บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


09 มิถุนายน 2552

<<< วิกฤตต้มยำกุ้ง #5 จากประเทศลูกหนี้ พลิกกลับมาเป็นประเทศเจ้าหนี้ (จบ) >>>

- ตั้ง บสท. แก้หนี้เสียในประเทศ

ผู้จัดการรายวัน17 กุมภาพันธ์ 2548
คดี KTB ปิดฉากนโยบาย NPL

ธุรกิจ ภาคเอกชนบ่นอุบ หลังแบงก์ชาติเล่นบทโหดเชือดผู้บริหารแบงก์กรุงไทย เผยขณะนี้การขอสินเชื่อยากขึ้น ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ถูกเรียกทบทวนใหม่เพราะแบงก์กังวลถูกแบงก์ชาติเล่น งาน ชี้การใช้บทลงโทษทางกฎหมายนำหน้า เป็นการสวนทางนโยบายแก้หนี้เสีย-ฟื้นฟูธุรกิจที่รัฐบาล ทักษิณ 1 ใช้เป็นนโยบายหลัก ยอมรับไม่แน่ใจงานนี้นายกฯหนุนหลังหรือกลัวผู้ว่าฯกันแน่ หยันแผนใช้บบส.ซื้อหนี้เอกชนมาแก้อีก 5 แสนล้านล้มเหลวแน่

แหล่งข่าว จากที่ปรึกษาทางการเงินเปิดเผยว่า ตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาระบุว่าสินเชื่อรายใหญ่ของธนาคารกรุงไทย (KTB) 12 ราย มีปัญหาในการปล่อยกู้เมื่อช่วงปลายปี ได้ทำให้บริษัทเอกชนหลายรายประสบปัญหาในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ขณะเดียวกันบริษัทที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ถูกธนาคารพาณิชย์ทบทวน การปล่อยกู้ใหม่ เนื่องจากเกรง ว่าธปท.จะเล่นงานผู้บริหารเหมือนกรณีของธนาคารกรุงไทย ล่าสุดธปท.ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีต่อกรรมการ และผู้บริหารธนาคารกรุงไทยรวม 21 ราย ยิ่งทำให้การแก้หนี้และปล่อยกู้ชะงักงันมากขึ้น

"ภาวะดัง กล่าวเริ่มก่อตัวขึ้นประมาณ 3-4 เดือนที่ผ่านมา เป็นช่วงที่แบงก์ชาติระบุว่าลูกค้า 12 รายในแบงก์กรุงไทยมีปัญหา เช่น บริษัทอสังหาฯเจ้าของตึกใหญ่ย่านสีลม ซึ่งไม่ได้อยู่ในบัญชี 12 รายในแบงก์กรุงไทย ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ทั้งๆ อยู่ในขั้นตอนปรับโครงสร้างหนี้ที่อนุมัติวงเงินแล้วแต่เบิกไม่ได้ แบงก์อ้างว่าทำตามนโยบายแบงก์ชาติ เหตุการณ์ดังกล่าวยังเกิดกับลูกค้าทุกแบงก์ นี่คือสัญญาณอันตราย"

แหล่ง ข่าวกล่าวว่า ต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมาไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ การปล่อยสินเชื่อและปรับโครงสร้างหนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือให้ลูกหนี้อยู่ ได้ เพราะเมื่อธุรกิจฟื้นเศรษฐกิจก็ฟื้น โดยให้ใช้หลักการปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้กรอบกฎหมาย แต่ไม่ใช่ให้กฎหมายนำหน้า ยึดทรัพย์หรือปล่อยลูกหนี้ล้มละลาย

ทั้ง นี้ การเดินตามแนวทางเพื่อให้ลูกหนี้รอดพ้นจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ตามที่ธนาคารกรุงไทยดำเนินการชัดเจนนั้น ได้ทำให้บริษัทขนาดใหญ่และลูกค้ารายย่อยเริ่มฟื้นหลายรายวันนี้ยืนอยู่ได้ หลายรายกำลังผ่อนหนี้เดิมใกล้หมด แต่ธปท.กลับมาใช้กฎหมายนำหน้า เหมือนกับที่เคยแก้หนี้โดยใช้สำนักงานคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (สปน.) ของธปท. ซึ่งล้มเหลวมาใช้อีกครั้ง ที่สำคัญผู้บริหารธปท.เล่นการเมืองมากเกินไป

แหล่งข่าวระบุว่า การกระทำของธปท. สวนทางนโยบายของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้แถลงเมื่อครั้งเข้ามาเป็นรัฐบาลในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 ว่าด้วยการแก้หนี้เสีย (เอ็นพีแอล) และปรับโครงสร้างหนี้ให้ภาคธุรกิจเพื่อฟื้นเศรษฐกิจประเทศ นับเป็นภารกิจแรกของรัฐบาล โดยมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กชอป) ที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยเครื่องมือหลัก ได้แก่ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) และธนาคารของรัฐ

"การฟื้นตัวของธุรกิจวันนี้ ต้องยอมรับนี่คือความสำเร็จของรัฐบาลทักษิณ ในการแก้หนี้และอัดฉีดเงินกู้เข้าระบบ แต่แบงก์ชาติกำลังทำเรื่องสวนทางกับนโยบายรัฐบาลทักษิณ 1 เอกชนก็กังวลว่ารัฐบาลเห็นด้วย เป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลทักษิณ 2 จะเลิกนโยบายแก้หนี้และฟื้นฟูภาคธุรกิจแล้วใช่มั้ย หรือว่านายกฯไม่เห็นด้วยแต่มีปัญหาในการจัดการกับผู้ว่าฯธปท."

แหล่ง ข่าวมองว่า ที่ผ่านมาไม่เฉพาะบสท. และบบส.เท่านั้น นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 21 คนที่ถูกแบงก์ชาติฟ้องร้อง ถือว่าได้สนับสนุนและต่อยอดนโยบายในการบริหารธนาคารกรุงไทยอย่าง ประสบความสำเร็จด้วย เพราะช่วง 4 ปีที่ผ่านมา นายวิโรจน์ปล่อยกู้กว่า 500,000 ล้านบาท ซึ่งมากที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ มีขั้นตอนที่โปร่งใสและไม่มีเรื่องทุจริต แต่ธปท.มีการบิดเบือนสร้างความเข้าใจผิดให้ประชาชน

"ต้องเข้าใจว่า การปรับโครงสร้างหนี้ ซื้อขายหนี้ รีไฟแนนซ์หรือปล่อยสินเชื่อ มันมีค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมที่ฝรั่งเรียกว่าค่าฟี มันเป็นอาชีพ ไม่ว่าพ่อค้าซื้อขายหนี้ อาชีพนายหน้าหรือที่ปรึกษา ผมคิดว่าผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนปัจจุบัน (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล) รู้ดี อย่างน้อยท่านเคยเป็นประธานบบส. และใช้หลักเดียวกันในการแก้ปัญหา เพราะฝรั่งสอนมาเหมือนกัน เพียงแต่ช่วงหลังวิกฤตใหม่ เราอาศัยบริษัทชื่อเท่ๆ แบบฝรั่งมาเป็นนายหน้า เป็นที่ปรึกษาต้องจ่ายเงินให้พวกนี้นับแสนล้าน เช่น จีอี แคปปิตอล โกลด์แมน แซคส์หรือเลแมน บราเธอร์ แต่มาวันนี้อาชีพเหล่านั้นคนไทยนำมาทำ กลับถูกผู้ว่าฯคนปัจจุบันกล่าวหาว่าร่วมกันโกงบ้าง กินหัวคิวบ้าง แถมมาฟ้องทุจริต ผมว่าลองคนทำชื่อฝรั่งแบบจีอีฯ เลแมนฯหรือทรีนิตี้ดูบ้าง ก็คงไม่โดนเล่นงาน" แหล่งข่าวอธิบาย

