บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


02 มิถุนายน 2552

<<< ข้อเท็จจริงที่ควรรู้ เรื่อง เงินกู้พม่า >>>

ประเทศนี้มันแปลกๆ ยังไงไม่รู้น่ะ
นายกที่บริหารประเทศได้จนมีเงินเหลือปล่อยกู้
หรือทำให้เป็นประเทศเจ้าหนี้ได้
กับจะเป็นจะตายกันให้ได้
ไม่อยากให้กู้ หรือหาเรื่องกับนายกที่มีนโยบายให้กู้
แต่เวลามีนายกมาบริหารประเทศกู้เอากู้เอา
พวกที่โวยวายหาเรื่องนายกคนปล่อยกู้
เงียบกริบดีแท้
อันที่จริงไทยไม่ให้กู้
สิงคโปร์ก็ให้กู้แทนก็ได้
หรือประเทศอื่นก็ให้กู้ได้
แถมไทยเองก็เคยมีโครงการที่ให้กู้มากมาย
หลายประเทศแถบนี้ก่อนหน้านี้แล้ว
เพราะมีพรบ.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
ที่ทำในสมัยรัฐบาล ชวน หลีกภัย นั่นเอง
ดูเจตนารมณ์ที่ออกกฏหมายนี้ที่ท่อนหมายเหตุดังต่อไปนี้

"หมายเหตุ :
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่สมควรแก้ไขเพิ่มเติม วัตถุประสงค์และอำนาจของธนาคาร เพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนให้ชัดเจนและกว้างขวางขึ้น โดยให้มีอำนาจให้สินเชื่อ ให้บริการทางการเงินในรูปอื่น ค้ำประกันหนี้ และรับประกันความเสี่ยง ตลอดจนให้มีอำนาจเข้าร่วมลงทุนหรือให้สินเชื่อ เพื่อการลงทุนในกิจการใด ๆ ในต่างประเทศ อันเป็นผลดีต่อการนำเข้า และการส่งออก ซึ่งสินค้าและบริการของประเทศไทย หรือมีผลดีต่อผู้ลงทุนไทย ที่ลงทุน
หรือประกอบกิจการในต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการ ของนักลงทุน ทั้งแก่ผู้ลงทุนไทยที่ต้องการขยายการลงทุน ในต่างประเทศและแก่ผู้ลงทุนทั้งไทย และต่างประเทศที่ต้องการลงทุน หรือประกอบกิจการในประเทศ โดยให้คณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดประเภท และลักษณะการประกอบกิจการของผู้ลงทุนที่สมควรได้รับการสนับสนุนดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ "

โดย มาหาอะไร

---------------------------------------------------------

"เอ็กซิมแบงก์" แจง ปล่อยกู้พม่าโปร่งใส

จากกรณีที่กระทรวงการสื่อสารและไปรษณีย์ของประเทศพม่า ทำหนังสือถึงรัฐบาลไทย เพื่อขอกู้เงินดอกเบี้ยต่ำไปลงทุนในโครงการพัฒนาการสื่อสารและโทรคมนาคมของพม่านั้น ใน 3 โครงการ คือ
1.โครงการพัฒนาการสื่อสารผ่านดาวเทียมระบบบรอดแบนด์(Myanmar Telecommunication Development Plan via Broadband Satellite)
2.โครงการถ่ายทอดสัญญาณผ่านเคเบิลใยแก้ว ระยะทาง 1,500 กิโลเมตร(Myanmar Nationwide Transmission Project : 1,500 Km Optical Fiber) และ
3.โครงการพัฒนาเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสาร หรือ MICT Project(Myanmar Information and Communication Technology Development Project)
โดยเป็นการขอความร่วมมือในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล(จีทูจี)
ต่อมารัฐบาลไทยได้อนุมัติให้รัฐบาลพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า(เอ็กซิมแบงก์) วงเงิน 4,000 ล้านบาท โดยวงเงินกู้ดังกล่าว ส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้ลงทุนใน 3 โครงการข้างต้นซึ่งสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่า ได้ระบุให้บริษัทสื่อสารขนาดใหญ่รายหนึ่งจากประเทศไทยเป็นผู้ได้สิทธิซัพพลายเออร์ (ผู้ให้คำปรึกษา และจัดหาอุปกรณ์ป้อน) ทั้ง 3 โครงการ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) ได้เปิดแถลงข่าว
โดยนายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการ ธสน. เป็นผู้แถลงร่วมกับ นายสถาพร ชินะจิตร กรรมการผู้จัดการ นายสถาพรกล่าวว่า จากการที่ น.ส.พ.มติชน ฉบับวันที่ 23 สิงหาคม 2547 ได้เสนอข่าวโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ที่รัฐบาลพม่าขอกู้จากรัฐบาลไทย มีส่วนโยงใยกับผลประโยชน์ของบริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยนั้น ธสน.ขอชี้แจงว่าเอกสารดังกล่าวไม่ได้เป็นเอกสารที่นำเสนอต่อรัฐบาลไทยหรือใช้กู้ในโครงการเงินกู้ระยะยาวจำนวน 4,000 ล้านบาท ระยะเวลา 12 ปี ที่เอ็กซิมแบงก์ได้รับมอบหมาย
ให้ดำเนินการแต่อย่างใด และอาจจะทำให้มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้เอกสารเหล่านั้นพวกเราไม่มีใครเคยเห็น และไม่ใช่เอกสารที่ใช้ในสัญญาต่างๆ ที่เอ็กซิมแบงก์ลงนามกับรัฐบาลพม่าแต่อย่างใด และยืนยันได้ว่าเอกสารสัญญาเงินกู้ระหว่าง เอ็กซิมแบงก์ และ Myanma Trade Bank(MFTB) ที่มีการลงนามไปเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2547 ไม่ได้มีการระบุชื่อเอกชนรายใด เพราะการคัดเลือกเป็นหน้าที่ของรัฐบาลพม่าเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนเอ็กซิมแบงก์มีหน้าที่เพียงตรวจดูว่าเงินกู้ดังกล่าวถูกนำไปใช้ถูกวัตุประสงค์และตรงตามเงื่อนไขหรือไม่เท่านั้น โดยโครงการเงินกู้ดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเริ่มมีการเจรจากันมาตั้งแต่ปฏิญญาพุกาม และเอ็กซิมแบงก์ก็ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการคลังให้ดำเนินการ ซึ่งผมและประธานคณะกรรมการ ธสน.ได้เริ่มเดินทางไปเจรจาที่พม่าตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนทุกอย่าง มีการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และขออนุมัติจากระทรวงการคลังที่กำกับดูแลในทุกขั้นตอน จนเชื่อมั่นได้ว่ามีความโปร่งใสที่สุดแล้ว
เรายืนยันว่ามีการให้กู้กับพม่าจริง โดยมอบหมายให้ MFTB เป็นผู้กู้ และกระทรวงการคลังของสหภาพพม่าเป็นผู้ค้ำประกัน วงเงิน 4,000 ล้านบาท ระยะเวลา 12 ปี อัตราดอกเบี้ย 3% มีระยะปลอดเงินต้น 5 ปีแรก โดยเงินกู้ดังกล่าวรัฐบาลพม่าจะนำไปใช้ในการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ซึ่งมีเงื่อนไขว่าจะต้องจ้างบริษัทไทยเป็นผู้ดำเนินการ แต่จะเลือกบริษัทใดนั้น เป็นกระบวนการของประเทศพม่าที่จะผู้ตัดสิน ซึ่งก็ต้องให้เกียรติกับประเทศผู้กู้ และเคารพกติกาในการคัดเลือกของประเทศนั้นๆ ซึ่งรัฐบาลพม่าได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดสรรวงเงินกู้และอนุมัติการจัดซื้อแก่กระทรวงและหน่วยงานต่างๆ (Procurement Committee of the Prime Minister’s Office) ขึ้นมาเพื่อพิจารณาว่าเอกชนรายใดจะเป็นผู้รับงานใน
โครงการต่างๆ และหลังจากนั้นก็จะส่งเอกสารมาให้ ธสน.เพื่ออนุมัติเงินกู้ ซึ่งหากเราดูว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเงื่อนไขก็อนุมัติเงินกู้ไปสำหรับโครงการเงินกู้วงเงิน 4,000 ล้านบาท ได้มีการลงนามไปเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2547 ปัจจุบันได้เบิกเงินกู้ไปแล้ว 13 โครงการ คิดเป็นเงิน 2,100 ล้านบาท ประกอบไปด้วยการกู้เงินเพื่อซื้อยางมะตอย 19% เครื่องจักร 41% โทรคมนาคม 15% และที่เหลือเป็นการกู้เพื่อปรับปรุงโรงงานและรัฐวิสาหกิจอื่นๆ
ส่วนเงินกู้ในส่วนที่ตกเป็นข่าวนั้น เป็นเงินกู้สำหรับการพัฒนาระบบโทรคมนาคมในโครงการ Broadband Satellite System มูลค่า 15 ล้านเหรียญ หรือ 600 ล้านบาท รัฐบาลพม่าได้คัดเลือกคู่สัญญา ซึ่งก็คือ บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด(มหาชน) และได้มีการลงนามในสัญญาลงวันที่ 30 ก.ค.47 หลังจากนั้นได้ส่งสัญญามาให้ ธสน.วันที่ 5 สิงหาคม 2547 และ ธสน.ได้อนุมัติเงินกู้ไป เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา แม้ว่าการกู้เงิน 4,000 ล้านบาท จะเป็นเป็นเรื่องที่ดำเนินการตามนโยบายสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน
แต่ในรายละเอียดการจัดซื้อเป็นขั้นตอนของรัฐบาลพม่าเป็นฝ่ายตัดสินใจว่าจะซื้อจากผู้ใด เราได้ตรวจดูเงื่อนไขแล้วว่า เป็นบริษัทไทยตามเงื่อนไขและเป็นสัญญาที่มาตรฐาน สมเหตุสมผล และมีความเป็นมืออาชีพ ตรงตามวัตถุประสงค์ จึงให้ความเห็นชอบและอนุมัติเงินกู้ ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวเป็นไปตามภารกิจของเอ็กซิมแบงก์ในการสนับสนุนให้ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยไปรับงานในต่างประเทศอยู่แล้ว ผู้สื่อข่าวถามว่าขั้นตอนการประมูลงานของพม่าเอื้อให้กับบริษัทที่มีเส้นสายกับรัฐบาล และนำไปสู่เรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ และเอ็กซิมแบงก์ใช้มาตรฐานอะไรในการอนุมัติเงินกู้ดังกล่าว เพื่อให้มีความโปร่งใส นายสถาพรกล่าวว่า "คุณมีสิทธิสงสัยได้ แต่ผมบอกได้ว่าเท่าที่เราได้ตรวจสอบเอกสารสัญญาตามมาตรฐานของการเป็นพนักงานธนาคาร ผมคิดว่าโครงการนี้มีมาตรฐานและสมเหตุสมผลมากที่สุดแล้ว และตรงตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งมีความสามารถในการใช้คืนได้ในอนาคต แต่ขั้นตอนการประมูลของรัฐบาลพม่าจะเป็นอย่างไรเราต้องเคารพเขา เพราะเขาเป็นผู้ใช้เงิน และชำระเงินกู้ ซึ่งโครงการให้ความช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ก็มีเงื่อนไขเดียวกัน"

นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา
ประธานคณะกรรมการ เอ็กซิมแบงก์
"คงไม่สามารถเปิดเผยสัญญากู้ระหว่างเอ็กซิมแบงก์กับ MFTB เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมาให้สาธารณชนทราบได้ เพราะเป็นสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก และแม้แต่ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารก็ไม่ครอบคลุมถึง แต่ผมสามารถที่จะยืนยันได้ว่าสัญญาดังกล่าวไม่ได้ระบุเรื่องของบริษัทเอกชนรายใดเข้าไปในสัญญา และแม้กระทั่งเอกสารแนบท้ายสัญญา ก็จะมีเพียงรายการสินค้าที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์เงินกู้เท่านั้น การพิจารณาอนุมัติเงินกู้ก็จะดูว่าสินค้าตรงตามเอกสารแนบหรือไม่ ส่วนบริษัทเอกชนรายใดจะได้รับงาน
ในส่วนใดนั้น คณะกรรมการเพื่อจัดสรรวงเงินกู้และอนุมัติการจัดซื้อแก่กระทรวงและหน่วยงานต่างๆ (Procurement Committee of the Prime Minister’s Office) ของประเทศพม่า ซึ่งมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของพม่าเป็นประธาน และรัฐมนตรีอื่นๆ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารชาติของพม่าเป็นกรรมการด้วย จะเป็นผู้กำหนดวิธีการประมูลและคัดเลือก และส่งรายชื่อผู้ชนะกับสัญญามาให้ ธสน.ตรวจดูเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาทุกอย่างก็เป็นไปตามระเบียบ"
ส่วนเอกสารแนบท้ายสัญญาที่ระบุรายการสินค้าต่างๆ ที่จะจัดซื้อจัดจ้างตามโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลพม่านั้น รายการประกอบด้วย รถแทรกเตอร์ รถบรรทุก รวมถึงบรอดแบนด์ แซทเทลไลท์ ซิสเต็ม แต่ไม่มีการระบุว่าจะต้องซื้อจากบริษัทใด ซึ่งในทางปฏิบัติฝ่ายบริหารของ ธสน.จะพิจารณาเฉพาะสัญญาเงินกู้ในวงเงินรวม 4,000 ล้านบาท หลังจากนั้นเมื่อผู้กู้คือรัฐบาลพม่า จะเบิกเงินกู้ในแต่ละรายการ ก็จะส่งสัญญาซื้อขาย พร้อมทั้งรายการสินค้ามาให้ ธสน. ซึ่งคณะกรรมการบริหาร ธสน.จะอนุมัติให้กรรมการผู้จัดการ ธสน.อนุมัติเงินกู้ดังกล่าวได้เลย หากว่าหากการเบิกเงินกู้ตรงตามกรอบสัญญาและเงื่อนไขในเอกสารแนบ แต่ถ้ามีสิ่งอื่นสิ่งใดที่นอกเหนือ เราก็จะไม่อนุมัติวงเงินกู้ ซึ่งที่ผ่านมาทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติทั้งหมด
"ผมและกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นคนเดินทางไปเจรจากับรัฐบาลพม่าหลายต่อหลายครั้ง ยืนยันได้ว่าเงินกู้ในสัญญานี้ทำโดยโปร่งใส และการที่รัฐบาลพม่าตั้งคณะกรรมการร่วมในระดับรัฐบาลขึ้นมาพิจารณา เมื่อคณะกรรมการชุดนี้ตัดสินให้ใครได้รับงานก็เป็นเรื่องของรัฐบาลพม่าที่เราต้องเคารพ เพราะเราเชื่อว่ากระบวนการที่เขาวางไว้ได้ให้โอกาสแก่เอกชนเท่าเทียมกันแล้ว"

---------------------------------------------------------

ธสน. ชี้แจงโครงการเงินกู้พม่า 4,000 ล้านบาท

จากการที่หนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 23 สิงหาคม 2547 ได้เสนอข่าวว่า โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่รัฐบาลพม่าขอกู้จากรัฐบาลไทยมีส่วนโยงใยกับผลประโยชน์ของบริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยนั้น นายสถาพร ชินะจิตร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ขอชี้แจงว่า
เอกสารที่หนังสือพิมพ์มติชนนำมาอ้างอิงนั้นมิได้เป็นเอกสารที่นำเสนอต่อรัฐบาลไทยหรือใช้ในการขอกู้ในโครงการเงินกู้ระยะยาวจำนวน 4,000 ล้านบาท ระยะเวลา 12 ปีที่ ธสน. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการให้กู้แก่สหภาพพม่า การนำเสนอเอกสารดังกล่าวจึงอาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านได้กรรมการผู้จัดการ ธสน. ชี้แจงต่อไปว่า โครงการเงินกู้ดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน โดย ธสน. ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการให้กู้ และสหภาพพม่าได้มอบหมายให้ Myanma Foreign Trade Bank (MFTB) เป็นผู้กู้ โดยมีกระทรวงการคลังของสหภาพพม่าค้ำประกัน รัฐบาลพม่าจะนำเงินกู้ดังกล่าวไปจัดสรรให้หน่วยงานต่างๆ ใช้ซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ วัสดุก่อสร้าง และบริการที่เกี่ยวข้องจากประเทศไทย เพื่อนำไปพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานและพัฒนาเศรษฐกิจของสหภาพพม่า ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดสรรวงเงินกู้และอนุมัติการจัดซื้อแก่กระทรวงและหน่วยงานต่างๆ (Procurement Committee of the Prime Minister’s Office) โดยจัดสรรวงเงินจำนวน 600 ล้านบาท หรือ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการพัฒนาระบบโทรคมนาคมในโครงการ Broadband Satellite System มิได้มีมูลค่า 30.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐดังที่ระบุในหนังสือพิมพ์มติชน และขณะที่ ธสน. ทำสัญญาเงินกู้กับ MFTB เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2547 ฝ่ายพม่ายังไม่ได้มีการตกลงว่าจะจัดซื้อจากผู้ใด รัฐบาลพม่าเป็นผู้พิจารณาจัดซื้อจัดจ้างโครงการนี้ตามขั้นตอนของรัฐบาลพม่าเองในภายหลัง นายสถาพร กล่าวว่า แม้การให้กู้ยืมเงิน 4,000 ล้านบาทจะเป็นเรื่องที่ดำเนินการตามนโยบายสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน แต่รายละเอียดการจัดซื้อเป็นขั้นตอนที่รัฐบาลพม่าเป็นฝ่ายตัดสินใจว่าจะซื้อจากผู้ใด โดย ธสน. จะตรวจสอบเอกสารและให้ความเห็นชอบเพื่อให้การจัดซื้อนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเงินกู้และขั้นตอนที่กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ในสัญญาเงินกู้ ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวเป็นขั้นตอนในการสนับสนุนผู้ส่งออกไทยตามปกติอยู่แล้ว

