บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


09 มีนาคม 2553

<<< เรื่องภาษี ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ >>>

พอดีไปเห็นข่าวจากมติชน
เรื่อง 4 บริษัทคู่แข่งเกรงใจ"เสี่ยเจริญ"งดยื่นประกวดราคาประมูลเคมีทำฝนหลวง
ลองหาข้อมูลไปเรื่อยเปื่อย
เลยได้รับรู้เพิ่มเติมว่าธุรกิจปุ๋ยได้รับการยกเว้นภาษี
และเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกหลายอย่าง

กรณีเรื่องปุ๋ยเพิ่งรู้ว่า
ไม่ได้ขายเฉพาะเกษตรกรเท่านั้น
ยังมีลูกค้าคือโครงการทำฝนเทียมอีกด้วย
แถมเครือเจริญกลุ่มน้ำเมาหรือเบียร์ช้าง
ยังเข้ามาเอี่ยวกะเขาด้วยงานนี้
ตอนนี้ขอเก็บข้อมูลเอาไว้ก่อน
อนาคตอาจมีรายการขุดคุ้ยเรื่องนี้ต่อก็เป็นได้

กรณีเรื่องภาษี
พวกที่มีปัญหาที่สุด ประเภทชอบเถียงคอเป็นเอ็น
ให้ทายว่าคนจบอะไร ผมตอบให้เลยก็ได้ว่า
ส่วนใหญ่เป็นพวกจบบัญชี
บางคนอาจแปลกใจว่า ทำไม
ก็เพราะเขาจบบัญชี ก็เลยมีความรู้สึกว่า
เขารู้เรื่องพวกนี้ดีกว่าพวกอื่น
แต่ที่ไหนได้บางเรื่องอาจารย์บางที่อาจไม่ได้สอน
เช่น เรื่องการซื้อขายหุ้น , การวางแผนภาษี เป็นต้น
คงเน้นสอนกันแต่เรื่องภาษีที่เกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าเป็นหลัก
เลยใช้จินตนาการเรื่องค้าขายสินค้าทั่วไปมาเถียงแหลก
แถมบางคนไม่ได้สนใจข้อกฏหมายอะไร
หนักไปในเรื่องการลงบัญชี ทำบัญชีปิดงบดุลอะไรพวกนี้
ก็อาจไม่รู้กฏหมายเกี่ยวกับเรื่องภาษีซื้อขายหุ้น
จึงไม่ต้องแปลกใจว่า
ทำไมพวกจบบัญชีจะเถียงขาดใจ
ทำไงได้หลักสูตรการศึกษาในไทย
มักสอนคนแบบไม่ครบวงจร กลัวรู้มากไปหรือยังไงไม่รู้
เลยสอนกันแบบจบออกมาเหมือนกบในกะลา
แม้แต่การวางแผนภาษี
บางมหาลัยดังๆ ยังไม่มีเปิดสอนเลย
เห็นแล้วกลุ้มใจแทนจริงๆ

อย่าว่าแต่บริษัทเลย ต่อให้เป็นบุคคลธรรมดา
คนที่วางแผนภาษีเก่งๆ ก็คือคนที่ใช้เงินเป็น
ไม่ใช่คนโกง หรือ คนไร้จริยธรรมอะไร
อย่างบางคนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
อาจจะคนเดียวหรือสามีภรรยา
แทนที่จะโง่เสียภาษีตอนสิ้นปีเยอะๆ
ก็จะไปซื้อประกันชีวิตเอาไว้
ซึ่งจะนำมาลดหย่อนได้ปีหนึ่งไม่เกิน 1 แสนบาท
เรียกว่าไปทำประกันชีวิตไว้
ก็เหมือนการออมรูปแบบหนึ่ง
อาจได้เงินคืนตามระยะเวลา
แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ไปทำ
แล้วนำมาหักลดหย่อนได้ถูกต้องตามกฏหมาย
ไม่ได้ผิดกฏหมายอะไรเลย
เพราะรัฐนั่นแหล่ะตัวดี
อยากช่วยธุรกิจประกันชีวิตทั้งหลาย
ถึงได้ออกนโยบายนี้มา
เพื่อให้คนมีเงินไปซื้อประกันเยอะๆ
บริษัทประกันจะได้มีรายได้เยอะๆ
บริษัทประกันก็จะได้มีเงินไปหมุน
หากำไรส่วนต่างเยอะๆ
ซึ่งจะเห็นได้ว่านโยบายนี้แหล่ะ
ที่ช่วยให้ประกันชีวิตโตขึ้น
ดังนั้นมนุษย์เงินเดือนรวมทั้งผู้ที่มีรายได้สูงๆ
สามารถซื้อประกันชีวิตเพื่อนำไปหักลดหย่อนภาษีได้อย่างสบายใจ
ไม่ต้องกลัวถูกกล่าวหาว่าไร้จริยธรรมอะไร
ถ้าจะนำนั่นนี่มาหักลดหย่อนภาษี
บางคนไปทำบุญ หรืออุปการะพ่อแม่อยู่
ก็สามารถนำมาหักลดหย่อนได้แถมถูกต้องตามกฏหมายด้วย
นี่คือตัวอย่างของคำว่า การวางแผนภาษี

บางคนเรียนบัญชีที่สถาบันดังๆ
กลับทำเหมือนรู้สึกภาคภูมิใจอาจพูดประมาณว่า
มหาลัยตนเองไม่ได้เปิดสอนวิชาวางแผนภาษี
คงคิดทำนองว่าการวางแผนภาษี
คือการวางแผนโกงภาษี ปล้นชาติ อะไรประมาณนั้น
เลยภูมิใจที่ไม่ได้เรียนวิชาเหล่านี้
และคงคิดคล้ายกับว่า
ได้เป็นพวกมีคุณธรรม จริยธรรมสูง ไปกับเขาด้วย
ที่ไม่ได้เรียนวิชานี้
ในขณะที่มหาลัยเอกชนบางแห่งกลับเปิดสอนวิชานี้

