บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


26 พฤษภาคม 2552

<<< รายงาน ศปร. ( บทที่ 2 ) >>>




นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท. ก่อนเดือนพฤษภาคม 2540

66. ในหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอำนวย วีรวรรณ) ลงวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 ผู้ว่าการ ธปท. (นายเริงชัย มะระกานนท์) ได้สรุปเหตุการณ์ในครึ่งหลังของปี 2539 และบรรยากาศของตลาดในช่วงนั้นไว้โดยสังเขป ดังต่อไปนี้

"นับตั้งแต่ปลายปี 2539 เป็นต้นมา ค่าเงินบาทได้รับแรงกดดันเป็นระลอก และได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจและการส่งออกของประเทศที่ชะลอตัวลงอย่างมาก ส่งผลให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ซบเซา ตลอดจนความห่วงใยในปัญหาความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน ปัจจัยเหล่านี้ได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติต่อเศรษฐกิจของประเทศ และต่อนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน โดยคาดว่าทางการอาจจะปรับเปลี่ยนใช้อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เช่น การลดค่าเงินบาทการคาดการณ์ดังกล่าวเป็นชนวนให้นักเก็งกำไรต่างชาติโจมตีค่าเงินบาทในตลาดหลายครั้ง เพื่อสร้างแรงกดดันให้ทางการต้องลดค่าเงิน และ/หรือปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อทำกำไร”

67. ในวรรคข้างต้นนี้ ธปท. ได้สรุปปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าเศรษฐกิจไทย และที่ทำให้นักเก็งกำไรต่างชาติเก็งว่าตนจะได้กำไรจากการโจมตีค่าเงินบาทซึ่งในที่สุดก็เป็นการเก็งที่ถูกต้อง การเก็งกำไรที่จะให้ผลนั้นมักจะตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่มีมูลความจริง ในกรณีของประเทศไทยในปี 2539-40 นั้น มูลเหตุสำคัญที่ทำให้นักเก็งกำไรหมดความเชื่อถือว่าไทยจะสามารถรักษาค่าเงินบาทไว้ต่อไปได้มีอยู่สองประการหลักๆ ด้วยกัน

  • การชะลอตัวในอัตราการขยายตัวของการส่งออก ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในสภาวะที่ย่ำแย่ลง

  • การลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสถาบันการเงินต่างประเทศในความสามารถของไทยที่จะชำระหนี้สินที่มีอยู่มากมาย

การชะลอตัวลงในอัตราการขยายตัวของการส่งออก

68. การชะลอตัวลงในอัตราการขยายตัวของการส่งออกเริ่มปรากฏให้เห็นนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2539 เป็นต้นมา (ดูภาพที่ 9) ปรากฏการณ์นี้เป็นปรากฏการณ์ที่น่าเป็นห่วงเป็นพิเศษ เพราะเหตุว่าตลอดเวลาหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวของการส่งออกจะอยู่ในระดับสูงเกินกว่าร้อยละ 10 ถึงแม้ว่าเป็นไปไม่ได้ที่อัตราที่สูงเช่นนี้จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีวันชะลอตัวลง แต่สิ่งที่ไม่มีผู้ใดคาดถึงก็คือ การลดลงนี้จะเป็นไปอย่างเฉียบพลันแม้กระทั่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีการอธิบายสาเหตุนี้ได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ แต่มีข้อน่าสังเกตอยู่อย่างน้อยหนึ่งประการ กล่าวคือ การชะลอตัวในด้านการส่งออกนั้นหาได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะกับประเทศไทยไม่ แต่เป็นปัญหาที่กระทบแทบทุกประเทศในเอเชียตะวันออก

69. ในระยะเริ่มแรกที่ปัญหาการส่งออกเริ่มประจักษ์แก่ผู้บริหารของ ธปท. ได้มีการนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2539 ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ (นายบัณฑิต นิจถาวร) ได้สรุปภาวะเศรษฐกิจครึ่งแรกของปี 2539 แนวโน้มครึ่งหลังของปีเดียวกัน และแนวการดำเนินนโยบาย ในการประชุมได้มีการเสนอประเด็นนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกตกต่ำในครึ่งปีแรก และเพื่อกระตุ้นการส่งออกในครึ่งหลังของปี โดยมีข้อเสนอสำคัญดังนี้

  • "จะต้องดูแลอัตราเงินเฟ้อของไทยให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย

  • เร่งแก้ไข ปัญหาให้ผู้ส่งออก เช่นการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้ผู้ส่งออกมีเงินหมุนเวียนเร็วขึ้นและการใช้หนังสือค้ำประกันการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแทนเงินสด

  • REER [Real Effective Exchange Rate หรืออัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง ดูภาพที่ 7] มีแนวโน้มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 6 จากปีก่อน ควรมีการ neutralize ชั่วคราวหรือไม่ โดยพิจารณาว่าการชะลอตัวของการส่งออกเป็นปัญหาถาวรที่เกิดจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และเป็นปัญหาโครงสร้าง

  • ควรให้การสนับสนุนบริษัทการค้าระหว่างประเทศ และเร่งรัดสินเชื่อเพื่อการส่งออกผ่าน ธสน. [ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า]

  • ควรมีการทบทวนการส่งเสริมการลงทุน โดยให้เพิ่มอุตสาหกรรมส่งออกที่มีความเชื่อมโยงสูงกับอุตสาหกรรมในประเทศและอุตสาหกรรมสนับสนุนของไทย” (บันทึกช่วยจำ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 6/2539 วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม 2539)

70. การนำเสนอเรื่องนี้เข้ามาในคณะกรรมการนโยบายการเงินแสดงให้เห็นว่า อย่างน้อยในระยะนั้นผู้บริหารบางคนใน ธปท. เริ่มเห็นว่าปัญหาการส่งออกนั้น เป็นปัญหาที่อาจจะมีความถาวรพอสมควร และควรที่จะมีการพิจารณานโยบายสำคัญๆ และในที่สุดอาจเกี่ยวเนื่องไปถึงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะ ถ้าพิจารณาจากประเด็นที่หนึ่งและสามข้างต้นนี้

71. แต่อย่างไรก็ตามที่ประชุมกลับสรุปว่า “เนื่องจากภาพส่งออกยังมีความไม่แน่นอนสูง ควรพิจารณาการเผยแพร่ตัวเลขเศรษฐกิจเป็น range แทนการเผยแพร่เป็น point" (บันทึกช่วยจำ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 6/2539 วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม 2539) การสรุปเช่นนี้แสดงว่า ที่ประชุมไม่สู้เห็นด้วยกับข้อเสนอของฝ่ายวิชาการที่มีนายบัณฑิต นิจถาวรเป็นผู้อำนวยการในช่วงนั้น แต่เห็นด้วยกับการมองภาพของนายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ (ซึ่งก็อยู่ในที่ประชุมวันที่ 23 กรกฎาคม แต่บันทึกช่วยจำมิได้กล่าวว่านายชัยวัฒน์มีบทบาทในการประชุมครั้งนั้นอย่างไร) ที่ชี้แจงถึงเหตุการณ์ในช่วงนั้นต่อ ศปร. ดังนี้

"ในขณะที่ตัวเลข Effective Exchange Rate ของ ธปท. ไม่ได้ชี้ว่าค่าเงินบาทแข็งขึ้นเกินความจริงมากขนาดนั้น และนอกจากนี้ทาง ธปท. ยังมีความเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับค่าเงินนั้นเป็นการชั่วคราวทั้งนี้เนื่องจาก

  • เห็นว่าค่าเงินดอลลาร์ต่อเยนที่แข็งขึ้นนั้นมีแนวโน้มลดลง ทำให้มองว่าเป็นปัญหาชั่วคราว …

  • ช่วงนั้นเรามีปัญหาเรื่องการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แต่การส่งออกก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ดังจะเห็นได้จากตัวเลขอัตราขยายตัวการส่งออก (%) ดังนี้

2539 ก.ย. -9 2540 ม.ค. 6

ต.ค. -2
ก.พ. -5

พ.ย. -5.8
มี.ค. 4

ธ.ค. -1.7
เม.ย. 5

พ.ค. 1
มิ.ย. 9
  • การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มลดลง จากตัวเลขปี 2539 ขาดดุล พฤศจิกายน 2.1 หมื่นล้านบาท ธันวาคม 1.9 หมื่นล้านบาท มกราคม 2.1 หมื่นล้านบาท กุมภาพันธ์ 1.4 หมื่นล้านบาท มีนาคม 1.6 หมื่นล้านบาท

จากข้อมูลดังกล่าว ณ จุดตัดสินใจจึงเห็นว่าค่าเงินบาท overvalue เป็นการชั่วคราวเนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ต่อเยนมีแนวโน้มแข็งขึ้นปัญหาด้านการส่งออก และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็มีแนวโน้มดีขึ้น จึงคิดว่าปัญหาเป็นเรื่องชั่วคราว และต่อไปจะดีขึ้น”

(คำชี้แจงของนายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ต่อ ศปร.)

72. เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 23 กรกฎาคม 2539 แล้ว ก็ไม่มีการกล่าวถึงประเด็นนโยบายเกี่ยวกับปัญหาการส่งออกและความสัมพันธ์ระหว่างปัญหานี้กับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนในคณะกรรมการนโยบายการเงินอีก มีก็แต่การรายงานสถานการณ์การส่งออกในเดือนตุลาคม 2539 ว่า “การส่งออกชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์” และไม่มีการสรุปแต่อย่างใด

73. อย่างไรก็ตาม นายบัณฑิต นิจถาวร ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ที่ได้เสนอความเห็นไว้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนอาจมีปัญหาในการประชุมเดือนกรกฎาคม 2539 นั้น ต่อมาถูกย้ายไปเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารในเดือนตุลาคม และมีบทบาทน้อยลงในเรื่องนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากในการดำเนินการปกป้องค่าของเงินบาทในตำแหน่งใหม่

การลดความเชื่อมั่นในความสามารถของไทยที่จะชำระหนี้สินต่างประเทศ

74. ก่อนบริษัทมูดีส์ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของหนี้ระยะสั้นของไทยในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2539 นั้น บรรดานักวิเคราะห์ตลาดการเงินที่ทำงานในประเทศไทยเริ่มมีความหวาดระแวงอนาคตของเศรษฐกิจไทยอย่างเงียบๆ แล้ว แต่การลดอันดับความน่าเชื่อถือของมูดีส์นี้ทำให้ปัญหาของไทยนั้นประจักษ์ชัดขึ้นแก่นักลงทุนในต่างประเทศและแก่ประชาชนคนไทยมากขึ้น

75. ปัญหาที่นักลงทุนและสถาบันการเงินเหล่านี้ต้องคำนึงถึงเมื่อพิจารณาเรื่องการให้กู้ใหม่หรือการต่อสัญญาการให้กู้นั้น สืบเนื่องมาจากข้อคิดหลายประการ อาทิเช่น

  1. ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งได้พุ่งสูงขึ้น ซึ่งหมายความว่า วันหนึ่งทางการไทยอาจตัดสินใจลดค่าเงินบาทก็ได้

  2. ปัญหาในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปรากฎอย่างแจ้งชัดในปี 2539 แล้วว่ากำลังประสบภาวะวิกฤตอย่างหนัก

  3. ปัญหาในตลาดหุ้นซึ่งดัชนีราคาโน้มต่ำลงอย่างไม่หยุดยั้งนับตั้งแต่ต้นปี 2539 เป็นต้นมาและเป็นสัญญาณล่วงหน้าที่ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยกำลังโน้มต่ำลง

  4. เมื่อเศรษฐกิจเริ่มโน้มต่ำลง รายได้ของรัฐบาลก็จะเริ่มลดลงตามไปด้วย

  5. สถาบันการเงินกำลังต้องเผชิญกับหนี้สินที่มีปัญหามากมาย อันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่กล่าวในข้อ 2 และ 3 และบางรายอาจเอาตัวไม่รอด

76. ปัญหาเหล่านี้บั่นทอนความเชื่อมั่นที่นักลงทุนต่างประเทศมีต่อเศรษฐกิจไทย การนำเข้าเงินทุนจากต่างประเทศเริ่มลดลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2539 แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะมีการถอนทุน (ดูภาพที่ 3) การถอนทุนนั้นเริ่มเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 2 ของปีถัดมา

77. สำหรับท่าทีของ ธปท. ในช่วงนี้ จะเห็นได้ชัดเจนที่สุดจากคำชี้แจงของนายเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการ ในช่วงนั้น

"… ได้มีการวางแนวนโยบายที่ได้หารือกันระหว่างผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร และได้ชี้แจงต่อท่านรัฐมนตรี [รองนายกรัฐมนตรี และรมว. กระทรวงการคลัง นายอำนวย วีรวรรณ] แล้วว่า จะให้มีแนวทางดำเนินการโดยกำหนดระดับความเร่งด่วนก่อนหลังของมาตรการต่างๆ ดังนี้

  1. ดำเนินนโยบายการเงินและการคลังอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง

  2. เร่งแก้ไขปัญหาสินเชื่อ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

  3. เร่งมาตรการในการแก้ไขปัญหาและสร้างความเชื่อมั่นของระบบสถาบันการเงิน

  4. เปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยน”

(คำชี้แจงของนายเริงชัย มะระกานนท์ ต่อ ศปร.)

78. การลำดับความเร่งด่วนตามที่ผู้ว่าการเริงชัยเสนอ (และดูจะเป็นการจัดลำดับที่ผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. เห็นพ้องต้องกันอย่างน้อยก็ในระยะปลายปี 2539 และต้นปี 2540) เป็นการลำดับตามตรรกะของปัญหา เรียงลำดับจากส่วนที่เป็นรากของปัญหาไปสู่ส่วนที่เป็นผล อนึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า กองทุนการเงินฯ ก็ได้เสนอแนวทางคล้ายกันกับที่ผู้ว่าการลำดับไว้ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2539 (ดูข้อ 82)

79. อย่างไรก็ตาม การลำดับปัญหาที่กล่าวข้างต้นนั้นเป็นการลำดับปัญหาจากจุดยืนของ ธปท. เป็นหลัก มิได้พิจารณาจากจุดยืนของผู้ซื้อผู้ขายในตลาดการเงิน ผู้ซื้อขายเหล่านี้แบ่งออกได้เป็นสองพวก พวกแรกคือ ผู้ที่มีทรัพย์สินในประเทศไทย ไม่ว่าในรูปของการลงทุนหรือสินเชื่อที่ปล่อยไป บุคคลเหล่านี้ย่อมต้องการรักษามูลค่าทรัพย์สินของตนที่คิดออกมาเป็นเงินตราต่างประเทศ สำหรับกลุ่มนี้ อัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุด ตัวหนึ่งในการคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุนของตน เพราะฉะนั้น กลุ่มนี้จะอ่อนไหวต่อข่าวการผันแปรในระดับอัตราแลกเปลี่ยนมาก โดยเฉพาะผู้ที่สามารถถอนทุนกลับไปได้โดยเร็ว อาทิเช่น ผู้ที่ปล่อยสินเชื่อระยะสั้น ส่วนพวกที่สองคือนักเก็งกำไรเงินตราต่างประเทศ ถ้ามองจากจุดยืนของกลุ่มนี้ ที่ไม่มีความผูกพันกับเศรษฐกิจไทย ตัวแปรที่เปราะบางที่สุดที่บุคคลเหล่านี้สามารถทำกำไรได้อย่างเร็วที่สุดก็คืออัตราแลกเปลี่ยน จากจุดยืนของกลุ่มนี้ การเก็งกำไรในตลาดเงินตราระหว่างประเทศนั้น มีข้อได้เปรียบกว่าการเก็งกำไรในด้านอื่นๆ มาก ทั้งนี้เป็นเพราะนโยบายตรึงอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท. ลดความเสี่ยงในทางลบในระยะสั้น จึงเป็นการแบ่งเบาต้นทุนให้แก่ผู้เก็งกำไร

80. ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนสามารถเป็นเป้าสำหรับการโจมตีโดยนักเก็งกำไรได้อย่างง่ายดาย (ดูข้อ 132-185) แต่มาตรการต่างๆ ที่ลำดับไว้ว่า ควรจะได้รับการเอาใจใส่จากทางการก่อน ล้วนแต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซับซ้อน และเป็นเรื่องที่จะกินเวลาค่อนข้างมากในการแก้ไขเยียวยา โดยเฉพาะมาตรการเกี่ยวกับสถาบันการเงิน ซึ่งนับวันก็กลายเป็นเงื่อนปมที่แก้ไขยากขึ้นเรื่อยๆ (และยังไม่สิ้นสุดลงตราบเท่าทุกวันนี้) (ดูบทที่ 5) ซ้ำร้าย คนในวงการตลาดเงินตราเริ่มมีความรู้สึกว่าวิธีการที่ ธปท. กำลังจะใช้ในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน ดูจะเป็นวิธีการที่จะใช้เงินของรัฐบาลมากขึ้นทุกที ยิ่งทำให้หมู่นักลงทุนและนักเก็งกำไรต่างประเทศขาดความมั่นใจมากขึ้น

81. จริงอยู่ ในสภาพที่มีการขาดความเชื่อมั่นอย่างรุนแรงเหมือนที่เกิดในปี 2540 การที่ ธปท. ไม่กล้าปรับอัตราแลกเปลี่ยนไม่ควรจะเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเท่าใดนัก เพราะการดำเนินมาตรการที่รุนแรงอย่างเช่นการปรับอัตราหรือระบบอัตราแลกเปลี่ยนในสภาพเช่นนั้น อาจกระตุ้นให้มีการโจมตีหนักขึ้นก็ได้ แม้กระทั่งผู้ที่สนับสนุนให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่นมากขึ้นตั้งแต่ต้นอย่างเช่น ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุลก็ยอมรับว่า

"สำหรับความคิดเห็นส่วนตัวนั้น แม้ว่าจะทำการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนในเดือนมีนาคม ซึ่งมีทุนสำรองอยู่ในระดับ 30 billion US$ คิดว่าประเทศไทยยังมีปัญหาใกล้เคียงกับปัจจุบัน แต่ประชาชนคงประสบปัญหาน้อยกว่า และมีความสามารถผ่อนหนักเป็นเบามากกว่า” (คำชี้แจงของ ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล ต่อ ศปร.)

ท่าทีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

82. ในปี 2540 กองทุนการเงินฯ ได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ประเทศไทยหลายครั้ง จดหมายฉบับแรกที่เขียนในปี 2540 คือจดหมายที่กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินฯ (นาย Michel Camdessus) เขียนถึงรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอำนวย วีรวรรณ) เมื่อวันที่ 31 มกราคม ในจดหมายดังกล่าว กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินฯ ได้กล่าวย้ำประเด็นที่ได้มีการปรึกษาหารือกันในเดือนธันวาคม 2539 ที่นายชัยวัฒน์อ้างถึง (ดูข้อ 84) กล่าวคือ ให้ทางการใช้นโยบายการเงินและการคลังอย่างเคร่งครัด และให้แก้ปัญหาสถาบันการเงินแบบเบ็ดเสร็จ และได้กล่าวต่อไปพร้อมกับอ้างถึงการโจมตีค่าเงินบาทที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม (ดูข้อ 138) ก่อนวันที่นาย Camdessus เขียนจดหมายหนึ่งวัน

"In present circumstances, provided that policies succeed in calming markets in coming days, I would not recommend an immediate change in exchange rate policy. Thereafter, however, I would urge you to move quickly and decisively to reform the present system, taking into account the need for greater flexibility.”

83. ภายในเจ็ดวัน กองทุนการเงินฯ คงเห็นแล้วว่ากว่าที่มาตรการของทางการจะลดแรงกดดันต่อเงินบาทได้สำเร็จก็คงต้องสูญเสียเงินทุนสำรองไปมาก (ดูข้อ 138-139) รองกรรมการผู้จัดการ (นาย Stanley Fischer) จึงได้เขียนจดหมายถึงรองนายกฯ อำนวยอีกครั้งหนึ่ง และในครั้งนี้ ได้มีการลำดับนโยบายใหม่ ที่นายFischer เขียนด้วยภาษาที่ระมัดระวัง (เพราะไม่มีประโยคใดที่แนะนำให้ลดค่าเงินบาท) แต่ก็สื่อความหมายได้ชัดเจน

"To continue to support the exchange rate at its present level will require not only maintaining high real interest rates for the foreseeable future (with serious effects on the banking system) but also entails the risk of a rapid rundown in reserves.”

84. นายชัยวัฒน์ ได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับท่าทีของกองทุนการเงินฯ ในช่วงนี้ต่อ ศปร. ดังต่อไปนี้

"ต่อคำถามที่ว่าเชื่อหรือไม่เมื่อ IMF บอกว่าเราสู้นักลงทุนต่างชาติไม่ได้จึงไม่สามารถตอบได้ [เพราะไม่ทราบถึงความรุนแรงของการโจมตีค่าเงินบาท เพราะไม่ได้อยู่ในสายงานของตน] และยังรู้สึกแปลกใจเมื่อได้รับฟังเนื่องจากก่อนหน้านั้นประมาณเดือนเศษๆ เมื่อ นาย Camdessus มาพบรัฐมนตรีอำนวย และผู้ว่าการเริงชัย ในเดือนธันวาคม 2539 … นั้นยังแจ้งว่าขอให้เร่งแก้ปัญหาสถาบันการเงินก่อนและไม่ควรทำเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนในตอนนั้น ดังนั้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2540 ตัวแทนพิเศษของ นาย Camdessus คือ นาย [Bijan] Aghevli มาแจ้งว่า เราควรลดค่าเงินเนื่องจากคงไม่มีทางสู้นักเก็งกำไรได้ จึงรู้สึกแปลกใจมากว่าทำไม
IMF จึงได้เปลี่ยนใจเร็วนัก”

85. ในการชี้แจงดังกล่าว นายชัยวัฒน์คงไม่ทราบว่า หลังการปรึกษาหารือในเดือนธันวาคม 2539 ที่นายชัยวัฒน์อ้างถึง กองทุนการเงินฯ ได้มีหนังสือถึงรองนายกฯ อำนวย เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2540 (ดูข้อ 82) ที่ตอกย้ำคำแนะนำในเดือนธันวาคม กองทุนการเงินฯ จึงมิได้ใช้เวลาหนึ่งเดือนที่จะเปลี่ยนใจแต่เปลี่ยนใจภายในหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น คำถามที่ควรจะตั้งจากเหตุการณ์นี้และจากข้อสังเกตของนายชัยวัฒน์ก็คือ ในการเผชิญกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเหมือนในสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ 2540 ผู้บริหารควรพร้อมที่จะเปลี่ยนท่าทีเพื่อปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ หรือควรจะยึดตามแนวความคิดเดิมอยู่ตลอดเวลา

86. เมื่อกองทุนการเงินฯ ส่งคณะมาสำรวจภาวะเศรษฐกิจของไทยในเดือนมีนาคม 2540 อันเป็นกิจวัตรประจำปี ตามพันธะข้อที่ 4 แห่งข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินฯ และได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า

"… as we have discussed on previous missions, we continue to believe that the introduction of a more flexible exchange rate arrangement is a policy priority, both to increase monetary policy autonomy and to improve the composition of the capital account by reducing the incentives for short-term inflows. … In addition, the present system can hinder adjustment to external shocks; in particular the heavy weight of the U.S. dollar in the basket has clearly been unhelpful in present circumstances. During our discussions you have indicated that you intend to introduce greater exchange rate flexibility at the appropriate time; we encourage you to do so promptly, while at the same time changing the present basket to more closely reflect the pattern of Thailand’s foreign trade.”

