จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การบุกยึดท่าอากาศยานในประเทศไทย พ.ศ. 2551 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม พ.ศ. 2551 โดยในวันที่ 24 พฤศจิกายน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้บุกเข้ายึดท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้สำเร็จ ทำให้ในวันที่ 27 พฤศจิกายน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในทั้งสอง พื้นที่ แต่ก็มิได้มีการดำเนินการตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแต่อย่างใด และกลุ่มพันธมิตรฯก็ได้ประกาศยุติการชุมนุมไปในที่สุดในวันที่ 3 ธันวาคม หลังจากที่นายสมชายพ้นจากตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม
ลำดับเหตุการณ์
24 พฤศจิกายน
- 06.30 น. กลุ่มพันธมิตรฯปฏิบัติการดาวกระจาย เคลื่อนขบวนจากทำเนียบรัฐบาลไปปิดล้อมรัฐสภา เพื่อขัดขวางการประชุมรัฐสภา และทยอยเดินทางไปปิดกองบัญชาการตำรวจนครบาล และกระทรวงการคลัง[1]
- 09.40 น. นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา โทรศัพท์แถลงข่าวผ่านโทรศัพท์มือถือของนายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้งดการประชุมรัฐสภาจนกว่าเหตุการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ
- 12.30 น. นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศให้ผู้ชุมนุมเดินทางไปยึดท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อไม่ให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี
- 14.20 น. กลุ่มพันธมิตรฯประกาศจะมีมาตรการสูงสุดกดดันรัฐบาลให้ลาออกภายในวันที่ 25 พฤศจิกายน
- 17.45 น. กลุ่มพันธมิตรฯยึดท่าอากาศยานดอนเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประกาศจะต้องให้รัฐบาลนายสมชายออกไปให้ได้ และมอบหมายให้นายสมศักดิ์รับผิดชอบนำการชุมนุมที่ดอนเมือง
25 พฤศจิกายน
- 10.45 น. กลุ่มพันธมิตรฯเดินทางไปสมทบที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และเคลื่อนขบวนบุกกองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อขัดขวางไม่ให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี
- 15.00 น. กลุ่มพันธมิตรฯเคลื่อนขบวนเข้าไปยึดพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่งผลให้ผู้โดยสารไม่สามารถเดินทางเข้าไปยังสนามบินได้
- 16.00 น. กลุ่มพันธมิตรฯหลายพันคนใช้รถยนต์ส่วนตัวและรถบรรทุก 6 ล้อปิดเส้นทางมอเตอร์เวย์ทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำให้การจราจรเป็นอัมพาต
- 17.10 น. เกิดเหตุปะทะทำร้ายกันระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯและกลุ่มคนเสื้อแดง บริเวณปากซอยวิภาวดีฯ 3 นานกว่า 20 นาที โดยมีการใช้อาวุธมีด ไม้ และมีเสียงปืนดังติดต่อกันหลายนัด หลังสถานการณ์คลี่คลายมีกลุ่มคนเสื้อแดงได้รับ บาดเจ็บ 11 ราย และถูกนำส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลเปาโล[2]
- 19.30 น. กลุ่มพันธมิตรฯทยอยเดินทางมาสมทบยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิร่วมหมื่นคน ส่งผลให้ผู้โดยสารและลูกเรือหลายพันคนตกเครื่อง ขณะที่ผู้โดยสารบางส่วนเลื่อนการเดินทางออกไปอย่างไม่มีกำหนด
- 21.00 น. นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ท่าอากาศยานไทย กล่าวภายหลังกลุ่มพันธมิตรฯบุกเข้าไปยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่าได้หารือกับ ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเห็นว่าให้ปิดการใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งขาเข้า-ออกโดยไม่มีกำหนด[3]
26 พฤศจิกายน
- 14.00 น. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ และรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน แถลงภายหลังร่วมประชุมกับ 5 องค์กรภาคเอกชน เสนอทางออกให้นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา และให้กลุ่มพันธมิตรฯยุติการชุมนุม ถอนกำลังออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง
- 18.10 น. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เดินทางโดยเครื่องบินเช่าเหมาลำสายการบินไทยจากกรุงลิมา ประเทศเปรู ถึงท่าอากาศยานทหารกองบิน 41 เชียงใหม่ ท่ามกลางการอารักขาอย่างแน่นหนาของชุดปฏิบัติการพิเศษพร้อมอาวุธครบมือ โดยมีกลุ่มคนเสื้อแดง 500 คนเดินทางมาให้กำลังใจ
- 18.30 น. กลุ่มพันธมิตรฯแถลงยืนยันจุดยืนเดิมให้รัฐบาลต้องลาออก ไม่ใช่ยุบสภาและเปิดทางให้มีรัฐบาลประชาภิวัตน์
- 22.15 น. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ออกรายการทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ที่จังหวัดเชียงใหม่ ยืนยันไม่ลาออก ไม่ยุบสภา และเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมคืนทำเนียบรัฐบาลและท่าอากาศยานทั้งสองแห่งโดยเร็วที่สุด[4]
- 24.00 น. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศปิดใช้บริการท่าอากาศยานดอนเมือง 48 ชั่วโมง เนื่องจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมแอบเข้าไปในรันเวย์สและเข้าไปขอเจ้าหน้าที่หอ บังคับการบินตรวจสอบข้อมูล และสร้างกระแสยึดหอบังคับการบิน
27 พฤศจิกายน
- 09.00 น. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ หลังจากแถลงข่าวยืนยันว่าจะไม่ลาออกหรือยุบสภา
- 15.00 น. มีกระแสข่าวปลด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก และกระแสข่าวการรัฐประหารตลอดช่วงบ่าย กระทั่ง พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก แถลงยืนยันว่าไม่มีการเคลื่อนกำลังเพื่อรัฐประหาร
- 16.00 น.
