บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


12 มกราคม 2553

<<< ข้อเท็จจริงที่ควรรู้ เรื่อง เกี่ยวกับเอกสารสิทธิ์ที่ดิน >>>

เพื่อเป็นความรู้แก่คนทั่วไป
หรือผู้สนใจซื้อที่ดินในอนาคต
จะได้รู้ว่าที่ดินที่จะซื้อ
มีเอกสารสิทธิ์อะไร
มีสิทธิซื้อได้ไหม
หรือซื้อแล้วมีสิทธิติดคุกได้ไหม
เลยไปค้นคว้ารวบรวมข้อกฏหมาย
คำอธิบายจากผู้รู้
และตัวอย่างของผู้ที่โดนคดี
ในข้อหาบุกรุกที่ป่าสงวน
โดยไม่สามารถอ้างได้ว่าไม่รู้
เหมือนพวกอภิสิทธิ์ชนบางคน
กรณีข้อกฏหมาย
อาจมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมได้
ต้องติดตามตรวจสอบ
ข้อกฏหมายที่ออกมาใหม่ๆ ประกอบด้วย
อีกเรื่องก็คือเรื่องที่ ส.ส. ปชป.
พูดว่าจะมีการพิจารณา
ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกการสงวนหวงห้ามที่ดิน
ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของทางราชการ
ซึ่งร่างลักษณะดังกล่าว
พรรคเพื่อไทยเคยเสนอประมาณเดินสิงหาคมปีที่แล้ว
คลิกที่นี่ เพื่อ Download ร่างของ พท.
และผ่านไปหลายเดือน ประมาณเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
พรรคภูมิใจไทยก็เสนอมาอีกร่าง คล้ายๆ กัน
คลิกที่นี่ เพื่อ Download ร่างของ ภท.
ก็เห็นเงียบๆ วันนี้มีเรื่องที่เขายายเที่ยง
ถึงออกมาพูดลักษณะจะเอาหน้าอยู่พรรคเดียว

สุดท้ายแล้วเดาว่า
อนาคตที่ดินที่มีปัญหาทั้งหมด
ก็คงจะถูกแก้ไขไม่รัฐบาลนี้ก็รัฐบาลต่อๆ ไป
โดยเป็นลักษณะออกกฏหมาย
มาแก้ไขพื้นที่ที่มีปัญหา
ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการเมือง
ที่จะมีการเกทับลดแลกแจกสะบัด
เพื่อหาฐานเสียงเพิ่มขึ้น

ส่วนอนาคตป่าไม้
ซึ่งหลายคนเป็นห่วง
โดยเฉพาะนักอนุรักษ์ทั้งหลาย
เราว่าแค่ปกป้องปัจจุบันที่เหลืออยู่
ไม่ให้โดนทำลาย
ก็ยังเหนื่อยเพราะเจ้าหน้าที่ป่าไม้
อาจมีน้อยหรือมีแต่ไม่มีงบพอ
หรือไม่ค่อยออกตรวจตราบ่อยๆ
เพื่อปกป้องพื้นที่ที่ยังเหลืออยู่
เห็นปล่อยปละจนชาวบ้านบุกรุกตั้งถิ่นฐานถาวรแล้ว
ถึงมาหาเรื่องฟ้องร้องขับไล่
ซึ่งสุดท้ายก็ทำไม่ได้ทุกพื่นที่
เพราะมันจะมีปัญหาเรื่องมวลชนผสมอยู่ด้วย
วิธีที่ถูกต้อง
ต้องออกตรวจตราบ่อยๆ ทุกอาทิตย์
รอบๆ เขต อช. และในเขตป่าสงวน
ก็ควรมีบินสำรวจบ่อยๆ
ไม่ใช่อยู่แต่ในสำนักงานกันส่วนใหญ่
เรื่องป่าไม้ ต้องใช้วิธีป้องกันไม่ใช่การตามแก้ไข
เพราะถ้าป่าไม้ถูกตัดไปแล้ว
ความชอบธรรมในการไปยึดคืนมา
ก็เริ่มหดหายไปด้วย
เช่น สภาพที่กลายเป็นเมืองไปแล้ว เป็นต้น
จะมาฟ้องร้องขับไล่
ใครเขาเห็นสภาพพื้นที่
ไม่ว่าในหรือนอกประเทศ
เขาก็มองไม่ออกว่าจะไปยึดคืนมาทำไม
ดังนั้นต้องป้องกันส่วนที่เหลือให้ได้
ไม่ใช่คอยตามไล่ฟ้องร้องชาวบ้าน
แต่พวกอภิทธิ์ชนหรือคนใหญ่ๆ โตๆ
กลับไม่กล้าฟ้องร้องเอาผิดเท่าไหร่
เล่นทำแบบสองมาตราฐานตำตาชาวบ้าน
แบบไม่อายฟ้าอายดินกันแบบนี้
แล้วอนาคตจะมีหน้ามาฟ้องร้องชาวบ้าน
ที่บุกรุกที่อื่นๆ ได้ยังไง
เดี๋ยวก็โดนศอกกลับหน้าหงายจนได้
และเขาก็จะดื้อเพ่งไม่ทำตามคำสั่งที่ฟ้องได้ด้วย
ในเมื่อมันไม่มีมาตราฐานแบบนี้
ใครจะเชื่อถือ

แถมคำคมสำหรับวันนี้
"ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งบ่อ"
"เส้นใหญ่ทำหงอ เส้นเล็กทำเก่ง"

โดย มาหาอะไร

----------------------------------------------------------------

กฎกระทรวง

ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗)

ออกตาม ความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ มาตรา ๘ และมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ และมาตรา ๕๖ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิก

(๑) กฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗

(๒) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗

(๓) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗

(๔) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๑๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗

(๕) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๑๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗

(๖) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๒ (พ.ศ. ๒๕๑๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗

(๗) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๓ (พ.ศ. ๒๕๑๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗

(๘) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗

(๙) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๐ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗

(๑๐) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๔ (พ.ศ. ๒๕๒๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗

(๑๑) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๙ (พ.ศ. ๒๕๓๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗



หมวด ๑

ใบจอง

ข้อ ๒. แบบใบจองมี ๒ แบบ คือ แบบ น.ส. ๒ และ น.ส. ๒ ก. ท้ายกฎกระทรวงนี้

การออกใบจองในท้องที่ซึ่งรัฐมนตรียังไม่ได้ประกาศยกเลิกอำนาจหน้าที่ในการ ปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายที่ดินของหัวหน้าเขต นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอตามมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน ( ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๘ ให้ใช้แบบ น.ส. ๒ ส่วนในท้องที่อื่นให้ใช้แบบ น.ส. ๒ ก.