หยันแผนโอนหนี้ให้บบส.เจ๊ง

แหล่ง ข่าวยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้รัฐบาลทักษิณ อยู่ระหว่างการแก้พ.ร.บ.บบส. เพื่อซื้อหนี้จากสถาบันการเงินได้ทุกแห่ง คาดว่าจะผ่านสภาผู้แทนราษฎรในสมัยหน้า แผนดังกล่าวหากอยู่ภายใต้มาตรฐานธปท. จะต้องล้มเหลวเพราะผู้บริหาร ทั้งของบบส.และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับ การโอน ซื้อขาย ปรับโครงสร้างหนี้และปล่อยกู้หนี้ที่คาดว่าจะโอนอีกประมาณ 500,000 ล้านบาท ต้องระมัดระวัง ดังนั้นการแก้ไขหนี้ดังกล่าวจะต้องล้มเหลว ความหวังที่จะทำให้หนี้เสียในระบบธนาคาร พาณิชย์เหลือ 3% ในปี 2549 คงเป็นไปได้ยาก

"ตอนนี้ต้องลุ้นว่าจะมีการเปลี่ยนผู้ว่าฯธปท. หรือไม่ นี่คือความหวังของภาคธุรกิจ เอาเฉพาะเรื่องใกล้ตัวที่เห็นได้ชัดในตอนนี้ก็คือแบงก์ไม่ยอมปล่อยกู้ผู้ที่ ประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ ทั้งๆ ที่เป็นเหตุการณ์ไม่ปกติที่ต้องช่วยเหลือเร่งด่วน และยืดหยุ่น ทว่าไม่มีความคืบหน้า ปัญหาก็คือแบงก์ ชาตินี่แหละ" แหล่งข่าวกล่าว

-------------------------------------------------
- ปลดแอกจาก IMF

คำพูดออกทีวีคืน 31 กค 2546


วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540
ทำให้ไทยต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)
พร้อมกับยอมรับเงื่อนไขที่เข้มงวด
ซึ่งเป็นบทเรียนที่เจ็บปวดและไม่อยากกลับไปอยู่ในสภาพนั้นอีก
ปัจจุบันเศรษฐกิจดีขึ้นโดยลำดับ
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม
รัฐบาลนี้ได้ประกาศชำระหนี้ก้อนสุดท้ายกว่า 6 หมื่นล้านบาท
ทำให้ไทยพ้นจากพันธกรณีกับไอเอ็มเอฟ
สามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเป็นของตนเอง

หมายเหตุ - เมื่อเวลา 20.30 น. วันที่ 31 กรกฎาคม
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ได้ชี้แจงทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ สถานะการเงิน-การคลังของประเทศไทย
รวมทั้งการชำระหนี้งวดสุดท้ายให้กับ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)
ซึ่งสามารถชำระก่อนครบกำหนด 2 ปี มีรายละเอียดดังนี้

วันนี้เป็นวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ชำระหนี้ก้อนสุดท้าย
เมื่อเย็นวันนี้ ได้ชำระก้อนสุดท้ายคืนไอเอ็มเอฟจำนวน 6 หมื่นกว่าล้านบาท
ซึ่งได้กู้ยืมมาในช่วงเกิดวิกฤตเมื่อปี 2540
โดยไอเอ็มเอฟอนุมัติวงเงินให้ไทย 14,500 ล้านเหรียญสหรัฐ
แต่เบิกมาใช้จริงเพียง 12,296 ล้านเหรียญสหรัฐ
หรือประมาณ 5.1 แสนล้านบาท
โดยรัฐบาลชุดที่แล้ว(รัฐบาลนายชวน หลีกภัย)
ได้ชำระไป 1 หมื่นล้านบาท
แต่รัฐบาลนี้ได้ชำระครบทั้ง 5 แสนล้านบาท
ทำให้ไทยพ้นจากพันธกรณีกับไอเอ็มเอฟ
ประเทศไทยเคยเข้าโปรแกรมของไอเอ็มเอฟมาแล้วหลายครั้ง
คือ เมื่อปี 2524, 2525, 2528 ทั้ง 3 สัญญาเป็นเงิน 982 ล้านเหรียญสหรัฐ
ใช้หมดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2533 แต่หลังจากนั้น 7 ปี
เกิดวิกฤตอีกครั้ง เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง

ถ้าวิเคราะห์แล้ว
วิกฤตที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลใดหรือคนใดคนหนึ่ง
แต่เป็นการสะสม ที่เราไม่ได้ติดตามสถานการณ์
ไม่ได้เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของโลก
ไม่ได้ใช้ข้อมูลอย่างชาญฉลาด
ไม่ได้รับรู้ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
เหตุการณ์นี้จะไม่เกิดอีก
ครั้งนี้ขอให้เป็นครั้งสุดท้าย
ที่ต้องเข้าโปรแกรมของไอเอ็มเอฟ
รัฐบาลนี้พยายามแก้ไขปัญหาหลายๆ อย่าง
เพื่อให้เกิดความมั่นคง ดูทิศทางทุกอย่างไม่ให้เกิดปัญหาอีก
เชื่อว่า ในปี 2540 จนถึงวันนี้
ยังมีหลายคนยังไม่หายเจ็บปวด บาดเจ็บอยู่
เป็นบทเรียนของหลายคนในประเทศ ต้องร่วมคิดร่วมกันแก้ปัญหา
ประเทศต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างใกล้ชิด
ไม่ให้เป็นเหยื่อของการแข่งขันทุนนิยมที่เราไม่รู้เท่านั้น
รัฐบาลจะทำอย่างเต็มที่
เพื่อวางกติกา วางระบบ และพัฒนาทุกๆ อย่าง
เพื่อให้เรารู้เท่าทันได้อย่างทันท่วงที
วันนี้ ทำไมเรากล้าใช้หนี้ไอเอ็มเอฟ
ก่อนครบกำหนดเวลาล่วงหน้าถึง 2 ปี
ก็เพราะเราสามารถปรับพลิกสถานการณ์ได้แล้ว
และมีเงินทุนเพียงพอ ไม่ต้องเก็บหนี้ไว้
การใช้หนี้ครั้งนี้ทำให้ประหยัดดอกเบี้ยถึง 5 พันล้านบาท
และยังสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยมากขึ้น

ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามา มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจหลายสาขา
ภาคเกษตร รายได้เกษตรกรจากพืชผลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อปลายรัฐบาลที่แล้ว รายได้ติดลบ 3.4%
ปี 2544 เพิ่มขึ้น 8.1%
ปี 2545 เพิ่ม 11.7%
ในปี 2546 เพิ่มขึ้น 25%
ในภาคอุตสาหกรรม ปี 2544 ติดลบ
ในปี 2545 เพิ่มขึ้นมา 59.5%
ครึ่งปีแรกของปี 2546 เพิ่มขึ้นถึง 66.6%
ตัวเลขมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนที่อัตราการว่างงานปี 2546 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ส่วนการส่งออกดีขึ้นมาก ปี 2544 ติดลบ 1.7%
เพราะเหตุการณ์ 11 กันยายน ในสหรัฐอเมริกา
ส่วนปี 2545 สามารถเติบโตได้ 5.7%
ปีนี้เพียงครึ่งปีแรก โตได้ถึง 19%
ส่วนกำไรสุทธิของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์
ปี 2543 มีกำไร 4.15 หมื่นล้านบาท
ปี 2544 มีกำไร 1.12 แสนล้านบาท
ปี 2545 มีกำไร 1.7 แสนล้าน
และปี 2546 ไม่น่าจะน้อยกว่า 2 แสนล้านบาท

ส่วนรายได้ภาครัฐบาล รายได้รวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รายได้รวมเพียง 9 เดือนแรกของปี 2546 มีถึง 9 แสนกว่าล้าน
พอๆ กับปี 2543 ทั้งปี
ส่วนดุลงบประมาณ การขาดดุลกำลังจะสิ้นสุดลง
ในปี 2543 ประเทศไทยขาดดุล 1.2 แสนล้าน
ปี 2544 ขาดดุล 1.1 แสนล้าน
ปี 2545 ขาดดุล 1.26 แสนล้าน
แต่ในปี 2546 เพียงแค่ 9 เดือนแรก
ก็เกินดุลแล้ว 1.46 หมื่นล้าน
สถานการณ์ด้านงบประมาณดีขึ้นมาก

ส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศ
ปี 2543 มี 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2544 เพิ่มเป็น 33,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2545 เพิ่มเป็น 38,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2546 เมื่อชำระหนี้ไอเอ็มเอฟหมดแล้ว
จะมีทุนสำรอง 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ถือว่าไทยมีสถานะการเงินแข็งแกร่งมาก

