วันศุกร์, เมษายน 30, 2010
2มาตรฐานทางศีลธรรมและจริยธรรม ในกระแสความขัดแย้งทางการเมือง
ปี 2535 หลังจากพลเอกสุจินดา คราประยูร สั่งฆ่าคนแล้ว จะมีเสียงสะท้อนจากสังคม (public opinion) ที่ชัดว่าการฆ่าคนทำไม่ได้ แต่การสลายการชุมนุมครั้ง 10 เม.ย. หนักหนากว่าครั้งพฤษภา 2535 เสียอีก ถ้าเรายอมรับการกระทำแบบนี้ได้ จะเป็นการสร้างมาตรฐานในสังคมข้างหน้า ที่ผมเสียใจมากคือ พวกป่าวประกาศสันติวิธีทั้งหลาย หลังจากเหตุการณ์นี้มีใครออกมาแสดงจุดยืนบ้าง แสดงว่าที่เขาพูดเรื่อง2มาตรฐานมันกระจายไปหมดทุกวงการ
โดย ประชา อภิวัฒน์
30 เมษายน 2553
การสลายการชุมนุมนปช. เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตไม่น้อยกว่า 20 คน บาดเจ็บกว่า 800 คน ทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์สูญเสียความชอบธรรมทางการเมืองในทันที
ทว่า หลังเหตุการณ์ผ่านไปเพียง 2-3 วัน รัฐบาลได้พลิกเกมส์กลับมาเป็นฝ่ายรุก ด้วยข้ออ้างว่าการตายและบาดเจ็บของทั้งฝ่ายทหารและผู้ชุมนุม เกิดจากการกระทำของผู้ก่อการร้ายที่แต่งกายด้วยชุดดำ ต่อมารัฐบาลอ้างว่าชายชุดดำแฝงและคนเสื้อแดงเป็นพวกเดียวกัน
การแก้ เกมส์ทางการเมืองของรัฐบาลเพื่อให้พ้นจากข้อหาทรราชมือเปื้อนเลือด สร้างความวิตกให้แก่ผู้คนจำนวนหนึ่งในสังคมว่า รัฐบาลกำลังจะสร้างมาตรฐานใหม่ทางศีลธรรมและจริยธรรมในสังคม
ดร.ไชยันต์ รัชชกูล นักสังคมศาสตร์และนักวิชาการด้านสันติวิธี แห่งมหาวิทยาลัยพายัพ ตั้งข้อสังเกตว่า
“ย้อน กลับไปในปี 2535 หลังจากพลเอกสุจินดา คราประยูร สั่งฆ่าคนแล้ว จะมีเสียงสะท้อนจากสังคม (public opinion) ที่ชัดว่าการฆ่าคนทำไม่ได้ สมมติมีอาชญากรที่ทำผิด คุณจะลงโทษประหารชีวิตเขาหรือไม่ ยังเป็นประเด็นถกเถียง ทั้งๆ ที่เขาทำผิดแน่ๆ และเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงมาก แต่จะลงโทษด้วยการประหารชีวิตหรือไม่ ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้ในทางศีลธรรมและจริยธรรมในหลายๆ ประเทศ แต่การสลายการชุมนุมครั้ง 10 เม.ย. ปีนี้ มันหนักหนากว่าครั้งพฤษภา 2535 เสียอีก ผิดไม่ผิดไม่รู้ แต่เอากันถึงตาย ถ้าเรายอมรับการกระทำแบบนี้ได้ จะเป็นการสร้างมาตรฐานในสังคมข้างหน้า ที่ผมเสียใจมากคือ พวกป่าวประกาศสันติวิธีทั้งหลาย หลังจากเหตุการณ์นี้มีใครออกมาแสดงจุดยืนบ้าง แสดงว่าที่เขาพูดเรื่องสองมาตรฐานมันกระจายไปหมดทุกวงการแล้วทั้งประเทศ อันนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ตอนที่สุจินดาสั่งยิง ผมอยู่ที่กรุงเทพ หลังจากยิง มันไปมีการประท้วงที่รามคำแหงในวันรุ่งขึ้น ผมคิดในใจว่าสุจินดาเสร็จแล้วล่ะ คือถ้าใช้มาตรการฆ่าคนขนาดนี้ ก็ไม่มี legitimacy หรือความชอบธรรมที่จะอยู่ต่อไปได้
แต่เมื่อเทียบกับ เหตุการณ์ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา อะไรกันนี่ ฆ่าคนขนาดนี้ก็ยังเชิดหน้าชูตาต่อไป แล้วสังคมก็นิ่งเฉย มันอะไรกันเนี่ย ผมเพิ่งกลับจากอินเดีย เขาพูดถึงเหตุการณ์ในประเทศไทย เขาพูดเรื่องการปะทะกันระหว่างคนที่มีความเห็นแตกต่างกัน คนเขาตีกัน มีคนตาย ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล แต่รัฐบาลจัดการไม่ได้ ป้องกันไม่ได้ รัฐบาลเขายังลาออก ของเรานี่รัฐบาลเป็นคู่กรณีเองเลย”
ภาวะ นิ่งเงียบของภาคประชาสังคม ภายหลังรัฐบาลอภิสิทธิ์สั่งสลายการชุมนุมในวันที่ 10 เม.ย. ที่มีคนตายและบาดเจ็บ ได้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับการแสดงออกของภาคประชาสังคมเมื่อครั้งที่รัฐบาลสม ชายสั่งสลายการชุมนุมของพธม. เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นำไปสู่คำถามว่า “ใช่หรือไม่ว่า มาตรฐานทางศีลธรรมและจริยธรรมของสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว?”
