บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


27 พฤษภาคม 2552

<<< รายงาน ศปร. ( สารบัญ และ คำนำ ) >>>

รายงาน ศปร. ถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์วิกฤตเศรษฐกิจ ปี 40 ได้ดีชิ้นหนึ่ง
เราขอนำมาเก็บไว้เพื่อให้ลูกหลานหาอ่านได้ง่ายๆ
เกรงว่าวันหน้าจะหาอ่านยากและเริ่มมีขบวนการบิดเบือนต่างๆ นานา แล้วตอนนี้
เช่น สรุปว่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 เป็นเพราะหุ้นตกครั้งใหญ่ที่อเมริกา เป็นต้น
อันที่จริงเกิดจากมีหนี้ต่างประเทศมาก และ การส่งออกเริ่มติดลบ
ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นว่าค่าเงินบาทเหมาะสมแล้วในขณะนั้น
จึงทำให้เกิดการเก็งกำไรและโจมตีค่าเงินบาทในเวลาต่อมา
สาเหตุที่ทำให้มีหนี้นอกมากขึ้น
ก็เพราะเปิดเสรีการเงินโดยไม่ลอยค่าเงินตาม
ขนาดมีหลายประเทศล้มให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้วก็ตาม
รายงานข้างล่างนี้เป็นสรุปความเป็นมาในวิกฤตการณ์ครั้งนั้น

"ขั้นตอนของความเพลี่ยงพล้ำในการดำเนินนโยบายการเงิน ลำดับได้ดังต่อไปนี้
  1. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจเลือกที่จะไม่ให้เปิดตลาดเงินทุนเสรีตั้งแต่ พ.ศ. 2533 แต่ ธปท. ก็เลือกที่จะให้เปิดการตัดสินใจให้เปิดครั้งนั้น นับว่าเป็นผลพวงของแนวนโยบายที่เป็นมาโดยต่อเนื่องเป็นระยะยาวนาน และสะท้อนความต้องการของฝ่ายการเมืองในขณะนั้นอย่างเต็มที่ เมื่อนายวิจิตรเข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้ว่าการ ก็สานต่อนโยบายนั้นอย่างขะมักเขม้น ถึงขั้นเปิดวิเทศธนกิจซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย
  2. เมื่อ ธปท. เลือกที่จะเปิดตลาดเงินทุนให้เสรีแล้ว ธปท. ก็ควรเลือกที่จะให้อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นมากกว่านี้ แต่ ธปท. ก็เลือกที่จะ รักษาช่วง(band) อัตราแลกเปลี่ยนที่แคบมากไว้ จะมาเริ่มพิจารณาก็ในเดือนเมษายน 2539 ซึ่งสายไปเสียแล้ว เพราะหลังจากนั้น อีกไม่กี่เดือนปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ก็รุนแรงจนทำให้ ธปท. กลัวที่จะดำเนินการใดๆ อีกต่อไป เพราะเกรงว่าจะส่งสัญญาณผิด ให้กับตลาด
  3. เมื่อ ธปท. เลือกที่จะรักษาช่วงอัตราแลกเปลี่ยนที่แคบไว้เช่นนั้น ก็หมายความว่าแนวนโยบายทางด้านอุปสงค์รวมจะต้อง มีความระมัดระวัง(conservative) เป็นพิเศษ โดยเฉพาะในระยะตั้งแต่ พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา นโยบายการคลังเป็นเรื่องของรัฐบาล และรัฐสภาก็จริงอยู่ แต่ ธปท. ก็มิได้ผลักดันอย่างจริงจัง ให้รัฐบาลมีนโยบายเกินดุลซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงนั้น ส่วนนโยบายการเงิน ที่ดึงปริมาณเงินในประเทศก็ไร้ผล เพราะถูกลบล้างด้วยเงินกู้จาก ต่างประเทศที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
  4. เมื่อ ธปท. ไม่สามารถใช้นโยบายการคลังหรือการเงินได้ ก็ควรจะใช้มาตรการไม่ให้เงินกู้ไหลเข้าประเทศอย่างมากมายเสียตั้งแต่ต้น แต่มาตรการที่ประกาศเป็นมาตรการที่อ่อน และนำมาใช้เมื่อสายไปแล้ว คือหลังจากไทยมีหนี้สินระยะสั้นในระดับสูงมากเกินไปเสียแล้ว"
โดย มาหาอะไร
---------------------------------------------------

