บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


26 พฤษภาคม 2552

<<< รายงาน ศปร. ( บทที่ 3-4 ) >>>





นายอำนวย วีรวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง


210. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีอำนาจหน้าที่ในส่วนงานที่เกี่ยวกับการรักษาค่าเงินบาทตามกฎหมายดังต่อไปนี้

  1. มีหน้าที่กำกับดูแลการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485

  2. มีอำนาจในการกำหนดหรือเปลี่ยนระดับและระบบอัตราแลกเปลี่ยนตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ. 2501 โดยคำแนะนำจากธนาคารแห่งประเทศไทย

  3. เป็นประธานโดยตำแหน่งของคณะกรรมการทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน ตาม พ.ร.ก. จัดสรรทุนสำรองเงินตราเกินจำนวนธนบัตรออกใช้ พ.ศ. 2498

211. ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะช่วยให้การบริหารนโยบายการเงินเป็นไปด้วยดีก็ด้วยความร่วมมือทำงานกับผู้ว่าการ ธปท. และผู้จัดการทุนรักษาระดับฯ นอกจากนี้แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังมีบทบาทที่สำคัญในด้านนโยบายการคลัง ซึ่งต้องประสานอย่างดีกับนโยบายการเงินที่ ธปท. เป็นฝ่ายรับผิดชอบอีกด้วย

212. ตามคำชี้แจงของนายเริงชัย ผู้ว่าการในระหว่างที่นายอำนวยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากเดือนพฤศจิกายน 2539 ถึงเดือนมิถุนายน 2540 ได้มีการพบปะระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคาร เช่น นายเริงชัย นายชัยวัฒน์ นายศิริ นายบัณฑิต กับนายอำนวยและคณะ เช่น ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นต้น ที่บ้าน ดร.พงศธร ศิริโยธิน หลายครั้ง (5-6 ครั้ง) ที่เรือนมัจฉา ธปท. อีกหลายครั้ง นายเริงชัยยังได้นำเจ้าหน้าที่ดังกล่าวของธนาคารไปพบและชี้แจงปัญหาต่างๆ ที่บ้านของนายอำนวยเองอีก 3-4 ครั้ง

213. นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมการทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่จัดให้มีการประชุมที่ธนาคารเดือนละหนึ่งครั้งนั้น บางครั้งนายเริงชัยและเจ้าหน้าที่ยังถือโอกาสจัดให้มีการชี้แจงต่อนายอำนวยในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานคณะกรรมการทุนรักษาระดับฯ ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมกรรมการท่านอื่นๆ ประมาณ 1 ชั่วโมง การที่ต้องจัดให้มีการประชุมชี้แจงต่อรัฐมนตรีกับเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังบางท่านก่อนการประชุมกรรมการท่านอื่นๆ ก็เพราะเรื่องที่ชี้แจงเป็นเรื่องลับ ทางธนาคารไม่ประสงค์ที่จะให้คณะกรรมการท่านอื่นๆ ทราบ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่การประชุมเหล่านี้ทางธนาคารมิได้มีการจดรายงานของการประชุมปรึกษาหารือเอาไว้ มีอยู่เพียงครั้งเดียวที่นางเกลียวทอง เหตระกูล ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการได้ทำบันทึกช่วยจำของการปรึกษาหารือ ระหว่างเจ้าหน้าที่ธนาคารกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อนายเริงชัย นายชัยวัฒน์ และนางเกลียวทองนำโทรสารจากนาย Michel Camdessus ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2540 ถึงท่านนายกรัฐมนตรี และสำเนาถึงนายอำนวยไปมอบให้นายอำนวยที่บ้าน นางเกลียวทองได้บันทึกสาระสำคัญของการปรึกษาหารือไว้ดังนี้

“ท่านรองนายกฯ ได้หารือกันในเรื่องความเหมาะสมของระบบอัตราแลกเปลี่ยนของไทยว่าควรจะขยาย band หรือเปลี่ยนแปลงระบบ ซึ่งท่านได้ให้ข้อคิดว่าการเปลี่ยนแปลงระบบอาจมีปัญหา ต้องสามารถ defend และ contain ให้ได้ ทางธนาคารเห็นว่าจะต้องใช้เวลาในการตระเตรียม 1-2 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังได้มีการหารือถึงขนาดของ ทุนสำรองทางการในปัจจุบัน ที่ไม่มีภาระผูกพัน และโอกาสของการเกินดุลเงินสดของรัฐบาลว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่” (บันทึกช่วยจำลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2540)

214. นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานในหนังสือที่หัวหน้าส่วนวิเคราะห์และธุรกิจตลาดเงินนำเสนอธนาคารเพื่ออนุมัติแทรกแซงตลาดเงินโดยการทำธุรกรรม swap และธุรกรรมการขายเงินเหรียญสหรัฐเมื่อเกิดการโจมตีเงินบาทครั้งใหญ่ บันทึกดังกล่าวลงวันที่ 9 วันที่12 วันที่14 และวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 ในบันทึกแต่ละฉบับปรากฏว่านายเริงชัยได้อนุมัติการทำธุรกรรมดังกล่าว และระบุไว้ด้วยว่า “ได้เรียนท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบแล้วด้วย” (ดูข้อ 194)

215. ธปท. ได้รายงานเป็นลายลักษณ์อักษรให้นายอำนวย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ทราบถึงการโจมตีเงินบาท และการแทรกแซงตลาดของธนาคารและของทุนรักษาระดับฯ โดยการขายเงินเหรียญสหรัฐและการทำ swap เพียงครั้งเดียว ตามหนังสือธนาคารแห่งประเทศไทยที่ นว.1302/2540 เรื่องการดำเนินนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2540 นายเริงชัยชี้แจงว่าที่ไม่ได้รายงานเป็นหนังสือก่อนหน้านี้เพราะได้มีการพบปะปรึกษาหารือกันระหว่างรัฐมนตรีฯ และเจ้าหน้าที่ธนาคารบ่อยครั้งดังที่กล่าวไว้แล้ว

216. ศปร. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว มีความเห็นว่ามีเหตุผลที่เชื่อได้ว่า นายอำนวยน่าจะทราบถึงนโยบายและความพยายามของธนาคารที่จะรักษาอัตราแลกเปลี่ยนระบบตะกร้าที่มีลักษณะคงที่ ตลอดจนมาตรการต่างๆ ที่ทางธนาคารได้ดำเนินการเพื่อป้องกันการโจมตีจาก Hedge Funds และนักเก็งกำไรในต่างประเทศ ถ้าหากมีข้อมูลใดที่นายอำนวยสงสัย ไม่เข้าใจ นายอำนวยในฐานะรัฐมนตรีฯ ก็อยู่ในวิสัยที่จะสอบถามจากนายเริงชัยและพนักงานคนอื่นๆ ของธนาคารได้

217. ประเด็นต่อไปที่จะพิจารณาก็คือว่า นายอำนวยอยู่ในฐานะที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายของธนาคารในการที่จะพยายามรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนในลักษณะคงที่โดยการทุ่มเงินทุนสำรองเพื่อปกป้องค่าเงินบาท หรืออัตราแลกเปลี่ยนจนทุนสำรองเกือบหมดนั้นได้หรือไม่ การกระทำดังกล่าวมิได้หมายถึงการขยาย band เท่านั้น อาจจะต้องใช้นโยบายลดค่าเงินบาท (devaluation) หรือให้เงินบาทลอยตัว (float) อีกด้วย

218. ศปร. มีความเห็นว่า นายอำนวยอยู่ในฐานะที่จะเสนอมาตรการดังกล่าวต่อท่านนายกฯ ได้ หากเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของธนาคารมีความเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นสิ่งที่จะต้องปฏิบัติ แต่ปรากฏว่าตลอดเวลา จนกระทั่งนายอำนวยลาออกจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2540 นโยบายของธนาคารเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนถึงแม้จะเปลี่ยนจากการรักษาอัตราแลกเปลี่ยนคงที่มาใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความยืดหยุ่นขึ้นบ้าง แต่ทางธนาคารก็ยังไม่พร้อมที่จะเสนอมาตรการดังกล่าว จนกระทั่งนายทนง พิทยะ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทนนายอำนวย เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2540 แล้ว


นายเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

219. อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นโชคร้ายของนายเริงชัยที่ขึ้นมาเป็นผู้ว่าการ ธปท. ในช่วงที่ปัญหาทางการเงินเริ่มก่อตัว จนกลายเป็นภาวะวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศไทย ในเวลาเดียวกันนั้น เป็นโชคร้ายของประเทศไทยและประชาชนชาวไทย ที่รัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา แต่งตั้งนายเริงชัย มะระกานนท์เป็นผู้ว่าการ ธปท. แทนนายวิจิตร สุพินิจ ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งต้องใช้ความรู้ ความสามารถและการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะแก้ไขปัญหาที่ร้ายแรงเหล่านี้ให้ลุล่วงไปได้ แต่ ศปร. ไม่แน่ใจว่านายเริงชัยมีคุณสมบัติเหล่านี้เพียงพอ

220. ในคำชี้แจงของนายเริงชัย นายเริงชัยยอมรับว่าตนเองไม่มีความรู้ ความชำนาญในด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งรวมถึงนโยบายการเงินระหว่างประเทศด้วยระหว่างที่นายวิจิตรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. นายเริงชัยได้รับมอบหมายให้ดูแลงานด้านโรงพิมพ์ธนบัตร และงานสาขาฝ่ายธุรการและฝ่ายการธนาคารของธนาคาร ดังนั้นนายเริงชัยจึงด้อยประสบการณ์และความรอบรู้ในด้านนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน และตลาดเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากด้านหนึ่งสำหรับผู้ต้องรับผิดชอบด้านการเงินของประเทศ และยังห่างจากการติดตามปัญหาสถาบันการเงินมาเป็นเวลานาน เมื่อมีเหตุการณ์ที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นสองด้านพร้อมๆ กัน นายเริงชัยเห็นว่าตนมีความชำนาญในงานด้านการตรวจสอบและกำกับสถาบันการเงิน จึงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินที่เริ่มก่อตัวขึ้น ตั้งแต่วันแรกที่นายเริงชัยได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. แต่ปรากฏว่า มาตรการต่างๆ ที่ธนาคารนำมาใช้มีความสับสนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขาดความต่อเนื่องถึงกับทำให้ธนาคารและนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นไม่สามารถรักษาคำสัญญาที่ประกาศต่อประชาชน พนักงานของธนาคารก็สับสนเพราะขาดแนวทางที่แน่นอน ความพยายามของธนาคารและรัฐบาลที่จะบรรเทาปัญหาสถาบันการเงินจึงประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง (ดูบทที่ 5)

221. นายเริงชัย แบ่งการทำงานออกเป็น 3 สายงาน สายงานวิชาการและสายงานสนับสนุนทั้งหมดอยู่ที่รองผู้ว่าการ (นายชัยวัฒน์) สายงานฝ่ายการธนาคารอยู่ที่ผู้ช่วยผู้ว่าการ (นายศิริ) และสายงานกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินอยู่ที่รองผู้ว่าการ (นายจรุง) โดยนายศิริเองดูแลงานภายใต้นายจรุงด้วย ดังนั้นตัวจักรกลหลักที่รับรู้การทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาวิกฤติการณ์ในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านเงินตราต่างประเทศหรือสถาบันการเงิน คือ นายศิริ การแบ่งงานที่ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับนายศิริ เช่นนี้ อาจทำให้นายชัยวัฒน์น้อยใจ ไม่ทุ่มเทเวลาและความคิดให้กับธนาคาร เพราะมีความรู้สึกว่า นายเริงชัยไม่เห็นความสำคัญของตนก็เป็นได้ แม้ว่านายเริงชัยจะชี้แจงว่า ทำงานในลักษณะกรรมการถึง 2-3 ชุด และเชิญรองผู้ว่าการทั้งสองสายงานเข้าร่วมประชุมด้วย แต่หากว่ารองผู้ว่าการใดที่ไม่ได้คุมสายงานโดยตรง นายเริงชัยจะไปหวังว่ารองผู้ว่าการจะแสดงความคิดเห็นในการช่วยหาข้อยุติของปัญหาต่าง ๆ ของธนาคารอย่างเต็มที่นั้น คงเป็นไปได้ยาก จากวัฒนธรรมขององค์กรที่เป็นอยู่ การทำงานโดยใช้คณะกรรมการบริหารนั้น เวลามีปัญหา จะหาคนรับผิดชอบไม่ได้ ซึ่งต่างจากการทำงานตามสายงาน โดยให้งานทั้งหมดผ่านรองผู้ว่าการที่เหมาะสมก่อนมาถึงผู้ว่าการ การทำงานเช่นนี้ เมื่อมีปัญหาก็ทราบแน่นอนว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ

222. จากคำชี้แจงของพนักงานระดับสูงของ ธปท. หลายคนที่มาให้ปากคำต่อ ศปร. นายเริงชัยเป็นบุคคลที่ขาดภาวะผู้นำที่ดี และวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ชอบให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแสดงความเห็นไม่ตรงกับความคิดเห็นของตนซึ่งเป็นมาตั้งแต่สมัยนายวิจิตร ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงส่วนมากมักจะไม่กล้าแสดงความเห็นใดที่คิดว่าไม่ตรงกับความเห็นของนายเริงชัยเมื่อประชุมร่วมกัน ด้วยเหตุนี้นายเริงชัยจึงไม่มีโอกาสที่จะได้รับฟังความเห็นที่หลากหลายเพื่อประกอบการพิจารณาก่อนตัดสินใจเรื่องที่เป็นปัญหาสำคัญ การทำงานในสภาวการณ์ดังกล่าวจึงอาจเป็นเหตุนำไปสู่ความผิดพลาดได้ง่าย

223. การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนระบบตะกร้าที่คงที่ไม่มีความยืดหยุ่นของธนาคารนั้น นายเริงชัยอ้างว่าเนื่องจากตนเองไม่ชำนาญงานในด้านนี้ จึงยอมรับเหตุผลของนายชัยวัฒน์ รองผู้ว่าการ และนายบัณฑิต ผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารในขณะนั้น เหตุผลดังกล่าวโดยสรุปมีดังนี้

  1. ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งในปี 2539 สูงถึงร้อยละ 8 ของรายได้ประชาชาตินั้น สามารถแก้ไขได้โดยใช้นโยบายการคลัง ปัญหาการส่งออกที่ตกต่ำเป็นปัญหาชั่วคราวในลักษณะ cyclical มากกว่า structural

  2. ค่าเงินบาทสูงเกินความจริง (overvalue) ไม่มาก ประมาณร้อยละ 7-8 เท่านั้น

  3. การเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนจะนำไปสู่ความไม่แน่นอน (instability) เกรงว่าตลาดจะตีความว่าเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่กว่าอย่างหลีกเลี่ยงไมได้ จะสร้างความวิตกและแรงกดดันจากการเก็งกำไรค่าเงินบาท จนในที่สุดทางการอาจจะไม่สามารถจำกัดขอบเขตของปัญหาได้

  4. ธุรกิจเอกชนจะขาดทุนมาก เนื่องจากมีเงินกู้ยืมสูงกว่า 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ระยะสั้น จึงควรขอให้มีการจัดโครงสร้างหนี้ระยะสั้นให้เป็นระยะยาวมากขึ้นเสียก่อน

  5. สถาบันการเงินที่มีปัญหาอยู่แล้วจะประสบปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น จึงควรรอให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินให้เป็นรูปธรรมเสียก่อน

224. การเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนตามที่กล่าวในข้อสามนั้น หมายถึงการขยาย band ให้อัตราแลกเปลี่ยนขึ้นลงได้มากขึ้น หรือให้มีความยืดหยุ่นขึ้น ตลอดเวลาที่มีการประชุมปรึกษาหารือในคณะกรรมการกลุ่มเล็ก ซึ่งประกอบด้วย นายเริงชัย นายชัยวัฒน์ นายศิริ นายบัณฑิต บางครั้งก็มีผู้อื่นเข้าร่วมด้วยเช่น นางธัญญา และนางเกลียวทอง เป็นต้นนั้น จะปรึกษากันซ้ำๆ ว่าถึงเวลาจะเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นหรือยัง ถ้าเปลี่ยนจะเปลี่ยนในลักษณะใด จะมีผลข้างเคียงอย่างไรหรือไม่ แต่ในที่สุดก็ไม่มีการตัดสินใจแต่อย่างใด ในการประชุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและปลัดกระทรวงการคลัง ก็เคยมีการพูดถึงเรื่องเหล่านี้ ปลัดกระทรวงการคลัง (ม.ร.ว.จัตุมงคล) มีความเห็นค่อนข้างรุนแรงว่า ถึงเวลาที่จะต้องปรับปรุงระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นขึ้น และยังได้ชี้แจงต่อ ศปร. ว่า นายเริงชัยเคยรับปากในที่ประชุมในตอนปลายปี 2539 ว่า เมื่อการโจมตีเก็งกำไรค่าเงินบาทสงบลง มีเงินทุนไหลเข้าประเทศต่อเนื่องกันสองสัปดาห์ ธนาคารจะดำเนินการปรับปรุงระบบอัตราแลกเปลี่ยนทันที แต่เมื่อการโจมตีค่าเงินบาทสงบลงในต้นเดือนมกราคม เดือนมีนาคม และเมษายน 2540 นายเริงชัยกลับนอนใจมิได้ดำเนินการตามที่ได้เคยกล่าวไว้แต่อย่างใด

225. ความจริงถ้ามองย้อนหลังไปแล้ว ในต้นปี 2540 การปรับปรุงระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นขึ้นนั้น หาพอเพียงที่จะป้องกันการโจมตีค่าเงินบาทไม่ และคงจะเป็นความจริงตามเหตุผลในข้อที่สาม คือการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนในลักษณะ band หรือลักษณะใดที่มีความยืดหยุ่นขึ้นแต่อย่างเดียว จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่กว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่กว่านั้นเป็นสิ่งที่บุคคลเหล่านั้นไม่ประสงค์จะทำคือการลดค่าเงินหรือการปล่อยให้เงินลอยตัวนั่นเอง

226. เหตุใดนายเริงชัย และผู้บริหารระดับสูงซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบต่อระบบการเงินของประเทศจึงไม่กล้าที่จะคิดถึงทางเลือกอื่นเช่น การลดค่าเงินบาทแทนการนำทุนสำรองที่ประเทศสะสมมานานปีไปขายเพื่อแทรกแซงในตลาดเงินทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งใช้มาตรการ swap ซึ่งเท่ากับเป็นการกู้ยืมเงินเหรียญสหรัฐเพื่อแสดงให้ประชาชนทั้งในและต่างประเทศเข้าใจผิดคิดว่าทุนสำรองของประเทศยังเหลืออยู่จำนวนมาก ทั้งๆ ที่ทุนสำรองส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดมีภาระผูกพันที่จะต้องขายให้กับผู้ที่รับซื้อล่วงหน้าไว้แล้ว