ข้อ ๓. ใบแทนใบจองให้ใช้แบบ น.ส. ๒ หรือ น.ส. ๒ ก. แล้วแต่กรณี

การออกใบแทนใบจอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามวิธีการออกใบแทนโฉนดที่ดินโดยอนุโลม



หมวด ๒

หนังสือ รับรองการทำประโยชน์

ข้อ ๔. แบบหนังสือรับรองการทำประโยชน์มี ๓ แบบ คือ แบบ น.ส. ๓ น.ส. ๓ ก. และ น.ส.๓ ข. ท้ายกฎกระทรวงนี้

การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในท้องที่ที่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศให้ใช้ แบบ น.ส. ๓ ก. ในท้องที่ที่ไม่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศซึ่งรัฐมนตรีได้ประกาศยกเลิกอำนาจ หน้าที่ในการปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายที่ดินของหัวหน้าเขต นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ตามมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน ( ฉบับที่ ๔ ) พ.ศ. ๒๕๒๘ แล้ว ให้ใช้แบบ น.ส. ๓ ข. ส่วนในท้องที่อื่นให้ใช้แบบ น.ส. ๓

ข้อ ๕. ที่ดินที่จะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต้องเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิใน ที่ดินได้ครอบครองและทำประโยชน์แล้ว และเป็นที่ดินที่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๔

ข้อ ๖. ในการนำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ตามมาตรา ๕๘ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายที่ดิน ( ฉบับที่ ๔ ) พ.ศ. ๒๕๒๘ ให้ผู้มีสิทธิในที่ดินหรือตัวแทนปักหลักตามมุมเขตที่ดินของตนและให้ถ้อยคำ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่มอบหมายตามแบบ น.ส. ๑ ก. ท้ายกฎกระทรวงนี้

ก่อนออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศการออก หนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ทราบมีกำหนดสามสิบวัน ประกาศนั้นให้ปิดไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานที่ดินท้องที่ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอหรือที่ว่าการกิ่งอำเภอท้องที่ ที่ทำการแขวงหรือที่ทำการกำนันท้องที่ และในบริเวณที่ดินนั้น แห่งละหนึ่งฉบับ ในเขตเทศบาลให้ปิดไว้ ณ สำนักงานเทศบาล อีกหนึ่งฉบับ

ข้อ ๗. การขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามมาตรา ๕๙ และมาตรา ๕๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๙๖ ลงวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๕ ให้ดำเนินการดังนี้

(๑) ให้ผู้ขอยื่นคำขอตามแบบ น.ส. ๑ ข. ท้ายกฎกระทรวงนี้ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

(๒) ในการยื่นคำขอตาม (๑) ถ้าผู้ขอมีใบจอง ใบเหยียบย่ำ ตราจอง หลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน หลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ หรือพยานหลักฐานอื่นที่แสดงว่าได้สิทธิในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายให้แนบหลัก ฐานดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย

ข้อ ๘. เมื่อได้รับคำขอแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไปพิสูจน์สอบ สวนการทำประโยชน์ยังที่ดินตามแบบ น.ส. ๑ ค. ท้ายกฎกระทรวงนี้ ในการนี้จะมอบให้เจ้าหน้าที่ไปทำการแทนก็ได้

ข้อ ๙. ในการนำพนักงานเจ้าหน้าที่พิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ ให้ผู้มีสิทธิในที่ดินหรือตัวแทนปักหลักตามมุมเขตที่ดินของตนและให้ถ้อยคำ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่มอบหมายตามแบบ น.ส. ๑ ค. ท้ายกฎกระทรวงนี้

ในการคำนวณจำนวนเนื้อที่เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามแบบ น.ส. ๓ ก. ให้คำนวณโดยวิธีคณิตศาสตร์หรือโดยมาตราส่วน ทั้งนี้ ให้ถือว่าจำนวนเนื้อที่ที่คำนวณได้เป็นจำนวนเนื้อที่โดยประมาณ

ข้อ ๑๐. เมื่อได้พิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์แล้ว ปรากฏว่าได้มีการครอบครองและทำประโยชน์ตามสมควรแก่สภาพที่ดินในท้องถิ่น ตลอดจนสภาพของกิจการที่ได้ทำประโยชน์ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการดังนี้

(๑) ประกาศการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ทราบมีกำหนดสามสิบวัน ประกาศนั้นให้ปิดไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานที่ดินท้องที่ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอหรือที่ว่าการกิ่งอำเภอท้องที่ ที่ทำการแขวงหรือที่ทำการกำนันท้องที่ และในบริเวณที่ดินนั้น แห่งละหนึ่งฉบับ ในเขตเทศบาลให้ปิดไว้ ณ สำนักงานเทศบาลอีกหนึ่งฉบับ

(๒) ถ้าปรากฏว่าที่ดินนั้นไม่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหรือเขตที่ได้จำแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะ รัฐมนตรี และที่ดินนั้นไม่เป็นที่ดินซึ่งต้องห้ามมิให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ตามข้อ ๕ และไม่มีผู้คัดค้านภายในกำหนดเวลาที่ประกาศตาม (๑) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ได้

