บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


01 มีนาคม 2553

<<< วิพากษ์คำพิพากษายึดทรัพย์ >>>

วิพากษ์คำพิพากษายึดทรัพย์ “ทักษิณ” กว่า 4.6 หมื่นล้านบาท (ตอนที่ 1)

การวิพากษ์นี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ในกระบวนการทางนิติศาสตร์ ในประเด็นของกรอบ แนวคิด ทฤษฎี และรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่คำพิพากษาคดีนี้ยังมิได้วินิจฉัย
ประเด็นที่หนึ่ง หลักนิติธรรม สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 3 วรรคสอง “การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม”
มาตรา 40 “บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ดังต่อไปนี้
(2) สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย.....การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตน....ฯ
(3) บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะให้คดีของตนได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม”
มาตรา 197 “การพิจารณาพิพากษา...ต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไทย พระมหากษัตริย์ ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย”
มาตรา 219 วรรคห้า “อำนาจหน้าที่ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”

สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาคดี และคำพิพากษาของศาลที่ขัดต่อ
รัฐธรรมนูญ - หลักนิติธรรม
- สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
- โดยยุติธรรม


อาทิเช่น
(1) โดยหลักนิติธรรมซึ่งเป็นหลักกฎหมายสากล กล่าวคือ การใช้อำนาจรัฐต้องไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ และมีความเสมอภาค คดีนี้ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดต่อสู้ว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ หลายคนเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ถูกกล่าวหา อาทิเช่น บางคนร่วมชุมนุมและขึ้นเวทีกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกว่าพันธมิตรฯ ซึ่งคณะบุคคลคณะนี้ได้รับการแต่งตั้งจากคณะปฏิวัติ แต่ในคำพิพากษาของศาล กลับวินิจฉัยรับประกันความชอบธรรมให้กับบุคคลคณะนี้โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม โดยให้เหตุผลว่า บุคคลอย่างนายกล้านรงค์ จันทิก , นายแก้วสรร อติโพธิ มีสิทธิที่จะร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นการแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมืองโดยชอบ บุคคลดังกล่าวมีความชอบธรรมที่จะเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ ข้อวินิจฉัยดังกล่าวจึงถือเป็นการที่ศาลใช้อำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม เพราะโดยข้อเท็จจริง คณะบุคคลดังกล่าวได้แสดงออกเป็นที่ประจักษ์ในสังคมโดยทั่วไปว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คณะบุคคลดังกล่าวจะให้ความเป็นธรรมในการสอบสวนได้อย่างไร โดยเฉพาะวิธีพิจารณาความในคดีนี้ มาตรา 5 บัญญัติว่า “ให้ศาลยึดสำนวนคดีของ ป.ป.ช.(ในคดีนี้คือ คตส.) เป็นหลักในการพิจารณาคดี” ดังนั้น หากศาลไม่คำนึงถึงความเป็นกลางของพนักงานสอบสวนแล้ว จะได้รับความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาได้อย่างไร
ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ ได้ยื่นคำชี้แจง คำถามเพื่อซักค้าน โดยมีวัตถุประสงค์ให้ศาลนำหลักนิติธรรมมาพิจารณาว่า คณะบุคคลดังกล่าวไม่มีความเป็นกลาง เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ถูกกล่าวหาในขณะที่มีการพิจารณาคดีของศาล โดยการนำเสนอพยานหลักฐานให้เห็นว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีความเป็นกลาง แต่ผู้พิพากษาในคดีนี้ กลับไม่ยอมรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าว และในที่สุดกลับมีคำวินิจฉัยยอมรับคณะบุคคลดังกล่าว ซึ่งเข้ามาใช้อำนาจรัฐโดยวิถีทางที่ไม่ใช่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะได้รับการแต่งตั้งจากคณะปฏิวัติ

