บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


08 มิถุนายน 2552

<<< วิกฤตการณ์การเมืองไทย ปี 2548 >>>

ลำดับเหตุการณ์ การเมืองไทย ประจำปี 2548

2 มกราคม 2548
ประเทศไทยยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิตจากคลื่นสึนามิหลังแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ถึง 5,000 คน โดยมีชาวต่างชาติมากกว่า 2,400 คน

4 กุมภาพันธ์ 2548
พรรคไทยรักไทย หาเสียงปราศรัยใหญ่เป็นครั้งสุดท้ายที่สนามหลวง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ปราศรัยที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และพรรคชาติไทยปราศรัยที่จังหวัดนครปฐม

6 กุมภาพันธ์ 2548
พรรคไทยรักไทย ของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลาย (ผล ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ได้ที่นั่งในระบบแบ่งเขต 309 คน ในระบบบัญชีรายชื่อ 68 คน)

16 กุมภาพันธ์ 2548
พิธีสารเกียวโตเริ่มมีผลบังคับใช้
พรรคประชาธิปัตย์มีกำหนดเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ในวันที่ 5 มีนาคม หลังจากนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ลาออกจากตำแหน่งหนึ่งสัปดาห์หลังจากการเลือกตั้งทั่วไป

17 กุมภาพันธ์ 2548
มีผู้เสียชีวิตถึง 4 คน (เพิ่มเป็น 6 คนในวันที่ 18) บาดเจ็บมากกว่า 40 คน จากเหตุการณ์ระเบิดคาร์บอมบ์ในอำเภอสุไหงโก-ลก นราธิวาส

20 กุมภาพันธ์ 2548
ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีและประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยกับนโยบายแบ่งโซนเป็น 3 สีของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่ประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อน ในความพยายามแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

23 กุมภาพันธ์ 2548
ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์คณะสังคมและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตือนรัฐบาลว่านโยบายแบ่งโซนตามระดับความร่วมมือกับกองกำลังรักษาความ ปลอดภัยเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ แสดงให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติ ผิดหลักความเท่าเทียมกันภายใต้รัฐธรรมนูญ ขัดหลักสิทธิมนุษยชน สร้างการเหยียดทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม แทนที่จะเคารพส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกัน ท้ายสุดจะเป็นเหตุให้ต่างประเทศมองเป็นนโยบายแบ่งแยกชาติพันธุ์ เพื่อกวาดล้างทำลาย และจะถือสิทธิเข้าแทรกแซงได้

27 กุมภาพันธ์ 2548
นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กระตุ้นให้ประชาชนใช้สันติวิธีในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลพรรคเดียว ระหว่างการกล่าวปาฐกถาพิเศษที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากสถาบันหลักทั้งสามของการเมืองไทย คือ นักการเมืองพรรคฝ่ายค้าน ชนชั้นกลาง และสื่อมวลชน ล้วนอ่อนแอลงและไม่สามารถคานอำนาจรัฐได้ ชนชั้นกลางอ่อนแอเพราะเป็นชนชั้นกลางที่เกิดจากการรับผลประโยชน์ สื่อมวลชนอ่อนแอและถูกกดดันให้ยอมอ่อนข้อต่อรัฐบาลเพื่อความอยู่รอด และไม่สามารถรายงานข่าวการทุจริตและวิเคราะห์การเมืองอย่างเจาะลึกได้

28 กุมภาพันธ์ 2548
โคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เสนอชื่อต่อสมัชชาใหญ่ แต่งตั้งนายศุภชัย พานิชภักดิ์ ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ที่กำลังจะพ้นวาระในเดือนสิงหาคม ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) ผู้สังเกตการณ์ให้ความเห็นว่าการขึ้นดำรงตำแหน่งของ ดร.ศุภชัย อดีตรองนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ อาจดับความหวังของนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่จะเข้าสู่กระบวนการสรรหาเลขาธิการองค์การสหประชาชาติคนใหม่ ต่อจากนายอันนัน

7 มีนาคม 2548
วิทยุชุมนุมคลื่นประชาธิปไตย เอฟ.เอ็ม. 92.25 เมกกะเฮิร์ซ ออกอากาศเป็นวันแรก

