บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


08 มีนาคม 2553

<<< ย้อนอดีตวันสตรีสากล ความหมายคำว่าคนเหมือนกัน ไม่ว่าฉันหรือเธอ >>>

ย้อนรอยการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด
เพื่อความเสมอภาค
และความเป็นธรรมของสตรีในอดีต
จนก่อกำเนิดวันสตรีสากล
ในวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีในเวลาต่อมา
แต่กว่าจะได้ศักดิ์ศรีความเท่าเทียมกันของมนุษย์
สตรีหลายชีวิตก็ต้องพบจุดจบอย่างน่าสยดสยอง
เช่น กรรมกรสตรีที่เรียกร้องความเป็นธรรม
โดนเผาตายทั้งเป็น 119 ศพ
ถือเป็นโศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งเลยทีเดียว
แต่ทุกครั้งหลังเกิดโศกนาฏกรรม
แทนที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะหยุดนิ่งเงียบหายไปกับสายลม
กลับกลายเป็นการสร้างรอยแผลให้จดจำไม่มีที่สิ้นสุด
จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป
ลุกขึ้นสู้ สู้ แล้วก็สู้ จนกระทั่งชนะในที่สุด
และสุดท้ายกลายเป็นตำนานการต่อสู้
ให้รับรู้ถึงสิทธิแห่งความเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกเพศทุกวัย
ที่กว่าจะได้มาเลือดตาแทบกระเด็น
ซึ่งก็เป็นเหมือนกันกับการเรียกร้องหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่าง ที่ผ่านมา
ไม่มีทางได้อะไรมาง่ายๆ
แปลกใจทำไมประวัติศาสตร์ถึงมักชอบซ้ำรอย
คือมักจะเกิดโศกนาฏกรรมก่อน
แล้วถึงจะประสบกับชัยชนะ
จนได้สิ่งที่เรียกร้องในภายหลัง
ทำไมผู้มีอำนาจทั้งหลาย
ไม่มีใครคิดสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ดูบ้าง
เผื่อจะได้ไม่เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นอีก
หรือคิดว่าตนเองแน่
เลยคิดเข้าข้างตนเองว่า
ไม่มีทางพ่ายแพ้

ไม่มีทางซ้ำรอยประวัติศาสตร์
และไม่แน่อาจกลับมาชนะก็ได้
แต่สุดท้ายก็เห็นลงเอยคล้ายๆ กัน
ต่างกันแค่ใช้เวลายาวนานไม่เท่ากันเท่านั้นเอง

และเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง
ที่คนรุ่นถัดๆ ไป หลังได้สิ่งดีๆ มาแล้ว
กลับไม่คิดที่จะรักษาให้คงอยู่ตลอดไป
กลับคิดว่าธุระไม่ใช่
ขอทำมาหากินอยู่ไปวันๆ เท่านั้นเพียงพอ
จะเห็นคุณค่าอีกทีก็ต่อเมื่อโดนยึดคืนไปแล้ว
หรือขาดสิ่งนั้นๆ ไปแล้วนั่นแหล่ะ
ถึงจะคิดลุกขึ้นสู้กันอีกครั้ง
บ้างก็ลืมเลือนและไม่ให้ความสำคัญ

จนลืมการต่อสู้ที่ยากลำบาก
จนลืมวันเวลาที่ยาวนานในการต่อสู้
กว่าจะได้สิ่งนั้นๆ มา
และบางคนก็กลับไปยอมรับสภาพดังเดิม

แทนที่จะสานต่ออุดมการณ์ดีๆ เหล่านั้นไว้
เพื่อส่งต่อให้แก่คนรุ่นลูกรุ่นหลานหรือรุ่นถัดๆ ไป
ให้ได้รับเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม
เหมือนที่รุ่นพ่อรุ่นแม่รุ่นปู่รุ่นย่า เคยได้รับมันมาก่อน
มันช่างเหมือนกงล้อแห่งประวัติศาสตร์
ที่เมื่อถึงจุดสูงสุดก็จะค่อยๆ เสื่อมลงจนถึงจุดต่ำสุด
แล้วก็ค่อยๆ กลับมาเจริญขึ้นเรื่อยๆ จนสูงสุดอีกครั้ง
วนไปวนมาอยู่อย่างงี้ไม่มีที่สิ้นสุด
เพราะความไม่ต่อเนื่องหรือลืมเลือนประวัติศาสตร์
หรืออาจมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์
จนทำให้วันที่ยิ่งใหญ่ในอดีตหลายต่อหลายเหตุการณ์
กลายเป็นวันธรรมดา และไม่ค่อยมีใครเห็นคุณค่าในเวลาต่อมา