(2) คดีนี้มีข้อต่อสู้คำร้องของพนักงานอัยการเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งควรนำมาวินิจฉัยว่า คำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบที่ คตส.013/2550 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระทำความผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตนเองหรือพวกพ้อง เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คณะอณุกรรมการไต่สวนไม่มีอำนาจสอบสวน การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจร้องให้ยึดทรัพย์ในคดีนี้
อำนาจยื่นคำร้องและ/หรืออำนาจฟ้องเป็นปัญหาสำคัญในข้อกฎหมายว่า หากการสอบสวนไม่ชอบ การฟ้องหรือยื่นคำร้องคดีก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย ซึ่งเป็นการตัดอำนาจฟ้องและอำนาจยื่นคำร้องที่ทำให้พนักงานอัยการไม่อาจที่จะยื่นคำร้องยึดทรัพย์ของผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ได้
ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ปรากฎจากรายงานการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ครั้งที่ 21/2550 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2550 ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ปรากฎในรายงานการประชุมหน้าที่ 15
มติที่ประชุม เห็นชอบให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฉบับเดิม และใช้คำสั่งใหม่แทน โดยเปลี่ยนเป็น “การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีกล่าวหา พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร กระทำความผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตนเองหรือพวกพ้อง”
ซึ่งจากมติที่ประชุมหมายความว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนมีอำนาจหน้าที่ไต่สวนเฉพาะเรื่องที่มติที่ประชุมกำหนดให้ทำหน้าที่เท่านั้น
ปัญหา ภายหลังที่คณะ คตส.มีมติที่ประชุมแล้ว ประธานกรรมการตรวจสอบ (นายนาม ยิ้มแย้ม) กลับออกคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบที่ คตส.013/2550 ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนให้มีหน้าที่เกินเลยขอบเขตของมติที่ประชุม คือ คำสั่ง คตส.013/2550 กล่าวคือ “คำสั่งระบุให้คณะอนุกรรมการไต่สวนมีอำนาจไต่สวนในเรื่องการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคม และเรื่องอื่นๆเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตนเอง ครอบครัว หรือพวกพ้อง ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม หรือเป็นกรณีที่มีให้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาก หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องจากการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ”
ข้อพิจารณา เมื่อตรวจสอบมติของคณะ คตส.กับคำสั่งของคณะ คตส.ดังกล่าวข้างต้น เห็นได้ประจักษ์ชัดแจ้งว่า คำสั่งที่ออกเป็นการเกินขอบเขตที่มติ คตส.ให้อำนาจไว้ จึงถือว่าเมื่อคำสั่งขัดแย้งกับมติต้องถือว่าคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จากปัญหาดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นคำชี้แจงและพยายามนำข้อเท็จจริงเสนอศาลทั้งการถามพยานบุคคลที่อัยการนำมาไต่สวนในชั้นศาล คือ นายนาม ยิ้มแย้ม แต่ศาลก็ไม่รับฟังและในที่สุดคำพิพากษาในคดีนี้ ก็มิได้วินิจฉัยข้อต่อสู้ของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาในเรื่องอำนาจฟ้องและยื่นคำร้องของอัยการในคดีนี้ ถือว่าศาลไม่อำนวยความยุติธรรมให้กับผู้ถูกกล่าวหาในข้อต่อสู้ที่เป็นประเด็นสำคัญในคดีนี้