พอดีผมก็ไม่ได้เรียนจบสาขาบัญชีมาหรอก
เรียนมาก็แค่เล่มเดียว คือ บัญชีเบื้องต้น
ก็ซีร็อกซ์ที่เพื่อนจดไว้ ไปอ่านวันเดียวแล้วมาสอบ
กะว่าคงเหมือนวิชาอื่นๆ
ปรากฏว่าโง่ไปเลย ทำไม่ได้ ปิดงบดุลไม่เป็น
อยากจะบ้าตายบัญชีเบื้องต้นของคนเรียนวิทย์คอมพิวเตอร์
เล่นให้ปิดงบบริษัททั้งงบดุล งบกำไรขาดทุน งบทดลอง
บัญชีแยกประเภทอีกให้เวลา 2 ชั่วโมง
ไม่รวมข้อสอบที่ต้องไปทำรายการปรับปรุง เดบิต เครดิต บ้าบออะไรไม่รู้
คือไม่ได้ชอบแต่โดนบังคับให้ต้องเรียนตามหลักสูตร
เลยไม่สนใจคุยกันส่วนใหญ่จนอาจารย์ที่สอนใกล้จะเกษียณแล้ว
ได้ยินว่าง้อนถึงกลับไปฟ้องคณบดีประจำคณะเราด้วย
สุดท้ายสอบตกหลายคนต้องไปเรียนซ้ำชั้นกับเด็กรุ่นน้อง
หนึ่งในนั้นมีเราอยู่ด้วย อิอิ
ปรากฏว่าตอนเรียนซ้ำชั้น สนใจเรียนเต็มที่ไปนั่งแถวหน้าทุกครั้ง
ก็สอบผ่านมาได้หวุดหวิด
แต่ยังทำงบดุลไม่ได้เท่าไหร่
เพราะอาจารย์เขาเล่นใส่รายการหลอกๆ
ที่เป็นข้อยกเว้นมากมายเข้ามา
แล้วเราไม่รู้ไม่อยู่ในหลักสูตรที่สอนหรือไม่ได้บอกให้จดไว้
ออกข้อสอบเหมือนให้คนเรียนจบด้านบัญชีทำงานมาแล้วหลายปีทำยังงั้นแหล่ะ
ก็เลยมั่วเอา ทำจนงบออกมาตรงหมดแต่ผิดเพราะเขามีข้อยกเว้น
ไม่ต้องนำมาลงบัญชี แต่เล่นนำมาแสดงหลอกๆ รวมกับรายการอื่นๆ
ใครจะไปรู้หล่ะไม่บอกให้จดแล้วก็ไม่ใช่วิชาที่ตั้งใจจะมาเรียนด้วย
อันที่จริงการเขียนโปรแกรมบัญชีหรือโปรแกรมต่างๆ
โปรแกรมเมอร์แค่รู้ที่มาที่ไป Input Output และสูตรการคำนวณ
หรือข้อจำกัดข้อยกเว้นอะไร ก็เขียนโปรแกรมออกมาได้แล้ว
ซึ่งเราเองให้ทำบัญชีอาจลงไม่ถูกต้อง
แต่สามารถเขียนโปรแกรมระบบบัญชีได้ทั้งระบบ
อาศัยคนรู้บัญชีคอยช่วยให้ข้อมูลวิธีการทำ Input Output มีอะไร
ก็สามารถเขียนโปรแกรมออกมาได้แล้ว
ไม่เห็นต้องเน้นให้เรียนจนต้องทำบัญชีเป็นปิดงบดุลได้เลย

วกกลับมาพูดเรื่องภาษีต่อ
ในฐานะกึ่งมีประสบการณ์
การวางแผนภาษีสำหรับบริษัทนั้น
จะทำให้การขยายบริษัทดีขึ้น
ฐานะการเงินบริษัทดีขึ้นได้ง่ายๆ
เช่น เห็นมีรายได้เข้ามาปีนี้มากๆ
ก็จะโดนหักภาษีมากๆ ตามไปด้วย
ก็ต้องพยายามดูงบก่อนที่จะถึงวันสิ้นสุดบัญชีปิดงบ
ดูเรื่อยๆ ถ้าเห็นว่ามีรายได้มากแน่ๆ
สิ้นปีจ่ายภาษีอาน
ก็ไปลงทุนไปซื้อรถปิ๊กอัพมาใช้ในกิจการเพิ่ม
หรือไปซื้ออาคารไปลงทุนทำนั่นนี่ต่อ
ก็จะทำให้มีกำไรลดลงอย่างถูกกฏหมาย
ก็จะเสียภาษีน้อยลงอย่างถูกกฏหมาย
และก็ตรงกับวัตถุประสงค์ของรัฐ
ที่ต้องการให้เศรษฐกิจดีขึ้น
การที่บริษัทซื้อนั่นนี่ลงทุนเพิ่ม
ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัวด้วย
ไม่ใช่พอสิ้นปีใช้วิธีทำบัญชี 2 เล่ม
อีกเล่มของจริงอีกเล่มส่งสรรพากร
หรือบางพวกชอบใช้วิธีไปซื้อบิลปลอม
ทำนองว่ามีรายจ่ายเยอะๆ
แต่จริงๆ แล้วเป็นบิลปลอม
วิธีนี้ใช้กันเกร่อในสมัยรัฐบาลชวน1
ซึ่งจะได้ยินข่าวจับแก๊งส์ขายบิลปลอมได้เยอะ
และที่จับไม่ได้ไม่รู้เท่าไหร่
เดี๋ยวนี้มุกนี้ก็ยังนำมาใช้กันอยู่
หรือถ้าเหลือเงินมากนัก
ก็หาเรื่องส่งพนักงานตัวเองไปสัมมนา
หรือไปเที่ยวนั่นแหล่ะ โปรแกรมมีแต่เที่ยวกับช้อปปิ้งส่วนใหญ่
ส่วนที่นั่งสัมมนาฟังกันจริงจังไม่กี่ชั่วโมง
เป็นเทคนิคไปเที่ยวแบบมีคลาสของบริษัทต่างๆ
เพื่อจะได้นำมาลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้ด้วย
และยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงานตนเองด้วย
ซึ่งต้องถามนักทำบัญชีอีกทีในแต่ละเรื่อง
ว่าทำยังไงให้ถูกกฏหมาย
นี่แหล่ะประโยชน์ของการวางแผนบัญชี
ซึ่งอาจไม่ตรงกับวิชาการวางแผนบัญชี
ที่เขาเปิดหลักสูตรสอนๆ กัน
แต่เป็นแบบตามความเข้าใจส่วนตัวเราเอง
พอให้เห็นแนวทางเท่านั้น