- ท่าอากาศยานไทยประกาศปิดใช้บริการท่าอากาศยานดอนเมืองต่อไปไม่มีกำหนด
- การบินไทย ร่วมกับกองทัพเรือ เปิดสนามบินอู่ตะเภาเป็น ศูนย์กลางนำเที่ยวบินระหว่างประเทศขึ้น-ลง เพื่อระบาย นักท่องเที่ยวตกค้างทั้งขาออกและขาเข้า ได้เต็มที่ 3 เที่ยว/วัน[5]
- 21.00 น. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านเอ็นบีทีจากจังหวัดเชียงใหม่ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง เพื่อป้องปรามการชุมนุมในเขตพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง[6]
28 พฤศจิกายน
- ตลอดทั้งวัน กระทรวงการท่อง เที่ยวและกีฬา ร่วมกับ 6 กระทรวง และตัวแทนสายการบินทั้งหมดหาทางออกร่วมกัน
- ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งสำนักนายรัฐมนตรี ที่ 305/2551 ให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาปฏิบัติงานสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ได้รับเงินเดือนของสังกัดเดิมไปก่อนและให้ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รักษาราชการแทน
2 ธันวาคม
- ศาลรัฐธรรมนูญ พิพากษายุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย และตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปี เป็นผลให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคทั้งสามต้องพ้นจาก ตำแหน่ง โดยนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการรักษาการนายกรัฐมนตรี จนกว่าจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่
3 ธันวาคม
- 10.00 น. กลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศยุติการชุมนุม หลังจากที่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งไป 1 วันก่อนหน้านั้น ทั้งนี้ ยืนยันว่าหากยังมีความเคลื่อนไหวที่ต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือมีความเคลื่อนไหวในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีความไม่ชอบมาพากล หรือทุจริต กลุ่มพันธมิตรฯ ยังพร้อมที่จะกลับมาทุกครั้ง[7]
ผลกระทบ
นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดเผยว่าตั้งแต่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิงดเที่ยวบิน ตั้งแต่เวลา 22.00-18.00 น. มีเที่ยวบินได้รับผลกระทบ 402 เที่ยวบิน และจากที่ไม่สามารถให้บริการเที่ยวบินขึ้น-ลงได้มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนนั้น ได้ประเมินความเสียหายพบว่า ตั้งแต่เวลา 22.00 น.วันที่ 25 พฤศจิกายน จนถึง 18.00 น.วันที่ 26 พฤศจิกายน คาดว่าท่าอากาศยานไทยจะสูญเสียรายได้ในส่วนของค่าธรรมเนียมขึ้น-ลงสนาม บินกว่าวันละ 53 ล้านบาท จากเที่ยวบินที่ขึ้น-ลงไม่ได้กว่า 292 เที่ยวบิน ยังไม่รวมค่าร้านค้าและค่าเช่าพื้นที่ของกลุ่มคิงส์เพาเวอร์ด้วย[8]
นายสุรชัย ธารสิทธิพงษ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าความเสียหายที่คาดการณ์ในเบื้องต้น ทั้งช่วงที่เกิดเหตุการณ์ชุมนุม และผลกระทบต่อเนื่องอีก 6 เดือน คาดว่าไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท และส่งผลกระทบต่อผลประกอบการบริษัทปี พ.ศ. 2551 ที่จะขาดทุน รวมถึงกระทบต่อแผนการใช้เงินของบริษัท โดยเฉพาะเงินกู้ระยะสั้นที่อาจต้องรีไฟแนนซ์ประมาณ 10,000 ล้านบาท และแผนการชำระค่าเครื่องบิน ดังนั้น จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาหาเงินอุดหนุนให้หรือหาแหล่งเงินกู้ประมาณ 20,000 ล้านบาท[9]
