จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 หรือ วันมหาวิปโยค เป็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาและประชาชนในประเทศไทย มากกว่า 5 แสนคน ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการ จอมพลถนอม กิตติขจร
สาเหตุ
เหตุการณ์เริ่มมาจากการที่จอมพลถนอม กิตติขจร ทำการรัฐประหารตัวเองในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 โดยนักศึกษาและประชาชนมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจตนเองจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งในขณะนั้นจอมพลถนอมจะต้องเกษียณอายุราชการเนื่องจากอายุครบ 60 ปี อีกทั้งจอมพลประภาส จารุเสถียร บุคคลสำคัญในรัฐบาล ก็มิได้รับการยอมรับเหมือนจอมพลถนอม แต่กลับต่ออายุราชการให้ตนเอง ประกอบกับข่าวคราวเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการต่าง ๆ สร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่ประชาชน29 เมษายน พ.ศ. 2516 เฮลิคอปเตอร์ทหารหมายเลข ทบ.6102 เกิดอุบัติเหตุตกที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม มีดาราหญิงชื่อดังในขณะนั้นคือ เมตตา รุ่งรัตน์ โดยสารไปด้วย มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6 คน ในซากเฮลิคอปเตอร์นั้นพบซากสัตว์เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นซากกระทิง ที่ทางผู้ที่ใช้ล่ามาจากทุ่งใหญ่นเรศวรซึ่ง เป็นพื้นที่ป่าสงวน สร้างกระแสไม่พอใจในหมู่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และประชาชนทั่ว ไปเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นปลายเดือนพฤษภาคมและต้นเดือนมิถุนายน นิสิตนักศึกษากลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติฯ 4 มหาวิทยาลัยได้ออกหนังสือชื่อ บันทึกลับจากทุ่งใหญ่[1] เปิดโปงเกี่ยวกับกรณีนี้ ผลการตอบรับออกมาดีมาก จนขยายผลโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงกลุ่มหนึ่งออกหนังสือ ชื่อ มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ เป็นผลให้ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดีสั่งลบชื่อนักศึกษาแกนนำ 9 คนออก ซึ่งทำให้เกิดการประท้วงจนนำไปสู่การชุมนุมในวันที่ 21 และ 22 มิถุนายน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ท้ายสุด ดร.ศักดิ์ ต้องยอมคืนสถานะนักศึกษาทั้ง 9 คน และดร.ศักดิ์ ก็ได้ลาออกไปเพื่อแสดงความรับผิดชอบ
เริ่มต้นเหตุการณ์
6 ตุลาคม มีบุคคลร่วมลงชื่อ 100 คน เพื่อเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพ หลายวงการ เช่น นักวิชาการ นักการเมือง นักคิด นักเขียน นิสิต นักศึกษา เป็นต้น จากนั้น นักศึกษา 13 คน นำโดย นายธีรยุทธ บุญมี ได้เดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพ ฯ โดยอ้างถึงใจความในพระราชหัตถ์เลขาของรัชกาลที่ 7 ที่ส่งถึงรัฐบาลถึงสาเหตุที่ทรงสละราชสมบัติ แต่ทางตำรวจนครบาลจับได้เพียง 11 คน และจับขังนักศึกษาทั้ง 11 คนนี้ไว้ที่โรงเรียน ตำรวจนครบาลบางเขนและนำไปขังต่อที่เรือนจำกลางบางเขน พร้อมตั้งข้อหาร้ายแรงว่า เป็นการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ โดยห้ามเยี่ยม ห้ามประกันเด็ดขาด ซึ่งบุคคลทั้ง 13 นี้ ได้ถูกเรียกขานว่าเป็น 13 ขบถรัฐธรรมนูญ จากนั้นจึงได้มีการประกาศจับ นายก้องเกียรติ คงคา นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และตามจับ นายไขแสง สุกใส อดีต ส.ส.จ.นครพนม ขึ้นอีก รวมทั้งหมดเป็น 13 คน โดยกล่าวหาว่า นายไขแสงเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการแจกใบปลิวครั้งนี้ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้สร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นครั้งใหญ่แก่มวลนักศึกษา และประชาชนอย่างมาก จนนำไปสู่การชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงของการสอบกลางภาคด้วย แต่ทางองค์กรนัก ศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ได้ประกาศและติดป้ายขนาดใหญ่ไว้ว่า งด สอบ พร้อมทั้งยื่นคำขาดให้ทางรัฐบาลปล่อยตัวทั้งหมดนี้ก่อนเที่ยงวันที่ 13 ตุลาคม แต่เมื่อถึงเวลาแล้วรัฐบาลก็หาได้ยอมกระทำไม่การเดินขบวนครั้งใหญ่จึงเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ออกไปตามถนนราชดำเนิน สู่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีแกนนำเป็นนักศึกษาและมีประชาชนเข้าร่วมด้วยจำนวนมาก (คาดการกันว่ามีราว 500,000 คน) แกนนำนักศึกษาได้เข้าพบเจรจากับรัฐบาลและบางส่วนได้เข้าเฝ้า ฯ จนได้ข้อยุติเพียงพอที่จะสลายตัว แต่ทว่าด้วยอุปสรรคทางการสื่อสารและมวลชนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากไม่อาจควบคุม ดูแลได้หมด ก็นำไปสู่การนองเลือดในเช้าตรู่วันที่ 14 ตุลาคม เมื่อเกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่บริเวณหน้าพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมจะสลายตัวกลับทางนั้น แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้ผ่าน จึงเกิดการปะทะกันกลายเป็นการจลาจล ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และถนนราชดำเนิน พบเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งบินวนอยู่เหนือเหตุการณ์และมีการยิงปืนลงมาจาก เฮลิคอปเตอร์ลำนั้นเพื่อสลายการชุมนุม โดยผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ยืนยันว่าบุคคลที่ยิงปืนลงมานั้นคือ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร
หลังจากนั้น วิทยุ กระจายเสียงแห่งประเทศไทยประกาศว่า จอมพลถนอม ได้ลาออกจากตำแหน่งแล้ว และมีพระบรมราชโองการโปรดแต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระราชดำรัสแถลงออกโทรทัศน์ด้วยพระองค์เอง แต่ทว่าเหตุการณ์ยังไม่สงบโดยกลุ่มทหารได้เปิดฉากยิงเข้าใส่นักศึกษาและ ประชาชนอีกครั้งหลังจากพระราชดำรัสทางโทรทัศน์เพียงหนึ่งชั่วโมงเมื่อนัก ศึกษาพยายามพุ่งรถบัสที่ไม่มีคนขับเข้าใส่สถานีตำรวจ ที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยเนื่องจากผู้ชุมนุมนับพันยังไม่วางใจในสถานการณ์ ได้มีการประกาศท้าทายกฎอัยการศึกในเวลา 22.00 น. และ ประกาศว่าจะอยู่ที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยทั้งคืนเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้ถูก หลอกอีกครั้ง ซึ่งในตอนหัวค่ำวันที่ 15 ได้มีประกาศว่า จอมพลถนอม จอมพลประภาส และ พ.อ.ณรงค์ ได้เดินทางออกนอกประเทศแล้ว เหตุการณ์จึงค่อยสงบลง และวันที่ 16 ตุลาคม ผู้ชุมนุมและประชาชนต่างพากันช่วยทำความสะอาดพื้นถนนและสถานที่ต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหาย
หลังเหตุการณ์
ภายหลังเหตุการณ์นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จเยี่ยมผู้ได้รับบาด เจ็บตามโรงพยาบาลต่าง ๆ และสำหรับผู้เสียชีวิตทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชทานเพลิงศพผู้เสียชีวิตที่ทิศเหนือท้องสนามหลวงด้วย และอัฐินำไปลอยอังคารด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา อ่าวไทยคณะรัฐมนตรี มีมติให้ก่อสร้าง อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ขึ้นที่ สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง โดยกว่าจะผ่านกระบวนต่าง ๆ และสร้างจนแล้วเสร็จนั้น ต้องใช้เวลาถึง 28 ปี
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประชาชนต่าง ๆ จากหลายภาคส่วน โดยไม่มีนักการเมืองร่วมอยู่ด้วยเลย และใช้สนามม้านางเลิ้งเป็น สถานที่ร่าง โดยเรียกกันว่า สภาสนามม้า จนนำไปสู่การเลือกตั้งในต้นปี พ.ศ. 2518 ซึ่งในช่วงระยะเวลานั้น มีคำเรียกว่าเป็นยุค ฟ้าสีทองผ่องอำไพ แต่ทว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ในประเทศยังไม่สงบ มีการเรียกร้องและเดินขบวนของกลุ่มชนชั้นต่าง ๆ ในสังคม ประกอบกับสถานการณ์ความมั่นคงในประเทศรอบด้าน แม้รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่มีเสถียรภาพเพียงพอที่จะแก้ไข สถานการณ์ได้ จนนำไปสู่เหตุนองเลือดอีกครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อปี พ.ศ. 2519 คือ เหตุการณ์ 6 ตุลา
นอกจากนี้แล้วเหตุการณ์ 14 ตุลา นับเป็นการลุกฮือของ ประชาชน (People's uprising) ครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จในยุคศตวรรษที่ 20 และยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับภาคประชาชนในประเทศอื่น ๆ ทำตามในเวลาต่อมา เช่น ที่ เกาหลีใต้ในเหตุการณ์จลาจลที่เมืองกวางจู เป็นต้น[2]
พ.ศ. 2546 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์กำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันประชาธิปไตย" เป็นวันสำคัญของชาติ ในโอกาสครบรอบเหตุการณ์ 30 ปี[3]
ดูเพิ่ม
- อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
- ภาพยนตร์ไทย 14 ตุลา สงครามประชาชน
- เหตุการณ์ 6 ตุลา
- คนเดือนตุลา
- หมวดหมู่:บุคคล ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 14 ตุลา
อ้างอิง
- ^ e-book บันทึกลับจากทุ่งใหญ่, 2516
- ^ หนังสือ มาร์ค เขาชื่อ... อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ. พ.ศ. 2548, ISBN 978-974-93358-1-9
- ^ สภาฯกำหนด 14 ตุลาคม เป็น "วันประชาธิปไตย" ผู้จัดการรายวัน 22 พ.ค. 2546
แหล่งข้อมูลอื่น
- อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
- 14 ตุลา วันประชาธิปไตย
- 14 ตุลา สงครามประชาชน (คนล่าจันทร์) ภาพยนตร์ที่สร้างอิงจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
- บันทึกความทรงจำ
- บันทึกลับจากทุ่งใหญ่
------------------------------------------------------
ลำดับเหตุการณ์ 14 ตุลา วันมหาวิปโยค
5 ตุลาคม 2516
16.00 น. กลุ่มผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้แก่ ธีรยุทธ บุญมี, ประสาร มฤคพิทักษ์, ประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร และ ธัญญา ชุนชฎาธาร แถลงข่าว เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งร่างรัฐธรรมนูญและประกาศใช้โดยเร็ว โดยมีผู้ลงนาม 100 คนแรก เช่น พล.ต.ต.สง่า กิตติขจร, นายเลียง ไชยกาล, นายพิชัยรัตตกุล, นายไขแสง สุกใส, ดร.บญสนอง บุญโยทยาน, ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ, ดร.ชัยอนันต์ สมุทรวณิช, อาจารย์ทวี หมื่นนิกร เป็นต้น
6 ตุลาคม 2516
10.00 น. กลุ่มผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญ พร้อมกันนั้น สมาชิกประมาณ 20 คน เดินแจกใบปลิว
14.00 น. ตำรวจสันติบาลเข้าจับกุมผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ 11 คน ซึ่งได้แก่ ธีรยุทธ บุญมี, ประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร, นพพร สุวรรณพานิช, ทวี หมื่นนิกร, มนตรี จึงศิริอารักษ์, ปรีดี บุญซื่อ, ชัยวัฒน์ สุรวิชัย, บุญส่ง ชเลธร, วิสา คัญทัพ, บัณฑิต เองนิลรัตน์ และ ธัญญา ชุนชฎาธาร ขณะเดินแจกใบปลิวแถวประตูน้ำ
19.00 น. กรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ประชุมที่บ้านนายกสโมสรนิสิตจุฬา
20.30 น. ที่ประชุมให้นักศึกษา 5 คน ไปเยี่ยมและประกันผู้ถูกจับกุม แต่ได้รับการปฏิเสธ
7 ตุลาคม 2516
11.00 น. มีการเพิ่มข้อหากบฏในราชอาณาจักร กับผู้ถูกจับกุม
12.00 น. องค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ ตกลงว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์จะต้องทำการประท้วง และสถาบันอื่นเสนอให้ธรรมศาสตร์เป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหว
14.00 น. ตำรวจจับกุม ก้องเกียรติ คงคา นักศึกษารามคำแหง และออกหมายจับ ไขแสง สุกใส
8 ตุลาคม 2516
6.00 น. มีโปสเตอร์โจมตีรัฐบาลว่าเป็นเผด็จการทั่วเชียงใหม่ นายกสโมสรนักศึกษา มช. ประกาศร่วมเคลื่อนไหวพร้อมทางกรุงเทพฯ ทุกระยะ
8.00 น. วันแรกสอบประจำภาคของ มธ. มีโปสเตอร์ประนามรัฐบาลอย่างรุนแรงทั่วมหาลัย
9.30 น. นักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ชุมนุมอภิปรายโจมตีรัฐบาลเรียกร้องให้ปล่อยผู้ถูกจับกุมทั้งหมด
13.00 น. นักศึกษาธรรมศาสตร์ ชุมนุมหน้าหอประชุมใหญ่จากนั้นขึ้นรถบัสไปศูนย์ฝึกตำรวจนครบาลบางเขน เพื่อขอเยี่ยมผู้ถูกจับกุมแต่ถูกปฏิเสธไม่ให้เยี่ยม
20.00 น. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์โจมตีรัฐบาล เรียกร้องให้นักศึกษาธรรมศาสตร์เลื่อนการสอบแล้วร่วมชุมนุมที่ลานโพธิ์ มีการประชุมลับและมีมติให้เลื่อนการสอบไล่โดยไม่มีกำหนด
22.00 น. นักศึกษาธรรมศาสตร์ส่วนหนึ่งแยกย้ายกันเอาโซ่และลวดล่ามประตูขึ้นตึก เอาปูนอุดรูกุญแจห้องสอบ ตัดสายไฟเพื่อให้ลิฟท์ทุกตึกใช้การไม่ได้