227. คำตอบของคำถามนี้ที่ ศปร. รับทราบจากการชี้แจงของนายเริงชัยและคนอื่นๆ ก็คือ ทุกคนเชื่อโดยสุจริตใจว่า นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนระบบตะกร้า ซึ่งธนาคารใช้อย่างได้ผลมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 จนถึงบัดนี้นั้นยังเป็นนโยบายที่ดีและเหมาะสมอยู่ การเก็งกำไรจากการแลกเปลี่ยนในอดีตเคยเกิดมาแล้วเช่น ในปี พ.ศ.2538 เมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจขึ้นกับประเทศเม็กซิโกในเดือนมกราคม และมีนาคม 2538 ธนาคารสามารถเข้าแทรกแซงตลาด และสามารถรักษาอัตราแลกเปลี่ยนระบบตะกร้าไว้ได้ในเวลาไม่นานนัก นอกจากนี้ อาจเป็นไปได้ว่าในส่วนลึกของความคิดของนายเริงชัยและคณะนั้น อาจคิดว่าการลดค่าเงิน ในช่วงที่เงินบาทเริ่มถูกโจมตีในระยะต้นนั้นคงกระทบกระเทือนกิจการต่างๆ มากมาย ปัญหาต่างๆ ภายในประเทศ เช่นปัญหาสถาบันการเงินและปัญหาอสังหาริมทรัพย์ จะยิ่งถูกซ้ำเติมหนักยิ่งขึ้น การลดค่าเงินบาทจึงคงจะไม่เป็นที่ยอมรับของรัฐบาลในขณะนั้น

228. ด้วยเหตุนี้ เวลาและความคิดของนายเริงชัยและคณะจึงทุ่มเทหมดสิ้นไปกับการป้องกันรักษาค่าเงินบาท โดยแทบจะไม่เห็นคุณค่าหรือความสำคัญของทุนสำรองเลย ความจริงนายเริงชัยน่าจะตระหนักดีว่า ทุนสำรองของประเทศจำนวน 38 พันล้านเหรียญสหรัฐนั้น เป็นเงินที่ได้มาจากการที่ภาคเอกชนกู้ยืม มาจากต่างประเทศทั้งสิ้น เมื่อถึงกำหนดชำระคืน ภาคเอกชนเหล่านี้จะมาขอแลกเงินจากธนาคารเพื่อชำระคืนให้กับเจ้าหนี้ในต่างประเทศ โดยที่ธนาคารไม่อาจบิดพลิ้ว เลื่อนกำหนดการชำระได้ อีกประการหนึ่งตาม พ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ. 2501 ธปท. ไม่สามารถใช้เงินจากทุนสำรองเงินตราเพื่อปกป้องค่าเงินบาทได้และส่วนธุรกิจต่างประเทศ ฝ่ายการธนาคารก็ได้รายงานขึ้นมาตามสายงานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ว่า การทำสัญญา swap ได้สร้างภาระผูกพันและทุนสำรองสุทธิได้ลดลงมากจนอาจไม่พอสำหรับรักษาทุนสำรองเงินตราให้เป็นไปตามนัยของกฎหมายไว้ได้ (ดูข้อ 143)

229. นอกจากนี้ หลังจากการโจมตีค่าเงินบาทอย่างรุนแรงในวันที่ 8 และ 9 พฤษภาคม 2540 นายบัณฑิต นิจถาวร ผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารได้มีบันทึกลงวันที่ 12 พฤษภาคม เพื่อขอให้ ธปท. พิจารณาความเหมาะสมของนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนในตอนนั้น และเตือนด้วยว่าทุนสำรองอาจกลายเป็นศูนย์ได้ (ดูข้อ 157)

230. บันทึกดังกล่าวผ่านนายศิริ ผู้ช่วยผู้ว่าการอาวุโสก่อนส่งถึงนายเริงชัย นายศิริได้เขียนความเห็นพ้องกับความเห็นของฝ่ายการธนาคารที่ควรจะทบทวนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนระบบตะกร้า บันทึกดังกล่าวของนายศิริ และนายบัณฑิต เมื่อไปถึงนายเริงชัย แทนที่นายเริงชัยจะพิจารณาสั่งการในทันที กลับแทงเรื่องต่อไปให้นายชัยวัฒน์ (ดูข้อ 159) บันทึกดังกล่าวไม่ได้ออกจากนายชัยวัฒน์ จนวันที่ 18 มิถุนายน 2540 นายเริงชัยเมื่อสั่งการไปแล้วก็มิได้เร่งรัด หรือ ทวงถาม ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด แสดงให้เห็นว่ามิใช่เป็นนักบริหารที่ดี และมิได้มีความรับผิดชอบมากเท่าที่ควร ที่ปล่อยให้หนังสือที่มีความสำคัญเร่งด่วน ไปค้างอยู่ที่นายชัยวัฒน์ ไม่ได้ดำเนินการมีหนังสือแจ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาแนวนโยบายตามที่ตนสั่งการไปในเวลาอันสมควร ยิ่งไปกว่านั้น นายเริงชัยยังปฏิบัติการตามปกติ เสมือนกับว่าไม่เคยอ่านบันทึกของฝ่ายการธนาคารและไม่ได้แทงหนังสือสั่งการกับนายชัยวัฒน์ไป คือยังดำเนินการตามนโยบายเดิมต่อไป ดังจะเห็นได้จากบันทึกของฝ่ายการธนาคาร ดังต่อไปนี้

231. จากบันทึกช่วยจำของฝ่ายการธนาคาร จดโดยนางสาวประไพ สุวรรณรัฐ ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2540 การประชุมซึ่งมีนายเริงชัย เป็นประธานบุคคลอื่นมี นายชัยวัฒน์ นายศิริ นางธัญญา นายบัณฑิต นางสาวประไพ และนายไพบูลย์ ที่ประชุมเห็นชอบให้ฝ่ายการธนาคารเข้าแทรกแซงในวันนั้น เป็นจำนวนเงินประมาณ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวสูงกว่าอัตรากลางประมาณ 5-10 สตางค์ หากจำนวนดังกล่าวไม่เพียงพอในแต่ละวัน ให้รีบหารือกับผู้บริหารโดยเร็ว

232. ในบันทึกช่วยจำของฝ่ายการธนาคารวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 ที่ประชุมให้แนวนโยบาย “ให้ฝ่ายการธนาคารดำเนินการแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศต่อไป ในคืนนี้และช่วงวันต่อไปจนอัตราซื้อขายกลับลงมาอยู่ใน band ของทุนรักษาระดับฯ โดยไม่จำกัดจำนวน ทั้งนี้เพื่อรักษาระบบอัตราแลกเปลี่ยนตะกร้าเงินและเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของธนาคาร”

ในบันทึกดังกล่าวยังได้ระบุว่าด้วยว่า

“ทั้งนี้ท่านผู้ว่าการจะรายงานสถานการณ์ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและนายกรัฐมนตรีทราบและตัดสินนโยบายด้วย”

233. ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้บริหารของธนาคารซึ่งมีนายเริงชัยเป็นหัวหน้าแทบจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับทุนสำรองเงินตราของประเทศมีความมุ่งมั่นเพียงแต่จะรักษาระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้ได้ โดยมิได้คำนึงว่าจะสิ้นเปลืองทุนสำรองไปเท่าใด เมื่อทุนสำรองใกล้หมดก็ยังเตรียมการที่จะกู้ยืมเงินจากแหล่งต่างๆ มาเพื่อปกป้องค่าเงินบาทต่อไป ซึ่งผิดวิสัยของนักการธนาคารกลางที่ดีและรอบคอบจะพึงกระทำ

234. นายธนศักดิ์ จันทโรวาส รองผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคาร ขณะนั้นมีหน้าที่ต้องดูแลหาสภาพคล่องให้กับฝ่ายการธนาคาร และเป็นผู้เดียวที่ได้ทำบันทึกแสดงความวิตกกังวลต่อระดับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของธุรกรรม swap และสภาพคล่องเหรียญสหรัฐ ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ในคำชี้แจงต่อ ศปร. ตอนหนึ่ง นายธนศักดิ์กล่าวว่า

“จากคำถามของคณะกรรมการต่อความรู้สึกของกระผมถึงการที่เงินสำรองทางการหมดไปอย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่กี่เดือนนั้น กระผมรู้สึกเศร้าใจ เพราะเมื่อพิจารณาฐานะคงค้าง swap เดือนมิถุนายน 2540 ที่ 29 พันล้านเหรียญสหรัฐ แล้วย้อนไปดูว่าต้องใช้เวลาถึง 9 ปีที่จะเพิ่มเงินสำรองทางการมาถึงระดับ 29 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่จำนวนเงินดังกล่าวถูกใช้ไปในเวลาไม่กี่เดือน”

235. ทั้งๆ ที่กองทุนการเงินฯ มีหนังสือเตือนเร่งรัดให้ดำเนินมาตรการเกี่ยวกับระบบอัตราแลกเปลี่ยนมาหลายครั้ง (ดูข้อ 82-88, 202) โดยเขียนถึงทั้ง นายเริงชัย นายอำนวย และพลเอกชวลิต แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนกระทั่งเมื่อปรากฏว่าทุนสำรองสุทธิเกือบหมดลง ธปท. โดยนายเริงชัยจึงเสนอให้เงินบาทลอยตัวเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นเวลาที่ล่าช้าไปอย่างมาก ทุนสำรองของประเทศที่สะสมมานานนับสิบปี หมดสิ้นไปโดยแทบไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด ค่าของเงินบาทจึงตกต่ำในบางช่วงถึงกว่าร้อยละร้อย คือกว่าเท่าตัว

236. การใช้วิธี swap เพื่อปกป้องค่าเงินบาทนั้นมีผลทำให้ประเทศชาติเสียหายเป็นเงินจำนวนเท่าใด? ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดคงจะไม่สามารถคำนวณได้ เพราะผลของการที่ ธปท. ทำ swap เมื่อเปิดเผยเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้ว ทำให้เงินบาทลดค่าลงอย่างรวดเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับค่าของเงินบาท เมื่อรัฐบาลปล่อยให้ลอยตัวใหม่ๆ ทั้งนี้เพราะความเชื่อถือในค่าของเงินบาทเกือบจะหมดสิ้นไปเพราะทุนสำรองของทางราชการเมื่อหักด้วยจำนวนเงินเหรียญสหรัฐที่ธนาคารขายล่วงหน้าแล้วเกือบจะไม่เหลืออยู่อีกเลย ธปท. ได้ทำการ swap มียอดสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2540 จำนวนทั้งสิ้น 29 พันล้านเหรียญสหรัฐ ความเสียหายโดยตรงของการทำ swap ก็คือส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินเหรียญสหรัฐในวันที่ธนาคารรับเงินเหรียญสหรัฐ จากอีกฝ่ายหนึ่ง กับอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ครบกำหนดต้องชำระเงินเหรียญสหรัฐคืนกลับไป ตามตัวเลขที่ ศปร. ได้รับจากการสอบถาม ธปท. นั้น ปรากฏว่า ณ สิ้นปี 2540 ธนาคารมีภาวะ swap คงค้างทั้งสิ้นจำนวน 18 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีการขาดทุนจากการตีราคาสัญญาล่วงหน้าคงค้าง 241.92 พันล้านบาท เมื่อรวมกับขาดทุนจากการซื้อขายเหรียญสหรัฐ/บาทที่เกิดขึ้นจริงในปี 2540 อีกจำนวน 90.07 พันล้านบาท ธนาคารจึงมีการขาดทุนการซื้อขายเหรียญสหรัฐ/บาทรวมทั้งสิ้น 331.99 พันล้านบาท ความเสียหายดังกล่าวยังไม่รวมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเอกชนที่ต้องจ่ายเงินบาทเพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากค่าของเงินที่ลดลงมากกว่าที่ควรในเวลาที่ชำระคืนเงินกู้หรือชำระค่าสินค้าที่สั่งเข้ามา


นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

237. ในช่วงที่มีการปกป้องค่าเงินบาท นายชัยวัฒน์ ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ ธปท. และผู้จัดการทุนรักษาระดับฯ นอกจากนี้ นายชัยวัฒน์เป็นนักวิชาการหลักของ ธปท. เพราะฉะนั้นที่มาและแนวความคิดของนายชัยวัฒน์จึงเป็นเรื่องที่ควรแก่การพิจารณา ในคำชี้แจงต่อ ศปร. ในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน นายชัยวัฒน์เริ่มด้วยการลำดับคำแนะนำของกองทุนการเงินฯ ว่า

“ในส่วนที่ IMF ได้มีการเตือนมายัง ธปท. หลายครั้งให้แก้ไขปัญหาในหลายๆ จุดนั้น เราจะต้องพิจารณาว่า ธปท. ได้ทำการแก้ไขอย่างเพียงพอในประเด็นที่เขาได้เตือนมาหรือไม่ แก้ไขตรงตามจังหวะเวลา และ ตรงตามแนวทางที่ได้วางไว้หรือไม่ ซึ่งในประเด็นเหล่านี้ได้ยอมรับว่ายังมีสิ่งที่ดูแลไม่เรียบร้อย ในส่วนของสถาบันการเงิน เนื่องจากเป็นปัญหาที่ทับถมมา ซึ่งในส่วนนี้ IMF ได้เตือนมาค่อนข้างแรงเมื่อมีการมาทำวิเคราะห์ประจำปีในเดือนมีนาคม 2540 ซึ่งเป็นการส่งทีมเข้ามาดูเรื่องสถาบันการเงินอย่างลึกซึ้งเป็นครั้งแรกและได้ข้อสรุปว่าเรามีปัญหาสถาบันการเงินอย่างร้ายแรง และเป็นทั้งระบบ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ ธปท. ได้พยายามแก้ไขมาตลอด เพียงแต่มีจุดอ่อนในการดำเนินงานที่ไม่ได้มองภาพรวมอย่างทะลุปรุโปร่งอีกส่วนหนึ่งที่ทาง IMF ได้เตือนมา ก็คือเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน โดยข้อเสนอในช่วงปี 2537-3538 นั้น ต้องการเน้นความคล่องตัวของระบบอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อช่วยนโยบายการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและส่วนหนึ่งก็ imply ว่าอัตราแลกเปลี่ยนควรแข็งขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการชะลอตัวของเงินทุนไหลเข้าทำให้เราสามารถดำเนินนโยบายการเงินได้ดี อย่างไรก็ตามข้อเสนอของ IMF ในปี 2540 นั้นชี้ชัดว่า ระบบของเราต้องมีการเปลี่ยนแปลง และต้องมีการลดค่าเงิน โดยเห็นว่าหากเราไม่ลดค่าเงินนั้นโอกาสที่จะรักษาระบบไว้คงเป็นไปได้ยากและอาจมีปัญหาอื่นตามมา”

238. ในด้านความคิดของนายชัยวัฒน์เองแล้ว นายชัยวัฒน์ยืนยันอยู่จนถึงปัจจุบันว่า การตรึงอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพนั้น สร้างความมั่นใจและเป็นผลดีต่อการลงทุน และได้บทเรียนจากการแทรกแซงของ ธปท. ที่ประสบความสำเร็จในสมัยวิกฤตการณ์ในเม็กซิโกว่า

“หากตลาดมีเสถียรภาพ การเก็งกำไรหรือข่าวลือต่างๆ จะหมดไป สิ่งนี้คือจุดที่ทำให้มีความลังเลในการที่จะเปลี่ยนระบบให้คล่องตัวขึ้น แม้ว่าความคิดในการปรับปรุงระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้คล่องตัวมีมาตลอดและได้มีการเตรียมการอย่างเงียบๆ แต่ก็หาจังหวะเวลาที่เหมาะสมไม่ได้ในตอนนั้น และไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน”

239. สำหรับวิกฤตการณ์ของไทยในปี พ.ศ. 2540 นายชัยวัฒน์ก็มีความเห็นต่างจากกองทุนการเงินฯ ว่า ปัญหาเรื่องค่าเงินบาทที่กองทุนการเงินฯ อ้างว่ามีระดับสูงเกินควรนั้นเป็นสิ่งชั่วคราว (ดูข้อ 71) สรุปความเห็นของนายชัยวัฒน์ได้ว่า ถ้าไม่มีปัญหาแต่อย่างใดแล้วก็ไม่ควรกระทบกระเทือนอัตราแลกเปลี่ยนแต่อย่างใด

240. ส่วนในด้านการรับรู้เกี่ยวกับการปกป้องค่าเงินบาทนั้นสามารถแบ่งเรื่องราวได้เป็นสองตอน ตอนแรกคือเหตุการณ์ก่อนเดือนพฤษภาคม 2540

241. นายชัยวัฒน์ได้ชี้แจงว่า ตนมีบทบาทในแง่ของการเป็นผู้จัดการทุนรักษาระดับฯ (ซึ่งมีหน้าที่กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนประจำวัน และซื้อขายเงินเหรียญสหรัฐในอัตราที่กำหนดไว้ตามที่ธนาคารพาณิชย์ขอ) และคุมงานของฝ่ายวิชาการที่จะมองสถานการณ์ภาพเศรษฐกิจรวมว่าในสถานการณ์เช่นนั้น ควรจะทำอย่างไร แต่ไม่ได้รับมอบให้ดูแลงานของฝ่ายการธนาคารซึ่งดูแลสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนประจำวัน และทำหน้าที่แทรกแซงตลาด (เพราะสายงานนี้ผู้ว่าการกำหนดให้ผู้ช่วยผู้ว่าการเสนองานโดยตรง โดยไม่ผ่านรองผู้ว่าการ) จึงไม่ได้รับรู้ตลอดเวลาเกี่ยวกับการเก็งกำไรว่ามีความกดดันเกิดขึ้นมากน้อยเพียงไร แต่ในฝ่ายที่เป็นผู้ปฏิบัติงานและอยู่ในตลาดจะรู้ละเอียดว่ามีการโจมตีมากขนาดไหนและไปป้องกันอย่างไร และในรายละเอียดทำอย่างไร ก็จะมีการรายงานตามสายงาน ดังนั้น ต่อคำถามที่ว่าเชื่อหรือไม่เมื่อ IMF บอกว่าเราสู้นักลงทุนต่างชาติไม่ได้จึงไม่สามารถตอบได้ และยังรู้สึกแปลกเมื่อได้รับฟัง เนื่องจากก่อนหน้านั้นประมาณเดือนเศษๆ เมื่อ นาย Camdessus มาพบ รัฐมนตรีอำนวย และผู้ว่าการเริงชัย ในเดือนธันวาคม 2539 (รวมทั้งมีเอกสารให้ด้วย) นั้น ยังได้แจ้งว่าขอให้เร่งแก้ปัญหาสถาบันการเงินก่อน และไม่ควรทำเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนในตอนนั้น ดังนั้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2540 ตัวแทนพิเศษของนาย Camdessus คือนาย Aghevli มาแจ้งว่าเราควรลดค่าเงินเนื่องจากคงไม่มีทางสู้นักเก็งกำไรได้ จึงรู้สึกแปลกใจมากว่าทำไม IMF เปลี่ยนใจเร็วนัก (ดูข้อ 84 และ 85)