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยว่า ทางศูนย์ได้ประเมินผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากจากสถานการณ์ทางการ เมืองที่ไม่แน่นอน และการปิดสนามบินสุวรรณภูมิออกเป็น 2 กรณี กรณีแรกสถานการณ์ยืดเยื้อแต่จบภายในเดือนพฤศจิกายน 2551 จะทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 4 ขยายตัว 2.8-3.3% และผลกระทบทางการเมืองต่อระบบเศรษฐกิจตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2551 จะทำให้เกิดการสูญเสียด้านต่างต่างๆ ดังนี้ ด้านบริโภค 15,000-20,000 ล้านบาท ด้านลงทุน 6,000-11,000 ล้านบาท ด้านส่งออก 10,000-24,000 ล้านบาท ด้านท่องเที่ยว 42,000-75,000 ล้านบาท และต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ 73,000-130,000 ล้านบาท และเศรษฐกิจไทยปี 2551 ขยายตัว 4.5-4.8%
กรณีที่สอง สถานการณ์ยืดเยื้อจนถึงเดือนธันวาคม 2551 ทำให้ไตรมาส 4 เศรษฐกิจขยายตัวเหลือ 1.5-2% และเกิดความสูญเสียในด้านบริโภค 21,000-30,000 ล้านบาท การลงทุน 12,000-25,000 ล้านบาท การส่งออก 25,000-40,000 ล้านบาท การท่องเที่ยว 76,000-120,000 ล้านบาท ต่อเศรษฐกิจโดยรวม 134,000-215,000 ล้านบาท และขยายตัวเหลือ 4.1-4.4% ซึ่งกรณีที่สองจะมีความเป็นไปได้สูง และกระทบต่อการขยายตัวให้ตกต่ำลงไปอีกในไตรมาสแรกของปี 2552 และทำให้เศรษฐกิจไทยปีหน้า จากคาดการณ์เดิมขยายตัว 3-4% เหลือ 2-3% ใกล้เคียงกับปี 2545 ที่ขยายตัว 2% และอาจกระทบต่อการจ้างงานลดลงกว่า 1 ล้านคน
มุมมอง
- รัฐบาลจีน ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและญี่ปุ่นประกาศเตือนพลเมืองของตนให้หลีกเลี่ยงการเดินทางมายัง ประเทศไทย[10]
- สหภาพยุโรปกระตุ้นให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากสนาม บินอย่างสันติ โดยให้ความเห็นว่า "ขณะที่ให้ความเคารพต่อสิทธิในการประท้วง กระนั้น สหภาพยุโรปก็พิจารณาว่าฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่าง ยิ่ง"[11][12]
อ้างอิง
- ^ พันธมิตรฯ ยึดก.คลัง เตรียมบุกสนามบินดอนเมือง
- ^ กลุ่มแท็กซี่ ปะทะ พันธมิตร ที่สนามบิน
- ^ ม็อบถ่อย"เผาประเทศ ยึดเบ็ดเสร็จสุวรรณภูมิ ทอท.สั่งปิดสนามบินไม่มีกำหนด
- ^ สมชายแถลง ไม่ยุบสภา-ไม่ลาออก เตรียมประชุมครม.27 พ.ย.นี้ อ้างเหตุเพื่อรักษาปชต. ปกป้องคนในชาติ
- ^ การบินไทยย้ายเที่ยวบินลง ดอนเมือง-อู่ตะเภา
- ^ รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สุวรรณภูมิและดอนเมือง พันธมิตรประกาศสู้ถึงที่สุด
- ^ พันธมิตรฯ ประกาศชัยชนะ!! ยุติการชุมนุม 3 ธ.ค.นี้
- ^ สูญแสนล้าน พันเที่ยวบินป่วน
- ^ การบินไทยเจ๊ง 2 หมื่นล้าน เล็งฟ้องแพ่ง "พันธมิตร"
- ^ AFP, Defiant Thai PM rejects army pressure to quit, 26 November 2008
- ^ "EU Says Airport Protests Damaging Thailand's Image", Deutsche Welle, 2008-11-29. สืบค้นวันที่ 2008-11-29
- ^ Ringborg, Maria. "Polis borttvingad från Bangkoks flygplats", Dagens Nyheter, 2008-11-29. สืบค้นวันที่ 2008-11-29 (ในSwedish)
------------------------------------------------------
FfF