9 ตุลาคม 2516
8.00 น. นักศึกษาธรรมศาสตร์ เข้าห้องสอบไม่ได้ จึงมาร่วมชุมนุมที่บริเวณลานโพธิ์ หน้าตึกศิลปศาสตร์ นักเรียนนักศึกษาทุกสถาบันในพระนคร เดินทางมาร่วมชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ ในต่างจังหวัดเคลื่อนไหวสนับสนุน จอมพลประภาส จารุเสถียร เรียกประชุมข้าราชการกระทรวงมหาดไทย สรุปว่านักศึกษาที่เคลื่อนไหวมีคอมมิวนิสต์จากต่างประเทศแทรกแซง จึงจำเป็นต้องกำจัดนิสิตนักศึกษาร้อยละ 2 จากจำนวนแสนคน เพื่อความอยู่รอดของบ้านเมือง สั่งเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อม อาจารย์มหาลัยธรรมศาสตร์ 205 คน มีมติเป็นเอกฉันท์ทำหนังสือด่วนมากถึงจอมพลถนอม กิติขจร เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ รัฐบาลตอบโต้ด้วยการให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเบ็ดเสร็จ สามารถจัดการกับผู้ต้องหาโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม และทบวงมหาวิทยลัยของรัฐ ประกาศให้นิสิตนักศึกษาปฏิบัติตามกำหนดการสอบอย่างเคร่งครัด ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประชุมคณบดีทุกคณะของมหาวิทยาลัย มีมติเลื่อนการสอบไปแบบไม่มีกำหนด
10 ตุลาคม 2516
10.00 น. นักศึกษาจากวิทยาลัยครูและอาชีวะในกรุงเทพทบอบเดินทางเข้าร่วมชุมนุม
14.00 น. ศูนย์กลางนิสิตฯ รับช่วงการนำการชุมนุมต่อจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยแบ่งหน้าที่ออกเป็นสามระดับ ฝ่ายรัฐบาลแต่งตั้งจอมพลประพาส จารุเสถียร เป็นผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความสงบ
20.30 น. มีผู้ชุมนุมนับหมื่นคนแออัดยัดเยียดลานโพธิ์ จึงย้ายไปที่สนามฟุตบอล การชุมนุมประท้วงขยายวงกว้างไปตามจังหวัดต่างๆ ที่มีสถาบันอุดมศึกษา เช่น ปัตตานี, สงขลา, อุดรธานี, นครราชสีมา, เชียงใหม่ และ บางแสน
11 ตุลาคม 2516
เวลาเช้าศูนย์กลางนิสิตินักศึกษานิมนต์พระสงฆ์ จากวัดมหาธาตุประมาณ 200 รูปเขามาบิณฑบาต
9.00 น. นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ งดสอบ และเช่ารถบัส 70 คัน เดินทางสู้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
10.00 น. ตัวแทนศูนย์กลางนิสิตฯ เจรจากับรัฐบาลให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่ได้รับการปฏิเสธ และไม่รับปากว่าจะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จโดยเร็ว
12.30 น. การโจมตียังคงเน้นไปที่ ถนอม-ประภาส-ณรงค์ และมีการประกาศยอดเงินสนับสนุนในการเคลื่อนไหว 200,000 บาท มีนักเรียนไทยในอเมริกา, เยอรมัน และออสเตรเลีย ส่งเงินมาสมทบอีกด้วย จนถึงเที่ยงวันที่ 13 ตุลาคม มียอดเงินสมทบ 500,000 บาท
13.30 น. นักศึกษาประกาศไม่ได้เป็นศัตรูกับสถาบันทหารและตำรวจ แต่จะขอเป็นศัตรูกับกลุ่มผู้ทำลายประเทศเท่านั้น
13.50 น. อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ปรามหนังสือพิมพ์ไม่ให้ลงข่าวประท้วงของนักศึกษามากกินไป เวลานั้นมีแต่ นสพ. เท่านั้นที่ลงข่าวประท้วงของนักศึกษา ส่วนสื่อของรัฐทุกประเภทไม่ออกข่าวประท้วง แถมยังออกข่าวให้ร้ายผู้ถูกจับกุมอีก
19.00 น. ตัวแทนนักเรียนช่างกล ช่างก่อสร้างจากโรงเรียนต่างๆ ที่เข้าร่วมชุมนุมขึ้นเวทีประกาศเลิกตีกัน จะร่วมกันต่อสู้และขอเป็นกองหน้าถ้าเกิดการปะทะกัน ประกาศ "พี่คือสมอง น้องคือกำลัง" กระทั่งตำรวจได้รับคำสั่งให้สกัดรถที่บรรทุกนักเรียน นักศึกษา ไม่ให้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ทั้งยังห้ามเจ้าของรถโดยสารทุกชนิด ไม่ให้นักเรียนนักศึกษาเช่า
12 ตุลาคม 2516
การจราจรบนถนนทุกสาย ที่มุ่งไปธรรมศาสตร์เกิดติดขัดอย่างหนัก เพราะคลื่นฝูงชนนักเรียนนักศึกษา มุ่งหน้าสู่ธรรมศาสตร์
12.00 น. สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตฯ แถลงการณ์ "ให้ปลดปล่อยผู้ต้องหาทั้ง 13 คนภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่เที่ยงวันที่ 12 ตุลาคม ถึงเที่ยง วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม 2516 ถ้ายังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐเป็นที่พอใจ จะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด"
14.00 น. จอมพลถนอม กิตติขจร เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีที่กองบัญชาการปราบปรามจลาจล สวนรื่นฤดี และมีมติในหลักการให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คนโดยมีประกันตัว
19.45 น. หน้าม้ารัฐบาลเดินทางไปประกันตัวผู้ถูกจับกุม แต่ทุกคนไม่ยอมออกจากห้องขัง จนกว่าจะมีตัวแทนจากศูนย์กลางนิสิตฯ ไปรับ
21.00 น. วิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ออกข่าวเรื่องการประกันตัว กล่าวหาว่ามีการซ่องสุมอาวุธร้ายแรงไว้ในธรรมศาสตร์
22.00 น. ศูนย์กลางนิสิตฯ ประกาศไม่ยอมรับการประกันตัว ให้ปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขเท่านั้น
13 ตุลาคม 2516
5.00 น. สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ เลขาธิการพร้อมด้วยคณะกรรมการศูนย์นิสิตนักศึกษาฯ ได้ขึ้นกล่าวคำปฏิญาณต่อที่ชุมนุมจะเทิดทูลชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไว้ด้วยชีวิต ผู้ใดทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ จะต่อสู้จนกว่าชีวิตจะหาไม่
8.00 น. นักเรียนนักศึกษาประชาชนพากันมาสมทบจนล้นออกมาจากธรรมศาสตร์ คาดการณ์กันว่าไม่ต่ำกว่า 500,000 คน ที่ศูนย์ปราบปรามจลาจลสวนรื่นฤดี มีการเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ทหารหน่วยพลร่มป่าหวาย ลพบุรี และทหารราบ 11 ถูกเรียกตัวประจำการได้รับคำสั่งให้ติดดาบปลายปืนเตรียมประจันบานมีการวางเครื่องกีดขวางป้องกันการบุกของประชาชน ครอบครัวของ ถนอม-ประภาส-ณรงค์ เกรงไม่ปลอดภัยหลบเข้ากองอำนวยการสวนรื่นฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล หน่วยปราบปรามจลาจลของตำรวจ ยกกำลังเข้าตรึงทำเนียบไว้อย่างหนาแน่นประตูทางเข้าล่ามโซ่ปิดตาย รถดับเพลิงหัวสูบแรงสูงเตรียมพร้อม
9.00 น. คณะกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ กำหนดผู้ปฏิบัติงานออกเป็น 3 ชุด
ชุดที่ 1 ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กับ ผู้ร่วมทีมเป็นผู้ไปเจรจากับรัฐบาลเป็นครั้งสุดท้าย
