บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


29 สิงหาคม 2554

<<< การลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 20% ในปี 2556 บริษัทขนาดใหญ่ได้ประโยชน์มากกว่าบริษัทขนาดเล็ก และรัฐอาจเกิดปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง >>>

วันนี้จะขอวิพากษ์อีกนโยบายหนึ่งของรัฐบาล
บางคนอาจคิดว่าเห็นวิพากษ์ทุกนโยบาย
ก็ถ้าคิดกันรอบคอบแล้วใครก็วิพากษ์ไม่ได้
แต่ที่วิพากษ์ได้แสดงว่าอาจยังคิดไม่รอบคอบ
หรือคิดจะทำโดยอาจไม่ได้ฟังความเห็นรอบด้านมาก่อน

การลดภาษีนิติบุคคล ทำไมผมถึงบอกว่า
ได้แต่บริษัทใหญ่ๆ อย่างพวกมีเส้น
หรือจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ทั้งๆ ที่รัฐบาลมีนโยบายลดให้ทุกบริษัทเหมือนกัน
ก็เพราะว่า วิธีการรีดภาษีของกรมสรรพากรนั่นเอง
รัฐบาลมักกำหนดเป้าให้สรรพากร
เก็บภาษีให้ได้เท่านั้นเท่านี้
สรรพากรก็ไล่เบี้ยกันเป็นทอดๆ
ไปจนถึงสรรพากรจังหวัด
ก็ไปเล่นกับบริษัทว่าต้องทำยอดส่งรัฐบาล
ขอให้ช่วยจ่ายภาษีเท่านั้นเท่านี้
โดยไม่ได้ดูผลประกอบการที่แท้จริง
ไม่จ่ายก็ทำมาหากินลำบาก
อาจเจอตรวจสต็อคบ่อยๆ
ก็ไม่ต้องทำมาหากินแล้ว
ที่สำคัญในเมื่อเขาทำกันแบบนี้มาตั้งนานแล้ว
หมายความว่าระบบบัญชีมันก็เพี้ยนมาตั้งนานแล้ว
เช่น ปีนี้ขาดทุนแต่รัฐต้องการรีดภาษีเพิ่ม
สรรพากรก็จะระบุให้จ่ายเท่านั้นเท่านี้
ว่าแล้วก็ต้องแต่งบัญชีเพื่อให้มีกำไรเป็นต้น
เมื่อเริ่มแต่งครั้งแรก ครั้งต่อๆ ไปมันก็เพี้ยนหมดแล้ว
ทุกวันนี้มันก็เป็นแบบนี้แหล่ะ
ต่อให้ลด 20% หรือ 10%
ก็จ่ายเพิ่มอย่างดีก็เท่าเดิมจ่ายน้อยลงเป็นไปได้ยาก
ในขณะที่บริษัทใหญ่ๆ หรือมีเส้น สรรพากรไม่กล้าแตะ
และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด
ทำให้การมั่วลักษณะนี้ของสรรพากรทำไม่ได้
ดังนั้น บริษัทพวกนี้ก็จะได้ประโยชน์เต็มๆ