***** (3) คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในคดีนี้ ในประเด็นเรื่องกรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นค่าภาษีสรรพสามิต
ข้อกล่าวหาตามประเด็นดังกล่าวข้างต้น ศาลมีคำพิพากษา โดยมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า ผู้ถูกกล่าวหา (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ) ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ในการตราพระราชกำหนดและออกประกาศกระทรวงการคลังรวมทั้งมีมติคณะรัฐมนตรีให้นำภาษีสรรพสามิตหักออกเป็นการกีดกันผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายใหม่ การกระทำอันเป็นการเอื้อประโยชน์จนเป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหายตามที่อัยการยื่นคำร้อง โดยข้อวินิจฉัยในสาระสำคัญ ในแง่ของการรับฟังพยานหลักฐานคงอาศัยคำเบิกความของนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ซึ่งบุคคลผู้นี้ ได้แสดงความเห็นเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ถูกกล่าวหา รับฟังพยานบุคคลนายสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธ์ นายสิทธิชัย โภคัยอุดม ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธฯ มาเป็นหลักในการพิจารณา
ข้อพิจารณา การปฏิบัติหน้าที่ของศาลในการใช้อำนาจพิจารณาคดีเป็นไปโดยยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะในคดีนี้ปรากฎข้อเท็จจริงดังนี้
1) ผู้ถูกกล่าวหาได้ยกข้อต่อสู้ในคดีนี้ว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริง กล่าวคือ รัฐมิได้มีความเสียหาย ซึ่งจะได้ว่ากล่าวกันต่อไปว่ารัฐมิได้รับความเสียหายอย่างไร เพราะข้อเท็จจริงที่ทราบเป็นการหยิบเงินจากกระเป๋าซ้ายนำมาเข้ากระเป๋าขวาของตนเท่านั้นเอง เพราะเป็นเงินหน่วยงานของรัฐทั้งสิ้นเป็นผู้จัดเก็บในระหว่างกรมสรรพสามิตกับ ทศท.
ในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งถือเป็นสาระสำคัญที่ศาลละเลย และส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กล่าวคือ ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้ประเด็นนี้ในข้อกฎหมายต่อศาลว่า ข้อกล่าวหาของอัยการผู้ร้องในคดีนี้ เป็นการขัดแย้งต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้
1.1 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 14/2546 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2546 กรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 219 กรณีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 พ.ศ.2546 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 218 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า การตราพระราชกำหนดทั้งสองฉบับเป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ถือเป็นการตราพระราชกำหนดที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแล้ว
1.2 คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 32/2548 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2548 เรื่องผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 198 ว่า พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 มาตรา 3 เฉพาะพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตตอนที่ 12 ว่าด้วยกิจการที่ได้รับอนุญาตหรือสัมปทานจากรัฐ ประเภทที่ 12.01 กิจการโทรคมนาคมมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 วรรคหนึ่ง มาตรา 40 วรรคสอง ประกอบมาตรา 335 (2) และมาตรา 50 หรือไม่ โดยคำร้องในคดีนี้นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกวุฒิสภากับพวก ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อพ.ต.ท.ทักษิณฯและคณะเป็นผู้ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาให้เป็นผู้ร้องในคดีนี้
ข้อสังเกตุ จะเห็นได้ว่ากรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นค่าภาษีสรรพสามิตนี้ ถูกตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายโดยศาลรัฐธรรมนูญถึงสองครั้ง กล่าวคือ ครั้งแรกในขณะเป็นพระราชกำหนดถูกให้ตรวจสอบว่า การตราพระราชกำหนดขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นการตราขึ้นโดยไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ศาลก็ได้วินิจฉัยว่า เป็นการตราพระราชกำหนดโดยชอบ ซึ่งต่อมาพระราชกำหนดนี้โดยกระบวนการทางรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญที่กำหนด ได้กลายเป็นพระราชบัญญัติ และเมื่อเป็นพระราชบัญญัติก็ถูกตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง เป็นไปตามคำวินิจฉัยที่ 32/2548
คำวินิจฉัยของศาลในคดีนี้มีประเด็นสำคัญที่วินิจฉัยคือ
เรื่องที่ 1 การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคมขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 40 เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการใช้สอยทรัพยากร การเก็บภาษีสรรพสามิตฯมีลักษณะเป็นการเรียกเก็บค่าอากรตอบแทนที่รัฐให้บริการหรือสิทธิพิเศษอย่างหนึ่งอย่างใดจากผู้ได้รับบริการ
ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า
การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคมดังกล่าวเป็นเพียงนโยบายแห่งรัฐด้านการจัดเก็บรายได้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำประโยชน์สาธารณะเท่านั้น ไม่ได้เป็นการริดสอนสิทธิและเสรีภาพ หรือจำกัดการเข้าถึงการใช้ประโยชน์สาธารณะจากทรัพยากรสื่อสารของชาติแต่อย่างใด ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ในมาตรา 40 เช่นไร ก็ยังใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวได้อยู่เช่นนั้น จึงไม่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสื่อสารของชาติแต่อย่างใด การเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตเป็นเพียงนโยบายแห่งรัฐด้านการจัดเก็บรายได้ เพื่อนำมาใช้จ่ายในกิจการสาธารณะของรัฐ ซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์ในการจำกัดสิทธิการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสื่อสารของชาติอันเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 40(1)