(International Monetary Fund, Thailand – 1997 Article IV Consultation, Concluding Statement of the Mission, March 28, 1997 ในต้นฉบับไม่ได้เอียงตัวอักษร)

87. ตามธรรมเนียมแล้ว เมื่อกองทุนการเงินฯ ได้เสนอรายงานของตนแล้ว ก็จะต้องมีการตอบรับรายงานโดยฝ่าย ธปท. ในการตอบรับนี้ ผู้ว่าการ ธปท. แทบไม่ได้กล่าวถึงค่าของเงินบาทและมิได้ใช้คำว่า “อัตราแลกเปลี่ยน” เลย ส่วนเดียวที่อาจตีความได้ว่าเป็นการกล่าวถึงปัญหาของค่าของเงินบาท อยู่ในประโยคดังต่อไปนี้

"We are of the view that the recent adverse developments on the external fronts were in no small part of a cyclical nature."

(Bank of Thailand, Concluding Statement by Governor Rerngchai Marakanond for the 1997 Article IV Consultation, 28 March 1997).

ซึ่งเป็นการเน้นจุดยืนว่าปัญหาเรื่องการส่งออกนั้นเป็นปัญหาชั่วคราว ภายใน ธปท. จุดยืนนี้เป็นจุดยืนของรองผู้ว่าการชัยวัฒน์ (แต่ไม่ใช่ของท่านคนเดียว) (ดูข้อ 71) ซึ่งโดยปกติจะมีหน้าที่ติดต่อประสานงานกับกองทุนการเงินฯ

88. อนึ่ง ในระหว่างที่คณะสำรวจของกองทุนการเงินฯ มาที่ ธปท. นาย David Robinson หัวหน้าคณะได้ไปพบกับผู้ช่วยผู้ว่าการศิริ การเจริญดี และได้กล่าวกับผู้ช่วยผู้ว่าการศิริ ว่า

"นาย Camdessus ได้โทรฯ มาหา ผวก. เริงชัย ขอร้องให้ devalue เงินบาท และทำให้ระบบยืดหยุ่นมากขึ้นแต่ ผวก. ไม่เห็นด้วย จึงขอร้องให้ผมช่วย persuade ผวก. [นายเริงชัย] และรอง ผวก. [นายชัยวัฒน์] ให้เห็นถึงความจำเป็นด้วย [นาย David] มีความเห็น strongly ว่า หากไม่ทำ ความเสี่ยงและความเสียหายต่อเมืองไทยจะสูงมาก และที่สำคัญจะติดต่อไปยังภูมิภาคด้วย ในขณะนั้น IMF ก็รับทราบข้อมูล net reserve เท่าๆ กับผู้บริหารของธนาคารชาติ”

นายศิริมิได้รายงานว่า ได้เข้าไปหาผู้ว่าการ หรือรองผู้ว่าการหรือไม่ แต่ชี้แจงต่อไปว่า

"ผมเข้าใจว่า ทางการไทยไม่เห็นด้วย เพราะรอง ผวก. ขณะนั้น หลังจากกลับมาจากประชุม Interim Committee Meeting เดือนเมษายนได้กลับมารายงานว่า ได้อธิบายให้ นาย Stanley Fischer [รองกรรมการผู้จัดการของกองทุนการเงินฯ] และ Senior Staff ของ Asian Department เข้าใจแล้วว่า ประเทศไทยควบคุมสถานการณ์ได้และเรื่องนักเก็งกำไร เรื่อง Hedge Fund [กองทุนต่างประเทศ] ไม่เป็นปัญหาอะไร เราสามารถ manage ได้”

(คำชี้แจงของนายศิริ การเจริญดี ต่อ ศปร.)

สรุปท่าทีเกี่ยวกับนโยบายค่าเงินบาทของ ธปท.

89. จะเห็นได้โดยตลอดว่า ท่าทีของ ธปท. (ซึ่งหมายถึงท่าทีของรองผู้ว่าการชัยวัฒน์เป็นหลัก) ในเรื่องนี้เริ่มต้นจากจุดยืนที่ว่า ปัญหาต่างๆ ที่กระทบค่าของเงินบาทนั้นเป็นปัญหาชั่วคราว ปัญหาที่ ธปท. จะเน้นมากเป็นพิเศษในการพิจารณานโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคือประเด็นเรื่องปัญหาการส่งออกและดุลบัญชีเดินสะพัด จะไม่ค่อยคำนึงถึงปัญหาความล่อแหลมต่อการขนทุนออกนอกประเทศ และจากการโจมตีเงินบาทในตลาดเงินตรา ในส่วนนี้(ผู้ว่าการเริงชัยจะพิจารณาเรื่องนี้มากกว่า) ก็มองว่า เป็นเรื่องที่จะต้องทำหลังการแก้ปัญหาที่เป็นตัวกระทบกระเทือนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรงเช่นปัญหาตลาดอสังหาริมทรัพย์ และปัญหาสถาบันการเงิน

90. ถ้าพิจารณาด้วยความเห็นใจต่อผู้บริหาร ธปท. ก็ต้องยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงค่าของเงินบาทในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่หน้าสิ่วหน้าขวานนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำ เพราะจะถูกกล่าวหาได้ว่าขาดความรอบคอบ แต่ผลพวงของการตัดสินใจที่ผู้บริหาร ธปท. มองข้ามไปก็คือ ถ้าจะปกป้องค่าเงินบาท เพื่อความรอบคอบแล้ว ก็ต้องต่อสู้กับแรงกดดันต่อค่าของเงินบาทที่จะมาจากตลาดการเงินอย่างสุดฤทธิ์ โดยไม่ต้องตั้งคำถามที่ผู้ช่วยผู้ว่าการศิริ การเจริญดี ตั้งในการชี้แจงกับ ศปร. ว่า “เรากำลัง defend สิ่งที่ defend ไม่ได้กันอยู่หรือเปล่า”

เครื่องมือที่ใช้ในการปกป้องค่าของเงินบาท: ทุนสำรองและธุรกรรม swap

ทุนสำรองทางการ

91. ถ้าประสงค์จะรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่จุดใดจุดหนึ่ง หรือแม้กระทั่งช่วงใดช่วงหนึ่ง ธปท. จะต้องมีทุนสำรอง และจะต้องพร้อมที่จะใช้เงินตราต่างประเทศจากทุนนั้นซื้อหรือขายให้แก่ผู้ต้องการได้ในปริมาณที่ผู้นั้นต้องการ ทุนสำรองทางการ (บางครั้งเรียกว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ) ที่ ธปท. มีหน้าที่ดูแลอยู่และที่รายงานรวมเป็นตัวเลขเดียวเป็นรายเดือน (ปัจจุบันจะรายงานทุกครึ่งเดือน) นั้น แท้จริงแล้วประกอบด้วยสามบัญชี กล่าวคือ บัญชีทุนสำรองเงินตราบัญชีทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน และบัญชีทั่วไป

92. บัญชีแรกเป็นบัญชีที่เกี่ยวข้องกับทุนสำรองเงินตรานั้นจำต้องมีไว้ตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ซึ่งกำหนดให้ ธปท. มีทุนเพื่อหนุนหลังธนบัตรที่พิมพ์ออกใช้ ทุนดังกล่าวอาจประกอบด้วยทองคำ เงินหรือหลักทรัพย์ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ หรือตั๋วเงินภายในประเทศ โดยมีข้อแม้ว่า ส่วนที่เป็นตั๋วเงินภายในประเทศนั้นจะต้องไม่เกินร้อยละ 20 และส่วนที่เป็นทองคำ เงินหรือหลักทรัพย์ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ (ยกเว้นที่ออกโดยรัฐบาลไทย) รวมแล้วจะต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 (มาตรา 30)

93. มาตรา 28 ของ พ.ร.บ. เงินตรายังระบุต่อไปด้วยว่า

"ทุนสำรองเงินตรานั้น ให้กันไว้เป็นส่วนหนึ่งต่างจากสินทรัพย์อื่นๆ บรรดาที่เป็นของธนาคารแห่งประเทศไทย”

นอกจากนี้แม้กระทั่งผล ประโยชน์และค่าที่เพิ่มขึ้นจากทุนสำรองเงินตราก็สามารถนำไปใช้แต่เฉพาะ กิจการออกธนบัตรหรือจัดการกับทุนดังกล่าวเท่านั้น และถ้าใช้ไม่หมดก็ให้นำเข้าบัญชีสำรองพิเศษ ไม่สามารถนำไปใช้เพื่อการอื่นได้ (มาตรา 33) ในการบรรยายต่อไปจะกล่าวถึงบัญชีทุนสำรองเงินตราและบัญชีทุนสำรองพิเศษรวมกันว่าเป็นทุนสำรองเงินตรา

94. ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2540 ทุนสำรองเงินตรามีทรัพย์สินอยู่ 21.32 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 55.16 ของทุนสำรองทางการทั้งหมด 38.65 พันล้านเหรียญสหรัฐ (บันทึกที่ 135/2540 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2540 จากหัวหน้าส่วนธุรกิจต่างประเทศ ฝ่ายการธนาคาร (นางนงเยาว์ คชวัตร) ถึงผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคาร (นายบัณฑิต นิจถาวร))

95. บัญชีที่สองคือทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา มีขึ้นตามพระราชกำหนดจัดสรรทุนสำรองเงินตราเกินจำนวนธนบัตรออกใช้ พ.ศ. 2498 “มีจุดประสงค์เพื่อรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราให้มีเสถียรภาพเหมาะสมแก่สถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินของประเทศตลอดจนการลงทุนหาผลประโยชน์” นอกจากนี้ พ.ร.ก. ยังกำหนดให้ทุนรักษาระดับฯ เป็นนิติบุคคล แยกออกจาก ธปท. แต่โดยพฤตินัยแล้วดำเนินการโดยมี ธปท. เป็นผู้บริหารเจ้าหน้าที่ประจำที่เป็นพนักงานของทุนรักษาระดับฯ มีเพียงเพื่องานด้านการเงินและบัญชี แต่ผู้บริหารอื่นไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการหรือสมุห์บัญชีล้วนเป็นผู้บริหารที่มีหน้าที่ประจำอยู่ใน ธปท. แม้ว่าประธานกรรมการทุนรักษาระดับฯ จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นกรรมการร่วมอยู่ด้วย

96. ถ้าดูเผินๆ แล้วทุนรักษาระดับฯ น่าจะมีความสำคัญมาก เพราะนอกจากจะมีบุคคลระดับสูงของทางการเป็นกรรมการแล้ว ก็เป็นตัวจักรที่รักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนไว้ให้อยู่ตรงจุดที่ ธปท. กำหนดได้ แต่ถ้าดูข้อมูลในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2540 แล้ว ก็จะพบว่าจำนวนเงินในทุนรักษาระดับฯ นั้นมีอยู่เพียง 0.69 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือร้อยละ 1.8 ของทุนสำรองทางการเท่านั้น

97. ธปท. จะใช้ทุนรักษาระดับฯ เป็นแต่เพียง “หน้าต่าง” ในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศวันต่อวันเท่านั้น และแม้กระทั่งในส่วนนั้นก็มิได้ดำเนินการตลอดทั้งวัน จะดำเนินการซื้อขายเฉพาะช่วง 9.00น. ถึง 12.00น. ในช่วงก่อนการประกาศให้ค่าเงินบาทลอยตัว ทุนรักษาระดับฯ จะสมานอุปสงค์และอุปทานเงินตราต่างประเทศให้สมดุลกัน โดยทำการซื้อขายส่วนที่ขาดหรือส่วนที่เกิน เนื่องจาก ธปท. ในช่วงนั้นมีนโยบายที่จะตรึงอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นไป ตามตะกร้าเงิน ธปท. จะต้องพร้อมที่จะซื้อขายส่วนที่ขาดหรือเกินนี้ในจำนวนที่ไม่จำกัด เมื่อทุนรักษาระดับฯ ดำเนินการซื้อขายแล้ว ก็จะหันมาขายหรือซื้อเงินตราต่างประเทศจากบัญชีทั่วไปของ ธปท. (คือบัญชีที่สามที่จะกล่าวต่อไป) เพื่อนำกลับไปเติมกองทุนใหม่

98. ในอดีต ทุนรักษาระดับฯ มีความสำคัญสำหรับ ธปท. ในสองประเด็น

  • ทุนรักษาระดับฯ เป็นจุดที่ ธปท. สัมผัสกับตลาดเงินตราโดยตรง จึงเป็นจุดที่ ธปท. จะจับกระแสการเคลื่อนไหว ในตลาดได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้จัดการทุนรักษาระดับฯ จึงมักจะเป็นผู้ที่อยู่ในฝ่ายวิชาการ หรือควบคุมฝ่ายวิชาการเพราะเป็นตัวที่นำไปสู่การวิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างใกล้ชิด แต่ดังที่จะบรรยายต่อไปในช่วงนับตั้งแต่ กลางปี 2539 จนกระทั่งกลางปี 2540 การแทรกแซงโดยตรงจากบัญชีทั่วไปโดยฝ่ายการธนาคารจะมี บทบาทสูงที่บดบังทุนรักษาระดับฯ โดยสิ้นเชิง

  • ปกติแล้ว ผู้จัดการทุนรักษาระดับฯ จะเป็นผู้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดจากตะกร้าวันต่อวัน
    เพราะฉะนั้น บทบาทการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนในระดับกลยุทธ์ (แต่ไม่ใช่ในระดับยุทธศาสตร์)
    จะเป็นของผู้จัดการทุน

99. บัญชีทั่วไปเป็นส่วนที่เหลือของทุนสำรองทางการ และเป็นส่วนที่ ธปท. มีอำนาจกว้างขวางที่สุดในการดำเนินการแทรกแซงโดยตรงในตลาด การแทรกแซงดังกล่าวโดยปกติจะไม่ผ่านทุนรักษาระดับฯ ภายใน ธปท. บัญชีนี้อยู่ในการควบคุมดูแลของฝ่ายการธนาคาร ฝ่ายนี้จึงเป็นฝ่ายที่มีบทบาทสูง ในการแทรกแซงในช่วงที่มีการโจมตีค่าเงินบาทนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2539 จนกระทั่งเมื่อทางการประกาศให้ค่าเงินบาทลอยตัวในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540

100. ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2540 บัญชีทั่วไปมีเงินตราต่างประเทศ 16.64 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 43.05 ของเงินทุนสำรองทางการทั้งหมด 38.65 พันล้านเหรียญสหรัฐ

101. สรุปแล้ว องค์ประกอบเงินทุนสำรองทางการในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2540 จะเป็นดังนี้ [ตารางที่ 1]

102. ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ บัญชีทั่วไปของ ธปท. ได้ไปทำธุรกรรม swap ไว้แล้ว ดังนั้นจึงมีภาระผูกพันอยู่แล้วรวมทั้งสิ้น 12.05 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าคำนึงว่า ตาม พ.ร.บ.เงินตรา ธปท. ไม่สามารถนำเอาทุนสำรองเงินตรามาใช้เพื่อการแทรกแซง ธปท. ก็จะมีเงินที่แทรกแซงได้โดยสุทธิเหลืออยู่เพียง 5.28 พันล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น (บรรทัดที่ 6 ของตารางที่ 1 ลบด้วยบรรทัดที่ 1) (บันทึกที่ 135/2540 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2540 จากหัวหน้าส่วนธุรกิจต่างประเทศ ฝ่ายการธนาคาร (นางนงเยาว์ คชวัตร) ถึงผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคาร (นายบัณฑิต นิจถาวร)) (ดูข้อ 143-147)

ธุรกรรม swap

103. ข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบของเงินทุนสำรองทางการ ที่ให้สำหรับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2540 ในตารางที่ 1 เป็นข้อมูลหลังจากที่เงินบาทถูกโจมตีอย่างหนักมาแล้วอย่างน้อยสองครั้ง และหลังจากที่ ธปท. ได้ทำธุรกรรม swap มามากพอสมควร ผลของการทำธุรกรรม swap นี้ปรากฏเป็นภาระผูกพันล่วงหน้าในตารางที่ 1 เพื่อความเข้าใจอันดี จึงจำเป็นที่จะต้องอรรถาธิบายเกี่ยวกับเรื่องธุรกรรม swap ให้ชัดเจนเสียก่อน

104. ธุรกรรม swap ชนิดที่ ธปท. ทำในช่วงปีก่อนการปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวนั้น เรียกว่า buy-sell swap แต่ละครั้งที่ทำไปจะประกอบด้วยธุรกรรมสองขาในขาปัจจุบัน (คือส่วน buy ใน buy-sell) ธปท. จะซื้อเงินเหรียญสหรัฐโดยจ่ายด้วยเงินบาท (เรียกสั้นๆ ว่า ซื้อเงินเหรียญสหรัฐ/ขายเงินบาท) ด้านขวาของภาพที่ 10 จะแสดงให้เห็นการแลกเปลี่ยนเงินที่จะเกิดขึ้นในธุรกรรม swap ขาปัจจุบันนั้นจะแสดงโดยคู่ลูกศรในด้านขวาส่วนบน ในขาที่สองคือขาอนาคต (คู่ลูกศรล่างด้านขวา) เงื่อนไขสัญญา swap จะกำหนดให้ ธปท. ขายเงินเหรียญสหรัฐ/ซี้อเงินบาท อายุสัญญาดังกล่าวหรือช่วงเวลาระหว่างขาปัจจุบันกับขาล่วงหน้าอาจจะเป็น 2 วัน หรือ 3 เดือน หรือ 6 เดือน หรือ 1 ปีก็ได้แล้วแต่สัญญา อัตราแลกเปลี่ยนที่จะใช้ในการแลกเงินทั้งสองขาจะเป็นตามที่ตกลงกัน ผลต่างของราคาเงินเหรียญสหรัฐในสองขานี้ จะสะท้อนผลต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินบาทกับอัตราดอกเบี้ยเงินเหรียญสหรัฐเป็นส่วนใหญ่

105. ในช่วงที่มีการโจมตีค่าเงินบาทจะเกิดการแลกเปลี่ยนเงินเข้าออกอย่างน้อยสามครั้ง โดยจะเริ่มด้วยการที่นักเก็งกำไรนำเอาเงินบาทมาทุ่มขายในตลาดทันที การขายเงินบาทนี้จะยังไม่ปรากฏในภาพที่ 10 เพราะยังไม่เกี่ยวข้องกับ ธปท. แต่ถ้าการขายเงินบาทดังกล่าวนี้จะสร้างแรงกดดันทำให้ค่าเงินบาทลดลง ธปท. ก็จำต้องไปซื้อเงินบาทเข้ามาจากตลาดเพื่อพยุงค่าของเงินบาทโดยใช้เงินเหรียญสหรัฐจากทุนสำรองทางการ การซื้อขายดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นโดยคู่ลูกศรด้านซ้ายในภาพที่ 10 นี่คือการแลกเปลี่ยนเงินครั้งแรก ในอดีต การแลกเปลี่ยนเงินก็จะจบลงตรงนี้ โดย ธปท. จะพยุงค่าเงินบาทเฉพาะในตลาดทันที แต่ในปี 2539-40 ธปท. มักจะตามธุรกรรมทันทีด้วยการทำธุรกรรม buy-sell swap คือธุรกรรมทางด้านขวาของภาพที่ 10 ในขาปัจจุบันของธุรกรรม swap ธปท.จะได้เงินเหรียญสหรัฐจากตลาด และจะระบายเงินบาทออกไป ซึ่งก็เป็นการแลกเปลี่ยนเงินครั้งที่สอง เมื่อครบอายุสัญญา swap ธปท. จะต้องส่งเงินเหรียญสหรัฐนั้นไปแลกเงินบาทกลับมา ซึ่งจะเป็นการแลกเปลี่ยนเงินครั้งที่สาม

106. ในอดีต เมื่อเกิดการโจมตีค่าเงินบาทนั้น นักเก็งกำไรก็จะสร้างแรงกดดันให้ค่าเงินบาทลดลงในตลาดทันทีเหมือนกัน ผลจะปรากฎแก่ ธปท. ที่ทุนรักษาระดับฯ ภายใน 24 ชั่วโมง และการตอบโต้จาก ธปท. จะเกิดขึ้นที่ทุนรักษาระดับฯ จากการที่ทุนรักษาระดับฯ จะรับซื้อเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดไว้ ถึงแม้ว่าตัวทุนรักษาระดับฯ มิได้มีไว้เพื่อนำมาขายแลกกับเงินบาททีละมากๆ แต่ทุนรักษาระดับฯ สามารถหันกลับมาซื้อเงินเหรียญสหรัฐได้จากบัญชีทั่วไปของ ธปท. ได้เสมอ ตราบใดที่บัญชีทั่วไปของ ธปท. ยังมีเงินทุนสำรองเหลืออยู่

107. ในสายตาของ ธปท. ข้อที่ทำให้ธุรกรรม swap เป็นเครื่องมือแทรกแซงที่ดีกว่าการแทรกแซงเฉพาะในตลาดทันทีแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนอย่างที่เคยกระทำ ก็คือ การแทรกแซงโดยมี swap ตามมาจะไม่ทำลายสภาพคล่องของเงินบาท ในระบบเดิม ถ้าแรงกดดันขายเงินบาทจากนักเก็งกำไรมีสูงและถ้าทุนรักษาระดับฯ รับซื้อเงินบาทเข้า ธปท. จะทำให้เงินบาทหายจากตลาดมาอยู่กับ ธปท. ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะเงินฝืด และทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่หาก ธปท. ตามด้วยการ swap สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ในขาแรกของสัญญา swap ธปท. ก็จะอัดฉีดเงินบาทเข้าไปในระบบเพื่อลบล้างผลของการโจมตีของนักเก็งกำไรที่นำเอาเงินบาทมาขายให้แก่ ธปท. ทำให้ปริมาณเงินบาทในตลาดทันทีไม่ลดลง ดอกเบี้ยก็จะไม่แพงขึ้น (คำชี้แจงของนายบัณฑิต นิจถาวร ผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคาร ต่อ ศปร.)