สารบัญ
บันทึกที่ PUB/98/071 เรื่อง ขอจัดพิมพ์รายงานผลการวิเคราะห์และวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจ ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2541
บันทึกที่ กค 0100/997 เรื่อง ขอจัดพิมพ์รายงานผลการวิเคราะห์และวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2541
คำนำการพิมพ์ครั้งที่สาม
สรุปการแก้ไข/เพิ่มเติมของการพิมพ์ครั้งที่สองและการพิมพ์ครั้งที่สาม
คำนำ
สารบัญตารางและภาพ
สรุปความเห็น/ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.)
บทที่หนึ่ง นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 ถึงครึ่งแรกของ พ.ศ. 2539
บทที่สอง การปกป้องค่าเงินบาท กรกฎาคม 2539 ถึงกรกฎาคม 2540
บทที่สาม บทบาทของบุคคลต่างๆ ในการรักษาค่าเงินบาท
บทที่สี่ การช่วยเหลือธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด และผลกระทบต่อระบบการเงิน
บทที่ห้า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
บทที่หก จุดอ่อนของโครงสร้างและการบริหารงานของธนาคารแห่งประเทศไทย
บทที่เจ็ด ข้อเสนอของ ศปร. เรื่องโครงสร้างการบริหารระบบการเงิน
ภาคผนวก
คำสั่งกระทรวงการคลังที่ 376/2540 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ(ศปร.)
รายนามบุคคลที่ ศปร. เชิญมาให้ข้อมูลและข้อคิดเห็น
รายนาม รมว. คลัง ผู้ว่าการ และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องของธนาคารแห่งประเทศไทย
รายนามผู้ช่วยจัดทำรายงาน ศปร.
รายนามเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการคลังที่ช่วยงาน ศปร. ด้านการประสานงาน งานสารบรรณ และอาคารสถานที่อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดการกองทุนตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 พ.ศ. 2528
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดกิจการธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485
รายนามคณะกรรมการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
รายนามคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่มกราคม 2538 – ปัจจุบัน
รายชื่อสถาบันการเงินที่ทางการสั่งให้เพิ่มทุน เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2540
รายชื่อสถาบันการเงินที่ทางการสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการจำนวน 16 บริษัท เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2540
รายชื่อสถาบันการเงินที่ทางการสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการ จำนวน 42 บริษัท เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2540
แหล่งที่มาและทางใช้ไปของเงินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
บันทึกที่ 355/2540 เรื่อง การแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2540
ความเห็นท้ายบันทึกที่ 355/2540 เรื่อง การแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2540
โครงสร้างการบริหารงานภายในธนาคารแห่งประเทศไทยต้นปี 2540

ที่มา http://www.tdri.or.th/reports/published/soporo/contents.htm



คำนำ
วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 นับได้ว่ามีความร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศไทย ต้นเหตุของวิกฤตในครั้งนี้ แตกต่างจากครั้งก่อนๆ ตรงที่มีสาเหตุมาจากภายในประเทศทั้งสิ้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เราเป็นผู้สร้างปัญหาให้แก่ตัวเราเอง การกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะสองสามปีก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้น แม้ทางการจะมองเห็นปัญหาแต่ขาดความเด็ดขาดในการกำหนดมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้น และเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วก็ยังขาดความกล้าหาญที่จะใช้มาตรการที่อาจไม่เป็นที่นิยมในทางการเมืองเข้าแก้ปัญหาดังกล่าว มาตรการที่ใช้ไม่ว่าในกรณีของการแทรกแซงปกป้องค่าของเงินบาท หรือการใช้เงินของกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงินจึงเป็นเพียงการซื้อเวลาให้กับตนไประยะเวลาหนึ่งเท่านั้น การกระทำดังกล่าวเป็นการซื้อเวลาที่มีต้นทุนสูงมากเพราะในที่สุดจะมีผลกระทบกลายเป็นภาระที่หนักของธุรกิจและประชาชนทั่วประเทศในอนาคตที่ยาวนาน

ในการเขียนรายงานเสนอกระทรวงการคลังฉบับนี้ คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมชี้แจง ประกอบด้วย อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ตลอดจนพนักงานเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยและผู้บริหารภาคเอกชนอีกจำนวนหนึ่ง ดังปรากฏรายนามในภาคผนวกของรายงานนี้ ศปร. จึงใคร่ขอขอบคุณทุกท่านที่กรุณามาชี้แจงให้ข้อเท็จจริง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งในการส่งเอกสารต่างๆ มาให้ ศปร.

ศปร.หวังว่ารายงานฉบับนี้จะบังเกิดประโยชน์สมกับเจตนารมณ์ของกระทรวงการคลังตามคำสั่งที่ 376/2540 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2540 ที่ให้คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) ทำการศึกษาวิกฤตทางเศรษฐกิจในครั้งนี้และบันทึกความเป็นมาให้ปรากฏ “ทั้งในด้านการตัดสินใจเชิงนโยบาย และการบริหารจัดการหรือการปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง และมีการวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวอย่างเป็นระบบมีการนำประสบการณ์และข้อผิดพลาดในกรณีดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดมาตรการเพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบ และมีความโปร่งใสยิ่งขึ้นในอนาคต อันจะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กลับคืนสู่ระบบการเงินและสถาบันการเงินที่สำคัญของประเทศต่อไป”
ศปร.


<<< รายงาน ศปร. ( สารบัญ และ คำนำ ) >>>
<<< รายงาน ศปร. ( สารบัญตารางและภาพ ) >>>
<<< รายงาน ศปร. ( สรุปความเห็น และ บทที่ 1 ) >>>
<<< รายงาน ศปร. ( บทที่ 2 ) >>>
<<< รายงาน ศปร. ( บทที่ 3-4 ) >>>
<<< รายงาน ศปร. ( บทที่ 5-7 ) >>>
<<< รายงาน ศปร. ( ภาคผนวก ) >>>