บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


24 สิงหาคม 2552

<<< พระราชบัญญัติล้มละลาย(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2542 #2 >>>

ส่วนที่ 6
การเพิกถอนนิติกรรมที่ได้กระทำไปแล้ว

มาตรา 90/40 การขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ให้ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอได้โดยทำเป็นคำร้อง
ถ้านิติกรรมที่ขอเพิกถอนการฉ้อฉลนั้นเกิดขึ้นภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนวันยื่นคำร้องขอและภายหลังนั้น หรือเป็นการทำให้โดยเสน่หา หรือเป็นการที่ลูกหนี้ได้รับค่าตอบแทนน้อยเกินสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่ลูกหนี้ และผู้ที่ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ

มาตรา 90/41 เมื่อปรากฏว่ามีการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการยื่นคำร้องขอและภายหลังนั้น โดยมีจุดมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคำขอต่อศาลโดยทำเป็นคำร้อง ในการนี้ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้
ถ้าเจ้าหนี้ผู้ได้เปรียบเป็นบุคคลภายในของลูกหนี้ ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำตามวรรคหนึ่งที่ได้กระทำขึ้นในระหว่างระยะเวลาหนึ่งปีก่อนมีการยื่นคำร้องขอและภายหลังนั้น
การเพิกถอนการโอนหรือการกระทำตามมาตรานี้ ไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ก่อนมีการยื่นคำร้องขอ

มาตรา 90/41 ทวิ ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันที่ผู้บริหารแผนทราบคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนของศาล ให้ผู้บริหารแผนมีอำนาจไม่ยอมรับทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือสิทธิตามสัญญาที่มีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ ตามที่ได้กำหนดไว้ในแผน
เจ้าหนี้หรือบุคคลใดได้รับความเสียหายโดยการกระทำของผู้บริหารแผนตามมาตรานี้ บุคคลนั้นอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้ทราบการกระทำนั้น ศาลมีอำนาจสั่งยืนตาม กลับ หรือแก้ไข หรือสั่งประการใดตามที่เห็นสมควร
บุคคลใดได้รับความเสียหายตามมาตรานี้ มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการสำหรับค่าเสียหายได้


ส่วนที่ 7
การประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ

มาตรา 90/42 ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย
(1) เหตุผลที่ทำให้มีการฟื้นฟูกิจการ
(2) รายละเอียดแห่งสินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันต่าง ๆ ของลูกหนี้ ในขณะที่ศาลสั่งอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการ
(3) หลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการ
(ก) ขั้นตอนของการฟื้นฟูกิจการ
(ข) การชำระหนี้ การยึดกำหนดเวลาชำระหนี้ การลดจำนวนหนี้ลง และการจัดกลุ่มเจ้าหนี้
(ค) การลดทุนและเพิ่มทุน
(ง) การก่อหนี้และระดมเงินทุน รวมตลอดถึงแหล่งของเงินทุนและเงื่อนไขแห่งหนี้สินและเงินทุนดังกล่าว
(จ) การจัดการและการหาประโยชน์จากทรัพย์สินของลูกหนี้
(ฉ) เงื่อนไขการจ่ายเงินปันผลและประโยชน์อื่นใด
(4) การไถ่ถอนหลักประกัน ในกรณีที่มีเจ้าหนี้มีประกัน และความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
(5) แนวทางแก้ปัญหา ในกรณีขาดสภาพคล่องชั่วคราวระหว่างการปฏิบัติตามแผน
(6) วิธีปฏิบัติ ในกรณีที่มีการโอนสิทธิเรียกร้องหรือโอนหนี้
(7) ชื่อ คุณสมบัติ หนังสือยินยอมของผู้บริหารแผน และค่าตอบแทน โดยนำความในมาตรา 90/6 วรรคสอง มาใช้บังคับเกี่ยวกับผู้บริหารแผนโดยอนุโลม
(8) การแต่งตั้งและการพ้นตำแหน่งของผู้บริหารแผน
(9) ระยะเวลาดำเนินการตามแผนซึ่งไม่เกินห้าปี
(10) การไม่ยอมรับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญามีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้
มิให้นำมาตรา 1117 มาตรา 1119 มาตรา 1145 มาตรา 1220 ถึงมาตรา 1228 มาตรา 1238 ถึงมาตรา 1243 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 31 มาตรา 33 มาตรา 50 มาตรา 51 มาตรา 52 มาตรา 54 มาตรา 84 มาตรา 102 มาตรา 107 มาตรา 116 มาตรา 119 มาตรา 136 มาตรา 137 มาตรา 139 มาตรา 140 มาตรา 141 มาตรา 146 ถึงมาตรา 148 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และ มาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาใช้บังคับแก่แผนตามมาตรานี้

มาตรา 90/42 ทวิ การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามมาตรา 90/42 (3)(ข) ให้จัดดังต่อไปนี้
(1) เจ้าหนี้มีประกันแต่ละรายที่มีจำนวนหนี้มีประกันไม่น้อยกว่าร้อยละสิบห้าของจำนวนหนี้ทั้งหมดที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ให้จัดเป็นรายละกลุ่ม
(2) เจ้าหนี้มีประกันที่ไม่ได้จัดกลุ่มไว้ใน (1) ให้จัดเป็นหนึ่งกลุ่ม
(3) เจ้าหนี้ไม่มีประกัน อาจจัดได้เป็นหลายกลุ่ม โดยให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน
(4) เจ้าหนี้ตามมาตรา 130 ทวิ ให้จัดเป็นหนึ่งกลุ่ม
เจ้าหนี้รายใดเห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่ได้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม และศาลอาจมีคำสั่งให้จัดกลุ่มเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็ว คำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด

มาตรา 90/43 ตรี สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน เว้นแต่เจ้าหนี้ผู้ได้รับการปฏิบัติที่เสียเปรียบในกลุ่มนั้นจะให้ความยินยอมเป็นหนังสือ

มาตรา 90/43 ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษา ให้ผู้ทำแผนส่งแผนแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ พร้อมด้วยสำเนาจำนวนอันเพียงพอ เพื่อส่งให้แก่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงและลูกหนี้
กำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจขยายให้อีกได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินหนึ่งเดือน

มาตรา 90/44 เมื่อได้รับแผนพร้อมด้วยสำเนาจากผู้ทำแผนแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดประชุมเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงโดยเร็วที่สุด เพื่อปรึกษาลงมติว่าจะยอมรับแผนหรือไม่หรือจะแก้ไขอย่างไร โดยให้ส่งสำเนาแผนและแจ้งกำหนดวัน เวลา สถานที่ และหัวข้อประชุมไปยังเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียง ลูกหนี้ และผู้ทำแผน กับให้โฆษณากำหนดการประชุมดังกล่าวในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าสิบวัน
ในกรณีที่ผู้ทำแผนมาประชุมไม่ได้เพราะมีเหตุผลพิเศษ ให้แจ้งขอเลื่อนการประชุมต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อนวันประชุม เว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัยทำให้แจ้งล่วงหน้าไม่ได้
ถ้าผู้ทำแผนไม่มาประชุม ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถามที่ประชุมเจ้าหนี้ว่าจะให้เลื่อนการพิจารณาแผนไปหรือไม่ ถ้าที่ประชุมมีมติให้เลื่อน ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เลื่อนการพิจารณาแผนได้ตามที่เห็นสมควร โดยแจ้งกำหนดวันเวลานัดประชุมใหม่ต่อที่ประชุม และให้ถือว่าเจ้าหนี้ลูกหนี้หรือผู้ทำแผนซึ่งไม่ได้มาประชุมได้ทราบนัดแล้ว

มาตรา 90/45 เจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนอาจขอแก้ไขแผน โดยยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าสามวัน
ในกรณีที่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้เป็นผู้ขอ ต้องส่งสำเนาคำขอแก้ไขแผนให้ผู้ทำแผนทราบล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าสามวันด้วย
ผู้ขอแก้ไขแผนโดยขอเปลี่ยนตัวผู้บริหารแผน ต้องส่งหนังสือยินยอมของผู้ที่จะให้เป็นผู้บริหารแผนไปพร้อมกับคำขอแก้ไขแผนด้วย

มาตรา 90/46 มติยอมรับแผนต้องเป็นมติพิเศษของ
(1) ที่ประชุมเจ้าหนี้แต่ละกลุ่มทุกกลุ่ม หรือ
(2) ที่ประชุมเจ้าหนี้อย่างน้อยหนึ่งกลุ่ม ซึ่งมิใช่กลุ่มเจ้าหนี้ตามมาตรา 90/46 ทวิ และเมื่อนับรวมจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ที่ยอมรับแผนในที่ประชุมเจ้าหนี้ทุกกลุ่มแล้ว มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบแห่งจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเอง หรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น
ในการนับจำนวนหนี้ ให้ถือว่าเจ้าหนี้ตามมาตรา 90/46 ทวิ ได้มาประชุมและได้ออกเสียงลงคะแนนในมติยอมรับแผนนั้นด้วย

มาตรา 90/46 ทวิ เจ้าหนี้ต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ที่ยอมรับแผนตามมาตรา 90/46 แล้ว
(1) เจ้าหนี้ที่ได้รับข้อเสนอจากผู้ทำแผนให้ได้รับชำระหนี้ที่ผิดนัดเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ยภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และเจ้าหนี้นั้นยังคงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามสัญญาหรือข้อตกลงเดิมต่อไป โดยให้ถือเสมือนว่าลูกหนี้ไม่เคยตกเป็นผู้ผิดนัดเลย
(2) เจ้าหนี้ที่ได้รับข้อเสนอจากผู้ทำแผนให้ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาหรือข้อตกลงเดิม
(3) เจ้าหนี้ตามมาตรา 130 ทวิ

มาตรา 90/47 ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน ถ้าที่ประชุมไม่อาจพิจารณากิจการต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นไปได้ในวันนั้น ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เลื่อนการประชุมไปในวันทำการถัดไป โดยนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งนัดประชุมใหญ่ตามมาตรา 90/44 วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 90/48 ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน ถ้ามีการขอแก้ไขแผนให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติว่าจะให้แก้ไขตามคำขอนั้นและข้อที่เกี่ยวเนื่องกันหรือไม่ก่อน ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติให้แก้ไขและผู้ทำแผนมาประชุม ก็ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบถามผู้ทำแผนว่ายอมให้แก้ไขแผนตามมติหรือไม่ เมื่อผู้ทำแผนยอมให้แก้ไขแผนแล้ว จึงให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติตามมาตรา 90/46 ว่าจะยอมรับแผนที่มีการแก้ไขนั้นหรือไม่
ในกรณีที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติให้แก้ไขแผนแต่ผู้ทำแผนไม่มาประชุม ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เลื่อนการประชุมไปเพื่อสอบถามผู้ทำแผนว่ายอมให้แก้ไขแผนตามมตินั้นหรือไม่ แล้วดำเนินการต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง โดยให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งนัดประชุมใหม่ตามมาตรา 90/44 วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีที่ไม่มีการขอแก้ไขแผนหรือผู้ทำแผนยอมให้แก้ไขแล้ว ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่มีมติตามมาตรา 90/46 ยอมรับแผนดังกล่าวก็ดี หรือไม่ลงมติประการใดก็ดี หรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดี ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลโดยไม่ชักช้า
เมื่อศาลได้รับรายงาน ให้ศาลนัดพิจารณาเป็นการด่วน และแจ้งวันเวลานัดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งแจ้งความให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน ในการพิจารณาให้ศาลพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนและฟังคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้ และคำคัดค้านข องลูกหนี้ ถ้าศาลฟังได้ความตามวรรคสาม ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แต่ถ้าเป็นกรณีลูกหนี้ได้ถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายไว้ก่อนแล้ว และศาลเห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ให้ยกคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ แล้วให้ดำเนินคดีล้มละลายที่ได้ให้งดการพิจารณาไว้นั้นต่อไป