เรื่องที่ 2 การตราพระราชกำหนดดังกล่าวเป็นการแทรกแซงการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอันเป็นอำนาจหน้าที่ของ กทช. และทำให้การเก็บภาษีมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกับการเรียกเก็บค่าอากรตอบแทนการที่รัฐให้บริการ กล่าวคือ มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญของสัญญาสัมปทานโดยปริยาย ประกอบกับการจ่ายภาษีสรรพสามิตจะมีผลกระทบต่อ “ต้นทุน” และจะกระทบต่อการกำหนดอัตราค่าตอบแทน ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการการใช้กิจการโทรคมนาคม เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กทช.
ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า
การใช้อำนาจรัฐในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตมิได้เป็นการก้าวล่วงการใช้อำนาจของ กทช. เนื่องจากการจัดเก็บมิได้เป็นเงื่อนไขหรือองค์ประกอบที่สำคัญในการกำหนดโครงสร้างค่าธรรมเนียมและค่าบริการของผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการ และไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะบังคับใช้เพื่อการกำกับกิจการของ กทช. กทช.ยังมีอำนาจในการกำหนดค่าตอบแทนหรือค่าธรรมเนียมการอนุญาตใช้คลื่นความถี่ หรือกำหนดโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบริการดังเดิม และไม่เป็นการริดรอนอำนาจ กทช. แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้บริษัทผู้ร่วมการงานต้องผลักภาระภาษีสรรพสามิตให้กับผู้ใช้บริการ อันทำให้ค่าบริการมีราคาสูงขึ้น มีผลกระทบต่อประชาชน เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว ที่ป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อราคาค่าบริการโทรคมนาคมที่มีราคาสูง อันเกิดจากภาระภาษีสรรพสามิตที่ผู้ประกอบการผลักให้ผู้ใช้บริการเท่านั้น ในฐานะที่เป็นรัฐบาลจึงต้องคุ้มครองประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการในขณะเดียวกันรัฐก็ต้องคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
นอกจากนี้ มิได้มีการเปลี่ยนแปลงในค่าส่วนแบ่งรายได้และมิใช่เป็นการแปลงหรือแก้ไขสัญญาสัมปทานแต่อย่างใด เพราะผู้ประกอบการรายเก่ายังต้องเสียค่าส่วนแบ่งรายได้เท่าเดิมเป็นไปตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
เรื่องที่ 3 การจัดเก็บภาษีเป็นการขัดต่อหลักเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม โดยกล่าวหาว่าการกำหนดให้ผู้ประกอบการรายใหม่เสียภาษีสรรพสามิตในอัตราเดียวกับผู้ประกอบการรายเก่า ทั้งที่ผู้ประกอบการรายเก่าได้สิทธิพิเศษจากสัญญาร่วมการงาน รวมทั้งมีฐานลูกค้าและพัฒนาเครื่องหมายการค้าและบริการ จึงทำให้ต้นทุนการให้บริการต่อหน่วยของผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งมีฐานลูกค้าที่เล็กกว่าในระยะเริ่มต้นนั้น สูงกว่าต้นทุนของผู้ประกอบการรายเก่าที่ดำเนินกิจการมาแต่เดิม ดังนั้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจึงขัดต่อหลักเสรีภาพในการประกอบกิจการ หรือประกอบอาชีพ และการแข่งขันโดยเสรี
ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า
บทบัญญัติตามพระราชกำหนดเป็นเรื่องของการจัดเก็บภาษีอันเป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจในทางนโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาล โดยให้ผู้ประกอบการทุกรายเสียภาษีในอัตราเดียวกัน บนฐานเดียวกัน และมีวัตถุประสงค์หลักที่มุ่งเน้นการจัดหารายได้ให้รัฐ ดังที่ปรากฎในหมายเหตุท้ายพระราชกำหนด จึงเห็นว่าการจัดเก็บภาษีมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะแทรกแซงเสรีภาพในการประกอบอาชีพ หรือการแข่งขันโดยเสรีแต่อย่างใด แต่เป็นมาตรการของรัฐเพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
แม้ว่าการยอมให้ผู้ประกอบการรายเก่าสามารถนำภาษีสรรพสามิตไปหักจากส่วนแบ่งรายได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหม่ไม่สามารถกระทำได้นั้น ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน อันนำไปสู่การผูกขาดในการประกอบการ เมื่อผู้ประกอบการรายเก่าเสียค่าใช้ประโยชน์ในกิจการโทรคมนาคมในรูปส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ และยังต้องเสียภาษีสรรพสามิตอีก ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหม่เสียค่าใช้ประโยชน์ในรูปภาษีสรรพสามิตเพียงอย่างเดียวอาจเกิดความไม่เป็นธรรม ซึ่งตามหลักของการบริหารภาษีที่ดีว่า จะต้องจัดเก็บเสมอภาคและเป็นธรรม รัฐจึงยอมให้ผู้ประกอบการรายเก่าหักเงินที่จะต้องเสียภาษีสรรพสามิตออกจากส่วนแบ่งรายได้เพื่อรักษาความเป็นธรรมในการแข่งขัน
นอกจากนี้การที่รัฐยอมให้ผู้ประกอบการรายเก่านำภาษีสรรพสามิตที่จะต้องจ่ายหักออกจากส่วนแบ่งรายได้จัดส่งให้รัฐแทน ทำให้การผลักภาระภาษีจากผู้ประกอบการไปสู่ผู้บริโภคไม่เกิดขึ้น เนื่องจากต้นทุนของผู้ประกอบการไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด การยอมให้กระทำเช่นนี้เป็นเพียงความต้องการที่จะคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการมิให้ต้องจ่ายค่าบริการที่แพงขึ้น
มาตรการของรัฐดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 50 วรรคสอง
ดังนั้นการจัดเก็บภาษี แม้ว่าจะเป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพโดยเสรี แต่เนื่องจากเป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และมีมาตรการรองรับในการขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภค จึงไม่มีปัญหาในเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ***********