ที่สำคัญควรคำนึงถึงรายได้ของรัฐ
หลายรัฐบาลมาแล้วที่ทำงบขาดดุลติดต่อกัน
แสดงว่ารายได้ไม่พอใช้อยู่แล้ว ต้องไปกู้เสียดอกเบี้ยอีก
เฉพาะรัฐบาลที่แล้วก็ทำงบขาดดุลเป็นล้านๆ บาท
และยังเผื่อให้ปีหน้าขาดดุลอีก 3-4 แสนล้านบาท
ต้องไปหาเงินมาทั้งนั้นส่วนใหญ่ไม่กู้ก็ออกพันธบัตร
เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ขนาดทุกวันนี้เก็บภาษีนิติบุคคลที่ 30%
ลองหลับตานึกสภาพ ถ้าอัตราการเก็บภาษีนิติบุคคลลดลงซิ
แล้วสถานการณ์เศรษฐกิจส่อเค้าย่ำแย่ในหลายประเทศ
อย่าพึ่งไปหวังว่าจะมีบริษัทที่ไหน อยากจะมาลงทุนเพิ่ม
ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้มากมาย
จนสามารถชดเชย 10% ที่หายไปได้ง่ายๆ
ไหนจะนโยบายประชานิยมของรัฐบาลนี้อีกเพียบ
ต้องใช้เงินมหาศาล ระหว่างเก็บภาษีได้เงินไม่ต้องไปกู้เขามาก
คือขนาดเก็บแบบนี้ยังต้องกู้ขืนเก็บน้อยกว่านี้กู้แหลกลานกว่านี้แน่
แล้วจะกู้กันไปได้ตลอดหรือ
อีกอย่างการลดภาษีให้ 10% ทุกบริษัท
บริษัทที่ไม่มีปัญหาเรื่องเพิ่มเงินเดือนหรือค่าแรงขั้นต่ำเลย
ซึ่งมีจำนวนมากเพราะบางบริษัทจ่ายเงินเดือนมากกว่าอยู่แล้ว
มันทำให้ดูเหมือนว่าจะเหวี่ยงแห อยากให้มีการลดภาษีนิติบุคคล
เหลือ 20% มากกว่าการอ้างว่าจะช่วยบริษัทที่ยอมขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำ
หรือค่าแรงขั้นต่ำให้พนักงานตามนโยบายของรัฐบาล

ส่วนที่ห่วงกันว่าแข่งกับประเทศอื่นไม่ได้
เช่นชอบนำไปเทียบกับสิงคโปร์ว่าเก็บแค่ 17%
ดูอัตราเปรียบเทียบการเก็บภาษีของประเทศต่างๆ
ประเทศ ภาษีนิติบุคคล ภาษีบุคคลธรรมดา ภาษี VAT
Argentina 35% 9-35% 21%
Australia 30% 17-45% 10%GST
China 25% 5-45% 17%
France 33.33% 5.5-40% 19.6%
Germany 30-33%(effective) 14-45% 19%
Hong kong 16.5% 2-17% -
India 30-40% 10-30% 12.5%
Indonesia 28% 5-30% 10%
Japan 30% 5-50% 5%(consump)
Philippines 30% 5-32% 12%
Singapore 17% 3.5%-20% 7% (gst)
Thailand 30% 5-37% 7%
U.S.A. 15-35% 15-35% -
Vietnam 25% 5-35% 10%

http://maha-arai.blogspot.com/2011/08/blog-post_29.html

ถ้าดูจากที่ผมคัดมาให้ดูเฉพาะประเทศที่น่าสนใจ
จะสังเกตุได้ประเทศไหนมีนโยบายประชานิยมจัด
สวัสดิการเพียบนั่นนี่ฟรี อย่างฝรั่งเศส เยอรมัน
มักเก็บภาษีอัตราสูง แม้แต่ญี่ปุ่นก็ยังเท่าไทยในปัจจุบัน
ถามว่าทำไมเราไปเทียบกับสิงคโปร์ไม่ได้
ก็เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศเล็กนิดเดียว
เก็บภาษีน้อยก็ไม่เดือดร้อนมาก
เพราะใช้งบสร้างสาธารณนูปโภคน้อย
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น เรื่อง ถนน
คุณสามารถนั่งรถรอบเกาะสิงคโปร์
โดยใช้เวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงหรือให้วันหนึ่งก็ได้
แต่คุณต้องใช้เวลากี่วันกว่าจะนั่งรถทุกถนนในประเทศไทย
นี่คือการลงทุนที่สูงกว่าสิงคโปร์อย่างมากมาย
แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็เห็นๆ แล้ว
ไม่นับจำนวนคนที่ต้องรับผิดชอบดูแลเรื่องปากท้อง
ไทยก็มีคนมากมายกว่าสิงคโปร์หลายเท่านัก