108. ข้อดีอีกประการหนึ่งในสายตาของ ธปท. คือ การใช้ธุรกรรม swap นั้นเป็นการซ่อนผลกระทบของการปกป้องค่าเงินบาทต่อเงินทุนสำรองทางการไม่ให้ปรากฏต่อตลาด เพราะถ้าดำเนินการแต่เฉพาะในตลาดทันทีเงินทุนสำรองทางการก็จะหดลง ธุรกรรม swap ที่ ธปท. ทำนั้นมีผลเสมือนหนึ่งว่า ธปท. กู้เงินตราต่างประเทศมาใช้อุดส่วนของเงินทุนสำรองทางการที่หดลง ทำให้ไม่เห็นผลต่อปริมาณเงินทุนสำรองทางการที่แถลงต่อประชาชน (บรรทัดที่ 4 ตารางที่ 1) ส่วนพันธะที่เกิดขึ้นที่จะต้องส่งเงินตราต่างประเทศกลับไปให้แก่คู่สัญญาในอนาคต (บรรทัดที่ 5 ตารางที่ 1) นั้นไม่ต้องแจ้งสาธารณชน ดังนั้น ประชาชนจะไม่ทราบว่าไทยมีเงินทุนสำรองที่หักพันธะหรือเงินทุนสำรองสุทธิเท่าใด

109. ในการกล่าวว่า ธปท. ได้ซ่อนผลของการดำเนินการของตนจากตลาดนั้น ศปร. มิได้มีเจตนาที่จะปรักปรำ ธปท. ว่าพยายามหลอกลวงประชาชนและเป็นการกระทำที่ควรแก่การประณาม ในสภาพตลาดอย่างที่ ธปท. ประสบอยู่นั้น การปกปิดข้อมูลบางอย่างไม่ให้ออกสู่ตลาดหรือต่อสาธารณชนนั้น เป็นสิ่งจำเป็น แต่ในกรณีนี้ ศปร. เชื่อว่าวิธีการที่นำมาใช้ไม่ช่วยให้ ธปท. สามารถปกปิดการทำธุรกรรมของตนได้สำเร็จ ทั้งนี้เพราะเหตุว่าอย่างน้อยคู่ค้าของตนในตลาดเงินตราระหว่างประเทศจะทราบว่า ธปท. กำลังทำอะไรอยู่ และเพราะธุรกรรมต่างๆ ที่ ธปท. ดำเนินการอยู่ในช่วงนั้นมีขนาดและปริมาณสูงกว่าที่เป็นอยู่โดยปกติในตลาดดังกล่าว ดังคำชี้แจงจากนายศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ (กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย) ที่ให้แก่ ศปร.

"จากขนาดของ transaction ที่ ธปท. ทำ ซึ่งมีประมาณครั้งละ 100-130 ล้าน [เหรียญสหรัฐ] นั้นคิดว่ามากและเป็น very significant information เนื่องจากตลาดปกติจะมี value เฉลี่ย 200-250 ล้าน [ต่อวัน] ประกอบกับตลาดไทยเป็นตลาดที่ thin มาก หากมี transaction มากเป็น 10-20 ล้าน อัตราแลกเปลี่ยนจะกระทบทันที … อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่อัตราแลกเปลี่ยนเริ่มขยับ และมีคน go against อัตราแลกเปลี่ยนอันนั้น trade จะมีคำถามว่าอะไรเกิดขึ้น และมักได้รับรายงานว่า ธปท. intervene ในตลาด”

110. ถ้าพิจารณาขนาดของตลาดในแต่ละวัน และความสามารถของคู่ค้าแต่ละคน และเปรียบเทียบกับความจำเป็นที่ ธปท. จะต้องแทรกแซง ในช่วงที่มีการโจมตี (วันละนับเป็นพันล้านเหรียญสหรัฐ) จะเห็นได้ว่า ธปท. จำเป็นต้องทำธุรกรรมนี้กับคู่ค้าเป็นจำนวนมาก ซี่งยิ่งจะเป็นการกระพือข่าว ให้ตลาดมีความตื่นตระหนกมากขึ้นอีก

111. คู่ค้าของ ธปท. ในธุรกรรม swap มักจะเป็นผู้แทนที่ ธปท. เลือกให้เป็นตัวแทนในธุรกรรมแต่ละครั้ง ผู้แทนเหล่านี้มีธนาคารไทยขนาดใหญ่ 4 ธนาคาร (กรุงเทพฯ กรุงไทย กสิกรไทย และไทยพาณิชย์) ธนาคารต่างประเทศที่มีสาขาในไทย รวมไปถึงสถาบันการเงินต่างประเทศอีกด้วย ตามความเข้าใจของ ธปท. คู่ค้าจะทำสัญญากับ ธปท. ในฐานเป็นตัวแทน (agent) ของ ธปท. ในตลาด กล่าวคือคู่ค้าจะไปทำสัญญาต่อกับผู้อื่น และคิดค่าป่วยการจาก ธปท. แต่ก็ไม่มีอะไรที่จะกีดกันไม่ให้คู่ค้าบางรายหันมาทำสัญญากับตนเองหรือกับบริษัทในเครือ หรือใช้ข้อมูลที่ได้จากธุรกรรมของ ธปท. ไปทำธุรกรรมกับคนอื่น ในหลายกรณีมีข่าวออกมาเป็นระลอกว่าคู่ค้าของ ธปท. คือผู้ที่อยู่ในหมู่นักเก็งกำไรที่เข้ามาโจมตีเงินบาทเสียเอง

112. นอกจากการยื่นข้อมูลให้แก่ตลาดเงินตราต่างประเทศแล้ว การที่ ธปท. ระบายเงินบาทออกมาในขาแรกของธุรกรรม swap ก็เท่ากับเป็นการยื่นลูกกระสุนให้คู่ค้าต่างประเทศอีกด้วย เพราะคู่ค้าเหล่านี้สามารถนำเงินบาทเหล่านั้นกลับมาใช้โจมตี ธปท. ใหม่ได้ ซึ่ง ธปท. ก็รับเอาเงินบาทดังกล่าวไปทำธุรกรรมกับคู่ค้ารายอื่นหมุนเวียนกันไป โดยที่ฝ่ายคู่ค้าไม่ถูกจำกัดโดยปริมาณเงินบาทที่จะหามาโจมตีได้ เนื่องจาก ธปท. ระบายเงินออกมาให้ตลอดเวลา ดังนั้น การทำ swap จึงทำให้การแทรกแซงในตลาดทันทีของ ธปท. เพื่อพยุงค่าเงินบาทไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร

113. ถ้ากลับไปพิจารณาภาพที่ 10 อีกครั้งหนึ่ง และถ้าคำนึงด้วยว่า ตลาดเงินที่วาดไว้เป็นสองกล่องที่อยู่ตรงด้านซ้ายและขวาของภาพที่ 10 นั้นแท้จริงแล้วเป็นตลาดเดียวกัน ก็จะเห็นได้ว่า ผลของการแทรกแซงในตลาดทันทีตามด้วยการทำธุรกรรม swap นั้นทำให้เงินบาทออกจากตลาดเงินมุ่งมาสู่ ธปท. และจากนั้น ธปท. ก็จะเอาเงินบาทนั้นระบายกลับไปสู่ตลาดอีกครั้งหนึ่ง และตลาดก็จะเอาเงินบาทกลับมาขายให้ ธปท.ใหม่ หมุนอยู่เช่นนี้ไปเรื่อยๆแต่เงินบาทหมุนอยู่รอบหนึ่ง ภาระผูกพันจากธุรกรรม swap ก็จะเพิ่มขึ้นครั้งหนึ่ง แล้วแต่วงเงินที่ซื้อขายกันจะสูงต่ำอย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้าการโจมตีไม่หยุดยั้งอยู่ ภาระผูกพันก็สามารถเพิ่มขึ้นโดยไม่จำกัดได้

114. นอกจากปัญหาในระดับกลยุทธ์การค้าเงินแล้ว ในระดับยุทธศาสตร์การดำเนินนโยบายการเงิน การใช้ธุรกรรม swap นั้นมีข้อบกพร่องอยู่บางประการในประการแรก เมื่อมีการโจมตีค่าเงินบาทแล้ว หาก ธปท. ไม่ใช้ธุรกรรม swap ก็ต้องใช้การซื้อขายในตลาดทันทีแทน แต่ถ้าทำเช่นนั้น ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือ อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศจะสูงขึ้น เพราะเงินบาทจะหายออกไปจากตลาดเป็นจำนวนมาก ถ้าอัตราการโจมตีนั้นรุนแรงเหมือนเช่นในเดือนกุมภาพันธ์ หรือเดือนพฤษภาคม 2540 ดอกเบี้ยก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ทันทีที่ดอกเบี้ยสูงขึ้น ก็จะเกิดแรงกดดันในสองทางคือ ในตลาดการนำเอาเงินบาทมาโจมตีนั้นก็จะแพงขึ้น สำหรับในทางการเมืองอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะสร้างปัญหาให้แก่ ธปท. และจะบังคับให้ ธปท. ทบทวนนโยบายของตนเร็วขึ้น แต่การทำ swap เปิดโอกาสให้ ธปท. เลี่ยงการเผชิญปัญหาไปได้เรื่อยๆ โดยเฉพาะถ้าไม่มีการเปิดเผยข้อมูลปริมาณการทำ swap

115. แต่ถ้าการโจมตียังเกิดขึ้นโดยไม่ขาดสาย (อย่างเช่นในเดือนพฤษภาคม 2540) และถ้า ธปท. ยังใช้วิธีการดำเนินการแบบเดิม เงินทุนสำรองทางการก็จะร่อยหรอลง ในที่สุดก็จะติดปัญหาว่าจะไม่มีเงินทุนสำรองทางการเพียงพอ ความจริงแล้ว การติดปัญหาไม่มีเงินทุนสำรองเพื่อใช้ปกป้องเงินบาทนั้น จะเกิดขึ้นก่อนเงินทุนสำรองทางการจะหมดสิ้นไปด้วยซ้ำ ทั้งนี้เพราะส่วนหนึ่งของเงินทุนสำรองทางการนั้นเป็นเงินทุนสำรองเงินตราที่กฎหมายไม่อนุญาตให้นำมาใช้เพื่อปกป้องเงินบาท (ดูข้อ 92-93) เพราะฉะนั้น ถ้า ธปท. แทรกแซงเฉพาะในตลาดทันทีแต่อย่างเดียวเหมือนอย่างที่เคยทำในอดีต ธปท. ก็จะไม่รีรอเรื่องปรับค่าเงินบาท (ในอดีต ทุกครั้งที่มีการโจมตีเงินบาท ทางการจะลดค่าเงินบาทก่อนที่จะติดเงื่อนไขของ พ.ร.บ. เงินตรา) และจะไม่ไปสร้างภาระผูกพันโดยผ่านธุรกรรม swap ในปริมาณที่สูงจนเกือบเท่าเงินทุนสำรองทางการที่มีอยู่

116. ผู้ออกแบบระบบวงจรไฟฟ้าที่ดีจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา และโดยปกติจะรวมแผงตัดวงจร (ฟิวส์) ไว้เป็นส่วนหนึ่งของระบบเสมอเช่นเดียวกัน ในการวางยุทธศาสตร์การเงิน การมีอะไรบางอย่างที่คอยปกป้องไม่ให้เกิดอันตรายร้ายแรงที่ทำหน้าที่คล้ายแผงตัดวงจรอยู่ในระบบก็เป็นสิ่งที่พึงปรารถนา ในระบบการปกป้องค่าเงินบาทที่มีอยู่เดิมนั้น มีแผงตัดวงจรอยู่แล้ว ในทางหนึ่ง กลไกตลาดสามารถทำหน้าที่ตัดวงจรเมื่อ ธปท. ใช้เงินทุนสำรองปกป้องค่าเงินบาทมากเกินควร เพราะถ้าทำมากไป อัตราดอกเบี้ยก็จะพุ่งสูงขึ้นจนไม่มีใครรับได้ ในอีกทางหนึ่ง กฎหมายก็ได้กำหนดไว้ว่า ธปท. จำต้องมีเงินทุนสำรองเงินตราเป็นฐานรองรับธนบัตรที่หมุนเวียน ซึ่งเท่ากับเป็นการห้ามมิให้ ธปท. ใช้เงินทุนสำรองทางการจนหมดเนื้อหมดตัว แต่ในการนำเอาธุรกรรม swap มาใช้เป็นเครื่องมือใหม่ในการปกป้องค่าเงินบาท เท่ากับว่า ธปท. ได้เดินสายไฟอ้อมแผงตัดวงจรไปเสีย เมื่อเกิดการโจมตีค่าเงินบาทขึ้น ธปท. สามารถดำเนินการปกป้องค่าเงินบาทโดยแทบจะไม่มีขีดจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น

117. ถ้าจะใช้อุปมาอุปไมยเปรียบเทียบนโยบายปกป้องค่าเงินบาทกับวงจรไฟฟ้าต่อไป ในเมื่อไม่มีกลไกอัตโนมัติที่มีอยู่ในระบบที่จะตัดปัญหาเสียแต่เนิ่นๆ แล้ว อย่างน้อยก็ควรจะมีใครใน ธปท. ที่จะดึงสายออกถ้าเห็นว่าระบบวงจรไฟฟ้ากำลังมีปัญหา และอาจก่อให้เกิดอันตรายอันใหญ่หลวงได้ การแบ่งส่วนองค์กรของ ธปท. มิได้เอื้ออำนวยให้มีใครทำหน้าที่นั้น ยกเว้นตัวผู้ว่าการเอง

การแบ่งส่วนองค์กรภายใน ธปท. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องค่าเงินบาท

118. การแบ่งส่วนองค์กรภายใน ธปท. ที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องเงินทุนสำรองและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ครั้งหนึ่งเคยมีเอกภาพพอสมควร เพราะกลไกที่ใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทนั้นแทบทั้งหมดจะอยู่ในฝ่ายเดียวกันในองค์กร แต่การเริ่มใช้เครื่องมือใหม่อย่างเช่นธุรกรรม swap นั้นได้ทำให้เอกภาพนั้นหมดสิ้นไป

119. ภาพที่ 11 แสดงแผนภูมิของตำแหน่งต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องค่าเงินบาท ในด้านขวาของแผนภูมิจะแสดงถึงฝ่ายที่เคยมีบทบาทสำคัญในระบบเดิม (ก่อนปลายปี 2539) จุดศูนย์กลางในระบบนั้น จะอยู่ที่ทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน ดังได้กล่าวมาแล้วทุนรักษาระดับฯ เดิมเป็นหน้าต่างเดียวที่ ธปท. สัมผัสกับตลาดเงินตรา จุดนี้จะเป็นจุดที่ ธปท. ทำการซื้อขายเงินตราต่างประเทศในยามปกติ และในอดีตจะเป็นจุดที่ใช้ปกป้องค่าเงินบาทเมื่อถูกโจมตี (ดูข้อ 107)

120. ตลอดเวลาที่ ธปท. ผูกค่าของเงินบาทไว้กับตะกร้าเงิน จุดนี้จะเป็นจุดที่ ธปท. ประกาศอัตราแลกเปลี่ยนทุกเช้า เพราะฉะนั้น ผู้จัดการทุนรักษาระดับฯ จึงเป็นบุคคลที่มีบทบาทสูงในการกำหนดนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการทุนรักษาระดับฯ มาเป็นเวลานานนับตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา

121. เนื่องจากนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เทคนิคการวิเคราะห์ที่ซับซ้อน เพราะฉะนั้นในอดีต ฝ่ายวิชาการจะอยู่ในสายงานเดียวกันกับทุนรักษาระดับฯ มาโดยตลอด เช่นเดียวกันในปี 2539-40 นายชัยวัฒน์ นอกจากจะเป็นผู้จัดการทุนรักษาระดับฯ แล้ว ก็เป็นรองผู้ว่าการธนาคารที่คุมฝ่ายวิชาการ โดยมีนางเกลียวทอง เหตระกูล เป็นผู้อำนวยการ รายงานต่อรองผู้ว่าการ ผ่านผู้ช่วยผู้ว่าการ นางธัญญา ศิริเวทิน อย่างไรก็ตาม ความใกล้ชิดของทุนรักษาระดับฯ กับฝ่ายวิชาการ มิได้หมายความว่า ฝ่ายอื่นๆ จะมิได้มีส่วนร่วม มีบุคคลหลายคนเป็นเจ้าหน้าที่อยู่ในทุนรักษาระดับฯ อาทิเช่น ผู้ช่วยผู้ว่าการศิริ การเจริญดี ก็เป็นผู้ช่วยผู้จัดการทุนรักษาระดับฯ และผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคาร (นายบัณฑิต นิจถาวร) ก็เป็นเหรัญญิกของทุนรักษาระดับฯ ในช่วงปี 2539-2540 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีบุคคลจากฝ่ายอื่นๆ ร่วมอยู่ด้วยในทุนรักษาระดับฯ ในที่นี้จะเรียกกลุ่มเจ้าหน้าที่ทางด้านขวาของภาพที่ 11 ว่า สายวิชาการ

122. ลักษณะพิเศษสำหรับเหตุการณ์ในปี 2539-40 ก็คือบทบาทสำคัญในการปกป้องค่าเงินบาทหาได้เป็นของทุนรักษาระดับฯ ไม่ แต่กลับกลายเป็นภาระหน้าที่ของฝ่ายการธนาคาร ที่มีนายบัณฑิต นิจถาวร เป็นผู้อำนวยการ ฝ่ายการธนาคารได้เริ่มใช้บทบาทเชิงรุก กล่าวคือ ในกรณีที่มีการโจมตีค่าเงินบาทในตลาดทันที ฝ่ายการธนาคารจะออกไปกว้านซื้อเงินบาทเพื่อพยุงค่าเงินบาทไว้ ธปท. จะไม่รอจนถึงเวลาทำงานของทุนรักษาระดับฯ เมื่อฝ่ายการธนาคารแทรกแซงในตลาดทันทีแล้ว มักจะตามด้วยการทำ swap ด้วย

123. ทั้งการกว้านซื้อเงินบาทและการทำธุรกรรม swap นั้นกระทำกันในฝ่ายการธนาคาร โดยมีนายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน หัวหน้าส่วนวิเคราะห์และธุรกิจตลาดเงินเป็นผู้ค้า หรือเป็น “หน้าด่าน” ของ ธปท. ส่วนนี้มีความรับผิดชอบใน “การดำเนินการด้านตลาดซื้อคืน การแทรกแซงตลาดเงิน และการตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา (เหรียญสหรัฐ/บาท)” (จากแผนผังแสดงโครงสร้างฝ่ายการธนาคาร ที่ฝ่ายฯ เสนอให้กับ ศปร.)

124. เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า แต่เดิมมา ส่วนนี้เป็นส่วนที่มีประสบการณ์สูงในด้านการซื้อขายเงินบาทในตลาดซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลซึ่งเป็นเครื่องมือที่ ธปท.ใช้ในการเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยเงินบาท ในตลาดดังกล่าว ธปท. จะมีอำนาจตลาดสูงเหนือคู่ค้ามาก เพราะเหตุว่าเป็นตลาดเงินบาทและพันธบัตรรัฐบาลไทย ซึ่ง ธปท. สามารถคุมปริมาณซื้อขายได้อย่างใกล้ชิด แต่ในการทำธุรกรรม swap ในตลาดเงินตราต่างประเทศที่ส่วนวิเคราะห์และธุรกิจฯ เพิ่งมาเริ่มทำนั้น ธปท.จะมีอำนาจตลาดน้อยกว่าในตลาดพันธบัตรมาก การที่ ธปท. ใช้กลุ่มบุคคลเดียวกันกับที่เคยซื้อขายในตลาดที่ ธปท. มีอำนาจตลาดสูง หันมาซื้อขายในตลาดที่ตนมีอำนาจน้อยกว่ามาก (ซึ่งต้องอาศัยจิตวิทยาแตกต่างกัน) อาจมีส่วนในปัญหาที่ตามมาได้

125. อนึ่ง ภายในฝ่ายการธนาคารมีส่วนธุรกิจต่างประเทศ มีนางนงเยาว์ คชวัตร เป็นหัวหน้ารายงานต่อนายธนศักดิ์ จันทโรวาส รองผู้อำนวยการฝ่าย ตามเอกสารที่ฝ่ายการธนาคารให้กับ ศปร. ส่วนนี้มีหน้าที่ดูแลเงินสำรองทางการทั้งหมดและทำการลงทุนหาผลประโยชน์ และรับผิดชอบในการ “จัดสรรเงินสภาพคล่องของเงินสำรองของทางการให้พอเพียงกับภาระต่างๆ” เพราะฉะนั้นส่วนนี้จะดูแลเงินทุนสำรองทั้งหมด รวมทั้งจะต้องดูแลภาระอันเกิดจากธุรกรรม swap

126. ฝ่ายการธนาคารจะรายงานต่อผู้ช่วยผู้ว่าการ นายศิริ การเจริญดี ซึ่งรายงานตรงต่อผู้ว่าการ เพื่อความสะดวกในการอธิบายเรื่องราวต่อไปจะเรียกกลุ่มเจ้าหน้าที่ทางด้านซ้ายของภาพที่ 11 ว่าสายปฏิบัติการ

127. จะเห็นได้จากภาพที่ 11 ว่า ในปี 2539-40 สายงานที่ปกติมีบทบาทสูงและมีเครื่องมือและความรู้ในด้านนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน (สายวิชาการ) กับสายงานที่ได้รับหน้าที่เป็นผู้ใช้เงินทุนสำรองปกป้องค่าเงินบาทนั้น (สายปฏิบัติการ) อยู่กันคนละสาย อีกวิธีหนึ่งที่จะอธิบายสองสายนี้ตามหน้าที่การงานก็คือ สายหนึ่งเป็นฝ่ายกำหนด “ราคา” คืออัตราแลกเปลี่ยน ส่วนอีกสายหนึ่งเป็นสายที่ทำการค้าขายและดูแลทรัพย์สินเพื่อรักษาราคาดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ ทั้งสองสายนี้จะมาบรรจบกันตรงตัวผู้ว่าการ ธปท. ซึ่งเป็นผู้เดียวใน ธปท. ที่คุมทั้งสองสาย

128. การจัดองค์กรในรูปแบบนี้จะทำงานได้ดีจะต้องเป็นไปตามหนึ่งในสองเงื่อนไข เงื่อนไขแรกคือ จะต้องมีการส่งต่อข่าวสารข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง และไม่ขาดสายระหว่างทั้งสองฝ่าย แต่เนื่องจากงานเกี่ยวกับการปกป้องค่าเงินบาทและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนนั้นเป็นงานที่ละเอียดอ่อน ผู้ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องรักษาข้อมูลที่ตนได้รับทราบมาเป็นความลับ และรายงานให้เฉพาะตามสายงานเท่านั้น ดังนั้น การรายงานข้ามสายจึงถูกจำกัดลงพอสมควรมีข้อยกเว้นอยู่เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับทุนรักษาระดับฯ ในเมื่อนายบัณฑิต นิจถาวร ผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคาร เป็นเหรัญญิกของทุนรักษาระดับฯ อยู่ด้วย สายปฏิบัติการจะทราบความเคลื่อนไหวในด้านทุนรักษาระดับฯ ได้ดี แต่ไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่จากสายวิชาการที่มีบทบาทในด้านการปฏิบัติการ
ยกเว้นเมื่อผู้ว่าการเรียกประชุม เนื่องจากข้อจำกัดในการส่งข้อมูลต่อกันระหว่างสองสาย จึงต้องพึ่งเงื่อนไขที่สอง กล่าวคือ ผู้ว่าการจะต้องเป็นผู้ที่สามารถรวบรวมเอาข้อมูลจากทั้งสองสายมาแปรเป็นแนวนโยบายที่สั่งการต่อไปได้ เพราะในที่สุด ในเรื่องนี้ ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนแล้วอำนาจสุดท้ายภายใน ธปท. อยู่ที่ผู้ว่าการ ที่จะต้องเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอนุมัติและดำเนินการ นายเริงชัยได้ให้คำชี้แจงแก่ ศปร. ที่สะท้อนให้เห็นว่าเงื่อนไขทั้งสองเป็นไปได้หรือไม่

