บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


15 กันยายน 2554

<<< ข้อเท็จจริงที่ควรรู้ เรื่อง การเจรจาผลประโยชน์น้ำมันกลางอ่าวไทย >>>

ปิโตรเลียมเขมรเอาใจปู-เหลี่ยม เผยจรกาสวมตอดอดเจรจาลับ

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

ฟิฟทีนมูฟ — ปิโตรเลียมเขมรเอาใจยิ่งลักษณ์-ทักษิณ เร่งเจรจาปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่ตนลากมั่ว หวังเปิดทางสำรวจน้ำมันแบ่งผลประโยชน์ ออกแถลงการณ์คายเรื่องลับ สุเทพดอดเจรจาลับ ซก อาน หลายครั้งทั้งที่ฮ่องกงและคุนหมิง ต้องการเจรจาเรื่องให้จบภายในรัฐบาลมาร์ค เขมรอ้างคายเรื่องลับเพื่อปกป้องตนเองและทักษิณจากพวก ปชป.

องค์การปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา ภายใต้การกำกับของนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ออกแถลงการณ์ลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๔ โดยกล่าวว่า องค์การปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา ภายใต้การแนะนำของรัฐบาลกัมพูชามีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะแสวงหาหนทางสลาย ความขัดแย้งให้มีความเท่าเทียมและโปร่งใส บนพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนทางทะเล รัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลของพระราชอาณาจักรไทยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจฯ (MOU) เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๔ เกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนทางทะเล ซึ่งบันทึกความเข้าใจฯ นี้ ได้แจกแจงเกี่ยวกับพื้นที่ที่ต้องกำหนดเขตแดน (Area to be Delimited) และพื้นที่ที่ต้องพัฒนาร่วมกัน (Joint Development Area)

แถลงการณ์กล่าวต่อว่า บันทึกความเข้าใจฯ ๒๕๔๔ ไม่ใช่เป็นเพียงความเห็นชอบบนกระดาษเท่านั้น หากแต่ประเทศทั้งสองได้ใช้ทรัพยากรและความเอาใจใส่อย่างสูงในการปฏิบัติตาม บันทึกความเข้าใจฯ นี้ โดยตั้งคณะกรรมการเทคนิคร่วม อนุกรรมการเทคนิคร่วม และคณะทำงาน ๒ คณะ เกี่ยวข้องกับการกำหนดเขตแดนและการพัฒนาร่วม

การหารือและเจรจาระหว่างประเทศทั้งสองมีความก้าวหน้าอย่างมากในระหว่าง พ.ศ.๒๕๔๔ – ๒๕๕๐ ประเทศทั้งสองได้มีข้อเสนอที่แตกต่างกันสองแบบสำหรับพื้นที่พัฒนาร่วม (JDA) กล่าวคือ ข้อเสนอสลายข้อติดขัด (Break-through Proposal) (แบ่งเท่ากันตลอดทั้งพื้นที่) เสนอโดยฝ่ายกัมพูชา และข้อเสนอแบ่งพื้นที่พัฒนาร่วมออกเป็น ๓ เขต (Three-zone Proposal) ที่เสนอโดยฝ่ายไทย

แถลงการณ์ขององค์การปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา ลงวันที่ ๓๐ ส.ค. ๕๔แถลงการณ์ขององค์การปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา ลงวันที่ ๓๐ ส.ค. ๕๔
แถลงการณ์ขององค์การปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา ลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๔

ในระยะสามปีที่ผ่านมานี้ แม้ไม่ใช่การประชุมคณะกรรมการเทคนิคร่วม (JTC) อย่างเป็นทางการก็ตาม รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ต่อสัมพันธ์กับรัฐบาลกัมพูชา เพื่อเจรจาปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนทางทะเลหลายครั้ง รวมทั้งมีการประชุมระหว่างสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ในพระราชอาณาจักรกัมพูชา และอดีตรองนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ และอดีตรัฐมนตรีกลาโหม ประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๒ ที่ จ.กณดาล ประเทศกัมพูชา และการพบกันอย่างลับ ๆ ระหว่างนายสุเทพ และรองนายกรัฐมนตรี ซก อาน ที่ฮ่องกง เมื่อ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ และที่คุนหมิง วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ในระหว่างการพบกันนั้น นายสุเทพได้แจ้งความต้องการอย่างสูงที่จะแก้ปัญหานี้ให้จบในสมัยของรัฐบาล อภิสิทธิ์ การเจรจาลับเกิดขึ้นตามการร้องขอของอดีตรองนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ยืนยันว่าได้รับการแต่งตั้งจากอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ ซึ่งกัมพูชาไม่เห็นว่าเหตุใดต้องมีการเจรจาเป็นการลับ? ในช่วงของรัฐบาลก่อน ๆ ทุกการเจรจาทำขึ้นอย่างเปิดเผย แต่ถูกกล่าวหาจากพรรคประชาธิปัตย์ว่ามีผลประโยชน์ซ่อนเร้น กัมพูชามีความเคลือบแคลงอย่างมากว่า เหตุอะไรรัฐบาลอภิสิทธิ์มีความจำเป็นต้องทำการเจรจาลับ? ประชาชนไทยหรือสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ได้ทราบเกี่ยวกับการเจรจานี้ด้วยหรือ ไม่? ในขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านปัจจุบัน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ชี้แจงไปจนถึงกล่าวหา ฯพณฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่เจรจาแบบเปิดเผยกับกัมพูชา ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนแอบแฝงกับกัมพูชา และขัดขวางการดำเนินการเจรจาระหว่างรัฐบาลใหม่ของไทย ในการเจรจากับกัมพูชา กัมพูชามีความจำเป็นต้องแสดงเรื่องปกปิดอำพรางนี้ เพื่อการปกป้องตนเองของกัมพูชา และ ฯพณฯ ทักษิณ ชินวัตร ต่อต้านการบิดเบือนจากพวกประชาธิปัตย์ในประเทศไทย