บางคนอาจแย้งว่า ก็ถ้าเสียภาษีน้อย
เดี๋ยวมีนักลงทุนเยอะก็ได้ภาษีเยอะ
ซึ่งหวังได้ยากในช่วงเศรษฐกิจอย่างนี้
และไม่ง่ายที่จะเพิ่มได้จนเท่ากับยอด 10% ที่ลดลงไป
หรือมีการลงทุนเยอะก็จะทำให้เศรษฐกิจเติบโต
ใช่ครับ เติบโต แต่เติบโตแบบเสรีสะเปะสะปะไม่ตรงจุด
ใครมีเงินนึกอยากลงทุนอะไรก็ลงทุน
บางทีแห่ไปแย่งกันลงทุนขายสินค้าและบริการเหมือนๆ กัน
จนเกิดภาวะล้นตลาด แต่สินค้าและบริการบางอย่าง
กลับไม่ไปลงทุนจนทำให้เกิดภาวะขาดตลาด
และบางทีก็ไปลงทุนอาบอบนวด บาร์ เธค ไร้สาระก็มี
การลงทุนแบบนี้ กับแบบเก็บภาษีเข้ารัฐ
แล้วรัฐไปจัดการทุ่มไปกระตุ้นตรงนั้นตรงนี้ที่นั่นที่นี่
ทำโครงการนั้น ทำโครงการนี้
แบบไหนน่าจะเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่า
หรือกระตุ้นเศรษฐกิจแก้ปัญหาได้ถูกจุดมากกว่ากัน

ดังนั้นการเก็บภาษีทางตรงนั้น
ควรเก็บในลักษณะที่พอเหมาะพอใช้
ถ้าบอกว่าทุกวันนี้พอเหมาะพอใช้แล้ว
ก็ห้ามทำงบขาดดุลตั้งแต่ปีนี้เลยน่ะ
แถมยังต้องทำงบเกินดุลด้วย
เพราะเหลือเงินมากถึงขนาดคิดจะมาลดภาษี
แต่นี่มันบ่งบอกว่าชักหน้าไม่ถึงหลังอย่างเห็นได้ชัด
และวิกฤตโลกกำลังจ่อปากเหวหลายประเทศ
มีรายได้แน่นอนไม่คงไว้
แล้วคิดจะไปหวังพึ่งน้ำบ่อหน้า
ไม่วิ่งกู้กันตาตั้งหรือยังไง

อีกอย่างหลายประเทศเริ่มลดการเก็บภาษี VAT
หรือไม่เก็บเลย เช่น อเมริกา และ ฮ่องกง
ซึ่งอนาคตถ้าคิดอยากจะลดการเก็บภาษี
ผมว่าไปยกเลิกการเก็บภาษี VAT จะดีกว่า
เพราะว่าเป็นตัวการทำให้ของแพงด้วย
และเก็บไม่ครอบคลุม บางสินค้าก็ไม่ได้เก็บ
บางสินค้าก็เก็บจัง เช่นพืชผัก ไม่รู้จะเก็บยังไง
แต่สินค้าที่ตั้งโรงงานผลิตได้เอง
เก็บกันเป็นทอดๆ ตั้งแต่วัตถุดิบขั้น 1
ถ้าต้องผลิตใช้วัตถุดิบหลายทอดก็เสียภาษี VAT หลายทอด
รวมไปถึงถ้ามีการส่งขายหลายต่อก็เก็บภาษีอีกเป็นทอดๆ
แล้วคนรับเหมาสุดท้ายคือผู้บริโภคคนสุดท้าย
รับภาษีมาทุกทอด แต่ผู้ผลิตหรือพวกซื้อมาขายไป
ก็ยังเสียภาษีแฝงจากภาษีขายลบด้วยภาษีซื้อ
ซึ่งปกติราคาขายทำกำไรมันก็มากกว่าราคาซื้ออยู่แล้ว
ก็มีเสียภาษี แต่เป็นภาษีจากกำไรมากกว่า
แทนที่จะเก็บภาษีนิติบุคคลเพียวๆ เน้นๆ
แล้วไม่ต้องไปเวียนหัวไล่เบี้ยเก็บภาษี VAT ให้ปวดหัวไม่ดีหรือ
สรุปถ้าให้เลือกได้และคิดว่ามีเงินพอใช้แล้ว
ต้องการลดภาษีผมเชียร์ยกเลิกภาษี VAT
จะช่วยให้ค่าครองชีพต่ำลง สินค้าทุกอย่างปลอดภาษี
นานาชาติแห่มาซื้อเหมือนคนไทยชอบไปซื้อสินค้าปลอดภาษี
สินค้าไทยก็ขายได้ถูกลงเนื่องจากไม่ต้องบวกภาษียิบยับหลายขั้นตอน
เช่นสมมุติราคาสินค้า 100 บาท จะส่งยี่ปั้ว ซาปั้ว
แล้วถึงไปร้านที่ขายให้กับลูกค้า
ต้องบวกภาษี VAT 4 ต่อ นอกจากกำไรปกติ
บวกเพิ่มเข้ามาในราคาสินค้า 100 บาทที่ว่า
ในขณะที่ยกเลิกไปเลยก็ไม่ต้องจ่ายเพิ่มค่าภาษีแต่ละต่อ
ราคาสินค้าก็จะลดลงกว่าเดิม