ข้อวิเคราะห์ที่ควรนำมาพิจารณา
กรณีการแปลงค่าสัมปทานเป็นค่าภาษีสรรพสามิตมีกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย คือ
1) ฝ่ายนิติบัญญัติ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา
2) ฝ่ายบริหาร โดยคณะรัฐมนตรี
ทั้งกรณีที่ 1 และ 2 ถือเป็นกระบวนการในระบบรัฐสภาของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
3) ฝ่ายตุลาการ โดยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นศาลสูงสุดของประเทศ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในปัจจุบัน มาตรา 216 วรรคห้า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ”

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งถือเป็นศาลยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 219
ปัญหาจากคำพิพากษาในประเด็นนี้ อาศัยคำเบิกความของพยานบุคคลเช่นนายสมเกียรติ , นายสิทธิชัย และนายสถิตย์ แล้ววินิจฉัยในเนื้อหาของคำพิพากษาว่ารัฐได้รับความเสียหายเป็นการเอื้อประโยชน์ ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ในการตรา พรบ.ทั้งสองฉบับ ขัดแย้งต่อการทำหน้าที่ของ กทช. และส่งผลต่อสถานะความมั่นคงของ ทศท. และผู้ประกอบการรายใหม่
คำวินิจฉัยทั้งปวงของศาลฎีกาฯล้วนเป็นคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเด็ดขาดแล้ว ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองคดีดังกล่าวข้างต้น
ศาลยุติธรรมโดยแผนกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีนี้ ได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงจากคำวินิจฉัยเด็ดขาดของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองคดีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโดยข้อต่อสู้ของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาที่ต่อสู้ในคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และจากการนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองเรื่องอ้างส่งต่อศาลว่า ข้อกล่าวหาของอัยการในคดีนี้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันศาลและองค์กรอื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคห้า ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งศาลในคดีนี้ต้องพิจารณาคดีโดยยึดรัฐธรรมนูญมาตรา 197 กล่าวคือ การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีต้องดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรคห้า กำหนดให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันถึงศาลและองค์กรอื่นของรัฐ
แต่องค์คณะผู้พิจารณาพิพากษาโดยเสียงข้างมากในคดีนี้ กลับใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยวินิจฉัยคดีนี้ขัดหรือแย้งต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยสิ้นเชิงในทุกประเด็น ในเรื่องกรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นค่าภาษีสรรพสามิต
หมายเหตุ – การวินิจฉัยในประเด็นนี้มีอคติ ทำให้การวินิจฉัยในข้อเท็จจริงผิดพลาด คือ นายวันมูฮะหมัด นอร์มะทา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มิได้เป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย แต่ในคำวินิจฉัยของศาลกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย ซึ่งถือว่าคลาดเคลื่อน หากถือว่าเป็นศักดิ์ศรีของศาลสูงของประเทศ

