บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


26 เมษายน 2554

<<< การปฏิวัติรัสเซีย >>>

21. ความหมายของการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ.1917
การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ.1917 ประกอบด้วยเหตุการณ์สำคัญ 2 เหตุการณ์ คือ

21.1 การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ เป็นการปฏิวัติโค่นล้มการปกครองระบอบกษัตริย์ ส่งผลให้พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ( Tsar Nicholas II ) และราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov) ต้องล่มสลาย

21.2 การปฏิวัติเดือนตุลาคม เป็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์เป็นประเทศแรกของโลก โดยการนำของเลนิน (Vladimir Lenin) ผู้นำพรรคบอลเซวิก (Bolshevik) หรือพรรคคอมมิวนิสต์ของรัสเซียในขณะนั้น

22. สาเหตุของการปฏิวัติรัสเซีย
การปฏิวัติรัสเซีย ในปี ค.ศ.1917 มีสาเหตุความเป็นมาสรุปได้ ดังนี้

22.1 ความพ่ายแพ้ในสงครามโลก ครั้งที่ 1 รัสเซียประกาศสงครามกับเยอรมนี ในปี ค.ศ.1914 และเข้าร่วมเป็นพันธมิตรฝ่ายเดียวกับอังกฤษและฝรั่งเศส แต่ต้องเป็นฝ่ายปราชัยและได้รับความเสียหายในแนวรบด้านต่าง ๆ อย่างมาก

22.2 ปัญหาเศรษฐกิจและภาวะขาดแคลนอาหารภายในประเทศ การเข้าร่วมสงครามทำให้ รัสเซียประสบปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างหนัก เนื่องจากชาวนาถูกเกณฑ์เป็นทหารจึงทำให้ปริมาณผลผลิตตกต่ำ ราคาอาหารและสินค้าต่าง ๆ จึงพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้นเมื่อประชาชนได้รับความเดือดร้อนจึงชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล

22.3 ความล้มเหลวในการบริหารประเทศและความเสื่อมโทรมของการปกครองระบอบเก่า พระเจ้าซาร์นิโคสัสที่ 2 ไม่สามารถแก้ไขปัญหาภายในประเทศที่เกิดขึ้นได้ ซ้ำร้ายยังทรงแต่งตั้งบุคคลที่ไร้ความสามารถเข้าทำหน้าที่ในรัฐบาล เป็นผลให้งานบริหารราชการแผ่นดินได้รับความเสียหาย

22.4 ความวุ่นวายภายในประเทศ สืบเนื่องมาจากภาวะความขาดแคลนอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิงในปี ค.ศ.1917 ถึงขั้นที่รัฐบาลต้องใช้วิธีปันส่วนอาหารและควบคุมการใช้เชื้อเพลิง ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลทั่วประเทศ และเกิดการจลาจลตามเมืองต่างๆ

23. การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1917
การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1917 เป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันเพื่อล้มล้างระบอบกษัตริย์ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

23.1 จุดเริ่มต้นของการปฏิวัติ เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 23-27 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1917 เมื่อกรรมกรหญิงในกรุงเปโตรกราดได้จัดชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการเข้าร่วมในสงครามโลก ครั้งที่ 1 และแก้ไขปัญหาความอดอยากขาดแคลนอาหาร รัฐบาลได้ใช้กำลังทหารและตำรวจปราบปรามฝูงชน

23.2 พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ทรงสละราชบัลลังก์ เมื่อเหตุการณ์บานปลายมีประชาชนได้รับบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก พระเจ้าซาร์จึงทรงสละราชสมบัติตามคำแนะนำของสภาดูมา (Duma) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ.1917 เหตุการณ์ร้ายแรงดังกล่าวจึงยุติลง เป็นการสิ้นสุดการปกครองของราชวงศ์โรมานอฟและการล่มสลายของระบอบกษัตริย์ในประเทศรัสเซีย

24. การปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ.1917
การปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ.1917 เป็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ มีสาเหตุดังนี้

24.1 ความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ภายหลังสิ้นสุดราชวงศ์โรมานอฟรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งเป็นรัฐบาลเฉพาะกาลยังคงสนับสนุนให้รัสเซียเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อไป แต่เมื่อต้องประสบความพ่ายแพ้ในการรบหลาย ๆ ครั้ง ทำให้ประชาชนไม่พอใจ พรรคบอลเซวิก (Bolshevik) จึงฉวยโอกาสปลุกระดมให้ประชาชนต่อต้านสงคราม

24.2 การก่อกบฏของนายพลลาฟร์ คอร์นีลอฟ (Lavr Kornilov) ในเดือนกันยานยน ค.ศ.1917 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลเฉพาะกาลและจัดตั้งระบบเผด็จการทางทหารขึ้นแทน แต่ถูกรัฐบาลปราบปรามลงได้ โดยความช่วยเหลือของพรรคฝ่ายซ้าย

24.3 วิกฤติทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการเข้าร่วมในสงคราม รัสเซียประสบปัญหาหนี้สินจากการเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง อาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลนและมีราคาสูง ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก

24.4 การเดินทางกลับเข้าประเทศของผู้นำการปฏิวัติ ซึ่งลี้ภัยการเมืองอยู่นอกประเทศ เช่น วลาดิมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin) และเลออน ทร็อตสกี (Leon Trotsky) ได้ร่วมกันวางแผนปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาล และเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบสังคมนิยม

25. การดำเนินการยึดอำนาจของเลนิน
เลนิน ผู้นำพรรคบอลเซวิกได้วางแผนปฏิวัติยึดอำนาจรัฐโดยใช้กำลังอาวุธ โดยใช้เวลาระหว่างวันที่ 24-27 ตุลาคม ค.ศ.1917 เข้ายึดสถานที่ทำการของรัฐบาลและจับกุมบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาลได้เกือบหมด จึงถือว่ารัสเซียเป็นประเทศแรกของโลกที่ปฏิวัติเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์

26. ความสำคัญของการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ.1917

26.1 การปฏิวัติในเดือนตุลาคม ค.ศ.1917 ของพรรคบอลเซวิก ทำให้รัสเซียเป็นต้นแบบของการปฏิวัติสังคมนิยมที่ประเทศอื่น ๆ นำมาเป็นแบบอย่าง ในด้านบทบาทของเลนิน ผู้นำพรรคบอลเซวิก ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้นำการปฏิวัติในภูมิภาคอื่น ๆ ได้ยึดถือในอุดมการณ์ของการปฏิวัติเช่นกัน

26.2 การวางแผนพัฒนาความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของพรรคคอมมิวนิสต์ของสหภาพ โซเวียต ทำให้รัสเซียกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งประเทศหนึ่งของโลกในเวลาไม่นาน และก้าวเข้ามามีบทบาทเป็นชาติมหาอำนาจในเวทีการเมืองของโลกในปัจจุบัน

ที่มา : http://school.obec.go.th/saod_rs/p007/p0

----------------------------------------------------------------

FfF