รัฐบาลขอยืนยันอีกครั้งว่า ประเทศไทยวันนี้
ผมอยากจะบอกให้พี่น้องประชาชนให้มีความมั่นใจ
และภูมิใจในความเป็นคนไทย
ว่าวันนี้เราไม่มีพันธะใดๆ
สิ่งที่จะทำต่อไปก็คือว่า
จะต้องทำประเทศให้เข้มแข็ง

ปี 2545 ผมตั้งเป้าเศรษฐกิจ 5 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่มีใครเชื่อ
ตอนนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขาตั้งว่าจะโตแค่ 2 เปอร์เซ็นต์
ต่างกันถึง 150 เปอร์เซ็นต์
แต่ในที่สุดรัฐบาลก็ทำได้คือโต 5.2 เปอร์เซ็นต์
และในปี 2546 ผมตั้งเป้า 6 เปอร์เซ็นต์
แม้จะประสบปัญหาโรคซาร์ส แต่มั่นใจว่าไม่เกินความสามารถ
เชื่อว่าจะทำได้ใกล้เคียงคือเกิน 5.5 เปอร์เซ็นต์แน่นอน
เพราะข้าราชการและเอกชน ประชาชนมีกำลังใจ
และไม่ใช่วิสัยของรัฐบาลนี้ที่จะงอมืองอเท้า
เราต้องกำหนดชีวิตเราเอง
ตั้งใจว่าปีหน้าจะทำให้ดีกว่านี้อีก
คนไทยต้องมีงานทำ ต้องกระจายความเจริญไปสู่รากหญ้า
ให้ความเจริญกระจายไปอย่างทั่วถึง
ต้องปรับเศรษฐกิจให้ได้
รัฐบาลนี้ทำในสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน
คือใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบ 2 แนวทาง
คืออาศัยทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศและการส่งออก
จากเดิมที่เราพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก
รัฐบาลนี้ได้กระจายเศรษฐกิจไปยังรากหญ้า
สิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่มีกำลังใจ ไม่สู้
แต่รัฐบาลมีทิศทางที่จะทำให้ท่านสู้
และสิ่งนี้จะเกิดไม่ได้
ถ้าราชการไม่ทุ่มเท 2 ปีครึ่งของรัฐบาลชุดนี้
ข้าราชการเหนื่อยกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา
ทุกคนทุ่มเท และทำให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

การใช้หนี้วันนี้ทำให้ประเทศหมดพันธกรณีหลายๆ อย่าง
เราไม่ต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ต้องทำตามคำสั่งของไอเอ็มเอฟ
เราสามารถที่จะเลือกยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเอง
ยืนยันว่ารัฐบาลนี้จะดำรงภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 7 เปอร์เซ็นต์
ไม่ขึ้นเป็น 10 เปอร์เซ็นต์อย่างเด็ดขาด

นอกจากนี้ การพ้นจากไอเอ็มเอฟ
ทำให้รัฐบาลสามารถจะแก้ไขกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 11 ฉบับ
(ซึ่งออกในสมัยนายชวน หลีกภัย) ที่หลายฝ่ายห่วงใยกัน
อยากให้มีการแก้ไข ซึ่งรัฐบาลได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาพูดคุย
และสรุปว่าจะแก้ไขกฎหมายบางฉบับ คือ
1.กฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจ
ซึ่งตามข้อกำหนดของไอเอ็มเอฟต้องขายมาใช้หนี้
แต่เราจะกระจายหุ้นในตลาด เพื่อขยายตลาดอย่างมืออาชีพ
และตรวจสอบด้วยระบบจะเข้มแข็ง
ทำให้รายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ขายมาใช้หนี้
เพราะไม่จำเป็น จึงจะมีการออก กม.ปรับปรุงพัฒนารัฐวิสาหกิจ
เพื่อปรับปรุงองค์กร
2.กฎหมายล้มละลาย
ให้มีความเป็นธรรมลูกหนี้และเจ้าหนี้
3.กฎหมายประกอบธุรกิจคนต่างด้าว
รักษาผลประโยชน์ประชาชน พันธสัญญาต่างตอบแทน
4.กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
5.กฎหมายอาคารชุด
6.กฎหมายประกันสังคม
ซึ่งจะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น

ต่อไปนี้รัฐบาลมีภารกิจทำต่อ
เพื่อให้ตัวเลขเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ต่อไป
ที่ผ่านมาขาดดุลและหนี้มาก
แต่ปัจจุบันหนี้ลดลงและปรับเป็นบวก
เพราะส่งเสริมเศรษฐกิจรากหญ้า
ไม่ส่งเสริมการนำเข้า เพื่อมาแทรกแซงการส่งออก
รัฐบาลท่องคาถา "ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส"

เราจะเดินหน้าต่อไปในเรื่องการแปลงทรัพย์สินเป็นทุน
เพื่อให้ดินที่รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์มาเป็นทุนได้
เพื่อนำมาต่อยอดให้กองทุนหมู่บ้านที่ดี
กลายเป็นธนาคารประจำหมู่บ้าน
ใช้ระบบเทคโนโลยีมาบริหารจัดการ
ใช้ผู้ว่าฯซีอีโอมาพัฒนาประเทศ
เร่งปฏิรูปการศึกษาในทุกๆ ด้าน
พร้อมเร่งปราบปรามยาเสพติด
ใช้ความเด็ดขาดอย่างต่อเนื่อง
โดยขอให้ผู้มีอิทธิพลทั้งหลาย
หยุดการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ให้ธุรกิจใต้ดินถูกจัดการเสียภาษีให้อย่างถูกต้อง
ไม่มีระบบมาเฟีย

วันนี้ เป็นอีกวาระหนึ่ง
ซึ่งผมเพิ่งลงนามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่องการใช้ การชัก ธงชาติ
เพื่อให้ประเทศไทย
สามารถที่จะชูธงชาติได้สะดวกขึ้น
ไม่มีข้อกฎหมายอะไรห้ามไว้
ผมเห็นนานาประเทศใช้ธงชาติอย่างชัดเจน
ผมขอถือโอกาสนี้
ใช้พันธกรณีที่ปลดหนี้จากไอเอ็มเอฟได้
ให้ช่วยกันชักธงชาติให้เป็นหนึ่ง
เหมือนประเทศทุนนิยมที่ประสบผลสำเร็จ
ที่จะมีเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ
ยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก
โดยใช้ธงเป็นสัญลักษณ์ของผลประโยชน์แห่งชาติ
จึงอยากให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศชักธงชาติ
เพื่อแสดงให้เห็นว่า เราได้หมดหนี้จากไอเอ็มเอฟแล้ว
โดยทุกส่วนราชการได้สั่งให้ปักธงไว้แล้ว
ส่วนสินค้าที่เหมาะสม ก็สามารถใช้ธงชาติเป็นสัญลักษณ์ได้
ขอให้ชูธงเพื่อชูชาติ
วันนี้ อยากจะบอกว่า
รัฐบาลได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ
และเพิ่มบทบาทในระดับนานาชาติ เพื่อให้คนไทยมีงานทำ
และในสิ้นปีนี้ เราจะมีทุนสำรองที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
วันนี้ถือโอกาสขอบคุณมิตรประเทศ
ที่ให้ไทยได้กู้ยืมเงินในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
หรือที่เรียกว่า เพื่อนยามยาก
โดยญี่ปุ่นให้เรากู้เท่ากับไอเอ็มเอฟ
ธนาคารกลางของจีน ฮ่องกง เกาหลีใต้
มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน ออสเตรเลีย และแคนาดา
รวมถึงอินโดนีเซียที่เอ่ยปาก
ให้ไทยกู้เงินจำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทุกวันนี้ ไอเอ็มเอฟไม่ได้ผิดอะไรกับเรา
การให้ยารักษาเราในช่วงปี 2524-2525
เป็นการให้ยาที่ถูกต้องถูกสมัย
เพราะช่วงนั้น เรามีคนไทยไปร่วมทำงานกับไอเอ็มเอฟด้วย
เขายินดีรับฟังคนของเรา แต่งวดนี้
ยาของไอเอ็มเอฟผิด
ทำให้เราต้องเสียหายมากกว่าที่ควรจะเป็น
แต่ขณะนี้
ความเสียหายในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน
เป็นวงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท
เป็นหนี้ที่ได้ตกลงกันแล้วว่า
จะจัดการหนี้เหล่านี้ให้เรียบร้อย
โดยจะไม่มีผลกระทบต่องบประมาณของประเทศไทย
ทีแรกธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงเจตจำนง
จะนำรายได้ของธนาคารแห่งประเทศไทยไปใช้หนี้
โดยกำหนดว่าจะใช้เวลาประมาณ 29 ปี
แต่วันนี้แนวโน้มเหล่านี้
หนี้ที่เกิดจากการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน
คาดว่าจะสามารถชำระหนี้คืนได้หมด
โดยเร็ว เพราะหนี้เหล่านี้เป็นหนี้เงินบาท
ไม่มีปัญหา เหมือนเงินสกุลต่างประเทศ
แต่วันนี้หนี้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศ
เราใช้หนี้หมดแล้ว

