บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


10 มิถุนายน 2554

<<< บันทึกฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยคำพิพากษาศาลฎีกา“ยิ่งลักษณ์”ไม่ผิด >>>

หนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
ปีที่ 12 ฉบับที่ 3073 ประจำวัน ศุกร์ ที่ 10 มิถุนายน 2011

บันทึกฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยคำพิพากษาศาลฎีกา“ยิ่งลักษณ์”ไม่ผิด


เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2554 นายพิชิต ชื่นบาน สำนักกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้เขียนบันทึกที่เห็นต่าง...ต่อกรณีนายแก้วสรร อติโพธิ และ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ที่ออกมาเคลื่อนไหวในนามของ “เครือข่ายพลเมืองคัดค้านนิรโทษกรรมคอรัปชั่นทักษิณ (คนท.)” กล่าวโทษ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อลำดับ 1 พรรคเพื่อไทย ว่าให้ปากคำอันเป็นเท็จต่ออนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และข้อหาเบิกความเป็นเท็จต่อศาลฎีกา โดยมีข้อความดังนี้

สืบเนื่องจากกรณีที่บุคคลทั้งสองท่าน ซึ่งท่านหนึ่งเป็นครูบาอาจารย์ทางกฎหมาย อีกท่านหนึ่งเป็นคุณหมอที่อ้างความมีส่วนร่วมทางการเมืองในหลายๆเหตุการณ์ อ้างข้อกฎหมายในเรื่องให้ปากคำอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานและต่อศาลเพื่อกล่าวโทษต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อให้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยอ้างว่าไม่มีการบังคับใช้กฎหมายต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นับแต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา จึงต้องออกมากล่าวโทษ ซึ่งจะถูกกาลเทศะหรือถูกเวลาหรือไม่แล้วแต่สาธารณะจะคิดเห็นว่าถูกหรือผิด จะไม่ขอกล่าวในเรื่องนี้ บันทึกที่เห็นต่างต่อไปนี้จะขอนำเสนอข้อกฎหมายเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะที่จะใช้ดุลยพินิจตัดสินใจว่าจะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อบุคคลทั้งสองที่ออกมากล่าวโทษ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยยืนยันความผิดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในลักษณะที่กล่าวหาเองแล้วสรุปความผิดเอง ดังนี้

1.สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 39 “ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”

กรณีตามปัญหาเมื่อมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ ขั้นตอนกระบวนการต้องมีการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และหากมีการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมต้องมีการพิจารณาถึง 3 ศาลคือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา จึงจะถือว่ามีคำพิพากษาอันถึงที่สุด รัฐธรรมนูญจึงเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิของบุคคลโดยทั่วไปที่ห้ามมิให้ปฏิบัติต่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาเสมือนเป็นผู้กระทำความผิด แต่ในเหตุการณ์นี้เมื่อบุคคลทั้งสองยังมิได้กล่าวโทษ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตามกฎหมาย แต่ก็ได้ด่วนสรุปและยืนยันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความผิดเสียแล้ว

2.กรณีข้อกล่าวโทษในเรื่องการให้ปากคำอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานหรือเบิกความเท็จต่อศาลฎีกาฯ ในเรื่องนี้อยากให้พิจารณาข้อกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติคุ้มครองสิทธิของบุคคลไว้ดังนี้ มาตรา 40 (4) ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา โจทก์ จำเลย คู่กรณี ผู้มีส่วนได้เสีย หรือพยานในคดี มีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งสิทธิในการได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และการไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) บัญญัติไว้ในมาตรา 243 วรรคหนึ่ง ว่า “มาตรา 243 บุคคลย่อมมีสิทธิไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองอันอาจทำให้ตนถูกฟ้องคดีอาญา”