8 มีนาคม 2548
ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ นำทีมบุกยื่นหนังสือประท้วงหน้าสถานทูตสหรัฐฯ ทวง “พระมาลาทองคำ” คืน จวกสหรัฐฯ-อังกฤษ ตัวการขโมยทรัพย์สมบัติชาติต่างๆ พร้อมเรียกร้องให้บริษัทยักษ์ใหญ่ในเมืองไทย เลิกฝันเฟื่องซื้อสโมสรฟุตบอลต่างประเทศ และหันมาตั้งกองทุนซื้อสมบัติของชาติคืน

9 มีนาคม 2548
อัยการยื่นฟ้อง 8 อุสตาซ ฐานร่วมกันเป็น กบฏแบ่งแยกดินแดน ก่อการร้าย เป็นอั้งยี่ และซ่องโจรต่อศาลอาญาแล้ว กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 77 ประเทศ หรือ จี 77 ขอให้เลื่อนการแต่งตั้ง ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ การประชุมสหประชา ชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UNCTAD) โดยค้านว่า ภูมิหลังของ ดร.ศุภชัย ในฐานะผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก คนปัจจุบัน ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าว
สภาฯ เลือก ทักษิณ นั่งนายกฯ สมัยที่ 2 ด้วยเสียงท่วมท้น. บรรหาร รักษาสัจจะ ยกมือหนุนด้วย. ฝั่ง ปชป. งดออกเสียง. ขณะที่ ชูวิทย์ ไม่เห็นชอบเพียงคนเดียว

17 มีนาคม 2548
โภคิน พลกุล ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยึดความถูกต้องกรณี ปชป. วอล์กเอาต์ ไม่หนักใจ เพราะยึดหลักความถูกต้อง กรณีพรรคประชาธิปัตย์ประท้วงกลางรัฐสภา
กระทรวงสาธารณสุขรายงาน ว่า ไทยมีผู้ป่วยวัณโรค ติดอันดับ 19 ของโลก โดยเสียชีวิตปีละ 6 พันคน
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ อ.สุไหงโกลก รับฟังปัญหาภาคใต้ ก่อนสรุปข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล

18 มีนาคม 2548
ลลิตา ฤกษ์สำราญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้โทษ ส.ส. เสียบบัตรแทนกัน แค่ "ประณาม"
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยที่ประชุมได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เรื่องการปรับราคาน้ำมันดีเซลแล้ว
คณะสงฆ์จากทั่วประเทศกว่า 5,000 รูป รวมตัวกันที่หน้า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อคัดค้านการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ "เบียร์ช้าง"

28 มีนาคม 2548
สนข. แบ่งการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง เป็น 2 ระยะ ในเส้นทางเหนือ-ใต้ คือ รังสิต-มหาชัย และแนวตะวันตก-ตะวันออก คือ ตลิ่งชัน-สุวรรณภูมิ
นายกฯ พร้อมเผยผลสอบสวน กรณี กรือเซะ และตาก ใบ ตามที่คณะ กรรมการสมานฉันท์เสนอ
สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองประธานสภาผู้แทนฯ แนะ โภคิน ทำหน้าที่ยึดหลักรัฐศาสตร์
ศาลอาญา สืบพยานโจทก์ คดีนายสมชาย นีละไพจิตรหายตัว. ส่วนตำรวจจำเลย เข้าฟังการสืบคดีพร้อมกันทั้ง 5 นาย

30 มีนาคม 2548
จุฬาราชมนตรี เชื่อ “อานันท์ ปันยารชุน” จะแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สำเร็จ
ประธานรัฐสภา เผย ที่ประชุม 3 ฝ่าย คือ วิปรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา มีมติแบ่งสัดส่วนเวลาการอภิปรายปัญหาใต้ลงตัว ฝ่ายละ 8 ชั่วโมง

31 มีนาคม 2548
นายกฯ รับปากในที่ประชุมรัฐสภา จะนำข้อเสนอแนะและแนวทางของ ส.ส.-ส.ว. ที่เกิดประโยชน์ ไปใช้แก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ผู้ว่าฯกทม.หารือกับตำรวจแบ่งความรับผิดชอบอย่างชัดเจน ในการทำหน้าที่ปราบผู้มีอิทธิพล

