขอให้เรียกทายาทหรือผู้จัดการมรดก หรือผู้ปกครองทรัพย์ เข้ามาแก้คดีแทนลูกหนี้ที่ตายนั้น
ถ้าบุคคลที่ถูกเรียกไม่มาศาล หรือมาศาลแต่คัดค้านว่าตนไม่ใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดก หรือผู้ปกครองทรัพย์ของลูกหนี้ทีตายก็ดี หรือว่าตนไม่จำต้องยอมรับฐานะเช่นนั้นได้ตามกฎหมายก็ดี ให้ศาลทำการไต่สวน ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลนั้นควรเข้าแก้คดีแทนลูกหนี้ที่ตาย ก็ให้สั่งเป็นผู้แทนลูกหนี้นั้น มิฉะนั้นให้สั่งเจ้าหนี้จัดการขอให้เรียกบุคคลอื่นเข้ามาแก้คดีแทนลูกหนี้ที่ตายต่อไป
มาตรา 84 เมื่อได้มีคำพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้แล้วให้ปฏิบัติการและจัดการทรัพย์มรดกนั้นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้เท่าที่จะทำได้
ผู้แทนลูกหนี้ที่ตายมีหน้าที่ยื่นคำชี้แจงตามมาตรา 30 ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการนี้ให้คิดเอาได้จากทรัพย์มรดก
มาตรา 85 การที่ทายาท หรือผู้จัดการมรดก หรือผู้ปกครองทรัพย์ได้กระทำไปเกี่ยวกับทรัพย์มรดกจะใช้ได้เพียงไรหรือไม่นั้น ให้ถือเสมือนว่าเป็นการกระทำของลูกหนี้หรือบุคคลล้มละลายตามความในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 86 เมื่อได้ชำระหนี้ทั้งหมดโดยเต็มจำนวนพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้กับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หมดแล้วถ้ายังมีทรัพย์มรดกเหลืออยู่อีก ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มอบให้แก่ผู้แทนลูกหนี้ที่ตายหรือผู้จัดการมรดก
มาตรา 87 ถ้าลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาก็ดีหรือเมื่อศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายแล้วก็ดี กระบวนพิจารณาคงดำเนินต่อไปและให้นำบทบัญญัติในหมวดนี้มาใช้บังคับด้วย
หมวด 3
กระบวนพิจารณาในกรณีที่ลูกหนี้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ
ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลอื่น
––––––––––
มาตรา 88 ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งได้จดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลอื่นนอกจากเจ้าหนี้จะฟ้องขอให้ล้มละลายได้ตามความในหมวด 1 แล้ว ผู้ชำระบัญชีของนิติบุคคลนั้น ๆ อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้สั่งให้นิติบุคคลนั้นล้มละลายได้ ถ้าปรากฏว่าเงินลงทุนหรือเงินค่าหุ้นได้ใช้เสร็จหมดแล้วสินทรัพย์ก็ยังไม่พอกับหนี้สิน
เมื่อศาลได้รับคำร้องขอแล้ว ให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนิติบุคคลนั้นเด็ดขาดโดยทันที และให้ที่ประชุมเจ้าหนี้แต่งตั้งเจ้าหนี้คนหนึ่งขึ้น ให้มีสิทธิและหน้าที่เสมือนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์
มาตรา 89 เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งได้จดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้ว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้บุคคลซึ่งนำสืบได้ว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนนั้นล้มละลายได้ โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่
มาตรา 90 เมื่อได้มีคำขอตามมาตราก่อนแล้ว ถ้าเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอฝ่ายเดียว โดยทำเป็นคำร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของผู้เป็นหุ้นส่วนชั่วคราว และมีพยานหลักฐานแสดงให้พอใจศาลว่าคำขอมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของผู้นั้นชั่วคราวได้แต่ก่อนจะมีคำสั่งดังว่านี้จะให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ให้ประกันค่าเสียหายตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรก็ได้
ถ้าปรากฏภายหลังว่า บุคคลที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวไม่ใช่ผู้เป็นหุ้นส่วน ให้ศาลมีคำสั่งถอนการพิทักษ์ทรัพย์และถ้าผู้นั้นมีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ซึ่งขอให้พิทักษ์ทรัพย์ ชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่เห็นสมควรให้ผู้นั้น หรือจะสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จ่ายจากสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนก็ได้
ถ้าเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลดังว่าไว้ในวรรคก่อนศาลมีอำนาจบังคับเจ้าหนี้นั้นเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
หมวด 3/1
กระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
ส่วนที่ 1
บทนิยาม
มาตรา 90/1 ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
"เจ้าหนี้" หมายความว่า เจ้าหนี้มีประกันหรือเจ้าหนี้ไม่มีประกัน
"ลูกหนี้" หมายความว่า ลูกหนี้ที่เป็นบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัดหรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
"คำร้องขอ" หมายความว่า คำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
"ผู้ร้องขอ" หมายความว่า ผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
"แผน" หมายความว่า แผนฟื้นฟูกิจการ
"ผู้ถือหุ้นของลูกหนี้" หมายความว่า ผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งเป็นลูกหนี้ และหมายความรวมถึงผู้มีส่วนได้เสียในนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นลูกหนี้ทำนองเดียวกับผู้ถือหุ้น
"ผู้ทำแผน" หมายความว่า ผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ
"ผู้บริหารแผน" หมายความว่า ผู้จัดกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ
"ผู้บริหารของลูกหนี้" หมายความว่า กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจดำเนินกิจการของลูกหนี้อยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
"ผู้บริหารชั่วคราว" หมายความว่า ผู้บริหารของลูกหนี้หรือบุคคลอื่นที่ศาลสั่งให้มีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ชั่วคราว ในระหว่างที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแต่ยังไม่มีการตั้งผู้ทำแผน
