ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก : แนวคิดพิชิตวิกฤติเศรษฐกิจโดยรัฐไม่ต้องกู้ (1)
ประวิทย์ เรืองศิริกูลชัย กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2552
วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ชื่อนี้คงคุ้นตาคนไทยดี แต่หลายคนคงไม่เคยรู้ว่า ชื่อนี้มีที่มาจากที่ใด คงคิดแค่ว่า "แฮมเบอร์เกอร์" เป็นอาหารยอดนิยมของอเมริกาเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว ผมเป็นผู้ตั้งชื่อให้วิกฤติครั้งนี้เอง เมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งก่อนเกิดวิกฤติจริงนานกว่า 2 ปี โดยเชื่อว่า ฟองสบู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และตลาดหุ้น จะแตกตัวลง เหมือนกับขนมปัง 2 ก้อน ที่ประกบให้เศรษฐกิจอเมริกาและคนอเมริกัน แบนแต๋อยู่ตรงกลาง และประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง ซึ่งก็หนักหนาสาหัสตามคาดจริงๆ
เอาละครับ ปัญหาไม่อยู่ที่ว่า ใครเป็นคนตั้งชื่อวิกฤติ สิ่งที่พวกเราต้องการรู้ ก็คือ กรอบแนวคิดหรือทฤษฎีใหม่ ซึ่งอาจใช้พิชิตวิกฤติครั้งนี้ได้โดยไม่เป็นภาระการคลังต่างหาก ผมจบการศึกษาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพบกับความล้มเหลวกับการใช้นโยบายของเคนส์ มา 15 ปี นอกจากนี้ ผมได้คาดการณ์วิกฤติครั้งนี้ล่วงหน้ากว่านักเศรษฐศาสตร์หลายคน ทำให้หาวิธีแก้ไขได้เร็วกว่า แต่นั่นอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะจุดสำคัญ ก็คือ หลัก "กาลามสูตร" ต่างหาก การไม่เชื่อสิ่งที่อยู่ในตำรา และเชื่อๆ กันมาแต่เดิม จะทำให้เราพบกับความรู้ใหม่
แต่เดิมนั้น สมการ GDP ก็คือ Y = C+I+(X-M) เท่านั้น จนเมื่อ ลอร์ด เคนส์ มาพบว่าที่จริงแล้ว รัฐบาลควรจะกู้ยืมมาใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเป็นตัวจุดสตาร์ทให้กับระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้นได้ เขาเพียงเติม G-T เข้าไป โดยการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ และลดภาษีลง เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้แล้ว และทฤษฎีนี้ก็ถูกกล่าวขวัญกันมานานถึงเกือบ 80 ปี
Y = C+I+(X-M) + (G-T) ปัจจุบันเราจึงมีนโยบาย 3 ด้าน คือ
1. นโยบายการเงิน เพื่อดูแล C และ I ช่วยเพิ่มการใช้จ่ายและลงทุนของภาคเอกชน
2. นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ดูแล X-M เพื่อช่วยเพิ่มการส่งออก และชะลอการนำเข้า
3. นโยบายการคลัง ดูแล G-T ด้วยการใช้จ่ายภาครัฐ และลดภาษีลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
นี่จึงเป็นที่มาของนโยบาย 3 อ่อน "ดอกเบี้ยอ่อน บาทอ่อน และการคลังอ่อน" ซึ่งใช้ต้านวิกฤติเศรษฐกิจกันมาช้านาน