มาตรา 90/49 ในกรณีที่มีการขอแก้ไขแผนในสาระสำคัญ เมื่อผู้ทำแผน ลูกหนี้ หรือเจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนซึ่งมีจำนวนหนี้รวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ซึ่งได้เข้าประชุม ขอให้เลื่อนการ พิจารณาแผนไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจให้เลื่อนการพิจารณาแผนได้ตามที่เห็นสมควร โดยให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งนัดประชุมใหม่ตามมาตรา 90/44 วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 90/50 ในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งที่ต้องเลื่อนมาเพราะผู้ทำแผนไม่มาประชุมตามมาตรา 90/44 หรือมาตรา 90/48 วรรคสอง ถ้าผู้ทำแผนไม่มาประชุมอีกหรือมาแต่ไม่อาจแสดงให้เป็นที่พอใจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่ามีเหตุผลพิเศษหรือมีเหตุสุดวิสัยจึงมาประชุมไม่ได้หรือแจ้งล่วงหน้าก่อนวันประชุมครั้งก่อนไม่ได้ แล้วแต่กรณี ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาว่าสมควรให้ตั้งผู้ทำแผนคนใหม่หรือไม่ ในกรณีที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติให้ตั้งผู้ทำแผนคนใหม่ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 90/51 เกี่ยวกับการเลือกผู้ทำแผนคนใหม่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติไม่ให้ตั้งผู้ทำแผนคนใหม่ ไม่ว่าจะมีการขอแก้ไขแผนหรือไม่ ถ้าผู้ทำแผนไม่มาประชุมอีกให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาแล้วลงมติตามมาตรา 90/46 ว่าจะยอมรับแผนหรือแผนที่มีการแก้ไขนั้นหรือไม่ ถ้าผู้ทำแผนมาประชุม ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการประชุมเจ้าหนี้ต่อไป ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 90/48 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 90/51 ในกรณีที่ผู้ทำแผนไม่ยอมให้แก้ไขแผนตามที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติให้แก้ไข ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่มีมติตามมาตรา 90/46 ยอมรับแผนของผู้ทำแผน ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถามที่ประชุมเจ้าหนี้ว่าจะให้ตั้งผู้ทำแผนคนใหม่หรือไม่ ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติให้มีการตั้งผู้ทำแผนคนใหม่ ให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาเลือกผู้ทำแผนคนใหม่ในวันนั้น
เจ้าหนี้ที่มาประชุมหรือลูกหนี้มีสิทธิเสนอชื่อผู้ทำแผนคนใหม่ โดยต้องแสดงหนังสือยินยอมของผู้ถูกเสนอชื่อด้วย
ถ้าไม่มีผู้ใดเสนอชื่อผู้แผนตามความในวรรคสอง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เลื่อนการประชุมไป เพื่อเลือกผู้ทำแผนคนใหม่ภายในกำหนดเวลาไม่น้อยกว่าสามวันแต่ไม่เกินเจ็ดวัน โดยให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งนัดประชุมใหม่ตามมาตรา 90/44 วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 90/52 ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเลือกผู้ทำแผนคนใหม่ได้ ให้ศาลตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทำแผนคนใหม่ โดยให้นำบทบัญญัติมาตรา 90/17 วรรคสอง และวรรคหก มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติไม่ให้ตั้งผู้ทำแผนคนใหม่ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่อาจมีมติเลือกผู้ทำแผนคนใหม่ได้ หรือศาลมีเหตุผลอันสมควรที่จะไม่ให้มีการตั้งผู้ทำแผนคนใหม่ตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดโดยเร็ว ในกรณีเช่นนี้ ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 90/48 วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 90/53 เมื่อศาลตั้งผู้ทำแผนคนใหม่ ให้อำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนคนใหม่และผู้ทำแผนคนเดิมเริ่มและสิ้นสุดในวันที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าว และให้ศาลแจ้งคำสั่งนั้นแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ทำแผนคนเดิม และผู้ทำแผนคนใหม่โดยไม่ชักช้า
เมื่อได้ทราบคำสั่งศาล ให้ผู้ทำแผนคนเดิมส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของลูกหนี้แก่ผู้ทำแผนคนใหม่โดยเร็วที่สุด
ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งนั้นในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับ กับแจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังบรรดาเจ้าหนี้ที่มีสิทธิออกเสียงและนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท หรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยด่วน เพื่อนายทะเบียนจะได้จดแจ้งคำสั่งศาลไว้ในทะเบียน และให้แจ้งไปยังผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับนิติบุคคลซึ่งเป็นลูกหนี้เพื่อทราบด้วย

มาตรา 90/54 มาตรา 90/54 ภายในกำหนดเวลาสี่สิบห้าวันนับแต่วันทราบคำสั่งศาลให้ผู้ทำแผนคนใหม่ส่งแผนแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อนัดประชุมเจ้าหนี้ตามมาตรา 90/44 วรรคหนึ่งต่อไป
กำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจขยายให้อีกได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสิบห้าวัน
ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนดังกล่าว ถ้าไม่มีการขอแก้ไขแผน ให้เสนอแผนนั้นต่อที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อลงมติตามมาตรา 90/46 ว่าจะยอมรับหรือไม่
ถ้ามีการขอแก้ไขแผน ให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติว่าจะให้แก้ไขตามคำขอนั้น และข้อที่เกี่ยวเนื่องกันก่อน หากไม่มีมติให้แก้ไข ก็ให้ลงมติตามมาตรา 90/46 ว่าจะยอมรับแผนที่เสนอตามวรรคหนึ่งหรือไม่
ถ้ามีมติให้แก้ไขแผนแต่ผู้ทำแผนไม่มาประชุม ก็ให้ลงมติตามมาตรา 90/46 ว่าจะยอมรับแผนที่มีการแก้ไขนั้นหรือไม่ ถ้าไม่มีมติตามมาตรา 90/46 ยอมรับแผนดังกล่าว ก็ให้ลงมติตามมาตรา 90/46 ว่าจะยอมรับแผนที่เสนอตามวรรคหนึ่งหรือไม่
ถ้ามีมติให้แก้ไขแผนและผู้ทำแผนมาประชุม ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบถามความยินยอมของผู้ทำแผนก่อน เมื่อผู้ทำแผนยอมให้แก้ไขแผนตามมติแล้ว จึงให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติตามมาตรา 90/46 ว่าจะยอมรับแผนที่มีการแก้ไขตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้หรือไม่ ในกรณีที่ผู้ทำแผนไม่ยอมให้แก้ไขแผนตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติตามมาตรา 90/46 ว่าจะยอมรับแผนที่มีการแก้ไขตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้หรือไม่ ถ้าไม่มีมติตามมาตรา 90/46 ยอมรับแผนดังกล่าว ก็ให้ลงมติตามมาตรา 90/46 ว่าจะยอมรับแผนที่ผู้ทำแผนยอมให้แก้ไขเพียงบางส่วน หรือแผนที่เสนอตามวรรคหนึ่งหรือไม่
ถ้า ที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่มีมติตามมาตรา 90/46 ยอมรับแผนของผู้ทำแผนคนใหม่ หรือแผนที่มีการแก้ไขก็ดี หรือไม่ลงมติประการใดก็ดี หรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดี ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลโดยไม่ชักช้า และให้นำบทบัญญัติมาตรา 90/48 วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ให้นำบทบัญญัติมาตรา 90/45 วรรคสาม มาตรา 90/47 และมาตรา 90/49 มาใช้บังคับแก่การพิจารณาแผนที่เสนอใหม่โดยอนุโลม

มาตรา 90/55 ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติตามมาตรา 90/46 ยอมรับแผน ที่ประชุมเจ้าหนี้อาจลงมติตั้งคณะกรรมการเจ้าหนี้แทนเจ้าหนี้ทั้งหลายในการสอดส่องดูแลการปฏิบัติงานตามแผนได้
คณะกรรมการเจ้าหนี้ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าสามคนและไม่เกินเจ็ดคน โดยเลือกจากเจ้าหนี้หรือผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ เจ้าหนี้คนหนึ่งจะมีผู้แทนเป็นกรรมการเจ้าหนี้เกินกว่าหนึ่งคนไม่ได้






ส่วนที่ 8
การพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ

มาตรา 90/56 ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ยอมรับแผนต่อศาลโดยเร็ว เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจะเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ ในกรณีเช่นนี้ให้ศาลกำหนดวันพิจารณาแผนเป็นการด่วน และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีเวลาส่งแจ้งความให้ผู้ทำแผน ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน

มาตรา 90/57 ในการพิจารณาแผน ให้ศาลพิจารณาคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้ทำแผน รวมทั้งข้อคัดค้านของลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงตามมาตรา 90/30 ซึ่งไม่ได้ลงมติยอมรับแผน

มาตรา 90/58 ให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่า
(1) แผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/42
(2) ข้อเสนอในการชำระหนี้ไม่ขัดต่อมาตรา 90/42 ตรี และในกรณีที่มติยอมรับแผนเป็นมติตามมาตรา 90/46 (2) ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนนั้นจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เว้นแต่เจ้าหนี้นั้นจะให้ความยินยอม และ
(3)เมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย
ในกรณีที่แผนมีรายการไม่ครบถ้วนตามมาตรา 90/42 ให้ศาลสอบถามผู้ทำแผนถ้าศาลเห็นว่ารายการในแผนที่ขาดไปนั้น ไม่ใช่สาระสำคัญในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ให้ถือว่าแผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/42
ถ้าศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน ให้ศาลนัดพิจารณาว่าสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ ในกรณีเช่นนี้ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 90/48 วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 90/59 ภายใต้บังคับมาตรา 90/42 และมาตรา 90/64 เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ให้ศาลแจ้งคำสั่งนั้นแก่ผู้บริหารแผนและผู้ทำแผนโดยไม่ชักช้า ให้บรรดาสิทธิและอำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนตกเป็นของผู้บริหารแผนตั้งแต่ผู้บริหารแผนได้ทราบคำสั่งศาล
ให้นำบทบัญญัติมาตรา 90/20 วรรคสี่ และมาตรา 90/21 วรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นลูกหนี้ตามมาตรา 90/4 (3) (4) (5) หรือ (6) ให้ศาลแจ้งคำสั่งแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 90/4 (6) แล้วแต่กรณีด้วย และห้ามมิให้ผู้มีอำนาจหน้าที่นั้นมีคำสั่งใด ๆ ที่ขัดหรือแย้งกับแผนที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ


ส่วนที่ 9
การดำเนินการภายหลังศาลมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ

มาตรา 90/60 แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้ ตามมาตรา 90/27
คำสั่งของศาลซึ่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกันหรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่วันดังกล่าว เว้นแต่บุคคลเช่นว่านั้นจะยินยอมโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