ชุดที่ 2 เลขาธิการศูนย์ฯ กับผู้ร่วทีมไปขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระตำหนักจิตรลดาฯ
ชุดที่ 3 เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และ ผู้ร่วมทีมทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของขบวนนักเรียนนักศึกษาประชาชน
มีการจัดขบวนแบ่งเป็นหน่วยต่างๆ
หน่วย A กรรมการศูนย์
หน่วย B ประสานงาน
หน่วย C.1 ฝ่ายสวัสดิการ
หน่วย C.2 ฝ่ายแสงแเสียง
หน่วย C.3 ฝ่ายข่าวกรอง
หน่วย C.4 รักษาความปลอดภัย ซึ่งแบ่งเป็นหน่วยย่อย
เฟืองป่า เป็นกองหน้า
กนก50 รักษารถกองบัญชาการ
คอมมันโด รักษากองบัญชาการที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
หมี, ฟันเฟือง, ช้าง, เซฟ, เสือเหลือง รักษาความปลอดภัยทั่วไป
นอกจากนั้นยังมี ฝ่ายแพทย์ ฝ่ายรับบริจาค ฝ่ายยานยนต์ และฝ่ายประสานงานทั่วไป นี่คือการจัดขบวนของกองทัพประชาชน
12.00 น. ศูนย์ยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาล โฆษกศูนย์ ประกาศว่าวันนี้จะเป็นวันแห่งชัยชนะของประชาชน จากนั้น การเดินขบวนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์ชาติไทยก็เริ่มขึ้น คลื่นมนุษย์ 500,000 คนไหลบ่าออกจากประตูธรรมศาสตร์ด้านสะพานพระปิ่นเกล้าฯ เลียบไปตามถนนราชดำเนินกลางไปตั้งหลักที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
15.00 น. ระลอกสุดท้ายจึงก้าวพ้นประตูธรรมศาสตร์ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โฆษกศูนย์ฯ เริ่มอภิปรายท่ามกลางฝูงชน 500,000 คน นับเป็นกองทัพประชาชนที่มีพลังมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ขึ้นประกาศว่า มาตรการขั้นเด็ดขาดมิใช่นั่งอยู่ที่อนุสาวรีย์หลายๆ วันแต่จะดูท่าทีรัฐบาลใน 2 ชั่วโมง ถ้า 5 โมงเย็นยังไม่มีคำตอบจากรัฐบาล ขบวนจะเคลื่อนต่อไป
16.30 น. สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ เลขาธิการศูนย์ ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กราบทูลเป้าหมายในการต่อสู้ของนักเรียนนักศึกษาประชาชน ซึ่งได้มีพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า "...เมื่อนักศึกษาได้ดำเนินการตามเป้าหมายและได้รับผลตามสมควรแล้ว ก็ขอให้กลับคืนสู่สภาพปกติ เพื่อยังความสงบเรียบร้อยให้เกิดแก่ประชาชนทั่วไป"
20.00 น. วิทยุกรมประชาสัมพันธ์ประกาศข่าวว่า รัฐบาลยอมรับข้อเสนอของศูนย์ฯ และปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คนโดยไม่มีเงื่อนไขแล้ว
22.00 น. เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้บอกกับผู้ชุมนุมว่า ได้ข่าวว่ารัฐบาลยอมตามข้อเสนอของศูนย์แล้ว แต่ขอให้ทุกคนอยู่ในอาการที่สงบอย่าพึ่งแตกขบวน ต่อมา สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ กลับจากรับตัวผู้ต้องหากลับแล้วศูนย์ฯ ได้เซ็นสัญญากับรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว เมื่อฝูงชนได้ทราบว่า รัฐบาลปล่อยตัวผู้ต้องหาโดยไม่มีเงื่อนไขก็โห่ร้องแสดงความยินดี สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ ประกาศเป็นครั้งที่ 2 ว่า รัฐบาลจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายในเดือนตุลาคม 2517 ผู้ชุมนุมต่างก็แสดงความไม่พอใจพากันตะโกน "ไม่เอา! ไม่เอา! เราต้องการรัฐธรรมนูญเร็วกว่านี้" ในขณะเดียวกันวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ แถลงเตือนประชาชนว่า ทางรัฐบาลได้ยินยอมปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คนโดยไม่มีเงื่อนไขแล้ว อย่าให้มีการก่อกวนความสงบ ถ้ามีจะถือว่าผู้นั้นมิใช่นักเรียนนักศึกษา แต่เป็นฝ่ายตรงข้ามที่พยายามก่อกวน
14 ตุลาคม 2516
02.00 น. เสกสรรค์ ประเสริฐกุล แถลงทางเครื่องขยายเสียง ขอให้กรรมการศูนย์ฯ คนใดคนหนึ่งมาพบ เพื่อประมวลข่าวต่างๆ ให้เพื่อนนักเรียนนักศึกษาประชาชนทราบ เพราะขณะนั้นสถานการณ์เริ่มเลวลง มวลชนเริ่มร้อนแรงขึ้น ฝ่ายปฏิบัติการณ์ไม่อาจจะควบคุมได้ จนเวลาผ่านไปเป็นชั่วโมง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล จึงตัดสินใจเคลื่อนขบวนไปที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน แต่ขบวนประชาชนได้มาเผชิญหน้ากับแถวปิดกั้นของตำรวจที่อยู่ในสภาพเตรียมพร้อม จึงไม่สามารถเคลื่อนขบวนต่อไปได้
02.30 น. ที่หน้าประตูสวนจิตรฯ ด้านสวนสัตว์ดุสิต นายธีรยุทธ บุญมี, นายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์, นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล, นายสมพงษ์ สระกวี, นายวีระ จันทรแจ้ง, นายมนิตย์ สรยุทธเสนีย์, นายกนก วงศ์ตระหง่าน เกือบทั้งหมดเป็นกรรมการศูนย์ฯ ใช้รถทหารติดเครื่องขยายเสียงประกาศเข้าไปด้านสวนสัตว์ดุสิต ขอให้ขบวนการนักศึกษาสลายตัว และด้วยความเข้าใจผิด ยังได้กล่าวว่า เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นกบฏ เป็นคอมมิวนิสต์ มีแผนจะล้มราชบัลลังก์ นักเรียนนักศึกษาอย่าได้หลงเชื่อ แต่คนในขบวนหน้าสวนจิตร กลับพากันโห่ร้องขับไล่ เพราะไม่เชื่อศูนย์ฯ อีกต่อไป และ ไม่เชื่อว่าเป็นเสียงกรรมการศูนย์ฯ ตัวจริง เพราะไม่ปรากฏตัว
03.00 น. ธีรยุทธ บุญมี ได้พบกับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และได้ทำความเข้าใจกัน
04.00 น. พ.ต.อ.วสิษฐ์ เดชกุญชร นายตำรวจพระราชวัง ออกมาจากสวนจิตร พร้อมกับอัญเชิญพระราโชวาทออกมาอ่านให้ผู้ชุมนุมฟังความว่า "คนที่เป็นผู้ใหญ่ (คนแก่) นั้น เขามีประสบการณ์ ส่วนคนหนุ่มสาวมีพลังทั้งร่างกายและทั้งความคิด ถ้าหากมาปรองดองสมัครสมานกัน ทำงานอย่างพร้อมเพรียง ไม่ผิดใจแคลงใจกัน การบ้านเมืองก็จะดำเนินไปด้วยดี นิสิตนักศึกษาก็เป็นผู้ที่ผ่านการทดสอบเลือกเฟ้นมาเป็นที่แน่นอนแล้วว่า มีทั้งสติและปัญญาพร้อมมูล จึงควรจะได้รู้ถึงความผิดชอบชั่วดีทุกอย่าง นิสิตนักศึกษาได้ดำเนินการมาตรงเป้าหมาย และได้รับผลตามสมควรแล้ว ก็ขอให้กลับคืนสู่สภาพปกติ เพื่อยังความสงบเรียบร้อยให้เกิดแก่ประชาชนทั่วไป" นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล และกรรมการศูนย์อีกหลายคน ได้ขึ้นพูดขอให้ทุกคนพอใจในสิ่งที่เรียกร้อง ขอให้ทุกคนแยกย้ายกันกลับบ้าน พร้อมกันนั้นได้ขอให้ทุกคนร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ด้วยความเป็นห่วง พ.ต.อ.วสิษฐ์ เดชกุญชร ยังได้พูดขอร้องทหารตำรวจ ที่ปิดกั้นถนนตอนนั้น เปิดทางให้ขบวนที่สลายตัวผ่านกลับบ้านแต่ พ.ต.ท.มนต์ชัย กับหน่วยคอมมันโดยืนกรานไม่ยอมให้ผ่าน