รัฐบาลใหม่ นำโดยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้มีการพบหารือหรือยกข้อเสนอใดกับรัฐบาลกัมพูชา ในการแก้ปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนแต่อย่างใด อย่าว่าแต่จะมีข้อเสนอใดเพื่อแก้ปัญหาขัดแย้งที่เป็นการแลกเปลี่ยนผล ประโยชน์ส่วนตัว ดังที่ได้มีการกล่าวหาโดยนางอานิก อัมระนันทน์ สมาชิกสภาฯ ไทย ของพรรคประชาธิปัตย์ ในการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ ๒๓-๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๔

แถลงการณ์กล่าวในตอนท้ายว่า รัฐบาลกัมพูชายินดีต้อนรับการเริ่มต้นเจรจากันอีกครั้งอย่างเปิดเผยและเป็น ทางการในปัญหานี้ และต่อเนื่องการแก้ปัญหาการงานนี้ให้ได้โดยเร็วเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อเป็นผลประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างประชาชนและประเทศทั้งสอง

http://www.15thmove.net/news/petroleum-khmer-reveals-suthep-secret-talk/#more-5874

------------------------------------------------

ซกไม่ปล่อยน้ำมันไว้ใต้ทะเลเร่งเจรจาหาผลประโยชน์กับไทย

นายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีและประธานองค์การปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา ที่สนามบินพนมเปญ ๙ ก.ย.๕๔

ฟิฟทีนมูฟ
– ซก อาน แถลงไทย-เขมรต่างต้องการน้ำมันและก๊าซ เขมรจะไม่ปล่อยน้ำมันไว้ใต้ท้องทะเล จะต้องเอาทองคำสีดำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ เผยกำลังอยู่ระหว่างเตรียมออกกฎหมายน้ำมัน โดยจะศึกษาแบบอย่างจากประเทศต่าง ๆ แล้วปรับเข้ากับบริบทของเขมร แต่ยังไม่กำหนดแน่ชัดว่ากฎหมายจะออกเมื่อใด

ศูนย์ข่าวต้นมะขาม (๙ กันยายน ๒๕๕๔) รายงานอ้างการให้สัมภาษณ์ของนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่สนามบินนานาชาติกรุงพนมเปญ เมื่อวันศุกร์ เรียกร้องเจรจาแสวงหาผลประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับ ซ้อนกับไทย ภายหลังเดินทางกลับจากการประชุมนานาชาติพรรคการเมืองเอเชีย (ICAPP) ที่เมืองหนานหนิง ประเทศจีน

นายซก อาน ในฐานะประธานองค์การปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา1 กล่าวว่า ประเทศกัมพูชาและประเทศไทย ต่างต้องการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเช่นเดียวกัน ซึ่งประเทศไทยได้เคยประกาศความต้องการน้ำมันและก๊าซมาแล้วสองครั้ง และกัมพูชาก็ไม่ปล่อยน้ำมันไว้ใต้ท้องทะเลอีก เพราะน้ำมันจะเข้ามามีส่วนในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า

นายซก อาน กล่าวต่อว่า กัมพูชาก็ต้องการใช้น้ำมันและก๊าช เราไม่อาจปล่อยให้น้ำมันของเราที่เป็นทองคำสีดำ นอนนิ่งอยู่ใต้ท้องทะเลได้อีก ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้ทองคำสีดำของเรา ถูกนำมาใช้ในการพัฒนากัมพูชา หลังจากที่ด้านการเกษตร ท่องเที่ยว ตัดเย็บและก่อสร้างกำลังเติบโตอย่างมาก ในอนาคตน้ำมันจะกลายเป็นอีกด้านที่มีความสำคัญในการพัฒนาประเทศ

รองนายกรัฐมนตรี และประธานองค์การปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา กล่าวถึงกฎหมายน้ำมันที่จะร่างขึ้นว่า กฎหมายน้ำมันมีสาระสำคัญมาก โดยไม่ได้ระบุแน่ชัดว่ากฎหมายดังกล่าวจะเสร็จสิ้นเมื่อใด เนื่องจากมีความยุ่งยากมากในการออกกฎหมาย เพราะประเทศต่าง ๆ มีกฎหมายต่างกัน หากแต่กัมพูชาจะออกกฎหมายน้ำมันที่ดีและปรับให้เข้ากับบริบทของกัมพูชา ให้มีส่วนในการพัฒนาประเทศ นายซก อาน กล่าวยืนยันว่า เราต้องดูว่าประเทศไหนเขาทำอย่างไร ประเทศไหนทำแล้วได้ผลดี ประเทศไหนได้ผลไม่ค่อยดีนัก เพื่อสรุปออกกฎหมาย เพราะเรื่องนี้ไม่สามารถให้ใครมาทำแทนได้ ทั้งในบริบทเศรษฐกิจและนโยบายกัมพูชา ใครที่จะช่วยในฐานะผู้เชี่ยวชาญเราก็นำมาผนวกรวมกันเพื่อออกเป็นกฎหมายของ เรา