(๓) ถ้าปรากฏว่าที่ดินนั้นตั้งอยู่ในตำบลที่มีป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ พื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่ห้ามล่าสัตว์ป่าหรือพื้นที่ที่ได้จำแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวรตามมติ คณะรัฐมนตรีและกรมป่าไม้หรือกรมพัฒนาที่ดินยังไม่ได้ขีดเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหรือเขตที่ได้จำแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะ รัฐมนตรี ลงในระวางรูปถ่ายทางอากาศเพื่อการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือกรณีที่ขีดเขตแล้ว แต่ที่ดินที่ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์มีอาณาเขตติดต่อคาบเกี่ยวหรือ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหรือเขตที่ได้จำแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะ รัฐมนตรี ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมกันออกไปตรวจพิสูจน์ที่ดิน ประกอบด้วยป่าไม้อำเภอหรือผู้ที่ป่าไม้จังหวัดมอบหมายสำหรับท้องที่ที่ไม่มี ป่าไม้อำเภอ เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอ ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครอง) และกรรมการอื่นตามที่เห็นสมควร เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวได้ทำการตรวจพิสูจน์เสร็จแล้ว ให้เสนอความเห็นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดว่าสมควรออกหนังสือรับรองการทำ ประโยชน์ให้ได้หรือไม่ เพียงใด สำหรับที่ดินที่ได้จำแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี แต่ยังไม่ได้ขีดเขตหรือขีดเขตแล้วแต่ที่ดินดังกล่าวมีอาณาเขตคาบเกี่ยวกับ เขตที่ได้จำแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวรให้แต่งตั้งผู้แทนกรมพัฒนาที่ดินเป็น กรรมการด้วย

ข้อ ๑๑. เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้พิจารณาผลการตรวจพิสูจน์ที่ดินของคณะกรรมการตาม ข้อ ๑๐ (๓) แล้ว ปรากฏว่าที่ดินนั้นไม่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหรือเขตที่ได้จำแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะ รัฐมนตรี หรือปรากฏว่าที่ดินนั้นอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า หรือเขตที่ได้จำแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี แต่ผู้ขอได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายมาก่อน วันที่ทางราชการกำหนดให้ที่ดินนั้นเป็นป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหรือเขตที่ได้จำแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะ รัฐมนตรี และไม่มีผู้คัดค้านภายในกำหนดเวลาที่ประกาศตามข้อ ๑๐ (๑) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาดำเนินการตามข้อ ๑๐ (๒)

ข้อ ๑๒. ใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ใช้แบบ น.ส. ๓ น.ส. ๓ ก. หรือ น.ส. ๓ ข. แล้วแต่กรณี

การออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามวิธีการออกใบแทนโฉนดที่ดินโดยอนุโลม



หมวดที่ ๓

โฉนดที่ดิน

ข้อ ๑๓. โฉนดที่ดินให้ใช้แบบ น.ส. ๔ จ. ท้ายกฎกระทรวงนี้

ในกรณีโฉนดที่ดินที่ออกเป็นโฉนดตราจองหรือตราจองที่ตราว่า "ได้ทำประโยชน์แล้ว" ให้มี คำว่า "โฉนดตราจอง" หรือ "ตราจองที่ตราว่า"ได้ทำประโยชน์แล้ว"" แล้วแต่กรณี ไว้ใต้ตราครุฑ

ข้อ ๑๔. ที่ดินที่จะออกโฉนดที่ดินต้องเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิในที่ดินได้ครอบครอง และทำประโยชน์แล้ว และเป็นที่ดินที่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ตามกฎหมาย แต่ห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดิน ดังต่อไปนี้

(๑) ที่ดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ ที่ชายตลิ่ง

(๒) ที่เขา ที่ภูเขา และพื้นที่ที่รัฐมนตรีประกาศหวงห้ามตามมาตรา ๙ (๒) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน แต่ไม่รวมถึงที่ดินซึ่งผู้ครอบครองมีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ประมวลกฎหมายที่ดิน

(๓) ที่เกาะ แต่ไม่รวมถึงที่ดินของผู้ซึ่งมีหลักฐานแจ้งการครอบครองที่ดิน มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า "ได้ทำประโยชน์แล้ว" หรือเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ หรือที่ดินที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติได้อนุมัติให้จัดแก่ประชาชน หรือที่ดินซึ่งได้มีการจัดหาผลประโยชน์ตามมาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติได้อนุมัติแล้ว

(๔) ที่สงวนหวงห้ามตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๒๐ (๓) และ (๔) แห่งประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายที่ดิน ฉบับที่ (๓) พ.ศ. ๒๕๒๖ หรือกฎหมายอื่น

(๕) ที่ดินที่คณะรัฐมนตรีสงวนไว้เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือเพื่อประโยชน์ สาธารณะอย่างอื่น

ข้อ ๑๕. การออกโฉนดที่ดินตามมาตรา ๕๘ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๘ ให้ดำเนินการดังนี้

(๑)ให้มีการรังวัดทำแผนที่ตามวิธีการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินโดยให้เจ้าของ ที่ดินปักหลักหมายเขตที่ดินไว้ทุกมุมที่ดินของตน

(๒) ให้เจ้าของที่ดินหรือผู้แทนให้ถ้อยคำตามแบบ น.ส. ๕ ท้ายกฎกระทรวงนี้

(๓) ก่อนแจกโฉนดที่ดิน ให้เจ้าพนักงานที่ดินประกาศการแจกโฉนดที่ดินให้ทราบมีกำหนดสามสิบวัน ประกาศนั้นให้ปิดไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานที่ดินท้องที่ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ หรือที่ว่าการกิ่งอำเภอท้องที่ ที่ทำการแขวงหรือที่ทำการกำนันท้องที่ และในบริเวณที่ดินนั้นแห่งละหนึ่งฉบับ ในเขตเทศบาลให้ปิดไว้ ณ สำนักงานเทศบาล อีกหนึ่งฉบับ

ข้อ ๑๖. ในกรณีออกโฉนดที่ดินเฉพาะรายตามมาตรา ๕๙ และมาตรา ๕๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๙๖ ลงวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๕ ให้ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินยื่นคำขอตามแบบ น.ส. ๑ ข. ท้ายกฎกระทรวงนี้ และให้นำข้อ ๗ (๒) ข้อ ๑๐(๒) และ (๓) ข้อ ๑๑ และข้อ ๑๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ข้อ ๑๗. ในการออกใบแทนโฉนดที่ดินให้ดำเนินการดังนี้