หากเชื่อตามสมการเช่นนี้จริง เมื่ออัตราดอกเบี้ยก็ต่ำมาก แต่ภาคเอกชนก็ยังไม่ฟื้น เราก็จะเหมือนนักเศรษฐศาสตร์เกือบทั้งโลก ที่เชื่อว่า "เราจำเป็น" ต้องใช้นโยบายการคลัง เพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจครั้งนี้ และในเมื่อเรามีเงินไม่พอ "เราจำเป็นต้องกู้" นี่คือ แนวทางที่ประเทศอเมริกา และเกือบทั้งโลก พยายามใช้กันอยู่ แต่ก็พยายามหาทางออกจากภาระหนี้สาธารณะสูงเกินไปด้วยเช่นกัน แต่ความเป็นจริง ก็คือ ทางออกนั้นไม่มี มีแต่ทางลงเหวเท่านั้น โดยญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงถึง 200% และอเมริกาสูงถึง 80% และสูงเกิน 100% ในเร็ววันนี้ ไทยเราควรเดินตามเส้นทางนี้หรือ เพราะภาระการใช้จ่ายด้านการประกันสุขภาพเพราะคนแก่มากขึ้น และดอกเบี้ยพันธบัตรที่สูงขึ้นตามยอดหนี้ ขณะที่เศรษฐกิจเติบโตช้าลง
วิธีง่ายที่สุดในการค้นพบความรู้ใหม่ ก็คือ การ "ไม่เชื่อ" ในความรู้เดิมครับ ผมจึงคิดเปลี่ยนสมการ GDP เพื่อประโยชน์ในการกำหนดนโยบายอีก 4 ด้านขึ้นมาที่ไม่เป็นภาระการคลัง แถมรัฐบาลยังอาจได้เงินพิเศษเพิ่มด้วย ผมเรียกว่า "นโยบายประชาชมชอบ" เพราะประชาชนชอบใจ และรัฐบาลไม่เสียเงิน ซึ่งเหนือชั้นกว่า "ประชานิยม" อยู่หนึ่งขั้น โดยสามารถสร้างนโยบายถึง 18 กระบวนท่า จากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ไทเก๊กนี้ มาดูกันเลยดีกว่า
Y = C+I+ (X-M) + (G-T) + (PB-PC)+ xA+ yR+ zL
โดย PB คือ ผลประโยชน์จากกองทุนบำนาญ PC การจ่ายเงินสมทบกองทุนบำนาญ
x,y,z คือ สัมประสิทธิ์ที่เป็นบวก A คือ มูลค่าทรัพย์สินที่เปลี่ยนแปลง R คือ คนต่างด้าวที่มาพำนักอาศัยในไทย และ L คือ ยอดสินเชื่อที่เปลี่ยนแปลง
มันเป็นเรื่องที่เรารู้ๆ กันอยู่แล้วว่า หากเราสมทบกองทุนบำนาญน้อยลง ดึงเงินจากกองทุนออกมามากขึ้น นำมาใช้จ่ายเศรษฐกิจก็จะหมุนได้หลายรอบ และหากราคาทรัพย์สินสูงขึ้นทั้งหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ก็จะทำให้เศรษฐกิจโตขึ้นด้วย รู้ๆ กันอยู่แล้ว ว่า หากมีคนต่างด้าวมาพำนักในไทยมากขึ้น ก็จะสร้างดีมานด์ในประเทศให้สูงขึ้นไป รู้ๆ กันอยู่ว่า หากมีการปล่อยสินเชื่อเพิ่ม เศรษฐกิจก็จะเดินหน้าเติบโต เรื่องเหล่านี้เรารู้ๆ กันอยู่แล้ว เหมือนกับที่เคนส์รู้ๆ ว่า การใช้จ่ายภาครัฐจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ผมก็เพียงใส่ตัวแปรเหล่านี้เข้าไป เพื่อช่วยเห็นได้ชัดๆ ว่า จริงๆ แล้ว ยังมีนโยบายอีกถึง 4 ด้าน ที่สามารถช่วยรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยไม่ต้องใช้แต่งบประมาณอย่างเดียว แต่ใช้เคล็ด "ยืมพลัง" เหมือนไทเก๊กที่ยืมพลังจากศัตรู เพื่อสู้กับศัตรูตัวจริง คือ "วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์" ต่างหาก