(4) คำวินิจฉัยของศาลทั้งห้าประเด็น คือ (1)ไม่ว่าเป็นกรณีการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งโดยมิชอบ เอื้อประโยชน์ชินคอร์ปฯหรือไม่ (2) กรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นค่าภาษีสรรพสามิต (3) กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (4) กรณีการส่งดาวเทียมไอพีสตาร์ขึ้นไปเป็นดาวเทียมสำรองให้กับดาวเทียมไทยคม 3 และ(5) การอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)
ทั้ง 5 ประเด็นดังกล่าวถือเป็นกรณีกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณฯใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยไม่ชอบ
ข้อวิเคราะห์
1) การปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา เป็นการปกครองในรูปคณะบุคคล จึงมีการจัดให้ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยเป็นมติคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจได้โดยลำพัง ต้องมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ตามหลักกฎหมาย “หากไม่มีกฎหมายให้อำนาจย่อมไม่มีอำนาจ” จึงต้องมีการตรากฎหมายพิเศษให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรี ซึ่งจากการตรวจสอบมีประมาณ 50 กว่าฉบับ เช่น พรบ.กฤษฎีกาฯ หรือ พรบ.การกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นต้น หากไม่มีกฎหมายให้อำนาจแล้ว การใช้อำนาจจะเป็นการใช้อำนาจของคณะบุคคล คือ คณะรัฐมนตรี ภายใต้หลักความรับผิดชอบร่วมกัน ดังเช่น รัฐธรรมนูญปัจจุบันได้บัญญัติไว้ในมาตรา 171 ว่า คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน
สภาพปัญหา คำวินิจฉัยคดีนี้ไม่จำแนกว่าอำนาจใดเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี และอำนาจใดเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี หรืออำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี เพราะหากจำแนกอำนาจหน้าที่แล้ว จะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณฯหลุดพ้นความรับผิดจากข้อกล่าวหา ดังนั้น จะเห็นคำวินิจฉัยของศาลขัดแย้งกัน อาทิเช่น ในบางเรื่องไม่นำเข้าคณะรัฐมนตรีก็อ้างโดยคาดคะเนว่าแทรกแซงผ่านรัฐมนตรี หรือบางเรื่องนำเข้าคณะรัฐมนตรีก็กล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณฯสั่งการ ทั้งๆที่ทุกเรื่องเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในฐานะฝ่ายบริหาร
หากคำนึงถึงฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เจ้าพนักงานผู้จะมีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติต้องเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะ และมีเจตนาพิเศษ แต่กรณีนี้เป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบใช้อำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด แต่คดีนี้ใช้การคาดเดาว่านายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลสั่งการ ทั้งๆที่ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนคำวินิจฉัย
2) การใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยทางรัฐสภา และการใช้อำนาจบริหารโดยคณะรัฐมนตรีมีการตรวจสอบการใช้อำนาจโดยกระบวนการทางรัฐสภา ในปัจจุบันมีระบบศาลคู่ คือ ศาลปกครอง นอกเหนือจากศาลยุติธรรม ดังนั้น ประเด็นการตรวจสอบการใช้อำนาจทั้งสองกรณี น่าจะเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจโดยศาลปกครอง หากจะมีการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายจริง แต่เนื่องจาก คณะปฏิวัติใช้กฎหมายพิเศษ โดยการตั้งคณะ คตส.แล้วเขียนอำนาจให้นำขึ้นสู่ศาลยุติธรรมแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงเป็นการใช้อำนาจรัฐโดยขัดต่อหลักนิติธรรม โดยวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย แต่กลับยอมรับอำนาจที่ถือเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น