(๑) ในกรณีโฉนดที่ดินเป็นอันตรายหรือสูญหาย ให้เจ้าของที่ดินยื่นคำขอและปฏิญาณตนเต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยให้นำพยานหลัก ฐานมาให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการสอบสวนจนเป็นที่เชื่อถือได้และให้เจ้า พนักงานที่ดินประกาศให้ทราบมีกำหนดสามสิบวัน ประกาศนั้นให้ปิดไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานที่ดินท้องที่ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ หรือที่ว่าการกิ่งอำเภอท้องที่ ที่ทำการแขวง หรือที่ทำการกำนันท้องที่ และในบริเวณที่ดินนั้น แห่งละหนึ่งฉบับ ในเขตเทศบาลให้ปิดไว้ ณ สำนักงานเทศบาลอีกหนึ่งฉบับ ถ้ามีผู้คัดค้านภายในเวลาที่กำหนดและนำพยานหลักฐานมาแสดง ให้เจ้าพนักงานที่ดินสอบสวนแล้วสั่งการไปตามควรแก่กรณี ถ้าไม่มีผู้ใดคัดค้านภายในเวลาที่กำหนดให้ออกใบแทนให้ไปตามคำขอ

(๒) ในกรณีโฉนดที่ดินชำรุด ถ้าเจ้าของที่ดินนำโฉนดที่ดินที่ชำรุดมามอบและโฉนดที่ดินที่ชำรุดนั้นยังมี ตำแหน่งที่ดิน เลขที่โฉนดที่ดิน ชื่อและตราประจำตำแหน่งของผู้ว่าราชการจังหวัด และหรือชื่อและตราประจำตำแหน่งของเจ้าพนักงานที่ดินตามแบบโฉนดที่ดินปรากฏ อยู่ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ ให้ออกใบแทนให้ไปได้ ถ้าขาดข้อความสำคัญดังกล่าวให้นำความใน (๑) มาใช้บังคับ

(๓) ในกรณีศาลมีคำสั่งหรือมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดเกี่ยวกับโฉนดที่ดินหรือผู้ใด มีสิทธิจดทะเบียนตามคำพิพากษาของศาล แต่ไม่ได้โฉนดที่ดินมาหรือโฉนดที่ดินเดิมเป็นอันตราย ชำรุด หรือสูญหายด้วยประการใด ให้ผู้มีสิทธิจดทะเบียนยื่นคำขอใบแทนแล้วให้ดำเนินการตามที่กำหนดไว้ใน (๑) หรือ (๒) แล้วแต่กรณี

(๔) ในกรณีเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจในการยึดและขายทอดตลาดที่ดินของผู้ที่ค้างชำระ ภาษีอากรหรือเงินค้างจ่ายใด ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ขอให้ออกใบแทนโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินดังกล่าวซึ่งเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจได้ ยึดมาขายทอดตลาดแล้ว แต่ไม่ได้โฉนดที่ดินมาหรือโฉนดที่ดินเดิมเป็นอันตราย ชำรุดหรือสูญหายด้วยประการใด ให้ถือหนังสือของเจ้าพนักงานดังกล่าวเป็นคำขอและดำเนินการทำนองเดียวกับที่ กำหนดไว้ใน (๓) แต่ไม่ต้องสอบสวน

(๕) ในกรณีอธิบดีจะใช้อำนาจจำหน่ายที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่ไม่ได้โฉนดที่ดินมา หรือโฉนดที่ดินเดิมเป็นอันตราย ชำรุด หรือสูญหายด้วยประการใด ให้ดำเนินการทำนองเดียวกับที่กำหนดไว้ใน (๔) แต่ไม่ต้องสอบสวน

(๖) ในกรณีอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดใช้อำนาจเพิกถอนหรือแก้ไขโฉนดที่ดิน เพิกถอนหรือแก้ไขรายการจดทะเบียนตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๘ แต่ไม่ได้โฉนดที่ดินมาหรือโฉนดที่ดินเป็นอันตราย ชำรุดหรือสูญหายด้วยประการใด ให้ดำเนินการทำนองเดียวกับที่กำหนดไว้ใน (๔) แต่ไม่ต้องสอบสวน

ในกรณีที่ไม่ได้โฉนดที่ดินมาตาม (๓) (๔) (๕) และ (๖) ให้ถือว่าโฉนดที่ดินสูญหาย

ข้อ ๑๘. ใบแทนโฉนดที่ดินให้ใช้แบบ น.ส. ๔ จ.

การออกใบแทนโฉนดที่ดิน ให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขาคนปัจจุบัน หรือเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งอธิบดีมอบหมายลงลายมือชื่อและประทับตราประจำ ตำแหน่งของเจ้าพนักงานที่ดินเป็นสำคัญ ให้มีคำว่า "ใบแทน" ด้วยหมึกสีแดงไว้ด้านหน้าของโฉนดที่ดิน ในสารบัญจดทะเบียนให้ระบุวัน เดือน ปี ที่ออกโฉนดที่ดินฉบับเดิมด้วยหมึกสีแดง ถ้ามีรายการจดทะเบียนให้คัดรายการด้วยหมึกสีแดง และให้เจ้าพนักงานที่ดินลงลายมือชื่อและประทับตราใต้รายการสุดท้าย ถ้าไม่มีรายการจดทะเบียน ให้เจ้าพนักงานที่ดินลงลายมือชื่อและประทับตราใต้วัน เดือน ปี ที่ออกโฉนดที่ดินฉบับเดิม

ส่วนโฉนดที่ดินฉบับสำนักงานที่ดิน ในสารบัญจดทะเบียนให้มีคำว่า "ได้ออกใบแทนโฉนดที่ดินแล้ว" และวัน เดือน ปี ที่ออกด้วยหมึกสีแดงกับให้เจ้าพนักงานที่ดินลงลายมือชื่อกำกับไว้

ข้อ ๑๙. ในกรณีออกโฉนดที่ดินให้กับบุคคลตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ไว้แล้ว ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎกระทรวงนี้กำหนดไว้โดยอนุโลม



ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗

(ลงชื่อ) เด่น โต๊ะมีนา

(นายเด่น โต๊ะมีนา)

รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย



(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๑๒ ก ลงวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๗)