วันนี้เราต้องมีกำลังใจ ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
ทำธุรกิจ ครอบครัว และกิจวัตรอย่างดีที่สุด
ด้วยความทุ่มเท และประเทศไทยเราจะเข้มแข็ง
ไม่มีวันที่จะกลับไปสู่ไอเอ็มเอฟอีก
หากผมยังอยู่
ผมจะวางระบบและจะทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง
เพื่อให้คนที่มารับงานต่อจากผม มาทำงานอย่างเป็นระบบ
โดยจะได้ไม่ต้องพาคนไทยเข้าไอเอ็มเอฟอีก
ขอแสดงความยินดีและดีใจกับประชาชนคนไทย
สำหรับชัยชนะที่เราได้ร่วมกันพิชิตในวันนี้

(หน้า 2 มติชน ฉบับวันที่ 1 ส.ค. 2546)

----------------------------------------------------
- ตามแก้หนี้เน่ากองทุนฟื้นฟู

8 ปีแห่งการบริหารหนี้เน่า ของกองทุนฟื้นฟูฯ

รายงาน ประชาชาติธุรกิจ หน้า 18 วันที่ 28 มีนาคม 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 3674 (2874)

ภาย หลังจากที่ประเทศไทยได้เข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิ ถูกใช้ไปในการปกป้องค่าเงินบาทของประเทศเกือบหมด ภาคเอกชนขาดความเชื่อมั่นในระบบการเงินของประเทศ ที่ต่างพากันขนเงินลงทุนย้ายออกไปนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อค่าเงินบาท และสภาพคล่องภายในประเทศ จนทำให้ผู้ฝากถอนเงินฝากออกจากสถาบันการเงินหลายแห่ง และท้ายที่สุดรัฐบาล ได้มีการปิดกิจการสถาบันการเงิน 56 แห่ง เนื่องจากสถาบันการเงินเหล่านี้ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง และมีระดับของสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ต่อมาเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจ ให้กับผู้ฝากเงินและนักลงทุน ตลอดจนหยุดยั้งความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นและเพื่อหยุดการไหลของเงิน

เมื่อ วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2540 รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการออกพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ด้วยการรับประกันผู้ฝากเงิน และเจ้าหนี้ที่สุจริตของสถาบันการเงินทั้งระบบ โดยมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ในฐานะที่เป็นพระเอกของเรื่องนี้เข้าไปทำหน้าที่รับประกันเงินฝากและเจ้า หนี้ ซึ่งในขณะนั้นมียอดหนี้สินรวมทั้งสิ้น 1,004,000 ล้านบาทที่กองทุนฟื้นฟูฯจะต้องเข้าไปรับผิดชอบ

ณ สิ้นปี 2540 กองทุนฟื้นฟูฯมีหนี้สินเพิ่มขึ้นทันที 893,111 ล้านบาท โดยหนี้สินดังกล่าวเกิดจากการจัดหาสภาพคล่อง ให้กับสถาบันการเงิน 56 แห่ง ที่ถูกปิดกิจการ และสถาบันการเงินอื่นๆ ที่กองทุนฟื้นฟูฯเข้าไปแทรกแซงในเวลาต่อมา โดยสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการทั้งหมดไม่มีดอกเบี้ยรับเพราะที่มีอยู่ใน สถาบันการเงินส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในขณะที่กองทุนฟื้นฟูฯ มีภาระดอกเบี้ยจ่ายจากการออกพันธบัตรระยะสั้นในอัตรา 20% ต่อปี และในบางช่วงต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ถือพันธบัตรในอัตรา 24% เพื่อนำเงินที่ระดมได้จากการออกพันธบัตร ขายให้กับสถาบันการเงินใหญ่ๆ ที่มีสภาพคล่องเหลือมาปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเงินที่ขาดสภาพคล่อง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินเกิดการบิดเบือนผิดปกติ และท้ายที่สุดได้ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงิน ของกองทุนฟื้นฟูฯเองจนกระทั่งเงินกองทุนติดลบ ไม่อยู่ในวิสัยที่จะเข้าไปช่วยสถาบันการเงินอื่นๆ

ต่อมาในยุคสมัยของ รัฐบาลชวน หลีกภัย ที่มีนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้ตัดสินใจแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นด้วยการออกพระราชกำหนดให้อำนาจ กระทรวงการคลังออกพันธบัตรกู้เงิน เพื่อชดเชยความเสียหายให้กองทุนฟื้นฟูฯ พ.ศ.2541 ในวงเงิน 500,000 ล้านบาท หรือที่เรียกว่า FIDF 1 โดยกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องนำส่งเงินเข้ามาใช้หนี้ที่เป็นเงินต้นประมาณ 90% ของกำไรสุทธิของ ธปท. รวมทั้งเงินรายได้จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วย โดยคาดว่าจะชำระหนี้หมดภายใน 30 ปี ส่วนภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการออกพันธบัตร ทางกระทรวงการคลังจะเป็นผู้รับผิดชอบด้วยการจัดงบประมาณมาจ่าย

จาก นั้นกระบวนการของการโอนหนี้ภาคเอกชนมาเป็นหนี้สินของรัฐบาลได้เริ่มขึ้น ณ สิ้นปี 2543 มียอดหนี้สินหรือที่เรียกว่าหนี้สาธารณะของรัฐบาลจากการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ของกองทุนฟื้นฟูฯรวมทั้งสิ้น 2,613,336 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2539 ยอดหนี้สาธารณะอยู่ในระดับ 685,234 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2539 ประมาณ 282% ต่อมาในสมัยของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 1 ฐานะการเงินของตัวกองทุนฟื้นฟูฯ เอง ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งในฝั่งของหนี้สินที่ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้สูญ และฝั่งเงินกองทุนก็ยังติดลบอยู่เป็นจำนวนมาก ทางรัฐบาลก็ยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูฯ ด้วยการทยอยดึงหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ เข้ามาเป็นหนี้สินของรัฐบาลโดยตรง โดยการออกพันธบัตรชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนฟื้นฟูฯเป็นครั้งที่ 2 หรือที่เรียกว่า FIDF 2 ในวงเงิน 112,000 ล้านบาท และพันธบัตร FIDF 3 อีกเป็นจำนวน 780,000 ล้านบาทในเวลาต่อมา

เมื่อรวมความเสียหายที่ เกิดขึ้นกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินทั้ง 3 กองคือ FIDF 1, FIDF 2 และ FIDF 3 กองทุนฟื้นฟูฯมีความเสียหายจากการเข้าไปแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินในช่วงวิกฤต เศรษฐกิจรวมแล้วเกือบ 1.4 ล้านล้านบาท

จากรายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2547 รัฐบาลออกพันธบัตรรัฐบาลมาชดเชยความเสียหาย ให้กับกองทุนฟื้นฟูฯไปแล้ว 984,263.90 ล้านบาท และยังค้ำประกันหนี้สินให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF 2) ที่ยังอยู่ในบัญชีงบดุลของ กองทุนฟื้นฟูฯเองอีก 40,000 ล้านบาท รวมวงเงินที่รัฐบาลเข้าไปรับผิดชอบด้วยการดึงเข้ามาเป็นหนี้สินของรัฐโดยตรง และค้ำประกันให้คิดเป็นจำนวนรวมถึง 1,024,263.90 ล้านบาท ส่วนที่เหลือหนี้ที่ทางกระทรวงการคลัง ยังไม่ได้เข้าไปรับผิดชอบกองอยู่ที่กองทุนฟื้นฟูฯ มีเหลืออีกประมาณ 339,775.10 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้นเกือบทั้งสิ้น