10 เมษายน 2548
นายกฯ ทักษิณ ถูกตั้งข้อสังเกตกรณีทำบุญประเทศ กรณีนั่งเป็นประธานพิธีภายในโบสถ์วัดพระแก้ว

1 พฤษภาคม 2548
กลุ่มพูโลเก่ากับกลุ่มพูโลใหม่รวมตัวกันอีกครั้ง

6 พฤษภาคม 2548
ระพี สาคริก ได้เขียนจดหมายถึงสนธิ ลิ้มทองกุล อธิบายความว่าองค์ประธานในพระราชพิธีภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม นั้น ต้องเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น การที่นายกฯทักษิณ ชินวัตรเข้าไปนั่งเป็นประธาน เป็นสิ่งที่ไม่บังควรและไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง

1 มิถุนายน 2548
นายโภคิน พลกุล ประธานรัฐสภา ออกแถลงการยืนยันว่าจะไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามสถานะการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงิน แผ่นดินของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ตามที่ฝ่ายค้านเสนอ เนื่องจากไม่เข้าข่ายรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 เพราะไม่ได้เป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างคณะกรรมการตรวจเงิน แผ่นดินกับวุฒิสภา นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ประธานวุฒิสภาควรดำเนินการตามกระบวนการต่อไป เพราะควรยึดหลักการทางกฎหมายมากกว่านำอารมณ์มาเป็นตัวตัดสิน (กปส.)
เกิดเหตุระเบิดขึ้นบนถนนสายโคกเคียน บาเจาะ ใกล้วัดอุไรรัตนาราม ตำบลบาเจาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ขณะที่พระสงฆ์วัดอุไรรัตนารามกำลังออกบิณฑบาตร โดยมีกำลังทหารชุด ฉก.32 หน่วยนาวิกโยธิน เดินให้ความคุ้มครอง โดยคนร้ายลอบวางระเบิดชนิดแสวงเครื่องไว้ริมทางเดิน และได้จุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือ ทำให้เกิดระเบิดขึ้น เป็นเหตุให้พระสงฆ์ได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 รูป และทหารทั้ง 4 นาย ได้รับบาดเจ็บสาหัส ทั้งหมดถูกนำส่งโรง พยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และในเวลาใกล้เคียงกัน ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นบนถนนบ้านปิเหล็ง หมู่ที่ 8 ตำบลมะรือโบออก อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส โดยคนร้ายได้จุดชนวนระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือ ขณะที่รถลาดตระเวนของทหารกองพันพัฒนาที่ 4 ผ่านมาที่จุดดังกล่าว แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ ส่วนรถลาดตระเวนเสียหายเล็กน้อย จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบเศษกระป๋องบรรจุวัตถุระเบิด สายไฟ แผงวงจร และเศษเหล็กสะเก็ดระเบิด (กปส.)
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ยืนยันจะไม่ปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร หลังรัฐบาลปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล เนื่องจากสามารถสะท้อนความเป็นจริงของกลไกตลาดได้ชัดเจน (กปส.)

2 สิงหาคม 2548
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี และแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ 17 ตำแหน่ง

9 กันยายน 2548
รายการเมืองไทยราย สัปดาห์ ออกอากาศทางทางช่อง 9 อสมท. เป็นครั้งสุดท้าย เนื่องจากนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้จัดรายการได้อ่านบทความเรื่อง "ลูกแกะหลงทาง" ซึ่งเป็นเหตุให้ทาง บมจ.อ.ส.ม.ท. ใช้อ้างถอดรายการออกจากผังในสัปดาห์ต่อมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการขับไล่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

15 กันยายน 2548
ผลจากการประชุมบอร์ดของผู้บริหาร อสมท ในการปรับผังรายการเมื่อช่วงเวลา 14.00 น. ทาง อสมท แจ้งว่าจะทำการยกเลิกการออกอากาศรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” โดย จะเริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 16 กันยายนนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้อ้างเหตุผลว่าการปลดแบบกะทันหันในครั้งนี้ ในช่วงระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ที่ตัวของผู้ดำเนินรายการได้มีการพูดพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

