บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


20 สิงหาคม 2552

<<< การอภิปรายโต้เถียง คือรากแก้วที่หล่อเลี้ยงต้นประชาธิปไตย >>>

เพราะว่าสังคมประชาธิปไตย
เป็นสังคมที่มีอิสระเสรีในการพูด
ซึ่งก็ห้ามกันยากที่จะไม่ให้พูดเรื่องนั้นเรื่องนี้
ก็ทำได้แต่เตือนสติหรือปรามๆ กันเท่านั้นเอง
ทำมากกว่านั้นจะกลายเป็นเผด็จการไปทันที
การที่ผู้คนชอบโต้เถียงกัน
อย่างน้อยก็เป็นหลักประกันได้ว่า
สังคมนั้นๆ ยังเป็นประชาธิปไตยอยู่
บางคนอาจรำคาญ อาจเบื่อหน่าย อาจหมดกำลังใจ
ที่จะต้องต่อล้อต่อเถียงอะไรกัน
หรือเห็นการถกเถียงกันหน้าดำหน้าแดง
ซึ่งก็เป็นคล้ายๆ กันทุกคนไม่เว้นแม้แต่ผม
แต่ถ้าลองมาฝึกรักการถูกด่ามากกว่าถูกชม
เห็นคนมาด่าเยอะๆ แล้วดีกว่าเห็นคนมาชม
เวลาเจอคนมาด่าเยอะๆ
หรือเห็นคนกำลังถกเถียงกัน
ก็อาจรู้สึกเฉยๆ มากกว่ารำคาญ
เบื่อหน่าย หรือ หมดกำลังใจอะไร
มันเหมือนกับต้นไม้ใหญ่
ที่จำเป็นต้องรักษารากแก้วเอาไว้
แม้จะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม
ขาดรากแก้ววันไหนต้นไม้ใหญ่ก็อยู่ไม่ได้
เช่นกันถ้าสังคมนั้นๆ ห้ามการวิจารณ์ ห้ามโต้เถียงกัน
มันก็เหมือนกับการขาดรากแก้วประชาธิปไตยไป
ซึ่งจะทำให้ต้นประชาธิปไตยค่อยๆ ตาย
หรืออาจกลายพันธุ์เป็นต้นเผด็จการไปในที่สุด

อันที่จริงถ้าสามารถปลูกฝังกันมาตั้งแต่เยาว์วัย
เหมือนระบบการเรียนการสอนของฝรั่ง
ที่เน้นให้ผู้เรียนกล้าแสดงความคิดความเห็น
กล้าแย้ง กล้าคิดต่าง ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนอาจารย์
สุดท้ายแล้วสังคมเขาก็เป็นสังคมประชาธิปไตย
อย่างน้อยมีหลักประกันได้ว่า
จะไม่มีใครคนใดกล้ามาชี้นิ้วให้ทำนั่นนี่แบบไม่เห็นหัวชาวบ้าน
หรือตบเท้ามามั่วบริหารประเทศแบบไม่ถูกช่องทาง
เพราะคนที่ถูกปลูกฝังมาให้กล้าพูด กล้าทำ
มักจะหวงแหนเสรีภาพของเขาโดยอัตโนมัติ
จะไม่ยอมให้ใครมาทำตัวเป็นเผด็จการ
มากดหัวหรือกดขี่เขาง่ายๆ
ไม่เหมือนคนที่ถูกปลูกฝังให้ท่องจำ
และทำตามที่อาจารย์บอกเท่านั้น
ซึ่งส่วนใหญ่จะยอมรับสภาพการถูกกดขี่
หรือการถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพได้ง่ายกว่า
เนื่องจากไม่เห็นความสำคัญ
เพราะตัวเองก็ไม่กล้าพูด กล้าทำอะไรอยู่แล้ว
แต่พร้อมใจทำตามคนที่น่าเชื่อถือหรือคนที่เขาเชื่อฟังทันที
ดูแล้วไม่น่าจะช่วยทำให้เกิดสังคมประชาธิปไตยที่ดีได้