242. ในช่วงที่มีการโจมตีค่าเงินบาท ในช่วงเดือนมกราคม 2540 นั้น ได้มีการประชุมพิเศษขอระดมความคิด ในตอนนั้นนายชัยวัฒน์จำได้ว่า ได้เคยถามเสมอว่าต้องเข้าไปแทรกแซงประจำหรือไม่ เมื่อค่าเงินในตลาดระหว่างธนาคารเคลื่อนไหวออกนอก band ซึ่งเป็นการกระทำที่ตนไม่เห็นด้วย แต่หากฝ่ายปฏิบัติการเห็นชอบเช่นนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งเพราะเป็นผู้รับผิดชอบประจำวัน ในตอนนั้นนายชัยวัฒน์ได้ให้คำแนะนำไปว่า แทนที่จะใช้การ แทรกแซงเพียงอย่างเดียวขอให้ใช้อัตราดอกเบี้ยสูงเป็นตัวชะลอการเก็งกำไรด้วย และเห็นว่าในยามที่แรงกดดันแรงมากไม่ควรแทรกแซงเพียงลำพัง ควรให้ธนาคารกลางเพื่อนบ้านช่วยด้วย จะทำให้มีโอกาสที่นักเก็งกำไรกลัวมีมากกว่า และในวันนั้นยังได้ทำการติดต่อธนาคารกลางสิงคโปร์ให้ เพื่อให้วางระบบติดต่อกับฝ่ายการธนาคาร และจากนั้นก็ไม่ได้รับรายงานเนื่องจากไม่ใช่สายงานที่คุม

243. ในส่วนของรายละเอียดเกี่ยวกับการประชุมในทุกๆ เช้านั้น นายชัยวัฒน์แจ้งว่าเป็นไปในลักษณะการกินกาแฟด้วยกันในตอนเช้าหลังจากมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนประจำวัน (ซึ่งตอนหลังทำตามสูตรจนเป็นเรื่องปกติ) และบางวันจะมีคนมารายงานเกี่ยวกับตลาดเงิน และมีการหารือขอความเห็นว่าควรมีการปรับอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ แต่หากเป็นเรื่องคับขันผู้ว่าการจะเรียกคนที่เกี่ยวข้องย้ายไปอีกห้องหนึ่งเพื่อให้เป็นการพิจารณาลับ ที่ประชุมในตอนเช้าไม่ได้บังคับ ดังนั้นคนที่อยู่หรือถูกเรียกก็จะรู้ ยกเว้นเป็นเรื่องพิเศษคนนอกสายงาน เช่น นางธัญญา ผู้ช่วยผู้ว่าการ ดูแลงานด้านวิชาการ ก็จะถูกเรียกมาระดมความคิดด้วย สำหรับทีมปฏิบัติการนั้น จะมีนายบัณฑิต (ผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคาร) นายไพบูลย์ซึ่งจะรายงานไปยังผู้ช่วยผู้ว่าการ (นายศิริ) และรายงานตรงไปยัง ผู้ว่าการเริงชัย

244. ต่อคำถามที่ว่ารู้หรือไม่ว่า แทรกแซงไปเท่าไรและใช้ทุนสำรองไปเท่าไร และมีภาระผูกพันอีกเท่าใดนั้น นายชัยวัฒน์ชี้แจงว่าในหลักปฏิบัตินั้น เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องลับมากและจะรู้รายละเอียดกันเฉพาะในสายงานเท่านั้น ซึ่งสายงานด้านนี้ผู้ว่าการได้มอบหมายให้ผู้ช่วยผู้ว่าการรายงานโดยไม่ต้องผ่านรองผู้ว่าการ ดังนั้นในเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนนั้นไม่ปฏิเสธว่ามีบางจุดที่เกี่ยวข้องในแง่ของการมองภาพรวม แต่ในบางสิ่งก็จะมีบทบาทจำกัดอยู่เท่าที่ได้รับมอบหมายให้เกี่ยวข้องรับผิดชอบ แต่การที่จะไปเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของฝ่ายการธนาคารทุกวันนั้น คงเป็นการไม่สมควรเนื่องจากไม่ได้อยู่ในสายงาน สำหรับคำถามที่ว่าหากไม่รู้ตัวเลขทุนสำรองที่แท้จริงจะสามารถให้คำปรึกษาหารือในการประชุมได้อย่างไรนั้น นายชัยวัฒน์ชี้แจงว่า คงขึ้นอยู่กับกรอบที่ว่าเขาต้องการให้ตนเองรู้มากขนาดไหน แต่ได้ย้ำว่าการที่ไม่ได้อยู่ในสายงานแต่ไปดิ้นรนขอรู้ทุกอย่างอย่างละเอียดคงไม่เป็นการสมควร อีกทั้งการจัดระบบงานก็ไม่ได้ให้ตนดูแล การที่จะให้มารายงานวันต่อวันคงเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตามได้เคยถามตัวเลข และก็ได้รับคำตอบเป็นครั้งคราว ในลักษณะที่ถามครั้งใดจึงได้รับคำตอบครั้งนั้น นอกจากนี้แล้วนายชัยวัฒน์ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า ไม่ได้มองว่าตนเองเป็นตัว key และบางครั้งที่บางคนมองเหมือนว่าตนเองเป็นผู้รับผิดชอบมากมาย แต่ในกระบวนการตัดสินใจนั้น บ่อยครั้งเมื่อที่ประชุมตกลงกัน ผู้ว่าการก็ยังมอบหมายให้คนอื่นเป็นผู้ดำเนินการต่อไป

245. ต่อคำถามที่ว่าหากไม่รู้ตัวเลขต่างๆ นั้น จะสามารถ brief เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้รัฐมนตรีอำนวยทราบได้อย่างไร นายชัยวัฒน์ได้ตอบว่า เรื่องทุนสำรองนั้น ตอบได้เฉพาะในส่วนการซื้อขายของทุนรักษาระดับฯ และเงินสำรองรวม และท่านรัฐมนตรีถาม net position ว่าเท่าไรก็ไม่สามารถตอบได้ จนกระทั่งได้ยินผู้ว่าการเริงชัยตอบจึงได้ยินเป็นครั้งแรก (หมายถึงกรณีหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ซึ่งเงินสำรองสุทธิเหลือประมาณ 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ) อย่างไรก็ตามนายชัยวัฒน์ยอมรับว่ารู้ตัวเลขคร่าวๆ ก่อนเดือนพฤษภาคม สำหรับตัวเลข swap ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์นั้นยังไม่มากนัก นอกจากนี้แล้ว ยังทราบข้อมูลในส่วนนี้จากการที่ส่วนการบัญชีได้ทำบันทึก ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2540 แจ้งให้ทราบว่าต้องการข้อมูลภาระผูกพันที่ต้องขายเงินเหรียญสหรัฐ ให้กับคนภายนอกจำนวน 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งยังไม่ได้ตัวเลขอัตราแลกเปลี่ยนจากฝ่ายการธนาคาร จึงได้เรียนผู้ว่าการให้ทราบถึงข้อจำกัดของฝ่ายบัญชีและยังได้เรียนว่าเข้าใจว่าตัวเลขภาระ swap ฝ่ายการธนาคารรายงานตามสายงานเท่านั้น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคมนั้นได้มีการคุยกันหลายครั้งเกี่ยวกับการขยายช่วง และยังได้มีการเตรียมการทำสูตรตะกร้าใหม่เงียบๆ เพื่อรอให้มีการตัดสินใจ (ซึ่งความจริงแล้วได้รู้มาจาก ม.ร.ว.จัตุมงคลว่า ได้เคยมีการประชุมตกลงกันระหว่างรัฐมนตรีบดี ม.ร.ว.จัตุมงคล และนายเริงชัย มาก่อนแล้วว่าจะทำการขยายช่วงที่โรงแรมเอราวัณ โดยที่ตนเองไม่เคยได้รับแจ้งเลยว่ามีการตกลงดังกล่าว) อย่างไรก็ตามในการเตรียมการด้านปฏิบัติการนั้น ผู้ว่าการก็ได้มอบหมายให้ฝ่ายการธนาคารไปดำเนินการ และกลับมาหารือเมื่อพร้อม

246. ในการปกป้องเงินบาทนั้น ฝ่ายการธนาคารจะดำเนินการตามแนวทางที่ได้รับจากการสั่งการตามสายงานหรือจากที่ประชุม ซึ่งนายชัยวัฒน์จะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหลังเดือนพฤษภาคม และจะมีรายงานตามสายงานทุกวันว่าได้ทำการแทรกแซงหรือทำธุรกรรม swap ไปเท่าใดให้กับนายศิริและผู้ว่าการเริงชัย ซึ่งจะต้องเป็นผู้เซ็นอนุมัติทุกธุรกรรม อย่างไรก็ตามในส่วนที่นายชัยวัฒน์รับรู้นั้น นายชัยวัฒน์เข้าใจว่าฝ่ายการธนาคารได้มีการทำ swap เป็นประจำ แต่จำนวนมากน้อยเพียงใดนั้นไม่รู้ และยิ่งช่วงถูกโจมตีค่าเงินบาทอย่างหนักนั้นก็ยิ่งทำเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการช่วยไม่ให้ทุนสำรองทางการลดลง ซึ่งในการหารือกันถึงเรื่องการใช้ swap นั้น ฝ่ายการธนาคารก็ได้ชี้แจงว่าเป็นเรื่องปกติของวงการตลาดเงินตราต่างประเทศ ที่คนโจมตีก็กู้ยืมเงินมาเพื่อโจมตี ดังนั้นการปกป้องเงินก็สามารถกู้ยืมเงินมาได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย ต่อคำถามที่ว่าเป็นประเพณีหรือไม่ที่การปฏิบัติการนั้นจะเป็นความลับขนาดที่ รองผู้ว่าการก็ไม่ทราบ นายชัยวัฒน์ให้ความเห็นว่า ธรรมเนียม ธปท. จะให้เกียรติผู้ว่าการมาก ดังนั้นจะขึ้นอยู่กับผู้ว่าการว่าจะต้องการให้ผู้บริหารท่านใดเกี่ยวข้องด้วยในเรื่องอะไรซึ่งจะสะท้อนโดยการแบ่งสายงาน ดังนั้นความลับนอกสายงาน และการเข้าไปรู้โดยไม่ถูกหารือเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำและไม่ใช่ธรรมเนียม นอกจากนี้ยังเสริมว่า ตนรู้สึกแปลกใจที่มีการบอกว่า ผู้ว่าการให้ความสำคัญกับตนมากและเป็น key ทั้งนี้เนื่องจากฝ่ายที่สำคัญที่เกี่ยวกับนโยบายมี วิชาการ การธนาคาร กำกับและตรวจสอบ และต่างประเทศ แต่ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วย หรือรองผู้ว่าการไม่เคยได้รับมอบให้คุมมากกว่า 1 ฝ่ายเลย คราวนี้ก็ไม่ได้คุมฝ่ายการธนาคาร (ซึ่งก็ไม่ได้ให้รองคนอื่นคุมด้วย) ฝ่ายกำกับก็ไม่ได้คุม ดังนั้นจึงขอตั้งข้อสังเกตว่า ได้ให้โอกาสตนได้ทราบมากแค่ไหน ดังนั้นเมื่อพูดถึงการเสนอแนะนโยบาย แต่โอกาสที่จะรับรู้รายละเอียดมีจำกัด การตัดสินอย่างถูกต้องเต็มที่คงทำได้ลำบาก เนื่องจากไม่ได้คุมฝ่ายสำคัญๆ นอกจากนี้ยังเห็นว่าหากผู้ว่าการต้องการให้ตนรู้หรือต้องการคำแนะนำจริงก็ควรจะมีการแบ่งสายงานสำคัญให้คุมมากกว่านี้

247. จากคำชี้แจงของนายเริงชัยที่บอกว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินมีการประชุมวันที่ 25 กุมภาพันธ์ และได้หยิบยกเรื่องการเก็งกำไรอย่างรุนแรง มาพูดเสนอข้อเท็จจริงเพื่อให้ที่ประชุมให้ข้อคิดเห็น และในการประชุมเมื่อ 3 มีนาคม 2540 ได้นำตัวเลขภาระ swap 11.1 พันล้านเหรียญสหรัฐเสนอต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารอันประกอบด้วย ผู้ว่าการ รองผู้ว่าการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคาร และหัวหน้าส่วน สามารถพิจารณาให้ข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวางนั้น นายชัยวัฒน์แจ้งว่าจำเรื่องไม่ได้ชัดเจน แต่ที่สุดแล้วรับว่าไม่ใช่ไม่รู้ตัวเลข swap แต่ว่าจะไม่รู้รายละเอียดและไม่รู้ทันที เช่นรู้ว่ามีจำนวน 11.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะไม่รู้ว่าทำสะสมกันมาเมื่อไรและ due เมื่อไร (นอกจากนี้ตัวเลขก็รู้คร่าวๆ อีกทางหนึ่งจากสายงานฝ่ายบัญชี เนื่องจากทุกเดือนฝ่ายบัญชีต้องมีการตีราคาว่าการทำ swap กำไรหรือขาดทุน แต่การรายงานเป็นไตรมาสจะใช้เวลาให้หลังระยะหนึ่ง) สำหรับในประเด็นของการหารือในเรื่อง option การเปลี่ยนระบบนั้น (ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเป็นการประชุมครั้งนี้หรือครั้งอื่น) ในเบื้องต้นข้อยุติก็คงเป็นไปตามที่นายไพบูลย์เสนอ คือ การขยายช่วงแต่ก็ไม่มีจุดกลาง แต่เนื่องจากในการหารือพบว่าในทางปฏิบัติยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังต้องคิดต่อไป ดังนั้นในแง่ของความพร้อมที่จะตัดสินใจดำเนินการหรือไม่จึงต้องรอว่าฝ่ายปฏิบัติการจะเสนอกลับมาให้พิจารณาเมื่อไร ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้คาดว่าจะมีโจมตีอีก เนื่องจากไม่ได้อยู่ในตลาดและไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับแรงกดดัน อย่างไรก็ดีนายชัยวัฒน์ยอมรับว่าหากผู้ว่าการสั่งการให้ทำ แม้เจ้าหน้าที่จะมีความไม่พร้อมก็จะต้องหาทางดำเนินการให้ได้

248. ต่อคำถามที่ว่า ในช่วงนี้มี trading limit ในใจหรือไม่ว่าทุนสำรองต่ำสุดควรเป็นเท่าไรนั้น นายชัยวัฒน์กล่าวว่าไม่ได้มีอยู่ในใจอย่างชัดเจนแต่ทราบว่า ถ้าลดลงมากจะมีปัญหา และจะมีตัวเลขการชื้อขายของทุนรักษาระดับฯ เป็นเกณฑ์ กล่าวคือ ทุนรักษาระดับฯ ต้องขายประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน โดยไม่ต่อเนื่องมากยังพอรับได้ แต่ถ้ามีการซื้อขายถึงระดับ 2-3 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน จะเป็น sign ที่น่ากลัว ซึ่งในช่วงมีนาคม-เมษายนนั้น ตัวเลขอยู่ที่ระดับ 700-800 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน แต่จุดก่อนที่จะ float ค่าเงินในเดือนพฤษภาคมมีจำนวนเท่ากับ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และในเดือนมิถุนายนเท่ากับ 4.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ


เหตุการณ์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2540

249. นายชัยวัฒน์แจ้งว่ารู้ทีหลังว่ามีการโจมตีค่าเงินในช่วงวันศุกร์-จันทร์-อังคาร (9-13 พฤษภาคม) แต่ไม่แน่ใจว่าครั้งแรกเมื่อไร และก็มีการโจมตีอีก ในวันอังคารที่ 13 และพุธที่ 14 พฤษภาคม แต่นายชัยวัฒน์ไม่ได้ถูกเรียกไปจนกระทั่งวันที่ 13-14 พฤษภาคม เพื่อระดมความคิดว่าจะทำอย่างไร ซึ่งวันนั้นได้ให้ความเห็นว่า ในระหว่างการถูกโจมตีจะไปยกเลิกระบบคงไม่ได้ ตลาดจะปั่นป่วน เพราะไม่มีการเตรียมระบบอื่นรองรับไว้ และได้แนะนำอย่างเดิมว่า ควรนำวิธีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปช่วยด้วย และเอาธนาคารกลางหลายๆ แห่งมาช่วยแทนที่จะเป็นสิงคโปร์แห่งเดียว ซึ่งในตอนนั้นได้ช่วยติดต่อธนาคารกลางของฮ่องกง ออสเตรเลีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ให้ (ซึ่งทราบภายหลังว่าในที่สุดใช้เพียงสองแห่งคือ สิงคโปร์ และฮ่องกง) ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่รู้ว่ามีการโจมตีอย่างรุนแรง จึงเข้าไปช่วยเท่าที่ทำได้ และหลังจากนั้นมาก็ได้ช่วยมาก ในการพิจารณาแนวทาง แต่รายละเอียดในทางปฏิบัติก็ยังคงไม่รู้เพราะการปฏิบัติการวันต่อวันยังรายงานผ่านสายงานเท่านั้น และยังได้ไปช่วยให้กำลังใจฝ่ายการธนาคารที่ห้องค้า ซักถามและพูดคุยถึงสถานการณ์เนื่องจากเห็นว่าเป็นภาวะคับขันในส่วนที่เกี่ยวกับแผนฉุกเฉินนั้น หากผู้ว่าการได้มีการสั่งให้ดำเนินการก็คงเป็นการดำเนินการร่วมระหว่างฝ่ายวิชาการและฝ่ายการธนาคาร แต่การที่จะริเริ่มเองนั้นไม่ได้คิดเนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่มากและไม่ได้ให้ความสำคัญกับตนเองว่าจะต้องเป็นคนตัดสินใจ แต่เห็นว่าถ้าหากได้เห็นตัวเลขทุกๆ วัน ก็คงต้องมีการจัดเตรียมแผนไว้