23 กันยายน 2548
รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร จัดสัญจรครั้งแรกที่ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

30 กันยายน 2548
สนธิ ลิ้มทองกุล เอาประเด็น"นายกฯทักษิณในโบสถ์วัดพระแก้ว"มาพูดต่อใน รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 2 ณ หอประชุมศรีบูรพา ม.ธรรมศาสตร์
วันเดียวกันนี้ กลุ่มนักศึกษา ซึ่งอ้างเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง “กลุ่มรักประชาธิปไตย” เดินทางมาชุมนุมกันที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ถนนพระอาทิตย์ พร้อมชูแผ่นป้ายโจมตี นายสนธิ ลิ้มทองกุล กรณีใช้ถ้อยคำรุนแรงในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และพาดพิงถึงบุคคลอื่น รวมทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์

27 กันยายน 2548
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ได้ตีพิมพ์การเทศนาของหลวงตามหาบัว มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ พ.ต.ท. ทักษิณ อย่างหนัก และมีเนื้อหาส่วนหนึ่งกล่าวถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ว่ามีการใช้อำนาจ "...มุ่งหน้าต่อประธานาธิบดีชัดเจนแล้วเดี๋ยวนี้ พระมหากษัตริย์เหยียบลง ศาสนาเหยียบลง ชาติเหยียบลง..." ทำให้เกิดหัวข้อโต้เถียงกันเป็นวงกว้าง และนับตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการได้ เขียนบทความกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีละเมิดอำนาจของพระมหากษัตริย์ เนื่องจากการเป็นประธานในพิธีการทำบุญที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2548 (ซึ่งคนทั่วไปยังเข้าใจผิด คิดว่าสงวนไว้เฉพาะพระมหากษัตริย์ แต่ได้มีการชี้แจงจากสำนักพระราชวังว่าทำถูกระเบียบทุกประการและทางสำนักพระราชวังเป็นคนจัดการเรื่องตำแหน่งการนั่งหรือตำแหน่งของเก้าอี้ในพิธีทั้งหมด รวมทั้งยังเคยมีประชาชนหลายคณะ เคยได้รับอนุญาติให้เข้ามาใช้โบสถ์วัดพระแก้ว เพื่อทำพิธีปลุกเสกพระด้วย)

3 ตุลาคม 2548
นายกฯ ทักษิณ ส่งทนายความยื่นฟ้อง “ไทยเดย์-สนธิ-สโรชา” ฐานหมิ่นประมาท และละเมิด เรียกค่าเสียหาย 500 ล้านบาท โดยอ้างถึงการกล่าวพาดพิง ให้ร้าย ซึ่งสร้างความเสียหาย

11 ตุลาคม 2548
ที่ ศาลอาญา และศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก เวลา 10.40 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายนพดล มีวรรณะ ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นางสาวเสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ และนายขุนทอง ลอเสรีวานิช เป็นจำเลยที่ 1-3 ตามลำดับ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และความผิดทางแพ่งฐานละเมิด เรียกค่าเสียหาย 500 ล้าน กรณีตีพิมพ์คำเทศนาของหลวงตามหาบัว “เทียบทักษิณเทวทัต ลั่นชีวิตขวางประธานาธิบดี"

25 ตุลาคม 2548
สมัคร สุนทรเวช และดุสิต ศิริวรรณ นักจัดรายการทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 สถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท และทางวิทยุ FM.94.0 เมกะเฮิรตซ์ ใช้ชื่อรายการว่า “เช้าวันนี้-ที่เมืองไทย” รายการ “สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน” และรายการ “ข้อเท็จจริงวันนี้” เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายประสาร มฤคพิทักษ์ นักพูด นักเขียนบทความ, บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสื่อสารมวลชน และนายขุนทอง ลอเสรีวานิช บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา เป็นจำเลยที่ 1-3 ตามลำดับ ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาด้วยเอกสาร

28 ตุลาคม 2548
รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร จัดสัญจรครั้งแรกที่สวนลุมพินี ณ อาคารพลเมืองอาวุโส