สื่อกัมพูชารายงานอีกว่า ก่อนหน้านี้ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้ประกาศว่า ประเทศกัมพูชาจะผลิตน้ำมันเป็นของตนเองเป็นครั้งแรกในวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๕ เวลาเที่ยงวันตรง นอกจากนี้ ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชาระบุว่า ในครึ่งแรกของปี ๒๕๕๔ กัมพูชานำเข้าน้ำมันจำนวน ๗๕๖,๑๓๒.๑๒ ตัน คิดเป็นเงิน ๖๙๒,๗๑๕,๔๔๕ ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ๒๐,๗๘๑ ล้านบาท) ช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๓ กัมพูชานำเข้าน้ำมัน ๔๔๐,๖๐๗.๐๖ ตัน เป็นเงิน ๒๙๖,๘๐๔,๒๐๘ ดอลลาร์สหรัฐ (๘,๙๐๔ ล้านบาท)

เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๔ เรียกร้องรัฐบาลใหม่ของไทยภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีความใกล้ชิดในผลประโยชน์กับรัฐบาลกรุงพนมเปญ สานต่อการเจรจาเพื่อเร่งแสวงหาผลประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย บนพื้นที่ใต้เส้นละติจูดที่ ๑๑ องศาเหนือ ซึ่งบันทึกความเข้าใจฯ ๒๕๔๔ ที่ลงนามโดยนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร กำหนดเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม (JDA) พร้อมกันนี้แถลงการณ์ดังกล่าวเอาใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยการเปิดเผยข้อมูลการเจรจาลับระหว่างนายซก อาน และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในประเด็นการแสวงหาผลประโยชน์น้ำมัน ที่ฮ่องกงและคุนหมิง ซึ่งนายสุเทพ ยอมรับในภายหลังว่ามีกรณีดังกล่าวจริง โดยอ้างว่าเป็นการเจรจานอกรอบภายใต้การมอบหมายของคณะรัฐมนตรี ซึ่งไม่เป็นที่เปิดเผยและสังคมไทยไม่เคยรับรู้ถึงการเดินทางไปเจรจานอกรอบ ดังกล่าวมาก่อน

พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนทางทะเล เกิดจากการลากเส้นฐานและเขตไหล่ทวีปโดยปราศจากหลักเกณฑ์ของกัมพูชา เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕ โดยด้านหนึ่งของเส้นอาณาเขตทางทะเลดังกล่าว ลากคร่อมจุดสูงสุดของเกาะกูดของไทย ซึ่งนายพลลอน นอล ประธานาธิปดีของกัมพูชา ในขณะนั้นให้เหตุผลว่า เป็นไปตามการเสนอของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และบริษัทเอกชนที่เสนอขอรับสัมปทานปิโตรเลียมในเขตไหล่ทวีปกัมพูชา

http://www.15thmove.net/news/sok-an-urge-oil-deal-with-thai-partner/

------------------------------------------------

ฝ่ายค้านเขมรหวั่นเจรจาน้ำมันกับเหลี่ยมทำเสียผลประโยชน์

นายซน ชัย ตัวแทนชาวพรรคสมรังสี

ฟิฟทีนมูฟ — ตัวแทนพรรคสมรังสีประกาศติดตามการเจรจาแบ่งสัดส่วนผลประโยชน์น้ำมันระหว่าง ไทย-เขมร อย่างใกล้ชิด ระบุเจรจาทวิภาคีเรื่องเขตแดนทางบกอาจไม่ได้ข้อยุติ ส่วนทางทะเลอาจทำเขมรเสียรายได้ บอกจากการศึกษาของออสเตรเลีย MOU44 สมัยทักษิณทำเขมรได้น้ำมันน้อย ไม่ยุติธรรม

วิทยุเอเชียเสรี (๑๑ กันยายน ๒๕๕๔) รายงานท่าทีของพรรคฝ่ายค้านของกัมพูชา หลังมีข่าวทักษิณ ชินวัตร จะเดินทางเยือนกัมพูชา ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๙ กันยายน เพื่อเจรจาปัญหาเขตแดนทางบกและทะเล โดย นายซน ชัย1 ตัวแทนชาวพรรคสมรังสี2 ประกาศจะติดตามการเจรจาแบ่งสัดส่วนผลประโยชน์ปิโตรเลียม ระหว่างรัฐบาลกัมพูชาและไทย เนื่องจากมองว่าบันทึกความเข้าใจฯ ๒๕๔๔ อาจทำให้กัมพูชาสูญเสียเงินรายได้ของชาติเป็นจำนวนมาก