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือเนื่องจากได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ตามมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๘ ยกเลิกอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายที่ดิน ในบางท้องที่แล้ว สมควรปรับปรุงแบบ หลักเกณฑ์และวิธีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ รวมทั้งใบแทนของหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าว เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินสามารถปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ นอกจากนี้หลักเกณฑ์การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินได้ใช้ บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว สมควรปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และเขตที่ได้จำแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี ยังไม่มีมาตรการที่รัดกุมเหมาะสมจึงสมควรกำหนดให้มีการตรวจสอบรับรองจากกรม ป่าไม้ และกรมพัฒนาที่ดินก่อนออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ด้วย และพร้อมกันนี้สมควรกำหนดหลักเกณฑ์การออกโฉนดที่ดินสำหรับที่เกาะ เพื่อป้องกันการบุกรุกของราษฎร กับเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

http://www.dol.go.th/dol/images/medias/dol/example/low_ministry/low_43.htm

----------------------------------------------------------------

ที่ดิน ที่จะออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้

1. ที่ดินที่จะออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน

คือ โฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3, น.ส. 3ก., น.ส. 3ข.)ได้ จะต้องเป็นที่ดินที่มีลักษณะตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ข้อ 14 กล่าวคือ

* จะต้องเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิในที่ดินได้ครอบครองและ ทำประโยชน์แล้ว
* ไม่เป็นที่ดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบที่ชายตลิ่ง ที่เลี้ยงสัตว์สาธารณประโยชน์
* ไม่เป็นที่ดินซึ่งได้หวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ตามพระราช บัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่า อันเป็นสาธารณสมบัติ ของแผ่นดินพุทธศักราช 2478
* ไม่เป็นที่ดินที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติสงวนและ พัฒนาที่ดินเพื่อจัดให้แก่ประชาชน
* ไม่เป็นที่ดินของรัฐที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ สงวนหรือหวงห้ามเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน
* ไม่เป็นที่ดินที่คณะรัฐมนตรีสงวนไว้เพื่อรักษาทรัพยากร ธรรมชาติหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น


2. ที่ดินที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ จะออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินได้จะต้องอยู่ในเงื่อนไข ดังนี้

* ที่เขา ที่ภูเขา และพื้นที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศหวงห้ามตาม มาตรา 9 (2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ครอบครองที่ดินจะต้องมีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมาย ที่ดิน
* ที่เกาะ จะต้องมีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค. 1 ) ใบจอง, ใบเหยียบย่ำ, น.ค. 3, ก.ส.น. 5 หรือเป็นที่ดินที่คณะกรรมการจัดที่ดิน แห่งชาติได้อนุมัติให้จัดแก่ประชาชน หรือเป็นที่ดินซึ่งได้มีการจัดหาผลประโยชน์ตามมาตรา 10 และ 11 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินโดย คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติได้อนุมัติแล้ว
* เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ พื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่ห้ามล่าสัตว์ป่า หรือพื้นที่ที่ได้จำแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวร จะต้องมีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค. 1 ) หรือได้ออกใบจอง, ใบเหยียบย่ำ, ตราจอง ไว้ก่อนการสงวนหรือ หวงห้ามที่ดิน
* ที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ผู้ครอบครองที่ดินจะต้องมีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค. 1), ใบแจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดิน ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน หรือมีใบจอง, ใบเหยียบย่ำ หรือมีหลักฐาน น.ค. 3, ก.ส.น. 5 ก่อนประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน
* พื้นที่ที่มีความลาดชันโดยเฉลี่ยร้อยละ 35 ขึ้นไป ตามที่กำหนดไว้ในนโยบายป่าไม้ แห่งชาติ ผู้ครอบครองที่ดินจะต้องมีสิทธิครอบครองมาก่อน การบังคับใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน (ก่อน 1 ธันวาคม 2497) หรือมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น มีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค. 1)

http://www.dol.go.th/

----------------------------------------------------------------

อยากทราบว่า ภบท.5 ในเอกสารที่ดินคืออะไร และสามารถไปขอเป็นใบจองคือ น.ส.2 หรือ น.ส.3 ได้หรือไม่ ถ้าได้ต้องทำอย่างไร

ตอบ : ภบท.5 คือภาษีบำรุงท้องที่ตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 ซึ่งในมาตรา 7 ให้ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในวันที่ 1 มกราคมของปีใด ทำหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปีนั้นจากราคาปานกลางของที่ดิน โดยราคากลางของที่ดินจะมีการประเมินทุกๆ 4 ปี ซึ่งจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าที่ดินตั้งอยู่ในพื้นที่ใด การตีราคากลางของที่ดินจะตีเป็นหน่วยตำบล

ที่ดินที่มี ภบท.5 จะออกใบจองคือ น.ส.2 หรือออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์คือ น.ส.3 ได้หรือไม่นั้น ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 1 ระบุไว้ว่า ใบจอง หมายความว่า หนังสือแสดงการยอมให้เข้าครอบครองที่ดินเป็นการชั่วคราว มี 2 แบบ ได้แก่ 1.น.ส.2 เป็นใบจองสำหรับที่ดินที่ตั้งอยู่ในท้องที่ ซึ่งรัฐมนตรียังไม่ได้ประกาศยกเลิกอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติตามประมวลกฎหมาย ที่ดินของหัวหน้าเขต นายอำเภอ ผู้เป็นหัวหน้ากิ่งประจำอำเภอ และ 2.น.ส.3 ก. เป็นใบจองที่ดินที่ตั้งอยู่ในท้องที่อื่น มิใช่ท้องที่ตามข้อ 1

การ ออกใบจองเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยและทำมาหากินเลี้ยงชีพแก่ราษฎรในที่ดิน มีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ 2 กรณี หนึ่งคือรัฐจัดที่ดินผืนใหญ่เนื้อที่ตั้งแต่ 1,000 ไร่ขึ้นไป ซึ่งเป็นอำนาจของอธิบดีกรมที่ดินในการนำที่ดินของรัฐ ซึ่งไม่มีบุคคลใดมีสิทธิครอบครอง และเป็นที่ดินนอกจากส่วนราชการหรือองค์การของรัฐนำไปจัดตามกฎหมายอื่นแล้วมา วัดให้ราษฎร ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ ข้อกำหนด ตามที่คณะกรรมการที่ดินแห่งชาติกำหนดไว้

อีกกรณีหนึ่งคือราษฎรจับจอง ที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อย เป็นที่หัวไร่ปลายนา มีเนื้อที่ไม่เกิน 1,000 ไร่ หรือเป็นที่ดินซึ่งคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติยังไม่ได้ประกาศเขตสำรวจ ที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 24