สรุป ถ้าอีกพวกหนึ่งได้เรียนมา
อีกพวกหนึ่งไม่ได้เรียนมา
คิดว่าพวกไหนจะได้เปรียบกว่ากัน
ต่อให้จบสถาบันชื่อดัง
กับสถาบันไม่มีชื่อเท่าไหร่ด้วย
ถ้าสถาบันชื่อดังไม่มีสอน
ก็เท่ากับผลิตกบในกะลาออกสู่ตลาดแรงงานเพิ่ม
ในขณะที่อื่นๆ เปิดสอนหลักสูตรนี้
ถึงจะหัวดีสู้ไม่ได้เรื่องเอ็นท์เข้ามหาลัย
แต่เห็นมาเยอะแล้วเด็กจบ ปวส. หลายคน
เก่งกว่าเด็กจบ ป.โท ด้านบัญชีเสียอีก
มันอยู่ที่ประสบการณ์และการรอบรู้ในงานทั้งหมดด้วย

โดย มาหาอะไร

---------------------------------------------------------------------

วันที่ 08 มีนาคม พ.ศ. 2553 เวลา 23:59:17 น. มติชนออนไลน์
4 บริษัทคู่แข่งเกรงใจ"เสี่ยเจริญ"งดยื่นประกวดราคาประมูลเคมีทำฝนหลวง

แฉปม"หจก.ภูมิสวัสดิ์" ยื่นเดี่ยวประมูลสารเคมีทำฝนหลวง ที่แท้ซื้อต่อจาก "บ.เทอราโกรฯ" ยี่ห้อ "ช้างไทย" มีบริษัทเครือเบียร์ช้างของ "เสี่ยเจริญ" ถือหุ้นใหญ่ 4 บริษัทคู่แข่งเกรงใจงดยื่นประกวดราคา ขณะ "ไอ.ซี.พี.ฯ" อ้างสินค้าในสต๊อคไม่พอเลยถอย

กรณีมติชนตรวจสอบพบความผิดปกติในการ ประมูลจัดซื้อสารยูเรีย เพื่อใช้ทำฝนหลวง จำนวน 800 ตัน ในช่วงปี 2552 ของสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ที่เบื้องต้นใช้วิธีการเปิดประมูลแบบอี-ออคชั่น เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาเสนอแข่งขันราคาเสนอกันอย่างเปิดกว้าง แต่ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) ภูมิสวัสดิ์มายื่นซองเสนอราคาเพียงรายเดียวและได้รับอนุมัติไป ขณะที่นายวราวุธ ขันติยานันท์ ผอ.สำนักฝนหลวงฯยืนยันว่าเหตุที่คณะกรรมการประกวดราคาไม่ยกเลิกการประกวด ราคา เพราะเกรงว่าจะทำให้เสียเวลานานขึ้น เพราะจำเป็นต้องซื้อสารชนิดนี้ให้เพียงพอต่อการใช้งาน และระเบียบราชการเปิดช่องให้สามารถดำเนินการได้นั้น

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการจัดหาสารยูเรียคนหนึ่ง เปิดเผย "มติชน" เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ว่า สาเหตุแท้จริงที่ทำให้ หจก.ภูมิสวัสดิ์ได้รับงานประมูล เป็นเพราะ หจก.ภูมิสวัสดิ์เป็นตัวแทนจำหน่ายสารยูเรียของบริษัทเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่ง ในประเทศ ที่มีอิทธิพลต่อพรรคการเมือง และนักการเมืองทุกพรรคอยู่ขณะนี้ ประกอบกับในช่วงเวลานั้น ปุ๋ยยูเรียมีราคาแพงมากเลยไม่มีเอกชนรายอื่นเข้ายื่นซองสู้ราคา เพราะทราบกันดีอยู่แล้วว่ายื่นไปก็ไม่มีสิทธิได้รับงาน

"ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการประกวดราคาคือใน ขั้นตอนการจัดซื้อซองมีเอกชนหลายรายมาซื้อไป รวมทั้งบริษัท ไอ.ซี.พี. เฟอทิไลเซอร์ ที่ผูกขาดการประกวดราคาจัดซื้อสารยูเรียกับทางสำนักฝนหลวงฯมาตั้งแต่ปี 2548 ก็ติดต่อซื้อซองด้วย แต่เมื่อถึงวันยื่นซอง บริษัทไอ.ซี.พี.ฯและเอกชนรายอื่นกับหลีกทางให้กับ หจก.ภูมิสวัสดิ์ ให้เข้ายื่นซองเสนอราคาเพียงรายเดียว" แหล่งข่าวระบุ

แหล่งข่าวกล่าวว่า ราคาสารที่ หจก.ภูมิสวัสดิ์ยื่นต่อทางคณะกรรมการประกวดราคา ต่ำมาก เพราะเบื้องต้นเสนอราคาที่ 29,000 บาท/ตัน คิดเป็นจำนวนสาร 800 ตัน จำนวนเงินทั้งหมดอยู่ที่ 23,200,000 บาท แต่เมื่อมีการต่อรองราคากัน ทาง หจก.ภูมิสวัสดิ์ได้ยินยอมที่จะลดราคาลงมา เหลือเพียงแค่ตันละ 17,500 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 14,000,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าเดิมเกือบทุกครั้ง

ผู้สื่อข่าวมติชนรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการประกวดราคาจัดซื้อสารยูเรีย พบว่ามีเอกชนสนใจติดต่อขอซื้อซองจำนวน 5 ราย คือ บริษัท อินไทย จำกัด, บริษัท ไอ.ซี.พี. เฟอทิไลเซอร์ จำกัด, บริษัท เดรี่ไลน์อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด, หจก.ภูมิสวัสดิ์ และบริษัท สตาร์ แพลนซ์ แลนด์สแคป จำกัด แต่ปรากฏว่ามี หจก.ภูมิสวัสดิ์มายื่นซองเพียงรายเดียว

แหล่งข่าวจากสำนกฝนหลวงฯกล่าวยืนยัน "มติชน" ว่า ในขั้นตอนการเสนอราคาดังกล่าว หจก.ภูมิสวัสดิ์ได้เสนอสารยูเรียยี่ห้อช้างไทย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท เทอราโกร เฟอร์ติไลเซอร์ ซึ่งระบุว่าสินค้าชนิดนำเข้ามาจากประเทศกาตาร์ ซึ่งตรงตามข้อมูลที่นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมายืนยันกับสื่อมวลชนก่อนหน้านี้ พร้อมระบุว่าจากการเชิญผู้แทนสำนักฝนหลวงฯมาหารือ ไม่พบว่าการประมูลครั้งนี้มีความผิดปกติเกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัทเทอราโกรฯจดทะเบียนเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2529 มีทุนจดทะเบียน 500,000,000 บาท ประกอบธุรกิจปุ๋ยเคมี-นำเข้า ผู้ผลิต ค้าปลีก ค้าส่ง ตั้งอยู่ที่ 39/3 หมู่ที่ 3 ต.บ่อโพง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา และที่ 290 ถนนสุรวงศ์ แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพฯ เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ปรากฏชื่อนายทัศนัย พิริยวิทโยภาส และนายทิตพงษ์ เตชะอำพลกุล เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท กรรมการบริษัทประกอบด้วยนายปณต สิริวัฒนภักดี นายวินิจ วสุนธราธรรม นายขจร เทพย์ปฏิพัธน์ นายประเสริฐ เมฆวัฒนา นางนิดดา ธีระวัฒนชัย, น.ส.นุชดา พงษ์ศักดิ์ชาติ และนายวุฒิพงษ์ หวังสันติธรรม

ส่วนรายชื่อผู้ถือหุ้น ประกอบด้วยบริษัท วัฒนพัฒน์เทรดดิ้ง จำกัด ถืออยู่ 99.9941%, บริษัท คอสมอส เบียร์ จำกัด 0.0010%, บริษัท ที.ที.ดับเบิลยู.เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด 0.0010%, บริษัท เบียร์กระทิงแดง (1991) จำกัด 0.0010%, บริษัท เบียร์ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 0.0010% บริษัท พนรัตน์ จำกัด 0.0010%, บริษัท แพนอุตสาหกรรมเครื่องแก้ว จำกัด 0.0010% ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเชิงลึก พบว่าบริษัท วัฒนพัฒน์เทรดดิ้งฯ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทเทอราโกรฯมีบริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด ถือหุ้นอยู่ 100%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูล การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ทีซีซี แลนด์ พบว่า จดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2548 มีทุนจดทะเบียน 23,500,000,000 บาท ตั้งอยู่ที่ 195 อาคารเอ็มไพร์ทาวเวอร์ ชั้น 53-54 ถนนสาทรใต้ แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพฯ ประกอบธุรกิจประเภทตัวแทนทางการเงิน-บริการ เป็นธุรกิจขนาดกลาง ปรากฏชื่อนายสุรพงษ์ พรศิริกุล และนายโกสิทธิ์ ศรีเศรษฐพันธ์ เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ส่วนกรรมการประกอบด้วยนายเจริญ สิริวัฒนภักดี คุณหญิง วรรณา สิริวัฒนภักดี นายชัยยุทธ ปิลันธน์โอวาท นายชลกานต์ บุปผเวส นายโสมพัฒน์ ไตรโสรัส นางวัลลภา ไตรโสรัส นายปณต สิริวัฒนภักดี นายประพันธ์ศักดิ์ แพทยานนท์ นายขจรศักดิ์ วันรัตน์เศรษฐ นายโกสิทธิ์ ศรีเศรษฐพันธ์ นายสุรพงษ์ พรศิริกุล นายขวัญชัย ชูเกียรติขจรเดช