มาตรา 90/61 เจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการผู้ใดไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ตามมาตรา 90/26 หรือมาตรา 90/27 วรรคสาม แล้วแต่กรณี เจ้าหนี้ผู้นั้นย่อมหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ ไม่ว่าการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จะเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือไม่ เว้นแต่
(1) แผนจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น หรือ
(2) ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ

มาตรา 90/62 เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามแผนดังต่อไปนี้
(1) หนี้ซึ่งผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน ผู้บริหารแผนชั่วคราว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าวก่อขึ้น
(2) หนี้ภาษีอากร และ
(3) หนี้อย่างอื่นที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้ต้องชำระ เช่น เงินสมทบกองทุนเงินทดแทน เป็นต้น

มาตรา 90/63 เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว ถ้ามีความจำเป็นต้องแก้ไขแผนเพื่อให้การฟื้นฟูกิจการสำเร็จลุล่วงไปได้ ผู้บริหารแผนอาจเสนอขอแก้ไขแผน ในกรณีเช่นว่านี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 90/20 วรรคสี่ มาตรา 90/44 มาตรา 90/45 วรรคหนึ่งและวรรคสอง มาตรา 90/46 มาตรา 90/47 มาตรา 90/56 มาตรา 90/57 มาตรา 90/58 วรรคหนึ่งและวรรคสอง มาตรา 90/59 วรรคหนึ่ง และมาตรา 90/60 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ห้ามมิให้เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ขอแก้ไขข้อเสนอขอแก้ไขแผนนั้น เว้นแต่ผู้บริหารแผนจะยินยอมด้วย
การแก้ไขแผนโดยขอขยายกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนให้ทำได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินหนึ่งปี เว้นแต่ในกรณีเป็นที่เห็นได้แน่ชัดว่าแผนได้ดำเนินมาใกล้จะสำเร็จแล้ว ผู้บริหารแผนจะขอขยายเวลาต่อไปอีกตามควรแก่กรณีก็ได้
ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่มีมติตามมาตรา 90/46 ยอมรับข้อเสนอขอแก้ไขแผนตามวรรคหนึ่ง หรือศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผนดังกล่าว ให้ผู้บริหารแผนบริหารกิจการของลูกหนี้ต่อไปตามแผนเดิม

มาตรา 90/64 ผู้บริหารแผนอาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ทำข้อบังคับของลูกหนี้ขึ้นใหม่หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิของลูกหนี้ ตามแนวทางที่กำหนดในแผนหรือแผนที่แก้ไข
เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติมาตรา 90/20 วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 90/65 ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ตาย
(2) นิติบุคคลซึ่งเป็นผู้บริหารแผนเลิกกัน
(3) ศาลอนุญาตให้ลาออก
(4) ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(5) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(6) พ้นจากตำแหน่งตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน
(7) เมื่อระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลงหรือเมื่อได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน
(8) ศาลมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 90/67

มาตรา 90/66 ให้ผู้บริหารแผนจัดทำรายงานการปฏิบัติงานตามแผนเสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทุกรอบสามเดือนตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนด

มาตรา 90/67 ในกรณีที่ผู้บริหารแผนไม่ดำเนินการตามแผน หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ หรือขาดคุณสมบัติของผู้บริหารแผนตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง หรือมีเหตุอื่นที่ไม่สมควรเป็นผู้บริหารแผนต่อไป เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือคณะกรรมการเจ้าหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งหรือมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรก็ได้

มาตรา 90/68 เมื่อผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งและยังมีกิจการตามแผนที่จะต้องดำเนินต่อไป ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อลงมติตามมาตรา 90/46 เลือกผู้บริหารแผนคนใหม่โดยเร็วที่สุด
เมื่อได้มีการประชุมเจ้าหนี้สองครั้งแล้ว แต่ที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่อาจมีมติตามมาตรา 90/46 เลือกผู้บริหารแผนคนใหม่ได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาล ในกรณีเช่นนี้ ให้ศาลนัดพิจารณารายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นการด่วน และต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีเวลาส่งแจ้งความให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน
เมื่อศาลได้พิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนและฟังคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้ และลูกหนี้แล้ว ศาลจะมีคำสั่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้บริหารแผน หรือมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควร ถ้าศาลเห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าศาลไม่เห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ให้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
ให้นำบทบัญญัติมาตรา 90/21 วรรคสาม มาตรา 90/44 วรรคหนึ่งมาตรา 90/51 วรรคสองและวรรคสาม มาตรา 90/52 วรรคหนึ่ง และมาตรา 90/53 วรรคหนึ่งและวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 90/69 ในกรณีที่มีเหตุทำให้ผู้บริหารแผนทำหน้าที่ไม่ได้เป็นการชั่วคราว หรือในระหว่างที่ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งและศาลยังมิได้มีคำสั่งตั้งผู้บริหารแผนคนใหม่ ให้ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้บริหารแผนชั่วคราวจนกว่าเหตุเช่นว่านั้นสิ้นสุดลง ในระหว่างที่ไม่สามารถมีคำสั่งตั้งผู้บริหารแผนชั่วคราวได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้บริหารแผนชั่วคราว
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้บริหารแผนชั่วคราว ให้นำบทบัญญัติมาตรา 90/20 วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 90/70 ถ้าผู้บริหารของลูกหนี้ ผู้บริหารแผน ผู้บริหารแผนชั่วคราว หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่กรณี เห็นว่าการฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนแล้ว ให้รายงานขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการโดยไม่ชักช้า และให้ศาลนัดพิจารณา หากได้ความว่าการฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน ก็ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการโดยไม่ชักช้า แต่ถ้าได้ความว่าการฟื้นฟูกิจการยังไม่เป็นผลสำเร็จตามแผน ในกรณีที่ยังเหลือระยะเวลาดำเนินการตามแผน ก็ให้ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการฟื้นฟูกิจการต่อไปภายในกำหนดระยะเวลาตามแผน ถ้าในระหว่างนั้นระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลงแล้ว แต่เป็นที่เห็นได้แน่ชัดว่าแผนได้ดำเนินการมาใกล้จะสำเร็จแล้ว ศาลจะขยายระยะเวลาดำเนินการตามแผนต่อไปอีกตามควรแก่กรณีก็ได้ มิฉะนั้นให้ศาลดำเนินการต่อไปตามวรรคสอง
เมื่อระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลง แต่การฟื้นฟูกิจการยังไม่เป็นผลสำเร็จตามแผน ให้ผู้บริหารแผน ผู้บริหารแผนชั่วคราว หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่กรณี รายงานให้ศาลทราบภายในสิบสี่วันนับแต่ระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลง ในกรณีเช่นนี้ ให้ศาลนัดพิจารณาเป็นการด่วนและแจ้งวันเวลานัดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งแจ้งความให้ลูกหนี้ และ เจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าสามวัน ในการพิจารณา ให้ศาลพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนและฟังคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้ และคำคัดค้านของลูกหนี้ ถ้าศาลเห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าศาลไม่เห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ก็ให้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ
นับแต่ระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลงจนกระทั่งศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการตามวรรคสอง ให้ผู้บริหารแผน ผู้บริหารแผนชั่วคราว หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่กรณี คงมีอำนาจหน้าที่จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไปเท่าที่จำเป็น

มาตรา 90/71 เมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ แต่ผู้บริหารของลูกหนี้ยังไม่ได้เข้าไปจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ให้ผู้บริหารแผน ผู้บริหารแผนชั่วคราว หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่กรณี มีอำนาจจัดการเพื่อรักษาประโยชน์ของลูกหนี้ตามสมควรแก่พฤติการณ์ จนกว่าผู้บริหารของลูกหนี้จะเข้าจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้
ถ้าตำแหน่งผู้บริหารของลูกหนี้ว่างอยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการจนเป็นเป็นเหตุให้ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ หรือดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้มีการแต่งตั้งผู้บริหารของลูกหนี้โดยเร็วที่สุด
ในกรณีที่ต้องมีการประชุมเพื่อดำเนินการตามวรรคสอง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุมดังกล่าว และให้ถือว่าเป็นการประชุมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น


ส่วนที่ 10
การยกคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ การยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
และการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ

มาตรา 90/72 ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ ให้ศาลประกาศคำสั่งดังกล่าวในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับ กับให้ศาลแจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยด่วน เพื่อนายทะเบียนจะได้จดแจ้งคำสั่งศาลไว้ในทะเบียน และให้ศาลแจ้งไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 90/4 (6) แล้วแต่กรณี เพื่อทราบด้วย

มาตรา 90/73 ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ให้ศาลแจ้งคำสั่งดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราว แล้วแต่กรณีและผู้บริหารของลูกหนี้ โดยไม่ชักช้า
เมื่อได้ทราบคำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่งแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราว แล้วแต่กรณี ต้องส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของลูกหนี้แก่ผู้บริหารของลูกหนี้โดยเร็วที่สุด
ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ แล้วแต่กรณี ในราชกิจจานุเบกษาและหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายไม่น้อยกว่าสองฉบับ และแจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยด่วน เพื่อนายทะเบียนจะได้จดแจ้งคำสั่งศาลไว้ในทะเบียน และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 90/4 (4) แล้วแต่กรณีเพื่อทราบด้วย

มาตรา 90/74 ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้กลับเป็นของผู้บริหารของลูกหนี้ และให้ผู้ถือหุ้นของลูกหนี้กลับมีสิทธิตามกฎหมายต่อไป

มาตรา 90/75 คำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการมีผลให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ เว้นแต่หนี้ซึ่งเจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจะได้ขอรับชำระหนี้ไว้แล้ว และให้มีผลดังนี้
(1) ผู้บริหารของลูกหนี้กลับมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป
(2) ผู้ถือหุ้นของลูกหนี้กลับมีสิทธิตามกฎหมายต่อไป
(3) ค่าตอบแทนของผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผนชั่วคราวและหนี้ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผนหรือผู้บริหารแผนชั่วคราวก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ยกเว้นหนี้ละเมิด เป็นหนี้บุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้ โดยให้อยู่ในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิลำดับที่ 1 ตามมาตรา 253 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 90/76 คำสั่งศาลที่ให้ยกคำร้องขอ ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ไม่กระทบถึงการใดที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผนหรือผู้บริหารแผนชั่วคราวได้กระทำไปแล้ว ก่อนศาลมีคำสั่งเช่นว่านั้น


ส่วนที่ 11
การขอรับชำระหนี้เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด

มาตรา 90/77 ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ตามมาตรา 90/48 มาตรา 90/50 มาตรา 90/52 มาตรา 90/54 มาตรา 90/58 มาตรา 90/68 และมาตรา 90/70 ให้ถือว่าวันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาเป็นวันที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย และให้เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระในการฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งเจ้าหนี้ในหนี้อื่นที่อาจขอรับชำระหนี้ได้จากมูลหนี้ที่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91 แล้วให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา 104 ถึงมาตรา 108
หนี้ค่าตอบแทนของผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน และผู้บริหารแผนชั่วคราว และหนี้ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราวก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ รวมถึงหนี้ซึ่งลูกหนี้ก่อขึ้นโดยชอบตามมาตรา 90/12 (9) มิให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 94 (2)
หนี้ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราวก่อขึ้นตามแผนเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ให้จัดอยู่ในลำดับเดียวกับค่าใช้จ่ายของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 130 (2)
หนี้จำนวนใดที่เจ้าหนี้ตามวรรคหนึ่งได้ชำระค่าธรรมเนียมคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการแล้ว เจ้าหนี้ไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายสำหรับหนี้จำนวนนั้นอีก
ให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกแต่งตั้งเจ้าหนี้คนหนึ่งหรือหลายคนทำหน้าที่เป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์