3 พฤศจิกายน 2548
เวลา 22.00 น. เกิดเหตุระเบิดเสียงดังสนั่นภายในบริเวณรั้วของอาคารบ้านพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ตั้งอยู่เลขที่ 102/1 ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กทม. จึงรุดไปตรวจสอบยังที่เกิดเหตุ พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน โดยผู้เห็นเตุการณ์ ยืนยันว่าเห็นชายลึกลับสองคน เป็นผู้ขว้างระเบิดเข้ามา

4 พฤศจิกายน 2548
สนธิ ลิ้มทองกุล นำประเด็น"นายกฯทักษิณในโบสถ์วัดพระแก้ว"มาย้ำอีกครั้งใน รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 7 จัดที่ลุมพินีสถาน สวนลุมพินี

7 พฤศจิกายน 2548
พ.ต.ท.สำเนียง ลือเจียงคำ รอง ผกก.สส.สภ.อ.เมือง จ.ยโสธร เข้าแจ้งความกล่าวโทษ นายสนธิ ลิ้มทองกุล และ น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ 2 ผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ว่าดำเนินรายการโดยมีการกล่าวพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ จนได้รับความเสียหาย เข้าข่ายความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

17 พฤศจิกายน 2548
ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก นายธนา เบญจาธิกุล ทนายความ ได้รับมอบอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด, นายศุภชัย วงศ์วรเศรษฐ, นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล, นายพชร สมุทวณิช, นายขุนทอง ลอเสรีวานิช ซึ่งเป็นกรรมการบริหาร บ.ไทยเดย์ฯ, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ ในฐานะพิธีกรดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์, บริษัท แมเนเจอร์มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท, นายปัญจภัทร อังคสุวรรณ ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-10 ในความผิดเรื่องละเมิดสืบเนื่องจากกรณีหมิ่นประมาท ระหว่างเดือนก.ย.-พ.ย. 2548 ได้กล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีได้วิ่งเต้นเพื่อให้บริษัทครอบครัวได้รับสัมปทาน ดาวเทียมไทยคม เรียกค่าเสียหายทุนทรัพย์จำนวน 1,000 ล้านบาท

18 พฤศจิกายน 2548
บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้ ทำหนังสือถึง บริษัท อินเตอร์เนต โซลูชั่น แอนด์ โพรวายเดอร์ จำกัด หรือไอเอสเอสพี (ISSP) ในฐานะผู้ให้บริการรับฝากเครื่องแม่ข่ายคอมพิวเตอร์ (co-location) ของเว็บไซต์ผู้จัดการ หรือ www.manager.co.th ได้ทำหนังสือลงวันที่ 18 พ.ย. 2548 ถึงบริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด ในฐานะเจ้าของเว็บไซต์ผู้จัดการ ให้ระงับการเผยแพร่ หรือปล่อยให้มีการเผยแพร่เฉพาะภาพ เสียง หรือข้อความ รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 1, 3, 4, 5

22 พฤศจิกายน 2548
นายภูมิธรรม เวชยชัย รมช.คมนาคม ในฐานะรองเลขาธิการพรรคประชาธิปไตย สั่งทีมงานรัฐบาลจับตาความเคลื่อนไหว “สนธิ ลิ้มทองกุล” ในการจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา เพราะหวั่นเกรงว่าจะม็อบใหญ่ที่ออกมาขับไล่รัฐบาล

23 พฤศจิกายน 2548
ศาลยโสธร สั่งยกคำร้องขออนุมัติหมายจับ “สนธิ-สโรชา” ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ระบุถ้อยคำใน “เมืองไทยรายสัปดาห์” มุ่งวิจารณ์ที่ตัวนายกฯ แม้บางคำเปรียบเทียบพระมหากษัตริย์ และรัชทายาท ถือว่าไม่บังควร แต่ไม่ถึงกับหมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ตามมาตรา 112 พร้อมเปิดทางตำรวจอุทธรณ์

