วันอาทิตย์, มกราคม 24, 2010
คำพิพากษาฎีกาเทียบเคียงกรณีเขายายเที่ยง
โดย ชำนาญ จันทร์เรือง
24 มกราคม 2553
สำหรับ ประเด็นที่ว่าจะสามารถดำเนินคดีอาญาต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ในกรณีนี้ได้อีกหรือไม่นั้น เห็นว่าคดีนี้ผู้เสียหายคือรัฐ ฉะนั้น กรมป่าไม้หรือพนักงานอัยการย่อมที่จะสามารถดำเนินคดีอาญาต่อพล.อ.สุรยุทธ์ ได้
จากกรณีที่พนักงานอัยการจังหวัดสีคิ้วมีคำสั่งไม่ฟ้อง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ กรณีที่เอกชนแจ้งความดำเนินคดีว่ากระทำผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ฯและ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ โดยให้เหตุผลว่าขาดเจตนา และต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเห็นชอบกับความเห็นของพนักงานอัยการ ที่สั่งไม่ฟ้องนั้น
ซึ่งมีประเด็นถกเถียงตามมาอยู่ใน 2 ประเด็นใหญ่ๆก็คือ
ประเด็นแรก ความเห็นพนักงานอัยการในกรณีนี้สามารถถือเป็นบรรทัดฐานได้หรือไม่
และประเด็นถัด มาก็คือ พล.อ.สุรยุทธ์รอดพ้นจากการดำเนินคดีอาญาในกรณีนี้แล้วหรือยัง เพราะกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความชอบกับความเห็นของพนักงานอัยการแล้ว คดีเป็นอันว่ายุติ
ในประเด็นแรกนั้นได้มีคดีที่มีข้อเท็จจริงใกล้เคียงกับกรณีของพล.อ.สุรยุทธ์ นั่นคือ คำพิพากษาฎีกาที่ 2087/2539 พนักงานอัยการเป็นโจทย์ฟ้องว่า เมื่อวัน เวลา และเดือนใด ไม่ปรากฏชัด ปี 2530ถึง วันที่ 9 มิถุนายน 2535 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยได้ก่นสร้างแผ้วถางทำไม้และเข้ายึดถือครอบครองป่าและที่ดินเพื่อตนเอง ในเขตป่าคลองกะลาเสและคลองไม้ตายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงาน เจ้าหน้าที่และไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายเป็นเนื้อที่ 496 ไร่ 2 งาน 72 ตารางวา อันเป็นการทำลายป่า และเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ
เหตุเกิด ที่ตำบลไม้ฝาดอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54, 72 ตรี พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 ให้ จำเลยและบริวารออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง , 72 ตรี วรรคสองพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง ,31 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ซึ่ง เป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 9 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งใน สามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี ให้จำเลยและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลย อุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน จำเลยจึงยื่นฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว คดีฟังเป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความมิได้โต้เถียงกันว่า ที่ดินจำนวนประมาณ 496 ไร่ 2 งาน72 ตารางวา ที่จำเลยและน้องชายจำเลยได้ซื้อมาจากผู้ขาย 13 ราย ซึ่งเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในเขต ที่ดินป่าคลองกะสาเสและป่าคลองไม้ตาย ตำบลกะลาเส ตำบลเขาไม้แก้ว ตำบลบ่อหิน และตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนแห่ง ชาติ ปรากฏตามเอกสารหมาย ล. 1 และ ป.ล. 1
โดยปรากฏว่าผู้ที่ขาย ที่ดินให้จำเลยและน้องชาย จำเลยเป็นผู้ที่ได้ครอบครองที่ดินมาก่อนที่จะประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ และผู้ครอบครองได้ไปร้อง แจ้งสิทธิการครอบครองไว้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้ประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติแล้ว ปรากฏตาม หลักฐานการแจ้งสิทธิการครอบครอง เอกสารหมาย ป.ล. 2
มีปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 หรือไม่ เห็นว่า ในข้อหาความผิดตาม พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยนำสืบว่าได้ซื้อสิทธิครอบครองจากบุคคลผู้ครอบครองที่ดินมาก่อน ที่ทางการจะประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวก็เป็น เพียงแสดงว่า เฉพาะตัวผู้ที่ขายสิทธิการครอบครองให้แก่จำเลยดังกล่าวขาดเจตนาที่จะบุกรุก ป่าสงวนแห่งชาติ มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติเท่านั้น
แต่ สำหรับจำเลยผู้รับโอนสิทธิครอบครอง จากบุคคลดังกล่าวจะอ้างสิทธิครอบครองที่ได้รับโอนมาได้ก็แต่ราษฎรด้วยกันเอง เท่านั้น แต่ในเรื่องที่ผู้ใด กระทำผิดกฎหมายหรือไม่ สำหรับกรณีนี้นั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวหรือเหตุเฉพาะตัวของผู้กระทำ จำเลยจะอ้างว่าได้รับโอนสิทธิและขาดเจตนาบุกรุกป่าสงวนเช่นกันหาได้ไม่ เพราะเป็นการอ้างเหตุเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้น ผิดและเป็นการอ้างในลักษณะที่ว่าตนเองไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติห้ามไว้เช่นนั้น
เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่จำเลยซื้อ ได้มีกฎกระทรวงประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อ วันที่ 12 มิถุนายน 2529 จำเลยเบิกความว่าได้ซื้อมา ระหว่างปี 2530ถึง ปี 2535 จึงเป็น ระยะเวลาที่รัฐ ประกาศให้ที่ดินดังกล่าวเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติแล้ว และจำเลยก็ทราบดีว่าที่ดินดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติ
การที่จำเลย อ้างว่าได้ก่นสร้างเฉพาะต้นไม้ที่ผู้ขายได้ปลูกไว้ มิได้ทำลายป่าไม้ส่วนอื่นนั้น เห็นว่า ต้นยางต้นมะม่วงและต้นมะพร้าวที่ผู้ขายปลูกไว้เป็นไม้ยืนต้น มีลักษณะติดตรึงตรากับที่ดินที่เป็นป่า เป็น ส่วนควบกับที่ดินป่า จึงเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวน การไปตัดทำลายก็เป็นการทำลายป่าสงวน
แต่จะอย่างไรก็ตาม การที่จำเลยยอมรับว่าได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินป่าสงวนดังกล่าว โดยการแสดงบอกกล่าวต่อ เจ้าหน้าที่และแสดงหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่อันเป็นหลักฐานแสดงออกถึง การครอบครองที่ป่าสงวน ดังกล่าว กรณีก็เป็นความผิดตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 แล้ว เพราะ บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ห้ามบุคคลใดเข้ายึดถือครอบครองป่าสงวน ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่เป็นเหตุให้จำเลยพ้นผิด
สำหรับข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ที่ว่า จำเลยเป็นเพียงผู้ซื้อสิทธิครอบครองต่อจากราษฎรที่ยึดถือครอบครองอยู่ก่อน เท่านั้น มิได้กระทำการก่นสร้างแผ้วถางป่าหรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่านั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 ก็ได้บัญญัติห้ามยึดถือครอบครองป่าเช่นกัน
ฉะนั้น การที่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองป่า จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ดังกล่าว ถึงแม้จำเลยจะมิได้กระทำการก่นสร้างทำลายป่าก็ตาม เมื่อ การที่รัฐประกาศเขตท้องที่ดังกล่าวเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ก็มิได้กระทำให้ป่าส่วนนั้นหมดสภาพจากการ เป็นป่า ที่ดินดังกล่าวก็ยังมีสภาพเป็นป่าอยู่เช่นเดิม มิได้ทำให้การเป็นป่าอยู่แต่เดิมสิ้นสภาพไป
การที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองจึงเป็นการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ดังกล่าวด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีความผิด ตาม พระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 และมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ.2484ชอบแล้ว