มาตรา 90/78 คำสั่งของศาลที่ให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในมาตรา 90/48 มาตรา 90/50 มาตรา 90/52 มาตรา 90/54 มาตรา 90/58 มาตรา 90/68 และมาตรา 90/70 ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำโดยสุจริตและเป็นไปตามแผนแล้วก่อนศาลมีคำสั่งเช่นว่านั้น และมีผลให้หนี้ที่เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระในการฟื้นฟูกิจการกลับคืนสู่สถานะดังที่เป็นอยู่เดิมเว้นแต่สภาพหนี้ในขณะนั้นจะไม่เปิดช่องให้กระทำได้

ส่วนที่ 12
การอุทธรณ์

มาตรา 90/79





ส่วนที่ 13
บทกำหนดโทษว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

มาตรา 90/80 ผู้ใดยื่นคำร้องขอตามมาตรา 90/3 หรือแบบแสดงความประสงค์จะเข้าประชุมเพื่อเลือกผู้ทำแผนตามมาตรา 90/22 หรือคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/26 หรือหนังสือขอให้ผู้ทำแผนออกหนังสือรับรองสิทธิของตนตามมาตรา 90/27 วรรคสาม อันเป็นเท็จในสาระสำคัญซึ่งอาจทำให้ลูกหนี้ เจ้าหนี้ ผู้อื่น หรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 90/81 ผู้ใดให้ถ้อยคำหรือส่งสมุดบัญชี เอกสาร หรือวัตถุพยานอันเป็นเท็จในสาระสำคัญเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้หรือการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผนหรือผู้บริหารแผนชั่วคราว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 90/82 ผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งมาตรา 90/12 (9) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 90/83 ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ออกตามความในมาตรา 90/20 วรรคสอง หรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งมาตรา 90/19 มาตรา 90/21 วรรคสาม มาตรา 90/24 วรรคสอง มาตรา 90/34 มาตรา 90/36 มาตรา 90/53 วรรคสอง มาตรา 90/59 วรรคสอง มาตรา 90/68 วรรคสี่ มาตรา 90/70 วรรคสอง หรือมาตรา 90/73 วรรคสอง โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 90/84 ผู้บริหารของลูกหนี้ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1)ไม่ชี้แจงข้อความอันเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามิได้มีเจตนาฉ้อฉล
(2) มิได้แจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบภายในกำหนดเวลาสิบห้าวัน เมื่อได้ทราบว่ามีผู้นำหนี้สินอันเป็นเท็จมากล่าวอ้างเพื่อเลือกผู้ทำแผนหรือขอรับชำระหนี้ตามแผน
(3) มิได้แจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบภายในกำหนดเวลาสิบห้าวัน เมื่อได้ทราบว่ามีผู้นำหนี้สินอันเป็นเท็จมาขอให้ชำระหนี้ตามมาตรา 90/27 วรรคสาม หรือมาตรา 90/62
(4) ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่ รายชื่อ และที่อยู่ของเจ้าหนี้ทั้งหลายของลูกหนี้ตามมาตรา 90/6 วรรคสี่ หรือมาตรา 90/9 วรรคสอง หรือยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 90/35 อันเป็นเท็จในสาระสำคัญซึ่งอาจทำให้เจ้าหนี้เสียหาย
ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 90/85 ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหนี้หรือผู้อื่น โดยมุ่งหมายที่จะได้รับการสนับสนุนหรือการยอมรับของเจ้าหนี้ในการเลือกผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผน หรือการยอมรับแผนหรือการแก้ไขแผน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 90/86 ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อที่จะให้ตนเองหรือเจ้าหนี้อื่นสนับสนุนหรือไม่คัดค้านในการเลือกผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนหรือการยอมรับแผนหรือการแก้ไขแผน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 90/87 ผู้ใดล่วงรู้กิจการหรือข้อมูลใด ๆ ของลูกหนี้ที่ได้รับการฟื้นฟูเนื่องมาจากการปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ที่กำหนดในหมวด 3/1 นี้ อันเป็นกิจการหรือข้อมูลที่ตามปกติวิสัยของลูกหนี้ที่ได้รับการฟื้นฟูจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ถ้าผู้นั้นนำไปเปิดเผยด้วยประการใด ๆ นอกจากตามหน้าที่หรือเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการตามหมวด 3/1 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 90/88 ผู้ใดเป็นผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน ผู้บริหารแผนชั่วคราว ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งหมวด 3/1 โดยมุ่งหมายให้เกิดความเสียหายแก่ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 90/89 ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามความในหมวด 3/1 เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือไม่สั่งการหรือกระทำการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการ ผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย

มาตรา 90/90 ให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้เป็นผู้เสียหายในความผิดตามความในหมวด 3/1 ด้วย


หมวด 4
วิธีจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้
ส่วนที่ 1
การขอรับชำระหนี้
––––––––––––

มาตรา 91 เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน
คำขอรับชำระหนี้นั้นต้องทำตามแบบพิมพ์ โดยมีบัญชีแสดงรายละเอียดแห่งหนี้สิน และข้อความระบุถึงหลักฐานประกอบหนี้และทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดของลูกหนี้ที่ยึดไว้เป็นหลักประกันหรือตกอยู่ในความครอบครองของเจ้าหนี้

มาตรา 92 บุคคลใดได้รับความเสียหายเพราะสิ่งของของตนถูกยึดไปตามมาตรา 109 (3) ก็ดี หรือเพราะการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ถูกเพิกถอนตามมาตรา 115 ก็ดี หรือเพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญาตามมาตรา 122 ก็ดี มีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับราคาสิ่งของหรือหนี้เดิมหรือค่าเสียหายได้แล้วแต่กรณีภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91 แต่ให้นับจากวันที่อาจใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ได้ ถ้าข้อโต้เถียงเป็นคดี ให้นับจากวันคดีถึงที่สุด

มาตรา 93 ในกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีที่ค้างพิจารณาอยู่แทนลูกหนี้ ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดี เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91 แต่ให้นับจากวันคดีถึงที่สุด

มาตรา 94 เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่
(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย หรือศีลธรรมอันดีหรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้
(2) หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทำขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้

มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น

มาตรา 96 เจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ภายในเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) เมื่อยินยอมสละทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายแล้ว ขอรับชำระหนี้ได้เต็มจำนวน
(2) เมื่อได้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่
(3)เมื่อได้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่
(4) เมื่อตีราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ ในกรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจไถ่ถอนทรัพย์สินตามราคานั้นได้ถ้าเห็นว่าราคานั้นไม่สมควร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขายทรัพย์สินนั้นตามวิธีการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ตกลงกัน ถ้าไม่ตกลงกัน จะขายทอดตลาดก็ได้แต่ต้องไม่ให้เสียหายแก่เจ้าหนี้นั้นและเจ้าหนี้หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดได้ เมื่อขายได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด ให้ถือว่าเป็นราคาที่เจ้าหนี้ได้ตีมาในคำขอ
ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่แจ้งโดยหนังสือให้เจ้าหนี้ทราบว่าจะใช้สิทธิไถ่ถอนหรือตกลงให้ขายทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันภายในกำหนดเวลาสี่เดือนนับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ให้ถือว่ายินยอมให้ทรัพย์สินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์แก่เจ้าหนี้ตามราคาที่เจ้าหนี้ได้ตีมา และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หมดสิทธิไถ่ถอนหรือขายทรัพย์สินนั้น
บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ไม่ให้ใช้บังคับในกรณีที่ตามกฎหมายลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน

มาตรา 97 ถ้าเจ้าหนี้มีประกันขอรับชำระหนี้โดยไม่แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกัน เจ้าหนี้นั้นต้องคืนทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และสิทธิเหนือทรัพย์นั้นเป็นอันระงับ เว้นแต่เจ้าหนี้นั้นจะแสดงต่อศาลได้ว่า การละเว้นนั้นเกิดขึ้นโดยพลั้งเผลอ ในกรณีเช่นนี้ศาลอาจอนุญาตให้แก้ไขข้อความในรายการแห่งคำขอรับชำระหนี้ โดยกำหนดให้คืนส่วนแบ่งหรือกำหนดอย่างอื่นตามที่เห็นสมควรก็ได้

มาตรา 98 ถ้าหนี้ที่ขอรับชำระได้กำหนดไว้เป็นเงินตราต่างประเทศให้คิดเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์

มาตรา 99 ถ้าเป็นหนี้ค่าเช่าหรือหนี้อย่างอื่นซึ่งมีกำหนดระยะเวลาให้ชำระ และวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไม่ตรงกับวันกำหนด เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ตามส่วนจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ได้

มาตรา 100 ดอกเบี้ยหรือเงินค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น ไม่ให้ถือว่าเป็นหนี้ที่จะขอรับชำระได้

มาตรา 101 ถ้าลูกหนี้ร่วมบางคนถูกพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้ร่วมคนอื่นอาจยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้เว้นแต่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว
บทบัญญัติในวรรคก่อนให้ใช้บังคับแก่ผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันร่วม หรือบุคคลที่อยู่ในลักษณะเดียวกันนี้โดยอนุโลม

มาตรา 102 ถ้าเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้ในเวลาที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ถึงแม้ว่ามูลแห่งหนี้ทั้งสองฝ่ายจะไม่มีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันก็ดี หรืออยู่ในเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาก็ดี ก็อาจหักกลบลบกันได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ภายหลังที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว

มาตรา 103 เมื่อบุคคลซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับหนี้ที่อยู่ในเงื่อนไขบังคับก่อนขอหักกลบลบหนี้ บุคคลนั้นจะต้องให้ประกันสำหรับจำนวนที่ขอหักกลบลบหนี้นั้น

มาตรา 104 เมื่อพ้นกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับนัดลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายมาพร้อมกันเพื่อตรวจคำขอรับชำระหนี้ โดยแจ้งความให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

มาตรา 105 ในการตรวจคำขอรับชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจออกหมายเรียกเจ้าหนี้ลูกหนี้หรือบุคคลใดมาสอบสวนในเรื่องหนี้สิน แล้วทำความเห็นส่งสำนวนเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระนั้นต่อศาล พร้อมทั้งรายงานว่ามีผู้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ประการใดหรือไม่

มาตรา 106 คำขอรับชำระหนี้รายใด ถ้าลูกหนี้ เจ้าหนี้หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่โต้แย้ง ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้รับชำระหนี้ได้ เว้นแต่มีเหตุอันสมควรสั่งเป็นอย่างอื่น

มาตรา 107 คำขอรับชำระหนี้รายใดถ้ามีผู้โต้แย้ง ให้ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(1) ให้ยกคำขอรับชำระหนี้
(2) อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน
(3) อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้บางส่วน

มาตรา 108 คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ซึ่งศาลได้สั่งอนุญาตแล้วนั้นถ้าต่อมาปรากฏว่าศาลได้สั่งไปโดยผิดหลงเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจยกคำขอรับชำระหนี้หรือลดจำนวนหนี้ที่ได้สั่งอนุญาตไปแล้วได้