นายซน ชัย กล่าวว่า ตนไม่มีความหวังว่าการเจรจาทวิภาคีในเรื่องเขตแดนระหว่างกัมพูชาและไทย จะช่วยยุติปัญหาเขตแดนทางบกได้เลย และกัมพูชาจะสูญเสียผลประโยชน์ในพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนในทะเล ที่มีทรัพยากรน้ำมันและก๊าชจำนวนมาก “การแบ่งสัดส่วนนี้ ถ้าตามผู้เชี่ยวชาญจากประเทศออสเตรเลีย ที่รัฐบาลเขมรเคยว่าจ้างให้ทำการศึกษาพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน เราสังเกตเห็นว่า สิ่งที่เคยทำข้อตกลงกันไว้ในสมัยของนายทักษิณนั้น จะทำให้กัมพูชาสูญเสียผลประโยชน์มากอย่างแน่นอน เนื่องจากส่วนที่กัมพูชาได้รับเป็นพื้นที่ที่ไม่มีน้ำมัน มีน้ำมันน้อยนิด ในขณะที่ได้เปอร์เซ็นต์มาก การแบ่งสัดส่วนนี้ไม่ยุติธรรมสำหรับกัมพูชาเลย”

สื่อกัมพูชาดังกล่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ นายโกย กวง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของกัมพูชา เคยกล่าวว่า การเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนในอ่าวไทย ระหว่างกัมพูชาและไทย ทำขึ้นด้วยความต้องการที่จะแบ่งปันผลประโยชน์ทั้งหมดให้เป็นไปอย่างเสมอภาค

ตามรายงานก่อนหน้าของฟิฟทีนมูฟ เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ให้สัมภาษณ์ที่สนามบินกรุงพนมเปญ เร่งให้สองฝ่ายเจรจาเพื่อนำทรัพยากรน้ำมันและก๊าซในอ่าวไทยมาใช้ประโยชน์ โดยระบุว่า กัมพูชาจะไม่ปล่อยทองคำสีดำไว้ใต้ท้องทะเล จะต้องถูกนำมามีส่วนในการพัฒนาประเทศ ทั้งไทยและกัมพูชาต่างมีความต้องการน้ำมัน นอกจากนี้ยังเปิดเผยด้วยว่า กัมพูชาอยู่ระหว่างศึกษาและร่างกฎหมายการจัดการปิโตรเลียม แต่ยังไม่มีกำหนดแล้วเสร็จ

พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา เกิดจากการลากเส้นฐานและเขตไหล่ทวีปโดยปราศจากหลักเกณฑ์ของกัมพูชา เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕ โดยด้านหนึ่งของเส้นอาณาเขตทางทะเลดังกล่าว ลากคร่อมจุดสูงสุดของเกาะกูดของไทย นายพลลอน นอล ประธานาธิบดีของกัมพูชา ในขณะนั้น ให้เหตุผลว่า เป็นไปตามการเสนอของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และบริษัทเอกชนที่เสนอขอรับสัมปทานปิโตรเลียมในเขตไหล่ทวีปกัมพูชา

http://www.15thmove.net/news/khmer-opposition-worries-oil-share-ratio/

------------------------------------------------

ฮวยเซงป้องเพื่อนเหลี่ยม จัดหนักจรกา-มาร์คดอดเจรจาลับน้ำมัน

ฮุน เซน ระหว่างพิธีมอบปริญญาบัตรที่เกาะเพชร ๑๒ ก.ย.๕๔

ฟิฟทีนมูฟ – ฮุน เซน ป้องเพื่อนรักหน้าเหลี่ยม บอกไม่มีหน้าที่เจรจาผลประโยชน์ระหว่างสองประเทศ เป็นหน้าที่ของรัฐบาล จัดหนักสุเทพ-อภิสิทธิ์ เปิดหมดเจรจาลับน้ำมันเริ่มที่บ้านพักตาเคมา จ.กัณดาล ใครหอบเอกสารแผนที่บล็อคน้ำมันไปหาที่บ้าน ใครได้รู้ได้เห็นบ้าง บอกอภิสิทธิ์ไม่รู้เรื่องก็อย่าพูดหรือว่าต้องให้สอนซ้ำอีก ยุใช้มาตรา ๑๙๐ ตรวจสอบเจรจาลับ

หนังสือพิมพ์กัมพูชาใหม่ วานนี้ (๑๒ กันยายน ๒๕๕๔) หนังสือพิมพ์เกาะสันติภาพและเว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา วันนี้ (๑๓ กันยายน ๒๕๕๔) รายงานคำกล่าวของ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ระหว่างพิธีมอบปริญญาบัตรผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยการจัดการ ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าเกาะเพชร วานนี้ หนึ่งวันให้หลังการเดินทางเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และกรณีกล่าวโจมตีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เรื่องการเจรจาลับแบ่งผลประโยชน์น้ำมันในพื้นที่อ่าวไทย