(5) สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล
คำวินิจฉัยคดีนี้ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลตามสิทธิส่วนบุคคลที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครอง กล่าวคือ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 35 สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ตลอดจนความเป็นอยู่ส่วนตัว ย่อมได้รับความคุ้มครอง
การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความหรือภาพ ไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยังสาธารณะชน อันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว จะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
คดีนี้ ตามคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาล แม้องค์คณะผู้พิพากษาจะอ้างว่า เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่มีข้อสังเกตุว่า คำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลเป็นการใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม เป็นการเลือกปฏิบัติและไม่มีความเสมอภาค กล่าวคือ ในคำวินิจฉัย ศาลได้นำข้อกล่าวหาของอัยการสูงสุด ผู้ร้องในคดีนี้ มาเขียนในคำวินิจฉัยเกือบทั้งหมด ซึ่งในคำร้องมีข้อกล่าวหาที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ทั้งสิ้น เพราะเป็นข้อกล่าวหาที่สาธารณะเมื่อได้รับฟังย่อมเกิดความเกลียดชังต่อผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัว องค์คณะผู้พิพากษาก็เลือกปฏิบัติ นำเฉพาะคำร้องของฝ่ายอัยการนำมาไว้ในคำวินิจฉัยและอ่านให้สาธารณะรับทราบในลักษณะที่ทำให้คิดโดยสุจริตว่า กำลังมุ่งประจานผู้ถูกกล่าวหา และครอบครัว แต่ข้อต่อสู้ของผู้ถูกกล่าวหาที่ได้ต่อสู้ว่ามิได้กระทำผิดตามคำร้องของอัยการ องค์คณะผู้พิพากษากลับเพียงย่อความที่ทำให้สาธารณะไม่อาจทราบได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้ในเรื่องใดบ้าง ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลจึงมิได้คุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลแต่อย่างใด

(6) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองไว้ในบทบัญญัติมาตรา 39 ว่า ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ และมาตรา 40 ได้บัญญัติให้ บุคคลมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยทั่วถึงทั้งการเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตน และมีสิทธิได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้องและเป็นธรรม
คดีนี้เป็นคดีที่ถึงที่สุดโดยศาลเดียว ไม่มีการอุทธรณ์ ฎีกา แม้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญจะให้อุทธรณ์คำพิพากษาต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แต่ก็มีข้อจำกัดว่าต้องเป็นพยานหลักฐานใหม่ และมีเวลาเพียง 30 วัน
ดังนั้นการพิจารณาคดีนี้ หากคำนึงถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และถ้าจะอำนวยความยุติธรรมแล้ว ศาลต้องดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีโดยดำเนินการไต่สวนดังนี้
1. ต้องรับฟังพยานหลักฐานทุกฝ่าย ซึ่งถือเป็นหลักการรับฟังพยานหลักฐาน โดยพยานหลักฐานใดที่เป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหา ก็ต้องนำมารับฟัง มิใช่รับฟังพยานในส่วนที่เป็นผลร้ายแก่ผู้ถูกกล่าวหา ทั้งนี้เป็นไปเพื่อการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน และเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา หากไม่ดำเนินการเช่นนี้ เท่ากับละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่ผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับการพิจารณาคดีโดยถูกต้อง ดังนั้นการเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตน ต้องรับฟังให้เสร็จสิ้นกระแสความ
2. เป็นการพิจารณาโดยศาลเดียวถึงที่สุด ดังนั้นควรให้โอกาสแก่คู่ความโดยเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่จะซักถามพยานเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงและข้อโต้แย้ง รวมทั้งพยานหลักฐานของตนได้เต็มที่ โดยไม่ขัดขวางการนำเสนอพยานหลักฐานที่เป็นข้อเท็จจริงและข้อโต้แย้งในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหา เพราะหากขัดขวางการนำเสนอดังกล่าวถือเป็นการไม่อำนวยความยุติธรรม เพราะทำให้ข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาที่มุ่งพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน ไม่สามารถเข้าสู่สำนวนคดีเพื่อให้ศาลชั่วน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ โดยเฉพาะคดีนี้ เป็นคดียึดทรัพย์สินซึ่งถือเป็นคดีแพ่ง
สภาพปัญหา
1. ศาลเลือกรับฟังพยานในส่วนที่เป็นผลร้ายแก่ผู้ถูกกล่าวหาแต่เพียงฝ่ายเดียว พยานหลักฐานใดที่เป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหา กลับถูกละเลย เพิกเฉย ไม่สนใจ ไม่นำพาที่จะนำพยานหลักฐานในส่วนที่เป็นคุณมาวินิจฉัย แม้ในบางประเด็นจะขัดแย้งต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
2. ศาลไม่ยอมให้ทนายความของผู้ถูกกล่าวหาซักถามและนำเสนอข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวมทั้งข้อโต้แย้งและพยานหลักฐานที่เป็นสาระสำคัญในประเด็นแห่งคดี ทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ทราบว่ามีข้อขัดแย้งระหว่าง องค์คณะผู้พิพากษาบางท่านอย่างน้อย 2 ท่าน ในคดีนี้ ที่ขัดขวางการซักถามพยานและการนำเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานอยู่ทุกนัดการพิจารณาคดี และทราบว่าคณะทนายความได้โต้แย้งการปฏิบัติหน้าที่ขององค์คณะผู้พิพากษาบางท่านไว้ในสำนวนคดีนี้แล้ว จึงเป็นปัญหาว่า การพิจารณาคดีนี้เป็นไปโดยยุติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 197 หรือไม่ เพียงใด