สิทธินี้เป็นหลักประกันของกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วไปว่า บุคคลไม่อาจถูกบังคับให้กล่าวโทษตนเอง นอกจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญได้คุ้มครองสิทธิข้างต้นแล้ว ยังมีบรรทัดฐานแนวทางคำพิพากษาคดีของศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลสูงสุด ได้เคยวินิจฉัยในข้อกล่าวโทษของบุคคลทั้งสอง โดยมีแนวคำวินิจฉัยว่า “ในกรณีที่ศาลวินิจฉัยว่าควรฟังพยานฝ่ายใด และพิพากษาให้ชนะคดีแล้วนั้น ยังไม่เป็นเหตุพอที่จะถือว่าฝ่ายผู้แพ้คดีมีเจตนาเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีนั้นๆเสมอไป เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยิ่งขึ้นไปกว่าที่ปรากฏแล้วในสำนวนหรือคดีเดิม อันจะพึงแสดงให้เห็นได้ชัดแจ้งปราศจากสงสัยว่าจำเลยมีเจตนาเบิกความเท็จในข้อสำคัญในการพิจารณาคดีดังกล่าวแล้ว ก็ฟังลงโทษจำเลยในฐานนี้ไม่ได้”

อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1862/2511 และขออ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 2394/2527 ที่ได้วินิจฉัยว่า “ในคดีอาญาที่ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยได้เบิกความเท็จในคดีแพ่งนั้น แม้ศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีแพ่งจะไม่เชื่อข้อเท็จจริงที่พยานจำเลยนำสืบ และพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี และคดีถึงที่สุดแล้วก็ตาม ก็จะนำเอาผลของคำพิพากษานั้นมาฟังว่าคำเบิกความของจำเลยเป็นเท็จหาได้ไม่ เพราะประเด็นในการวินิจฉัยในคดีแพ่งกับปัญหาวินิจฉัยในคดีอาญาแตกต่างกัน คำพิพากษาในคดีแพ่งก็มีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีแพ่งเท่านั้น ไม่ใช่เป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปหรือไม่อาจโต้แย้งได้ เพราะมิฉะนั้นคู่ความหรือพยานฝ่ายที่แพ้คดีก็จะต้องมีความผิดฐานเบิกความเท็จเสมอไป

สำหรับคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีคำพิพากษาในคดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปเบิกความนั้น ถือเป็นการเบิกความในคดีแพ่ง เพราะเหตุที่ตนถูกอายัดทรัพย์ มิใช่คดีอาญาแต่อย่างใด จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงในส่วนนี้ด้วย

สุดท้ายของบันทึกที่เห็นต่างนี้ขอเรียนว่า ได้โปรดอย่าชี้นำกระบวนการยุติธรรมหรือความคิดของบุคคลในสังคม บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่นำเสนอนี้น่าจะเป็นคำตอบในระดับหนึ่งต่อการตัดสินใจกับสาธารณชนโดยทั่วไปที่สนใจต่อเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้

http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=11013

-------------------------------------------------------------

ก.ล.ต.แจงข่าว "ยิ่งลักษณ์" ถือหุ้นของครอบครัวชินวัตรในชินคอร์ป และเอสซี แอสเสทฯ


วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา 14:32:48 น.

ตามที่ปรากฏข่าวการเคลื่อนไหวของเครือข่ายพลเมืองคัดค้านนิรโทษกรรมคอรัปชั่นทักษิณ (คนท.) ที่เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง ก.ล.ต. ให้ดำเนินการกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้เป็นไปตามผลของคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียดแล้ว ขอเรียนว่า ก.ล.ต. ได้ดำเนินการในเรื่องที่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่แล้ว ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ก.ล.ต. มี 2 ประเด็น คือ

1. ประเด็นที่สืบเนื่องจากการที่ศาลฎีกาฯ ได้วินิจฉัยว่า การถือหุ้นในบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของบุคคล 4 ราย (ซึ่งรวมถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) และของบริษัทแอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ จำกัด เป็นการถือหุ้นแทน พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร (ชินวัตร) ดังนั้น บุคคลที่ถือหุ้นแทนดังกล่าว จะถือว่ามีการรายงานการซื้อขายหลักทรัพย์อันเป็นเท็จหรือไม่ และ