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้น เห็นว่าจำเลยเพียงเป็นผู้ซื้อสิทธิการครอบครองและเข้ายึดถือครอบครองป่าสงวน ต่อจากบุคคลอื่น เมื่อเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบจำเลยก็ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงในการที่ได้ซื้อมาให้ เจ้าหน้าที่ทราบ พาไปดูเขตที่ดิน แจ้งจำนวนเนื้อที่ดินที่ซื้อมา แสดงใบเสร็จการเสียภาษีแสดงหลักฐานคำร้อง อ้างสิทธิการครอบครองของผู้ขาย ให้เจ้าหน้าที่ทราบ เป็นการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่
จำเลยเคยรับราชการครู ขณะรับราชการได้รับ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้รับเหรียญกาชาดสมนาคุณ ได้รับประกาศเกียรติคุณบัตร ปรากฏตามภาพถ่าย ท้ายฎีกา หมายเลข 1 ถึง 3 และรับราชการครูมาจนเกษียณอายุ แสดงว่าจำเลยเป็นผู้ประพฤติดีมาตลอด การกระทำของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่จำเลยมิได้กระทำความผิดเพราะเหตุที่จำเลย มีสันดานเป็นผู้ร้าย
เมื่อได้พิจารณาประกอบกับว่าจำเลยเป็นหญิง ปัจจุบันอายุประมาณ 66 ปี และไม่ปรากฏ ว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนด้วยแล้ว กรณีมีเหตุสมควรให้จำเลยปรับตัวให้เข้ากับสังคมเป็น พลเมืองดีต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำคุกจำเลย 9 ปี หนักเกินไป สมควรกำหนดโทษให้เบาลง ตามสมควรแก่โทษและรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 150,000 บาท ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี ปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มี กำหนด 3 ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้คุมประพฤติจำเลย โดยให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมตามที่พนักงานคุมประพฤติ และจำเลยเห็นสมควรไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมง ภายในกำหนดเวลารอการลงโทษให้จำเลยไปติดต่อพนักงานคุมประพฤติเพื่อดำเนินการ ดังกล่าวภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลฎีกา นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 3
กล่าวโดยสรุปสำหรับประเด็นนี้ก็คือ แม้จำเลยจะซื้อสิทธิครอบครองที่ดินจากบุคคล ผู้ครอบครองที่ดินมาก่อนที่ทางการจะประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ก็เป็นเพียงแสดงว่าเฉพาะตัวผู้ที่ขายสิทธิครอบครองให้แก่จำเลยขาดเจตนาที่จะ บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติเท่านั้น
เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้ซื้อมาในระยะ ที่รัฐประกาศให้ที่ดินดังกล่าวเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติแล้ว และจำเลยก็ทราบดีว่าที่ดินดังกล่าวเป็น ป่าสงวนแห่งชาติ การที่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินป่าสงวนจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา14 และยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ.2484มาตรา54ซึ่งบัญญัติห้ามยึด ถือครอบครองป่าเช่นกันด้วย
สำหรับประเด็นที่สองที่ว่าจะสามารถดำเนินคดีอาญาต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ในกรณีนี้ได้อีกหรือไม่นั้น เห็นว่าคดีนี้ผู้เสียหายคือรัฐ ฉะนั้น กรมป่าไม้หรือพนักงานอัยการย่อมที่จะสามารถดำเนินคดีอาญาต่อพล.อ.สุรยุทธ์ ได้ และคดีที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องไปก่อนนั้นว่าขาดเจตนานั้น จริงๆแล้วเอกชนผูที่ไปแจ้งความดำเนินคดีนั้นไม่ได้เป็นผู้เสียหายด้วยซ้ำไป ซึ่งหากพนักงานอัยการใช้เหตุผลนี้ในการสั่งไม่ฟ้องเสียยังจะดูดีกว่าการให้ เหตุผลว่า”ขาดเจตนา”เสียอีก
อย่าปล่อยให้ฝ่ายเสื้อแดงใช้เป็นข้ออ้างโจมตีว่าใช้กฎหมายสองมาตรฐานอีกต่อไปเลยครับ ขืนยังปล่อยให้เป็นเช่นนี้อีกต่อไป บ้านเมืองคงไม่แคล้วที่จะลุกเป็นไปเสียเป็นแน่ แก้ได้ ก็รีบแก้เสียก่อนเถิดครับ