250. ในส่วนที่เกี่ยวกับการรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายกรัฐมนตรีทราบนั้น ก่อนเดือนพฤษภาคมก่อนหน้าที่จะชี้แจงให้ ดร.อำนวย ฟังนั้นแทบจะไม่ได้พบ ยกเว้นการคุยกันในการประชุมทุนรักษาระดับฯ ประจำเดือนหรือในการประชุมด้านเศรษฐกิจบางครั้งที่ผู้ว่าการให้ไปด้วย ในการติดต่อกับรัฐมนตรีฯ ผู้ว่าการเป็นคนดำเนินการโดยตรง และในช่วงวิกฤต ผู้ว่าการก็ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าได้โทรศัพท์ไปรายงานรัฐมนตรีที่ประเทศญี่ปุ่นตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม หลังวิกฤต นายชัยวัฒน์มีบทบาทมากในฐานะถูกมอบให้ชี้แจงซึ่งเดิมในการรายงานให้กับรัฐมนตรีฯ หลังจากกลับจากญี่ปุ่นนั้น นายบัณฑิตเป็นผู้รายงานแต่ ดร. อำนวยได้ขอให้นายชัยวัฒน์เป็นผู้ชี้แจงแทนเนื่องจากเห็นว่าพูดได้กระชับกว่าการพูดในลักษณะวิชาการของนายบัณฑิต โดยเป็นผู้ชี้แจง (ดู ข้อ 195) สถานการณ์เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน แต่อย่างไรก็ดีตัวเลข swap นั้น ทราบเป็นช่วงๆ โดยทราบตัวเลขเงินสำรองสุทธิว่าเหลือเพียงประมาณ 7 พันล้านเหรียญสหรัฐเป็นครั้งแรกเมื่อผู้ว่าการเริงชัยรายงานกับท่านรัฐมนตรี ในช่วงหลังการไปพบชี้แจงนั้นผู้ว่าการมักให้นายชัยวัฒน์ไปด้วย

251. ในอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม ได้มีการสรุปสถานการณ์ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเมื่อท่านได้รับฟังก็ตกใจ (โดยเฉพาะเมื่อทราบถึงฐานะเงินสำรองสุทธิ) และได้เริ่มมีการหารือกันว่าจะทำอย่างไร เมื่อ IMF ส่งตัวแทนคือ Fischer และ Aghevli มา (22 พฤษภาคม) ยื่นข้อเสนอในลักษณะที่ขอให้ไทยเข้า program โดยขอให้ลดค่าเงินลง 10-15% และขยายช่วง พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน และปรับปรุงฐานะการคลัง ในข้อเสนอเรื่องการลดค่าเงินนี้นายชัยวัฒน์ไม่สนิทใจ เนื่องจากเห็นจากกรณีเม็กซิโกว่า ลดแล้วค่าเงินยังตกไปเรื่อยๆ จึงได้ถาม IMF ไปว่ายืนยันให้ใช้ทางเลือกดังกล่าวหรือไม่ ถ้าเป็นการลอยตัวจะมีความเห็นอย่างไร ซึ่งกองทุนการเงินฯ ก็เห็นว่ามีความเสี่ยงที่ว่าไม่รู้ค่าเงินจะไปอยู่ที่ไหนจึงจะมีเสถียรภาพได้ (จากจุดนั้นซึ่งเป็นช่วงหลังเกิดเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2540 แล้วนั้น จึงได้พยายามคิดอย่างจริงจังว่าจะต้องหาทางเลือกที่มีทางรอดได้ และส่วนตัวยังได้ติดต่อขอความเห็นจากนาย Fischer เพิ่มเติมด้วย) และยังได้พูดกับนาย Fischer เรื่องการลำดับ (sequence) นโยบายในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินว่ายังเป็นสิ่งที่ต้องทำก่อน เพราะมีปัญหามาก และเตรียมการด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ซึ่งก็ยังได้มีการคิดในตอนนั้นว่า จะเข้าโครงการกองทุนการเงินฯ หรือกู้เงินจากที่อื่นดี ในช่วงนั้นก็ได้มีแนวความคิดเกี่ยวกับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนใหม่บ้างแล้ว และมีการหารือภายในธนาคารรายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นระยะๆ และครั้งหนึ่งที่บ้านรัฐมนตรีอำนวย หรือบ้าน ดร. พงศธร ได้เสนอความคิดว่ามีทางเลือก 3-4 แบบเช่นนี้ หรืออีกทางคือยังไม่ทำอะไรเลย ซึ่ง ดร.อำนวยได้กล่าวกับนายเริงชัย ว่า "you have the last word" ซึ่งนายเริงชัยได้กล่าวว่า เอาไว้อย่างเดิมก่อน ตอนนั้นเป็นช่วงก่อนรัฐมนตรีอำนวยลาออก คิดว่าประมาณวันที่ 9 มิถุนายน (หรืออาจจะเป็น 13 มิถุนายน)

252. ในเดือนมิถุนายนทุนรักษาระดับฯ มีการขายเงินเหรียญสหรัฐอย่างต่อเนื่อง และเมื่อ ดร. อำนวยลาออก ทำให้กระแสความไม่เชื่อมั่นยิ่งเพิ่มมาก (ทั้งเดือนมิถุนายน ทุนรักษาระดับฯ ขายรวม 4.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ) จึงรู้ว่าระบบคงอยู่ไม่ได้ต้องทำอะไรบางอย่าง จึงได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องในวันเสาร์ที่ 21 มิถุนายนได้แก่ นางธัญญา นายศิริ นายบัณฑิต นายไพบูลย์ และนางเกลียวทอง เพื่อหารือหาข้อยุติในการเปลี่ยนระบบ โดยได้เชิญทุกคนด้วยตนเอง ไม่ได้เชิญผู้ว่าการด้วย ในการประชุมได้เล่าปัญหาว่าระบบคงอยู่ไม่ได้และได้ถามความเห็นทุกคนว่าควรเปลี่ยนหรือไม่ซึ่งคนที่เคยไม่เห็นด้วยคิดว่ายังมีทางรักษาระบบก็ยอมเห็นด้วย จากนั้นก็หารือถึงเรื่องทางเลือกหลายๆ ทาง และทุกคนเห็นพ้องว่าระบบลอยตัวน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด (ซึ่งในตอนนั้นได้หารือกับนาย Fischer ไว้แล้วซึ่งก็ได้รับคำตอบว่าการลอยตัวมีข้อดี) หลังจากที่ตกลงกันได้ก็ทำแผนปฏิบัติการเช่นในระบบใหม่ธนาคารพาณิชย์ต้องทำอะไร ธปท. ยังมีบทบาทอย่างไร ยังคงต้องแยกตลาดอยู่หรือไม่ การดำเนินการด้านการเงินเป็นอย่างไร ฯลฯ จากนั้นก็ได้มอบหมายให้ไปทำการบ้านต่อ และกลับมาประชุมอีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน (มีบันทึกการประชุมของนางธัญญาเรื่องการเตรียมการเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบค่าเงิน ลงวันที่ 30 มิถุนายน) และในตอนเย็นของวันที่ 21 มิถุนายน นั้น นายชัยวัฒน์ได้โทรไปเรียนผู้ว่าการเริงชัยว่า ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระบบ float และได้เตรียมการกันอยู่แล้วซึ่งท่านก็เห็นด้วย

253. ในตอนนั้นส่วนหนึ่งของการเตรียมดำเนินการทันทีที่ใช้ระบบลอยตัว ได้ขอ technical assistance จากกองทุนการเงินฯ โดยได้ติดต่อนาย Fischer ขอผู้เชี่ยวชาญมาแนะแนวทางเกี่ยวกับเรื่อง นโยบายการเงินภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว และขอให้ส่งคนมาดูเรื่องสถาบันการเงินอย่างลึกซึ้งด้วย โดยได้ทำหนังสือให้ผู้ว่าการเป็นผู้ลงนามขอความช่วยเหลือ เมื่อทีมกองทุนการเงินฯ และธนาคารโลกมาดูเรื่องปัญหาสถาบันการเงิน ก็ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องนอกสาย ทั้งนายจรุง นายศิริ นายธีระชัย และนางสว่างจิตต์ ขอให้ร่วมมืออย่างเต็มที่กับกองทุนการเงินฯ ในการวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดช่วงนั้น นายชัยวัฒน์ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลแนวการศึกษา จนในที่สุดจึงมีข้อสรุปเสนอผู้ว่าการให้ทราบ (การเตรียมการดังกล่าวทำให้เมื่อเข้าโปรแกรมกองทุนการเงินฯ มาตรการด้านสถาบันการเงินจึงมีพร้อมอยู่แล้ว)

254. สำหรับคำถามเกี่ยวกับคำชี้แจงของนายเริงชัยที่อ้างถึงบันทึกลงวันที่ 12 พฤษภาคมของฝ่ายการธนาคารว่า ได้สั่งการรองผู้ว่าการชัยวัฒน์เนื่องจากเห็นความจำเป็นที่จะต้องเร่งเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยน โดยขอให้พิจารณาแนวทางนโยบายเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่รองผู้ว่าการ ชัยวัฒน์ซึ่งเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์การโจมตีค่าเงินบาทตลอดได้บันทึกถึงผู้ช่วยผู้ว่าการศิริ เมื่อเวลาได้ล่วงเลยไปจนวันที่ 18 มิถุนายน นั้น (3 วันก่อนนายชัยวัฒน์ เรียกประชุมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน) (ดูข้อ 141) นายชัยวัฒน์ได้ชี้แจงว่า ที่มิได้ดำเนินการทันทีเพราะเมื่อได้รับบันทึก ก็เป็นช่วงที่ผู้จะมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาเรื่องนี้ ต่างก็ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ค่าเงินบาทกำลังถูกโจมตีอย่างรุนแรง และเมื่อเรื่องยุติก็มีการรายงานด้วยวาจาให้ท่านรัฐมนตรีทราบทันที และหลังจากนั้นก็มีการหารือภายในกันหลายครั้งเพื่อพิจารณาถึงแนวทางขั้นต่อไปแต่ยังไม่มีการตัดสินใจโดยผู้ว่าการ และมีการหารือร่วมกับรัฐมนตรีอำนวยเป็นระยะแล้ว ดังนั้น จึงไม่ได้ส่งเรื่องต่อให้ช่วยกันทำบันทึก จนเมื่อมีแนวคิดที่ชัดเจน (และในการส่งเรื่องต่อไป ก็ได้ระบุประเด็นเหล่านี้ไว้)


ความเห็นของ ศปร.

255. นายชัยวัฒน์เป็นพนักงานของธนาคารที่มีความสามารถด้านนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าพนักงานคนอื่นๆ ทั้งนี้เพราะนายชัยวัฒน์ ทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ว่าการธนาคารเมื่อเกิดวิกฤตทางการเงินในปี 2522-2527 ในช่วงเวลาดังกล่าวธนาคารต้องลดค่าเงินถึงสองครั้งคือครั้งแรกในปี 2524 ครั้งหลังในปี 2527 ทั้งสองครั้งนายชัยวัฒน์มีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคาร ผู้ว่าการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกับนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้นในฐานะผู้จัดการทุนรักษาระดับฯ ระยะเวลาอันยาวนานจึงถือได้ว่านายชัยวัฒน์มีประสบการณ์ในด้านนี้อย่างโชกโชน อาจเป็นได้ว่า เนื่องจากนายชัยวัฒน์มีหน้าที่ดูแลและบริหารอัตราแลกเปลี่ยนระบบตะกร้าเป็นเวลานานปี ซึ่งในช่วงที่ไม่มีปัญหาระบบอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวนั้น นับได้ว่าเป็นระบบที่เป็นประโยชน์ต่อกิจการค้าและการลงทุนของประเทศอย่างมาก แต่เมื่อภาวะการณ์ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป เมื่อมีการกู้ยืมเงินต่างประเทศเข้ามาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และเงินกู้ระยะสั้นเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาเพื่อหาผลประโยชน์จากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศกับอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศโดยเจ้าของเงินแทบจะไม่มีความเสี่ยงใดๆ เลย เพราะระบบอัตราแลกเปลี่ยนระบบตะกร้าค้ำประกันการขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนตลอดเวลา จากความเคยชินกับอัตราแลกเปลี่ยนระบบตะกร้ามาเป็นเวลานานจึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้นายชัยวัฒน์ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนความคิดได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะการณ์ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ

256. จากคำชี้แจงของนายชัยวัฒน์ซึ่งมีรายละเอียดข้างต้นนี้ ศปร. อดที่จะมีความรู้สึกไม่ได้ว่า ทั้งๆ ที่ธนาคารกำลังเผชิญปัญหาวิกฤต และทั้งๆ ที่ นายชัยวัฒน์มีตำแหน่งสูงถึงรองผู้ว่าการ นายชัยวัฒน์น่าจะมีความกระตือรือล้นและความคิดริเริ่มในการที่จะช่วยแก้ปัญหาของประเทศมากกว่าที่ปรากฏในคำชี้แจงของนายชัยวัฒน์เอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือเมื่อฝ่ายการธนาคารมีบันทึกลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2540 แจ้งให้ทราบถึงเงินจำนวนมากที่หมดสิ้นไปกับการแทรกแซงและต่อสู้เพื่อป้องกันค่าเงินบาท นายศิริรีบแทงหนังสือถึงนายเริงชัยขอให้ธนาคารทบทวนนโยบายดังกล่าวก่อนทุนสำรองของประเทศจะเหลือท่ากับศูนย์ นายเริงชัยสั่งให้นายชัยวัฒน์พิจารณาร่างหนังสือถึงรัฐมนตรีเพื่อขอแนวนโยบายในวันเดียวกัน ปรากฏว่านายชัยวัฒน์เอาเรื่องที่มีความสำคัญและเร่งด่วนไปเก็บไว้ถึงเดือนเศษคือจนถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2540 นายชัยวัฒน์จึงได้แทงหนังสือดังกล่าวกลับมา ในช่วงเวลาวิกฤตดังกล่าวทุกๆ วันมีค่าอย่างยิ่ง เพราะธนาคารต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศวันละหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ในบางวันสูงถึงหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ

257. ในทางตรงข้าม นายชัยวัฒน์กลับแสดงความกระตือรือร้นและความเป็นผู้นำอย่างเห็นได้ชัดในวันที่ 21 มิถุนายน 2540 ที่เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้อง เช่น นางธัญญา นายศิริ นายบัณฑิต นายไพบูลย์ และนางเกลียวทอง โดยไม่มีนายเริงชัย และตกลงว่าต้องยอมให้เงินบาทลอยตัวและกำหนดแผนปฏิบัติการขึ้น เมื่อทำเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงโทรศัพท์แจ้งให้นายเริงชัยทราบ นายชัยวัฒน์ยังได้ติดต่อขอความช่วยเหลือทางวิชาการจากกองทุนการเงินฯ เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว และขอให้กองทุนการเงินฯ ส่งคนมาช่วยเรื่องสถาบันการเงิน ทั้งได้เรียกผู้เกี่ยวข้องนอกสายใต้บังคับบัญชาทั้งนายจรุงนายศิริ นายธีระชัย และนางสว่างจิตต์มาพบ ขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของกองทุนการเงินฯ ในการวิเคราะห์ข้อมูลก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าโครงการที่จะกู้เงินจากกองทุนการเงินฯ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เพื่อให้เห็นภาพถึงความแตกต่างจากบทบาทที่นายชัยวัฒน์อ้างว่าไม่ค่อยจะทราบเรื่องเกี่ยวกับการแทรกแซงค่าเงินโดยฝ่ายการธนาคาร เพราะอยู่คนละสายงาน

258. การที่นายชัยวัฒน์ไม่มีบทบาทก่อนหน้านี้น่าจะมีเหตุผลเช่น สายงานที่เป็นเรื่องนโยบายการเงินของประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน นายเริงชัยกลับมอบให้นายชัยวัฒน์ดูแลเฉพาะฝ่ายวิชาการ ส่วนฝ่ายการธนาคารนั้นให้นายศิริผู้ช่วยผู้ว่าการเป็นผู้ดูแล และงานแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนที่มีมากขึ้นกลับเป็นงานของฝ่ายการธนาคารแทนที่จะเป็นของทุนรักษาระดับฯ ที่นายชัยวัฒน์เป็นผู้จัดการกองทุน การกระทำดังกล่าวของนายเริงชัยอาจทำให้นายชัยวัฒน์น้อยใจ ก็เป็นได้ นายชัยวัฒน์ กล่าวในการชี้แจงต่อ ศปร. ว่า

“ผมรู้สึกแปลกใจที่บอกว่า ผู้ว่าการให้ความสำคัญกับผมมากและเป็น key ทั้งนี้เนื่องจากฝ่ายที่สำคัญและเกี่ยวกับนโยบาย มีวิชาการ การธนาคาร กำกับและตรวจสอบ และต่างประเทศ แต่ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วย หรือรองผู้ว่าการ ไม่เคยได้รับมอบหมายให้คุมมากกว่า 1 ฝ่ายเลย คราวนี้ก็ไม่ได้คุมฝ่ายการธนาคาร (ซึ่งก็ไม่ได้ให้รองคนอื่นคุมด้วย) ฝ่ายกำกับก็ไม่ได้คุม” ดังนั้นจึงตั้งข้อสังเกตว่า “ได้ให้โอกาสผมในการรู้มากแค่ไหน เมื่อพูดถึงนโยบาย โอกาสที่จะเรียนรู้และตัดสินใจคงทำได้ลำบาก เนื่องจากไม่ได้คุมฝ่ายสำคัญๆ นอกจากนี้ผมยังเห็นว่าหากผู้ว่าการต้องการให้ผมรู้หรือต้องการ advice จริงก็ควรจะมีการแบ่งสายงานสำคัญให้คุมมากกว่านี้”

259. น่าเสียดายที่นายชัยวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง เคยได้รับความไว้วางใจให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังมาแล้ว (ปี 2539) และมีความชำนาญในเรื่องนี้มากที่สุด กลับสงวนถ้อยคำและความคิดโดยจำกัดบทบาทของตนเฉพาะเท่าที่มีสายงานให้คุม โดยมิได้เห็นว่าการจำกัดตนดังกล่าว อาจมีผลทำให้ทั้งองค์กรเดินพลาดได้ และเป็นผลเสียหายต่อประเทศส่วนรวม ดูจะเป็นการตั้งแง่เพราะการไม่สะดวกใจในการทำงานร่วมกัน อันเป็นเรื่องส่วนตัว

260. อย่างไรก็ตามจากคำให้การของพนักงานระดับสูงของธนาคารหลายท่านรวมทั้งนายเริงชัยด้วย ความคิดเห็นของนายชัยวัฒน์เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนมีน้ำหนักมาก ทั้งนายเริงชัยและนายอำนวยไม่กล้าตัดสินใจที่จะดำเนินการอื่นใดที่ไม่ตรงกับความเห็นของนายชัยวัฒน์ แต่อย่างไรก็ดี ธปท. มีผู้ว่าการขณะนั้นคือนายเริงชัยซึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายใดๆ และจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจหรือไม่ตัดสินใจ ในเรื่องนั้นๆ ในที่สุด