ส่วนที่ 2
การขอและการให้ฟื้นฟูกิจการ
มาตรา 90/2 เจ้าหนี้ หรือลูกหนี้ หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 90/4 อาจร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ ไม่ว่าลูกหนี้จะถูกฟ้องให้ล้มละลายแล้วหรือไม่
กระบวนพิจารณาส่วนใดที่มิได้บัญญัติไว้ในหมวดนี้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติในหมวดอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 90/3 เมื่อลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม ถ้ามีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ บุคคลตามมาตรา 90/4 อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีการฟื้นฟูกิจการได้
มาตรา 90/4 ภายใต้บังคับมาตรา 90/5 บุคคลซึ่งมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ฟื้นฟูกิจการ ได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
(1) เจ้าหนี้ซึ่งอาจเป็นคนเดียวหรือหลายคนรวมกันและมีจำนวนหนี้แน่นอนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท
(2) ลูกหนี้ซึ่งมีลักษณะตามมาตรา 90/3
(3) ธนาคารแห่งประเทศไทย ในกรณีที่ลูกหนี้ตามมาตรา 90/3 เป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
(4) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในกรณีที่ลูกหนี้ตามมาตรา 90/3 เป็นบริษัทหลักทรัพย์
(5) กรมการประกันภัย ในกรณีที่ลูกหนี้ตามมาตรา 90/3 เป็นบริษัทประกันวินาศภัยหรือบริษัทประกันชีวิต
(6) หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการของลูกหนี้ตามมาตรา 90/3 ซึ่งเป็นนิติบุคคล หน่วยงานของรัฐและลูกหนี้ดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
เจ้าหนี้ของลูกหนี้ตาม (3) (4) (5) หรือ (6) หรือลูกหนี้นั้นเองจะยื่นคำร้องขอตามมาตรา 90/3 ด้วยตนเองได้ เมื่อได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตาม (6) แล้วแต่กรณี
การขอความยินยอมให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่หน่วยงานตามวรรคสองประกาศกำหนด
เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตาม (6) แล้วแต่กรณี ได้รับคำขอความยินยอม ให้หน่วยงานนั้นแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ขอทราบภายในสิบห้าวันนับตั้งแต่วันที่ได้รับคำขอ ในกรณีที่ไม่ให้ความยินยอมให้แจ้งเหตุผลโดยย่อ และให้ผู้ขอมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลหน่วยงานนั้นภายในเจ็ดวันนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในสิบห้าวันนับตั้งแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
มาตรา 90/5 บุคคลตามมาตรา 90/4 จะยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด
(2) ศาลหรือนายทะเบียนได้มีคำสั่งให้เลิกหรือเพิกถอนทะเบียนนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ หรือมีการจดทะเบียนเลิกนิติบุคคลนั้น หรือนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ต้องเลิกกันด้วยเหตุอื่น ทั้งนี้ ไม่ว่าการชำระบัญชีของนิติบุคคลดังกล่าวจะเสร็จแล้วหรือไม่
มาตรา 90/6 คำร้องขอของบุคคลตามมาตรา 90/4 เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จะต้องแสดงโดยชัดแจ้งถึง
(1) ความมีหนี้สินล้นพ้นตัวของลูกหนี้
(2)รายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนที่ลูกหนี้เป็นหนี้อยู่รวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท
(3) เหตุอันสมควรและช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ
(4) ชื่อและคุณสมบัติของผู้ทำแผน
(5) หนังสือยินยอมของผู้ทำแผน
ผู้ทำแผนอาจเป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคล คณะบุคคล เจ้าหนี้ หรือผู้บริหารของลูกหนี้ก็ได้
ถ้าเจ้าหนี้เป็นผู้ร้องขอ จะต้องแนบรายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้อื่นเท่าที่ทราบมาพร้อมคำร้องขอ
ถ้าลูกหนี้เป็นผู้ร้องขอ จะต้องแนบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่ รายชื่อและที่อยู่โดยชัดแจ้งของเจ้าหนี้ทั้งหลายมาพร้อมคำร้องขอ
มาตรา 90/7 ในการร้องขอฟื้นฟูกิจการ ผู้ร้องขอต้องชำระค่าขึ้นศาลหนึ่งพันบาท และต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องขอต้องรับผิดชอบในการขอฟื้นฟูกิจการไว้ต่อศาลเป็นจำนวนห้าหมื่นบาทในขณะยื่นคำร้องขอ หากค่าใช้จ่ายนั้นไม่เพียงพอ ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องขอวางเงินประกันค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามจำนวนที่เห็นสมควรก็ได้
ในกรณีที่ผู้ร้องขอไม่ยอมวางเงินประกันเพิ่มตามวรรคหนึ่ง ถ้าศาลยังไม่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ให้ถือว่าผู้ร้องขอทิ้งคำร้องขอ แต่ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายและธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการของลูกหนี้ตามมาตรา 90/3 ซึ่งได้ให้ความยินยอมตามมาตรา 90/4 แล้วแต่กรณี เพื่อแต่งตั้งเจ้าหนี้อื่น หรือลูกหนี้ หรือผู้ให้ความยินยอมเป็นผู้ร้องขอแทนต่อไปโดยเร็วที่สุด ถ้าไม่มีผู้ร้องขอแทนหรือมีแต่ไม่วางเงินประกันดังกล่าวภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ผู้ร้องขอไม่ยอมวางเงินประกันดังกล่าวตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ในกรณีที่เจ้าหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกัน หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 90/4 (6) แล้วแต่กรณี เป็นผู้ร้องขอ ให้ผู้ทำแผนชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากทรัพย์สินของลูกหนี้คืนให้แก่ผู้ร้องขอภายหลังที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว โดยไม่ชักช้า
ในการดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อฟื้นฟูกิจการ ให้ถือว่าธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกัน หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 90/4 (6) แล้วแต่กรณี มีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้
มาตรา 90/8 ผู้ร้องขอจะถอนคำร้องขอไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตแต่ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอไม่ได้
ในกรณีที่ผู้ร้องขอทิ้งคำร้องขอ หรือขาดนัดพิจารณา หรือศาลอนุญาตให้ถอนคำร้องขอ ก่อนที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดี ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับ เพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายและลูกหนี้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
มาตรา 90/9 เมื่อศาลสั่งรับคำร้องขอแล้ว ให้ดำเนินการไต่สวนเป็นการด่วน และให้ศาลประกาศคำสั่งรับคำร้องขอและวันเวลานัดไต่สวนในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับ ไม่น้อยกว่าสองครั้งห่างกันไม่เกินเจ็ดวัน กับให้ส่งสำเนาคำร้องขอแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายเท่าที่ทราบและแก่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อนายทะเบียนจะได้จดแจ้งคำสั่งศาลไว้ในทะเบียน และให้ส่งให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัยหรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 90/4 (6) แล้วแต่กรณีด้วย ทั้งนี้ ให้ส่งก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
ถ้าเจ้าหนี้เป็นผู้ร้องขอ ให้ผู้ร้องขอนำส่งสำเนาคำร้องขอให้ลูกหนี้ทราบก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และให้ลูกหนี้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่ รายชื่อและที่อยู่โดยชัดแจ้งของเจ้าหนี้ทั้งหลายต่อศาลก่อนวันนัดไต่สวนด้วย
ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้อาจยื่นคำคัดค้านก่อนวันนัดไต่สวนนัดแรกไม่น้อยกว่าสามวัน ในกรณีที่เป็นการคัดค้านผู้ทำแผน ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้จะเสนอชื่อบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วยหรือไม่ก็ได้ การเสนอชื่อผู้ทำแผนต้องเสนอหนังสือยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ทำแผนด้วย
ในกรณีที่ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว ให้ผู้ร้องขอนำส่งสำเนาคำร้องขอแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย
มาตรา 90/10 ในการไต่สวนคำร้องขอ ศาลต้องไต่สวนเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 90/3 ถ้าได้ความจริงและมีเหตุอันสมควรที่จะฟื้นฟูกิจการทั้งผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอโดยสุจริต ให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ มิฉะนั้นให้มีคำสั่งยกคำร้องขอ
ในกรณีที่ไม่มีผู้คัดค้านคำร้องขอ ถ้าศาลเห็นสมควรจะงดการไต่สวนและมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการก็ได้
มาตรา 90/11 ให้ศาลดำเนินการไต่สวนคำร้องขอติดต่อกันไปโดยไม่ต้องเลื่อนจนกว่าจะเสร็จการไต่สวนและมีคำสั่ง เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย
ให้ผู้ร้องขอและผู้คัดค้านมาศาลในวันนัดไต่สวนทุกนัด ฝ่ายใดมีหน้าที่นำสืบในนัดใดให้เตรียมพยานหลักฐานมาให้พร้อม ถ้าผู้ร้องขอหรือผู้คัดค้านไม่มาหรือไม่เตรียมพยานหลักฐานมา ให้ถือว่าไม่ติดใจร้องขอหรือคัดค้าน หรือไม่ติดใจนำสืบพยานหลักฐานอีกต่อไป แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่นำสืบมีคำขอว่าไม่อาจนำพยานหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีมาศาลในนัดใด เพราะมีความจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้เกี่ยวกับพยานหลักฐานนั้น ถ้าศาลเห็นสมควร ศาลจะสั่งให้เลื่อนการสืบพยานหลักฐานนั้นไปก็ได้ แต่ให้สั่งเลื่อนได้เพียงครั้งเดียว
ในกรณีที่ผู้ร้องขอหรือผู้คัดค้านไม่มีหน้าที่นำสืบในนัดใด เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้วจะไม่มาศาลในนัดนั้นก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิถามค้านพยานที่นำสืบในนัดนั้น
ในกรณีที่ผู้ร้องขอหรือผู้คัดค้านไม่มาศาลในนัดใด ไม่ว่าจะได้รับอนุญาตจากศาลหรือไม่ ให้ถือว่าผู้นั้นได้ทราบกระบวนพิจารณาของศาลในนัดนั้นแล้ว
มาตรา 90/12 ภายใต้บังคับของมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ตามความในหมวดนี้
(1) ห้ามมิให้ฟ้องหรือร้องขอให้ศาลพิพากษาหรือสั่งให้เลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ ถ้ามีการฟ้องหรือร้องขอคดีดังกล่าวไว้ก่อนแล้ว ให้ศาลงดการพิจารณาคดีนั้นไว้
(2) ห้ามมิให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้เลิกหรือจดทะเบียนเลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ และห้ามมิให้นิติบุคคลนั้นเลิกกันโดยประการอื่น
(3)ห้ามมิให้ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 90/4 (6) แล้วแต่กรณี สั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของลูกหนี้ หรือสั่งให้ลูกหนี้หยุดประกอบกิจการ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ
(4)ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลแห่งหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย ในกรณีที่มีการฟ้องคดีหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไว้ก่อนแล้ว ให้งดการพิจารณาไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
(5)ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ ถ้ามูลแห่งหนี้ตามคำพิพากษานั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ในกรณีที่ได้ดำเนินการบังคับคดีไว้ก่อนแล้วให้ศาลงดการบังคับคดีนั้นไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หรือการบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอ หรือการบังคับคดีตามคำพิพากษาให้ลูกหนี้ส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งเสร็จก่อนวันดังกล่าวนั้น
ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้เป็นของเสียง่าย หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนแห่งค่าของทรัพย์สินนั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายได้โดยวิธีขายทอดตลาดหรือวิธีอื่นที่สมควรแล้วให้กักเงินไว้ ถ้าศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนก็ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมอบเงินนั้นแก่ผู้บริหารแผนนำไปใช้จ่ายได้ ถ้าศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ก็ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่ถ้าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดและยังเหลือเงินอยู่ ให้ส่งมอบให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อไป
(6)ห้ามมิให้เจ้าหนี้มีประกันบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ
(7)ห้ามมิให้เจ้าหนี้ซึ่งบังคับชำระหนี้ได้เองตามกฎหมาย ยึดทรัพย์สินหรือขายทรัพย์สินของลูกหนี้
(8)ห้ามมิให้เจ้าของทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญในการดำเนินกิจการของลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ สัญญาซื้อขาย หรือสัญญาอื่นที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการโอนกรรมสิทธิ์ หรือสัญญาเช่าที่ยังไม่สิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์ดังกล่าวที่อยู่ในความครอบครองของลูกหนี้หรือของบุคคลอื่นที่อาศัยสิทธิของลูกหนี้ รวมตลอดจนฟ้องร้องบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้ ซึ่งเกิดขึ้นจากสัญญาดังกล่าว ถ้ามีการฟ้องคดีดังกล่าวไว้ก่อนแล้ว ให้ศาลงดการพิจารณาคดีนั้นไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หรือหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราว แล้วแต่กรณี ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ราคา ค่าตอบแทนการใช้ทรัพย์ หรือค่าเช่าตามสัญญา สองคราวติดต่อกันหรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นสาระสำคัญ
(9) ห้ามมิให้ลูกหนี้จำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
(10) คำสั่งตามวิธีการชั่วคราวของศาลที่ให้ยึด อายัด ห้ามจำหน่ายจ่าย โอน ทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราว ซึ่งมีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณานั้น ให้ศาลที่รับคำร้องขอมีอำนาจสั่งให้ระงับผลบังคับไว้ หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ถ้าต่อมาศาลนั้นมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ก็ให้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวหรือคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวดังกล่าวตามที่เห็นสมควรต่อไป
(11) ห้ามมิให้ผู้ประกอบการสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ งดให้บริการแก่ลูกหนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ หรือหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราว แล้วแต่กรณีไม่ชำระค่าบริการที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ สองคราวติดต่อกัน
บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ไม่ห้ามผู้ประกอบการสาธารณูปโภคที่จะมีคำร้องให้ศาลที่รับคำร้องขอมีคำสั่งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องตามที่ศาลเห็นสมควร
คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลหรือคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดของวรรคหนึ่ง ไม่มีผลผูกพันลูกหนี้
การออกคำสั่งของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท นายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับนิติบุคคลซึ่งเป็นลูกหนี้ การทำนิติกรรมหรือการชำระหนี้ใด ๆ ที่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดของวรรคหนึ่ง การนั้นเป็นโมฆะ
มาตรา 90/13 เจ้าหนี้และบุคคลซึ่งถูกจำกัดสิทธิตามมาตรา 90/12อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่รับคำร้องขอเพื่อให้มีคำสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกข้อจำกัดสิทธิของตนตามมาตรา 90/12 ได้ หากการจำกัดสิทธิของผู้ร้องนั้น
(1) ไม่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการ หรือ
(2) มิได้ให้ความคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันอย่างเพียงพอ
เมื่อได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลดำเนินการพิจารณาเป็นการด่วน หากปรากฏเหตุตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้อง และหากเป็นกรณีตาม (2) ศาลอาจมีคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขเพื่อให้เจ้าหนี้มีประกันได้รับความคุ้มครองอย่างเพียงพอก็ได้
มาตรา 90/14 การดำเนินการดังต่อไปนี้ถือเป็นการให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหนี้มีประกันอย่างเพียงพอแล้ว
(1) มีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้มีประกันในจำนวนเท่ากับมูลค่าที่ลดลงไปของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันที่ตกอยู่ภายใต้บังคับของการจำกัดสิทธิตามมาตรา 90/12 (6) เพราะเหตุของการจำกัดสิทธินั้น
(2) มีการให้หลักประกันแก่เจ้าหนี้มีประกันเพื่อชดเชยหลักประกันเดิมในจำนวนเท่ากับมูลค่าที่ลดลงไปของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันที่ตกอยู่ภายใต้บังคับของการจำกัดสิทธิตามมาตรา 90/12 (6) เพราะเหตุการจำกัดสิทธินั้น หรือ
(3) มีการดำเนินการอื่นใดที่เจ้าหนี้มีประกันนั้นยินยอม หรือที่ศาลเห็นว่าจะทำให้เจ้าหนี้มีประกันสามารถได้รับชำระหนี้ของตนตามมูลค่าของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันในเวลาที่มีการยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการพร้อมดอกเบี้ยและผลประโยชน์ตามสัญญา เมื่อการดำเนินการตามความในหมวดนี้สิ้นสุดลง