และ จากการมีมูลหนี้ที่ยังหลงเหลืออยู่ในบัญชีของกองทุนฟื้นฟูฯทั้งหมดกว่า 300,000 ล้านบาท ที่ได้ผ่านการตรวจทาน จากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และมีการตรวจสอบรับรองบัญชีงบดุลแล้วในช่วงปลายปีที่แล้ว พบว่ามีความเสียหายที่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนหรือมีหนี้สูญอยู่ในบัญชี ของกองทุนฟื้นฟูฯอยู่ประมาณ 130,000 ล้านบาท ซึ่งความเสียหายดังกล่าวนี้รัฐบาลจะต้องออกพันธบัตร FIDF 3 มาชดเชยความเสียหายให้ในปีงบประมาณ 2549

อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2548 รัฐบาลมีแผนที่จะออกพันธบัตรมาชดเชยความเสียหายให้กองทุนฟื้นฟูฯ รวมทั้งการออกพันธบัตรเพื่อนำมาทดแทนพันธบัตร FIDF 1 และ FIDF 2 ที่ครบกำหนดไถ่ถอน (rollover) คิดเป็นวงเงิน 195,000 ล้านบาท แต่ในปี 2547 ที่ผ่านมาทาง ธปท.ได้นำส่งกำไรเข้ามาใช้หนี้ประมาณ 10,000 ล้านบาท ตามพระราชกำหนดแล้วจะต้องนำเงินที่ ธปท.นำส่งไปไถ่ถอนพันธบัตรของ FIDF 1 ที่ครบกำหนดไถ่ถอน ซึ่งจะมีผลทำให้แผนการออกพันธบัตรรัฐบาล เพื่อชดเชยความเสียหายของกองทุนฟื้นฟูฯลดลงไปเหลือ 185,000 ล้านบาท และเพื่อเป็นการรักษาระดับความต่อเนื่องของการออกพันธบัตรรัฐบาล ทางกระทรวงการคลังได้ไปขอใช้วงเงินพันธบัตร FIDF 3 ที่มีแผนการที่จะออกพันธบัตรในปีงบประมาณ 2549 ในวงเงิน 130,000 ล้านบาท มาออกในปีงบประมาณ 2548 แทนเป็นวงเงิน 10,000 ล้านบาท ทำให้ยอดการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อมาทดแทนพันธบัตรของกองทุนฟื้นฟูฯที่ครบ กำหนดไถ่ถอนในปี 2548 กลับไปอยู่ที่ยอดเดิมคือ 195,000 ล้านบาท โดยแผนการออกพันธบัตรรัฐบาลในปีนี้ส่วนหนึ่งจะเป็นการออกพันธบัตรออมทรัพย์ ขายให้กับประชาชนทั่วไปที่เคยออกมาขายในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนการออมภายในประเทศ

สรุปที่กล่าวมาข้าง ต้นคือ ลำดับเหตุการณ์ที่สำคัญในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ในการแก้ปัญหาสถาบันการเงินของรัฐบาล ผ่านกลไกของกองทุนฟื้นฟูฯ ตลอดจนกระบวนการโอนหนี้เน่าของภาคเอกชนมาเป็นหนี้ของรัฐวันนี้ไปถึงไหนแล้ว และถึงเวลาที่จะนำสถาบันประกันเงินฝากมาใช้ได้หรือยัง

-------------------------------------------------
- พิสูจน์ชัดตั้ง บสท. แก้หนี้เสียประสบผลสำเร็จ

บสท.ชี้ 3 ปีปรับหนี้ทะลุ 7 แสนล้าน
ทักษิณ เปรียบเทียบ"รัฐบาลนี้เป็นหมอ ชุดก่อนสัปเหร่อ"

กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2547

"ทักษิณ" ระบุ 3 ปีในการแก้ไขหนี้เสียของ บสท.เป็นความสำเร็จของรัฐบาลที่เดินนโยบายมาถูกทาง เปรียบรัฐบาลเป็นหมอรักษาคนไข้ ขณะที่รัฐบาลชุดก่อนเป็นสัปเหร่อที่เร่งนำคนไข้เข้าเตาเผา ชี้ 4 ปีข้างหน้าเป็น 4 ปี แห่งการท้าทายของรัฐบาล พร้อมมอบนโยบายให้ บสท.ช่วยปรับโครงสร้างหนี้แก่รายย่อย ส่วนผลงานที่ผ่านมาสามารถปรับหนี้ได้กว่า 7.6 แสนล้านบาท หรือ 98% ของหนี้เสีย ที่รับโอนมาจากสถาบันการเงินรัฐ และเอกชน
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในการแถลงผลงาน ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย หรือ บสท.หัวข้อ "60 ล้านไทย พ้นภัยเศรษฐกิจ ย่อวิกฤต ต่อโอกาส" โดย บสท.เมื่อวานนี้ (20 ธันวาคม) ว่า การจัดตั้ง บสท.เข้ามาบริหารหนี้เสีย ในช่วงที่สถาบันการเงินมีหนี้เสียจำนวนมาก ถือเป็นการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มาอย่างถูกทางแล้ว สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็น คือ ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาหนี้เสียในระบบ และหากว่าไม่มีการจัดตั้ง บสท.เศรษฐกิจก็คงจะไม่เดินมาได้ถึงขนาดนี้
เขายังเปรียบเทียบว่า การที่รัฐบาลจัดตั้ง บสท.ขึ้นมาบริหารหนี้นั้นเปรียบเสมือนหมอที่ดูแลคอยรักษาคนไข้ ที่พยายามเยียวยารักษา ไม่ยอมแพ้ และภาคภูมิใจที่สามารถรักษาคนไข้ให้หายขาด ซึ่งต่างจากแนวคิดของรัฐบาลชุดก่อนที่มีแนวคิดแบบสัปเหร่อ ที่เร่งเอาคนไข้ไปเผา
"ผมเชื่อว่า ถ้ารัฐบาลไม่ตั้ง บสท.เศรษฐกิจก็คงจะไม่เดินมาได้ ซึ่งในช่วงนั้นสถาบันการเงินก็อยู่ในช่วงที่ต้องตัดสินใจว่าจะตั้ง good bank หรือ bad bank ดี ซึ่งก็ทำไม่สำเร็จ รัฐบาลสมัยนั้นก็พยามจัดตั้งแบงก์รัตนสินขึ้นมาเป็น good bank ก็ไม่สำเร็จ เพราะไม่ยอมตั้ง bad bank ขณะเดียวกัน ก็เอาทรัพย์สินด้อยคุณภาพไปขายให้ฝรั่งในราคาถูก แต่เขาเอากลับมาขายคนไทยราคาแพง ผมไม่รู้ว่าจะตั้งใจหรือไม่ แต่เท่าที่รู้เป็นการทำงานที่ไม่ฉลาด"
เขากล่าวด้วยว่า ความสำเร็จของ บสท. อยู่ที่การนำแบบอย่างที่ดีจากการบริหารงาน ตามประเทศกลุ่มตะวันตก และตะวันออกมาผสมผสานกัน โดยในส่วนการบริหารงานแบบตะวันตกนั้น บสท.ได้นำแนวทางการบริหารงานอย่างมืออาชีพ โปร่งใส และตรงไปตรงมาเข้ามาช่วย ขณะเดียวกัน การบริหารงานตามแนวทางของตะวันออกนั้น บสท.ก็นำแนวทางการบริหารอย่างเอื้ออาทร และมีความเข้าใจ เข้ามาช่วยในการบริหาร ทำให้การดำเนินงานของ บสท.มีความสำเร็จด้วยดี
"เราลงทุนไปพอสมควร ทั้งแบงก์และเอกชน ก็ร่วมมือกันรับภาระที่เกิดขึ้น แบ่งกันกินยาขม ทั้งแบงก์ และลูกหนี้ ไม่ใช่อีกคนหนึ่งกินยาขม อีกคนหนึ่งช็อกโกแลต"
เขายังกล่าวฝากให้ บสท.เข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในส่วนที่เหลือ โดยกล่าวว่า เมื่อเป็นหมอแล้ว ก็ต้องเข้าไปช่วยรักษาให้หายขาด ขณะเดียวกัน คนไข้หรือลูกหนี้ก็ต้องพร้อมที่จะเข้ามารักษา และหมั่นตรวจเช็คร่างกายด้วย ที่ผ่านมาได้รับการลดหนี้ ก็อย่าดีใจ เพราะลูกหนี้ต้องยืนด้วยลำแข้งตนเอง ขณะที่ สถาบันการเงินที่รีไฟแนนซ์ ก็ต้องเข้าใจลูกหนี้ด้วยว่าที่ผ่านมามีความผิดพลาด
"ภารกิจต่อไปของ บสท.คือ ช่วยรายเล็ก คงต้องขอให้ทำต่อไป คิดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา เพราะประมาท ทั้งภาครัฐและเอกชน แต่วันนี้ เราต้องระวัง และต้องระวังในทุกเรื่อง ขณะเดียวกัน อยากฝากนักธุรกิจด้วยว่า ในโลกทุนนิยมคำว่า ทรัส แอนด์ คอนฟิเดนท์ เป็นคำที่มีค่าที่สุด ถ้ามี 2 เรื่องนี้ ไม่ว่าจะทำอะไร ออกหุ้น ออกบอนด์ หรือกู้เงิน ก็จะได้รับความเชื่อถือ"
เขากล่าวว่า วันนี้ประเทศอยู่ในฐานะที่ต้องสร้างเศรษฐกิจ และมีโอกาสสร้างความมั่งคั่ง เพราะจะมีเงินลงทุน ทั้งจากภาครัฐ เอกชน และต่างประเทศเข้ามาอีกมากจากความเชื่อถือที่รัฐบาลได้สร้างไว้ ภายใต้ความเข้มแข็งและกล้าตัดสินใจของรัฐบาล งานใหม่คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้โตอย่างยั่งยืน ซึ่งนอกจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องปรับโครงสร้างสังคมควบคู่กันไปด้วย โดย 4 ปีข้างหน้าเป็นปีที่ท้าทายของรัฐบาล และเป็นปีที่เป็นโอกาสของคนไทยทั้งประเทศด้วย
สำหรับผลการดำเนินงานของ บสท.ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ประธานกรรมการ บสท.กล่าวว่า บสท.สามารถจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ได้รับการโอนมาจากสถาบันการเงินจนมีข้อยุติ จนถึงวันที่ 30 พ.ย.2547 ทั้งสิ้น 767,058 ล้านบาท หรือคิดเป็น 98% ของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รับโอนมาจากสถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ บสท.รับโอนมาจากสถาบันการเงินรัฐและเอกชนทั้งหมดมีมูลค่ารวม 777,175 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนลูกหนี้ทั้งสิ้น 15,491 ราย
นอกจากการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถดำเนินการกิจการต่อไปได้ โดยจากมูลค่ารวมของหนี้ที่มีข้อยุติทั้งหมด 767,058 ล้านบาท เป็นลูกหนี้ที่มีการปรับโครงสร้างหนี้มากถึง 525,942 ล้านบาท หรือ 69% ของลูกหนี้ที่มีข้อยุติทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับการแก้ไขปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินปกติ
ทั้งนี้ อัตราการรับชำระหนี้เฉลี่ยของลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ได้มีค่าเฉลี่ยเท่ากับประมาณ 48.92% สูงกว่าต้นทุนที่ บสท.รับโอนมาจากสถาบันการเงิน 34.29% ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้สถาบันการเงินโดยรวมที่โอนที่โอนหนี้เสียมายัง บสท.ไม่ต้องมีภาระเพิ่มเติมในการกันสำรองเพิ่มเติมแล้ว ยังไม่เป็นภาระเพิ่มเติมกับกองทุนฟื้นฟูด้วย
เขากล่าวด้วยว่า นอกจากให้โอกาสลูกหนี้ในการฟื้นฟูกิจการแล้ว บสท.ยังมีบทบาทในการช่วยเหลือแนะนำ ลูกหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ให้สามารถหาแหล่งเงินกู้เพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 27 บริษัท ซึ่งมีภาระหนี้ตามบัญชีรวมกันประมาณ 50,000 ล้านบาท ที่ได้ปรับโครงสร้างหนี้เสร็จสิ้นไปแล้ว ส่วนหนึ่งสามารถระดมทุนโดยการเพิ่มทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้จำนวนประมาณ 30,000 ล้านบาท และส่วนหนึ่งสามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนได้อีกกว่า 12,000 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโอกาสดังกล่าว บสท.โดย ดร.โอฬาร ยังได้มอบเช็คเงินสดจำนวน 51,860 ล้านบาท ให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สถาบันการเงินเดิม โดยนางสว่างจิตต์ จัยวัฒน์ ผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูได้เป็นผู้รับมอบ
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบหมายให้นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานรัฐ ที่ทำหน้าที่ในการแก้ไขหนี้ด้อยคุณภาพ ใช้ขอบเขตหน้าที่ประสานงานกับ บสท.เร่งแก้ไขหนี้รายย่อยที่เหลือทั้งของ บสท.และของธนาคารพาณิชย์เอกชน ให้เสร็จโดยเร็ว เชื่อว่า 3-4 ปีข้างหน้า หน้าที่ของ บสท.จะจบสิ้นลง
นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการ บสท.ในฐานะคณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ภาครัฐ (เอเอ็มซี) เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้รายย่อยตามนโยบายของรัฐบาลว่า ขณะนี้เอเอ็มซีภาครัฐเห็นชอบในการกำหนดใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้รายย่อยร่วมกัน ซึ่งต่อไปนี้ลูกหนี้รายใด มีเจ้าหนี้เป็นเอเอ็มซีของรัฐมากกว่า 1 ราย จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้พร้อมกันในครั้งเดียว โดยจะกำหนดให้เจ้าหนี้รายใหญ่เป็นแกนในการเจรจาลูกหนี้รายนั้น
อย่าง ไรก็ตาม ยังไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ว่า มูลหนี้รายย่อยที่มีอยู่ในขณะนี้มีจำนวนเท่าใด แต่ในส่วนของ บสท.เองในปัจจุบันลูกหนี้รายย่อยที่ยังไม่สามารถเจรจาประนอมหนี้ได้มีจำนวน 4-5 พันราย มูลหนี้ประมาณ 5 พันล้านบาท โดยในช่วงต่อไปนี้ บสท.จะเร่งทำการประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้ที่เหลืออยู่เข้ามาปรึกษากับเจ้า หน้าที่ของ บสท.ที่จะสัญจรออกไปยังพื้นที่ต่างๆ เหมือนที่ได้ดำเนินการมาแล้วก่อนหน้านี้ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินการให้เสร็จภายในกลางปีหน้าส่วนการจะปรับลดหนี้ (แฮร์คัต) เท่าไรนั้น ไม่ได้มีการกำหนดตายตัว ขึ้นอยู่กับมูลค่าของหลักทรัพย์ที่ประกันความสามารถในการชำระหนี้หลังจาก ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว
นอกจากนี้ ในส่วนของการแก้ไขปัญหาหนี้รายย่อยของธนาคารพาณิชย์ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องการให้ บสท.เข้ามาส่วนร่วมนั้น คาดว่า จะต้องเป็นภายหลังจากที่ บสท.แก้ไขหนี้ด้อยคุณภาพที่เหลืออีกกว่า 10,000 ล้านบาท เสร็จสิ้นแล้ว ถึงจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาหนี้รายย่อยของธนาคารพาณิชย์ โดยจะกำหนดตำแหน่งของตนเอง ในการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ เพราะบุคลากรของ บสท.มีความเชี่ยวชาญในการการปรับโครงสร้างหนี้โดยเฉพาะ ทำให้มั่นใจว่าจะมีส่วนช่วยให้การแก้ไขหนี้รายย่อยของภาคเอกชนมีความรวดเร็วขึ้น

----------------------------------------------------
"ทักษิณ"โชว์ผลงานบสท.ล้างหนี้56ไฟแนนซ์ ชูนโยบายเทอม2ปรับโครงสร้างธุรกิจ

มติชนรายวัน วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9782

"วันนี้ เราลุกขึ้นยืนได้แล้ว อยากฝากถึงนักธุรกิจทุกท่านว่า โลกทุนนิยม คำว่า Trust และ Confidence มีค่ามากที่สุด... ผมพิสูจน์ได้ว่าผมทำให้เขาเกิด Trust และ Confidence เขาจึงกล้าที่จะให้เงินกู้ วันนี้ หากประเทศไทยมี Trust และ Confidence จะไปได้อีกไกล"