ส่วนที่ 2
ทรัพย์สินซึ่งอาจเอามาชำระหนี้
–––––––––––––

มาตรา 109 ทรัพย์สินดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้
(1) ทรัพย์สินทั้งหลายอันลูกหนี้มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายรวมทั้งสิทธิเรียกร้องเหนือทรัพย์สินของบุคคลอื่นเว้นแต่
ก. เครื่องใช้สอยส่วนตัวอันจำเป็นแก่การดำรงชีพ ซึ่งลูกหนี้รวมทั้งภริยาและบุตรผู้เยาว์ของลูกหนี้ จำเป็นต้องใช้ตามสมควรแก่ฐานานุรูป และ
ข. สัตว์ พืชพันธุ์ เครื่องมือและสิ่งของสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพของลูกหนี้ราคารวมกันไม่เกินหนึ่งแสนบาท
(2) ทรัพย์สินซึ่งลูกหนี้ได้มาภายหลังเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายจนถึงเวลาปลดจากล้มละลาย
(3) สิ่งของซึ่งอยู่ในครอบครองหรืออำนาจสั่งการหรือสั่งจำหน่ายของลูกหนี้ ในทางการค้าหรือธุรกิจของลูกหนี้ ด้วยความยินยอมของเจ้าของอันแท้จริง โดยพฤติการณ์ซึ่งทำให้เห็นว่าลูกหนี้เป็นเจ้าของในขณะที่มีการของให้ลูกหนี้นั้นล้มละลาย


ส่วนที่ 3
ผลของการล้มละลายเกี่ยวกับกิจการที่ได้กระทำไปแล้ว
––––––––––

มาตรา 110 คำสั่งของศาลที่ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้ชั่วคราว หรือหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้นั้น จะใช้ยันแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไม่ได้ เว้นแต่การบังคับคดีนั้นได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนวันมีศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
การบังคับคดีนั้น ให้ถือว่าได้สำเร็จบริบูรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
บทบัญญัติในมาตรานี้ไม่กระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน หรือถึงการที่ผู้ใดได้ชำระเงินโดยสุจริตแก่ศาล หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาล หรือถึงความสมบูรณ์แห่งการซื้อโดยสุจริตในการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามคำสั่งศาล

มาตรา 111 เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จำหน่ายทรัพย์สินแล้วแต่ยังไม่ได้จ่ายเงิน ถ้าได้รับคำแจ้งความว่าได้มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายก่อนที่การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกักเงินไว้ และถ้าต่อไปศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคิดหักไว้เป็นค่าใช้จ่ายของเจ้าพนักงานบังคับคดีและค่าธรรมเนียมโจทก์ในชั้นบังคับคดีเหลือเท่าใด ให้ส่งเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลาย ในกรณีเช่นว่านี้มิให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 112 ถ้าในระหว่างที่การบังคับคดียังไม่สำเร็จบริบูรณ์เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับคำแจ้งความว่าลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งรายการทรัพย์สินของลูกหนี้ที่อยู่ในอำนาจหรือความยึดถือของตนแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และให้ปฏิบัติตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น ค่าใช้จ่ายของเจ้าพนักงานบังคับคดีและค่าธรรมเนียมโจทก์ในชั้นบังคับคดี ให้หักจากทรัพย์สินนั้นได้ก่อน ในกรณีเช่นว่านี้มิให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 113 การขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอได้โดยทำเป็นคำร้อง

มาตรา 114 ถ้านิติกรรมที่ขอเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 113 นั้น เกิดขึ้นภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น หรือเป็นการทำให้โดยเสน่หาหรือเป็นการที่ลูกหนี้ได้รับค่าตอบแทนน้อยเกินสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่ลูกหนี้และผู้ที่ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ

มาตรา 115 การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้
ถ้าเจ้าหนี้ผู้ได้เปรียบเป็นบุคคลภายในของลูกหนี้ ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำตามวรรคหนึ่งที่ได้กระทำขึ้นในระหว่างระยะเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น

มาตรา 116 บทบัญญัติในมาตรา 115 ไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย


ส่วนที่ 4
การรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สิน
––––––––––

มาตรา 117 เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจออกหมายเรียกลูกหนี้ คู่สมรสของลูกหนี้ หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งได้ความหรือสงสัยว่ามีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง หรือเชื่อว่าเป็นหนี้ลูกหนี้ หรือเห็นว่าสามารถแจ้งข้อความเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของลูกหนี้มาไต่สวน หรือสอบสวน และมีอำนาจสั่งให้บุคคลนั้น ๆ ส่งเอกสารหรือวัตถุพยานซึ่งอยู่ในความยึดถือ หรืออำนาจของผู้นั้นอันเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของลูกหนี้
ถ้าบุคคลนั้นจงใจขัดขืนหมายเรียกหรือคำสั่ง ศาลมีอำนาจออกหมายจับบุคคลนั้นมาขังไว้จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

มาตรา 118 เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ศาลมีอำนาจบังคับให้บุคคลที่รับว่าเป็นหนี้ลูกหนี้หรือรับว่ามีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครองชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา

มาตรา 119 เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ลูกหนี้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งความเป็นหนังสือไปยังบุคคลนั้นให้ชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินตามจำนวนที่ได้แจ้งไปและให้แจ้งไปด้วยว่าถ้าจะปฏิเสธ ให้แสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธเป็นหนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันได้รับแจ้งความมิฉะนั้นจะถือว่าเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ตามจำนวนที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด
ถ้าบุคคลที่ได้รับแจ้งความนั้นปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามวรรคก่อน ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวน เมื่อเห็นว่าบุคคลนั้นไม่ได้เป็นหนี้ ให้จำหน่ายชื่อจากบัญชีลูกหนี้ และแจ้งให้บุคคลนั้นทราบ ถ้าเห็นว่าบุคคลนั้นเป็นหนี้เท่าใด ให้แจ้งจำนวนเป็นหนังสือยืนยันไปยังบุคคลที่จะต้องรับผิดนั้น และให้แจ้งไปด้วยว่าถ้าจะคัดค้านประการใดให้ร้องคัดค้านต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันได้รับแจ้งความยืนยัน
ถ้าบุคคลที่ได้รับแจ้งความยืนยันคัดค้านต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องภายในกำหนดเวลาตามวรรคก่อน ให้ศาลพิจารณาถ้าพอใจว่าเป็นหนี้ ให้มีคำบังคับให้บุคคลนั้นชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ถ้าเห็นว่าไม่ได้เป็นหนี้ ให้มีคำส่งให้จำหน่ายจากบัญชีลูกหนี้
ถ้าบุคคลที่ได้รับแจ้งความจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้ปฏิเสธต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือมิได้ร้องคัดค้านต่อศาลตามกำหนดเวลาที่กล่าวข้างต้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอต่อศาลให้บังคับให้บุคคลนั้นชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร
ถ้าบุคคลนั้นไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
ในกรณีที่ผู้ถูกทวงหนี้ร้องคัดค้านต่อศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลให้สั่งยึด หรืออายัดทรัพย์สินของผู้ร้องคัดค้านไว้ชั่วคราวก่อนมีคำสั่งในเรื่องหนี้นั้นได้

มาตรา 120 ถ้าลักษณะแห่งธุรกิจของลูกหนี้มีเหตุอันสมควรที่จะดำเนินต่อไป เมื่อได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินธุรกิจของลูกหนี้นั้นเองเพื่อชำระสะสางธุรกิจนั้นให้เสร็จไปหรือจะตั้งบุคคลใดหรือลูกหนี้เป็นผู้จัดการโดยกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ก็ได้
ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตั้งบุคคลใดนอกจากลูกหนี้เป็นผู้จัดการบุคคลนั้นต้องให้ประกันตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่ง และมีสิทธิได้รับบำเหน็จตามที่ที่ประชุมเจ้าหนี้กำหนด ถ้ามิได้กำหนดไว้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้กำหนด
ผู้จัดการต้องทำบัญชียื่นตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่ง

มาตรา 121 ถ้าลูกหนี้เป็นข้าราชการ เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิรับเงินเดือน บำเหน็จ บำนาญ เบี้ยหวัด หรือเงินในทำนองเดียวกันนี้ของลูกหนี้จากเจ้าหน้าที่เพื่อรวบรวมแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ได้ แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพลูกหนี้และครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูป
บทบัญญัติในวรรคก่อน ให้ใช้บังคับในกรณีที่ลูกหนี้มีสิทธิได้รับเงินจากบุคคลหรือองค์การอื่นที่มิใช่รัฐบาลด้วย

มาตรา 122 ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบว่า ทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญามีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญานั้นได้
บุคคลใดได้รับความเสียหายโดยเหตุที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับดังกล่าว มีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับค่าเสียหายได้

มาตรา 123 ทรัพย์สินซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมได้มา เมื่อลูกหนี้ล้มละลายแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขายตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุด
การขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดนั้น ต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ เว้นแต่ทรัพย์สินที่เป็นของเสียง่ายหรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนกับค่าของทรัพย์สินนั้น
ผู้ได้รับโอนทรัพย์สินจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการขายหรือการแบ่ง ไม่ต้องรับผิดในค่าภาษีอากรหรือจังกอบสำหรับปีก่อนที่ได้รับโอน


ส่วนที่ 5
การแบ่งทรัพย์สิน
–––––––––

มาตรา 124 ทรัพย์สินซึ่งเหลือจากที่กันไว้สำหรับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องจัดการแบ่งในระหว่างเจ้าหนี้โดยเร็ว
การแบ่งทรัพย์สินต้องกระทำทุกระยะเวลาไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เว้นแต่ศาลจะได้อนุญาตให้ขยายเวลาต่อไปโดยมีเหตุสมควร

มาตรา 125 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องกันเงินส่วนแบ่งรายที่มีเงื่อนไขหรือมีข้อโต้แย้ง และค่าธรรมเนียมกับค่าใช้จ่ายอันอาจเกิดขึ้นไว้ตามสมควร แล้วแบ่งเงินที่เหลือให้แก่เจ้าหนี้นอกนั้นไป

มาตรา 126 ก่อนกระทำการแบ่งครั้งใด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยหนึ่งฉบับ และส่งแจ้งความไปยังเจ้าหนี้และบุคคลล้มละลายล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน กำหนดวันเวลาให้มาตรวจบัญชีส่วนแบ่ง ถ้าไม่มีผู้ใดคัดค้าน ให้ถือว่าบัญชีนั้นถูกต้องและเป็นที่สุด แล้วให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาการแบ่งไว้ ณ สำนักงาน และแจ้งจำนวนส่วนแบ่งที่จะจ่ายไปยังเจ้าหน้าหนี้

มาตรา 127 ถ้ามีผู้มีส่วนได้เสียคนใดคัดค้านบัญชีส่วนแบ่ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาคำคัดค้านและคำชี้แจงของเจ้าหนี้และบุคคลล้มละลาย แล้วสั่งตามที่เห็นสมควร
ผู้มีส่วนได้เสียอาจคัดค้านคำสั่งนั้นโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลได้ภายในกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้ฟังคำสั่ง
ถ้ามีผู้คัดค้านต่อศาล ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เลื่อนการจ่ายเงินไปจนกว่าศาลได้มีคำสั่งแล้ว แต่ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่าการเลื่อนนั้นจะทำให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับความเสียหาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะกันเงินค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอันอาจเกิดขึ้นไว้ตามสมควร แล้วแบ่งเงินที่เหลือให้แก่เจ้าหนี้รายที่ไม่มีข้อโต้แย้งไปก่อนได้