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าฉันหรือเธอ ก็คือคนเหมือนกัน
และสามารถก้าวไปพร้อมๆ กันได้
ไม่จำเป็นต้องให้ใครก้าวก่อน แล้วถึงจะก้าวตามต่อไปได้
เรื่องการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม
ไม่จำกัดเฉพาะ เพศใดเพศหนึ่ง วัยใดวัยหนึ่งเท่านั้น
ที่สามารถลุกขึ้นมาปกป้องหรือต่อสู้เพื่อให้ได้มา
เพราะเมื่อถึงคราใดขาดสิ่งเหล่านั้น
ผลกระทบก็จะตกอยู่กับคนทุกเพศทุกวัยทุกสีทุกๆ กลุ่มด้วยเหมือนกัน
ไม่เฉพาะพวกใดพวกหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ

ต่อแต่นี้ไปสัญญากันได้ไหมว่า
เธอและฉันจะก้าวไปพร้อมๆ กัน
จะสู้ด้วยกัน
เมื่อถึงวันที่จะต้องลุกขึ้นสู้ อีกครั้ง

โดย มาหาอะไร

--------------------------------------------------------------------


เจตนารมณ์ "วันสตรีสากล" กับเนื้อหาที่ถูกบิดเบือนซ้ำซ้อน


โดย คุณ รุ่งโรจน์ วรรณศูทร
ที่มา เวบไซต์ arinwan
8 มีนาคม 2553

เป็นเวลา 221 ปีนับจาก ค.ศ.1789 (พ.ศ.2332) ที่ผู้หญิงสามัญชนชาวปารีสก้าวจากทุกซอกหลืบของมหานครใหญ่แห่งทวีปยุโรป ก้าวออกมาอย่างแกล้วกล้าองอาจเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชายในฐานันดรที่ 3 คือสามัญชนเช่นเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบกันขึ้นจากชาวไร่ชาวนาที่ยากจนและถูกขูดรีดภาษีอย่างหนัก รวมทั้งพวกชนชั้นกลาง เช่น พ่อค้า ช่างฝีมือ และปัญญาชน พร้อมใจกันเดินขบวนไปยังพระราชวังแวร์ซายส์ ระหว่างการอภิวัฒน์ใหญ่ฝรั่งเศส นอกเหนือจากข้อเรียกร้องร่วมกันของทั้ง 2 เพศอันเป็นคำขวัญการลุกขึ้นสู้ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ นั่นคือ "เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ หรือความตาย" แล้ว ยังผนวกด้วยการเรียกร้องความคุ้มครองแก่สตรีขึ้นเป็นครั้งแรก

และเป้าหมายของการลุกขึ้นของประชามหาชนคนสามัญทั่วท้องถนนในกรุงปารีสนั้นพุ่งตรงไป ที่อีก 2 ฐานันดรที่ดำรงสถานะอยู่เหนือขึ้นไป อันได้แก่ ฐานันดรที่ 1 คือ พระและนักบวชในคริสต์ศาสนา และฐานันดรที่ 2 คือ ขุนนางและชนชั้นสูง ทั้งสองฐานันดรเป็นชนชั้นอภิสิทธิ์ มีจำนวนประมาณร้อยละ 2 ของจำนวนประชากรทั้งหมด มีชีวิตความเป็นอยู่สะดวกสบายและหรูหรา

การ เคลื่อนไหวที่มีความหมาย 2 นัยสำหรับสตรีในการอภิวัฒน์ใหญ่ฝรั่งเศสนั้นเอง ที่จุดประกายการลุกขึ้นทวงถามสิทธิในฐานะมนุษย์และสิทธิในฐานเพศที่แบกโลก ไว้ครึ่งหนึ่งในเวลาต่อมา

ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1857 (พ.ศ.2400) แรงงานสตรีในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐ ก่อการลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่กลับมีการลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ สุดท้ายกลับมีกรรมกรหญิงถึง 119 คนต้องสังเวยชีวิตจากนโยบายล้อมปราบอันอำมหิตหมายทำลายล้างให้สิ้นซาก

หลังจากนั้นสืบเนื่องเป็นเวลากว่า 30 ปี ที่การเคลื่อนไหวของสตรีมีลักษณะเป็นขบวนการที่มีการจัดตั้งเป็นองค์กรและมี การนำที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเป็นลำดับ เริ่มจากในปี ค.ศ.1866 (พ.ศ.2409) มีการประชุมสมัชชาของบรรดาสมาคมผู้ใช้แรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 1 ขึ้น และที่ประชุมได้มีมติเกี่ยวกับการทำงานนอกครัวเรือนของสตรี ซึ่งถือเป็นมติที่ท้าทายต่อขนบประเพณีในยุคนั้น ที่กำหนดให้สตรีต้องหมกตัวอยู่จมอยู่กับงานบ้าน ไร้สถานะทางสังคม ไร้สิทธิในทางเศรษฐกิจ และไร้เสียซึ่งสิทธิเสรีภาพในฐานะมนุษย์ที่เป็นปัจเจก


จนมาถึงวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ.1889 (พ.ศ.2432) คลารา เซทคิน ผู้นำแรงงานสตรีชาวเยอรมันซึ่งต่อมาเป็นหนึ่งในแกนนำก่อตั้งกลุ่มสังคมนิยม ในเยอรมนี ได้แสดงสุนทรพจน์ในประเด็นปัญหาของสตรีเป็นครั้งแรกต่อที่ประชุมผู้ก่อตั้ง สภาคองเกรสสากล ครั้งที่ 2 ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมีข้อเรียกร้องสิทธิสตรีในการทำงาน ให้มีการคุ้มครองสตรีและเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรียกร้องให้สตรีมีส่วนร่วมในการประชุมระดับชาติและระดับ สากลอีกด้วย อันเป็นการประกาศศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันเป็นครั้งแรก

คำประกาศนั้น เป็นการทวงสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นครั้งแรกของสตรีตลอดประวัติ อารยธรรมของมนุษย์ ที่เคยเป็นเพียงช้างเท้าหลัง หรือทาสในเรือนเบี้ยที่จำต้อง "หนวก-ใบ้-บอด" ต่อทุกกิจกรรมนับจากย่อยที่สุดในครัวเรือนไปจนถึงระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม



ถัดมาในปี ค.ศ.1890 (พ.ศ.2433) ได้มีการจัดประชุมกลุ่มสตรีผู้ต่อต้านสงครามขึ้นที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ การประชุมนี้เป็นจุดเริ่มของการต่อต้านสงคราม ซึ่งได้มีการพัฒนาขบวนการต่อมาในการทำงานอย่างต่อเนื่องในช่วงศตวรรษที่ 20

จาก นั้นในปี ค.ศ.1907 (พ.ศ.2450) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทนไม่ไหวต่อการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ ทารุณของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส เนื่องจากกรรมกรหญิงเหล่านี้ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด ไม่มีหลักประกันหรือสวัสดิการใดๆ เป็นผลให้เกิดความเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพื่อแลกกับค่าแรงเพียงน้อยนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากตั้งครรภ์ก็จะถูกไล่ออกจากงานทันที

เป็นเหตุให้ คลารา เซทคิน ซึ่งในเวลานั้นได้พัฒนาตนเองจนเป็นนักเคลื่อนไหวแรงงานและสิทธิสตรีสายแนว คิดสังคมนิยม ตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรีด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย

ผลการประท้วงของแรงงานสตรี ประสบความพ่ายแพ้ มีผู้ถูกจับกุมหลายร้อยคน แต่ชื่อของ คลารา เซทคิน เป็นสัญลักษณ์การลุกขึ้นสู้ในขอบเขตสากลไปแล้ว

ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1908 (พ.ศ.2451) แรงงานหญิงกว่า 15,000 คนรวมตัวกันเดินขบวนทั่วมหานครนิวยอร์ค เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า "ขนมปังกับดอกกุหลาบ" หรือการ "กินอิ่ม-นุ่งอุ่น" อันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์นั่นเอง

จนกระทั่งในวัน ที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 (พ.ศ.2453) ความพยายามของผู้ใช้แรงงานสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ 2 ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ทั้งนี้ในที่ประชุมได้ผ่านมติเสนอให้มีการคุ้มครองแรงงานสตรีในระบบสาม-แปด กล่าวคือ 8 ชั่วโมงทำงาน 8 ชั่วโมงเพื่อการพักผ่อน และ 8 ชั่วโมงเพื่อการศึกษา แสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพ (เนื่องจากคนงานสมัยนั้นต้องทำงานในโรงงานวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีการประกันความปลอดภัยของแรงงานใดๆ และเป็นผลให้เกิดความเจ็บป่วยล้มตายในเวลาอันสั้น) พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย

และได้มีการ ฉลองวันสตรีสากลขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงเวลาดังกล่าว โดยมีประเทศต่างๆจัดงานขึ้นพร้อมกันได้แก่ ออสเตรีย เดนมาร์ค เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ มีประชาชนทั้งชายและหญิงมากกว่าหนึ่งล้านคนร่วมชุมนุม มีการเรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง สิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพิ่มเติมจากการเรียกร้องสิทธิในการทำงาน การเข้ารับการอบรมวิชาชีพ และการให้ยุติการแบ่งแยกเพศสภาพในการทำงาน

จะ เห็นได้ว่าประวัติการลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องสิทธิสตรีนั้น เกิดควบคู่และพัฒนาไปพร้อมกับขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและ สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยอย่างแยกกันไม่ออก อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิอันชอบธรรมของ ผู้ใช้แรงงานสตรีที่ถือกำเนิดขึ้นพร้อมการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ต้องต้องการ เสรีชน ไม่เลือกเพศและวัย เข้าสู่ขบวนแถวของกองทัพแรงงานอันมหาศาล เพื่อป้อนเข้าสู่การขยายตัวเติบโตของระบบทุนนิยมเสรีนั่นเอง

นั่นหมาย ความว่าการเคลื่อนไหวของขบวนการปลดปล่อยสตรีจากความเป็นพลเมืองชั้น 2 ชั้น 3 นั้น หาใช่สิ่งเดียวกันกับความพยายามปกปิดบิดเบือนข้อเท็จจริงและประเด็นในการ ต่อสู้ ด้วยการจำกัดขอบเขตการเรียกร้องเพียงแค่ผลประโยชน์เฉพาะส่วนของสตรีในกลุ่ม อำมาตย์-อภิชน ซึ่งแตะปัญหาเพียงผิวเผินและผูกพันเกี่ยวเนื่องเฉพาะสิทธิในการจัดการ ทรัพย์สินเอกชน และความเสมอภาคที่แทบจะเป็นเรื่องไกลตัวของผู้ใช้แรงงานสตรีหรือประชาชนราก หญ้าที่เป็นสตรี ยิ่งไปกว่านั้น ยังแทบมีส่วนสนับสนุนโดยทางอ้อม ให้พลเมืองสตรีชั้นล่างมีโอกาสเป็นเพียง "วัตถุในการกดขี่ทางเพศ" ที่เป็นสมบัติส่วนตัวของคนชั้นนำในยุคประวัติศาสตร์ดั้งเดิม มาเป็นสมบัติสาธารณะที่สามารถซื้อหาได้ด้วยเงินตราหรืออามิสใดๆ

ใน วาระที่ "วันสตรีสากล" เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง ขอเรียกร้องให้สตรีผู้รักประชาธิปไตยและรักความเป็นธรรมทั้งหลาย จงลุกขึ้นสลัดพันธนาการที่จองจำทั้งทางร่างกายและความรู้สึกนึกคิด ก้าวออกมาร่วมขบวนแถวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้นในแผ่นดินแม่แห่ง สยามประเทศ ให้ได้มาร่วมกันทั้ง 2 เพศหญิงชาย ซึ่ง...

"สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม."

http://thaienews.blogspot.com/2010/03/blog-post_08.html

--------------------------------------------------------------------

วัน สตรีสากล คนงานสตรี และผู้หญิงเสื้อแดง



โดย เปลวเทียน ส่องทาง
8 มีนาคม 2553

บทความเกี่ยวเนื่อง:เจตนารมณ์ "วันสตรีสากล" กับเนื้อหาที่ถูกบิดเบือนซ้ำซ้อน

วันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1857 (พ.ศ.2400) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกาได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คนต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่

ใน ปี ค.ศ.1907 (พ.ศ.2450) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาทนไม่ไหวต่อการเอารัด เอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส เนื่องจากกรรมกรหญิงเหล่านี้ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใดๆ เป็นผลให้เกิดความเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก

จึงมี การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืนมา และมี "คลาร่า เซทคิน"นักการเมืองสตรีสายแนว คิดสังคมนิยม ชาวเยอรมัน เป็นผู้นำสำคัญในการเคลื่อนไหว

บทบาทของ "คลาร่า เซทคิน" นั้น เป็นแกนนำสำคัญในการต่อต้านอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งพรรคนาซี และต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการ โดยเธอได้กล่าวสุนทรพจน์โจมตีอดอล์ฟ ฮิตเลอร์อย่างรุนแรง จนถึงปี ค.ศ.1933 พรรคนาซีเยอรมันเข้ารวบอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ
เมื่อ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์มีอำนาจในการปกครองอย่างเด็ดขาด ทำให้คลาร่า เซทคิน ต้องยุติบทบาทนักการเมืองสายแนวคิดสังคมนิยม ก่อนถูกรัฐบาลตามล่ากวาดล้างจนต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตที่ประเทศรัสเซียแทน และถึงแก่กรรมในปีเดียวกัน

คลาร่า เซทคิน มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคให้กับสตรี อีกทั้งยังทำงานเพื่อสตรีมาโดยตลอด ทำให้คลาร่า ได้รับการขนานนามจากกลุ่มองค์กรสตรีนานาชาติว่าเป็น "มารดาแห่งการเคลื่อนไหวสตรีสากล"

ในการเคลื่อนไหวของคนงานหญิง ได้มีการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย

อย่างไรก็ตามแม้การเรียก ร้องครั้งนี้ จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ "คลาร่า เซทคิน" และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น

ต่อ มาในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1908 (พ.ศ.2451) มีแรงงานหญิงกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ค เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า "ขนมปังกับดอกกุหลาบ" ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง

จน กระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 (พ.ศ.2453) ความพยายามของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม 8 คือ ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง และอีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย

ทั้งนี้ยัง ได้รับรองข้อเสนอของ "คลาร่า เซทคิน" ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสตรีสากล

วันสตรีสากล จึงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ให้ความทรงจำกับผู้หญิงผู้ถูกกดขี่ทั่วโลกได้ตระหนักการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ ดีกว่า เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อสิทธิเสรีภาพ เพื่อความเสมอภาคและเพื่อประชาธิปไตย

การต่อสู้ของคนงานสตรีไทยในขอบ เขตทั่วประเทศ เช่น คนงานสตรีไทรอัมพ์ และการต่อสู้ของผู้หญิงเสื้อแดง ก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ของวันสตรีสากลเช่นเดียวกัน และ“ผู้หญิงคือปรปักษ์ของการกดขี่ ผู้หญิงนี่แหละที่ต่อสู้อย่างเข้มข้นที่สุดเสมอมา”
เหมือนดั่งที่ ปรามูเดีย อนันตา ตูร์ นักเขียนชาวอินโดนีเซีย กล่าวไว้

หาใช่การจัดงานขององค์สตรีแบบคุณหญิงคุณนายนัก สังคมสงเคราะห์ทั้งหลายแต่อย่างใดไม่

http://thaienews.blogspot.com/2010/03/blog-post_3828.html

--------------------------------------------------------------------


FfF