"ในการบริหารงานเกี่ยวกับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน การบริหารทุนสำรองทางการนั้น กระผมตระหนักดีว่า มีความสำคัญ และกระผมมีประสบการณ์ความรู้ในเรื่องนี้น้อย จึงได้กำหนดให้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างฝ่ายวิชาการ ฝ่ายการธนาคาร และทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน และได้แต่งตั้งบุคลากรที่มีความรู้ และประสบการณ์ที่ดีที่สุดรับผิดชอบในสายงานด้านนี้ให้สอดคล้องกับตำแหน่งหน้าที่ของทุนรักษาระดับฯ ด้วย”

129. แต่ฝ่ายนายชัยวัฒน์ ผู้ซึ่งอยู่สายทุนรักษาระดับฯ กลับมีความเห็นตามบันทึกคำชี้แจงต่อไปนี้

"ต่อคำถามที่ว่ารู้หรือไม่ว่าแทรกแซงไปเท่าไรและใช้ทุนสำรองไปเท่าไร และมีภาระผูกพันอีกเท่าใดนั้น นายชัยวัฒน์ชี้แจงว่า ในหลักปฏิบัตินั้นเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องลับมากและจะรู้กันในเฉพาะสายงานเท่านั้น ซึ่งสายงานด้านนี้ ผู้ว่าการได้มอบหมายให้ผู้ช่วยผู้ว่าการ [คือนายศิริ การเจริญดี] รายงานโดยไม่ต้องผ่าน รองผู้ว่าการ ดังนั้นในเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ไม่ปฏิเสธว่ามีบางจุดที่เกี่ยวข้องในแง่ของการมองภาพรวม แต่ในบางสิ่งก็จะมีบทบาทจำกัดอยู่เท่าที่ได้รับมอบหมายให้เกี่ยวข้องรับผิดชอบ แต่การที่จะไปเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของฝ่ายการธนาคารทุกวันนั้น คงไม่เป็นการสมควรเนื่องจากไม่ได้ อยู่ในสายงาน สำหรับคำถามที่ว่าหากไม่รู้ตัวเลขทุนสำรองนั้นจะสามารถให้คำปรึกษาหารือในการประชุมได้อย่างไรนั้น นายชัยวัฒน์ได้ชี้แจงว่า คงขึ้นอยู่กับกรอบที่ว่าเขาต้องการให้ตนเองรู้มากขนาดไหน ได้ย้ำว่า การที่ไม่ได้อยู่ในสายงานแต่ไปดิ้นรนคงไม่เป็นการสมควร อีกทั้งการจัดระบบงานก็ไม่ได้ให้ตนเองดูแลการที่จะให้มารายงานวันต่อวัน คงเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตามได้เคยถามตัวเลขและก็ได้รับคำตอบเป็นครั้งคราว ในลักษณะที่ถามครั้งก็ได้รับคำตอบครั้ง นอกจากนี้แล้วนายชัยวัฒน์ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า ไม่ได้มองว่าตนเองเป็นตัว key และบางครั้งจะมองเหมือนว่าตนเองเป็นผู้รับผิดชอบมากมาย แต่ในกระบวนการตัดสินใจนั้น บางครั้งเมื่อที่ประชุมตกลงกันก็ยังมอบหมายให้คนอื่นเป็นผู้ดำเนินการต่อไป

ต่อคำถามที่ว่าหากไม่รู้ตัวเลขต่างๆ นั้น จะสามารถ brief เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้รัฐมนตรีอำนวยทราบได้อย่างไร นายชัยวัฒน์ได้ตอบว่า เรื่องทุนสำรองนั้น ตอบได้เฉพาะในส่วนของ EEF [ทุนรักษาระดับฯ] และท่านรัฐมนตรีถาม net position ว่าเท่าไรก็ไม่สามารถตอบได้ จนกระทั่งได้ยินผู้ว่าการเริงชัยตอบจึงได้ยินเป็นครั้งแรก”

130. จะเห็นได้ว่าคำชี้แจงของนายเริงชัย มะระกานนท์ กับนายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ มีความแตกต่างกันในสาระสำคัญเกี่ยวกับการส่งข้อมูลต่อกันระหว่างสายปฏิบัติการกับสายวิชาการ และในบทบาทของแต่ละฝ่าย ดังนั้นในการลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้นอกจากประเด็นที่จะต้องดูแลอยู่แล้วคือใครตัดสินใจอะไรอย่างไรและเมื่อใด ยังจะต้องเน้นเป็นพิเศษในประเด็นที่ว่า ใครทราบอะไรเมื่อใด อีกด้วย

131. ความจริงแล้ว ถ้าผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. สามารถบริหารงานกันได้อย่างกลมเกลียว สมกับปณิธานของผู้ว่าการเริงชัย มะระกานนท์ (“ในโอกาสที่กระผมรับตำแหน่งผู้ว่าการ ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะเสริมสร้างความสามัคคี ทำงานร่วมกันเป็นทีมเดียวกันเพื่อดึงศักยภาพของพนักงานในธนาคารออกมาให้มากที่สุด”) สายบังคับบัญชาอย่างเป็นทางการก็จะเป็นอุปสรรคน้อยกว่าที่เป็น เพราะจะถูกทดแทนกันด้วยการสื่อสารข้ามสายอย่างไม่เป็นทางการโดยไม่สูญเสียความลับที่จำเป็นต้องมีอยู่ ในช่วงวิกฤตนั้นการทำงานร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการ อาจจะดีกว่าการเกร็งอยู่กับสายบังคับบัญชา ในด้านนี้ หลังจากที่ได้รับฟังคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ ธปท. ทั้งหลาย รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงด้วย ศปร. มีข้อสังเกตว่า ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างนายเริงชัยกับนายชัยวัฒน์ มิได้เป็นความสัมพันธ์ฉันมิตรที่เคยร่วมทำงานในองค์กรเดียวกันมาเป็นเวลานับสิบปี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะสองท่านนี้เป็นผู้ที่มี บทบาทสูงในด้านนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนและการปกป้องนโยบายดังกล่าว


การโจมตีค่าเงินบาทตั้งแต่ปลายปี 2539

ธันวาคม 2539

132. ปัญหาความอ่อนแอของเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินของประเทศได้เริ่มส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2539 โดยเฉพาะหลังจากบริษัทมูดีส์ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทยในวันที่ 3 กันยายน 2539 ทำให้การไหลออกของเงินทุนต่างประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และทุนรักษาระดับฯ ต้องขายเงินตราต่างประเทศให้กับธนาคารพาณิชย์ในช่วงเดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายน 2539 จำนวนสุทธิ 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับครึ่งแรกของปีที่รับซื้อสุทธิ 2.04 พันล้านเหรียญสหรัฐ

133. การไหลออกของเงินทุนต่างประเทศมีความรุนแรงมากในเดือนธันวาคม 2539 เมื่อปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะแนวโน้มการส่งออกและปัญหาระบบสถาบันการเงินเลวร้ายลงอีก เสริมด้วยข่าวการให้สัมภาษณ์ของนักการเมืองเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบอัตราแลกเปลี่ยน ล้วนทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความมั่นใจยิ่งขึ้น จึงเร่งถอนเงินลงทุนออกไปในช่วงก่อนปิดบัญชีสิ้นปี ประกอบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐเทียบกับเงินสกุลสำคัญ มีแนวโน้มแข็งขึ้นอย่างชัดเจน จึงเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินบาทเพิ่มขึ้นอีก อัตราแลกเปลี่ยนเงินเหรียญสหรัฐ/บาทในท้องตลาดจึงมีความผันผวน และอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราขายของทุนรักษาระดับฯ บ่อยครั้ง ทุนรักษาระดับฯ ต้องขายเงินตราต่างประเทศในเดือนธันวาคมจำนวน 2.91 พันล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นเพื่อลดแรงกดดันและรักษาค่าเงินบาทในท้องตลาดไม่ให้เบี่ยงเบนจากระดับที่ควรจะเป็นตามระบบตะกร้าเงินมากจนเกินไป ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนตื่นตระหนกและถอนการลงทุนออกไปมากยิ่งขึ้น ฝ่ายการธนาคารจึงเข้าไปขายเงินเหรียญสหรัฐในตลาดโดยตรงเป็นจำนวนรวม 1.97 พันล้านเหรียญสหรัฐ การแทรกแซงนี้เป็นการแทรกแซงในตลาดทันที

134. แรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยนในเดือนธันวาคม 2539 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการถอนการลงทุนของต่างชาติ เสริมด้วยการซื้อเงินตราต่างประเทศของบริษัทเอกชนในประเทศส่วนหนึ่งที่เริ่มขาดความเชื่อมั่นในระบบอัตราแลกเปลี่ยน มิได้เกิดจากการโจมตีค่าเงินบาทของนักเก็งกำไร

135. การขายเงินตราต่างประเทศของทางการเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทโดยผ่านการดำเนินงานของทุนรักษาระดับฯ และการแทรกแซงตลาดของธนาคารเป็นจำนวนรวม 4.88 พันล้านเหรียญสหรัฐในเดือนธันวาคมนั้นย่อมทำให้สภาพคล่องในระบบการเงินลดลงไปมาก ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้อัตราดอกเบี้ยพุ่งสูงขึ้นจนเกินควร จนอาจทำให้ตลาดการเงินปั่นป่วน และซ้ำเติมฐานะของสถาบันการเงินที่อ่อนแออยู่แล้ว ธปท. จึงได้ลบล้าง (sterilize) การขายเงินตราต่างประเทศบางส่วน ด้วยการทำธุรกรรม swap ซึ่งรวมกันแล้วมีผลเท่ากับ ธปท. ขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (ดูข้อ 105) โดย ณ สิ้นปี 2539 ธปท. มีพันธะที่จะต้องขายเงินตราต่างประเทศทยอยส่งมอบในปี 2540 จำนวนทั้งสิ้น 4.75 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศมีรวมกันทั้งสิ้น 38.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อน 0.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ

136. มีข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อปกป้องค่าเงินบาทในช่วงนี้ กล่าวคือ กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นในสองขั้น ในขั้นแรกทุนรักษาระดับฯ เป็นฝ่ายแทรกแซง และแล้วก็มีการลบล้างผลต่อตลาดเงินและต่อตัวเลขเงินทุนสำรองทางการด้วยธุรกรรม swap ที่ดำเนินการโดยฝ่ายการธนาคาร ในช่วงนี้สายวิชาการ (ดูข้อ 122) น่าจะได้ภาพที่ชัดเจนพอสมควรเกี่ยวกับแรงกดดันที่มีต่ออัตราแลกเปลี่ยน


มกราคม – กุมภาพันธ์ 2540

137. นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้งหนึ่ง ตามฤดูกาลปกติในช่วงต้นปี ประกอบกับมีข่าวเรื่องการประกาศตัดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลลง 50 พันล้านบาท ในช่วง 3 สัปดาห์แรกของเดือนมกราคมจึงมีทุนไหลเข้ามามาก และทุนรักษาระดับฯ รับซื้อเงินตราต่างประเทศจากธนาคารพาณิชย์รวมทั้งสิ้น
2.43 พันล้านเหรียญสหรัฐ

138. แต่ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม ก็เริ่มมีการปล่อยข่าวลือการลดค่าเงินบาทแพร่หลายในตลาด และในวันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม ซึ่งเป็นวันประกาศตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนของ ธปท. นักเก็งกำไรต่างชาติก็เริ่มไล่ซื้อเงินเหรียญสหรัฐ/ขายเงินบาทตั้งแต่เช้าในลักษณะที่ทำให้ตลาดปั่นป่วน ดังนั้นเพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์ลุกลามจนควบคุมไม่อยู่ และปกป้องไม่ให้ทุนรักษาระดับฯ สูญเสียเงินตราต่างประเทศมากเกินไป ธปท. จึงได้แทรกแซงขายเงินเหรียญสหรัฐ/ซื้อเงินบาทในตลาดอย่างต่อเนื่องจนถึงเที่ยงวันพร้อมกับปฏิเสธข่าวลือ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพ และธนาคารพาณิชย์มาซื้อเงินตราต่างประเทศจากทุนรักษาระดับฯ เพียง 20 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในช่วงบ่ายเมื่อธนาคารประกาศตัวเลขเศรษฐกิจ ซึ่งแสดงการขาดดุลของรัฐบาล ในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณจำนวน 54 พันล้านบาท นักเก็งกำไรต่างชาติก็เริ่มโจมตีค่าเงินบาทอีกระลอกหนึ่ง ธปท. โดยฝ่ายการธนาคารจึงต้องเข้าแทรกแซงกดอัตราแลกเปลี่ยนลงเป็นลำดับ จนคืนสู่ระดับปกติเมื่อสิ้นวัน นอกจากนี้ฝ่ายการธนาคารยังได้เฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทจนกระทั่งปิดตลาดลอนดอน และต่อเนื่องไปจนถึงเที่ยงวันของตลาดนิวยอร์ก โดยเข้าไปแทรกแซงตามความจำเป็น ให้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ภายในกรอบของนโยบายตะกร้าเงิน เพื่อเรียกคืนความมั่นใจของนักลงทุน ธนาคารขายเงินเหรียญสหรัฐ/ซื้อเงินบาทในวันดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 1.49 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่นักเก็งกำไรยังโจมตีค่าเงินบาทอย่างหนักต่อไปอีก ในวันรุ่งขึ้น (31 มกราคม) ธนาคารจึงต้องแทรกแซงตลาดเพิ่มเติมเป็นจำนวน 2.21 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถึงกระนั้นก็ยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้ธนาคารพาณิชย์เข้าซื้อเงินตราต่างประเทศจากทุนรักษาระดับฯ จำนวน 1.11 พันล้านเหรียญสหรัฐได้ แต่สถานการณ์
ก็ได้คลี่คลายลงในช่วงสิ้นวัน

139. ในช่วง 3 สัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ ค่าเงินบาทยังถูกกดดันอย่างต่อเนื่องเพราะความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ความวิตกเกี่ยวกับความมั่นคงของสถาบันการเงิน และปัญหาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับข่าวลือลดค่าเงินบาทมีหนาหูขึ้นอีก นอกจากนี้ ค่าเงินเหรียญสหรัฐในต่างประเทศยังโน้มแข็งขึ้นมากมาสู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี และเมื่อบริษัทมูดีส์ประกาศในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ว่าจะพิจารณาทบทวนอันดับความเชื่อถือหนี้ระยะยาวของไทย นักเก็งกำไรต่างชาติก็ได้โหมซื้อเงินเหรียญสหรัฐ/ขายเงินบาทอีกครั้งหนึ่ง ธปท. ได้เข้าแทรกแซงเพื่อระงับความระส่ำระสายด้วยเงินจำนวน 1.07 พันล้านเหรียญสหรัฐ

140. สถานการณ์ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์เริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจาก ธปท. ออกแถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างหนักแน่น พร้อมแจงเหตุผลรายละเอียดที่ชัดเจนว่า จะไม่ใช้วิธีลดค่าเงินบาทเป็นทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างแน่นอนเนื่องจากจะเกิดผลเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง ประกอบกับมีข่าวดีเกี่ยวกับการรักษาวินัยทางการคลังของรัฐบาล โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ตัดงบประมาณรายจ่ายลงประมาณ 100 พันล้านบาท อีกทั้งมีประกาศมาตรการใหม่ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาหนี้เสียของสถาบันการเงินที่เกิดจากสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยการจัดตั้งองค์การของรัฐขึ้นเพื่อซื้อหนี้อสังหาริมทรัพย์ของสถาบันการเงิน ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อแนวทางของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสถาบันการเงินดังกล่าว ประกอบกับการที่เงินเหรียญสหรัฐเมื่อเทียบกับเงินสกุลสำคัญก็เริ่มโน้มอ่อนลงในช่วงปลายเดือน เป็นผลให้มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าตลอดสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ ทุนรักษาระดับฯ รับซื้อเงินตราต่างประเทศจากธนาคารพาณิชย์รวม 1.52 พันล้านเหรียญสหรัฐ

141. โดยสรุป ทุนรักษาระดับฯ และฝ่ายการธนาคารต้องใช้เงินสำรองระหว่างประเทศในการปกป้องค่าเงินบาทจากการโจมตีของนักเก็งกำไรต่างชาติในช่วงปลายเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2540 เป็นจำนวนสุทธิทั้งสิ้น 7.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ฐานะเงินสำรองทางการเมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ลดลงเหลือ 38.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ยอดคงค้างสัญญาขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าของธนาคารเพิ่มสูงขึ้นเป็น 12.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

142. ศปร. มีข้อสังเกตประการแรกว่าการปกป้องค่าเงินบาทในครั้งนี้แตกต่างจากการปกป้องเมื่อเดือนธันวาคม 2539 ตรงที่ว่า ในครั้งนี้ ฝ่ายการธนาคาร เป็นฝ่ายเข้าไปแทรกแซงโดยตรงในตลาดทั้งในและนอกประเทศ ไม่ปล่อยให้นักเก็งกำไรมาใช้ทุนรักษาระดับฯ แล้วไปทำธุรกรรม swap ลบล้างผลต่อสภาพคล่องของการซื้อขายโดยทุนรักษาระดับฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ สายวิชาการใน ธปท. จะไม่ทราบข้อมูลที่สมบูรณ์ แต่ในที่สุดรองผู้ว่าการชัยวัฒน์ ก็ได้รับทราบถึงสถานการณ์เกี่ยวกับเงินทุนสำรองสุทธิ

143. การโจมตีในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ เป็นการโจมตีที่รุนแรงที่สุดที่ ธปท. ต้องประสบ และได้ก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องการจัดการเงินทุนสำรอง สืบเนื่องจากบันทึกที่ 135/2540 จากหัวหน้าส่วนธุรกิจต่างประเทศ (นางนงเยาว์ คชวัตร) ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ถึงผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคาร (นายบัณฑิต นิจถาวร) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ในทุนสำรองทางการของ ธปท. ที่มีอยู่ 38.65 พันล้านเหรียญสหรัฐนั้น ถ้าหักภาระผูกพันตามสัญญา swap ภาระผูกพันอื่นๆ และถ้าหักเงินทุนสำรองเงินตรา (ส่วนที่ต้องกักไว้ไม่สามารถนำมาใช้ได้ตามพระราชบัญญัติเงินตรา) ออกแล้ว ธปท. จะมีเงินเหลือที่จะสามารถนำมาใช้แทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนได้ เพียง 5.28 พันล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น (ดูข้อ 102) และถ้าหักสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำบางรายการก็จะมียอดคงเหลือเพียง 3.93 พันล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น จากนั้นบันทึกดังกล่าวก็ได้เสนอแนวทางที่จะจัดการกับทรัพย์สินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับ ธปท. เพื่อจะได้นำไปใช้ในการปกป้องเงินบาทต่อไป

144. บันทึกดังกล่าวนี้ได้รับการส่งต่อตามสายบังคับบัญชาไปจนถึงผู้ว่าการเริงชัย และจากข้อเสนอของผู้ช่วยผู้ว่าการศิริ การเจริญดีได้แทงไว้ (“เรื่องนี้มีความสำคัญมากจำเป็นต้องมีการหารือเพื่อกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการ defend ค่าเงินบาทต่อไปอย่างเร่งด่วน” หมายเหตุแทงท้ายบันทึกที่อ้างถึงข้างต้นนี้ ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2540) จึงได้มีการประชุมหารือของคณะผู้บริหารชุดเล็กในวันที่ 4 มีนาคม การประชุมครั้งนั้น ประกอบด้วยผู้ว่าการเริงชัย รองผู้ว่าการชัยวัฒน์ ผู้ช่วยผู้ว่าการศิริ ผอ. ฝ่ายการธนาคาร บัณฑิต รองผอ. ฝ่ายการธนาคาร ธนศักดิ์ และหัวหน้าส่วนวิเคราะห์และธุรกิจตลาดเงิน ไพบูลย์ ผลของการประชุมครั้งนั้น ก็ได้ตกลงกันให้จัดลำดับในการ “ดำเนินการเพื่อเตรียมสภาพคล่องของเงินสำรองทางการ” ดังนี้

" 1 เรื่องที่สามารถดำเนินการภายในธนาคารได้เอง เป็นเรื่องที่จะดำเนินการก่อน

2 ธุรกรรมเสริมสภาพคล่องที่ธนาคารมีสัญญาอยู่แล้ว หรือมีช่องทางที่สามารถนำสินทรัพย์ของธนาคารเป็นหลักประกัน ในการเสริมสภาพคล่องโดยไม่เป็นที่ปรากฏ หรือเป็นที่สังเกตกับตลาด เป็นเรื่องที่จะดำเนินการในลำดับต่อมา

3 การกู้ยืมจากสถาบันภายนอกและอาจไม่สามารถเก็บเป็นความลับได้ ให้ใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย” (บันทึกที่ 150/2540 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2540 จากรองผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคาร (นายธนศักดิ์ จันทโรวาส) ถึงผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคาร (นายบัณฑิต นิจถาวร)"

145. การประชุมครั้งนี้ควรจะเปิดโอกาสให้มีการถกเถียงว่าควรหรือไม่ที่จะรักษา อัตราแลกเปลี่ยนในเมื่อได้สูญเสียเงินทุนสำรองสุทธิไปแล้วเป็นจำนวนมาก จน ธปท. แทบจะหมดสิ้นสภาพคล่องในการที่จะเข้าไปปกป้องค่าเงินบาทได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อรองผู้ว่าการชัยวัฒน์ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนได้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย และได้มีโอกาสรับทราบถึงผลการปกป้องค่าเงินบาทรอบสุดท้ายที่ผ่านมาต่อเงินทุนสำรองสุทธิ แต่ถ้ามีการถกเถียงเช่นว่านี้จริง ก็ไม่ปรากฏในบันทึกการประชุมครั้งนั้น

146. ข้อสังเกตประการที่สองก็คือ ในระยะนี้ ธปท. ยังพยายามรักษาเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.เงินตรา โดยมีเงินทุนสำรองสุทธิ (หลังจากหักภาระผูกพันตามสัญญา swap) เหลืออยู่มากกว่าเงินทุนสำรองเงินตราที่ ธปท. มีหน้าที่เพียงแต่เก็บเอาไว้ให้ตามนัยของมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว ถ้าหากการปกป้องค่าเงินบาทเป็นไปตามรูปแบบเดิม คือแทรกแซงแต่เฉพาะในตลาดทันทีและไม่ยอมใช้ธุรกรรม swap แล้ว ธปท. ก็จะเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ควรที่จะทบทวนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเสียใหม่ เพราะเงินทุนสำรองที่ ธปท. นำมาใช้ได้จริงๆ (เรียกกันใน ธปท. ว่า Free Reserves) มีจำนวนร่อยหรอลงไปมากแล้ว ในช่วงที่มีการโจมตีอย่างแรงในเดือนพฤษภาคม ความพยายามที่จะรักษาเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. เงินตรานั้นดูจะหายไปจากการพิจารณาของผู้บริหารระดับสูงของ ธปท.

