บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


14 พฤศจิกายน 2555

<<< เหตุการณ์ รัฐประหารโดย รสช. พ.ศ. 2534 >>>

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 บางครั้งเรียกว่า เหตุการณ์ รสช. เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ในเวลาบ่าย โดย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. (National Peace Keeping Council - NPKC) ยึดอำนาจจากรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

ก่อนการรัฐประหาร


พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งฉบับวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ลงข่าวรัฐประหาร พร้อมแสดงภาพของคณะ รสช.
ในคืนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก รับประทานอาหารค่ำที่โรงแรมโอเรียนเต็ลห้องใกล้กับที่ พลเอกสุจินดา คราประยูร และนายทหารระดับสูงจำนวนหนึ่งรับประทานอยู่ ในขณะที่ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ พักผ่อนอยู่ที่บ้านพักในซอยราชครู (พหลโยธินซอย 5)
ต่อมาเวลาประมาณ 24.00 น. วิทยุข่ายสามยอดของกองปราบรายงานว่า "ป.๑" อันหมายถึง พลตำรวจตรี เสรี เตมียเวส ผู้บังคับการกองปราบ ได้เดินทางถึงหน่วยคอมมานโด ที่ซอยโชคชัย 4 ลาดพร้าว และสั่งให้กองปราบ "เตรียมพร้อม" เพราะมีข่าวว่าอาจจะมีการปฏิวัติเกิดขึ้น
ในเวลา 04.30 น. นายเวรของ พลตำรวจตรี เสรี เตมียเวส ได้แจ้งยกเลิกการเตรียมดังกล่าวภายหลังจากที่มีการตรวจสอบว่าไม่มีการเคลื่อนกำลังของหน่วยใด
สำหรับการเคลื่อนไหวของบุคคลต่างๆ ในคืนนั้น นอกจาก พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศที่เดินทางกลับจากราชการที่ประเทศเกาหลีแล้ว ล้วนอยู่ในสภาพปกติทั้งสิ้น
กระทั่งเวลา 06.00 น. ของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ทุกอย่างยังอยู่ในความสงบ

การรัฐประหาร

เดิมทีทหารได้เตรียมการจะจับตัว พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ที่สนามบินกองทัพอากาศ (บน.6) ในเวลา 19.30 น. หลังจากการเข้าเฝ้า พร้อมกับการเคลื่อนกำลังทหารเข้ายึดจุดสำคัญทั่วกรุงเทพมหานคร แต่แผนกลับเปลี่ยนแปลงในเช้าวันนั้น ซึ่งนายทหารที่ร่วมปฏิบัติการส่วนใหญ่เป็นทหารอากาศ
เวลา 11.00 น. พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก เดินทางถึงห้องรับรองพร้อมหน่วยรักษาความปลอดภัยประมาณ 20 นาย ก่อนที่จะขึ้นเครื่องบิน ซี 130 ที่จอดพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก นายอนันต์ อนันตกูล เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงมหาดไทยนั่งบริเวณที่นั่งวีไอพี ส่วนหน่วย รปภ. ถูกแยกไปอยู่ตอนท้ายของเครื่อง
ทันทีที่เครื่องซี 130 เคลื่อนตัว ทหารสองนายในชุดซาฟารีสีน้ำตาลก็กระชากปืนจากเอวควบคุมรปภ. ทั้ง 20 คนเอาไว้ พร้อมๆ กับที่เครื่องบินลดความเร็วลงและ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อยู่ในสภาพถูกควบคุมตัวเรียบร้อย ขณะที่การปฏิบัติการเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทหารบกจำนวนสองพันก็เคลื่อนออกประจำจุดต่างๆ ที่กำหนดไว้ พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ออกจากกองทัพอากาศ สมทบกับ พลเอกสุจินดา คราประยูร พลเรือเอกประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกแถลงการณ์กับประชาชน