สำหรับ "แรงงานต่างด้าว" "คนชรา" คือ ศัตรูของรัฐบาล เป็นภาระมาแย่งงาน เป็นภาระในการดูแลสุขภาพ เราจะยืมพลังพวกเขามาช่วย ส่วน "กองทุนบำนาญ" แทบไม่เคยมีใครชี้ว่า แท้ที่จริงแล้วนี่ก็คือ ศัตรูของรัฐบาลเช่นกัน เพราะรัฐบาลต้องใส่เงินสมทบใน กบข. สปส. (ประกันสังคม) กสล. (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) และยังต้องหักลดหย่อนภาษีให้อีกในกรณีของ RMF, LTF และประกันชีวิต ไม่เพียงเท่านั้น รัฐยังต้องจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรให้กับกองทุนเหล่านี้ทุกๆ ปี ปีละหลายหมื่นล้านบาท กองทุนบำนาญดูดดีมานด์จากภาครัฐและเอกชนไปกองเงินไว้เฉยๆ ปีละ 3 แสนล้านบาท เราจะ "ยืมพลัง" เขามาเช่นกัน
เอาละครับ ไทเก๊ก 18 กระบวนท่า มีอะไรบ้าง เริ่มสนใจแล้วใช่ไหมครับ... ผมเชื่อว่าหากทำตามนี้ รัฐบาลจะเลิกพูดว่า "เราจำเป็นต้องกู้" โปรดหยุดสร้างหนี้ให้ลูกหลานได้แล้วครับ เพราะด้วยวิธีง่ายๆ เช่นนี้ GDP น่าจะเติบโตได้ระดับสูงกว่า 5-6% ต่อปีได้ในปีหน้า รากหญ้าและชนชั้นกลางจะมีเงินหมุนได้มากขึ้น 8-9 แสนล้านบาท รายละเอียดของ 18 กระบวนท่า "เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก" นั้น ไว้ติดตามกันในตอนต่อไปนะครับ
แนวคิดพิชิตวิกฤติเศรษฐกิจโดยรัฐไม่ต้องกู้ (จบ)
ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก : ประวิทย์ เรืองศิริกูลชัย กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 06 สิงหาคม พ.ศ. 2552
ต่อจากตอนที่แล้ว "เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก" เป็นหลักการยืมพลัง นอกเหนือจากพลังของงบประมาณ เพื่อให้นโยบายอีก 4 ด้าน คือ นโยบายบำนาญ นโยบายราคาสินทรัพย์ นโยบายคนต่างด้าว และนโยบายสินเชื่อ มากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยไม่เป็นภาระการคลัง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. ลดเงินสมทบ : เสนอให้ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมลงครึ่งหนึ่ง และ กบข. กสล. ยกเลิกการเก็บไปเลยทั้งรัฐ ข้าราชการ บริษัทและพนักงาน เป็นเวลา 1 ปี เราจะได้ดีมานด์กลับมาราว 1 แสนล้านบาท และรัฐบาลก็เหลือเงินมากขึ้น
2. ลดวงเงินหักลดหย่อนภาษี : สำหรับ กบข. กสล. LTF RMF ให้เหลือทุกอย่าง 1 แสนบาท เท่ากับประกันชีวิต เศรษฐกิจแบบนี้รัฐบาลไม่จำเป็นต้องอุ้มคนรวย เมื่อไม่มีผลประโยชน์ทางภาษี คนรวยๆ ก็จะออมน้อยลง และนำมาใช้จ่ายหมุนเงินมากขึ้น เงินที่เพิ่มนี้คาดว่าจะได้อีกราว 3 หมื่นล้านบาท และรัฐบาลยังเก็บภาษีได้มากขึ้นด้วย