มาตรา 128 ห้ามมิให้จ่ายส่วนแบ่ง แก่เจ้าหนี้คนใดเมื่อรวมส่วนแบ่งทุกครั้งแล้วเป็นเงินไม่ถึงหนึ่งบาท

มาตรา 129 สามีหรือภริยาของบุคคลล้มละลายจะได้รับส่วนแบ่งในฐานะเจ้าหนี้ต่อเมื่อเจ้าหนี้อื่นใดได้รับชำระหนี้เป็นที่พอใจแล้ว

มาตรา 130 ในการแบ่งทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้นั้น ให้ชำระค่าใช้จ่ายและหนี้สินตามลำดับดังต่อไปนี้
(1) ค่าใช้จ่ายในการจัดการมรดกของลูกหนี้
(2) ค่าใช้จ่ายของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้
(3) ค่าปลงศพลูกหนี้ตามสมควรแก่ฐานานุรูป
(4) ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินตามมาตรา 179 (3)
(5) ค่าธรรมเนียมของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และค่าทนายความตามที่ศาล หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนด
(6) ค่าภาษีอากรที่ถึงกำหนดชำระภายในหกเดือนก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เพื่อการงานที่ได้ทำให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นนายจ้างตามมาตรา 257 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
(7) หนี้อื่น ๆ
ถ้ามีเงินไม่พอชำระเต็มจำนวนหนี้ในลำดับใดให้เจ้าหนี้ในลำดับนั้นได้รับเฉลี่ยตามส่วน

มาตรา 130 ทวิ ในกรณีที่หนี้ตามมาตรา 130 (7) รายใดมีการกำหนดโดยกฎหมายหรือสัญญาให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ต่อเมื่อเจ้าหนี้อื่นได้รับชำระหนี้จนเต็มจำนวนแล้ว เจ้าหนี้ดังกล่าวนั้นยังคงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทรัพย์สินตามสิทธิที่ตนมีอยู่ตามที่กำหนดไว้โดยกฎหมายหรือสัญญานั้น

มาตรา 131 ก่อนกระทำการแบ่งครั้งที่สุด ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งแจ้งความไปยังผู้ที่เกี่ยวค้างค่าจ้างแรงงานหรือเงินที่ได้ออกไปโดยคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ให้ส่งบัญชีเงินที่เกี่ยวค้างนั้นภายในสิบสี่วันนับแต่วันได้รับแจ้งความ ถ้าไม่ส่งตามกำหนด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดการแบ่งครั้งที่สุด และจ่ายเงินไปโดยไม่คำนึงถึงเงินที่เกี่ยวค้างอยู่นั้นถ้าผู้ที่ได้รับแจ้งความไม่ปฏิบัติดังว่านี้ ผู้นั้นหมดสิทธิเรียกร้องต่อไป
กำหนดเวลาดังกล่าวไว้ในวรรคก่อน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขยายได้เมื่อมีเหตุสมควร

มาตรา 132 เมื่อได้ชำระหนี้ทั้งหมดโดยเต็มจำนวนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้กับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในคดีล้มละลายหมดแล้ว ถ้ายังมีทรัพย์สินเหลืออยู่ให้คืนแก่บุคคลล้มละลายไป


ส่วนที่ 6
การปิดคดี
––––––––

มาตรา 133 เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้หรือได้หยุดกระทำการตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ หรือเมื่อลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินจะให้แบ่ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจทำรายงานแสดงกิจการและบัญชีรับจ่ายในคดีล้มละลายยื่นต่อศาลและขอให้ศาลสั่งปิดคดีได้
เมื่อศาลได้พิจารณารายงานและบัญชีของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกอบกับคำคัดค้านของเจ้าหนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียแล้ว ศาลจะสั่งให้ปิดคดีหรือไม่ก็ได้
ถ้าศาลสั่งไม่ให้ปิดคดี เมื่อเจ้าหนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียมีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลอาจสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับผิดในการที่ได้กระทำหรือละเว้นกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ก็ได้
คำสั่งปิดคดีทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พ้นจากความรับผิดในหน้าที่จนถึงวันที่ศาลสั่งนั้น
ถ้าปรากฏว่าศาลได้สั่งไปโดยผิดหลง ศาลอาจเพิกถอนคำสั่งปิดคดีนั้นได้

มาตรา 134 คำสั่งปิดคดีมีผลเพียงให้ระงับการจัดการต่าง ๆ ไว้แต่ไม่ทำให้คดีล้มละลายสิ้นสุด และไม่ทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หลุดพ้นจากหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) หน้าที่ตามมาตรา 160
(2) หน้าที่อนุมัติการใด ๆ ที่กฎหมายบัญญัติไว้
(3) หน้าที่ตรวจบัญชีรับจ่ายของบุคคลล้มละลาย
ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่าบุคคลล้มละลายมีทรัพย์สินขึ้นใหม่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจขอให้ศาลเปิดคดีต่อไปได้


ส่วนที่ 7
การยกเลิกการล้มละลาย
–––––––

มาตรา 135 เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอศาลมีอำนาจสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ ถ้าปรากฏเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(1) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจดำเนินการให้ได้ผลเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย เพราะเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ไม่ช่วยหรือยอมเสียค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายหรือวางเงินประกันตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกร้อง และไม่มีเจ้าหนี้อื่นสามารถและเต็มใจกระทำการดังกล่าวแล้ว ภายในกำหนดเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ขัดขืนหรือละเลยนั้น
(2) ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย
(3) หนี้สินของบุคคลล้มละลายได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว
ถ้าลูกหนี้ปฏิเสธหนี้สินรายใด แต่ลูกหนี้ยอมทำสัญญาและให้ประกันต่อศาลว่าจะใช้เงินให้เต็มจำนวนกับค่าธรรมเนียมด้วยก็ดี หรือถ้าหาตัวเจ้าหนี้ไม่พบแต่ลูกหนี้ได้นำเงินเต็มจำนวนมาวางต่อศาลก็ดี ให้ถือว่าหนี้สินรายนั้นได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว
(4) เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แบ่งทรัพย์ครั้งที่สุด หรือไม่มีทรัพย์สินจะแบ่งให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ต่อแต่นั้นมาภายในกำหนดเวลาสิบปีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจรวบรวมทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายได้อีกและไม่มีเจ้าหนี้มาขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดการรวบรวมทรัพย์สินของบุคคลล้มละลาย

มาตรา 136 คำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา 135 (1) หรือ (2) นั้น ไม่ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นหนี้สินแต่อย่างใด

มาตรา 137 คำสั่งยกเลิกการล้มละลายไม่กระทบถึงการใดที่ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กระทำไปแล้ว ส่วนทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายให้ตกแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดตามที่ศาลกำหนด หรือถ้าไม่ได้กำหนด ก็ให้คืนแก่บุคคลล้มละลาย

มาตรา 138 เมื่อศาลได้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ


หมวด 5
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ส่วนที่ 1
การแต่งตั้งและถอดถอน
––––––

มาตรา 139 รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนที่เห็นสมควร โดยเฉพาะตัวหรือโดยตำแหน่งหน้าที่ให้เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และมีอำนาจถอดถอนได้
การแต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น ให้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา


ส่วนที่ 2
อำนาจหน้าที่
–––––––

มาตรา 140 ในการเป็นคู่ความในศาลก็ดี ในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ก็ดี หรือในการกระทำการอื่นเพื่อให้เป็นไปตามหน้าที่ก็ดี ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ใช้นามตำแหน่งว่า `เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของ............ลูกหนี้' หรือ `เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของ...............ผู้ล้มละลาย' โดยกรอกนามของลูกหนี้หรือผู้ล้มละลายลงในช่องว่างแล้วแต่กรณี

มาตรา 141 ในการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจ้างทนายความเข้าทำการแทนได้

มาตรา 142 นอกจากที่มีบัญญัติไว้ในบทมาตราอื่น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) รายงานข้อความเกี่ยวกับกิจการ ทรัพย์สิน หรือความประพฤติของลูกหนี้ตามที่ศาลต้องการ
(2) ช่วยซักถามลูกหนี้หรือบุคคลอื่นในการที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 143 ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการใดที่เป็นปัญหาได้

มาตรา 144 ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นเป็นการจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์แห่งการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้วให้กู้ยืมได้

มาตรา 145 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะกระทำการดังต่อไปนี้ได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้แล้ว
(1) ถอนการยึดทรัพย์ในคดีล้มละลาย
(2) โอนทรัพย์สินใด ๆ นอกจากโดยวิธีขายทอดตลาด
(3) สละสิทธิ
(4) ฟ้องหรือถอนฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินในคดีล้มละลาย หรือฟ้องหรือถอนฟ้องคดีล้มละลาย
(5) ประนีประนอมยอมความหรือมอบคดีให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

มาตรา 146 ถ้าบุคคลล้มละลาย เจ้าหนี้ หรือบุคคลใดได้รับความเสียหายโดยการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ บุคคลนั้นอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้ทราบการกระทำหรือคำวินิจฉัยนั้น ศาลมีอำนาจสั่งยืนตาม กลับหรือแก้ไขหรือสั่งประการใดตามที่เห็นสมควร

มาตรา 147 ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว เว้นแต่จะได้กระทำโดยเจตนาร้าย หรือโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

มาตรา 148 การฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือเจ้าพนักงานอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ ในการที่ได้กระทำหรือละเว้นกระทำการตามที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ถ้ามิได้ฟ้องภายในกำหนดเวลาหกเดือนนับแต่วันที่เกิดอำนาจฟ้องให้ถือว่าขาดอายุความ


หมวด 6
อำนาจศาลและกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย
ส่วนที่ 1
อำนาจศาล
–––––––––––––––

มาตรา 149

มาตรา 150 การยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอให้ล้มละลายให้ยื่นต่อศาลซึ่งลูกหนี้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขต หรือประกอบธุรกิจอยู่ในเขต ไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยตัวแทน ในขณะที่ยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอหรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น

มาตรา 151 ศาลต้องสอดส่องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติหน้าที่โดยเรียบร้อย เพื่อการนี้ให้มีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คำชี้แจงในเรื่องบัญชีหรือเรื่องใด ๆ เกี่ยวกับกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย หรือจะสั่งให้กระทำหรือละเว้นกระทำการตามที่เห็นสมควรได้

มาตรา 152 ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่กองทรัพย์สินในคดีล้มละลายโดยเจตนาร้ายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงศาลมีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชดใช้ค่าเสียหายเป็นส่วนตัวตามที่เห็นสมควรได้


ส่วนที่ 2
กระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย
–––––––––

มาตรา 153

มาตรา 154 ในคดีที่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวแล้วถ้าเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ทิ้งฟ้อง ถอนฟ้องหรือขาดนัดพิจารณา ก่อนที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดี ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยหนึ่งฉบับเพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายทราบ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

