บันทึกเรื่องราว สืบสาวความจริง ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน.
Save the stories. Investigate the truth. Give to the next generation.


17 ธันวาคม 2552

<<< ถ้าไม่สนใจการเมืองตั้งแต่วันนี้ อนาคตอาจจะ กรีซ ได้ >>>

มีคนเคยถามผมว่า
ทำไมถึงชอบสนใจการเมือง
ผมก็ตอบไปทำนองว่า
การเมืองเกี่ยวข้องกับเรา ตั้งแต่เกิดจนตาย
เพราะว่ากฏหมายต่างๆ ที่ออกมาบังคับใช้
มีตั้งแต่วันที่เราเกิดยันวันที่เราตายเลย
แล้วทำไมเราถึงจะไม่สนใจการเมือง
แถมถ้าได้รัฐบาลที่บริหารไม่ดี บริหารไม่เก่ง
ทำประเทศเป็นหนี้มากมาย
หรือพาประเทศถอยหลังลงคลอง
หรือทำลายชื่อเสียงเกียรติภูมิของประเทศ
คุณว่าคนในประเทศนั้นๆ
จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมไหม
อย่างกรณีเศรษฐกิจใกล้ๆ เลยก็วิกฤตต้มยำกุ้ง
ที่คนหลายคนยังจำไม่ลืม
หลายคนก็ลืมไปแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น
คนที่ต้องตกงานยุคนั้น
หรือคนล้มละลายหมดตัวกันในช่วงนั้น
ผมว่าอาจยังเหลืออีกเยอะที่ยังไม่ลืม
จะเห็นได้ว่า
ถ้าได้รัฐบาลที่บริหารไม่ดีประมาทเลินเล่อ
บริหารตามตำรา บริหารตามประเทศอื่นบอก
หรือหลับหูหลับตาลอกประเทศอื่นมา
โดยไม่ดูสภาพความเป็นจริงที่แตกต่างกัน
เหล่านี้มีโอกาสทำให้เกิดวิกฤตในอนาคตได้ทั้งนั้น
เช่น ถ้าปล่อยให้สร้างหนี้กันเยอะๆ
เพื่อไปหาเสียงเลือกตั้งกัน
เอาเงินงบประมาณไปแจกกัน
ไปซื้อเสียงล่วงหน้าในโครงการต่างๆ กัน
แล้วรัฐบาลอื่นมาก็ต้องทำตาม
ไม่งั้นจะอยู่รอดได้ยังไง
หลับตานึกก็เห็นภาพว่า
ถ้าทุกคนไม่สนใจการเมือง
หรือคนส่วนใหญ่ยังหลับใหล
ปล่อยไปตามยถากรรม
รัฐบาลไหนจะทำยังไงก็ปล่อยไป
เรื่องการเมืองไม่สนใจ
สนใจแต่เรื่องเฉพาะหน้า
เฉพาะเรื่องปากเรื่องท้องตนเองเท่านั้น
พอเกิดปัญหาจริงๆ
เช่น รัฐบาลไปก่อหนี้มากๆ
จนทำให้ประเทศล้มละลาย
โดนประเทศอื่นมายึดนั่นนี่
หรือไม่ก็ต้องรีดภาษีโหดๆ เพื่อไปใช้หนี้
ซึ่งก็จะได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ก็ตอนนั้นแหล่ะ
ยังไงก็หนีไม่พ้น
ต่อให้ไม่โดนรีดภาษี
ก็จะโดนหางเลขจากเครดิตประเทศไม่ดี
ทำให้การค้าขายการหารายได้ซบเซาไปด้วย

ตัวอย่างประเทศ กรีซ ตอนนี้
ที่มีรายได้ส่งออกน้อยกว่ารายได้นำเข้าค่อนข้างมาก
แต่ที่อยู่ได้เพราะรายได้จากการท่องเที่ยว
เมื่อเศรษฐกิจโลกไม่ดีก็กระทบหมดทุกที่
ประเทศท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะโดนหมด
ไม่ว่า กรีซ ดูไบ หรือแม้แต่ สเปน
ซึ่งเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวอันดับสองของโลก
กรณี กรีซ นอกจากภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ดีแล้ว
ปัญหาคอร์รัปชั่น ที่สะสมมานานก็เป็นส่วนหนึ่ง
ซึ่งปัญหานี้พี่ไทยก็ไม่แพ้ใครในโลกนี้เหมือนกัน
กินกันทุกระดับประทับใจ
รวมไปถึงการปล่อยปละให้รัฐบาล
ก่อหนี้สูงๆ ด้วยคำโฆษณาสวยหรูว่า
เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
โดยไม่ดูความสามารถที่จะใช้หนี้คืน
หรือความสามารถในการหารายได้ประกอบ
หลงเชื่อเพียงว่า รัฐบาลคิดดีแล้ว
หรือนักเศรษฐศาสตร์ที่สนับสนุนนโยบายรัฐบาลนั้นๆ คิดดีแล้ว
โดยไม่ช่วยกันตรวจสอบ ปล่อยให้เป็นเรื่องของคนไม่กี่คน
กรณี กรีซ คือคำตอบของอนาคตประเทศเหล่านั้น