ฮุน เซน กล่าวถึงการให้การต้อนรับทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ระหว่างการหลบหนีโทษจำคุก ว่า “ผมจะเปิดสำนักนายกรัฐมนตรีต้อนรับ ผมรับทักษิณอย่างเป็นทางการ รับในนามเป็นมิตรแท้อย่างหนึ่ง และจะรับในฐานะวิทยากรคนหนึ่งสำหรับการสัมมนาเกี่ยวกับเศรษฐกิจเอเชีย แล้วขออย่ามาสั่งให้ผมจับทักษิณ ไม่ว่าพรรคฝ่ายค้านไทย ไม่ว่ารัฐบาลไทย คือไม่ได้เลย เพราะนี่เป็นดินแดนเขมร ที่เป็นสิทธิของผม” ฮุน เซน กล่าวต่อว่า “ทักษิณมาตามคำเชิญในการสัมมนาที่เตรียมการโดยราชบัณฑิตยสภากัมพูชา1 ที่มีพรรคประชาธิปไตยนิยมกลางสากล2 เข้าร่วมด้วย หรือกล่าวคือเขามาเป็นวิทยากรที่กัมพูชา ผมเป็นนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ผมจะไม่รับเขาที่บ้านของผม ผมจะรับเขาที่สำนักนายกรัฐมนตรี แล้วจะมีการเลี้ยงรับรองที่สำนักนายกรัฐมนตรี”

นายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวว่า จะมีการประดับเหรียญเกียรติยศแก่ผู้ทรงเกียรติจำนวนหนึ่ง ที่ได้เริ่มต้นก่อตั้งการประชุมนานาชาติพรรคการเมืองเอเชีย (ICAPP) ซึ่ง ดร.ทักษิณ จะได้รับเหรียญด้วย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย (นพดล ปัทมะ) ก็ได้รับด้วย พร้อมกับนักการเมืองอีกจำนวนหนึ่ง ผู้ได้รับเชิญร่วมประดับเหรียญคือ อดีตประธานสภาฟิลิปปินส์ และรองประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย

ต่อกระแสข่าวที่ว่าทักษิณ ชินวัตร เดินทางเยือนกัมพูชาเพื่อเจรจาเรื่องผลประโยชน์น้ำมันในอ่าวไทย บนพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน นั้น ฮุน เซน กล่าวว่า “ผมมีข้อห้าม ผมไม่คุยกับทักษิณเรื่องปัญหาผลประโยชน์ในประเทศทั้งสอง แล้วทักษิณก็มีข้อห้ามด้วย เราดึงทักษิณมาเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจจากเขา ส่วนภารกิจเจรจาเป็นภารกิจของรัฐบาลไทย ก่อนหน้าคือรัฐบาลอภิสิทธิ์ ปัจจุบันนี้คือรัฐบาลยิ่งลักษณ์” ฮุน เซน กล่าวต่อว่า “ผมขอยืนยันว่า ทักษิณไม่มีภารกิจที่จะเจรจาในเรื่องใดทั้งสิ้น ในเรื่องผลประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องระหว่างกัมพูชา-ไทย เพราะนี่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทย ไม่ใช่หน้าที่ของ ฯพณฯ ทักษิณ”

นายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวถึงกรณี เมื่อปลายเดือนสิงหาคม ที่เปิดเผยข้อมูลการเจรจาลับระหว่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กับนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เรื่องผลประโยชน์น้ำมัน ว่า เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านไทยยกประเด็นขึ้นมา ต่อมาองค์การปิโตรเลียมกัมพูชาได้ประกาศข่าวเกี่ยวกับการเจรจาลับ มีสมาชิกสภาฯ พรรคประชาธิปัตย์ของอภิสิทธิ์ พร้อมกับคนอีกจำนวนหนึ่ง โจมตีทักษิณว่า ทักษิณเจรจามีผลประโยชน์กับกัมพูชา ในยุคทักษิณได้เปิดการเจรจาอย่างเปิดเผย โดยมีคณะกรรมการร่วม ๒ คณะ คือ คณะหนึ่งสำหรับกำหนดเขตแดน และอีกคณะเกี่ยวกับพื้นที่พัฒนาร่วม การเจรจานั้นจนมาถึงเวลานี้ ไม่ว่ากับรัฐบาลไหนก็ตาม ยังไม่มีความเห็นชอบอะไรทั้งสิ้น ในนั้นมีการแบ่งส่วนออกเป็น ๓ โซน ตรงกลางแบ่ง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ที่อยู่ใกล้ไทยกว่า ตอนแรกแบ่ง ๑๐-๙๐ ต่อมาเอา ๒๐-๘๐ ส่วนพื้นที่ข้างกัมพูชา ๘๐-๒๐ ส่วนกัมพูชาเสนอกลับไปว่าให้แบ่งเป็นบล็อค ๆ แล้วจับฉลากเลือก

ฮุน เซน กล่าวว่า “สิ่งที่เราต้องการยืนยันในที่นี้คือ ไม่ว่าจะมีการเจรจาเปิดเผยหรือเจรจาลับ แต่การเจรจาทั้งหมดยังไม่เกิดเป็นผลแต่อย่างใด แล้วก็ไม่สามารถมีเรื่องผลประโยชน์ซ่อนเร้นอย่างหนึ่งอย่างใด อย่างที่พรรคประชาธิปัตย์ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยกขึ้นกล่าวหาได้” แล้วต่อว่า “ผมต้องแจ้งเรื่องนี้ให้ฝ่ายไทยได้ทราบ ผู้ใดเปิดการเจรจาลับ?” ฮุน เซน กล่าวอีกว่า “ในยุคของทักษิณ การเจรจาก็ทำอย่างเปิดเผย ส่วนสมัคร สุนทรเวช มากรุงพนมเปญก็พูดกับผมเปิดเผยในการเจรจา หากแต่ต่างจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เขาว่าเป็นรัฐบาลโปร่งใส ผมไม่ได้เตรียมตัวหารือกับสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบฝ่ายความมั่นคงของไทย และรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงกลาโหม ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่อย่างใด”

นายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวย้อนความจำไปถึงสุเทพ เทือกสุบรรณ ว่า “นายสุเทพมากัมพูชาสามครั้ง เขาคงลืมไป ครั้งแรกในเดือนเมษา ตอนนั้นมาไกล่เกลี่ยเพื่อรับรองให้ผมไปพัทยาร่วมการประชุมอาเซียน หลังจากมีเรื่องในสภาไทยที่กษิต ภิรมย์ เรียกผมว่าเป็นนักเลง ต่อมาก็มีทำหนังสือขอโทษ ภายหลังนายสุเทพก็มากัมพูชาอีกพร้อมกับรัฐมนตรีกลาโหม แล้วก็ได้มีการหารือเรื่องนั้นเรื่องนี้ โดยไม่ได้พูดถึงเรื่องน้ำมันเลย วันที่ ๒๗ มิถุนายน ภริยาผมทำอาหารเลี้ยงส่วนตัวคือทำแกงเลียง3 ให้เขารับประทาน หากแต่เรื่องที่แปลกคือ นายสุเทพได้เอาเอกสารแผนที่เกี่ยวกับบล็อคน้ำมันในทะเลมาด้วย แล้วเขาได้แจ้งว่า อภิสิทธิ์ได้แต่งตั้งเขาให้มาเจรจากับสมเด็จฯ ให้เสร็จภายในสมัยของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ ดังนั้น เขาไม่ต้องการเจรจากับรองนายกรัฐมนตรี ซก อาน เขาต้องการเป็นคู่เจรจากับ ฮุน เซน เท่านั้น” ฮุน เซน กล่าวต่อว่า “ผมได้แจ้งกลับไปว่า ผมมีรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบเจรจาเรื่องนี้ ไม่สามารถเป็นคู่เจรจากับ ฯพณฯ ได้” พร้อมกล่าวต่อว่า “สุเทพต้องการยกตัวให้เสมอกับฮุน เซน เรื่องการเจรจาบนพื้นที่ทางทะเล ซึ่งการเจรจาเบื้องต้นได้เกิดขึ้นที่ตาคะเมา45 จ.กัณดาล6 ที่ตอนนั้น เราได้ต้อนรับเขาด้วยแกงเลียง แล้วก็ขณะที่มาพบนั้นไม่มีประเด็นอื่นอีก การเจรจาลับเริ่มต้นจากตาคะเมา ส่วนการเจรจาที่ฮ่องกงและที่คุนหมิง ประเทศจีน เป็นเรื่องถัดมา”

ฮุน เซน กล่าวพาดพิงถึงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่า “อภิสิทธิ์ ถ้าไม่ชัดเจนก็อย่าพูด นำคนต่อต้าน ผมไม่ต้องการพูดถึง หรือว่าผมต้องสอนอภิสิทธิ์อีก เมื่อตอนที่เป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนกัน ผมก็สอนแล้วสอนอีก ตอนนี้ผมยังต้องสอนอีกหรือ ผมขอแนะนำไปถึงอภิสิทธิ์และสุเทพที่กรุงเทพฯ ว่า ใครคนไหนหอบเอาเอกสารมาที่บ้านผมที่ตาเคมา สุเทพรับรู้เรื่องนี้” และกล่าวต่อว่า “ใครคนไหนหอบเอาเอกสารไปที่ตาเคมา ผมไม่รับรู้ด้วย ดังนั้น ขอให้ฝ่ายไทยไปดูไปตรวจสอบให้ถูกต้องถึงมาตรา ๑๙๐ ของรัฐธรรมนูญไทย เรื่องที่มาลักลอบเจรจาลับอย่างนั้น ”

นายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวอีกว่า “ตอนนี้ ตั้งแต่ออกจากตำแหน่ง อภิสิทธิ์ก็มาโจมตีว่าเนื่องจากรัฐบาลไทย (ยุคอภิสิทธิ์) ไม่สนองผลประโยชน์ของกัมพูชาทำให้ไม่ถูกกัน ผมก็จะแจ้งกลับไปที่อภิสิทธิ์ว่า ถ้ารัฐบาลก่อนไม่ถูกกันแล้ว ใครคนไหนที่ส่งคนมาเจรจาลับ ไอ้ที่ลับเป็นอะไร?” แล้วกล่าวต่อว่า “เขาต้องการรู้เรื่องลับนี้ไหม ถ้าต้องการรู้ว่าลับหรือไม่ลับ ต้องเริ่มต้นที่ตาคะเมา จ.กัณดาล ฟังให้ชัด..ผู้นำเอกสารมา คือ ประวิตร วงษ์สุวรรณ เตีย บัญ ลี ยงพัต และคำปูน ซท7 ได้เห็นเอกสารนี้”