147. ข้อสังเกตประการสุดท้ายก็คือ ผู้บริหารระดับสูงตระหนักดีว่า การโจมตีในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์นั้นมิได้เป็นการโจมตีครั้งสุดท้ายและคาดว่าจะเกิดขึ้นอีก ถึงได้เตรียมการจัดหาสภาพคล่องเพื่อไว้รับศึกเมื่อเกิดการโจมตีขึ้นจริง

148. ภาพที่ 12 แสดงเงินทุนสำรองทางการ (เส้นบน) เป็นรายเดือนนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2539 และแสดงภาระผูกพันล่วงหน้า (เส้นล่าง) ด้วยส่วนต่างระหว่างสองเส้นนี้คือเงินสำรองทางการสุทธิ จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าเงินทุนสำรองสุทธิจะได้ลดลงไปบ้างจากการโจมตีในเดือนธันวาคม 2539 ถึงกุมภาพันธ์ 2540 แต่ไทยก็ยังมีทุนสำรองเหลืออยู่บ้าง สถานการณ์จะเลวร้ายลงมากในเดือนพฤษภาคม


8-9 พฤษภาคม 2540

149. ภาวะตลาดเงินตราต่างประเทศในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ค่อนข้างสงบ ถึงแม้ว่าค่าเงินบาทจะได้รับแรงกดดันบ้างเป็นระยะๆ ในช่วงที่มีเหตุการณ์หรือข่าวลบเกิดขึ้น

150. ในช่วง 2 วันสุดท้ายของเดือนเมษายน ต่อเนื่องมาถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2540 เริ่มมีแรงซื้อ swap sell-buy ในตลาดอย่างเห็นได้ชัด กดดันให้ swap premium ปรับตัวจากระดับประมาณเหรียญสหรัฐ ละ 34 สตางค์ สำหรับระยะ 6 เดือนและ 69 สตางค์ สำหรับระยะ 1 ปี ในวันที่ 28 เมษายน สูงขึ้นมาถึง 40 สตางค์ และเกือบ 80 สตางค์ตามลำดับ ในวันที่ 8 พฤษภาคม ทั้งๆ ที่ ธปท. ได้พยายามชะลอการปรับตัวสูงขึ้นของอัตรา premium ด้วยการขาย swap buy–sell (คือสวนทางกับฝ่ายนักเก็งกำไร) ในตลาดติดต่อกันทุกวันระหว่างวันที่ 2-8 พฤษภาคม เป็นจำนวนรวม 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ การที่ธนาคารดำเนินการแทรกแซงตลาด swap ในระยะที่ผ่านมาไม่ให้อัตรา premium พุ่งสูงขึ้นจนเกินควรนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแรงกดดันต่ออัตราดอกเบี้ยในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจกับนักลงทุนที่มาลงทุนในตลาดเงินบาท เพราะถ้าปล่อยให้อัตรา premium (และอัตราดอกเบี้ย) พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ผู้ที่คิดจะนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศก็จะรีรอจนถึงจุดที่คิดว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดแล้ว ส่วนผู้ที่ลงทุนในเงินบาทอยู่ก่อนก็จะประสบผลขาดทุน และหากอัตรา premium พุ่งสูงขึ้นรุนแรงก็อาจถึงขั้นต้องตัดขาดทุน ถอนการลงทุนออกไปด้วยการซื้อเงินเหรียญสหรัฐ/ขายเงินบาท ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม หากอัตรา premium และอัตราดอกเบี้ยมีเสถียรภาพ และมีแนวโน้มลดลงช้าๆ ก็จะเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเร่งนำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดเงิน เป็นผลดีต่อค่าเงินบาท

151. นอกจากแรงซื้อ swap ในตลาดที่รุนแรงผิดปกติแล้ว ยังมีสัญญาณอื่นที่บ่งชี้ว่านักเก็งกำไรเตรียมโจมตีเงินบาทอีกรอบหนึ่ง ได้แก่ การปล่อยข่าวลือเป็นระลอกเกี่ยวกับการขยายช่วงห่างระหว่างอัตราการซื้อและขายของทุนรักษาระดับฯ การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบันซึ่งไม่เห็นด้วยกับนโยบายปรับค่าเงินบาท การทำลายความน่าเชื่อถือของทั้งกระทรวงการคลังและ ธปท. โดยการกระพือข่าวลือว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจดำเนินการเกี่ยวกับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแต่ผู้เดียวในเร็วๆ นี้ เป็นต้น เมื่อข่าวลือแพร่กระจายไปทั่วตลาด จนนักค้าเงินต่างพากันวิตกกังวล แล้วนักเก็งกำไรก็เริ่มดำเนินการโจมตีค่าเงินโดยซื้อเงินเหรียญสหรัฐ/ขายบาทในตลาดทันที พร้อมๆ กับการซื้อ swap (sell - buy) ควบคู่ไปด้วย นักเก็งกำไรจะได้ประโยชน์จากธุรกรรมดังกล่าวหากสามารถผลักดันให้อัตราแลกเปลี่ยนเหรียญสหรัฐ/บาท ในตลาดทันทีสูงขึ้น (เงินบาทอ่อนลง) จากระดับปกติ และ/หรือดันให้อัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (swap premium/อัตราดอกเบี้ยเงินบาท) สูงขึ้น ทั้งนี้ผู้โจมตีค่าเงินบาทจะได้กำไรมหาศาลหากสามารถบีบบังคับให้ทางการไทยจำต้องลดค่าเงินบาทในที่สุด ในทางตรงข้ามหากนักเก็งกำไรไม่สามารถผลักดันอัตราแลกเปลี่ยนทั้งในตลาดทันทีหรือตลาดล่วงหน้าให้สูงขึ้นได้ ก็ต้องประสบกับผลการขาดทุนเพราะเท่ากับกู้บาทมาถือเงินเหรียญสหรัฐ ซึ่งผลตอบแทนดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุนอัตราดอกเบี้ยเงินบาทที่เสียไป ดังนั้นกลยุทธ์ที่ ธปท. ใช้เพื่อปกป้องค่าเงินบาทก็คือ พยายามต้านทานแรงซื้อเงินเหรียญสหรัฐ/ขายเงินบาทในตลาดทันที ด้วยการขายเงินเหรียญสหรัฐ/ซื้อเงินบาทในจำนวนที่เพียงพอที่จะไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนพุ่งสูงขึ้น เช่นเดียวกับการดำเนินการในตลาด swap ทั้งนี้เพราะหากปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนทันทีและอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าพุ่งสูงเกินไปแล้ว ก็ยิ่งจะสร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุนทั่วไปรวมทั้งธุรกิจเอกชนในประเทศ ถ้าหากบุคคลเหล่านี้สูญเสียความเชื่อมั่นในระบบอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศ ก็จะเข้ามาซื้อเงินเหรียญสหรัฐ/ขายเงินบาทเพื่อจำกัดผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนของตน ซึ่งยิ่งสร้างแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยนให้มีมากขึ้นอีก ดังนั้นการแทรกแซงตลาดของ ธปท. จึงต้องใช้ความเด็ดขาด ตัดไฟแต่ต้นลม และดำเนินการในจำนวนมากพอที่จะป้องกันไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนพุ่งสูงขึ้นจากระดับปกติจนทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วไป

152. ในครั้งนี้นักเก็งกำไรเลือกโจมตีค่าเงินบาทในช่วงหลังตลาดกรุงเทพฯ ปิดแล้วในคืนวันที่ 8 พฤษภาคม โดยเริ่มโหมซื้อเงินเหรียญสหรัฐ/ขายเงินบาท จำนวนมากในตลาดลอนดอน จนทำให้อัตราแลกเปลี่ยนทันทีพุ่งสูงกว่าอัตรากลางของทุนรักษาระดับฯ ประมาณ 10-12 สตางค์ และได้ดำเนินการต่อในตลาดนิวยอร์กด้วย ซึ่งก็สามารถสร้างความตื่นตระหนกให้กับนักค้าเงินและผู้ลงทุนทั่วไป ความกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยนเริ่มต้นอีกครั้งเมื่อตลาดเอเชียเปิดในเช้าวันที่ 9 พฤษภาคม โดยเริ่มจากอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงกว่าอัตรากลางประมาณ 4-5 สตางค์ เมื่อเวลา 7.00 น. เวลากรุงเทพฯ จนขยับสูงขึ้นเป็น 9-10 สตางค์ในอีกครึ่งชั่วโมงต่อมา ธนาคารจึงได้เข้าแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศทั้งในสิงคโปร์และฮ่องกง เพื่อควบคุมความระส่ำระสายในตลาดและผลักดันให้อัตราแลกเปลี่ยนทั้งในตลาดทันทีและตลาดล่วงหน้ากลับคืนใกล้เคียงระดับปกติ โดยดำเนินการในตลาดเอเชีย ลอนดอน และนิวยอร์กอย่างไรก็ดีเพื่อเป็นการประหยัดเงินสำรองทางการ การดำเนินการแทรกแซงของธนาคารในตลาดลอนดอน และตลาดนิวยอร์กจึงเป็นเพียงเพื่อป้องกันไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนพุ่งสูงขึ้นจนเกิดความผันผวนรุนแรงเท่านั้น มิได้พยายามกดดันอย่างหนักแน่นให้อัตราแลกเปลี่ยนกลับสู่ระดับที่ถือว่าปกติ ดังนั้นอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อตลาดนิวยอร์กปิดในวันที่ 9 พฤษภาคม จึงยังสูงกว่าอัตรากลางของทุนรักษาระดับฯ ประมาณ 5-6 สตางค์

153. การโจมตีของนักเก็งกำไรในครั้งนี้รุนแรงมาก ธนาคารต้องใช้เงินสำรองทางการในวันเดียวเพื่อป้องกันค่าเงินบาทในตลาดทันทีเป็นจำนวนถึง 6.08 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ส่วนใหญ่ดำเนินการช่วงก่อนเที่ยงวันเวลากรุงเทพฯ) แต่ก็ทำให้สามารถรักษาเสถียรภาพของตลาดเงินตราต่างประเทศได้ค่อนข้างดี ธนาคารพาณิชย์เข้ามาซื้อเงินตราต่างประเทศจากทุนรักษาระดับฯ เพียง 105 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่อัตรา swap premium และอัตราดอกเบี้ยในประเทศก็มิได้ปรับตัวสูงขึ้นเท่าใดนัก เนื่องจากการที่ธนาคารเข้าแทรกแซงตลาดล่วงหน้าด้วย swap (buy-sell) วันเดียวเป็นจำนวนทั้งสิ้น 3.94 พันล้านเหรียญสหรัฐ ฐานะการซื้อขายเงินตราต่างประเทศของธนาคารทุกหน้าต่างรวมกันตั้งแต่สิ้นเดือนเมษายนจนถึงสิ้นวันที่ 9 พฤษภาคม จึงติดลบเพียง 0.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ทุนสำรองทางการมีจำนวน 36.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่เมื่อหักยอดคงค้างสุทธิการขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าของธนาคารซึ่งเพิ่มสูงขึ้นเป็น 18.86 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทุนสำรองทางการสุทธิจึงเท่ากับ 17.74 พันล้านเหรียญสหรัฐ

154. ในวันที่ 9 พฤษภาคม หัวหน้าส่วนวิเคราะห์และธุรกิจตลาดเงิน (นายไพบูลย์ กิตติศรีสังวาน) ได้ทำบันทึก (ที่ 470/2540) ถึงผู้อำนวยการ ฝ่ายการธนาคารเพื่อขออนุมัติธุรกรรมการแทรกแซงที่ได้ดำเนินการไปในวันที่ 8 พฤษภาคม และก็ได้มีการส่งต่อบันทึกนี้ไปตามลำดับสายงาน ผ่านผู้ช่วยผู้ว่าการศิริ ถึงผู้ว่าการเริงชัย ซึ่งได้แทงท้ายบันทึกหลังจากอนุมัติไว้ดังนี้

"ความจำเป็นที่จะต้อง defend บาทนั้น ได้หารือกับผู้บริหารอันประกอบด้วยท่านรองฯ ชัยวัฒน์ ผู้ช่วยฯ ศิริ ผอฝ.การธนาคาร (คุณบัณฑิต) ฯลฯ แล้ว มีความจำเป็นอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง และได้นำเรียนให้ท่าน รมว. คลังทราบแล้วด้วย”

155. หลังจากนั้น ก็มีการแทงหมายเหตุจากผู้ว่าการเริงชัยอยู่ทุกวันจนกระทั่งถึงวันที่ 15 พฤษภาคม ว่าได้รายงานเรื่องการแทรกแซงให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และบางครั้งก็ได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีอีกด้วย แต่ไม่มีหลักฐานแต่ประการใดว่าผู้ว่าการเริงชัยได้รายงานขนาดของธุรกรรมแต่ละครั้งให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ศปร. จะหันมาพิจารณาเรื่องความรู้เกี่ยวกับภาระผูกพันล่วงหน้าของรองนายกฯ อำนวย และของรองผู้ว่าการชัยวัฒน์ อย่างละเอียดในข้อ 186-196


วันที่ 10-12 พฤษภาคม 2540

156. วันที่ 10-11 พฤษภาคมเป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์ และเป็นช่วงที่รองนายกฯ อำนวยเดินทางไปประชุมที่ญี่ปุน ผู้ว่าการเริงชัยได้รายงานสถานการณ์ให้รองนายกฯ อำนวยทราบตั้งแต่คืนวันที่ 9 พฤษภาคม ก่อนจะเดินทาง เมื่อผู้ว่าการรายงานให้รองนายกฯ ก็ได้รับมอบหมายให้ไปรายงานให้นายกรัฐมนตรี (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) ทราบโดยตรง ซึ่งผู้ว่าการก็ได้รายงานให้ทราบเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ในคืนนั้นนายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันต่อสื่อมวลชนว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทและจะไม่เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการรายงานทั้งสองครั้ง ไม่ปรากฏว่า ทั้งรองนายกฯ และนายกฯ ได้ทราบถึงสภาพที่แท้จริงของทุนสำรองสุทธิ เฉพาะในกรณีของรองนายกฯ อำนวยนั้น มีหลักฐานและเหตุผลที่ทำให้ ศปร.เชื่อว่าในช่วงนี้ ผู้ว่าการ ธปท. มิได้รายงานข้อเท็จจริงให้ทราบโดยสมบูรณ์

157. ในช่วงวันหยุดสองวัน (วันที่ 10 และ 11 พฤษภาคม) นายบัณฑิต นิจถาวร ผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคาร และเจ้าหน้าที่ภายในฝ่ายได้ใช้เวลาเตรียม บันทึกที่ 355/2540 ถึงผู้ช่วยผู้ว่าการศิริ การเจริญดี ลงวันที่ 12 พฤษภาคม ลำดับเหตุการณ์เกี่ยวกับการโจมตีทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มมีการโจมตีค่าเงินบาทในเดือนธันวาคม 2539 โดยได้รายงานไว้อย่างละเอียด (ในส่วนที่เป็นการลำดับเหตุการณ์ดังกล่าว ศปร. ได้คัดลอกจากบันทึกฉบับนี้มานำเสนอเกือบจะคำต่อคำ อย่างไรก็ตาม ศปร. ได้แนบบันทึกของฝ่ายการธนาคารนี้ไว้ในภาคผนวกของรายงานนี้) และมีข้อมูลเกี่ยวกับทุนสำรองสุทธิอีกด้วย บันทึกดังกล่าวได้เสนอแนวนโยบายดังต่อไปนี้

"สำหรับแนวนโยบายการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทในระยะต่อไปนั้น ฝ่ายการธนาคารขอเรียนเสนอว่า ภายใต้นโยบายระบบอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน ในระหว่างที่ปัญหาพื้นฐานต่างกำลังได้รับการดูแลแก้ไขอยู่นั้น ธนาคารยังคงต้องดำเนินการแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศต่อไปเพื่อรักษาความมั่นใจในระบบอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศเช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี จากที่การโจมตีค่าเงินบาทมีความรุนแรงขึ้น และสถานการณ์ล่าสุดได้ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อเงินสำรองทางการเพื่อดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทในระดับที่เพิ่มสูงขึ้นมาก จนปัจจุบันฐานะทุนสำรองทางการสุทธิได้ลดลงต่ำกว่าที่จะต้องใช้ในการหนุนหลังธนบัตรออกใช้เล็กน้อยแล้ว จึงมีความจำเป็นที่ธนาคารจะต้องพิจารณา ขีดจำกัดในการเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท ว่าจะมีขอบเขตสูงสุดได้เท่าใดจึงจะถึงจุดที่จะต้องพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน ฝ่ายการธนาคารขอเรียนเสนอว่า ก่อนทื่ทุนสำรองทางการสุทธิ (ฐานะเงินสำรองทางการหักด้วยยอดการขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า) จะลดลงไปเป็นศูนย์ ธนาคารควรจะต้องมีการพิจารณาความเหมาะสมของระบบอัตราแลกเปลี่ยนตะกร้าเงิน และทบทวนแนวทางการรักษาเสถียรภาพเงินบาทอย่างจริงจัง พร้อมกับธนาคารควรเร่งดำเนินการหาช่องทางระดมเงินตราต่างประเทศเพื่อใช้ในการรักษาเสถียรภาพเงินบาทเพิ่มเติมเช่นการทำ swap กับธนาคารกลางอื่น หรือการกู้เงินจากตลาดโดยตรงด้วย เพื่อเตรียมทรัพยากรการเงินไว้ใช้ในยามฉุกเฉินโดยเฉพาะ” (ในต้นฉบับไม่ได้เอียงตัวอักษร)

158. บันทึกฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่ระบุลงไปอย่างชัดเจนว่า นโยบายระบบอัตราแลกเปลี่ยนเดิมนั้นใกล้จุดจบแล้ว และควรมีการทบทวนว่านโยบายที่ฝ่ายการธนาคารได้ทุ่มเททรัพยากรของประเทศเพื่อปกป้องมาโดยตลอดนั้นเหมาะสมต่อไปอีกหรือไม่ ขณะเดียวกัน บันทึกฉบับนี้เป็นฉบับสุดท้าย (ที่ ศปร. เห็น) ที่ระบุว่าบัดนี้เงินทุนสำรองสุทธิได้ลงไปต่ำกว่าเงินทุนสำรองเงินตราแล้ว เท่ากับว่าบัดนี้เงินทุนสำรองเงินตราที่มีอยู่มิได้เป็นเงินทุนสำรองของประเทศอย่างแท้จริงทั้งหมด แต่เป็นเงินที่มีภาระผูกพันอย่างชัดเจน ที่เป็นเรื่องน่าวิตกก็คือ ภาระผูกพันดังกล่าวอาจไม่ได้รับการต่อสัญญาต่อไป ถ้าไม่มีการต่อสัญญา ธปท. ก็จำต้องอยู่ในสภาวะที่ต้องละเมิดสัญญา swap หรือละเมิด พ.ร.บ. เงินตรา พฤติกรรมแบบนี้มิได้เป็นพฤติกรรมที่ธนาคารกลางที่รอบคอบจะพึงกระทำ

159. ผู้ช่วยผู้ว่าการศิริ ได้เสนอความเห็นท้ายบันทึกฉบับนี้ก่อนส่งต่อไปให้ผู้ว่าการเริงชัยในวันเดียวกันว่า

"เพื่อโปรดทราบสถานการณ์และผลของการแทรกแซงในตลาดเงินตรา ตปท. ของธนาคาร และข้อสังเกตของฝ่ายการธนาคารเกี่ยวกับแนวนโยบายของการแทรกแซงในระยะต่อไป ผมเห็นว่าธนาคารจะต้องมีการประเมินอย่างจริงจังว่า การใช้แนวนโยบายที่เคยกระทำมา จะมีโอกาสสำเร็จหรือไม่มากน้อยเพียงไร ภายใต้สภาพเศรษฐกิจและการเงินในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อลดความสูญเสียที่พึงจะเกิดขึ้นให้เหลือน้อยที่สุด”

160. ผู้ว่าการเริงชัยมิได้ดำเนินการเองตามที่ผู้ช่วยผู้ว่าการศิริเสนอ แต่ส่งบันทึกฉบับนี้ต่อไปให้รองผู้ว่าการชัยวัฒน์ ในวันเดียวกัน โดยแทงไปด้วยว่า

"เพื่อทราบด่วนเพราะเกี่ยวกับ EEF และขอให้จัดทำบันทึกเสนอต่อท่านรัฐมนตรีในฐานะ ประธานกรรมการ
EEF และในฐานะ รมว. คลังเพื่อพิจารณาแนวนโยบายที่ควรดำเนินการ ต่อไป”

161. บันทึกท้ายฉบับของผู้ว่าการเริงชัยนั้นเป็นบันทึกที่คลุมเครืออย่างยิ่ง โดยเฉพาะในส่วนหลัง คือการสั่งการให้รองผู้ว่าการชัยวัฒน์จัดทำบันทึกเสนอต่อ นายอำนวย วีรวรรณ ในฐานะรัฐมนตรี และในฐานะประธานกรรมการทุนรักษาระดับฯ (EEF) เพื่อพิจารณาแนวนโยบาย ประเด็นที่น่าสังเกตมีอยู่หลายประการคือ

  1. การที่ผู้ว่าการจะสั่งให้รองผู้ว่าการจัดทำบันทึกให้แก่รัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแนวนโยบายนั้น หมายความว่า ผู้ว่าการและรองผู้ว่าการนั้นได้พูดจาตกลงกันแล้วว่าแนวนโยบายที่จะเสนอนั้นควรจะมีอะไรบ้าง รองผู้ว่าการจึงจะได้ทำบันทึกได้ตามแนวที่เป็นที่ยอมรับของผู้บริหารสูงสุดของธนาคาร ในคำชี้แจงทั้งหมดของนายชัยวัฒน์และนายเริงชัยต่อ ศปร. ก็มิได้ระบุว่ามีการปรึกษาหารือตกลงกันในแนวนโยบายหลังจากได้บันทึกนี้ ดังนั้นถ้ายังไม่ได้มีการปรึกษาหารือกัน ก็ควรจะรีบปรึกษาหารือกัน และร่วมกันพิจารณาแนวนโยบายโดยเร่งด่วน ถ้าเช่นนั้นอาจเป็นได้ว่า ผู้ว่าการเริงชัยต้องการให้รองผู้ว่าการเสนอทางเลือกต่างๆ แต่บันทึกก็มิได้สะท้อนความต้องการดังกล่าว

