บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


16 พฤษภาคม 2552

<<< เรื่องภาษีที่ดิน ทำไมต้องรอ 2 ปี ? >>>

เห็นข่าวรัฐบาลนี้เตรียมเก็บภาษีที่ดินในอีก 2 ปีข้างหน้า
พูดกันตรงๆ เลยน่ะคิดว่าจะอยู่กันถึงไหม
แล้วถ้าช่วงนี้มีเลือกตั้งใหม่
เรื่องนี้จะอ้อมแอ้มบอกไม่ใช่นโยบายพรรคอีกไหม
หรือว่าจะกล้าเอาไปหาเสียงไหม
ไหนๆ พูดออกมาแล้วก็บันทึกเก็บไว้
แล้วมาดูพวกกลับลำคำพูดในอนาคต

ตอนนี้พวกที่มีที่ดินมากๆ
ก็พวกนักการเมืองและมหาเศรษฐีทั้งหลาย
รวมไปถึงแบงค์ที่ถือที่ดินจากลูกหนี้ที่เป็น NPL
หรือแม้แต่ลูกหนี้ที่เอาหลักทรัพย์มาค้ำประกัน
ถ้าทำกันได้จริงๆ
รับรองเลยว่า
ราคาที่ดินจะล่วงแน่
และสถาบันการเงินก็เตรียมตัวซวยได้เลย
ที่ไปรับที่ดินพวกนั้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ถามว่าถ้ามีการเก็บภาษีที่ดิน
แล้วทำไมที่ดินจะราคาถูกลง
นอกจากพวกเก็งกำไรไม่อยากมาเก็งแล้ว
พวกที่ถือไว้อยู่ก็พยายามขายทิ้ง
แล้วมันจะไม่ราคาตกได้ยังไง
ในเมื่อซัพพลายมากกว่าดีมานด์
ยกเว้นที่ในเขตธุรกิจหรือเขตเมือง

แถมบอกล่วงหน้าตั้ง 2 ปี
ระหว่างนี้ไม่ยิ่งซบเซากันหนักหรือยังไง
คนอยากซื้อเก็บไว้ก็ไม่อยากซื้อ
แต่จะมีคนอยากขายออกมาเพิ่มขึ้น
แถมพวกที่ถือที่ดินมากๆ
ระดับเป็นหมื่นเป็นแสนไร่
ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน
ก็นายทุนพรรค
เจ้าของน้ำเมาเจ้าสัวนั่นนี่
คือดูแล้วยังไม่กล้าทำ
ถ้าจะทำทำไมต้องรออีก 2 ปี
ทั้งๆ ที่ตอนนี้บักโกรกไม่มีเงิน
น่าจะเริ่มปีนี้ปีหน้า
จะได้รีดเงินมาใช้อุดกระเป๋าที่ฉีกอยู่
มองได้ 2 อย่าง
ไม่ตบทรัพย์จากบรรดาพวกมีที่ดินเยอะ
ก็ปล่อยข่าวให้ชาวบ้านที่มีที่ดินเยอะ
รีบนำออกมาขายทิ้ง

อีกอย่างที่บอกว่าแปลงขนาดเล็ก
ขนาดไหน
ชาวนาปลูกข้าวอย่างต่ำต้อง 10 กว่าไร่ขึ้นไป
ส่วนใหญถ้าจะอยู่ได้ก็ต้อง 20 ไร่ขึ้น
แปลงเล็กไหมแล้วโดนเรียกเก็บภาษีที่ดิน
ในขณะที่เวลาแจกเงินก็ไม่ได้รับกับเขา
แล้วยังมาโดนเรียกเก็บอีก
แล้วที่บอกว่าใช้ประโยชน์มากน้อยเอาอะไรวัด
รายได้หรือคิดว่ารู้เหรอว่า
ชาวไร่ชาวนาแต่ละคนมีรายได้เท่าไหร่
และคนที่ปลูกอะไรทิ้งๆ ไว้
เพื่อให้เข้าข่ายทำประโยชน์จะไปวัดยังไง
ยิ่งเป็นช่องว่างให้เรียกเก็บเงิน
หรือเกิดกรณีสองสามมาตรฐานตามมา

แถมมาเก็บเอาช่วงเศรษฐกิจไม่ดี
ก็ยิ่งทำให้แย่หนักขึ้นไปอีก
งานนี้พวกอสังหาริมทรัพย์จะอ่วม
อย่างน้อยก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
เพื่อไปบวกเพิ่มในราคาบ้าน
หรือโครงการก่อสร้างอะไร
ที่ต้องใช้ที่ดินเยอะๆ
ในขณะที่ผู้บริโภคก็ย่ำแย่ผจญกับราคาสินค้าที่แพง
กำลังซื้อยิ่งหดหายไปอีก
ดูๆ แล้วรัฐบาลนี้มาช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
หรือมาช่วยซ้ำเติมเศรษฐกิจกันแน่

สรุปกรณีเรื่องเก็บภาษีที่ดิน
ผมขอนินทาว่า กรณ์ทำได้แค่พูด
เป็นสูตรเดิมในการทำงานของรัฐบาลนี้