05.30 น. ตำรวจปิดกั้นถนนพระราม 5 ไว้ด้านหนึ่ง นักศึกษาจึงต้องทยอยออกด้านเดียวทางสนามม้านางเลิ้ง แต่มีนักศึกษาส่วนหนึ่งที่อยู่ด้านสี่แยกจิตรลดา ได้ขอร้องให้ตำรวจเปิดทางให้ พวกตนจะได้กลับบ้านได้เร็วขึ้น เพราะถือว่าการเดินขบวนได้ยุติแล้ว พล.ต.ต.ณรงค์ มหานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลได้สั่งให้ตำรวจเปิดทางให้แนวหนึ่งเพื่อให้นักศึกษาผ่านออกไปได้ประมาณร้อยคน ทันใดนั้น พล.ต.ท.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น ได้สั่งให้ตำรวจปิดสกัดกั้นทางไว้อย่างเดิมโดยกระทันหัน ไม่ยอมให้นักศึกษาผ่านแถวตำรวจอีก
06.00 น. ขบวนนักศึกษาถูกสกัดกั้นก็เกิดรวนเรผลักดันกันขึ้น และโดยไม่คาดฝัน พล.ต.ท.มนต์ชัย ได้สั่งให้ตำรวจทำการขับไล่นักศึกษา โดยใช้แก๊สน้ำตายิงเข้าไปและสั่งให้ตำรวจบุกตลุยเข้าไปในกลุ่มนัศึกษาทั้งหญิงและชาย จำนวนร้อยคนต้องบาดเจ็บ พวกนักศึกษาต่างวิ่งหนีกันไม่คิดชีวิต แต่ก็ยังถูกตามตีอย่างไม่ลดละนักศึกษาหญิงหลายคนถูกตีตกน้ำ และถูกลากขึ้นมาตีซ้ำอีก มีนักศึกษาหญิงคนหนึ่งว่ายน้ำไม่เป็นถูกตีวิ่งหนีลงน้ำแล้วหายไป นักเรียนช่างกลหลายคนฮึดสู้ แต่สู้ได้ไม่นานต้องล่าถอยไป ทหารรักษาวังเห็นเหตุการณ์รุนแรง จึงเปิดประตูวังให้นักศึกษาวิ่งหนีหลบภัยเข้าไปประมาณ 3,000 คน ตำรวจจึงหยุดอยู่หน้าประตูวัง
06.30 น. หลังปะทะกันแล้ว นักเรียนช่างกลประมาณ 2,000 คน ได้รวบรวมกำลังกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ขว้างปารถตำรวจ และทุบกระจกรถ กรป. กลาง
07.00 น. ศูนย์กลางนิสิต นักศึกษาฯ จึงกลับมาตั้งกองบัญชาการอีกครั้งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ได้ประกาศให้นักศึกษาทราบว่า นักศึกษาที่ถูกตำรวจตีที่หน้าพระราชวังได้เสียชีวิตหลายคน ทำให้นักเรียนนักศึกษาแค้นใจมาก ตรงเข้ายึดป้อมตำรวจท่าพระจันทร์หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เผาทันที ฝ่ายตำรวจสั่งรถดับเพลิงคันหนึ่งมาดับเพลิงแต่ถูกนักศึกษายึดไว้ได้
08.00 น. เป็นต้นไป กลุ่มนักเรียนนักศึกษาได้รวบรวมกำลังกันอย่างรวดเร็ว โดยมีหน่วยเสือเหลืองและฟันเฟืองเป็นกำลังสำคัญ รวบรวมอาวุธเท่าที่จะหาได้ มีไม้ เหล็กท่อน ระเบิดขวด และปืนทำเอง วิทยุกรมประชาสัมพันธ์กระจายเสียงบิดเบือนว่า นิสิตนักศึกษา ก่อวินาศกรรม บุกรุกพระราชวังสวนจิตรลดาฯ ใช้ปืนและระเบิดทำร้ายตำรวจ จุดมุ่งหมายจะยึดและล้มล้างการปกครองของประเทศ รัฐบาลจะใช้อาวุธเข้าปราบปราม ขอให้ประชาชนจงอยู่ในความสงบ
10.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้สร้างเครื่องกีดขวางทางจราจรที่หน้ากรมประชาสัมพันธ์ ขนโต๊ะเก้าอี้ของกรมประชาสัมพันธ์มาขวางเรียงราย และยึดรถขนขยะ รถดูดส้วมของเทศบาลได้ 2 คัน ยึดรถเมล์ขาวไว้ 5 คัน นำมาจอดขวางถนนราชดำเนินไว้ จากนั้นเข้ายึดกรมประชาสัมพันธ์ ทำลายสิ่งของแตกเสียหาย แต่ภายหลัง ทหารเรือ 200 คน ได้เข้ายึดคืนโดยไม่มีการปะทะ
10.30 น. พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ได้วิทยุติดต่อไปที่กองบัญชาการปราบปรามการจลาจลที่สวนรื่นฤดี ขอคำสั่งอนุมัตินำทหารจากกรมทหารราบที่ 11 ร.อ. เพื่อนำกำลังเข้าปราบปรามร่วมกับตำรวจ และได้วิทยุติดต่อกรมขนส่งทหารบก ขอกำลังเฮลิคอปเตอร์ทหารบกอีก 4 ลำ ออกปฏิบัติการร่วมกับทหารราบที่ 11 ที่บริเวณราชดำเนินและสนามหลวง ขณะที่นักเรียนนักศึกษาอีกกลุ่ม บุกเข้าสถานีตำรวจชนะสงครามเพื่อจะเผา แต่ถูกเจ้าหน้าที่ต่อต้านไว้ แต่ต่อมาตำรวจก็หนีหมด
11.00 น. กลุ่มนักเรียนนักศึกษาถูกอาวุธเจ้าหน้าที่ล้มตายหลายสิบคน เพราะพยายามบุกเข้าเผากรมสรรพากรและกรมประชาสัมพันธ์ มีเฮลิคอปเตอร์รายงานจากการตรวจการณ์ ส่งตรงถึง จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส ว่า ใต้ตึกโดมในธรรมศาสตร์มีการซ่องสุมอาวุธและผู้คนเป็นไปตามแผนคอมมิวนิสต์ และเฮลิคอปเตอร์ใช้ปืน M16 ยิงลงมาใส่ประชาชนบริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์ มีคนตายและบาดเจ็บหลายสิบคน
12.30 น. มีทหารประมาณ 50 คน บุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นกองบัญชาการของฝ่ายนักศึกษา นักศึกษาเปิดประตูสู้ถูกทหารยิงบาดเจ็บล้มตายหลายสิบคน ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลใช้รถถัง 10 คัน พร้อมทหารติดดาบปลายปืน ชุดสงคราม ใช้ปืนกลยิงกราดไปยังกลุ่มนักศึกษาประชาชน ทำให้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก มีนักเรียนช่างกลบ้าเลือดคนหนึ่ง ขับรถบรรทุกน้ำเข้าชนรถถังและถูกยิงตายคาพวงมาลัย นักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งใช้รถ 3 คัน ติดเครื่องเข้าเกียร์ใช้ก้อนหินทับคันเร่ง ปล่อยให้รถวิ่งเข้าชนรถถัง คนขับรถขนขยะของเทศบาล ขับรถมาหน้าสำนักงานสลากกินแบ่งฯ เห็นรถถังกำลังยิงกราดประชาชน จึงตัดสินใจขับรถขนขยะพุ่งเข้าชนรถถัง และถูกยิงแสกหน้าตายคาที่ ทางด้านสำนักงาน กตป. สำนักงานสลากกินแบ่งฯ และกองปราบปรามกรมตำรวจที่ผ่านฟ้าถูกนักเรียนนักศึกษาจุดไฟเผาป้อมตำรวจหลายแห่ง ก่อให้เกิดจลาจลไปทั่วพระนครธนบุรี
19.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงได้มีพระราชดำรัสทางวิทยุกระจายเสียงถึงประชาชนชาวไทยว่า
"วันนี้เป็นวันมหาวิปโยคในประวัติศาสตร์ของประชาชนชาวไทย ตลอดเวลา 7-8 วันที่ผ่านมา ได้มีการเรียกร้องและเจรจากัน จนกระทั่งนักศึกษาและรัฐบาลทำความตกลงกันได้ แต่แล้วการขว้างระเบิดขวดและแก๊สน้ำตา ทำให้เกิดการปะทะกันและมีคนได้รับบาดเจ็บหลายคน ความรุนแรงได้ทวีขึ้นทั่วพระนคร ถึงขั้นจลาจลและยังไม่สิ้นสุด มีคนไทยด้วยกันต้องเสียชีวิตนับร้อย ขอให้ทุกฝ่ายทุคนพึงระงับเหตุแห่งความรุนแรงร้ายด้วยการตั้งสติยับยั้ง เพื่อให้ชาติบ้านเมืองคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด อนึ่ง เพื่อขจัดเหตุร้ายนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อค่ำวันนี้ ข้าพเจ้าจึงแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายร่วมกันสนับสนุน เพื่อคณะรัฐบาลใหม่สามารถบริหารงานแผ่นดินได้โดยมีประสิทธิภาพเต็มเปี่ยม และแก้ไขสถานการณ์ให้บังเกิดแก่ประเทศ และประชาชนชาวไทยโดยทั่วกัน..."