เหตุผลของการรัฐประหาร

ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ยืนยันถึงการล้มล้างรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ว่าได้กระทำการเรียบร้อยสมบูรณ์ในเวลา 11.30 น. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 และ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติก็ได้อ่านแถลงการณ์ฉบับที่ ๑ ชี้แจงเหตุผลของการกระทำในเวลาต่อมา
ประการที่ 1 พฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวง คณะผู้บริหารประเทศได้ฉวยโอกาสอาศัยอำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองแสวง หาประโยชน์ให้แก่ตนเองและพรรคพวกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จนเป็นเรื่องปรกติธรรมดาของรัฐมนตรีเกือบทุกคนที่ต้องแสวงหาเงินเพื่อสร้างฐานะความร่ำรวยเป็นฐานอำนาจทางการเมือง ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจมีการฉ้อราษฏร์บังหลวงอย่างกว้างขวางในหมู่รัฐมนตรีรวมทั้งข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจระดับสูงบางคนก็ตาม แต่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลกลับ ไม่เอาใส่ที่แก้ไขอย่างจริงจังกลับแสดงความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาด้วย การยืนยันว่า หากพบผู้ใดประพฤติมิชอบให้เอาใบเสร็จมายืนยันด้วย
ประการที่ 2 ข้าราชการการเมือง ใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต ผู้ไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือนักการเมือง รับราชการไม่เจริญก้าวหน้า ถูกข่มเหงรังแก หากไม่ยินยอมเป็นพรรคพวก หลายท่านต้องลาออกราชการ
ประการที่ 3 รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรครัฐบาลได้ร่วมมือพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล รวมทั้งคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีบ้านพิษณุโลก ใช้อุบายอันแยบยลทางการเมืองสร้างภาพลวงตาประชาชนว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แล้วพลิกแพลงหาประโยชน์เป็นที่ประจักษ์ชัดโดยทั่วไป แท้จริงแล้วใช้ผลประโยชน์เป็นตัวนำการเมือง ระดับรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่บริหาร รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ นำประเทศไปสู่การปกครองระบอบเผด็จการทางรัฐสภาเมื่อเป็นเช่นนี้ การวางตัวบุคคลในตำแหน่งสำคัญทั้งทางการเมืองและข้าราชการประจำจึงตกอยู่กับพรรคพวกนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น เป็นช่องทางที่ก่อให้เกิดการกอบโกยผลประโยชน์ จึงนับว่าเป็นภัยอันตรายอย่างยิ่งต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ประการที่ 4 การทำลายสถาบันทางทหาร ทหารเป็นสถาบันข้าราชการประจำเพียงสถาบันเดียวที่ไม่ยอมตกอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมืองของนักการเมือง จากสภาพโดยส่วนรวมทั่วไปจะเห็นว่ารัฐบาลได้เผชิญหน้ากับฝ่ายทหารมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นกรณีลิตเติลดั๊ก รถวิทยุสื่อสารเคลื่อนที่ การไม่ปลด ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง จากการเป็นรัฐมนตรีตามสัญญาสุภาพบุรุษ
ประการที่ 5 การบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อปี 2525 ประมาณ 9 ปีเศษที่ผ่านมา พลตรีมนูญ รูปขจร และพรรคพวกได้บังอาจคบคิดวางแผนทำลายล้างราชวงศ์จักรีเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไปสู่แบบที่ตนเองและคณะได้กำหนดไว้ การวางแผนการชั่วร้ายดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ พลตรีมนูญ รูปขจรและ พรรคพวกถึง 43 คนถูกจับกุมในที่สุดและได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มคณะบุคคลที่มีอิทธิพลทาง การเมืองให้ได้รับการประกันตัวจนสามารถก่อการปฏิวัติได้อีกสามครั้ง
จากเหตุผลและความจำเป็นทั้งห้าประการ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติไม่สามารถที่จะปล่อยให้ภาวะระส่ำระสายของชาติบ้านเมืองเกิดขึ้นรุนแรงต่อไปอีกได้ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ และคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติจะดำเนินการจัดระบอบการบริหารราชการแผ่นดินให้กลับสุ่สภาพปรกติโดยเร็วที่สุด