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย(บสท.) จัดงาน 60 ล้านไทยพ้นภัยเศรษฐกิจ เนื่องในวันครบรอบการดำเนินงาน 3 ปี ของ บสท. หน่วยงานซึ่งทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการแก้ไขหนี้ด้อยคุณภาพของ 56 สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการไปก่อนหน้านี้ เมื่อครั้งวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นองค์ปาฐก

และข้อความต่อจากนี้ คือสาระของปาฐกถาพิเศษของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ดูเหมือนจะพูดออกมาจากก้นบึ้งของจิตใจ เพราะนายกรัฐมนตรีผู้นี้ครั้งหนึ่งเคยตกอยู่ในฐานะลูกหนี้ที่แทบจะสิ้นเนื้อประดาตัวเมื่อแรกเริ่มหันมาสนใจทำธุรกิจ ก่อนที่จะมาพบกับปัจจุบันที่รุ่งเรือง

พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวปาฐกถาหลังจากรับชมวีดิทัศน์ที่ บสท.นำเสนอ ว่าผมได้ดูวีดิทัศน์ที่นำเสนอถึงชีวิตลูกหนี้ รู้สึกตื้นตันใจ เพราะผมเคยผ่านเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน เป็นภาวะที่แย่มาก เหมือนเป็นด้านมืดของชีวิต วันนี้พบด้านสว่าง ขอให้เก็บความทรงจำเหล่านั้นเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้ผิดพลาดอีก และขอให้คิดว่าในยามที่สว่างก็อย่าประมาท ให้ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง

"ผมยอมรับว่าการจัดตั้ง บสท.เป็นนโยบายแรกของรัฐบาลชุดนี้ที่ให้ความสำคัญ เพราะเราเห็นว่าแนวทางแก้ไขของรัฐบาลชุดที่แล้วไม่ถูกต้อง ที่เอาของไม่ดีมาขายฝรั่งรวมเป็นเข่ง เป็นวิธีการที่ไม่ฉลาด วิธีคิดที่แตกต่างของรัฐบาลชุดนี้และรัฐบาลชุดที่แล้ว เปรียบเป็นแนวคิดของหมอ และแนวคิดของสัปเหร่อ วิธีคิดของหมอต้องรักษาคนไข้ให้ดีที่สุด แม้จะแย่แค่ไหนก็จะไม่ยอมถอดเครื่องช่วยหายใจ แต่ต้องรักษาให้หายเป็นปกติ ขณะที่สัปเหร่อจะเร่งเพื่อทำอย่างไรก็ได้ให้คนไข้ไปห้องดับจิต"

บสท.ประสบความสำเร็จจากการนำจุดดีของตะวันตกกับตะวันออกมาผสมผสานกันโดยนำเรื่องของมืออาชีพ ความโปร่งใสจากตะวันตกมาใช้ในการปรับโครงสร้างหนี้ ขณะเดียวกันก็มีความเอื้ออาทร ความเข้าใจ และมองว่าสินทรัพย์ทุกอย่างเป็นสินทรัพย์ของประเทศ ต้องไม่ทำให้เน่าเสียตามแนวคิดของตะวันออก โดยมองว่าธุรกิจคือครอบครัว ส่งผลถึงพนักงาน ส่งผลถึงธุรกิจที่เชื่อมโยง หากแก้ไขธุรกิจได้ทุกอย่างจะฟื้นตามมา ต้องยอมรับว่าเราลงทุนกันไปเยอะกันพอสมควร แต่เราก็แบ่งกันกินยาขมคนละเม็ด ทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ แต่เราก็ต้องการหายด้วยกัน และต้องรักษาให้หายขาดโดยต้องหมั่นตรวจร่างกาย ตรวจสภาพ และต้องใช้กำลังใจในการต่อสู้พอสมควร สถาบันการเงินเองก็ต้องให้โอกาสใหม่กับลูกหนี้ที่ไม่มีความตั้งใจ เพราะเราทุกคนต่างก็ประเมินเศรษฐกิจผิดพลาดด้วยกันทั้งสิ้น อย่าไปมองแบบเดียวกับลูกค้าที่ใช้เงินผิดประเภท ต้องให้โอกาสเขา

ต่อจากนี้ ภาระหน้าที่ของ บสท. ขอให้เน้นช่วยลูกหนี้รายย่อยที่มีมูลหนี้น้อยแต่มีจำนวนมากราย ขอให้คิดว่าเป็นคนไทยเหมือนกัน ถ้าพวกเขาเข้มแข็ง เขาก็กลับมาช่วยสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งด้วย สิ่งที่ผ่านมาเป็นเพราะเราลืมพุทธโอวาทของพระพุทธเจ้าที่ว่า "สาธุชนทั้งหลายต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท"

"วันนี้ เมื่อเราลุกขึ้นยืนได้แล้วก็ขอให้เดินอย่างระมัดระวัง ผมอยากจะฝากถึงนักธุรกิจทุกท่านว่าโลกทุนนิยม คำว่า Trust และ Confidence มีค่ามากที่สุด เมื่อเขาให้โอกาสท่านใหม่ ให้กู้เงินท่านก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับเขา ถ้าท่านเป็นคนที่ไม่ Trust และ Confidence 2 ก็ไม่มีใครอยากเสี่ยงกับท่าน ผมผ่านชีวิตแบบนั้นมาแล้ว วันที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ต้องกู้หนี้ยืมสิน แต่ผมพิสูจน์ได้ว่าผมทำให้เขาเกิด Trust และ Confidence เขาจึงกล้าที่จะให้เงินกู้ วันนี้ หากประเทศไทยมี Trust และ Confidence จะไปได้อีกไกล"

"และสิ่งที่ผมพยายามสร้างมาตลอดตั้งแต่มาเป็นรัฐบาลก็คือ คำ 2 คำนี้ ผมจำได้ว่าเมื่อมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เวลาขอนัดพบปะกับผู้นำประเทศไหน เขาก็ถามว่าจะมาขออะไร ผมบอกว่าไม่ขอ แต่ต้องการเป็นหุ้นส่วน จำได้ว่าวันที่ผมตั้งใจจะคืนหนี้ไอเอ็มเอฟ(กองทุนการเงินระหว่างประเทศ)ก่อนกำหนด มีเสียงคัดค้านมาก แต่ผมก็กัดฟัน เพราะผมเชื่อเหมือนตอนที่ผมทำธุรกิจว่าถ้าผมใช้หนี้ เจ้าหนี้จะไว้ใจผม ซึ่งผลก็เป็นเช่นนั้น หลังคืนหนี้ไอเอ็มเอฟแทนที่เงินจะลดลง แต่ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศกลับท่วมมากขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ 4.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ"

จากคำ 2 คำนี้ ทำให้ประเทศเปลี่ยนไป ประเทศไหนที่ทำได้ก็สามารถสร้างกระดาษให้เป็นเงินได้ แต่ถ้าเราทำลายคำ 2 คำนี้ เงินก็กลายเป็นกระดาษได้ เหมือนที่เราเคยประสบมาแล้ว

สุดท้ายขอขอบคุณ ผู้บริหาร บสท. ที่ใช้เวลา 3 ปีที่ผ่านมาตั้งใจทำงานเป็นอย่างมากจนประสบความสำเร็จ ผมยอมรับว่าที่ผ่านมาผมต้องใช้ความหนักแน่นเพราะเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้เกี่ยวโยงกับผลประโยชน์เป็นจำนวน หากผมไม่หนักแน่นเจ้าหน้าที่ก็จะไม่สามารถทำงานได้ จนกระทั่งมาถึงวันนี้ ก้าวที่จะเดินต่อไปหลังปรับโครงสร้างหนี้ คือการปรับโครงสร้างธุรกิจ ใน 4 ปีข้างหน้าจะเป็น 4 ปีแห่งการปรับโครงสร้างธุรกิจ เพราะไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะเติบโตอย่างไม่ยั่งยืน ถ้าไม่มีการปรับโครงสร้างธุรกิจ

