บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


19 มีนาคม 2553

<<< เป็นผู้นำต้องกล้ากว่าผู้ตาม >>>

แฟนคลับแกนนำขณะนี้บางคนอาจคิดว่า
ถ้าม็อบมีข้อเรียกร้องอะไรแรงๆ
อาจจะโดนรัฐบาลปราบปรามหรือเล่นงานทางคดีได้
แล้วการปราศรัยโจมตีไม่กลัวโดนเล่นงานทางคดีหรือ
หรือที่มาปิดถนนตอนนี้และเดินไปเดินมาทั่วกรุงบ่อยๆ
ไม่ได้กลัวเขาปราบปรามหรือ ก็เห็นว่าไม่กลัวไม่ใช่หรือ
และคนเขาก็รู้อยู่แล้วว่าแรงแน่โดนปราบแน่เขายังกล้ามากันด้วยซ้ำ
ถ้าเราไม่กล้าแต่ทำตัวเหมือนกล้า
อาจเพราะมีคดีมากแล้วหรืออาจไม่อยากเสี่ยงมากไป
แล้วจะอยู่ทู่ซี้ไปเพื่ออะไร
ทำไมไม่ยอมให้คนที่กล้ากว่ามานำ

ผู้นำหมายถึงคนที่กล้ากว่าคนอื่น
เพราะทุกคนก็มีสมอง มีมือ มีเท้า เท่าแกนนำ
แต่ยอมให้นำเพราะว่ากล้ากว่าเป็นปัจจัยสำคัญ
ถ้าเขากล้ากว่าขึ้นมาวันไหน
เขาก็ไล่ลงเวทีขึ้นไปนำแทนกันแล้วหล่ะ
คงไม่ปล่อยให้คนไม่กล้า
มานำให้เสียเวลาไปเรื่อยเปื่อยอยู่หรอก
การแสดงความกล้าหรือเป็นผู้นำที่กล้าหาญ
บางทีไม่จำเป็นต้องคนที่แข็งกร้าว
ท่าทางพร้อมประจัญบานฝ่ายตรงข้ามอะไร
ดู มหาตมะ คานธี เป็นตัวอย่างซิ
มีลักษณะเหมือนแรมโบ้ไหม
มีท่าทางดุดันกร้าวร้าวพร้อมลุยไหม
แต่ยอมรับไหมว่า มหาตมะ คานธี เป็นคนกล้า
ที่กล้าลุกขึ้นมาท้าทายอังกฤษ
ด้วยท่าทางที่ไม่เห็นเป็นคนกล้าตรงไหนจากบุคลิกภายนอก
แต่ข้อเรียกร้องที่ขัดกับกฏหมาย
ที่อังกฤษใช้ปกครองประเทศอินเดียตอนนั้น
รวมไปถึงการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับคนอินเดีย
ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกฆ่าถูกติดคุกไหม
ซึ่งก็โดนติดคุกหลายครั้งหลายปีเหมือนกัน
กว่าข้อเรียกร้องของเขาจะสำเร็จผล
จนอินเดียได้รับเอกราชจริงๆ

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่
มักเริ่มจากมีคนกล้าออกมานำ
กล้าประกาศเป้าหมายที่ชัดเจน
กล้าเสี่ยงชีวิต
กล้าสละทุกสิ่งทุกอย่าง
คนที่พร้อมทำงานใหญ่ ต้องกล้าจริงๆ
ถ้าไม่กล้า ก็มานำไม่ได้
เพราะมานำแล้วจะไปไหนไม่ได้ไกลเลย
นอกจากมาขอให้ได้นำไปวันๆ เท่านั้นเอง
ซึ่งดูจากสภาพตอนนี้แล้ว
การปราศรัยดูดุเดือดเหมือนจะแรง
แต่เป้าหมายเปลี่ยนแปลงไปมาตลอด
แถมเป้าหมายอ่อนมากๆ
ชนิดที่ว่าไม่ต้องออกมาก็ได้สิ่งที่เรียกร้องเหมือนกัน
แล้วยังงี้จะมีพลังในการลุกขึ้นสู้ได้ยังไง

ผู้นำในการเรียกร้องเรื่องใหญ่ๆ ในอดีต
ล้วนแล้วแต่กล้าแสดงตนกล้าประกาศเป้าหมาย
แม้บางเป้าหมายแรงมากจนโดนกวาดล้าง
ต้องหลบหนีเพื่อให้รอดชีวิต
แต่ก็ไม่คิดเปลี่ยนเป้าหมายให้ลดลง
มีแต่คงเป้าหมายเดิม
หรือไม่ก็เพิ่มให้แรงขึ้นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
ไม่ใช่อ่อนลงเรื่อยๆ หรือเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
จนคนตาม ตามแทบไม่ทัน
ว่าจริงๆ แล้ว เป้าหมายคืออะไรกันแน่
เห็นมีแต่เป้าหมายในการปราศรัยแต่ละครั้งไม่ซ้ำกัน
แต่เป้าหมายจริงจังผู้คนที่เข้าร่วม
ไม่สามารถบอกได้เหมือนๆ กันว่า มันคืออะไร
แบบนี้เมื่อไหร่จะถึงเป้าหมาย
ถ้าไม่คิดเริ่มตั้งเป้าหมายจริงจังกันเสียที

ความจริงแล้วผู้นำก็คือคนเหมือนกัน
และแต่ละคนอาจมีข้อจำกัดของแต่ละคน
แต่ถ้าวันไหนคิดว่าไปต่อไม่ได้
แทนที่จะกั๊กไว้ไม่ให้ทุกคนไปต่อตาม
ทำไมไม่ส่งเสริมให้คนอื่นมานำแทนตนเอง
ถ้าอยากเห็นมวลชนไปถึงเป้าหมายนั้นจริงๆ
นอกจากไม่อยากให้มวลชน
ไปต่อได้ถึงเป้าหมายที่เขาต้องการเท่านั้น
ถึงไม่ยอมสนับสนุนผู้อื่นมานำต่อ
ในเมื่อรู้สึกว่าตนเองไม่กล้าไปต่อหรือไปต่อไม่ไหวแล้ว

โดย มาหาอะไร
FfF