นายศิริ การเจริญดี ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

261. นายศิริเป็นผู้บริหารระดับสูงที่มีบทบาทในการปกป้องค่าเงินบาท การตรวจสอบและกำกับสถาบันการเงิน และการให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงิน โดยกองทุนฟื้นฟูฯ งานทั้งหมดของฝ่ายการธนาคาร ฝ่ายกำกับและตรวจสอบ และของกองทุนฟื้นฟูฯ จะต้องผ่านสายตาของนายศิริก่อนที่จะเสนอถึงผู้ว่าการ คือนายเริงชัย ด้วยเหตุนี้ในช่วงที่มีภาวะวิกฤต นายศิริจึงเป็นผู้ที่มีความสำคัญน้อยกว่านายเริงชัยเพียงคนเดียวเท่านั้น การที่นายเริงชัยให้ความสำคัญต่อ นายศิริสูงมากเช่นนี้ อาจเป็นเพราะนายเริงชัยเห็นว่าตนด้อยความรู้และประสบการณ์ทางด้านนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้เพราะนายศิริเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคอย่างดีมากคนหนึ่ง เคยทำงานตำแหน่งสำคัญๆ ในฝ่ายวิชาการจนเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ก่อนเลื่อนขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการและผู้ช่วยผู้ว่าการอาวุโสในที่สุด การที่นายเริงชัยให้ความสำคัญต่อนายศิริ ให้ควบคุมดูแลงานสำคัญๆ ถึง 3 ด้านอาจมีผลทำให้ นายชัยวัฒน์ซึ่งมีตำแหน่งสูงกว่านายศิริ แต่มีโอกาสควบคุมงานสำคัญด้านเดียว คือฝ่ายวิชาการมีความน้อยใจและอาจรู้สึกว่านายเริงชัยไม่ให้ความไว้วางใจแก่ตน ซึ่งเป็นการกระทำที่ตรงกันข้ามกับคำชี้แจงของนายเริงชัยที่ว่า ตนไม่มีความรู้และด้อยประสบการณ์ในด้านอัตราแลกเปลี่ยนจึงต้องพึ่งพาความคิดเห็นของนายชัยวัฒน์ในเรื่องนี้

262. ในเมื่อนายศิริมีบทบาทสำคัญทั้งในด้านกองทุนฟื้นฟูฯ การกำกับตรวจสอบสถาบันการเงิน และการปกป้องค่าเงินบาท จนบังเกิดความเสียหายจำนวนมากมาย นายศิริจึงหลบเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องร่วมรับผิดชอบต่อความเสียหายเหล่านี้ด้วย

263. สำหรับในด้านการปกป้องค่าเงินบาทนั้น นายศิริกล่าวว่า

“แต่เมื่อเกิด attack ครั้งที่ 2 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเราต้องใช้เงินไปนับเป็นพันๆ ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบกับมีเหตุการณ์ในตลาดเงินตราต่างประเทศที่ไม่เคยสงบอย่างแท้จริง หลังจากนั้นเป็นต้นมาทำให้ผมเปลี่ยนใจว่า การรักษาเงินบาทภายใต้ภาวะที่เสื่อมลงๆ อย่างนี้ไม่น่าจะ sustain ได้ จึงได้ขอร้องให้ผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารขณะนั้นประเมินว่า โอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จ ในการ defend ค่าเงินบาทโดยแท้จริง ในโอกาสต่อไปมีมากน้อยเพียงไร แต่ได้รับคำอธิบายว่าไม่สามารถประเมินได้เพราะประเมินได้ยาก”

264. น่าเสียดายที่เมื่อนายศิริเห็นว่าธนาคารดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนไม่ถูกต้องเหมาะสมและอาจเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติส่วนรวมได้ นายศิริน่าจะมีความกล้าที่จะแสดงความเห็นของตนอย่างตรงไปตรงมา ไม่ควรเกรงใจผู้บังคับบัญชาจนเมื่อเสนอความเห็นต่อนายเริงชัยในบันทึกของฝ่ายการธนาคารลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2540 ก็นับได้ว่าค่อนข้างจะสายเกินไปแล้ว เมื่อนายศิริเสนอความเห็นให้นายเริงชัยทบทวนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ปรากฏว่าเรื่องดังกล่าวไปค้างอยู่ที่นายชัยวัฒน์กว่าหนึ่งเดือน นายศิริก็น่าจะเร่งทวงถามเพราะในช่วงเวลาอันวิกฤตเช่นนี้ทุกๆ วัน ธนาคารต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศนับร้อยนับพันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง การที่นายศิริขาดความกล้าหรือขาดความเชื่อมั่นในตนเองที่จะพูดหรือแสดงความเห็นที่ตนคิดว่าถูกต้องเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศนั้นอาจมีสาเหตุอีกประการหนึ่งคือ นายศิริทราบว่า นายเริงชัยไม่ชอบให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีความคิดเห็นขัดแย้งไม่ตรงกับความเห็นของตน เจ้าหน้าที่ของธนาคารระดับสูงส่วนใหญ่ก็มักจะปฏิบัติตนเช่นเดียวกับนายศิริ จนกลายเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของธนาคารไป ตามที่นายศิริกล่าวว่า

“อย่างที่ผมได้เรียนไปแล้วว่าหลังจากการ attack ครั้งที่ 2 ในเดือนกุมภาพันธ์ผมก็ประเมินของผมเองว่านโยบายที่ทำอยู่จะไปตลอดรอดฝั่งได้ยาก ก็ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะเปลี่ยนใจผู้คุมนโยบาย แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า การทำงานในธนาคาร เราไม่เคยมีการหักหาญน้ำใจกัน การปฏิบัติชนิดที่ว่าให้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่าไม่เห็นด้วยนั้น ไม่เคยมี เพราะเราเคารพในความเห็นของกันและกัน”

265. วิธีทำงานของธนาคารในลักษณะเช่นนี้ในอนาคตควรจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพราะสถาบันธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นสถาบันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสถาบันหนึ่งของประเทศ หากพนักงานธนาคารทุกคน ทุกระดับไม่กล้าแสดงความคิดเห็นของตนโดยเสรี จะต้องคอยดูกระแสลม และคอยคล้อยตามความเห็นของผู้นำของธนาคารตลอดเวลาแล้ว ถ้าได้ผู้ว่าการที่ด้อยสมรรถภาพ ขาดความรอบรู้ ขาดประสบการณ์ ก็น่าวิตกว่า การทำงานของธนาคารอาจนำประเทศไปสู่วิกฤตการณ์ได้อีกในอนาคต


นายบัณฑิต นิจถาวร ผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคาร ธปท.

266. นายบัณฑิตเป็นนักวิชาการที่มีความรู้ภาคทฤษฎีอย่างดีแต่ประสบการณ์ในภาคปฏิบัติยังมีค่อนข้างจำกัด เมื่อจบการศึกษาปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลีย นายบัณฑิตเป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ระยะหนึ่ง จนได้รับเลือกให้ไปทำงานที่กองทุนการเงินฯ เพิ่งเข้าทำงานกับธนาคารเพียง 5 ปี โดยดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ 3 ปี ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ 1 ปี ในขณะที่มีเหตุการณ์โจมตีค่าเงินบาทนั้น นายบัณฑิต ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคาร ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการปฏิบัติการแทรกแซงตลาดเพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนระบบตะกร้าไว้ให้ได้

267. นายบัณฑิตชี้แจงต่อ ศปร. ว่า ธนาคารได้มีการศึกษาที่จะขยายช่วงของอัตราแลกเปลี่ยนกันบ่อยครั้ง แต่ที่ไม่กล้านำมาใช้เพราะเกรงจะไปกระทบกระเทือนเสถียรภาพของตลาด เพราะจะทำให้คนเกิดความไม่มั่นใจว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะเคลื่อนไหวต่อไปอีกจะเป็นตัวกระตุ้นให้ซื้อเงินเหรียญสหรัฐกันมากขึ้น ถ้าทุกคนกลัวว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในอัตราแลกเปลี่ยนระบบก็คงอยู่ไม่ได้ จึงเห็นว่าต้องแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ก่อน เช่น ปัญหาสถาบันการเงิน ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ เมื่อแก้ปัญหาเหล่านี้แล้ว ถึงจะเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน คนก็ไม่ตื่นตระหนกมากนัก

268. ด้วยเหตุนี้ธนาคารจึงพยายามรักษาเสถียรภาพตลาดไปเรื่อยๆ ถ้ามีทางเสียทุนสำรองก็จะพยายามจัดการกับทุนสำรองด้วยการ swap เพื่อให้ทุนสำรอง มีสภาพคล่องเป็นเงินเหรียญสหรัฐอยู่ เมื่อปลายปี 2539 เรามีทุนสำรองอยู่ 38.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ พอเพียงสำหรับชำระสินค้าเข้าประมาณ 6 เดือน ได้เคยปรึกษากันว่า หากสูญเสียทุนสำรองไปประมาณครึ่งหนึ่งก็จะพิจารณาเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน แต่เมื่อถึงจุดดังกล่าวในเดือนพฤษภาคม ก็ไม่ได้เปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนตามที่พูดกันไว้ เพราะเกรงว่าถ้าเปลี่ยนระบบจะมีความเสี่ยงมากที่อาจจะไม่สามารถรักษาไว้ได้

269. เครื่องมือที่ฝ่ายการธนาคารใช้มากในการรักษาค่าเงินบาทคือ swap จุดประสงค์ของ swap มีอยู่ 2 ประการ คือ

  • ช่วยในการบริหารสภาพคล่องเงินบาท เพื่อลดแรงกดดันอัตราดอกเบี้ย และ

  • ชะลอการสูญเสียของทุนสำรองทางการ

การทำ swap มีอยู่ 2 ประเภท คือ buy-sell swap และ sell-buy swap การ buy-sell ก็คือการซื้อเงินเหรียญสหรัฐทันทีพร้อมกับทำสัญญาที่จะขายเงินเหรียญสหรัฐล่วงหน้าโดยใช้เงินบาทไปซื้อเงินเหรียญสหรัฐ เงินเหรียญสหรัฐก็จะเพิ่มขึ้นที่ทุนสำรอง แต่เงินบาทจะออกไปจากธนาคารเข้าสู่ระบบหรือตลาดเงิน เมื่อครบกำหนดของ swap ธนาคารจะต้องขายเงินเหรียญสหรัฐคืนไป และดูดเงินบาทคืนเข้ามา วิธีการนี้ใช้มากในการป้องกันการโจมตีค่าเงินบาทเพราะช่วยเพิ่มสภาพคล่องของทุนสำรองเป็นการชั่วคราว สำหรับ swap อีกประเภทหนึ่ง คือ sell-buy swap โดยธนาคารจะขายเงินเหรียญสหรัฐทันที เพื่อดูดซับเงินบาทเข้าธนาคาร เมื่อครบกำหนดก็จะซื้อเงินเหรียญสหรัฐกลับโดยแลกกับเงินบาทที่ออกไปจากธนาคาร swap ประเภทหลังนี้ใช้ในการบริหารสภาพคล่องของประเทศ เพื่อไม่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงผันผวนมาก การทำ swap นั้นกระทำทั้งกับธนาคารในประเทศ และธนาคารในต่างประเทศ โดย ธปท. จะมีบัญชีชื่อของธนาคารเหล่านี้เอาไว้

270. นายบัณฑิตยอมรับว่าตลาด offshore เงินบาทในต่างประเทศใหญ่มาก และปริมาณเงินบาทในตลาด offshore เพิ่มขึ้นอีกมากเนื่องจากผลของการทำ swap ของธนาคาร ประเทศสิงคโปร์จะมีการควบคุมเงินของเขาไม่ยอมปล่อยให้ออกไปเพ่นพ่านมากเหมือนกับเงินบาทไทย

271. ศปร. พิจารณาแล้วมีความเห็นว่าฝ่ายการธนาคารใช้ประโยชน์จากวิธีการ swap มากเกินไป การทำ swap มิใช่เป็นการแก้ปัญหาให้กับธนาคาร แต่เป็นการเลื่อนปัญหาออกไประยะหนึ่ง และปัญหาที่เลื่อนออกไปโดยมีจุดประสงค์ที่จะซื้อเวลานั้น เมื่อถึงกำหนดที่ธนาคารต้องชำระคืนเงิน จะเป็นการสร้างปัญหาให้กับธนาคารมากขึ้น การทำ swap เพื่อให้ทุนสำรองที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นชั่วคราว จะช่วยตบตาประชาชนทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศแต่ก็อาจจะมีผลเป็นการหลอกตนเองได้ด้วยเหมือนกัน โดยการเลื่อนเวลาที่จะเผชิญกับความเป็นจริงและลงมือแก้ไขปัญหานั้น จะทำให้ปัญหาใหญ่ขึ้น จนเมื่อธนาคารลงมือแก้ไขปัญหาก็จะพบว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ขยายตัวใหญ่ขึ้นมาก และต้องใช้มาตราการที่รุนแรงขึ้นในการแก้ปัญหานั้น

272. นอกจากนี้ การที่ธนาคารทำ swap ซึ่งมีผลให้ปริมาณเงินบาทในตลาดในประเทศและนอกประเทศเพิ่มขึ้นนั้น เท่ากับเป็นการให้เชื้อเพลิงหรืออาวุธแก่นักเก็งกำไรและ Hedge Fund ให้เข้ามาเผาหรือทำร้ายตัวเราเอง โดยการใช้เงินบาทที่ธนาคารปล่อยเข้าตลาดจากการทำ swap นั้นมาโจมตีค่าเงินบาท โดยการซื้อเงินเหรียญสหรัฐเมื่อถึงโอกาสที่เหมาะ การต่อสู้เพื่อปกป้องเงินบาทของธนาคารในลักษณะเช่นนี้ ธนาคารไม่มีทางชนะได้ เพราะธนาคารเป็นผู้แจกจ่ายกระสุนดินดำให้กับผู้ที่ประสงค์จะโจมตีธนาคารเอง นับว่าเป็นการกระทำที่ผิดพลาดอย่างยิ่งของฝ่ายการธนาคาร ในประวัติศาสตร์ของการทำสงครามใดยังไม่เคยปรากฏว่าฝ่ายหนึ่งของคู่ต่อสู้ช่วยส่งกำลังบำรุงพร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อใช้ในการโจมตีตนเอง การสงครามในลักษณะดังกล่าวนี้ ธปท. แพ้ตั้งแต่เริ่มต้นอยู่แล้ว ยิ่งธนาคารดึงดันต่อสู้นานเท่าไร ความเสียหายย่อมจะเกิดขึ้นต่อส่วนรวมมากขึ้นเท่านั้น

273. นายบัณฑิตพยายามให้เหตุผลการทำ swap ของฝ่ายการธนาคารว่า การที่ประเทศมีทุนสำรองนั้นก็มีพันธะอยู่แล้ว ว่าจะต้องขายทุนสำรองให้กับผู้ใดก็ตามที่มาขอซื้อเงินเหรียญสหรัฐ เพื่อชำระหนี้และค่าสินค้าที่สั่งเข้ามา การที่เรามีพันธะทาง swap ไม่แตกต่างไปจากพันธะที่ทุนสำรองมีอยู่แล้วแต่อย่างใด นายบัณฑิตสรุปว่า

“ดังนั้น swap obligation ของ ธปท. ก็คือภาระที่ต้องใช้เงินทุนสำรองต่างประเทศเพื่อ meet ความต้องการเงินตราต่างประเทศของธุรกิจเอกชนในประเทศ และนักลงทุนต่างประเทศ เทียบกับระยะเดิมที่ทุนสำรองเงินตรามีไว้เพื่อ meet ความต้องการของภาคเอกชนเช่นกัน เพียงแต่ในกรณีของ swap ภาระที่จะต้องขายให้ภาคเอกชนจากทุนสำรองทางการได้ถูกทำสัญญาไว้แล้วล่วงหน้า ทั้งในด้านราคาและปริมาณของ 12 เดือนข้างหน้า”

274. ความเข้าใจของนายบัณฑิตคงจะไม่ผิดมากนัก ในกรณีที่ภาวะทางการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปรกติ แต่ในภาวะที่ Hedge Fund และนักเก็งกำไรกำลังจ้องหากำไรจากการลดค่าเงินบาทของเราอยู่ นักเก็งกำไรเหล่านี้จะขายเงินเหรียญสหรัฐให้ธนาคารในทันทีเพื่อรับเงินบาทไป เมื่อมีจังหวะเหมาะ ก็จะนัดหมายกันระดมขายเงินบาทในตลาดต่างประเทศ และเมื่อไรก็ตามที่ ธปท. หมดสภาพ หมดกำลังที่จะเข้าไปแทรกแซง โดยการขายเงินเหรียญสหรัฐในตลาดเหล่านี้ก็ต้องยอมลดค่าเงิน เงินเหรียญสหรัฐแต่ละเหรียญที่นักเก็งกำไรได้รับจากการขายล่วงหน้าก็จะมีกำไรเท่ากับส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนที่ต้องถูกบังคับให้ลดลงนั้น ในภาวะเช่นนี้ การทำ swap เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับทุนสำรองทันที จะมีผลเท่ากับเป็นการสร้างภาระหรือพันธะให้กับทุนสำรองต้องจ่ายเงินเหรียญสหรัฐให้กับคู่สัญญาในราคาที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาท และทั้งเป็นภาระหรือพันธะเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากพันธะที่ทุนสำรองมีอยู่กับผู้ทำธุรกิจซื้อขายเงินตราต่างประเทศตามปรกติอีกด้วย


นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน
หัวหน้าส่วนวิเคราะห์และธุรกิจตลาดเงิน ฝ่ายการธนาคาร ธปท.


