บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


29 เมษายน 2554

<<< นี่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่ผมรู้จัก >>>

วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554 เวลา 16:00:00 น.

โดย นักศึกษาคนหนึ่งในมหาวิทยาลัยแห่งความเพ้อฝัน

หมายเหตุ บทความชิ้นนี้เขียนโดยผู้ใช้นามว่า "นักศึกษาคนหนึ่งในมหาวิทยาลัยแห่งความเพ้อฝัน" ถูกนำเผยแพร่เป็นครั้งแรกในเฟซบุ๊กส่วนตัวของผู้เขียน มติชนออนไลน์เห็นว่ามีเนื้อหาน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อดังนี้

ผมมีความใฝ่ฝันมาตลอดว่าผมอยากเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นี้ให้ได้ เนื่องด้วยเป็นมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อที่สุดในด้านสังคมศาสตร์และการเมือง ในที่สุดผมก็ทำสำเร็จและก็ได้มาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ในฐานะนักศึกษาคนหนึ่ง

ภาพแรกที่ยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำคือแผ่นป้ายที่เขียนตัวเบ้อเริ่มว่า ขอต้อนรับสู่ดินแดนแห่งเสรีภาพทุกตารางนิ้ว รวมทั้งหลายๆ คำขวัญที่ตราตรึงเช่นกันในหัวของพวกเราที่เป็นเพื่อนใหม่ การปลูกฝังอุดมการณ์ประชาธิปไตย รักประชาชน หรือการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพทางด้านความคิด เป็นสิ่งที่หล่อหลอมเพื่อนใหม่ๆ หลายคนและจุดประกายความหวังที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น ในช่วงแรกเริ่มของชีวิตนักศึกษา

แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่อย่างที่หวังไว้

คำขวัญรักประชาชน เสรีภาพ สิทธิเท่าเทียม ประชาธิปไตย เป็นแค่คำโฆษณาชวนเชื่อขายฝันที่ไม่เคยเห็นมหาวิทยาลัยคิดจะส่งเสริมอย่างเป็นจริงเป็นจัง แม้แต่องค์การนักศึกษาที่มีประวัติอันยาวนานของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในปัจจุบันก็เหลือเพียงแต่คนที่ไม่ได้สนใจประเด็นสังคมการเมืองอย่างจริงจังเท่าไหร่นัก องค์การนักศึกษาหรือสภาในปัจจุบันไม่เคยแม้แต่จะกล้าแตะประเด็นทางการเมืองแต่ชอบอ้างว่าตนสนใจการเมือง อยากทำอะไรเพื่อสังคม อยากให้นักศึกษามีส่วนร่วมทางการเมือง ฯลฯ และการจัดกิจกรรมที่เกิดขึ้นก็เห็นมีเพียงแต่กิจกรรมที่พร้อมจะมอบความไร้สาระแก่น.ศ.ในทุกโอกาส

มหาวิทยาลัยเองก็ถูกกลืนหายไปกับทุนนิยมจนโงหัวไม่ขึ้น และแสร้งทำเป็นสนใจวิถีชีวิตแบบติดดินของชาวนาโดยการจัดกิจกรรมเกี่ยวข้าว โดยที่ไม่เคยใส่ใจกับรายละเอียดของกิจกรรมหรือให้ความรู้อย่างเป็นจริงเป็นจรังเกี่ยวกับความทุกข์ยากของชาวนา มีเพียงแต่ข้ออ้างลอยๆ ที่ฟังดูตลกๆ อย่าง "เพื่อเป็นการให้รู้ว่านศ มธ ติดดิน"

และเมื่อมีกลุ่มอาจารย์หรือนักศึกษาที่พร้อมลุกขึ้นมาเขย่าความคิดของนักศึกษาให้ตื่นขึ้น อธิการบดีก็พร้อมที่จะปิดกั้นโอกาสนั้น

ดังวิสัยทัศน์ล่าสุดของอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ที่กล่าวไว้ในสเตตัสของตัวเองว่า "ผมไม่เห็นด้วยกับการใช้มธ.เป็นฐานเคลื่อนไหวทางการเมือง แม้ไม่ผิดกฏหมาย แต่ฉวัดเฉวียน หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดใคร หรือสถาบันใดก็ตาม" (จากเฟสบุ๊ก Somkit Lertpaithoon)

นี่หรือคือความคิดของอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งเสรีภาพ? ถ้าพูดกันตามความเป็นจริงแล้วการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือการออกมาวิจารณ์สิ่งใดสิ่งหนึ่งมันต้องเกิดการพาดพิงในตัวของมันเองอยู่แล้วมิใช่หรือ ความหมิ่นเหม่ที่จะละเมิดใครไม่ใช่สิ่งที่เป็นธรรมดาของการวิจารณ์หรอกหรือ?

ต้องยอมรับว่าผมผิดหวังในมหาวิทยาลัยแห่งนี้มาก มหาวิทยาลัยที่ผมตั้งความหวังไว้ว่าจะมีอะไร กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่มีแต่ความกลวงเปล่า เสรีภาพ สิทธิ ความคิดทางการเมืองที่แหลมคม ถูกผลักให้ไปอยู่ขอบนอกของวิสัยทัศน์ที่แท้จริง และถูกทำให้กลายเป็นเครื่องประดับ เหมือนต้นคริสต์มาสต์ที่เต็มไปด้วยสิ่งประดับหลอกลวง

ถ้าอาจารย์จะพูดอย่างนี้แล้วผมว่าอย่าไปส่งเสริมมันเลยเสรีภาพหรือการเมืองอะไรนั่น ผมว่ายกเลิกการจัดกิจกรรมทางการเมืองทั้งหมดเหมือนที่หลายๆ มหาวิทยาลัยเค้าทำเถอะ จะได้ไม่ต้องมีฐานเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง จะได้ไม่ต้องมีฐานทางความคิดเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนพึงมี

แล้วจะได้ไม่ต้องไปพูดกับใครอีกว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยแห่งเสรีภาพ อายเค้า

ด้วยความเคารพ

จากนักศึกษาคนหนึ่งในมหาวิทยาลัยแห่งความเพ้อฝัน

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1303980732&grpid=&catid=02&subcatid=0207

----------------------------------------------------------

FfF