เรื่องข้างล่างนี้คือตัวอย่างการตรวจสอบการโกงกินเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
<<< สรุปผลงาน 1 ปี ระบอบอภิสิทธิ์ >>>
http://maha-arai.blogspot.com/2009/12/blog-post_15.html

ถ้าประเทศไหน คนที่ยังไม่สนใจการเมือง
หันมาสนใจการเมืองมากขึ้น
พร้อมกับสวมบทบาทคนมีสิทธิ์ในประเทศเหมือนกัน
ร่วมด้วยช่วยกันตรวจสอบ ติดตามผลงาน
หรือคอยยับยั้งนโยบายต่างๆ
ที่อาจพากันลงเหว
ได้ก่อนที่จะลงเหวไปแล้ว
ถึงจะลุกขึ้นมากรี๊ดดดดดดด
ประเทศนั้นจะมีอัตราเสี่ยงเกิดวิกฤตน้อยกว่าประเทศอื่น

คำคมสำหรับวันนี้

"การเมือง ต่อให้คุณไม่สนใจ
แต่ถึงยังไง ก็ได้รับผลกระทบอยู่ดี"

"ถ้าไม่สนใจการเมืองตั้งแต่วันนี้ อนาคตอาจจะ กรีซ ได้"

"ทุกคนเป็นเจ้าของแผ่นดินนี้เหมือนๆ กัน
อย่าทำตัวเป็นแค่คนมาขออาศัยอยู่ไปวันๆ"

โดย มาหาอะไร

--------------------------------------------------

การเงิน - การลงทุน : เศรษฐกิจต่างประเทศ
วันที่ 17 ธันวาคม 2552 09:21
S&P หั่นอันดับเครดิตกรีซลงสู่ระดับ BBB+

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สถาบันจัดอันดับเครดิตสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ หั่นอันดับเครดิตกรีซลงสู่ระดับ BBB+ จากเดิม A- เตือนอาจหั่นเครดิตอีกหากไม่เร่งลดยอดขาดดุลงบประมาณ

สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซลงหนึ่งขั้น สู่ระดับ BBB+ จากเดิมที่ระดับ A- และเตือนว่าจะลดอันดับเครดิตลงอีก นอกเสียจากว่านายจอร์จ พาพันเดรอู นายกรัฐมนตรีของกรีซจะดำเนินการปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณ ซึ่งในขณะนี้ยอดขาดดุลงบประมาณของกรีซพุ่งขึ้นสูงสุดในบรรดาชาติสมาชิกสหภาพ ยุโรป (อียู)

การประกาศลดอันดับเครดิตของ S&P มีขึ้นหลังจากที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับเครดิตของกรีซลงสู่ระดับ BBB+ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับเตือนให้นายพาพันเดรอูเร่งลดยอดขาดดุลงบประมาณโดยเร็ว

ก่อนหน้านี้รัฐบาลกรีซประกาศขายพันธบัตรมูลค่า 2 พันล้านยูโร (2.9 พันล้านดอลลาร์) ให้กับธนาคาร 5 แห่ง ขณะที่รัฐบาลกำลังพยายามที่จะฟื้นฟูสถานภาพทางการเงินที่กำลังย่ำแย่ โดยพันธบัตรดังกล่าวจะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนก.พ. 2558

ทั้งนี้ ธนาคารที่เข้าร่วมในการขายพันธบัตรครั้งนี้ได้แก่ เนชั่นแนล แบงค์ ออฟ กรีซ, อัลฟา แบงค์, อีเอฟจี ยูโรแบงค์ เออร์กาเซียส, พีราอุส แบงค์ และซานเปาโล ไอเอ็มไอ

โดยรัฐบาลกรีซออกมาให้คำมั่นว่า จะใช้มาตรการเพื่อปรับปรุงด้านการเงินภาคสาธารณะ หลังจากที่ฟิทช์ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซลงสู่ระดับ BBB+ จากระดับ A- ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำจัดอันดับให้กรีซอยู่ต่ำกว่า 'A'

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/foreign/20091217/91347/S&P-หั่นอันดับเครดิตกรีซลงสู่ระดับ-BBB+.html

--------------------------------------------------

วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11601 มติชนรายวัน

วิกฤตหนี้"กรีซ" หนาวสะท้านทั่ว"ยุโรป"

ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมปี ที่แล้ว วิกฤตการเงินโลกครั้งร้ายแรงในรอบเกือบ 80 ปี ปะทุขึ้นเมื่อเลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐอเมริกา อายุเก่าแก่กว่า 150 ปี ล้มครืนลง โดยมีต้นเหตุมาจากหนี้เสียของสินเชื่อบ้านประเภทด้อยคุณภาพหรือซับไพรม์ (Subprime) ที่บรรดาผู้กู้ยืมขาดความสามารถในการชำระหนี้ ส่งผลกระทบเป็นโดมิโนไปทั่วโลก ทำให้ทั่วโลกมีปีใหม่ที่ไร้ความสุข เหงาหงอยไปรอบหนึ่งแล้ว ส่วนปลายปีนี้ "วิกฤตหนี้" ของประเทศกรีซ ซึ่งเป็นชาติในยุโรป กำลังสร้างความหวาดผวาหนาวสะท้านให้กับบรรดากลุ่มประเทศยุโรป เพราะหนี้ที่สูงทะลุเมฆของรัฐบาลกรีซ ทำให้เกิดการคาดหมายว่าอาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับรัฐดูไบ ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) หรือไม่

อาจกล่าวได้ว่า กรณีของดูไบ ซึ่งประกาศพักชำระหนี้ไป 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ไปเมื่อ 25 พฤศจิกายน ด้วยเหตุผลที่ว่าได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก ประกอบกับการก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์มากมายใช้เงินมหาศาลแบบเกินตัว เป็นสาเหตุให้กรีซขึ้นมาอยู่บนจอเรดาร์ของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ทันที จะเห็นว่าหลังจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้ง มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส, สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) และฟิตช์ เรตติ้ง ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของดูไบ เวิลด์ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่รัฐดูไบเป็นเจ้าของลงไปสู่ระดับ "ขยะ" คือไม่น่าลงทุนแล้ว ฟิตช์ เรตติ้ง ได้ประเดิมปรับลดอันดับความน่าเชื่อหนี้ระยะยาวของรัฐบาลกรีซไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม จากระดับ A- ไปอยู่ระดับ BBB+ ซึ่งแม้จะยังเป็นเกรดที่น่าลงทุน แต่มุมมองหรือแนวโน้มอยู่ในแดนลบ อันสะท้อนว่ามีความเป็นไปได้ที่จะถูกลดอันดับลงไปอีก ส่วนเอสแอนด์พี ได้ออกมาขู่ว่าจะหั่นเกรดอีกรายหากว่ารัฐบาลกรีซไม่มีมาตรการที่น่าเชื่อ ถือในการลดหนี้

ปัจจุบันรัฐบาลกรีซมีหนี้สาธารณะมากถึง 3 แสนล้านยูโร (ประมาณ 14.7 ล้านล้านบาท) คิดเป็น 113 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันของกรีซ และยังขาดดุลงบประมาณมากถึง 12.7% สูงกว่ามาตรฐานของสหภาพยุโรปที่กำหนดว่าสมาชิกต้องรักษาการขาดดุลงบประมาณ ไว้ที่ไม่เกิน 3 % ของจีดีพี ทั้งนี้ ฟิตช์คาดหมายว่าหนี้สาธารณะของกรีซอาจ จะขยับขึ้นไปอีกที่ระดับ 130% ของจีดีพีก่อนที่จะกลับสู่เสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม ฟิตช์เห็นว่าการที่กรีซเป็นประเทศที่มีรายได้สูงคงจะช่วยบรรเทา ปัญหาได้บ้าง

การถูกหั่นอันดับความน่าเชื่อถือ ทำให้คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (อียู) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กรีซต้อง ใช้มาตรการที่เด็ดขาดกล้าหาญในการลดหนี้ และลดการขาดดุลงบประมาณให้ได้ เพราะว่าปัญหาที่เกิดกับสมาชิกยุโรปประเทศใดประเทศหนึ่งก็คือ ปัญหาร่วมของสมาชิกยุโรปทั้งหมด ขณะเดียวกันนายฌอง-คล้อด ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางสหภาพยุโรป (อีซีบี) ได้ออกมากระตุ้นกรีซในลักษณะเดียวกัน เพราะปัญหาของกรีซนั้นจะเกี่ยวพันไปถึงชาติยุโรปที่ใช้เงินสกุลยูโร (ยูโรโซน) ทั้ง 16 ประเทศ เช่นเดียวกับบิ๊กในยุโรปอีกคนคือ นายฌอง-คล้อด จังเกอร์ ประธานยูโรโซน ที่ยอมรับว่าสถานการณ์ของกรีซอยู่ในขั้น "ตึงเครียด" อย่างมาก แต่ก็เชื่อว่ากรีซจะไม่ล้มละลายอย่างแน่นอน

