บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


06 กันยายน 2554

<<< ประวัติศาสตร์ธรรมชาติของการปฏิวัติ >>>

′ประวัติศาสตร์ธรรมชาติของการปฏิวัติ′

วันที่ 02 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.




โดย เกษียร เตชะพีระ



Isaac Deutscher & Crane Brinton

ช่วงวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา นักประวัติศาสตร์ไทยชั้นนำหลากรุ่นหลายคน เช่น อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์, อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ฯลฯ ได้เตือนชนชั้นนำทางอำนาจเดิมให้เร่งปรับตัวปฏิรูปความสัมพันธ์ทางอำนาจเสีย ใหม่ก่อนจะสายเกินการณ์ (http://thaienews.blogspot.com/2010/10/1_19.html; http://prachatai.com/print/36288; และ ฟ้าเดียวกัน, 9:2, เมษายน-มิถุนายน 2554)

ทว่าจวบจนปัจจุบันก็ยังไม่ปรากฏชัดว่าเสียงเตือนดังกล่าวได้รับการสดับตรับฟังและตอบสนองจากเครือข่ายอำนาจเดิมแต่อย่างใด

จึง น่าคิดว่าหากการปรับตัวปฏิรูปของชนชั้นนำดังกล่าวไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้น แต่น้อยไปนิด สายไปหน่อย (too little too late)... แนวโน้มสถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นไปเช่นไร?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เครื่องมือวิเคราะห์คาดการณ์ที่นักรัฐศาสตร์มักใช้ได้แก่แนวคิดทฤษฎีรัฐล้ม เหลว/เปราะบาง (failed/fragile state ดู http://www.isn.ethz.ch/isn/Digital-Library/Publications/ Detail/?&lng=en&id=57427)

ทว่าจุดอ่อนของเครื่องมือชุดนี้ คือมองภาพค่อนข้างนิ่งและเป็นนามธรรม ไม่สะท้อนเหตุการณ์ความขัดแย้งที่คลี่คลายขยายตัวไปอย่างมีพลวัตและเป็น รูปธรรมเท่าที่ควร

ข้อจำกัดนี้ชวนให้นึกถึงแนวคิดอีกชุดหนึ่งซึ่งผม เคยอ่านพบตั้งแต่ราวสามสิบปีก่อนสมัยกลับออกจากป่าและคืนสภาพนักศึกษามา เรียนปริญญาตรีต่อแล้วพยายามค้นคิดทำความเข้าใจด้วยแรงกระตุ้นจากประสบการณ์ ของตนเองว่าทำไมการปฏิวัติจึงสำเร็จหรือล้มเหลว? ผ่านงานเขียนของนักประวัติศาสตร์ชาวโปแลนด์เชื้อสายยิว Isaac Deutscher (The Unfinished Revolution: Russia 1917-1967, 1967) และนักประวัติศาสตร์อเมริกัน Crane Brinton (The Anatomy of Revolution, 1965)

ซึ่งเสนอเรื่องประวัติศาสตร์ธรรมชาติของการปฏิวัติ (The Natural History of Revolutions)

แนว คิดนี้มาจากการศึกษาสังเกตการปฏิวัติใหญ่ครั้งต่างๆ ในประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่ เช่น การปฏิวัติอังกฤษ ค.ศ.1640 , การปฏิวัติอเมริกัน ค.ศ.1776 , การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 และการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ.1917 แล้วประมวลเสนอว่ามีแบบแผนที่ค่อนข้างซ้ำรอยลงตัวอย่างสม่ำเสมอใน กระบวนการคลี่คลายขยายตัวของการปฏิวัติเหล่านั้น จนกระทั่งเราสามารถสังเกตเห็นและคาดการณ์ได้เหมือนเป็นกฎเกณฑ์ทั่วไปของการ ปฏิวัติ ดุจเดียวกับที่นักชีววิทยาเล็งเห็นและสรุปแบบแผนขั้นตอนประวัติการคลี่คลาย เปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตพันธุ์ต่างๆ

เช่น ผีเสื้อ [ไข่ผีเสื้อ -> หนอนลอกคราบหลายครั้ง -> ดักแด้ -> ผีเสื้อ], หรือกบ [ไข่กบ -> ตัวอ่อน -> ลูกอ๊อด -> ลูกอ๊อดตัวโต -> ลูกอ๊อดกบ -> ลูกกบสิท -> กบ] ฉันใดฉันนั้น