29 พฤศจิกายน 2548
ไทยรักไทยรณรงค์สวมเสื้อสีเหลืองเขียนข้อความ “เรารักในหลวง” วันที่ 1 ธ.ค.เพื่อฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี “ศิธา ทิวารี” สั่ง “สนธิ” ถอดเสื้อ “เราจะสู้เพื่อในหลวง” ออก ระบุสู้เพื่อตัวเอง เย้ยหยันมันปาก กำลังแพแตก แนวร่วมกำลังตีจาก พร้อมอ้างผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดสถาบันเบื้องสูงไฟเขียวให้ชี้แจงประชาชน อ้ำอึ้งแจงตารางเที่ยวบินเมล์ ซี-130 ขนเพื่อนน้องสาว “ทักษิณ” ยันจะขึ้นลงที่ไหนก่อนหลังขึ้นอยู่กับความพอใจของนักบิน

2 ธันวาคม 2548
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราโชวาท เนื่องในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ให้ทหารตระหนักถึงหน้าที่ เพราะหากสามารถปฏิบัติได้ครบถ้วน แท้จริง ประชาชน บ้านเมือง ก็จะอยู่รอดปลอดภัย
ชายฉกรรจ์ 4 คน บุกปาอุจจาระใส่อาคารสำนักงาน หนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการ" ช่วงเวลาตี 3 กว่าๆ ของวันที่ 2 ธันวาคม 2548 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่เคยโดนเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2548

4 ธันวาคม 2548
พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสตอบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลังจากนายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลในนามของคณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ
ทรงมีพระราชดำรัสให้ผู้มียศและตำแหน่งใช้ความระมัดระวังในการคิด การพูด และรับฟังคำวิจารณ์ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข พร้อมเตือนให้ประชาชนไทยตระหนักถึงการใช้พลังงานทดแทน และมีบางตอนที่น่าสนใจ กล่าวคือ

"... แต่ว่า วันนี้ตั้งใจจะพูดอะไรที่ไม่พาดพิงใครเลย ไม่ติเตียนใครเลย เพราะว่าการติเตียนใคร พาดพิงใครก็เกิดเคือง เกิดไม่สบายใจ แต่ที่เห็นอยู่ข้างหน้านี่ มีคนที่พูด ก็คงรู้ว่าใครพูด มีคนที่พูดว่า ข้าพเจ้าไม่ดี คือพระเจ้าอยู่หัวไม่ดี ทำอะไรผิด แต่เขาต้องแสดงออกมาว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ผิด ผิดไม่ได้ ซึ่งเป็นตามความจริงในระบอบประชาธิปไตย ในระบอบรัฐธรรมนูญที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระเจ้าอยู่หัวผิดไม่ได้ เขาพูดอย่างนั้น THE KING can do no wrong เหมือนท่าน องคมนตรีชอบพูดว่า ต้องอ้างภาษาอังกฤษ แต่ว่า เวลาบอก THE KING บอกว่า THE KING can do no wrong ก็เป็นสิ่งที่ wrong แล้ว ที่ผิดแล้ว ไม่ควรจะพูดอย่างนั้น"

"ความจริงเวลาอ่านตำรา กฎหมายรัฐธรรมนูญของอังกฤษ มีตำราที่คนเขาอ้างอยู่เสมอ แล้วคนที่เรียนภาษาอังกฤษ เรียนกฎหมายอังกฤษต้องอ้างอยู่เสมอ เรื่อง THE KING can do no wrong นี่ แล้วก็นักกฎหมายแถวนี้พยักหน้าว่าใช่ ความจริง THE KING can do no wrong นี่ เป็นการดูถูก THE KING อย่างมาก เพราะว่า THE KING ทำไมจะ do no wrong ไม่ได้ do wrong ไม่ได้ เพราะว่าแสดงให้เห็นว่า เขาถือว่าเดอะคิงไม่ใช่คน แต่ว่าเดอะคิงทำ wrong ได้ แต่ข้อสำคัญที่สุด ข้าพเจ้าเป็นเดอะคิง แล้วก็เขาบอกว่า does no wrong เราก็เห็นด้วยกับเขา..."