หุ้นของตลาดกรีซร่วง ลง 10% ในช่วงสองวันหลังจากถูกลดอันดับ ทำให้ทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังของกรีซ ต่างออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนยืนยันว่า จะทำทุกอย่างเพื่อสะสางปัญหาหนี้สิน โดยสัญญาว่าร่างงบประมาณใหม่ ซึ่งจะมีการตัดงบประมาณลงจะจัดทำให้เสร็จสิ้นใน 6-7 สัปดาห์ โดยระบุว่า นี่จะเป็นการร่วมมือกันในการต่อสู้คอร์รัปชั่นและสร้างความโปร่งใส พร้อมกับไม่วายโอดครวญขอความเห็นใจว่า รัฐบาลปัจจุบันเข้ามารับตำแหน่งเพียง 50 วันเท่านั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐบาลเก่าเป็นผู้ก่อไว้

กรีซจัด อยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เป็นหนึ่งใน 16 ประเทศยุโรปที่ใช้เงินสกุลยูโร ประชากรมีรายได้ต่อปีสูงอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกที่ประมาณ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ประสบปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่น การว่างงานสูง

นัก วิเคราะห์มองว่าปัญหาของกรีซจะสร้างความตึงเครียดให้กับยูโรโซนและยังเป็น เรื่องท้าทายที่จะทำให้ประเทศยุโรปอื่นๆ จะต้องลดหนี้และการขาดดุลงบประมาณลง อย่างไรก็ตาม กรีซจะล้มละลายหรือไม่ขึ้นอยู่กับ ธนาคารกลางสหภาพยุโรปว่าจะผ่อนผันในการรับพันธบัตรของกรีซในการค้ำประกันการ กู้ยืมหรือไม่ เพราะหลังจากที่ความน่าเชื่อถือของกรีซถูกฟิตช์ฯปรับลง ก็เท่ากับว่าขณะนี้พันธบัตรของกรีซอยู่ในแดนอันตรายแล้ว เมื่อเทียบกับหลักเกณฑ์ของอีซีบี

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่าในที่สุดแล้วสหภาพยุโรปต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือกรีซ เพราะหากปล่อยให้กรีซล้มละลาย จะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกลุ่มยุโรปที่ใช้เงินสกุลยูโรทันที เพราะจะทำให้สมาชิกยุโรปที่ร่วมใช้เงินสกุลยูโรมองว่าการใช้สกุลเงินร่วมกัน ไม่เป็นผลดี เมื่อสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งก่อปัญหาขึ้นด้วยการไม่ชำระหนี้ก็ทำให้ ประเทศอื่นได้รับกรรมไปด้วย และหากกรีซล้มละลายจริง ประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ เยอรมนี เพราะธนาคารพาณิชย์ของเยอรมนีหลายแห่งได้เข้าซื้อพันธบัตรของกรีซจำนวน มาก

หน้า 18

http://74.125.153.132/search?q=cache:5bPhyWoR31IJ:www.matichon.co.th/matichon/view_news.php%3Fnewsid%3D01ecb01141252%26sectionid%3D0141%26day%3D2009-12-14+กรีซ+ล้มละลาย&cd=1&hl=th&ct=clnk&gl=th

--------------------------------------------------

วิกฤตกรีซ-วิกฤตยูโร : บาปแต่ปางบรรพ์

วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา 13:00:33 น.




โดย ปิยมิตร ปัญญา piyamitara@gmail.com



เมื่อกรีซจำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือจาก ธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (อีซีบี) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เป็นครั้งแรกราวปลายปี 2009 ต่อเนื่องกับต้นปี 2010 นั้น

ทุกคนมองว่า รากเหง้าแห่งปัญหาหยั่งลึกอยู่ในกรีซเอง

แต่หลังจากที่ กรีซ ไม่เพียงยังคงมีปัญหา สภาวการณ์ทำนอง เดียวกันก็ลุกลามไปผุดขึ้นที่ไอร์แลนด์ ต่อเนื่องด้วยโปรตุเกส หลายคน ก็เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า ต้นตอ ที่แท้จริงของวิกฤตหนี้ใน 17 ประเทศ ที่ใช้เงินสกุลยูโร หรือที่เรียกว่า "ยูโรโซน" นั้นอยู่ที่ใดกันแน่

1 ปีผ่านไป สถานการณ์กรีซกลับมาเลวร้ายหนักข้อ ถึงตอนนี้ ก็ชัดเจนแล้วว่า ไม่เพียงกรีซมีปัญหา ยูโรโซนก็มีปัญหา

หรือ อันที่จริง ตัวสกุลเงิน "ยูโร" นั่นเองที่เป็นปัญหา ปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่บุรพกาล ปัญหาที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ "ยูโร" เริ่มก่อรูปขึ้นมาในห้วงคำนึงของนักการเมืองอย่าง เฮลมุท โคห์ล และ ฟรองซัวส์ มิตแตร์รองด์