โดย มาหาอะไร

------------------------------------------------------

การเงิน - การลงทุน
วันที่ 15 พฤษภาคม 2552 18:05

กรณ์เล็งรีดภาษีที่ดิน-บ้านปี54 ไม่แตะมรดก
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

รม ว.คลังเล็งเก็บภาษีที่ดิน-บ้าน เผยเตรียมนำเข้าครม.ภายในปีนี้ ก่อนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎร์พิจารณา เริ่มเก็บได้ในปี"54 ไม่แตะภาษีมรดก

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงเรื่องภาษีทรัพย์สินและที่ดิน ว่า อยู่ระหว่างการชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้อง คาดว่าจะนำเสนอให้ ครม.พิจารณาภายในปีนี้ ก่อนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา และจะเริ่มจัดเก็บภาษีได้ในปี 2554 การจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะทำรายได้ให้รัฐได้ปีละ 60,000-70,000 ล้านบาท ซึ่งจะเข้ามาทดแทนรายได้ส่วนหนึ่งจากภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ที่จะ หายไป

สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างนั้น จุดประสงค์ไม่ได้ต้องการเน้นการหารายได้ เนื่องจากรายได้ที่จัดเก็บเป็นของท้องถิ่น แต่ต้องการสร้างความเป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้งปรับโครงสร้างระบบภาษีให้เหมาะสม ซึ่งจะนำมาใช้จัดเก็บทดแทนภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ เนื่องจากโครงสร้างเดิมไม่ยุติธรรม

นายกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันภาษีโรงเรือนไม่ได้จัดเก็บตามมูลค่าของที่ดิน แต่จัดเก็บตามรายได้ ทำให้ผู้มีรายได้จากทรัพย์สินต้องเสียภาษี ขณะที่ที่ดินเปล่าไม่ต้องเสียภาษี ส่วนภาษีบำรุงท้องที่ อ้างอิงการประเมินมูลค่าที่ล้าสมัยตั้งแต่ปี 2524-2525 จึงต้องปรับปรุงระบบภาษีให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งต่างประเทศการจัดเก็บภาษีที่ดินของท้องถิ่นคิดเป็น 70-80% ของรายได้ทั้งหมดของท้องถิ่น ขณะที่ของไทยคิดเป็นเพียง 1 ใน 10 ของรายได้ท้องถิ่นเท่านั้น

"เบื้องต้นการจัดเก็บภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง จะจัดเก็บจากเจ้าของที่ดิน ผู้ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินต้องเสียภาษีสูงกว่าผู้ใช้ประโยชน์ และอาจยกเว้นภาษีสำหรับที่ดินแปลงขนาดเล็ก ที่ส่วนใหญ่เกษตรกรรายย่อยใช้เป็นที่ดินทำกิน เพื่อให้ผู้มีที่ดินเปล่าจำนวนมากๆ นำที่ดินออกมาใช้ประโยชน์ อาจจะนำที่ดินมาให้เกษตรกรเช่าทำกิน ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของตรรกะในการพัฒนาประเทศ เนื่องจากยังมีประชาชนยากจนจำนวนมากไม่มีความสามารถเข้าถึงที่ดิน"

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดจะจัดเก็บภาษีบ้านและที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นรายได้กลับมาบำรุงท้องถิ่น เนื่องจากบ้านพักอาศัยของประชาชนต้องใช้ประโยชน์จากระบบสาธารณูปโภคของท้อง ถิ่น ควรจ่ายเงินสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น สร้างประโยชน์กลับคืนมา

อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีมรดกนั้น ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากค่อนข้างยุ่งยาก และหลายประเทศลดบทบาทของภาษีมรดกไปมากแล้ว จึงขอเดินหน้าเก็บภาษีทรัพย์สินก่อน

------------------------------------------------------


วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11279 มติชนรายวัน


ถาม อภิสิทธิ์ + กรณ์ กรณี ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ถาม ประชาธิปัตย์


คอลัมน์ วิภาคแห่งวิพากษ์



ต้องถือเป็นความกล้าหาญอย่างมากที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายกรณ์ จาติกวณิช ออกมาผลักดันในเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และรวมถึงในเรื่องภาษีมรดก

เพราะว่าเรื่องนี้เคยริเริ่มตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่ถูกยกเลิกไป

เพราะว่าเรื่องนี้พรรคประชาธิปัตย์ยุคที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้า เคยศึกษาและแสดงความพยายามในปี 2518 แต่ไม่สำเร็จ

มาได้รับการรื้อฟื้นอีกครั้งในยุคพรรคประชาธิปัตย์ ผลัดใบ

ความน่าสนใจประการหนึ่งอยู่ตรงที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยืนยันว่าทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์

ขณะเดียวกัน หากกล่าวสำหรับกระทรวงการคลัง ไม่ว่าร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ว่าร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดก อยู่ระหว่างการร่างและปรับปรุงโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

แรงจูงใจ 1 อาจเพราะว่าหากสามารถผ่านร่าง 2 ร่างนี้ออกมาได้ โดยเฉพาะร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรัฐจะสามารถขุดเอาเงินจำนวนไม่ต่ำกว่าปีละ 70,000 ล้านบาท มาเป็นประโยชน์ได้

