วันนี้จะมาชำแหล่ะจุดอ่อน ของระบบประกันราคาพืชผล
ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้เริ่มทำแล้วและคงนำไปหาเสียงน่าดู
ว่ามีจุดอ่อนอย่างไร และเสนอแนวทางแก้ปัญหาแบบยั่งยืนให้ด้วย
วิธีการคร่าวๆ ของการประกันราคาพืชผลที่กำลังทำกัน ณ ขณะนี้ คือ
จะให้เกษตรกรพืชหลัก เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น
ขึ้นทะเบียน แจ้งจำนวนไร่และผลผลิต แล้วทำสัญญากับ ธกส.
เสร็จแล้วรัฐจะกำหนดราคาประกันแต่ละชนิด
ถ้าราคาประกันต่ำกว่าราคาตลาดอ้างอิง ก็ไม่ต้องจ่ายอะไร
แต่ถ้าราคาประกันสูงกว่าราคาตลาดอ้างอิง
ก็ต้องจ่ายผลต่างให้แก่เกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียน
วิธีการนี้มองดูเผินๆ อาจจะดีกว่าการรับจำนำ
เพราะการรับจำนำรัฐต้องใช้เงินมากกว่ารับซื้อ
ทั้งราคาประกัน เช่น ประกาศราคาประกันข้าวตันละ 10,000 บาท
ก็ต้องจ่ายทั้ง 10,000 บาท แต่วิธีการประกันราคาแบบใหม่
จะจ่ายเฉพาะส่วนต่าง 10,000 บาท ราคาประกันกับราคาตลาดอ้างอิง
สมมุติราคาตลาดอ้างอิงอยู่ที่ ตันละ 7,000 บาท
ก็จ่ายชดเชยให้เกษตร 3,000 บาท
จะเห็นว่าไม่ได้ยุ่งเรื่องสต็อกหรือต้องหาที่เก็บพืชผลเกษตรอะไร
เรียกว่าใช้เงินน้อยลง รับผิดชอบน้อยลง
แต่ก็มีช่องทางโกงมากขึ้นเหมือนเดิม
และจะมีมากขึ้นในอนาคต ไม่ใช่น้อยลงอย่างที่บอก
เดี๋ยวจะลองไล่ข้อเสียให้ดูทีละข้อเท่าที่คิดออก
ปัญหาการประกันแบบใหม่ที่จะเจออย่างแรกเลยคือ
การแจ้งเท็จ จำนวนไร่ที่ปลูก ซึ่งมีผลต่อการได้รับเงินประกัน
เพราะเท่าที่ทราบกฏเกณฑ์การชดเชยแทนที่จะชดเชยให้ตามผลผลิต
กับชดเชยให้ตามจำนวนพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งถ้าแก้ไขชดเชยตามผลผลิต
ก็ผ่านปัญหานี้ไปได้เปลาะหนึ่ง แต่ก็ยังมีการตรวจสอบการแจ้งเท็จ
ซึ่งจะต้องตรวจสอบทุกปี เสียเวลาตรวจสอบมาก
เพราะไม่ตรวจสอบปีไหนก็โกงกันเละ
สวมสิทธิ์ อ้างพื้นที่ผลิตกันมั่วแน่นอน
และพ่อค้าคนกลางล่ำซ่ำ โดยเฉพาะพ่อค้าส่งออก
เพราะว่าสามารถกดราคารับซื้อจากเกษตรกรได้ตามใจ
เผลอๆ ฮั้วกับเกษตรกร กดราคาเพราะเกษตรกรไม่เสียหายอะไร
เพราะสามารถมาขอชดเชยกับ ธกส. ได้ตามราคาที่ต้องการได้อยู่แล้ว
แต่พ่อค้าจะรับซื้อถูกขึ้นและได้กำไรส่วนต่างในตลาดโลกมากขึ้น
พ่อค้าส่งออกยิ้มแน่นอนวิธีนี้
เหมือนรัฐเอาเงินไปช่วยให้พ่อค้าคนกลางกำไรมากขึ้นนั่นเอง
และเอาเงินไปให้เกษตรกรแบบไม่มีผลต่อคุณภาพการผลิต
หรือกระตุ้นราคาอะไร แค่ได้หาเสียงเอาเงินไปให้เกษตรกร
ได้ครบตามราคาประกัน แถมเรื่องการกำหนดราคาประกันอีก
กำหนดไม่ดีฮั้วกันหรือกำหนดสูงๆ เพื่อไปชักเปอร์เซ็นต์
จากเกษตรกรภายหลังซึ่งจะทำให้รัฐเสียเงินชดเชยมากขึ้นอีกด้วย
ซึ่งการประกันราคาที่ดีมันควรจะเป็นระบบมาตรฐาน
คือประกันราคาจากสหกรณ์ของเกษตรกร ในยามจำเป็นจริงๆ จะดีกว่า
เพราะสหกรณ์อย่างน้อยก็เป็นนิติบุคคลตรวจสอบเล่นงานภายหลังก็ง่ายกว่า
สิ่งที่จะเสนอ รัฐบาลไหนก็ได้ถ้าเห็นว่าเป็นวิธีที่น่าจะดีกว่า
ก็คือการตั้งสหกรณ์หรือบริษัทค้าข้าว ค้ามันสำปะหลัง ค้าข้าวโพด ค้าอ้อย ค้ายาง ...