  2. การดึงเอาเรื่องทุนรักษาระดับฯ มาเกี่ยวข้องด้วยก็เป็นของที่ประหลาด เพราะเหตุการณ์ที่กล่าวถึงในบันทึกของฝ่ายการธนาคารมีส่วนกระทบต่อทุนรักษาระดับฯ น้อย และส่วนที่กระทบก็เป็นเรื่องที่ผู้จัดการทุนรักษาระดับฯ ทราบดีอยู่แล้ว ในทางกฎหมายและในด้านนโยบายนั้น ทั้งประธานทุนรักษาระดับฯ (รมว. กระทรวงการคลังจะเป็นโดยตำแหน่ง) และผู้จัดการทุนรักษาระดับฯ ไม่มีบทบาทอย่างใด ในช่วงนั้นการแทรกแซงส่วนใหญ่ ฝ่ายการธนาคารเป็นผู้ดำเนินการ ถ้านายเริงชัยต้องการจะสื่อความหมายให้นายชัยวัฒน์พิจารณาอัตราแลกเปลี่ยนหรือระบบอัตราแลกเปลี่ยน (เช่นการขยายช่วงอัตราแลกเปลี่ยน) ทุนรักษาระดับฯ ก็มิได้เป็นเวที จริงอยู่ ในอดีต ผู้จัดการทุนรักษาระดับฯ เป็นผู้มีบทบาทสูงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเป็นหน้าด่านที่ทราบถึงสถานการณ์ในตลาดเป็นอย่างดี (ดูข้อ 98) แต่ในปี 2540 นั้นแกนนำในการแทรกแซงในตลาดเงินระหว่างประเทศนั้นกลับกลายเป็นฝ่ายการธนาคาร และฝ่ายการธนาคารก็ได้เสนอบันทึกแสดงจุดยืนทางนโยบายอย่างโจ่งแจ้งและเพียงพอที่จะให้ผู้ว่าการตัดสินใจได้โดยตรงอยู่แล้ว และถ้าผู้ว่าการต้องการให้ดำเนินตามแนวนโยบายที่ฝ่ายการธนาคารเสนอมา ก็มีอำนาจทางกฎหมายอยู่แล้วที่จะนำเรื่องเสนอรัฐมนตรีโดยตรง

  3. ขณะเดียวกัน การที่ให้นายชัยวัฒน์ซึ่งเป็นผู้จัดการทุนรักษาระดับฯ ทำบันทึกถึงประธานทุนรักษาระดับฯ อาจหมายความด้วยว่าต้องการให้นายชัยวัฒน์เสนอแนวนโยบายตามที่ฝ่ายการธนาคารเสนอมา (กล่าวคือทบทวนระบบอัตราแลกเปลี่ยน) โดยตรงต่อนายอำนวย วีรวรรณ เพื่อให้นายชัยวัฒน์ร่วมรับผิดชอบในการตัดสินใจที่ย่อมจะมีผลกระทบทางการเมืองที่รุนแรง

162. ไม่ว่าผู้ว่าการเริงชัยจะมีเจตนาอะไรในการแทงบันทึกไปยังรองผู้ว่าการชัยวัฒน์ ปฏิกิริยาของรองผู้ว่าการชัยวัฒน์ก็เป็นที่น่าสังเกตไม่น้อยไปกว่ากัน รองผู้ว่าการชัยวัฒน์มิได้ตอบสนองต่อบันทึกฉบับนี้จนกระทั่งอีกกว่าหนึ่งเดือนต่อมา คือจนกระทั่งวันที่ 18 มิถุนายน โดยรองผู้ว่าการชัยวัฒน์ได้บันทึกท้ายฉบับไว้ว่า

"ในเรื่องการหาแนวทางดำเนินการที่เหมาะสมสำหรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนในระยะข้างหน้านั้น ขอให้โปรดช่วยกันทบทวนแนวคิดและทางเลือกต่างๆ ซึ่งมีการหารือกันแล้วเป็นระยะๆ และเมื่อมีโอกาสให้ท่านผู้ว่าการได้ตัดสินในเรื่องนโยบายแล้ว จึงค่อยเสนอท่าน รมต. คลังอย่างเป็นทางการ (แต่ทั้งนี้ก็มีการหารือกับท่านรมต. เป็นระยะๆ อยู่แล้ว)”

พฤติกรรมตรงจุดนี้ของรองผู้ว่าการชัยวัฒน์ก่อให้เกิดคำถามได้ว่า เพราะเหตุใดท่านถึงชะลอการตอบบันทึกฉบับนี้ไปถึงกว่าหนึ่งเดือน ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องด่วนมาก

163. คำชี้แจงที่นายชัยวัฒน์ให้กับ ศปร. ในเรื่องนี้มีดังนี้

"ที่มิได้ดำเนินการทันทีเพราะเมื่อได้รับบันทึก ก็เป็นช่วงที่ผู้จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยกันพิจารณาเรื่องนี้ ต่างก็ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ค่าเงินบาทกำลังถูกโจมตีอย่างรุนแรง และเมื่อเรื่องยุติก็มีการรายงานด้วยวาจาให้ท่านรัฐมนตรีทราบทันที และหลังจากนั้นก็มีการหารือภายในกันหลายครั้ง เพื่อพิจารณาถึงแนวทางขั้นต่อไป แต่ยังไม่มีการตัดสินใจโดยผู้ว่าการ และมีการหารือร่วมกับรัฐมนตรีอำนวยเป็นระยะแล้ว ดังนั้น จึงไม่ได้ส่งเรื่องต่อให้ช่วยกันทำบันทึก จนเมื่อมีแนวคิดที่ชัดเจน (และในการส่งเรื่องต่อก็ได้ระบุประเด็นเหล่านี้ไว้)”

164. เหตุผลที่รองผู้ว่าการชัยวัฒน์ให้ในการไม่รีบตอบบันทึกนั้นสอดคล้องกับข้อเท็จจริงอื่นๆ ที่ ศปร. ได้มา และในช่วงสามสี่วันต่อจากนั้น ทางฝ่ายบริหารระดับสูงก็ได้มีการประชุมปรึกษาหารือกันอยู่ทุกวัน บางวันก็ประชุม 2 ครั้ง เพื่อรับมือกับการโจมตีค่าเงินบาทในระยะนั้น เพราะฉะนั้น โอกาสที่ผู้ว่าการเริงชัย รองผู้ว่าการชัยวัฒน์ ผู้ช่วยผู้ว่าการศิริ และ ผอ. ฝ่ายฯ บัณฑิตจะปรึกษาหารือกันก็ย่อมมีอยู่ แม้ว่าในตอนนั้นบรรยากาศใน ธปท. ได้เปลี่ยนไปอย่างมาก อย่างไรก็ตามในเย็นวันที่ 14 พฤษภาคม ในการหารือของผู้บริหารระดับสูง (ที่มีทั้งผู้ว่าการเริงชัยและรองผู้ว่าการชัยวัฒน์ ร่วมอยู่ด้วย) ก็ได้ตกลงกันที่จะให้มีการศึกษาทางเลือกในการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน (ดูข้อ 181)

165. แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือในวันที่ 12 พฤษภาคม รองผู้ว่าการชัยวัฒน์ทราบระดับการสูญเสียของเงินทุนสำรองสุทธิและภาวะการณ์ในตลาด ที่นำมาถึงจุดนั้น และเมื่อได้รับเรื่องก็มิได้รีบจัดทำบันทึกในการปรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนตามที่ฝ่ายการธนาคารได้เสนอไว้ในบันทึก เท่ากับเป็นการตัดสินใจ
ในส่วนของรองผู้ว่าการชัยวัฒน์ ว่ายังไม่ควรปรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนในตอนนั้น และเหตุผลที่ท่านตัดสินใจเช่นนั้นในช่วงนั้นก็เห็นได้ชัดจากคำชี้แจงนี้ (“เป็นช่วงที่ผู้จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยกันพิจารณาเรื่องนี้ ต่างก็ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ค่าเงินบาทกำลังถูกโจมตีอย่างรุนแรง และเมื่อเรื่องยุติ ก็มีการรายงานด้วยวาจาให้ท่านรัฐมนตรีทราบ”) คือ ไม่เหมาะที่จะปรับนโยบายระหว่างที่มีการโจมตี ต้องรอให้เรื่องยุติเสียก่อน

166. ถ้าผู้ว่าการเริงชัยเห็นว่าการโจมตีค่าเงินบาทกำลังก่อความเสียหายมากมายอย่างชัดแจ้งเช่นนี้ ไม่ควรปกป้องค่าเงินบาทอีกต่อไป เมื่อขอคำปรึกษาหารือจากรองผู้ว่าการชัยวัฒน์แล้ว และถ้ารองผู้ว่าการไม่มีปฏิกิริยากลับมา ก็เป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องตัดสินใจเอง หน้าที่ดังกล่าว ไม่มีผู้นำคนใดหลีกเลี่ยงได้ และต่อมาก็จะเห็นได้ว่า ด้วยคำปรึกษาของผู้บริหารระดับสูง (รวมทั้งรองผู้ว่าการชัยวัฒน์) ผู้ว่าการเริงชัยก็สั่งการให้สู้ต่ออย่างไม่ลดละ

167. สรุปเหตุการณ์ที่สำคัญครั้งนี้ได้ดังนี้ ฝ่ายการธนาคารซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติการส่งคำถามเชิงนโยบายมายังผู้ว่าการว่าจะให้ปกป้องค่าเงินบาทต่อไปหรือไม่ผ่านผู้ช่วยผู้ว่าการศิริ แต่ผู้ว่าการเริงชัยตัดสินใจส่งลูกต่อไปให้รองผู้ว่าการ และรองผู้ว่าการก็ตัดสินใจที่ไม่ยอมรับลูก เมื่อเป็นเช่นนี้ ฝ่ายการธนาคารก็ไม่มีทางเลือกนอกจากตั้งหน้าตั้งตาดำเนินการตามนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเดิมต่อไป ถึงแม้ว่าการดำเนินตามนโยบายนี้จะนำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงมาสู่ประเทศชาติภายในไม่กี่วันต่อมา


วันที่ 12-15 พฤษภาคม 2540

168. ระหว่างที่ผู้บริหารระดับสูงไม่ยอมตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับระดับอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนักเก็งกำไรจะไม่รามือจากการโจมตีค่าเงินบาทแล้ว ยังกลับมาโจมตีต่อด้วยความรุนแรงหนักเข้าไปอีก ในช่วงนี้บรรยากาศภายใน ธปท. ได้แปรเปลี่ยนไปเป็นบรรยากาศของการทำสงครามและจิตวิทยาของผู้บริหารได้กลายเป็นจิตวิทยาสนามรบ นักเก็งกำไรได้กลายเป็นศัตรู มิได้เป็นคู่ค้า เป้าหมายของนโยบายได้แปรเปลี่ยนไปเป็นเป้าหมายในการเอาชนะศัตรูให้จงได้ บรรยากาศดังกล่าวนี้เห็นได้ชัดจากการอ่านเอกสารในช่วงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 14 พฤษภาคม

169. ระหว่างวันที่ 13-15 พฤษภาคมนั้นมีการหารือกันบ่อยครั้งในระหว่างผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. และเป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงนี้จะมีการบันทึกการหารือกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่างจากที่เคยปฏิบัติกันมา

170. ในวันที่ 12 พฤษภาคม ถึงแม้ว่ายังมีแรงซื้อในตลาดทันที และในตลาด swap มาก แต่ก็ยังไม่แรงนัก อาจเป็นเพราะกลางวันของวันที่ 12 ในกรุงเทพฯ ยังเป็นคืนวันอาทิตย์ที่ตลาดนิวยอร์ก ฝ่ายการธนาคารจึงไม่ได้เข้าแทรกแซง ปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์มาซื้อเงินเหรียญสหรัฐจากทุนรักษาระดับฯ สูงถึง 881.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นจำนวนสูงมากสำหรับทุนรักษาระดับฯ แต่ไม่สูงเท่าใดหากเทียบกับการแทรกแซงของฝ่ายการธนาคารในวันที่ 8 และ 9 พฤษภาคมและวันต่อๆ มา เป็นที่น่าสังเกตว่าฝ่ายการธนาคารมิได้แทรกแซงเลยในวันนี้ ทั้งๆ ที่อัตราแลกเปลี่ยนสูงขึ้นเป็น 25.915 บาท/เหรียญสหรัฐ สูงกว่าราคากลางที่ทุนรักษาระดับฯ ประกาศ (25.85 บาท) (ข้อมูลในวรรคนี้ได้มาจากบันทึกที่ 379/2540 จากผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคาร (นายบัณฑิต นิจถาวร) ถึง ผู้ช่วยผู้ว่าการศิริ การเจริญดี ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2540)

171. ในเช้าวันที่ 131 [บันทึกช่วยจำการหารือในครั้งนี้ (บันทึกโดยนายบัณฑิต นิจถาวร) ลงวันที่ 13 พฤษภาคม ระบุว่าเป็น "เช้าวานนี้" คือ วันที่ 12 แต่จากตัวเอกสารทำให้สรุปได้ว่าเป็นการประชุมในวันที่ 13] ได้มีการหารือกันระหว่างผู้ว่าการเริงชัย รองผู้ว่าการชัยวัฒน์ ผู้ช่วยผู้ว่าการศิริ และ ผู้ช่วยผู้ว่าการธัญญา ผอ. ฝ่ายฯ บัณฑิต และ หัวหน้าส่วนฯ ไพบูลย์ ที่ประชุมได้ตกลงให้ฝ่ายการธนาคารเข้าแทรกแซงเป็นสองรอบ รอบแรกให้จำกัดวงเงินประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อทดสอบดูว่ามีแรงต้านมากน้อยขนาดไหน และรอบที่สองให้แทรกแซงเพื่อลดอัตราขายในตลาดไม่ให้ห่างจากอัตราขายของทุนรักษาระดับฯ มากนัก นอกจากนี้ในรอบที่สองให้ขอความช่วยเหลือจากธนาคารกลางฮ่องกงตามข้อตกลงที่มีอยู่ด้วย เพื่อเป็นการแสดงน้ำหนักของการแทรกแซงให้มีมากขึ้นปรามนักเก็งกำไร และให้ความมั่นใจแก่นักลงทุน (บันทึกช่วยจำการประชุมหารือ นายบัณฑิต นิจถาวร ผู้จดบันทึก ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2540) ในการแทรกแซงนี้ ธนาคารกลางฮ่องกงเป็นแต่ตัวแทนของ ธปท. ในตลาดฮ่องกง

172. ผลปรากฏว่าการแทรกแซงในตอนเช้าก็มีผลทำให้อัตราแลกเปลี่ยนลงมา แต่พอตอนบ่ายก็กลับสูงขึ้นอีก จำเป็นที่ธนาคารกลางฮ่องกงต้องเข้ามาแทรกแซงเป็นเงินจำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ข้อสรุปของฝ่ายการธนาคารก็คือ “ตลาดยังไม่กลัว”

173. ในวันนี้ทุนรักษาระดับฯ ขายเหรียญสหรัฐ 688.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ฝ่ายการธนาคารแทรกแซงในตลาดทันที 2.74 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนตลาดล่วงหน้า 870 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาด swap อีก 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ระดับการแทรกแซงนี้อยู่ในระดับสูงมาก สูงกว่าในวันที่ 8 และ 9 พฤษภาคม

174. ในค่ำวันที่ 13 พฤษภาคม ผอ. ฝ่ายฯ บัณฑิต ได้ร่วมหารือกับ รอง ผอ. ประไพ และหัวหน้าส่วนฯ ไพบูลย์ เพื่อประเมินสถานการณ์ ข้อสรุปสำคัญก็คือ “สถานการณ์ปัจจุบันน่าห่วงใยมากและเข้าขั้นวิกฤต จากที่การโจมตีเงินบาทครั้งนี้เป็นการกระทำที่จงใจจะให้ประสบผลสำเร็จโดยเร็ว โดยมี scale ของการ take position ที่สูงมาก เพื่อหวังจะ break ระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้ทางการลดค่าเงิน เพื่อการเก็งกำไร โดยอาศัยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของประเทศ บวกกับการปล่อยข่าวลือเกี่ยวกับความแตกแยกทางการเมือง และการเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน” (บันทึกช่วยจำการหารือ เช้าวันที่ 14 พฤษภาคม 2540 ของผู้บริหารระดับสูง จดบันทึกโดยนายบัณฑิต นิจถาวร ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2540)

175. วันที่ 14 พฤษภาคม 2540 คงเป็นวันที่ผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. จะไม่มีวันลืม ในตอนเช้าผู้บริหารระดับสูง (ชุดเดียวกันกับชุดวันที่ 13 และได้เพิ่มนางสาวประไพ สุวรรณรัฐ (รองผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคาร) เข้าร่วมด้วย) ประชุมหารือกัน ก่อนเข้าประชุมในตอนเช้า ผอ. ฝ่ายฯ บัณฑิตเริ่มเห็นสัญญาณเตือนภัยจากการเคลื่อนไหวในตลาดแล้ว ตามคำชี้แจงของนายเริงชัยที่ได้ให้กับ ศปร. “ทุกคนตื่นตระหนก และบางคนแทบจะร้องไห้ … [ผอ. ฝ่ายฯ บัณฑิต] ได้รายงานสถานการณ์และให้ความเห็นว่า การกระทำของ Hedge Fund ทั้งหลายเป็นการรังแกประเทศไทยในขณะที่เรากำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาตามขั้นตอนที่กำหนดไว้”

176. ผอ.ฝ่ายฯ บัณฑิตได้เสนอแนวทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าดังต่อไปนี้

ทางเลือกที่ 1 ฝ่ายการธนาคารจะเลิกแทรกแซง และให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาซื้อขายกับทุนรักษาระดับฯ ตามอัตราและเวลาที่กำหนด “วิธีนี้จะมีผลให้ตลาดและนักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเพราะธนาคารพาณิชย์ต้องหาเงินบาทมาซื้อดอลลาร์ สรอ. มีผลกระทบต่อสถาบันการเงินและทุนรักษาระดับฯ คงจะต้องขายดอลลาร์ สรอ. จำนวนมาก กระทบต่อปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศ” (บันทึกช่วยจำการหารือ เช้าวันที่ 14 จดบันทึกโดยนางสาวประไพ สุวรรณรัฐ ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2540)

ทางเลือกที่ 2 ฝ่ายการธนาคารแทรกแซงทั้งในและนอกประเทศ “วิธีนี้จะทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจ ธนาคารจะรักษาอัตราดอกเบี้ยในประเทศไม่ให้สูงขึ้นมากได้ อาจจะต้องใช้เงินจำนวนมากในการแทรกแซงเงินบาท แต่ทุนรักษาระดับฯ จะขายดอลลาร์ สรอ.
ในจำนวนที่น้อยลง” (บันทึกช่วยจำฉบับเดียวกัน)

ทางเลือกที่ 3 ทำทั้งสองด้าน

177. ในที่สุด ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบที่ให้ฝ่ายการธนาคารแทรกแซงในวงเงิน 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และยอมให้อัตราแลกเปลี่ยนสูงกว่าอัตรากลางประมาณ 5-10 สตางค์ (บันทึกช่วยจำฉบับเดียวกัน) หากจำนวนดังกล่าวยังไม่เพียงพอในแต่ละวัน ก็ให้รีบหารือกับผู้บริหารโดยเร็ว นอกจากนี้ที่ประชุมก็ยังตกลงอีกด้วยว่าจะขอให้ธนาคารกลางของประเทศข้างเคียง อาทิเช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ร่วมมือด้วยในการสู้กับนักเก็งกำไร สำหรับวันที่ 14 พฤษภาคมจะใช้ธนาคารกลางสิงคโปร์ไปก่อน (ความคิดเรื่องการขอความช่วยเหลือจากธนาคารกลางในประเทศข้างเคียงนั้นเป็นข้อเสนอของรองผู้ว่าการชัยวัฒน์)

178. เหตุการณ์วันนั้นเป็นไปอย่างที่คาด แรงซื้อเงินเหรียญสหรัฐโหมเข้ามาเป็นจำนวนมาก กดดันให้อัตราแลกเปลี่ยนสูงขึ้นไปเรื่อยๆ โดยฝ่ายการธนาคารยังไม่แทรกแซงจนกระทั่งอัตราแลกเปลี่ยนสูงขึ้นไปถึง 26.10 บาท/เหรียญสหรัฐ (ขณะที่ราคากลางจากทุนรักษาระดับฯ กำหนดไว้ที่ 25.86 บาท/เหรียญสหรัฐ) แรงขายยังมีต่อเนื่องถึงแม้ว่าธนาคารกลางสิงคโปร์จะเข้ามาช่วยแทรกแซง

179. เย็นวันเดียวกัน เวลา 16.30 น. ถึง 17.30 น. มีการประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง ผลจากการหารือกันคือให้ฝ่ายการธนาคารเข้าแทรกแซง“ โดยให้อัตราแลกเปลี่ยน กลับมาอยู่ใน band ของทุนรักษาระดับฯ ให้ได้โดยไม่จำกัดวงเงินแทรกแซง ทั้งนี้ เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของระบบอัตราแลกเปลี่ยนตะกร้าเงินรวมทั้งให้ฝ่ายการธนาคารเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดนิวยอร์กตลอดทั้งคืน ทั้งนี้หากมีผลกระทบต่อตลาดเงินเห็นควรปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นได้แม้จะเป็นร้อยละ 100 เพราะคงเป็นการสูงชั่วคราว แต่ธนาคารจะดูแลสถาบันการเงินให้มีสภาพคล่องเพียงพอ” (บันทึกที่ 379/2540 จากผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคาร นายบัณฑิต นิจถาวร ถึงผู้ช่วยผู้ว่าการศิริ การเจริญดี ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2540 ในต้นฉบับไม่ได้เอียงตัวอักษร)

180. จากการปรึกษาหารือกันในเย็นวันที่ 14 พฤษภาคม ฝ่ายการธนาคารจึงได้เข้าแทรกแซงต่อทั้งในตลาดลอนดอนและในตลาดนิวยอร์กตลอดคืนนั้นทั้งวันนั้นและตลอดคืน ธปท. ได้เข้าแทรกแซงในตลาดทันที 9.05 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดล่วงหน้า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ และตลาด swap 600 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ทุนรักษาระดับฯ ยังขายเงินเหรียญสหรัฐต่ออีก 887.1 ล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อปิดตลาดนิวยอร์กอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 25.85-25.90 บาท/เหรียญสหรัฐ สมกับความตั้งใจของผู้บริหารระดับสูง (บันทึกที่ 379/2540 ที่อ้างแล้ว) ถ้ารวมเงินที่ต้องใช้ในการป้องกันเงินบาทในวันนั้นและคืนนั้น ก็เกินหนึ่งหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือสองแสนห้าหมื่นล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นการป้องกันค่าเงินที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยและอาจเป็นได้ว่าแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลกก็ได้