มาตรา 155 เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์มีหน้าที่ระวังประโยชน์ของเจ้าหนี้ทั้งหลาย ช่วยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการรวบรวมจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้และรับผิดในบรรดาค่าธรรมเนียม ค่าเสียหาย และค่าใช้จ่ายในคดีล้มละลายนั้นเพื่อประกันการรับผิดนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเรียกประกันจากเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ตามจำนวนที่เห็นว่าจำเป็น

มาตรา 156 ถ้าเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ขัดขืนหรือละเลยไม่ช่วยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือไม่ให้ประกันตามที่กล่าวไว้ในมาตรา 155 ภายในกำหนดเวลาเจ็ดวัน นับแต่วันที่ได้รับคำแจ้งความ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วยความเห็นชอบของที่ประชุมเจ้าหนี้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหนี้คนอื่นเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์แทนต่อไป

มาตรา 157 เมื่อได้ส่งแจ้งความนัดประชุมหรือแจ้งความใด ๆไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายในราชอาณาจักรแล้ว แม้เจ้าหนี้บางคนจะยังไม่ได้รับก็ไม่ทำให้การประชุมหรือการนั้นเสียไป

มาตรา 158 ผู้มีส่วนได้เสียคนใดเห็นวาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีสิทธิยึดทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใด ให้คัดค้านต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับคำคัดค้านแล้วให้สอบสวนและมีคำสั่ง ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งไม่ให้ถอนการยึด ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันได้ทราบคำสั่งนั้น เมื่อศาลได้รับคำร้องขอแล้ว ให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งชี้ขาดเหมือนอย่างคดีธรรมดา โดยเรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาสู้คดี

มาตรา 159 เมื่อศาลได้พิพากษาหรือมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วให้แจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ


หมวด 7
การสอบสวนและบทกำหนดโทษ
ส่วนที่ 1
การสอบสวน
––––––––––––

มาตรา 160 ในระหว่างดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย ถ้ามีเหตุควรเชื่อได้ว่าลูกหนี้หรือผู้หนึ่งผู้ใดได้กระทำความผิดในทางอาญาเกี่ยวกับการล้มละลาย ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย
ในกรณีที่พนักงานอัยการมีความเห็นว่าไม่ควรฟ้อง ซึ่งแย้งกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้ส่งสำนวนไปยังอธิบดีกรมอัยการเพื่อสั่ง


ส่วนที่ 2
บทกำหนดโทษ
–––––––––

มาตรา 161 ลูกหนี้คนใดฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งมาตรา 67 (3) โดยไม่มีข้อแก้ตัวอันสมควร มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสองเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 162 ลูกหนี้คนใดฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งมาตรา 64 มาตรา 65มาตรา 79 หรือมาตรา 80 โดยไม่มีข้อแก้ตัวอันสมควร หรือขัดขืนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 16 (1) มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสี่เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 163 ลูกหนี้คนใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้มีความผิดต้องระวางโทษปรับ
ไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
(1) ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งมาตรา 23 มาตรา 30 หรือมาตรา 67 (1)หรือ (2) โดยไม่มีข้อแก้ตัวอันสมควร
(2) ละเว้นไม่แจ้งข้อความอันเป็นสาระสำคัญ หรือกล่าวเท็จเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของตน
ต่อศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามิได้มีเจตนาฉ้อฉล
(3) มิได้แจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบภายในกำหนดเวลาหนึ่งเดือน เมื่อได้ทราบหรือมีเหตุผลอันสมควรเชื่อได้ว่ามีผู้นำหนี้สินอันเป็นเท็จมาขอรับชำระในคดีล้มละลาย

มาตรา 164 ในระหว่างเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือภายหลังนั้น แต่ก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้คนใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
(1) ยักย้าย ซุกซ่อน ทำลาย ก่อความชำรุดหรือเปลี่ยนแปลงดวงตราสมุดบัญชี หรือเอกสารอันเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของตน หรือรู้เห็นเป็นใจด้วยการกระทำนั้น ๆ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า มิได้มีเจตนาปกปิดสภาพแห่งกิจการของตน
ถ้าปรากฏว่า ดวงตรา สมุดบัญชี หรือเอกสารสูญหาย ชำรุด หรือเปลี่ยนแปลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าลูกหนี้เป็นผู้กระทำ
(2) ละเว้นจดข้อความอันเป็นสาระสำคัญ หรือจดข้อความเท็จลงในสมุดบัญชีหรือเอกสารอันเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของตน หรือรู้เห็นเป็นใจในการนั้น
(3) นำทรัพย์สินซึ่งได้มาโดยเชื่อและยังมิได้ชำระราคาไปจำนำจำนองหรือจำหน่าย เว้นแต่การนั้นเป็นปกติธุระของลูกหนี้ และพิสูจน์ได้ว่ามิได้มีเจตนาฉ้อฉล
(4) รับสินเชื่อจากบุคคลอื่นโดยใช้อุบายหลอกลวงหรือซุกซ่อนโอน หรือส่งมอบทรัพย์สินของตนโดยทุจริตหรือกระทำ หรือยอมให้ผู้อื่นกระทำให้ทรัพย์สินของตนต้องมีภาระผูกพันขึ้นโดยทุจริต หรือยอมหรือสมยอมกับบุคคลอื่นให้ศาลพิพากษาให้ตนต้องชำระหนี้ซึ่งตนมิควรต้องชำระ

มาตรา 165 ในระหว่างเวลาตั้งแต่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จนถึงเวลาที่พ้นจากล้มละลาย ลูกหนี้คนใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
(1)รับสินเชื่อจากผู้อื่นมีจำนวนตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทขึ้นไปโดยมิได้แจ้งให้ผู้นั้นทราบว่าตนถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือล้มละลาย
(2)ประกอบการค้าหรือธุรกิจโดยใช้นามตัวหรือนามสมญาผิดจากที่ตนถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือล้มละลาย และในการนั้นได้รับสินเชื่อจากบุคคลอื่นโดยมิได้แจ้งให้ผู้นั้นทราบว่าตนถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือล้มละลาย
(3)ประกอบการค้าหรือธุรกิจโดยใช้นามหรือนามสมญาของผู้อื่นบังหน้า
(4)ประกอบการค้าหรือธุรกิจโดยใช้นามตัวหรือนามสมญาผิดไปจากที่ตนถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือล้มละลาย โดยมิได้โฆษณารายการดังต่อไปนี้ในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยสองฉบับ
ก. นามตัวและนามสมญาที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือล้มละลาย
ข. ตำบลที่ตนประกอบการค้าหรือธุรกิจในขณะที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์
ค. นามตัวและนามสมญาซึ่งประสงค์จะใช้ต่อไปในการค้าหรือธุรกิจ
ง. ลักษณะของการค้าหรือธุรกิจที่จะประกอบต่อไป
จ. ตำบลที่จะประกอบการค้าหรือธุรกิจ

มาตรา 166 ลูกหนี้คนใดมีหนี้สินเนื่องในการค้าหรือธุรกิจอยู่ในขณะที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
(1) เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบถามหรือศาลทำการไต่สวน ลูกหนี้ไม่สามารถให้เหตุผลอันสมควรถึงการที่ได้เสียทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมากในระหว่างเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ล้มละลาย หรือภายหลังนั้นแต่ก่อนมีคำสั่งพิทักษ์
(2) กระทำหนี้สินอันพึงขอรับชำระได้ในคดีล้มละลายโดยไม่มีเหตุอันน่าเชื่อว่าจะสามารถชำระหนี้นั้นได้

มาตรา 167 บุคคลซึ่งประกอบพาณิชยกิจตามที่ระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนพาณิชย์คนใด ไม่มีบัญชีย้อนหลังขึ้นไปสามปีนับแต่วันที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งจะแสดงให้เห็นการประกอบพาณิชยกิจหรือฐานะการเงินของตนอย่างเพียงพอตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบัญชีซึ่งใช้อยู่ในเวลานั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 168 ในระหว่างเวลาหกเดือนก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือภายหลังนั้น แต่ก่อนเวลาที่พ้นจากล้มละลาย ลูกหนี้คนใดออกไปหรือพยายามจะออกไปนอกราชอาณาจักร โดยนำทรัพย์สินซึ่งตามกฎหมายต้องเอาไว้แบ่งใช้หนี้แก่เจ้าหนี้ราคาเกินกว่าหนึ่งร้อยบาทออกไปด้วยเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามิได้มีเจตนาฉ้อฉล มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 169 เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วลูกหนี้คนใดซ่อนตัวหรือหลบไปเสียจากที่ ๆ เคยอยู่ หรือที่ทำการค้า หรือประกอบธุรกิจแห่งสุดท้าย หรือออกไปนอกราชอาณาจักร โดยเจตนาหลีกเลี่ยงหมายเรียกหรือหมายนัดของศาลในคดีล้มละลาย หรือหลีกเลี่ยงการที่จะถูกสอบสวน หรือไต่สวนเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของตน หรือทำให้เกิดความลำบากขัดข้องแก่กระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาทหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 170 เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้คนใดกระทำการฉ้อฉล หรือให้ หรือเสนอให้ หรือตกลงว่าจะให้ประโยชน์ใด ๆ แก่เจ้าหนี้โดยมุ่งหมายที่จะได้รับความยินยอมของเจ้าหนี้นั้นในการขอประนอมหนี้ หรือข้อตกลงเกี่ยวกับกิจการหรือการล้มละลายของตน หรือเพื่อมิให้มีการคัดค้านการขอปลดจากล้มละลาย มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 171 เจ้าหนี้หรือผู้แทนเจ้าหนี้คนใดกล่าวอ้างหรือขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย หรือการขอประนอมหนี้ หรือในการตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้โดยไม่เป็นความจริงในส่วนสาระสำคัญ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามิได้มีเจตนาฉ้อฉล มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 172 เจ้าหนี้หรือผู้แทนเจ้าหนี้คนใด เรียกหรือรับหรือยินยอมที่จะรับทรัพย์สินหลักประกันหรือผลประโยชน์ใด ๆ ไว้เป็นประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น เพื่อที่จะยินยอมหรือไม่คัดค้านในการขอประนอมหนี้ หรือการขอปลดจากล้มละลาย มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าเท่าของราคาผลประโยชน์อันมิควรได้นั้น

มาตรา 173 ผู้ใดรู้ว่าได้มีหรือจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วยักย้ายซุกซ่อน รับ จำหน่าย หรือจัดการแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้โดยเจตนาทุจริต มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองเท่าราคาทรัพย์สินนั้น หรือจำคุกไม่เกินสองปีหรือทั้งปรับทั้งจำ
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในราชกิจจานุเบกษาและหนังสือพิมพ์รายวันแล้ว บุคคลทุกคนได้ทราบว่ามีคำสั่งนั้น

มาตรา 174 ผู้ใดกล่าวอ้างโดยไม่เป็นความจริงว่าตนเป็นเจ้าหนี้โดยมุ่งหมายที่จะได้ดูหรือคัดสำเนาเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