3. "สินเชื่อ 99" : นี่คือท่าไม้ตายเลยนะ คือ รัฐยอมให้ข้าราชการและผู้ประกันตน รวมถึงสมาชิก กสล. สามารถยืมเงินออมของตนเองได้ไม่เกิน 9 ส่วน ในอัตราดอกเบี้ย 9% ต่อปี (แบงก์รัฐเก็บ 6% รัฐบาลเก็บค่าธรรมเนียม 3%) จัดตั้งในเดือน 9 ปี 2009 นี้เลย โดย กบข. สปส. และ บลจ. ที่ดูแลเงินเป็นผู้ค้ำประกัน เงินจะถึงมือประชาชนกลุ่มนี้ภายใน 99 วัน คาดว่ายอดเงินสูงถึง 9 แสนล้านบาท (เงินก้อนนี้ใหญ่กว่ากองทุนหมู่บ้านของรัฐบาลทักษิณ 11 เท่าตัว ใหญ่กว่าเช็คช่วยชาติถึง 45 เท่าตัว) เงินนี้ส่วนใหญ่จะถูกนำไปรีไฟแนนซ์หนี้นอกระบบ และสินเชื่อบุคคล ทำให้ประชาชนเหลือเงินเพิ่มขึ้นอีกหลายร้อยหลายพันบาทต่อเดือน ขณะที่รัฐบาลได้เงินค่าธรรมเนียมราว 2.7 หมื่นล้านบาทฟรีๆ
4. เพิ่มสวัสดิการสังคมผ่าน สปส. : ขยายการสงเคราะห์บุตรจาก 6 ปี เป็น 12 ปี และให้ "เบี้ยแทนคุณ" แก่บิดามารดาผู้ประกันตนหัวละ 500 บาท ต่างหากจากเบี้ยยังชีพคนชราของรัฐ โดยดึงเงินจากกองทุนประกันสังคมออกมา เงินตรงนี้จะเพิ่มกำลังซื้อได้อีกราว 2 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลไม่รับภาระเลย
5. กำหนดให้กองทุนบำนาญ ลงทุนในหุ้นเป็นสัดส่วนสูงขึ้นจากราว 7% ณ ปัจจุบัน เป็นสูงกว่า 10% ณ ปลายปีนี้ 15% ณ ปลายปี 2553 และ 20% ณ ปลายปี 2554 เพราะประเทศอื่นๆ ทั่วโลกลงทุนในหุ้นสูงถึง 50% การกำหนดเช่นนี้ จะมีเงินเข้าตลาดหุ้นถึงกว่า 3 แสนล้านบาท อย่างค่อยเป็นค่อยไป
6. ปลดล็อกให้คนต่างด้าวลงทุนได้เต็มที่ ไม่มีกำหนดสัดส่วน ยกเว้นเฉพาะรัฐวิสาหกิจ
7. จัดตั้งกองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก ที่มีมูลค่าต่ำเกินไป จะยกระดับ P/E ที่เหมาะสม และเพิ่มมูลค่าโดยรวมให้กับตลาดหุ้นได้
8. ส่งเสริมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในเวลาที่เหมาะสม (ตอนตลาดร้อนแรง) เพื่อขยายขนาดตลาดทุน
9. ผลักดันให้ดัชนีตลาดหุ้นไทย เข้าไปอยู่ใน world index
10. กำหนดให้กองทุนบำนาญต้องลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ 5% ของขนาดกองทุน
11. ยกเว้นภาษีอสังหาฯ ทุกรูปแบบ ทั้งค่าธรรมเนียมการโอน ธุรกิจเฉพาะ ซึ่งก็ทำอยู่แล้ว
12. ลดข้อจำกัดคนต่างด้าว อาทิเช่น ให้ถือครองคอนโด 100% ให้สิทธิการเช่า 99 ปี เป็นต้น
13. สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนรวมสินค้าเกษตรไทย โดยหักลดหย่อนภาษีคล้ายกรณี LTF จะมีเงินเข้าช่วยซื้อสินค้าเกษตรเป็นสต็อกนับหลายหมื่นล้าน
14. กำหนดให้กองทุนบำนาญต้องลงทุนในกองทุนรวมสินค้าเกษตร หรือสัญญาซื้อสินค้าเกษตรล่วงหน้าในตลาด AFET รวมๆ แล้ว 5% ขึ้นไปของยอดกองทุน เท่านี้รัฐก็ไม่ต้องรับภาระขาดทุนจากการประกันราคา หรือการรับจำนำอีก