นั่นหมายความว่า ปัญหาของกรีซ ไอร์แลนด์ หรือโปรตุเกส แม้แต่กระทั่งสเปน ไม่ได้เป็นปัญหาที่จำกัดอยู่แต่ในแต่ละประเทศอีกต่อไป แต่กลายเป็นปัญหาของยูโรโซน ปัญหาของเงินยูโร และเป็นภัยคุกคาม ที่หนักหน่วงรุนแรงที่สุดต่อการเป็น "สหภาพ" ของกลุ่มประเทศยุโรป 25 ประเทศ

วิกฤตหนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่วิกฤตการณ์ทางการเงินอีกต่อไป หากแต่กำลังกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ท้าทายเจตนารมณ์ของการรวมกัน เป็นหนึ่งในทุกๆ ด้านอย่างเอกอุ

และถ้ายึดถือกันว่า "อียู" คือต้นแบบที่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ต้องการก้าวไปถึง

วิกฤตหนี้ในยูโรโซน ก็ต้องยึดถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องศึกษา ทบทวนอย่างถี่ยิบและหลีกเลี่ยงให้ได้

"วิกฤต หนี้ยูโรโซน" เป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองเพราะ "ยูโร" ถูกสร้างขึ้นด้วยพื้นฐานความคิดทาง "การเมือง" ไม่ใช่ทาง "การเงิน" หรือเศรษฐกิจ มันก่อรูปขึ้นในท่ามกลางความ คาดหวังว่า มันจะกลายเป็นเงินตราที่มีเสถียรภาพอย่างน้อยก็ในระดับ เดียวกับดอยต์ชมาร์ค สร้างอนาคตที่สดใสร่วมกันด้วยการกลายเป็น "พาหนะ" ที่นำพาศักยภาพในการแข่งขันให้กับชาติสมาชิก เปิดโอกาสให้ก้าวไปสู่ "ตลาดโลก" อย่างสดใสและมั่นคง

"ยู โร" เป็นสกุลเงินร่วม ที่ถูกออกแบบมาให้ "แก้ปัญหา" ได้ด้วยตัวของมันเอง ระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย ไม่เท่าเทียมกันของชาติสมาชิก ได้รับการคาดหมายว่าจะลงเอยด้วยพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระดับเดียวกันในระยะ เวลาอันรวดเร็ว

มิติทางการเมืองที่เป็นพื้นฐานในการออกแบบ เงินยูโร ปรากฏเด่นชัดอยู่ในหลักการ "3 ไม่" ของยูโรโซน "ไม่เบี้ยวหนี้" (No Default) ไม่มีการให้ความช่วยเหลือด้านการคลัง (No Bailout - ประเทศที่สถานะทางการคลังดีกว่า ต้องไม่เข้าไปให้ความช่วยเหลือถ่ายโอนเงินคงคลังของตนเองไปให้ประเทศที่ยาก จนกว่า) และ ไม่มีการถอนตัว (No Exit)

3 หลักการสำคัญดังกล่าวมีขึ้นเพื่อรองรับให้เกิดแรงสนับสนุนทาง การเมืองจากชาติสมาชิกให้ได้ เพื่อให้เงินสกุลร่วมนี้เกิดขึ้นให้ได้ โดยไม่ได้คำนึงถึงเหตุและผลในทางเศรษฐศาสตร์มากหรือนานเกินกว่าชั่ววูบ



ยูโร และยูโรโซน จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็น "พันธะถาวร" ผูกมัดประเทศอียูเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะมีข้อบกพร่องใดๆ ก็เป็นแค่เรื่อง "เล็กๆ น้อยๆ" ที่จะเลือนหายไปในระยะเวลาอันสั้น

ยูโร ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างยิ่งใหญ่เมื่อปี 2000

อีก 2 ปีให้หลัง กรีซเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของยูโรโซน

นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการก่อตั้ง "สหภาพทางการเงินแห่งยุโรป" ขึ้น เหตุผลประการหนึ่งก็คือ เงินสกุลร่วมทำนองนี้จะ "ดี" ก็ต่อเมื่อเกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสภาวะทางเศรษฐกิจที่ดี นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันชื่อดังอย่าง มิลตัน ฟรีดแมน เชื่อมั่นว่ายูโรจะไม่สามารถผ่านการทดสอบจากภาวะวิกฤตสำคัญ ได้แม้แต่ในครั้งแรกสุด

ในปี 2002 เขาทำนายเพิ่มเติมเอาไว้ว่า "ยูโรแลนด์" ที่เขาใช้เรียกขานยูโรโซนในเวลานั้น จะ "ล่มสลาย" ในระยะเวลา 5-15 ปี!

การเข้าร่วมในเขตยูโรโซนไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ มากมายนักในแต่ละประเทศ นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงเงินสกุลท้องถิ่นไปเป็นเงินยูโรแล้ว สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดเจนอีกเพียงอย่างเดียวก็คือ "อัตราดอกเบี้ย" อัตราเดียวที่ครอบคลุมทั่วทั้งยูโรโซน กำหนดโดย "อีซีบี"

ในความเป็นจริงยูโรโซนไม่เพียงแตกต่างกันในระดับพัฒนาการเศรษฐกิจ ยังแตกต่างกันอย่างมากในแง่ของการกำกับดูแลและระดับของเงินทุนในภาคการ ธนาคาร

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เงินลงทุนมหาศาลจากสมาชิกที่มีความมั่งคั่งกว่าไหลเข้าไปยังสเปนและ ไอร์แลนด์ ที่ซึ่งฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์เริ่มก่อตัวขึ้น

ในขณะที่ เปิดโอกาสให้ทางการกรีซและโปรตุเกสสามารถใช้ "เงินที่ได้มาง่ายๆ" อย่างฟุ่มเฟือยเกินตัว นำเข้าสินค้ามากกว่าส่งออก และสะสมหนี้สินเพิ่มมากขึ้นจนมากเกินกว่าที่จะชดใช้คืนได้ด้วยตัวเอง

วิกฤตเดินทางมาเยือนเมื่อเงินที่มีให้หยิบยืมมากมายเหลือเฟือ จู่ๆ กลายเป็นของหายาก ฟองสบู่ในไอร์แลนด์และสเปนแตกดังโพละ เศรษฐกิจในยูโรโซนซบเซาแทบล่มสลาย กรีซถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ออกมายอมรับว่าหนี้สินภาครัฐของตนเองสูงกว่า ที่เคยเปิดเผยเอาไว้ก่อนหน้านี้

กรีซยอมรับว่าได้ตกแต่งตัวเลขงบ ประมาณเพื่อเข้าร่วมยูโรโซนให้ได้ตั้งแต่เริ่มแรก ข้อเท็จจริงก็คือ การขาดดุลงบประมาณของกรีซไม่เคยต่ำกว่า 3 เปอร์เซ็นต์มานับตั้งแต่ปี 1999 อย่างที่ยูโรโซนกำหนดเป็นเงื่อนไขเอาไว้

และไม่ควรถูกรับเข้าเป็นสมาชิกยูโรโซนตั้งแต่เริ่มแรกด้วยซ้ำไป!

ยูโรโซน สร้างความคาดหวังผิดๆ ให้กับกรีซตั้งแต่เริ่มต้น แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มเล็กๆ น้อยๆ ของเรื่องทั้งหมด ข้อเท็จจริงประการหนึ่งก็คือ นักการเมืองยุโรปอย่างน้อยก็ในกลุ่มที่ผลักดันให้เกิดเงินยูโร ไม่เคยคำนึงถึงเลยว่าจะเกิดปัญหาขึ้นกับเงินยูโร ทั้งๆ ที่ไม่มีกลไกใดๆ ในการกำกับดูแลให้เกิดวินัยทางการคลังในหมู่สมาชิก



ยูโรโซน ไม่มีองค์กรกลางสำหรับทำหน้าที่แบบเดียวกับที่ "กระทรวงการคลัง" ของประเทศใดประเทศหนึ่งทำ ทั้งๆ ที่ควรมีและต้องมี เพราะไม่มีใครยินยอมมอบอำนาจอธิปไตยทางการเงินของตนให้กับ ประเทศอื่นๆ

นักการเงินบางคนบอกว่า นั่นทำให้ยูโรมีโอกาสเกิดวิกฤตรุนแรงมากกว่าและง่ายกว่าเงินสกุลอื่นๆ มากมาย

แต่ไม่น่าเชื่อว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งเรื่อยมาจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ยูโรโซน กลับไม่มีกลไกในการแก้ไขวิกฤตการณ์อยู่เลยแม้แต่อย่างเดียว

การไม่มีกลไกทั้งในแง่ของการกำกับดูแล และไม่มีทั้งองค์กรที่มีอำนาจเหนือดังกล่าว นอกจากเชิญชวนให้เกิดวิกฤตแล้วยังเป็นองค์ประกอบที่ทำให้วิกฤตที่เกิดขึ้น "สปิน เอาต์ ออฟ คอนโทรล" ได้เสมอ และง่ายดายมาก เพราะไม่มีแผนบริหารจัดการวิกฤตที่เป็นเหตุเป็นผลนั่นเอง

เมื่อเกิดวิกฤตในเขตยูโรโซนขึ้น ย้อนหลังไปเมื่อเดือนตุลาคม 2008 อันเนื่องมาจากวิกฤต "เลห์แมน บราเธอร์ส" หรือที่บางคนเรียกว่า "วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์" นั้น การแก้ปัญหาก็ตกอยู่กับ "ผู้นำทางการเมือง" อีกเหมือนเดิม