24 สิงหาคม 2547
ส่วนประชาสัมพันธ์ สำนักบริหาร

---------------------------------------------------------

ธสน. ชี้แจงผลกระทบความเปลี่ยนแปลงการเมืองในสหภาพพม่า

นายสถาพร ชินะจิตร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ชี้แจงถึงผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหภาพพม่าต่อโครงการเงินกู้ของ ธสน. ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในสหภาพพม่าที่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการของลูกค้า หรือ เงินกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจแก่สหภาพพม่าที่ ธสน. ให้กู้ผ่านธนาคารเพื่อการค้าของสหภาพพม่า ทั้งนี้ ธสน. ยังเฝ้าติดตามสถานการณ์ในพม่าต่อไปว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลสหภาพพม่าอย่างไรหรือไม่

กรรมการผู้จัดการ ธสน. กล่าวว่า ปัจจุบัน ธสน. มีสินเชื่อที่ให้กู้แก่เอกชนและรัฐบาลสหภาพพม่าจำนวน 6,157 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการรัฐบาล 3,339 ล้านบาท โครงการรัฐวิสาหกิจ 1,898 ล้านบาท และโครงการเอกชน 920 ล้านบาท ยอดสินเชื่อจากโครงการเงินกู้ 4,000 ล้านบาทที่ ธสน. ให้กู้แก่ Myanma Foreign Trade Bank (MFTB) โดยมีกระทรวงการคลังของสหภาพพม่าเป็นผู้ค้ำประกัน เพื่อใช้ซื้อสินค้าทุนและบริการที่เกี่ยวข้องจากไทย ซึ่ง ธสน. ได้ให้ความเห็นชอบการจัดซื้อตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวไปแล้วเป็นเงิน 2,377 ล้านบาท ล่าสุดมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 339 ล้านบาท

นายสถาพรกล่าวว่า ไทยและสหภาพพม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น จึงเชื่อได้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศ และเชื่อว่านโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจของสหภาพพม่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจนกระทบกระเทือนต่อเงินกู้ต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่แล้ว

20 ตุลาคม 2547
ส่วนประชาสัมพันธ์ สำนักบริหาร

---------------------------------------------------------

"แม้ว"แจงปล่อยกู้พม่า ยอมรับ"เลียนแบบ"ญี่ปุ่น

"แม้ว"ลั่นไม่เคยใช้เวทีผู้นำเจรจาธุรกิจ อ้างไม่อยากทำให้ชาติ-ตัวเองเสียศักดิ์ศรี เผยไม่เคยเข้าไปยุ่งกับชินคอร์ปตั้งแต่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ยอมรับใช้วิธีการเลียนแบบญี่ปุ่น มั่นใจทุกคนต้องถึงฝั่งเหมือนกันหมด ฝ่ายค้านวืดไม่ได้ซักเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้พม่า "บัญญัติ"ระบุจุดอ่อนรัฐบาล

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในรายการ "ถึงลูกถึงคน" ซึ่งออกอากาศทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี เมื่อเมื่อเวลา 23.00 น. วันที่ 25 สิงหาคม ถึงข้อวิจารณ์เรื่องการคอร์รัปชั่นข้ามประเทศ ภายหลังกระทรวงการสื่อสารและไปรษณีย์ของประเทศพม่า ขอกู้เงินไปลงทุนในโครงการสื่อสารและโทรคมนาคมรวม 3 โครงการเป็นเงิน 962 ล้านบาท โดยกำหนดให้บริษัทชินแซทเทลไลท์ จากประเทศไทยได้รับสิทธิเป็นซัพพลายเออร์ว่า เรื่องพม่าเป็นเรื่องเงินกู้ เวลานี้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์) ให้พม่ากู้เงิน เป็นเรื่องที่พม่ากับเอ็กซิมแบงก์ตกลงกัน แต่รัฐบาลกำลังเลียนแบบญี่ปุ่นเมื่อหลายปีที่แล้ว ญี่ปุ่นทำซัพพลายเออร์เครดิต เวลาญี่ปุ่นจะมาขายของให้ไทยตั้งวงเงินสินเชื่อให้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องซื้อของจากญี่ปุ่น เวลานี้ไทยต้องบุกตลาด แต่นอกเหนือจากการบุกตลาด ยังได้ช่วยเหลือเพื่อนบ้านที่กำลังแย่ ซึ่งการไปช่วยพม่าทำให้พม่าตอบแทนไทยด้วยการให้ก๊าซมา 2 แห่งใหญ่ๆ เพราะพอใจในความสัมพันธ์ที่มี พอบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไปขอสัมปทานก๊าซได้มาเลยเพราะเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีน้ำใจ
ผู้ดำเนินรายการถามว่า ถ้าจะมองในแง่ลบ นายกฯอาจจะแอบไปตกลงใต้โต๊ะกับทางพม่า เพื่อให้ว่า้างบริษัทนี้

พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า "ไม่มี ไปดูบันทึกได้เลย ผมไม่เคยพูดเรื่องธุรกิจแม้แต่คำเดียว ไปดูได้เลยไปประเทศไหนไม่เคยพูด เพราะไม่มีความจำเป็น วันนี้จะกินมากก็ไม่ได้
กลัวเดี๋ยวอ้วน นี่คือความเป็นจริง มนุษย์กินอะไรใช้เท่าไหร่ โลกมันไปถึงไหนแล้ว" เมื่อถามว่า ยืนยันหรือไม่ว่าไม่เคยใช้บทบาทผู้นำของประเทศเพื่อธุรกิจ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า "มันเสียศักดิ์ศรีของตัวเองและประเทศ เรื่องอะไรจะไปทำให้เสียศักดิ์ศรีของตัวเองและประเทศ" ผู้ดำเนินรายการถามว่า นายกฯโกรธหรือไม่เวลาถูกกล่าวหาว่ามีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ตนเป็นคนที่มีธุรกิจมาก่อนจะมาเล่นการเมือง บางคนไม่มีอะไรเลยแล้วมาเข้าการเมือง มันไม่เหมือนกัน พอเข้าการเมืองก็เหมือนกับคนที่อยู่ในเรือและตนเป็นคนพายเรือ เมื่อเรือถึงฝั่งคนทุกคนต้องถึงฝั่งเหมือนกันหมด ไม่ใช่ว่าเลือกเอานักธุรกิจไปถึงฝั่งก่อน อีกคนไม่ถึงคงไม่ใช่ เมื่อพัฒนาเศรษฐกิจดีขึ้น ธุรกิจทุกอย่างก็จะได้ดีขึ้นเมื่อถามว่า วันนี้นายกฯทิ้งธุรกิจอย่างแท้จริงหรือยัง

พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ไม่เคยไปยุ่งเลยเพราะเป็นบริษัทมหาชนไปแล้ว ได้เข้าสู่การเมืองมานานมากตั้งแต่ปี 2535 จึงบริหารธุรกิจในลักษณะพร้อมจะวางมือ โดยเลือกมืออาชีพเข้ามาทำ เมื่อสิบปีก่อนก็ซื้อระบบคอมพิวเตอร์เฉพาะซอฟต์แวร์มากว่า 150 ล้านบาท เพื่อจะคุมระบบและให้มีระบบตรวจสอบถ่วงดุล สามารถทิ้งบริษัทได้ไม่ต้องไปเกี่ยวข้อง ตอนหลังพอมาเข้าการเมืองโอนให้ลูกหมด ไม่ได้เข้าไปยุ่งเป็นเรื่องของลูกแล้ว "ความจริงผมไม่ได้บริหารธุรกิจมาตั้งแต่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศแล้ว ทิ้งหมดแล้ว แต่พอถูกโจมตีบางทีเราตั้งใจมาก และคนมาพูดมาอย่างนี้เรารำคาญ ธรรมดาของมนุษย์ ผมยอมรับว่าบางทีเหนื่อยๆ บางทีงานเยอะ หลายเรื่อง มันก็มีอารมณ์บ้าง ผมเป็นมนุษย์ วันนี้ยังไงก็เป็นมนุษย์" นายกฯกล่าว
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะไปจ้างบริษัทอื่นมาบริหารแทนครอบครัวนายกฯ ไปเลย พ.ต.ท.ทักษิณหัวเราะก่อนกล่าวว่า "ช่วยหาคนมาซื้อหน่อยสิ พอลูกผมมีตังค์เยอะแล้ว ผมจะได้สบายใจ แต่วันนี้ผมไม่สนใจหรอก เพราะผมไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่ต้องไปห่วง ผมทำงานของผมให้ประชาชนให้ประเทศ ผมมีความสุขแล้ว เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องเล็ก แต่วันนี้ผมไม่สนใจ เพราะผมไม่มีความจำเป็นอะไรต้องไปห่วง"
วันเดียวกันที่ รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเดิมมีกำหนดระเบียบวาระการประชุมไว้ว่าจะมีเรื่องรับทราบรายงานกิจการประจำปี งบดุล บัญชีกำไรและขาดทุน เอ็กซิมแบงก์ และฝ่ายค้านโดยนายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ประธานคณะทำงานตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น ของรัฐบาลในคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) และนายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมหยิบยกกรณีที่รัฐบาลพม่าขอกู้เงินดอกเบี้ยต่ำไปลงทุนในโครงการสื่อสาร และโทรคมนาคมของพม่า ในวงเงิน 962 ล้านบาท ซึ่งมีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของไทยได้สิทธิในการเข้าดำเนินการเพียงรายเดียว แต่ปรากฏว่าที่ประชุมไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้