2. ประเด็นที่สืบเนื่องจากนางสาวยิ่งลักษณ์ได้ชี้แจงต่อ ก.ล.ต. เมื่อเดือนมีนาคม 2549 ว่าครอบครัวชินวัตรไม่มีความเกี่ยวข้องกับกองทุน 2 แห่ง หรือเกี่ยวข้องกับบริษัทวินมาร์ค จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเอสซี แอสเสท จำกัด (มหาชน) และบริษัทชิน คอร์ปฯ ด้วย แต่ปรากฏจากผลการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบหลักฐานที่แสดงว่าเจ้าของที่แท้จริงคือ พ.ต.ท. ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ดังนั้น คำชี้แจงดังกล่าวจะถือว่าเข้าข่ายมีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือไม่

ประเด็นที่ 1 กรณีการรายงานการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปฯ เป็นกรณีที่ พ.ต.ท. ทักษิณได้รายงานการขายหุ้นให้แก่บุคคลทั้ง 4 ราย และบริษัทแอมเพิลริชฯ ในปี 2543 ซึ่งศาลได้วินิจฉัยเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ว่าไม่ใช่การขายจริง ในเรื่องนี้ ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษ พ.ต.ท. ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2553 (ข่าว ก.ล.ต. ฉบับที่ 24/2553) ในข้อหาว่าไม่รายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ตามมาตรา 246 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ซึ่งได้ครอบคลุมถึงการรายงานอันเป็นเท็จทั้งในปี 2543 - 2544 และการขายในปี 2549 ด้วย ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้รับหนังสือจากกรมสอบสวนคดีพิเศษลงวันที่ 21 ตุลาคม 2553 แจ้งว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท. ทักษิณ และคุณหญิงพจมานในกรณีการรายงานการถือหลักทรัพย์อันเป็นเท็จในปี 2543 และต่อมาพนักงานอัยการก็มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องบุคคลทั้งสองในกรณีดังกล่าวแล้วเช่นกัน และในประเด็นที่ว่านางสาวยิ่งลักษณ์ซึ่งศาลฎีกาฯ วินิจฉัยว่าถือหุ้นแทน พ.ต.ท. ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน จะมีหน้าที่ประการใดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ หรือไม่นั้น เนื่องจากนางสาวยิ่งลักษณ์มีจำนวนหุ้นที่เกี่ยวข้องต่ำกว่าร้อยละ 5 จึงไม่มีหน้าที่ต้องยื่นรายงานใด ๆ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

ทั้งนี้ การกล่าวโทษดังกล่าว ก.ล.ต. ดำเนินการภายหลังจากที่มีคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ โดย ก.ล.ต. ก็ได้ส่งพยานหลักฐานทั้งหมดให้กรมสอบสวนคดีพิเศษและคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปแล้ว ดังนั้น สำหรับด้าน ก.ล.ต. จึงถือได้ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ครบถ้วนแล้ว

ประเด็นที่ 2 กรณีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ชี้แจงว่า ครอบครัวชินวัตรไม่เกี่ยวข้องกับการถือหุ้นในกองทุน 2 แห่ง และบริษัทวินมาร์ค โดยขัดต่อพยานหลักฐานที่ ก.ล.ต. ได้จากการตรวจสอบนั้น ก.ล.ต. ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เนื่องจาก (ก) ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 238 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ที่ครอบคลุมเฉพาะการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ โดยเจตนาให้ผู้อื่นสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน หรือเกี่ยวกับราคาซื้อขายหลักทรัพย์ แต่ข้อเท็จจริงกรณีนี้เป็นเรื่องเฉพาะที่เกี่ยวกับการถือหุ้น มิใช่ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับบริษัทหรือราคาซื้อขาย จึงไม่เข้าลักษณะความผิดที่กฎหมายหลักทรัพย์กำหนดไว้ และ (ข) การชี้แจงดังกล่าวเกิดขึ้นในขั้นตอนทั่วไปที่ ก.ล.ต. สอบถามมิใช่การชี้แจงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ จึงไม่ใช่ความผิดที่ก.ล.ต. จะใช้อำนาจกฎหมายดำเนินการได้ตามมาตรา 302 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ

อนึ่ง กรณีเกี่ยวกับการปกปิดโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัทเอสซี แอสเสทฯ ตามประเด็นที่ 2 ก.ล.ต. ได้รวบรวบข้อมูลหลักฐานทั้งในและต่างประเทศ และส่งเรื่องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2550 โดยมีการประสานความร่วมมือต่อเนื่องมาจนกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องบริษัทและนางบุษบา ดามาพงศ์ ในฐานะกรรมการบริษัทที่ร่วมลงนามในแบบดังกล่าวในความผิดฐานเปิดเผยข้อมูลเป็นเท็จในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ตามมาตรา 278 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ และเห็นควรสั่งฟ้อง พ.ต.ท. ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ในความผิดเกี่ยวกับรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ และการไม่ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทเอสซี แอสเสทฯ ตามมาตรา 246 และ 247 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ในปัจจุบันคดีนี้ได้ยุติแล้วโดยพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องบุคคลทุกรายดังกล่าว

ด้วยข้อเท็จจริงข้างต้น ก.ล.ต. จึงเห็นว่าได้ดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาฯ หรือการถือหุ้นของครอบครัวชินวัตรในบริษัทชิน คอร์ปฯ และบริษัทเอสซี แอสเสทฯ ตามอำนาจหน้าที่แล้ว และได้รายงานการดำเนินการให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. ทราบในการประชุม เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 ด้วยแล้ว อย่างไรก็ดี หากปรากฏว่าข้อมูลใดใหม่ ก.ล.ต. ก็พร้อมจะพิจารณาเรื่องเหล่านี้อีกครั้ง และจะแจ้งดำเนินการในเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อทราบในการประชุมครั้งต่อไปด้วย

..............

หมายเหตุ

มาตรา 238 ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์ หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินกิจการของบริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทออกหลักทรัพย์ หรือผู้มีส่วนได้เสียในหลักทรัพย์บอกกล่าวข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความใดโดยเจตนาให้ผู้อื่นสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะการเงิน ผลการ
ดำเนินงาน หรือราคาซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท หรือนิติบุคคลที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือหลักทรัพย์ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์

มาตรา 246* บุคคลใดได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการใดในลักษณะที่ทำให้ตน หรือบุคคลอื่นเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ในกิจการนั้นเพิ่มขึ้นหรือลดลง เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการนั้น ไม่ว่าจะมีการลงทะเบียนการโอนหลักทรัพย์นั้นหรือไม่และไม่ว่าการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของหลักทรัพย์นั้นจะมีจำนวนเท่าใดในแต่ละครั้ง บุคคลนั้นต้องรายงานถึงจำนวนหลักทรัพย์ในทุกร้อยละห้าดังกล่าวต่อสำนักงานทุกครั้งที่ได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ภายในวันทำการถัดจากวันที่ได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการนั้นเว้นแต่ในกรณีการจำหน่ายที่ไปมีผลทำให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร หรือธุรกิจของกิจการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
การรายงานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด

มาตรา 247* บุคคลใดเสนอซื้อหรือกระทำการอื่นใดอันเป็นผลให้ตนได้มา หรือเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ถึงร้อยละยี่สิบห้าขึ้นไปของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการ ให้ถือว่าเป็นการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการเว้นแต่เป็นการได้มาโดยทางมรดก
การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการตามวรรคหนึ่งให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ในการนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะกำหนดให้บุคคลดังกล่าวจัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ก็ได้
ในกรณีที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดให้จัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ตามวรรคสอง คำเสนอดังกล่าวต้องยื่นต่อสำนักงาน และให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

มาตรา 278 ผู้ใดแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ หรือร่างหนังสือชี้ชวนที่ยื่นตาม มาตรา 65 ในสาระสำคัญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับเป็นเงินไม่เกินสองเท่าของราคาขายของหลักทรัพย์ทั้งหมดซึ่งผู้นั้นได้เสนอขาย แต่ทั้งนี้เงินค่าปรับต้องไม่น้อยกว่าห้าแสนบาท

มาตรา 302 ผู้ใดให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท

*กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เกิดรายการ

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1307950383&grpid=00&catid&subcatid

-------------------------------------------------------------

FfF