นอกจากนี้ ฮุน เซน พูดถึงกำหนดการของ ทักษิณ ชินวัตร ว่า จะไปถึงกัมพูชาวันที่ ๑๖ กันยายน โดยจะเข้าร่วมการบรรยายเกี่ยวกับอนาคตเศรษฐกิจเอเซียในวันที่ ๑๗ กันยายน ที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ ส่วนวันที่ ๑๘ อาจจะร่วมเล่นกอล์ฟกับฮุน เซน ช่วงเช้าวันที่ ๑๙ ทักษิณจะร่วมบรรยายในการสัมมนาที่อาคารมิตรภาพกับวิทยาการอื่น ๆ และในช่วงบ่าย จะเข้าร่วมในพิธีประดับเหรียญผู้ทรงเกียรติซึ่งพรรคประชาธิปไตยนิยมกลางสากล จัดขึ้น จากนั้นในวันที่ ๒๐ กันยายน ทักษิณจะเดินทางไปยังจังหวัดเสียมราฐ ส่วนนั้น ฮุน เซน เปิดเผยว่าทีมของฝ่ายกัมพูชาได้เริ่มฝึกซ้อมมาตั้งแต่วันที่ ๑๑ กันยายน แล้ว

http://www.15thmove.net/news/hun-sen-revealed-suthep-secret-oil-deal

------------------------------------------------

ฮวยแนะปูใช้ปรับกำลังแทนถอนทหาร ย้ำต่อหน้า ๔.๖ เป็นของเขมร

CAMBODIA/

ฟิฟทีนมูฟ – ฮุน เซน บอกยิ่งลักษณ์ต้องถอนทหารออกจากพื้นที่ปลอดทหารและรับผู้สังเกตการณ์อินโดฯ ตามมาตรการศาลโลก แนะใช้ปรับกำลังแทนถอนทหาร ย้ำต่อหน้าว่า ๔.๖ ตร.กม. เป็นของเขมร ยังไงก็ถอนทหารออกไม่ได้ ชวนเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนทางทะเลเสนอเอา MOU44 กลับมาใช้เปิดทางแบ่งผลประโยชน์น้ำมัน ปูคุยช่วยวีระ-ราตรี แต่เขมรปัดบอกจะขอลดหย่อนโทษเป็นคราว ๆ แทน

การเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงบ่าย (๑๕ กันยายน ๒๕๕๔) ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และ บุน รานี ภริยา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูง ให้การต้อนรับที่ตึกวิมานสันติภาพ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลาประมาณ ๑๓.๔๐ น. ภายหลังการพบหารือนานร่วม ๒ ชั่วโมง รัฐมนตรีของกัมพูชา นายฮอ นำฮง รัฐมนตรีต่างประเทศ และนายเขียว กัญญาฤทธิ์ รัฐมนตรีข่าวสาร ในฐานะโฆษกรัฐบาล

ตามการรายงานของสื่อกัมพูชาหลายสำนัก1 นายฮอ นำฮง แถลงผลการหารือว่า สองฝ่ายได้มีความเห็นชอบร่วมกันในการที่จะฟื้นคืนและพัฒนาความสัมพันธ์ โดยเฉพาะในด้านการค้า การท่องเที่ยว และในด้านอื่น ๆ โดยในด้านการค้านั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เสนอให้มีการจัดงานแสดงสินค้าไทย-กัมพูชา ขึ้นอีกครั้ง ซึ่งผู้นำกัมพูชาให้การตอบรับ โดยที่การแสดงสินค้าที่ประเทศกัมพูชาดังกล่าว ชะงักมาตั้งแต่เกิดสงครามตามแนวชายแดนใกล้ปราสาทพระวิหาร ปราสาทตาเมือนธม และปราสาทตาควาย

ในโอกาสเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ยกประเด็นของ ๒ คนไทย ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำของกัมพูชา คือ นายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ขึ้นหารือ โดยนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา กล่าวตอบว่า รัฐบาลกัมพูชากำลังตรวจดูเรื่องนี้ และรัฐบาลอาจจะเสนอไปยังกษัตริย์กัมพูชา เพื่อขอลดหย่อนผ่อนโทษเป็นคราว ๆ แล้วจะพิจารณาต่อไปอีก รัฐบาลต้องเคารพกฎหมายและคำตัดสินของศาล กล่าวคือ กฎหมายกัมพูชา ต้องให้ได้รับโทษ ๒ ใน ๓ ของคำตัดสินก่อน จึงจะเสนอขอให้กษัตริย์อภัยโทษ

เกี่ยวกับประเด็นเขตแดน ฮุน เซน ได้แจ้งกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าควรจะให้กองทัพของสองฝ่ายได้พบหารือกัน รักษาบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพให้ดี และต้องถอนทหารออกจาก พื้นที่ปลอดทหาร ที่กำหนดโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยในการถอนทหารนี้ เราไม่ใช้คำว่าถอนทหาร เราใช้คำว่าปรับกำลังทหาร และจำเป็นที่จะต้องให้มีผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย ก้าวต่อไปที่ศาลตีความ คือ เราต้องเคารพตามคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ปี ๒๕๐๕ นอกจากนี้ ฮุน เซน ได้แจ้งกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า รัฐบาลในวันนี้ก็ไม่อาจถอนทหารออกจากพื้นที่ ๔.๖ ตร.กม. ได้ เนื่องจากเป็นดินแดนของกัมพูชา กัมพูชาไม่อาจถอนทหารได้เลย ดังนั้น ปล่อยให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความปัญหานี้ ถ้าศาลฯ ตีความว่าดินแดนนี้เป็นของไทย กัมพูชาก็จะให้ไทย ดังนั้น เรารักษาให้เป็นพื้นที่ปลอดทหารไปจนถึงวันที่ศาลฯ ตีความคำตัดสิน ปี ๒๕๐๕