15 ตุลาคม 2516
ตลอดคืนวันที่ 14 ตุลาคม จนเช้าวันที่ 15 ตุลาคม มีการต่อสู้ของนักเรียนนักศึกษาประชาชนตำรวจ ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลผ่านฟ้า และตามถนนราชดำเนินกลาง มีเสียงปืนเสียงระเบิดและมีควันไฟพุ่งขึ้นท้องฟ้า กองบัญชาการนครบาลถูกเผาอีก สถานการณ์การจลาจลได้ขยายวงกว้างออกไปจากส่วนกลางพระนครธนบุรีกว้างขวางยิ่งขึ้น มีการทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ป้อมตำรวจส่วนกลางพระนครธนบุรีทุกแห่งถูกเผา มีการทำลายป้อมสัญญาณไฟ ถนนทุกสายไม่มีแม้แต่เงาของตำรวจสักคน บ้านเมืองตกอยู่ในสภาพจลาจลวุ่นวาย ทุกคนรักษาความปลอดภัยของตนเอง และยังไม่มีทีท่าว่าการจลาจลนองเลือดจะจบสิ้นลง ในการเคลื่อนไหวถึงขึ้นจลาจลครั้งนี้ ยังให้ข้อสังเกตุว่ามีทหารพรานหน่วย 333 ในลาวมาเข้าร่วมเป็นฝ่ายที่ 3 ในการจลาจลด้วย วิทยุกรมประชาสัมพันธ์ประกาศว่า จอมพลถนอมฯ จอมพลประภาสฯ ลาออกจากผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด
18.40 น. สถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประชาสัมพันธ์ ได้ประกาศข่าวการหนีออกนอกประเทศของจอมพลถนอม จอมพลประภาส และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ทำให้ประชาชนที่จับกลุ่มในย่านชุมนุมชนต่างๆ ต่างก็ไชโยโห่ร้องด้วยความยินดี พร้อมกับเสียงปรบมือกันดังสนั่นหวั่นไหว
หลังจากเหตุการณ์สงบประชาชนจำนวนมากค่อยๆ สลายตัวพากันกลับบ้าน โดยมีรถเมล์สายต่างๆ มาพาไปส่งบ้านโดยไม่เก็บค่าโดยสาร และในตอนเช้าตรู่ จอมพลถนอม กิตติขจร และบริวารออกเดินทางจากดอนเมือง ลี้ภัยการเมืองสู่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา
16 ตุลาคม 2516
กรุงเทพฯ ซึ่งได้ตกอยู่ในสภาวะจลาจลตลอด 3 วัน ได้กลับคืนสู่สภาวะปกติอีกครั้ง บนถนนไม่มีตำรวจจราจรออกปฏิบัติหน้าที่แม้แต่คนเดียว มีแต่ลูกเสือนักเรียนนักศึกษา ออกมาทำหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่จราจรแทน รถเมล์ทุกสายออกวิ่งรับส่งผู้เดินทางตามปกติ
16.00 น. มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรีรวม 27 คน นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการที่จะออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ชุมนุมประท้วงในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี จะทำหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าจะร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ และยังตั้ง "คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ผู้ประสบภัยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516"
24 ตุลาคม 2516
นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 18 นาย โดยมี นายประกอบ หุตะสิงห์ เป็นประธานกรรมการ
27 ตุลาคม 2516
16.00 น. ได้มีงานพิธีสวัสดิมงคลเพื่อประเทศชาติและประชาชน ซึ่งสมเด็จพระราชาคณะ และรองสมเด็จพระราชาคณะในกรุงเทพมหานคร นำคณะสงฆ์ทุกวัดทั่วราชอาณาจักร เจริญพระพุทธมนต์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
30 ตุลาคม 2516
นายกรัฐมนตรีใช้คำสั่งตามอำนาจมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร อายัติทรัพย์สินของจอมพลถนอม กิตติขจรและภรรยา จอมพลประภาส จารุเสถียรและภรรยา และพันเอกณรงค์ กิตติขจรและภรรยา โดยตั้งคณะกรรมการสอบสวนการได้มาซึ่งทรัพย์สิน ว่าได้มาโดยมิชอบหรือไม่
5 พฤศจิกายน 2516
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ในศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เนื่องมาจากความขัดแย้งกันในคืนวันที่ 14 ตุลาคม จากนั้นก็ได้จัดตั้งกลุ่ม "ธรรมศาสตร์เสรี" ขึ้นในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2516
8 พฤศจิกายน 2516
รัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม แก่นักศึกษาที่กระทำผิดเกี่ยวกับการเดินขบวน เมื่อ 13 ตุลาคม 2516 รัฐมนตรีสาธารณสุขตอบกระทู้ถามในกรณี 14 ตุลาคม ว่า
1. จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งสิ้น 974 คน
2. จำนวนผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 65 คน เป็นชาย 62 คน เป็นหญิง 3 คน
ในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาชาย 5 คน นักเรียนอาชีวะ 8 คน นักเรียนชาย 9 คน ข้าราชการพลเรือนชาย 3 คน ตำรวจชาย 4 คน ประชาชนชาย 32 คน หญิง 3 คน และเป็นสามเณร 1 รูป และจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดดังกล่าว ได้จากโรงพยาบาล 14 แห่งในเขตพระนครธนบุรี รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์เรื่องวันมหาวิปโยค มีใจความว่า "...รัฐบาลได้พิจารณาพฤติการณ์ของจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ตามสำนวนการสอบสวนของกระทรวงกลาโหมแล้ว เห็นว่าบุคคลทั้งสามได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย ข้อบังคับ ระเบียบแบบแผนของทางราชการ และแฝงไว้ด้วยโทษะจริต มุ่งหมายทำลายล้างนักเรียนนักศึกษาและประชาชน รัฐบาลจะได้มอบให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฏหมายต่อไป"
25 พฤศจิกายน 2516
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีร่วมกับนักศึกษาสถาบันอื่นจัดตั้ง "สหพันธ์นักศึกษาเสรีแห่งประเทศไทย" โดยมี เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นผู้ประสานงาน
29 พฤศจิกายน 2516
สมาชิกสภานิติบัญญัติได้ลาออก ตามคำเรียกร้องของชมรมบัณฑิต เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดใหม่
10 ธันวาคม 2516
โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสมัชชาแห่งชาติ ประกอบด้วย สมาชิกจำนวน 2,347 คน และสั่งให้ยุบสภานิติบัญญํติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2516 โดยมีการประชุมสมัชชาแห่งชาติ ณ ราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2516 เพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 299 คน โดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ที่มา : ย่อมาจากส่วนหนึ่งของหนังสือ บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย , 30 ปี 14 ตุลา
------------------------------------------------------
บันทึก เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา
จาก สารคดีฉบับพิเศษ "รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย"
พ.ศ.๒๕๔๑
๑๓ ต.ค. ๑๖
- ภายหลังจากที่กลุ่มผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญถูกจับกุมในข้อหากบฎล้มล้างรัฐบาล นักเรียน นิสิต นักศึกษาได้ชุมนุมประท้วงในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ถูกที่จับกุมทั้ง ๑๓ คน
๑๒.๐๐ น.
- ผู้ประท้วงในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวนกว่า ๒ แสนคน ได้เริ่มเคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขบวนมาหยุดรอดูท่าทีของรัฐบาลที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
๑๗.๓๐ น.
- เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้นำขบวน ได้ตัดสินใจสั่งเคลื่อนขบวนไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า
๒๒.๐๐ น.
- สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย แจ้งต่อที่ชุมนุมประท้วงว่า รัฐบาลยอมปล่อยตัว ๑๓ ผู้ต้องหาแล้วโดยไม่มีเงื่อนไข สำหรับรัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้นภายใน ตุลาคม ๒๕๑๗ ประเด็นหลังทำให้ผู้ชุมนุมไม่พอใจรัฐบาลที่ร่างรัฐธรรมนูญช้าเกินไป
๒๓.๓๐ น.
- รถบัญชาการของศูนย์ฯ ได้รับข่าวสารว่าทหารตำรวจตั้งกำลังประชิดบริเวณใกล้ลานพระบรมรูปฯ และมีข่าวจะใช้รถถังปราบผู้เดินขบวนที่จะเข้าไปใกล้สวนพุดตาน เสกสรรค์ประกาศเรียกกรรมการศูนย์ฯอีกครั้ง เพื่อขอมติในการดำเนินงานต่อไป ในที่สุด เสกสรรค์ได้ออกคำสั่งให้เคลื่อนขบวนไปที่สวนจิตรลดา เพื่อหวังพระบารมีเป็นที่พึ่ง
๑๔ ต.ค. ๑๖
๐๕.๓๐ น.