ทั้งนี้ เนื่องจากที่ประชุมใช้เวลาก่อนการประชุมเพื่อรอให้ครบองค์ประชุมด้วยการหารือเกี่ยวกับการที่ ส.ส.ไม่ค่อยเข้าประชุมและเรื่องหารือของ ส.ส.กว่า 1 ชั่วโมง ทำให้กว่าจะเริ่มพิจารณาวาระแรก คือ รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2545 ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ ในเวลา 10.30 น.
โดยใช้เวลาพิจารณาจนถึงเวลา 13.30 น. ซึ่งถึงเวลาการประชุมสภาผู้แทนฯ ภาคบ่าย ที่มีระเบียบวาระเรื่องกระทู้ถามสดรออยู่แล้ว ทำให้ต้องยกวาระภาคเช้าที่เหลือไปสัปดาห์ต่อไป
นายสุวโรช พะลัง เลขานุการวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ตามหลักแล้วเมื่อหมดเวลาในช่วงเช้าก็ต้องยกไปในวันที่ 2 กันยายน แต่เนื่องจากในวันที่ 1-2 กันยายน สภาผู้แทนฯ จะต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2548 จึงทำให้ต้องยกเรื่องนี้ไปวันที่ 9 กันยายน ซึ่งอาจจะช้าไปแล้ว แต่ฝ่ายค้านก็คงทำอะไรไม่ได้
เพราะรัฐบาลมีเสียงมากกว่าและมีกลยุทธ์มากกว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในรายงานกิจการประจำปี งบดุล บัญชีกำไรและขาดทุนของ ธสน.ที่จะรายงานต่อสภาผู้แทนฯนั้นระบุไว้ว่า ธนส.สนับสนุนทางการเงินโดยตรงแก่ผู้ส่งออกและนักธุรกิจไทยใน 2 ลักษณะ คือ(1) บริการทางการเงินให้แก่ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และกิจการที่ก่อให้เกิดรายได้
เป็นเงินตราต่างประเทศ และ (2) บริการทางการเงินที่ ธนส.ให้แก่นักธุรกิจที่ไปลงทุนหรือให้บริการในต่างประเทศ ทั้งนี้ ในปี 2546 ธนส.อนุมัติวงเงินสินเชื่อและการค้ำประกันใหม่ได้รวม 20,958 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.4% เมื่อเทียบกับปี 2545 ทำให้ ธนส.มียอดคงค้างสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2546 จำนวน 42,339 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 4% แบ่งเป็นภายในประเทศ 31,733 ล้านบาท ต่างประเทศ 10,606 ล้านบาท และมียอดภาระผูกพันการค้ำประกัน จำนวน 4,377 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.9% แบ่งเป็นในประเทศ 1,019 ล้านบาท ต่างประเทศ 2,339 ล้านบาท
วันเดียวกัน ที่โรงแรมรัชดาซิตี้ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวปิดการสัมมนาตัวแทนสาขาพรรคจากภาคกลาง เหนือและอีสานกว่า 400 คน ในโครงการ "แกนนำประชาธิปัตย์พบประชาชน" ว่า จุดอ่อนของรัฐบาลนี้มีอยู่มาก โดยจุดอ่อนมากที่สุด คือ 1.ผลประโยชน์ทับซ้อน 2. ดับเบิ้ลสแตนดาร์ด 3.ใช้อำนาจนิยม และ 4.ทำสังคมให้อ่อนแอ ซึ่งตลอด 3 ปี รัฐบาลนี้เป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่ใหญ่ที่สุดในบ้านเมือง "ล่าสุดเรื่องพม่ากู้ยืมเงิน 4,000 กว่าล้านบาท จากธนาคารเพื่อการส่งเสริมการส่งออกและนำเข้า และที่น่าเกลียดคือ มีโครงการหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ ถึง 900 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาเครือข่ายโทรคมนาคมครบวงจรในพม่า เป็นโครงการที่ว่าจ้างบริษัทชินแซทเทิลไลท์ เป็นบริษัทในเครือชินวัตรไปดำเนินการ เรื่องนี้ผมเคยพูดกับแล้วว่า รัฐบาลนี้มองคนเป็นตัวผ่านของเงินอัดฉีดเงินลงไปยังคนที่ได้ชื่อว่าผู้บริโภค และใช้ธุรกิจของตนเองดูดเงินกลับมาสร้างความร่ำรวยให้ตัวเอง วันนี้ชัดเจนอีกแล้ว อัดฉีดเงินเข้าไปยังพม่าและดูดกลับเข้ามาในประเทศไทยให้กลับเครือญาติ ตนคิดว่าเป็นความผิดพลาดหรือบกพร่องไม่ว่าจะสุจริตหรือไม่ รัฐบาลนี้ไม่มีทางแก้ตก เพราะมีความชัดเจน"
นายบัญญัติกล่าวว่า เรื่องการทำให้สังคมอ่อนแอต้องยอมรับค่านิยมดีๆที่เคยมีมาแต่โบราณ เช่นการประหยัดมัธยัสถ์ รัฐบาลนี้ได้ทำลายหมดสิ้นใน 3 ปี เพราะเชื่อว่า ถ้าสนับสนุนให้คนในประเทศใช้เงินมากเศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้น โดยใช้การกู้เงินมาเพื่อให้จีดีพีสูงขึ้น และที่น่าห่วงเป็นพิเศษคือ รัฐบาลกำลังทำสิ่งที่ผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย วันนี้พ่อ-แม่เริ่มสอนลูกลำบาก รวมทั้งครูอาจารย์ที่สอนลูกศิษย์ลำบาก เพราะมีแต่คนพูดเรื่องหวย ซึ่งตนเชื่อว่าหลังจากรัฐบาลผลักดันหวยขึ้นมาบนดิน กาสิโนเสร็จแล้ว จะมีซ่องที่ชอบด้วยกฎหมายเกิดขึ้น เพราะรัฐบาลเชื่อว่าต้องมีเงินให้ระบบหมุน ขณะนี้ตนเชื่อว่าคนรู้ทันนายกฯมากขึ้น ดังนั้น ถ้าสาขาพรรคทุกคนสามารถทำให้ประชาชน ในพื้นที่รู้ทันนายกฯมากขึ้น ก็จะเป็นพลังสำคัญในการต่อสู้เลือกตั้งครั้งหน้า

มติชน 28 สิงหาคม 47

---------------------------------------------------------

โครงการที่ไทยให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศเพื่อนบ้าน

1. โครงการก่อสร้างเส้นทางเชียงราย-กุนหมิง ผ่าน สสป.ลาว ( R3) 1,385 ล้านบาท
2. โครงการปรับปรุงและลาดยางผิวจราจรตราด-เกาะกง-สะแรอัมเปิล(R48) ประเทศกัมภูพูชา 567.8 ล้านบาท
3. โครงการปรับปรุงถนนสายห้วยโก๋น/เมืองเงิน-ปากแบ่ง 840 ล้านบาท
4. โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดหนองคาย-ท่านาแล้ว สปป.ลาว 197 ล้านบาท
5. โครงการปรับปรุงสนามบินระหว่างประเทศวัดไต สปป.ลาว 320 ล้านบาท
6. โครงการก่อสร้างร่องระบายน้ำและปรับปรุงถนน T2 ในนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว 160 ล้านบาท
7. โครงการก่อสร้างเส้นทางสายเมียวดี-กอกะเร็ก-ผาอัน 1,900 ล้านบาท
8. โครงการปรับปรุงสนามบินปากเซ สปป.ลาว 320 ล้านบาท

---------------------------------------------------------

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 123 ก วันที่ 4 ธันวาคม พุทธศักราช 2542
พระราชบัญญัติ
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 เป็นปีที่ 54 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า "ผู้ลงทุน" และ "ธนาคารของผู้ลงทุน" ระหว่างบทนิยาม คำว่า "ธนาคารของผู้ซื้อ" และคำว่า "เงินกองทุน" ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2536