เพราะ นิ่งเฉยของภาคประชาสังคมต่อการตายของคนเสื้อแดง ไม่อาจแปลความเป็นอย่างอื่น นอกจากการส่งสารว่า “สังคมไทยยอมรับการใช้กำลังเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และยอมให้มีการใช้ความรุนแรงเข้าปราบประชาชนจนเสียชีวิต”
คำถามที่ตามมาคือ “อะไรทำให้เส้นมาตรฐานทางศีลธรรมและจริยธรรมมันตกต่ำไปถึงเพียงนี้?”
ใน การตอบคำถามดังกล่าว จำเป็นอยู่เองที่จะต้องย้อนไปพิจารณาถึงจุดเปลี่ยนในความขัดแย้ง ดร.ไชยันต์ได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ภาพด้านลบของรัฐบาลเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อมีความพยายามของรัฐบาลที่จะเบี่ยงประเด็นข้อโต้แย้งใหม่
“ตอน นี้เป็นการ shift debate ตกลงใครยิงไม่รู้ ทั้งที่แทบจะไม่มีข้อสงสัย ทหารยิงผู้ชุมนุมมันไม่รู้จะชัดยังไงแล้ว แต่กลายเป็นการตั้งวาระขึ้นมาใหม่ว่า อาจจะเป็นพวกเดียวกันยิงเสื้อแดง หรือคนชุดดำยิงเสื้อแดง ก็นับว่าเป็นความเก่งมากของฝ่ายรัฐบาลและทหารที่เบี่ยงวาระการถกเถียงไป เพื่อ minimize อาชญากรรมครั้งนี้ให้เหลือน้อยที่สุด เป็นไปตามศัพท์คำว่า blaming the victim คือทำให้เหยื่อกลายเป็นผู้ถูกกล่าวหา
เหมือนกับ คนทำผิดใส่ร้ายคนถูกทำร้าย เหมือนคนถูกกระทืบ แต่คนที่กระทืบยังมาด่าซ้ำว่า ทำไมไม่อยู่เฉยๆ ให้กระทืบล่ะ ประเด็นนี้ทำให้คิดว่า ในอนาคตมาตรฐานทางศีลธรรมของเราจะมีไหม แรงกดดันทางศีลธรรม (moral force) ที่มีต่อปฏิบัติการทางการเมืองจะยังมีไหม ในสังคมทั่วๆ ไปเขามี แล้วของเราล่ะตอนนี้มีไหม หรือไม่มีแล้ว จะตรลบแตลงยังไงก็ได้ เรื่องสองมาตรฐานเกือบจะไม่ต้องพูดแล้ว มันเห็นชัด จนไม่รู้จะชัดยังไงแล้ว เมื่อก่อนเราพูดถึงสองมาตรฐานทางกฎหมาย แต่เดี๋ยวนี้มาถึงเรื่องสองมาตรฐานทางศีลธรรมด้วย”
ดร. ธเนศว์ เจริญเมือง อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์นิ่งเงียบของสังคมที่มีการตายของคนเสื้อแดงว่า
“ทำไม จึงเกิดบรรยากาศที่ไม่แคร์ว่าใครเป็นใครตาย เป็นไปได้ไหมว่าตั้งแต่ปี 2548 กลุ่มสีเหลืองได้ปลุกระดมความคิดว่าทักษิณเลว ฝั่งสีเหลืองโดยมากเป็นปัญญาชนที่เก่งด้านศีลธรรมจริยธรรม สุดท้ายเขาสรุปมาสั้นๆ ด้วยคำว่า “กู้ชาติ” ซึ่งทำให้เกิดความชอบธรรมที่จะฆ่า “ศัตรูของชาติ” พอเลือกตั้งใหม่ สมัครกลับมา เขาก็คิดคำว่า “นอมินีของทักษิณ” ขึ้นมา เพื่อบอกว่าการเลือกตั้งไม่สามารถวัดความถูกต้อง
อานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเป็นตัวแทนของคนที่กุมความคิดของสังคมและเอ็นจีโอ เป็นคนที่ไม่ได้มองว่าการเลือกตั้งสำคัญ