275. นายไพบูลย์เป็นจักรกลสำคัญในการต่อสู้ป้องกันค่าเงินบาท เพราะการซื้อขายเงินตราต่างประเทศของฝ่ายการธนาคารและทุนรักษาระดับฯ กระทำผ่านส่วนงานที่นายไพบูลย์เป็นหัวหน้าส่วนทั้งสิ้น ดังนั้นนายไพบูลย์จึงเปรียบเสมือนทหารกองหน้า ที่ต้องคอยสังเกต ตรวจสอบภาวะการเปลี่ยนของตลาดแล้วเสนอให้คณะกรรมการชุดเล็กพิจารณาสั่งการเพื่อตนจะได้ดำเนินการในแต่ละวัน นายไพบูลย์เป็นคนฉลาด มีความสามารถในการพูด จึงเป็นที่ไว้วางใจของนายเริงชัยมาก แต่คู่ต่อสู้ของนายไพบูลย์ คือนักการเงินฝีมือฉกาจฉกรรจ์ซึ่งเป็นทั้งนักเก็งกำไร ผู้จัดการ Hedge Fund ในตลาดการเงินต่างๆ บุคคลเหล่านี้ได้เปรียบนายไพบูลย์มาก เพราะทุกคนมีข้อมูลการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการเงินของไทยอย่างสมบูรณ์ตลอดเวลา แต่นายไพบูลย์ไม่มีข้อมูลของบุคคลเหล่านี้ว่าเป็นใคร ได้รวบรวมเงินบาทไว้มากน้อยเท่าไรในการจะใช้โจมตีค่าเงินบาทในระลอกต่อไป นายไพบูลย์จึงอยู่ในที่สว่าง แต่นักเก็งกำไรอยู่ในที่มืดมองเห็นได้ยาก การปฏิบัติการใดๆ ของธนาคาร ข้อมูลจะสื่อสารไปถึงบุคคลใดนักเก็งกำไรทราบทั้งสิ้น แม้แต่การซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับธนาคารในประเทศ ธนาคารทุกธนาคารก็จะทราบได้โดยสังเกตจาก clearing ในตอนบ่ายในแต่ละวัน ส่วนการเข้าแทรกแซงซื้อขายเงินตราต่างประเทศผ่านธนาคารต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายโดยตรง หรือวิธีการ swap ก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้เชื่อว่ามิได้เป็นความลับ เพราะธนาคารต่างประเทศ
ที่นายไพบูลย์ติดต่อเหล่านี้แทบทั้งหมดทำหน้าที่เป็นนักเก็งกำไร (speculator) จากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทด้วย ถ้าจะมียกเว้นคงจะเป็นธนาคารญี่ปุ่นการต่อสู้เพื่อป้องกันค่าเงินบาทในภาวะเช่นนี้ ธปท. อยู่ในฐานะเสียเปรียบ เพราะหาเพื่อนแท้แทบไม่ได้ นอกจากธนาคารกลาง 4-5 ประเทศเท่านั้นส่วนธนาคารอื่นๆ ที่นายไพบูลย์ใช้ในการซื้อขายเงินทั้งปัจจุบัน และล่วงหน้าก็คงจะคอยหาโอกาสที่จะทำกำไรจากการลดค่าเงินบาทของไทย เพราะผลกำไรที่จะได้รับจากการลดค่าเงินของไทยนั้นจะมีจำนวนมหาศาล ธนาคารเหล่านี้จะกระทำการทุกอย่างเพื่อหากำไรอยู่แล้ว

276. นายไพบูลย์มีพื้นความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ แต่มีประสบการณ์ในการทำงานโดยเฉพาะการซื้อขายเงินตราต่างประเทศน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับคู่ต่อสู้ของนายไพบูลย์ในตลาดการเงินต่างๆ นายไพบูลย์ไม่เคยสัมผัสกับการปฏิบัติงานในสถาบันการเงินหรือตลาดเงินอย่างใกล้ชิดมาก่อน จึงทำให้ไม่สามารถเข้าใจพื้นความคิด ปัญหา และเทคนิคต่างๆ ของบุคคลในวิชาชีพเหล่านี้ นายเริงชัยอาศัยนายไพบูลย์ เป็นทั้งผู้ปฏิบัติการในการแทรกแซงตลาดและเป็นผู้ให้ข่าวกรองถึงความเคลื่อนไหวของเหล่านักเก็งกำไรข้ามประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดธนาคารจึงประสบความพ่ายแพ้อย่างยับเยิน


สรุป

277. ในความรู้สึกของนายธนาคารกลางทุกท่านนั้น ทุนสำรองเป็นสิ่งที่มีค่าและมีความสำคัญยิ่ง ถ้าจะเปรียบกับอวัยวะของร่างกายแล้ว ทุนสำรองเปรียบเสมือนหัวใจของร่างกาย จึงจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่ ดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพราะเครดิตของประเทศใดๆ นั้น ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับทุนสำรองที่ธนาคารกลางดูแลอยู่ หากเมื่อใดทุนสำรองของประเทศหมดสิ้นจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ย่อมหมายถึงภาวะการล้มละลายของเศรษฐกิจนั้นๆ ในทางตรงกันข้ามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของประเทศใดๆ นั้น เป็นแต่เพียงเครื่องมือหรือมาตรการหนึ่งในการดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศเช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งธนาคารกลางอาจปรับหรือเปลี่ยนให้สูงต่ำได้ เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละขณะและเพื่อช่วยแก้ไขบรรเทาปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ด้วยเหตุนี้การที่นายเริงชัยและคณะทุ่มเทความคิดและทุนสำรองเพียงเพื่อจะรักษาระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ที่ไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจการเงินของประเทศแล้ว ทั้งๆ ที่ปุถุชนผู้ยึดติดกับแนวความคิดดังกล่าวก็น่าจะมองเห็นตั้งแต่ต้นปี 2540 แล้วว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปกป้องได้ต่อไปอีกแล้ว และทั้งๆ ที่กองทุนการเงินฯ ซึ่งมีแหล่งข่าวดีในตลาดเงินต่างๆ ตามคำชี้แจงของนายชัยวัฒน์ ก็ได้เตือนธนาคารแล้วว่า ทรัพยากรของเหล่านักเก็งกำไรมีอยู่มหาศาลเกินกำลังที่ธนาคารจะปกป้องรักษาค่าเงินบาทไว้ได้ การกระทำของนายเริงชัยและคณะอย่างในลักษณะหน้ามืดตามัวเช่นนี้ จึงเป็นสิ่งที่ ศปร. ไม่สามารถเข้าใจได้

278. หากจะอ้างว่าการที่นายเริงชัยและคณะไม่กล้าแตะต้องอัตราแลกเปลี่ยนเพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบซ้ำเติมต่อปัญหาอื่น เช่น สถาบันการเงินเป็นต้น เหตุผลดังกล่าวถือได้ว่าเป็นที่ยอมรับได้ แต่นายธนาคารกลางที่ดีนั้นจะต้องมองปัญหาบนพื้นฐานของความเป็นจริงไม่หลอกตนเอง ปัญหาสถาบันการเงินเป็นปัญหาใหญ่ที่สำคัญปัญหาหนึ่งก็จริง แต่การที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ปรากฏผลเป็นรูปธรรมนั้นจะต้องใช้เวลานานหลายปี แต่ทุนสำรองของประเทศมีจำนวนจำกัดอาจหมดสิ้นไป ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น เมื่อหมดสิ้นไปแล้วยากที่จะหามาชดเชยได้อีก คือหมดไปแล้วก็จะหมดไปเลย ในอดีตเช่นในปี 2524 ภาวะการณ์คล้ายคลึงกันนี้ก็เคยเกิดขึ้น ขณะนั้นสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งอ่อนแอมาตั้งแต่บริษัทราชาเงินทุนปิดกิจการและการตกต่ำของตลาดหุ้น ทำให้บริษัทเงินทุนเหล่านี้มีฐานะง่อนแง่น และเมื่อมีการลดค่าเงินในเดือนกรกฎาคม 2524 หลายบริษัทต้องปิดกิจการลง และธนาคารก็ต้องหามาตรการเข้ารองรับ การลดค่าเงินจะต้องกระทบกระเทือนบริษัทและบุคคลที่กู้ยืมเงินจากแหล่งเงินทุนในต่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จำนวนบุคคลหรือบริษัทที่ถูกกระทบกระเทือนมีจำนวนจำกัดเพียงจำนวนหมื่นหรือแสนราย แต่การปล่อยให้ทุนสำรองหมดสิ้นไปจนเครดิตของประเทศแทบไม่เหลืออยู่นั้นผลกระทบกับกิจการและบุคคลทั่วทั้งประเทศจะมีมากกว่ามากมาย เพราะค่าของเงินที่ทางการลดขณะยังมีทุนสำรองเหลืออยู่กับค่าของเงินที่ถูกความจำเป็นบังคับให้ลดขณะที่แทบไม่มีทุนสำรองเหลืออยู่เลยนั้น จะมีความรุนแรงผิดกันมาก

279. หากจะถามว่าความเสียหายจำนวนมหาศาลที่เกิดจากการนำทุนสำรองของประเทศไปทุ่มเท เพื่อปกป้องค่าเงินบาทและมีผลให้ประชาชนจำนวน 60 ล้านคน ต้องรับความทุกข์ยากลำบากโดยไม่มีส่วนรู้เห็นนั้น ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ? การต่อสู้กับนักเก็งกำไรครั้งนี้เปรียบได้กับการทำสงครามทางเศรษฐกิจ เมื่อฝ่ายรัฐบาลไทยพ่ายแพ้หมดสิ้นทุนสำรองของชาติไปกว่า 30 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะนายกรัฐมนตรี หัวหน้ารัฐบาล นายอำนวย วีรวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้มีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของ ธปท. รวมทั้งเจ้าหน้าที่ธนาคารที่กล่าวถึงทั้ง 5 ท่าน ซึ่งมีนายเริงชัย เป็นหัวหน้าในฐานะผู้ว่าการธนาคาร พลเอกชวลิตต้องรับผิดชอบ เพราะความเสียหายทั้งหมดเกิดขึ้นในระหว่างที่รัฐบาลของพลเอกชวลิตบริหารประเทศอยู่ นายเริงชัยชี้แจงว่าระหว่างที่มีการโจมตีค่าเงินบาท ตนได้รายงานให้พลเอกชวลิต และนายอำนวยทราบอยู่ตลอดเวลาการรายงานมากน้อยเท่าใดนั้นไม่สำคัญเพราะอยู่ในวิสัยที่ทั้งสองท่าน (โดยเฉพาะนายอำนวย) จะซักถามข้อมูลต่อได้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทุนการเงินฯ หลายท่าน ตั้งแต่นาย Camdessus ผู้อำนวยการกองทุนฯ นาย Fischer รองผู้อำนวยการกองทุนการเงินฯ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่นๆ เช่น นาย Aghevli ผู้แทนส่วนตัวของนาย Camdessus ได้เตือนพลเอกชวลิต นายอำนวย นายเริงชัย หลายครั้ง ให้ปรับปรุงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศ นาย Fischer ถึงกับเดินทางมาพบพลเอกชวลิตด้วยตนเองแต่ไม่มีโอกาสได้พบ มีโอกาสพบกับนายอำนวยและนายเริงชัยและพูดโทรศัพท์กับพลเอกชวลิตเท่านั้น แต่น่าเสียดายที่ความพยายามของเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ ทั้งทางจดหมายและการมาพบกับบุคคลดังกล่าวด้วยตนเองไม่บังเกิดผลแต่อย่างใดเลย จนเมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ค่าเงินบาทตกต่ำถึงร้อยละร้อย เจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ จึงออกมาพูดว่า “ได้เตือนรัฐบาลไทยหลายครั้งแล้วแต่ไม่มีใครฟัง”

นาย Camdessus ให้สัมภาษณ์นิตยสาร Time ฉบับวันที่ 23 มีนาคม 2541 ว่าดังนี้

“For a long time we’d urged them to make changes. I personally visited there [Thailand] four times, a couple of them secretly. The Thais were telling us they couldn’t change. They were doing too little, too late.”

280. ในบรรดาผู้ที่ต้องรับผิดชอบเหล่านี้ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบมากที่สุดก็คือนายเริงชัย เพราะในฐานะผู้ว่าการธนาคาร นายเริงชัยมีข้อมูลทั้งหมดในมือ มีโอกาสได้พบกับเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ ระดับต่างๆ มากที่สุด นายเริงชัยในฐานะผู้ว่าการธนาคารสามารถปรึกษาหารือกับผู้รู้ทั้งภายในและภายนอกธนาคาร แต่ในที่สุดแล้วการตัดสินใจจะต้องเป็นของนายเริงชัยเอง ไม่ควรใช้การประชุมผู้บริหารแล้วใช้เสียงส่วนใหญ่ตัดสิน ดังเช่นที่นายเริงชัยชี้แจงว่าเป็นวิธีตัดสิน เมื่อเกิดปัญหาขึ้น หากมีการตัดสินใจผิดพลาด นายเริงชัยก็ไม่ควรไปโทษผู้บังคับบัญชาว่าตนได้รายงานแล้ว แต่ผู้บังคับบัญชาไม่ให้นโยบาย หรือโทษผู้ใต้บังคับบัญชาว่าไม่ให้คำแนะนำ หรือให้คำแนะนำไม่ถูกต้อง การปฏิบัติเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่สมควร ตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งบางท่านถึงกับกล่าวว่ามีความสำคัญยิ่งกว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสียอีก เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้นหากตัดสินใจเรื่องใดผิดพลาดไม่ว่าเป็นเรื่องงบประมาณหรือการหารายได้ หรือการกู้ยืมเงินของประเทศ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะไม่รุนแรง เป็นจำนวนมากมายอย่างเช่นในกรณีที่ธนาคารใช้ทุนสำรองจนแทบหมดสิ้นในครั้งนี้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่นายเริงชัยจะสามารถนำมาแก้ตัวให้ตนเองไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับธปท. และกับประชาชนทั้งประเทศในครั้งนี้




เรื่องเดิม

281. ในช่วงปี 2524-2525 เป็นระยะเวลาที่ภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำเพราะราคาน้ำมัน ธนาคารหลายแห่ง ได้แก่ ธนาคารเอเชียทรัสต์ ธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารมหานคร รวมทั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อีกเป็นจำนวนมาก ประสบปัญหาอย่างรุนแรง จนต้องมีการช่วยเหลือจากทางการ สถาบันการเงินเหล่านี้ ต่างได้รับการช่วยเหลือทางการเงินจากทางการตามโครงการ 4 เมษายน 2527 ต่อมาทางการได้เข้าไปช่วยฟื้นฟูธนาคารเอเชียและธนาคารกรุงไทยอีกด้วย

282. ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด ได้สมัครใจเลือกแก้ปัญหาด้วยตนเอง ในเดือนกันยายน 2535 นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ ได้เข้ารับตำแหน่ง เป็นกรรมการผู้จัดการและได้เลือกพนักงาน ธปท. 2 คน เข้าไปรับตำแหน่งบริหาร และแต่งตั้งนายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการของธนาคาร ด้วยความเห็นชอบของ ธปท.

283. ปัญหาของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ เห็นได้ชัดจากผลการตรวจสอบ ณ วันที่ 30 เมษายน 2534 รายงานเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2535 ว่าธนาคารมีสินทรัพย์จัดชั้นรวม 18.2 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 26.73 ของสินทรัพย์รวม ซึ่งจัดว่าเป็นปัญหามากอยู่ เพราะอัตราสินทรัพย์จัดชั้นเฉลี่ย ของทั้งระบบธนาคารเท่ากับ 7.41 เท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่ง ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การมีสินทรัพย์มีปัญหาสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของทั้งระบบธนาคารถึง 3.6 เท่า ธปท. เห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญและเร่งด่วน อาจมีผลเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชนได้ ตามปกติแล้ว ธปท. จะสั่งการเป็นขั้นตอน โดยเริ่มจากการสั่งการ โดยใช้พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ 2505 ซึ่งให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยสั่งธนาคารพาณิชย์ให้ตัดสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคา หรือเรียกคืน ไม่ได้ออกจากบัญชี หรือกันเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์ดังกล่าว (มาตรา 15 ทวิ และมาตรา 22 วรรคสอง) และให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่ง ให้ ธนาคารพาณิชย์สามารถเพิ่มทุนหรือลดทุนได้ (มาตรา 24 ทวิ วรรคหนึ่ง) ซึ่งเป็นมาตรการที่รุนแรง แต่เนื่องจากเห็นว่ากรณีของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ เป็นเรื่องสำคัญมาก จึงได้สั่งการตามมาตรา 24 ทวิ วรรคหนึ่งดังที่กล่าวแล้วทันที โดยให้เพิ่มทุนทันที 800 ล้านบาท ในปี 2535 และมีแผนเพิ่มทุนที่แน่นอน สำหรับปี 2535-2537

284. ในการตรวจสอบ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2536 รายงานเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2537 สินทรัพย์จัดชั้นได้เพิ่มขึ้นเป็น 38.5 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.57 ของสินทรัพย์รวม ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการให้สินเชื่อรายใหญ่จำนวนเงินสูงโดยไม่ระมัดระวังมีข้อน่าสังเกตเพิ่มเติม ณ จุดนี้ก็คือ สินทรัพย์จัดชั้น ได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว (ร้อยละ 112) แสดงว่า ธปท. ไม่สามารถควบคุมให้การดำเนินงานของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ เป็นไปตามมาตรฐานที่ต้องการได้แล้ว จากคำชี้แจงของอดีตผู้ว่าการ ธปท. นายวิจิตร สุพินิจ ต่อ ศปร. ว่า

“....การแก้ไขปัญหาของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การไม่ได้ผลเท่าที่ควร..... ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นว่าทางการจำเป็นต้องเข้าถือหุ้นควบคุมการบริหารภายในโดยตรง เพื่อให้ได้ผลโดยเร็ว”

ธปท. จึงออกคำสั่งให้เป็นไปตามมาตรการตรวจสอบอีกวาระหนึ่ง

285. ในการตรวจสอบ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2537 รายงานเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2538 ว่าสินทรัพย์จัดชั้นได้เพิ่มขึ้นอีก และปรากฏว่าได้มีการให้สินเชื่อเพื่อ ครอบงำกิจการในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยธนาคารไม่ได้พิจารณาด้วยความรอบคอบรัดกุม การประเมินหลักทรัพย์เป็นไปในแนวสูงเกินไป ตัวอย่างเช่น การให้กู้ยืมเพื่อครอบงำกิจการที่นายราเกซ สักเสนา และผู้บริหารบางคนมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก การให้เบิกเงินเกินบัญชีโดยไม่มีสัญญาและ หลักประกัน โดยมีการอนุมัติเกินอำนาจ เป็นต้น ธปท. เห็นว่าเป็นการดำเนินงานที่ไม่เหมาะสม จึงได้สั่งการในเรื่องดังกล่าว และได้สั่งการมิให้นายราเกซ สักเสนา ยุ่งเกี่ยวกับกิจการธนาคาร อีกทั้งได้สั่งให้เพิ่มทุน 3 พันล้านบาทภายในเดือนมิถุนายน 2538 และอีก 3.7 พันล้านบาทในปี 2539

286. การเพิ่มทุนในปี 2538 เป็นไปอย่างเชื่องช้ามาก กลุ่มตันติพิพัฒน์พงศ์ได้เข้าซื้อหุ้นของธนาคาร คิดเป็นร้อยละ 14.69 ของทุนชำระแล้ว และในตอนปลายปี 2538 กองทุนฟื้นฟูฯ กับธนาคารออมสินได้เข้าไปซื้อหุ้นของธนาคาร คิดเป็นร้อยละ 6.25 และร้อยละ 3.13 ของทุนชำระแล้วตามลำดับ ต่อมาในการเพิ่มทุนเมื่อ มีนาคม 2539 กองทุนฟื้นฟูฯ และธนาคารออมสินได้ซื้อหุ้นเพิ่มรวมทั้งสิ้นเท่ากับร้อยละ 34.96 และร้อยละ 2.39 ของทุนชำระแล้ว ตามลำดับ