ทั้งสองกรณีเมื่อราษฎรคนใดได้ รับอนุญาตให้จับจองที่ดินแล้วให้ออกใบจองให้ไว้เป็นหลักฐานก่อน ต่อไปเมื่อปรากฏแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ว่าบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้จับจอง ที่ดินได้ทำประโยชน์ในที่ดิน และได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติกำหนดโดย ครบถ้วนแล้ว ก็ให้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน (โดยออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 หรือโฉนดที่ดิน น.ส.4 ให้โดยเร็วต่อไป)

สำหรับผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินภายหลังวัน ที่ประมวลที่ดินใช้บังคับหลังวันที่ 1 ธันวาคม 2497 และไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการ ครองชีพ จะขอออก น.ส.3 ได้กรณีเดียวคือ ออกทั้งตำบล คือรัฐประกาศออก น.ส.3 ในพื้นที่นั้น

----------------------------------------------------------------

บุคคล ที่มีหลักฐาน ภบท. 5 ก็สามารถออกโฉนดที่ดินได้ ถ้าที่ดินแปลงนั้นไม่อยู่ในเขตสงวนหวงห้ามที่สาธารณประโยชน์ เขตป่าไม้ฯ เขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) ที่เขา ที่ภูเขา และครอบครองที่ดินมาก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (ก่อน 1 ธันวาคม 2497) ก็สามารถออกโฉนดที่ดินเฉพาะรายได้ ณ สำนักงานที่ดินจังหวัด / สาขา / ที่ดินนั้นตั้งอยู่ และออกโฉนดโดยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน
ปัจจุบัน กรมที่ดินได้มีโครงการเร่งรัดออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศตามนโยบายการแปลง สินทรัพย์เป็นทุนของรัฐบาล และจังหวัดกาญจนบุรี ก็มีศูนย์เดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน การออกโฉนดที่ดิน โดยวิธีนี้เจ้าของที่ดินผู้ครอบครองภายหลังประมวลกฎหมายที่ดินก็สามารถนำ เดินสำรวจได้ ก่อนที่ศูนย์เดินสำรวจฯ จะเข้าไปดำเนินการต้องมีการประกาศให้ประชาชนในท้องที่นั้น ทราบล่วงหน้า 30 วัน และมีการประสานกำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, เพื่อนัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับราษฎรในท้องที่ที่จะเดินสำรวจ สำหรับจังหวัดกาญจนบุรี ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดินทั้งอำเภอ ในท้องที่อำเภอเมืองกาญจนบุรี, ด่านมะขามเตี้ย, ไทรโยค, หนองปรือ, บ่อพลอย และบางส่วนในท้องที่อำเภอท่าม่วง, พนมทวน, ศรีสวัสดิ์, ทองผาภูมิ, สังขละบุรี, เลาขวัญ และห้วยกระเจา ดังนั้นหากที่ดินของท่านซึ่งมีเพียงหลักฐาน ภบท. 5 อยู่ในท้องที่ที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินของอำเภอดังกล่าวข้าง ต้น ก็ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐานเดิมเป็น ส.ค. 1, ใบจอง, น.ส. 3, น.ส. 3 ก.
เครดิต:: กลุ่มงานวิชาการที่ดิน

----------------------------------------------------------------

"อำนาจ"กวดขันอบต.ออกใบภบท.5

นายอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า สาเหตุการบุกรุกที่ดินของรัฐเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการซื้อขายที่ดินกันโดยใช้เอกสารใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท.5) ที่ออกโดยองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แต่ก่อนคิดว่าใบ ภบท.5 ไม่มีฤทธิ์และเป็นการออกโดยสุจริต แต่ช่วงหลังใบ ภบท.5 ทำหน้าที่เหมือนเอกสารสิทธิการครอบครอง (ส.ค.1) หรือที่มักเรียกกันว่า ส.ค.บิน คือ บินไปเรื่อย ซึ่งเอกสารทั้งสองมีลักษณะคล้ายกัน ทำให้มีผู้ตกเป็นเหยื่อการซื้อขายที่ดิน ดังนั้น ตนจะกำชับไปยัง อบต.ทุกแห่งว่า การออก ภบท.5 จะต้องครบถ้วนถูกต้องตามหลักเกณฑ์ โดยให้กรมที่ดินกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน

"ไม่ใช่ว่าใครนึกจะชี้ที่ดินแล้วให้ทาง อบต.ออกใบ ภบท.5 ไปเรื่อยเปื่อย เมื่อ อบต.ออกให้ส่วนหนึ่งก็นำไปซื้อขายกัน จึงเป็นสาเหตุของการบุกรุกที่ดิน แท้ที่จริงแล้ว ภบท.5 ไม่ใช่ใบที่ได้รับการคุ้มครอง เช่น หากที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ผู้บุกรุกก็จะต้องถูกดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ฉะนั้นพื้นที่ที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตสงวนหวงห้ามทั้งหมด ทาง อบต.ต้องตรวจสอบให้ถูกต้องก่อนพิจารณาออก ภบท.5 รวมทั้งที่ดินที่ไม่ได้มีการเข้าทำประโยชน์มาก่อนก็ไม่สามารถนำมาออก ภบท.ได้เช่นกัน" นายอำนาจกล่าว