ถ้ายูโรโซน มีองค์กรที่มีอำนาจเหนือชาติสมาชิก การจัดตั้งกองทุน ยูโรโซนขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือภาคธนาคารที่ประสบปัญหาวิกฤตในเวลานั้นใน หลายๆ ประเทศ ควบคู่ไปกับการจัดทำแผนเพื่อหาทางฟื้นฟูสถานะของธนาคาร สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ ก็คือ วิกฤตหนี้จะจำกัดวงอยู่แต่เฉพาะในภาคเอกชน

นั่นหมายความว่า ยูโรโซนจะมีทางเลือกอีกหลากหลายมากในการจัดการกับปัญหา ที่สาหัสสากรรจ์อย่างแท้จริงเหมือนเช่นในกรีซ

แต่แทนที่จะทำเช่นนั้น ผู้นำยูโรโซนกลับยืนยันปล่อยให้รัฐบาล ของแต่ละประเทศจัดการกับปัญหาของตนเอง การันตีหนี้สินของภาคธนาคารของแต่ละประเทศเอง แต่ละประเทศต้องจัดสรรงบประมาณมหาศาลเข้าไปอุ้มธนาคารหลายต่อหลายแห่ง ที่มีปัญหาจากวิกฤต แฮมเบอร์เกอร์ครั้งนั้น

หนี้ภาคเอกชนถูกแปลงกลายเป็นหนี้ภาครัฐ

สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณของกรีซจาก 15 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ณ สิ้นปี 2009 กลายเป็น 140-150 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีภายใน 1 ปีให้หลัง

นั่นเป็นผลมาจากการ "คิดผิด ทำผิด" ซ้ำสองของบรรดาผู้นำทางการเมืองในยูโรโซน ที่แก้ปัญหาหนี้ในยุโรปด้วยการมุ่งความสนใจไปที่ "อาการ" มากกว่า "สมุฏฐาน" ของโรค

ผู้นำยุโรปมองว่า สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณ-ไม่ใช่ภาคการธนาคารที่เป็นต้นตอของหนี้ส่วนใหญ่ คือภัยคุกคามของยูโร

ทางเดียวที่จะแก้ปัญหาก็คือการใช้มาตรการ "รัดเข็มขัด"

แต่ยิ่งรัดเข็มขัด ยิ่งทำให้ปัญหาลุกลาม ไม่เพียงทำให้ปัญหาการเงินกลายเป็นปัญหาสังคมแล้วกลายเป็นปัญหาการเมือง ยังทำให้หนี้สินยิ่งพอกพูน รายได้ยิ่งหดหาย เศรษฐกิจยิ่งหดตัว

ยิ่งนานโอกาสที่จะมีปัญญาใช้หนี้ยิ่งหมดสิ้นลงเรื่อยๆ ตามวันเวลาที่ผ่านพ้นไป

หากกรีซ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของยูโรโซน ยังคงใช้เงินสกุล "แดรคมา" ของตนเองอยู่ต่อไป กรีซอาจมีทางออกในการแก้ปัญหาของตนเองด้วยวิธีการ "เดิมๆ" ที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าได้ผล เหมือนเช่นที่ไทย, เกาหลีใต้, อินโดนีเซีย ทำในปี 1997

พวกเขาเพียงแค่ประกาศลดค่าเงินของตนเองลง แล้วปล่อยให้กลไกพื้นฐานทางด้านเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยอุปสงค์และอุปทานทำหน้าที่ ของมัน

การลดค่าเงินสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศขึ้นมาใหม่ ราคาผลผลิต ของกรีซจะลดลง ทำให้น่าสนใจสำหรับตลาดต่างประเทศ การส่งออกจะเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ค่าเงินที่ลดลงทำให้ผู้คนในเอเธนส์หรือที่อื่นใด ไม่สามารถซื้อหาข้าวของได้ตามอำเภอใจอีกแล้ว การนำเข้าก็ควรจะลดลง การค้ากลับมาสมดุลได้อีกครั้ง

แต่การอยู่ในยูโรโซนในยามวิกฤตทำให้การใช้อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อระบายแรงกดดันและปรับสมดุลทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปไม่ได้

กรีซ ทำได้เพียงอย่างเดียวก็คือการบังคับใช้มาตรการรัดเข็มขัดทุกอย่างเท่าที่จะ ทำได้ ถ้าสำเร็จก็อาจตั้งหลักได้อีกครั้งหนึ่ง ถ้าไม่ ก็จะเป็นอย่างที่กรีซเป็นอยู่ในเวลานี้ หนี้พอกพูนเป็นภูเขาตามกาลเวลาที่ผ่านไป