Jack A. Goldstone นักสังคมวิทยาและรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญเรื่องการปฏิวัติและขบวน การทางสังคมได้ช่วยสรุปแบบแผนแห่งประวัติศาสตร์ธรรมชาติของการปฏิวัติตามแนว คิดดังกล่าวไว้อย่างกระชับเป็นระบบ 10 ขั้นตอน ("The Comparative and Historical Study of Revolutions," Annual Review of Sociology, Vol.8, 1982, 187-207)

ผมขอปรับปรุงแต่งเติมเพื่อนำมาเล่าต่อดังนี้: -

1) ก่อนเกิดการปฏิวัติใหญ่ ปัญญาชนส่วนมากไม่ว่านักหนังสือพิมพ์, กวี, นักเขียนบท ละคร, ครูบาอาจารย์, พระสงฆ์องค์เจ้า, นักกฎหมาย, ข้าราชการชำนาญการ ฯลฯ ต่างก็พากันเลิกสนับสนุนระบอบการปกครอง, เขียนงานประณามมัน, และเรียกร้องให้ปฏิรูปขนานใหญ่

การที่ปัญญาชนพา กันเอาใจออกห่างระบอบปกครองขนานใหญ่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันส่อให้เห็นว่าระบอบปกครองล้มเหลวที่จะเสนอสนองบริการสำคัญแก่บรรดา ผู้สนับสนุนระบอบเอง จนเกิดความขุ่นเคืองกระด้างกระเดื่องต่อความสามารถในการบริหารบ้านเมืองของ ระบอบปกครองแผ่กว้างแพร่หลายไปถึงกระทั่งแวดวงคนชั้นสูงในรัฐบาลและสังคม ซึ่งปกติน่าจะสนับสนุนระบอบปกครอง กระแสวิพากษ์วิจารณ์ของปัญญาชนดังกล่าวยังบ่งชี้ว่าผู้นำทางการเมืองอาจ ลังเล ที่จะปราบปรามการลุกฮือของประชาชน, และชนชั้นนำด้วยกันเองอาจก่อกบฏต่อระบอบปกครองก็เป็นได้

2) ในวันสุกดิบก่อนระบอบเก่าจะล่มจม, รัฐจะพยายามสนองตอบต่อคำวิจารณ์ที่แหลมคม ที่สุดโดยดำเนินการปฏิรูปขนานใหญ่

มาตรการ ปฏิรูปเหล่านี้มุ่งที่จะดูดกลืนกลุ่มพลังใหม่ๆ ให้เข้ามาเป็นสมัครพรรคพวกของระบอบปกครองโดยไม่ยอมให้อิทธิพลที่แท้จริงแก่ พวกเขาแต่อย่างใด เช่น ก่อตั้งสภาที่ปรึกษาหรือคณะกรรมการวางแนวทางการปฏิรูปขึ้นให้ตัวแทนกลุ่มดัง กล่าวเข้ามาเป็นสมาชิกโดยไม่มีอำนาจจริงในทางปฏิบัติแต่อย่างใด เป็นต้น

ทว่า โดยทั่วไปแล้วการปฏิรูปแบบน้อยไปนิดสายไปหน่อยทำนองนี้กลับส่งผลโอละพ่อไป บ่อนทำลายระบอบปกครองหนักขึ้น เพราะเท่ากับยอมรับว่าระบอบเดิมบกพร่องและเป็นการส่งเสริมกลุ่มอื่นๆ ให้เรียกร้องการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงที่ไปไกลกว่านี้อีก

สม ดังที่มาคีอาเวลลีเคยเตือนเจ้าผู้ปกครองไว้ว่า: "หากแม้นความจำเป็น (ของการปฏิรูป) มาถึงในยามไม่สงบแล้ว ก็สายเกินไปที่ท่านจะใช้มาตรการแข็งกร้าว และมาตรการนุ่มนวลก็จะไม่ช่วยท่านแต่อย่างใด เพราะมันจะถูกถือว่าท่านถูกบีบคั้นให้จำยอมดำเนินมาตรการดังกล่าว และจะไม่มีใครสำนึกว่าติดค้างหนี้บุญคุณท่านที่ออกมาตรการเหล่านี้"

3) อันที่จริงการล่มจมของระบอบเริ่มต้นด้วยวิกฤตคับขันทางการเมืองอันเนื่องมา จากรัฐบาลไม่สามารถจัดการปัญหาเศรษฐกิจ, การทหาร, หรือการเมืองบางอย่างได้ มากกว่าจะเริ่มจากปฏิบัติการของฝ่ายค้านที่ปฏิวัติ