สำหรับผู้ถือหุ้น ประกอบด้วยบริษัท ทีซีซี แอสเส็ทส์ ลิมิเต็ด 49.0000% ตั้งอยู่ที่หมู่เกาะเวอร์จิน (อังกฤษ) ส่วนนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ถือหุ้นอยู่ 25.5000% ขณะที่หุ้นที่เหลืออีก 25.5000% เป็นของคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้โทรศัพท์ไปยังบริษัทไอ.ซี.พี.ฯเพื่อตรวจสอบข้อมูล เบื้องต้นได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่บริษัทว่า เหตุผลที่บริษัทไม่ได้เข้าร่วมการประมูลจัดซื้อยูเรีย ในปี 2552 เนื่องจากของในสต๊อคไม่เพียงพอ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีที่ หจก.ภูมิสวัสดิ์ ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทเทอราโกรฯที่มีความเกี่ยวพันกับนาย เจริญ เข้าร่วมการประมูลด้วยแต่อย่างใด

"บริษัทเทอราโกรฯเป็นของเจ้าสัวเจริญจริงก็ไม่ได้มี เหตุผลอะไรที่จะทำให้ไอ.ซี.พี.ฯ ไม่เข้าร่วมประมูล แต่เป็นเพราะเราไปดูสินค้าในสต๊อคแล้ว พบว่ามีจำนวนไม่พอเลยไม่ได้เข้าร่วมประมูลด้วย ส่วนที่มีการระบุข้อมูลว่า ไอ.ซี.พี.ฯชนะการประมูลจัดซื้อยูเรียหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 2548 ก็ไม่เป็นความจริง เพราะมีบริษัทอื่นที่ชนะการประมูลด้วยเช่นกัน " เจ้าหน้าที่ไอ.ซี.พี.ฯรายหนึ่งระบุ

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1268058044&grpid=&catid=01

---------------------------------------------------------------------

เจ้าสัวเจริญลุยลงทุนธุรกิจปุ๋ยเคมี สร้างแบรนด์เจาะเกษตรกร
โดย ข่าวสด วัน พุธ ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เวลา 1:03:57 น.

นาย ประเสริฐ เมฆวัฒนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พรรณธิอร จำกัด ผู้ประกอบกิจการด้านการเกษตรและเกษตรแปรรูป ในเครือทีซีซี ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของกลุ่มบริษัทไทยเบฟ เปิดเผยว่า บริษัทได้จัดตั้งบริษัท เทอราโกร เฟอร์ติไลเซอร์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 490 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดหาและผลิตปุ๋ยเคมี ภายใต้แบรนด์ ปุ๋ยตรามงกุฎ รวมทั้งได้ใช้งบลงทุนอีก 400 ล้านบาทเพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยเคมีตรามงกุฎ ที่จ.พระนครศรีอยุธยา บนเนื้อที่ 150 ไร่ มีกำลังการผลิตปีละ 2.5 แสนตัน และสามารถขยายกำลังผลิตได้สูงสุดปีละ 1 ล้านตัน ซึ่งการขยายเข้าสู่ธุรกิจปุ๋ยเคมีนั้น เพื่อต่อยอดธุรกิจด้านการเกษตร โดยสัดส่วนจากการผลิต 20% จะรองรับธุรกิจด้านการเกษตรของบริษัท ส่วนอีก 80% จะจำหน่ายค้าปลีกไปยังเกษตรกร

พร้อม กันนี้จากการประเมินสภาพตลาดในปัจจุบันพบว่า ไทยมีผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ไม่กี่ราย และยังมีช่องว่างในตลาดอีกมาก ทำให้บริษัทได้ตัดสินใจขยายเข้ามาในธุรกิจปุ๋ยเคมี และเป็นการสร้างแบรนด์สินค้าแรกของบริษัท โดยได้เริ่มจำหน่ายสินค้าตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว และขณะนี้พร้อมจะทำตลาดเจาะไปยังกลุ่มเกษตรโดยตรง ผ่านตัวแทนจำหน่าย 200 รายทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีแผนจะจัดโปรโมชั่นในช่วงแนะนำด้วย เพื่อช่วยกระตุ้นให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเข้าถึงตัวสินค้าได้ง่ายขึ้น นายประเสริฐ กล่าวว่า บริษัทคาดว่าภายใน 3 ปีจะสามารถคืนทุนในธุรกิจปุ๋ยเคมีได้ เนื่องจากธุรกิจปุ๋ยเคมีจะได้รับการยกเว้นเรื่องภาษี ทำให้คืนทุนในระยะเวลารวดเร็วเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น และตั้งเป้าหมายจะมีส่วนแบ่งตลาดให้ได้เกือบ 10% ภายในปีนี้

http://news.nipa.co.th/news.action?newsid=90739

---------------------------------------------------------------------
กิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย

การประกอบกิจการดังต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

1. การขายสินค้าหรือให้บริการของผู้ประกอบการที่มีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ี
2. การขายพืชผลทางการเกษตรภายในราชอาณาจักร เช่น ข้าว ข้าวโพด ปอ มันสำปะหลัง ผักและผลไม้ เป็นต้น ( คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป .28/2535 ฯ )
3. การขายสัตว์ทั้งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตภายในราชอาณาจักร เช่น โค กระบือ ไก่หรือเนื้อสัตว์ กุ้ง ปลา เป็นต้น (คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.29/2535ฯ)
4. การขายปุ๋ย
5. การขายปลาป่น อาหารสัตว์
6. การขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ เพื่อบำรุงรักษาป้องกัน ทำลายหรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์
7. การขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน
** ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการตาม 1. ถึง 7. ดังกล่าว จะเลือกเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้
8. การนำเข้าสินค้าตาม 2. ถึง 7.
9. การให้บริการการศึกษาของสถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
10. การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำหรือทางอากาศ อย่างไรก็ดี หากเป็นการให้บริการขนส่งโดยอากาศยาน และการให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อ ผู้ประกอบการมีสิทธิเลือกเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้
11. การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศทางบกและทางเรือซึ่งมิใช่เรือเดินทะเล
12. การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลทางราชการและเอกชน
13. การให้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์
14. การให้บริการจัดแข่งขันกีฬาสมัครเล่น
15. การให้บริการประกอบโรคศิลปะ การสอบบัญชี การว่าความ
16. การให้บริการของนักแสดงสาธารณะ
17. การให้บริการที่เป็นงานทางศิลปะและวัฒนธรรม ในสาขาและลักษณะการประกอบกิจการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
18. การให้บริการวิจัย หรือการให้บริการทางวิชาการ ซึ่งต้องมีลักษณะการประกอบกิจการตามที่กรมสรรพากรกำหนด คือ ต้องเป็นการวิจัยหรือบริการทางวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์และสาขาสังคมศาสตร์ แต่ต้องมิใช่เป็นการกระทำในทางธุรกิจ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือมูลนิธิ
19. การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน
20. การให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์
21. การให้บริการของราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ไม่รวมถึงบริการที่เป็นการพาณิชย์ของราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นการหารายได้ หรือผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นกิจการสาธารณูปโภคหรือไม่ก็ตาม
22. การขายสินค้าหรือการให้บริการของกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งส่งรายรับทั้งสิ้นให้แก่รัฐโดยไม่หักรายจ่าย
23. การขายสินค้าหรือการให้บริการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น
24. การขายสินค้า หรือการให้บริการตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาฯ
( พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 239) พ.ศ.2534 )

http://www.rd.go.th/publish/7052.0.html

---------------------------------------------------------------------

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 172)

เรื่อง
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้
เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามข้อ 2(61) แห่งกฎกระทรวง
ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2(61) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 266 (พ.ศ. 2551) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 112) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามข้อ 2(61) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2545

ข้อ 2 การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ เฉพาะกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป และเป็นการประกันชีวิตที่ได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1) กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม ค่าเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมดังกล่าว ไม่สามารถยกเว้นภาษีสำหรับเบี้ยประกันภัยดังกล่าวได้
(2) กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้
(ก) กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนทุกปี จะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี หรือ
(ข) กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนตามช่วงระยะเวลาที่ผู้รับประกันภัยกำหนดนอกจาก (ก) เช่น ราย 2 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี เป็นต้น จะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมของแต่ละช่วงระยะเวลาที่ผู้รับประกันภัยกำหนดให้มีการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืน หรือ
(ค) กรณีได้รับ เงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนที่ไม่เป็นไปตาม (ก) หรือ (ข) ผลรวมของเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนสะสมตั้งแต่ปีแรกถึงปีที่มีการจ่ายเงิน หรือผลประโยชน์ตอบแทนคืน ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมทั้งหมดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
ทั้งนี้ เงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนตาม (ก) และหรือ (ข) และหรือ (ค) ไม่รวมเงินปันผลตามกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ได้รับตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตแล้ว แต่ผู้เอาประกันภัยยังคงได้รับความคุ้มครองตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาประกันชีวิต หรือเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดอายุกรมธรรม์
ความใน (1) และ (2) ให้ใช้บังคับสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ได้เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป

ข้อ 3 การได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ให้ได้รับยกเว้นภาษีตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะได้รับยกเว้นภาษีนั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่
(2) กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ยกเว้นภาษีให้แก่สามีหรือภริยาซึ่งเป็นฝ่ายผู้มีเงินได้เต็มจำนวนตามที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท
ในกรณีสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้มีการประกันชีวิตและความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี สามีหรือภริยาซึ่งเป็นฝ่ายผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อน สำหรับเบี้ยประกันชีวิตของสามี
หรือภริยาฝ่ายที่ไม่มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร
(3) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้
(ก) ถ้าความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
(ข) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีและภริยาไม่ใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
(ค) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีและภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามี ตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
ข้อ 4 การได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานจากผู้รับประกันภัยที่พิสูจน์ได้ว่า มีการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต
กรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมหลักฐานตามวรรคหนึ่งต้องระบุจำนวนเบี้ยประกันชีวิตและเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครอง อื่นเพิ่มเติมแยกออกจากกัน
กรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ หลักฐานตามวรรคหนึ่งต้องระบุเงื่อนไขตามข้อ 2(2) ด้วย
ความในวรรคสองและวรรคสามให้ใช้บังคับสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ได้เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป

ข้อ 5 กรณีผู้มีเงินได้ ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 3 แล้ว และต่อมาได้ปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของข้อ 2 ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 3 และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตไปหักออกจากเงินได้เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้มาแล้วนับตั้งแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของปีภาษีนั้นๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมเพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีดังกล่าวพร้อมเงินเพิ่ม ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ 6 การได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศนี้ ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

ข้อ 7 ใน กรณีมีปัญหาในทางปฏิบัติ ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรให้ถือเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตาม ประกาศนี้ด้วย