"ผู้ลงทุน" หมายความว่า
(1) ผู้ประกอบกิจการในประเทศที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ซึ่งสินค้าหรือบริการจากประเทศไทย กิจการที่ได้มาหรือสนับสนุนการได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศ หรือกิจการที่ลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ
(2) ผู้ประกอบกิจการในต่างประเทศ ซึ่งมีผู้ลงทุนหรือร่วมลงทุนดังต่อไปนี้
(ก) เป็นผู้มีสัญชาติไทย หรือ
(ข) เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยซึ่งมีทุนเกินกึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้นถือโดยบุคคลตาม (ก) หรือนิติบุคคลซึ่งมีบุคคลตาม (ก) ลงทุนมีมูลค่าเกินกึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น และเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมาย หรือข้อบังคับ หรือตามข้อตกลง ในการแต่งตั้งกรรมการ ส่วนใหญ่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด หรือในการออกคะแนนเสียงข้างมาก เพื่อกำหนดนโยบาย การดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น
"ธนาคารของผู้ลงทุน" หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน หรือองค์กรอื่นใดที่ให้สินเชื่อ ค้ำประกัน หรือให้บริการทางการเงินอื่นที่เกี่ยวกับการลงทุนแก่ผู้ลงทุน"

มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2536 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา 7 ให้ธนาคารมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจอันเป็นการส่งเสริม และสนับสนุนการส่งออก การนำเข้า และการลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อการพัฒนาประเทศ โดยการให้สินเชื่อ ค้ำประกัน รับประกันความเสี่ยง หรือให้บริการที่จำเป็นอื่นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้"

มาตรา 5
ให้ยกเลิกความใน (2) ของมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2536 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"(2) ให้สินเชื่อแก่ธนาคารของผู้ส่งออก ผู้ส่งออก ธนาคารของผู้ซื้อ ผู้ซื้อ ธนาคารของผู้ลงทุน หรือผู้ลงทุน"


มาตรา 6
ให้ยกเลิกความใน (4) และ (5) ของมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2536 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน
"(4) ให้สินเชื่อหรือบริการทางการเงินในรูปอื่นที่เป็นประเพณีปฏิบัติของธนาคาร พาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นในด้านธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และด้านการลงทุน
(5) ค้ำประกันหนี้ ในกรณีที่ผู้ส่งออก ผู้ซื้อ หรือผู้ลงทุนได้รับสินเชื่อจากธนาคารของผู้ส่งออก ธนาคารของผู้ซื้อ หรือธนาคารของผู้ลงทุน แล้วแต่กรณี"

มาตรา 7 ให้ยกเลิกความใน (7) และ (8) ของมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2536 และให้ใชความต่อไปนี้แทน
"(7) รับประกันความเสี่ยงในการลงทุนในต่างประเทศของผู้ลงทุนตามมาตรา 3 (2) เฉพาะกิจการที่ธนาคารให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อ แต่ถ้าเป็นการรับประกันความเสี่ยง
ทางการเมืองต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
(8) เข้าร่วมลงทุนหรือให้สินเชื่อเพื่อการลงทุนในกิจการในต่างประเทศที่จะมีผล เป็นการสนับสนุนการนำเข้าหรือส่งออกซึ่งสินค้าและบริการของประเทศไทย หรือจะมีผลเป็นการส่งเสริมการประกอบกิจการในต่างประเทศของผู้ลงทุน และเข้าร่วมลงทุน ในกิจการในประเทศเพื่อสนับสนุนการส่งออกหรือการพัฒนาระเทศ"

มาตรา 8
ให้ยกเลิกความใน (5) ของมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2536 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"(5) กำหนดคุณสมบัติ ประเภทสินค้า บริการ และลักษณะการประกอบการ ของผู้ส่งออก ผู้ซื้อ และผู้ลงทุนที่สมควรได้รับการสนับสนุน"

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่สมควรแก้ไขเพิ่มเติม วัตถุประสงค์และอำนาจของธนาคาร เพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนให้ชัดเจนและกว้างขวางขึ้น โดยให้มีอำนาจให้สินเชื่อ ให้บริการทางการเงินในรูปอื่น ค้ำประกันหนี้ และรับประกันความเสี่ยง ตลอดจนให้มีอำนาจเข้าร่วมลงทุนหรือให้สินเชื่อ เพื่อการลงทุนในกิจการใด ๆ ในต่างประเทศ อันเป็นผลดีต่อการนำเข้า และการส่งออก ซึ่งสินค้าและบริการของประเทศไทย หรือมีผลดีต่อผู้ลงทุนไทย ที่ลงทุน
หรือประกอบกิจการในต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการ ของนักลงทุน ทั้งแก่ผู้ลงทุนไทยที่ต้องการขยายการลงทุน ในต่างประเทศและแก่ผู้ลงทุนทั้งไทย และต่างประเทศที่ต้องการลงทุน หรือประกอบกิจการในประเทศ โดยให้คณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดประเภท และลักษณะการประกอบกิจการของผู้ลงทุนที่สมควรได้รับการสนับสนุนดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

--------------------------------------------------------

คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เคยให้ความเห็นเรื่อง"เงินกู้พม่า" ไว้ดังนี้ครับ..