โดยรัฐถือหุ้นใหญ่ แต่ไม่เกินครึ่งที่เหลือให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน
ถือหุ้นไม่เกินคนละ 1,000 หุ้น หุ้นละ 10 บาท
จุดประสงค์ไม่เน้นหากำไรมาแบ่งกัน แต่เน้นขายพืชผลการเกษตร
ของเกษตรกรให้มีราคา หรือมีกำไรมากขึ้น
เหมือนให้เกษตรกรทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางด้วย
และเพื่อตรวจสอบการทำงานประชุมเสนอแนะให้กับสหกรณ์หรือบริษัท
โดยสหกรณ์หรือบริษัทค้าพืชผลการเกษตรที่ตั้งขึ้น
จะทำครบวงจรเช่นเดียวกับบริษัทเอกชน
นั่นคือจะทำตั้งแต่รับซื้อพืชผลเกษตร จนถึงการส่งออก
ซึ่งจะกระตุ้นให้เกษตรกรศึกษาหาความรู้เรื่องราคาสินค้าในตลาดโลก
ข้อมูลต่างๆ เช่นปริมาณการผลิตในปีนั่นๆ หรือปีต่อไปของประเทศคู่แข่ง
รู้ราคาล่วงหน้า รู้เรื่องบัญชี ปัญหาการโกงต่างๆ
ก็จะเบาบางลงเพราะคงไม่มีใครยอมให้ใครโกง
การตรวจสอบกันเองจะทำได้ดีกว่าระบบอื่น
แถมรัฐในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ก็สามารถตรวจสอบบัญชี
และการดำเนินงานได้ของสหกรณ์ผ่าน สตง.
วิธีการนี้เป็นวิธีการเดียวกับพวกกลุ่มโอเปก
ที่กำหนดราคาน้ำมันในตลาดโลก
ในการผลิตน้ำมันในแต่ละประเทศ
เขาก็มีบริษัทของรัฐเข้าไปผลิต จนกระทั่งส่งออก
ทำให้เขาควบคุมราคาหรือแทรกแซงราคายามจำเป็นได้ดีเหมือนกัน
วิธีการนี้ก็คือการต่อยอดจากการรับจำนำ
เป็นการรับซื้อแล้วเอาไปขายให้เสร็จสรรพ แข่งกับเอกชน
เหมือน ปตท. รัฐสามารถกำหนดนโยบายหรือโครงสร้างราคาน้ำมัน
แล้วใช้ ปตท. เป็นหัวหอกในการกำหนดราคาขายปลีก
เอกชนระดับโลกยกษ์ใหญ่ค้าน้ำมันระดับโลกทั้งนั้นที่เป็นคู่แข่ง ปตท.