ทางออก มีอยู่ 3 ทาง หนึ่ง ประกาศล้มละลาย หรือที่เรียกกันว่า "พักชำระหนี้" แล้วเริ่มดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ สร้างเศรษฐกิจ ของตัวเองขึ้นมาใหม่ หรือสอง ถอนตัวออกจากยูโรโซน นำเงินท้องถิ่นกลับมาใช้อีกครั้ง ลดค่าเงินลง เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันขึ้นมาใหม่ หรือสาม เจรจาทำความตกลง กล่อมจน "เจ้าหนี้" เชื่อว่ากรีซ มีโอกาสฟื้นตัวได้ในอนาคตและยืดเวลาชำระหนี้ออกไป ระหว่างนั้นก็ฟื้นสถานะทางการเงินของตนเองขึ้นมาใหม่จนมีความสามารถในการ ชำระหนี้ได้ในที่สุด

ปัญหาก็คือ หนี้สินของกรีซมีมหาศาล กำลังจะไต่ขึ้นสู่ระดับ 160 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีอยู่ในอีกไม่ช้าไม่นาน ตลาดไม่มีความเชื่อถือ

ไม่มีนักเศรษฐศาสตร์ที่มีสติสตังรายใด ยืนยันว่ากรีซจะมีความสามารถชำระหนี้ที่ตนเองมีอยู่ได้ด้วยลำพังของตนเอง โดยปราศจากการปรับโครงสร้างหนี้

ผู้นำอียูและยูโรโซนหวั่นเกรงว่า ถ้าหากเศรษฐกิจกรีซล่มสลาย สิ่งที่จะพังตามลงไปด้วยก็คือธนาคารในหลายประเทศ และความเชื่อมั่นในสกุลเงินยูโร รวมถึงความเชื่อมั่นในความเป็น "อียู"

อียู ยูโรโซน และกรีซ ประกอบกันขึ้นกลายเป็นวิกฤตการณ์ที่โลก ไม่เคยพานพบมาก่อน และอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการแก้ปัญหาอย่างที่ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการเกิดการแตกแยก แบ่งกลุ่ม แบ่งค่ายขึ้นในยุโรป ตามสภาวะความเป็นจริงในทางเศรษฐกิจ

กรีซอาจต้องพ้นจากสมาชิกภาพ หรือยูโรโซนอาจถูกแยกออกเป็น 2 ระดับ

ถ้ายังต้องการคงไว้ซึ่งอียูและยูโรโซน ผู้นำทางการเมืองในยุโรปอาจต้องย้อนกลับไปแก้ไขทุกสิ่งทุกอย่างที่กอปรขึ้น เป็นยูโรตั้งแต่แรกเริ่มให้หมดจด

และอย่าคิดว่านั่นเป็นการดำเนินการที่ปราศจากต้นทุน

ราคาของความผิดพลาดครั้งนี้มหาศาลไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านยูโร หรืออาจมากกว่านั้น

นี่ยังไม่นับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนต่อเศรษฐกิจโลกทั้งหมด ในอนาคตอันใกล้!!

หน้า 30,มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน 2554


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1309060111&grpid=01&catid=&subcatid=

--------------------------------------------------

วิกฤตต้มยำ กุ้ง
Tum Yum Kung Disease

<<< วิกฤตต้มยำกุ้ง #1 เปิดเสรีการเงินไม่กี่ปี เป็นหนี้ต่างประเทศเพิ่มเท่าตัว >>>
<<< วิกฤตต้มยำกุ้ง #2 ความเชื่อมั่นที่ตกต่ำ ตอกย้ำการโจมตีค่าเงิน >>>
<<< วิกฤตต้มยำกุ้ง #3 สู้จนเจ๊ง >>>
<<< วิกฤตต้มยำกุ้ง #4 เด็กดี หนูลองยา IMF >>>
<<< วิกฤตต้มยำกุ้ง #5 จากประเทศลูกหนี้ พลิกกลับมาเป็นประเทศเจ้าหนี้ (จบ) >>>

บทความด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง
<<< คลังแจ้งหนี้สาธารณะ"พุ่ง" "4.46ล้านล้าน" >>>
<<< ถามว่า รัฐบาลนี้จะเร่งรีบแก้กฏหมายให้ก่อหนี้สาธารณะ ไม่เกิน 60 % ทำไม >>>
<<< ข้อมูลฐานะการคลังไทยในวันนี้ ก่อนที่อีก 3-4 ปีจะมีหนี้เพิ่มอีกเท่าตัว >>>
<<< ผลเสียของการเป็นหนี้เยอะๆ เริ่มทยอยออกมาให้เห็นกันแล้ว >>>
<<< ผลของการเป็นหนี้เยอะๆ >>>
<<< จะแปรรูปเพื่อกู้เพิ่ม ระวังจะซ้ำเติมประเทศในภายหลัง >>>
<<< เศรษฐกิจดีหรือไม่ ควรดูที่ดัชนีเรื่องไม่ดี ว่าลดลงเพิ่มขึ้นหรือไม่ >>>