"... เรื่องมันยุ่งอย่างนี้ กฎหมาย ก็สอนนายกฯ มาอย่างนั้นนะ สอนนายกฯ ว่า ใคร ใครมาด่าเรา เราต้องด่าตอบ มันไม่ดี นี่พูดชักจะไม่ดี เพราะว่า ชักจะเป็นส่วนตัว แต่ว่าเราเองก็ไม่ ไม่ขอ บอกว่า ควรจะทำอะไร ควรรู้ นักกฎหมายก็ต้องรู้ว่า ทำอะไรถูก อะไรผิดผิด ไม่ต้องพูดทุกวัน ๆ ๆ ที่จริงเขาไม่ได้พูดทุกวัน แต่ก็ทำเทปเอาไว้ หรือทำดีวีดี แล้วก็แจกทั่ว ลงท้ายคนดูฟังก็ เขาเอือมกันนะ ที่ไปแก้ตัวแทนนายกฯ วันนี้เราขึ้นมานี่ เราแก้ตัวแทนนายกฯ เพราะว่านายกฯ ไม่ผิด นายกฯ ทำได้ทุกอย่าง ก็เลยไม่ต้อง ไม่ต้องไปออกทีวีแล้ว ไปออกทีวีทุกวันๆๆ มีคนเขาบอกว่าเขาเอือมที่ออก แต่ว่ามีหน้าที่ที่ออกก็ออก มีคนที่เขาเดือดร้อน ที่อยู่ในรายการ เพราะเขาต้องเป็นคนที่ต้องพูด แล้วก็คนที่พูดนั่นก็เลยถูกลูกหลงไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ตัวครั้งเดียวเอา ได้ แต่แก้ตัว นี่แก้ตัวมาเท่าไหร่ 10 ครั้งแล้วนะ ที่ออก ออกทีวี เลยชักจะเอือม คนอยากดูละคร เขาอยากดู มาดูอย่างนี้ พอแล้ว เสียไฟฟ้า ไม่ใช่เสียไฟฟ้าของคนที่ดู เสียไฟฟ้าของคนที่ส่ง เพราะว่าทีวีออกทีก็ไฟฟ้าแรง เสียน้ำมัน นี่ก็เลยนึกว่า ควรจะพูดพอแล้ว ที่พูดก็เสียไฟฟ้ามาก ก็ควรจะบอกว่า เลิกซะที ไม่ต้องพูดมาก แต่เราก็พูดต่อ เพราะว่าเป็นรายการที่อัดเสียงเอาไว้ ใส่เทปเอาไว้ ไม่ได้ออก ไม่ได้ออกโทรทัศน์ ไม่ต้องเสียไฟฟ้าสำหรับโทรทัศน์..."

7 ธันวาคม 2548
นายธนา เบญจาธิกุล ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้ ยื่นคำร้องถอนฟ้อง บริษัท เมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเดย์ ดอทคอม จำกัด นายสนธิ ลิ้มทองกุล และนางสาวสโรชา พรอุดมศักดิ์ อดีตผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ในคดีแพ่งและคดีอาญา ระบุเหตุผลเพื่อความปรองดองในประเทศตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา

26 ธันวาคม 2548
พิธีรำลึกครบรอบ 1 ปี สึนามิ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอให้ผู้ประสบภัยสึนามิทุกคน ตระหนักและศรัทธาในความมีน้ำใจของเพื่อนมนุษย์ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตต่อไป

อ้างอิง :
http://th.wikipedia.org/wiki/พ.ศ._2548

นายกฯทักษิณในโบสถ์วัดพระแก้ว’ (7 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 07:27 น.) คาดว่า link อ้างอิงมาจากเว็บผู้จัดการhttp://news.sanook.com/crime/crime_15825.php (ถ้ามีเวลาจะหา link ที่น่าเชื่อถือกว่านี้นะครับ)
Positioning Magazine( ธันวาคม 2548) http://www.positioningmag.com/Magazine/Pri...s.aspx?id=43449
"ในหลวงทรงย้ำ “เศรษฐกิจพอเพียง” พาบ้านเมืองไปรอดได้" ใน ผู้จัดการออนไลน์ (6 ธันวาคม 2548) http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.asp...D=9480000166941
"นายกฯถอนฟ้องสนธิ สนองพระราชดำรัส" ใน ประชาไทออนไลน์ (7 ธันวาคม 2548) http://www.prachatai.com/05web/th/home/pag...Key=HilightNews

-----------------------------------------------------------------

FfF