ผู้นำ ผู้บริหารในระบอบประชาธิปไตยที่ดี
ควรมีความสามารถบริหารความหลากหลายได้ดีด้วย
พอดีผมไม่เคยเป็นหัวหน้ากับเขาเป็นแต่เพียงลูกน้อง
ไม่เช่นนั้นผมจะลองงัดมาตรการส่วนตัวมาใช้ดู
เช่น เรื่องการประชุมในที่ทำงาน
ใครที่ถูกเชิญเข้าห้องประชุมแล้วนั่งเงียบๆ ไม่ปริปากอะไร
เอาแต่นั่งผงกหัวหลับหรือรับทราบอย่างเดียว
เกิน 3 ครั้งผมไม่ให้เข้าห้องประชุม
ให้ส่งคนอื่นที่กล้าออกความเห็นเข้ามา
เพราะการประชุมคือการระดมความคิดเห็น
ไม่ใช่ใช้เป็นที่ประทับตรายาง
เพื่อความชอบธรรมความเห็นใครอย่างเดียว
เมื่ออยู่ในที่ประชุมไม่ควรมีเล็ก มีใหญ่ ทุกคนเท่าเทียมกัน
ประชุมเรื่องอะไรเห็นด้วยให้บอกมาว่าเห็นด้วยเพราะอะไร
ไม่เห็นด้วยช่วยบอกมาด้วยว่าไม่เห็นด้วยเพราะอะไร
และทุกคนสามารถแย้งความเห็นกันไปมาได้
จนหาข้อสรุปหรือแย้งกันด้วยเหตุผลต่อไม่ได้แล้ว
หรือมีแต่การเดาหรือคาดว่า
ก็ต้องขอเลือกลองทำดูด้วยวิธีที่เสนอมาตามลำดับ 1 2 3
เพื่อนำผลมาประกอบการวิเคราะห์ถกเถียงกันภายหลัง
ระหว่างประชุม จะแซว จะขึ้นเสียงยังไง ก็เชิญ
แต่ว่าถ้าเห็นเดือดๆ กันมากๆ ก็ขอหยุดพักอารมณ์กันก่อน
แต่เมื่อออกไปนอกห้องประชุมก็ควรจบ
อาจมีอารมณ์ค้างบ้างบางเวลาหรือบางคน
แต่งวดหน้าไม่ควรพกพาอารมณ์ค้างเหล่านั้นเข้ามาด้วย
และไม่ควรเอาเรื่องเก่าๆ มานั่งดิสเครดิตกันไปมา
ควรเน้นเรื่องที่กำลังปรึกษาอยู่เป็นหลัก
บางครั้งก็ห้ามการใช้อารมณ์ของแต่ละคนยากเหมือนกัน
บางทีอาจต้องใช้วิธีรับฟังภาษาได้ทุกสำเนียง
จะพูดสำเนียงไหน
ไม่ว่าเหนือ ใต้ อีสาน สุพรรณ หรือนักเลงปากซอย
ก็ต้องเรียนรู้ เพื่อให้เข้าใจ
ดีกว่าไปขอร้องให้เขาเปลี่ยนสำเนียง
ในที่ประชุมหนึ่งๆ
ไม่มีใครคิดถูกคิดผิดไปได้ตลอดเวลา ในทุกเรื่องทุกโอกาส
อาจมีที่เรื่องนั้นคิดผิด เรื่องนี้คิดถูก ได้ทั้งนั้น
ควรโต้เถียงกันด้วยเรื่องที่กำลังถกเถียงกันในขณะนั้นเป็นหลัก
ด้วยเหตุผลว่าเห็นด้วยไม่เห็นด้วยยังไง
มากกว่าหาเรื่องดิสเครดิตกันไปมา
วิธีการเหล่านั้นเหมาะสำหรับพวกทนายใช้กันในการต่อสู้ในศาล
ไม่น่าจะเหมาะกับการระดมความคิดความเห็นของในองค์กรต่างๆ

สงสัยคงเพราะเราคิดแบบนี้มั้ง
เดี๋ยวนี้เลยไม่มีใครอยากให้เข้าประชุมด้วย อิอิ
มันอาจจะดูออกแนวฝรั่งมากกว่าคนไทย
ที่มักจะนอบน้อมไม่กล้าโต้เถียงผู้ใหญ่
ซึ่งเราว่ายังงี้ไม่ต้องมีประชุมเสียดีกว่า
สู้บันทึกสั่งการให้ทำเลยก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่
เสียเวลาเปล่า ประเภทให้ไปนั่งประชุมได้
แต่ห้ามออกความเห็นมาก และห้ามขัดแย้งกับผู้ใหญ่
แล้วมันจะมีอะไรใหม่
แถมบางคนก็ไม่คิดจะถกเถียง
เพื่อให้ชนะกันด้วยเหตุผล
แต่กลับอาศัยพวกมากลากไป หรือใช้บารมีข่ม
เช่น ให้โหวตวัดเสียงข้างมากอย่างเดียว
โหวตยังไงคนพวกน้อย มีบารมีน้อยก็ไม่ชนะ
เพราะมันมีปัจจัยด้านอื่นประกอบด้วย
เช่น กลัวจะไม่เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เป็นต้น
เลยต้องโหวตตามที่ผู้ใหญ่สนับสนุน
วิธีแบบนี้เราก็ไม่เห็นว่า
จะเป็นประชาธิปไตยที่ดีตรงไหน
ไม่ได้บอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตยน่ะ
บอกว่าเป็นแต่ไม่ดี ถ้าดีควรเอาชนะกันให้ได้ด้วยเหตุผล
ต่อให้คนล้านคนหาเหตุผลมาหักล้างคนหนึ่งคนไม่ได้
ก็ควรจะยอมรับ ไม่ควรคิดว่า
พวกมากกว่าไม่จำเป็นต้องฟังคนไม่กี่คน
ถ้าเป็นเรื่องการเมืองสู้กับฝ่ายตรงข้าม
อาจใช้ได้ดีแก้เกมการเมืองอะไรได้
แต่ถ้าเป็นเรื่องคิดหาวิธีการ
เพื่อพัฒนานั่นนี่ หรือหาวิธีสู้กับอะไร
การใช้วิธีรวบรัดแบบพวกมากลากไป
มากกว่าเอาชนะด้วยเหตุผล
สุดท้ายอาจเอาวิธีที่ไม่มีเหตุผลที่ดีกว่าไปใช้
เพื่อความสะใจกันมากกว่าหวังผลสำเร็จของงานจริงๆ
ซึ่งผลกระทบก็คงตกอยู่กับทุกคนในองค์กรอยู่ดี
เหมือนลงเรือลำเดียวกัน
เห็นเรือรั่วมีคนบอกให้อุดรูรั่วก่อน
แต่กัปตันที่บ้าอำนาจ
บอกให้ไปจับปลาต่อไม่ต้องไปสนใจ
อีกนานกว่าจะจมอะไรทำนองนี้
ซึ่งบางทีปัญหาอาจลุกลามบานปลาย
จนยากแก้การแก้ไขได้ทันก็เป็นได้

แถมคำคมสำหรับวันนี้
"ถ้าคุณฝึกรักการถูกด่ามากกว่าถูกชม คุณจะอยู่ในสังคมประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี"

โดย มาหาอะไร