วิกฤตอาจมาในรูป รัฐล้มละลายทางการคลังหรือกองทัพเป็นอัมพาตมิอาจสั่งการบังคับบัญชาได้ เป็นต้น ณ จังหวะนั้นฝ่ายนำการปฏิวัติซึ่งเอาเข้าจริงอาจเคลื่อนไหวมานานแล้ว พลันพบว่าตนเองเป็นฝ่ายได้เปรียบเนื่องจากระบอบเก่าง่อยเปลี้ยทุพพลภาพไป จุดปะทุการปฏิวัติจึงเกิดจากรัฐอ่อนเปลี้ยหรือเป็นอัมพาต, มากกว่าการที่จู่ๆ ฝ่ายปฏิวัติจะพลันเข้มแข็งเพิ่มขึ้นมามหาศาลได้

4) ต่อให้ในกรณีที่ฝ่ายค้านที่ปฏิวัติต่อระบอบเก่าเคยสามัคคีเป็นเอกภาพกันมา ก่อน การล่มจมของระบอบเก่าจะเผยให้เห็นความขัดแย้งภายในฝ่ายค้านที่ปฏิวัติในที่ สุด

หลังผ่านกระแสคึกคักเคลิบเคลิ้มครึ้มอกครึ้มใจสั้นๆ จากการที่ระบอบเก่าล่มจมลง ขบวนการปฏิวัติจะแบ่งแยกแตกกันเป็น 3 ฝ่ายใหญ่ๆ อย่างรวดเร็วได้แก่: -

ก) ฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งพยายามให้เกิดการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด และสุดท้ายแล้วหลายคนในฝ่ายนี้ก็อาจจะหันกลับไปสนับสนุนระบอบเก่า

ข) ฝ่ายขุดรากถอนโคน ซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางรวดเร็ว และ

ค) ฝ่ายเดินสายกลาง ซึ่งต้องการให้เปลี่ยนแปลงปฏิรูปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ความแตกแยกขัดแย้งดังกล่าวอาจนำไปสู่รัฐประหารหรือแม้แต่สงครามกลางเมืองขึ้นในระบอบใหม่

5) กลุ่มแรกที่เข้ายึดกุมบังเหียนอำนาจรัฐมักได้แก่พวกนักปฏิรูปสายกลาง

6) ขณะที่พวกเดินสายกลางพยายามจะสร้างระเบียบการปกครองขึ้นมาใหม่บนพื้นฐานการ ปฏิรูปสายกลางโดยบ่อยครั้งมักอาศัยรูปแบบการจัดตั้งที่ตกค้างหลงเหลือมา จากระบอบเก่านั้น ศูนย์อำนาจทางเลือกที่มุ่งปลุกระดมมวลชนไปผลักดันการเปลี่ยนแปลงอย่างขุดราก ถอนโคนกว่าจะพากันก่อตัวขึ้นด้วยรูปแบบการจัดตั้งใหม่ๆ

7) การเปลี่ยนแปลงรูปการจัดตั้งและอุดมการณ์หลักของสังคมขนานใหญ่ที่เกิดขึ้น ตามหลังการปฏิวัติที่สำเร็จนั้น หาได้บังเกิดขึ้นในตอนแรกที่ระบอบเก่าล่มจมไม่ หากบังเกิดขึ้นเมื่อ องค์การจัดตั้งทางเลือกที่ระดมมวลชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างขุดรากถอนโคน เข้าแทนที่ฝ่ายเดินสายกลางได้สำเร็จแล้วต่างหาก

กล่าวโดยทั่วไป ขั้นตอนนี้เกิดขึ้นเนื่องจากในความพยายามที่ฝ่ายเดินสายกลางจะรักษาความต่อ เนื่องกับระบอบเก่า/ระเบียบเดิมไว้นั้น ก็ย่อมพลอยส่งผลให้พวกเขาสืบทอดเอามรดกด้านลบและขีดจำกัดซึ่งเป็นตัวทำให้ ระบอบเก่าล่มจมลงมาไว้ด้วย จึงทำให้ไม่สามารถจัดการปัญหาฉุกเฉินด้านเศรษฐกิจหรือการทหารได้ทันท่วงที