ควรคงภาษีนิติบุคคลและภาษีบุคคลธรรมดา
เอาไว้ในอัตราที่พอใช้ เหมาะสมกับภาระของประเทศ
โดยที่ไม่ทำให้บริษัทห้างร้านเดือดร้อนมาก
และไม่ต้องนำไปเปรียบเทียบ
กับประเทศที่เทียบกันไม่ได้อยู่แล้ว
เพราะทั้งภูมิประเทศ ประชากร
และโครงสร้างทางธุรกิจต่างกันมากมาย
อย่างสิงคโปร์คนก็ไม่เยอะทั้งเกาะ
จะรองรับธุรกิจแห่ไปลงทุนได้สักเท่าไหร่เชียว
เดี๋ยวก็เกิดเงินเฟ้อนั่นนี่มากมาย
หรือต้องนำเข้าแรงงานต่างชาติ
ไปเบียดเสียดยัดเยียดกันล้นเกาะอีก
ทุกประเทศมีข้อจำกัดของตนเอง ไม่เหมือนกัน
ไปแข่งลดสู้ยังไงก็สู้เขาไม่ได้อยู่แล้ว
เพราะเขารับผิดชอบในการสร้างโครงสร้างสาธารณูปโภค
น้อยกว่าไทยอย่างเทียบไม่ได้ด้วยขนาดพื้นที่ที่เล็กกว่ากันมาก
และจำนวนคนที่ต้องดูแลทั้งการศึกษาและการรักษาพยาบาล
ปัจจัยสี่ทั้งหลายก็ต่างกันเยอะอย่างที่กล่าวไว้แล้ว

เหมือนการประกวดนางงาม
สาวงามแต่ละคนหน้าตาผิวพรรณ สัดส่วนส่วนสูงต่างๆ
รวมไปถึงการพูด การวางตัวต่างๆ ต่างกัน ไม่เหมือนกัน
แต่คนที่ได้เป็นนางงาม คือคนที่นำสิ่งที่ตนเองมี
ทำให้ดีที่สุดสะดุดตากรรมการ
ไม่ใช่คนที่พยายามทำตัวให้เหมือนคนอื่นมากที่สุด
ผิดคล้ำก็พอกแป้งให้ขาวเพื่อหวังจะชนะ
เพราะความขาวยังไงก็ทำได้ดีกว่าของจริงไม่ได้
สู้นำความเข้มของผิวมาทำให้เกิดความเซ็กซี่เตะตา
ก็อาจได้ตำแหน่งนางงามได้เหมือนกัน

โดย มาหาอะไร
FfF