----------------------------------------------------------------

สั่งจำคุก"แม่ชีบงกช"3ปี-คดีรุกป่า

วันที่ 25 ส.ค. เวลา 10.00 น. ศาลจังหวัดกาญจนบุรีออกนั่งบัลลังก์เพื่อพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 1138/2541 หมายเลขแดงที่ 2842/2548 โดยพนักงานอัยการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางบงกช สิทธิพล หรือ แม่ชีบงกช แห่งแดนเกาะมหามงคล เป็นจำเลยที่ 1 และน.ส.พิมพรรณ รัตนพฤกษานนท์ จำเลยที่ 2 ในคดีร่วมกันบุกรุก ก่อสร้าง แผ้วถาง และยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังใหญ่และป่าแม่น้ำน้อย ต.วังกระแจะ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี จำนวน 520 ไร่ โดยจำเลยทั้งสองรวมกันก่อสร้างพระมหาเจดีย์ 1 หลัง และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ อีก 35 หลังในพื้นที่ที่บุกรุก พร้อมกับสร้างถนนและบันไดเชื่อมต่อสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ขอให้ศาลลงโทษตามพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ร.บ.ป่าไม้ และประมวลกฎหมายที่ดิน จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยทั้งสองแล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องว่าร่วมกันบุกรุกป่าสงวนฯมากกว่า 500 ไร่ รวมกันก่อสร้างพระมหาเจดีย์ 7 ชั้น สูง 80 เมตรไว้บนยอดเขา การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดร้ายแรง เมื่อเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ตรวจยึด และพนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลยแล้ว จำเลยทั้งสองก็ยังคงดำเนินการก่อสร้างต่อไปอีก ส่อแสดงให้เห็นว่ามิได้เกรงกลัวกฎหมาย แม้จำเลยทั้งสองจะมีคุณความดีในทางธรรมอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่เหตุอันสมควรที่จะลงโทษสถานเบา พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษตามพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี 9 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน และให้จำเลยทั้งสองออกไปจากพื้นที่ป่าสงวนฯที่ยึดครอบครอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว แม่ชีบงกชได้ยื่นขอประกันตัวสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป ซึ่งศาลได้พิจารณาอนุญาต ให้จำเลยทั้งสองประกันตัวโดยใช้สมุดเงินฝากจำนวนเงิน 200,000 บาท เป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัวในครั้งนี้

ข้อมูลข่าวสด http://www.khaosod.co.th

----------------------------------------------------------------

ศาลอุทธรณ์เชียงใหม่พิพากษาจำคุกชาวห้วยโก๋นคดีรุกป่า

โดย สำนักข่าวประชาธรรม 15 ตุลาคม 2551

เชียงใหม่/ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น ไม่ลดโทษชาวบ้านห้วยโก๋นข้อหารุกป่า ภาค ปชช.ชี้หากวัดตามกฎหมาย ปชช.ผิดวันยังค่ำ แนะทางออกรัฐเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ทำความเข้าใจชาวบ้านมากขึ้น


สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2550 ที่ผ่านมา ศาลชั้นต้น จ.เชียงใหม่ ได้อ่านคำพิพากษาในกรณีที่อัยการ จ.เชียงใหม่ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องชาวบ้านห้วยโก๋น ต.ป่าตุ้ม อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ จำนวน 36 ราย เป็นจำเลยในกรณีที่กระทำความผิดฐานบุกรุกป่าตามกฎหมาย 3 ฉบับ คือ ความผิดตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 พ.ร.บ.ป่า สงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 3 คน คนละ 8 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงลดโทษจำคุกให้เหลือกึ่งหนึ่ง ต่อมาเมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2551 ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์เชียงใหม่ได้มีคำพิพากษายืนในกรณีที่ 1 ในจำเลย ยื่นอุทธรณ์เพื่อขอรอลงอาญาในกรณีโทษจำคุก โดยให้คงโทษจำคุก 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ล่าสุด วันนี้ (15 ต.ค.) ณ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีคำพิพากษาอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นคือจำคุกจำเลยคนละ 4 เดือน ตามความผิดเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น นายวิวัฒน์ ตามี่ ผู้ประสานงานศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) กล่าวว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำคุกชาวบ้านห้วยโก๋นคนละ 4 เดือน ซึ่งในคดีนี้ศาลชั้นต้นนั้นได้พิพากษาว่าชาวบ้านมีความผิดในข้อหาบุกรุกป่า ส่วนในชั้นของศาลอุทธรณ์นั้นเรายื่นอุทธรณ์เพื่อให้ศาลพิจารณารอลงอาญาในคดี โทษจำคุก แต่ว่าศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ในกรณีแบบนี้หากเจ้าหน้าที่ไปจับชาวบ้านก็ผิด หมดทุกกรณี ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ใช่เป็นทางออกเพราะชาวบ้านก็จะเดือดร้อนต่อไป ในส่วนกระบวนการยุติธรรมนั้นศาลเองก็ไม่เข้าใจวิถีชีวิตของชาวบ้าน เอาตัวบทกฎหมายเป็นหลักในการพิจารณาคดี ซึ่งการแก้ปัญหาระยะยาวรัฐจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการจัดการปัญหาเหล่านี้ ต้องหาข้อมูล มีข้อเท็จจริง เช่นว่า ชาวบ้านอยู่มาก่อนประกาศเขตป่า ทำมาหากินมาเป็นเวลานานไม่ใช่เพียงแต่ว่าเพิ่งเข้ามาบุกรุก ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้จะช่วยเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาได้ ตัดสินคดีด้วย แต่ว่านี่มันไม่ใช่เพราะว่ายังไงชาวบ้านก็เสียเปรียบไม่มีวันที่จะได้รับ ความยุติธรรมที่ถูกต้องเด็ดขาด นายวิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย.

http://www.peace.mahidol.ac.th/th/index.php?option=com_content&task=view&id=268&Itemid=112

----------------------------------------------------------------

ยกฟ้องไทยรัฐหมิ่นคดีรุกป่ากาญจน์

ที่ศาลอาญา วันที่ 17 มิ.ย. ศาลได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่นายวิฑูร เริ่มวิรัตน์ และ นายธรรมรัตน์ วงศ์โสภา ร่วมเป็นโจทก์ที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ฟ้องบริษัท วัชรพล จำกัด และนายการเลิศ แช่มชูกลิ่น กับนายสนิท อินทรชัย เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ เป็นจำเลยฐานหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหาย 2 ล้านบาท
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการภายในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โจทก์ที่ 2 เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติลำคลองงู ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2546 นายการเลิศ และนายสนิทได้ไปแจ้งความที่ สภ.อ.ทองผาภูมิ ว่า โจทก์ ทั้ง 2 เป็นผู้สนับสนุนการบุกรุกป่าสงวน และให้มีการแปรรูปไม้ ต่อมา น.ส.พ.ไทยรัฐ ได้ลงข่าวว่าบุกตรวจอุทยานลำคลองงู พบตัดไม้ในเขตพื้นที่บ้านพักเจ้าหน้าที่อุทยาน และเสนอข่าวในวันถัดไปว่า ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับนายวิฑูรและนายธรรมรัตน์ ทำให้ผู้อ่าน น.ส.พ.ไทยรัฐเข้าใจว่าโจทก์เป็นคนไม่ดี อยู่เบื้องหลังการตัดไม้ทำลายป่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยรู้เห็นกับการกระทำผิดอาญาเสียเอง เป็นเหตุให้โจทก์ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ขอให้ศาลลงโทษและใช้ค่าสินไหมทดแทน 2 ล้านบาทแก่โจทก์