ข้อ 8 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 112) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามข้อ 2(61) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2545 ให้ยังคงใช้บังคับต่อไป เฉพาะในการปฏิบัติจัดเก็บภาษีเงินได้ที่ค้างชำระหรือพึงชำระก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551


ประกาศ ณ วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2551

วินัย วิทวัสการเวช

(นายวินัย วิทวัสการเวช)

อธิบดีกรมสรรพากร

---------------------------------------------------------------------

ข่าวกรมสรรพากร Revenue Department News
เลขที่ข่าว ปชส. 1/2552 วันที่แถลงข่าว 28 ตุลาคม 2551

เรื่อง การคํานวณภาษี เพื่อลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต
กรณีมีเบี้ยประกันอื่นควบอยู่ด้วย เนื้อหาข้างใน pdf ตามอ่านครับ


ตามที่กรมสรรพากรได้เสนอแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อขยายวงเงินการหักค่าลดหย่อน ในการคํานวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สําหรับการหักค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต จากเดิมที่กฎหมายกําหนดให้หักได้ไม่เกินปีละ 50,000 บาท เป็นให้หักได้สูงสุดปีละ 100,000 บาท ซึ่งมีผลสําหรับ เบี้ยประกันภัยที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นไป นั้น

ปัจจุบัน กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ ได้ผ่านขั้นตอนทางกฎหมายและมีผลใช้บังคับแล้ว สํานักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จึงได้มาหารือกับสํานักงานเศรษฐกิจการคลังและกรมสรรพากรในวันที่ 21 ตุลาคม 2551 โดย คปภ. มีความเป็นห่วงว่า ผู้เอาประกันอาจไม่ทราบถึงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ในการหักลดหย่อนทางภาษี จนเป็นเหตุ ให้มีการเสียภาษีผิดพลาด ทั้งนี้ โดยเฉพาะกรณีการเอาประกันชีวิตที่มีประกันอื่นควบกันอยู่ เช่น ประกันชีวิต ควบกับประกันสุขภาพ

ผลการประชุมได้ข้อสรุปว่า การพิจารณาการหักค่าลดหย่อนในการคํานวณภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา สําหรับค่าเบี้ยประกันชีวิต นั้น จะพิจารณาจากหลักฐานที่ทางบริษัทผู้รับประกันภัยออกให้ ซึ่งบริษัทจะต้องแยกให้ชัดเจนว่า เป็นส่วนของค่าเบี้ยประกันชีวิตเท่าไหร่ เป็นส่วนของค่าประกันประเภทอื่นเท่าไหร่ เพื่อให้ทราบว่าวงเงินที่ผู้เอาประกันภัยจะสามารถนําไปใช้หักเป็นค่าลดหย่อน ทางภาษี ได้เป็นจํานวนเท่าใด

นายสาธิต รังคสิริ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ” ในประเด็นการออกเอกสารหลักฐานข้างต้นนั้น คปภ. รับจะไปเป็นผู้กําชับให้บริษัทประกันภัยดําเนินการให้ถูกต้องต่อไป”

http://dcopywriter.wordpress.com/2008/11/04/ใครทำประกันชีวิตไว้ลดห/

---------------------------------------------------------------------

หักรายจ่ายห้องพัก2เท่า/คอลัมน์ภาษาภาษี
จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :สมชาย ชูเกตุ:

ไม่ว่ารัฐบาลใดเข้ามาบริหารประเทศ ปัญหาต่างๆ มีให้คิดและติดตามแก้ไขตลอดเวลา เรื่องหนึ่งก็คือ การท่องเที่ยวในประเทศไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติยกเลิกการมาเที่ยวไทยหรือมาเที่ยวน้อยลง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเขาเอง ประกอบกับปัญหาการเมืองในบ้านเรา ผลก็คือ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวแย่หรือมีอาการไม่ดีไปตามๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น บริษัททัวร์ ไกด์ ร้านอาหาร โรงแรม ร้านขายสินค้าและบริการอื่นๆ รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาหลายๆ ด้าน มาตรการภาษีก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2552 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายจ่ายที่เป็นค่าห้องพักหรือห้องสัมมนา เพื่อช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมหรือธุรกิจทำนองเดียวกัน ที่ได้รับผลกระทบจากการที่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการน้อยลง

การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้ไม่ได้ให้กับกิจการโรงแรมหรือกิจการทำนอง เดียวกันโดยตรง แต่จะให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ใช้ บริการ สามารถนำรายจ่ายค่าห้องพักหรือห้องสัมมนามาหักเป็นรายจ่ายทางภาษีเงินได้ นิติบุคคลได้ถึง 2 เท่า พูดง่ายๆ ว่า หากบริษัทจ่ายค่าห้องพักให้แก่พนักงาน 1,000 บาท สามารถหักเป็นรายจ่ายได้ถึง 2,000 บาท

ขณะนี้กฎหมายได้ออกมาเรียบร้อยแล้ว โดยได้มีพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 482) พ.ศ. 2552 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 179) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าห้องสัมมนาและค่าห้องพักในการอบรมสัมมนาของ ลูกจ้างภายในประเทศ
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้สิทธิหักรายจ่าย 2 เท่า สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐาน กำไรสุทธิ สรุปได้ดังนี้

1.เป็นรายจ่ายค่าห้องสัมมนาและค่าห้องพักเพื่อการอบรมสัมมนาภายใน ประเทศไทย ห้องสัมมนาและห้องพักอาจจะไม่อยู่ในสถานประกอบการเดียวกันก็ได้ แต่จะต้องเกี่ยวเนื่องกับการอบรมสัมมนาในคราวเดียวกัน
ค่าห้องสัมมนา รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ผู้ให้บริการห้องสัมมนาเรียกเก็บเป็นค่าอาหารและเครื่องดื่มจากการใช้ห้องสัมมนาตามปกติทางการค้า