ใน ทางกลับกัน เนื่องจากฝ่ายขุดรากถอนโคนยินดีจะดำเนินมาตรการสุดขั้วสุดโต่งเพื่อจัดการ ปัญหาเร่งด่วนและประกันความมั่นคงของอำนาจปกครองของตน จึงมีโอกาสจะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนนี้ไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จที่จักต้องเป็นไปเช่นนั้น หากแม้นฝ่ายเดินสายกลางพร้อมจะบอกเลิกและปลีกตัวจากระบอบเก่ามากเพียงไหน พวกเขาก็มีโอกาสจะประสบความสำเร็จมากเพียงนั้น แม้เป็นการยากที่พวกเขาจะทำเช่นนั้นได้ไกลเท่าฝ่ายขุดรากถอนโคนก็ตาม

น่า สังเกตว่าในกรณีการปฏิวัติประชาชาติเพื่อกู้เอกราชจากระบอบอาณานิคม ฝ่ายเดินสายกลางมักมีโอกาสอยู่รอดในอำนาจได้เมื่อเทียบกับการปฏิวัติทางชน ชั้นภายในสังคมเดียวกันเอง

8) ความปั่นป่วนวุ่นวายอันเนื่องมาจากการปฏิวัติและอำนาจกำกับควบคุมโดยฝ่ายขุด รากถอนโคนมักจะส่งผลให้เกิดการปกครองแบบบังคับขับไสที่ใช้กำลังยัดเยียด ระเบียบใหม่ลงมา

นี่คือขั้นตอน "ภัยสยอง" (Terror) ที่ฆ่าฟันกวาดล้างกันนองเลือดและรู้จักกันดีภายหลังการปฏิวัติใหญ่ครั้ง ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ ไม่ว่ายุคสมัยการประหารด้วยกิโยตีนของฝรั่งเศสใต้การนำของโรเบสปีแอร์, การกวาดล้างใหญ่และส่งตัวเข้าค่ายกักกันของรัสเซียใต้การนำของสตาลิน, และการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนใต้การนำของเหมา เจ๋อ ตง

9) การต่อสู้ระหว่างฝ่ายขุดรากถอนโคนกับฝ่ายเดินสายกลาง, และระหว่างฝ่ายพิทักษ์การปฏิวัติกับฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติและศัตรูภายนอก, บ่อยครั้งมักเปิดช่องให้ผู้นำการทหารเลื่อนชั้นยกระดับจากสภาพที่ไม่มีใคร รู้จักหน้าค่าตาชื่อเสียงเรียงนามไปสู่ฐานะการนำสูงสุดหรือกระทั่งการนำแบบ สิทธิขาดสัมบูรณ์

ตรรกะของสถานการณ์ที่ส่งเสริมบทบาทหลักด้านการทหาร เป็นที่มาของนักรบผู้นำการปฏิวัติอย่าง จอร์จ วอชิงตัน, โอลิเวอร์ ครอมเวลล์, นโปเลียน โบนาปาร์ต, มุสตอฟา เคมาล อตาเติร์ก, เลออน ทรอตสกี้, เหมา เจ๋อ ตง, โจเซฟ บรอส ตีโต้, โรเบิร์ต มูกาเบ้, และ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นต้น

10) ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงแบบขุดรากถอนโคนของการปฏิวัติในที่สุดแล้วจะหลีกทาง ให้ขั้นตอนปฏิบัตินิยมและการแสวงหาความก้าวหน้าแบบเดินสายกลางในกรอบสภาวะ เดิมของระบอบใหม่

ในขั้นตอนนี้ ฝ่ายขุดรากถอนโคนพ่ายแพ้หรือล้มหายตายจากไป เปิดทางให้ฝ่ายเดินสายกลางคืนสู่อำนาจ มีการประณามฝ่ายขุดรากถอนโคนที่ได้ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ และกระแสสังคมเปลี่ยนย้ายจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปสู่ -> ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในกรอบสถาบันที่มั่นคงแทน

-------------------------------------

ใน ฐานะคู่มือแนะนำการสังเกตและวิเคราะห์กระบวนการเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางการเมือง จึงน่าสนใจที่จะลองนำแบบแผนประวัติศาสตร์ธรรมชาติของการปฏิวัติ 10 ขั้นตอนดังกล่าวนี้มาวางเทียบวัดกับสถานการณ์บ้านเรารอบหลายปีที่ผ่านมา เพื่อถกถามว่ามันสอดคล้องต้องกันบ้างหรือไม่อย่างไร?

แนวโน้มเหตุการณ์ต่อไปข้างหน้าอาจจะเป็นอย่างไร?

จะเป็นไปตามแบบแผนนั้นหรือไม่?

หรือจะผิดแปลกแตกต่างไปเช่นใดบ้าง? เพราะเหตุใด?


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1314966338

-------------------------------------------------
FfF