15. ดึงดูดผู้เกษียณอายุจากประเทศพัฒนาแล้ว โดยลดข้อจำกัดการให้วีซ่าระยะยาวลงมา คาดว่าจะได้ประชากรกลุ่มนี้เพิ่มราว 1 ล้านคน จากกลุ่มเป้าหมาย 200 ล้านคน เพราะค่าครองชีพไทยต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วถึง 5 เท่าตัว นี่เป็นวิธีการเพิ่ม GDP ให้ไทย 1 ล้านล้านบาท จะมีการจ้างงานเพิ่ม 3.5 ล้านคน นอกจากนี้ อาจเสนอให้ประเทศเหล่านั้น จ่ายเงินค่าดูแลสุขภาพด้วย อาทิเช่น ญี่ปุ่นปกติจ่ายเงินเพื่อดูแลคนแก่ถึงหัวละ 3.5 แสนบาท รัฐบาลไทยขอแค่ 1 แสนบาทก็พอ เอาไปให้ รพ.เอกชน 5 หมื่นบาทดูแลสุขภาพอย่างดี ที่เหลือนำเข้ารัฐได้เงินอีกหลายหมื่นล้านบาท
16. เมื่อแรงงานไม่พอ เปิดให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาอย่างถูกต้อง เก็บค่าวีซ่าเข้ารัฐได้อีกแล้ว และเป็นการเพิ่มดีมานด์ในประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ อาจให้สินเชื่อกับคนกลุ่มนี้ด้วย อาจจะเพิ่มกำลังซื้อได้นับแสนล้านบาท
17. สนับสนุนสินเชื่อในลักษณะใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน อาทิเช่น บุคคลธรรมดา ให้รถยนต์ และกองทุนบำนาญ สำหรับ SME ก็ใช้เครื่องจักรและวัตถุดิบ เป็นต้น
18. รัฐบาลออกมาค้ำประกันสินเชื่อในรูปแบบต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยง เพิ่มยอดสินเชื่อ หรือรัฐวิสาหกิจอย่าง ร.ฟ.ท. มาค้ำประกันสินเชื่อรายย่อย โดยใช้ที่ดินค้ำ และเก็บค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน ก็อาจทำให้ ร.ฟ.ท.มีรายได้และกำไรเพิ่มปีละหมื่นล้านบาท
ข้อ 1-4 นั้นยืมพลังจากกองทุนบำนาญ ข้อ 5-14 เป็นนโยบายเพิ่มราคาสินทรัพย์ (รวมสินค้าเกษตร)
ข้อ 15-16 เป็นยืมพลังจากคนต่างด้าว ข้อ 17-18 เป็นนโยบายสินเชื่อที่ตอนนี้ก็ทำกันอยู่แล้ว
ฝากให้นักวิชาการ และรัฐบาลนำไปพิจารณาดูนะครับ เชื่อว่าจะช่วยพิชิตวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ได้ โดยรัฐบาลไม่ต้องกู้ยืมเงินเลยก็ว่าได้ เพราะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างเร็ว และภาษีที่เก็บได้จะเพิ่มขึ้นเอง เป็นนโยบาย "ประชาชมชอบ" ที่เหนือชั้นกว่า "ประชานิยม"
และหากรัฐบาลไทย อเมริกา และญี่ปุ่น นำไปใช้และประสบความสำเร็จในการฟื้นเศรษฐกิจและแก้ไขวิกฤติการคลังไปด้วย บางทีเราอาจเห็นสมการ GDP ใหม่ของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก ตามตำราเศรษฐศาสตร์มหภาคทั่วโลกก็ได้ นั่นหมายถึง ท่านผู้อ่านจะได้เป็นบุคคลกลุ่มแรกๆ ที่ได้เรียนรู้กับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ใหม่ล่าสุดนี้ครับ
http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2009q3/2009august05p2.htm
----------------------------------------------
เว็บเศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก
http://taiji-econ.blogspot.com
----------------------------------------------
FfF
บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.