อีก คนหนึ่งที่โดดเด่นคือ ว. วชิรเมธี ออกมาบอกว่า “ฆ่าเวลาเป็นบาป มากกว่าฆ่าคน” ประโยคนี้เหมือนกิติวุฒโทเคยบอกว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” คือฆ่ามันเสีย จัดการให้หมด ใช่แล้ว เอาเลยๆ เมื่อความคิดแบบ 2548 ยังครองความคิดของสังคมอยู่หมด เมื่อเกิดการยิงตุ้มตั้มๆๆ ขึ้นมาในวันที่ 10 เม.ย. พอฆ่าแล้วไม่เรียบหมด และมีทหารใหญ่ตายด้วย ก็เลยช็อคคนพวกนี้ ครั้งนี้ก็เหมือนกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา มีการสร้างภาพ “ศัตรูของชาติ” คือคนเสื้อแดง ที่ป่าเถื่อน บ้านนอก เป็นควาย เป็นสมุนทักษิณ รับเงินมา พูดให้ดูดีก็คือ ขอให้รัฐบาสจัดการกับเสื้อแดงอย่างเด็ดขาด ทันทีที่มีเสื้อดำโผล่ออกมา ก็มองเห็นว่าอันนี้แหละจะมาเป็นตัวช่วย เพื่อให้รัฐบาลบิดประเด็นไป ไม่ต้องพูดเรื่องความตายของคนเสื้อแดงอีกเลย เพราะเขาก็พูดเรื่องฆ่าเสื้อแดงให้หมดไปเลย ดีกว่าปล่อยไปให้เสียเวลา”
วรรณภา นีระสิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มช. ให้ข้อสังเกตว่า “
คน กรุงเทพเองที่อยู่แถวนั้น (ย่านราชประสงค์) รู้สึกถูกกระทบกระเทือน เด็กก็โดนพ่อแม่คนชั้นกลางพูดใส่หูทุกวัน ก็เลยไปร่วมกลุ่ม ต่อต้านเสื้อแดง คนจำนวนหนึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการอย่างราบคาบ เขาบอกว่ารัฐบาลเลี้ยงเสียข้าวสุก ถ้าทำอะไรไม่ได้ก็ออกไปเถอะ
ข้อ เรียกร้องแบบนี้บ่งบอกนัยว่า รัฐบาลไม่สามารถจัดการ ต้องเอาทหารเข้ามาแทนตำรวจ เพราะทหารถูกฝึกมาเพื่อจัดการศัตรูของชาติ เพื่อสร้างความเรียบร้อย ทหารเขามีกฎระเบียบของเขาเอง การใช้ความรุนแรงของทหารเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับมานานแล้ว และเป็นการใช้ความรุนแรงที่ตรวจสอบไม่ได้ด้วย ถ้าใช้ตำรวจก็ไม่ได้แล้ว เพราะตำรวจจำนวนหนึ่งมีเมียเป็นเสื้อแดง เขาก็เอาคนที่มองคนเสื้อแดงเป็นศัตรู ไม่ใช่เพื่อน ไม่ใช่คนไทย เพราะเขาปฏิบัติภายใต้หน้าที่อีกชุดหนึ่ง
มาตรฐานทางศีลธรรมของเขา เป็นคนละชุดกับเรา เหมือนกับเรื่องชายแดนใต้ เวลาคนกรุงเทพฯมองปัญหาชายแดนใต้ก็สงสารทหาร ตอนนี้ก็เอาเรื่องศัตรูของชาติมาใช้กับคนเสื้อแดงที่กรุงเทพ แต่ด้วยปริมาณคนเสื้อแดงมีมาก ทำให้รัฐไม่สามารถจัดการได้เหมือนที่ทำในบางพื้นที่ ดังนั้นถ้าเราจะสะท้อนอะไรกลับไปกับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็คงต้องเรียกร้องไม่ให้ใช้ความรุนแรง หรือให้มองคนเสื้อแดงเป็นคน ซึ่งก็ทำได้ยากทุกที เพราะตอนนี้มีการใช้สื่อภายใต้กำกับของรัฐสร้างภาพทั้งวันทั้งคืน
เรา ไม่มีทางปฏิเสธการรับรู้ความจริงผ่านสื่อเลย สื่อกระตุ้นให้คนทั่วไปรู้สึกว่าเรากำลังเผชิญกับกลียุค ตอนที่มีการใช้เครื่องบินพุ่งเข้าชนตึกในสหรัฐอเมริกา สื่อในสหรัฐก็มีการนำเสนอภาพคนตายซ้ำๆ ทั้งวัน ไม่นานรัฐสภาสหรัฐก็มีมติให้กองกำลังทหารเข้าไปบุกอีรัก ตอนนี้รัฐบาลไทยกำลังใช้วิธีการเดียวกันเลย เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการปราบ แต่เรามองว่าการปราบประชาชนเป็นอาชญากรรม รัฐกลับบอกว่านั่นคือการทำหน้าที่ เราจะสู้กับวาทกรรมของรัฐได้ยังไง ในเมื่อเราไม่มีช่องทางที่จะพูดแล้ว นี่คือปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่ต้องช่วยกันคิด”