สนธิ : ถูกต้องครับคุณสโรชา คือ สิ่งซึ่งนายกฯ ทักษิณทำนี้ก็เหมือนที่ผมเคยคิดเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านมาลอกเลียนแบบผมนะครับ ท่านก็คงจะมีวิสัยทัศน์ของท่านอยู่แล้ว ประเด็นก็คือว่าเราอยู่ในหมู่บ้านๆ หนึ่ง แล้วรอบๆ บ้านเราเป็นสลัม มีเราคนเดียวที่มีความเป็นอยู่ กินดีอยู่ดี มีสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ถามว่าเราอยู่ไปแล้วจะมีความสุขหรือเปล่า ถ้าหากเรายังคงเป็นอย่างนี้แล้วปล่อยเขาเป็นอย่างนี้ เราก็จะเจอปัญหายาเสพติด ปัญหาผู้ลี้ภัย ปัญหาโจรผู้ร้ายข้ามแดน ปัญหาผู้อพยพเยอะแยะไปหมด คำตอบก็คือว่าเรามีหน้าที่จะต้องเอื้ออาทร เผื่อแผ่ เมตตากรุณาต่อเพื่อนบ้านของเรา และเราต้องเมตตากรุณาอย่างจริงจังนะครับ เพราะสิ่งซึ่งท่านนายกฯ ทักษิณได้ไปและมีข้อตกลงพุกามเอาไว้หลายข้อ คือผมจะไม่ลงไปในรายละเอียด แต่โดยหลักๆ แล้ว เมื่อแปลไทยเป็นไทย คือท่านนายกฯ ทักษิณ ท่านเป็นคนมีวิสัยทัศน์เรื่องนี้ ท่านมองเห็นว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ แต่คนซึ่งดำเนินการให้สำเร็จ

หลังจากท่านนายกฯ ทักษิณ มีบัญชาไปแล้วก็คือ ท่านรัฐมนตรีสุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นมิติใหม่มิติหนึ่งซึ่งผมไม่เคยเห็นรัฐมนตรีต่างประเทศไทยในยุคไหนเลย
ที่มีความสามารถจะทำได้ถึงขนาดนี้ ประเด็นหลักที่เห็นได้ชัดก็คือว่า เราจะต้องเอาเงินไปให้เพื่อนบ้านลงทุน ทีนี้ถามว่าอันนี้บวกหรือลบ คือสามารถจะมองได้
สองมิติ มิติหนึ่งคือบวกบวก อีกมิติหนึ่งคือบวกลบ บวกบวกก็คือว่าการที่เราไปช่วยเขามันบวกอยู่แล้ว แล้วบวกอีกบวกหนึ่งคือการที่ทำให้เขามีความรู้สึกว่า เรามีความจริงใจต่อเขา และในขณะเดียวกันเขาก็ไม่ขัดข้องที่เราจะไปร่วมมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ของเขา

ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราให้เงินกู้ ซึ่งท่านนายกฯ
ให้เป็นเงินบาทเป็นครั้งแรก อัตราดอกเบี้ยต่ำ สามารถใช้ดอกเบี้ยเงินกู้นี้ได้ภายในระยะเวลา 50 ปี ค่อยคืน ก็เหมือนกับให้เปล่า เราให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เขา เอาเงินกู้เขาไปสร้างสนามบินที่เมืองพุกาม ไปสร้างท่าเรือที่ดานัง ข้อที่หนึ่ง ไทยได้งาน บริษัทของคนไทยเราได้งาน ข้อที่สอง วัสดุก่อสร้างมาจากไหน ก็มาจากไทย ข้อที่สามสถาปนิกออกแบบจากไหน ก็จากไทยอีก ข้อที่สี่ การเบิกเงินจ่ายก็มาจากสาขาธนาคารไทยอีก ข้อที่ห้า ในที่สุดแล้วการเข้าไปช่วยเขาบริหารจัดการสอนเขาก็คนไทยอีก เพราะฉะนั้นแล้วนี่คือบวกบวก ก็ถามว่าบวกตรงนี้อย่าไปทำให้ลบ เราต้องเข้าไปเป็น partner เขาอย่างจริงจังและจริงใจ ไม่ใช่เข้าไปครอบงำเขา ผมคิดว่าผลประโยชน์ที่เราได้ เราถามตัวเราเองว่าเราได้ประโยชน์ในแง่ของเราขายของได้ ในแง่ของบริษัทของคนไทยมีรายได้เพิ่มจากการก่อสร้าง เราได้ภาษีอากรตรงนี้

http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=4612349373698&Page=3

-------------------------------------------------------

การเงิน - การลงทุน
วันที่ 23 มีนาคม 2553 14:00

เอ็กซิมแบงก์ยันไม่พบเสียหายปล่อยกู้ พม่า

ณรงค์ชัย อัครเศรณี

ณรงค์ชัย อัครเศรณี

ผู้บริหารเอ็กซิมแบงก์ยันเบื้องต้นไม่พบความเสียหาย จากการปล่อยเงิ้นกู้ให้พม่า เผยเตรียมสรุปคำวินิจฉัยศาลก่อนหารือคลัง

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เปิดเผยว่า จากข้อมูลเบื้องต้นไม่พบว่าเอ็กซิมแบงก์ ได้รับความเสียหายจากการปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้แก่รัฐบาลพม่าในวงเงิน 4,000 ล้านบาท ตามมติครม.สมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ส่วนการชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลได้จ่ายให้แก่ เอ็กซิมแบงก์ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมารวมแล้วเป็นเงินกว่า 300 ล้านบาท จะถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากรัฐบาลต้องเป็นผู้รับภาระ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับการตีความของภาครัฐว่าจะตีความเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เพราะอีกมุมหนึ่งสามารถมองได้ว่าการที่ไทยปล่อยกู้ให้พม่าในอัตราดอกเบี้ย ต่ำนั้นถือว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือจากประเทศที่พัฒนามากกว่า ซึ่งอยู่ในหลักการหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ (UN)

"หน่วยราชการคงต้องดูว่า ความเสียหายที่ศาลพูดถึงนั้นหมายถึงอย่างไร ถ้ากระทรวงการคลังบอกว่าเป็นความช่วยเหลือตามหลักของ UN เพราะฉะนั้นก็ถือว่าไม่มีความเสียหาย"

ด้านนายอภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กล่าวว่า ในเบื้องต้นมองว่าไม่มีความเสียเกิดขึ้นแก่ เอ็กซิมแบงก์ จากการปล่อยกู้ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม คงจะต้องไปวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งขณะนี้ฝ่ายกฎหมายของเอ็กซิมแบงก์ ได้คัดสำเนาคำวินิจฉัยของศาลฎีกาฯ มาแล้ว เพื่อเตรียมสรุปเสนอต่อบอร์ด ก่อนที่จะนำไปหารือกับกระทรวงการคลังต่อไป

---------------------------------------------------------------

FfF