มาตรา 90/15 ถ้าอายุความ หรือระยะเวลาเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาและการบังคับคดี หรือระยะเวลาเกี่ยวกับการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ที่ถูกห้ามมิให้ดำเนินการหรือถูกงดไว้ตามมาตรา 90/12 ครบกำหนดก่อนวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้หรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในหมวดนี้ หรือจะครบกำหนดภายในหกเดือนนับแต่วันดังกล่าว ให้อายุความหรือระยะเวลานั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะพ้นกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันดังกล่าว แล้วแต่กรณี แต่ถ้าอายุความหรือระยะเวลานั้นตามกฎหมายมีน้อยกว่าหนึ่งปี ก็ให้นำอายุความหรือระยะเวลาที่สั้นกว่าดังกล่าวนั้นมาใช้แทนกำหนดเวลาหนึ่งปีดังกล่าว
ส่วนที่ 3
การตั้งผู้ทำแผน
มาตรา 90/16 ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ของการฟื้นฟูกิจการ รัฐมนตรีจะออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนและการกำหนดคุณสมบัติของผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนก็ได้
มาตรา 90/17 ในการพิจารณาตั้งผู้ทำแผน ถ้าลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้คัดค้านไม่ได้เสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วย เมื่อศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ศาลจะมีคำสั่งตั้งบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอเป็นผู้ทำแผนก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอไม่สมควรเป็นผู้ทำแผนก็ดี หรือลูกหนี้ เจ้าหนี้ผู้คัดค้านเสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วยก็ดี ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุดเพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทำแผน
ในกรณีที่ลูกหนี้มิได้เสนอผู้ทำแผน มติเลือกผู้ทำแผนต้องเป็นมติของเจ้าหนี้ฝ่ายที่มีจำนวนหนี้ข้างมากซึ่งได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น แต่ในกรณีที่ลูกหนี้เสนอผู้ทำแผนด้วย ให้ผู้ทำแผนที่ลูกหนี้เสนอเป็นผู้ทำแผน เว้นแต่จะมีมติของเจ้าหนี้ฝ่ายที่มีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ ซึ่งได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้นกำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนในการลงมติตามมาตรานี้ ให้เจ้าหนี้มีประกันออกเสียงได้เต็มตามจำนวนหนี้
ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผน ถ้าที่ประชุมมีมติเลือกผู้ทำแผนได้ และศาลเห็นชอบด้วย ให้ศาลตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทำแผน หากศาลไม่เห็นชอบด้วย ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเลือกบุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งเจ้าหนี้หรือลูกหนี้เสนอชื่อเป็นผู้ทำแผน
ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่อาจมีมติเลือกผู้ทำแผนได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผนอีกครั้งหนึ่ง เว้นแต่ในกรณีที่เห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการก็ได้
ในการประชุมเจ้าหนี้ในวรรคสามหรือวรรคสี่ ถ้าที่ประชุมมีมติเลือกผู้ทำแผนได้ ให้ศาลตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทำแผน เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลอันสมควรที่จะไม่ตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทำแผนหรือที่ประชุมไม่อาจมีมติเลือกผู้ทำแผนได้ ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานผลของการประชุมเจ้าหนี้ที่พิจารณาเลือกผู้ทำแผนทุกครั้งต่อศาลภายในสามวันนับแต่วันประชุม เพื่อให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งต่อไป
การเสนอชื่อผู้ทำแผนต่อที่ประชุมเจ้าหนี้ ต้องเสนอหนังสือยินยอมผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ทำแผนด้วย
มาตรา 90/18 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณากำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่จะประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผนในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และต้องแจ้งไปยังลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายตามบัญชีรายชื่อที่ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้เสนอต่อศาลและเจ้าหนี้อื่นเท่าที่ทราบด้วย
ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุมเจ้าหนี้ และให้มีรายงานการประชุม ลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เก็บไว้เป็นหลักฐาน
มาตรา 90/19 ในการพิจารณาของศาลและการประชุมเจ้าหนี้ทุกครั้งให้ลูกหนี้ไปศาล ไปประชุม และตอบคำถามของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน ผู้บริหารแผนชั่วคราว หรือเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของตน ในกรณีเช่นนี้ ลูกหนี้จะเสนอความเห็นอย่างหนึ่งอย่างใดต่อศาลหรือที่ประชุมก็ได้
เมื่อลูกหนี้ร้องขอ ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะอนุญาตให้ลูกหนี้ไม่ต้องไปศาลหรือไม่ไปประชุมเจ้าหนี้ในนัดใดก็ได้ แล้วแต่กรณี
ให้นำบทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับแก่ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน และผู้บริหารแผนชั่วคราวในการพิจารณาของศาลและการประชุมเจ้าหนี้ ในระหว่างที่บุคคลเหล่านี้ยังคงมีหน้าที่ตามตำแหน่งดังกล่าวด้วยโดยอนุโลม
มาตรา 90/20 ในกรณีที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแต่ยังไม่มีการตั้งผู้ทำแผน ให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของผู้บริหารของลูกหนี้สิ้นสุดลง ให้ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราว มีอำนาจหน้าที่จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จนกว่าจะมีการตั้งผู้ทำแผน ในระหว่างที่ไม่สามารถมีคำสั่งตั้งผู้บริหารชั่วคราวได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ชั่วคราว
ในการกำกับดูแลนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะกำหนดอำนาจหน้าที่ รวมทั้งสั่งให้ผู้บริหารชั่วคราวทำคำชี้แจงในเรื่องบัญชี เรื่องการเงินหรือเรื่องใด ๆ เกี่ยวกับการจัดการกิจการและทรัพย์สิน หรือจะสั่งให้กระทำหรือมิให้กระทำการใด ๆ ตามที่เห็นสมควรสมควรก็ได้
เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้บริหารชั่วคราวพ้นจากอำนาจหน้าที่ ในกรณีเช่นนี้ ศาลจะสั่งตั้งผู้บริหารชั่วคราวใหม่ขึ้นทำหน้าที่ก็ได้ ถ้าศาลไม่มีคำสั่งตั้งผู้บริหารชั่วคราวใหม่ ก็ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ชั่วคราวไปตามวรรคหนึ่ง
ให้ศาลแจ้งคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและคำสั่งตั้งหรือให้ผู้บริหารชั่วคราวพ้นจากอำนาจหน้าที่ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการในราชกิจจานุเบกษาและหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายไม่น้อยกว่าสองฉบับ และแจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยด่วน เพื่อนายทะเบียนจะได้จดแจ้งคำสั่งศาลไว้ในทะเบียนและแจ้งไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 90/4 (6) แล้วแต่กรณี เพื่อทราบด้วย
มาตรา 90/21 ภายใต้บังคับมาตรา 90/42 และมาตรา 90/64 ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแต่ยังไม่มีการตั้งผู้ทำแผน ให้บรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ระงับลง เว้นแต่สิทธิที่จะได้รับเงินปันผล และให้สิทธิดังกล่าวตกแก่ผู้บริหารชั่วคราวหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่กรณี จนกว่าจะมีการตั้งผู้ทำแผน
ให้นำบทบัญญัติมาตรา 90/12 (9) มาใช้บังคับแก่ผู้บริหารชั่วคราวและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยอนุโลม
เมื่อได้รับทราบคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว ผู้บริหารของลูกหนี้ต้องส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สิน หนี้สิน และกิจการของลูกหนี้แก่ผู้บริหารชั่วคราวหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่กรณี โดยเร็วที่สุดเพื่อการนี้ให้ผู้บริหารชั่วคราวหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเรียกให้ผู้ครอบครองส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารข้างต้นแก่ตนได้ด้วย
ให้ผู้บริหารชั่วคราวที่ศาลมีคำสั่งให้พ้นจากอำนาจหน้าที่มีหน้าที่ตามความในวรรคสามด้วยโดยอนุโลม
มาตรา 90/22 เจ้าหนี้ที่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผน ต้องเป็นเจ้าหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ และลูกหนี้ได้ก่อนนิติสัมพันธ์ดังกล่าวนั้นขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม โดยเจ้าหนี้ได้แสดงความประสงค์จะเข้าประชุมตามแบบพิมพ์ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดและแสดงหลักฐานแห่งความเป็นเจ้าหนี้จนเป็นที่พอใจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อนวันประชุม
เจ้าหนี้และลูกหนี้จะขอตรวจหลักฐานแห่งความเป็นเจ้าหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ได้
เจ้าหนี้จะออกเสียงด้วยตนเองหรือมอบฉันทะเป็นหนังสือให้ผู้อื่นออกเสียงแทนก็ได้
มาตรา 90/23 ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผน ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถามลูกหนี้และเจ้าหนี้ที่มาประชุมว่าจะคัดค้านการออกเสียงของเจ้าหนี้รายใดหรือไม่ ถ้ามีผู้คัดค้านการออกเสียงของเจ้าหนี้รายใด ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบถามผู้คัดค้าน เจ้าหนี้ผู้ถูกคัดค้าน และลูกหนี้เกี่ยวกับเรื่องที่คัดค้าน ถ้าบุคคลดังกล่าวมาประชุม แล้วมีคำสั่งให้เจ้าหนี้รายนั้นออกเสียงในจำนวนหนี้ได้หรือไม่เท่าใด
คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด โดยให้มีผลเฉพาะให้เจ้าหนี้มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้หรือไม่เท่านั้น แต่ไม่มีผลให้มติเลือกผู้ทำแผนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลเปลี่ยนแปลงไปหรือกระทบถึงสิทธิในการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
มาตรา 90/24 ถ้าศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน ให้ศาลแจ้งคำสั่งนั้นแก่ผู้ทำแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารของลูกหนี้ และผู้บริหารชั่วคราวโดยไม่ชักช้า อำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนให้เริ่มแต่วันที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าว และให้อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารของลูกหนี้ หรือผู้บริหารชั่วคราวสิ้นสุดลง
เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว ให้นำความในมาตรา 90/20 วรรคสี่ และมาตรา 90/21 วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม กับให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายตามบัญชีรายชื่อที่ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้เสนอต่อศาลและเจ้าหนี้อื่นเท่าที่ทราบ
ในคำโฆษณาและหนังสือแจ้งคำสั่งตามวรรคสอง ให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามแบบพิมพ์ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย
มาตรา 90/25 ภายใต้บังคับมาตรา 90/42 และมาตรา 90/64 เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว ให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และบรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผล ตกแก่ผู้ทำแผน และให้นำบทบัญญัติมาตรา 90/12 (9) มาใช้บังคับแก่ผู้ทำแผนโดยอนุโลม
ส่วนที่ 4
การขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ
มาตรา 90/26 เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในส่วนนี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้วแต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม ทั้งนี้ ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้พร้อมสำเนาต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผน และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งสำเนาคำขอรับชำระหนี้ให้ผู้ทำแผนโดยไม่ชักช้า
บุคคลใดได้รับความเสียหายเพราะการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ถูกเพิกถอนตามมาตรา 90/41 หรือเพราะผู้บริหารแผนไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญาตามมาตรา 90/41 ทวิ มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการสำหรับหนี้เดิมหรือค่าเสียหายได้ แล้วแต่กรณี ภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง แต่ให้นับจากวันที่อาจใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ถ้ามีข้อโต้เถียงเป็นคดีให้นับเวลาจากวันคดีถึงที่สุด
ให้นำบทบัญญัติมาตรา 91 วรรคสอง มาตรา 105 มาตรา 108 และบทบัญญัติในหมวด 8 ส่วนที่ 3 ว่าด้วยเรื่องค่าธรรมเนียม มาใช้บังคับเกี่ยวกับการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการโดยอนุโลม
มาตรา 90/27 เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้
ผู้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 101 อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการสำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว
หนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือผู้บริหารชั่วคราวก่อขึ้น หนี้ที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดตามมาตรา 90/12 (8) หรือ (11) และหนี้ภาษีอากรหรือหนี้อื่นอันมีลักษณะเดียวกัน ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ แต่เจ้าหนี้ดังกล่าวจะต้องมีหนังสือขอให้ผู้ทำแผนออกหนังสือรับรองสิทธิของตนก่อนวันประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน ถ้าผู้ทำแผนจะปฏิเสธสิทธิของเจ้าหนี้จะต้องปฏิเสธเป็นหนังสือไปยังเจ้าหนี้ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือของเจ้าหนี้ มิฉะนั้น ให้ถือว่ายอมรับสิทธิของเจ้าหนี้ตามที่ขอมา ถ้าเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือขอให้ผู้ทำแผนออกหนังสือรับรองสิทธิของตนเองหรือผู้ทำแผนมีหนังสือปฏิเสธสิทธิของเจ้าหนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวข้างต้น เจ้าหนี้นั้นอาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในสิบสี่วันนับแต่วันประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนหรือวันที่เจ้าหนี้ได้รับคำปฏิเสธนั้น แล้วแต่กรณี
มาตรา 90/28 ภายใต้บังคับมาตรา 90/12 (6) มาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 เจ้าหนี้มีประกันจะใช้สิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการก็ได้ แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือผู้ทำแผนตรวจดูทรัพย์สินนั้น
มาตรา 90/29 เจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนอาจขอตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ แต่ต้องกระทำภายในกำหนดสิบสี่วันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้
มาตรา 90/30 คำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้รายใด ถ้าเจ้าหนี้อื่น ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนไม่โต้แย้ง ให้เจ้าหนี้รายนั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้เต็มจำนวนหนี้ตามที่ระบุไว้ในคำขอรับชำระหนี้ ถ้ามีผู้โต้แย้ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนโดยด่วนแล้วมีคำสั่งว่าจะให้เจ้าหนี้รายนั้นออกเสียงในจำนวนหนี้ได้หรือไม่ เท่าใด และให้นำความในมาตรา 90/23 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 90/31 เพื่อประโยชน์ในการคำนวณหนี้ที่ใช้ในการออกเสียงลงคะแนน ถ้าหนี้ได้กำหนดไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ ให้คิดเป็นเงินตราไทยในวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราประจำวันของธนาคารแห่งประเทศไทย
มาตรา 90/32 คำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้รายใด ถ้าเจ้าหนี้อื่น ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนไม่โต้แย้ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจสั่งอนุญาตให้รับชำระหนี้ได้ เว้นแต่มีเหตุอันสมควรสั่งเป็นอย่างอื่น
คำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้รายใด ถ้ามีผู้โต้แย้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) ให้ยกคำขอรับชำระหนี้
(2) อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน
(3) อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้บางส่วน
การคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ผู้มีส่วนได้เสียอาจยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้ภายในกำหนดสิบสี่วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
มาตรา 90/33 ถ้าเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นหนี้ลูกหนี้ในเวลาที่มีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้นั้นอาจใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
ส่วนที่ 5
คำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้
มาตรา 90/34 ภายในเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งตั้งผู้ทำแผน ให้ผู้บริหารของลูกหนี้ยื่นคำชี้แจงตามมาตรา 90/35 เกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ตนรับรองแล้วตามแบบพิมพ์ต่อผู้ทำแผน
เมื่อผู้บริหารของลูกหนี้มีคำขอขยายระยะเวลาก่อนสิ้นกำหนดเวลาดังกล่าวข้างต้นโดยมีเหตุอันควร ผู้ทำแผนอาจขยายระยะเวลาให้อีกได้ตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกินสามสิบวัน
ถ้าผู้บริหารของลูกหนี้ไม่ทำหรือไม่สามารถทำคำชี้แจงได้ ให้ผู้ทำแผนเป็นผู้ทำแทน และเพื่อการนี้ให้มีอำนาจจ้างบุคคลอื่นเข้าช่วยตามที่เห็นจำเป็น โดยคิดหักค่าใช้จ่ายจากทรัพย์สินของลูกหนี้
มาตรา 90/35 คำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ จะต้องแสดงโดยชัดแจ้งถึงรายการต่อไปนี้ ณ วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้ พิจารณา
(1) กิจการของลูกหนี้
(2) สินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันต่าง ๆ ที่ลูกหนี้มีต่อบุคคลภายนอก
(3) ทรัพย์สินที่ได้ให้เป็นประกันแก่เจ้าหนี้ และวันที่ได้ให้ทรัพย์สินนั้นเป็นประกัน
(4) ทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่อยู่ในความยึดถือของลูกหนี้
(5) การเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทหรือนิติบุคคลหรือเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนอื่น
(6) ชื่อ อาชีพและที่อยู่โดยละเอียดของเจ้าหนี้ทั้งหลาย
(7) ชื่อ อาชีพและที่อยู่โดยละเอียดของผู้เป็นลูกหนี้ของลูกหนี้
(8) รายละเอียดแห่งทรัพย์สินที่จะตกแก่ลูกหนี้ในภายหน้า
(9) ข้อมูลอื่นตามที่ผู้ทำแผนเห็นสมควรให้แจ้งเพิ่มเติม
คำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักฐานอันถูกต้องที่ใช้ยันลูกหนี้ได้
มาตรา 90/36 ผู้บริหารชั่วคราวหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องทำคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อผู้ทำแผนตามมาตรา 90/35 ในช่วงเวลาที่ตนมีอำนาจบริหารกิจการชั่วคราว และให้นำมาตรา 90/34 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 90/37 ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการทำแผนและการบริหารแผน ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราวอาจขอให้ศาลออกหมายเรียกผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารของลูกหนี้ ลูกจ้างของลูกหนี้ ผู้สอบบัญชีของลูกหนี้ ผู้บริหารชั่วคราว หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใด ซึ่งได้ความหรือสงสัยว่ามีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง หรือเชื่อว่าเป็นหนี้ลูกหนี้ หรือเห็นว่าสามารถแจ้งข้อความเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของลูกหนี้ มาพบตนเพื่อสอบถาม หรือขอให้ศาลสั่งให้บุคคลนั้น ๆ ส่งเอกสารหรือวัตถุพยานซึ่งอยู่ในความยึดถือหรืออำนาจของผู้นั้นอันเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของลูกหนี้มาให้ตนก็ได้
เพื่อประโยชน์ในการทำแผนและการบริหารแผน ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะออกหมายเรียกบุคคลตามวรรคหนึ่งมาไต่สวนหรือสอบสวนเองหรือสั่งให้บุคคลนั้น ๆ ส่งเอกสารหรือวัตถุพยานก็ได้
บุคคลใดจงใจขัดขืนหมายเรียกหรือคำสั่งของศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้ศาลมีอำนาจออกหมายจับบุคคลนั้นมาขังไว้จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
มาตรา 90/38 เมื่อผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ศาลมีอำนาจบังคับให้บุคคลที่รับว่าเป็นหนี้ลูกหนี้หรือรับว่ามีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง ชำระหนี้หรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ตนได้ภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
มาตรา 90/39 เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดชำระหนี้หรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ลูกหนี้ และบุคคลนั้นไม่ได้รับว่าเป็นหนี้ลูกหนี้ หรือมีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง ให้ผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการ
ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งความเป็นหนังสือไปยังบุคคลดังกล่าวให้ชำระหนี้หรือส่งมอบทรัพย์สินตามที่ได้แจ้งไป และให้แจ้งไปด้วยว่าถ้าจะปฏิเสธ ให้แสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธเป็นหนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันได้รับแจ้งความ มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นหนี้ลูกหนี้ตามที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด
ถ้าบุคคลที่รับแจ้งความนั้นปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวน เมื่อเห็นว่าบุคคลนั้นไม่ได้เป็นหนี้ ให้แจ้งต่อผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนและบุคคลนั้นทราบ ถ้าเห็นว่าบุคคลนั้นเป็นหนี้เท่าใด ให้แจ้งเป็นหนังสือยืนยันไปยังบุคคลที่จะต้องรับผิดชอบนั้น และให้แจ้งไปด้วยว่าถ้าจะคัดค้านประการใด ให้แจ้งเป็นหนังสือยืนยันไปยังบุคคลที่จะต้องรับผิดชอบนั้น และให้แจ้งไปด้วยว่าถ้าจะคัดค้านประการใด ให้ร้องคัดค้านต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่ได้รับแจ้งความยืนยัน
ถ้าบุคคลที่ได้รับแจ้งความยืนยันนั้นคัดค้านต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องภายในกำหนดเวลาตามวรรคสาม ให้ศาลพิจารณา ถ้าพอใจว่าเป็นหนี้ ให้มีคำบังคับให้บุคคลนั้นชำระหนี้หรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผน ถ้าเห็นว่าไม่ได้เป็นหนี้ ให้มีคำสั่งจำหน่ายจากบัญชีลูกหนี้
ถ้าบุคคลที่ได้รับแจ้งความจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้ปฏิเสธต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือมิได้ร้องคัดค้านต่อศาลตามกำหนดเวลาที่กล่าวข้างต้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอต่อศาลให้บังคับให้บุคคลนั้นชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร
ถ้าบุคคลนั้นไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
ในกรณีที่ผู้ถูกทวงหนี้ร้องคัดค้านต่อศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอ โดยทำเป็นคำร้องต่อศาลให้สั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ร้องคัดค้านไว้ชั่วคราวก่อนมีคำสั่งในเรื่องหนี้นั้นได้
บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.