ยังต้องขึ้นลงราคาตาม แต่ถ้าน้ำมันชนิดไหน ปตท. ไม่มีขายแข่ง
เช่นช่วงหนึ่งมีการยกเลิกการขายเบนซิน 95
ราคาเบนซิน 95 ก็พุ่งกระฉูดทันทีเพราะเอกชนฮั้วกันไม่กี่บริษัท
ก็สามารถปั่นราคาได้ แต่ตอนหลังรู้สึก ปตท.จะกลับมาขายเหมือนเดิม
แต่รัฐต้องการหนุนเอทานอลเลยใช้วิธีปล้นผู้ใช้เบนซิน95
ไปโปะช่วยแก๊สโซฮอล ลองไม่โปะวันนี้ราคาแก๊สโซฮอล
จะแพงกว่าราคาน้ำมันปกติ เพราะเอทานอลที่หน้าโรงงาน
แพงกว่าราคาน้ำมันทุกประเภทหน้าโรงงาน
ถือเป็นเรื่องผิดปกติ แต่ที่ขายกันถูกกว่าจนคนนึกว่าแก๊สโซฮอล
หรือน้ำมันที่มีเอทานอลผสมจะถูกกว่าน้ำมันที่ไม่มีเอทานอลผสมไปแล้ว
วิธีการสนับสนุนให้เกษตรกรเป็นพ่อค้าคนกลางเอง
เป็นวิธีธรรมชาติที่สุด คือไม่มีการบิดเบือนราคาตลาด
หรือกลไกตลาดอะไรมากกว่าวิธีรับจำนำหรือกำหนดราคาประกันเอามัน
แถมจะทำให้เกษตรกรขวนขวายหาความรู้ หรือเพิ่มคุณภาพการผลิตด้วย
เพราะเมื่อรู้ข้อมูลมากมาย และต้องการลดราคาแข่งกับต่างประเทศได้ดี
ก็ต้องเพิ่มผลผลิตให้มาก ขายมากในราคาลดลงมาหน่อยหนึ่งก็ได้เงินเท่าเดิม
แต่แข่งกับต่างประเทศที่ค่าครองชีพถูกกว่าได้ เป็นต้น
ดีกว่าวิธีรับประกันราคาอย่างเดียว ซึ่งก็มีข้อจำกัดมากมาย
เช่น จำกัดจำนวนไร่ จำกัดจำนวนประกัน เรียกว่ามีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น
อาจไม่ได้รับการประกัน เพราะมีวงเงินประกันจำกัด
และมีการกำหนดประกันจำนวนไร่หรือผลผลิตต่อปีอีก
เรียกว่ารัฐควบคุมจนไม่ต่างจากระบอบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมสมัยก่อน
ที่รัฐมีบทบาทควบคุมการตัดสินใจ ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างไปหมด
และเงินที่ต้องไปรับประกันปีละหลายหมื่นล้านจนถึงแสนล้านบาท
ในช่วงสองสามปีต่อไปนี้ และอนาคตจะเพิ่มขึ้นกลายเป็นหลายแสนล้านบาท
จะทำให้เป็นภาระหนักอึ้งต่อรัฐบาลในอนาคต
ที่จะต้องเพิ่มภาษีเพื่อหาเงินเพิ่ม หรือกู้เพิ่มไปเรื่อยๆ
แถมเป็นเงินที่ไม่ได้นำมาพัฒนาประเทศอะไรเพิ่มด้วย
ในขณะที่วิธีส่งเสริมให้เกษตรกรเป็นพ่อค้าคนกลาง
ผ่านการลงทุนผ่านสหกรณ์หรือบริษัทค้าพืชผลการเกษตร
ลงทุนแค่ลงหุ้นและให้ทุนอุดหนุนในการลงทุนช่วงแรกๆ เท่านั้น
หลังจากนั้นแทบปล่อยได้เลย ถ้าไม่เลวร้ายจริงๆ
แทบไม่ต้องนำเงินงบประมาณไปรับประกันราคาอีกเลย
เพราะการเป็นพ่อค้าคนกลางเอง กำไรส่วนต่างของพ่อค้าคนกลาง
จะถูกแบ่งมาเป็นการรับซื้อพืชผลในราคาที่แพงมากขึ้นโดยอัตโนมัติ
เพียงแต่รัฐชี้แนะ แนะนำเรื่องการตลาดและแนวโน้มการตลาดให้เท่านั้นเอง
ที่จริงปล่อยให้ทำไปสักพักเขาจะเก่งกว่ารัฐเสียอีก
อนึ่ง เงินหลายแสนล้านบาทที่จะสูญไปแบบไม่เห็นอะไร
จะกลับกลายไปเป็นเงินลงทุนสร้างถนน
เพิ่มคุณภาพการรักษาพยาบาล เพิ่มคุณภาพการศึกษา
นั่นนี่ได้มากมายในแต่ละปี แถมไม่ต้องดิ้นรนเพิ่มภาระภาษี
ให้กับคนที่เสียภาษีอีกด้วย
โดย มาหาอะไร
FfF
บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.