ขณะเดียวกัน แรงจูงใจ 1 ก็ดังที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว


"เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบภาษี"


จะทำความเข้าใจแนวคิดของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะทำความเข้าใจแนวคิดของ นายกรณ์ จาติกวณิช ได้ จำเป็นต้องย้อนไปยังแนวคิดโดยพื้นฐานของ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์

นั่นก็คือ แนวคิดในเรื่อง การออม และแนวคิดในเรื่อง การลงทุน

"ปกติ เรามักคิดกันว่า ความมั่งคั่งที่สะสมกันมาในโลกเรานี้เป็นเพราะปัจเจกชนแต่ละคนมานะบากบั่น ขยันอดทน ประกอบกิจการงาน พากเพียรลดละเลิกที่จะอุปโภค บริโภค

"เราถือกันว่าคุณสมบัติเหล่านั้นเป็นคุณงามความดีทางเศรษฐกิจของมนุษย์ และเรียกกันว่าความประหยัดมัธยัสถ์

"แต่ลองมาคิดกันดูเถิด ความประหยัดมัธยัสถ์สร้างตึกสูงและขุดคูคลองได้หรือ

"จิตใจที่คิดจะประกอบกิจการ (enterpreneur spirit) ต่างหากที่สร้างและสะสมความมั่งคั่งขึ้นมาในโลก"

(สำนวนแปลของ ปรีชา ทิวะหุตะ เล่าเรื่องเศรษฐกิจภาพรวม เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์)

ตรงนี้แหละคือเส้นแบ่งหรือสันปันน้ำอันสำคัญยิ่งระหว่างความคิดของเคนส์กับบรรดาเจ้าที่ดิน โดยเฉพาะเจ้าที่ดินในแบบโบราณ

นั่นก็คือ การสรุปแนวคิดเพื่อสนองและให้ความสำคัญกับ "ผู้ประกอบการ"

ดังที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อธิบายว่า "ต้องมีบทบัญญัติในลักษณะที่จะทำให้เสียภาษีในอัตราก้าวหน้าสำหรับผู้ที่มีที่ดินว่างเปล่า"

นั่นก็คือ พุ่งเป้าไปยังผู้มีที่ดินแล้วไม่ทำประโยชน์ นอกจากการเก็งกำไรและปั่นราคาที่ดิน

หาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายกรณ์ จาติกวณิช ผลักดันร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ร่างกฎหมายภาษีมรดก ได้สำเร็จ ก็เท่ากับเป็นพัฒนาการและก้าวอย่างสำคัญอีกก้าวหนึ่งของสังคมไทย

นั่นก็อยู่ที่ว่ารายละเอียดของร่างกฎหมายจะดำเนินไปอย่างไร จะปฏิรูประบบภาษีอย่างไร

เพราะปัญหาของระบบภาษีที่ดำรงอยู่ในอดีตและปัจจุบัน ดำเนินไปอย่างที่ นายมานพ พงศทัต แห่งภาควิชาเคหะการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกต

"โครงสร้างภาษีที่ดินของไทยไม่เป็นธรรม คนที่ถือครองที่มากจ่ายภาษีน้อย แต่คนที่ถือครองน้อยจ่ายมาก ร่างกฎหมายฉบับนี้พูดกันมานานมากแล้ว แต่เมื่อมีการผลักดันเข้าระบบสภากลับไม่ผ่านการพิจารณา เพราะมีเจ้าของที่ดินอยู่มาก"

หากย้อนกลับไปศึกษาตารางประกอบ รวมถึงศึกษาเคียงข่าวที่หนังสือพิมพ์ "มติชน" นำรายละเอียดมาเปิดเผย

ก็ไม่น่าแปลกใจ

อุปสรรคสำคัญของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายกรณ์ จาติกวณิช ไม่ได้อยู่ที่พรรคการเมืองอื่นเท่านั่น หากแต่อยู่ภายในพรรคประชาธิปัตย์นั่นแหละ

อย่าได้แปลกใจในท่าทีที่ออกมาพูดอย่างสงวนและมากด้วยความระมัดระวัง

ไม่ว่าจะเป็นจาก นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยผ่านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาแล้ว

ไม่ว่าจะเป็น นายทศพร เทพบุตร เศรษฐีภูเก็ตผู้เคยได้เอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01

ขณะเดียวกัน ท่าทีอย่างตรงไปตรงมาของนายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประโยคที่ฝากเอาไว้ว่า

"คุณจะเห็นว่าคนเก่งๆ ไปตายที่กระทรวงการคลังเยอะมาก เพราะความคิดง่ายๆ ที่พูดออกไปก่อน ถ้าเรื่องนี้คุณกรณ์ทำไม่ได้อย่างที่พูด ถามว่าเจ็บตัวไหม คุณกรณ์อาจจะมาใหม่และอยากเตือนว่า ถ้ายังไม่ชัดเจนจะพูดออกไปไม่ได้"


หน้า 3

---------------------------------------------------