ศาลพิเคราะห์ว่า โจทก์เองนำสืบว่า จำเลยไป แจ้งความจับโจทก์ เพราะจำเลยไปตรวจพื้นที่ป่าสงวน พบว่ามีการบุกรุกทำลายป่า และพบเลื่อยวงเดือน กบไสไม้ และไม้แปรรูป และแจ้งความว่า โจทก์เป็นผู้สนับสนุนการทำลายป่าไม้ เห็นว่านายการเลิศและนายสนิทเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ได้ทำหน้าที่ออกตรวจพื้นที่ป่า แต่กลับไปพบว่ามีการตัดไม้ทำลายป่าในเขตอุทยานใกล้บ้านพักเจ้าหน้าที่ป่าไม้ คนทั้ง 2 จึงไปแจ้งความ และนำข้อเท็จจริงไปให้ น.ส.พ.ไทยรัฐเสนอข่าว เห็นว่าจำเลยได้ทำหน้าที่อันชอบธรรมที่จะรักษาผลประโยชน์ของชาติ และแจ้งความให้ประชาชนได้ทราบถึงส่วนได้เสียในฐานะประชาชน ซึ่งสามารถทำได้ตามทำนองคลองธรรม จึงไม่เป็นการใส่ความโจทก์ทั้ง 2

การที่ น.ส.พ.ไทยรัฐได้เสนอข่าวเกี่ยวกับกรณีมีข้อสงสัยว่าจะมีการบุกรุกทำลายป่า และมีการตัดไม้ทำไม้แปรรูปในเขตอุทยาน เป็นการเสนอข่าวที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงตามลำดับ ย่อมเป็นประโยชน์แก่ สาธารณชน ถือได้ว่า น.ส.พ.ไทยรัฐได้ติชมอย่างเป็นธรรม จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท จึงพิพากษายกฟ้อง

ข้อมูลไทยรัฐ http://www.thairath.co.th

----------------------------------------------------------------

สุวโรชค้านอธิบดีกรมป่าไม้ทวงคืนที่ดินทั่ว ปท.หวั่นชาวบ้านลุกฮือต้าน
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- 22 ชั่วโมง 20 นาทีที่แล้ว

ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญศึกษาปัญหาที่ดินทำกิน ค้านแนวคิดทวงคืนที่ดินทั่วประเทศของอธิบดีกรมป่าไม้ หวั่นสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนจนลุกฮือขึ้นต่อต้านจนส่งผลให้เกิดความ วุ่นวายในบ้านเมือง แนะให้ยึดหลักฐานตามมติ ครม.ปี 41 เป็นเกณฑ์ตัดสิน

"หากอธิบดีกรมป่าไม้จะจัดการอย่างเด็ดขาด กับราษฎรที่อยู่ในเขตป่าสงวนและเขตอุทยานทุกรายตามที่กลุ่มคนเสื้อแดงกดดัน บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟแน่ จึงควรจะแยกแยะเป็นกรณีๆ ไป เชื่อว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี จะยอมคืนที่ดินบริเวณเขายายเที่ยงคืนให้กรมป่าไม้ ทุกอย่างก็น่าจะจบ ไม่ควรจะลุกไล่ไปถึงชาวบ้านรายอื่นที่อยู่ในเขตป่าสงวนด้วย" นายสุวโรช พะลัง ประธาน กมธ.วิสามัญศึกษาปัญหาที่ดินทำกิน สภาผู้แทนราษฎร กล่าว

โดยขณะนี้มีประชาชนครอบครองพื้นที่ในลักษณะดังกล่าวทั่วประเทศ 6.4 ล้านไร่ จำนวน 4.5 แสนราย ซึ่งกรมป่าไม้มีหลักฐาน และชื่อชัดเจนกำลังอยู่ระหว่างรอพิสูจน์สิทธิตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.41 ที่ผ่อนปรนให้กับราษฎรที่ทำกินในพื้นที่ดังกล่าว

นายสุวโรช กล่าวว่า ตนเองเห็นด้วยที่จะดำเนินการเฉพาะผู้ที่บุกรุกใหม่ ซึ่งตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติและ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติมีโทษหนักถึงจำคุก และยังให้ฝ่ายบริหารใช้อำนาจดำเนินการก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาได้ด้วย

ส่วนกรณีมีประชาชนและนายทุนเข้าไปถือครองในพื้นที่ดังกล่าว เช่น อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ควรจะดำเนินการอย่างไรเพื่อความเป็นธรรม นายสุวโรช กล่าวว่า กมธ.ได้ยกร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกการสงวนหวงห้ามที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของทางราชการ ซึ่งวิปรัฐบาลได้ตั้งอนุกรรมการกลั่นกรองขึ้นมาดูกฎหมายฉบับนี้โดยเฉพาะแล้ว หากสามารถผลักดันได้จะทำให้แยกแยะพื้นที่ได้อย่างชัดเจน รวมทั้งกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เพื่อเป็นหลักประกันในการดำรงชีพของราษฎรคือกำหนดให้ราษฎรเดิมที่พิสูจน์ สิทธิ์ได้ครองครองพื้นที่รายละไม่เกิน 50 ไร่

สำหรับแนวทางสกัดนายทุนและนักการเมืองเข้าไปถือครองที่ดินเหล่านี้ นายสุวโรช กล่าวว่า กรมป่าไม้ได้ทำการสำรวจพื้นที่ ที่มีราษฎรเข้าไปทำกินทั่วประเทศมีรายชื่อที่ชัดเจนเรียบร้อยแล้ว หากราษฎรคนใดมีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์สิทธิ์ได้ก็ได้ที่ดินเหล่านั้นไป

"ผมนำมาทำต้นแบบที่ จ.ชุมพร จนประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีนายทุนหรือชาวบ้านที่ถือครองที่ดินแทนเอกชนกล้ามาแสดงตนขอรับ เอกสารสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว ซึ่งที่ดินที่ไม่มีคนมารับเอกสารสิทธิ์เหล่านั้นก็จะถูกส่งกลับไปเป็น ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป" นายสุวโรช กล่าว

----------------------------------------------------------------