- ขณะที่กลุ่มคนเริ่มสลายตัวหลังจากได้รับทราบว่าเรื่องราวได้คลี่คลายลงแล้ว ตำรวจกลับไม่ยอมให้ฝูงชนผ่านถนนพระราม ๔ บริเวณสวนจิตรฯและเขาดิน และยิงด้วยระเบิดแก๊สน้ำตาพร้อมกับเข้าทุบตีคน นิสิตนักศึกษาบางส่วนหนีตายลงคูน้ำเข้าไปในวังสวนจิตรฯ นิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่ถอนกำลังออกไปตั้งหลักที่ธรรมศาสตร์ และทำการโจมตีตอบโต้ตำรวจอย่างรุนแรง ตามบริเวณถนนราชดำเนินระหว่างสี่แยกคอกวัวกับสนามหลวง
- ฝ่ายรัฐบาลส่งทหารจาก ร ๑๑ พร้อมด้วยรถถังเข้าคุมสถานการณ์ กำลังพลและรถถังเคลื่อนมาตามถนนจักรพงษ์เข้าเคลียร์พื้นที่บริเวณหน้าวัดชนะ สงคราม แล้วเคลื่อนกำลังไปยังหน้ากรมสรรพากร เกิดการปะทะกันบริเวณหน้ากรมสรรพากร กรมประชาสัมพันธ์ ถนนราชดำเนินกลาง ไปจนถึงกองบัญชาการตำรวจนครบาล ผ่านฟ้า
- จีระ บุญมาก ถูกยิงเสียชีวิตที่หน้ากรมประชาสัมพันธ์ ศพถูกนำไปแห่รอบเมือง
๑๒.๐๐ น.
- มีเฮลิคอปเตอร์สองลำ บินวนเหนือบริเวณที่เกิดเหตุ มีรายงานยืนยันว่า คนบนเฮลิคอปเตอร์ใช้ปืนกลยิงกราดใส่นักศึกษาบริเวณสนามหลวงและมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ นักเรียนและนักศึกษาเข้ายึด กตป. (คณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ) และเผาอาคารพร้อมด้วยอาคารกองสลากฯ
- ประพัฒน์ แซ่ฉั่ว หรือ "ไอ้ก้านยาว" ถูกยิงหน้าโรงแรมรอแยล
- การต่อสู้ดำเนินไปทั้งวัน และตอนกลางคืนได้รวมศูนย์อยู่ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ เป็นการต่อสู้ระหว่างตำรวจนครบาลกับฝ่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษา
๑๙.๔๐ น.
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกรายการโทรทัศน์ พระราชทานกระแสพระราชดำรัสแก่ประชาชนชาวไทยว่า วันที่ ๑๔ ตุลาคม เป็นวันมหาวิปโยค ทรงเปิดเผยว่ารัฐบาลจอมพลถนอมได้ลาออกแล้ว และทรงแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่
๑๕ ต.ค. ๑๖
๑๑.๐๐ -๑๑.๕๐ น.
-นักเรียน นิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่งบุกเข้าไปในกองบัญชาการตำรวจนครบาล มีการปาระเบิดเพลิงหลายลูก ทำให้กองบัญชาการถูกไฟไหม้ และเพลิงได้ลุกลามไปตามชั้นต่างๆ
๒๑.๔๗ น.
- จอมพล ประภาส จารุเสถียร พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร และครอบครัวได้เดินทางออกนอกประเทศ ขณะที่จอมพล ถนอม กิตติขจร เดินทางออกนอกประเทศในวันรุ่งขึ้น คือ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๑๖ เวลา ๒๒.๐๐ น.
ปูมหลัง
จอมพล ถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๐ ของประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๑ บริหารประเทศได้เพียงเก้าเดือนเศษก็ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดทางให้กับจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ เพื่อขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๑ ของประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศไม่เรียบร้อย
จอมพลสฤษดิ์อยู่ใน ตำแหน่งนายกฯนานสี่ปีกว่าจึงถึงแก่อสัญกรรม ถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวของประเทศที่เสียชีวิตในขณะที่อยู่ในตำแหน่ง เมื่อจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง
รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร รับช่วงบริหารประเทศตามรัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๐๒ สืบต่อจากรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๐๖ มาจนถึงปี ๒๕๑๑ จึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งร่างมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์เมื่อปี ๒๕๐๒ นับเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่างยาวนานมากและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการร่าง มากที่สุดยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดๆ ที่เคยมีมาในประเทศไทย (จ่ายเป็นเงินเดือนสมาชิกสภาร่างฯ)
เมื่อประกาศใช้รัญ ธรรมนูญแล้ว จึงกำหนดให้วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จอมพลถนอม ตั้งพรรค "สหประชาไทย" เพื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. โดยตัวเองรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค มีจอมพล ประภาส จารุเสถียร ซึ่งขณะนั้นยังมียศเป็นพลเอกและนาย พจน์ สารสินเป็นรองหัวหน้าพรรค พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการพรรค ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคของจอมพลถนอมได้ที่นั่งในสภา ๗๕ ที่นั่ง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ ๕๐ กว่าที่นั่ง นอกนั้นเป็น ส.ส. สังกัดพรรคเล็กพรรคน้อย และ ส.ส. อิสระที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด
หลังการเลือกตั้ง จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง เข้าบริหารประเทศในบรรยากาศ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่นานสองปีกว่าจึงตัดสินใจ ปฏิวัติรัฐบาลของตัวเองเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ โดยอ้างเหตุผลถึงภัยจากต่างชาติบางประเทศที่เข้ามาแทรกแซงและยุยงส่งเสริม ให้ผู้ก่อการร้ายกำเริบเสิบสานในประเทศ นอกจากนั้นสถานการณ์ภายในประเทศก็เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงนานาประการ ซึ่งคณะปฏิวัติเห็นว่าหากปล่อยให้มีการแก้ไขไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญแล้ว จะเป็นการล่าช้า จึงตัดสินใจปฏิวัติเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ของประเทศได้ผลอย่างรวดเร็ว
เมื่อทำการปฏิวัติ แล้ว จอมพลถนอมได้จัดตั้งสภาบริหารคณะปฏิวัติขึ้นเพื่อปกครองประเทศ โดยจอมพลถนอมดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาบริหารคณะปฏิวัติ มีผู้อำนวยการสี่ฝ่ายคือ ๑. พล.อ. ประภาส จารุเสถียร เป็นผู้อำนวยการฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ ๒.นายพจน์ สารสิน เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจและการคลัง ๓.พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเกษตรและคมนาคม และ พล.ต.อ. ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและสาธารณสุข
ในการปฏิวัติ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ นี้ พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร ลูกชายจอมพลถนอมและเป็นลูกเขยจอมพลประภาส ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะปฏิวัติ เมื่อการปฏิวัติเสร็จสิ้นลง เขาได้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ (กตป.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจมากมายในการตรวจตราการปฏิบัติงานของข้าราชการ
ในช่วงที่คณะปฏิวัติ ขึ้นบริหารประเทศนั้น ตลอดเวลาได้มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนอยู่เสมอ ให้คณะปฏิวัติรีบประกาศใช้รัฐธรรมนูญและจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศให้ถูก ต้องตามขั้นตอน ประจวบกับในปี ๒๕๑๕ เป็นปีที่สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ ซึ่งมีพระชน-มายุครบ ๒๐ พรรษาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารฯ จึงจำเป็นต้องมีรัฐบาลให้ถูกต้องตามธรรมเนียมนิยม เพราะจะจัดให้มีพระราชพิธีขณะที่ประเทศชาติบ้านเมืองยังอยู่ในระหว่างการ ปกครองของคณะปฏิวัติไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักรเมื่อวัน ที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๑๕ ซึ่งมีบทบัญญัติทั้งสิ้น ๒๓ มาตรา รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มี "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" เพียงสภาเดียว โดยประกอบด้วยสมาชิกมีสิทธิ์ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลได้ แต่ห้ามอภิปรายหรือซักถามเพิ่มเติม ที่สำคัญคือสมาชิกไม่มีอำนาจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ส่วนรัฐมนตรีนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดว่าห้ามเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ
สภานิติบัญญัติแห่ง ชาติตามรัฐธรรมนูญการปกครองฉบับนี้มีมติเลือก พล.ต. ศิริ สิริโยธิน เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี
แม้จอมพลถนอมจะ เปลี่ยนจากหัวหน้าคณะปฏิวัติมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่มีประกาศพระบรมราชโองการ แต่งตั้งก็ตาม ก็ไม่ได้ช่วยให้วิกฤตการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในขณะนั้นคลายความตึงเครียดลงแต่ อย่างใด ในทางการเมืองเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจต่างๆโดยเฉพาะความขัดแย้ง ระหว่างกลุ่ม พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจกับกลุ่มของจอมพลถนอมและจอมพลประภาส ซึ่งเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงก็คือ กรณีการบุกพังป้อมตำรวจ ซึ่งข่าวลือระบุว่าเป็นการกระทำของคนของ พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร นอกจากนั้นยังไม่มีการต่ออายุราชการให้กับจอมพลถนอม
ในทางเศรษฐกิจ สิ่งที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจอมพลถนอมไม่สามารถ "บำบัดทุกข์บำรุงสุข" ของประชาชนได้ คือการขาดแคลนข้าวสาร จนถึงขนาดประชาชนต้องเข้าแถวรอคิวอย่างยาวเหยียดตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อซื้อข้าวสารปันส่วนที่ทางราชการนำมาจำหน่ายในราคาควบคุมและซื้อได้ไม่ เกินคนละ ๑๐ กิโลกรัม มิหนำซ้ำตามมาด้วยการขาดแคลนน้ำตาลทรายอีก
นอกจากนี้ได้เกิดกรณี เฮลิคอปเตอร์ตกที่ทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี คณะนายทหารและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่พากันเข้าไปล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่ฯโดยใช้ อาวุธในราชการสงครามทั้งปืน เอ็ม. ๑๖ รถจี๊ป แม้กระทั่งเฮลิคอปเตอร์เป็นอุปกรณ์ในการล่าสัตว์ ความได้แตกขึ้นเมื่อในเที่ยวกลับ เฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งในสองลำเกิดอุบัติเหตุตกลงกลางทุ่งนาอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ซากสัตว์ป่าที่บรรทุกมากระจายเกลื่อนทุ่ง เรื่องจึงเป็นข่าวฉาวโฉ่ขึ้น มีการวิพากษ์วิจารณ์ให้มีการสอบสวนเอาความผิดกับคณะบุคคลดังกล่าว แต่เนื่องจากในระยะนั้นนายพลเนวิน ประธานสภาปฏิวัติของประเทศพม่า เดินทางมาเยือนประเทศไทย จอมพลถนอม นายกฯและจอมพลประภาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น จึงพูดในทำนองว่าคณะบุคคลดังกล่าวไม่ได้เข้าไปล่าสัตว์ หากแต่เข้าไปราชการลับเพื่อให้การอารักขาแก่นายพลเนวิน
เหตุการณ์ล่าสัตว์ที่ ทุ่งใหญ่ฯนี่เอง ที่ทำให้เรื่องราวเลยเถิดออกไปจนถึงการคัดชื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง จำนวนเก้าคนออกจากบัญชีนักศึกษา เหตุเพราะพวกเขาได้รวมกลุ่มกันออกหนังสือของชมรมคนรุ่นใหม่ชื่อ มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยรามคำแหงตั้งข้อหาพวกเขาว่าตั้งชมรมโดยไม่ได้รับอนุญาต จากมหาวิทยาลัย ใช้สถานที่ในมหาวิทยาลัยเป็นที่ชุมนุมเป็นครั้งคราวโดยพละการ เขียนหนังสือก้าวร้าวผู้อื่นด้วยถ้อยคำอันหยาบคาย กล่าวถึงมหาวิทยาลัยรามคำแหงในทางที่ทำให้ผู้อื่นเกลียดชังตำหนินักศึกษาที่ ตั้งหน้าเล่าเรียนว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว ด้วยเหตุนี้ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงขณะนั้นจึงสั่งลบชื่อออก ก็คือข้อความลอยๆสี่บรรทัดในหน้า ๖ ของหนังสือที่ว่า
"สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ฯ
มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก ๑ ปี
เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอก
เป็นที่ไม่น่าไว้วางใจ"
ข้อความลอยๆดังกล่าว นี้เองที่ถือว่า เป็นการถากถางรัฐบาลขณะนั้นต่อกรณีล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่ฯ และการต่ออายุราชการของจอมพลถนอมในฐานะผู้บัญชาการทหารสุงสุด และจอมพลประภาสในฐานะผู้บัญชาการทหารบกอีกคนละหนึ่งปี โดยที่จอมพลถนอมนั้นเคยได้รับการต่ออายุมาก่อนหน้านั้นครั้งหนึ่งแล้ว
จากกรณีลบชื่อนัก ศึกษาออกนี่เอง ที่ทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงรวมตัวประท้วงคำสั่งของ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดี และศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้เข้าร่วมสนับสนุนด้วย การประท้วงจึงมีนิสิตนักศึกษาทุกสถาบันประมาณ ๕ หมื่นคนเข้าร่วมขบวนประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ ๒๑-๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๖ การเรียกร้องในระยะแรก เพียงต้องการให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงรับนักศึกษาทั้งเก้าคนเข้าเป็นนักศึกษา ดังเดิม และเรียกร้องให้อธิการบดีลาออก แต่ต่อมา ได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจการปกครองแก่ประชาชน และเรียกร้องให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายในหกเดือน ผลลงเอยที่ฝ่ายนักศึกษาชนะ โดยนักศึกษาทั้งเก้าคนได้กลับเข้าเรียนตามปกติ ดร. ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี แต่ข้อเรียกร้องของศูนย์ฯที่ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญภายในหกเดือนนั้นไร้ผล
จากเหตุการณ์นี้เอง ที่ทำให้กลุ่มผู้นำของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ตลอดจนอาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้สนใจ ร่วมกันก่อตั้ง "กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ" ขึ้น นำทีมโดยนายธีรยุทธ บุญมี โดยแบ่งระดับของสมาชิกกลุ่มไว้เป็นสองระดับ ระดับที่ ๑ เรียกว่า ผู้ที่เห็นด้วยกับการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งขั้นต้นมีอยู่ ๑๐๐ คน ระดับที่ ๒ เป็นกลุ่มปฏิบัติการ ซึ่งมีตัวเขาเองเป็นผู้ประสานงาน และในวันศุกร์ที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๑๖ กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญได้นัดสื่อมวลชนเพื่อแถลงข่าวเกี่ยวกับวัตถุ ประสงค์การดำเนินงานของกลุ่ม ว่าต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุดด้วยสันติ วิธี ให้การศึกษาทางการเมืองเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยแก่ ประชาชน และเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความสำนึกและหวงแหนในสิทธิเสรีภาพของตน โดยจะใช้เวลาติดต่อกันสองเดือนในการรณรงค์ และในระยะแรกจะแจกหนังสือและใบปลิวตามย่านชุมชนต่างๆตลอดเวลาสองวัน
พล.ต.ท. ประจวบ สุนทรางกูร รองอธิบดีกรมตำรวจ ฝ่ายกิจการพิเศษ ได้แถลงว่า "หากการเรียกร้องครั้งนี้ทำให้เกิดการเดินขบวนขึ้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมทันที เพราะเป็น การผิดกฎหมายคณะปฏิวัติที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองในที่สาธารณะเกินห้าคน"
ในขณะเดียวกัน พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า "มีอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักการเมืองบางคนกำลังดำเนินการให้นักศึกษาเดิน ขบวนในเร็วๆนี้ และหากมีการเดินขบวนแล้วไม่ผิดกฎหมายอีก ผมก็จะนำทหารมาเดินขบวนบ้าง เพราะทหารก็ไม่อยากจะไปรบเหมือนกัน"
http://www.arts.chula.ac.th/~complit/etext/octobertext/octtext/timeline.htm
------------------------------------------------------
FfF