181. เมื่อได้อ่านถึงเหตุการณ์ย้อนหลังเกือบหนึ่งปีถัดจากวันนั้น คงจะมีคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับบุคคลชั้นนำของธนาคารกลางที่ครั้งหนึ่งนับว่าเป็นธนาคารกลางที่โดดเด่นในเอเชีย แต่สิ่งที่แปลกที่สุดสำหรับเหตุการณ์ในวันนั้นก็คือ ที่ประชุมในเย็นวันนั้นคือชุดเดียวกันกับที่ได้ตกลงให้ฝ่ายการธนาคารเข้าแทรกแซงด้วยวงเงินที่ไม่จำกัด ได้ตกลงด้วยว่า “เห็นควรให้มีการเตรียมพร้อมในระยะต่อไป ด้วยการศึกษาระบบอัตราแลกเปลี่ยน ผลดี ผลเสียของการคงระบบเดิม หรือเปลี่ยนแปลงวิธีการ หรือเปลี่ยนแปลงระบบ ทั้งที่เป็นผลกระทบระยะสั้น ระยะยาวรวมทั้งเตรียมดำเนินการหากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ให้กระทำโดยเร็ว” ซึ่งเป็นการตัดสินใจอย่างเดียวในตลอดวันนั้นที่เรียกได้ว่า เป็นการตัดสินใจที่ใช้สติ แต่ก็เป็นเช่นเดียวกับแทบทุกอย่างที่ ธปท. ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2540 คือเป็นการตัดสินใจที่ช้าไปเสียแล้ว การพิจารณาข้อดีข้อเสียนั้นมักจะกระทำกันเมื่อผู้ตัดสินใจมีทางเลือก แต่หลังจากวันที่ 14 พฤษภาคม ประเทศไทยหมดทางเลือกแล้วในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เพราะในวันนั้นเงินทุนสำรองสุทธิได้ลดลงไปเหลือ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากที่เคยมีอยู่ เมื่อต้นเดือนนั้น 24.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

182. แต่ในวันที่ 15 พฤษภาคม ธปท. ยังแสดงว่าตนสามารถดิ้นต่อไปได้อีกรอบหนึ่ง วิธีการที่ ธปท. ใช้เป็นวิธีการล้มกระดานในเกมตลาดการเงินระหว่างประเทศ หลังจากได้ใช้นโยบายการเงินโดยเสรีมาอย่างน้อย 7 ปี และทำสัญญา swap เป็นจำนวนมหาศาลภายใต้กติกาของระบบการเงินเสรี ในวันนั้น ธปท. ก็สั่งไปยังธนาคารพาณิชย์ไทยไม่ให้ปล่อยเงินบาทให้กับสถาบันการเงินต่างประเทศ ยกเว้นถ้ามีธุรกรรมที่แท้จริงอยู่ เช่นเป็นการจ่ายเงินเพื่อการนำเข้ามาตรการนี้ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดทันทีในต่างประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว จนมาอยู่ในระดับ 25.20 บาท/เหรียญสหรัฐ สะท้อนการขาดแคลนเงินบาทอย่างกระทันหัน อันเกิดจากการบีบสายเลือดที่ส่งเงินบาทที่ออกจากธนาคารพาณิชย์ไทยไปหล่อเลี้ยงนักเก็งกำไร นอกจากเงินบาทได้แพงขึ้นในตลาดต่างประเทศแล้ว ดอกเบี้ยสำหรับเงินบาทในต่างประเทศ ก็ได้พุ่งสูงขึ้นอย่างแรงอีกด้วย ขณะที่ค่าเงินบาทภายในประเทศและดอกเบี้ยภายในประเทศมิได้สูงขึ้นตาม

183. มาตรการครั้งนี้ของ ธปท. มีผลทำให้เกิดตลาดเงินบาทสองตลาดขึ้น ค่าเงินบาทที่แพงขึ้นรวมทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินบาทที่สูงขึ้น (เฉพาะในตลาดต่างประเทศ) เปิดโอกาสให้ ธปท. สามารถหาซื้อเงินเหรียญสหรัฐในราคาถูกได้ในตลาดต่างประเทศเพื่อเสริมทุนสำรองหรือเพื่อลดภาระผูกพันล่วงหน้า ทั้งหมดนี้มีผลสองประการ ในประการแรก จากการบีบนักเก็งกำไรด้วยวิธีนี้ ธปท. สามารถลดภาระผูกพันล่วงหน้าให้น้อยลงไปได้ ทำให้เงินทุนสำรองสุทธิเพิ่มจากระดับ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในวันที่ 14 พฤษภาคมไปเป็น 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในวันที่ 15 พฤษภาคม และเป็น 7.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในวันที่ 16 พฤษภาคม และหลังจากนั้นก็จะเคลื่อนอยู่ในพิสัยประมาณ 5-7 พันล้านเหรียญสหรัฐจนกระทั่งครึ่งหลังของเดือนมิถุนายนเมื่อตัวเลขดังกล่าวเริ่มตกลงไปอีกครั้งหนึ่ง (ดูภาพที่ 13) ในประการที่สอง มาตรการนี้ทำให้เหล่านักเก็งกำไรต้องขาดทุนสูงมาก เพราะต้องแสวงหาเงินบาทในราคาที่แพงขึ้นมาส่งมอบให้ ธปท. โดยไม่สามารถกู้ได้จากธนาคารพาณิชย์ไทย

184. แต่ถ้า ธปท. สามารถหากำไรจากส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยในและนอกประเทศได้ คนอื่นก็ทำได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าจะถูก ธปท. คุมเข้มอยู่ ธปท. ก็ตระหนักดีในเรื่องนี้ อย่างน้อยฝ่ายการธนาคารสำนึกดีว่า การโจมตีจะไม่หมดสิ้นไปง่ายๆ และพยายามหาวิธีการเตรียมรับมือสำหรับการโจมตีครั้งต่อไป

185. การทำให้นักเก็งกำไรขาดทุนได้ในช่วงนั้นถูกมองว่าเป็น “ชัยชนะ” สำหรับ ธปท. อย่างน้อยสำหรับนายกรัฐมนตรี (พล อ. ชวลิต ยงใจยุทธ) ตามคำชี้แจงของนายเริงชัย มะระกานนท์ “บ่ายวันเดียวกัน [ที่ 15] ท่านยังได้โทรมาแสดงความยินดีที่ธนาคารและแจ้งว่าจะเลี้ยงพวกเจ้าหน้าที่ด้วย” “ชัยชนะ” นั้นเป็นอุปมาอุปไมยจากสงคราม ถ้าจะใช้อุปมาอุปไมยนี้ ก็ต้องสรุปต่อด้วยว่า ในสงครามครั้งนี้ ธปท. สามารถทำให้นายพลของฝ่ายตรงข้ามบาดเจ็บถอยทัพกลับไปได้ แต่ไพร่พลของฝ่ายตนนั้นล้มตายไปเป็นจำนวนมาก และทำให้ ธปท. ต้องอ่อนกำลังลงมาก เพราะฉะนั้นถึงแม้จะยกให้ว่าศึกครั้งนี้ ธปท. ชนะแต่ถ้ามองในระยะยาวกว่านั้น ธปท. ได้แพ้สงครามลงอย่างแน่นอน เพราะอีก 6 สัปดาห์หลังจากนั้น เมื่อถึงเวลาที่ต้องลอยตัวค่าเงินบาท ธปท. ก็ต้องทำด้วยความจำเป็นโดยแทบจะไม่มีเงินทุนสำรองเหลืออยู่เลย


การลอยตัวค่าเงินบาท

ผู้ที่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับขนาดของธุรกรรมต่างๆ และของเงินทุนสำรองสุทธิที่เหลืออยู่

186. ก่อนวันที่ 8 พฤษภาคม ฐานะเงินทุนสำรองสุทธิของไทยอยู่ในระดับ 24.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถึงแม้ว่าได้ลดจากระดับในต้นปี 2540 ลงไปมาก แต่ก็ให้ทางเลือกแก่ ธปท. ที่จะทำหรือไม่ทำอะไรอยู่บ้าง แต่เมื่อถึงเช้าวันที่ 15 พฤษภาคม ทุนสำรองสุทธิของ ธปท. ได้ลดลงไปเหลือ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งหมดนี้เกิดจากธุรกรรมที่เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 8-15 พฤษภาคม จนเกิดปัญหาขึ้นมาว่า ใครทราบบ้างว่าการปกป้องเงินบาทที่ผู้บริหารระดับสูงทุกคนเข้าประชุมและร่วมกันให้เดินหน้าต่อไปนั้น กำลังลิดรอนทุนสำรองสุทธิไปวันละเป็นปริมาณมากๆ

187. เนื่องจากฝ่ายการธนาคารเป็นหน่วยงานหลักที่ทำการแทรกแซงในตลาด (และควบคุมเงินทุนสำรองทางการอีกด้วย) ผู้ที่อยู่ในสายงานของฝ่ายการธนาคารตั้งแต่นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ขึ้นไป ซึ่งหมายถึง ผอ. ฝ่ายฯ บัณฑิต ผู้ช่วยผู้ว่าการศิริ และผู้ว่าการเริงชัย จะได้ข้อมูลอย่างน้อยวันละครั้ง นอกจากนี้ทางฝ่ายที่ดูแลเงินทุนสำรองในฝ่ายการธนาคารก็มีรองผู้อำนวยการฝ่ายฯ ธนศักดิ์ จันทโรวาส ที่จะมีข้อมูลเหล่านี้เป็นรายวัน

188. แต่สายวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรองผู้ว่าการชัยวัฒน์ จะได้ข้อมูลมากน้อยเพียงใดและบ่อยเพียงใดในเดือนพฤษภาคมเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ คำถามข้อนี้มีความสำคัญ เพราะเหตุว่าผู้ว่าการเริงชัยได้มอบหมายเรื่องนโยบายกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนให้กับรองผู้ว่าการ ซึ่งก็เป็นผู้จัดการทุนรักษาระดับฯ อีกด้วย และรองผู้ว่าการก็ได้แสดงความเห็นทั้งในตอนนั้นและในคำชี้แจงต่อ ศปร. ว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนในระหว่างที่มีการโจมตีอยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อมีความเห็นดังกล่าว คำถามที่จำเป็นต้องตั้งก็คือ รองผู้ว่าการชัยวัฒน์มีข้อมูลมากน้อยเพียงใดที่จะมีส่วนในการกำหนดนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนได้

189. ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคมเป็นต้นไป วันที่ ศปร. ทราบอย่างแน่ชัดว่ารองผู้ว่าการชัยวัฒน์ทราบเรื่องขนาดของเงินทุนสำรองสุทธิที่เหลืออยู่ก็คือ

  • ในวันที่ 12 พฤษภาคมเพราะมีหลักฐานจากบันทึกวันที่เดียวกันจากฝ่ายการธนาคารดังได้กล่าวมาแล้ว

  • ในวันที่ 20 พฤษภาคม (ดูข้อ 197) เพราะนายชัยวัฒน์เป็นผู้ให้คำชี้แจงแก่ ศปร. เองว่าได้ยินขนาดของ เงินทุนสำรองสุทธิ พร้อมกันกับรองนายกฯ อำนวย

สำหรับระยะระหว่างวันที่ 12 พฤษภาคม (ทุนสำรองสุทธิ 17.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และวันที่ 20 พฤษภาคม (ทุนสำรองสุทธิ 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ) รองผู้ว่าการชัยวัฒน์ปฏิเสธว่า ไม่ได้อยู่ในสายงาน เพราะฉะนั้นจะไม่ทราบ

190. ถ้าหมายถึงข้อมูลที่สมบูรณ์และละเอียด ก็คงเป็นจริงอย่างที่ท่านว่า แต่ทว่ารองผู้ว่าการชัยวัฒน์ได้เข้าประชุมผู้บริหารระดับสูงทุกครั้ง (อย่างน้อยระหว่างวันที่ 13-15 พฤษภาคม) ที่มีการตัดสินใจเรื่องแนวทางการแทรกแซงเพื่อสู้กับนักเก็งกำไร บันทึกช่วยจำที่รายงานผลการประชุมเหล่านี้จะไม่ระบุว่า ได้มีการเปิดเผยขนาดของธุรกรรมในแต่ละวันหรือไม่ รองผู้ว่าการชัยวัฒน์ได้ชี้แจงแก่ ศปร. ว่าข้อมูลประเภทนี้ถือเป็นความลับมาก ถ้าไม่อยู่ในสายงานก็จะไม่ทราบ แต่มีข้อมูลอีกบางชนิดที่มีการกล่าวถึงในการประชุมเหล่านี้ อย่างเช่นในวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ประชุมก็ตกลงกันว่าจะให้แทรกแซง 300 ล้านเหรียญสหรัฐก่อน ที่สำคัญกว่านั้นก็คือในการประชุมในวันที่ 14 พฤษภาคม ได้ตกลงให้ฝ่ายการธนาคารใช้เงินถึง 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ แล้วก็ปรากฏว่าใช้เงินมากมายถึงขนาดนี้ก็ยังไม่พอ จนในตอนเย็นการประชุมผู้บริหารระดับสูงได้อนุมัติให้ใช้เงินโดยไม่จำกัดจำนวน เงิน 5 พันล้านเหรียญสหรัฐจากจำนวน 17.74 พันล้านเหรียญสหรัฐที่รองผู้ว่าการชัยวัฒน์ทราบว่า ธปท. มีในเช้าวันที่ 12 พฤษภาคมนั้นถือได้ว่าเป็นสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ ดังนั้นรองผู้ว่าการชัยวัฒน์คงจะประเมินได้ว่าหลังการโจมตีวันที่ 14 พฤษภาคมแล้ว มีโอกาสสูงที่เงินทุนสำรองสุทธิของประเทศจะเหลือเป็นตัวเลขหนึ่งหลัก แต่หลังจากการแยกตลาดต่างประเทศออกจากตลาดการเงินในประเทศแล้ว ก็ยากสำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในสายงานที่จะประเมินได้ว่า ผลจากการสูญเสียในวันที่ 14 พฤษภาคม เมื่อเทียบกับที่ได้คืนมาในวันที่ 15 พฤษภาคมและหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร

191. ดังนั้น เมื่อรองผู้ว่าการชัยวัฒน์ชี้แจงกับ ศปร. ว่า ทราบข้อมูลครั้งต่อไปเมื่อได้ยินผู้ว่าการเริงชัยรายงานตัวเลขเงินทุนสำรองสุทธิให้รองนายกฯ อำนวยทราบ จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะไม่เชื่อคำชี้แจงดังกล่าว ถ้าหมายความว่าเป็นตัวเลขที่ถูกต้องเป็นทางการ แต่ ศปร. ก็เชื่ออีกด้วยว่า ในวันที่ 14 พฤษภาคม รองผู้ว่าการชัยวัฒน์คงจะได้ระแคะระคายบ้างว่าสถานการณ์จริงๆ เป็นอย่างไรนอกเหนือจากข้อมูลที่ได้รับมาอย่างชัดเจนในวันที่ 12 พฤษภาคม

192. ส่วนในกรณีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอำนวย) ที่กฎหมายให้มีบทบาทที่สูงในด้านนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ปรากฏจากคำชี้แจงของนายเริงชัยว่า ข้อมูลที่ให้กับรัฐมนตรีและนายกฯ นั้นลึกไปถึงระดับไหน แต่นายอำนวยได้ชี้แจงต่อ ศปร. ว่า

"เมื่อมีการ defend ค่าเงินเป็นช่วงที่ [นายอำนวย] ได้เดินทางไป Fukuoka (ไปเมื่อวันที่ 10 พ.ค. และกลับมาวันที่ 15 พ.ค.) [ความจริงแล้วกลับวันที่ 16] ก็ได้มีการติดต่อกับทาง ธปท. ทางโทรศัพท์ แต่ก็ไม่มีการรายงานเรื่องเงิน ไม่ได้รายงานเรื่อง swap และเคยถามก็ได้รับคำชี้แจงว่าการทำ swap เป็นเรื่องการดำเนินการปกติของ ธปท. และได้ทำมาตั้งแต่สมัย Mexico Crisis”

ในเรื่องนี้ นายอำนวยได้เล่าต่อไปดังที่ ศปร. ได้บันทึกไว้ดังนี้

"ต่อคำถามที่ว่าทาง ธปท. ได้แจ้งให้ท่านรัฐมนตรีทราบเกี่ยวกับ cost ของการ defend หรือไม่นั้น โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคมนั้น รมต. อำนวยได้ตอบว่า ตามที่ท่านได้ชี้แจงใน นสพ. มติชนว่าไม่ทราบนั้น เนื่องจากท่านได้เคยสอบถามนายเริงชัยว่าได้รายงานหรือไม่ ซึ่งนายเริงชัยก็บอกว่าได้รายงาน (ถามหลังจากที่พ้นตำแหน่งแล้วทั้ง 2 คน) ซึ่งทาง ดร. อำนวยก็ได้เคยขอสำเนาเอกสารจากนายเริงชัยไป แต่ก็ไม่ได้รับ ท่านจึงได้ชี้แจงว่าไม่ทราบ ต่อมานายเริงชัยจึงได้ส่งสำเนาหนังสือให้ท่าน ซึ่งเป็นบันทึก 28 พ.ค. ของผู้ว่าการเริงชัยถึง รมต. อำนวย”

193. บันทึกดังกล่าวรวมทั้งเอกสารแนบมีรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกรรม swap มากพอสมควร แต่บันทึกดังกล่าวไม่ถึงมือรองนายกฯ จนกระทั่งวันที่ 28 พฤษภาคมเป็นอย่างเร็วที่สุด

194. ระหว่างนั้น ผู้ว่าการก็ได้รายงานให้รองนายกฯ ทราบเป็นระยะๆ แต่รายงานอะไรนั้นยังเป็นปัญหาอยู่ ในแต่ละวันระหว่างวันที่ 8-15 พฤษภาคม ในช่วงที่มีการโจมตีค่าเงินบาทอย่างรุนแรง ผู้ว่าการต้องเซ็นอนุมัติธุรกรรมที่เสนอจากฝ่ายการธนาคาร ซึ่งเป็นเอกสารภายใน ผู้ว่าการเริงชัยจะแทงกลับไปบนเอกสารอนุมัติธุรกรรมด้วยเสมอว่าได้รายงานให้รัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี ในการให้คำชี้แจงแก่ ศปร. นายเริงชัยยืนยันต่อ ศปร. อีกด้วยว่า “ในการอนุมัติธุรกรรมแต่ละครั้ง กระผมจะบันทึกว่าได้หารือกับกลุ่มผู้บริหารระดับสูง และรายงานผู้บังคับบัญชา ได้แก่ ท่านนายกรัฐมนตรี และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แล้วด้วย” แต่นายเริงชัยไม่เคยให้ความกระจ่างว่าสิ่งที่รายงานนั้นคืออะไร ในบันทึกอนุมัติธุรกรรมจะกล่าวถึงแต่ว่าเป็นการรายงาน “สถานการณ์และความจำเป็นที่จะต้อง defend เงินบาท” แต่มีเหตุผลที่ชวนให้เชื่อว่า ผู้ว่าการเริงชัยมิได้รายงานข้อมูลทางการเงินให้กับรองนายกฯ อย่างละเอียด เพราะในวันที่ 26 พฤษภาคม ผู้ช่วยผู้ว่าการศิริ ได้แทงบันทึกจาก ผอ.ฝ่ายฯ บัณฑิต ถึงผู้ว่าการเริงชัยดังต่อไปนี้

"พร้อมนี้ได้แนบ นส ถึง รมว. คลัง ด้วยแล้ว ตัวบันทึกถึงท่าน รมว. คลังมี 2 versions ให้เลือก โดยมี version ที่ให้ข้อมูลเงินสำรองทางการ และ version ที่ไม่มีข้อมูลเงินทุนสำรอง ทั้งนี้แล้วแต่ท่าน ผวก. จะเห็นสมควร”

ในที่สุด ผู้ว่าการเริงชัยเลือกที่จะส่งฉบับที่มีข้อมูลเงินทุนสำรองสุทธิ บันทึกฉบับดังกล่าวคือ บันทึกวันที่ 28 พฤษภาคมที่อ้างถึงในข้อ 192 ทั้งหมดนี้ชวนให้ ศปร. เชื่อได้ว่านายอำนวยมิได้ทราบรายละเอียดและขนาดของธุรกรรมในระว่างวันที่ 8-15 พฤษภาคม จนกระทั่งได้รับบันทึกฉบับนั้นในวันที่ 28 พฤษภาคม

195. เหตุการณ์หนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงท่าทีของ ธปท. ในเรื่องการให้ข้อมูลจะเห็นได้จากการชี้แจงต่อรองนายกฯ อำนวยในวันที่ 16 พฤษภาคม ซึ่งบังเอิญเป็นครั้งที่ ศปร. มีเอกสารที่ให้สาระสังเขปของคำชี้แจงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วยว่า เอกสารฉบับนี้ ศปร. ได้รับจากนายเริงชัยชื่อ “ประเด็น briefing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง การดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท” เตรียมโดยฝ่ายการธนาคาร ในการรายงานต่อรัฐมนตรีครั้งนั้น นอกจากในส่วนที่กล่าวถึงผลของการแทรกแซงเช่น ต่ออัตราดอกเบี้ย ต่ออัตราแลกเปลี่ยน จะไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเท่าใดนัก โดยเฉพาะจะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเงินทุนสำรองที่ได้ใช้ไป ส่วนที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับประเด็น briefing นี้ก็คือส่วนที่ชี้แจงว่า ธปท. ได้ทำอะไรไปบ้าง ศปร. ขอคัดส่วนนั้นมาทั้งหมด

"ทางการได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการโจมตีค่าเงินบาทอย่างเป็นขั้นตอนโดยระมัดระวังไม่ให้มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยในประเทศ หรือมีแต่น้อย ดังนี้

  1. แก้ข่าวลือโดยทันที

  2. ชี้แจงข้อมูลเศรษฐกิจ และความชัดเจนทางด้านนโยบายเศรษฐกิจให้แก่นักลงทุนต่างประเทศและยืนยันในการรักษาแนวนโยบายเศรษฐกิจที่ได้ทำมาและจะทำมากขึ้น

  3. ชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นให้ประชาชนเข้าใจ และขอให้ธุรกิจเอกชนดำรงอยู่ในความสงบ อย่าตกใจกับข่าวลือต่างๆ

  4. ดำเนินการแทรกแซงในตลาดเงินบาทในต่างประเทศ เพื่อดูแลค่าเงินบาท

  5. ขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ไทยในประเทศ ในการดำเนินมาตรการตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยร้องขอ เพื่อร่วมกันดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทและยุติการเก็งกำไร

  6. ขอความร่วมมือจากธนาคารกลางเพื่อนบ้านในภูมิภาค ให้เข้าร่วมแทรกแซงพยุงค่าเงินบาท เช่นธนาคารกลางสิงคโปร์ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือที่ดีอย่างกว้างขวาง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสงบการเก็งกำไรที่มีผลเสียต่อตลาดการเงินในประเทศ และในภูมิภาค”