การยึดทรัพย์นักการเมือง

“เราเห็นว่าระบอบนี้ ถ้าจะดำเนินการต่อไปนั้น บ้านเมืองก็จะมีแต่ความล่มจม เพราะว่าทุกพรรคหรือนักการเมืองที่เข้ามา ต่างคนต่างฝ่ายก็มุ่งหน้าหาเงินเข้าพรรค เพื่อจะใช้ในการเลือกตั้ง เพื่อจะเอาชนะในการเลือกตั้ง จนมีคำกล่าวกันว่าคณะรัฐมนตรีแบบที่เป็นอยู่นั้น เขาเรียกว่า "บุฟเฟต์ คาบิเน็ต" คือเข้ามาเพื่อแย่งกันกิน” พลเอกสุจินดา คราประยูรซึ่งเป็นผู้มีบทบาทมากที่สุดในครั้งนั้นกล่าวกับบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในเช้าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534
รุ่งขึ้น "ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 26" ลงนามโดย พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ก็ปรากฏออกมา แต่งตั้ง ให้ พลเอกสิทธิ จิรโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน มีนายสุธี อากาศฤกษ์ นายมงคล เปาอินทร์ นายไพศาล กุมาลย์วิสัย นายสุชาติ ไตรประสิทธิ์ พลตำรวจโทวิโรจน์ เปาอินทร์ และนายชัยเชต สุนทรพิพิธ ร่วมเป็นกรรมการ ให้อำนาจในการอายัดและห้ามจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของนักการเมืองที่มี พฤติกรรมอันอาจส่อแสดงว่ามีทรัพย์สินร่ำรวยผิดปรกติ

รัฐมนตรีที่ถูกประกาศอายัดทรัพย์

พรรคชาติไทย 12 คน
พรรคกิจสังคม 5 คน
พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน
พรรคราษฎร 2 คน
พรรคประชากรไทย 1 คน
พรรคเอกภาพ 1 คน
พรรคมวลชน 1 คน
พร้อมๆ กันนั้น มีความเคลื่อนไหวทาง นาวาอากาศตรีฐิติ นาครทรรพ อดีตนายทหารอากาศที่สนิทสนมกับ พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ประกาศจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ในช่วงแรกเรียกกันติดปากว่า “พรรคทหาร” กระทั่งได้ชื่อว่า “พรรคสามัคคีธรรม” ในที่สุดในทันทีที่นายณรงค์ วงศ์วรรณพ้นจากการถูกอายัดทรัพย์ ก็ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม
ไม่เพียงแต่พรรคเอกภาพเท่านั้นที่สูญเสียหัวหน้าพรรค ในส่วนของพรรคชาติไทย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ลาออกจากตำแหน่งเช่นกัน และโดยการดำเนินการทางการเมือง พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ ผู้อำนวยการการท่าอากาศยานฯ อดีตนายทหารอากาศก็ได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งแทน ขณะที่พรรคกิจสังคมเปิดตำแหน่งเลขาธิการพรรคให้แก่ พลโทเขษม ไกรสรรณ์ เพื่อนร่วมโรงเรียนอำนวยศิลป์ของ พลเอกสุจินดา คราประยูร และรัฐมนตรีที่ได้รับการปล่อยตัวจากประกาศยึดทรัพย์ก็สมัครเป็นสมาชิกพรรคสามัคคีธรรมโดยพร้อมเพียง ทั้งนายประมวล สภาวสุ นายไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐและนายสันติ ชัยวิรัตนะ
ผลการตรวจสอบทรัพย์สิน นักการเมือง 10 คนซึ่งยังมีคดี “ร่ำรวยผิดปกติ” อยู่ในระหว่างการพิจารณา ประกอบด้วย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ นายเสนาะ เทียนทอง นายวัฒนา อัศวเหม พลตำรวจเอกประมาณ อดิเรกสาร นายภิญญา ช่วยปลอด นายสุบิน ปิ่นขยัน นายมนตรี พงษ์พานิช นายประมวล สภาวสุ และ ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง[1][2]

อ้างอิง

  1. ^ กองบรรณาธิการมติชน. 289 ข่าวดัง 3 ทศวรรษหนังสือพิมพ์มติชน พ.ศ. 2521-2549. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549. 424 หน้า. ISBN 974-323-889-1
  2. ^ กองบรรณาธิการมติชน. รัฐประหาร 19 กันยา '49 เรียบแต่ลึก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549. ISBN 947-323-851-4

http://th.wikipedia.org/wiki/รัฐประหารในประเทศไทย_พ.ศ._2534 

-------------------------------------------------
FfF