2.การอบรมสัมมนาได้จัดให้แก่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลนั้น เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถลูกจ้างของตน และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของกิจการบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

3.จัดทำโครงการการอบรมสัมมนาโดยมีหลักฐานเอกสารประกอบโครงการสัมมนา

4.ต้องจัดให้มีการอบรมสัมมนาให้เสร็จสิ้นภายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค. 2552 และต้องมิใช่การฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวล รัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 437) พ.ศ. 2548

5.หักเป็นรายจ่ายเพียง 1 รอบระยะเวลาบัญชีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังลงวันที่ 1 ม.ค. พ.ศ. 2552 (รอบระยะเวลาบัญชีเดียวเท่านั้น)

ครับ มาตรการภาษีอากรนี้คงช่วยเหลือกิจการโรงแรมหรือ กิจการทำนองเดียวกัน ให้มีรายได้จากค่าห้องพักและห้องสัมมนา เพิ่มขึ้นบ้าง

http://www.108acc.com/index.php?mo=3&art=307896

---------------------------------------------------------------------

ขอเชิญเข้าร่วมสัมมนาในหัวข้อเรื่อง

การวางแผนภาษีทั้งระบบ
ภาษีเงินได้นิติบุคคล/ภาษีหัก ณ ที่จ่าย/ภาษีมูลค่าเพิ่ม
พร้อมสรุปกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน

CPD. ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA.) นับชั่วโมง อื่นๆ 6 ช.ม.
CPD. ผู้ทำบัญชี นับชั่วโมง อื่นๆ 6 ช.ม. รหัส 40021480044

วัตถุประสงค์ของโครงการนี้:-
เพื่อให้ผู้เข้าสัมมนาได้เข้าใจวงจรภาษีอากรทั้งระบบ สามารถนำช่องว่างและแง่มุมของภาษี มาวางแผนให้ประหยัดภาษีมากที่สุด

เหมาะสำหรับ
- ผู้จัดการฝ่ายบัญชี
- สมุห์บัญชี/ผู้บริหารฝ่ายบัญชี
- ผู้ที่มีความรู้ทางด้านภาษีอากรบ้างพอสมควร
- ผู้ที่ต้องการวางระบบบัญชีควบคู่ไปกับการวางแผนภาษี

รายละเอียดในการสัมมนา
1. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย ประกาศ หรือคำสั่งต่างๆ ตามประมวลรัษฎากร

2. วิเคราะห์แง่มุมและช่องว่างของกฎหมาย เพื่อการวางแผนภาษีเงินได้นิติบุคคล
2.1 การวางแผนภาษีเกี่ยวกับรายได้
- รายได้ที่ต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี
- วิเคราะห์และวางแผนเกี่ยวกับรายได้ที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อน
- วางแผนภาษีเกี่ยวกับรายการที่ทางบัญชียังไม่ถือเป็นรายได้แต่ด้านภาษีมองว่ารายได้เกิดขึ้นแล้ว
2.2 การวางแผนภาษีด้านรายจ่าย
- รายจ่ายที่ต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี
- การวางแผนรายจ่ายเกี่ยวกับสินทรัพย์ถาวร สินค้าคงเหลือ หนี้สูญ
- การวางแผนเกี่ยวกับรายจ่ายที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับให้เป็นรายจ่ายทางภาษีได้และสรรพากรยอมรับ
- การวิเคราะห์และวางแผนภาษีเกี่ยวกับรายจ่ายต้องห้าม

3. การวางแผนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขายไม่ผิดพลาดภาษีซื้อขอคืนได้เกือบทั้งหมด)
3.1 ทราบจุดความรับผิด (TAX POINT)ของภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อการวางแผนภาษีที่เกิดประโยชน์สูงสุด
3.2 การวางแผนเกี่ยวกับรายการที่สรรพากรถือว่าเป็นการขายแต่ข้อเท็จจริงไม่ได้ขาย
3.3 การวางแผนภาษีเกี่ยวกับภาษีซื้อ และภาษีซื้อต้องห้าม
3.4 การวางแผนการตลาดที่ไม่พลาดในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม
3.5 เทคนิคการนำภาษีซื้อต้องห้ามมาคำนวณภาษีได้โดยถูกต้อง

4. การวางแผนภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย (เจาะลึกประเด็นและหลักเกณฑ์การหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ต้องนำไปใช้ในการวางแผนภาษี
พร้อมการวิเคราะห์รายได้และรายจ่ายว่าระเภทใดบ้าง ต้องหักตามแนวเดิมและเพิ่มเติมตามกฎหมายใหม่)

5. การแก้ไขข้อผิดพลาดของเอกสารหลักฐานทางบัญชีให้สรรพากรายอมรับ

6. บทกำหนดโทษและข้อควรระวังเมื่อเสียภาษีไม่ถูกต้อง

7. เตรียมพร้อมรับการตรวจปฏิบัติการของสรรพากร

วิทยากร
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายภาษีอากร
กรมสรรพากร
...

http://74.125.153.132/search?q=cache:LRVS3C6x6l8J:www.nida-pro.com/index.php%3Foption%3Dcom_content%26view%3Darticle%26id%3D3:tax-planing%26catid%3D18:accounting%26Itemid%3D63+ภาษีเงินได้นิติบุคคล+สามารถนำรายจ่าย+สัมมนา&cd=4&hl=th&ct=clnk&gl=th

---------------------------------------------------------------------

FfF