(7) การจัดทำและเรียบเรียงคำพิพากษาของศาล
คดีนี้น่าจะเป็นการร่างคำพิพากษาไว้ล่วงหน้า โดยมีเหตุผลดังนี้
1. มีการประชุมองค์คณะผู้พิพากษาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 เพื่อประชุมธงของคำพิพากษาในแต่ละประเด็นว่า องค์คณะผู้พิพากษาจะตัดสินในประเด็นต่างๆอย่างไร โดยทราบว่าองค์คณะแต่ละคน จะจัดทำคำวินิจฉัยส่วนตนมาเพื่อเข้าประชุม ซึ่งในวันดังกล่าวใช้เวลาประชุมจนถึง 13.30 น. และเริ่มอ่านคำพิพากษาในเวลาประมาณ 13.40 น. ซึ่งไปเสร็จสิ้นเวลาประมาณ 21.00 น. รวมเวลาที่ศาลอ่านคำพิพากษาถึง 7 ชั่วโมงเศษ ดังนั้น โดยเหตุผลความเป็นจริง การอ่านใช้เวลาถึง 7 ชั่วโมงเศษดังกล่าวข้างต้น แล้วการเขียนและเรียบเรียงคำพิพากษาให้ถูกต้องต้องใช้เวลามากกว่า 7 ชั่วโมงเศษเป็นแน่ เพราะการเขียนและเรียบเรียงย่อมใช้เวลามากกว่าการอ่าน แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่า เมื่อประชุมธงเสร็จ (ตามข่าว) องค์คณะผู้พิพากษาก็อ่านคำพิพากษาทันที ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง
2. ในคำพิพากษาที่วินิจฉัยชี้ขาดในแต่ละประเด็น จะใช้เสียงข้างมาก ไม่สามารถระบุเหมือนคำพิพากษาในคดีอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องโปร่งใสอย่างยิ่งว่าในแต่ละประเด็นมีการตัดสินในปัญหาต่างๆที่แพ้ชนะกันในอัตราเท่าไร ซึ่งควรจะบอกได้ อาทิเช่น 6 ต่อ 3 หรือ 7 ต่อ 2 หรือ 5 ต่อ 4 เป็นต้น ดังเช่นคดีที่ดินรัชดา หรือคดีกล้ายาง ที่ผลคำพิพากษารู้ล่วงหน้าว่านายเนวิน ชิดชอบ หลุดพ้นคดี ด้วยอัตราเสียงของผู้พิพากษา 8 ต่อ 1 เป็นต้น แต่คดีนี้กลับไม่เป็นไปดังคำพิพากษาเดิมที่มีมา ไม่สามารถบอกได้ว่า ในแต่ละประเด็นแพ้ชนะกันด้วยเสียงเท่าใด ในคำวินิจฉัยกลับใช้ข้อความว่า เสียงข้างมาก ซึ่งทำให้เกิดความเคลือบแคลง
มีข้อสังเกตุว่า เมื่อมีข้อเท็จจริงตาม 1 และ 2 แล้ว ปัญหาที่น่าสนใจติดตามค้นหาความจริงคือ มีการประชุมธงก่อนมีการอ่านคำพิพากษาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 จริงหรือไม่ หรือมีการเขียนคำพิพากษาไว้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ศาลต้องอธิบายต่อสาธารณะให้หายเคลือบแคลงสงสัย อันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ฝ่ายกฏหมายแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
27 ก.พ.53

http://mahaprachachon.iirt.com

----------------------------------------------------------

FfF