มาตรา 175 บุคคลดังต่อไปนี้มีหน้าที่และความรับผิดทางอาญาเช่นเดียวกับลูกหนี้ สำหรับกิจการที่ตนได้กระทำในขณะที่เป็นผู้ประกอบการงานของลูกหนี้
(1) ถ้าลูกหนี้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งได้จดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานหรือผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนนั้น
(2) ถ้าลูกหนี้เป็นบริษัทจำกัด ผู้เริ่มก่อการ กรรมการ พนักงานลูกจ้าง หรือผู้ชำระบัญชีของบริษัทนั้น
(3) ถ้าลูกหนี้เป็นนิติบุคคลอื่นนอกจากที่กล่าวไว้ใน (1) และ (2) ผู้จัดการหรือผู้ชำระบัญชีของนิติบุคคลนั้น
(4) ถ้าลูกหนี้มีตัวแทนหรือลูกจ้างเป็นผู้ประกอบการงาน ตัวแทนหรือลูกจ้างของลูกหนี้นั้น
(5) ถ้าลูกหนี้ตาย ทายาท ผู้จัดการมรดก หรือผู้ปกครองทรัพย์ของลูกหนี้นั้น


หมวด 8
บทบัญญัติเบ็ดเสร็จ
ส่วนที่ 1
เงินค้างจ่าย
––––––––

มาตรา 176 เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แบ่งทรัพย์สินครั้งที่สุดแล้วถ้ามีเงินค้างจ่ายซึ่งไม่มีผู้ใดมารับภายในกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลสั่งปิดคดี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับให้เจ้าหนี้มารับภายในกำหนดเวลาสองเดือน ถ้าไม่มารับภายในกำหนด ให้เงินนี้ตกเป็นของแผ่นดิน

ส่วนที่ 2
การล้มละลายเกี่ยวกับต่างประเทศ
–––––––––––––

มาตรา 177 การพิทักษ์ทรัพย์หรือการล้มละลายตามพระราชบัญญัตินี้มีผลเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตลอดและเฉพาะแต่ในราชอาณาจักร
การพิทักษ์ทรัพย์หรือการล้มละลายตามกฎหมายของประเทศอื่น ไม่มีผลเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร

มาตรา 178 เจ้าหนี้ต่างประเทศซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักรจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ต้องพิสูจน์ว่า เจ้าหนี้ในประเทศไทยก็มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามกฎหมายและในศาลแห่งประเทศของตนได้ในทำนองเดียวกัน
(2) ต้องแถลงว่า ตนได้รับหรือมีสิทธิจะได้รับทรัพย์สินหรือส่วนแบ่งจากทรัพย์สินของลูกหนี้คนเดียวกันนั้นนอกราชอาณาจักรเป็นจำนวนเท่าใดหรือไม่ และถ้ามี ตนยอมส่งทรัพย์สินหรือส่วนแบ่งจากทรัพย์สินของลูกหนี้ดังกล่าวแล้วมารวมในกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในราชอาณาจักร


ส่วนที่ 3
ค่าธรรมเนียม
––––––––

มาตรา 179 ค่าธรรมเนียมในคดีล้มละลายให้คิดตามอัตราดังต่อไปนี้
(1) ค่าขึ้นศาลสำหรับคำฟ้องหรือคำร้องขอให้ล้มละลาย ห้าร้อยบาท
(2) ค่ายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย สองร้อยบาท เว้นแต่เป็นคำขอของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ไม่เกินห้าหมื่นบาท
(3) ค่าขึ้นศาลในกรณีที่มีการอุทธรณ์เรื่องขอรับชำระหนี้ สองร้อยบาท
(4) ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สิน ให้คิดในอัตราร้อยละสามของเงินสุทธิที่รวบรวมได้ สำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่าย ให้คิดในอัตราร้อยละสองของราคาทรัพย์สินนั้น แต่ถ้ามีการประนอมหนี้ให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละสามของจำนวนเงินที่ประนอมหนี้ ทั้งนี้ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่าก
ค่าธรรมเนียมนอกจากนี้ ให้คิดอัตราเดียวกันกับค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 180 ถ้ามีเงินเหลือพอ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จ่ายค่าป่วยการและค่าพาหนะเดินทางของพยานหรือบุคคลที่ถูกเรียกมาสอบสวน โดยอนุโลมตามอัตราที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 181 แบบพิมพ์ซึ่งลูกหนี้จำต้องยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยกเว้นอากรแสตมป์

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี













พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2511
มาตรา 12 บรรดาคดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และยังค้างพิจารณาอยู่ในศาลหรืออยู่ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยการล้มละลายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยการล้มละลายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา 13 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
[รก.2511/28/191/2 เมษายน 2511]
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากค่าของเงินในปัจจุบันแตกต่างไปจากเมื่อสมัยก่อนเป็นอันมาก จึงควรแก้ไขกำหนดจำนวนหนี้ที่จะฟ้องคดีล้มละลายให้สูงขึ้น กับแก้ไขจำนวนเงินวางศาลและค่าธรรมเนียมบางอย่างให้เหมาะสม และโดยที่บทบัญญัติเกี่ยวกับการขอเพิกถอนการกระทำของลูกหนี้เกี่ยวกับทรัพย์สินยังไม่รัดกุม จึงสมควรแก้ไขด้วย


พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2526 (มาตรา 5)
มาตรา 5 บรรดาคดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และยังคงค้างพิจารณาอยู่ในศาลหรืออยู่ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยการล้มละลาย ซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา 6 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้กำหนดเกี่ยวกับจำนวนเงินที่เจ้าหนี้มีสิทธิจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ จะต้องเป็นหนี้อยู่ไม่น้อยกว่าสามหมื่นบาทและเนื่องจากในปัจจุบันค่าของเงินบาทตกต่ำลงมาก สมควรกำหนดจำนวนเงินที่เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้เสียใหม่ โดยจะฟ้องได้ต่อเมื่อลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าห้าแสนบาท จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น
[รก.2526/37/1พ/16 มีนาคม 2526]


พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541
หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากบทบัญญัติบางมาตราของพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคลประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราว อันควรได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากผู้ประสงค์จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสได้ฟื้นฟูกิจการ แต่เนื่องจากมาตรา 94 (2) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 บัญญัติให้เจ้าหนี้ที่ย่อมให้ลูกหนี้ก่อหนี้ขึ้นโดยรู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย อันเป็นเหตุให้ไม่มีสถาบันการเงิน หรือเอกชนรายใด ยินยอมให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราว ลูกหนี้จึงต้องตกเป็นบุคคลล้มละลายทั้ง ๆ ที่กิจการของลูกหนี้อยู่ในสภาพที่จะฟื้นฟูได้ หากได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน สมควรที่จะมีบทบัญญัติคุ้มครองการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราวเพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสได้ฟื้นฟูกิจการได้ซึ่งจะช่วยเจ้าหนี้ให้มีโอกาสรับชำระหนี้อย่างเป็นธรรมด้วย อันจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจและการค้าของประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
[รก.2541/18ก/4/ 9 เมษายน 2541]



พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542
มาตรา 34 บรรดาคดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับและยังคงค้างพิจารณาอยู่ในศาลหรืออยู่ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา 35
มาตรา 36 ให้บทบัญญัติมาตรา 90/79 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541 และบทบัญญัติมาตรา 149 และมาตรา 153 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ก่อนการยกเลิกโดยพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับอยู่ต่อไปจนกว่าจะเปิดทำการศาลล้มละลายกลางตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย
มาตรา 37 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยล้มละลายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันซึ่งกำหนดจำนวนเงินที่เจ้าหนี้มีสิทธิจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ รวมทั้งจำนวนเงินที่ต้องวางประกันค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในขั้นตอนต่าง ๆ และราคาของทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว ไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันสมควรแก้ไขให้เหมาะสม รวมทั้งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ และมาตรการในการรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินที่กำหนดไว้ยังไม่ครอบคลุมถึงสามีของลูกหนี้ นอกจากนี้ บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย ในส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และกระบวนการล้มละลายบางประการยังไม่เอื้ออำนวยต่อการแก้ไขปัญหาการดำเนินธุรกิจ จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการลงมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการ การใช้ดุลพินิจของศาลในการเห็นชอบด้วยแผน อำนาจของผู้บริหารแผนเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ การปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการเพิกถอนนิติกรรมที่ได้กระทำไปแล้วในกระบวนการล้มละลาย และกระบวนการฟื้นฟูกิจการ นอกจากนั้นได้แก้ไขในเรื่องลำดับบุริมสิทธิในคดีล้มละลาย โดยกำหนดให้เงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ทำให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นนายจ้างมีลำดับบุริมสิทธิเดียวกันกับเงินค่าภาษีอากร และเนื่องจากมีการจัดตั้งศาลล้มละลายเพื่อพิจารณาคดีล้มละลายโดยเฉพาะ สมควรยกเลิกบทบัญญัติในกฎหมายว่าด้วยล้มละลายให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย รวมทั้งเพิ่มบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
[รก.2542/29ก/31/ 21 เมษายน 2542]


พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2543
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนดให้สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นหน่วยงานธุรการอิสระของศาลยุติธรรม แต่มิได้กำหนดให้กรมบังคับคดีเป็นหน่วยงานธุรการของศาลยุติธรรม กรมบังคับคดีจึงยังอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงยุติธรรม ดังนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ในส่วนที่เกี่ยวกับสถานะของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
[รก.2543/103ก/6/ 13 พฤศจิกายน 2543]


พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2547
มาตรา 13 บุคคลธรรมดาซึ่งศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและครบระยะเวลาตามที่กำหนดในมาตรา 81/1 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ปลดจากล้มละลาย
บุคคลซึ่งศาลพิพากษาให้ล้มละลายก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและยังไม่ถูกปลดจากล้มละลายตามวรรคหนึ่ง ให้ปลดจากล้มละลายตามพระราชบัญญัติ พุทธศักราช 2483 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ โดยการนับระยะเวลาให้นับตั้งแต่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย
มาตรา 14 บทบัญญัติมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่บรรดาคดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 179 แห่งพระราชบัญญัติ พุทธศักราช 2483 ซึ่งใช้บังคับอบู่ในวันที่มีการฟ้องคดี บังคับแก่คดีดังกล่าว
มาตรา 15 ให้ประธานศาลฎีกาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยล้มละลายในส่วนที่เกี่ยวกับการกหนดให้ลูกหนี้พ้นจากการล้มละลายโดยผลของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังขาดความชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับผลของการพ้นจากการล้มละลาย โดยเฉพาะการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ อย่างไรก็ตามหลักการของบทบัญญัติในเรื่องนี้เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้บุคคลล้มละลายที่สุจริตได้มีโอกาสพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย สมควรคงหลักการดังกล่าวไว้ โดยยกเลิกบทบัญญัติเดิมและนำมากำหนดเพิ่มเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการปลดจากล้มละลายโดยผลของกฎหมาย นอกจากนี้ บทบัญญัติที่กำหนดให้บุคคลล้มละลายอาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลายซึ่งใช้บังคับในปัจจุบันนั้น ยังขาดความชัดเจนแน่นอนขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลแต่ละกรณี จึงสมควรแก้ไขหลักเกณฑ์ที่ศาลจะสั่งปลดจากล้มละลายให้ชัดเจน เพื่อเป็นหลักประกันแก่บุคคลล้มละลายว่า หากดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดแล้วจะสามารถได้รับการปลดจากล้มละลาย และเพื่อให้บทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมในคดีล้มละลายที่ใช้บังคับอยู่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
[รก.2547/44ก/1/ 15 กรกฎาคม 2547]

____________________________________