196. ศปร. อดตั้งข้อสังเกตสองข้อเกี่ยวกับการรายงานให้รัฐมนตรีในวันที่ 16 พฤษภาคมตามที่ย่อไว้ข้างบนนี้ไม่ได้ ในประการแรก ธปท. ได้รายงานให้รัฐมนตรีทราบว่า ได้ดำเนินการ “โดยระมัดระวังไม่ให้มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยในประเทศ หรือมีแต่น้อย” ในสัปดาห์ที่ ธปท. ได้ใช้เงินทุนสำรองประเทศไปจนเกือบหมด ในประการที่สอง ธปท. ได้รายงานให้รัฐมนตรีฟังอีกด้วยว่า “ได้ชี้แจงข้อมูลเศรษฐกิจ … ให้นักลงทุนต่างประเทศ” ในขณะที่ข้อมูลที่สำคัญที่สุดในขณะนั้น (คือทุนสำรองสุทธิ) กำลังถูกปกปิดจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและจากคนภายใน ธปท. เอง

197. อย่างไรก็ตาม ทั้งนายอำนวยและนายชัยวัฒน์ได้รับข้อมูลเรื่องทุนสำรองจากผู้ว่าการในประมาณสัปดาห์ที่สามของเดือนพฤษภาคม โดย นายชัยวัฒน์ชี้แจงว่า ได้รับทราบเป็นครั้งแรกเมื่อผู้ว่าการเริงชัยแจ้งให้รองนายกฯ ทราบ ซึ่งคงจะต้องเป็นวันหนึ่งวันใดในระหว่างวันที่ 19 ถึง 25 พฤษภาคม สันนิษฐานได้ว่าเป็นคืนวันที่ 20 พฤษภาคม เพราะเหตุว่าในคืนนั้นได้มีการปรึกษาหารือกันระหว่าง รองนายกฯ อำนวย ผู้ว่าการเริงชัย รองผู้ว่าการชัยวัฒน์ และ ผอ. ฝ่ายวิชาการ (นางเกลียวทอง เหตระกูล) สืบเนื่องจากโทรสารจากนาย Michel Camdessus ถึงนายกรัฐมนตรี ผอ.ฝ่ายฯ เกลียวทอง ผู้จดบันทึกช่วยจำ เกี่ยวกับการประชุมครั้งนั้น ได้บันทึกไว้สั้นๆ แต่เพียงว่า นอกจากเรื่องของกองทุนการเงินระหว่างประเทศแล้ว "ได้มีการหารือเรื่องขนาดของเงินสำรองทางการ ในปัจจุบันที่ไม่มีภาระผูกพัน”


การปรึกษาหารือเรื่องการลดหรือลอยตัวค่าเงินบาท

198. หลังจากการโจมตีในเดือนพฤษภาคมแล้ว ธปท. กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็เริ่มที่จะแสวงหาทางออกเกี่ยวกับค่าเงินบาท แต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่ ธปท. กำลังจะต้องจัดการกับสถาบันการเงินอีกด้วย จึงสร้างความพะวักพะวงแก่ผู้บริหารระดับสูงใน ธปท. โดยเฉพาะแก่ตัวผู้ว่าการเอง ขณะเดียวกัน สัญญา swap ที่ได้ทำไว้กำลังเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ธปท. ถ่วงเวลาอีกครั้งหนึ่งในเรื่องการจัดการกับเงินบาท เพราะถ้ามีการลดค่าเงินบาทหรือมีการปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวและลดลงเองตามธรรมชาติแล้ว ธปท. ก็จะประสบกับภาวะขาดทุน เพราะตามสัญญา ธปท. จะต้องหาซื้อเงินเหรียญสหรัฐจากตลาดโดยใช้เงินบาทในปริมาณที่สูงกว่า และนำไปมอบให้แก่คู่ค้าสัญญา swap ในอัตราเดิม ขณะเดียวกันคู่ค้าก็จะส่งมอบเงินบาทกลับคืนมา เงินบาทที่ ธปท. จะได้นี้ จะมีจำนวนน้อยกว่าที่ ธปท. จะต้องส่งมอบให้ ผู้ที่เสนอว่าความวิตกในเรื่อง swap เป็นตัวถ่วงไม่ให้เปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยน คือนายอำนวย วีรวรรณ ในคราวที่ท่านมาชี้แจงต่อ ศปร. แต่ในเรื่องนี้ ท่านก็แจ้งให้ทราบด้วยว่าเป็นแต่เพียงการคาดเดาของท่าน

199. คำถามที่จะต้องตั้งต่อไปคือ การที่รองนายกฯ อำนวย และรองผู้ว่าการชัยวัฒน์ได้มีโอกาสทราบว่าเงินทุนสำรองได้ร่อยหรอลงจนใกล้จะหมดแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม เป็นต้นมา มีผลอย่างไรต่อท่าทีของทั้งสองท่านนี้ จะขอเริ่มต้นด้วยกรณีของรองผู้ว่าการชัยวัฒน์ก่อน ซึ่งได้ให้คำชี้แจงต่อ ศปร. ดังต่อไปนี้

"ในอาทิตย์ที่ 3 ของพฤษภาคม ได้มีการสรุปสถานการณ์ให้รัฐมนตรีคลัง ซึ่งเมื่อท่านได้รับฟังก็ตกใจ (โดยเฉพาะเมื่อทราบถึงฐานะเงินทุนสำรองสุทธิ) และได้เริ่มมีการหารือกันว่าจะทำอย่างไรเมื่อ IMF ส่งตัวแทน คือ Fischer และ Aghevli มา (22 พฤษภาคม) ยื่นข้อเสนอมาในลักษณะที่ขอให้เราเข้า program โดยขอให้ลดค่าเงินลง 10-15% และ widen band พร้อมแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินและปรับปรุงฐานะการคลังในข้อเสนอเรื่องการลดค่าเงินนี้ [นายชัยวัฒน์] ไม่สนิทใจเนื่องจากเห็นกรณี Mexico ว่าลดแล้วค่าเงินยังตกไปเรื่อยๆ จึงได้ถาม IMF ไปว่า insist option ดังกล่าวหรือไม่ ถ้าเป็น float จะมีความเห็นอย่างไร ซึ่ง IMF ก็เห็นว่ามีความเสี่ยงอยู่ที่ว่าไม่รู้ค่าเงินจะไปอยู่ที่ไหน จึงจะมีเสถียรภาพได้ … และยังได้พูดกับ Fischer เรื่อง sequence ในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน ว่ายังเป็นสิ่งที่ต้องทำก่อน เพราะมีปัญหามาก และเตรียมการด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ซึ่งก็ยังมีการคิดในตอนนั้นว่าจะเข้า program IMF หรือกู้เงินจากที่อื่นดี ในช่วงนั้นก็ได้มีแนวความคิดเกี่ยวกับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนใหม่แล้ว และมีการหารือภายในธนาคาร รายงานรัฐมนตรีเป็นระยะๆ และจำได้ว่า ครั้งหนึ่งที่บ้านรัฐมนตรีอำนวย หรือบ้านคุณพงศธร ได้เสนอความคิดว่ามี option 3-4 แบบหรืออีกทางคือยังไม่ทำอะไรเลย ซึ่งดร.อำนวยได้กล่าวกับคุณเริงชัยว่า you have the last word ซึ่งคุณเริงชัยได้กล่าวว่า เอาไว้อย่างเดิมก่อน ตอนนั้นเป็นช่วงก่อนรัฐมนตรีอำนวยลาออก คิดว่าประมาณวันที่ 9 มิถุนายน (หรืออาจเป็น 13 มิถุนายน)”

200. ถ้าหันมาพิจารณาท่าทีของนายอำนวยเกี่ยวกับเหตุการณ์ในช่วงเดียวกัน ก็จะได้คำชี้แจงดังนี้

"ในการหารือกันระหว่าง ธปท. และกระทรวงการคลังนั้น จะมีการหารือกันอย่างใกล้ชิด และหารือกันในหลายประเด็น ทั้งในเรื่องของสถาบันการเงิน ปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน โดยเป็นการหารือที่บ้านคุณพงศธร ประมาณ 3 ครั้ง และบางครั้งก็เป็นที่บ้าน [รมต. อำนวย] ซึ่งในการหารือนั้นในส่วนตัวนั้นเห็นว่าควรทำ wider band ประมาณ 8-10% ตั้งแต่มกราคม โดยยอม suffer consequence ซึ่งเงินบาทอาจอ่อนลงเป็น 27-28 บาท แต่ก็ไม่ได้ทำ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่คิดว่าเราจะ defend ได้ และในที่สุดก็คงต้องปล่อยให้ลอยตัว แต่ที่อยากเห็นคือ managed float อย่างไรก็ดีในการหารือกันนั้นทุกครั้งที่หารือกันก็ยังตกลง concept หลักการกันไม่ได้ ซึ่งในการหารือกันนั้น คุณเริงชัยมักไม่ค่อยพูด หากเป็นเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนแต่จะเน้นเรื่องสถาบันการเงิน นอกจากนั้นก็มีคุณชัยวัฒน์ที่พูด คุณศิริไม่ค่อยพูด นอกจากจะช่วยชี้แจง ส่วนคุณบัณฑิตนั้นจะเข้าร่วมหารือเฉพาะเมื่อมีเรื่องที่เกี่ยวกับเขาอย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่หารือกัน ผู้ว่าการเริงชัยไม่เคยมี indication ว่าจะให้มีการลดค่าเงิน … [ใน]ช่วงพ.ค. นั้น option ได้เปลี่ยนจาก wider band เป็น float แล้ว อย่างไรก็ตาม ในการประชุมหลังจาก 22 พ.ค. [คือวันที่นาย Fischer จากกองทุนการเงินฯ เดินทางมาประเทศไทย] ก็ยังมีข้อโต้แย้งกันมากระหว่างปลัดกระทรวงการคลัง (ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล) และคุณชัยวัฒน์ ซึ่ง [ดร.อำนวย] ได้สรุปขอให้เป็น managed float แต่คุณชัยวัฒน์ก็ยังยืนยันว่าไม่พร้อม [ดร.อำนวย] ยังได้สอบถามว่าจะต้องการเวลาสักเท่าไร พร้อมกับให้ทาง ธปท. รายงานความพร้อมเป็นอาทิตย์ๆ ไป ซึ่งในประเด็นนี้ [ดร.อำนวย] คาดเดาว่าการที่ ธปท. มีปัญหาด้านความพร้อมนั้นอาจเป็นเพราะว่าทาง ธปท. มี swap position อยู่มาก นอกจากนี้แล้ว การที่ ธปท. ไม่อยากเปลี่ยนแปลงระบบนั้น [ดร. อำนวย] คาดว่าเหตุผลน่าจะมาจากการที่ ธปท. เกรงว่าเมื่อเปลี่ยนระบบแล้ว defend ค่าเงินไม่ได้ เงินบาทจะตกมาก เนื่องจากช่วงนั้น เป็น unsettled situation และนอกจากนั้นแล้ว ธปท. ยังเกรงจะกระทบปัญหาหนี้ภาคเอกชนซึ่งมีจำนวนอยู่สูงมาก”

201. จะเห็นได้ว่าคำชี้แจงของทั้งสองท่านนี้มีความคลาดเคลื่อนกันอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องท่าทีของรองผู้ว่าการชัยวัฒน์ ถ้าฟังจากนายอำนวย ก็จะเห็นว่า รองผู้ว่าการชัยวัฒน์จะเป็นผู้ที่คัดค้านโดยตลอด แต่ถ้าฟังนายชัยวัฒน์ ก็จะได้ภาพว่า นายชัยวัฒน์กำลังค่อยๆ เปลี่ยนความคิด โดยที่จะไม่ยอมทำอะไรลงไปก่อน ตามคำชี้แจงของนายชัยวัฒน์ ตนเองได้เปลี่ยนความคิดแล้วอย่างช้าที่สุดในวันที่ 13 มิถุนายน (คือวันที่เสนอทางเลือกต่างๆ ให้รองนายกฯ อำนวย) ส่วนเรื่องของการเสนอหลายทางเลือก และที่รองนายกฯ อำนวยกล่าวกับผู้ว่าการเริงชัยให้ไปตัดสินใจเอง โดยได้รับคำตอบว่ายังไม่พร้อมนั้น ไม่ได้รับการยืนยัน จากนายอำนวย แต่สอดคล้องกับอีกเหตุการณ์ต่อมาคือเมื่อรัฐมนตรีทนงให้เปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน (ดูข้อ 207) จึงอาจเป็นได้ว่า นายชัยวัฒน์ มีความจำคลาดเคลื่อน

202. อนึ่งในวันที่ 14 พฤษภาคม ในระยะที่มีการโจมตีเงินบาทที่รุนแรงที่สุด นาย Michel Camdessus กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินฯ ได้มีจดหมายถึงรองนายกฯ อำนวย เร่งรัดให้ไทยดำเนินมาตรการเป็นชุด (package) ตามที่กองทุนการเงินฯ ได้เสนอไว้ในเดือนมีนาคม 2540 เมื่อคณะของกองทุนการเงินฯ ที่มาปรึกษาหารือภายใต้พันธะข้อที่ 4 (ดูข้อ 86) จดหมายดังกล่าวนี้มีลักษณะค่อนข้างคลุมเครือ แต่อีกหกวันต่อมา ในวันที่ 20 พฤษภาคม นาย Camdessus ก็ได้ส่งจดหมายมาอีกฉบับหนึ่ง ถึงนายกรัฐมนตรีชวลิต คราวนี้กองทุนการเงินฯ ไม่สงวนถ้อยคำหรือท่าที แต่ระบุอย่างชัดเจนในจดหมายว่ามาตรการเป็นชุดที่กล่าวไว้ในจดหมายวันที่ 14 พฤษภาคม มีองค์ประกอบอะไรบ้าง

"Let me repeat, therefore, the following elements of such a package:

  • A devaluation of 10-15 percent, accompanied by a move to greater exchange rate flexibility. While we recognize the difficulties in moving in this direction during periods of exchange market pressure, this shift in exchange market regime is now overdue, and can only be postponed further at the cost of substantial erosion to reserves.

  • A fiscal tightening of at least 1 1/2 percent of GDP …

  • A tight monetary policy …

  • A comprehensive package of measures to strengthen the financial sector …”

(จดหมายจากนาย Michel Camdessus กรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ถึงนายกรัฐมนตรี พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ลงวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1997)

203. ในจดหมายฉบับนั้น นาย Camdessus ก็ได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบด้วยว่าตนพร้อมที่จะส่งรองกรรมการผู้จัดการ ได้แก่นาย Stanley Fischer มาปรึกษาหารือด้วย และนาย Fischer ก็ได้มาถึงประเทศไทยในวันที่ 22 พฤษภาคม ได้พูดคุยกับรองนายกฯ อำนวย ผู้ว่าการเริงชัย รองผู้ว่าการชัยวัฒน์ และปลัดกระทรวงการคลัง (ม.ร.ว. จัตุมงคล) แต่การปรึกษาหารือในวันที่ 22 พฤษภาคม มิได้นำไปสู่การตัดสินใจแต่ประการใด แต่หลังจากนั้น นาย Fischer ได้ติดต่อกับนายชัยวัฒน์ทางโทรศัพท์อย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลาที่กองทุนการเงินฯ ปรึกษาหารือกับไทยจวบจนวันที่ค่าเงินบาทลอยตัว ไม่ปรากฏว่า กองทุนการเงินฯ ได้รับข้อมูลเงินทุนสำรองสุทธิ

204. ขณะเดียวกันฝ่ายไทย มีรองนายกฯ อำนวย ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการเริงชัย และรองผู้ว่าการชัยวัฒน์ ก็ได้มีการปรึกษาหารือกันอย่างต่อเนื่อง ระหว่างที่มีการประชุมปรึกษาหารือกันอยู่นั้น ผู้ว่าการเริงชัยก็ได้บันทึกรายงานสถานการณ์ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ที่ 1302/2540 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2540) และแสดงความวิตกว่า

"สถานการณ์ล่าสุดชี้ว่าการโจมตีค่าเงินบาทจะมีขนาดรุนแรงขึ้น ยืดเยื้อขึ้น เพราะนักลงทุนเริ่ม
มีความไม่มั่นใจต่อหลักของการดำเนินนโยบายการเงิน และการคลังอย่างมีวินัย … การเร่งดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม จะช่วยสร้างความมั่นใจและลดแรงกดดันต่อค่าเงินรวมทั้งความจำเป็นในการแทรกแซงเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท

ในส่วนของนโยบายเพื่อดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท ธนาคารมีความเห็นว่า ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน การแทรกแซงเพื่อดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทยังมีความจำเป็นตามสถานการณ์ เพื่อรักษาความมั่นใจและความน่าเชื่อถือในระบบอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศเหมือนที่ได้ดำเนินการมา จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น" (ในต้นฉบับไม่ได้เอียงตัวอักษร)

205. ความเห็นของ ธปท. ที่เสนอต่อรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน (ที่เป็นอักษรตัวเอียง) เสมือนหนึ่งว่าเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นนอกการควบคุมของ ธปท. ความจริงแล้ว ตามนัยของมาตรา 8 ของ พ.ร.บ. เงินตรา แม้ว่าอำนาจในการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่กับฝ่ายการเมือง คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่รัฐมนตรีจะประกาศได้ก็ต่อเมื่อได้คำแนะนำจาก ธปท. แต่รัฐมนตรีฯ อำนวยไม่เคยได้รับคำแนะนำอย่างเป็นทางการจากผู้ว่าการเริงชัย


การตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาท

206. ในที่สุดปัญหาค่าเงินบาทก็ปะทุขึ้นอีกในปลายเดือนมิถุนายน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนายอำนวย วีรวรรณ ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในวันที่ 19 มิถุนายน ปัญหาช่วงนี้มิได้เป็นปัญหาอันเกิดจากการโจมตีจากข้างนอก แต่เป็นการไหลออกของเงินบาทของนักลงทุนในไทย และของคนไทยเอง โดยกระแสแรงขึ้นจากวันที่ 25 และ 26 มิถุนายนเป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ปริมาณเงินทุนสำรองสุทธิที่ต้องสูญเสียไปนั้นไม่อยู่ในเกณฑ์สูงเท่าใดนัก จำนวนดังกล่าวได้ลดลงจากระดับประมาณ 6-7 พันล้านเหรียญสหรัฐในระยะต้นเดือนมิถุนายน ลงมาเป็นปริมาณ 4-5 พันล้านเหรียญสหรัฐในระยะตั้งแต่วันที่ 20 ถึงวันที่ 26 มิถุนายน และหลังจากนั้นก็ลดฮวบไปเป็น 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐในวันที่ 30 มิถุนายน (ดูภาพที่ 13)

207. แต่เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นหลังจากได้มีการเปลี่ยนแปลงในระบบตัดสินใจ ภายใน ธปท. แล้ว และเจ้าหน้าที่ ธปท. ได้ตัดสินใจกันเองแล้วว่าจะปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยน ตามคำชี้แจงของนายชัยวัฒน์

"[รองผู้ว่าการชัยวัฒน์] ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องในวันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน ได้แก่ คุณธัญญา คุณศิริ คุณบัณฑิต คุณไพบูลย์ และคุณเกลียวทอง เพื่อขอ consensus ในการเปลี่ยนระบบ โดยได้เชิญทุกคนด้วยตนเอง (ไม่ได้เชิญผู้ว่าการ) ในการประชุมได้เล่าปัญหาว่า ระบบคงอยู่ไม่ได้และได้ถามความเห็นทุกคนว่าควรเปลี่ยนหรือไม่ ซึ่งคนที่เคยไม่เห็นด้วยคิดว่ายังมีทางรักษาระบบเดิมก็ยอมเห็นด้วยจากนั้นก็หารือถึงเรื่อง option หลายๆ ทาง และทุกคนเห็นพ้องว่า float น่าจะเป็น option ที่ดีที่สุด (ซึ่งในตอนนั้น ได้หารือกับ Fischer ไว้แล้ว ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่ามี merit ในการทำ option นี้) …หลังจากประชุมกันทั้งวันแล้ว [นายชัยวัฒน์] ได้โทรไปเรียนผู้ว่าการเริงชัยว่า ที่ประชุมมี consensus ว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระบบ float และได้เตรียมการกันอยู่แล้ว”

208. การประชุมกันวันนั้นเกิดขึ้นสองวันก่อนที่นายทนง พิทยะจะได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้ารับตำแหน่งก็ได้ใช้เวลา 3-4 วันแรกทำหน้าที่ดูแลให้ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณผ่านสภาผู้แทนราษฎร และไม่มีโอกาสพบกับเจ้าหน้าที่ ธปท. จนกระทั่งประมาณวันที่ 25-26 มิถุนายน ในการประชุมครั้งนั้น ทางฝ่าย ธปท. มีผู้ว่าการเริงชัยและรองผู้ว่าการชัยวัฒน์อยู่ด้วย นายทนงได้ขอให้ฝ่าย ธปท. รายงานสถานะของเงินสำรองสุทธิ เมื่อทราบสถานะ นายทนงก็ตัดสินใจในการประชุมครั้งนั้นเลยว่า จะต้องเปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ว่าการเริงชัย ตอบว่าจะขอไปปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ ธปท. ก่อน (คำชี้แจงของนายทนง พิทยะ ต่อ ศปร. เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2541) อีกประมาณวันหนึ่งหรือสองวัน ก็เป็นที่ตกลงกันว่า จะไปเรียนนายกรัฐมนตรี ในเช้าวันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน ในการพบปะครั้งนั้นนอกจากสามท่านนี้แล้ว ก็มีนายโภคิน พลกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมอยู่ด้วย ผู้ว่าการเริงชัยได้เรียนให้ทราบว่า

"จำเป็นต้องเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นระบบ managed float โดยเร็วที่สุด โดยขอเสนอให้เปลี่ยนทันทีเมื่อปิดงวดบัญชี 30 มิถุนายน 2540 และกระผมได้นำมติดังกล่าวมาแจ้งให้ท่านรองผู้ว่าการ (ดร.ชัยวัฒน์) ที่มาทำงานล่วงเวลาร่วมกับผู้บริหารอื่นๆ ในวันนั้น โดยขอให้เตรียมการทุกอย่างให้พร้อม โดยเร็วที่สุด” (คำชี้แจงของนายเริงชัย มะระกานนท์ ต่อ ศปร.)

209. ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นวันทำงานแรกหลังวันปิดงวดบัญชี รัฐบาลก็ประกาศให้ค่าเงินบาทลอยตัว เช้าวันนั้นทุนสำรองสุทธิของประเทศไทยอยู่ในระดับ 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ



<<< รายงาน ศปร. ( สารบัญ และ คำนำ ) >>>
<<< รายงาน ศปร. ( สารบัญตารางและภาพ ) >>>
<<< รายงาน ศปร. ( สรุปความเห็น และ บทที่ 1 ) >>>
<<< รายงาน ศปร. ( บทที่ 2 ) >>>
<<< รายงาน ศปร. ( บทที่ 3-4 ) >>>
<<< รายงาน ศปร. ( บทที่ 5-7 ) >>>
<<< รายงาน ศปร. ( ภาคผนวก ) >>>