287. ในวันที่ 8-10 พฤษภาคม 2539 ได้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพาดพิงถึงธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ มีผลให้เกิดการแตกตื่น ถอนเงินจากธนาคาร จนต้องมีการควบคุมธนาคาร โดยได้ตั้งคณะกรรมการควบคุมในวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 และในวันที่ 6 มิถุนายน 2539 ได้ปลด นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ ในเดือนเดียวกันนั้นเอง ก็ได้มีการกล่าวโทษนายเกริกเกียรติ ในที่สุดมีการกล่าวโทษนายเกริกเกียรติ ถึง 20 คดีด้วยกัน

มาตรการของ ธปท. ต่อธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด

288. 26 สิงหาคม 2537 ธปท. โดยนายจรุง หนูขวัญ (ผู้ช่วยผู้ว่าการในขณะนั้น) ได้เรียกคณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การเข้าพบ เนื่องจากในการตรวจสอบเมื่อ 31 มีนาคม 2537 พบว่า มีหนี้ด้อยคุณภาพสูงถึง 20 พันล้านบาท จากการประชุมสรุปว่า ทางธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ รับที่จะเพิ่มทุนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2537 เป็นจำนวนเงิน 3 พันล้านบาท โดยไม่มีการกล่าวถึงการลดทุนแต่อย่างใด และทางธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ตกลงที่จะขายหุ้นให้กองทุนไม่น้อยกว่า 50 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 750 ล้านบาท (การเจรจานี้เกิดขึ้นหลังจากการตรวจสอบ แต่เกิดขึ้นก่อนจะมีการออกรายงาน การตรวจสอบอย่างเป็นทางการ)

289. 30 มิถุนายน 2538 นางเกลียวทอง เหตระกูล (ผจก.กองทุน) มีหนังสือถึงนายจรุง หนูขวัญ (ผู้ช่วยผู้ว่าการ) เสนอให้อนุมัติการตอบรับการซื้อหุ้น เพิ่มทุนจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำนวน 50 ล้านหุ้น หุ้นละ 15 บาท มูลค่า 750 ล้านบาท และชำระค่าจองในวันที่ 5 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็น วันสุดท้ายตามที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การกำหนด แล้วจึงค่อยนำเสนอภายหลังต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดการกองทุน ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 28 กรกฎาคม 2538 ในการนี้ นายจรุง หนูขวัญ และนายวิจิตร สุพินิจ (ผู้ว่าการ) มีคำสั่งอนุมัติในวันที่ 30 มิถุนายน 2538 และคณะกรรมการจัดการกองทุนได้ให้สัตยาบัน ในการประชุมวันที่ 18 กรกฎาคม 2538

290. 15 มีนาคม 2539 ธปท. โดยนายวิจิตร สุพินิจ (ผู้ว่าการ) มีคำสั่งให้ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ เพิ่มทุนอีก 500 ล้านหุ้น และให้กองทุนฟื้นฟูฯ เข้าซื้อทั้ง 500 ล้านหุ้น เป็นเงิน 5.4 พันล้านบาท โดยส่วนหนึ่งซื้อในราคาหุ้นละ 12 บาท โดยให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นเดิมในการซื้อคืน และอีกส่วนหนึ่งในราคาหุ้นละ 10 บาท สาเหตุการเพิ่มทุนครั้งนี้ เนื่องมาจากการเพิ่มทุนครั้งก่อน ทางธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ แจ้งว่าได้เงินทั้งสิ้น 5 พันล้านบาท แต่ ธปท. ตรวจสอบ ภายหลังพบว่า “ไม่ได้รับเงินชำระค่าหุ้นเป็นตัวเงินแท้จริง จำนวน 1.97 พันล้านบาท” จึงไม่ได้ตามเป้าหมายที่ ธปท. กำหนดไว้ 3 พันล้านบาท และฐานะของ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การก็เสื่อมไปอีกมาก ธปท. จึงเห็นว่าต้องมีการเพิ่มทุนอีกครั้ง

291. 17 พฤษภาคม 2539 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย) ได้สั่งควบคุมการดำเนินงานของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ และตั้งคณะกรรมการควบคุม โดยมีนายพชร อิสรเสนา ณ อยุธยา เป็นประธานตามสำเนาคำชี้แจงของนายเริงชัย มะระกานนท์ ที่ยื่นต่อผู้อำนวยการสำนักงาน ตรวจเงินแผ่นดินเมื่อกุมภาพันธ์ 2541 แจ้งว่าธนาคารได้ยื่นแผนฟื้นฟูต่อรัฐมนตรีฯ หลังจากนั้นในวันที่ 4 กรกฎาคม 2539 ธนาคารได้พบรัฐมนตรีฯ เพื่อหารือ เรื่องแผนขอความเห็นชอบให้เพิ่มทุน ต่อมาเมื่อนายเริงชัยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการ ก็ได้ดำเนินการต่อจากที่รัฐมนตรีฯ ได้ให้ความเห็นชอบไว้

292. 5 สิงหาคม 2539 นายเริงชัย มะระกานนท์ มีคำสั่งให้ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ เพิ่มทุนอีก 22.5 พันล้านบาท โดยให้กองทุนฟื้นฟูฯ เข้าซื้อทั้งหมด ด้วยเหตุผลว่าเพื่อความสะดวกรวดเร็ว และเพื่อจะกำหนดเงื่อนไขการจัดสรรหุ้นให้ผู้สนใจอื่นๆ ลงทุนในภายหลัง

293. นายวิจิตร สุพินิจ ได้ชี้แจงต่อ ศปร. ว่า การดำเนินการกับธนาคารโดยไม่ได้สั่งให้ลดทุน เป็นเพราะเห็นว่าธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การเป็นเพียง ธนาคารเดียวที่เกิดปัญหา อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจก็ยังดีอยู่ และธนาคารแห่งนี้ก็เป็นธนาคารที่อยู่ในความสนใจของสังคมมาก การสั่งให้ลดทุนอาจทำให้ ตลาดรู้ถึงสภาพปัญหาและตื่นตระหนก อันอาจมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังสถาบันการเงินอื่นได้ ดังนั้นจึงเลือกที่จะใช้วิธีนุ่มนวล ไม่ต้องการให้ตระหนกตกใจ ว่าจะมีธนาคารล้ม และพยายามประคับประคองด้วยการแก้ไขปัญหาอย่างเงียบๆ เรียกหนี้คืน และจัดการกับผู้บริหารเดิมให้เสร็จสิ้น ถ้าหากไม่เกิดภาวะวิกฤติ ทางเศรษฐกิจเช่นในปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาธนาคารพาณิชย์เพียงแห่งเดียวก็อาจเป็นไปได้ด้วยดีและไม่กระทบกับสถาบันการเงินอื่น อีกประการหนึ่ง หนี้ส่วนใหญ่ที่ต่อมากลายเป็นหนี้มีปัญหานั้นเป็นหนี้ที่เกิดจากการครอบงำกิจการ หากตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังรุ่งเรืองอยู่ หนี้ส่วนนี้อาจจะไม่มีปัญหา

294. ในต้นปี 2540 เมื่อได้จำนวนตัวเลขหนี้ที่มีปัญหาแล้ว กองทุนฟื้นฟูฯ รับหนี้ที่มีปัญหาจำนวน 60 พันล้านบาทไว้และดำเนินการแก้ไขปัญหาใน ธนาคารนี้ด้วยการจ้างบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเข้าไปบริหารธนาคาร และให้สิทธิในการซื้อหุ้นจากกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นช่วงๆ ไป ด้วยเงื่อนไข ด้านราคาตามที่ตกลงกันล่วงหน้าโดยผู้ที่เข้าไปบริหารจะทำการตรวจสอบและจัดชั้นหนี้อีกครั้งหนึ่ง และกองทุนฟื้นฟูฯ จะรับหนี้เสียออกมาอีกจำนวนหนึ่ง หากมีการตรวจพบ

295. วิธีการที่กองทุนฟื้นฟูฯ และ ธปท. ดำเนินการแก้ไขปัญหาของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ก่อให้เกิดผลทางด้านจิตวิทยาต่อทั้งประชาชนและ เจ้าหน้าที่ของรัฐหลายประการ

296. ประการแรกก็คือการเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนโดยไม่มีการลดทุนก่อนทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมไม่ได้รับความเสียหายเลย และไม่ได้มีการปรับปรุงผู้บริหารอย่าง เห็นได้ชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องที่ ธปท. ถูกวิจารณ์มากว่าไม่ได้ดำเนินการอย่างเข้มงวดเท่าที่ควร ก่อให้เกิดความสงสัยในความเป็นธรรมของผู้บริหารธนาคารกลาง

297. ประการต่อมา การเพิ่มทุนหลายระลอกและการตรวจสอบพบหนี้เสียเพิ่มเติมดังปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยครั้ง ทำให้คนทั่วไป เกิดความไม่มั่นใจในระบบการตรวจสอบ และวิธีการประเมินความเสียหายในสถาบันการเงินของ ธปท. เมื่อประกอบกับปัญหาที่กำลังก่อตัวขึ้นในบริษัทเงินทุน ต่างๆ จึงเป็นไปได้ว่า ความไม่มั่นใจดังกล่าวทำให้น้ำหนักในคำแถลงของ ธปท. ในระยะนี้ไม่ได้ผลด้านจิตวิทยาเท่าที่ควร โดยเฉพาะเมื่อคำแถลงไม่ตรงกับ การคาดคะเนของผู้รับฟัง เรื่องจึงไม่ยุติลงได้ง่าย กลายเป็นวิกฤตในด้านความเชื่อมั่นที่สาธารณชนมีต่อ ธปท.

298. ประการสุดท้าย ภาระด้านการเงินที่เกิดขึ้นกับกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นเรื่องที่ทุกคนเริ่มจับตามอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับเป็นครั้งแรกที่กองทุนฟื้นฟูฯ เข้าไปช่วยกิจการหนึ่งแล้วไม่สามารถทำให้กิจการนั้นพ้นภาระไปได้ ประกอบกับเมื่อธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การประกาศผลการดำเนินงานว่าขาดทุน ความไม่มั่นใจในการสนับสนุนของกองทุนฟื้นฟูฯ หรือทางการที่มีต่อธนาคารที่ตนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ยิ่งมีมากขึ้น

ความไม่โปร่งใสของมาตรการช่วยเหลือธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ

299. ศปร. พิจารณาเห็นว่า มาตรการแก้ไขปัญหาธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การของ ธปท. ได้รับการวิจารณ์อย่างกว้างขวาง สมควรได้รับการพิจารณาใน รายงานนี้ โดยเฉพาะในประเด็นความโปร่งใสของมาตรการและการไม่ลดทุนของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การก่อนการเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มทุนของธนาคาร หลักการของการลดทุนก่อนการเพิ่มทุนก็เพื่อให้ผู้ถือหุ้นเดิมซึ่งเป็นเจ้าของ กิจการต้องรับผิดชอบต่อผลการดำเนินการและความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อมีการ บริหารที่ผิดพลาด แต่ถ้า ธปท.เข้าไปสั่งการให้เพิ่มทุน ชักชวนให้บุคคลที่สามเข้าร่วมซื้อหุ้นเพิ่มทุน ชักชวนให้ธนาคารออมสินของรัฐบาลเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน และนำเงินกองทุนฟื้นฟูฯ ไปซื้อหุ้นด้วยโดยมิได้ลดทุนก่อน ก็หมายความว่าผู้ถือหุ้นเดิมมิต้องรับผิดชอบแต่อย่างใดต่อความผิดพลาดที่ เกิดจาก การดำเนินงานในอดีตเลย

300. นายวิจิตร สุพินิจ ผู้ว่าการ ธปท. ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายการช่วยเหลือธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ได้ให้เหตุผลที่มิได้ลดทุนก่อนการเพิ่มทุน ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การต่อ ศปร. ดังนี้

  1. การลดทุนจะทำให้ประชาชนและเจ้าหนี้ต่างประเทศเห็นว่าธนาคารนี้มีปัญหาร้ายแรง จะมีผลกระทบกับสถาบันการเงินอื่น
  2. ทางการได้ชวนกลุ่มตันติพิพัฒน์พงศ์ เข้ามาร่วมถือหุ้นใหญ่ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2538 การลดทุนจะมีปัญหากับกลุ่มนี้
  3. การลดทุนจะสร้างปัญหากับผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จนอาจมีการฟ้องร้อง ซึ่งสถาบันการเงิน ที่ถูกลดทุนในอดีตไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
  4. เมื่อกองทุนฟื้นฟูฯ ซื้อหุ้นเพิ่มทุนในธนาคารกรุงไทย และธนาคารเอเชีย ก็มิได้ลดทุนก่อน และ
  5. การลดทุนจะไม่ช่วยแก้ปัญหาการเงินของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การมากนัก เพราะราคา หลักทรัพย์ในตลาดอยู่เกิน 10 บาทไม่มากนัก และไม่สามารถลดลงต่ำกว่า 10 บาทตามระเบียบ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และไม่ต่ำกว่า 5 บาทตามกฎหมายมหาชน อีกทั้งนายวิจิตรอ้างว่าการซื้อหุ้น เพิ่มทุนในเดือนกรกฎาคม 2538 และมีนาคม 2539 ได้นำความหารือกับรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลังในขณะนั้นด้วยแล้ว

301. ศปร. สนใจทางเลือกของ ธปท. ในการตัดสินใจไม่ลดทุนก่อนการเพิ่มทุนว่ามีลู่ทางอื่นประการใดบ้าง นายวิจิตรได้ชี้แจงต่อ ศปร. ว่าการลดทุน จะทำให้ประชาชนและเจ้าหนี้ต่างประเทศเห็นว่าธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ มีปัญหาร้ายแรง จะมีผลกระทบกระเทือนสถาบันการเงินอื่นดังกล่าวแล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่า ธปท. เห็นว่าปัญหาของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การเป็นเรื่องร้ายแรงตามข้อเท็จจริง จึงได้ใช้การสั่งการ ตามมาตรา 24 ทวิ แทนที่จะใช้มาตรา 15 และ 22 ตามลำดับก่อน จึงเห็นได้ชัดว่า ธปท. พยายามปิดบังข้อเท็จจริงเรื่องฐานะของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การจากประชาชน ผู้ฝากเงิน และเจ้าหนี้ ธปท. อาจเลือกแนวทางเปิดเผยว่าธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การมีปัญหา เข้าแก้ไขโดยการสั่งลดทุนเพิ่มทุนโดยใช้เงินของเอกชนหรือ เงินของกองทุนฟื้นฟูฯ และเปลี่ยนแปลงผู้บริหารเสีย ซึ่งสามารถกระทำได้โดยใช้อำนาจตามมาตรา 24 ทวิ และมาตรา 24 ตรีของพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ 2505 และจากการชี้แจงต่อ ศปร. ของอดีตผู้ว่าการวิจิตรว่า “ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การเป็นธนาคารเดียวที่มีปัญหา อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจก็ยังดีอยู่” การเข้าแก้ไขปัญหาของธนาคารดังกล่าวอย่างเด็ดขาดตามแนวที่กล่าว น่าจะเป็นการแก้ปัญหาครั้งเดียวให้เสร็จสิ้นไป ปัญหาของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ อยู่ที่การบริหารและฐานะการเงิน การแก้ไขต้องกระทำทั้งสองกรณีพร้อมกัน ศปร. เห็นว่า ธปท. น่าจะยอมรับความร้ายแรงของสถานการณ์ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การตั้งแต่ต้น และเข้าไปแก้ไขปัญหาอย่างเด็ดขาด ลดทุนเพิ่มทุน เปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ประชาชนและเจ้าหนี้จะได้ทราบข้อเท็จจริง แต่เป็นเรื่องที่ได้ แก้ปัญหาไปแล้ว ข้อที่น่าสังเกตคือ จุดลดทุนเพิ่มทุน และเปลี่ยนผู้บริหารนั้น มีหลายครั้งที่อาจกระทำได้ เช่น ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2535 เมื่อปรากฏว่า ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การมีสินทรัพย์จัดชั้นไว้ร้อยละ 26.73 ของสินทรัพย์รวม หรือหากไม่กระทำในครั้งนี้ก็สามารถลดทุนเพิ่มทุน เปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ได้อีกในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2537 เมื่อปรากฏว่าสินทรัพย์จัดชั้นได้เพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว แสดงว่ามาตรการในปี 2535 ไม่ได้ผลแต่ประการใด การลดทุนเพิ่มทุน เปลี่ยนผู้บริหาร ณ เวลาดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มตันติพิพัฒน์พงศ์ตามข้อ 2 ข้างต้น หรือเงินของทางราชการเลยเพราะกลุ่มตันติพิพัฒน์พงศ์และ ทางราชการเข้ามามีส่วนร่วมในปี 2538

302. การลดทุนซึ่งได้กล่าวไปข้างต้นว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชนโดยทั่วไปเป็นอย่างมาก สมควรจะได้มีการพิจารณาในรายละเอียด ให้ชัดเจน ในหลักการ บริษัทจำกัด ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงินหรือบริษัทที่ดำเนินกิจการประเภทอื่น หากมีการเสียหายประสบผลขาดทุนในอดีต ก็จะมีผลขาดทุนสะสมจำนวนหนึ่ง จะมากน้อยก็เป็นไปตามสภาพการขาดทุนว่ามากน้อยเพียงใด หากจะล้างผลการขาดทุนในอดีตก็สามารถดำเนินการ ลดทุนลง การลดทุนของบริษัทจำกัดนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1224 กำหนดไว้ว่า “บริษัทจำกัดจะลดทุนของบริษัทลงด้วยการลดมูลค่า แต่ละหุ้นๆ ให้ต่ำลงหรือลดจำนวนหุ้นให้น้อยลง โดยมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้นก็ได้”

303. การลดทุนล้างผลขาดทุนในอดีตมีผลดีสองประการหลักคือ ประการแรกเป็นการเปิดโอกาสให้เริ่มต้นใหม่ หลังจากได้ดำเนินการมีผลขาดทุนมาในอดีต หากจากจุดเริ่มต้นใหม่นี้มีการดำเนินงานที่มีประสิทธิผลก็จะมีผลกำไรและมีการปันผลกำไรได้ต่อไปด้วย อีกประการหนึ่ง ในกรณีที่มีการชักชวนผู้ลงทุนใหม่ เข้ามาร่วมกิจการ ผู้มาใหม่มักจะไม่ต้องการเข้ารับภาระผลการขาดทุนในอดีตที่มิได้มีความเกี่ยวข้องด้วย ก็จะต้องการให้มีการลดทุนล้างผลขาดทุนสะสม เสียก่อนที่จะเพิ่มทุน แล้วผู้ลงทุนใหม่เข้ามาลงทุน การลดทุนล้างผลการดำเนินการขาดทุนในอดีตแล้วเพิ่มทุน นอกจากจะมีผลดีในด้านการปรับปรุง การเงินของบริษัทแล้ว ยังเป็นการให้ผู้ถือหุ้นเดิมที่ดำเนินการขาดทุนมาในอดีตรับผิดชอบการขาดทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยุติธรรม สมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง

304. การที่เพิ่มทุนเพื่อช่วยเหลือธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ โดยมิได้มีการลดทุนก่อนย่อมเป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนใหม่ไม่ว่าเป็นเอกชน ธนาคารออมสิน หรือกองทุนฟื้นฟูฯ ต้องเข้าร่วมรับผลการขาดทุนจากอดีตของธนาคารด้วย ผู้ซึ่งตัดสินใจในเชิงนโยบายให้เพิ่มทุนและมีการเข้าร่วมทุนโดยไม่มีการลดทุนก่อน น่าจะต้องมีเหตุผลที่ดีในการดำเนินการดังกล่าว

305. ผู้ว่าการ ธปท. ในขณะนั้นคือ นายวิจิตร สุพินิจ ได้ชี้แจงเหตุผลดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น มา ณ จุดนี้ก็คงต้องพิจารณาเพิ่มเติมจากที่ได้กระทำ ไปแล้วว่า เหตุผลที่แสดงข้างต้นน่าเชื่อถือหรือไม่เพียงใด

306. การอ้างว่าเมื่อกองทุนฟื้นฟูฯ ซื้อหุ้นเพิ่มทุนธนาคารกรุงไทย จำกัด ในอดีตก็มิได้ลดทุนก่อนการเพิ่มทุน แต่คงต้องไม่ลืมว่า ธนาคารกรุงไทย จำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจที่ทางราชการถือหุ้นทั้งสิ้น ความรับผิดชอบของทางราชการย่อมต้องมีอย่างต่อเนื่อง การลดทุนก่อนเพิ่มทุนจึงไม่มีความจำเป็นเหมือนในกรณี ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ซึ่งเป็นกิจการของเอกชน การอ้างว่าการเพิ่มทุนของธนาคารเอเชีย จำกัด ก็มิได้ลดทุนก่อนการเพิ่มทุนโดยกองทุนฟื้นฟูฯ แต่คงจะต้องกล่าวว่า กรณีของธนาคารเอเชียเป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระและต่างปัญหากันกับธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จะอ้างเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติ กับธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ย่อมไม่เหมาะสม การแก้ไขสถาบันการเงินเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องพิจารณาแต่ละปัญหาต่างหากจากมาตรการ ที่ได้กระทำไปแล้ว จึงจะเกิดความเหมาะสมได้

307. การอ้างว่าการลดทุนของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ก่อนการเพิ่มทุนไม่ช่วยแก้ไขปัญหาทางการเงินของธนาคารมากนักนั้น สมควรพิจารณา เหตุผลอย่างละเอียดว่า การที่มูลค่าหุ้นที่ตราไว้สำหรับหุ้นธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การเท่ากับ 10 บาท และราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในขณะนั้นสูงกว่า 10 บาทเล็กน้อย ย่อมทำให้ลดทุนโดยลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ได้เป็นเงินจำนวนน้อยจริง และการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ต่ำกว่า 10 บาทเป็นการผิดกฎของ ตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ก็มิได้หมายความว่าทำไม่ได้ การกระทำผิดกฎของตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจมีผลให้เกิดการห้ามซื้อขายหุ้นได้ชั่วคราว แต่ก็สามารถแก้ไข โดยการรวมหุ้นให้มีมูลค่าหุ้นที่ตราไว้กลับเป็น 10 บาท อีกได้ การลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ต่ำกว่าหุ้นละ 5 บาท กระทำไม่ได้ตามกฎหมายก็จริง แต่ตามมาตรา 1224 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การลดทุนไม่จำเป็นต้องลดมูลค่าหุ้น แต่อาจลดจำนวนหุ้นลงก็ได้ วิธีการลดจำนวนหุ้นวิธีหนึ่งก็โดยการรวมหุ้น เมื่อได้ลดมูลค่าหุ้นลงแล้ว ตามหลักฐานที่แสดงต่อ ศปร. นั้น ธปท. มิได้พิจารณาลดจำนวนหุ้นเลย และการลดมูลค่าหุ้นลงเป็น 5 บาท (ลดลงร้อยละ 50) ก็สามารถกระทำได้ จะมีผลมากน้อยประการใดก็คงมิใช่เหตุผลที่จะไม่ลดทุนเสียเลยดังที่ได้ปฏิบัติไป

308. การลดทุนอาจมีผลให้ผู้ถือหุ้นที่ถูกลดมูลค่าหุ้นฟ้องร้องนั้น การลดทุนก็อาจมีการฟ้องร้องกันได้เสมอ เพราะเป็นสิทธิของผู้ที่คิดว่าตนเองเสียหาย จะฟ้องร้อง แต่จะมีผลจริงๆ อย่างไรคงเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก การที่พระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ 2505 มาตรา 24 ทวิ กำหนดให้มีการสั่งให้ลดทุนได้ หมายความว่าทางการยอมรับความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าว ในระยะเวลาสืบต่อจากกรณีของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ที่กำลังพิจารณาอยู่นี้ ทางการได้สั่ง ลดทุนสถาบันการเงินในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลายรายก็ปรากฏว่าทำได้โดยมิได้มีการฟ้องร้องเป็นคดีความกัน

309. อีกประการหนึ่ง การที่อดีตผู้ว่าการวิจิตรได้กล่าวว่า การเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนทั้งสองคราวคือเมื่อ กรกฎาคม 2538 และมีนาคม 2539 ได้หารือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยนั้นแล้ว แต่ก็มีข่าวออกมาว่ารัฐมนตรีฯ ในสมัยดังกล่าวไม่ทราบเรื่องบ้าง ทราบเรื่องบ้าง แต่ทุกท่านต้องการให้ลดทุนก่อน และก็กล่าวว่า ธปท. แจ้งว่าทำไม่ได้บ้าง ลดได้ก็ไม่คุ้มจะกระทำบ้าง ในทำนองเดียวกันกับที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

310. สำหรับเหตุผลที่มิได้บังคับให้นายเกริกเกียรติรับผิดชอบในการบริหารผิดพลาดหรือปลดออกจากตำแหน่ง จนกระทั่งมิถุนายน 2539 นั้น ธปท. ชี้แจงว่า

“การที่ในระยะแรกมิได้ดำเนินการถอดถอนนายเกริกเกียรติออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ เนื่องจาก ธปท. ต้องการให้นายเกริกเกียรติร่วมมือในการติดตามและสะสางหนี้เพื่อลดความเสียหาย”

อย่างไรก็ตาม มิได้มีหลักฐานสนับสนุนความเชื่อดังกล่าวว่าได้ผลดีในทางปฏิบัติ ตรงกันข้ามตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2537 ถึง มิถุนายน 2539 เป็นเวลาสองปีเศษ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การมีปัญหาเรื่องการบริหารสินเชื่อมาโดยตลอดจนเกิดความเสียหายมากมาย การที่ ธปท. ได้ส่งนายวีรพงษ์ รามางกูร เข้าไปเป็น ที่ปรึกษาคณะกรรมการของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ก็ไม่สามารถควบคุมให้ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การบริหารงานไป ในทิศทางที่ถูกต้องได้ ปัญหาทางการบริหารมีมาสม่ำเสมอโดยตลอด เห็นได้จากข้อเท็จจริงว่าระหว่างปี 2535-2537 ธปท. ได้เชิญนายเกริกเกียรติเข้าพบกว่า 5 ครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2536 ได้เชิญนายวีรพงษ์และนายเกริกเกียรติ เข้ารับทราบปัญหาและแนวทางแก้ไข และในช่วงปี 2537-2539 ได้มีหนังสือสั่งการให้ ปฏิบัติให้เหมาะสมถูกต้องจำนวนกว่า 14 ฉบับ รวมทั้งสั่งให้ระงับการให้สินเชื่อเพื่อครอบงำกิจการ และสั่งมิให้นายราเกซ สักเสนาเข้าเกี่ยวข้องกับกิจการ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ในช่วงที่มีปัญหาทางการบริหารกับนายเกริกเกียรติและธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ธปท. กลับสั่งให้เพิ่มทุน และเมื่อจำหน่ายหุ้นไม่ได้ก็ไปชักชวนกลุ่มตันติพิพัฒน์พงศ์ และธนาคารออมสินเข้ามาซื้อหุ้น รวมทั้งใช้เงินกองทุนฟื้นฟูฯ ซื้อหุ้น เพื่อให้ การบริหารอย่างไม่ถูกต้องของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยมิได้มีการแก้ไขในด้านการบริหารให้ลุล่วงไปเลย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนก็คือเมื่อปลดนายเกริกเกียรติออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการในเดือนมิถุนายน 2539 แล้ว ทางการต้องกล่าวหาบุคคล ดังกล่าวถึง 20 คดีด้วยกัน

311. นอกจากการมีมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะที่นายวิจิตร สุพินิจ เป็นผู้ว่าการดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ในระยะที่นายเริงชัย มะระกานนท์ เป็นผู้ว่าการ ก็ได้มีการเพิ่มทุนธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การอีกในเดือนสิงหาคม 2539 หลังจากที่ทางการได้เข้าบริหารกิจการแล้ว โดยกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นผู้ซื้อหุ้นทั้งหมด ไว้เป็นเงิน 22.5 พันล้านบาท

312. เมื่อพิจารณาการดำเนินงานช่วยเหลือธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การของ ธปท. โดยรวมทั้งโครงการแล้ว คงจะต้องกล่าวว่าปราศจากความโปร่งใส และความเด็ดขาดในการที่จะแก้ไขสถาบันการเงินที่มีปัญหาอย่างจริงจังและรวดเร็วทันกับเวลา มาตรการต่างๆ เอื้อประโยชน์ต่อผู้บริหารเดิมที่สร้างปัญหาแก่ กิจการธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ และผู้ถือหุ้นเดิมมาโดยตลอด สำหรับการตรวจสอบนั้นมีข้อน่าสังเกตคือ ถึงแม้ว่าจะได้พบว่าธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ มีปัญหา และมีปัญหามากขนาดมีสินทรัพย์จัดชั้นสูงถึงร้อยละ 26.73 ของทรัพย์สินทั้งสิ้น และในการตรวจสอบต่อมาก็ปรากฏว่ามีสถานการณ์ทางการเงิน เลวลงอีก ธปท. ก็ยังให้มีการติดตามตรวจสอบและรายงานเป็นปกติเหมือนการตรวจสอบที่ไม่มีปัญหา ไม่มีหลักฐานว่าได้มีการตรวจสอบและรายงานเป็นพิเศษ นอกจากนั้นยังมีช่วงเวลาแตกต่างของวันตรวจสอบและวันรายงานเป็นเวลานาน เช่น ผลการตรวจสอบ ณ วันที่ 30 เมษายน 2534 รายงานเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2535 ระยะเวลาระหว่างวันที่ตรวจสอบกับวันที่รายงานต่างกันประมาณปีครึ่ง ซึ่งนับเป็นเวลาที่นานมากจนไม่ทันเหตุการณ์ และข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการ ตรวจสอบเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว การตรวจสอบ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2536 ก็เช่นเดียวกัน รายงานเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2537 มีระยะเวลาแตกต่างกันเกือบปี นายศิริ การเจริญดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. ได้แสดงความเห็นว่าควรมีการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษจึงจะสามารถดำเนินการติดตามได้อย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิผล ธปท. จึงควรจะปรับปรุงการตรวจสอบและรายงานให้ทันต่อเหตุการณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่มีปัญหาประจักษ์อยู่แล้ว สมควรมีการตรวจสอบติดตามและ การประเมินสถานการณ์และประเมินปัญหาต่างๆ ล่วงหน้าอย่างใกล้ชิดต่อไปอย่างต่อเนื่อง

313. บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายและปฏิบัติการของ ธปท. ในเรื่องการช่วยเหลือธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ได้แก่ นายวิจิตร สุพินิจ ซึ่งเป็นผู้ว่าการ ธปท. ในระหว่างตุลาคม 2533 ถึง มิถุนายน 2539 สืบต่อโดยนายเริงชัย มะระกานนท์ ซึ่งเป็นผู้ว่าการ ธปท. ระหว่างกรกฎาคม 2539 – กรกฎาคม 2540 แต่ความรับผิดชอบในเรื่องไม่ลดทุนก่อนให้การช่วยเหลือ และการดำเนินการแก้ไขปัญหาแบบไม่เด็ดขาดเป็นของนายวิจิตร สุพินิจ เกือบทั้งหมด นายเริงชัยรับผิดชอบเฉพาะการเพิ่มทุนโดยใช้เงินกองทุนฟื้นฟูฯ โดยมิได้ลดทุนในครั้งหลังเมื่อทางการได้เข้าควบคุมธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การแล้ว นายเริงชัยได้ให้เหตุผลในการไม่ลดทุนว่า ทางการได้ซื้อหุ้นไปมากแล้ว หากลดทุนก็จะเสียหาย เป็นเหตุผลที่ฟังได้มากกว่าที่ได้กล่าวอ้างในอดีต

314. บุคคลอื่นๆ ได้แก่ นายจรุง หนูขวัญ รองผู้ว่าการ นายศิริ การเจริญดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ ผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูฯ และผู้อำนวยการกำกับและผู้อำนวยการ ตรวจสอบธนาคารพาณิชย์นั้น บรรดาเจ้าหน้าที่เหล่านี้เป็นผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่ผู้ตัดสินใจในเรื่องการลดทุนเพิ่มทุนโดยตรงแต่บุคคลเหล่านี้ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับปัญหา ก็น่าจะได้แสดงความคิดเห็นในการช่วยแก้ปัญหาให้เกิดผลอย่างจริงจังและรวดเร็ว แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานใดที่บุคคลเหล่านี้ได้แสดงความเห็น ในทิศทางดังกล่าว

315. ศปร. เห็นว่านโยบายการช่วยเหลือธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การมีความไม่โปร่งใส และยังมีคำถามที่ไม่มีคำตอบอยู่มาก แต่ความเคลือบแคลง ดังกล่าว ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีคำสั่งที่ 405/2540 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2540 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมใน ปัญหาธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการสอบสวนเรื่องการใช้อำนาจตามกฎหมายในลักษณะบิดเบือนและการละเว้นปฏิบัติอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติมในเรื่องเดียวกันอีก

ข้อสรุป

316. การดำเนินมาตรการแบบไม่เด็ดขาดเอื้ออำนวยให้มีการทำหนี้เสียเพิ่มเติม และเป็นปัญหายืดเยื้อ มีการบริหารผิดพลาดเพิ่มเติม จนเกิดการเสียหาย แก่เงินของเอกชน เงินของธนาคารออมสินและเงินของกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นอันมาก หากได้ดำเนินการแก้ไขอย่างเด็ดขาดโดยประกาศลดทุนเพิ่มทุน และเปลี่ยนแปลงผู้บริหารโดยเด็ดขาดเสียแต่เนิ่นๆ ก็น่าจะสกัดความเสียหายให้ลดลงได้มาก

317. การไม่ยอมดำเนินการลดทุนเพิ่มทุน เปลี่ยนแปลงผู้บริหารแบบตรงไปตรงมา มีผลต่อ ธปท. มาก ก่อนกรณีธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ธปท. เป็นสถาบันที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ มีศักยภาพและมีชื่อเสียงที่ดียิ่ง ทั้งเป็นเวลานับหลายสิบปีที่ ธปท. ได้รักษาตนเองมาอย่างดีในฐานะเป็นสถาบัน แบบมืออาชีพ ปฏิบัติงานแบบตรงไปตรงมา ปลอดการเมือง แต่ในระยะหลังผู้บริหารระดับสูงของสถาบัน ได้นำตัวเข้าไปอิงการเมืองอย่างเห็นได้ชัดเจน มีการปฏิบัติงานแบบไม่โปร่งใสและยืดเยื้อ ในกรณีธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การเป็นกรณีแรกที่มีผลให้ความน่าเชื่อถือของ ธปท. ในสายตาของประชาชน และนักลงทุนต่างประเทศลดลง ยิ่งมีกรณีการกล่าวโทษ กลต. ในขณะนั้นคือนายเอกกมล คีรีวัฒน์ (ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าการ ธปท. ด้วย) โดยผู้ว่าการ ธปท. และกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ในขณะนั้น ทั้งที่ทั้งสามท่านต่างเป็นนักเรียนทุนที่ ธปท. ส่งไปศึกษาในต่างประเทศตั้งแต่ต้นจนจบด้วยทุนของ ธปท. และเคยปฏิบัติงานเป็นพนักงานของสถาบันเดียวกัน ความน่าเชื่อถือของ ธปท. ในสายตาของสาธารณชนก็ยิ่งลดลงอีก ในขณะเดียวกันผู้ปฏิบัติงานใน ธปท. เองก็ได้แจ้ง ศปร. ว่า มีความเคลือบแคลงในการปฏิบัติงานของผู้บริหารระดับสูงของสถาบัน และยิ่งมีกรณีการกล่าวหาดังกล่าวข้างต้น พนักงาน ธปท. เองก็เกิดความไม่แน่ใจ และแตกแยกเป็นพรรคเป็นพวกไปด้วย

318. หากพิจารณาด้วยความยุติธรรมคงจะต้องกล่าวว่ากรณีธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การมิใช่กรณีเดียวที่สามารถทำลายชื่อเสียง ศักยภาพ และมีผลให้ ธปท. ตกต่ำในสายตาของสาธารณชนเช่นในปัจจุบัน แต่ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่ากรณีดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นสาเหตุที่สำคัญมาก และผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. ที่ก่อให้เกิดเรื่องดังกล่าวข้างต้นนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องรับผิดชอบ ถึงแม้อาจไม่ต้องรับผิดชอบในทางกฎหมาย แต่ก็สมควรต้องรับผิดชอบในการทำลาย ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของสถาบันที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของประเทศไทยในสายตาของสาธารณชน



<<< รายงาน ศปร. ( สารบัญ และ คำนำ ) >>>
<<< รายงาน ศปร. ( สารบัญตารางและภาพ ) >>>
<<< รายงาน ศปร. ( สรุปความเห็น และ บทที่ 1 ) >>>
<<< รายงาน ศปร. ( บทที่ 2 ) >>>
<<< รายงาน ศปร. ( บทที่ 3-4 ) >>>
<<< รายงาน ศปร. ( บทที่ 5-7 ) >>>
<<< รายงาน ศปร. ( ภาคผนวก ) >>>