@ "โอฬาร"ปลื้มบสท.สางหนี้เกินเป้า

ช่วยแบงก์-ลูกหนี้กลับมาแข็งแกร่ง

นายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานกรรมการ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย(บสท.) กล่าวถึงผลการดำเนินงาน ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ในโอกาสครบรอบ 3 ปี ภายหลังจากการจัดตั้งตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย สามารถจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ที่ได้รับการโอนมาจากสถาบันการเงินจนมีข้อยุติ จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2547 ทั้งสิ้น 767,058 ล้านบาท หรือคิดเป็น 98% ของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รับโอนมาจากสถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย รับโอนมาจากสถาบันการเงินทั้งภาครัฐ และเอกชนทั้งหมด มีมูลค่ารวมถึง 777,173 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนลูกหนี้ทั้งสิ้น 15,491 ราย

"นอกจากการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้ตามเป้าหมายที่วางไว้เร็วกว่าที่กำหนดแล้ว บรรษัทบริษัทสินทรัพย์ไทย ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยฟื้นฟูกิจการลูกหนี้เพื่อให้ลูกหนี้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยจากมูลค่ารวมของหนี้ที่มีข้อยุติทั้งหมด 767,058 ล้านบาท เป็นลูกหนี้ที่มีการปรับโครงสร้างหนี้มากถึง 525,942 ล้านบาท หรือประมาณ 69% ของลูกหนี้ที่มีข้อยุติทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับการแก้ปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ในระบบสถาบันการเงินปกติ ทั้งนี้อัตราการรับชำระหนี้เฉลี่ย หรือ Recovery rate ของลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ได้มีค่าเฉลี่ยเท่ากับประมาณร้อยละ 48.92 สูงกว่าต้นทุนที่ บสท.รับโอนจากสถาบันการเงินที่ร้อยละ 34.29 ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้สถาบันการเงินโดยรวม ที่โอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมายังบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ไม่ต้องมีภาระเพิ่มเติมในการกันสำรองเพิ่มเติมแล้ว ยังไม่เป็นภาระเพิ่มเติมกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินอีกด้วย"

นอกเหนือจากการให้โอกาสลูกหนี้ได้ฟื้นฟูกิจการแล้ว บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ยังมีบทบาทในการช่วยเหลือแนะนำลูกหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ให้สามารถหาแหล่งเงินกู้เพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวน 27 บริษัท ซึ่งมีภาระหนี้ตามบัญชีรวมกันประมาณ 50,000 ล้านบาท ที่ได้ปรับโครงสร้างหนี้เสร็จสิ้นไปแล้ว ส่วนหนึ่งสามารถระดมทุนโดยการเพิ่มทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้จำนวนประมาณ 30,000 ล้านบาท และส่วนหนึ่งสามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนได้อีกกว่า 12,000 ล้านบาท

ซึ่งการระดมทุนเพิ่มเติมนี้นอกจากจะทำให้บริษัทดังกล่าวมีฐานะการเงินที่เข้มแข็งแล้ว ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพในการปรับโครงสร้างหนี้ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้เป็นอย่างดี

@ "สมเจตน์"รับสนองนายกฯ

เร่งมือช่วยลูกหนี้รายย่อย

นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย(บสท.) กล่าวว่า ขณะนี้ลูกหนี้ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่เหลืออยู่ มีมูลหนี้ 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายใหญ่ 5,000 ล้านบาท และรายย่อย 5,000 ล้านบาท โดยมีจำนวนรายสูงถึง 4,000-5,000 ราย หลังจากนี้ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยจะเดินหน้าแก้ไขหนี้ลูกหนี้รายย่อยที่เหลือเหล่านี้ และคาดการณ์ว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จเรียบร้อยในราวกลางปี 2548 นอกจากนี้ยังได้รับนโยบายให้เข้าไปร่วมกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ทั้งของธนาคารรัฐ และธนาคารพาณิชย์เอกชนในการแก้ไขหนี้รายย่อยเหล่านี้ ซึ่งมีเจ้าหนี้ร่วมหลายราย

หน้า 20
---------------------------------------------
- เริ่มปล่อยกู้ต่างประเทศ

ธสน. ชี้แจงโครงการเงินกู้พม่า 4,000 ล้านบาท

จากการที่หนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 23 สิงหาคม 2547 ได้เสนอข่าวว่า โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่รัฐบาลพม่าขอกู้จากรัฐบาลไทยมีส่วนโยงใยกับผลประโยชน์ของบริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยนั้น นายสถาพร ชินะจิตร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ขอชี้แจงว่า
เอกสารที่หนังสือพิมพ์มติชนนำมาอ้างอิงนั้นมิได้เป็นเอกสารที่นำเสนอต่อรัฐบาลไทยหรือใช้ในการขอกู้ในโครงการเงินกู้ระยะยาวจำนวน 4,000 ล้านบาท ระยะเวลา 12 ปีที่ ธสน. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการให้กู้แก่สหภาพพม่า การนำเสนอเอกสารดังกล่าวจึงอาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านได้

กรรมการผู้จัดการ ธสน. ชี้แจงต่อไปว่า โครงการเงินกู้ดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน โดย ธสน. ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการให้กู้ และสหภาพพม่าได้มอบหมายให้ Myanma Foreign Trade Bank (MFTB) เป็นผู้กู้ โดยมีกระทรวงการคลังของสหภาพพม่าค้ำประกัน รัฐบาลพม่าจะนำเงินกู้ดังกล่าวไปจัดสรรให้หน่วยงานต่างๆ ใช้ซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ วัสดุก่อสร้าง และบริการที่เกี่ยวข้องจากประเทศไทย เพื่อนำไปพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานและพัฒนาเศรษฐกิจของสหภาพพม่า ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดสรรวงเงินกู้และอนุมัติการจัดซื้อแก่กระทรวง
และหน่วยงานต่างๆ (Procurement Committee of the Prime Minister’s Office) โดยจัดสรรวงเงินจำนวน 600 ล้านบาท หรือ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับการพัฒนาระบบโทรคมนาคมในโครงการ Broadband Satellite System มิได้มีมูลค่า 30.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐดังที่ระบุในหนังสือพิมพ์มติชน
และขณะที่ ธสน. ทำสัญญาเงินกู้กับ MFTB เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2547 ฝ่ายพม่ายังไม่ได้มีการตกลงว่าจะจัดซื้อจากผู้ใด รัฐบาลพม่าเป็นผู้พิจารณาจัดซื้อจัดจ้างโครงการนี้ตามขั้นตอนของรัฐบาลพม่าเองในภายหลัง

นายสถาพร กล่าวว่า แม้การให้กู้ยืมเงิน 4,000 ล้านบาทจะเป็นเรื่องที่ดำเนินการตามนโยบายสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน แต่รายละเอียดการจัดซื้อเป็นขั้นตอนที่รัฐบาลพม่าเป็นฝ่ายตัดสินใจว่าจะซื้อจากผู้ใด โดย ธสน. จะตรวจสอบเอกสารและให้ความเห็นชอบเพื่อให้การจัดซื้อนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเงินกู้และขั้นตอนที่กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ในสัญญาเงินกู้ ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวเป็นขั้นตอนในการสนับสนุนผู้ส่งออกไทยตามปกติอยู่แล้ว

24 สิงหาคม 2547
ส่วนประชาสัมพันธ์ สำนักบริหาร
โดย มาหาอะไร
---------------------------------------------

อ่านเพิ่มเติม Link ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
<<< รายงาน ศปร. ( สารบัญ และ คำนำ ) >>><<< ข้อเท็จจริงที่ควรรู้ เรื่อง เงินกู้พม่า >>>



<<< วิกฤตต้มยำกุ้ง #1 เปิดเสรีการเงินไม่กี่ปี เป็นหนี้ต่างประเทศเพิ่มเท่าตัว >>>
<<< วิกฤตต้มยำกุ้ง #2 ความเชื่อมั่นที่ตกต่ำ ตอกย้ำการโจมตีค่าเงิน >>>
<<< วิกฤตต้มยำกุ้ง #3 สู้จนเจ๊ง >>>
<<< วิกฤตต้มยำกุ้ง #4 เด็กดี หนูลองยา IMF >>>
<<< วิกฤตต้มยำกุ้ง #5 จากประเทศลูกหนี้ พลิกกลับมาเป็นประเทศเจ้าหนี้ (จบ) >>>

FfF