ประเด็นพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนทางทะเล นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวว่า เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๒ ต่อมาได้ เราได้รับข่าวว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ยกเลิก MOU44 ไปแล้ว แต่ในทางตรงข้ามเราได้รับบันทึกการทูตจากสถานทูตไทย ตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจาและแก้ปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน ฮุน เซน เสนอว่า ตอนนี้เราเจรจาเปิดเผยระหว่างรัฐบาลทั้งสอง เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนในทะเล โดยนำ MOU44 กลับมาใช้ใหม่พร้อมกับมาตรการอื่นที่มีอยู่

ฮุน เซน ได้เสนอ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อีกว่า ควรให้จังหวัดที่อยู่ติดชายแดนได้พบหารือกันเพื่อแก้ปัญหาที่มีอยู่ตามแนว ชายแดน ซึ่งอาจจะให้มีการประชุมร่วมของรัฐมนตรีมหาดไทยในพื้นที่ชายแดน เจ้าหน้าที่สองฝ่ายปฏิบัติงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ การลักลอบนำยาเสพติดข้ามแดน พร้อมกันนั้น ฮุน เซน ได้เสนอขอให้มีการเปิดด่านพรมแดนแห่งใหม่เพิ่มเติม ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เห็นด้วย โดยเฉพาะพื้นที่สตึงบต2 เพื่อให้สตึงบตเป็นด่านสำหรับนำสินค้าเข้าออก แล้วให้พื้นที่ปอยเปตเป็นด่านสำหรับนักท่องเที่ยว ไม่ให้ปะปนกัน

นอกจากนี้ ฮุน เซน ได้เสนอให้มีการประชุมนัดพิเศษวิสามัญ ของคณะกรรมการร่วมระหว่างประเทศรัฐบาลกัมพูชาและไทย ที่มีรัฐมนตรีต่างประเทศของสองฝ่ายเป็นประธานร่วม เพื่อเร่งสานต่อความสัมพันธ์ให้ครบทุกด้านและได้ผลดี3 ในประเด็นอื่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ หยิบประเด็นเรื่อง ​​​AMEC VISAGE ​ขึ้นหารือ

ส่วนนายเขียว กัญญาฤทธิ์ ได้แถลงว่า ฮุน เซน ถือว่าการเดินทางเยือนกัมพูชาครั้งแรกของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นี้ เป็นภารกิจลิ้นกับฟัน เพราะกัมพูชากับไทยเปรียบเหมือนลิ้นกับฟัน แม้มีการปะทะกันแต่ก็ไม่อาจแยกจากกันได้ ดังนั้น ภารกิจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่กัมพูชา เป็นการคืนดีเพื่อให้ทั้งสองประเทศกลับมาดีกัน โฆษกรัฐบาลกัมพูชา กล่าวอีกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เห็นชอบกับคำกล่าวของฮุน เซน ที่ว่าไทยกับกัมพูชาต้องปฏิบัติตามศาลโลกในการถอนทหาร และเคารพต่อบทบาทของอินโดนีเซีย

http://www.15thmove.net/news/results-yingluck-visit-hun-sen/

------------------------------------------------

เรื่องการเจรจาผลประโยชน์ใดๆ ระหว่างประเทศ
ต่อไปต้องเปิดเผยให้คนไทยรับทราบทั้งหมด
ที่สำคัญคนประเทศคู่กรณีเองก็ต้องรับทราบเหมือนกัน
แต่อาจรับทราบภายหลังการเจรจาต่อรองก็ไม่มีปัญหา
แต่ผลเจรจาว่าอะไรต้องชี้แจงให้ประชาชนทั้งประเทศเข้าใจ
แล้วจัดให้มีการลงประชามติถ้าต้องการทำตามที่เจรจานั้น
เพื่อไม่ให้มีปัญหาในอนาคต อย่าอุบอิบไปทำแบบเดิมๆ
ไม่มีประโยชน์มีแต่ปัญหามากมายตามมาภายหลัง

ปล. ภาษาข่าวเจ้าของเว็บ 15thmove.net
เหมือนเลียนแบบมาจากสื่อผู้จัดการ
ชาวเสื้อแดงโปรดทำใจทนอ่านหน่อยก็แล้วกัน
สำหรับศัพท์การเมืองของคนแปล
แต่เนื้อหาแปลข่าวภาษาเขมรเป็นไทยก็ถือว่าใช้ได้
ถ้าปรับปรุงพาดหัวสักเล็กน้อยให้สุภาพขึ้นจะเป็นเว็บที่ดีเว็บหนึ่ง

------------------------------------------------
โดย มาหาอะไร
FfF